แผนที่กาฬสินธุ์

  • แผนที่กาฬสินธุ์
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสานเป็นเมืองสำคัญ ทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยมีความเจริญทางด้านอารยธรรมอันเก่าแก่ เดิมทีเป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติละว้า ต่อมาได้มีการอพยพผู้คนจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มาตั้งบ้านเรือน บริเวณแก่งสำโรง และลำน้ำปาวนอกจากนั้น กาฬสินธุ์ยังเป็นแหล่งขุดค้นซาก ไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียง มีพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์แบบ และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย รวมทั้งงานหัตถกรรมพื้นบ้านต่างๆ ด้วย จากหลักฐานทาง โบราณคดี บ่งบอกว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 บ้านแก่งสำโรง ได้รับการสถาปนาเป็น เมืองกาฬสินธุ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังจากเจ้าโสมพะมิตรเข้าเฝ้าฯ ถวายสวามิภักดิ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งขึ้นเป็น "พระยาไชยสุนทร" เจ้าเมืองท่านแรกโดยให้รั้งเมืองสืบไป

เมื่อ พ.ศ. 2437 เมื่อพระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) เป็นเจ้าเมือง มีการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบ ให้เจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร มาเป็นรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล มีมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ให้ยุบเป็นอำเภอ คือ เมืองกาฬสินธุ์ เป็นอำเภออุทัยกาฬสินธุ์

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะจังหวัดร้อยเอ็ดขึ้นเป็นมณฑล ยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด และมีอำนาจปกครองอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด โดยให้พระภิรมย์บุรีรักษ์เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

ต่อมาเกิดข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ การเงินฝืดเคือง จำเป็นต้องยุบจังหวัดต่าง ๆ ลงเพื่อให้สมดุลกับรายได้ของประเทศ จังหวัดกาฬสินธุ์จึงถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอรรถเปศลสรวดี เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม (แทนพระยามหาสารคามคณาภิบาลซึ่งออกรับบำนาญ) ครั้นเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จึงได้ยกเลิกมณฑล

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2490 ได้ยกฐานะเป็น "จังหวัดกาฬสินธุ์" จัดตั้งขึ้นโดย พระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2490 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2490 จนถึงปัจจุบัน

กาฬสินธุ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 519 กิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ คือ

  1. อำเภอเมืองกาฬสินธุ์
  2. อำเภอนามน
  3. อำเภอกมลาไสย
  4. อำเภอร่องคำ
  5. อำเภอกุฉินารายณ์
  6. อำเภอเขาวง
  7. อำเภอยางตลาด
  8. อำเภอห้วยเม็ก
  9. อำเภอสหัสขันธ์
  10. อำเภอคำม่วง
  11. อำเภอท่าคันโท
  12. อำเภอหนองกุงศรี
  13. อำเภอสมเด็จ
  14. อำเภอห้วยผึ้ง
  15. อำเภอสามชัย
  16. อำเภอนาคู
  17. อำเภอดอนจาน
  18. อำเภอฆ้องชัย

จังหวัดกาฬสินธุ์มีเนื้อที่ทั้งหมด 7,055.07 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน ตอนกลางเป็นเนินเขาสลับป่าโปร่ง

ทิศเหนือ จดจังหวัดอุดรธานี สกลนคร
ทิศใต้ จดจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม
ทิศตะวันออก จดจังหวัดร้อยเอ็ด มุกดาหาร
ทิศตะวันตก จดจังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น และอุดรธานี

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-กาฬสินธุ์

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ ระยะทาง 519 กิโลเมตร ใช้เส้นทาง กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2) ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ต่อด้วยเส้นทางหลวงหมายเลข 23 และทางหลวงหมายเลข 213 มหาสารคาม-กาฬสินธุ์

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ทุกวัน โดยมีบริการทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามที่ สถานีขนส่งงสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ-สถานีรถไฟขอนแก่น จากขอนแก่นต่อรถประจำทางเข้ากาฬสินธุ์อีก 75 กิโลเมตร สำหรับกรุงเทพฯ-ขอนแก่นนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการทั้งขบวนรถเร็ว รถด่วน และรถดีเซลรางปรับอากาศ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

ไม่มีเที่ยวบินตรงบินสู่กาฬสินธุ์ แต่นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเครื่องไปลงได้ที่จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วต่อรถโดยสายประจำทางไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร สอบถามตารางเที่ยวบินได้ที่สายการบินพี บี แอร์ โทร. 0 2261 0220 ต่อ 201-210 สำนักงานร้อยเอ็ด โทร.0 4351 8572 www.pbair.com

การเดินทางภายในกาฬสินธุ์

ในตัวเมืองกาฬสินธุ์มีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งกาฬสินธุ์ โทร. 0 4351 1298, 0 4381 3451, 0 4381 2191, 0 4381 1070

นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในกรณีที่มีการเหมารถนักท่องเที่ยวควรจะตกลงราคากับรถสองแถวก่อนออกเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง

ระยะทางจากอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอเมือง-อำเภอยางตลาด 16 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอกมลาไสย 13 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอสหัสขันธ์ 32 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอสมเด็จ 40 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอกุฉินารายณ์ 80 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอท่าคันโท 109 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอห้วยเม็ก 48 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอคำม่วง 85 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอหนองกุงศรี 62 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอนามน 44 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเขาวง 98 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอห้วยผึ้ง 60 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอร่องคำ 38 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอนาคู 90 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอสามชัย 65 กิโลเมตร

การเดินทางในตัวจังหวัดกาฬสินธุ์มีรถ 3 ล้อถีบรับจ้างอยู่ทุกถนน และยังมีรถโดยสารระหว่างตัวจังหวัดวิ่งไปยังอำเภอต่างๆ อีกด้วย

งานมหกรรมโปงลาง แพรวา และกาชาด จังหวัดกาฬสินธุ์  ระหว่างวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์-๖ มีนาคม ของทุกปี จัดขึ้นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ภายในงานจะประกอบด้วยขบวนแห่ของแต่ละอำเภอ ตกแต่งขบวนเป็นรูปเครื่องดนตรีโปงลางขนาดยักษ์ แต่งกายชุดพื้นเมือง แข่งขันสาวดีดไห และจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองต่างๆ งานมหกรรมโปงลาง แพรวาและงานกาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของจังหวัด ที่จัดเป็นประจำทุกปี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ประชาชนและ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ ต่างให้ความสนใจกับงานเทศกาลนี้ โดยในแต่ละปีจะเดินทางมาเที่ยวชมและเลือกซื้อสินค้าพื้นเมืองเลื่องชื่อของ จังหวัดไปปีละเป็นจำนวนมาก เป็นการส่งเสริมรายได้อุตสาหกรรมท้องถิ่น อีกทางหนึ่งด้วย วัตถุประสงค์หลักของงานนี้มุ่งเผยแพร่ ฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีและผลงานของส่วนราชการทั้งภาครัฐและเอกชนของจังหวัด แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป จุดเน้นสำคัญของงานคือขบวนแห่ในพิธีเปิดงานที่มโหฬารที่แสดงให้เห็นถึง ประเพณีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สร้างขึ้นจากคำขวัญของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ว่า "โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรม ผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี" ที่แสดงถึงความรักสามัคคี ความพร้อมเพรียง การรวมใจเป็นหนึ่งของผู้คนที่จะช่วยกันจรรโลง เชิดชูเกียรติ ชื่อเสียง และเอกลักษณ์ของเมืองกาฬสินธุ์ให้เป็นที่รู้จักสืบไป

งานประเพณีฮีตสิบสอง
ประเพณีท้องถิ่นกาฬสินธุ์ ยังยึดถือ และปฏิบัติตามฮีตสิบสอง คำว่า "ฮีต" หมายถึง จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี แบบแผนฮีตที่ถือปฏิบัติกันอยู่ ๑๒ อย่าง ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า "บุญ" ดังนี้

๑. บุญข้าวกรรม

เกี่ยวกับพระภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นอาบัติ ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในระหว่างภิกษุเข้ากรรม ญาติ โยม สาธุชน ผู้หวังบุญกุศล จะไปร่วมทำบุญบริจาคทาน รักษาศีลเจริญภาวนา และฟังธรรม เป็นการร่วมทำบุญระหว่างพระภิกษุ สามเณร และชาวบ้านกำหนดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนอ้าย"

๒. บุญคูนลาน

การทำบุญคูนลาน จะทำที่วัด หรือที่บ้านก็ได้ โดยชาวบ้านจะเอาข้าวมารวมกัน แล้วนิมนต์พระภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรม วนด้ายสายสิญจน์บริเวณรอบกองข้าว ตอนเช้ามีการถวายอาหารบิณฑบาต และนำเอาน้ำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว ถ้าทำที่บ้านเรียกว่า "บุญกุ้มข้าว" กำหนดในเดือนยี่ เรียกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนยี่

๓. บุญข้าวจี่

เดือนสามชาวบ้านนิยมทำบุญข้าวจี่ เพื่อถวายพระ เป็นการละทานชนิดหนึ่ง และถือว่าได้รับอานิสงส์มากงานหนึ่ง กำหนดทำบุญในเดือนสาม

๔. บุญพระเวส

บุญที่มีการเทศพระเวส หรือบุญมหาชาติ หนังสือมหาชาติเป็นหนังสือชาดกที่แสดงจริยวัตรของพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยชาติเป็นพระเวสสันดร กำหนดทำบุญเดือนสี่ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนสี่"

๕. บุญสรงน้ำ

บุญสรงน้ำ มีการรดน้ำ หรือสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และผู้หลักผู้ใหญ่ มีการทำบุญทำทาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญตรุษสงกรานต์" กำหนดทำบุญในเดือนห้า

๖. บุญบั้งไฟ

ก่อนการทำนาชาวบ้านในจังหวัดในภาคอิสาน จะมีการฉลองอย่างสนุกสนาน โดยการจุดบั้งไฟ เพื่อไปบอกพญาแถน เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล มีการตกแต่งบั้งไฟให้สวยงามนำมาประกวดแห่ แข่งขันกันในวันรุ่งขึ้น กำหนดทำบุญในเดือนหก

๗. บุญซำฮะ

ซำฮะ คือการชำระล้างสิ่งสกปรก รกรุงรังให้สะอาดหมดจด เมื่อถึงเดือน ๗ ชาวบ้านจะรวมกันทำบุญโดยยึดเอา "ผาม หรือศาลากลางบ้าน" เป็นสถานที่ทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมดอกไม้ธูปเทียน โอน้ำ ฝ้ายใน ไหมหลอด ฝ้ายผูกแขน แห่ทรายมารวมกันที่ ผามหรือศาลากลางบ้าน ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ตอนเช้าถวายอาหาร เมื่อเสร็จพิธีทุกคนจะนำน้ำพระพุทธมนต์ ฝ้ายผูกแขน แห่ทรายของตนกลับบ้าน นำน้ำมนต์ไปรดลูกหลาน ทรายนำไปหว่านรอบบ้าน ฝ้ายผูกแขนนำไปผุกข้อมือลูกหลานเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลตลอดปี ถ้ามีการเจ็บไข้ได้ป่วยต้องมีการสวดถอด เป็นต้น กำหนด ทำบุญในเดือน ๗

๘. บุญเข้าพรรษา

ในเทศกาลเข้าพรรษา เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องบำเพ็ญไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ ส่วนคฤหัสถ์ก็จะต้องบำเพ็ญบุญกริยาวัตถุ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้เต็มเปี่ยม ตอนเช้าญาติโยมจะนำอาหารมาถวายพระภิกษุ ตอนบ่ายนำดอกไม้ธูปเทียน ข้าวสาร ผ้าอาบน้ำฝน รวมกันที่ศาลาวัด ตอนเย็นญาติโยมพากันทำวัตรเย็นแล้วฟังเทศน์ กำหนด วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือน ๘"

๙. บุญข้าวประดับดิน

ห่ออาหาร และของขบเคี้ยวเป็นห่อๆ แล้วนำไปถวายวางแบไว้กับดิน จึงเรียกว่า "บุญข้าวประดับดิน" ชาวบ้านจะจัดอาหารคาว หวาน และหมากพลู บุหรี่ กะว่าให้ได้ ๔ ส่วน
ส่วนที่ ๑ เลี้ยงดูกันในครอบครัว
ส่วนที่ ๒ แจกให้ญาติพี่น้อง
ส่วนที่ ๓ อุทิศไปให้ญาติที่ตาย
ส่วนที่ ๔ นำไปถวายพระสงฆ์
ทำเป็นห่อๆให้ได้พอควร โดยนำใบตองกล้วย มาห่อของคาว หวาน หมากพลู บุหรี่ แล้วเย็บรวมกันเป็นห่อใหญ่ ในระหว่าง เช้ามืดในวันรุ่งขึ้นจะนำห่อเหล่านี้ไปวางไว้บริเวณวัด ด้วยถือว่าญาติพี่น้องจะมารับของที่นั่น (เชื่อกันว่าเป็นวันยมทูตเปิดนรกชั่วคราว ให้สัตว์นรก มารับของทานในระยะหนึ่ง และยังถือว่าเป็นวันกตัญญูอีกด้วย) ตอนเช้านำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปถวายพระ ฟังพระธรรมเทศนา เสร็จแล้วทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว กำหนดทำบุญในเดือน ๙

๑๐. บุญข้าวสาก

การเขียนชื่อลงในพาข้าว (สำรับกับข้าว) เรียกว่าข้าวสาก (สลาก) ญาติโยมจะจัดอาหารเป็นห่อๆ แล้วนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ โดยทำกันในตอนกลางวัน ก่อนเพล เป็นอาหาร คาว หวาน พอถึงเวลา ๔ โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม (รวม) ญาติโยมจะนำพาข้าว (สำรับกับข้าว) ของตนมารวมกัน ณ ศาลาการเปรียญ เจ้าภาพจะเขียนชื่อลงในกระดาษม้วนลงในบาตร เมื่อพร้อมแล้วหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต จบแล้วยกบาตรสลากไปให้พระจับ ถูกชื่อใคร ก็ให้ไปถวายพระองค์นั้น ก่อนจะถวายพาข้าวให้นำพาข้าว ๑ พา มาวางหน้าพระเถระ แล้วให้พระเถระ กล่าวคำอุปโลกน์ กำหนด บุญข้าวสากนิยมทำกันในเดือน ๑๐

๑๑. บุญออกพรรษา

การทำบุญออกพรรษานี้ เป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ได้มีโอกาสว่ากล่าวตักเตือนกันได้ พระภิกษุสงฆ์สามารถเดินทางไปอบรมศีลธรรม หรือไปเยี่ยม ถามข่าวคราว ญาติพี่น้องได้ และภิกษุสงฆ์สามารถหาผ้ามาผลัดเปลี่ยนได้ เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตั้งแต่เช้ามืดจะมีการตีระฆังให้พระสงฆ์ไปรวมกันที่โบสถ์แสดงอาบัติเช้า จบแล้วมีการปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้ กำหนด บุญออกพรรษาในเดือน ๑๑

๑๒. บุญกฐิน

ผ้าที่ใช้สดึงทำเป็นกรอบขึงเย็บจีวร เรียกว่าผ้ากฐิน ผู้ใดศรัทธา ปรารถนาจะถวายผ้ากฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่งให้เขียนสลาก (ใบจอง) ไปติดไว้ที่ผนังโบสถ์ หรือศาลาวัด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้อื่นจองทับ เมื่อถึงวันกำหนดก็บอกญาติโยมให้มาร่วมทำบุญ มีมหรสพสมโภช และฟังเทศน์ รุ่งเช้าก็นำผ้ากฐินไปทอดถวายที่วัดเป็นอันเสร็จพิธี กำหนด ทำบุญระหว่างวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (ท้าวโสมพะมิตร) ตั้งอยู่หน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอนุสาวรีย์หล่อด้วยสัมฤทธิ์เท่าตัวจริงยืนบนแท่นมือขวาถือกาน้ำ มือซ้ายถือดาบอาญาสิทธิ์ ชาวกาฬสินธุ์ทุกหมู่เหล่าได้สละทรัพย์ก่อสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณต่อผู้ให้กำเนิดเมืองกาฬสินธุ์
วัดกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 20 นิ้ว มีพระพุทธลักษณะงดงาม สร้างในสมัยพระเจ้าคูนาข้าม พระชัยสุนทร (กิ่ง) ได้นำมาเป็นพระพุทธรูปศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หากปีใดฝนแล้งประชาชนชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่ขอฝนเสมอ ที่พระแท่นมีรอยจารึกเป็นอักษรไทยโบราณ นอกจากพระพุทธรูปองค์ดำแล้ว วัดกลางยังมีพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง 1 ศอก ยาว 4 ศอก ทำด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าในสมัยละว้าปกครอง เดิมอยู่ริมลำปาวใกล้แก่งสำโรงได้มีการสมโภชน์ทุกปี แต่ต่อมาตลิ่งลำปาวพังเข้ามาทุกปี ชาวเมืองเกรางจะถูกน้ำเซาะทำลาย จึงได้อัญเชิญมาไว้ในพระอุโบสถร่วมกับพระพุทธรูปองค์ดำ
วัดศรีบุญเรือง (วัดเหนือ) เป็นวัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์แห่งหนึ่ง ซึ่งมีเสมาจำหลักเมืองฟ้าแดดสูงยางจำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ โดยปักไว้รอบพระอุโบสถ หลักเสมาจำหลักที่สวยงามคือ หลักที่จำหลักเป็นรูปเทวดาเหาะอยู่เหนือปราสาททำเป็นซุ้มเรือนแก้ว (ศิลปะแบบพื้นเมืองอีสาน) ซ้อนกันเป็น 2 ชั้น ล่างสุดมีรูปกษัตริย์ พระมเหสี และพระโอรส
 พระพุทธรูปสถานภูปอ ตั้งอยู่ตำบลภูปอ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ไปทางทิศเหนือประมาณ 28 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 2319 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างจากสมัยทวาราวดี จำหลักบนหน้าผา 2 องค์ เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และใกล้เคียง องค์แรกประดิษฐานอยู่บนเชิงเขาทางขึ้น องค์ที่ 2 ประดิษฐานอยู่บนภูปอ นอกจากภูปอจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเป็นสถานที่ทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจอย่างยิ่ง ประชาชนในท้องถิ่นจัดงานสมโภชน์พระพุทธไสยาสน์ขึ้นประมาณเดือนเมษายน ของทุกปี
 ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว อยู่ภายในโรงพยาบาลธีรวัฒน์ เป็นแหล่งให้ข้อมูล และความรู้แก่ผู้ที่สนใจด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมทั้งแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นและในภาคอีสาน พร้อมทั้งจัดจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองของกาฬสินธุ์ ซึ่งคัดเลือกมาแล้วทั้งคุณภาพและลวดลาย เช่น ผ้าแพรวา กะเตาะหรือเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน สำหรับผู้ที่จะเข้าไปชมเป็นหมู่คณะและต้องการผู้บรรยาย กรุณาติดต่อล่วงหน้าได้ที่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธีรวัฒน์ เลขที่ 269/3 ถนนชนะพล อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000 โทร. (043) 811757

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกมลาไสย (ทางหลวงหมายเลข 214 กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด)

 เมืองฟ้าแดดสงยาง หรือเรียกเพี้ยนไปเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกว่า เมืองเสมา เนื่องจากมีผังเมืองรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณ มีซากอิฐปนดิน คูเมืองสองชั้นมีลักษณะเป็นท้องน้ำที่พอมองเห็น คือพระธาตุยาคู ผังเมืองรูปไข่แบบทวาราวดีแต่มีตัวเมืองสองชั้น เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวเมือง ชาวนามักขุดพบใบเสมาหินทรายมีลวดลายบ้าง ไม่มีบ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้ทางกรมศิลปากร 130 แผ่น พระพิมพ์ดินเผามีลักษณะเป็นอิทธิพลของสกุลช่างคุปตะรุ่นหลัง อายุประมาณ 1,000-2,000 ปี มีอยู่ทั่วไป นอกจากนี้ยังพบกล้องยาสูบดินเผาลวดลายอมราวดี ก้านขดเป็นรูปตัวมังกร อายุ 7,000 ปี ที่น่าสนใจคือกล้องยาสูบชนิดเดียวกันแต่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ อายุประมาณ 5,000-6,000 ปี ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่ายุคโลหะของสุวรรณภูมิได้เริ่มมาก่อนทุกๆ แห่งในโลกนี้ เมืองฟ้าแดดสงยาง จึงเป็นเมืองโบราณที่มีอายุระหว่าง พ.ศ. 1300-1600 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเสมา ตำบลหนองแปน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 19 กิโลเมตร เดินทางตามเส้นทาง 214 (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) แยกขวามือเข้าทางโรงเรียนกมลาไสย อำเภอกมลาไสย ประมาณ 13 กิโลเมตร แยกขวามือเข้าไปตามทางลูกรังอีก 6 กิโลเมตร นับเป็นสถานที่สำคัญในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานโบราณวัตถุที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด
 พระธาตุยาคู เดิมเรียกว่า “ธาตุใหญ่” เป็นพระสถูปสมัยทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15) ตั้งอยู่กลางทุ่งนาทิศเหนือบ้านเสมา อำเภอกมลาไสย ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ประมาณ 19 กิโลเมตร เป็นศิลปะการก่อสร้างแบบทวาราวดี ทำด้วยอิฐดิน ฐานเป็นรูป 8 เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ขนาดฐานกว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร สร้างซ้อนกันเป็นลักษณะแบบจตุรมุขสูงจากฐานถึงยอด 8 เมตร เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้มีการบูรณะ ชาวบ้านจะจัดให้มีงานเทศกาลเป็นประจำทุกปีในระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นของหมู่บ้าน
 วัดโพธิ์ชัยเสมาราม หรือวัดบ้านก้อม อยู่ในอาณาเขตเมืองฟ้าแดดสูงยางไม่ไกลจากพระธาตุยาคู เป็นวัดโบราณ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ ใบเสมาหินสมัยทวาราวดี ที่ปักอยู่เป็นแนวกำแพงและที่เก็บรวบรวมไว้ในวัดเป็นบางส่วน ที่ใบเสมาจำหลักเป็นภาพต่างๆ ส่วนมากสลักเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนา

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอยางตลาด-อำเภอท่าคันโท
(ทางหลวงหมายเลข 209-2110-2299)

 เขื่อนลำปาว เป็นเขื่อนดินซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปาว และห้วยยาง มีบริเวณเขตติดต่อระหว่างตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองกุงศรี และตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด ตามเส้นทางหมายเลข 209 ทางหลวงสายกาฬสินธุ์-มหาสารคาม ตรงหลักกิโลเมตรที่ 10 แยกขวามือเข้าเขื่อนลำปาวตามถนนลาดยาง 26 กิโลเมตร เป็นเขื่อนดินสูงจากท้องน้ำ 33 เมตร สันเขื่อนยาว 7.8 เมตร กว้าง 8 เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อปิดกั้นลำน้ำปาวและห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อน จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง เก็บน้ำได้ 1,430 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้แก่ หาดดอกเกด ซึ่งเปรียบเสมือนสวรรค์ชายหาดของคนอีสาน
หาดดอกเกด อยู่ริมฝั่งเขื่อนลำปาวทางด้านทิศตะวันออกของเรือนรับรองโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เป็นหาดเนินดินลดหลั่นลงจรดถึงเขื่อน มีบริเวณกว้างขวางพอสมควร ได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่พักผ่อนโดยจัดศาลาพักร้อนซุ้มดอกเห็ด เหตุที่ได้ชื่อว่า “หาดดอกเกด” ก็เพราะมีต้น “การะเกด” ซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองปลูกปะปนกับต้นไม้อื่นเป็นกลุ่มๆ เมื่อเวลาออกดอกจะส่งกลิ่นหอม ที่หาดแห่งนี้ในวันสุดสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปพักผ่อนเป็นจำนวนมาก
 สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว (สวนสะออน) อยู่บริเวณทิศตะวันออกของอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว มีเนื้อที่ 1,420 ไร่ เป็นสวนป่าธรรมชาติ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมทางหลวง ได้ร่วมกันดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติสวนสัตว์เปิด ได้นำสัตว์ป่าชนิดต่างๆ มาปล่อยไว้ให้อยู่แบบธรรมชาติดั้งเดิม มี “วัวแดง” เป็นสัตว์ป่าที่เป็นเอกลักษณ์ของสถานีฯ สภาพของป่าเป็นป่าเต็งรังหรือป่าแดงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม การใช้บ้านพักของสถานีฯ และตั้งแค้มป์พักแรมต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่สถานีฯ หรือทำจดหมายขออนุญาตล่วงหน้าส่งไปที่ สถานีศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าลำปาว ตู้ ป.ณ. 120 อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000 หรือผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ เขตบางเขน กรุงเทพฯ โทร. 561-4292-3 ต่อ 708 ซึ่งสามารถเดินทางได้สองเส้นทาง คือ ตามเส้นทางไปเขื่อนลำปาว เมื่อถึงตัวเขื่อนจะมีทางเลียบสันเขื่อนไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 19 กิโลเมตร และมีทางแยกซ้ายไปสวนสะออนอีกประมาณ 5 กิโลเมตร
 วนอุทยานภูพระ อยู่ที่ตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จากตัวเมืองใช้เส้นทาง อำเภอเมือง-อำเภอยางตลาด-อำเภอท่าคันโท อยู่ห่างจากตัวเมืองท่าคันโทไป 4 กิโลเมตร ภายในวนอุทยานประกอบด้วยสวนหินรูปร่างแปลกตา อยู่ท่ามกลางป่าเต็งรัง ครอบคลุมพื้นที่ 65,900 ไร่

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหนองกุงศรี

  เกาะมหาราช เป็นสวนสาธารณะและพักผ่อนอยู่ริมฝั่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ตรงข้ามกับแหลมโนนวิเศษของอำเภอสหัสขันธ์ สามารถนั่งเรือหรือแพขนานยนต์ข้ามฟากถึงกันได้ ในบริเวณเกาะมหาราชมีศาลาที่พักซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสหัสขันธ์-อำเภอคำม่วง

  พระพุทธไสยาสน์ถ้ำภูค่าว ตั้งอยู่ในเขตวัดพระพุทธนิมิตร บ้านนาสีนวล ตำบลโนนศิลา อำเภอสหัสขันธ์ สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ ตามเส้นทางหลวง 227 เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร รวมเป็นระยะทางจากกาฬสินธุ์ประมาณ 34 กิโลเมตร บริเวณถ้ำภูค่าวแต่เดิมเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นเพียงวัดเล็กๆ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ภูค่าว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่แปลกจากพระนอนทั่วไปคือ แทนที่จะไสยาสน์ตะแคงขวา แต่กลับไสยาสน์ตะแคงซ้าย ไม่มีพระเกตุมาลา พระนอนองค์นี้มีประวัติว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2235 เป็นพระโมคคัลลานะ เป็นที่เคารพของชาวบ้านทั่วไป มีงานนมัสการปิดทองในวันตรุษสงกรานต์ทุกปี
 พุทธสถานภูสิงห์ อยู่บนยอดเขาภูสิงห์ ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือประมาณ 34 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2319 มีทางขึ้น 2 ทาง คือ ทางราดยางคดเคี้ยวขึ้นตามไหล่เขาทางทิศตะวันตก และทางเดินเท้าทำเป็นบันได 104 ขั้น ทางทิศตะวันออก เป็นสถานที่พักผ่อนที่ร่มรื่นล้อมรอบด้วยธรรมชาติ ทั้งยังมองเห็นทิวทัศน์ของทุ่งนา หมู่บ้านและน้ำในเขื่อนลำปาวอันสวยงามอีกด้วย พุทธสถานภูสิงห์เป็นที่ประดิษฐานพระพรหมภูมิปาโล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 10.5 เมตร มีพระวรกายสง่างาม
 กลุ่มทอผ้าแพรวา บ้านโพน อำเภอคำม่วง ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ 70 กิโลเมตร ผ้าแพรวาทอจากผ้าไหมด้วยลายมัดหมี่ละเอียดลายเฉพาะตัว เป็นงานฝีมือทอผ้าของชาวผู้ไท ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสนับสนุนจนเป็นที่แพร่หลาย ลักษณะลายผ้าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มทอผ้าชาวผู้ไทบ้านโพนนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ลายหลัก และลายแถบ ส่วนสีของผ้าแพรวามิได้มีเพียงสีแดงเท่านั้น ปัจจุบันนี้มีการให้สีต่างๆ มากขึ้นตามความต้องการของตลาด เช่น สีครีม สีชมพูอ่อน สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่าการทอผ้าแพรวาเป็นงานศิลปหัตถกรรมประเภทสิ่งทอที่หาได้น้อยแห่งในประเทศไทย
 แหลมโนนวิเศษ เป็นภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นผืนดินที่ยื่นเข้าไปในบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำปาว อยู่ที่ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ 36 กิโลเมตร เป็นจุดชมพระอาทิตย์อัสดงที่สวยงามมากแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์
วัดสักกะวัน ตั้งอยู่ที่เชิงภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวง 227) ประมาณ 28 กิโลเมตร (ก่อนถึงสหัสขันธ์ 2 กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปวัดสักกะวัน 1 กิโลเมตร วัดนี้เป็นสถานที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์จำนวนมาก โดยซากกระดูกบางส่วนได้นำมาจัดแสดงที่ศาลาวัด มีการจัดนิทรรศการการแสดงความเป็นมาของการ เกิดไดโนเสาร์ยุคต่างๆ รวมทั้งรูปภาพการขุดค้นพบซากกระดูกเหล่านี้ นอกจากนั้น ห่างจากศาลาวัดไปประมาณ 100 เมตร มีโครงกระดูกไดโนเสาร์ฝังอยู่ในพื้นดินบริเวณเชิงเขา ได้รับการขุดแต่งโดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี เป็นซากกระดูกไดโนเสาร์ชนิดซอโรพอด มากกว่า 1 ตัว ซึ่งอยู่ในยุคจูแรสสิคตอนปลาย (ประมาณ 150 ล้านปีมาแล้ว)

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสมเด็จ
(ทางหลวงสายสมเด็จ-สกลนคร หมายเลข 213)

  น้ำตกแก้งกะอาม บ้านแก้งกะอาม ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามเส้นทางกาฬสินธุ์-สกลนคร ทางหลวงหมายเลข 213 ประมาณ 55 กิโลเมตร มีทางลูกรังแยกซ้ายไปอีก 300 เมตร มีแก่งหินเรียงรายเป็นแนวยาว มีลานหินกว้างเหมาะแก่การพักผ่อน เป็นน้ำตกที่กำลังได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ทางหลวงแผ่นดิน
ผาเสวย อยู่บนเทือกเขาภูพาน เขตบ้านแก้งกะอาม ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสมเด็จ 17 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณ 58 กิโลเมตร เส้นทางสายสมเด็จ-สกลนคร เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ผารังแร้ง” เมื่อ พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จผ่านและเสวยพระกระยาหารกลางวัน จึงเรียกที่ประทับนั้นว่า “ผาเสวย” ลักษณะตั้งอยู่บนเหวลึก หน้าผาสูงชัน ชาวบ้านเรียกว่า “เหวหำหด” บนหน้าผาเสวยสามารถชมทัศนียภาพและเป็นที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเขาวง
(ทางหลวงหมายเลข 213, 2042, 2291)

   น้ำตกผานางคอย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน แบ่งเป็นชั้นๆ มีความสวยงามมาก สภาพป่าโดยรอบเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ และลักษณะเด่นคือ มีน้ำไหลตลอดปีแม้ในฤดูแล้ง
 น้ำตกตาดทอง อยู่ในเขตอำเภอเขาวง บนเส้นทาง เขาวงดงหลวง-มุกดาหาร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามด้วยโขดหินสลับซับซ้อน ในฤดูฝนจะเป็นช่วงที่สวยงามที่สุด น้ำตกตาดทองจะจัดให้มีงานขึ้นทุกๆ ปี ในช่วงเดือนตุลาคม รถยนต์สามารถเดินทางเข้าถึงน้ำตกได้โดยสะดวก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกุฉินารายณ์
(ทางหลวงหมายเลข 213, 2042)

   ฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์แห่งที่ 1 ถูกค้นพบที่ภูผางัว วัดบ้านนาไคร้ เมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยพระสงฆ์และชาวบ้านนำรถแทรคเตอร์ไปปรับพื้นที่บริเวณวัด เพื่อสร้างศาลาการเปรียญ ปรากฏว่าได้พบกองหินคล้ายกระดูกช้าง จึงได้เก็บรวบรวมไว้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2533 ก็ได้มีการปรับพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ก็ได้พบหินที่มีลักษณะเหมือนครั้งแรกจึงได้แจ้งให้จังหวัดทราบ จังหวัดจึงได้มีหนังสือถึงกรมทรัพยากรธรณีให้มาตรวจสอบ และพบว่าเป็นฟอสซิลกระดูกของไดโนเสาร์ประเภทกินพืชเป็นอาหาร ที่มีโครงสร้างที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ ทางจังหวัดกำลังพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดต่อไปในอนาคต
  ภูผาผึ้ง-ถ้ำฝ่ามือแดง เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่บนภูเดียวกันที่เรียกกันว่า ภูผาผึ้ง ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
 - ภูผาผึ้ง เป็นหน้าผาสูงประมาณ 400 เมตร ซึ่งในอดีตเคยมีผึ้งมาทำรังเกาะอยู่เต็มหน้าผาแห่งนี้ แต่เนื่องจากการตีผึ้ง เพื่อเอาผึ้งและรวงผึ้งไปขายของชาวบ้านบริเวณรั้นเป็นไปในรูปแบบล้างเผ่าพันธุ์ ประกอบกับปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อป่าไม้ถูกทำลายระบบนิเวศน์ก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีดอกไม้อันอุดมให้ผึ้งได้กินได้สร้างครอบครัวอีกต่อไป ปัจจุบันนี้ภูผาผึ้งจึงเหลือเพียงตำนานที่เล่าขานเพื่อชี้ชวนให้ชมรอยเว้ารอยบุ๋มของหินผา ซึ่งรวงผึ้งเคยเกาะอยู่เท่านั้น
 - ถ้ำฝ่ามือแดง หรือถ้ำลายมือตามคำเรียกของชาวบ้าน ได้มีการค้นพบและเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา โดยอาจารย์สงวน รอดบุญ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ค้นพบและเผยแพร่ หลังจากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมโบราณสถานแห่งนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ลักษณะของถ้ำเป็นหน้าผาที่เว้าเข้าไปคล้ายวงเล็บ มีรอยมือสีแดงจางๆ ประทับอยู่บนผนังและเพดานถ้ำ ค้นพบครั้งแรกนับได้ประมาณ 147 รอย ซึ่งรูปรอยของฝ่ามือดังกล่าวจางลงตามกาลเวลา รวมทั้งมีผู้พยายามใช้ตะปูสกัดรอยฝ่ามือออกจากผนังถ้ำไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตามปรากฏรอยกระเทาะทั่วไป
น้ำตกตาดสูงและน้ำตกตาดยาว อยู่ในเขตอำเภอกุฉินารายณ์ โดยห่างจากภูผางัวไปประมาณ 4 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกตาดสูงจะเป็นธารหิน น้ำไหลลดหลั่นกันไป เมื่อถึงฤดูฝนจะมีความงดงามมาก และเมื่อเดินตามเส้นทางเท้าเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะถึงน้ำตกตาดยาว ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ เป็นลานหินขนาดกว้างลาดเอียงตามธรรมชาติ ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า น้ำตกสไลเดอร์ และน้ำตกตาดยาวนี้จะไหลไปรวมกันกับน้ำตกตาดสูงด้วย

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่กาฬสินธุ์