แผนที่น่าน

  • แผนที่น่าน
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

น่าน เป็นจังหวัดชายแดนภาคเหนือ และเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในหุบเขา มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ยาวนาน มีชื่อเรียกในพงศาวดารว่า นันทบุรี เมืองน่านในอดีตเป็นนครรัฐเล็ก ๆ ก่อตัวขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านและแม่น้ำสาขาในหุบเขาทางตะวันออกของภาคเหนือ
สมัยเมืองล่าง-วรนคร
เจ้าหลวงภูคา ปฐมเจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ภูคา

ประวัติศาสตร์เมืองน่านเริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ. 1825 ภายใต้การนำของพญาภูคาและนางพญาจำปาผู้เป็นชายา ซึ่งทั้งสองเป็นชาวเมืองเงินยาง ได้เป็นแกนนำพาผู้คนอพยพมาตั้งศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองล่าง ต่อมาเพี้ยนเป็นเมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่างบริเวณตำบลศิลาเพชร อำเภอปัว เลยไปถึงลำน้ำบั่ว ใกล้ทิวเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว บ้านทุ่งฆ้อง บ้านลอมกลาง ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอยชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน และกำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ เห็นชัดเจนที่สุดคือบริเวณข้างพระธาตุจอมพริกบ้านเสี้ยวมีกำแพงเมืองปรากฏอยู่ซึ่งเป็นปราการทิศใต้ และป้อมปราการทิศเหนือลักษณะที่ปรากฏเป็นสันกำแพงดินบนยอดดอยม่อนหลวง บ้านลอมกลาง เป็นกำแพงเมืองสูงถึง 3 ชั้น ในแต่ละชั้นกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร ขนานไปกับยอดดอยม่อนหลวง ต่อมาพระยาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม 2 คนไปสร้างเมืองใหม่ โดยขุนนุ่นผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองพระบาง) และขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนครหรือเมืองปัว

ภายหลังขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอยู่เมืองย่างและมอบให้ชายาคือนางพญาแม่ท้าวคำปินดูแลรักษาเมืองปัวแทน เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน ในช่วงที่เมืองปัวว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่นั้น พญางำเมืองเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบ้านเมืองในเขตเมืองน่านทั้งหมด นางพญาแม่เท้าคำปินพร้อมด้วยบุตรในครรภ์ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายชื่อว่าเจ้าขุนใส เติบใหญ่ได้เป็นขุนนางรับใช้พญางำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็นเจ้าขุนใสยศ ครองเมืองปราด ภายหลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา และได้รับการสถาปนาเป็นพญาผานอง ขึ้นครองเมืองปัวอย่างอิสระระหว่างปี 1865-1894 รวม 30 ปีจึงพิราลัย
องค์พระบรมธาตุแช่แห้ง อนุสรณ์ความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต

ในสมัยของพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานอง เมืองปัวได้มีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ให้กับพญาการเมืองมาบูชา ณ เมืองปัว ด้วยพญาการเมืองได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาลจึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัวลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า ภูเพียงแช่แห้งในปี พ.ศ. 1902 โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง (มวลสารจากพระธาตุแช่แห้งใช้ทำพระสมเด็จจิตรลดา) หลังจากพญาการเมืองถึงแก่พิราลัย โอรสคือพญาผากองขึ้นครองแทน อยู่มาเกิดปัญหาความแห้งแล้ง จึงย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกบริเวณบ้านห้วยไค้ คือบริเวณที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 1911[5]

ในสมัยเจ้าปู่เข่งครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. 1950-1960 ได้สร้างวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพระธาตุเขาน้อย (มวลสารจากพระธาตุเขาน้อยใช้ทำพระสมเด็จจิตรลดา) วัดพญาภู แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน พญางั่วฬารผาสุมผู้เป็นหลานได้สร้างต่อจนแล้วเสร็จและได้สร้างพระพุทธรูปทองคำปางลีลา ปัจจุบันคือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร
สมัยล้านนา

ในปี พ.ศ. 1993 พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์นครเชียงใหม่ มีความประสงค์จะครอบครองเมืองน่านและแหล่งเกลือบ่อมาง (เขตตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือปัจจุบัน) ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์และหาได้ยากทางภาคเหนือ จึงได้จัดกองทัพเข้ายึดเมืองน่าน พญาอินต๊ะแก่นท้าวไม่อาจต้านทานได้จึงอพยพหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นมา

ตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปีที่เมืองน่านอยู่ในครอบครองของอาณาจักรล้านนา ได้ค่อยๆ ซึมซับเอาศิลปวัฒนธรรมของล้านนามาไว้ในวิถีชีวิต โดยเฉพาะการรับเอาศิลปกรรมทางด้านศาสนา ปรากฏศิลปกรรมแบบล้านนาเข้ามาแทนที่ศิลปกรรมแบบสุโขทัยอย่างชัดเจน เช่น เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดสวนตาล (มวลสารจากวัดสวนตาลใช้ทำพระสมเด็จจิตรลดา) เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ แม้จะเหลือส่วนฐานที่มีช้างล้อมรอบซึ่งเป็นลักษณะศิลปะแบบสุโขทัยอยู่ แต่ส่วนองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงส่วนยอดเปลี่ยนเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาไปจนหมดสิ้น ในระหว่างปี พ.ศ. 2103-2328 เมืองน่านได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่หลายครั้งและต้องเป็นเมืองร้างไร้ผู้คนถึง 2 ครา คือ ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2247-2249 ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2321-2344
สมัยรัตนโกสินทร์

ปี พ.ศ. 2331 เจ้าอัตถวรปัญโญได้ลงมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเพื่อขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา หลังจากขึ้นเจ้าอัตถวรปัญโญก็ยังมิได้เข้าไปอยู่เมืองน่านเสียทีเดียวเนื่องจากเมืองน่านยังรกร้างอยู่ จึงได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ คือ บ้านตึ๊ดบุญเรือง เมืองงั้ว (บริเวณอำเภอนาน้อย) เมืองพ้อ (บริเวณอำเภอเวียงสา) จนกระทั่งหลังจากได้บูรณะซ่อมแซมเมืองน่านพร้อมทั้งได้ขอพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่านในปี พ.ศ. 2344 ในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองน่านมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราช เจ้าผู้ครองนครน่านในชั้นหลังทุกองค์ต่างปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเที่ยงธรรม มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำคัญหลายครั้งหลายคราด้วยกัน นอกจากนี้เจ้าผู้ครองนครน่านต่างได้อุปถัมภ์ค้ำจุนและทำนุบำรุงกิจการพุทธศาสนาในเมืองน่านเป็นสำคัญ ได้สร้างธรรมนิทานชาดก การจารพระไตรปิฎกลงในคัมภีร์ใบลาน นับเป็นคัมภีร์ได้ 335 คัมภีร ์นับเป็นผูกได้ 2,606 ผูก ได้นำไปมอบให้เมืองต่าง ๆ มีเมืองลำปาง เมืองลำพูน เมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงราย และเมืองหลวงพระบาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน อดีตเคยเป็นหอคำของเจ้าผู้ครองนครน่านในอดีต

ในปี พ.ศ. 2446 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ เลื่อนยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น พระเจ้านครน่าน มีพระนามปรากฏตามสุพรรณปัฏว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงศาธิบดี สุริตจารีราชนุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตรสถิตย์ ณ นันทราชวงษ์ เป็นพระเจ้านครน่านองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าน่าน พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้สร้างหอคำ (คุ้มหลวง) ขึ้นแทนหลังเดิมซึ่งสร้างในสมัยของเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ และด้านหน้าหอคำมีข่วงไว้ทำหน้าที่คล้ายสนามหลวง สำหรับจัดงานพิธีต่าง ๆ ตลอดจนเป็นที่จัดขบวนทัพออกสู้ศึก จัดขบวนนำเสด็จ หรือขบวนรับแขกเมืองสำคัญ และในปี พ.ศ. 2474 เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านถึงแก่พิราลัย ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครก็ถูกยุบเลิกตั้งแต่นั้นมา ส่วนหอคำได้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่าน จนปี พ.ศ. 2511 จังหวัดน่านได้มอบหอคำให้กรมศิลปากร ใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่านจนกระทั่งปัจจุบัน

ในยุคประชาธิปไตย จังหวัดน่านยังมีตำนานการเป็นแหล่งกบดานของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะที่อำเภอทุ่งช้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอีกแห่งหนึ่ง โดยมีอนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งช้างเป็นพยานช่วยเตือนความจำให้แก่ชนรุ่นหลัง
งาช้างดำ

แบ่งการปกครองแบ่งออกเป็น 15 อำเภอ 99 ตำบล 848 หมู่บ้าน ได้แก่

อำเภอเมืองน่าน อำเภอแม่จริม อำเภอบ้านหลวง อำเภอนาน้อย อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอเวียงสา อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง อำเภอนาหมื่น อำเภอสันติสุข อำเภอบ่อเกลือ อำเภอสองแคว อำเภอภูเพียง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

น่านอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 668 กิโลเมตร 

มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ จดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทิศตะวันออก
ทิศใต้ จดจังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก จดจังหวัดแพร่ พะเยา และเชียงราย

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ

  • อำเภอเวียงสา 25 กิโลเมตร
  • อำเภอแม่จริม 38 กิโลเมตร
  • อำเภอบ้านหลวง 45 กิโลเมตร
  • อำเภอปัว 60 กิโลเมตร
  • อำเภอนาหมื่น 80 กิโลเมตร
  • อำเภอบ่อเกลือ 133 กิโลเมตร
  • อำเภอสันติสุข 32 กิโลเมตร
  • อำเภอท่าวังผา 41 กิโลเมตร
  • อำเภอนาน้อย 60 กิโลเมตร
  • อำเภอเชียงกลาง 76 กิโลเมตร
  • อำเภอทุ่งช้าง 86 กิโลเมตร
  • อำเภอสองแคว 75 กิโลเมตร

ระยะทางทางจากจังหวัดน่านไปยังจังหวัดใกล้เคียง
จังหวัดพะเยา 176 กิโลเมตร
จังหวัดเชียงราย 270 กิโลเมตร
จังหวัดเชียงใหม่ 318 กิโลเมตร
จังหวัดแพร่ 118 กิโลเมตร
อำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) 142 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-น่าน

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 32 มาจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นใช้เส้นทาง 117 มาจนถึงจังหวัดพิษณุโลก และจากจังหวัดพิษณุโลกให้ใช้เส้นทางหมายเลข 11 โดยจะผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากเด่นชัยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านจังหวัดแพร่ไปจนถึงตัวจังหวัดน่าน รวมระยะทางประมาณ 668 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสาร สถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศไปจังหวัดน่านทุกวัน วันละหลายเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 ส่วนรถโดยสารของบริษัทเอกชนติดต่อได้ที่บริษัทแพร่ทัวร์ โทร. 245-2369, 245-1679 และบริษัทถาวรฟาร์ม โทร. 282-3341-5

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) จากอำเภอเด่นชัยสามารถต่อรถโดยสารประจำทางมาลงที่จังหวัดน่านได้

ทางเครื่องบิน

ทางเครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด มีเที่ยวบินไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ-น่าน ติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด กรุงเทพฯ โทร. 02-356-1111 และที่จังหวัดน่าน โทร. (054) 710377, 710498 (ท่าอากาศยานน่าน โทร. 771-729)

   งานแข่งเรือประเพณีฉลองงาช้างดำจังหวัดน่าน ประเพณีแข่งเรือเป็นประเพณีที่สืบ-ทอดกันมานานนิยมจัดให้มีขึ้นในงานประเพณีตานก๋วยสลาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 ได้จัดให้มีการแข่งเรือในงานทอดกฐินสามัคคีสืบทอดมาจนถึงงานทอดกฐินพระราชทานในปัจจุบัน ซึ่งจะมีในราวกลางเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายนทุกปี ภายหลังทางจังหวัดได้ผนวกงานสมโภชงาช้างดำอันเป็นสมบัติล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่านเข้าไปด้วย เรือที่เข้าแข่งแต่ละลำใช้ไม้ซุงใหญ่ๆ เอามาขุดเป็นเรือ ตกแต่งหัวเรือท้ายเรือเป็นรูปหัวนาคและหางนาคอย่างสวยงาม ประเภทการแข่งขัน มีทั้งเรือใหญ่ เรือกลาง และเรือเล็ก รวมทั้งประเภทสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการประกวดกองเชียร์อีกด้วย นับเป็นประเพณีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

 งานเทศกาลส้มสีทองและงานกาชาดจังหวัดน่าน ส้มสีทองเป็นผลผลิตทางการเกษตร ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน พันธุ์เดียวกับส้มเขียวหวาน แต่ส้มสีทองจะมีเปลือกสีเหลืองทองสวยงาม และรสชาติหวานหอมอร่อยกว่า เป็นเพราะอิทธิพลของดินฟ้าอากาศคืออุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนต่างกัน 8 องศา เป็นเหตุให้สาร “คาร์ทีนอยพิคเมนท์” ในเปลือกส้มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองดังกล่าว ตามประวัติของการปลูกส้มสีทองมีอยู่ว่า ในปี พ.ศ. 2468 “หมื่นระกำ” ผู้คุมเรือนจำจังหวัดน่าน ได้นำส้มจีนเข้ามาปลูกก่อนเป็นครั้งแรก และในเวลาต่อมาได้มีการนำส้มพันธุ์ต่างๆ มาปลูกที่เมืองน่านด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 อาจารย์คำรพ นุชนิยม อดีตศึกษาธิการจังหวัดน่าน ได้ริเริ่มการปลูกส้มเขียวหวานด้วยการปักกิ่งตอนจนกระทั่งได้แพร่หลายมาตราบเท่าทุกวันนี้ ทุกๆ ปี ราวกลางเดือนธันวาคม ได้กำหนดจัดงานเทศกาลส้มสีทองและงานกาชาดจังหวัดน่านขึ้น ณ สนามกีฬาจังหวัดน่าน ซึ่งในงานจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง ได้แก่ การประกวดขบวนรถส้มสีทอง การออกร้านนิทรรศการ การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมจากอำเภอต่างๆ และจากแม่ฮ่อน-หงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การแสดงศิลปะพื้นเมืองและมหรสพต่างๆ อีกมากมาย

 

 

เขตตัวเมือง

วัดพญาวัด ตั้งอยู่ที่บ้านพญาวัด ตำบลดู่ใต้ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 101 ก่อนถึงตัวเมืองน่าน มีทางแยกซ้ายมือเข้าทางหลวงหมายเลข 1025 เข้าไปประมาณ 300 เมตร วัดพญาวัดนับเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่และสำคัญของจังหวัดน่านแห่งหนึ่ง มี เจดีย์จามเทวี หรือ พระธาตุวัดพญาวัด ซึ่งเป็นศิลปะผสมระหว่างล้านนา-ล้านช้างและศิลปะน่านและพระพุทธรูปพระเจ้าสายฝน ประดิษ ฐานอยู่ภายในพระวิหาร ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและมาขอฝนเมื่อเกิดความแห้งแล้งฝนไม่ตกตามฤดูกาล

วัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่ที่ตำบลไชยสถาน อยู่ในเส้นทางเดียวกันกับวัดพญาวัด ตรงหลักกิโลเมตรที่ 2 สันนิษฐานว่ามีอายุใกล้เคียงกับพระธาตุแช่แห้ง จากบนยอดเขาจะมองเห็นทิวทัศน์ด้านล่างและวัดพระธาตุแช่แห้งได้อย่างชัดเจน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ตั้งอยู่ภายในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่เรียกว่า “หอคำ” โดยเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน สร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อ พ.ศ. 2446 ลักษณะตัวอาคารโอ่โถงงดงามก่ออิฐถือปูนแข็งแรง แต่ตกแต่งให้อ่อนช้อยสวยงามด้วยลายลูกไม้ นับเป็นสถาปัตยกรรมก่อสร้างที่ดีเด่นแห่งหนึ่งของเมืองไทย นอกจากนั้นบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ด้วย กรมศิลปากรได้รับมอบอาคารหอคำเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่านเมื่อปี พ.ศ.2517 แล้วจึงนำโบราณวัตถุ ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยาประจำท้องถิ่นมาจัดแสดงให้ชมอย่างมีระบบและระเบียบสวยงาม คือ ส่วนที่เป็นห้องจัดแสดงชั้นล่าง จัดแสดงชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับล้านนาเช่น ลักษณะอาคารบ้านเรือนและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ ที่สวยงามมาก การสาธิตงานประเพณีและความเชื่อต่างๆ เช่น การแข่งเรือจุดบ้องไฟสงกรานต์ และพิธีสืบชะตา เป็นต้น ที่น่าสนใจในการจัดแสดงห้องโถงข้างล่างนี้ ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และเครื่องใช้ของชนกลุ่มน้อยในเมืองน่าน รวม 5 เผ่าด้วยกัน คือ ไทยลื้อ แม้ว เย้า ถิ่น และผีตองเหลือง ส่วนบริเวณห้องจัดแสดงชั้นบน เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน การสร้างเมืองและโบราณสถานที่สำคัญ รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วยชามที่ค้นพบในเมืองน่านที่สำคัญที่สุดได้แก่ ห้องเก็บ “งาช้างดำ” ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุคู่เมืองน่าน ตามประวัติกล่าวว่า ได้มาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดินพร้อมกับหอคำ ลักษณะของงาช้างดำนี้เป็นงาปลีเปลือกสีน้ำตาลเข้ม ขนาดความยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนัก ประมาณ 18 กิโลกรัม ส่วนปลายมนมีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยกำกับไว้ว่า “กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน” หรือประมาณ 18 กิโลกรัม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่านเปิดให้ประชาชน และนัก-ท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยเสียค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทยคนละ 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. 054-710561

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง หลักฐานตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ที่ค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวง เมื่อ พ.ศ. 2091 วัดนี้มีเจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์มีรูปช้างโผล่ออกมาครึ่งตัว นอกจากนั้นวัดช้างค้ำยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลาชื่อ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65% สูง 145 เซนติเมตร ยอดพระโมฬี ทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2524 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ภูคา เป็นผู้สร้างเมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 ประดิษฐานอยู่ที่กุฏิเจ้าอาวาส

วัดภูมินทร์ อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน เป็นวัดที่มีลักษณะแปลกกว่าวัดอื่นๆ คือ โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน ประตูไม้ทั้งสี่ทิศแกะสลักลวดลายงดงามโดยฝีมือช่างล้านนาไทย นอกจากนี้ ฝาผนังภายในวิหารยังมีจิตรกรรมฝาผนังแสดงถึงชีวิต และวัฒนธรรมของยุคสมัยที่ผ่านมา ตามพงศาวดารของเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่าน ได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่า เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตร พรหมมินทร์ ผู้สร้างวัด แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ดังกล่าว ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ก็คือ เป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุขพระประธานจตุรพักตร์ นาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัวนาค พระอุโบสถจตุรมุขนี้ กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย ตรงใจกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกด้านประตูทั้งสี่ทิศ หันเบื้องพระปฤษฎางค์ชนกันประทับนั่งบนฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผู้ที่ไปชมความงามของพระอุโบสถนี้ไม่ว่าจะเดินขึ้นบันไดทิศไหน ก็จะพบพระพักตร์พระพุทธรูปทุกด้านไป วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2410 หลังจากที่สร้างมาได้ 271 ปี โดยพระเจ้า อนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน โปรดให้ซ่อมแซมเป็นครั้งใหญ่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2418 ใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 9 ปี กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังคงจะวาดในสมัยที่ซ่อมแซมครั้งใหญ่นี้ สำหรับช่างผู้วาดนั้นไม่ปรากฏประวัติ ทราบแต่ว่าเป็นศิลปะกรรมแบบชาวไทยลื้อ งานจิตรกรรมฝาผนัง แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ แสดงเรื่องชาดกวิถี ชีวิตตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ได้แก่ การแต่งกายคล้ายผ้าซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ การติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเลื่องชื่อไปทั่วประเทศ นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ บานประตูแกะสลักทั้งสี่ทิศแกะสลักลึกเป็น 3 ชั้น บนไม้สักทองแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ความหนาของไม้ประมาณ 4 นิ้ว สลักเป็นลวดลายเครือเถาที่มีทั้งดอกและผลระย้าย้อย รวมทั้งสัตว์นานาชนิดน่าชมอย่างยิ่ง

วัดสวนตาล ตั้งอยู่ที่ตำบลในเวียง สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดี เมื่อ พ.ศ.1770 เจดีย์มีสัญฐานงดงาม ชั้นล่างมีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ ภายในวัดมีพระพุทธรูปที่สำคัญคือ พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าดิโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1993 ลักษณะเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ปางมารวิชัยประดิษฐานในวิหารสวนตาล หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว มีงานนมัสการและสรงน้ำเป็นประจำทุกปี ระหว่างเทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืน

พระบรมธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงตึ๊ด จากตัวเมืองข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามเส้นทางสายน่าน-แม่จริม หรือทางหลวงหมายเลข 1168 ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของจังหวัดน่าน มีอายุราว 600 ปี ประดิษฐานอยู่ที่วัดแช่แห้งตามพงศาวดารเมืองน่าน กล่าวว่าพญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัยระหว่างปี พ.ศ. 1897-1901 ปัจจุบันองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 22.5 เมตร สูง 55.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหรือทองจังโก ลงรักปิดทองตลอดทั้งองค์ พระบรมธาตุแช่แห้งเป็นศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน ที่มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก ทั้งประชาชนในตัวเมืองและจังหวัดใกล้เคียง และได้จัดให้มีงานนมัสการพระบรมธาตุเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 6 ทางเหนือ โดยนับทางจันทรคติ ซึ่งจะอยู่ในราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรือ ประมาณเดือนมีนาคมทุกปี

วนอุทยานถ้ำผาตูบ อยู่ที่ตำบลผาสิงห์ ห่างจากที่ตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 น่าน-ปัว-ทุ่งช้าง ตรงหลักกิโลเมตรที่ 9-10 การเดินทางมีความสะดวกทุกฤดูกาล ถ้ำผาตูบนี้ประกอบด้วยถ้ำหลายถ้ำในภูเขาหินหลายลูก แต่มีถ้ำสำคัญที่ควรชมอยู่ 2 ถ้ำ คือ ถ้ำพระ และถ้ำบ่อน้ำทิพย์ นอกจากนี้ยังมีหินงอก หินย้อย พันธุ์ไม้ต่างๆ และชะง่อนผา เหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานถ้ำผาตูบ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2521 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 528 ไร่

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนาน้อย

อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่ประมาณ 934 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 7 ตำบล 3 อำเภอ คือ ตำบลส้าน และตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา ตำบลศรีสะเกษ ตำบลเชียงทอง และตำบลสถาน อำเภอนาน้อย ตำบลบ่อแก้ว และตำบลนาทะนุง อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ ผาชู้ หรือ ผาเชิดชู อยู่ห่างจากตัวอำเภอนาน้อย 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายนาน้อย-ปางไฮ เส้นทางหลวงหมายเลข 1083 ตามประวัติเล่าว่า ได้มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเกิดรักกัน โดยที่ครอบครัวของฝ่ายหญิงมีฐานะดีกว่าฝ่ายชายจึงถูกกีดกันจากทางญาติของผู้ใหญ่ ด้วยความรักกัน ฝ่ายหญิงจึงมา ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน แล้วได้กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายที่หน้าผาตรงนั้น เมื่อฝ่ายชายทราบเรื่องจึงตามมาที่หน้าผาแห่งนี้ และได้พบศพของหญิงสาว จึงเสียใจและกระโดดหน้าผาตายตามกัน หน้าผาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาชู้” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา “ผาเชิดชู” ได้มีการติดตั้งเสาธงชาติไว้ ณ ยอดผา และมีเชือกชักธงชาติอยู่เบื้องล่างของหน้าผา นับเป็นสายธงชาติที่ยาวที่สุดในโลก ที่บริเวณผาเชิดชู มีบ้านพักรับรองสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะค้างคืนนักท่องเที่ยวต้องเตรียมอาหารไปเอง รายละเอียดติดต่อได้ที่ศูนย์พัฒนาต้นน้ำห้วยสามสบ ตำบลศรีสะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 55150 และที่หน่วยพัฒนาปรับปรุงต้นน้ำ (เขาน้อย) อำเภอเมือง จังหวัดน่าน 57000 อุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดสอบถามได้ที่ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 55150 หรือที่ อุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 579-5734

เสาดินนาน้อย หรือฮ่อมจ๊อม อยู่ที่ตำบลเชียงของ จากอำเภอนาน้อย มีทางแยกไปตามเส้นทางหมายเลข 1083 ประมาณ 10 กิโลเมตร ฮ่อมจ๊อม มีลักษณะเป็นเนินดิน ซึ่งถูกกัดเซาะจนสึกกร่อน มีลักษณะแปลกตาคล้ายกับ “แพะเมืองผี” ที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่ธรรมชาติสร้างขึ้นอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ปรากฏแท่งดินผสมหินลูกรังรูปร่างคล้ายเจดีย์ และปราสาท หรือจินตนาการอื่นๆ อยู่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนาหมื่น

บ้านปากนาย ห่างจากตัวจังหวัด 96 กิโลเมตร ใช้เส้นทางน่าน-เวียงสา-นาน้อย จากอำเภอนาน้อย จะมีทางแยกไปถึงอำเภอนาหมื่นราว 20 กิโลเมตร จากนั้นจะเป็นทางลูกรังคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาอีกประมาณ 22 กิโลเมตร จึงถึงบ้านปากนาย ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงริมทะเลสาบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามโอบบริเวณด้วยทิวเขาเขียวขจีโดยรอบ มีเรือนแพ ซึ่งเปิดเป็นร้านอาหาร และบางแห่งทำเป็นห้องพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จากบ้านปากนายสามารถเช่าเรือล่องไปตามลำน้ำน่านสู่อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีทิวทัศน์เป็นป่าเขาสวยงาม เกาะแก่ง เรือนแพ ชาวประมง มีปลาน้ำจืด เช่น ปลาบู่ ปลาเทโพ และปลาสวาย เป็นต้น

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านหลวง

ดอยผาจิ การเดินทางจากน่านใช้ทางหลวงหมายเลข 1091 เป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เมื่อถึงอำเภอบ้านหลวงให้ใช้เส้นทางสาย 1172 บ้านปี้เหมือนสู่ดอยผาจิ ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ดอยผาจิ เป็นดอยที่มีความสวยงาม มีธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ทั้งน้ำตก ต้นไม้นานาพันธุ์ เป็นเขตพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งฐานกำลังของฝ่ายตรงข้าม ปัจจุบันยังมีอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ท่อประปา อยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง-เย้าเรียงรายอยู่

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอท่าวังผา

หมู่บ้านไทยลื้อหนองบัว อยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา จากตัวเมืองน่าน ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1080 เป็นระยะทาง 41 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอท่าวังผามีทางแยกซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่มีฝีมือในการทอผ้าพื้นเมืองประจำเผ่าที่สวยงาม ที่เรียกว่า “ผ้า ลายน้ำไหล” ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน นับเป็นหัตถกรรมที่ตกทอดมาหลายยุคหลายสมัย สิ่งที่เป็นหลักฐานเด่นชัดก็คือ ตามใต้ถุนบ้านที่ยกพื้นสูงจะมีเครื่องทอผ้าสำหรับไว้ใช้เอง ส่วนที่เหลือจะนำออกจำหน่ายเป็นสินค้าพื้นเมือง เช่น ผ้านุ่ง ผ้าพันคอ กระโปรง เสื้อ เป็นต้น

วัดหนองบัว ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองบัว เป็นวัดที่สร้างด้วยฝีมือช่างไทยลื้อ ซึ่งได้โยกย้ายถิ่นฐานมาจากแคว้นสิบสองปันนา ตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ภายในวิหารวัดหนองบัวมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม มีเอกลักษณ์ซึ่งแตกต่างไปจากวัดอื่น ๆ ตามประวัติกล่าวว่าภาพเหล่านี้เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือชาวไทยลื้อเมืองน่าน ที่มีคุณค่าทางศิลปและความสมบูรณ์ของภาพ ใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ในเมืองน่าน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปัว

หมู่บ้านพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาป่ากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลศิลาแลง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 69 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าแม้ว เย้า และถิ่น ซึ่งมีผลมาจากการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในจังหวัดน่านของทางราชการ เมื่อปี พ.ศ. 2511 การจัดสร้างจะแยกกันอยู่ตามลักษณะเผ่า และยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ มีการผลิตงานหัตถกรรมที่สวยงาม ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถชมและเลือกซื้อได้

น้ำตกศิลาเพชร ตั้งอยู่ที่บ้านป่าตอง ตำบลศิลาเพชร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 56 กิโลเมตร บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ปัว ก่อนถึงอำเภอปัว ตรงหลักกิโลเมตรที่ 41-42 มีทางแยกขวามือเข้าทางหลวงหมายเลข 1170 ไปประมาณ 14 กิโลเมตร น้ำตกศิลาเพชรเป็นน้ำตกที่ตกลงมาจากหน้าผา มีหลายชั้นลดหลั่นกันไป ทางด้านล่างช่วงปลายน้ำตกเนินฝายกันน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อยู่ห่างจากจังหวัดน่าน ประมาณ 85 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1080 สายน่าน-ปัว ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จากนั้นใช้เส้นทางสายปัว-บ่อเกลือ อีกประมาณ 25 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา (กิโลเมตรที่ 24-25) อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นแหล่งกำหนิดของห้วยน้ำลำธารอันหลากหลายที่นำไปสู่ต้นกำเนิดแม่น้ำน่านที่มีความสำคัญทั้งทางธรรมชาตินิเวศวิทยา และประวัติศาสตร์โบราณที่เล่าถึงตำนานของคนเมืองน่านที่อาศัยอยู่นับแต่บรรพกาล อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,980 เมตร หรือประมาณ 5,300 ฟุต มีพื้นที่ประมาณ 1,680 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,050,000 ไร่ ครอบคลุมท้องที่ อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอแม่จริม อำเภอท่าวังผา อำเภอสันติสุข และอำเภอบ่อเกลือ ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน สลับซับซ้อนสวยงามมาก มีสภาพป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าสน ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าปาล์มดงดิบ อันอุดมสมบูรณ์ มีถ้ำ น้ำตก และทิวทัศน์ สิ่งที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติดอยภูคาที่สำคัญ คือ ต้นชมพูภูคา ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่หายากที่สุดพันธุ์หนึ่ง มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า ไบร์ทชไนเดอร์ซีเนนซีส คาดว่าได้สูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งมีการค้นพบอีกครั้งในป่าดอยภูคาแห่งนี้ ดร.ธวัชชัย สันติสุข หัวหน้าฝ่ายพฤกษศาสตร์ กองบำรุง กรมป่าไม้ ลักษณะของดอกชมพูภูคา กลีบดอกด้านนอกมีสีชมพูจางขาว และกลีบดอกด้านในมีสีชมพูลายเส้นสีม่วง ชูช่อเป็นพวงใหญ่ ตั้งขึ้นดูสวยงาม จึงได้มีการตั้งชื่อตามสีของดอก และสถานที่ค้นพบว่าดอก ชมพูภูคา นับแต่นั้นมา ชมพูภูคาเป็นพืชใบประกอบ มีความยาว 30-70 เซนติเมตร ใบย่อย 4-9 คู่ ใบรูปไข่ผสมปลายดอกแหลม ฐานใบมนใต้ใบมีขน ดอกสีขาวอมชมพู กลีบดอก 5 กลีบ แยกออกจากกันเป็นรูปไข่ คว่ำโค้งงอที่ฐานหุ้มด้วยกลีบดอกรองอีกชั้นจนเกือบกลม มีความยาว 2-3.6 เซนติเมตร ขณะนี้กลุ่มต้นชมพูภูคาที่สมบูรณ์ที่สุด มีอายุราว 20-30 ปี อยู่รวมกัน 6 ต้นใหญ่ ออกดอกเต็มต้นทุกปี รวมถึงมีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ บริเวณโคนต้นมีต้นกล้าเล็กๆ เต็มไปหมด ถือว่าเป็นแหล่งต้นชมพูภูคาที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งในอุทยานนี้ นอกจากนี้ บนดอยภูคายังมีทิวทัศน์และธรรมชาติที่สวยงามอีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกภูฟ้า น้ำตกผาขี้นก น้ำตกแม่จริม น้ำตกต้นตอง มีถ้ำขนาดใหญ่หลายแห่งเช่น ถ้ำผาฆ้อง ถ้ำหลวง ถ้ำผาแดง มีธารน้ำลอด ลานหินและหน้าผา รวมทั้งป่าปาล์มดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีบ้านพัก และสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมป่าไม้ จังหวัดน่าน โทร. (054) 710136, 710815 หรือที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคา โทร. 01-910-9467, 472-6713

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอทุ่งช้าง

อนุสาวรีย์วีรกรรมทุ่งช้าง เป็นอนุสาวรีย์พลเรือน ตำรวจ ทหาร ผู้พลีชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยในเขตจังหวัดน่านจากภัยคอมมิวนิสต์ ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี ตั้งอยู่ริมทางหลวงสายน่าน-ทุ่งช้าง (หมายเลข 1080) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 84 บนเนินเขาเตี้ยๆ ท่ามกลางหุบเขาน้อยใหญ่ บริเวณใกล้เคียงจัดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีสระน้ำและดอกไม้นานาพันธุ์ อนุสาวรีย์วีรกรรมแห่งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่น่าน