แผนที่สุรินทร์

  • แผนที่สุรินทร์
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

สุรินทร์เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนว่า มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร อาศัยเพียงข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ตลอดจนคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เล่าต่อๆ กันมา โดยเชื่อกันว่าเมืองสุรินทร์ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว

จากหลักฐานที่พบภาชนะดินเผา ยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณจังหวัดสุรินทร์ และพบแหล่งชุมชนโบราณหลายแห่ง ย่อมแสดงให้เห็นว่า ในบริเวณจังหวัดสุรินทร์ มีผู้คนอาศัยนานมาแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ในปีพ.ศ. 2538 นายเจริญ ไวรวัจยกุล อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ พร้อมคณะได้ศึกษาและเก็บข้อมูลชุมชนโบราณบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ห้วยลำพลับพลาด้านบนและลำน้ำมูลด้านใต้ เนื่องจากพบเนินสูงๆ ต่ำๆ อยู่เป็นจำนวนมาก จากการสำรวจสันนิษฐานว่าเนินเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง

นักมานุษยวิทยา และนักโบราณคดีลงความเห็นว่า บริเวณที่ราบลุ่มตอนกลางของแม่น้ำมูลด้านตะวันออกและชุมชนทุ่งสำริด ในจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ และลุ่มแม่น้ำมูลชีตอนล่าง ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี คือแหล่งอารยธรรมโบราณ บรรพชนของชุมชนเหล่านี้ ได้ประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผาเนื้อหยาบหนา ในยุคแรกๆ ไม่มีลวดลายเขียนสี ในยุคต่อมาพัฒนาเป็นการเขียนสี และชุบน้ำโคลนสีแดง นอกจากนี้ยังได้ค้นพบหลักฐานแสดงการเปลี่ยนแปลงทางคติชนวิทยาที่สำคัญของมนุษยชาติ คือ ประเพณีฝังศพครั้งที่สองโดยการบรรจุกระดูกผู้ตายลงในภาชนะก่อนการนำไปฝัง ซึ่งการฝังครั้งแรกนั้นจะนำร่างผู้ตายลงในหลุมระยะหนึ่ง แล้วจึงขุดขึ้นเพื่อทำพิธีฝังครั้งที่สอง ลักษณะสำคัญของชุมชนเหล่านี้อีกอย่างหนึ่ง คือ โครงสร้างของชุมชนมักแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่อาศัยมักอยู่บนเนินหรือที่ดอน โดยรอบเป็นที่ลุ่มสำหรับเป็นแหล่งทำกิน ด้าน ตะวันออกส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานและด้านตะวันตกเป็นป่าช้า การขยายตัวของชุมชนมักขยายไปทางทิศตะวันตก ชุมชนเหล่านี้มีการขยายตัวทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองมีการสั่งสมหรือกวาดต้อนประชากรจากพื้นที่ต่างๆ จัดตั้งขยายเป็นชุมชนเมือง เป็นรัฐยุคต้นประวัติศาสตร์ ชุมชนเหล่านี้นี่เองที่หลอมรวมกันขึ้นเป็นอาณาจักรเจนละ หรืออีสานปุระ มีหลักฐานแสดงความเจริญหลายอย่าง เช่น การถลุงเหล็ก การทำเกลือ ปลูกข้าว การขุดคูกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและความปลอดภัย
ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์

เมืองสุรินทร์เป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีวัฒนธรรมที่สั่งสมสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยปัจจุบัน สิ่งที่ปรากฏหลักฐานบ่งบอกชัดเจน ได้แก่ คูเมือง 3 ชั้น มีเนินดินเป็นกำแพง สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองหน้าด่านของขอม ดังที่[[สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต]] ทรงเรียบเรียง ถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในการรายงานตรวจราชการมณฑลอีสานและนครราชสีมา ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2469 ดังนี้

เมืองสุรินทร์เป็นเมืองที่สร้างอย่างมั่นคงในปางก่อน มีคูถึง 3 ชั้น มีเนินดินเป็นกำแพงเมือง น่าจะเป็นเพราะเห็นว่าเป็นเมืองหน้าด่านทั้งทางตะวันออก และทางใต้ซึ่งมีช่องข้ามเขาบรรทัดต่อจังหวัดสุรินทร์อยู่หลายช่อง คือ ช่องปราสาทตาเมิน, ช่องเสม็ก, ช่องดอนแก้ว เป็นต้น ซึ่งมีทางเดินไปสู่ศรีโสภณ และเมืองจงกัน ยังมีคนและเกวียนเดินอยู่ทุกช่อง แต่เป็นทางลำบาก คงสะดวกแต่ช่องตะโก ต่อมาทางตะวันตก ซึ่งกรมทางได้ไปทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว บริเวณเมืองสุรินทร์เป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมตลอดปี แต่ก็ทำไร่นาได้ เป็นทุ่งใหญ่ บ้านเมืองกำลังจะเจริญขึ้น เพราะเป็นปลายทางรถไฟ มีห้องแถวคึกคักไม่หย่อนกว่าอุบล และกำลังสร้างทำอยู่อีกก็มีมาก

พลเมืองแห่งจังหวัดสุรินทร์เป็นเขมรเป็นชาวพื้นเหมือนเช่น บุรีรัมย์ นางรอง มีลาวเจือปนบ้างเป็นส่วนน้อย กับมีชาติส่วยอีกพวกหนึ่ง ซึ่งว่าพูดภาษาของตนต่างหาก ตามที่ผู้รู้กล่าวว่า พื้นเป็นภาษาเขมรเจือด้วยคำลาว พวกเขมรพลเมืองสุรินทร์ยังคงพูดภาษาเขมร อยู่ทั่วไปและที่กล่าวว่าไม่รู้ภาษาไทยก็มีต้องใช้ล่ามเนืองๆ ผู้ปกครองท้องถิ่น เห็นว่าเป็นการดิ้นรน แสร้งทำเป็นพูดไทยไม่ได้ก็มีอยู่มาก แต่ในการปกครองไม่ปรากฏว่ามีความยากลำบากอะไรกว่าพลเมืองธรรมดา ในเรื่องของภาษาเขมรสอบสวนได้ความว่า วิชชาหนังสือขอมสูญแล้ว ไม่มีใครเรียน และไม่มีที่เรียน เพราะโรงเรียนสอนภาษาไทยอย่างเดียว เวลานี้มีแต่คนแก่ๆ เท่านั้นที่รู้หนังสือขอม ได้เพียงนี้ก็เห็นว่าในทางปกครองที่จะให้เกิดเป็นสำนึกของคนไทย นับว่าได้ทำไปได้มากแล้ว ถ้าจัดการโรงเรียนให้เจริญขึ้นอีก และในต่อไปการคมนาคมกับกรุงเทพสะดวกขึ้น พลเมืองพวกนี้จะรู้สึกตัวเป็นไทยยิ่งขึ้นทุกวัน ทั้งการลูกเสือก็ย่อมเป็นปัจจัยช่วยในทางนี้อยู่มาก ส่วนการไปมาถึงกันกับพวกเขมรต่ำในการปกครองฝรั่งเศสนั้น สอบสวนได้ความว่ายังมีอยู่เสมอแต่มีข้างฝ่ายคนเรื่องเขมรต่ำอพยพเข้ามาอยู่ทางเราเสียมากกว่า ปีหนึ่ง เข้าประมาณ 50 คน โดยมากเป็นเรื่องหนีส่วยอากรที่ทางฝ่ายโน้นเก็บแรงกว่าทางนี้

จังหวัดสุรินทร์ มีลำดับการพัฒนาทางประวัติศาสตร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งทางด้านการปกครอง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง จากการตั้งบ้านเรือนที่มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายในอดีต มาเป็นวิถีชีวิตที่สลับซับซ้อนอย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสะท้อนความเคลื่อนไหวของผู้คนที่มีมิติความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ตลอดเวลา อันเป็นลักษณะโดดเด่นของผู้คนชาวจังหวัดสุรินทร์
ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา

พระยาประชากรกิจกรจักรเชื่อว่า ชนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในพื้นที่ของอีสานล่างคือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานีบางส่วน กลุ่มแรกคือ กวย กูย หรือ ข่า ขมุ ลัวะ ละว้า เยอ ซึ่งเป็นพวกเดียวกัน แต่เรียกตามสำเนียงของภาษาพูดในแต่ละท้องถิ่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกชนกลุ่มนี้ว่า ส่วย

อีริค ไซเดนฟาเดน นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ก สันนิษฐานว่าพวกกูยเคลื่อนย้ายจากประเทศจีนเข้าสู่ประเทศพม่า และมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมื่อประมาณ 1,200 ปี ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 3,000 ปีเศษมาแล้ว ชาวกูยเหล่านี้อาศัยอยู่เป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่ภาคใต้ของลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พวกที่อพยพเข้ามาเป็นระรอกที่ 2 และที่ 3 คือ เขมรและลาว

หม่อมอมรวงศ์วิจิตร กล่าวไว้ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานกล่าวว่า เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวทางนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ 1,000 ปี ก็เป็นทำเลป่าดง ซึ่งเป็นที่อาศัยของพวกคนป่า อันสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ต่อมาเรียกกันว่า ข่า, ส่วย, กวย ซึ่งยังมีอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก

เขมรเป็นชนพื้นเมืองที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในสมัยอาณาจักรขอมรุ่งเรือง ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 เป็นต้นมา ภายหลังได้ผสมกลมกลืนกับชาวส่วยซึ่งเป็นคนพื้นเมืองเดิมและได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า พวกเขมรป่าดง (ข่า-เขมร) ส่วนพวกลาวนั้นอพยพเข้ามาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ราว พ.ศ. 2257-พ.ศ. 2261
สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้แพร่ขยายอิทธิพลทางการเมืองทำให้กัมพูชาตกอยู่ในฐานะประเทศราชและในระหว่างปีพ.ศ. 2103 อาณาจักรลาวมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ. 2091-พ.ศ. 2111) กษัตริย์ของลาวได้สร้างนครเวียงจันทร์เป็นเมืองหลวงของล้านช้าง

ในปีพ.ศ. 2257 ลาวแตกออกเป็น 3 รัฐอิสระ คือหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ ชาวลาวกลุ่มหนึ่งซึ่งนำโดยเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ดพร้อมด้วยนักศึกษาวัด ทั้งที่กำลังศึกษา เป็นพระภิกษุสามเณรอยู่และที่จบการศึกษาแล้วเป็นอ้ายเชียง อ้ายทิด (บันฑิต) อ้ายจารย์ (อาจารย์) กับพวกข้าทางใต้ไปบูรณะพระธาตุพนม และไปจนถึงเขมร แล้วกลับมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์

เมืองจำปาศักดิ์นั้นเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองอัตตะปือแสนแปง (แสนแปง) ซึ่งต่างเป็นเมืองของพวกลัวะ ข่า (หรือชนเผ่าพันธุ์ที่เราเรียกว่าส่วยในปัจจุบัน) ขณะนั้นเมืองจำปาศักดิ์ปกครองโดยนางแพง เจ้าหญิงข่า-ลัวะ ธิดาของนางเพากับเจ้าคำช้าง หรือบ้างคำ ด้วยคุณงามความดีของเจ้าราชครูหลวงแห่งวัดป่าโพนสะเม็ด นางแพงจึงมอบอำนาจการปกครองเมืองจำปาศักดิ์ให้ เจ้าราชครูหลวงจึงได้อัณเชิญเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจากนครเวียงจันทร์ไปปกครองนครจำปาศักดิ์นับตั้งแต่พ.ศ. 2261-พ.ศ. 2281 เป็นต้นมา เมื่อเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้ปกครองจำปาศักดิ์แล้ว เจ้าราชครูแห่งวัดป่าโพนสะเม็ดจึงขยายอำนาจ โดยตั้งชาวลาวที่มีความรู้ ความสามารถ ออกไปปกครองเมืองของลัวะ ข่าต่างๆ ภายในเขตเมืองจำปาศักดิ์ เช่น ส่งจารย์หวดเป็นเจ้าเมืองโขงสี่พันดอน ให้ท้าวมั่นไปตั้งบ้านโพนขึ้นเป็นเมืองสาระวันแต่ชาวบ้านชอบเรียกเมืองมั่นตามชื่อท้าวมั่นและเรียกควบกับเมืองคำทองใหญ่ว่าเมืองมั่นคำทอง ให้จารย์แก้ไปตั้งบ้านถ่ง (ท่ง) เป็นเมืองสุวรรณภูมิ (ในจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน) ให้จารย์เซียงมาตั้งบ้านโนนสามขาเป็นเมืองศรีนครเขต (ศรีสะเกษในปัจจุบัน) ตั้งได้ไม่นานเมืองศรีนครเขตก็ถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง

การแยกเป็นรัฐอิสระของอาณาจักรลาว ทำให้ทั้ง 3 รัฐ เกิดการแข็งต่อเมืองกันและต่างสะสมแสนยานุภาพไว้ต่อสู้ ป้องกันการรุกราน เมืองจำปาศักดิ์จึงบังคับให้อัตตะปือ แสนปางส่งช้างป้อนกองทัพให้แก่จำปาศักดิ์ตามที่ต้องการ ทำให้ส่วยอัตตะปือ แสนปางทนต่อสภาพถูกบีบบังคับไม่ได้ จึงหนีข้ามลำน้ำโขงเข้ามาอาศัยกับพวกส่วยดั้งเดิมบริเวณป่าดงดิบแถบอีสานล่างคือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และบางส่วนของนครราชสีมา มหาสารคาม

ชาวส่วยหลายกลุ่มพากันอพยพหนีสงครามข้ามมาตั้งหลักแหล่งทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เมื่อพ.ศ. 2260 แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนและมีหัวหน้าปกครองตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบันคือ

กลุ่มที่ 1 มาอยูที่บ้านเมืองที (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์) มีหัวหน้าชื่อ เชียงปุม
กลุ่มที่ 2 มาอยูที่บ้านกุดหวายหรือเมืองเตา (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอรัตนบุรี) มีหัวหน้าชื่อ เชียงลี
กลุ่มที่ 3 มาอยูที่บ้านเมืองลีง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอจอมพระ) มีหัวหน้าชื่อ เชียงสง
กลุ่มที่ 4 มาอยูที่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน (ปัจจุบันคือบ้านดอนใหญ่ อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ) มีหัวหน้าชื่อ ตากะจะและเชียงขัน
กลุ่มที่ 5 มาอยูที่บ้านอัจจะปะนึง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสังขะ) มีหัวหน้าชื่อ เชียงฆะ
กลุ่มที่ 6 มาอยูที่บ้านกุดปะไท (ปัจจุบันคือบ้านจารพัต อำเภอศีขรภูมิ) มีหัวหน้าชื่อ เชียงไชย

ชาวส่วยเหล่านี้มีความชำนาญในการคล้องช้าง ทำการเกษตร หาของป่า ป่าดงแถบนี้มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ เช่น โขลงช้างพัง ช้างพลาย ฝูงเก้ง กวาง ละมั่ง และโคแดง เหมาะกับการทำมาหากินของชาวส่วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ละชุมชนมีการไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ

สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) แห่งกรุงศรีอยุธยา ช้างเผือกเขตกรุงหนีออกมาจากกรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่เขตพิมาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ขุนนางสองพี่น้อง (เข้าใจว่า คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) กับไพร่พล 30 คน ออกติดตามช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย ได้มาสืบถามร่องรอยช้างจากชาวเมืองพิมายซึ่งเป็นผู้ชำนาญภูมิประเทศในแถบนั้น ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปสืบถามพวกส่วย มอญ แซก โพนช้างอยู่ริมเขาดงใหญ่เชิงเขาพนมดงรัก เมื่อได้รับคำแนะนำจากชาวเมืองพิมายว่าช้างเผือกหนีไปทางไหนแล้ว ขุนนางสองพี่น้องพร้อมด้วยไพร่พลออกติดตามต่อมาตามลำน้ำมูลมาพบเชียงสีหรือตากะอาม หัวหน้าบ้านกุดหวาย เชียงสีได้พาขุนนางสองพี่น้องไปพบหัวหน้าหมู่บ้านอื่นๆ เพื่อจะได้ช่วยกันตามหาช้างเผือกต่อไป โดยไปหาเชียงปุมที่บ้านเมืองที เชียงปุมได้ร่วมสมทบกับขุนนางสองพี่น้องพากันไปหาเชียงไชยที่บ้านกุดปะไท (บ้านจารพัต) ไปหาเชียงขันที่บ้านโคกลำดวน ไปหาเชียงฆะที่บ้านอัจจะปะนึง จึงทราบข่าวจากเชียงฆะว่า ได้พบช้างเผือกเชือกหนึ่งมีเครื่องประดับที่งาพาบริวารซึ่งเป็นช้างป่ามาเล่นน้ำที่หนองโชก หรือหนองบัวในเวลาบ่ายทุกวัน

เชียงฆะก็พาขุนนางสองพี่น้องและพวกไปยังหนองโชก พากันขึ้นต้นไม้ที่ริมหนองโชกเพื่อดูช้างโขลงนั้น ครั้นเวลาบ่ายช้างโขลงนั้นก็ออกจากชายป่ามาเล่นน้ำตามเคย ปรากฏว่าช้างเผือกที่หายมานั้นอยู่กลางฝูงพากันลงเล่นน้ำที่หนองโชก ขุนนางทั้งสองจึงเอาก้อนอิฐแปดก้อนที่นำมาจากบ้านเมืองทีขึ้นเสกเวทมนตร์ตามพิธีกรรมคชศาสตร์ อธิษฐานแล้วขว้างไปยังโขลงช้างทั้งแปดทิศ ฝ่ายช้างป่าก็แตกตื่นหนีเข้าป่าหมด คงเหลืออยู่แต่ช้างเผือกเชือกเดียวขุนนางสองพี่น้องก็ลงจากต้นไม้พากันขึ้นขี่หลังช้างโดยง่าย เมื่อจับช้างได้แล้ว ขุนนางสองพี่น้องและบริวารพากันเดินทางกลับ หัวหน้าหมู่บ้านทั้งหลายที่มาช่วยเหลือในการติดตามช้าง ก็ได้อำนวยความสะดวกในการควบคุมช้างเผือกมาส่งที่กรุงศรีอยุธยาด้วย เมื่อมาถึงพระนครแล้ว ขุนนางสองพี่น้องจึงได้นำหัวหน้าหมู่บ้านทั้งหลายเข้าเฝ้าสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ และกราบบังคมทูลเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทรงทราบ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์จึงโปรดเกล้าแต่งตั้งบรรดาหัวหน้าชาวส่วยให้มีฐานันดรศักดิ์ คือ

ตากะจะ เป็น หลวงแก้วสุวรรณ
เชียงขัน เป็น หลวงปราบ
เชียงฆะ เป็น หลวงเพชร
เชียงปุม เป็น หลวงสุรินทรภักดี
เชียงลี เป็น หลวงศรีนครเตา
เชียงไชย เป็น ขุนไชยสุริยงค์

กลับไปปกครองคนในหมู่บ้านของตน โดยอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย

พ.ศ. 2306 หลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) ได้ขอพระบรมราชานุญาตย้ายหมู่บ้านจากเมืองทีซึ่งคับแคบและไม่สะดวกในการทำมาหากินไปตั้งที่บ้านคูประทายหรือบ้านคูประทายสมันต์ คือที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่กว้างใหญ่มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบถึง 2 ชั้น เป็นชัยภูมิเหมาะสมที่จะป้องกันและต่อต้านศัตรูที่มารุกรานได้เป็นอย่างดี เมื่อได้รับอนุญาตแล้วหลวงสุรินทร์ภักดีจึงได้อพยพราษฎรบางส่วนไปอยู่ที่บ้านคูประทาย ส่วนญาติพี่น้อง ชื่อเชียงบิด เชียงเกตุ เชียงพัน นางสะตา นางแล และราษฎรส่วนหนึ่งคงอยู่ ณ หมู่บ้านเมืองทีตามเดิม ระหว่างที่อยู่บ้านเมืองที หลวงสุรินทร์ภักดี (เชียงปุม) กับญาติร่วมกันสร้างเจดีย์ 3 ยอด สูง 18 ศอก และสร้างโบสถ์พร้อมพระปฏิมา หน้าตักกว้าง 4 ศอก ซึ่งปรากฏอยู่ที่วัดเมืองทีมาจนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อย้ายถิ่นฐานจากบ้านเมืองทีไปอยู่ที่บ้านคูประทายแล้ว หัวหน้าหมู่บ้านทั้ง 5 จึงได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา นำสิ่งของไปทูลเกล้าถวาย คือ ช้าง ม้า แก่นสน ยางสน ปีกนก นอระมาด (นอแรด) งาช้าง ขี้ผึ้ง น้ำผึ้ง เป็นการส่งส่วยตามราชประเพณี เพราะว่าขณะนั้นบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์จะได้อพยพมาตั้งฐิ่นฐานอยู่ในดินแดนอันเป็นป่าดงทึบส่วนนี้ โดยตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่อย่างมั่นคงก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของกรุงศรีอยุธยา ยังคงถือว่าเป็นกลุ่มชนที่อยู่ในป่าดงในราชอาณาเขตเท่านั้น ซึ่งกรุงศรีอยุธยาเริ่มรู้จักก็โดยหัวหน้าหมู่บ้านได้ช่วยเหลือจับช้างเผือกคืนกรุงศรีอยุธยา และเมื่อหัวหน้าหมู่บ้านได้นำของไปทูลเกล้าถวายแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า แต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้หัวหน้าหมู่บ้านสูงขึ้น ดังนี้

หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) เป็น พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง ยกบ้านคูประทาย เป็น เมืองประทายสมันต์ ให้พระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง เป็นเจ้าเมืองปกครอง
หลวงเพชร (เชียงฆะ) เป็น พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ ยกบ้านอัจจะปะนึง หรือบ้านดงยาง เป็น เมืองสังฆะ ให้พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ เป็นเจ้าเมืองปกครอง
หลวงศรีนครเตา (เชียงสี หรือตากะอาม) เป็น พระศรีนครเตา ยกบ้านกุดหวาย เป็น เมืองรัตนบุรี ให้พระศรีนครเตา เป็นเจ้าเมืองปกครอง
หลวงแก้วสุวรรณ (ตากะจะ) เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ยกบ้านปราสาท-สี่เหลี่ยมดงลำดวน เป็น เมืองขุขันธ์ ให้พระภักดีศรีนครลำดวน เป็นเจ้าเมืองปกครอง

การปกครองบังคับบัญชาแบ่งเป็นหมวดหมู่ เป็นกอง มีนายกอง นายหมวด นายหมู่ บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย หัวหน้าหมู่บ้านทั้งหมดก็เดินทางกลับและปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบสุขตลอดมา
สมัยกรุงธนบุรี

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปีพ.ศ. 2310 แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพและตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมืองสุรินทร์ก็ขึ้นต่อกรุงธนบุรี

เมื่อพ.ศ. 2318 พญาโพธิสาร จากนครจำปาศักดิ์ยกทัพมากวาดต้อนครัวบ้านครัวเมือง เมืองสุวรรณภูมิ เมืองตักศิลา (อำเภอราษีไศล) และเมืองศรีนครเขต (ศรีสะเกษ) ทิ้งให้เป็นเมืองร้าง

ครั้นเมื่อปีพ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพไปสมทบกำลังเกณฑ์เมืองขุขันธ์ เมืองสังขะบุรี และกองทัพช้างคูประทายสมันต์ ขึ้นไปตีเมืองจำปาศักดิ์ เมืองนครพนม บ้านหนองคาย เวียงจันทร์ เป็นกำลังสำคัญในการขยายอิทธิพลสู่เขมร ในปีพ.ศ. 2324 ทางฝ่ายเขมรเกิดการจลาจล โดยเจ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิมลราช (ฮู) ฝักใฝ่ในทางญวน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้า ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปปราบปราม โดยเกณฑ์กำลังทางขุขันธ์ ประทายสมันต์ (เมืองสุรินทร์) สังขะ ไปช่วยปราบปรามเมืองประทายเพชร ประทายมาศ เมืองรูงตำแรย์ กำปงสวายและเสียมราฐ การปราบปรามยังไม่ราบคาบ เกิดความไม่สงบขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทราบข่าวจึงเลิกทัพกลับคืนมายังกรุงธนบุรี

ในระหว่างสงครามครั้งนี้ได้มีพวกเขมรหลบหนีสงครามจากเมืองเสียมราฐ กำปงสวาย ประทายเพชร และเมืองอื่นๆ เข้ามาอยู่ในเมืองประทายสมันต์ และสังขะเป็นจำนวนมาก อาทิ ออกญานินทร์เสน่หา จางวาง ออกไกรแป้น ออกญาตูม นางดาม บุตรีเจ้าเมืองประทายเพชรรวมทั้งพี่น้องบ่าวไพร่เมืองเสียมราฐ ก็ได้พากันมาอยู่เมืองประทายสมันต์ด้วย ต่อมานางดามได้แต่งงานกับสุ่นหลานชายของพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ภายหลังชาวเขมรทราบว่า นางดามซึ่งเป็นนายของตนมาเป็นสะใภ้เจ้าเมือง จึงพากันอพยพมาอยู่ที่เมืองคูประทายมากขึ้น ดังนั้น ชาวเมืองคูประทาย ซึ่งเป็นส่วยจึงปะปนกับเขมรและเพราะเหตุที่ชาวเขมรมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน วัฒนธรรมตลอดทั้งความเป็นอยู่ จึงผันแปรไปทางเขมรมากขึ้นประกอบกับเมืองสุรินทร์รับผิดชอบเกลี้ยกล่อมผู้คนในเขตแดนเขมร ตลอดจนให้เจ้าเมืองกรมการเมืองต่างๆ เหล่านี้จัดส่งคนไปลาดตระเวน เกลี้ยกล่อมผู้คนในเขตรับผิดชอบเดือนละสองครั้ง ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตเมืองสุรินทร์ ทำให้วัฒนธรรมเขมรเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อเสร็จศึกสงครามเมืองเวียงจันทร์และเมืองเขมรแล้ว เจ้าเมืองประทายสมันต์ เมืองขุขันธ์ และเมืองสังฆะได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยา ทั้ง 3 เมือง

ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองประทายสมันต์” เป็น “เมืองสุรินทร์” ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมือง

สุรินทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ประมาณ 457 กิโลเมตร และโดยทางรถไฟประมาณ 420 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 8,124.056 ตารางกิโลเมตร
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด และมหาสารคาม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ
ทิศใต้ ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์

จังหวัดสุรินทร์มีการปกครองแบ่งออกเป็น 17 อำเภอ 158 ตำบล 2011 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอจอมพระ อำเภอปราสาท อำเภอกาบเชิง อำเภอรัตนบุรี อำเภอสนม อำเภอศีขรภูมิ อำเภอสังขะ อำเภอลำดวน อำเภอสำโรงทาบ อำเภอบัวเชด อำเภอพนมดงรัก อำเภอศรีณรงค์ อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอโนนนารายณ์
ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ

อำเภอเขวาสินรินทร์ 14 กิโลเมตร
อำเภอจอมพระ 25 กิโลเมตร
อำเภอลำดวน 26 กิโลเมตร
อำเภอปราสาท 28 กิโลเมตร
อำเภอศีขรภูมิ 34 กิโลเมตร
อำเภอสังขะ 51 กิโลเมตร
อำเภอสนม 51 กิโลเมตร
อำเภอท่าตูม 52 กิโลเมตร
อำเภอสำโรงทาบ 54 กิโลเมตร
อำเภอกาบเชิง 58 กิโลเมตร
อำเภอศรีณรงค์ 64 กิโลเมตร
อำเภอรัตนบุรี 70 กิโลเมตร
อำเภอบัวเชด 70 กิโลเมตร
อำเภอโนนนารายณ์ 75 กิโลเมตร
อำเภอพนมดงรัก 78 กิโลเมตร
อำเภอชุมพลบุรี 91 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดสุรินทร์ไปยังจังหวัดใกล้เคียง

จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทาง 111 กิโลเมตร
จังหวัดยโสธร ระยะทาง 135 กิโลเมตร
จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทาง 137 กิโลเมตร
จังหวัดศรีสะเกษ ระยะทาง 143 กิโลเมตร
จังหวัดมหาสารคาม ระยะทาง 177 กิโลเมตร
จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 198 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-สุรินทร์

1.ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรีและเดินทางเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมา ตรงเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 224 นครราชสีมา อำเภอโชคชัย แยกซ้ายสู่ทางหลวงหมายเลข 24 โชคชัย-อุดมเดช พอถึงอำเภอปราสาทแล้วแยกซ้ายใช้เส้นทางหมายเลข 214 เข้าสู่ตัวเมืองสุรินทร์
2. ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี และเดินทางเข้าสู่จังหวัดนครราชสีมาผ่านจังหวัดบุรีรัมย์ตรงเข้าสู่ตัวจังหวัดสุรินทร์ โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 226

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทางออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โทร.936-2852-66
ทางรถไฟ ทางรถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง) ทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทางการรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 223-7010 และ 223-7020

จังหวัดสุรินทร์เป็นดินแดนที่มีช้างมากมาแต่โบราณ ชาวเมืองในอดีต หรือที่เรียกว่า “ส่วย” ได้จับช้างป่ามาฝึก เพื่อใช้เป็น พาหนะและขนส่งช้าง และการควบคุมบังคับขี่ช้าง ของชาวสุรินทร์ได้เคยทำชื่อเสียงให้แก่ ประเทศไทยมาแล้ว และเมื่อ “การแสดงของช้าง” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2503 นั้น ทำให้นามของจังหวัดสุรินทร์เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ งานแสดงของช้างจังหวัดสุรินทร์ ได้กำหนดจัดงานนี้ในวันเสาร์-อาทิตย์ กลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็นงานประจำปีระดับชาติ แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก มาร่วมชมงานนี้ เป็นงานแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย และจังหวัดสุรินทร์ การแสดงของช้างประกอบด้วยการแสดงคล้องช้าง การชักคะเย่อระหว่างคนกับช้าง ช้างแข่งฟุตบอล ช้างเต้นระบำ ขบวนพาเหรด ขบวนช้างศึก รวมทั้งการแสดงศิลปะพื้นเมือง เช่น รำเรือมอัมเร เซิ้งบั้งไฟ ฯลฯ โดยได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

หลักเมืองสุรินทร์ เป็นสถานที่สำคัญและเป็นที่นับถือคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุรินทร์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร หลักเมืองสุรินทร์นี้เดิมเป็นเพียงศาลไม่มีเสาหลักเมือง มีมานานกว่าร้อยปี เมื่อปี พ.ศ. 2511 กรมศิลปากรได้ออกแบบสร้างศาลหลักเมืองใหม่ เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์มาจากนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเสาไม้สูง 3 เมตร วัดโดยรอบเสาได้ 1 เมตร ทำพิธียกเสาหลักเมืองและสมโภช เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2517
อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงผู้สร้างเมืองท่านแรก ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ทางเข้าเมืองสุรินทร์ทางด้านใต้ ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 0 ที่ถนนสุรินทร์-ปราสาท เป็นบริเวณที่เคยเป็นกำแพงเมืองชั้นในของตัวเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์เป็นรูปหล่อทองเหลืองรมดำ สูง 2.2 เมตร มือขวาถือของ้าว อันเป็นการแสดงถึงความเก่งกล้าสามารถของท่านในการบังคับช้างศึกและเป็นเครื่องแสดงว่าสุรินทร์เป็นเมืองช้างมาแต่ดึกดำบรรพ์ รูปปั้นสะพายดาบคู่อยู่บนหลังอันหมายถึงความเป็นนักรบ ความกล้าหาญอันเป็นคุณสมบัติที่ตกทอดเป็นมรดกของคนสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2528
หลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) วัดบูรพาราม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก ประดิษฐาน ณ วัดบูรพาราม ถนนกรุงศรีใน ตำบลในเมือง อยู่ใกล้กับศาลากลางจังหวัด หลวงพ่อพระชีว์องค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่คาดว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับวัดบูรพาราม เป็นที่เคารพบูชา นับถือ และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของเมืองสุรินทร์ วัดบูรพารามนี้เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี หรือในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุประมาณ 200 ปี เท่าๆ กับอายุเมืองสุรินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520
ห้วยเสนง เป็นอ่างเก็บน้ำของโครงการชลประทาน อยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางถนนสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5-6 แยกซ้ายมือไปทางถนนริมคลองชลประทาน ประมาณ 4 กิโลเมตร ห้วยเสนงนี้เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีสันเขื่อนสูง สันเขื่อนเป็นถนนราดยาง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองสุรินทร์ และภายในที่ทำการชลประทานมีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
วนอุทยานพนมสวาย อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร ถนนราดยางสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ระยะทาง 14 กิโลเมตร และมีทางแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ในท้องตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นภูเขาเตี้ยๆ มียอดเขาอยู่ 3 ยอด ยอดที่ 1 มีชื่อว่ายอดเขาชาย (พนมเปราะ) สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย มีบันไดก่ออิฐถือปูนขึ้นถึงวัด มีสระน้ำกว้างใหญ่และร่มรื่นด้วยต้นไม้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคลปางประทานพร ภปร. ยอดที่ 2 มีชื่อว่ายอดเขาหญิง (พนมสรัย) สูงระดับ 228 เมตร ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานไว้ ยอดที่ 3 มีชื่อว่าเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง จากยอดเขาชายมาประดิษฐานไว้ในศาลา โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2524 และสำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2525 ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นวนอุทยานแล้ว บรรพบุรุษชาวสุรินทร์ถือว่าเป็นสถานที่แสวงบุญ โดยการเดินทางไปขึ้นยอดเขาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันหยุดงานตามประเพณีของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณกาล
ปราสาทเมืองที ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองที ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศรีขรภูมิ เส้นทางหลวงหมายเลข 226 ปราสาทเมืองทีมีลักษณะเป็นปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมก่อด้วยอิฐถือปูน 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 องค์
หมู่บ้านทอผ้าไหม และหมู่บ้านทำเครื่องเงิน ตั้งอยู่ที่ตำบลเขวาสินรินทร์ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในด้านแหล่งทอผ้าไหมพื้นเมืองและแหล่งผลิตเครื่องประดับเงิน ปัจจุบันเป็นแหล่งจำหน่ายหัตถกรรมทั้ง 2 ประเภท นี้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 214 สายสุรินทร์-จอมพระ ถึงกิโลเมตรที่ 14-15 แล้วแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร ถัดจากหมู่บ้านเขวาสินรินทร์ไป มีหมู่บ้านชื่อ “บ้านโชค และบ้านสดอ” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทำเครื่องเงิน และทอผ้าไหม นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านจันรมย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอเมือง ตามถนนสายสุรินทร์-สังขะ ทางหลวงหมายเลข 2077 ประมาณกิโลเมตรที่ 9 ที่หมู่บ้านนี้มีการปลูกหม่อน และเลี้ยงไหมกันเองแล้วนำมาทอเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายและสีแบบโบราณ และยังเป็นหมู่บ้านที่ทำหัตถกรรมเครื่องจักสานอีกด้วย
หมู่บ้านจักรสานบุทม ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองที อำเภอเมือง การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 226 (สุรินทร์-ศรีขรภูมิ) ตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 14-15 ที่หมู่บ้านนี้มีประชากรทั้งหมดประมาณ 70 หลังคาเรือน ในช่วงนอกฤดูทำนาชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะมีอาชีพพิเศษด้วยการสานตะกร้าและภาชนะต่างๆ ที่ทำจากหวายเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปราสาท

ปราสาทบ้านปราสาท ตั้งอยู่บ้านปราสาท หมู่ที่ 3 ตำบลไพล ห่างจากที่ว่าการอำเภอปราสาทประมาณ 5 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ปราสาท) โบราณสถานแห่งนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก สิ่งก่อสร้างเหลืออยู่เพียงกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลง ล้อมรอบบริเวณ มีสระน้ำขนาดใหญ่ 1 สระ ห่างจากตัวกำแพงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 เมตร
ปราสาทบ้านไพล ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 10 กิโลเมตร ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์ สร้างด้วยอิฐขัดตั้งเรียงเป็นแนวเดียวกัน ปราสาทบ้านไพล เป็นศาสนสถานแบบศิลปขอม ที่สร้างถวายแด่พระอิศวร เทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ประกอบด้วยปราสาทอิฐ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานหินแลงอันเดียวกัน มีคูน้ำล้อมรอบ ยกเว้นทางเข้าด้านทิศตะวันอก แม้ว่าศิวลึงค์และทับหลังบางส่วนจะหายไป แต่จากเศษทับหลังที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ทำให้ทราบว่าปราสาทหลังนี้คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16
ปราสาทหินบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลบ้านพลวง ตามเส้นทางสายสุรินทร์-ปราสาท-กาบเชิง ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 32 มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ปราสาทหินบ้านพลวงนี้สร้างขึ้นในศิลปะสมัยบาปวน ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นปราสาทหินขนาดเล็กแต่ฝีมือการสลักหินประณีตงดงามมาก เคยได้รับการบูรณะแล้วจึงสามารถเห็นองค์ปราสาทชัดเจนทั้ง 4 ด้าน ฐานของปราสาทก่อด้วยศิลาแลง ยกพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า องค์ปรางค์ก่อด้วยหินทรายเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีลวดลายที่องค์ปรางค์ ประตู ปราสาท และหน้าบันสลักเป็นรูปเทวดาทรงช้างยืนแท่นอยู่เหนือเกียรติมุข พระหัตถ์ทั้งสองทรงพวงมาลัยริมขอบด้านบนสลักเป็นรูปโยคีนั่งสมาธิเรียงแถว 6 คน หน้าบันสลักเป็นรูปพระกฤษณะยืนอยู่บนเศียรเกียรติมุข พระหัตถ์ซ้ายท้าวพระกฤษฎี พระหัตถ์ขวาทรงแบกวรรธนะ มีรูปโคประกอบและสลักเป็นรูปนาคราช 5 เศียร ข้างละ 1 ตัว องค์ปรางค์แกะสลักเป็นลายดอกไม้ ตอนโคนเป็นรูปทวารบาล ยืนกุมกระบองด้านหน้าทางเข้าปราสาทมีสระข้างละ 1 สระบริเวณรอบองค์ปราสาทได้รับการตกแต่งไว้อย่างสวยงาม

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกาบเชิง

ปราสาทตาเหมือนโต๊จ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากบ้านตาเมียงตำบลปักได ประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 214 อยู่ติดเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นปราสาทที่มีปรางค์ และก่อฐานด้วยหินทรายเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีลักษณะเดียวกันกับปราสาทบ้านพลวง
ปราสาทตาเหมือนธม ตั้งอยู่ถัดจากปราสาทตาเหมือนโต๊จ ไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร ตั้งอยู่ริมลำธารซึ่งไหลมาจากเทือกเขาบรรทัด ปราสาทนี้มีปรางค์ 3 องค์ ทุกเหลี่ยมขององค์ปรางค์สลักเป็นลายดอกไม้ ตอนล่างสลักเป็นเทวรูปยืน ซุ้มประตูสร้างด้วยหินทราย มีลายสลักงดงามมาก มีวิหาร 2 หลัง สร้างด้วยศิลาแลง มีระเบียงคตสร้างด้วยหินทราย มีท่าน้ำริมวิหาร บันไดท่าน้ำสร้างด้วยท่อนศิลาแลง มีสระน้ำอยู่ภายนอกปราสาท ตัวสระน้ำเรียงด้วยท่อนศิลาเป็นชั้นๆ โดยรอบลึกลงไปถึงก้นสระ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอศรีขรภูมิ

ปราสาทศรีขรภูมิ ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง มีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาแลง ปรางค์องค์กลางสูงประมาณ 32 เมตร มีลวดลายสลักหินตามเสาประตูและทับหลังที่งดงาม สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 ได้เคยรับการบูรณะมาแล้วครั้งหนึ่งจากกรมศิลปากร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 226 เส้นทางสายสุรินทร์-ศรีขรภูมิ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 34-35 แล้วแยกซ้ายเข้าไปประมาณ 500 เมตร จึงจะถึงบริเวณองค์ปราสาท
ปราสาทบ้านช่างปี่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทางถนนสายสุรินทร์-ศรีขรภูมิ ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร องค์ปราสาทก่อด้วยศิลาแลงทั้งองค์

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอลำดวน

ปราสาทตะเปียงเตีย (แปลว่า หนองเป็ด) ตั้งอยู่ที่ตำบลโชคเหนือ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2077 ลักษณะปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอดปราสาท 5 ยอด เป็นรูปบัวตูม ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ ลักษณะการก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบลาว สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
เขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบ อยู่ที่ตำบลโชคเหนือ อำเภอลำดวน เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบที่ถือว่าเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดที่ขึ้นในที่ราบสูง เป็นโครงการร่วมระหว่างไทย-เดนมาร์ก มีเนื้อที่ 625 ไร่ มีลักษณะเด่นคือ เป็นสนสองใบที่ขึ้นในที่ราบแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 35 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-สังขะ (ทางหลวงหมายเลข 2077) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสังขะ

ปราสาทภูมิโปน ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ ห่างจากอำเภอสังขะประมาณ 10 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสังขะ-บัวเชด ปราสาทภูมิโปนนี้เป็นปราสาทขอมแบบไพรกเมง ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ลักษณะเป็นปรางค์รูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ ฐานก่อด้วย ศิลาแลง ย่อมุมไม้สิบสอง กว้าง 5.70 เมตร มีประตูเสาและทับหลัง ห่างจากฐานปรางค์มาทางตะวันตก มีฐานวิหาร 1 หลัง และห่างออกไปทางตะวันตกถึง 32 เมตร มีวิหารอีกหลังหนึ่ง ปราสาทภูมิโปนเป็นปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ และเก่าแก่กว่าหลายๆ แห่งของภาคอีสาน
ปราสาทยายเหงา ตั้งอยู่ที่บ้านสังขะ ตำบลสังขะ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมถนนสายโชคชัย-เดชอุดม ตามทางหลวงหมายเลข 24 ลักษณะตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ เป็นรูปปรางค์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองได้อย่างงดงาม

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอจอมพระ

ปราสาทจอมพระ ตั้งอยู่ที่ตำบลจอมพระ ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 26 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 214 (สายสุรินทร์-จอมพระ) แล้วจะมีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ปราสาทจอมพระนี้เป็นปราสาทหินเล็กๆ ก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งประกอบด้วยปรางค์วิหาร และกำแพงตั้งอยู่ในบริเวณวัดปราสาทจอมพระ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ได้ประดิษฐานสร้างขึ้นใหม่อยู่หน้าปราสาทจอมพระ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอท่าตูม

หมู่บ้านช้าง อยู่ที่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ ตามทางหลวงหมายเลข 214 (จอมพระ-ท่าตูม) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 36 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 22 กิโลเมตร ชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นส่วย มีอาชีพในการคล้องช้างป่า ฝึกช้าง และเลี้ยงช้าง ปัจจุบันยังคงมีการเลี้ยงช้าง และการฝึกช้างเพื่อร่วมการแสดงช้างของจังหวัดทุกปี นักท่องเที่ยวสามารถไปชมการฝึกช้างที่หมู่บ้านได้ทุกวันในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
ศูนย์คชศึกษา อยู่ที่หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง อ.ท่าตูม เพื่อเป็นจุดรวมสังคมคนกับช้าง เป็นศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยทางอำเภอท่าตูม และชุมชนหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ได้ร่วมกันจัดการแสดงของช้างไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยเปิดแสดงทุกวันเสาร์ เวลา 09.30-11.00 น.อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ค่าขี่ช้าง 50 บาทต่อ 1 เชือก การเดินทางไปชมการแสดงของช้างสามารถใช้เส้นทางสุรินทร์-ร้อยเอ็ด ทางหลวงหมายเลข 214 ประมาณ 35 กิโลเมตรเลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 22 กิโลเมตร ถึงบ้านตากลาง ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ผู้จัดการศูนย์คชศึกษา หม่บ้านช้าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม โทร.(01) 966-5285 หรือที่กำนัน ตำบลกระโพ อ.ท่าตูม โทร. (044) 512-925 , (01) 966-3845 หรือผู้ใหญ่บ้านตากลาง โทร. (01) 977-4420 (วัฒนา 18/06/40)

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่สุรินทร์