แผนที่มุกดาหาร

  • แผนที่มุกดาหาร
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

มุกดาหาร เป็นจังหวัดชายแดนแห่งสำคัญ เป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ซึ่งเปรียบเป็นประตูที่เปิดไปสู่กลุ่มประเทศอินโดจีน คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว และประเทศเวียดนาม ที่นับวันจะทวีความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมากขึ้นมุกดาหารโดดเด่นในด้านความหลากหลายของเชื้อชาติ เนื่องจากพลเมืองของจังหวัดประกอบด้วยชนพื้นเมืองต่างๆ หลากหลายเผ่า มุกดาหารจึงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วย วัฒนธรรมอันงดงาม และมีเอกลักษณ์โดดเด่นมากมาย นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้ง บนบกและในน้ำ จึงนับเป็นจังหวัดท่องเที่ยวอีกจังหวัดหนึ่ง ที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม

จังหวัดมุกดาหารมีเนื้อที่ประมาณ 4,340 ตารางกิโลเมตร หรือ 2.7 ล้านไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 52 ของประเทศ สภาพพื้นที่ทางทิศเหนือและทิศใต้เป็นที่ราบสูง ทางทิศตะวันตกเป็นเทือกเขาภูพานมีป่าไม้หนาแน่น ส่วนทิศตะวันออกเป็นที่ราบสลับป่าไม้ และมีแม่น้ำโขงไหลผ่านเป็นระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดมุกดาหารเริ่มก่อตั้งเป็นเมืองขึ้นในราวปี พ.ศ. 2310 สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เมื่อเจ้ากินรี บุตรชายของเจ้าจันทรสุริยวงศ์ ผู้ปกครองบ้านหลวงโพนสิน ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณพระธาตุอิงฮัง แขวงสะหวันนะเขต ประเทศ สปป. ลาวในปัจจุบัน ได้ข้ามลำน้ำโขงมาสร้างเมืองขึ้นที่บริเวณปากห้วยมุก แล้วตั้งชื่อเมืองว่า “มุกดาหาร” ต่อมาในปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เจ้ากินรีเป็น “พระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามัณฑาตุราช” ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นคนแรกของเมืองมุกดาหารต่อมาเมืองมุกดาหารมีฐานะ เป็นเมืองขึ้นของมณฑลอุดร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2450 มีการปรับเปลี่ยนระบบการปกครอง มณฑลอุดรถูกเปลี่ยนเป็น “จังหวัดอุดร” เมืองมุกดาหารก็ถูกผนวกเข้าเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม ชื่อว่า “อำเภอเมืองมุกดาหาร” จนถึงปี พ.ศ. 2525 รัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดมุกดาหารขึ้นเป็นจังหวัดที่ 73 ของประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่ 17 ของภาคอีสาน

ปัจจุบันจังหวัดมุกดาหารแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดงหลวง อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอหนองสูง

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร และอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และ อำเภอหนองพอก อำเภอโพนทอง จังหวัด ร้อยเอ็ด
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงสวันเขตสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็น เส้นกั้นพรมแดน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ มุกดาหารมีพื้นที่ทั้งหมด 4,339.83 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอคำชะอี อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล อำเภอดงหลวง อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอหนองสูง

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-มุกดาหาร

รถยนต์ จังหวัดมุกดาหารอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 642 กิโลเมตร ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-โพนทอง-คำชะอี-มุกดาหาร หรือเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2) เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 207 ที่บ้านวัดผ่าน ประทาย พุทไธสง พยัคฆภูมิพิสัย (ทางหลวงหมายเลข 202) เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ ยโสธร แยกเข้ามาทางหลวงหมายเลข 2169 ผ่านทรายมูล กุดชม เลิงนกทา แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอนิคมคำสร้อยสู่มุกดาหาร

ทางรถประจำทาง

รถประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารประจำทางเชื่อมระหว่างจังหวัดมุดาหารและอื่นๆ ในภาคอีสาน อาทิ จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร อุดรธานี และมหาสารคาม กำหนดเวลาและรายละเอียดสอบถามได้ที่ สถานีขนส่งจังหวัดมุกดาหาร โทร. (042) 611421, 611478, 613025-9

ทางรถไฟ

รถไฟ มีรถด่วน รถเร็ว และรถด่วนพิเศษสปรินเตอร์ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน จากนั้นจ่อรถโดยสารไปยังจังหวัดมุกดาหาร ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร วันละ 3 เที่ยว รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีบริการเที่ยวบินไปจังหวัดมุกดาหารโดยตรง หากประสงค์เดนทางโดยเครื่องบินต้องเดินทางไป จังหวัดอุบลราชธานี หรือ นครพนม จากนั้นต่อรถโดยสารไปจังหวัดมุกดาหาร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-356-1111

การเดินทางภายในมุกดาหาร

ในตัวจังหวัดมุกดาหารมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่อง หรือสกายแล็บ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง หน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองและท่าเรือข้ามฟาก ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย และมีเรือข้ามฟากไปยังเมืองสะหวันนะเขต สปป.ลาว บริการทุกวัน ขึ้นเรือได้ที่ท่าเทียบเรือโดยสารบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง

ระยะทางจากอำเภอเมืองมุกดาหารไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอนิคมคำสร้อย 28 กิโลเมตร

อำเภอดอนตาล 33 กิโลเมตร

อำเภอคำชะอี 35 กิโลเมตร

อำเภอหว้านใหญ่ 35 กิโลเมตร

อำเภอหนองสูง 50 กิโลเมตร

อำเภอดงหลวง 55 กิโลเมตร

  ประเพณีการแข่งเรือ การแข่งเรือของจังหวัดมุกดาหารเป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยจัดขึ้นในลำน้ำโขงในช่วงเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ในวันขึ้น 13 ค่ำ-15 ค่ำ เดือน 11 ที่บริเวณเขื่อนริมโขง ถนนสำราญชายโขง การแข่งเรือนี้จัดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การแข่งเรือเร็ว โดยแบ่งเป็น 3 รุ่น ได้แก่ เรือรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ ระยะทางแข่งยาว 3 กิโลเมตร เรือทุกลำเป็นเรือขุดท้องกลม อีกประเภทหนึ่งคือ การแข่งเรือประเภทสวยงาม โดยตกแต่งเรือให้สวยงามตลอดลำ โดยเฉพาะจะเน้นที่หัวเรือ การแข่งเรือทั้งสองประเภทนี้ ในแต่ละปีจะมีเรือเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก และได้รับความสนใจจากชาวมุกดาหาร และประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการแข่งเรือมิตรภาพไทย-ลาว โดยมีเรือจากแขวงสวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาร่วมแข่งเป็นประจำทุกปี
งานรวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขง จังหวัดมุกดาหารเป็นเมืองเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงตรงข้ามกับแขวงสวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงมีชาวไทยเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่หลายเผ่า อาทิ ผู้ไท โซ่ ย้อ ข่า กะเลิง กุลา ซึ่งแต่ละเผ่าล้วนแล้วแต่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ มีเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมของตนเอง นอกจากนี้มุกดาหารยังเป็นแหล่งกำเนิดมะขามหวานพันธุ์ดีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานาน หากแต่ยังขาดการส่งเสริมในด้านการตลาด ดังนั้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ของดีของท้องถิ่นและส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดมุกดาหาร จึงได้จัดงานรวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขง ขึ้นเป็นประจำทุกปีระหว่างวันที่ 9-15 มกราคม รวม 7 วัน 7 คืน โดยงานจะจัดขึ้นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดกิจกรรมระหว่างงานมีขบวนแห่ ซึ่งใช้ผู้ฟ้อนนับร้อยคนแต่งการด้วยชุดประจำเผ่า มีการประกวดมะขามหวาน การประกวดธิดาเผ่าไทย การออกร้านของหน่วยงานต่างๆ และการแสดงพื้นเมือง เป็นต้น

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

  ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ตั้งอยู่บนถนนสองนางสถิตย์ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร ในบริเวณศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนี้ มีหลักเมืองประดิษฐานอยู่ด้วย ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนี้ไม่มีผู้ใดทราบความเป็นมาว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองมุกดาหาร แต่เดิมเป็นเพียงศาลไม้ต่อมาได้มีการบูรณะก่อสร้างเป็นศาลคอนกรีต ชาวเมืองมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ปกปักรักษาเมืองมุกดาหารให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวเมืองมุกดาหารจะมีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล
ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง ถนนสำราญชายโขงริมแม่น้ำ ติดกับท่าด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดมุกดาหาร ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องนี้ก็เช่นเดียวกับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง คือไม่ทราบประวัติความเป็นมา แต่เดิมเป็นศาลไม้ ต่อมาได้มีการบูรณะเป็นศาลคอนกรีต ชาวจังหวัดมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่กับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ผู้ใดที่เคารพสักการะศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองแล้ว จะเลยไปเคารพสักการะศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องด้วยเสมอ และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวจังหวัดมุกดาหารจะจัดให้มีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองและเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกัน
วัดศรีมงคลใต้ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์หลวง พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ใกล้กับ ท่าด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดมุกดาหาร เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง สร้างขึ้นก่อนตั้งเมืองมุกดาหาร ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด องค์มีขนาดหน้าตักกว้าง 2.20 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี 2 เมตร สูงจากฐาน 3 เมตร
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2310 เจ้ากินรีได้พาพรรคพวกอพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามมาตั้งเมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงปากห้วยมุก แล้วตั้งนามเมืองว่า เมืองมุกดาหาร วันหนึ่งขณะที่เจ้ากินรีคุมบ่าวไพร่ถากถางอยู่ใกล้ต้นตาลเจ็ดยอด ได้พบพระพุทธรูปสององค์ องค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน องค์เล็กเป็นพระพุทธรูปเหล็กอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เจ้ากินรีจึงสร้างวัดขึ้นบริเวณนั้น และตั้งชื่อว่า วัดศรีมงคุณ (วัดศรีมงคลใต้ในปัจจุบัน) เพื่อเป็นมงคลแก่ชาวเมืองและเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปของทั้งสององค์ เมื่ออัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสองไปไว้ในโบสถ์ รุ่งขึ้นเมื่อพระภิกษุประจำวัดเข้าไปสักการะ ก็ปรากฏว่าไม่พบพระพุทธรูปเหล็ก เมื่อค้นดูรอบๆ บริเวณวัด พบว่าพระพุทธรูปเหล็กไปประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ตามเดิม และจมลงในดินเหลือแต่ยอดพระเมาลี เจ้ากินรีจึงสร้างแท่นสักการะบูชาไว้ ณ ที่นั้น และถวายนามว่า “พระหลุบเหล็ก” ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่วัดศรีมงคลใต้ เรียกนามว่า “พรเจ้าองค์หลวง” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองจวบจนทุกวันนี้
พระพุทธสิงห์สอง เป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 1 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยออดเมาลี 1.20 เมตร สูงรวมทั้งฐาน 2 เมตร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดศรีบุญเรือง (บ้านใต้) ถนนสำราญชายโขง ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร ประวัติความเป็นมาของพระพุทธสิงห์สองนั้น มีหลักฐานปรากฏไว้ว่า ในสมัยที่เมืองมุกดาหารยังเป็นเมืองใหม่ การปฏิสังขรณ์สร้างโบสถ์ศรีมงคลใต้ยังไม่เสร็จเรียบร้อย เจ้ากินรีเจ้าเมืองมุกดาหารคนแรกได้เดินทางไปนครเวียงจันทน์ เพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถของวัดศรีมงคลใต้ ต่อมาเจ้ากินรีได้สร้างวัดขึ้นใหม่ที่บ้านศรีบุญเรือง แล้วตั้งชื่อว่าวัดศรีบุญเรือง และได้อัญเชิญพระพุทธสิงห์สองจากวัดศรีมงคลใต้ขึ้นประดิษฐานบนแท่นในพระอุโบสถวัดศรีบุญเรือง เพื่อสักการะบูชาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในงานสงกรานต์ของอำเภอเมืองมุกดาหาร ชาวอำเภอเมืองมุกดาหารได้กระทำพิธีอัญเชิญพระพุทธสิงห์สองจากพระอุโบสถวัดศรีบุญเรืองแห่รอบเมือง แล้วนำไปประดิษฐานบนแท่นที่จัดได้ ณ บริเวณหน้าหอประชุมอำเภอ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สรงน้ำเป็นประจำทุกปี
อุทยานแห่งชาติมุกดาหาร ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงบังอี๋ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารและอำเภอดอนตาล ห่างจากตัวเมือง 17 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล แยกเข้าทางขวามือระหว่างกิโลเมตรที่ 14-15 อีก 2 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยาน มีเนื้อที่ ทั้งหมด 30312.5 ไร่ หรือ 48.5 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยภูเขาสูงชันหลายลูกติดต่อกัน เช่น ภูมโนรมย์ ภูนางหงษ์ ภูผาเทิบ ภูถ้ำพระ ภูหลักเส ภูรัง ภูป่ง ภูคำหมากมี่ ยอดเขาสูงสุดคือ ยอดภูจอมสี สูงจากระดับน้ำทะเล 420 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็ง-รัง และป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย เช่น ห้วยตาเหลือก ห้วยสิงห์ ห้วยเรือ ห้วยมะเล ห้วยช้างชน เป็นต้น แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูงและลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลกๆ มากมาย

 สถานที่น่าเที่ยวชมภายในอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร

- ภูมโนรมย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองมุกดาหารประมาณ 5 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล ทางหลวงหมายเลข 2034 ประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วมีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังอีกประมาณ 3 กิโลเมตร นำรถไปจอดที่เชิงเขาและเดินขึ้นไปบนยอดเขาซึ่งมีศาลาที่พักและรอยพระพุทธบาทจำลองลึก 1 เมตร เมื่ออยู่บนยอดเขาจะมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองมุกดาหาร แม่น้ำโขง และแขวงสวันเขตของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
- ภูนางหงษ์ อยู่บนเส้นทางที่จะเข้าไปภูผาเทิบ โดยใช้เส้นทางหมายเลข 2034 จากตัวเมืองมุกดาหารไปประมาณ 14-15 กิโลเมตร มีทางแยกขวามือเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติมุกดาหารและภูผาเทิบอีก 2 กิโลเมตร ทางเข้าไปสะดวกเข้าไปได้ทุกฤดูกาล ก่อนถึงที่ทำการอุทยานประมาณ 500 เมตร จะมีทางลูกรังแยกซ้ายมือเข้าไปภูนางหงษ์ ลักษณะทั่วไปเป็นลานหินสลับป่าแคระ มีหินธรรมชาติรูปร่างต่างๆ วางทับซ้อนกันอยู่เป็นกลุ่มมีสีสันแตกต่างกันไป เรียงรายอยู่ล้อมรอบหินรูปหงส์ขนาดใหญ่
- ภูผาเทิบ อยู่ในเขตตำบลนาสีนวน บริเวณที่ทำการอุทยาน ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 17 กิโลเมตร บนเส้นทางสายมุกดาหาร-ดอนตาล ระหว่างกิโลเมตรที่ 14-15 เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 5.2 ตารางกิโลเมตร ลักษณะโดยทั่วไปเป็นกลุ่มหินรูปทรงหลายแบบวางซ้อนทับกันคล้ายกันเพิงผาที่กันแดดกันลมได้ ซึ่งภาษาท้องถิ่นเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “เทิบ” บางอันมีรูปร่างคล้ายร่ม เห็ดขนาดใหญ่ ไอพ่น มงกุฎ ดอกบัวบาน รองเท้าบู๊ท เก๋งจีน สถูป และจานบิน เป็นต้น สันนิษฐานว่าบริเวณกลุ่มหินนี้แต่ก่อนคงปกคลุมด้วยดิน เป็นภูเขาดิน ต่อมาถูกฝน ลมกัดเซาะพังทลายลงเรื่อย จึงมองเห็นหินโผล่ขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อน บนภูผาเทิบอากาศเย็นสบาย ในแต่ละฤดูจะมีดอกไม้ผลัดเปลี่ยนกันออกดอกตามฤดูกาล เพิ่มความงามให้กับภูผาเทิบอีกมาก ซึ่งมีทั้งดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ตามซอกหินผา เช่น เอนอ้า เทียนหิน หรือดุสิตา และดอกกล้วยไม้ประเภทช้างน้าว ตาลเหลือง เป็นต้น
- ลานมุจลินท์ อยู่บนภูผาเทิบ เป็นลานหินเรียบที่ทอดยาวไกลไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1,200 เมตร บนลานมีร่องน้ำเล็กๆ มากมายเกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝนไหลรวมตัวกันสู่แอ่งน้ำกว้าง เรียกว่า วังเดือนห้า บนลานหินได้มีการค้นพบกระดูกสัตว์โบราณ อายุไม่ต่ำกว่า 250 ล้านปีอยู่ 2 จุด ห่างกันประมาณ 500 เมตร ซึ่งนักธรณีวิทยาและนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เป็นบริเวณที่เคยอยู่ใต้น้ำมาก่อน เมื่อยืนอยู่กลางลานมองไปทางทิศตะวันออก จะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์อันงดงามของทิวเขาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน
- ภูถ้ำพระ เป็นภูเขาลูกใหญ่ที่สุดในอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร อยู่ในระดับความสูง 300-400 เมตร มีที่ราบกว้างใหญ่อยู่หลังเขา ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จึงทำให้เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำ ลำธาร และแหล่งน้ำซับ บริเวณด้านหน้าของภูถ้ำพระมีน้ำตกไหลผ่าน ภายในถ้ำในสมัยก่อนเคยเป็นที่อยู่ของพระภิกษุและมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เป็นทองคำ เงิน ไม้ แก้ว มากมาย แต่ได้ถูกขโมยสูญหายไปหมด ปัจจุบันเหลือเพียงพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 3 ฟุต พระพุทธรูปไม้อีกหลายร้อยองค์และรูปปั้นรูปสัตว์ต่างๆ
- ถ้ำฝ่ามือแดง อยู่บนภูผาเทิบในเขตพื้นที่ตำบลนาสีนวน อำเภอเมืองมุกดาหาร ลักษณะของถ้ำเป็นเพิงหินยา กว้าง 3 เมตร ยาว 60 เมตร ภายในฝาผนังถ้ำมีรูปมือประทับอยู่ 10 มือ และรูปคนยืนจำนวน 6 คน เขียนด้วยสีแดง สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี จัดอยู่ในยุคหินเก่า บริเวณหลังถ้ำจะเป็นหินกว้างอยู่ในระดับที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้อย่างสวยงาม ทางอุทยานฯ ยังไม่มีที่พักบริการนักท่องเที่ยว ผู้ที่ต้องการพักแรมจะต้องนำเต้นท์ไปเอง โดยติดต่อขออนุญาต ณ ที่ทำการอุทยาน

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอดอนตาล

หอยสมัยหิน มีลักษณะคล้ายหอยสังข์ ฝังอยู่ในดินลึกประมาณ 40 ฟุต พบที่โคกหินแดง บ้านนายอ ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2034 เลี้ยวซ้ายตรงหลักกิโลเมตรที่ 17-18 ปากทางเข้าบ้านนาโพธิ์ ซึ่งเป็นทางลูกรังตลอด จากการวิจัยของกรมทรัพยากรธรณีโดยนำหอยไปวัดความหนาแน่นแล้วทำให้ทราบว่า เปลือกโลกบริเวณนี้มีอายุประมาณ 27 ล้านปี หอยเป็นหินนี้ขุดพบเป็นแห่งที่ 3 ของโลก บริเวณที่พบเปลือกหอยนี้ปรากฎว่าเป็นชั้นหินปูนหนาประมาณ 1 ฟุต เหมาะสำหรับผู้สนใจทางด้านธรณีวิทยา
อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เป็นอุทยานที่มีเนื้อที่อยู่บนแนวรอยต่อ 3 จังหวัด คือ อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน และอำเภอเสนานิคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีเนื้อที่ 232 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 145,000 ไร่ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีความสูงโดยเฉลี่ย 350-450 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มียอดสูงที่สุดคือ ภูกระแซะ สูงประมาณ 491 เมตร เทือกเขาเหล่านี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยทม ห้วยก้านเหลือง ซึ่งไหลรวมลงสู่พื้นราบโดยรอบอุทยานฯ ซึ่งประกอบด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์หลายชนิด พื้นที่หลายแห่งมีลานหินขนาดใหญ่ ซึ่งชาวท้องถิ่นเรียกว่า “ดาน” กระจายอยู่ตามป่า ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งกระจายอยู่ตามเทือกเขาต่างๆ มีไม้ที่มีค่าขึ้นอยู่หลายชนิด เช่น มะค่าโมง ประดู่แดง พยุง ชิงชัน บริเวณพื้นที่ป่าเหล่านี้ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด โดยเฉพาะที่เทือกเขาภูสระดอกบัวซึ่งเป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำ สามารถพบสัตว์ป่าได้หลายชนิด เช่น เก้ง หมูป่า กระต่ายป่า ลิง บ่าง เม่น กระจง และสัตว์ปีกประเภทต่างๆ ได้แก่ ไก่ฟ้า ไก่ป่า เป็นต้น
บริเวณอุทยานฯ ประกอบด้วยทิวทัศน์ที่สวยงาม ความวิจิตรพิสดารของหินผามีความเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ตลอดจนร่องรอยของการต่อสู้อันเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ภูสระบัว

- ภูผาแต้ม เป็นหน้าผาประกอบด้วยรูปรอยฝ่ามือ และการเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าเป็นยุคเดียวกับภาพเขียนสี ในถ้ำฝ่ามือแดงของอุทยานแห่งชาติภูผาแต้ม และทีอุทยานแห่งชาติภูผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หน้าผามีลักษณะคล้ายถ้ำเพราะหินไหลเลื่อนลงมามีความยาวประมาณ 60 เมตร ภาพเหล่านี้อยู่สูงจากพื้นถ้ำประมาณ 3-5 เมตร เป็นภาพมือและภาพสัญลักษณ์รวม 98 ภาพ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างอย่างน่าสนใจ
- ผามะเกลือ จุดพักผ่อนหย่อนใจและที่ชมวิว อยู่ใกล้บริเวณผาแต้ม มีลักษณะเป็นลานหินใต้เพิงผาร่มรื่น ไปด้วยแมกไม้เหมาะสำหรับนั่งเล่นนั่งพักผ่อน
- ลานดอกไม้บนภูวัด เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวท้องถิ่นโดยรอบในช่วงวันสงกรานต์และวันสำคัญทางศาสนา มีชาวบ้านมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก และในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว จะมีดอกไม้และดอกหญ้าชนิดเดียวกับที่อุทยานแห่งชาติมุกดาหารขึ้นเป็นจำนวนมากบนลานหิน
- ภูผาหอม เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากของเทือกเขาภูผาแต้ม ระหว่างทางเดินจะผ่านป่าไผ่ ลานหิน และป่าเต็งรังที่สวยงาม จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ในระยะไกลออกไปทางทิศตะวันตก มีความสูงประมาณ 366 เมตร จากระดับน้ำทะเลด้านหลังจะมองเห็นภูหมู ภูแผงม้า ภูไม้ซาง ภูซอง ภูอัครชาด ในยามเย็นตรงจุดนี้มีนักท่องเที่ยวนิยมมาชมพระอาทิตย์อัสดง เพื่อเก็บภาพอันน่าประทับใจ และพักค้างแรมกันมาก
- ภูสระดอกบัว เป็นภูเขาที่มีความสูงประมาณ 423 เมตร บนรอยต่อเขต 3 จังหวัด ที่ยอดภูสระดอกบัวมีแอ่งหินขนาดกว้างประมาณ 2-5 เมตร อยู่ 5-6 แห่ง มีน้ำขังจลอดปี มีบัวพันธุ์ต่างๆ ขนาดเล็ก ขึ้นอยู่เต็มสระเมื่อออกดอกจะดูสวยงามมาก ชาวบ้านเล่ากันว่ามีบัวขึ้นอยู่อย่างนี้มานานแล้ว และเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงได้ชื่อว่า “ภูสระดอกบัว” และบริเวณเดียวกันมีถ้ำขนาดใหญ่ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์สามารถจุคนได้ถึง 100 คน
- ภูผาแตก หรือชื่อทางยุทธการสงครามว่า “เนิน 428” ที่นี่มีจุดชมวิวมีองค์ประกอบทางธรรมชาติสวยงาม ทางด้านทิศเหนือสามารถมองเห็นทิวเขาของอุทยานแห่งชาติมุกดาหารในระยะไกลได้
- ลานหินและป่าเต็งรังแคระ พบได้ทั่วไป และมีอยู่มาก เป็นลานหินยาวและใหญ่ บางแห่งมีขนาด 20-40 ไร่ สลับกับป่าเต็งรังแคระ บางแห่งเป็นป่าเต็งรังสลับกับป่าหญ้าเพ็ก มองดูสวยงามมาก และพบได้หลายแห่ง เช่น ภูผาหอม หลังภูผาด่าง หลังภูผา ภูสระดอกบัว ภูบก ภูหัวนาค เป็นต้น การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว จากจังหวัดมุกดาหารไปตามเส้นทางมุกดาหาร-ดอนตาล ประมาณ 42 กิโลเมตร ดอนตาล-เลิงนกทา เส้นทางสาย 2277 ประมาณ 18 กิโลเมตร และเลี้ยวขวาเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหินข้อ หมู่ที่ 3 บ้านหนองเม็ก ตำบลป่าไร่ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อีก 1 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานป่าไม้ จังหวัดมุกดาหาร โทร. (042) 611751 หรือกองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 ทางอุทยานฯ ยังไม่มีที่พักบริการนักท่องเที่ยว ผู้ที่ต้องการพักแรมจะต้องนำเต้นท์ไปเอง ติดต่อขออนุญาตโดยตรง ณ ที่ทำการอุทยานฯ
กลองมโหระทึก เป็นกลองสัมฤทธิ์หน้าเดียว เส้นผ่าศูนย์กลาง 86 เซนติเมตร ตัวกลองยาว 90 เซนติเมตร หน้ากลองเป็นรูปตะวันนูน มีแฉก 14 แฉก มีรูปกบติดขอบกลองจำนวน 4 ตัว กลองดังกล่าวเชื่อว่าอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี และเป็นกลองที่พวกข่าและขอมโบราณชอบเก็บสะสมไว้ ค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2481 ที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำโขงที่น้ำเซาะพังตรงบ้านนาทาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยตอนแรกเก็บไว้ที่วัดเวินไชยมงคล บ้านดอนตาล ตำบลดอนตาล อำเภอดอนตาล แต่ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอดอนตาล โดยสร้างเป็นหอกลองเก็บรักษาไว้อย่างมั่นคง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนิคมคำสร้อย (ทางหลวงหมายเลข 212)

  วัดภูดานแต้ หรือวัดพุทโธธัมมะธะโร ตั้งอยู่ริมถนนชยางกูร ทางหลวงหมายเลข 212 บ้านชัยมงคล ตำบลโชคชัย อำเภอนิคมคำสร้อย ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 134 เลี้ยวขวาเข้าไปในบริเวณวัดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางห้ามมาร มีธรรมจักรเปล่งรัศมีอยู่ด้านบน สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เพราะองค์พระพุทธรูปสร้างอยู่บนเนินเขาเล็กๆ มีประชาชนจากที่ต่างๆ เข้าไปนมัสการและชมความงามของบริเวณวัดกันอยู่เสมอ
วนอุทยานภูหมู เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามยิ่งของจังหวัดมุกดาหารอีกแห่งหนึ่ง ภูหมูเป็นยอดเขาที่สูง 353 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ราบบนยอดเขาประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,500 ไร่ เมื่อสมัยก่อนบริเวณนี้มีหมูป่าชุกชุมมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่าภูหมู บนยอดเขามีจุดซึ่งเป็นหน้าผาให้ชมวิว 3 จุด สามารถเดินเข้าไปชมวิวได้ทุกจุดโดยจอดรถไว้ที่ลานจอดรถหน้าที่ทำการวนอุทยานฯ แล้วเดินไปจุดที่ 1-2 ประมาณ 100 และ 400 เมตร ตามลำดับ สำหรับจุดที่ 3 จะต้องเดินประมาณ 800 เมตร จากจุดชมวิวแต่ละจุดจะมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดมุกดาหารในแง่มุมต่างๆ ซึ่งสวยงามมาก อากาศก็เย็นสบาย การเดินทางไปวนอุทยานภูหมู ใช้เส้นทางหมายเลข 212 ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 128-129 แยกซ้ายมือเข้าไปอีก 12 กิโลเมตร เป็นทางเรียบและขึ้นเนิน ทางราดยางตลอดแต่ค่อนข้างแคบ ทำให้รถใหญ่เข้าไปไม่สะดวก
อ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยขี้เหล็ก ตั้งอยู่บนเส้นทาง 212 ห่างจากตัวเมืองมุกดาหารประมาณ 23 กิโลเมตร อยู่เหนือวนอุทยานภูหมู บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำจะเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหนองสูง (ทางหลวงหมายเลข 2030)

  น้ำตกตาดโตน อยู่ห่างจากอำเภอหนองสูงไปทางทิศใต้ และอยู่ห่างจากอำเภอคำชะอีไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสาย 2030 ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 67-68 แยกเข้าไปอีก 400 เมตร ทางขวามือ ระยะน้ำตกสูง 7 เมตร กว้าง 30 เมตร มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวมุกดาหารและชาวจังหวัดใกล้เคียง

  สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหว้านใหญ่ (ทางหลวงหมายเลข 212)

  แก่งกะเบา แก่งกะเบาเป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง บนฝั่งก็ยังมีลานหินกว้างใหญ่เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี ในฤดูแล้งน้ำลดจนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำ และหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่นๆ การเดินทางใช้เส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม (ทางหลวงหมายเลข 212) 20 กิโลเมตร แยกขวาไปอำเภอหว้านใหญ่อีก 9 กิโลเมตร จะพบทางแยกไปแก่งกะเบา ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศเหนืออีก 8 กิโลเมตร
วัดมโนภิรมย์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลชะโนด เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นโดยช่างสถาปัตยกรรมจากนครเวียงจันทน์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 เกิดไฟไหม้วัดเสียหายอย่างมากมาย และได้บูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2454 ที่วัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่น่าสนใจ เช่น วิหาร พระอุโบสถ พระพุทธรูป และซุ้มบันไดโบสถ์ที่เก่าแก่และสวยงาม

ระเบียบการข้ามไปแขวงสวันเขต ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปปล.) เอกสารที่ใช้ประกอบหลักฐาน

 - บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา 1 ฉบับ
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว 2 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
- กรณีเด็กที่ยังไม่ได้ทำบัตรประชาชน ให้ใช้สำเนาทะเบียนบ้านหรือสูติบัตร 1 ฉบับ
- กรณีใช้บัตรสีเหลือง ต้องติดรูปถ่าย และให้ทางอำเภอรับรอง
- ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
- การออกใบอนุญาตผ่านแดน มีอายุครั้งละ 3 วัน (กรณีข้ามไปเยี่ยมญาติหรือท่องเที่ยว) และครั้งละ 30 วัน (กรณีข้ามไปเพื่อติดต่อธุรกิจค้าขาย)
- ยื่นหลักฐาน และสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานจังหวัดมุกดาหาร วันธรรมดาในเวลาราชการ วันเสาร์ตั้งแต่เวลา 08.30-14.00 น. วันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 09.30-10.30 น. โทร. (042) 611330
 หมายเหตุ สำหรับชาวต่างประเทศ ต้องมีหนังสือเดินทางพร้อมด้วยวีซ่าที่สถานฑูต สปปล. ประจำประเทศไทย ออกให้โดยติดต่อขออนุญาตผ่านแดนที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดมุกดาหารโดยตรง

วันและเวลาเรือโดยสารข้ามไป สปปล.

วันธรรมดา มีเรือโดยสาร 4 เที่ยว ขาไปออกเวลา 9.00, 09.30,10.00 และ 15.00 น ขากลับออกเวลาประมาณ 14.00, 15.00 และ 16.30 น.
วันเสาร์ มีเรือโดยสาร 2 เที่ยว ขาไปออกเวลา 09.00 และ 11.00 น. ขากลับออกเวลาประมาณ 14.00 และ 16.00 น.
วันอาทิตย์ มีเรือโดยสาร 1 เที่ยว ขาไปออกเวลา 10.00 น. ขากลับออกเวลาประมาณ 16.00 น. สอบถามรายละเอียดได้โดยตรงที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โทร. (042) 611074

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่มุกดาหาร