เกาะเสม็ด

  • แผนที่เกาะเสม็ด
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • สถานที่ท่องเที่ยว


อุทยานแห่งชาติเขาเเหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยในท้องที่อำเภอแกลง และอำเภอเมือง จังหวดระยอง ครอบคลุมพื้นที่บนฝั่งและในท้องทะเล ตลอดจนเกาะต่างๆ ประกอบด้วยเกาะเสม็ด เกาะจันทร์ เกาะทะลุ เกาะกุฎี เกาะมะขาม และเกาะปลายตีน เขาแหลมหญ้าและชายทะเลด้านทิศตะวันตกของเขาแหลมหญ้า สถานที่ที่เด่นที่สุดเป็นที่รู้จักกันดี คือ เกาะเสม็ดหรือเกาะแก้วพิศดาร ซึ่งกล่าวไว้ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ความงดงามตามธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติแห่งนี้เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศว่า มีทิวทัศน์สวยงาม เหมาะสำหรับการพักผ่อน

ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีนายทุนกลุ่มหนึ่ง รวมหุ้นกันเพื่อดำเนินการขอเช่าเกาะเสม็ดจากจังหวัดระยอง เพื่อจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจะสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามจากฝั่งเขาแหลมหญ้าไปยังเกาะเสม็ดเพื่อบริการนักท่องเที่ยว แต่โครงการต้องระงับไปเพราะได้ถูกกลุ่มนิสิต นักศึกษาเป็นจำนวนมากจากหลายสถาบันเดินขบวนคัดค้าน และในปีเดียวกันนั้นสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือที่ 538/2518 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2518 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ให้ความเห็นว่า ควรมีการอนุรักษ์เกาะเสม็ด (เกาะแก้วพิสดารในเรื่องพระอภัยมณีอันเป็นวรรณกรรมเอกของสุนทรภู่) ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สงวนไว้เป็นสมบัติของประชาชนโดยทั่วไป โดยจัดตั้งเป็นวนอุทยานทางทะเล และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2519 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2519 ให้กรมป่าไม้ประสานกับจังหวัดระยอง พิจารณาในการจัดตั้งเกาะเสม็ดเป็นอุทยานแห่งชาติ ขณะนั้นเกาะเสม็ดอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ กรมป่าไม้จึงได้มีหนังสือ ที่ กษ 0808/1713 ลงวันที่ 31 มกราคม 2522 ขอพื้นที่ดังกล่าวไปอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งกองทัพเรือได้มีหนังสือ ที่ กห 0352/6405 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2522 ตอบไม่ขัดข้องที่จะให้กรมป่าไม้เข้าควบคุมดูแลเกาะเสม็ด และต่อมาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2522 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2522 แจ้งให้กรมป่าไม้ดำเนินการอนุรักษ์เกาะเสม็ดเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่ง ที่ 82/2523 ลงวันที่ 14 มกราคม 2523 ให้นายสมบูรณ์ วงศ์ภักดี ออกไปทำการสำรวจพื้นที่ป่าไม้บริเวณเขาแหลมหญ้าและบริเวณข้างเคียง ท้องที่บ้านเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เพื่อกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ และให้ทำการจัดตั้งเป็นวนอุทยานเขาแหลมหญ้า ซึ่งจากการสำรวจของสมบูรณ์ วงศ์ภักดี พบว่า เขาแหลมหญ้าประกอบด้วยเขาดินลูกรังเตี้ยๆ ชายทะเลทางทิศตะวันตก มีหาดทรายกว้าง และทอดตัวโค้งยาวออกไปสวยงามมาก น้ำทะเลใสจนสามารถมองเห็นแนวปะการังที่สวยงามได้อย่างชัดเจน เกาะเสม็ดประกอบด้วยหาดทรายขาวรอบเกาะ เป็นหาดทรายที่สวยงาม เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อน ทั้งมีเกาะเล็กเกาะน้อยที่มีหาดทรายและธรรมชาติสวยงาม เหมาะสมต่อการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำผลการสำรวจเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2523 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาแหลมเทียน เขาเปล็ด เขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง และตำบลแกลง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 81,875 ไร่ หรือ 131 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 6 เล่ม 98 ตอนที่ 162 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 34 ของประเทศไทย

ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จัดเป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งผสมหมู่เกาะในทะเล ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลของอ่าวไทยฝั่งตะวันออก พื้นน้ำทะเลประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 94 ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาหินแกรนิต บริเวณเขาเปล็ด และเขาแหลมหญ้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 108 เมตร หาดทรายและห้วงน้ำทะเลตื้นเป็นแนวยาวบริเวณที่เรียกว่า หาดแม่รำพึง มีความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ภูมิประเทศของเกาะเสม็ดประกอบด้วยภูเขาและเนินเขาเตี้ยๆ เช่น เขากระโจม เขาพลอยแหวน และเขาพระเจดีย์ ด้านทิศตะวันตกของเกาะมีความลาดชันมาก ส่วนด้านทิศตะวันออกมีความลาดชันน้อย และมีหาดทรายยาวต่อเนื่องตลอดแนวด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือมีความกว้างมากที่สุดประมาณ 2,500 เมตร มีความยาวถึงท้ายเกาะประมาณ 6,500 เมตร ทางตอนกลางของเกาะจะเป็นเนินเขาไม่สูงมากนัก มีที่ราบซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรอยู่ตามริมฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก บริเวณปลายแหลมด้านทิศใต้มีเกาะเล็กๆ อยู่ใกล้อีก 3 เกาะ คือ เกาะจันทร์ เกาะสันฉลาม และหินขาว นอกจากนี้ยังมีเกาะในทะเลใกล้ชายฝั่งรวม 8 เกาะ ได้แก่ เกาะปลายตีน เกาะเกล็ดฉลาม เกาะมะขาม เกาะกรวย เกาะกุฎี เกาะท้ายค้างคาว เกาะทะลุ และเกาะยุ้งเกลือ
ลักษณะภูมิอากาศ

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด มีฝนตกโดยเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,500 มิลลิเมตร ช่วงมรสุมอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน จะมีคลื่นลมแรงมาก ออกทะเลไปเที่ยวเกาะต่างๆ ไม่ได้เป็นบางครั้ง เฉลี่ยแล้วในรอบ 1 เดือน จะมีคลื่นลมแรงประมาณ 15 วัน และระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ในบางวันอาจจะมีลมมรสุมและฝนตกหนักออกทะเลไม่ได้เช่นกัน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 29 องศาเซลเซียส อากาศร้อนที่สุดอยู่ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน และระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่มีอากาศเย็นที่สุด
พืชพรรณและสัตว์ป่า

ลักษณะการกระจายของพันธุ์พืชบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จะแปรผันไปตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งสามารถจำแนกสังคมพืชออกได้เป็น
ป่าดงดิบแล้ง เป็นสังคมพืชที่พบเป็นส่วนใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติทั้งบนฝั่งและบนเกาะ บนฝั่งจะพบมากบริเวณเขาแหลมหญ้า เขาเปล็ด และเขาเทียน บนเกาะพบกระจายอยู่ทั่วไป สภาพป่าค่อนข้างโปร่ง ไม่พบไม้ขนาดใหญ่เนื่องจากได้มีการเข้าทำลายและตัดฟันไม้ออกเป็นจำนวนมาก พันธุ์พืชที่พบได้แก่ มะนาวป่า นกนอน พลองใบใหญ่ เขล็ง โมกมัน ประดู่เลือด มะเดื่อ มะกล่ำต้น ตะแบกเปลือกบาง ลาย กาสามปีก แสนคำ มะรุม มะเม่า มะหาด หว้า ก่อนก เข็มป่า เต่าร้าง ไผ่ และเอื้องม้าลาย เป็นต้น

ป่าชายหาด เป็นป่าที่ปกคลุมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่ดินเป็นทรายจัดน้ำทะเลท่วมไม่ถึงหรือบริเวณที่เป็นหินชิดฝั่งทะเล ดินค่อนข้างเค็ม ได้รับไอเค็มจากทะเล ต้นไม้ที่พบโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นพุ่ม ลำต้นคดงอและแตกกิ่งก้านมาก กิ่งสั้นใบหนาแข็ง พันธุ์พืชที่พบได้แก่ โพทะเล ข่อย ตะบัน หูกวาง สนทะเล เตยทะเล และผักบุ้งทะเล เป็นต้น

จากการสำรวจความหลากหลายของสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด พบว่า มีสัตว์ป่าที่มีกระดูกสันหลังไม่น้อยกว่า 144 ชนิด ได้แก่ กระจงหนู อีเห็นเครือ ลิงแสม กระรอกหลากสีสีแดง กระจ้อน กระแตเหนือ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ นกยางทะเล เหยี่ยวนกเขาชิครานกแอ่นตาล นกนางแอ่นบ้าน นกแซงแซวหางปลา นกแซงแซวปากกา นกเอี้ยงสาริกา งูสิงหางลาย งูเขียวดอกหมาก ตะกวด เหี้ย แย้ กิ้งก่าบินหัวแดง จิ้งจกหางหนาม จิ้งเหลนหลากหลาย ตุ๊กแกบ้าน คางคกบ้าน กบนา ปาดบ้าน และ อึ่งอ่างบ้าน เป็นต้น

ในส่วนของทรัพยากรใต้ทะเลจะพบแนวปะการังในบริเวณรอบเกาะเสม็ด บริเวณหมู่เกาะกุฎี และบริเวณเกาะทะลุ แนวปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงอยู่ในบริเวณหินคันนา หินอ่าวไผ่ อ่าวเจ็ก อ่าวกิ่วหน้าใน เกาะจันทร์ เกาะปลายตีน เกาะกุฎี และเกาะทะลุ ความหลากหลายของสัตว์ทะเลที่พบได้แก่ ปะการังโต๊ะ ปะการังพุ่มไม้ ปะการังโขด ปะการังสมอง ปะการังเห็ด ปะการังอ่อน ปะการังถ้วยส้ม ฟองน้ำครก เม่นหนามดำ ปลิงทะเล เต่าตนุ ดอกไม้ทะเล ปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อลายแปดเส้น ปลาโนรีครีบยาว ปลาสินสมุทรลายน้ำเงิน ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง ปลาอมไข่ ปลากล้วยฟ้าหลังเหลือง ปลากะรัง ปลาสีกุน ปลาโมง ปลาบู่ ปลากะตัก ปลาเห็ดโคน หอยมือเสือ หอยนมสาว หอยเบี้ยเล็ก หอยเต้าปูน หอยตลับ หอยหนาม ปูลม และปูใบ้ ฯลฯ


รถยนต์

สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯไปยังจังหวัดระยองได้ โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 ซึ่งแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 136 ซึ่งจะทำให้ระยะทางสั้นลง ประมาณ 35 กิโลเมตร เมื่อถึงตัวเมืองระยองแล้วเดินทางต่อไปอีก 12 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ 231 เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ไปยังบ้านเพ เพื่อลงเรือไปเกาะเสม็ด

สำหรับการเดินทางบนเกาะเสม็ดมีถนนเพียงสายเดียวซึ่งแต่เดิมใช้เป็นทางเดิน ถนนสายนี้ยาว 6 กิโลเมตร เริ่มจากตอนเหนือของอ่าวทับทิมตัดผ่านสระน้ำอโนดาต ลงสู่หาดทรายแก้ว ระยะทางจากบ้านเกาะเสม็ดถึงหาดทรายแก้ว ประมาณ 800 เมตร

เรือ

การเดินทางโดยเรือไปยังเกาะเสม็ดจะต้องลงเรือที่ท่าเรือบ้านเพ (บนฝั่ง) ซึ่งมีท่าเรือโดยสาร 3 แห่ง มีเรือโดยสารหลายขนาดบรรจุคนได้ตั้งแต่ 10-100 คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-17.00 น. สำหรับท่าเรือที่เกาะเสม็ดทั้ง 3 แห่ง (บนเกาะ) คือ ท่าเรือด้านหัวเกาะ ด้านอ่าววงเดือน (อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ) และด้านอ่าวพร้าว (อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ) นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่อยู่บริเวณอ่าวที่มีขนาดเล็กนิยมใช้เรือเร็วส่วนตัวในการรับ-ส่งนักท่องเที่ยวจากบ้านเพ ไปยังรีสอร์ทของตนเอง

รถโดยสารประจำทาง

เดินทางโดยรถยนต์โดยสารประจำทางของบริษัทขนส่ง จำกัด จะมีทั้งรถยนต์โดยสารธรรมดาและปรับอากาศ ระหว่างกรุงเทพฯ-บ้านเพ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) ถนนสุขุมวิท ประมาณชั่วโมงละคัน ตั้งแต่เวลา 05.00-20.30 น.

การเดินทางบนเกาะเสม็ด มีถนนซึ่งสร้างโดยใช้ดินถมให้สูงเป็นทางเดินเท้ายาว 3 กิโลเมตร สำหรับไปยังหาดต่างๆ ทางสายหลัก เริ่มจากตอนเหนือของเกาะบริเวณบ้านเกาะเสม็ด อ่าวทับทิม ตัดผ่านหนองอโนดาษไปยังหาดทรายแก้ว ระยะทางประมาณ 800 เมตร มีรถสองแถวบริการ

อ่าวกลาง อยู่ทางตอนเหนือของเกาะ มองเห็นจากฝั่งบ้านเพ มีหาดทรายขาวยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของชุมชน หมู่บ้านเกาะเสม็ด และเป็นที่จอดเรือท่องเที่ยว
หาดทรายแก้วอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะห่างจากหมู่บ้านเกาะเสม็ดประมาณ 800 เมตร เป็นหาดทรายที่สวย ที่สุดของเกาะ เป็นหาดทรายละเอียดขาว สะอาด ยาวประมาณ 780 เมตร
อ่าววงเดือน อยู่ทางด้านตะวันออกทางตอนกลางของเกาะ เป็นอ่าวโค้งคล้ายพระจันทร์ครึ่งดวง หาดทรายขาวสะอาดยาวประมาณ 500 เมตร หาดอ่าวพร้าว เป็นหาดเดียวที่อยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะมีความยาวประมาณ 200 เมตร นอกจากนี้ยังมีอ่าวและหาดที่สวยงาม อีกมาก ได้แก่ หาดหินโคร่ง อ่าวไผ่ อ่าวทับทิม อ่าวนวล อ่าวคอก อ่าวช่อ อ่าวเทียน อ่าวหวาย อ่าวกิ่วนอก และอ่าวกะรัง

เกาะกุฎี เป็นเกาะหนึ่งในวรรณกรรมของสุนทรภู่ อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะเสม็ด ห่างจากฝั่งประมาณ 6 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ และมีเกาะขนาดเล็กเป็นบริวาร 2 เกาะ คือ เกาะท้ายค้างคาว และเกาะถ้ำฤาษี เกาะกุฎีเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติ มีธรรมชาติที่เงียบสงบ หาดทรายสวยงาม รอบๆ เกาะมีแนวปะการังตลอดชายฝั่งเหมาะแก่การดำน้ำดูปะการัง

เกาะกรวย เกาะขามและเกาะปลาตีน เป็นเกาะที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะกุฎีเป็นเกาะที่มีธรรมชาติสวยงาม มีแนวหาดทราย เฉพาะที่เกาะขามและเกาะปลาตีน สภาพใต้ทะเลโดยรอบมีแนวปะการังที่สวยงาม

เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด มีขนาดเล็กและมีประชากรอยู่หนาแน่นพอสมควร ทำให้มีสัตว์ป่าอยู่น้อยมาก จากการสำรวจความหลากหลายของสัตว์ป่าเมื่อปี พ.ศ. 2536 พบว่ามีสัตว์ป่าที่ไม่มีกระดูกสันหลังไม่น้อยกว่า 70 ชนิด ได้แก่ เสือปลา กระจง ชะมดแผงสันหางดำ อีเห็น ลิงแสม พังพอนธรรมดา กระต่าย ค้างคาว กระรอก งูเหลือม งูเห่า งูจงอาง งูกะปะ ตะกวด เหี้ย แย้จุด เหยี่ยวนกเขา นกยางทะเล นกชายเลนเขียว นกลุมพู นกนางนวลแกลบสีกุหลาบ นกกก นกแต้วแล้ว นกเค้าโมง

ในส่วนของทรัพยากรใต้ทะเลจะพบแนวปะการังในบริเวณรอบๆ เกาะเสม็ด บริเวณหมู่เกาะกุฎี และบริเวณเกาะทะลุ แนวปะการังมีความอุดม สมบูรณ์สูงอยู่ในบริเวณหินคันนา หินอ่าวไผ่ อ่าวเจ็ก อ่าวกิ่วหน้าใน เกาะปลายตีน เกาะกุฎี และเกาะทะลุ จะพบปะการังจำพวกปะการังแผ่นตั้ง ปะการังพุ่ม ปะการังก้อน ปะการังเขากวาง ในแต่ละชนิดจะมีมากน้อยปะปนกันไป ในแต่ละบริเวณที่พบคือ บริเวณหินคันนา จะพบปะการังอ่อน ปะการังแผ่นตั้ง ปะการังพุ่ม ปะการังก้อน โดยจะพบสิ่งมีชีวิตอื่นพวกดอกไม้ทะเล ปลาการ์ตูน หนอนดอกไม้ หนอนฉัตรด้วย บริเวณหินอ่าวไผ่ จะพบปะการังก้อนกระจายสลับกัน ปะการังเขากวาง บริเวณอ่าวเจ็ก ชายฝั่งเป็นหิน จะพบปะการังหนาแน่นในระยะห่างออกมา 45 เมตร เป็นพวกปะการังแผ่นตั้งสกุล Pavona ปะการังเขากวาง และปะการังพุ่มสกุล Acopora บริเวณเกาะปลาตีน จะพบปะการังเขากวาง ปะการังแผ่นตั้ง ปะการังก้อน อยู่หนาแน่นมีปะการังเห็ดปะปน เกาะกุฎี พบปะการังแผ่นตั้ง ปะการังเห็ด ปะการังก้อน เกาะทะลุ พบปะการัง แผ่นตั้งและปะการังก้อน




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่เกาะเสม็ด