แผนที่นครพนม

  • แผนที่นครพนม
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

นครพนมเป็นจังหวัดที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์มาแต่โบราณกาล ในฐานะเมืองเก่าเมืองแก่เคียงคู่อยู่กับ อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งแต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นมีพื้นที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และต่อมาก็ได้ย้ายมาอยู่ทางฝั่งขวา ตำนานแห่งประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกตีกรุงเวียงจันทน์ได้ ชื่อของดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็น "มรุกขนคร" และต่อมาได้โปรดฯ ให้เป็น "นครพนม" เพื่อความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ด้วยเป็นเมืองที่มีพื้นที่ติดต่อกับเทือกเขามากมาย ด้วยความเป็นอาณาจักรที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาเก่าก่อนประกอบกับ แม่น้ำโขงเป็นแหล่งอารยธรรมของมนุษยชาติ ดังนั้น นครพนมจึงมีโบราณสถานและมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นแบบอย่างของตัวเองอยู่มาก

จังหวัดนครพนมมีเนื้อที่ประมาณ 5,513 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,445,625 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 39 ของประเทศ สภาพพื้นที่ส่วนมากเป็นที่ราบลุ่ม มีที่ราบสูงและภูเขาอยู่บ้าง พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน และมีแม่น้ำสายสั้นๆ เป็นสาขาย่อยแยกจากแม่น้ำโขงหลายสาย จึงนับว่านครพนมเป็นจังหวัดที่มีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์มากบริเวณที่เป็นเมืองนครพนมในปัจจุบันนี้ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรศรีโคตบูรในอดีต โดยตัวเมืองตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง หรือฝั่งประเทศ สปป. ลาว บริเวณตรงข้ามกับพระธาตุพนมในปัจจุบัน เล่ากันว่าเมื่อสิ้นพญานันทเสน ผู้ครองเมืองศรีโคตบูร ชาวเมืองก็ได้อพยพโยกย้ายมาสร้างเมืองใหม่อยู่ที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวในขณะนั้นเป็นป่าไม้รวก จึงตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “มรุกขนคร” หมายถึงเมืองที่อยู่ในดงไม้รวกในราวปี พ.ศ. 500 มรุกขนครมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีเมืองในปกครองมากมาย และมีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย โดยการก่อพระลานอูบมุงชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 แล้วสร้างกำแแพงล้อมรอบ มีงานสมโภชใหญ่โต ต่อมาอาณาจักรศรีโคตบูรล่มสลายกลายเป็นเมืองร้าง จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1800 เจ้าเมืองศรีโคตบูรได้กลับไปสร้างเมืองมรุกขนครขึ้นใหม่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และต่อมาเปลี่ยนชื่อกลับเป็น “เมืองศรีโคตบูร” ตามเดิมต่อมาใน พ.ศ. 2280 พระธรรมราชา เจ้าเมืองศรีโคตบูรองค์สุดท้ายได้ย้ายเมืองกลับมาตั้ง ณ ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอีกครั้ง แล้วให้ชื่อว่า “เมืองนคร” หลังจากนั้นมียังมีการโยกย้ายเมืองอีกหลายครั้ง จนถึงปี พ.ศ. 2333 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ผู้ครองเมืองนครถึงแก่พิราลัย และเมืองนครได้ขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองให้ใหม่ว่า “นครพนม” หมายถึง “เมืองแห่งภูเขา” ตามสภาพพื้นที่ของเมืองที่มีเทือกเขาอยู่ใกล้เคียงมากมาย และจากการที่เมืองนี้มี “พระธาตุพนม” เป็นปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านานนั่นเองจังหวัดนครพนมแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ ได้แก่

อำเภอเมืองนครพนม อำเภอธาตุพนม อำเภอนาแก อำเภอท่าอุเทน อำเภอเรณูนคร อำเภอบ้านแพง อำเภอปลาปาก อำเภอศรีสงคราม อำเภอนาหว้า อำเภอโพนสวรรค์ อำเภอนาทม และอำเภอวังยาง

ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย
ทิศใต้ ติดต่อกับเขตอำเภอดงหลวง กิ่งอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตอำเภอกุสุมาลย์ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
 ระยะทางจากจังหวัดถึงอำเภอ

นครพนม-ท่าอุเทน 27 กิโลเมตร
นครพนม-บ้านแพง 100 กิโลเมตร
นครพนม-ธาตุพนม 50 กิโลเมตร
นครพนม-ศรีสงคราม 68 กิโลเมตร
นครพนม-ปลาปาก 44 กิโลเมตร
นครพนม-นาแก 76 กิโลเมตร
นครพนม-เรณูนคร 52 กิโลเมตร
นครพนม-นาหว้า 95 กิโลเมตร
นครพนม-กิ่งอำเภอโพนสวรรค์ 42 กิโลเมตร

 

 

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-นครพนม

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน ถึงสระบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 107 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ผ่านนครราชสีมา ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านมหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร ถึงจังหวัดนครพนม รวมระยะทาง 740 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

ทางรถยนต์มีรถโดยสารธรรมดา-ปรับอากาศ-ปรับอากาศพิเศษ (วีไอพี) วิ่งบริการทุกวัน
- รถธรรมดา จัดวิ่งบริการโดย บริษัทขนส่ง จำกัด (รถด่วน 99) สถานีขนส่งหมอชิต โทร. 271-0101-5 โดยออกจากกรุงเทพฯ เวลา 06.00 น. และ 18.15 น. และออกจากนครพนมเข้ากรุงเทพฯ เวลา 08.30 น. และ 18.30 น. โทร. (042) 511403 ใช้เวลาเดินทางประมาณ 11 ชั่วโมง อัตราค่าโดยสารเที่ยวละ 136 บาท/ท่าน
- รถปรับอากาศและปรับอากาศพิเศษ (รถนอน) จัดวิ่งบริการโดยบริษัทต่างๆ ดังนี้
1. บริษัทขนส่ง จำกัด (รถด่วน 99) สถานีขนส่งหมอชิต โทร. 279-4484-7 โดยออกจากกรุงเทพฯ เวลา 18.00/19.00 น. และเวลา 20.40 น. ออกจากนครพนมเวลา 17.00 น/17.30 น. และ 18.00 น. โทร. (042) 511403 ค่าโดยสารเที่ยวละ 245 บาท/ท่าน
2. บริษัท แสงประทีปเดินรถ จำกัด สถานีขนส่งกรุงเทพมหานคร โทร. 271-2989 โดยออกจากกรุงเทพฯ เวลา 08.30 น. / 19.30 น./ 19.50 น. และ 20.00 น. และออกจากนครพนม เวลา 08.00 น./1 18.20 น./ 18.30 น. และ 18.45 น. โทร. (042) 511245 อัตราค่าโดยสารรถปรับอากาศธรรมดา ท่านละ 245 บาท รถปรับอากาศพิเศษ ท่านละ 310 บาท ต่อเที่ยว
3. บริษัทชัยสิทธิ์ และบริษัทเชิดชัยทัวร์ ทั้งสองบริษัทนี้มีรายละเอียดการเดินทาง เช่นเดียวกับบริษัทแสงประทีปเดินรถ จำกัด และสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 279-0156 สถานีขนส่งรถปรับอากาศกรุงเทพมหานคร (หมอชิตใหม่)

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ เดินทางโดยรถดีเซลรางจากกรุงเทพฯ-อุดรธานี จากนั้นโดยสารรถคู้ปรับอากาศบริการถึงนครพนม ระยะทาง 252 กิโลเมตร บริการรถตู้ปรับอากาศโดยบริษัท มีสุขทัวร์ จำกัด รายละเอียดสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 223-7010, 2237020 นอกจากนั้นระหว่างจังหวัดนครพนมกับจังหวัดใกล้เคียง มีรถประจำทางบริการตลอด เช่น นครพนม-สกลนคร โดยบริษัท สหอุดรเดินรถ จำกัด นครพนม-อุดรธานี โดยบริษัท สหอุดรเดินรถ จำกัด นครพนม-อุบลราชธานี โดยบริษัท สหมิตรเดินรถ จำกัด โทร. (042) 511115 นครพนม-หนองคาย โดยรถ 224 และในระหว่างอำเภอนั้น มีรถโดยสารประจำทาง จากจังหวัดถึงอำเภอทุกอำเภอด้วย

ทางเครื่องบิน

ทางเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดบริการเที่ยวบินไปสกลนครทุกวัน จากนั้นโดยสารรถตู้ปรับอากาศบริการถึงนครพนม ระยะทาง 93 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ-สกลนคร 1 ชั่วโมง 40 นาที สำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 02-356-1111

การเดินทางภายในนครพนม

ในตัวจังหวัดนครพนมมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองนครพนมไปยังอำเภอต่างๆ คือ

นครพนม-ท่าอุเทน 27 กิโลเมตร
นครพนม-บ้านแพง 100 กิโลเมตร
นครพนม-ธาตุพนม 50 กิโลเมตร
นครพนม-ศรีสงคราม 68 กิโลเมตร
นครพนม-ปลาปาก 44 กิโลเมตร
นครพนม-นาแก 76 กิโลเมตร
นครพนม-เรณูนคร 52 กิโลเมตร
นครพนม-นาหว้า 95 กิโลเมตร
นครพนม-กิ่งอำเภอโพนสวรรค์ 42 กิโลเมตร

การไหลเรือไฟ (เฮือไฟ) จัดขึ้นในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 การไหลเรือไฟถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจาก เทวโลก หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ดาวดึงษ์ เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา เมื่อออกพรรษาแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก โดยบันไดทิพย์ทั้ง 3 วันนี้เรียกว่า “วันพระเจ้าโปรดโลก” พระองค์เสด็จมา ณ เมืองสังกัสสะ สถานที่นั้นเรียกว่า “อจลเจดีย์” (อ่านว่า อะ-จะ-ละ-เจ-ดี) ทวยเทพทั้งหลายส่งเสด็จ มวลมนุษย์ทั้งหลายรับเสด็จด้วยเครื่องสักการะบูชามโหฬาร การไหลเรือไฟก็คือการสักการะบูชาอย่างหนี่งในวันนั้น และได้ทำเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีตำนานการไหลเรือไฟ ที่แตกต่างกันก็ถือว่าทำให้ได้รับอานิสงฆ์เหมือนกัน เดิมเรือไฟทำด้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5-6 วา ข้างในบรรจุไว้ด้วยขนม ข้าวต้มมัด หรือสิ่งของที่ต้องการจะบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูป เทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ปัจจุบันมีการจัดทำเรือไฟเป็นรูปแบบต่างๆ ที่ขนาดใหญ่โตขึ้น มีวิธีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือไฟเหล่านี้ลงกลางลำน้ำโขงภายหลังการจุดไฟให้ลุกโชติช่วงจะเป็นภาพที่งดงามติดตาติดใจผู้พบเห็นไปตราบนานเท่านาน ไม่มีที่ไหนๆ ในประเทศไทยจะยิ่งใหญ่เหมือนที่จังหวัดนครพนม
 การแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจัดขึ้นระหว่างงานบุญออกพรรษา มีความมุ่งหมายให้ชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกันก่อให้เกิดความสามัคคีความเสียสละ และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวลาวและชาวไทย จัดขึ้นในลำน้ำโขง มีระยะทางแข่งขัน 3 กิโลเมตร มีร่องน้ำที่ไหลเชี่ยวยากลำบากมากในการแข่งขัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ชนะคือผู้เก่งที่สุดในแถบลุ่มน้ำโขง

 

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอเมือง

 สนามกอล์ฟภูกระแต มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ตั้งอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคนครพนม รอบอ่างเก็บน้ำภูกระแตเป็นสนามกอล์ฟที่ได้มาตรฐานแห่งหนึ่งในประเทศ มีขนาด 9 หลุม ธรรมชาติสวยสดงดงามมาก อยู่ห่างจากอำเภอเมืองเพียง 4 กิโลเมตร ตามเส้นทางนครพนม-สกลนคร เลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 700 เมตร อาจกล่าวได้ว่าเป็นสนามกอล์ฟที่สวยงามที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งหากใครได้มีโอกาสมาสัมผัสเที่ยวชมแล้วจะเป็นภาพประทับใจอยู่ในความทรงจำตลอดไป
สวนหลวง ร.9 จังหวัดนครพนม สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชสักการะ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนม พรรษาครบ 5 รอบ เป็นสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนครพนมทางด้านทิศเหนือ
เขื่อนหน้าเมืองนครพนม เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่อยู่ในเขตเทศบาลเมือง สำหรับชมทิวทัศน์อันวิจิตรของแม่น้ำโขง ซึงเป็นเส้นใยสำคัญไหลผ่านตัวเมือง ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยสดงดงาม โดยเฉพาะภาพพระอาทิตย์ที่โผล่ทิวเขาเหนือลำน้ำโขงนั้น เป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่ง บริเวณเขื่อนหน้าเมืองนี้อยู่ตรงข้ามกับเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สวนสาธารณะและหาดทรายท้ายเมือง นับเป็นหาดทรายน้ำจืดที่สวยงามมาก จะมีลักษณะเป็นหาดทรายในฤดูแล้ง (ราวเดือนมีนาคม-เมษายน) บริเวณหาดทรายจะยื่นยาวออกไปกลางลำน้ำโขง ทำให้ห่างจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไม่มากนัก หาดทรายนี้จะอยู่ตรงข้ามกับที่ทำการแขวงคำม่วนพอดี เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและชมความงามของธรรมชาติ
วัดโอกาสศรีบัวบาน เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ มีศาลเจ้าหมื่น รวมทั้งพระติ้ว พระเทียม ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพสักการะของพระพุทธศาสนิกชนทั่วไป และพระพรหมา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2181 โดยเจ้าผู้ครองอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ และพระศิลา (ทำด้วยหิน) ตลอดจนจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก วัดนี้อยู่ริมฝั่งโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนม

 สถานที่ท่องเที่ยว ตามเส้นทางสายอำเภอเมือง-เรณูนคร-ธาตุพนม-นาแก
(ทางหลวงหมายเลข 212, 223)

  อำเภอเรณูนคร อยู่ห่างจากพระธาตุพนม 15 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดนครพนมไปทางใต้ 52 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 212 ถึงประมาณกิโลเมตรที่ 44 เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2031 อีกประมาณ 7 กิโลเมตร ทางลาดยางตลอด เรณูนครเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวผู้ไทย ซึ่งยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี อาทิ ธรรมเนียมการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ การเลี้ยงอาหารแบบพาแลง การชวนดูดอุ การฟ้อนรำผู้ไทย นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกต่างๆ ไว้บริการนักท่องเที่ยวและประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียงอีกมากมาย โดยเฉพาะบริเวณวัดพระธาตุ เรณูนคร และตลาดอำเภอเรณูนคร
การฟ้อนผู้ไทยนับเป็นการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมแบบพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวผู้ไทย ที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน จากบรรพบุรุษของชาวเผ่าผู้ไทย ในสมัยก่อนเรียกการฟ้อนรำแบบนี้ว่า “ฟ้อนละครไทย” เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกัน โดยการจับกลุ่มเล่นฟ้อนรำกัน อย่างสนุกสนาน ในงานเทศกาลเดือนห้าและเดือนหก ซึ่งจะมีประเพณีบุญบ้องไฟและมีการเฉลิมฉลองเพื่อนมัสการองค์พระธาตุเรณู ในการฟ้อนรำสมัยก่อนนั้น เป็นการฟ้อนรำตามความถนัด และความสามารถ ความชำนาญของแต่ละบุคคล ไม่ได้เน้นความเป็นระเบียบหรือความพร้อมเพรียงกัน แต่เน้นลีลาท่าฟ้อนรำต่างๆ ที่แสดงออกมา ส่วนมากเป็นผู้ชายล้วนๆ จับกลุ่มฟ้อนรำกันเพื่ออวดสาวๆ ปัจจุบันเป็นการฟ้อนรำของหญิงชายคู่กัน โดยยึดการรำแบบดั้งเดิมเป็นหลัก นับเป็นศิลปะที่สวยงามละเอียดอ่อนหาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบัน การฟ้อนผู้ไทย และการเลี้ยงอาหารแบบพาแลงนี้ สามารถติดต่อสอบถามขอทราบรายละเอียดได้ที่
- ส่วนราชการต่างๆ ภายในที่ว่าการอำเภอเรณูนคร โทร. (042) 511399
- ชมรมชาวผู้ไทยเรณูนคร โดยคุณชัยบดินทร์ สาลีพันธ์ โทร. (042) 511624, 511399
- วัดพระธาตุเรณูนคร
- โรงเรียนต่างๆ ในอำเภอเรณูนคร
พระธาตุเรณูนคร ประดิษฐานอยู่ ณ บ้านเรณูนคร อำเภอเรณูนคร สร้างขึ้น พ.ศ. 2461 โดยจำลองมาจากองค์พระธาตุพนม สูง 35 เมตร กว้าง 8.37 เมตร มีซุ้มประตู 4 ด้าน ภายในเป็นโพรงบรรจุพระไตรปิฎกพระพุทธรูปทองคำภายในวัดพระธาตุเรณูนคร นอกจากมีองค์พระธาตุเรณูนครแล้ว ยังมีพระพุทธรูปพระองค์แสน น้ำหนัก 1,200 กิโลกรัม หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร ประกอบด้วยพุทธลักษณะสวยงามมาก ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์วัดพระธาตุเรณูนคร
พระธาตุพนม ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ในเขตอำเภอธาตุพนม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 50 กิโลเมตร (ทางหลวงหมายเลข 212) ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200-1400 ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมาในปี พ.ศ. 2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น “วรมหาวิหาร” ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม และประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม ปัจจุบันองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม งานนมัสการองค์พระธาตุเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
พระธาตุศรีคูณ เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของชาวนาแก ตั้งอยู่ในกลางอำเภอนาแก ห่างจากอำเภอธาตุพนม ตามทางหลวงสาย 212 ประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงสาย 223 ไป 20 กิโลเมตร ถึงอำเภอนาแก เลี้ยวซ้ายถึงวัดพระธาตุศรีคูณ ซึ่งเป็นที่ตั้งพระธาตุศรีคูณ มีลักษณะส่วนบนคล้ายพระธาตุพนม ต่างกันตรงที่ชั้นที่ 1 มี 2 ตอน เป็นรูปสี่เหลี่ยม ประดับลวดลายปูนปั้น และชั้นที่ 2 สั้นกว่าพระธาตุพนม
ลานสาวคอย ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลานหินเรียบ มีต้นไม้เบญจพรรณขึ้นประปราย เมื่อขึ้นถึงลานหินนี้แล้ว สามารถมองเห็นยอดพระธาตุพนม รวมทั้งหนองหารในจังหวัดสกลนครได้เป็นอย่างดี ทั่วพื้นที่มีทิวทัศน์สวยงาม ความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้เนื่องมาจากหนุ่มสาวชาวบ้านสมัยก่อนเวลาจะไปหาของป่าจะนัดหมายมาคอยกันที่นี่ หรือมาเที่ยวชมความงามกันที่นี่ตลอดเวลา เลยได้ชื่อว่าลานสาวคอย
การเดินทาง ห่างจากอำเภอนาแกประมาณ 6 กิโลเมตร ถนนเป็นถนนลูกรังใช้ได้ทุกฤดูกาล รถยนต์สามารถขึ้นไปถึงบริเวณลานสาวคอยได้

สถานที่ท่องเที่ยว ตามเส้นทางสายท่าอุเทน-ศรีสงคราม-บ้านแพง
(ทางหลวงหมายเลข 212)

   พระธาตุท่าอุเทน ประดิษฐานอยู่ ณ บ้านท่าอุเทน รูปทรงคล้ายพระธาตุพนม สูงจากพื้นดินถึงยอด 33 วา ฐานกว้างด้านละ 6 วา 3 ศอก พระอาจารย์ศรีทัตถ์เป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2455 พระธาตุนี้เป็นศิลปกรรมและปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งองค์หนึ่ง บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ซึ่งพระอาจารย์ศรีทัตถ์ได้อัญเชิญมาจากเมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า การเดินทางไปนมัสการพระธาตุท่าอุเทน จากตัวเมืองนครพนม ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 ไปยังอำเภอท่าอุเทน 26 กิโลเมตร ถึงที่ว่าการอำเภอท่าอุเทนซึ่งอยู่ใกล้วัดพระธาตุท่าอุเทน และอยู่ตรงข้ามกับเมืองหินบูรณ์ แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (เป็นเมืองประวัติศาสตร์ของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ในอดีต)
พระบางวัดไตรภูมิ หมู่ 3 ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร สูง 80 นิ้ว แท่นสูง 2 นิ้วครึ่ง ฐานรูป 8 เหลี่ยม สูง 15 นิ้ว และฐานตั้งอยู่บนช้าง 8 เชือก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2008 เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เชื่อกันว่าถ้านำออกมาแห่จะทำให้ฝนตก เมื่อพิธีแห่สงกรานต์ต้องนำพระบางออกมาแห่ การเดินทางจากจังหวัดนครพนมไปท่าอุเทน 26 กิโลเมตร ถึงอำเภอท่าอุเทน มีรถสามล้อรับจ้างไปส่งวัดไตรภูมิมากมาย
ภูลังกา อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอบ้านแพง ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวจังหวัดใช้เส้นทางสายนครพนม-บ้านแพง ทางหลวงสาย 212 ระยะทางประมาณ 92 กิโลเมตร ทางลาดยางตลอด ภูลังกาเป็นต้นกำเนิดของน้ำตก และลำธารใหญ่น้อยหลายสาย เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ของดอกไม้ กล้วยไม้ และพรรณไม้นานาชนิด
น้ำตกตาดขาม ใช้เส้นทางงเดียวกับทางไปภูลังกา ต้นลำธารเกิดจากเทือกเขาภูลังกา ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ลำธารนี้ไหลมาบรรจบกันเกิดเป็นลำห้วยขาม เป็นน้ำตกไหลหลั่นลงมาถึง 4 ชั้น สภาพโดยรอบบริเวณร่มรื่นเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว และพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง สภาพการเดินทางสะดวก ปัจจุบันมีถนนลาดยางเข้าไปถึงน้ำตกได้ทุกเวลา
น้ำตกตาดโพธิ กำเนิดจากเทืออกเขาภูลังกา อยู่ใกล้กับน้ำตกตาดขาม ห่างกันประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะสวยงามไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะในฤดูฝนสามารถมองเห็นน้ำตกนี้ได้จากทางหลวงแผ่นดินที่เลียบแม่น้ำโขง การเดินทางอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 11 กิโลเมตร รถยนต์ไม่สามารถเข้าไปถึงตัวน้ำตกได้ต้องเดินขึ้นไปประมาณชั่วโมงเศษ สองข้างทางร่มรื่นเหมาะแก่การชมความงามของธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง
 พระธาตุประสิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุประสิทธิ์ หมู่ที่ 13 ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 98 กิโลเมตร เป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า ประชาชนในท้องที่ใกล้เคียงเคารพนับถือมาก
การเดินทาง จากตัวเมืองนครพนม ไปตามทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอท่าอุเทนถึงบ้านนาขมิ้น จะมีทางหลวงหมายเลข 2032 แยกซ้ายมือเข้าอำเภอศรีสงคราม ระยะทาง 72 กิโลเมตร จากอำเภอศรีสงครามไปอำเภอนาหว้าระยะทาง 26 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางตามทางหลวงหมายเลข 2132 ถึงบริเวณวัด

สถานที่ท่องเที่ยว ตามเส้นทางสายนครพนม-สกลนคร
(ทางหลวงหมายเลข 22)

  พระธาตุมหาชัย ประดิษฐาน ณ วัดโฆษดาราม ตำบลมหาชัย อำเภอปลาปาก ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร ตามเส้นทางนครพนม-สกลนคร ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 2276 เข้าวัดอีก 1.8 กิโลเมตร ถนนคอนกรีตถึงบริเวณวัดพระธาตุมหาชัย เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง เพราะเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันต์สารีริกธาตุ ภายในพระอุโบสถวัดโฆษดารามนอกจากพระประธานคือ พระพุทธไชยสิทธิ์แล้วยังมีพระพุทธรูปสลักจากไม้ต้นสะเดาหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภาพเขียนบนฝาผนังอุโบสถแสดงพุทธประวัติ มีลวดลายศิลปกรรมที่งดงามหาดูได้ยากยิ่งในภาคอีสาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระธาตุมหาชัย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 อันเป็นวันวิสาขบูชา และที่วัดโฆษดารามนี้ยังเป็นที่จำพรรษาของท่านพระครูสุนทรธรรมโฆษิต (หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ) พระเกจิอาจารย์สายวิปัสนาที่สำคัญองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวนครพนมและชาวอีสานทั่วไป

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่นครพนม