แผนที่นครนายก

  • แผนที่นครนายก
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

นครนายก เมืองในฝันที่ใกล้กรุง ภูเขางาม น้ำตกสวย รวยธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ

นครนายก เป็นจังหวัดในภาคกลาง สันนิษฐานว่า เคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี มีหลักฐานแนวกำแพงเนินดินและสันคู อยู่ที่ตำบลดงละคร แต่ชื่อ นครนากยกนั้นปรากฏหลักฐานในสมัยอยุธยา เป็นเมืองหน้าด้านทางทิศตะวันออก ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ในปี พ.ศ.2437 รัชกาลที่ 5 ทรงจัดลักษณะ การปกครองโดยแบ่งเป็นมณฑล นครนายกได้เข้าไปอยู่ในเขตมณฑลปราจีนบุรีจนเมื่อ พ.ศ.2445 ทรงเลิกธรรมเนียมการมีเจ้าครองเมือง และให้มีตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นแทน และในช่วง พ.ศ. 2486-2489 นครนายกได้โอนไปรวมกับจังหวัดปราจีนบุรีและสระบุรี หลังจากนั้นจึงแยกเป็นจังหวัดอิสระ จังหวัดนครนายกเดิมชื่อบ้านนา เล่ากันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดินแดนของนครนายกเป็นป่ารกชัฏเป็นที่ดอน ทำนาหรือทำการเพาะปลูกอะไรไม่ค่อยได้ผล มีไข้ป่าชุกชุม ผู้คนจึงพากันอพยพไปอยู่ที่อื่น จนกลายเป็นเมืองร้าง ต่อมาพระมหากษัตริย์ทรงทราบความเดือนร้อนของชาวเมือง จึงโปรดให้ยกเลิกภาษีค่านา เพื่อจูงใจให้ชาวเมืองอยู่ที่เดิม ทำให้มีผู้คนอพยพมาอยู่เพิ่มมากขึ้นจนเป็นชุมชนใหญ่ และเรียกเมืองนี้กันติดปากว่าเมืองนา-ยก ภายหลังกลายเป็นนครนายก จนทุกวันนี้

นครนายกมีพื้นที่ 2,122 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบอยู่ในหุบเขา ตอนเหนือและตะวันออกเป็นเนินสูงและป่าเขา ติดต่อกับเขาดงพญาเย็น ส่วนทางตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม ภูเขาที่สำคัญคือ เขาใหญ่ เขาเขียว เขาชะโงก และเขานางรอง เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและเกิดน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง


ทิศเหนือ จดจังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา
ทิศใต้ จดจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันออก จดจังหวัดปราจีนบุรี
ทิศตะวันตก จดจังหวัดปทุมธานี

จังหวัดนครนายกแบ่งการปกครองออกเป็น 4 อำเภอ คือ

  1. อำเภอเมือง
  2. อำเภอบ้านนา
  3. อำเภอองครักษ์
  4. อำเภอปากพลี

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอต่าง ๆ
อำเภอบ้านนา 17 กิโลเมตร
อำเภอปากพลี 7 กิโลเมตร
อำเภอองครักษ์ 23 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-นครนายก

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปนครนายกสามารถไปได้ 2 เส้นทาง เส้นทางแรกไปตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต ผ่านอำเภอองครักษ์ ระยะทาง 107 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางที่ 2 ตามทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่แยกหินกอง ไปตามถนนสุวรรณศรทางหลวงหมายเลข 33 จนถึงนครนายก รวมระยะทาง 137 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

รถโดยสารประจำทาง

- รถโดยสารธรรมดา มีรถออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 น. - 19.00 น. โดยรถจะออกทุก ๆ 20 นาที รายละเอียดติดต่อ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

- รถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-18.00 น. โดยจะออกจากสถานีทุกๆ 30 นาที รายละเอียดติดต่อ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

งานมะปรางหวานนครนายก จัดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี บริเวณถนนสุวรรณศร ใกล้สี่แยกนครนายก มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำเผยแพร่มะปรางหวาน ผลิตผลทางการเกษตร และสินค้าหัตถกรรม ในงานจะมีการประกวดขบวนแห่ผลิตผลทางการเกษตร การประกวดมะปราง และพืชผลทางการเกษตร ประกวดธิดามะปรางหวาน และจัดให้มีการจำหน่ายสินค้าราคาถูก
งานของดีที่นครนายก จัดในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปีที่บริเวณถนนสุวรรณศร ใกล้สี่แยกนครนายก จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่สินค้า และผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อของจังหวัด และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ในงานมีการประกวดผลผลิตทางการเกษตร อาหาร มีการแสดงของนักเรียน การออกร้านนิทรรศการของหน่วยราชการและภาคเอกชน ตลอดจนการจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก
งานสารทไทยและแข่งเรือจังหวัดนครนายก จัดในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี บริเวณริมคลอง 29 หน้าโรงเรียนวัดทวีพูลรังสรรค์ ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ ในงานมีการจัดแข่งขันเรือยาวประเภทต่างๆ การทำบุญวันสารทไทย กลางคืนมีการแสดงมหรสพ

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

ศาลหลักเมือง ศาลหลักเมืองเดิมเป็นเสาไม้ ยาวประมาณ 1 เมตรเศษ ปลายเสาแกะสลักเป็นรูปดอกบัว ตั้งอยู่บริเวณกำแพงเมืองเก่า ซึ่งปัจจุบัน คือ บริเวณบ้านพักผู้ช่วยที่ดินจังหวัด และศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาล ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2453 ทางราชการเห็นว่าศาลหลักเมืองเดิมชำรุดมาก จึงได้ย้ายหลักเมืองไปประดิษฐานที่ตึกแดงในโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด คือ โรงเรียนศรีนครนายก ภายหลังได้ย้ายไปที่บริเวณศาลาประชาคมเทศบาลเมืองนครนายก โดยสร้างเป็นศาลาจตุรมุข เพื่อความสง่างามและเป็นมงคลคู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดนครนายกจนทุกวันนี้
ศาลเจ้าพ่อขุนด่าน ตั้งอยู่บนชะง่อนหิน เขาชะโงก ตำบลพรหมณี เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีประชาชนเคารพนับถือมาก ตามประวัติท่านเป็นนายด่านเมืองนครนายกสมัยกรุงศรีอยุธยา วีรกรรมของท่าน คือ การต่อต้านเขมรที่แปรพักตร์เมื่อปี พ.ศ.2130 ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะที่ไทยติดพันศึกกับพม่า เขมรได้เข้ามารุกรานและกวาดต้อนผู้คนแถบปราจีนบุรีเพื่อนำกลับไปเขมร โดยได้ยึดเมืองปราจีนบุรีและเมืองนครนายก ขุนด่านได้รวบรวมผู้คนชาวเมืองนครนายก ถอยไปตั้งหลักที่เขาชะโงก แล้วยกกำลังเข้าขับไล่เขมรออกจากนครนายก จนเขมรแตกพ่ายไป ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อขุนด่านยังมีเรื่องเล่าอีกว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นนำกำลังพลไปตั้งที่เขาชะโงกและได้รื้อศาลเจ้าพ่อขุนด่าน เจ้าพ่อขุนด่านได้แสดงอภินิหารทำให้ทหารญี่ปุ่นล้มตายเป็นจำนวนมาก
หลวงพ่อเศียรนคร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดบุญนาครักขิตาราม (วัดต่ำ) ตำบลนครนายก เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวจังหวัดนครนายก สันนิษฐานว่า เป็นพระพุทธรูปสมัยพระร่วง ขุดพบเมื่อ พ.ศ. 2495 ณ บริเวณโรงกลั่นสุราจังหวัดนครนายก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้วัดนางหงษ์ ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองนครนายก โดยขุดพบแต่เศียร และได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบุญนาครักขิตาราม ต่อมาในปี พ.ศ.2511 นางผล รอดอุไร มีศรัทธาสร้างองค์พระและอุโบสถถวาย จึงได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อเศียรนคร” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
รอยพระพุทธบาทจำลองเขานางบวช อยู่ในมณฑปบนยอดเขานางบวชตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลสาริกา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร เขานางบวช สูงประมาณ 100 เมตร มีบันไดคอนกรีตจากเชิงเขาถึงมณฑป 248 ขั้น รอยพระพุทธบาทนี้สร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2401 แรม 8 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา จะมีงานเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทในกลางเดือน 5 ของทุกปี
พระพุทธฉาย เป็นภาพเขียนติดอยู่กับชะโงกผาบนภูเขาเตี้ยๆ ถัดจากเขาชะโงก ตั้งอยู่ในเขตท้องที่พรหมณี อำเภอเมืองนครนายก พระพุทธฉายนี้ ประวัติเดิมเป็นอย่างไรไม่ปรากฏเล่ากันว่าสภาพเดิมเป็นภาพพระพุทธรูปรางๆ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2485 กรมแผนที่ทหารบกได้เข้าไปตั้งโรงงานหินอ่อนที่เชิงเขานี้ และได้เขียนตามรอยพระพุทธรูปเดิมให้ชัดเจนขึ้น ราษฎรบริเวณนั้นถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัดนครนายก ทุกกลางเดือน 3 จะมีงานนมัสการเป็นประจำทุกปี
แหล่งโบราณคดีบ้านดงละคร (เมืองดงละคร) ตั้งอยู่ที่ตำบลดงละคร ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร แต่เดิมเรียกกันว่า “เมืองลับแล” เป็นสถานที่ตั้งเมืองโบราณ สมัยขอมมีอำนาจ มีแนวกำแพงเป็นเนินดินและคูเมืองปรากฏอยู่ ชาวบ้านเรียกกันว่า “สันคูเมือง” ลักษณะของเมืองเป็นกำแพงสูงประมาณ 3 เมตร กว้าง 350 เมตร ยาว 550 เมตร และมีคูเมืองล้อมรอบ 4 ด้าน ภายในบริเวณมีการขุดค้นพบภาชนะดินเผา ลูกปัด พระพิมพ์และซากสิ่งก่อสร้างต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่พุทธ-ศตวรรษที่ 14-16 สำหรับตำนานเมืองลับแลนั้น เล่ากันว่า เมืองนี้เคยเป็นเมืองของราชินีขอม ซึ่งเป็นรโหฐานผู้อื่นไม่สามารถเข้าออกได้ง่ายนัก ประกอบกับลักษณะของบริเวณเมือง มีต้นไม้สูงๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป ใครเข้าไปแล้วอาจหลงทางหาทางออกไม่ได้ จะต้องวนเวียนอยู่ในดงนั้นเอง และวันดีคืนดี จะได้ยินเสียงกระจับปี่ สีซอ เสียงมโหรีขับกล่อมคล้ายๆ กับมีการเล่นละครในวัง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ดงละคร” กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อ วันที่ 8 มีนาคม 2478
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมณี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 14 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางหลวงสายพหลโยธิน และทางหลวงหมายเลข 33 (หินกอง-นครนายก) รวมระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร บริเวณโรงเรียนอยู่ติดกับเขาชะโงก มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ เป็นสถานให้การศึกษาแก่ผู้ที่จะรับราชการเป็นายทหารสัญญาบัตรแห่งกองทัพไทย
ภายในโรงเรียนนายร้อย จปร. แห่งนี้ มีอาคาร จปร. 100 ปี ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญสำหรับแสดงนิทรรศการผู้จบจากโรงเรียนนายร้อยที่ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง และนิทรรศการเกี่ยวกับสงครามต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เคยใช้ทำสงครามในอดีต เครื่องแบบนายทหารต่างๆ รวมทั้งพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งรัชกาลที่ 5 อีกด้วย โดยทางโรงเรียนจะเปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และเสาร์ เวลา 08.00-16.00 น. แต่จะต้องมาชมเป็นหมู่คณะและต้องทำหนังสือแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยติดต่อมาที่ ผู้บัญชาการโรงเรียน โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ถนนสุวรรณศร ตำบลพรหมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก 26000 โทร. (037) 313497 นอกจากส่วนที่เป็นอาคารเรียนและกรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์แล้ว ยังมีส่วนที่เป็นบ้านพักรับรอง ร้านอาหารของสโมสรนายทหาร สนามกอล์ฟ ติดต่อขอรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้บริการได้ที่ (037) 312010-4 ต่อ 2245
อนุสารณ์สถานกองพลทหารญี่ปุ่นที่ 37 อยู่ที่วัดพรหมณี ตำบลสาริกา ตรงกิโลเมตรที่ 5 ถนนไปน้ำตกสาริกา-นางรอง จัดสร้างโดยสมาคมทหารสหายสงคราม กองพลญี่ปุ่นที่ 37 เมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงดวงวิญญาณของบรรดาทหารซึ่งสังกัดในอดีต กองพลญี่ปุ่นที่ 37 จำนวน 7,920 นาย ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างสงครามเอเชียบูรพา เมื่อปี พ.ศ. 2482-2488 โดยทำการนำอัฐิที่ฝั่งอยู่ในบริเวณวัด มาบรรจุในแท่นที่จัดสร้างขึ้น นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีสวนสัตว์จำลอง โดยมีปูนปั้นสัตว์ป่ามากมาย อาทิเช่น ช้าง โค กระบือ เก้ง กวาง และยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่ ซึ่งเล่ากันว่าชาวลาวอพยพได้อัญเชิญมา สมัยเวียงจันทน์แตกปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้
น้ำตกสาริกา ตั้งอยู่ที่ตำบลสาริกา ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก โดยทางหลวงหมายเลข 3049 เป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวง 3050 อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถนนราดยางตลอดทั้งสาย น้ำตกสาริกาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สายน้ำไหลตกจากหน้าผาเป็นทอดๆ ถึง 9 ชั้น ผาที่สูงที่สุดสูงประมาณ 200 เมตร แต่ละชั้นมีอ่างรับน้ำจะมีน้ำมากในฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งน้ำจะแห้ง บริเวณด้านล่างของน้ำตก มีบริการห้องอาบน้ำ และห้องสุขาแยก ชาย-หญิง มีร้านอาหาร และร้านจำหน่ายของที่ระลึกสินค้าพื้นเมือง เช่น ไม้กวาด ดอกไม้ที่ทำจากไม้โสนป่า ฯลฯ การเดินทางไปน้ำตกสาริกาสะดวกมาก เพราะมีรถโดยสารนครนายก-สาริกา วิ่งวันละหลายเที่ยวหากนำรถไปเองจะมีป้ายชี้บอกตลอดทาง บริเวณใกล้เคียงกัน มี “ถ้ำสาริกา” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ อาจารย์ มั่น ภูริทัตฺโต เคยมาบำเพ็ญศาสนธรรม ระหว่าง พ.ศ. 2460-2463 สภาพบริเวณเป็นเนินเขาภายในบริเวณประกอบด้วย กุฏิสงฆ์ ชี เรือนบูชาหลวงปู่มั่น พร้อมด้วยโบสถ์ซึ่งอยู่ตอนสุดทางเดินเท้าขึ้นเขา
น้ำตกนางรอง ตั้งอยู่ที่ตำบลหินตั้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 20 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3049 ทางราดยางตลอดสายจากตัวเมืองมีรถโดยสารสายนครนายก-นางรอง วิ่งวันละหลายเที่ยวตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. ค่าโดยสารคนละ 7 บาท น้ำตกนางรองอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นน้ำตกขนาดกลางที่ลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ ไม่สูงนัก มีความสวยงามและเป็นธรรมชาติ บริเวณด้านล่างของน้ำตกมีห้องอาบน้ำ และสุขาบริการ
การเข้าชมน้ำตกนางรอง นักท่องเที่ยวจะต้องเสียค่าบำรุงสถานที่ดังนี้
- รถยนต์โดยสาร (รวมบุคคล) 100 บาท
- รถยนต์เล็ก (รวมบุคคล) 30 บาท - รถตู้ 50 บาท
- รถจักรยานยนต์ 10 บาท
- บุคคล คนละ 5 บาท
น้ำตกลานรัก หรือ น้ำตกตาดหินกอง ตั้งอยู่ในตำบลพรหมณี ใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกสาริกา และน้ำตกนางรอง โดยแยกซ้ายที่สี่แยกประชาเกษม ตรงหลักกิโลเมตรที่ 8 และเดินทางต่อด้วยถนนลูกรังอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตก น้ำตกลานรักเกิดจากสายธารเล็กๆ ไหลผ่านลานหิน ช่วงสุดท้ายไหลพุ่งเป็นทางยาว ผ่านลานหินกว้างเลียบเชิงเขาเตี้ย ๆ สวยงาม และแปลกไปจากน้ำตกแห่งอื่น ๆ มีน้ำเฉพาะฤดูฝน ส่วนในฤดูแล้งน้ำจะแห้ง
วังตะไคร้ ตั้งอยู่ที่ตำบลหินตั้ง ใกล้กับน้ำตกนางรอง อยู่ห่างจากตัวเมือง 16 กิโลเมตร เป็นของกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต และ หม่อมราชวงศ์หญิงพันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นอุทยานที่ได้รับการตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ ในเนื้อที่ 1,500 ไร่ มีถนนให้รถยนต์วิ่งเข้าชมในบริเวณได้
เปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วไปทั้งประเภทเช้าไปเย็นกลับ และประเภทค้างแรมโดยคิดค่าผ่านประตูดังนี้
- รถบัส 500 บาท
- รถตู้ รถกระบะ (ไม่เกิน 10 คน) 100 บาท
- รถยนต์ส่วนบุคคล (ไม่เกิน 5 คน) 50 บาท
- บุคคล คนละ 5 บาท

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านนา

น้ำตกกะอาง ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีกะอาง จากตัวเมืองไปตามถนนสุวรรณศรถึงอำเภอบ้านนา เยื้องกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนา มีถนนแยกไปน้ำตกกะอางระยะทาง 11 กิโลเมตร ลักษณะเป็นลานหินกว้าง มีน้ำตกไหลผ่านตามช่องหิน นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงกันมีพระพุทธรูปปางสมาธิก่อด้วยอิฐประดิษฐานอยู่บนเนินเขา และมีสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดนครนายก ของกรมป่าไม้ ตั้งอยู่ด้วย
พระพุทธบาท 4 รอย ประดิษฐาน ณ มณฑปวัดทองย้อย เป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ มีคุณค่าทางศิลปะแสดงถึงความประณีตงดงามในการประดิษฐ์ การหล่อ ของฝีมือช่างไทยสมัยโบราณ โดยทางวัดจะจัดให้มีงานนมัสการทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปากพลี

น้ำตกวังม่วง ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหินลาด มีทางแยกซ้ายมือจากถนนสุวรรณศรที่อำเภอปากพลี ไปยังน้ำตกวังม่วง ระยะทาง 16 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกเพราะเป็นถนนลูกรังบดอัดแน่นไปจนถึงบริเวณน้ำตก เป็นน้ำตกที่ไหลผ่านแนวหินเป็นระยะๆ แล้วไหลลงมายังอ่างรับน้ำสุดท้าย และสภาพแวดล้อมยังคงสภาพตามธรรมชาติอย่างสมบูรณ์
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ของสี่จังหวัด คือ นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสระบุรี มีภูมิประเทศสวยงามประกอบด้วย ป่าดิบ ป่าโปร่ง ธารน้ำ น้ำตก สัตว์ป่า และพันธุ์ไม้ป่านานาชนิด ยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาใหญ่ คือ ยอดเขาเขียว มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,292 เมตร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2505 นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 25% อยู่ในเขตจังหวัดนครนายก โดยครอบ-คลุมพื้นที่ใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบ้านนา และอำเภอปากพลี การเดินทางไปเขาใหญ่นับว่าสะดวกมาก มีทางหลวงสาย 3077 แยกจากทางหลวงหมายเลข 33 ที่สี่แยกเนินหอม ระยะทาง 41 กิโลเมตร ไปยังศูนย์กลางของเขาใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และไปบรรจบกับถนนมิตรภาพบริเวณอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา รวมระยะทางจากสี่แยกเนินหอมถึงถนนมิตรภาพประมาณ 81 กิโลเมตร ขณะนี้ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยังไม่เปิดบริการบ้านพักแก่นักท่องเที่ยว หากมีประสงค์จะพักค้างแรม ก็สามารถพักได้ที่รีสอร์ทในเขตนครนายก และรีสอร์ทตรงทางขึ้นเขาใหญ่ที่อำเภอปากช่อง ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง หรือจะนำเต็นท์ไปเองก็ได้ สถานที่ท่องเที่ยวบนเขาใหญ่เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ต่างๆ อัน ได้แก่ จุดชมวิวที่กิโลเมตรที่ 30 ถนนธนะรัชต์ (จากปากช่อง) จุดชมวิวเขาเขียว (ผาตรอมใจ) และจุดชมวิว กิโลเมตรที่ 9 บนทางขึ้นเขาเขียว ส่วนน้ำตกที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวชมเพราะทางเข้าสะดวก ได้แก่
 น้ำตกเหวนรก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในเขตอำเภอปากพลี จากตัวเมืองเดินทางไปทางทิศตะวันออกตามถนนสุวรรณศร ถึงสี่แยกเนินหอมหรือวงเวียนนเรศวร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวง 3077 ซึ่งเป็นทางขึ้นเขาใหญ่ไปจนถึง กิโลเมตรที่ 24 มีทางเดินเท้าไปน้ำตกเหวนรกอีก 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นแรกสูงประมาณ 60 เมตร เมื่อน้ำไหลผ่านน้ำตกชั้นนี้จะพุ่งไหลลงสู่หน้าผาชั้นที่สอง และชั้นที่สาม ในลักษณะการไหลตก 90 องศา รวมความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เมตร ในฤดูฝนน้ำจะไหลแรงมาก
น้ำตกกองแก้ว เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากห้วยลำตะคองอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 100 เมตร ใกล้น้ำตกมีสะพานแขวนข้ามลำห้วยลำตะคอง ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดนครนายก และจังหวัดนครราชสีมา
น้ำตกเหวสุวัต อยู่ที่จุดสิ้นสุดของถนนธนะรัชต์ เกิดจากห้วยลำตะคองไหลตกจากหน้าผา สูงประมาณ 25 เมตร ในฤดูฝน จะมีน้ำมากและไหลเชี่ยว ในฤดูแล้งปริมาณน้ำจะน้อย สามารถเดินไปยังใต้หน้าผาของน้ำตกนี้ได้
น้ำตกเหวไทร เป็นน้ำตกที่เกิดจากห้วยลำ ตะคอง ถัดไปจากน้ำตกเหวสุวัต ต้องเดินเท้าจากน้ำตกเหวสุวัตไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 30 นาที น้ำตกไหลลงมาจากหน้าผา กว้างสูงประมาณ 5 เมตร ในฤดูฝนน้ำไหลแรงเต็มหน้าผาสวยงามมาก
น้ำตกผากล้วยไม้ อยู่ระหว่างทางไปน้ำตกเหวสุวัต โดยเดินเท้าจากถนนธนะรัชต์ไปอีก 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลางอยู่ในห้วยลำตะคองเช่นเดียวกัน ที่หน้าผาของน้ำตกมีกล้วยไม้-หวายแดงขึ้นอยู่ อันเป็นสัญลักษณ์ของน้ำตกแห่งนี้ ดอกหวายแดงจะบานในฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน นอกจากนี้ ยังมีน้ำตกอีกหลายแห่งซึ่งต้องเดินเท้าเป็นระยะทางไกล ได้แก่ น้ำตกห้วยโกรกเด้ น้ำตกเหวประทุน น้ำตกผากระจาย น้ำตกวังเหว น้ำตกไม้ปล้อง น้ำตกผาชมพู น้ำตกฝาตาด น้ำตกมะนาว น้ำตกตาดตาภู่ และน้ำตกตาดตาคง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอองครักษ์

ศาลเจ้าพ่อองครักษ์ ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำนครนายก ในเขตตำบลสันทรายมูล มีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ได้เสด็จประพาสจังหวัดปราจีนบุรี โดยเสด็จผ่านมาตามลำแม่น้ำนครนายก และได้มาประทับแรมบริเวณที่ตั้งศาลเจ้าพ่อองครักษ์ในปัจจุบัน ในระหว่างประทับแรมอยู่นั้นนายทหารราชองครักษ์ได้ป่วยและเสียชีวิตลง เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ราชองครักษ์ ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างศาลขึ้นเป็นอนุสรณ์ ศาลแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อองครักษ์” และใช้เป็นชื่อของอำเภอองครักษ์ในปัจจุบันด้วย บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อองครักษ์นี้เป็นวังน้ำวน น้ำไหลเชี่ยวมาก สำหรับทางราชการถือว่าน้ำตรงวังน้ำวนนี้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงได้นำไปทำพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก เมื่อคราวประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิ เษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันด้วย
ศูนย์ไม้ดอกไม้ประดับ อยู่ที่คลอง 15 เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์พืช ทั้งไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ ซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับจากที่นี่จะจัดส่งไปยังแหล่งจำหน่ายต่างๆ ทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมและเลือกหาซื้อได้ในราคาขายส่ง

กิจกรรมสันทนาการ

ท่องไพรเขาใหญ่-นครนายกจัดในช่วงเดือนธันวาคม-เดือนมิถุนายน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้มีการศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศน์วิทยา สร้างความรู้ความเข้าใจอันดีงาม และช่วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ และเพิ่มพูนรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

สำหรับเส้นทางในการเดินป่าท่องไพร มี 3 เส้นทาง ดังนี้

เส้นทางที่ 1 น้ำตกนางรอง-เขาทะโมน-น้ำตกนางนอน-น้ำตกตาดตาโม่ง-น้ำตกตาดตาคง - น้ำตกตาดตาภู่ - น้ำตกมะนาว ออกไปถึงอาคารโภชนาการบนถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ รวมระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้ เวลาเดินทาง 3 วัน 2 คืน
เส้นทางที่ 2 น้ำตกนางรอง-วังตะไคร้-คลองสมพุงใหญ่ ผ่านชายหาดแก่งหินและลาน หิน ไปถึงน้ำตกแม่ปล้อง 7 ชั้น รวมระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 2 วัน
เส้นทางที่ 3 เริ่มต้นที่น้ำตกนางรอง เดินลัดเลาะตามลำคลองไปถึงน้ำตกเขาช่องลม ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 2 วัน สนใจสมัครด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ค่าสมัคร 50 บาทต่อคน สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานจังหวัดนครนายก โทร. (037) 311273 หรือที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดนครนายก โทร. (037) 312284
ล่องแก่งนครนายกด้วยเรือแคนู เป็นการท่องเที่ยวผสมผสานไปกับการกีฬา เป็นการพักผ่อนและออกกำลังกาย ซึ่งได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติโดยการพายเรือแคนู (เรือที่มีหัวท้ายเพรียว น้ำหนักเบาเหมาะกับสายน้ำที่ไหลเชี่ยว) ไปตามลำน้ำนครนายก ผ่านเกาะแก่งต่างๆ อย่างสนุกสนาน และปลอดภัย สนใจรายละเอียดเรื่องอัตราค่าใช้บริการและเส้นทางได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดนครนายก โทร. (037) 312284 และที่ บริษัท ซีธันเดอร์ จำกัด โทร. 212-3171, 212-4936, 211-3585 และ 287-2345 ล่องแก่ง ติดต่อ บริษัท ซีสปอร์ต โทร. 316-3384, 316-9150, 316-9382




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่นครนายก