แผนที่อุบลราชธานี

  • แผนที่อุบลราชธานี
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

อุบลราชธานีเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่สามารถเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นได้ก่อนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย เพราะตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเส้นเวลาหลักของประเทศ ที่เส้นแวง 105 องศาตะวันออก และมีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ทางประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมที่ตกทอดรุ่นสู่รุ่นมาจาก บรรพบุรุษตั้งแต่ยุคขอมโบราณ ที่ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมไทยถิ่นอีสานปัจจุบัน เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจ อุบลราชธานียังอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า พืชพรรณนานาชนิด แหล่งน้ำขนาดใหญ่น้อยหลายแห่ง และภูมิทัศน์ที่งดงามแปลกตาโดดเด่น รวมทั้งมีโรงแรมที่พักมากมาย และการคมนาคมสะดวกสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีสนามบิน ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็น เมืองท่องเที่ยว ที่น่าสนใจไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ ของภูมิภาค ที่นักเดินทางไม่ควรพลาดมาเยี่ยมเยือน เมื่อปีพุทธศักราช 2228 เกิด วิกฤติทางการเมืองในนครเชียงรุ้ง เพราะกลุ่มจีนฮ่อธงขาวยกกำลังปล้น เมืองเจ้านครเชียงรุ้งคือ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี และเจ้าปางคำ ได้อพยพไพร่พลมาขอพึ่งบารมีพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ของเวียงจันท์ จึงโปรดให้นำไพร่พลไปตั้งเมืองที่หนองบัวลุ่มภู (ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู) โดยตั้งชื่อเมืองว่า "นครเขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน"

ต่อมาพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้เจ้าปางคำเสกสมรสกับพระราชนัดดาได้โอรส คือ เจ้าพระตา เจ้าพระวอซึ่งมีความสำคัญต่อเมืองอุบลราชธานีอย่างยิ่ง เพราะต่อมา ปีพุทธศักราช 2314 เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างเวียงจันท์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแผ่นดินเวียงจันท์ ขอบุตรธิดาของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ ไปเป็นนางห้ามและนางสนม แต่เจ้าพระตา เจ้าพระวอไม่ให้ เจ้าสิริบุญสาร จึงส่งกองทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู เจ้าพระตา เจ้าพระวอ ยกกองทัพออกต่อสู้ และกองทัพเวียงจันท์ต้องพ่ายกลับไปหลายครั้ง

การรบระหว่างเวียงจันทร์กับเมืองหนองบัวลุ่มภู ต่อสู้กินเวลายาวนานถึง 3 ปี ไม่มีผลแพ้ชนะกัน เจ้าสิริบุญสารได้ส่งทูตไปขอกองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ให้มาช่วยตีเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยมีเงื่อนไขเวียงจันทร์ยอมเป็นเมืองขึ้นของพม่า กองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ จึงให้ม่องระแง คุมกองทัพมาช่วยเจ้าสิริบุญสารรบ เมื่อฝ่ายเจ้าพระตาทราบข่าวศึก คะเนคงเหลือกำลังที่จะต้านศึกกองทัพใหญ่กว่าไว้ได้ จึงให้เจ้าคำโส เจ้าคำขุย เจ้าก่ำ เจ้าคำสิงห์ พาไพร่พล คนชรา เด็ก ผู้หญิง พร้อมพระสงฆ์ อพยพมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อหาที่สร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ไว้รอท่า หากแพ้สงครามจะได้อพยพติดตามมาอยู่ด้วย

โดย แรกได้มาตั้งเมืองที่บ้านสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่า (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร) และการสู้รบในครั้งสุดท้าย เจ้าพระตาถึงแก่ความตายในสนามรบ เจ้าพระวอผู้เป็นบุตรชายคนโต พร้อมด้วยพี่น้องคือ นางอูสา นางสีดา นางแสนสีชาด นางแพงแสน เจ้าคำผง เจ้าทิตพรหม และนางเหมือนตา ได้หลบหนีออกจากเมืองมารับเสบียงอาหารจากบ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า แล้วผ่านลงไปตั้งเมืองที่ "ดอนมดแดง" พร้อมขอพึ่งพระเจ้าไชยกุมารองค์หลวง แห่งนครจำปาศักดิ์ ฝ่ายเจ้าสิริบุญสารทราบข่าวการตั้งเมืองใหม่ จึงให้อัคฮาดหำทอง และพญาสุโพ ยกกองทัพมาตีเจ้าพระวอสู้ไม่ได้ และเสียชีวิตในสนามรบ เจ้าคำผงผู้น้องจึงขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่ม พร้อมมีใบบอกลงไปที่เมืองนครราชสีมา และกรุงธนบุรี เพื่อขอพึ่งบารมีพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งให้ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกองทัพมาช่วยเจ้าคำผง ด้านพญาสุโพรู้ข่าวศึกของเจ้ากรุงธนบุรี จึงสั่งถอยทัพกลับเวียงจันท์ แต่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ได้เดินทัพติดตามทัพเวียงจันทร์ จนสามารถเข้ายึดเมืองได้สำเร็จ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พร้อมคุมตัวเจ้าสิริบุญสารไปกรุงธนบุรี ส่วนเจ้าคำผงหลังเสร็จศึกได้กลับไปตั้งเมืองอยู่ที่ดอนมดแดงเหมือนเดิม กระทั่งปีพุทธศักราช 2319 เกิดน้ำท่วมใหญ่ เจ้าคำผงจึงอพยพไพร่พลไปอยู่ที่ดอนห้วยแจระแม (ปัจจุบัน คือบ้านท่าบ่อ) รอจนน้ำลด แล้วจึงหาทำเลที่ตั้งเมืองใหม่ที่ที่ตำบลบ้านร้าง เรียกว่า ดงอู่ผึ้งริมฝั่งแม่น้ำมูลอันเป็นที่ตั้งของจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน เมื่อปีพุทธศักราช 2320 พร้อมกับได้สร้างพระอารามหลวงขึ้นเป็นวัดแรก

ต่อมาปีพุทธศักราช 2322 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี เชิญท้องตราขึ้นมาตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี พร้อมให้เจ้าคำผงเป็น เจ้าเมืองในราชทินนาม "พระประทุมราชวงศา" เจ้าทิตพรหมเป็นพระอุปฮาด เจ้าก่ำเป็นราชวงศ์ เจ้าสุดตาเป็นราชบุตร โดยเป็นคณะอาญาสี่ชุดแรกของ เมืองอุบลราชธานี จนถึงกาลเปลี่ยนแผ่นดินปีพุทธศักราช 2334 สมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ยกกำลังมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าฝ่ายหน้าผู้น้องพระประทุมราชวงศาได้ยกกำลังไปรบ สามารถจับอ้ายเชียงแก้วได้ และทำการประหารชีวิตที่บริเวณแก่งตะนะ

ในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเมืองอุบลขึ้นเป็นเมืองประเทศราช แต่งตั้งให้ พระประทุมราชวงศาเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าครองเมือง "เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไล ประเทศราช" พระราชทานพระสุพรรณบัตร และเครื่องยศเจ้าเมืองประเทศราช พร้อมทำพิธีสบถสาบานถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 แรม 13 ค่ำ จุลศักราช 1154 ปีชวด จัตวาศก ตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2335 โดยเป็นเจ้าเมืองคนแรกของอุบลราชธานี ถึงปี 2338 พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ทิตพรหม) น้อง ชายพระประทุม จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนต่อมา รวมมีเจ้าเมืองอุบลราชธานี ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งทั้งสิ้น 4 ท่าน

ภายหลังการก่อตั้งเมืองอุบลฯ แล้ว ก็ได้มีการตั้งเมืองสำคัญในเขตปกครองของจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นอีกหลายเมือง เช่น ใน พ.ศ. 2357 โปรดฯให้ตั้งบ้านโคกพเนียง เป็นเมืองเขมราฐธานี

ปี พ.ศ. 2366 ยกบ้านนาก่อขึ้นเป็นเมืองโขงเจียง (โขงเจียม) โดยขึ้นกับนครจำปาศักดิ์

ปี พ.ศ. 2388 ในรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านช่องนางให้เป็นเมืองเสนางคนิคม ยกบ้านน้ำโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมืองเดชอุดม ให้หลวงอภัยเป็นหลวงยกบัตรหลวงมหาดไทยเป็นหลวงปลัด ตั้งหลวงธิเบศร์เป็นพระศรีสุระ เป็นเจ้าเมือง รักษาราชการแขวงเมืองเดชอุดม

ปี พ.ศ. 2390 ตั้งบ้านดงกระชุหรือบ้านไร่ ขึ้นเป็นเมืองบัวกัน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นเมืองบัวบุณฑริก หรืออำเภอบุณฑริกในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2401 ตั้งบ้านค้อใหญ่ ให้เป็นเมือง ขอตั้งท้าวจันทบรม เป็นพระอมรอำนาจ เป็นเจ้าเมือง ตั้งท้าวบุตตะเป็นอุปฮาด ให้ท้าวสิงหราชเป็นราชวงศ์ ท้าวสุริโยเป็นราชบุตร รักษาราชการเมืองอำนาจเจริญขึ้นกับเมืองเขมราฐ

ปี พ.ศ. 2406 ในรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านกว้างลำชะโด ตำบลปากมูล เป็นเมืองพิบูลมังสาหารและให้ตั้งบ้านสะพือ เป็นเมืองตระการพืชผล ตั้งท้าวสุริยวงษ์ เป็นพระอมรดลใจ เป็นเจ้าเมือง

ปี พ.ศ. 2422 ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านท่ายักขุเป็นเมืองชานุมานมณฑล และให้ตั้งบ้านเผลา (บ้านพระเหลา) เป็นเมืองพนานิคม

ปี พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านนากอนจอ เป็นเมืองวารินชำราบ

ปี พ.ศ. 2424 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านจันลานาโดม เป็นเมืองโดมประดิษฐ์ (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านที่อำเภอน้ำยืน)

ปี พ.ศ. 2425 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านทีเป็นเมืองเกษมสีมา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอม่วงสามสิบนั่นเอง

อุบลราชธานี จึงเป็นเมืองที่มีเขตการปกครองอย่างกว้างขวางที่สุด ทางด้านตะวันออกของภาคอีสานตอนล่างครอบคลุมที่ราบและแม่น้ำสายสำคัญของภาค อีสานถึง 3 สายด้วยกัน คือ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง อีกทั้งยังมีแม่น้ำสายเล็กๆที่มีกำเนิดจากเทือกเขาในพื้นที่ เช่น ลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ เป็นต้น

แม่น้ำทั้งหลายเหล่านี้ไหลผ่านที่ราบทางด้านเหนือและทางด้านใต้ทอด เป็นแนวยาวสู่ปากแม่น่ำมูลและแม่น้ำโขง ยังความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่ใน บริเวณแถบนี้ทั้งหมด ทำให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์มาแต่ โบราณกาล

ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกมณฑลทั้งประเทศ จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งแยกออกมาจาก มณฑลนครราชสีมาในขณะนั้น ได้กลายเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลังจากนั้นจังหวัดอุบลราชธานีก็ได้ถูกแบ่งออก โดยอำเภอยโสธรและอำเภอใกล้เคียงเป็นจังหวัดยโสธร ในปี พ.ศ. 2515 และต่อมาปี 2536 ได้ถูกแบ่งอีกครั้ง โดยอำเภออำนาจเจริญและอำเภอใกล้เคียงเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่เป็นอันดับ 5 ของไทย และมีประชากรลำดับที่ 3 ของประเทศ

จังหวัดอุบลราชธานีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ 219 ตำบล 2469 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม อำเภอเขื่องใน อำเภอเขมราฐ อำเภอเดชอุดม อำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน อำเภอบุณฑริก อำเภอตระการพืชผล อำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตาลสุม อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอสำโรง อำเภอดอนมดแดง อำเภอสิรินธร อำเภอทุ่งศรีอุดม อำเภอนาเยีย อำเภอนาตาล อำเภอเหล่าเสือโก้ก อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอน้ำขุ่น

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอำนาจเจริญ
ทิศใต้ ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ตามแนว เทือกเขาบรรทัด
ทิศตะวันออก ติดต่อกับประเทศลาว
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดยโสธรและศรีสะเกษ

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-อุบลราชธานี

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ

1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นแยกใช้ทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี

2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงอำเภอสีคิ้ว แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอโชคชัย อำเภอนางรอง อำเภอสังขะ อำเภอเดชอุดม ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี

ทางรถประจำทาง

รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 272-0295 (รถธรรมดา) ที่อุบลราชธานี โทร. (045) 241831 และ โทร. 272-5299 (รถปรับอากาศ) นอกจากนี้มีรถปรับอากาศ และรถธรรมดาจากกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และจากอุบลราชธานีไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ นครชัยแอร์ กรุงเทพฯ โทร. 272-5271 ที่อุบลราชธานี โทร. (045) 269385-6 มงคลทัวร์ กรุงเทพฯ โทร. 2725239 ที่อุบลราชธานี โทร. (045) 255116 เชิดชัยทัวร์ กรุงเทพฯ โทร. 272-5264 ที่อุบลราชธานี โทร. (045) 254885, 255907 ทัวร์สหมิตร กรุงเทพฯ โทร. 272-5252 ที่อุบลราชธานี โทร. (045) 255043 สายัณห์ทัวร์ อุบลราชธานี โทร. (045) 254885 (ปรับอากาศ) และ โทร. 242163 (รถธรรมดา) บริษัทศิริรัตนพล จำกัด อุบลราชธานี โทร. (045) 245847, 441848

ทางรถไฟ

รถไฟ มีรถด่วน และรถเร็ว กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน และยังมีรถธรรมดาจากนครราชสีมา-อุบลราชธานี และสุรินทร์-อุบลราชธานี อีกด้วย รายละเอียดสอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน การบินไทยและสายการบินไทยแอร์เอเชียมีเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน สอบถามข้อมูลการเดินทาง ตารางเที่ยวบิน และสำรองที่นั่งได้ที่การบินไทย โทร. 0 2356 1111 www.thaiairways.co.th และสายการบินไทยแอร์เอเชีย โทร. 0 2515 9999 www.airasia.com

การเดินทางภายในอุบลราชธานี

ในตัวจังหวัดอุบลราชธานีมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองอุบลราชธานีไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอวารินชำราบ 2 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ 23 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอเหล่าเสือโก๊ก 27 กิโลเมตร

อำเภอสำโรง 28 กิโลเมตร

อำเภอตาลสุม 32 กิโลเมตร

อำเภอม่วงสามสิบ 34 กิโลเมตร

อำเภอดอนมดแดง 35 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอนาเยีย 35 กิโลเมตร

อำเภอเขื่องใน 38 กิโลเมตร

อำเภอเดชอุดม 45 กิโลเมตร

อำเภอพิบูลมังสาหาร 45 กิโลเมตร

อำเภอตระการพืชผล 50 กิโลเมตร

อำเภอทุ่งศรีอุดม 74 กิโลเมตร

อำเภอกุดข้าวปุ้น 76 กิโลเมตร

อำเภอสิรินธร 80 กิโลเมตร

อำเภอศรีเมืองใหม่ 83 กิโลเมตร

อำเภอบุณฑริก 87 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอนาตาล 93 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอน้ำขุ่น 97 กิโลเมตร

อำเภอโพธิ์ไทร 99 กิโลเมตร

อำเภอนาจะหลวย 100 กิโลเมตร

อำเภอเขมราฐ 108 กิโลเมตร

อำเภอโขงเจียม 110 กิโลเมตร

อำเภอน้ำยืน 110 กิโลเมตร

รถเมล์หรือรถสองแถวประจำทาง

มีการบริการด้วยรถสองแถวประจำทางที่ให้การบริการในเขตเมืองอุบลราชธานีและเขตวารินชำราบ มีดังต่อไปนี้

สายที่ 1 บ้านธาตุ - สามแยกเข้าหมู่บ้านหนองแก
สายที่ 2 สถานีรถไฟอุบลราชธานี - โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคาร
สายที่ 3 บ้านก่อ - โรงเรียนเทคโนโลยีและเกษตรกรรมอุบลราชธานี
สายที่ 4 เรือนจำกลางอุบลราชธานี - โรงเรียนบ้านกุดลาด (ปัจจุบันยกเลิกเส้นทาง)
สายที 6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ - การประปา
สายที่ 7 ศาลปู่เจ้าคำจันทร์ - วัดพุทธนิคมกิติยาราม
สายที่ 8 บ้านปลาดุก - สถานีโทรคมนาคมอุบลราชธานี
สายที่ 9 ตลาดสดวารินชำราบ - หาดคูเดื่อ
สายที่ 10 ศาลาบ้านดู่ - ศูนย์อพยพ
สายที่ 11 บ้านบุ่งกาแซว - บ้านด้ามพร้า
สายที่ 12 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - บ้านดง
สายที่ 13 วงเวียนบ้านท่าข้องเหล็ก - โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ - ขนส่งอุบลราชธานี (ปัจจุบันยกเลิกเส้นทาง)
สายที่ 14 (ขึ้นต้นด้วยอักษร ม.) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี - ขนส่งอุบลราชธานี

งานประเพณีมหาสงกรานต์แก่งสะพือ

ในเดือนเมษายนของทุกปี ทางเทศบาลพิบูลมังสาหาร ก็ได้กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือขึ้นเป็นประจำ ซึ่งในงานนอกขากจะมีการประกวดธิดาสงกรานต์แล้ว ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของภาคเอกชน มีการละเล่นกีฬาพื้นเมือง และการประกวดการเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานอีกด้วย

ประเพณีแห่เทียนพรรษาประเพณีแห่เทียนพรรษา
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ของชาวอุบลราชธานี ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนานอีกทั้งยังเป็นต้นตำรับของ งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของไทยด้วย ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่รู้จัก ของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา จัดให้มีขึ้นทุกปี

จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ได้ความว่า ชาวอุบลราชธานี ได้ทำต้นเทียนประกวดประชันความวิจิตรบรรจงกัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 จนเมื่อปี พ.ศ. 2520 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬาร สถานที่จัดงานคือ บริเวณทุ่งศรีเมืองและศาลาจตุรมุข มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียน จะเคลื่อนขบวนจาก หน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม ไปตามถนน มาสิ้นสุดขบวนที่ทุ่งศรีเมือง และการแสดงสมโภชต้นเทียน แลเป็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน
ประวัติงานประเพณีแห่เทียนพรรษา
ขบวนแห่เทียนพรรษา

ก่อน สมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบล ชาวอุบลไม่มีการหล่อเทียนแห่เทียนเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านจะฟั่นเทียนยาวรอบศีรษะไปถวายพระเพื่อจุดบูชาจำพรรษา ครั้นในสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้ เป็นผู้สำเร็จราชการที่เมืองอุบล คราวหนึ่งมีการแห่บั้งไฟที่วัดกลาง มีคนไปดูมาก ในการแห่บั้งไฟมีการตีกันในขบวนแห่จนถึงแก่ความตาย เสด็จในกรมเห็นว่าไม่ดี จึงให้เลิกการแห่บั้งไฟและเปลี่ยนเป็นการแห่เทียนแทน

การแห่เทียนแต่เดิมไม่ได้จัดใหญ่โตเช่นปัจจุบัน เพียงแต่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเทียน แล้วนำเทียนมาติดกับลำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ตามรอยต่อหากระดาษจังโก (กระดาษสีเงินสีทอง) ตัดเป็นลายฟันปลาปิดรอยต่อ เสร็จแล้วนำต้นเทียนไปมัดติดกับปิ๊ปน้ำมันก๊าด ฐานของต้นเทียนใช้ไม้ตีเป็นแผ่นเรียบ หรือทำสูงขึ้นเป็นชั้นๆ ติดกระดาษ เสร็จแล้วมีการแห่นำไปถวายวัด พาหนะที่ใช้นิยใช้เกวียน หรือล้อเลื่อนที่ใช้วัวหรือคนลากจูง การแห่ของชาวบ้านก็จะมีฆ้อง กลอง กรับ และการฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน

ในระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 2480 การทำต้นเทียนได้พัฒนาขึ้น ถึงขั้นใช้การหล่อออกจากเบ้าพิมพ์ที่เป็นลายง่ายๆ เช่น ประจำยาม กระจัง ตาอ้อย บัวคว่ำ บัวหงาย ก้ามปู ฯลฯ แล้วนำไปติดที่ลำต้นเทียน ช่างผู้มีชื่อเสียงในทางนี้คือ นายโพธิ์ ส่งศรี ลายที่พ่อใหญ่โพธิ์ทำขึ้นเป็นลายง่ายๆ เช่น ลายประจำยาม กระจังตาอ้อย ใบเทศ บัวคว่ำบัวหงาย พ่อใหญ่โพธิ์เป็นช่างทำต้นเทียน ให้กับวัดทุ่งศรีเมือง ต่อมา นายสวน คูณผล ได้นำวิธีการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ และประดับฐานต้นเทียนด้วยรูปปั้นสัตว์และลายไม้ฉลุ ทำให้ดูสวยงามมากขึ้น ผลงานทำต้นเทียน ของนายสวน คูณผล จึงมักจะได้รางวัลชนะเลิศอยู่เป็นประจำ

ในช่วงปี พ.ศ. 2494 ประชาชนเริ่มให้ความสนใจและเห็นความสำคัญ ในการทำและแห่เทียนพรรษามากขึ้น เมื่อทางจังหวัดได้ส่งเสริมให้งานเข้าพรรษาเป็นงานประเพณีประจำปี แต่ต้นเทียนในขณะนั้นยังมีการจัดทำอยู่เพียง 2 ประเภท คือ ประเภทมัดเทียนรวมกันแล้วติดกระดาษสีและประเภทพิมพ์ลายติดลำต้น

ใน พ.ศ. 2495 ได้มีการฟื้นฟูศิลปะการทำต้นเทียน และการแห่เทียนพรรษาของ จังหวัดอุบลราชธานี มีการประกวดเทียนพรรษา 2 ประเภท คือ ประเภทมัดรวมติดลาย และประเภท ติดพิมพ์

ครั้น พ.ศ. 2497 ช่างฝีมือรุ่นเยาว์ อันได้แก่ นายอารีย์ สินสวัสดิ์ นายประดับ ก้อนแก้ว ได้พัฒนาวิธีทำขึ้นใหม่ โดยใช้ปูนพลาสเตอร์แกะเป็นแม่พิมพ์ลายต่างๆ แล้วหล่อด้วยเทียนออกมาเป็นดอกๆ ผึ้งที่ใช้หล่อดอกไม้คนละสีกับลำต้น จึงทำให้มองเห็นเป็นส่วนลึกของลายอย่างชัดเจน นายประดับ ก้อนแก้ว ได้ทำต้นเทียนติดพิมพ์ และตกแต่งขบวนต้นเทียนของวัดมหาวนารามได้อย่างสวยงาม จนได้รับรางวัลชนะเลิศ

ประมาณปี พ.ศ. 2500 มีการจัดงานกึ่งพุทธกาลทั่วประเทศ งานด้านศาสนาจึงเฟื่องฟูมาก การแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น ทั้งด้านการจัดขบวนแห่ และการจัดหาสาวงามสำหรับต้นเทียน

พ.ศ. 2502 นายคำหมา แสงงาม ช่างสูงอายุคนหนึ่งได้คิดและแกะสลักต้นเทียนโดยไม่ต้องพิมพ์ดอกมาติด เหมือนเช่นที่ช่างรุ่นก่อนทำมา ทำให้ต้นเทียนแกะสลักที่นายคำหมาทำให้กับบ้านกุดเป่ง อำเภอวารินชำราบ มีความแปลกใหม่สวยงาม ดังนั้น ในปีต่อมา จึงได้มีการเสนอให้จัดประกวดต้นเทียน 3 ประเภท คือ ประเภทมัดรวมติดลาย ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก ระยะต่อมา จึงตัดต้นเทียนประเภทมัดรวมติดลายที่เป็นต้นเทียนแบบเก่า ออกจากการประกวด ช่างแกะสลักต้นเทียนที่มีฝีมือในรุ่นต่อมา ได้แก่ นายอุตส่าห์ จันทรวิจิตร และนายสมัยจันทรวิจิตร ซึ่งเป็นพี่น้องกัน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานสัปดาห์ประเพณีแห่เทียนพรรษา ให้เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมโหฬารมากที่สุดในประเทศไทย มีการประกวดต้นเทียนประเภทต่างๆ ประกวดขบวนแห่ และนางฟ้า โดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการให้คะแนนอย่างรัดกุม มีการประชาสัมพันธ์งานกันอย่างกว้างขวางและททท.ได้จัดให้บรรจุลงในปฏิทินการท่องเที่ยว ทำให้มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเที่ยวและชมงานเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันจัดได้ว่าเป็นงานแห่เทียนต้นตำรับที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ได้อย่างครบถ้วน

ปี พ.ศ. 2555 เป็นปีที่จังหวัดอุบลราชธานี จัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาครบรอบ 111 ปี ในชื่องาน "111 ปีลือเลื่อง ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ภูมิปัญญาชาวอุบล"[

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

ทุ่งศรีเมือง เป็นทุ่งกว้างกลางเมือง คล้ายสนามหลวงของกรุงเทพฯ เดิมเป็นที่ทำนาของเจ้าเมือง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้งดการทำนาที่ทุ่งศรีเมือง เพื่อรักษาไว้ให้เป็นที่พักผ่อนของชาวเมือง และเป็นที่จัดเทศกาลงานบุญต่างๆ ทางทิศใต้ของทุ่งศรีเมืองเป็นที่ประดิษฐานของศาลหลักเมือง
วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนหลวงในเขตเทศบาลเมือง มีพระอุโบสถสวยงาม เป็นสถาปัตยกรรมอีสานที่ได้รับอิทธิพลจากกรุงเทพฯ สร้างประมาณต้นสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่บ่งบอกถึงอารยธรรมและวัฒนธรรมของคนอุบลในสมัยโบราณเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้วนอกจากนี้ยังมีหอไตรกลางน้ำ สร้างด้วยไม้ มีลักษณะผสมระหว่างไทย พม่า และลาว ลักษณะอาคารเป็นแบบไทย เป็นเรือนฝาปะกน ขนาด 4 ห้อง เก็บตู้พระธรรมลงรักปิดทอง หลังคามีลักษณะเป็นศิลปะไทยผสมพม่า มีช่อฟ้าใบระกา แต่หลังคาซ้อนกันหลายชั้น ส่วนลวดลายแกะสลักบนหน้าบันทั้งสองด้าน เป็นลักษณะศิลปะแบบลาว เป็นสถาปัตยกรรมของอีสานที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุด
วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) เป็นอารามหลวงตั้งอยู่บนถนนอุปราชข้างศาลากลางจังหวัดในตัวเมืองอุบลราชธานี พระอุโบสถสร้างตามแบบวัดเบญจมบพิตร เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม พระคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต ประเทศลาว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีจะมีการอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมเข้าขบวนแห่ไปรอบเมืองอุบลราชธานี เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการและสรงน้ำ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่ถนนเขื่อนธานีตัดกับถนนอุปราช เป็นอาคารปั้นหยาชั้นเดียว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2461 เดิมใช้เป็นศาลากลางจังหวัด ต่อมาทางจังหวัดได้มอบอาคารหลังนี้ให้กรมศิลปากร เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวท้องถิ่น ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติการตั้งเมือง โบราณวัตถุซึ่งเป็นหลักฐานทางด้านศิลปโบราณคดี หัตถกรรมพื้นบ้าน การละเล่นพื้นเมือง และเครื่องใช้ของเจ้าเมืองอุบล เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. ราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท
วัดแจ้ง ตั้งอยู่ที่ถนนสรรพสิทธิ์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เดิมชื่อวัดหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ แล้วเปลี่ยนเป็นวัดป่าใหญ่และเป็นวัดมหาวนารามในปัจุบัน วัดนี้มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะบูชาของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง คือ "พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีแผ่นศิลาจารึกฝังอยู่เบื้องหลังแท่นขององค์พระ ระบุปีที่สร้างวัดนี้ตรงกับ พ.ศ. 2350 ในวันเพ็ญเดือน 5 (ประมาณเดือนเมษายน) จะมีการทำบุญตักบาตร เทศก์มหาชาติชาดก และสรงน้ำปิดทองพระเจ้าอินแปลงเป็นประจำทุกปี
วัดบูรพาราม อยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานี เป็นวัดที่เคยเป็นที่จำพรรษาของอาจารย์ชื่อดังทางวิปัสนากรรมฐาน ได้แก่ อาจารย์สีทาชยเสโน อาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ อาจารย์ลี ธัมมธโร อาจารย์เสาว์กันตสีโล และอาจารย์สิงห์ ขันตยคโม ปัจจุบันคงมีแต่รูปเหมือนทำจากหินบริสุทธิ์จากลำน้ำต่างๆเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมือง
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนสมเด็จ เป็นพระอารามหลวงในจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นวัดธรรมยุติกนิกายวัดแรกของอีสาน สร้างใน พ.ศ. 2396 โดยพระพรหมราชวงศา (พระอุปราชกุทอง) เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี (สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี) ตัววัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล เป็นพระอารามหลวงที่อยู่ในภูมิทัศน์ที่ร่มรื่นสวยงาม พระอุโบสถเป็นศิลปะไทย-จีน-ยุโรป หน้าโบสถ์มีรูปสิงโตคล้ายของจริงสองตัว ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระสัพพัญญูเจ้า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดเงาไม่ปิดทองที่สง่างามมาก มีหอศิลปวัฒนธรรม เก็บรักษาโบราณวัตถุ เช่น เสมาหิน ศิลาจารึก และทับหลัง
หาดวัดใต้ เป็นเกาะหาดทรายอยู่กลางลำน้ำมูลช่วงท้ายเมืองใกล้ที่ตั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดอุบลราชธานี ในฤดูแล้งมีบริเวณกว้างขวาง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเขียวชอุ่มให้ความร่มรื่นอยู่ตลอดเวลา เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง โดยเฉพาะในตอนเย็นๆ จะมีคนนำอาหารไปรับประทานร่วมกันแล้วลงเล่นน้ำเป็นที่สนุกสนาน และยังมีร้านอาหารเรือนแพบริการขายอาหารด้วย
วัดบ้านนาเมือง ตั้งอยู่ที่บ้านนาเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร ด้านทิศเหนือของสนามบิน เป็นวัดที่มีพระอุโบสถแปลกตา สร้างเป็นรูปเรือสุพรรณหงส์ซึ่งทำด้วยเซรามิค โดยมีอาจารย์บุญมีเป็นเจ้าอาวาส เป็นที่เคารพนับถือของชาวอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง
วัดหนองบัว อยู่ชานเมืองอุบลราชธานี บนทางหลวงหมายเลข 212 สายอุบล-อำนาจเจริญ ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกจากถนนใหญ่เข้าไปประมาณ 800 เมตร ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษ ของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500 และได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย นับเป็นวัดเดียวในภาคอีสานที่มีเจดีย์แบบนี้ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ร่มรื่น
พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านก้านเหลือง ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านก้านเหลืองจากตัวเมืองไปตามทางหลวง 212 ประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวง 2050 ไปอีก 2 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นเมื่อปี 2535 พบโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย เช่น ลูกปัด เครื่องปั้นดินเผา กระพรวนสำริด ขวานเหล็ก และแกลบข้าวจำนวนมาก แต่ไม่พบโครงกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยกสิกรรมยุคหลัง หรืออยู่ในช่วงยุคโลหะตอนปลาย มีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี
หาดคูเดื่อ เป็นหาดทรายกว้างใหญ่ริมแม่น้ำมูลที่ปรากฏในช่วงหน้าแล้ง ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนเลี่ยงเมือง ประมาณ 12 กิโลเมตร ริมหาดมีร้านอาหารจัดเป็นซุ้มบริการนักท่องเที่ยวอยู่หลายร้าน
บ้านปะอาว ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองขอน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 23 ทางไปยโสธร ถึงหลักกิโลเมตรที่ 273 เลี้ยวขวาไปอีก 3 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ตามประวัติศาสตร์นั้น ได้อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ตั้งแต่สมัยของพระเจ้าสิริบุญสาร มายังหนองบัวลำภู นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จนกระทั่งถึงบ้านปะอาวแห่งนี้ ฉะนั้น หมู่บ้านปะอาว จึงมีอายุประมาณ 200 กว่าปี และเป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ประจำหมู่บ้านซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ คือการทำเครื่องทองเหลือง กรรมวิธีการผลิตยังเป็นแบบโบราณดั้งเดิม นอกจากนี้แล้วในหมู่บ้านยังมีศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทองเหลือง และทอผ้าไหมที่สวยงาม เปิดทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

อำเภอวารินชำราบ

วัดหนองป่าพง เป็นวัดที่มีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ เหมาะแก่การเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน สภาพทั่วไปเป็นหนองน้ำมีต้นพงขึ้นอยู่ทั่วไป อยู่ในอำเภอวารินชำราบ บนทางหลวงหมายเลข 2178 ห่างจากตัวอำเภอไปประมาณ 6 กิโลเมตร ตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สีขาวทั้งหลัง นอกจากนี้ยังมีหุ่นขี้ผึ้งของพระอาจารย์หลวงปู่ชา พระชื่อดังสายวิปัสสนา ผู้เริ่มก่อสร้างวัดนี้ขึ้นมา และเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป
วัดป่านานาชาติ ตั้งอยู่ที่บ้านบุ่งหวาย ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีในเส้นทางศรีสะเกษ ประมาณ 14 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 226 วัดป่านานาชาติเป็นอีกสาขาหนึ่งของวัดหนองป่าพง ในวัดจะมีชาวต่างประเทศบวชจำพรรษาเป็นจำนวนมาก เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน ปัจจุบันมีเจ้าอาวาสเป็นชาวต่างประเทศ พระภิกษุในวัดเกือบทุกรูปจะสามารถพูดภาษาไทย สวดภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาแก่พระพุทธศาสนิกชนทั่วไป
บ้านท่าข้องเหล็ก ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 226 สายอุบล-ศรีสะเกษ ประมาณ 3 กิโลเมตร (ข้างโรงเรียนวารินชำราบ) เป็นหมู่บ้านซึ่งทำหม้อดินกันทั้งหมู่บ้าน โดยใช้ดินเหนียวในลุ่มแม่น้ำมูล นำมานวดให้เข้าเนื้อ แล้วผสมกับแกลบและอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีที่น่าสนใจมาก วิธีนี้ไม่มีเครื่องจักรมาเกี่ยวข้องเลย

อำเภอพิบูลมังสาหาร

วัดภูเขาแก้ว อยู่บนเนินเขาในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร ตามทางหลวงหมายเลข 217 ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี 44 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอพิบูลมังสาหารประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในวัดมีพระอุโบสถสวยงาม ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งหลัง ภายในพระอุโบสถจะตกแต่งด้วยภาพนูน สูงอยู่เหนือบานประตูและหน้าต่างขึ้นไป เป็นเรื่องราวและภาพจำลองเกี่ยวกับพระธาตุที่สำคัญของประเทศไทย
แก่งสะพือ เป็นแก่งที่สวยงามในแม่น้ำมูล ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี ตามทางหลวงหมายเลข 217 ประมาณ 45 กิโลเมตร คำว่า “สะพือ” เพี้ยนมาจากคำว่า “ซำฟืด” หรือ “ซำปึ้ด” ซึ่งเป็นภาษาส่วยแปลว่า งูใหญ่ หรืองูเหลือม แก่งสะพือเป็นแก่งที่มีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านกระทบหิน แล้วเกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา ช่วงที่เหมาะสำหรับเที่ยวชมแก่งสะพือคือช่วงหน้าแล้ง ราวเดือนมกราคม-พฤษภาคม เพราะน้ำจะลดเห็นแก่งหินชัดเจนสวยงาม ส่วนหน้าฝนน้ำจะท่วมมองไม่เห็นแก่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาชมแก่งนี้ด้วย 2 ครั้ง ริมฝั่งแม่น้ำมีศาลาพักร้อน และร้านขายสินค้าพื้นเมือง ในวันหยุดมีประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้แล้วในเดือนเมษายนของทุกปี ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลตำบลพิบูลมังสาหารได้จัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีอันดีงามด้วย

อำเภอสิรินธร

เขื่อนสิรินธร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 70 กิโลเมตร ตามทางหลวง 217 แยกขวาที่กิโลเมตร 71 ไปอีก 500 เมตร เป็นเขื่อนหินแกนดินเหนียว สร้างกั้นลำโดมน้อยอันเป็นสาขาของแม่น้ำมูล ตัวเขื่อนสูง 42 เมตร ยาว 940 เมตร อำนวยความประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการชลประทาน บริเวณริมทะเลสาบมีสวนสิรินธร ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ มีรูปปั้นและน้ำพุสวยงาม มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว ติดต่อที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย นนทบุรี โทร. 436-3179
บ่อน้ำบุ้น ตั้งอยู่ในวัดป่าน้ำบุ้น ถัดจากเขื่อนสิรินธรไปอีก 700 เมตร ตามทางหลวงหมายเลข 217 เป็นบ่อน้ำเย็นที่มีลักษณะคล้ายบ่อน้ำร้อน ค้นพบโดยพระธุดงค์ มีน้ำเย็นผุดขึ้นมาจากใต้ดินตลอดเวลาและทุกฤดูกาล
ายแดนช่องเม็ด คือ อาณาเขตติดต่อระหว่างไทยกับลาว เป็นที่สิ้นสุดของทางหลวงหมายเลข 217 ด้วยระยะทาง 89 กิโลเมตร จากอุบลราชธานี ถนนสายนี้จะเชื่อมกับถนนในเขตลาวเข้าไปสู่เมืองปากเซในอีก 38 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายเอเซีย บริเวณช่องเม็กมีด่านตรวจคนเข้าเมือง และร้านขายสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศลาว

อำเภอโขงเจียม

อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ มีพื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่ ในเขตอำเภอสิรินธรและอำเภอโขงเจียม ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและเนินเขาเตี้ยๆ สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าแพะหรือป่าแดง ต้นไม้ในป่ามีลักษณะแคระแกรน บางส่วนเป็นทุ่งหญ้า ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลบริเวณแก่งตะนะ การเดินทางสามารถไปได้สองเส้นทางคือ หมายเลข 217 สายอุบลราชธานี-พิบูลมังสาหาร-ช่องเม็ก ประมาณ 75 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปตามเส้นทาง 2173 อีก 13 กิโลเมตร ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งคือเส้นทาง หมายเลข 2222 ซึ่งสามารถชมแก่งตะนะได้อย่างสวยงาม โดยหินจะโผล่ด้านนี้มากกว่า มองเห็นแก่งตะนะได้ชัดเจน

ในเขตอุทยานฯ มีสถานที่ท่องเที่ยว ดังนี้
- แก่งตะนะ เป็นแก่งกลางลำน้ำมูลที่ใหญ่ที่สุด ตัวแก่งเป็นแผ่นหินขนาดใหญ่กั้นขวางลำน้ำมูล สายน้ำที่ไหลผ่านแก่งตะนะแยกเป็นน้ำตกใหญ่น้อยสวยงามน่าชม
- ดอนตะนะ เป็นดอนที่เกิดขวางแม่น้ำมูล และแบ่งแม่น้ำออกเป็นสองสาย มีความกว้างประมาณ 450 เมตร ยาวประมาณ 700 เมตร ทางตอนเหนือของดอนตะนะมีหาดทราบเหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง บนดอนตะนะยังมีป่าอยู่ทั่วไป เป็นสภาพป่าดิบแห้ง มีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น และมีป่าสักขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งปัจุบันสามารถเดินข้ามสะพานแขวนไปยังดอนตะนะได้
- แก่งคันเหว่ ประกอบไปด้วยแนวหินยาวประมาณ 1 กิโลเมตร กว้างประมาณ 300 เมตร และยังมีหาดทรายตามแก่งหิน ประกอบด้วยโขดหินใหญ่น้อย มีหลุมยุบและรอยแหว่งเว้าปรากฏอยู่ทั่วไป ในเดือนธันวาคมสายน้ำจะสูงเอ่อไหลตามแก่งหินอย่างเชี่ยวกราก ทำให้เกิดทัศนียภาพอันสวยงาม
- น้ำตกตาดโตน ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2173 ซึ่งแยกจากทางหลวงหมายเลข 217 เข้าไปประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่ง เกิดจากลำห้วยตาดโตน ไหลผ่านลานหินแล้วตกลงสู่ที่ลุ่ม เกิดเป็นแอ่งน้ำสามารถลงเล่นน้ำได้ มีน้ำเย็นใสสะอาด บริเวณโดยรอบเป็นป่าไม้และดอกไม้นานาพันธุ์ บริเวณที่ทำการอุทยานมีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดติดต่อกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734

ถ้ำเหวสินธุ์ชัย ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2222 ก่อนถึงโขงเจียมประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ทางเดียวกับแก่งตะนะ บริเวณถ้ำเป็นสำนักสงฆ์ มีพระพุทธไสยาสน์ลักษณะงดงาม และมีชื่อในการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด โดยรอบวัดมีลักษณะเป็นไหล่เขา มีก้อนหินขนาดใหญ่เรียงรายอยู่มากมาย มีต้นไม้และดอกไม้สวยงาม นอกจากนี้ยังมีน้ำตกจากหน้าผาลงมาบริเวณด้านหน้าพระนอนเป็นที่ร่มเย็นสวยงาม จะมีน้ำมากในช่วงปลายฤดูฝน
วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2222 ก่อนถึงอำเภอโขงเจียมประมาณ 6 กิโลเมตร วัดนี้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดย "หลวงปู่คำคนิง จุลมณี" ซึ่งใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมจำพรรษา ปัจจุบันหลวงปู่ท่านได้มรณภาพแล้ว แต่ร่างกายของท่านไม่เน่าเปื่อย บรรดาลูกศิษย์ได้เก็บร่างของท่านไว้ในโลงแก้วเพื่อบูชา บริเวณวัดมีจุดชมวิวสามารถมองเห็นทัศนียภาพของลำน้ำโขงและฝั่งลาวได้อย่างชัดเจน
แม่น้ำสองสี หรือดอนด่านปากแม่น้ำมูล อยู่ในเขตบ้านเวินบึก นั่งเรือจากตัวอำเภอโขงเจียมไปประมาณ 5 นาที เป็นบริเวณที่แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำโขงสีปูน แม่น้ำมูลสีคราม อยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี 84 กิโลเมตร จุดที่สามารถมองเห็นแม่น้ำสองสีได้อย่างชัดเจน คือ บริเวณลาดริมตลิ่งแม่น้ำมูล แม่น้ำโขงหน้าวัดโขงเจียม และบริเวณบางส่วนของหมู่บ้านห้วยหมาก ในเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่เห็นความแตกต่างของสีน้ำได้ชัดเจนที่สุด นอกจากนี้แล้วบริเวณใกล้เคียงยังมีบริการเรือพาล่องชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำ หรือซื้อของที่ระลึกที่ตลาดหมู่บ้านในฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอีกด้วย
เขื่อนปากมูล เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียวสร้างกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านหัวเหว่ อำเภอโขงเจียม มีความสูง 17 เมตร ยาว 300 เมตร อำนวยประโยชน์ในด้านการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนปากมูลอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 75 กิโลเมตร ห่างจากจุดบรรจบของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงประมาณ 6 กิโลเมตร สันของเขื่อนปากมูลสามารถใช้เป็นเส้นทางลัดจากอำเภอโขงเจียม ไปอำเภอสิรินธรได้โดยไม่ต้องย้อนไปอำเภอพิบูลมังสาหาร นอกจากนี้บริเวณท้ายเขื่อนยังสามารถล่องเรือชมทิวทัศน์ลำน้ำมูลที่งดงามโดยตลอดไปบรรจบกับแม่น้ำโขง บริเวณที่เรียกว่า แม่น้ำสองสี
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีพื้นที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2534 สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงและเนินเขา มีหน้าผาสูงชันซึ่งเกิดจากการแยกตัวของผิวโลก สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีหินทรายลักษณะแปลกตากระจายอยู่ทั่วบริเวณ มีพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงามขึ้นอยู่ตามลานหิน การเดินทางจากอำเภอโขงเจียมใช้เส้นทาง 2134 ต่อด้วยเส้นทาง 2112 แล้วแยกขวาไปผาแต้มอีกราว 5 กิโลเมตร รวมระยะทางจากโขงเจียมประมาณ 18 กิโลเมตร สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่
- เสาเฉลียง อยู่ก่อนถึงผาแต้มประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นหินตั้งซ้อนกันโดยธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายดอกเห็ดเรียงรายกันอยู่มากมาย ซึ่งหินดังกล่าวจะปรากฏเห็นซากเปลือกหอย กรวด ทราย อยู่ในแผ่นดินขนาดใหญ่ ซึ่งนักธรณีวิทยาสันนิษฐานว่า เมื่อประมาณล้านกว่าปีมาแล้ว บริเวณนี้คงจะเป็นทะเลมาก่อน
- ผาแต้มและผาขาม เป็นหน้าผาสูงที่สวยงามตามธรรมชาติ บริเวณด้านล่างของหน้าผามีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏเรียงรายอยู่เป็นระยะ มีอายุไม่ต่ำกว่าสามพันถึงสี่พันปี ทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินจากหน้าผาด้านบนลงไปชมภาพเขียนสีเหล่านี้ที่หน้าผาด้านล่าง ระยะทางประมาณ 500 เมตร ภาพเขียนจะอยู่บนผนังหน้าผายาวติดต่อกันประมาณ 170 เมตร ซึ่งเป็นมุมต่ำกว่า 90 องศา มีภาพทั้งหมดประมาณ 300 ภาพ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ สัตว์ เครื่องมือเครื่องใช้ สัญลักษณ์ และคน ด้านตรงข้ามผาแต้มคือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจจะชมพระอาทิตย์ขึ้นก่อนที่แห่งใดในประเทศไทย ในบริเวณดังกล่าวในลักษระเดียวกันกับที่หมู่บ้านเวินบึกที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ไม่ไกลจากบริเวณแม่น้ำสองสีมากนัก ซึ่งทุกวันนี้จะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
- ถ้ำมืด ตั้งอยู่ที่บ้านซะซอม ตามทางหลวงหมายเลข 2112 เลี้ยวซ้ายไปทางบ้านทุ่งนาเมือง ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นถ้ำขนาดกว้าง 4 เมตร สูง 6 เมตร ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปแกะสลักเรียงรายกันมากมาย แสดงว่าคงจะเคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนามาก่อน
- น้ำตกสร้อยสวรรค์ ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2112 ห่างจากตัวอำเภอโขงเจียมประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลจากหน้าผาสูงชันสองด้านสูงประมาณ 20 เมตร มองดูคล้ายสร้อยที่แขวนอยู่ในคอ มีน้ำไหลตลอดปี บริเวณน้ำตกเต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้นานาพันธุ์
- น้ำตกทุ่งนาเมือง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2112 ห่างจากน้ำตกสร้อยสวรรค์ ประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลางที่มีความสวยงาม และอยู่ใกล้เส้นทางน้ำไหลลดหลั่นลงมาตามโขดหิน ชั้นบนสูงสุดประมาณ 25 เมตร บริเวณโดยรอบมีดอกไม้ต่างๆ มากมาย
- น้ำตกแสงจันทร์ (น้ำตกรู) อยู่ห่างจากน้ำตกทุ่งนาเมืองเพียง 1 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2112 เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามและมีลักษณะพิเศษ คือ น้ำจะตกลงผ่านปล่องหินสู่เบื้องล่าง มองดูคล้ายแสงจันทร์ซึ่งเต็มดวงลาดส่องมายังพื้นโลก บริเวณโดยรอบมีโขดหินน้อยใหญ่เรียงรายกันอยู่ และมีต้นไม้นานาพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีสถานที่น่าสนใจอื่นๆ อีก ได้แก่ ผาเจ็ก ผาเมย ภูนาทาม ภูโลง สวนหิน ภูกระบอ ภูจ้อมค้อม น้ำตกห้วยพอก ฯลฯ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สวยงาม เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวแบบทัวร์ป่า อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ยังไม่มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้ประสงค์จะค้างแรมในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ต้องเตรียมอุปกรณ์การพักแรมมาเอง และต้องกางเต๊นท์ในที่ซึ่งอุทยานฯ จัดเตรียมไว้ให้

อำเภอศรีเมืองใหม่

ภูหล่น ตั้งอยู่ที่ตำบลสงยาง ห่างจากตัวอำเภอศรีเมืองใหม่ไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นภูเขาขนาดย่อมมีต้นไม้ปกคลุมเป็นระยะสลับกับโขดหินน้อยใหญ่ บริเวณนั้นมีถ้ำซึ่งสร้างเป็นสำนักสงฆ์โดยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ เพื่อใช้เป็นที่วิปัสสนาธรรม บริเวณโดยรอบเย็นสบาย เงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อนและปฏิบัติธรรม

อำเภอบุณฑริก

น้ำตกห้วยทรายใหญ่ (แก่งอีเขียว) เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของอีสาน ห่างจากอำเภอบุณฑริกไปทางทิศเหนือตามเส้นทาง รพช. ไปบ้านห้วยทราย เป็นระยะทาง 19 กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย มีพื้นที่ประมาณ 686 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชา พื้นที่เป็นภูเขาในเทือกเขาพนมดงรัก สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530 สถานที่น่าสนใจในอุทยานได้แก่
- น้ำตกถ้ำบักเตวหรือน้ำตกห้วยหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านแก้งเรือง อำเภอนาจะหลวย เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สูงราว 30 เมตร ด้านล่างมีแอ่งน้ำและลานหินขนาดใหญ่
- สวนหินพลานยาว เป็นกลุ่มหินรูปร่างแปลกตา ตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง การเดินทางไปยังอุทยานฯ ใช้เส้นทางสายอุบลราชธานี-เดชอุดม-น้ำยืน-นาจะหลวย ประมาณ 140 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอนาจะหลวย 10 กิโลเมตร มีทางแยกขึ้นเขาไปอีก 8 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย ยังไม่มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว รายละเอียดสอบถามที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734

กิ่งอำเภอทุ่งศรีอุดม

ปราสาทบ้านเบ็ญ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองอ้ม ตำบลหนองอ้ม กิ่งอำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทางประมาณ 63 กิโลเมตร ปราสาทบ้านเบ็ญเป็นศาสนสถานขอมขนาดย่อมประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงที่สร้างแยกกัน กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งในปี พ.ศ. 2533 ได้พบทับหลังรูปเทพนพเคราะห์ หรือเทวดาประจำทิศทั้ง 9 องค์ และรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จากลักษณะแผนผังทางสถาปัตยกรรมและภาพสลักบนทับหลังที่พบ อาจกำหนดอายุปราสาทหลังนี้ได้ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่อุบลราชธานี