แผนที่ลำปาง

  • แผนที่ลำปาง
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ลำปาง เป็นจังหวัดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย มีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น ศรีดอนชัย ลัมภะกัมปะนคร เขลางค์นคร กุกกุฎนคร (นครไก่) เป็นต้น สัญลักษณ์ของจังหวัด คือ ไก่ขาวในมณฑป มีเนื้อที่ทั้งหมด 12,534 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นที่ดอนและป่าเขา ตอนเหนือเป็นที่ราบแล้วค่อยๆ ลาดต่ำลงมา ทางใต้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง เทือกเขาสำคัญคือ เทือกเขาผีซึ่งเป็นต้นกำเนิด ของแม่น้ำวัง และเทือกเขาขุนตาล ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างลำปาง-ลำพูน มีอุโมงค์ให้รถไฟลอดผ่านเป็น ระยะทาง 1 กิโลเมตรเศษ

ลำปางเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในล้านนา เป็นจุดศูนย์รวมทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรมล้านนาอันโดดเด่น สมัยกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรล้านนารวมไปถึงนครลำปางได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ามานานนับสองร้อยปี ดังนั้นสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม โบราณสถานต่าง ๆ ในเมืองลำปางจึงได้รับอิทธิพลของศิลปะพม่าเห็นได้อย่างชัดเจน อาทิ วัดศรีชุม วัดพระแก้วดอนเต้าฯ ช่วงสมัยพม่าปกครองอาณาจักรล้านนา รวมไปถึงเมืองลำปางไม่ได้สร้างคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง มิหนำซ้ำยังกระทำการย่ำยีข่มเหงชาวบ้านจนทำให้ชาวเมืองเกลียดชังไปทั่ว จนกระทั่ง ได้เกิดวีรบุรุษผู้กล้าแห่งบ้านปกยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) นามว่า เจ้าพ่อทิพย์ช้าง ท่านได้รวบรวมชาวเมืองขับไล่พม่าพ้นเมืองลำปางได้สำเร็จ พร้อมกันนี้ชาวเมืองจึงพากันสถาปนาท่านขึ้นเป็นเจ้าเมืองลำปาง มีพระนามว่า พญาสุวฤๅไชยสงคราม เวลานั้นเมืองลำปางเป็นเมืองเดียวในล้านนา ที่ปราศจากอำนาจปกครองจากพม่า กาลเวลาต่อมาลูกหลานของท่านได้กอบกู้เอกราชขับไล่พม่าจากแผ่นดินล้านนา และได้เป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่ ลำพูน น่าน และต้นตระกูลของท่านมีนามปรากฏในพงศาวดารว่า ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิรูประบอบการปกครองเป็นระบอบมณฑล เมืองลำปางขึ้นอยู่กับมณฑลพายัพ (เมืองเชียงใหม่) และมณฑลมหาราษฎร์ (เมืองเชียงราย) ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนแปลงเป็นจังหวัด เมืองลำปางจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อเชียงรายและพะเยา
ทิศใต้ ติดต่อสุโขทัย และตาก
ทิศตะวันออก ติดต่อแพร่
ทิศตะวันตก ติดต่อเชียงใหม่ และลำพูน
การปกครองแบ่งออกเป็น 13 อำเภอ 100 ตำบล 855 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ อำเภอเกาะคา อำเภอเสริมงาม อำเภองาว อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภอแม่ทะ อำเภอสบปราบ อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองปาน

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอต่างๆ

อำเภอวังหนือ 107 กิโลเมตร ขึ้นรถที่ ถ. ทิพวรรณ แยกซอยข้าง ธ. นครหลวงไทย
อ. แจ้ห่ม 52 กิโลเมตร ขึ้นรถที่ ถ. ทิพวรรณ แยกซอยข้าง ธ. นครหลวงไทย
อ. งาว 83 กิโลเมตร ขึ้นรถที่ตรงข้ามวิทยาลัยอาชีวศึกษา
อ. เกาะคา 15 กิโลเมตร ขึ้นรถที่ ถ. รอบเวียง ใกล้ ธ. กสิกรไทย -
อ. แม่ทะ 27 กิโลเมตร ขึ้นรถที่สี่แยกศรีชุม ถ. ทิพวรรณ
อ. ห้างฉัตร 16 กิโลเมตร ขึ้นรถที่ห้าแยกหอนาฬิกา
อ. เสริมงาม 39 กิโลเมตร ขึ้นรถที่ข้างโรงเรียนบุญวาทย์ ถ. สนามบิน
อ. แม่เมาะ 40 กิโลเมตร ขึ้นรถที่สี่แยกร้านขายยาไทยโอสถ ถ. ทิพวรรณ
อ. เถิน 96 กิโลเมตร ขึ้นรถที่ตรงข้ามศาลจังหวัดด้านประตูชัย
อ. สบปราบ 54 กิโลเมตร ขึ้นรถที่ตรงข้ามศาลจังหวัดด้านประตูชัย
อ. แม่พริก 125 กิโลเมตร ขึ้นรถที่ตรงข้ามสถานีตำรวจภูธร ถ. บุญวาทย์

การคมนาคมระหว่างจังหวัด จากสถานีขนส่งลำปางมีรถโดยสารธรรมดาและปรับอากาศไปยังจังหวัดเชียงราย แพร่ และน่าน นอกจากนี้ยังมีรถจากเชียงใหม่วิ่งผ่านลำปาง ไปยัง

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ลำปาง

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 52 แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านสิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านกำแพงเพชร ตาก ตรงเข้าสู่จังหวัดลำปาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 599 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง หรือจะใช้เส้นทางสายใหม่จากพิษณุโลกเข้าเด่นชัยและลำปางได้

ทางรถประจำทาง

รถโดยสาร บริษัทขนส่ง จำกัด จัดบริการรถโดยสารธรรมดาและปรับอากาศ ไปลำปางทุกวัน รายละเอียดติดต่อที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 และที่สถานีขนส่งลำปาง โทร. (054) 227410 บริษัททัวร์ที่บริการรถประจำทางไป-กลับ ระหว่างกรุงเทพฯ-ลำปาง ได้แก่ บริษัทวิริยะทัวร์ กรุงเทพฯ โทร. 936-2827 ลำปาง โทร. (054) 217373 นิววิริยะ กรุงเทพฯ โทร. 936-2205-6 ลำปาง โทร. (054) 225899

สาย 91 กรุงเทพ-ลำปาง (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส. สมบัติทัวร์ สยามเฟิร์สทัวร์ พรพิริยะทัวร์ นิววิริยะทัวร์
สาย 1 กรุงเทพ-เชียงใหม่ (กรุงเทพ-นครสวรรค์-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ โชครุ่งทวีทัวร์
สาย 13 กรุงเทพ-ฝาง-บ้านท่าตอน (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-เชียงใหม่-แม่ริม-ฝาง-แม่อาย-บ้านท่าตอน) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส. นิววิริยะทัวร์
สาย 18 กรุงเทพ-เชียงใหม่ (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส. สมบัติทัวร์ สยามเฟิร์สทัวร์ พรพิริยะทัวร์ นิววิริยะทัวร์ เชิดชัยทัวร์
สาย 924 กรุงเทพ-ลำพูน (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-ลำพูน) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส. เชิดชัยทัวร์
สาย 964 กรุงเทพ-ดอยเต่า-จอมทอง (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-เถิน-ลี้-ดอยเต่า-จอมทอง) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส.
สาย 9911 กรุงเทพ-ลำพูน (ข) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-เถิน-ลี้-ลำพูน) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ บขส.
สาย 90 กรุงเทพ-เชียงราย (ก) (กรุงเทพ-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สมบัติทัวร์ สยามเฟิร์สทัวร์ เชิดชัยทัวร์ หนานคำทัวร์
สาย 659 ระยอง-พัทยา-เชียงใหม่ (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-สระบุรี-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยแอร์
สาย 660 ระยอง-เชียงราย-แม่สาย (รถด่วนพิเศษ VIP) (ระยอง-พัทยา-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-สระบุรี-นครสวรรค์-ตาก-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย-แม่สาย) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยแอร์
สาย 587 อุบลราชธานี-เชียงใหม่ (อุบลฯ-ศรีษะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์-บัวใหญ่-ชัยภูมิ-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยแอร์
สาย 636 เชียงใหม่-อุดรธานี (อุดรธานี-หนองบัวลำภู-วังสะพุง-เลย-ภูเรือ-ด่านซ้าย-นครไทย-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ จักรพงษ์ทัวร์
สาย 155 พิษณุโลก-เชียงใหม่ (สายเก่า) (พิษณุโลก-สุโขทัย-ตาก-เถิน-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์ ศรีทะวงค์ทัวร์
สาย 132 พิษณุโลก-เชียงใหม่ (สายเก่า) (พิษณุโลก-สุโขทัย-สวรรคโลก-ทุ่งเสลี่ยม-เถิน-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
สาย 623 พิษณุโลก-เชียงใหม่ (สายใหม่) (พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ สุโขทัยวินทัวร์
สาย 114 นครสวรรค์-เชียงใหม่ (นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครสวรรค์ยานยนต์ (ถาวรฟาร์มทัวร์)
สาย 175 ขอนแก่น-เชียงใหม่ (สายเก่า) (ขอนแก่น-ชุมแพ-หล่มสัก-พิษณุโลก-สุโขทัย-ตาก-เถิน-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ อีสานทัวร์ ภูหลวงทรานสปอร์ตทัวร์
สาย 633 ขอนแก่น-เชียงใหม่ (สายใหม่) (ขอนแก่น-ชุมแพ-หล่มสัก-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ อีสานทัวร์ สมบัติทัวร์
สาย 635 นครราชสีมา-เชียงใหม่ (นครราชสีมา-สีคิ้ว-โคกสำโรง-ตากฟ้า-เขาทราย-วังทอง-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ นครชัยทัวร์
สาย 779 ภูเก็ต-เชียงใหม่ (ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี-ชุมพร-ประจวบฯ-หัวหิน-ชะอำ-เพชรบุรี-นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่) บริษัทผู้เดินรถ ได้แก่ ไทยพัฒนนกิจขนส่ง จำกัด
สาย 148 เชียงใหม่-ลำปาง-เชียงราย (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
สาย 149 เชียงใหม่-ลำปาง-แม่สาย (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย-แม่จัน-แม่สาย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
สาย 1661 เชียงใหม่-ลำปาง-เชียงราย-สามเหลี่ยมทองคำ (ข) (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-งาว-พะเยา-พาน-เชียงราย-แม่จัน-เชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคำ) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
สาย 146 ลำปาง-เชียงราย (ลำปาง-งาว-พะเยา-แม่ใจ-พาน-เชียงราย) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
สาย 147 เชียงใหม่-พาน (เชียงใหม่-ลำปาง-งาว-พะเยา-แม่ใจ-พาน) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
สาย 145 ลำปาง-เชียงใหม่ (เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ห้างฉัตร-ลำปาง) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
สาย 672 แม่สาย-แม่สอด (แม่สาย-แม่จัน-เชียงราย-เวียงป่าเป้า-เชียงใหม่-ลำพูน-ดอยติ-ลำปาง-เถิน-บ้านตาก-ตาก-แม่สอด) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด
สาย 1693 ลำปาง-แพร่ (ลำปาง-แม่แขม-เด่นชัย-สูงเม่น-แพร่) บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด (รถตู้ปรับอากาศ)
สาย 144 ลำปาง-แพร่ (ลำปาง-ม.ราชภัฏลำปาง-แม่ทะ-แม่แขม-ลอง-แพร่) บริษัท นครลำปางเดินรถ จำกัด (รถตู้ปรับอากาศ)
สาย 167 ลำปาง-เชียงราย (ลำปาง-แจ้ห่ม-วังเหนือ-เวียงป่าเป้า-แม่สรวย-เชียงราย) บริษัท นครลำปางเดินรถ จำกัด

ทางรถไฟ

รถไฟ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดบริการรถด่วน รถเร็วและรถธรรมดา จากกรุงเทพฯ ไปลำปางทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690 และที่สถานีรถไฟลำปาง โทร. (054) 271024

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด ถนนหลานหลวง โทร. 02-356-1111 การบินไทยลำปาง โทร. (054) 217078, 218199 และท่าอากาศยานลำปาง โทร. (054) 226258

  • งานแห่สลุงหลวงและสงกรานต์ ประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดลำปาง จะจัดในช่วงวันที่ 12-14 เมษายน ของทุกปี ในวันที่ 12 เมษายน จะมีการจัดขบวนแห่สลุงหลวง (สลุง หมายถึงขันน้ำ) ขบวนตกแต่งสวยงาม ผู้ร่วมขบวนแต่งกายแบบล้านนาโบราณแห่แหนไปรอบเมือง เพื่อรับน้ำขมิ้นส้มป่อยจากประชาชนไปสรงแด่พระแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13-14 เมษายน ก็จะเป็นการทำบุญที่วัด ก่อเจดีย์ทราย การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ การออกร้านจำหน่ายสินค้า การแสดงมหรสพและการแสดงพื้นเมืองต่างๆ
  • งานหลวงเวียงละกอน จัดขึ้นในช่วงก่อนวันลอยกระทงของทุกปี เป็นงานที่เน้นการแสดงออกถึงประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณี ของชาวลำปาง มีขบวนแห่ครัวทาน ตามประเพณีดั้งเดิมโดยขบวนนั้นจะมีการตกแต่งเครื่องใช้เป็น เสื่อ ถ้วยชาม ช้อน เก้าอี้ ของใช้จำเป็น เป็นเครื่องไทยทานไปถวายวัด
  • ประเพณีขันโตกช้าง นขันโตกช้าง หรือ สะโตกช้าง จัดขึ้นทุกวันศุกร์-เสาร์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ภายในงานแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ การแสดงของช้างและขันโตกช้าง การรับประทานข้าวแลงขันโตกของผู้ร่วมงาน

 

สถานที่น่าสนใจในเขตอำเภอเมือง

ลำปางเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ยังนิยมใช้รถม้าเป็นพาหนะเดินทางระยะใกล้ๆ ภายในตัวเมือง จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว รถม้าลำปางเป็นรถเปิดประทุน ที่นั่งผู้โดยสารคล้ายคลึงกับที่นั่งของจักรยานสามล้อแต่มีขนาดใหญ่กว่า อยู่ทางตอนหลังของที่นั่งคนบังคับม้า ซึ่งมีระดับสูงกว่าเล็กน้อย นั่งได้คันละ 2 คน สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถไปขึ้นรถม้าได้ที่หน้าศาลากลางเก่าจังหวัดลำปาง หน้าโรงแรมเวียงทอง และหน้าโรงแรมทิพย์ช้าง ตั้งแต่เลา 06.00-23.00 น. ยกเว้นหน้าศาลากลางเก่า มีบริการ 06.00-16.00 น. อัตราค่าโดยสาร 100-200 บาท ปัจจุบันยังมีการทำรถม้าที่หมู่บ้านวังเหนือ ท่าคร่าวน้อย ศรีบุญเรือง นาก่วมเหนือ และนาก่วมใต้

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำปางด้านตะวันตกเฉียงใต้ หลักเมืองเป็นหลักซึ่งทำด้วยไม้สัก สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยหลักที่หนึ่งสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400 หลักที่สองสร้างประมาณปี พ.ศ. 2416 และหลักที่สามสร้างประมาณปี พ.ศ. 2429 ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เมื่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้น ได้นำหลักเมืองมาไว้ที่บริเวณหน้าศาลากลาง และได้มีการสร้างมณฑปครอบหลักเมืองทั้งสามในปี พ.ศ. 2511

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ประดิษฐานอยู่ในมณฑป ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยแบบจตุรมุข หน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูป สร้างด้วยโลหะผสมรมดำทั้งองค์ ปางสมาธิ ชาวบ้านเรียก “หลวงพ่อดำ” จัดสร้างโดยกรมการรักษาดินแดนเมื่อปี พ.ศ. 2511 มี 4 องค์ เพื่อนำไป ประดิษฐานไว้ 4 ทิศของประเทศ โดยทางทิศเหนือได้นำมาประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดลำปาง นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ปิดทองเกือบทั้งองค์โดยสาธุชนที่มานมัสการ

วัดพระแก้วดอนเต้า ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงเหนือ เป็นวัดเก่าแก่และสวยงาม มีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี เหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่าวัดพระแก้วดอนเต้า มีตำนานกล่าวว่า พระมหาเถระแห่งวัดนี้ได้พบ แก้วมรกตในแตงโม (ภาษาเหนือเรียกว่า หมากเต้า) และนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แต่ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จนถึงปัจจุบัน ปูชนียสถานที่สำคัญในวัดพระแก้วดอนเต้า ได้แก่ พระเจดีย์องค์ใหญ่ บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า มณฑปศิลปะพม่า ลักษณะงดงาม ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ วิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุเก่าพอๆกับวัดนี้ นอกจากนี้ยังมี วิหารหลวง และพิพิธภัณฑสถานแห่งลานนา การเดินทางไปยังวัด ข้ามสะพานรัชฎาภิเษกแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนพระแก้วประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นองค์พระธาตุตั้งเด่นอยู่บนเนิน

วัดศรีชุม เป็นวัดพม่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาวัดพม่าที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 31 วัด สร้างในปี พ.ศ. 2436 โดยคหบดีพม่าชื่อ อูโย ซึ่งติดตามชาวอังกฤษเข้ามาทำงานป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อตนเองมีฐานะดีขึ้นจึงต้องการทำบุญโดยสร้างวัดศรีชุมขึ้นในเขตตำบลสวนดอก การเดินทางไปวัดศรีชุม จากถนนพหลโยธินเมื่อถึงโรงเรียนบุญญวาทย์วิทยาลัยแล้ว เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกเข้าถนนศรีชุมไปประมาณ 100 เมตร จะพบทางเข้าวัดอยู่ทางด้านขวามือ จุดเด่นของวัดนี้เดิมอยู่ที่ พระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ หลังคาเครื่องไม้ยอดแหลมแกะสลัก เป็นลวดลายสวยงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าได้เกิดเหตุเพลิงไหม้พระวิหารที่มีศิลปะการตกแต่งภายในร่วมสมัยระหว่างศิลปะล้านนาและศิลปะพม่าลงทั้งหลัง เมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ 16 มกราคม 2535 คงเหลือเพียงไม้แกะสลักตรงซุ้มประตูทางขึ้นวิหารเท่านั้น

วัดศรีรองเมือง ตั้งอยู่ที่บ้านท่าคร่าวน้อย ตำบลสบตุ๋ย ในเขตเทศบาลเมืองด้านทิศตะวันตก เป็นวัดพม่าที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2448 สมัยที่ลำปาง เป็นศูนย์กลางการค้าขาย การทำป่าไม้เช่นกัน สถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ วิหารไม้ หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นชั้นเล็กชั้นน้อย สวยงามตามแบบศิลปะพม่า นอกจากนี้ยังนับว่าเป็นวัดที่มีการประดับตกแต่งภายในด้วยลายไม้แกะสลัก และลายปูนปั้นลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกสี ฝีมือประณีต วิจิตรสวยงาม

วัดป่าฝาง ตั้งอยู่เลขที่ 214 ถนนสนามบิน ตำบลหัวเวียง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวพม่าที่มาประกอบอาชีพการป่าไม้ในจังหวัดลำปาง มีพุทธสถานที่เด่นคือ พระเจดีย์ใหญ่สีทองสุกปลั่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากพม่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2449 ศาลาการเปรียญ เรือนไม้ทั้งหลัง ขนาดใหญ่ หลังคาซ้อนกันเป็นชั้นๆ แบบพม่า และพระอุโบสถขนาดเล็กหลังคาเครื่องไม้แบบพม่า มีลวดลายเครือเถาปูนปั้นเหนือประตูสวยงาม วัดนี้มีพระสงฆ์พม่าจากเมืองมัณฑเลมาเป็นเจ้าอาวาสอยู่เสมอ

วัดไชยมงคล ตั้งอยู่ที่ถนนสนามบิน ตำบลหัวเวียง เยื้องกับวัดป่าฝาง มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า วัดจองคา พุทธสถานที่เด่นของวัดคือ กุฎิ ขนาดปานกลาง ตัวอาคารเป็นตึกสีขาว หลังคาเครื่องไม้แบบพม่า หน้าบันประดับกระจกเป็นรูปเทวดา เสาประดับด้วยขดลวดโลหะสีทองขดเป็นลายเครือเถา ประดับกระจกสีสวยงาม ม่านและระเบียงโดยรอบทำด้วยแผ่นไม้ฉลุฝีมือประณีต ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด มีลักษณะงดงามสร้างจากเมืองมัณฑเล สหภาพพม่า

สถานปฏิบัติธรรม-มณฑป หลวงพ่อเกษม เขมโก สำนักสุสานไตรลักษณ์ ตั้งอยู่ชานเมืองลำปางประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางสายลำปาง-แจ้ห่ม ภายในบริเวณมีมณฑปลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อเกษม เขมโก เกจิอาจารย์ซึ่งมีผู้เคารพนับถือเป็นจำนวนมาก นั่งในท่าสมาธิขนาดเท่ารูปจริง สำหรับให้ประชาชนเคารพสักการะ และบริเวณหน้ามณฑปก็มีที่จอดรถและสถานที่เช่าพระเครื่อง ส่วนกุฎิของหลวงพ่อเกษมอยู่ด้านข้างมณฑป

วัดเจดีย์ซาวหลัง “ซาว” แปลว่า ยี่สิบ “หลัง” แปลว่า องค์ วัดเจดีย์ซาวหลัง แปลว่าวัดที่มีเจดีย์ 20 องค์ ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร ตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม เป็นวัดใหญ่อยู่กลางทุ่งนา บริเวณวัดร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ วัดนี้เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดลำปาง สร้างแต่โบราณ ทรงคุณค่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุ จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญชัยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้สร้างมานานกว่าพันปี สิ่งที่น่าชมภายในวัดคือ องค์พระธาตุเจดีย์ซาว ที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่า ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่า “พระพุทธรูปทันใจ” พระอุโบสถหลังใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะงดงาม บานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงาม เสาซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายกระจกสีเป็นลักษณะศิลปะสมัยใหม่และที่ ศาลาการเปรียญ เรือนไม้ชั้นเดียวด้านหลังพระอุโบสถ ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้มีชาวบ้านขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาทสองสลึง มามอบให้แก่ทางวัดซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า “พระแสนแซ่ทองคำ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติแล้ว

วัดพระธาตุม่อนพญาแช่ ตั้งอยู่ที่ ต.พิชัย บนเส้นทางสายลำปาง-งาว ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร จากตัวเมืองโดยเลี้ยวขวาเข้าไปตรง หลักกิโลเมตรที่ 605 ประมาณ 1 กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดลำปางได้อย่างชัดเจน ทางวัดได้พัฒนา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและขอความร่วมมือกับสำนักงานป่าไม้เขตลำปางจัดให้เป็นวนอุทยานม่อนพญาแช่ ความสวยงามของวัดอยู่ที่บันไดนาค ที่ทอดยาวขึ้นไปสู่พระเจดีย์ซึ่งกล่าวว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์เดิมถูกทำลายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2498 ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือน 9)

วัดพระธาตุเสด็จ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางลำปาง-งาว ประมาณ 19 กิโลเมตร แยกซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 17 ประมาณ 2 กิโลเมตร วัดพระธาตุเสด็จเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง มีตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี เมื่อประมาณ 500 ปีมาแล้ว อุโบสถและวิหารต่างๆ ในวัดนี้ล้วนแต่เป็นของโบราณที่ได้รับการบูรณะใหม่ แต่ยังคงสภาพศิลปะโบราณให้เห็นได้อยู่จนปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณสถานของชาติแล้ว วัดนี้มีพุทธสถานที่สำคัญคือ องค์พระธาตุเสด็จ ซึ่งเป็นเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์แบบลานนา ลักษณะคล้ายพระธาตุลำปางหลวงแต่องค์เล็กกว่า นอกจากนี้มีวิหารใหญ่ เรียกว่า “วิหารกลาง” ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางลีลาองค์ใหญ่มีพุทธลักษณะงดงามนามว่า “หลวงพ่อห้ามญาติ” วิหารหลวง เรียกว่าวิหารจามเทวี ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ศิลปะเชียงแสนและวิหารพระพุทธ มีพระพุทธรูปชื่อ “พระเจ้าดำองค์อ้วน” เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ

เขื่อนกิ่วลม อยู่ห่างจากตัวเมืองไป 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายลำปาง-งาว โดยแยกซ้ายตรงหลักกิโลเมตรที่ 623-624 เข้าไปอีก 14 กิโลเมตร เปิดให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. เขื่อนกิ่วลม อยู่ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน บริเวณเหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำเหมาะแก่การล่องเรือหรือแพ เพราะมีทัศนียภาพสวยงาม การล่องแพใช้เวลาประมาณครึ่งวัน มีสถานที่น่าสนใจ เช่น แหลมชาวเขื่อน ผาเกี๋ยง ผางาม เกาะชวนฝัน ทะเลสาบสบพุ หมู่บ้านชาวประมงบ้านสา ฯลฯ สำหรับผู้ที่สนใจกีฬาทางน้ำ บอสสินี่ สปอร์ต คลับ ได้รับอนุญาตจากกรมชลประทานให้จัดตั้งศูนย์กีฬาทางน้ำที่บริการอุปกรณ์กีฬาทางน้ำประเภทต่าง ๆ เช่น สกู๊ตเตอร์ บานานาโบ๊ท วินเสริฟ เป็นต้น บ้านพักรับรองของทางกรมฯ อนุญาตให้เข้าพักได้เฉพาะข้าราชการ หรือหน่วยงานราชการเท่านั้น โดยมีหนังสือแจ้งล่วงหน้าไปที่ กรมชลประทาน ถนนสามเสน หรือ โทร. 241-4806
บริการจองแพ เรือ และที่พักบริเวณอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ติดต่อได้ที่ กิ่วลมรีสอร์ท โทร. (054) 334-393, 223772 แพวังแก้ว โทร. (054) 319-040, 223-733

สวนสาธารณะหนองกระทิง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อแฮ้ว จากตัวเมืองข้ามลำน้ำวังไปตามเส้นทางสายลำปาง-ห้างฉัตร ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนชาวลำปางที่ใกล้ตัวเมืองมากที่สุด มีหนองน้ำใสเหมาะสำหรับว่ายน้ำ เล่นเรือถีบ มีสวนหย่อม และต้นไม้ร่มรื่น มีร้านอาหารและเครื่องดื่มบริการหลายแห่ง

อ่างเก็บน้ำวังเฮือ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนสายลำปาง-เด่นชัย 18 กิโลเมตรแล้วเลี้ยวขวาตามถนนเข้าตัวเมืองอีกราว 300 เมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ริมถนน เหมาะแก่การแวะพักผ่อนปิคนิค ริมอ่างเก็บน้ำเป็นทิวเขาที่มีทิวทัศน์สวยงาม

ในอำเภอเกาะคา

วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่ ต. ลำปางหลวง ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 18 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายลำปาง-เถิน ถึงหลักกิโลเมตรที่ 586 เลี้ยวเข้าไปจนถึงที่ว่าการอำเภอเกาะคา จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดที่มีสถาปัตย กรรมงดงามและมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองลำปาง ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตัววัดตั้งอยู่บนเนิน มีบันไดนาคทอดขึ้นสู่ตัววัด พุทธสถานที่น่าสนใจได้แก่ วิหารหลวงซึ่งเป็นวิหารขนาดใหญ่ เปิดโล่ง มีกู่บรรจุพระเจ้าล้านทองเป็นประธานของพระวิหาร หลังพระวิหารมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระเจดีย์มีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฎอยู่ ด้านขวาองค์เจดีย์เป็นวิหารน้ำแต้ม (“แต้ม” แปลว่าภาพเขียน) เป็นวิหารเปิดโล่ง ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก ด้านซ้ายของพระเจดีย์เป็นวิหารพระพุทธ เป็นอาคารปิดทึบ มีพระประธานแบบเชียงแสนองค์ใหญ่อยู่เต็มอาคาร หน้าบันของวิหารพระพุทธเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี และพิพิธภัณฑ์ของวัด ซึ่งรวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมาสน์เทศน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น นอกจากนี้วัดพระธาตุลำปางหลวงยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง ทุกปีจะมีงานประจำปีในวันเพ็ญเดือน 12

วัดพระธาตุจอมปิง ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านจอมปิง ต. นาแก้ว อ.เกาะคา การเดินทางนั้นใช้เส้นทางเดียวกันกับวัดพระธาตุลำปางหลวง แต่แยกซ้ายตรงที่ว่าการอำเภอไปอีก 14 กิโลเมตร วัดพระธาตุจอมปิง เป็นวัดโบราณตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรลานนาไทย วัดนี้มีความมหัศจรรย์ของการเกิดเงาสะท้อนเป็นภาพสีธรรมชาติขององค์พระธาตุ ผ่านรูเล็กบนหน้าต่างมาปรากฎบนพื้นภายในพระอุโบสถตลอดเวลาที่มีแสงสว่างทั้งกลางวันและกลางคืน และทางวัดยังจัดที่แสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบในบริเวณนี้อีกด้วย

วัดเสลารัตนปัพพตาราม (วัดไหล่หินแก้วช้างยืน) มีพระวิหารเก่าแก่ฝีมือช่างเชียงตุง เป็นศิลปะแบบลานนาไทย มีลวดลายงดงามทั้งหลัง โดยเฉพาะส่วนหน้าบัน และซุ้มประตูที่มีการก่ออิฐถือปูน ซึ่งส่วนมากจะเป็นรูปปั้นสัตว์ศิลปะลานนา ภายในวิหารนอกจากจะมีพระประธานแล้วยังมี รูปปั้นพระมหาเกสระปัญโญภิกขุขนาดเท่าตัวจริง ซึ่งปั้นด้วยฝีมือของท่านเอง พระเจดีย์ของวัดไหลหินก่อสร้างแบบศิลปะลานนาที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พิพิธภัณฑ์วัดไหล่หิน เป็นที่เก็บหอพระแก้ว ซุ้มพระพิมพ์ อาวุธโบราณ และที่โรงธรรมมีใบลานเก่าแก่ ของลานนาไทย

ในเขตอำเภอแม่ทะ

ภูเขาไฟผาลาด ลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีภูเขาไฟ นักท่องเที่ยวสามารถแวะเที่ยวชมได้โดยใช้เส้นทางสายลำปาง-แม่เมาะ เมื่อถึงตำบลผาลาด จะพบถนนแยกขวาซึ่งจะมีป้ายบอกทางไปยังภูเขาไฟ บริเวณใกล้ปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว จะเป็นเนินเขาที่มีป่าไม้ปกคลุมอยู่ทั่วไป จึงทำให้มองปล่องไม่เห็นชัดเจนนัก นอกจากจะสังเกตจากทางอากาศโดยเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์จึงจะเห็นชัด ส่วนที่พิสูจน์ก็คือก้อนหินลาวา หินทำครก ดินขาว และก้อนหินที่พบทั่วไปในบริเวณนั้นเป็นหินชนิดเดียวกับที่สามารถพบได้ในเขตที่มีภูเขาไฟแหล่งอื่นๆ

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแม่ทะ ตั้งอยู่ที่บ้านหลุก หมู่ 6 ต. นาครัว อยู่ห่างที่ว่าการอำเภอแม่ทะไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่รวบรวมของใช้ในบ้าน และเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ที่บ้านหลุกนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพแกะสลักไม้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ในเขตอำเภอห้างฉัตร

วัดปงยางคก ตั้งอยู่ริมถนนสายห้างฉัตร-เกาะคา ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร มีวิหารพระแม่เจ้าจามเทวี ซึ่งเป็นวิหารไม้เก่าแก่ สิ่งที่น่าสนใจภายใน คือ มณฑปปราสาทเก่าที่มีตำนานสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระแม่เจ้าจามเทวี

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งเกวียน ห่างจากตัวเมืองลำปาง 24 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 11 (สายลำปาง-ลำพูน) บริเวณกิโลเมตรที่ 28-29 ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยอยู่ในความดูแลของฝ่ายอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคเหนือ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นสถานที่ฝึกลูกช้างแห่งเดียวในประเทศไทย แต่เดิมทำการฝึกลูกช้างที่ศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละ อำเภองาว โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 แล้วย้ายมายังศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 ส่วนที่บ้านปางหละใช้เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงดูช้างแก่และเจ็บป่วย กิจกรรมภายในศูนย์ฯ มีการแสดงของช้าง เช่น ช้างเข้าแถว ช้างทำงาน ช้างทักทายและรับของรางวัลจากนักท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริการนั่งช้างรอบบริเวณซึ่งเป็นสวนป่า บริการอาหารเครื่องดื่มและร้านขายของที่ระลึกด้วย การแสดงของช้างวันละ 2 รอบ คือ 09.30, 11.00 น.สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เพิ่มรอบ 14.00 น. ค่าเข้าชม ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็กนักเรียน 20 บาท รายละเอียดติดต่อองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โทร. 282-3243-7 ต่อ 511 หรือ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย โทร. (054) 227-051, 227-623, 229-042

สวนป่าทุ่งเกวียน อยู่ริมถนนสายลำปาง-เชียงใหม่ ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร อยู่ในท้องที่ป่าเตรียมการสงวนแม่ยาว อ.ห้างฉัตร ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สวนป่าทุ่งเกวียนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวลำปาง นักท่องเที่ยวจะพบกับธรรมชาติแนวสน และดอกไม้ พันธุ์ไม้นานาชนิด ประมาณเดือน ธันวาคมของทุกปี จะมีการจัดงาน “วัดอกไม้บาน” ภายในบริเวณสวน

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล เป็นเทือกเขากั้นเขตแดน ระหว่างจังหวัดลำพูนที่อำเภอแม่ทาและจังหวัดลำปางที่อำเภอห้างฉัตร ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2518 มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 159,556 ไร่ มีอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นระยะทาง 1,352 เมตร รถไฟใช้เวลาวิ่งผ่านประมาณ 5 นาที อุทยานแห่งนี้อยู่กึ่งกลางเส้นทางคมนาคมทางรถไฟ ระหว่างลำปาง-ลำพูน ดอยขุนตาลประกอบด้วยป่าไม้หลายลักษณะ เช่น ป่าดงดิบ ป่าสน เป็นต้น มี 4 ยอดเขา จากเชิงดอยถึงยอดสูงสุดประมาณ 7 กิโลเมตร
การเดินทางขึ้นไปบนดอยขุนตาล ไปได้ 2 ทางคือ ทางรถไฟ ลงที่สถานีขุนตาลแล้วเดินเท้าไปที่ทำการอีกประมาณ 900 เมตร เป็นทางที่สะดวกที่สุด หรืออีกเส้นทางหนึ่งคือทางรถยนต์โดยเลี้ยวขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ 47 (เส้นทางสายลำปาง-ลำพูน) เข้าไปตามทางลูกรังอีก 18 กิโลเมตร ซึ่งสภาพถนนช่วงนี้ไม่ดีนัก บางช่วงก็ชันมากจึงควรใช้รถสภาพดี

สถานที่ท่องเที่ยวและที่พักบริเวณดอยขุนตาล

ย. 1 ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการวนอุทยานฯ ราว 1,100 เมตร เมื่อเดินทางขึ้นไปถึง ย. 1 จะพบพลับพลาที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาประทับ 1 หลัง และที่พักของการรถไฟฯ 3 หลัง คิดค่าที่พักหลังละ 450-600 บาท (บวกภาษีอีก 7 %) ติดต่อจองที่พักได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 225-6964
ย. 2 ตั้งอยู่ห่างจาก ย. 1 ไปราว 800 เมตร เมื่อไปถึงจะเห็นสวนลิ้นจี่และต้นไม้เมืองหนาว เช่น ลูกแพร์ ลูกพลับและทุ่งสน แต่สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวก็คือ บ้านพักของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ว่าไม่เปิดรับรองแก่นักท่องเที่ยวทั่วไป บริเวณ ย. 2 จะมีที่ทำการของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล และมีเรือนพักรับรอง 6 หลัง ราคา 600-1,200 บาท ผู้สนใจติดต่อจองบ้านพักได้ที่ โทร. 579-0529 และ 579-4842
ย. 3 อยู่ถัดจาก ย. 2ขึ้นไปประมาณ 3,600 เมตร เป็นที่ตั้งของบ้านพักมิชชั่นนารี คิดค่าที่พักคนละ 70 บาท ลักษณะที่พักเป็นบ้านไม้หลังใหญ่ จำนวน 8 หลัง ติดต่อจองบ้านพักได้ที่ คณะกรรมการขุนตาล วิทยาลัยภาคพายัพ ตู้ ปณ. 161 เชียงใหม่ 50000 โทร. (053) 241255
ย. 4 อยู่ถัดจาก ย. 3 ขึ้นไปอีกราว 1,500 เมตร เป็นยอดสูงที่สุดของดอยแห่งนี้ แม้ระยะจะไม่ไกลกันนักแต่เป็นช่วงที่ชันมาก เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางถึงบนยอด ย. 4 แล้ว สามารถ มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้เป็นมุมกว้าง ส่วนมากมักนิยมไปเฝ้าชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าซึ่งมีความสวยงามน่าประทับใจ

ในเขตอำเภอแม่เมาะ

เหมืองถ่านหิน อยู่ในเขตอำเภอแม่เมาะ ซึ่งห่างจากตัวเมืองไปตามถนนสายลำปาง-เด่นชัย (จ. แพร่) เป็นระยะทาง 26 กิโลเมตร หรือจากตัวเมืองสามารถเช่ารถสองแถวซึ่งจอดอยู่บริเวณตลาดบริบูรณ์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที “ลิกไนท์” เป็นถ่านหินประเภทหนึ่งที่มีการค้นพบในบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2460 มีปริมาณถึง 630 ล้านตัน มีอายุประมาณ 40 ล้านปี บริเวณเหมืองมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงตั้งอนู่หลายโรง ถึงแม้นักท่องเที่ยวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงไปบริเวณขุดเจาะถ่านหินเพราะมีอันตรายจากวัตถุระเบิดที่ใช้ทำเหมือง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้จัดทำจุดชมวิวสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นสวนหย่อม ตกแต่งปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ ที่มีสีสันสวยงามสงบและร่มรื่นไว้ด้วย ณ จุดนี้ นอกจากจะได้ชมความงดงามของภูมิประเทศแล้ว ยังสามารถมองเห็นการทำงานของรถขุดตักแร่ซึ่งอยู่ลึกลงไปในมุมกว้างได้อีกด้วย

ในเขตอำเภองาว

ศาลเจ้าพ่อประตูผา อยู่ห่างจากตัวจังหวัดลำปางตามเส้นทางสายลำปาง-งาวประมาณ 50 กิโลเมตร ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 649-650 ศาลตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ ด้านขวามือเป็นศาลเล็กๆ ก่ออิฐถือปูน ภายในมีรูปปั้นเจ้าพ่อประตูผาและเครื่องบูชามากมาย บริเวณใกล้เคียงมีศาลพระภูมิเล็กๆ มากมายเรียงรายอยู่ ศาลเจ้าพ่อประตูผานี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่สัญจรไปมาบนเส้นทางนี้มักแวะนมัสการและจุดประทัดถวาย เจ้าพ่อประตูผาเดิมชื่อ พญาข้อมือเหล็ก เป็นผู้อยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นทหารเอกของเจ้าผู้ครองนครลำปาง ครั้งหนึ่งได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่ช่องประตูจนกระทั่งถูกรุมแทงตายในลักษณะถือดาบคู่ยืนพิงเชิงเขา ทหารพม่ากลัวจึงไม่กล้าบุกเข้าไปตีนครลำปาง ด้วยเหตุนี้เอง ชาวบ้านจึงเกิดศรัทธาและเคารพสักการะโดยตั้งศาลขึ้นบูชาเป็นที่นับถือของชาวลำปาง

อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท มีเนื้อที่ประมาณ 758,750 ไร่ อยู่ระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภองาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 66 กิโลเมตร ตรงกิโลเมตรที่ 665-666 แยกเข้าทางลูกรังประมาณครึ่งกิโลเมตร รถยนต์เข้าถึงเชิงถ้ำ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย สลับซับซ้อนและมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยมากมายที่มีความสวยงามแตกต่างกันไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ. 2496 ดังปรากฏหลักฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ภายในถ้ำ ยังไม่มีบ้านพักบริการ รายละเอียดติดต่อฝ่ายจัดการอุทยานแห่งชาติ โทร. 579-7223, 579-5734

บ้านจ้างหลวง (ช้างหลวง) ตั้งอยู่ที่ 33 หมู่ 9 บ้านข่อย ต.บ้านร้อง ริมถนนสายพะเยา-ลำปาง ก่อตั้งโดย ครูคำอ้าย เดชดวงตา เป็นที่รวบรวมงานไม้แกะซึ่งเป็นผลงานของผู้ก่อตั้ง สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่ง คือ ลักษณะการสร้างเรือนเก็บงานไม้รูปช้างดูแปลกตา แทบทุกส่วนของอาคารจะเต็มไปด้วยศิลปะที่กลมกลืน นอกจากนี้บ้านจ้างหลวงยังเป็นโรงเรียนสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจจริงในการสร้างงานศิลปะ และเพื่อสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น ผู้สนใจติดต่อ โทร. (054) 220-380

ในอำเภอแจ้ห่ม

วัดอักโขชัยคีรี ตั้งอยู่บนเนินเขาริมถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม บริเวณกิโลเมตรที่ 50-51 ด้านซ้ายมือ มีทางขึ้น 2 ทางคือ ทางเดินขึ้นบันไดด้านหน้าหรือขับรถขึ้นทางถนนด้านหลัง บริเวณวัดมีโบสถ์และเจดีย์ทรงล้านนาอยู่ใกล้เคียงกัน เมื่อเข้าไปในโบสถ์และปิดประตูหน้าต่างทุกบาน ยกเว้นบานด้านขวามือซึ่งมีโต๊ะสีขาววางอยู่ บานนี้เราค่อยๆ ปิดเป็นบานสุดท้าย เราจะเห็นพระเจดีย์สีทองเป็นเงาสะท้อนอยู่บนพื้นโต๊ะ เงาพระเจดีย์จะปรากฎอยู่ตรงที่เดิมไม่เคลื่อนย้าย ตลอดทั้งวันตราบเท่าที่ยังมีแสงสว่าง นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่เรียกว่า “พระศากยมุณีคีรีอักโข” ซึ่งมีความสูง 5 วา 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ เป็นที่นับถือของชาวแจ้ห่มมาก

ในเขตอำเภอเมืองปาน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่มและอำเภอเมืองจังหวัดลำปาง มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีเนื้อที่ประมาณ 592 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างลำปางและเชียงใหม่ ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและมีอากาศเย็นสบาย คือ ช่วงประมาณ เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ

บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน มีหลายบ่อตั้งอยู่รวมกันในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ บริเวณที่ทำการอุทยาน สภาพในบ่อน้ำร้อนเต็มไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่ น้ำพุร้อนมีกลิ่นกำมะถันอ่อน ๆ อุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศาเซลเซียส บริเวณใกล้เคียงมีห้องบริการอาบน้ำแร่ 11 หลัง ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ อย่างสวยงาม

น้ำตกแจ้ซ้อน อยู่ถัดจากบ่อน้ำร้อนขึ้นไป 1 กิโลเมตร เป็นธารน้ำตกที่มีแอ่งน้ำรองรับอยู่ตลอดสายมีทั้งสิ้น 6 ชั้น มีต้นกำเนิดจากขุนห้วยแม่มอน ไหลผ่านหุบเขาสูงชัน นอกจากนี้ยังมีน้ำตกอีก 2 แห่ง คือน้ำตกแม่มอนและน้ำตกแม่ขุน การเดินทาง ใช้เส้นทางสายลำปาง-วังเหนือ (ทางหลวงหมายเลข 1035) ถึงกิโลเมตรที่ 58-59 มีป้ายขนาดใหญ่บอกทางเข้าอุทยานฯ เป็นระยะทางอีก 17 กิโลเมตร ทางราดยางตลอด ที่พักและสิ่งอำนายความสะดวก อุทยานฯ มีที่พักเป็นบ้าน 8 หลัง พักได้หลังละ 6-20 คน ราคาหลังละ 500-1,200 บาท เต็นท์ให้เช่าราคา 80 บาท รายละเอียดติดต่อ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734

ในเขตอำเภอวังเหนือ

อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2533 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพะเยา เชียงรายและลำปาง รวมเนื้อที่ประมาณ 1,170 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูงทอดตัวแนวเหนือ-ใต้ มีดอยหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้นและป่าเต็งรังปะปนกัน มีสัตว์ป่าและนกหลายชนิด ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ที่บริเวณน้ำตกปูแกง อ.พาน จ.พะเยา สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเขตจังหวัดลำปาง ได้แก่ “น้ำตกวังแก้ว” เป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดของจังหวัดลำปาง มีชั้นน้ำตกประมาณ 110 ชั้น แต่เป็นชั้นใหญ่ 7-8 ชั้น เมื่อขึ้นไปถึงชั้นบนสุดของน้ำตกจะพบหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเย้าที่บ้านป่าคาหลวง และบ้านส้านซึ่งมีทางขึ้นค่อนข้างชัน นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงยังมี “น้ำตกวังทอง” ซึ่งมีลักษณะเหมือนน้ำตกวังแก้ว การเดินทางไปยังน้ำตกวังแก้วและน้ำตกวังทอง ใช้เส้นทางสายลำปาง-แจ้ห่ม-วังเหนือ ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร จากอำเภอวังเหนือมีทางเข้าสู่น้ำตก ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร

อุตสาหกรรมพื้นบ้าน

ผ้าทอ ในบางหมู่บ้านยังมีการทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง โดยใช้ฝ้ายที่ปลูกขึ้นเอง เช่น “บ้านหลวง” อำเภอแม่ทะ ที่นิยมทอเป็นผ้าลายเชิง “บ้านทุ่งกว๋าว” อำเภอเมืองปาน นิยมทอเป็นผ้าลายยก นอกจากนี้ยังมีที่อำเภอแจ้ห่ม และที่ “บ้านฝ้าย” ตำบลพิชัย อำเภอเมือง ซึ่งมีโรงงานทอผ้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากฝ้ายทอมือ
หมู่บ้านแกะสลักบ้านหลุก ตั้งอยู่ที่ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร หมู่บ้านนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพแกะสลักไม้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า สิงห์โต กวาง ฯลฯ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมครอบครัวที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา
เครื่องเคลือบดินเผา เนื่องจากจังหวัดลำปางมีแหล่งดินขาวที่มีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทยและมีเป็นจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาขึ้น ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่สองฝั่งเส้นทางเข้าตัวเมืองลำปาง มีร้านจำหน่ายอยู่ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมกรรมวิธีในการปั้นและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่โรงงาน
กระดาษสา ทำมาจากปอสาซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง มีเนื้อเยื่อเหนียวและมีคุณสมบัติในการนำมาทำกระดาษ ประโยชน์ของกระดาษสาสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของได้หลายอย่าง เช่น ร่ม โคมไฟ ไส้เทียน ดอกไม้แห้งและของที่ระลึกต่างๆ เป็นต้น ในจังหวัดลำปางมีการทำกระดาษสาเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงคือที่ บ้านน้ำโท้ง




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ลำปาง