แผนที่แพร่

  • แผนที่แพร่
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

แพร่

แพร่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ เชื่อกันว่าเป็นนครแห่งวรรณกรรมอมตะลิลิตพระลอที่รู้จักกันทั่วไป เมืองแพร่ เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย ประวัติการสร้างเมือง ไม่มีจารึกในที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ การศึกษาเรื่องราวของเมืองแพร่จึงต้องอาศัยหลักฐาน ของเมืองอื่น เช่น พงศาวดารโยนก ตำนานเมืองเหนือ ตำนานการสร้างพระธาตุลำปางหลวง และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นต้น เมืองแพร่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ตำนานวัดหลวงกล่าวไว้ว่าประมาณ พ.ศ. 1371 พ่อขุนหลวงพล ราชนัดดาแห่งกษัตริย์น่านเจ้าได้อพยพคนไทย (ไทยลื้อ ไทยเขิน) ส่วนหนึ่งจากเมืองเชียงแสน ไชยบุรี และเวียงพางคำ ลงมาสร้างเมืองบนที่ราบริมฝังแม่น้ำยม ขนานนามว่า “เมืองพลนคร” ตำนานสิงหนวัติกล่าวว่าเมืองแพร่เป็นเมือง ที่ปกครองโดยพญายี่บาแห่งแคว้นหริภุญไชย สันนิษฐานว่าเมืองแพร่และเมืองลำพูนเป็นเมือง ที่สร้างขึ้นมาในระยะเวลาใกล้คียงกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง มหาราชหลักที่ 1 ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ 24 - 25 ซึ่งจารึกไว้ว่า . “..เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพล เมืองน่าน เมือง…เมืองพลัวพ้นฝั่งของ เมืองชวา เป็นที่แล้ว…” ในข้อความนี้ เมืองแพล คือ เมืองแพร่ ศิลาจารึกนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1826 จึงเป็น สิ่งที่ยืนยันถึงความเก่าแก่ ของเมืองแพร่ ว่าตั้งขึ้นมาก่อนเมืองเชียงใหม่ และเชื่อว่าเมืองแพร่ ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วก่อนการตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ชื่อเดิมของเมืองแพร่ การก่อตั้งชุมชนหรือบ้านเมืองส่วนใหญ่ในภาคเหนือมักปรากฏ ชื่อบ้านเมืองนั้นในตำนาน เรื่องเล่าหรือจารึกตลอดจนหลักฐานเอกสารพื้นเมืองของเมืองนั้น ๆ แต่สำหรับเมืองแพร่นั้น แตกต่างออกไปเนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยตรงจึงมีที่มาของ ชื่อเมืองจากหลักฐานอื่นดังนี้ เมืองพล นครพลหรือพลรัฐนคร เป็นชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุดที่พบในตำนานเมืองเหนือ ฉบับใบลาน พ.ศ. 1824 กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคน มาติดต่อเจ้านครพล ให้ไปร่วมงานนมัสการ และฉลองวัดพระธาตุลำปางหลวง และจากตำนาน พระธาตุลำปางหลวง ตอนหนึ่ง ได้กล่าวถึงเจ้าเมืองพล ยกกำลังผู้คนไปขุดหาพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุไว้ในพระธาตุ แต่ไม่พบ เมื่อศึกษาตำแหน่งที่ตั้งของนครพลตามตำนานดังกล่าว พบว่าคนเมืองแพร่ ปัจจุบัน ชื่อพลนครปรากฏเป็นชื่อวิหารในวัดหลวง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ โดยเชื่อว่าวัดนี้เป็นวัด ที่สร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่และเจ้าเมืองแพร่ให้ความอุปถัมภ์มา ตลอดจนหมดยุค การปกครองโดยเจ้าเมืองเมืองโกศัย เป็นชื่อที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองเงิน ยางเชียงแสน ชื่อนี้ใช้เรียกเมืองแพร่ ในสมัยขอมเรืองอำนาจที่ชื่อเมืองในอาณาจักร ล้านนาเปลี่ยน เป็นภาษาบาลีตามความในยุคนั้น เช่น น่านเป็นนันทบุรี ลำพูนเป็นหริภุญไชย ลำปางเป็นเขลางค์นคร เป็นต้น ชื่อ เวียงโกศัย น่าจะมาจากชื่อดอยที่เป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองแพร่คือ ดอยโกสิยธชัคบรรพต หมายถึง ดอยแห่งผ้าแพร เมืองแพล เป็นชื่อที่ปรากฏ ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ 1 ด้านที่ 4 โดยคำว่า แพล น่าจะมาจากศรัทธาของ ชาวเมืองที่มีต่อพระธาตุช่อแพร หรือช่อแฮที่สร้างขึ้น ภายหลังการสร้างเมืองต่อมาจึงได้เรียกชื่อ เมืองของตนว่า เมืองแพล จังหวัดแพร่จากประวัติศาสตร์การสร้างวัดหลวง พุทธศักราช 1371 พญาพลเป็นผู้ครองนครแพร่ เดิมชื่อ เมืองพล หรือ พลนคร ในสมัยขอมเรืองอำนาจระหว่างปี พ.ศ. 1470-1560 พระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชยเข้าครอบครองดินแดนแคว้นล้านนาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ โกศัยนคร” หรือ “เวียงโกศัย” จนถึงปี พ.ศ. 2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนการปกครองจากเจ้าผู้ครองนคร เป็นมณฑลเทศาภิบาล รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้พระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงกำกับคนแรก โดยมีเจ้าปกครองเมืองแพร่ คือ เจ้าพิริยะเทพวงศ์อุดร ต่อมาเกิดกบฏเงี้ยวในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2445 ทรงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี นำทัพพร้อมหัวเมืองใกล้เคียงเข้าปราบกบฏเงี้ยวที่เมืองแพร่ พระยาไชยบูรณ์ได้ทำการต่อสู้ ปกป้องจากพวกเงี้ยวอย่างเต็มความสามารถ และบังคับให้ลงนามยกเมืองให้ พระยาไชยบูรณ์ไม่ยอม พวกเงี้ยวจึงนำไปตัดหัวที่บ้านร่องกวางเคา เจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ เกรงพระราชอาญา จึงหนีไปพำนักที่เมืองหลวงพระบาง ต่อจากนั้นมาก็ไม่มีเจ้าเมืองหรือเจ้าผู้ครองนครแพร่อีก

แพร่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ เช่น

อำเภอเมืองแพร่ อำเภอร้องกวาง อำเภอลอง อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย อำเภอสอง อำเภอวังชิ้น อำเภอหนองม่วงไข่

ทิศเหนือ จดจังหวัดลำปาง น่าน และพะเยา 
ทิศใต้ จดจังหวัดอุตรดิตถ์ และสุโขทัย 
ทิศตะวันออก จดจังหวัดน่าน และอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก จดจังหวัดลำปาง

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-แพร่

ทางรถยนต์ แพร่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 551 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ที่อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ สู่แพร่โดยผ่านจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และอุตรดิตถ์

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสาร บริษัทขนส่ง จำกัด มีรถประจำทางธรรมดาและปรับอากาศบริการทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 จากตัวจังหวัดแพร่มีรถประจำทางไปจังหวัดใกล้เคียง คือ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และสุโขทัย สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งจังหวัดแพร่ โทร. 054-511800

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีรถไฟไปยังอำเภอเด่นชัย แล้วต่อรถประจำทางเข้าตัวเมืองแพร่ ซึ่งอยู่ห่างจากเด่นชัยประมาณ 20 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ 1690

ทางเครื่องบิน

ทางเครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด มีเครื่องบินระหว่าง กรุงเทพฯ-จังหวัดแพร่ และระหว่างจังหวัดแพร่-น่าน ติดต่อ โทร. 02-356-1111 (กรุงเทพฯ) โทร. (054) 511123 (แพร่)

การเดินทางภายในแพร่

ในตัวเมืองแพร่มีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะ ได้หลายรูปแบบ

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ ราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองแพร่ไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอสูงเม่น 12 กิโลเมตร

อำเภอหนองม่วงไข่ 20 กิโลเมตร

อำเภอเด่นชัย 24 กิโลเมตร

อำเภอร้องกวาง 30 กิโลเมตร

อำเภอลอง 43 กิโลเมตร

อำเภอสอง 49 กิโลเมตร

อำเภอวังชิ้น 79 กิโลเมตร

  งานประเพณีนมัสการพระธาตุช่อแฮ จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือนสี่ มีการแห่ผ้าขึ้นไปห่มองค์พระธาตุ มีขบวนแห่แบบล้านนา โดยผู้ร่วมงานทุกคนจะแต่งกายแบบพื้นเมืองล้านนา มีมหรสพสมโภชทุกคืน รุ่งเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีการทำบุญตักบาตร กลางคืนจะมีการเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุและพระวิหาร

งานม่อฮ่อมล้อมสะโตก และสงกรานต์จังหวัดแพร่ จัดงานบริเวณสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ ร. 9 ระหว่างวันที่ 14-16 เมษายน ของทุกปี ในงานจะมีการแต่งกายด้วยชุดม่อฮ่อมล้อมวงกินขันโตก และเล่นสงกรานต์กัน

งานกิ๋นสลาก คล้ายประเพณีถวายสลากภัตของภาคกลางนั่นเอง โดยชาวบ้านจะจัดเครื่องไทยทาน เขียนสลากชื่อของตนติดไว้แล้วนำไปรวมกันที่หน้าพระประธาน พระสงฆ์จะจับสลากขึ้นมาให้มรรคทายกประกาศ เจ้าของสลากก็จะนำเครื่องไทยทานของตนไปถวายแด่พระสงฆ์ โดยงานนี้จะจัดขึ้นตามวัดต่างๆ ช่วงเดือน 10 ของทุกปี

 

 เขตตัวเมือง

วัดหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนคำลือ ซอย 1 ตำบลในเวียง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่ที่สุดของจังหวัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่ สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ พระเจดีย์ศิลปะเชียงแสน พระเจ้าแสนหลวงประดิษฐานในวิหารหลวง สร้างพร้อมกับการสร้างเมือง และพระเจ้าแสนทองสร้างโดยเจ้าเมืองแพร่องค์หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2057 ยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ที่มีอายุเกือบ 500 ปี ศิลปะโบราณวัตถุต่างๆ ของเมืองแพร่และคุ้มพระลอ ซึ่งเป็นการจัดแสดงตัวอย่างบ้านแบบล้านนาโบราณอีกด้วย โดยเปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. หรือเปิดพิเศษถ้าเป็นหมู่คณะ นอกจากนี้ยังมีหอวัฒนธรรม จ.แพร่ ภายในรวบรวมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมากมาย

วัดพระนอน อยู่ใกล้วัดหลวงบนถนนพระนอนเหนือมีพระพุทธรูปนอนองค์ใหญ่และเก่าแก่มาก ประดิษฐานในวิหารซึ่งเป็นหน้าบัน เป็นศิลปะลวดลายการแกะสลักแบบล้านนาไทยที่งดงาม

วัดสระบ่อแก้ว ตั้งอยู่บนถนนน้ำคือ ริมคูเมือง เป็นวัดศิลปะแบบพม่าที่สวยงามแปลกตา ทั้งศาลาการเปรียญ โบสถ์ และเจดีย์ มีพระพุทธรูปหินอ่อนแบบพม่าทรงเครื่อง สร้างอย่างสวยงามวิจิตรพิสดารมาก

วัดจอมสวรรค์ ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ตำบลทุ่งกวาว ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร เป็นวัดไทยใหญ่ สร้างแบบศิลปะพม่า ตัวอารามเป็นไม้ล้วน และเป็นทั้งโบสถ์วิหาร และกุฏิไปในตัว ภายในมีศิลปะการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงด้วยฝีมือการฉลุไม้ประดับกระจกสีสันงดงาม โบราณวัตถุภายในวัดได้แก่ หลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ แล้วลงรักปิดทอง พระพุทธรูปงาช้าง ซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้างจารึกเป็นอักษรพม่า และบุษบกใส่พระพุทธรูปหินอ่อน

 วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร เป็นวัดที่สร้างขึ้นราวต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ริมถนนเจริญเมือง ใกล้ศาลากลางจังหวัดแพร่ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุนี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระเจดีย์มิ่งเมืองซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่

หมู่บ้านร่องฟอง เป็นหมู่บ้านผลิตเครื่องมือเกษตรที่ทำจากเหล็ก เช่น จอบ เสียม มีด พร้า เคียว เป็นต้น การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 101 (สายแพร่-น่าน) ประมาณ 4 กิโลเมตร แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1101 จะพบป้ายบอกทางเข้าหมู่บ้าน

หมู่บ้านทุ่งโฮ้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 (สายแพร่-น่าน) เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าม่อฮ่อมดั้งเดิมของจังหวัดแพร่

 อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ประมาณ 4 กิโลเมตร ริมทางหลวงแผ่นดินสาย 101 พระยาไชยบูรณ์เป็นข้าหลวงเมืองแพร่ ที่ถูกพวกเงี้ยวฆ่าตาย เนื่องจากไม่ยอมลงนามยกเมืองแพร่ให้ระหว่างที่พวกเงี้ยวก่อการกบฏ ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ส่งกองทหารมาปราบพวกเงี้ยว แล้วสร้างอนุสาวรีย์ให้กับพระยาไชยบูรณ์เป็นอนุสรณ์ และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราฃฤทธานนท์พหลภักดี

บ้านประทับใจ (บ้านเสาร้อยต้น) ตั้งอยู่เลขที่ 81/1 หมู่ที่ 7 ตำบลป่าแมต ห่างจากตัวอำเภอเมือง 10 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1023 สร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง โดยใช้ไม้สักท่อนขนาดใหญ่ ตั้งเป็นเสาบ้านรวม 130 ต้น แต่ละเสามีอายุประมาณ 300 ปี แกะสลักอย่างประณีตวิจิตรบรรจง ตัวบ้านเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ มีเนื่อที่ถึง 1 ไร่เศษ เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. เสียค่าเข้าชมคนละ 10 บาท นอกจากนี้ผู้เข้าชมสามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่หมายเลข (054) 511008, 511282

วัดพระธาตุช่อแฮ อยู่ที่ตำบลป่าแดง ห่างจากตัวเมืองแพร่ไปตามถนนช่อแฮ ประมาณ 9 กิโลเมตร (ใช้เส้นทางหมายเลข 1022) สร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 ในสมัยพญาลิไท ขุนลั่วอ้ายก้อม ชาวละว้า ได้สร้างองค์พระธาตุบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 10 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง อันเป็นศิลปะเชียงแสน เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า พระธาตุช่อแฮนี้ ได้จากชื่อผ้าแพรชั้นดี ซึ่งทอมาจากสิบสองปันนา ชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 11 ค่ำ-15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม) ของทุกปี

วัดพระธาตุจอมแจ้ง อยู่ในท้องที่ตำบลป่าแดง เลยพระธาตุช่อแฮไป 3 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดราว 10 กิโลเมตร องค์พระธาตุจอมแจ้งเป็นสีทอง สูง 29 เมตร ฐานกว้าง 10 เมตร เดิมชื่อพระธาตุจอมแจง ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จถึงดอยนี้จวนสว่างพอดี ต่อมาเพื้ยนเป็นจอมแจ้ง เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า ที่นี้มีศาลาเรียกว่าพิพิธภัณฑ์ตำบลป่าแดง หรือพิพิธภัณฑ์ของจังหวัด รวบรวมสิ่งของโบราณที่หาดูได้ยาก พระธาตุจอมแจ้งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1331

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนแพร่-สูงเม่น ประมาณ 3 กิโลเมตร ในบริเวณเดียวกับสวนอาหารบ้านฝ้าย เป็นสถานที่จำลองชีวิตความเป็นอยู่ในรูปแบบอาคารบ้านเรือนและของใช้ในครัวเรือนของชาวเมือง เมื่อราว 100 กว่าปีมาแล้ว

วนอุทยานแพะเมืองผี (แพะ เป็นภาษาพื้นเมือง แปลว่า ป่าละเมาะ เมืองผี แปลว่า เงียบเหงาวังเวง) อยู่ที่ตำบลน้ำชำ ใช้เส้นทางหลวงสายแพร่-น่าน ไปประมาณ 12 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร เป็นทางราดยางตลอด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของผิวโลก และถล่มของดิน ส่วนที่เป็นดินแข็งและหิน จะคงตัวอยู่คล้ายเสาเห็ด และผาสวยงามเหมือนเสาหิน (ฮ่อมจ๊อม) ที่น่าน ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2524 มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่

น้ำตกแม่แคม หรือน้ำตกสวนเขื่อน อยู่ในเขตตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มี 2 ชั้น น้ำไหลแรงตลอดปี การเดินทางจากสี่แยกบ้านทุ่งข้ามสะพานข้ามคลองแม่สาย แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายป่าแดง-ทุ่งโฮ้ง 4 กิโลเมตร จะมีป้ายแยกทางไปน้ำตกแม่แคมอีก 12 กิโลเมตร แต่สภาพทั่วไปเป็นป่า ผู้ที่จะเดินทางไปเที่ยวชมน้ำตกแห่งนี้ควรเป็นผู้ที่ชอบการเดินป่า

น้ำตกตาดหมอก หรือน้ำตกแม่คอย อยู่ที่ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 3 ชั้น สวยงามมาก แต่ต้องเดินทางเท้าเข้าไปอีกราว 1 กิโลเมตร


สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอเด่นชัย

วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี ห่างจากอำเภอเด่นชัย 3 กิโลเมตร มีศาลาพิพิธภัณฑ์สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลังแบบล้านนา ภายในมีโบราณวัตถุต่างๆ จัดแสดงไว้ เช่น รูปภาพเจ้านายฝ่ายเหนือและเหตุการณ์ในอดีต พระพุทธรูปต่างๆ เครื่องเขิน เครื่องดนตรีล้านนา อาวุธโบราณ เป็นต้น

บ้านเพื่อนฝูง เป็นบ้านสร้างด้วยไม้สักขนาดใหญ่ ภายในตกแต่งด้วยผลิตภัณฑ์จากไม้ ตั้งอยู่ริมถนนสาย 101 ก่อนถึงอำเภอสูงเม่นประมาณ 5 กิโลเมตร เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. เก็บค่าเข้าชมคนละ 10 บาท

ตลาดหัวดง อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 เป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้และหวาย เช่น เฟอร์นิเจอร์และของใช้ต่างๆ

 วัดพระหลวง อยู่ที่ตำบลดอนมูล เลี้ยวซ้ายที่บ้านหัวดงเข้าไป 700 เมตร มีเจดีย์แบบสุโขทัย ชาวบ้านเรียกว่า “ธาตุเนิ้ง” มีความหมายว่า เอียง เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง

อ่างเก็บน้ำแม่มาน อยู่ห่างจากตัวเมือง 20 กิโลเมตร ตามถนนแพร่-สูงเม่น-เด่นชัย เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีทิวทัศน์สวยงามโดยเฉพาะในตอนเช้า เหมาะสำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าเหนือเขื่อน
สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอร้องกวาง

ถ้ำผานางคอย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 36 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายแพร่-ร้องกวาง (ทางหลวงหมายเลข 101) ถึงกิโลเมตรที่ 58-59 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 800 เมตรถึงหน้าถ้ำผานางคอย ตัวถ้ำเป็นอุโมงค์มีความยาวประมาณ 150 เมตร กว้างประมาณ 10 เมตร ลักษณะของถ้ำโค้งงอเป็นข้อศอกไปทางซ้ายและทางขวาเป็น 3 ตอนด้วยกัน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยอยู่ทั่วไป ตอนท้ายของถ้ำมีก้อนหินลักษณะคล้ายมารดาอุ้มบุตรน้อย ชาวบ้านเรียกว่า “หินนางคอย” เบื้องหน้าของหินนางคอยมีหินย้อย ลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ดูแปลกตาสวยงาม นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง เป็นที่เคารพสักการะของชาวแพร่

น้ำตกห้วยโรง (หรือน้ำตกห้วยลง) อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางเหนือ 60 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 101 (ถนนแพร่-ร้องกวาง) ถึงกิโลเมตรที่ 78 เลี้ยวซ้ายอีก 4 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีความสูง 2 ชั้น สภาพโดยรอบเป็นป่าโปร่งร่มรื่น

น้ำตกตาดชาววา เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงสวยงามมาก อยู่ในเขตอำเภอร้องกวาง ทางคมนาคมเข้าไปยังลำบากอยู่ และต้องเดินเท้าเข้าไปชม อยู่ห่างจากตัวเมือง 35 กิโลเมตร

พระธาตุปูแจ ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเวียง ห่างจากอำเภอร้องกวาง 20 กิโลเมตร มีงานนมัสการพระธาตุ หรืองานขึ้นพระธาตุตรงกับวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอลอง

วัดพระธาตุศรีดอนคำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดห้วยอ้อ” อยู่เลยที่ว่าการอำเภอลองไปเล็กน้อย ห่างจากตัวเมืองแพร่ 45 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1023 มีพระธาตุเก่าแก่ขนาดใหญ่สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1078 เมื่อคราวพระนางจามเทวีเสด็จมาจากเมืองละโว้ไปเมืองหริภุญชัย ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ปัจจุบันมีฐานเป็นปูน ส่วนบนประดับด้วยแผ่นโลหะสีทอง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมตำนานพระพุทธรูป ตลอดจนคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งเก็บไว้ในหอไตรของวัด

 หมู่บ้านทอผ้าตีนจก ผ้าตีนจกของอำเภอลองเป็นงานฝีมือที่ประณีตและสวยงาม ทอด้วยผ้าไหมและผ้าฝ้าย มีแหล่งผลิตอยู่ที่บ้านนาตุ้ม บ้านหัวทุ่ง บ้านนามน ซึ่งมีการทอผ้าตีนจกกันอย่างแพร่หลาย

สวนหินมหาราช ขึ้นอยู่กับป่าไม้เขตแพร่ ห่างจากอำเภอลอง 20 กิโลเมตร จากแพร่ไปตามทางหลวงหมายเลข 1023 สวนหินมหาราชอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 19-20 ทางซ้ายมือ เป็นบริเวณกว้างโล่ง มีก้อนหินขนาดใหญ่วางเรียงระเกะระกะ มีศาลาพักผ่อน
แก่งหลวงและถ้ำเอราวัณ อยู่ในเขตบ้านแก่งหลวง ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 50 กิโลเมตร มีแก่งน้ำที่สวยงาม นอกจากนี้ยังมีถ้ำที่สวยงาม มีหินงอกหินย้อยรูปร่างคล้ายช้างเอราวัณ
สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอสอง

 พระธาตุพระลอ อยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ห่างจากจังหวัดไปทางเหนือราว 45 กิโลเมตร การเดินทางไปตามทางหลวง 101 ประมาณ 24 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 103 อีกราว 18 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาสู่อำเภอสอง จากนั้นเลี้ยวซ้ายอีก 3 กิโลเมตรถึงพระธาตุพระลอ (พระธาตุหินล้ม) เป็นพระธาตุที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 400 ปี มีสถูปบรรจุพระอัฐิของพระลอ พระเพื่อน พระแพง และมีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระลอ พระเพื่อน พระแพง โดยกรมศิลปากรสร้างหันหน้าไปทางแม่น้ำกาหลง (แม่น้ำสอง) เป็นอนุสรณ์สถานของนครแมนสรวง และเมืองสรวงที่จูงใจให้น้อมรำลึกถึงความรักอมตะของพระลอและพระเพื่อน พระแพง โดยรอบบริเวณตกแต่งเป็นสวนสาธารณะร่มรื่นสวยงาม

เวียงพระลอ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง การเดินทางไปทางเดียวกับพระธาตุพระลอ ใช้เส้นทางสอง-งาว (ทางหลวงหมายเลข 1154) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 54 เลี้ยวขวาตรงทางเข้าโรงเรียนบ้านคุ้ม 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปอีก 2.5 กิโลเมตรถึงเวียงพระลอ ด้านหลังเป็นฝาย สามารถชมทิวทัศน์ของแม่น้ำยมอันสวยงามได้

อุทยานแห่งชาติแม่ยม มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และอำเภองาว จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ 284,218 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2529 ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสองฝั่งแม่น้ำยม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบณจพรรณ การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับพระธาตุพระลอ เมื่อถึงอำเภอสอง เดินทางไปตามเส้นทางสายสอง-งาว (สายเก่า) ประมาณ 20 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ รวมระยะทางจากแพร่ถึงอุทยานฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่

ดงสักงาม ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 6 กิโลเมตร ต้องใช้การเดินเท้าเท่านั้น ลักษณะเป็นกลุ่มของไม้สักที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตามริมฝั่งแม่น้ำยม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปุง-แม่เป้า ไม้สักที่ขึ้นอยู่นี้มีขนาดสูงใหญ่ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะได้พบกับความร่มรื่นและดอกสักที่เหลืองอร่ามอยู่ทั่วไป
แก่งเสือเต้น อยู่หน้าที่ทำการอุทยานฯ เป็นเกาะแก่งธรรมชาติในแม่น้ำยม มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ชื่อของแก่งเสือเต้นนี้มีความเป็นมาจากลักษณะธรรมชาติของหินก้อนหนึ่งในแก่งนี้ ซึ่งมีลักษณะรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ บริเวณแก่งเสือเต้นมีหาดทรายอยู่ทั่วไป เหมาะแก่การกางเต๊นท์เพื่อสัมผัสธรรมชาติที่งดงาม 
หล่มด้ง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปุง-แม่เป้า ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 เมตร อยู่บนยอดเขาสูง มีน้ำตลอดปี เป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าในบริเวณนั้น ใกล้กับหล่มด้งมีเหมืองแร่เก่าซึ่งผ่านการทำเหมืองแร่แบไรต์มาแล้ว มีลานสำหรับกางเต๊นท์ และมีจุดชมทิวทัศน์ป่าสักที่งดงามและชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้ด้วย ฤดูที่เหมาะสมจะมาท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนพฤษภาคม ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงน้ำหลากในแม่น้ำยม และทางคมนาคมไม่สะดวก ทางอุทยานฯ ได้จัดเตรียมสถานที่กางเต๊นท์สำหรับผู้ที่นำเต๊นท์ไปเอง และมีเรือนแพของเอกชนในแม่น้ำยมไว้บริการ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734


 สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอวังชิ้น

อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และอำเภอเถิน อำเภอสบปราบ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ 256,250 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2524 ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 79 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 410 ตารางกิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 จากตัวจังหวัด เมื่อเลยอำเภอเด่นชัยไป 10 กิโลเมตร แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 11 (เส้นทางแพร่-ลำปาง) ไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าอำเภอวังชิ้น เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 13 กิโลเมตร ถึงแยกที่ทำการอุทยานฯ เลี้ยวขวาอีก 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

 สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่
น้ำตกแม่เกิ๋งหลวงและแม่เกิ๋งน้อย เป็นน้ำตกที่สวยงามไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ คล้ายขั้นบันไดลงมาจากดอยแม่เกิ๋ง คำว่า “แม่เกิ๋ง” เป็นภาษาพื้นเมืองหมายถึง “ขั้นบันได” น้ำตกแม่เกิ๋งหลวง รถยนต์สามารถเข้าถึง ห่างจากที่ทำการฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนน้ำตกแม่เกิ๋งน้อยต้องเดินเท้าจากที่ทำการฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร น้ำตกทั้งสองสายนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำยมที่บ้านสบเกิ๋ง อำเภอวังชิ้น นอกจากนี้ยังมีน้ำตกที่สวยงามอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกแม่สิน น้ำตกแม่จอก น้ำตกแม่ป้าก น้ำตกแม่รัง น้ำตกขุนห้วย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น ดอยขุนเขียด ดอยม่อนขาเซา ดอยแปเมือง ดอยแม่เกิ๋ง ดอยอ่าง ดอยกิ่วคอเมือง เป็นต้น
บ่อน้ำร้อนแม่จอก ตั้งอยู่ในเขตบ้านแม่จอก หมู่ 5 ตำบลแม่ป้าก อำเภอวังชิ้น การเดินทางไปตามเส้นทางลอง-วังชิ้น ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ราว 3 กิโลเมตร จนกระทั่งเข้าเขตบ้านแม่จอก จะพบโรงเรียนแม่จอกอยู่ขวามือ บริเวณสนามหน้าโรงเรียนจะมีบ่อน้ำแร่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ในเนื้อที่กว้างประมาณ 10 ไร่ เป็นบ่อน้ำแร่กำมะถันที่ร้อนจัดถึง 80 องศา ในตอนเช้าจะมีหมอกควันที่เกิดจากไอน้ำลอยอยู่เต็ม ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม
ที่พัก ทางอุทยานฯ มีเรือนพักสำหรับนักท่องเที่ยว สนใจติดต่ออุทยานแห่งชาติ เวียงโกศัย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ หรือ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 579-5734 หรือหากต้องการตั้งแคมป์พักแรมในป่า นักท่องเที่ยวต้องนำเต็นท์ หรือเปลสนามไปเอง




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่แพร่