แผนที่มหาสารคาม

  • แผนที่มหาสารคาม
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

มหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบ และเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ชื่อว่าเป็น “ตักศิลาแห่งอีสาน” เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาอยู่มากมายหลายแห่ง  อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางรถยนต์เป็นระยะทางประมาณ 470 กิโลเมตร

เมืองมหาสารคามถือว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญและยาวนานมาหลายร้อยปี เพราะได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยคุปตะตอนปลาย และปัลลวะของอินเดียผ่านเมืองพุกามมาในรูปแบบของศิลปะสมัยทวารวดี เช่น บริเวณเมืองกันทรวิชัย (โคกพระ) และเมืองนครจำปาศรี โดยพบหลักฐาน เป็นพระยืนกันทรวิชัย พระพิมพ์ดินเผา ตลอดทั้งพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนั้นแล้วยังได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ผ่านทางชนชาติขอม ในรูปแบบสมัยลพบุรี เช่น กู่สันตรัตน์ กู่บ้านเขวา กู่บ้านแดง และกู่อื่น ๆ รวมไปจนถึงเทวรูปและเครื่องปั้นดินเผาของขอมอยู่ตามผิวดินทั่ว ๆ ไปในจังหวัดมหาสารคาม

มหาสารคามตั้งอยู่ตอนกลางของภาคอีสาน มีชนหลายเผ่า เช่น ชาวไทยพื้นเมืองพูดภาษาอีสาน ชาวไทยย้อและชาวผู้ไท ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี "ฮีตสิบสอง" ประกอบอาชีพด้านกสิกรรมเป็นส่วนใหญ่ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมีการไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันตามแบบของคนอีสานทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยก "บ้านลาดกุดยางใหญ่" ขึ้นเป็น เมืองมหาสารคาม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2408 โดยแยกพื้นที่และพลเมืองราวสองพันคนมาจากเมืองร้อยเอ็ด และโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวมหาชัย (กวด ภวภูตานนท์) เป็นพระเจริญราชเดช เจ้าเมือง มีท้าวบัวทองเป็นผู้ช่วยขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ด

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองมหาสารคามขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ. 2412 และร้อยเอ็ดได้แบ่งพลเมืองให้อีกเจ็ดพันคน พลเมืองเดิมอพยพมาจากเมืองจำปาศักดิ์ ท้าวมหาชัยและท้าวบัวทองนั้นเป็นหลานโดยตรงของพระยาขัติยวงศา (สีลัง) เจ้าเมืองคนที่ 2 ของเมืองร้อยเอ็ด เดิมกองบัญชาการของเมืองมหาสารคามตั้งอยู่ที่เนินสูงแห่งหนึ่งใกล้กุดนางใย ได้สร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและศาลมเหศักดิ์ขึ้นเป็นที่สักการะของชาวเมือง

ต่อมาสร้างวัดดอนเมืองแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดข้าวฮ้าว (วัดธัญญาวาส) และได้ย้ายกองบัญชาการไปอยู่ริมหนองกระทุ่มด้านเหนือของวัดโพธิ์ศรีปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2456 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัด โดยความเห็นชอบของพระมหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยะศิริ) ได้ย้ายศาลากลางมาอยู่ ณ ที่ตั้งศาลากลางหลังเดิม (ที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคามปัจจุบัน) และในปี พ.ศ. 2542 ได้ย้ายศาลากลางมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดรวม 46 คน

ภูมิประเทศเป็นที่ราบลูกคลื่นไม่มีภูเขา มีแม่น้ำชีไหลผ่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศตะวัน ตกติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น
อาชีพที่สำคัญของชาวมหาสารคามคือ การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อาชีพในครัวเรือนที่ทำกันมากคือ การเลี้ยงไหม และทอผ้าไหม ผ้าไหมมหาสารคามส่วนใหญ่เป็นผ้าที่มีลวดลายแบบดั้งเดิม และสวยงามมาก


การปกครองแบ่งออกเป็น 13 อำเภอ 133 ตำบล 1804 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอแกดำ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืน อำเภอบรบือ อำเภอนาเชือก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอวาปีปทุม อำเภอนาดูน อำเภอยางสีสุราช อำเภอกุดรัง


ระยะทางระหว่างอำเภอเมือง-อำเภอต่างๆ

อำเภอกันทรวิชัย 18 กิโลเมตร
อำเภอแกดำ 25 กิโลเมตร
อำเภอบรบือ 26 กิโลเมตร
อำเภอโกสุมพิสัย 30 กิโลเมตร
อำเภอกุดรัง 39 กิโลเมตร
อำเภอเชียงยืน 39 กิโลเมตร
อำเภอวาปีปทุม 43 กิโลเมตร
อำเภอนาเชือก 58 กิโลเมตร
อำเภอชื่นชม 59 กิโลเมตร
อำเภอนาดูน 67 กิโลเมตร
อำเภอยางสีสุราช 74 กิโลเมตร
อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 85 กิโลเมตร

การเดินทาง

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-มหาสารคาม

ทางรถยนต์

ทางที่สะดวกและสั้นที่สุด คือใช้เส้นทางถนนพหลโยธินเข้าสู่สระบุรี และเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ ผ่านนครราชสีมา เมืองพล บ้านไผ่ แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนแจ้งสนิท เข้าสู่มหาสารคาม

ทางรถประจำทาง

จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารธรรมดา สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี แวะมหาสารคามวันละหลายเที่ยว ส่วนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ออกจากสถานีเดินรถปรับอากาศวันละ 3 เที่ยว เวลา 09.00, 21.00 และ 22.00 น. ค่าโดยสารรถปรับอากาศ (วีไอพี) 200 บาท รายละเอียดสอบถามได้ที่ โทร. สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

จังหวัดมหาสารคามนั้น ปัจจุบันยังไม่มีทางรถไฟตัดผ่าน อย่างไรก็ตามสามารถใช้บริการได้ที่สถานีรถไฟในจังหวัดขอนแก่น ดังนี้

สถานีรถไฟขอนแก่น จากนั้นต่อรถยนต์มาจังหวัดมหาสารคาม (อำเภอเมืองมหาสารคาม) อีกประมาณ 71 กิโลเมตร
สถานีรถไฟบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จากนั้นต่อรถยนต์มาจังหวัดมหาสารคาม (อำเภอเมืองมหาสารคาม) อีกประมาณ 69 กิโลเมตร

ทางเครื่องบิน

เนื่องจากจังหวัดมหาสารคามไม่มีท่าอากาศยาน แต่สามารถใช้บริการได้ที่ท่าอากาศยานของจังหวัดข้างเคียง ดังนี้ ท่าอากาศยานขอนแก่น โดยสายการบินไทย ให้บริการทุกวันๆละ 6 เที่ยวบิน จากนั้นต่อรถยนต์มาจังหวัดมหาสารคาม (อำเภอเมืองมหาสารคาม) อีกประมาณ 82 กิโลเมตร ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด โดยสายการบินนกแอร์ ให้บริการทุกวันๆละ 2 เที่ยวบิน จากนั้นต่อรถยนต์มาจังหวัดมหาสารคาม (อำเภอเมืองมหาสารคาม) อีกประมาณ 59 กิโลเมตร ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ โดยสารการบินนกแอร์ ให้บริการทุกวันศุกร์ และวันอาทิตย์ วันละ 2 เที่ยวบิน จากนั้นต่อรถยนต์มาจังหวัดมหาสารคาม (อำเภอเมืองมหาสารคาม) อีกประมาณ 121 กิโลเมตร

งานแห่เทียนเข้าพรรษา (อำเภอโกสุมพิสัย) จัดขึ้นที่บริเวณที่ว่าการอำเภอโกสุมพิสัย โดยจัดก่อนวันเข้าพรรษาหนึ่งวัน ในงานจะมีขบวนแห่เทียนของคุ้มต่างๆ และมีการประกวดความสวยงามของเทียน
งานบุญบั้งไฟ (อำเภอนาเชือก) จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี ณ บริเวณสนามที่ว่าการอำเภอนาเชือก ในงานมีการประกวดขบวนแห่บั้งไฟ การตกแต่งขบวนและประกวดบั้งไฟขึ้นสูง กลางคืนมีเวียนเทียน ทำบุญที่วัด มหรสพ และงานรื่นเริง การละเล่นต่างๆ
งานบุญเบิกฟ้าและกาชาด เป็นงานเฉลิมฉลองในช่วงต้นฤดูการทำนา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จัดบริเวณศาลากลางจังหวัด เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอีสาน ในงานจัดให้มีขบวนแห่บุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระแม่โพสพ เรื่องของพานบายศรีสู่ขวัญ ตลอดจนวัฒนธรรม การละเล่น ดนตรีพื้นบ้าน และพิธีกรรมต่างๆ
งานนมัสการพระธาตุนาดูนและงานประเพณี 12 เดือนจะจัดงานในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (วันมาฆบูชา) ของทุกปี โดยจัดที่บริเวณพุทธมณฑลอีสานพระธาตุนาดูน รวม 5 วัน 5 คืน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ตั้งอยู่ในบริเวณวิทยาลัยครูมหาสารคาม ภาพแสดงความเป็นมาของศิลปะอีสานตลอดจนศิลปหัตถกรรม เช่น การทอผ้า ลายผ้าต่างๆ นอกจากนั้นก็มีวรรณคดีอีสานประเภทใบลาน ซึ่งหาชมได้ยากมาก นอกจากนั้นยังมี ภาพสไลด์ เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของชาวอีสานให้ชมด้วย
พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย ตั้งอยู่ในตัวเมืองมหาสารคาม เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุของภาคอีสาน เช่น ใบเสมาหิน พระพุทธรูปในสมัยโบราณ บานประตู คันทวยแกะสลักอายุประมาณ 100-200 ปี นอกจากนี้ยังเป็นที่เก็บรวบรวมวรรณคดีภาคอีสาน และพระธรรม ใบลาน อยู่เป็นจำนวนมาก
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มศว.มค. ได้จัดนิทรรศการแบบถาวรไว้ให้ชม เปิดให้ชมในวันและเวลาราชการ และวันเสาร์เปิดครึ่งวัน ปิดวันอาทิตย์ (หากติดต่อล่วงหน้าสถาบันฯ ก็ยินดีเปิดให้ชมเป็นพิเศษ) ผู้เข้าชมจะได้ความรู้เกี่ยวกับ ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ความเป็นมาของการทอผ้า การประยุกต์ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง เครื่องจักสานและงานไม้ งานหล่อโลหะ การพัฒนาเครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องดนตรี วรรณกรรม จารึกภาษาโบราณ รวมทั้งผลงานศิลปะร่วมสมัยของนิสิต นักศึกษา
แก่งเลิงจาน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภายในบริเวณเป็นที่ตั้งของสถานีประมง ทำการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้หลายจังหวัดในภาคอีสาน อยู่ด้านหลังของวิทยาลัยครูมหาสารคาม ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณโดยรอบของแก่งเลิงจานมีทิวทัศน์สวยงาม ในวันหยุดประชาชนนิยมไปพักผ่อนกันมา
หมู่บ้านปั้นหม้อ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขวา ห่างจากตัวเมืองไปตามทางสายมหาสารคาม-ร้อยเอ็ด (208) ประมาณ 4 กิโลเมตร และแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ทางลูกรังอัดแน่น เป็นหมู่บ้านใหญ่ประมาณ 100 หลังคาเรือน ทุกบ้านมีอาชีพปั้นหม้อดินเผา ซึ่งชาวอีสานใช้เป็นหม้อน้ำ หม้อแกง กรรมวิธีทำยังเป็นแบบโบราณดั้งเดิม
กู่มหาธาตุ (ปรางค์กู่บ้านเขวา) ตั้งอยู่ที่บ้านเขวา ตำบลเขวา อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนแจ้งสนิท 13 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีอายุก่อสร้างในประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ทำด้วยศิลาแลงเป็นรูปกระโจมสี่เหลี่ยม สูงจากพื้นดินถึงยอด 4 วา กว้าง 2 วา 2 ศอก ภายในปราสาทมีเทวรูปทำด้วยดินเผา 2 องค์ นั่งขัดสมาธิ ประนมมือ ถือสังข์ มีกำแพงทำด้วยศิลาแลงล้อมรอบ โคปุระอยู่แนวด้านทิศตะวันออกเป็นทางเข้าออกภายในกำแพงเพียงด้านเดียว บรรณาลัยอยู่ภายในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีทางเข้าในปรางค์ประธานเพียงด้านเดียว คือ ทิศตะวันออก ส่วนอีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก กรอบประตูและทับหลังเป็นหินทราย กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งเรียบร้อยแล้ว
พิพิธภัณฑ์บ้านเชียงเหียน ห่างจากตัวจังหวัดมหาสารคาม 7 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางมหาสารคาม-ร้อยเอ็ด ชมเมืองโบราณบ้านเชียงเหียน ตำนานเมืองเชียงเหียนหนองหาน ฟ้าแดดสูงยาง ตลอดจนชมผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านด้วย

สถานที่ท่องเที่ยว บนเส้นทางสายอำเภอเมือง-วาปีปทุม-นาดูน (ทางหลวงหมายเลข 2040, 2045)

กู่สันตรัตน์ เป็นปราสาทหินที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นศิลปะขอมสมัยบายนอายุระหว่าง พ.ศ. 1700-1750 ตัวปราสาทสร้างด้วยศิลาแลงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเหมือนกู่มหาธาตุ และมีหับหลังประตูมุขหน้าจำหลักลายงดงงามน่าดู ตั้งอยู่ที่ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 2040 ผ่านอำเภอแกดำ อำเภอวาปีปทุม เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 2045 (เข้าอำเภอนาดูน) ประมาณ 1 กิโลเมตร จะอยู่ทางขวามือ
พระธาตุนาดูน พุทธมณฑลแห่งอีสาน ตั้งอยู่ที่บ้านนาดูน เขตอำเภอนาดูน เป็นเขตที่มีการขุดพบที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบได้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น และที่สำคัญยิ่งก็คือ การขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวาราวดี รัฐบาลจึงอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นในเนื้อที่ 902 ไร่ โดยบริเวณรอบๆ จะมีพิพิธภัณฑ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม สวนรุกขชาติ สวนสมุนไพร ซึ่งตกแต่งให้เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา การเดินทางไปได้จากตัวเมืองมหาสารคาม โดยใช้เส้นทางหมายเลข 2040 ผ่านอำเภอแกดำ อำเภอวาปีปทุม แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทาง 2045 ถึงอำเภอนาดูน ทางราดยางตลอด ห่างจากตัวเมืองประมาณ 65 กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยว บนเส้นทางสายมหาสารคาม-กาฬสินธุ์ (ทางหลวงหมายเลข 213)

พระพุทธรูปยืนมงคล เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองมหาสารคาม อยู่ที่ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย บนทางหลวงหมายเลข 213 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 14 กิโลเมตร (ทางด้านขวามือ) เป็นพระพุทธรูปสมัยทวาราวดี สร้างขึ้นด้วยหินทรายแดง เหมือนพระพุทธรูปมิ่งเมือง กล่าวกันว่าพระพุทธรูปสององค์นี้ สร้างขึ้นในเวลาเดียวกันคือ เมื่ออำเภอกันทรวิชัยฝนแล้ง ผู้ชายสร้างพระพุทธรูปมิ่งเมือง ผู้หญิงสร้างพระพุทธรูปยืนมงคล เสร็จพร้อมกันแล้วทำการฉลองอย่างมโหฬาร ปรากฏว่าตั้งแต่ได้สร้างพระพุทธรูปทั้งสององค์แล้ว ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องที่นี้เป็นอันมาก
พระพุทธรูปมิ่งเมือง หรือพระพุทธรูปสุวรรณมาลี สร้างด้วยหินทรายแดง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยทวาราวดีที่ชาวมหาสารคามนับถือว่าดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ประดิษฐานที่วัดสุวรรณาวาส หมู่ 1 ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 213 (มหาสารคาม-กาฬสินธุ์) ห่างจากตัวเมืองประมาณ 14 กิโลเมตรเศษ (อยู่ทางด้านซ้ายมือ)

สถานที่ท่องเที่ยว บนเส้นทางสายมหาสารคาม-โกสุมพิสัย (ทางหลวงหมายเลข 208)

บ้านหนองเขื่อนช้าง หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านสองคอน เป็นหมู่บ้านทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย ทำหมอนขิต อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางสายมหาสารคาม-โกสุมพิสัย ประมาณ 12 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายระหว่างกิโลเมตรที่ 47-48 ไปตามทางลูกรังหมายเลข 1027 สู่บ้านโนนตาล เข้าไปอีก 2 กิโลเมตร จึงจะถึงหมู่บ้านหนองเขื่อนช้าง
วนอุทยานโกสัมพี ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย ริมฝั่งแม่น้ำชี จากตัวเมืองใช้เส้นทาง 208 ประมาณ 28 กิโลเมตร ถึงสี่แยกโกสุมพิสัย ตรงเข้าทางราดยาง 450 เมตร วนอุทยานโกสุมพิสัย มีเนื้อที่กว้าง 125 ไร่ ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 ลักษณะเป็นสวนป่ามีต้นไม้หลายชนิด เช่น ต้นยาง ขนาดใหญ่ ต้นตะแบก ต้นกระทุ่ม ฯลฯ แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมติดต่อกัน มีหนองน้ำธรรมชาติทัศนียภาพร่มรื่น วนอุทยานนี้เป็นที่อาศัยของนกต่างๆ และลิงฝูงใหญ่จำนวนหลายร้อยตัว ลิงในป่านี้มีนิสัยไม่ดุร้ายสามารถเข้ารับของกินจากประชาชนที่นำไปให้ได้
บ้านแพง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพการทอเสื่อกก เป็นอาชีพเสริมอีกอาชีพหนึ่ง การเดินทาง จากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 208 (มหาสารคาม-โกสุมพิสัย) เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางโกสุมพิสัย-ขอนแก่น ระหว่างกิโลเมตรที่ 20-21 ห่างจากอำเภอโกสุมพิสัย 9 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 38 กิโลเมตร




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่มหาสารคาม