แผนที่นครศรีธรรมราช

  • แผนที่นครศรีธรรมราช
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

นครศรีธรรมราช

เราชาวนคร อยู่เมืองพระมั่นอยู่ในสัจจะศีลธรรม กอรปกรรมดี มีมานะ 
พากเพียรไม่เบียดเบียนทำอันตรายผู้ใด
 

คนนครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีเสน่ห์น่าไปเยือนมากเมืองหนึ่งนอกจากจะมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม เช่นเขาหลวง หรือชุมชนพัฒนาตัวอย่าง ที่บ้านคีรีวง ที่เมืองนครฯก็ยังเป็นแหล่งศิลปะวัฒนธรรม ทั้งหนังตะลุง โนรา ที่แฝงไว้ด้วยคติธรรม และเป็นเมืองพุทธในแดนใต้ ดังมีพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มรดกทางวัฒนธรรมที่เมืองนครมีอยู่ในปัจจุบันนั้นได้รับการสะสมมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1800 ปี
“ตามพรลิงค์” คือแคว้นที่เคยตั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชปัจจุบัน ได้รับการบันทึกอยู่ในเอกสารมิลินทปัญหาของอินเดียตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 5 และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พ่อค้าจากอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง ด้วยเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ตั้งอยู่บนคาบสมุทรที่กั้นน่านน้ำทั้งสองด้าน จึงเหมาะที่จะเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนสินค้าจากทั้งสองฝั่งสมุทร และประกอบกับมีอ่าวที่เป็นท่าจอดเรือได้ พร้อมกันนั้นศาสนาพราหมณ์ก็ได้แพร่เข้ามาด้วย พบหลักฐานมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-14
ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 14-16 อาณาจักรศรีวิชัยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองครหิ ไชยา มีอำนาจปกครองเหนือดินแดนแถบคาบสมุทร พุทธศาสนา นิกายมหายาน จึงได้แพร่เข้ามาที่แคว้นตามพรลิงค์ด้วย
เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 17-18 แคว้นตามพรลิงค์รุ่งเรืองสูงสุด ผู้ครองแคว้นตั้งตนเป็นกษัตริย์ทรงนามพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พร้อมกันนั้นได้ สถาปนาราชวงศ์ปทุมวงศ์ และแผ่อิทธิพลรวมทั้งพุทธศาสนาไปยังเมืองต่างๆในภาคใต้ จนเป็นที่ยอมรับว่า นครศรีธรรมราช เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยนั้น
เมืองนครศรีธรรมราช หรือ นครอันเป็นสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม รุ่งเรืองอยู่ประมาณร้อยกว่าปี และเสื่อมลงเมื่อยกทัพไปตีเมืองลังกา และโจรชวาถือ โอกาสเข้าปล้นเมืองถึง 3 ครั้งประกอบกับเกิดไข้ห่าระบาด จึงเป็นเหตุให้บ้านเมืองถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งสมัยอยุธยา ผู้คนเริ่มกลับมาตั้ง บ้านเมืองใหม่อีกครั้ง และนครศรีธรรมราชได้กลายมาเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรอยุธยา
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ตำแหน่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่างอยู่ หลวงสิทธนายเวรมหาดเล็ก (หนู) ซึ่งออกไปรับราชการตำแหน่งปลัดเมืองเป็นผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้นทราบว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ไม่มีเจ้านายปกครองประเทศ หลวงสิทธิจึงตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชเป็นอิสระอยู่ก๊กหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2312 พระเจ้ากรุงธนบุรียาตรากองทัพไปปราบจับตัวเจ้านคร (หนู) ได้ และมีพระราชดำริว่า เจ้านครมิได้มีใจกบฏคิดร้ายต่อประเทศ แต่ตั้งตัวขึ้นเนื่องจากบ้านเมืองเป็นจลาจล จึงโปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และให้เจ้านราสุริยวงศ์หลานเธอ ออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริว่า เจ้านคร (หนู) ได้เข้ามารับราชการมีความจงรักภักดี และได้ถวายธิดาทำราชการ มีราชบุตร (คือพระพงษ์นรินทรและพระอินทร์อภัย) เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านครออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขันธสีมา (หนู) เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ จุลศักราช 1138 (พ.ศ. 2319) ปีวอกอัฐศก ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มีพระราชดำริว่า พระเจ้านครศรีธรรมราช มีความชราทุพพลภาพ ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ จึงโปรดให้ออกจากตำแหน่ง กลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และโปรดให้เจ้าอุปราช (พัฒน์) บุตรเขยเจ้านคร ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน 8 แรม 11 ค่ำ จุลศักราช 1146 (พ.ศ. 2327) ปีมะโรงศก แต่โปรดให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีแต่เดิมเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองนครศรีธรรมราชจึงเป็นเมืองที่เคยมีกษัตริย์ปกครอง และมีฐานะเป็นประเทศราช 8 ปี มีเกร็ดย่อยคือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) มีความชราภาพ จึงทรงยกขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และทรงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) บุตรเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)คนใหม่ แต่มีเรื่องปรากฏหลักฐานในสมัยนั้นว่า เจ้าพระยานคร (น้อย) นี้ที่จริงเป็นราชบุตรลับของพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากเมื่อครั้งเจ้านคร (หนู) ทำราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี และถวายธิดาทำราชการฝ่ายในแก่พระเจ้ากรุงธนบุรี และมีน้องสาว (ปราง) มาอยู่ด้วยในวังคนหนึ่ง ความปรากฏตามพงศาวดารว่า เจ้าพระยาพิชัยราชา เจ้าเมืองสวรรคโลกให้ไปขอ เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ทรงพระพิโรธ ว่าเจ้าพระยาพิชัยราชาบังอาจจะเป็นคู่เขยของพระองค์ ให้เอาไปประหารเสีย ต่อมาวงศ์ญาติเจ้านคร จึงนำธิดา(ปราง)คนนี้ถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี เสีย ต่อมาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เมื่อครั้งยังเป็นอุปราชเมืองนครอยู่ ภริยาซึ่งเป็นบุตรเจ้านคร (หนู) เสียชีวิต เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ทำความชอบได้เข้าเฝ้าครั้งหนึ่ง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าภริยาเสียชีวิต ก็สงสารจึงจะพระราชทานธิดาเจ้านคร (หนู) ให้ใหม่ และให้นำตัวธิดาคนเล็กเจ้านคร (หนู) ไปพระราชทาน แต่นางในกระซิบว่า ดูเหมือนว่านางจะขาดระดูอยู่ แต่พระเจ้ากรุงธน ตรัสว่า "ได้ออกปากให้เขาแล้ว ก็พาไปเถอะ" เมื่อท้าวนาง พาธิดาเจ้านครไปส่งนั้น เจ้าอุปราช (พัฒน์) ก็ทราบความลับนั้น มีความยำเกรงพระบารมีก็ต้องรับไว้เป็นท่านผู้หญิงกิตติมศักดิ์ อยู่ตลอดอายุ และนางนั้นก็มีบุตรกับเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เพียงคนเดียว คือ เจ้าพระยานคร (ปริก)

นครศรีธรรมราชแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง อำเภอชะอวด อำเภอทุ่งสง อำเภอท่าศาลา อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอสิชล อำเภอลานสกา อำเภอพิปูน อำเภอหัวไทร อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอฉวาง อำเภอขนอม อำเภอนาบอน อำเภอพรหมคีรี อำเภอบางขัน อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอพระพรหม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอนบพิตำ และอำเภอช้างกลาง

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่าวไทย
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดพัทลุง สงขลา
ทิศตะวันออก ติดกับชายทะเลฝั่งอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดตรัง และกระบี่

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-นครศรีธรรมราช

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ โดยทางหลวงหมายเลข 35 (สายธนบุรี-ปากท่อ) แยกเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4 หรือจะใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์จนถึงชุมพร เปลี่ยนมาใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอทุ่งสง อำเภอร่อนพิบูลย์ จนถึงนครศรีธรรมราช หรือจะเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านนครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงอำเภอท่าฉาง จังหวัดชุมพร แล้วจากนั้นให้แยกเข้าสู่สุราษฎร์ธานีโดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 401 เลียบชายฝั่งทะเลไปจนถึงนครศรีธรรมราช

ทางรถประจำทาง

รถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารปรับอากาศชั้นหนึ่ง และรถโดยสารธรรมดาออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี (ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490 นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัทเอกชน ได้แก่
กรุงสยามทัวร์ โทร. 282-0261, 280-2118 หรือ โทร. (075) 341665
นครศรีทัวร์ โทร. 435-5033, 435-5025 หรือโทร. (075) 342134
โสภณทัวร์ โทร. 281-2882-3 หรือ โทร. (075) 341221
นครศรีร่มเย็นทัวร์ โทร. 435-7428, 435-5016, 433-0722 หรือ โทร. (075) 344373, 315390

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ มีขบวนรถเร็ว และรถด่วน กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช ออกจากสถานีกรุงเทพฯ ถึงนครศรีธรรมราช ระยะทาง 832 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีขบวนรถด่วน และรถเร็วอีกหลายขบวนผ่านสถานีชุมทางทุ่งสง ซึ่งสามารถจะต่อรถไฟ หรือรถยนต์เข้าสู่นครศรีธรรมราชได้อีกต่อหนึ่ง ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 1690 หรือที่ สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช โทร. (075) 356364

ทางเครื่องบิน

สายการบินนกแอร์มีเที่ยวบินไป-กลับนครศรีธรรมราชทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 1318, 0 2900 9955 เว็บไซต์ www.nokair.com สายการบินไทยแอร์เอเชียมีเที่ยวบินไป-กลับนครศรีธรรมราช ออกทุกวัน สอบถามข้อมูลได้ที่โทร. 0 2515 9999 เว็บไซต์ www.airasia.com

การเดินทางภายในนครศรีธรรมราช

ในตัวเมืองนครศรีธรรมราชมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบ ตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งนครศรีธรรมราช โทร. 0 7534 1125

นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวไปยังแหล่งท่องเที่ยว เช่น ในอำเภอลานสกา นบพิตำ ทุ่งสง ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คิวรถจะอยู่ในสถานีขนส่ง

ระยะทางจากอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอพระพรหม 15 กิโลเมตร

อำเภอพรหมคีรี 21 กิโลเมตร

อำเภอลานสกา 21 กิโลเมตร

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ 22 กิโลเมตร

อำเภอท่าศาลา 28 กิโลเมตร

อำเภอร่อนพิบูลย์ 32 กิโลเมตร

อำเภอปากพนัง 36 กิโลเมตร

อำเภอจุฬาภรณ์ 50 กิโลเมตร

อำเภอช้างกลาง 50 กิโลเมตร

อำเภอเชียรใหญ่ 52 กิโลเมตร

อำเภอนบพิตำ 52 กิโลเมตร

อำเภอทุ่งสง 55 กิโลเมตร

อำเภอสิชล 66 กิโลเมตร

อำเภอหัวไทร 66 กิโลเมตร

อำเภอฉวาง 71 กิโลเมตร

อำเภอชะอวด 71 กิโลเมตร

อำเภอนาบอน 72 กิโลเมตร

อำเภอพิปูน 93 กิโลเมตร

อำเภอบางขัน 94 กิโลเมตร

อำเภอขนอม 100 กิโลเมตร

อำเภอทุ่งใหญ่ 102 กิโลเมตร

อำเภอถ้ำพรรณรา 103 กิโลเมตร

  ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เนื่องจากพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเสมือนตัวแทนของพระพุทธศาสนา และชาวนครฯ เชื่อมั่นว่ามีบุญญาภินิหารหาที่เปรียบมิได้ ทั้งนี้เพราะว่าภายในเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในปีหนึ่งๆ จะต้องมีการบูชาบวงสรวง นำผ้ามาห่อหุ้มองค์เจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคลอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในการดำรงชีพทุกด้าน ประเพณีนี้จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ซึ่งจะทำกัน ในวันมาฆบูชา คือในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 และในวันวิสาขบูชา คือในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พุทธศาสนิกชนทั่วไปจัดขบวนแห่ผ้าพระบฏนำขึ้นไปถวายสักการะในเวลากลางคืน จะเวียนเทียนร่วมกัน เสร็จจากเวียนเทียนแล้วก็จะเที่ยวชมมหรสพพื้นบ้านกัน
ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มากของชาวภาคใต้และนครศรีธรรมราช งานประเพณีนี้เริ่มในวันแรม 9 ค่ำ ถึงขึ้น 3 ค่ำ เดือน 10 ของทุกๆ ปี ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบุพการีซึ่งล่วงลับไปแล้ว เชื่อว่าผู้ที่มีบาปมากจะถูกปล่อยตัวจากนรก เพื่อให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ ในวันแรม 13 ค่ำ เดือนสิบ และให้กลับลงไปอยู่ในนรกดังเดิมก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ดังนั้นจึงมีการทำบุญตามวัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เริ่มในวันแรม 13 ค่ำ ซึ่งเป็น “วันจ่าย” หมายถึง วันออกจับจ่ายซื้อของ ที่จำเป็นในการจัดตกแต่ง “หมฺรับ” (สำรับ) ในวันแรม 14 ค่ำ คือวัน “ยกหมฺรับ” หมายถึงการยก “หมฺรับ” ไปวัด หรือวันรับตายายและวันที่ผู้ล่วงลับจะต้องกลับลงไปอยู่ในนรกตามเดิม คือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่า “วันบังสกุล” หรือวันส่งตายาย สำหรับหมฺรับในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาจากการจัดหมฺรับแบบดั้งเดิม เป็นการจัดตกแต่งให้สวยงามมากขึ้น โดยมีอุปกรณ์ประกอบครบถ้วนตามแบบโบราณและจัดให้มีการแข่งขันการจัดหมฺรับขึ้นอีกด้วย โดยจะมีขบวนพิธี แห่หมฺรับรับแห่แหนกันอย่างสวยงามตลอดแนวถนนราชดำเนิน ในวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ
ประเพณีชักพระ หรือ ลากพระ อิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียได้กระจายสู่แนวคิดของชาวนครฯ สืบต่อกันมา ถือว่าเป็นการแสดงความยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ จึงอัญเชิญขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้ แล้วแห่แหนไปยังที่ประทับ ส่วนเหตุผลที่แท้จริงของชาวนครฯ ในการปฏิบัติคือเป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ของวัดออกแห่แหน หลังจากอยู่ในพรรษานานแล้ว เพื่อเป็นการผ่อนคลายความจำเจและประกวดประขันความเลื่อมใสศรัทธากัน มีทั้งทางบก ซึ่งเรียกว่า “ลากพระบก” และทางน้ำ เรียกว่า “ลากพระน้ำ” จะทำกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยก่อนหน้านั้นประมาณ 7 วัน จะมีการตีกลอง รัวกรับ เรียกว่า “คุมพระ” และตกแต่งทำบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร (พระลาก) การลากพระนิยมทำกันในวันออกพรรษาเพียงวันเดียว โดยลากออกจากวัดตอนเช้าและกลับวัดตอนเย็น
งานเทศกาลมังคุดหวาน และของดีเมืองคอน เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลไม้ต่างๆ ของเมืองนครฯ โดยเฉพาะมังคุด ซึ่งมีการปลูกกันมากตามอำเภอต่างๆ การบริโภคมังคุดในเมืองนครฯ นี้ มีวิธีที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ คือ บริโภคในขณะมังคุดยังดิบอยู่ เรียกว่า “มังคุดคัด” กรรมวิธีคือ นำเอามังคุดดิบที่ได้คัดขนาดไว้แล้ว มาคัด (ปอก) เอเปลือกออกโดยที่เนื้อมังคุดยังขาวสะอาดอยู่ รสชาดของมังคุดจะหวานอมเปรี้ยว นอกจากจะเป็น การเผยแพร่ผลไม้สำคัญ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อน” แล้วยังเป็นการเผยแพร่ศิลปหัตถกรรมของชาวเมืองนครฯ อีกด้วย เช่น การจักสานย่านลิเพา การทำเครื่องถม ช่วงเวลาของการจัดงานจะอยู่ในระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูที่มีมังคุดออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดทั่วไป
กีฬาชนวัว ถือเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้อย่างหนึ่ง และเป็นกีฬาท้องถิ่นอันสืบทอดมาเป็นเวลานาน ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีวิธีการอย่างละเอียดและมีขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกโคตัวผู้พันธุ์ดี ลักษณะดี สายเลือดดี เพื่อเลี้ยงและฝึกฝนอย่างใกล้ชิด การชนโค จะจัดให้มีขึ้นทุกสัปดาห์โดยหมุนเวียนกันไปตามอำเภอต่างๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวจังหวัดมากนัก ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอปากพนัง อำเภอฉวาง และอำเภอทุ่งสง

 

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ ณ หอพระพุทธสิหิงค์ ตั้งอยู่ระหว่างศาลากลางจังหวัดและศาลจังหวัด แต่เดิมเป็นหอพระประจำวังของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช อยู่ในบริเวณที่ตั้งวังเดิมของเจ้าพระยานคร (น้อย) พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ที่ชาวไทยสักการะบูชามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล และมีอยู่หลายองค์ด้วยกันกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ แต่ที่ถือว่าเป็นองค์แท้จริงมีเพียงสามองค์ คือ องค์แรกประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร องค์ที่สองประดิษฐาน ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และองค์ที่สามประดิษฐาน ณ หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามประวัติกล่าวว่าจำลองมาจากองค์ที่อัญเชิญมาจากลังกา เพื่อไปประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย เมื่อประมาณ พ.ศ. 1845-1941 นอกจากพระพุทธสิหิงค์แล้วยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยอยุธยาประทับนั่งอยู่ ชาวนครเรียกว่า “พระเงิน” และด้านหลังของหอ เป็นที่เก็บอัฐิเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในสกุล ณ นคร
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง มีเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศจดทะเบียนวัดพระมหาธาตุเป็นโบราณสถาน นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ ตามตำนานกล่าวว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 854 สร้างมามากกว่า 1,500 ปี มีศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย โดยเจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลาและบาคู (นักบวช) ชาวลังกา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วและสร้างเจดีย์องค์เล็กๆ เพื่อเป็นที่หมายไว้ ต่อมาปี พ.ศ. 1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นพร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นทรงศาญจิ และในปี พ.ศ. 1770 พระองค์จึงได้รับเอาพระภิกษุจากลังกามาตั้งคณะสงฆ์ และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมทรงลังกา อันเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือ เป็นทรงระฆังคว่ำ หรือโอคว่ำ มีปล้องไฉน 52 ปล้อง รอบพระมหาธาตุมีเจดีย์ 158 องค์ สูงจากฐานถึงยอด 37 วา 2 ศอก ยอดสุดของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา 1 ศอก แผ่เป็นแผ่นหนาเท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่ง (หรือ 960 กิโลกรัม)
ภายในวัดพระมหาธาตุฯ วิหารที่มีความสำคัญหลายองค์ประดิษฐานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหลวงซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วิหารสามจอมมีพระพุทธรูป “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ วิหารพระมหาภิเนษกรม (พระทรงม้า) ทางขึ้นไปบนลานประทักษิณ วิหารทับเกษตร วิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกาซึ่งเป็นที่จัดและแสดงโบราณวัตถุ
วัดเสมาชัย เป็นแหล่งประดิษฐานปราสาทอิฐ 3 หลัง และศิลาจารึกจันทรภาณุ หลักที่ 24 ปัจจุบันศิลาจารึกดังกล่าวได้ถูกย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพฯ แล้ว ยังคงเหลือร่องรอยแต่พระพุทธรูปปั้น เรียกว่า “หลวงพ่อเสมาชัย 3 องค์” ทางด้านหน้า อนึ่ง วัดนี้มีบ่อน้ำก่อด้วยอิฐเล็กๆ ปัจจุบันมีต้นโพธิ์ขึ้นโอบ เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนครฯ ใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์สืบมาทุกพระองค์
 วัดเสมาเมือง ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน เป็นแหล่งประดิษฐานปราสาทอิฐ 3 หลัง และศิลาจารึกจันทรภาณุ หลักที่ 24 ปัจจุบันศิลาจารึกดังกล่าวได้ถูกย้ายไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่กรุงเทพฯ แล้ว ยังคงเหลือแต่ร่องรอยแต่พระพุทธรูปปูนปั้น เรียกว่า “หลวงพ่อเสมาชัย 3 องค์” ทางด้านหน้า อนึ่งวัดนี้มีบ่อน้ำเล็กๆ ก่อด้วยอิฐ ปัจจุบันมีต้นโพธิ์โอบ เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนครฯ ใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์สืบมาทุกพระองค์
เก๋งจีนวัดประดู่และวัดแจ้ง ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินใกล้กับสนามกีฬาจังหวัด เป็นวัดคู่แฝด ก่อสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประดิษฐานบัวบรรจุอัฐิของพระยานคร และเชื่อว่ารวมถึงพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย
ศาลาโดหก หรือ ศาลาประดู่หก อยู่ริมถนนราชดำเนิน ระหว่างโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชกับจวนผู้ว่าราชการจังหวัด ชาวบ้านเรียกว่า หลาหน้าเมือง เป็นศาลานอกกำแพงเมืองตรงประตูชัยเหนือแต่โบราณ อันเป็นที่พักของคนเดินทาง ซึ่งเข้าเมืองไม่ทัน เพราะประตูเมืองปิดเสียก่อน เดิมศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างต้นประดู่ (ต้นโด) หกต้น ชาวนครเรียกว่า “หลาโดหก” ศาลาหลังที่มีอยู่ในทุกวันนี้สร้างขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยอยู่ริมถนนราชดำเนิน ส่วนต้นประดู่ทั้งหกต้นได้ตายไปหมดแล้ว ทางเทศบาลจึงปลูกขึ้นใหม่จำนวนเท่าเดิม เพื่อเป็นที่ระลึกถึงประดู่ (โด) ทั้งหกต้น
จวนออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาซา) ออกญาเสนาภิมุข เป็นชาวญี่ปุ่น เดิมชื่อ ยามาดา นางามาซา มาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรมในฐานทหารรับใช้พระเจ้าแผ่นดิน มีโอกาสทำความดีความชอบพิเศษหลายครั้งจนกระทั่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข และได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่ไปกินเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2172 ปัจจุบันมีบริเวณที่แสดงร่องรอยว่าเคยเป็นจวนที่พักของออกญาเสนาภิมุขในจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ที่บริเวณร้านอาหารแกงส้มในเมือง ถนนนางงาม ข้างศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
หอพระอิศวรและเสาชิงช้า หอพระอิศวร เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์ อยู่ริมถนนราชดำเนิน เดิมเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปอิศวรหลายองค์ เป็นปางหรือภาคต่างๆ กัน เทวรูปทั้งหมดนี้หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ นับว่าเก่าแก่มีค่ายิ่งนัก กรมศิลปากรได้บูรณะเมื่อ พ.ศ. 2509 และได้นำเอาเทวรูปต่างๆ ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดมหาธาตุ ส่วนเสาชิงช้าได้สร้างขึ้นใหม่โดยจำลองแบบมาจากเสาชิงช้าในกรุงเทพฯ แต่เล็กกว่า สำหรับโบสถ์พราหมณ์ได้พังทลายลงแต่มิได้สร้างขึ้นใหม่
หอพระนารายณ์ โบราณสถานในศาสนาพราหมณ์อีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตรงกันข้ามกับหอพระอิศวร และไม่ปรากฏหลักฐานแสดงยุคสมัยและรูปแบบสถาปัตยกรรมในการก่อสร้างเช่นกัน ภายในหอพระนารายณ์เดิมเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์สลักจากหินทรายสีเทาทรงหมวกรูปกระบอกปลายสอบ และพระหัตถ์ขวาทรงสังข์ ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช และโบราณวัตถุที่ตั้งแสดงอยู่ในหอพระนารายณ์ขณะนี้คือ เทวรูปปูนปั้นลักษณะคล้ายพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระกรสองข้างหักหายไปประดิษฐานอยู่แทน ทั้งหอพระอิศวรและหอพระนารายณ์สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 13-14 (สมัยศรีวิชัย) แต่ทรงที่เห็นในปัจจุบันไม่เหมือนของเดิม เพราะได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง
พระวิหารสูง หรือ หอพระสูง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโบราณนครศรีธรรมราช ด้านทิศเหนือในบริเวณสนามหน้าเมือง ถนนราชดำเนิน เรียกชื่อตามลักษณะของการก่อสร้างของพระวิหารซึ่งสร้างบนเนินดินที่สูงกว่าพื้นปกติถึง 2.10 เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงประวัติอย่างแท้จริง แต่สามารถสันนิษฐานจากลักษณะของสถาปัตยกรรม ประติมา กรรมและจิตรกรรมฝาผนังว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย รวมพุทธศตวรรษที่ 23-24 ภายในพระวิหารประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นแกนดินเหนียว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 23-24 หรือในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
อนุสาวรีย์วีรไทย หล่อด้วยทองแดงรมดำเป็นรูปทหารสองมือจับปืนติดดาบเตรียมแทง ชาวบ้านเรียกว่า “จ่าดำ” หรือ “เจ้าพ่อดำ” สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ของทหารไทยในภาคใต้ที่เสียชีวิตในการปะทะกับทหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะทหารจากมณฑลทหารบกที่ 6 ค่ายวชิราวุธ นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ประดิษฐานอยู่บนถนนราชดำเนินในค่ายวชิราวุธอันเป็นที่ตั้งกองทัพภาคที่ 4 ปัจจุบัน
สระล้างดาบ คือสระล้างดาบที่ใช้ประหารศรีปราชญ์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ศรีปราชญ์ได้ถูกเนรเทศมาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาได้เกิดเรื่องกับเจ้าพระยานครฯ และถูกสั่งประหาร ก่อนถูกประหารศรีปราชญ์ได้เขียนคำโคลงไว้ว่า เมื่อตนไม่ผิด แต่ถูกสั่งประหารก็ขอให้ดาบนี้คืนสนอง ต่อมาเมื่อความทราบถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงกริ้วพระยานครมาก จึงสั่งให้ประหารชีวิตเจ้าพระยานครด้วยดาบเล่มเดียวกัน สระล้างดาบในปัจจุบันอยู่ภายในโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด (โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช)
สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ 11 นครศรีธรรมราช พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในเขตตำบลในเมือง ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวัดสวนหลวงตะวันออกมาก่อน ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2517เดิมจัดแสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบในเขตหน่วยศิลปากรที่ 8 คือในแถบภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และชุมพร ส่วนสาขาหอสมุดแห่งชาติเปิดบริการให้ประชาชนเข้าใช้ได้เมื่อ พ.ศ. 2519 ซึ่งมีหนังสือเก่าที่หายาก และหนังสือสำคัญอื่นๆ ส่งมาจากหอสมุดแห่งชาติส่วนกลางไว้ศึกษา
ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ในสถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางนครศรีธรรมราช-พรหมคีรี ประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่ขุดค้นพบในนครศรีธรรมราช ซึ่งได้จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านในอดีต ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมืองในสมัยต่างๆ จนมาเป็นอาณาจักรศรีวิชัยทั้งยังเป็นศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูมหรสพพื้นบ้านและค้นคว้ารวบรวมทางด้านภาษาและวรรณกรรม รวมทั้งคติชนวิทยา ที่สำคัญได้แก่ข้อความจากศิลาจารึกที่ค้นพบที่เขาช่องคอย และโบราณวัตถุที่ชุมชนโบราณวัดโมคลาน เป็นหลักฐานที่สำคัญที่ระบุว่าเมืองนครศรีธรรมราชสร้างขึ้นเมื่อใด ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้แห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
เจดีย์ยักษ์ เจดีย์สูงใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากเจดีย์พระบรมธาตุ อยู่ข้างสำนักงานเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช บริเวณวัดเจดีย์เดิม ซึ่งร้างไปแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างโดยโคทคีรีเศรษฐีชาวมอญ กรุงสะเทิม (ก่อนพม่ายึดครองเปลี่ยนนามเป็นหงสาวดี) กับบริวารที่อพยพหลบภัยมาอาศัยเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อประมาณ พ.ศ. 1546
กำแพงเมืองเก่า ตั้งอยู่ใกล้กับสวนสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช ริมถนนราชดำเนินฝั่งซ้าย เป็นกำแพงที่ซ่อมขึ้นใหม่ตามรูปเดิมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับการบูรณะเพิ่มเติมขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2533 เป็นแนวขนานไปกับคูเมือง ตั้งแต่ป้อมประตูชัยเหนือ หรือประตูชัยศักดิ์ ไปทางตะวันออก ยาวประมาณ 100 เมตร
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สวนสาธารณะขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 1,257 ไร่ ตั้งอยู่หลังสนามกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช จากหลักฐานพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จประพาสแหลมมาลายูเมื่อ ร.ศ. 117 พบว่า พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของ “สวนราชฤดี” ซึ่งพระองค์ได้ทรงหมายไว้สำหรับเสด็จประพาสในภายหน้า ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 จะประกอบไปด้วยสวนสัตว์เปิด สวนนกนานาชนิด สวนสุขภาพ รวมทั้งทะเลสาบซึ่งเป็นที่อาศัยของนกเป็ดน้ำที่อพยพมาจากถิ่นอื่นในช่วงมกราคมถึงมีนาคม ของทุกปี
สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช สนามหน้าเมืองมีเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่เศษ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นสถานที่สำคัญที่มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชาวนครอย่างแนบแน่น เนื่องจากเป็นสนามรบในอดีต ต่อมากลายเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมและกิจกรรมทั้งของรัฐและของราษฎร เช่น เคยใช้เป็นที่สร้างพลับพลารับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่างๆ เป็นที่ประกอบพิธีสงกรานต์ ฝีกทหารและยุวชนทหาร และใช้เป็นสถานที่จัดงานประเพณีที่สำคัญของชาวนครรวมทั้งงานรื่นเริงอื่นๆ และยังใช้เป็นสถานที่ทำพิธีถวายบังคมในวันปิยะมหาราชทุกปี

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอขนอม

  อุทยานแห่งชาติหาดขนอมหมู่เกาะทะเลใต้ ที่ทำการของอุทยานแห่งชาติหาดขนอมหมู่เกาะทะเลใต้ ตั้งอยู่บนเส้นทางถนนขนอม-โรงไฟฟ้า แยกซ้ายเข้าไปประมาณ 100 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเล เกาะแก่ง ภูเขา และพื้นที่ชายฝั่งทะเลของอำเภอขนอมทั้งหมด รวมทั้งพื้นที่ทางทะเลสาบบางส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติหาดขนอมหมู่เกาะทะเลใต้ประกอบไปด้วยเกาะน้อย เกาะวังใน เกาะวังนอก เกาะแตน เกาะราบ เกาะท่าไร่ เกาะผี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอ่าวขนอม อ่าวท้องท่าค่ำ อ่าวท้องหลาง อ่าวท้องหยี อ่าวท้องยาง และภูเขาต่างๆ เช่น เขาพรายดำ เขาผีหงาย เขาคอ เขาเพลา เขาดาดฟ้า เป็นต้น
อ่าวขนอม เป็นอ่าวที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาอ่าวต่างๆ ของอำเภอขนอม อ่าวขนอมอยู่ห่างจากตัวอำเภอขนอมประมาณ 15 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยทางหลวงสาย 4014 ซึ่งแยกจากทางหลวงสาย 401 ประมาณ 17 กิโลเมตร ผ่านตลาดสุขาภิบาลขนอมประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นจึงเลี้ยวขวาไปตามตัวหาดขนอม หาดขนอมนั้นเป็นชายฝั่งทะเลที่สวยงามยาวติดต่อต่อกัน ซึ่งประกอบไปด้วย
หาดในเพลา เป็นหาดที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอขนอม และเป็นจุดที่เด่นที่สุดในการท่องเที่ยว ลักษณะหาดเป็นแนวยาวโค้ง มีภูเขาล้อมรอบ ซึ่งทัศนียภาพโดยรอบมีความเป็นธรรมชาติที่งดงาม หาดทรายขาวเนียนเหมาะสำหรับการเล่นน้ำ และบริเวณหาดในเพลายังเป็นแหล่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยือน ในลักษณะของที่พัก ร้านอาหาร กีฬาทางน้ำ แหล่งบริการนำเที่ยวชมหมู่เกาะต่างๆ รอบๆ อำเภอขนอมและสถานที่ใกล้เคียง
 หาดหน้าด่าน ลักษณะหาดเป็นแนวยาว ทรายขาวเนียน มีสวนมะพร้าวโดยรอบ สถานที่เงียบสงบ สามารถมองทิวทัศน์ท้องทะเลสีครามสวยงาม
หาดในเปร็ต ลักษณะหาดเป็นแนวยาวโค้งสวยงาม บริเวณชายหาดมีโขดหินสลับบางแห่ง อยู่ระหว่างหาดหน้าด่านและหาดในเพลา ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและเป็นอีกมุมหนึ่งที่มีความร่มรื่นของธรรมชาติทะเลที่ประทับใจผู้มาเยือน
อ่าวท้องหยี ลักษณะที่ตั้งระหว่างเนินเขาเพลาและเนินเขากลาง ชายหาดยาวขาวเป็นแนวโค้งชายหาดลงสู่ทะเล สลับโขดหินสวยงามเหมาะในการเล่นน้ำ บริเวณแนวหาดท้องหยีพบว่ามีแนวปะการังที่สมบูรณ์ แต่มีขนาดพื้นที่ปะการังไม่กว้างนัก ปะการังที่พบเห็น เช่น กัลปังหา เขากวาง รวมทั้งปะการังอ่อนที่มีหลากสีสวยงามและมีความเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์มาก การเดินทางไปยังอ่าวท้องหยีสามารถใช้เส้นทางในการเดินทางได้ 2 เส้นทาง ได้แก่
ทางเรือ ในการเดินทางทางเรือสามารถเดินทางได้ตลอด การบริการทางเรือติดต่อได้ที่หมู่บ้านชาวประมง ต.ขนอม บริเวณหาดในเพลา (นายไข่ ปานดำ ผู้ให้บริการเช่าเรือ) โดยใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10-15 นาที เลียบไปตามชายฝั่งผ่านแก่งหิน และผาเล็กๆ ที่สวยงาม
ทางเดินเท้า เส้นทางในการเดินเท้าสามารถเดินได้ตลอดฤดูกาล ลักษณะเส้นทางเป็นกึ่งป่าโปร่งเลียบเชิงเขาฝั่งทะเลตะวันออก เส้นทางในการเดินป่าผ่านบริเวณเนินเขา 2-3 เนิน มีแอ่งน้ำ ลำธาร และหมู่บ้านชาวประมงหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งมีวิถีชีวิตในการปลูกสวน ได้แก่ มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ สัมโอ เป็นต้น รวมถึงการแกะเนื้อมะพร้าวย่าง และการเผาถ่านกะลามะพร้าว การทำกะปิ ปลาแห้ง ส่งเป็นสินค้าเพื่อนำไปขายและเป็นของฝาก การเดินทางเท้าไปหาดท้องหยีใช้เวลาประมาณ 30 นาที คิดเป็นระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร ระหว่างทางสามารถชมวิวมองเห็นทิวทัศน์สวยงามทั้งทางทิศเหนือและทิศใต้ของหาดในเพลาที่มีลักษณะเด่นและสวยงาม
อ่าวท้องยาง เป็นอ่าวขนาดเล็กที่มีความสวยงาม และอยู่ใต้สุดของอำเภอขนอม เส้นทางเข้าผ่านสวนมะพร้าวและเนินเขา ระยะทางประมาณ 6-7 กิโลเมตร จากทางแยกขนอม-สิชล อ่าวท้องยางมีบริเวณหน้าหาดกว้างเหมาะสำหรับการเล่นน้ำ หาดทรายขาวและมีความเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อยู่มาก สงบเงียบ เหมาะสำหรับการพักผ่อนที่แท้จริง
ถ้ำเขาวังทอง เป็นถ้ำที่มีความงดงามทางธรรมชาติแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายในถ้ำเขาวังทองมีลักษณะเป็นห้องโถงขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างหลายห้อง แต่ละห้องมีหินงอกหินย้อยที่มีขนาดและรูปร่างที่แปลกๆ ต่างกันมากมาย อาทิ คล้ายเจดีย์ ไดโนเสาร์ น้อยหน่า ไข่ดาว เป็นต้น การเข้าชมบางห้องจะต้องใช้วิธีคลาน ลอด หรือปีนป่าย ซึ่งเป็นการเพิ่มความสนุกสนานในการเข้าชมเป็นอย่างยิ่ง การเดินทางจากอำเภอขนอมเลี้ยวขวาตรงทางแยกไปยังอำเภอดอนสัก และเลี้ยวซ้ายอีกครั้งหนึ่ง ตรงปากทางเข้ามีศาลาที่พักผู้โดยสารเป็นที่สังเกต ชื่อศาลาตันสกุล เข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงปากทางเข้าถ้ำ ผู้ที่ต้องการเข้าชมถ้ำวังทองต้องติดต่อขอกุญแจจากผู้ดูแลถ้ำก่อนได้ ที่บ้านที่อยู่ตรงปากทางเข้าถ้ำจากตัวเมืองประมาณ 77 กิโลเมตร ทางทิศเหนือถัดลงมาจากอำเภอขนอม
เขาพรายดำ เป็นเขาขนาดเล็กมีปลายเขายื่นไปในทะเล เส้นทางเดินเท้าลัดเลาะไปตามเชิงเขา ผ่านโขดเนินและแนวฝั่งทะเล ซึ่งมองออกไปสวยงามพร้อมกับป่าและสวนสมรม นอกจากนี้สามารถเดินลัดเลาะไปยังอ่าวท้องหยี มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจและใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 30 นาที
วัดสุวรรณบรรพต เป็นวัดใหญ่อีกวัดหนึ่งในอำเภอขนอม อยู่ระหว่างเส้นทางถนนตลาดสี่แยก-โรงไฟฟ้า อุโบสถวัดสุวรรณบรรพตนี้ประดิษฐานอยู่บนภูเขา ภายในวัดมีบันไดเดินขึ้นประมาณ 50 ขั้น และเป็นที่ชมทิวทัศน์ของตัวอำเภอขนอมได้ด้วย
วัดกระดังงา เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอขนอม สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดนี้ห่างจากถนนสายขนอม-ในเพลา ประมาณ 200 เมตร ภายในอุโบสถมีภาพเขียน พุทธประวัติฝีมือวิจิตรบรรจง นอกจากนี้มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาประดิษฐานอยู่ภายใน และมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะเครื่องถ้วยชาม เป็นต้น
วัดธาตุธาราม หรือ วัดเขาธาตุ มีเจดีย์ปะการังประดิษฐานอยู่บนเขาธาตุ ตามตำนานกล่าวว่าเจดีย์นี้ได้ ทำการก่อสร้างหลังจากสร้างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเสร็จเรียบร้อย โดยผู้มีจิตศรัทธาจากเมืองไชยาได้รวบรวมเงินทองและของมีค่าต่างๆ เพื่อไปบรรจุที่พระบรมธาตุเมืองนคร แต่ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วผู้มีจิตศรัทธาดังกล่าวจึงได้ร่วมใจกันสร้างเจดีย์ขึ้นบนเขาธาตุ ซึ่งสร้างด้วยหินปะการังทั้งองค์ องค์เจดีย์เป็นรูปโอคว่ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เมตร รอบๆ เจดีย์มีพระพุทธรูปแกะสลักหินทรายแดง ประดิษฐานบริเวณเจดีย์ เชื่อว่าคงเป็นแหล่งอารยธรรมทางด้านพุทธศาสนาสมัยหนึ่งในบริเวณอ่าวทางตอนเหนือของคาบสมุทรนี้
วัดเจดีย์หลวง เป็นชุมชนโบราณ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านท่าใน ตำบลควนทอง ซึ่งมีร่องรอยของเนินดิน สระน้ำ หินชิ้นส่วนของเทวสถาน แท่นเทวรูป แท่นศิวลึงค์ ที่กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสิชล

  หาดหินงาม อยู่ในเขตตำบลสิชล อำเภอสิชล การเดินทางใช้ทางหลวง 401 จากอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 37 กิโลเมตร จากตัวอำเภอสิชลเลี้ยวขวาไปทางบ้านปากน้ำ 3 กิโลเมตรถึงหาดสิชล จากหาดสิชลมีถนนลูกรังต่อไปอีก 1.5 กิโลเมตร ถึงหาดหินงาม หาดหินงามเป็นหาดที่มีหินทั้งขนาดใหญ่และเล็กอยู่มากมาย ที่ชายหาดจึงไม่เหมาะที่จะเล่นน้ำ
 หาดสิชล เป็นชายหาดโค้ง มีทิวทัศน์สวยงาม ชาวท้องถิ่นเรียกว่า อ่าวท้องหยี อ่าวท้องยาง อ่าวท้องโหนด น้ำทะเลใสเล่นน้ำได้
น้ำตกสี่ขีด อยู่ในเขตตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความสวยงามระหว่างร่มไม้กับสายน้ำ อยู่ห่างจากหาดสิชลไปทางทิศตะวันตก 15 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4105
แหล่งโบราณคดีเขาคา ตั้งอยู่ที่ตำบลเสาเภา บริเวณเขาคาเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอายุกว่า 1,500 ปี ซึ่งเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ มีร่องรอยของโบราณสถานที่ทำด้วยศิลาแลง อิฐและหินกระจายอยู่โดยทั่วไป มีวัฒนธรรมการสลักสระน้ำขนาดใหญ่พร้อมประตูระบายน้ำลงบนหินภูเขา การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 401 จากสี่แยกจอมพิบูลย์ตรงไปถึง ก.ม.ที่ 99 แยกซ้ายเข้าถนนจินดาประชาสรรค์ประมาณ 7 กิโลเมตร
บ้านท่าควาย เป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ ในบริเวณบ้านนายศิริ ณ นคร และบริเวณสวนนายขัน ใจห้าว หมู่ที่ 11 ตำบลฉลอง ตรงสี่แยกจอมพิบูลย์ ก.ม. ที่ 89 แยกเข้าไปตามเส้นทางหลวงจอมพิบูลย์-เขาใหญ่ อีกประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งมีร่องรอยของโบราณสถานที่เดียวกันกับแหล่งโบราณคดีเขาคา

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอท่าศาลา

   อุทยานแห่งชาติเขานัน ตั้งอยู่ในเขตท้องที่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอท่าศาลา ในเขตตำบลตลิ่งชัน ตำบลกรุงชิง อำเภอสิชล ในเขตตำบลน้อย ตำบลฉลอง ตำบลเปลี่ยน ตำบลเทพราช และในเขตของกิ่งอำเภอนบพิตำ ตำบลนบพิตำ นอกจากนี้อุทยานฯ ยังมีอาณาเขตที่ครอบคลุม เขาป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานัน และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากรุงชิงบางส่วน อุทยานฯ แห่งนี้มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 272,500 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอท่าศาลาประมาณ 30 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางนครศรีธรรมราช-ท่าศาลา

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ ได้แก่

  น้ำตกเขานัน เขานัน หรือนันทะ นันทา เป็นภูเขาลูกหนึ่งในกลุ่มเขาหลวง น้ำตกเขานันเป็นน้ำตกขนาดกลาง น้ำตกจากหน้าผาสูงชัน ที่หน้าผานี้ ทุกๆ ปีจะมีสัตว์ป่าตกลงมาตายที่แอ่งน้ำอยู่เสมอๆ ปัจจุบันนี้มีประชาชนนิยมเดินทางไปพักผ่อนที่น้ำตกแห่งนี้กันมาก
น้ำตกยอดเหลือง หรือน้ำตกเมืองใหม่ อยู่ทางทิศใต้ของน้ำตกกรุงชิง เป็นน้ำตกขนาดกลางมี 3 ชั้น สามารถลงเล่นน้ำได้ สภาพทั่วไปเป็นป่าร่มครึ้ม การเดินทางไปยังน้ำตกเขานัน และน้ำตกยอดเหลือง เริ่มจากตัวเมืองนครฯ ใช้เส้นทางสายนครศรีธรรมราช-พรหมโลก-เขาหลวง เป็นระยะทางประมาณ 73 กิโลเมตร และระยะทางเดินป่าเข้าชมน้ำตกอีกประมาณ 3.8 กิโลเมตร
น้ำตกสุนันทา เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่มีความงดงามตามธรรมชาติ สายน้ำไหลจากหน้าผาชันลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง และไหลลงสู่ลำคลองกลาย ลำน้ำสายสำคัญในเขตอำเภอท่าศาลา สามารถจัดกิจกรรมล่องแพตามลำน้ำได้ในช่วงฤดูน้ำหลาก ในเขตอุทยานฯ มีสถานที่ตั้งเต็นท์ให้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่อุทยานแห่งชาติเขานัน ตู้ ป.ณ. 51 อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000 (ผู้ที่จะจองต้องมาติดต่อที่อุทยานฯ ด้วยตนเอง หรือมีหนังสือแจ้งล่วงหน้า)
 หาดสระบัว อยู่ในเขตตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา การเดินทางไปชายหาดสระบัวสามารถเดินทางโดยทางหลวงหมายเลข 401 ห่างจากอำเภอเมือง 20 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังไปถึงชายหาด ลักษณะชายหาดเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้ซึ่งประกอบด้วยหาดสวรรค์นิเวศน์ หาดจันทร์เพ็ญ หาดสันติสุข หาดปากน้ำท่าศาลา หาดสระบัว หาดบ้านหน้าทัพ หาดบ้านปากพะยิง และหาดปากน้ำปากนคร แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ หาดสระบัว บริเวณหาดสระบัวน้ำทะเลค่อนข้างขุ่นและมีตะกอนโคลน ไม่เหมาะกับการเล่นน้ำทะเลมากนัก แต่ได้รับความนิยมมากพอสมควรในปัจจุบันเนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเมืองนครฯ มากที่สุด
แหล่งนกน้ำบ้านปากพะยิง แหล่งศึกษาธรรมชาติของนกน้ำหลายพันธุ์ในเขตอำเภอท่าศาลา พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของนก ทั้งหมดอยู่ในบริเวณบ่อกุ้งและบ่อปลาร้างของเอกชนซึ่งยินยอมให้นกทั้ง 5 ชนิดได้อาศัยอยู่ ได้แก่ นกยางโทนใหญ่ นกยางกรอกพันธุ์จีน นกยางเปีย นกเป็ดลาย และนกเป็ดผีเล็ก เป็นนกประจำถิ่นที่มีให้ชมมากในตอนเช้า-เย็นโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว การเดินทาง จากตัวเมืองไปตามเส้นทางนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี ประมาณ 24 กิโลเมตร ถึงปากทางเข้าเชิงสะพาน ข้ามคลองปากพะยิงและเลี้ยวขวาไปตามป้ายชี้ทางอีกประมาณ 2.4 กิโลเมตร ถึงแหล่งนกน้ำบ้านปากพะยิง
หมู่บ้านในถุ้ง เป็นชื่อหมู่บ้านชาวประมงที่มีบรรยากาศของหมู่บ้านชายทะเล ซึ่งนอกจากชาวบ้านจะทำอาชีพประมงแล้ว ยามว่างจะผลิตว่าวผ้าเป็นรูปนกหลากสีวางขายอยู่สองข้างทาง ซึ่งสามารถใช้เป็นของที่ระลึกและใช้งานได้จริง
วัดโมคลาน อยู่ในเขตตำบลดอนคา อำเภอท่าศาลา เดิมบริเวณนี้สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานของพราหมณ์ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย หลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบันเหลือเพียงแนวเสาหิน หินแกะสลักรอบประตูอาคาร สระน้ำโบราณ แท่นตั้งเทวรูป ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 การเดินทาง จากตัวเมืองใช้เส้นทางนครศรีธรรมราช-ท่าศาลา ทางหลวงหมายเลข 401 ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงบ้านหน้าทัพแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางลูกรังสาย 4022 อีก 6 กิโลเมตร
หมู่บ้านปั้นหม้อ เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม อยู่บริเวณเดียวกับวัดโมคลาน ห่างออกไปประมาณ 50 เมตร หมู่บ้านปั้นหม้อนี้ยังคงรักษารูปแบบการปั้นหม้อแบบดั้งเดิมเอาไว้ คือใช้มือปั้น หม้อที่ปั้นมีรูปทรงใหญ่และหนา มีลวดลายน้อย
บางปู แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา ตั้งอยู่ริมถนนบริเวณสามแยกบางปู ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17-18 กิโลเมตร เดิมบริเวณนี้จะมีการผลิตเฉพาะกระถางต้นไม้ดินเผาและอิฐเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ ช่างปั้นจากหมู่บ้านปั้นหม้อ ได้ย้ายออกมาตั้งร้านผลิต และจำหน่ายสินค้าเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งได้รับการปรับปรุงคุณภาพและรูปแบบให้มีหลากประเภทมากยิ่งขึ้น

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปากพนัง

  ชายทะเลปากพนังและแหลมตะลุมพุก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของการเกิดวาตภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2505 มีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ลักษณะของชายหาดปากพนัง เป็นชายหาดสีขาวยาวเหยียดไปตามชายฝั่งทะเล มีแหลมตะลุมพุกเป็นแหลมทรายยาวเรียวยื่นไปในอ่าวไทย มีพื้นที่ติดกับพื้นดินบริเวณ ตอนบนของอำเภอปากพนัง และขณะนี้แหลมตะลุมพุกได้ขยายแนวเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ด้านที่ติดกับทะเลด้านใน (อ่าวนครฯ) มีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ ส่วนด้านนอกที่ติดกับอ่าวไทยเป็นหาดทรายสะอาด ต้นสนขึ้นเป็นแนวยาวดูสวยงาม มีเปลือกหอยต่างๆ อยู่มาก
 การเดินทาง ไปชายทะเลปากพนังและแหลมตะลุมพุกนั้น จากตัวเมืองเดินทางไปปากน้ำพนังแล้วเช่าเรือต่อไปยังแหลมตะลุมพุก ใช้เวลาเดินทางราวครึ่งชั่วโมง หรือใช้เส้นทางนครศรีธรรมราช-ปากพนัง (ทางหลวงสาย 4013) ไปยังอำเภอปากพนังฝั่งตะวันตกถึงบ้านบางฉนาก มีทางแยกเข้าสู่แหลมตะลุมพุก ระยะทางจากทางแยกไปยังแหลมประมาณ 16 กิโลเมตร เส้นทางตลอดสายสู่ปลายแหลมมีการทำนากุ้งสองข้างทางสลับกับแนวป่าชายเลน
บ้านรังนก อำเภอปากพนังเป็นอำเภอที่มีชื่อในเรื่องของนกนางแอ่นที่เข้ามาทำรังอยู่ในบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของคน ในเขตอำเภอปากพนังจะพบได้ว่ามีบ้านและตึกแถวหลายหลังที่ถูกปิดลง เนื่องจากมีนกนางแอ่น จำนวนมากเข้าไปอาศัยอยู่และทำรังในบ้านเหล่านั้นเช่นเดียวกับนกที่อาศัยอยู่ตามถ้ำหรือเกาะ แต่เนื่องจากบ้าน หรือตึกแถวที่มีนกนางแอ่นอาศัยเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล จึงไม่สะดวกในการเปิดให้เข้าชมโดยทั่วไป
 พิพิธภัณฑ์วัดศรีสมบูรณ์และศิวลึงค์วัดนันทาราม มีโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูปปางมารวิชัย เครื่องใช้ต่างๆ และเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัย เป็นต้น ที่ทางวัดรวบรวมรักษาไว้ และเปิดแสดงให้ชมด้วย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอลานสกา

  อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอเมือง อำเภอพิปูน อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา อำเภอฉวางและอำเภอท่าศาลา มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 597 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 356,250 ไร่ ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 ประกอบด้วยเทือกเขาที่สลับซับซ้อน มียอดเขาหลวงสูงสุด 1,835 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งของต้นน้ำลำธารและคลองต่างๆ กว่า 15 สาย สภาพป่าเขาเป็นแบบป่าดงดิบชื้นที่มีพรรณไม้และสัตว์ที่อุดมสมบูรณ์
การเดินทาง ไปอุทยานฯ สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง
เส้นทางแรก เริ่มจากตัวเมืองนครฯ โดยใช้เส้นทางหมายเลข 4015 ไปประมาณ 15 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ ของอำเภอลานสกา
เส้นทางที่สอง จากตัวเมืองนครฯ ใช้เส้นทางหมายเลข 4015 ไปประมาณ 80 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวอุทยานฯ ซึ่งจะอยู่ในเขตพื้นที่ของอำเภอพิปูน ในเขตอุทยานฯ มีสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ตู้ ป.ณ. 51 อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000 โทร. 01-228-1511
น้ำตกกรุงชิง “กรุงชิง” เป็นที่ราบสูงแห่งหนึ่งของเทือกเขาหลวง มีเขาต่างๆ เช่น เขายอดเหลือง เขากลบ เขาวังไฟ ฯลฯ รายล้อม จึงเรียกที่ราบนี้ว่า “อ่าวกรุงชิง” หมายถึงที่ราบสูงในวงล้อมของภูเขา มีเนื้อที่ประมาณ 100,000 ไร่ อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอท่าศาลา ชื่อ “กรุงชิง” มาจากคำว่า “ต้นชิง” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ตระกูลปาล์มอย่างหนึ่งที่ขึ้นอยู่อย่างดาษดื่นในเขตนี้ บริเวณที่ราบกรุงชิงนี้ เป็นต้นน้ำลำธารหลายสายที่สำคัญ ได้แก่ ลำธารกรุงชิง ซึ่งเป็นต้นน้ำของน้ำตกกรุงชิง ซึ่งมีอยู่หลายชั้น ชั้นที่น่าดูมากที่สุดได้แก่ “หนานฝนแสนห่า” เพราะน้ำตกจากหน้าผาสูงชันประมาณ 100 เมตร กระแสน้ำแผ่เป็นผืนกว้างกระจายออกเป็นละอองเหมือนเม็ดฝน ไม่จับกันเป็นเกลียวดังน้ำตกทั่วไป ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “ฝนแสนห่า” ติดต่อล่องแก่งที่น้ำตกได้ที่ อบต.กรุงชิง โทร. (075) 309-004

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพรหมคีรี

  วัดเขาขุนพนม อยู่ในเขตตำบลเกาะ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีถ้ำที่มีกำแพงก่ออิฐถือปูนมีใบเสมาเช่นเดียวกับกำแพงเมือง ผนังด้านหน้ามีลายปูนปั้น ในถ้ำมีพระพุทธรูปสำริดประมาณ 30 องค์ และพระพุทธบาทสำริด ถ้ำในวัดแห่งนี้มีหลายถ้ำทะลุถึงกันหมดเหมือนค่ายคูประตูหอรบ ซึ่งบางคนสันนิษฐานว่า เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่บางท่านก็ว่าเป็นที่พักผ่อนของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พระยาตรังภูมาภิบาล) การเดินทาง จากตัวเมืองใช้เส้นทางสาย 4016 ถึงกิโลเมตรที่ 21 ผ่านตลาดพรหมโลกแล้วมีทางแยกขวาเข้าไปอีก 2.5 กิโลเมตร ถึงวัดเขาขุนพนม
น้ำตกพรหมโลก อยู่ในเขตตำบลพรหมโลก น้ำตกพรหมโลกจัดว่าเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีลานหินกว้าง และสวยงามแห่งหนึ่งในภาคใต้ มีต้นน้ำกำเนิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชไหลลงมาบนแผ่นหิน 3 หนาน (ชั้น) ไหลผ่านหมู่ไม้นานาพันธุ์ริมเชิงเขา สร้างความชุ่มฉ่ำแก่ภูมิประเทศแถบนั้น แล้วไหลไปเป็นคลองท่าแพและลงสู่อ่าวไทย ที่ตำบลปากพูน การเดินทาง จากตัวเมืองใช้เส้นทางสายนครศรีธรรมราช-พรหมคีรี (ทางหลวงหมายเลข 4016) ถึงกิโลเมตรที่ 20 มีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวง 4132 อีกประมาณ 5 กิโลเมตรก็จะถึงตัวน้ำตก
น้ำตกอ้ายเขียว หรือ น้ำตกในเขียว อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่ในตำบลทอนหงส์ ต้นน้ำเกิดจากเขาหลวงเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของเทือกเขานครศรีธรรมราช น้ำตกอ้ายเขียวมีทั้งหมด 15 ชั้น สภาพทั่วไปยังคงเป็นป่าทึบ สองข้างทางเข้าน้ำตกเป็นสวนพลู ชาวนครเรียกว่า “พลูปากทราย” ทั้งนี้เพราะมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ถ้าเคี้ยวเป็นประจำแล้วจะทำให้ปากอิ่มตึงสวยงาม หากประสงค์จะชมทิวทัศน์ยอดเขาหลวง ซึ่งมีความสูง 1,835 เมตร จากระดับน้ำทะเลควรไปชมที่น้ำตกแห่งนี้ การเดินทาง ไปน้ำตกอ้ายเขียว หรือน้ำตกในเขียวนี้ จากตัวเมืองใช้เส้นทางเดียวกับทางไปน้ำตกพรหมโลก แต่เลยไปจนถึงกิโลเมตรที่ 26 มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร
บ้านคีรีวงศ์ เป็นหมู่บ้านพัฒนาตัวอย่าง ตั้งอยู่กลางหุบเขาตีนเขาหลวงซึ่งสูงที่สุดในภาคใต้ (1,835 เมตร) นอกจากชาวบ้านซึ่งมีชีวิตที่สงบควบคู่กับการพัฒนาอาชีพหลักคือสวนผลไม้ เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน สะตอ เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2532 ได้เกิดมหาอุทกธรณีภัย หมู่บ้านถูกน้ำพัดหายไปนับ 100 หลัง วัดและชาวคีรีวงศ์ได้รักษาพระอุโบสถที่ขาดกลางไว้ เป็นอนุสรณ์สถาน เหมาะต่อการศึกษาด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเดินทาง สามารถขึ้นรถสองแถวจากตลาดยาว ในอำเภอเมือง จะมีรถออกตลอดตั้งแต่ 07.00-16.00 น. ราคา 15 บาท หรือโดยรถยนต์จากอำเภอเมืองประมาณ 26 กิโลเมตร ใช้เส้นทาง 4016 ถึงสามแยกบ้านตาลเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 4015 อีกครั้งหนึ่ง บ้านคีรีวงศ์จะอยู่ก่อนถึง ที่ทำการของน้ำตกกะโรม

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอร่อนพิบูลย์

   ศิลาจารึกเขาช่องคอย บ้านโคกสะท้อน หมู่ 9 ตำบลควนเกย จารึกเป็นอักษรปาลวะ ซึ่งเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในภาคใต้ มีข้อความเป็นเรื่องขอที่พำนักจากพระอิศวรและเทพเจ้าป่า แล้วลงท้ายด้วยข้อความอันเป็นคติว่า “ถ้าคนดีอยู่ในหมู่บ้านของชนเหล่าใด ความสุขและผลจักมีแก่ชนเหล่านั้น”
หมู่บ้านทำพัดใบกะพ้อ เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 403 จากตัวเมืองเลย อำเภอร่อนพิบูลย์ไปเพียงเล็กน้อย ชาวบ้านเกือบทุกบ้านทำพัดใบกะพ้อส่งจำหน่ายแทบจะทั่วประเทศ

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอทุ่งสง

อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง หรือเรียกกันทั่วไปว่า “น้ำตกโยงใสใหญ่” มีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 126,675 ไร่ ครอบคลุมท้องที่อำเภอทุ่งสง อำเภอฉวาง อำเภอนาบอน อุทยานฯ แห่งนี้มีสภาพป่าและทิวทัศน์ที่อุดมสมบูรณ์และสวยงามอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปท่องเที่ยวและพักผ่อนอยู่เสมอๆ อุทยานฯ แห่งนี้ได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530
การเดินทาง ไปยังอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง จากตัวเมืองใช้เส้นทางสายนครศรีธรรมราช-ทุ่งสง เป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วให้แยกเข้าไปทางซ้ายอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงเขตอุทยาน ในเขตอุทยานฯ มีสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง หมู่ที่ 2 ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80160 (ผู้ที่จะจองต้องมาติดต่อที่อุทยานฯ ด้วยตนเอง หรือมีหนังสือแจ้งล่วงหน้า)

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ได้แก่

  น้ำตกปลิว ตั้งอยู่บริเวณป่าแพรก ห่างจากอำเภอทุ่งสงประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีขนาดเล็กแต่สวยงาม น้ำตกแห่งนี้มีความสูงประมาณ 25 เมตร แต่ละชั้นจะมีความกว้างประมาณ 15-18 เมตร มีน้ำไหลอุดมสมบูรณ์ตลอดปี ใช้เวลาเดินทางจากหน้าบ้านน้ำร้อนขึ้นไปจนถึงชั้นบนสุดของน้ำตกประมาณ 1 ชั่วโมง
น้ำตกโยงและน้ำตกโยงน้อย น้ำตกโยงมีความสูงประมาณ 15 เมตร มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่รองรับน้ำจากน้ำตกที่มีความสูงชันมาก ส่วนน้ำตกโยงน้อยนั้นมีลักษณะเป็นหน้าผากว้าง และสูงชัน มีน้ำไหลลดหลั่นลงมาเป็นสองสายมาบรรจบกันที่แอ่งน้ำเบื้องล่าง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอทุ่งใหญ่

  ถ้ำตลอด เป็นถ้ำที่ได้รับการตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซึ่งออกแบบโดยอาจารย์แนบ ทิชินพงศ์ จิตรกรผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช เหตุที่ได้รับชื่อว่า “ถ้ำตลอด” ก็เพราะว่าในส่วนของตัวถ้ำสามารถเดินทะลุถึงกันได้ตลอด และบริเวณโดยรอบของถ้ำได้รับการปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ มีร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการนักท่องเที่ยว การเดินทางเริ่มจากตัวเมืองนครฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 403 มาประมาณ 25 กิโลเมตร จนถึงแยกอำเภอร่อนพิบูลย์ จากนั้นให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 41 มาประมาณ 40 กิโลเมตร แล้วให้เปลี่ยนมาใช้เส้นทาง 4019 ประมาณ 20 กิโลเมตร จนถึงอำเภอทุ่งใหญ่ และจากอำเภอทุ่งใหญ่ใช้เส้นทาง 4110 เป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวถ้ำตลอด

น้ำตกกะโรม อยู่ในเขตท้องที่หมู่ที่ 4 ตำบลเขาแก้ว ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชเช่นเดียว กับน้ำตกพรหมโลก ไหลลงมาจากยอดเขาลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ มากกว่าน้ำตกพรหมโลก มีหนานหรือชั้นถึง 19 ชั้น เช่น หนานผึ้ง หนานน้ำรวง หนานดาดฟ้า และหนานสอยดาว ซึ่งเป็นหนานที่สูงที่สุดมีความสูงประมาณ 1,300-1,400 เมตร น้ำตกกะโรมเป็นสถานที่พักผ่อนยามแล้งที่มีชื่อมานาน พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ก็เคยเสด็จประพาสน้ำตกแห่งนี้

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่นครศรีธรรมราช