แผนที่สตูล

  • แผนที่สตูล
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

สตูล เป็นจังหวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย จังหวัดสตูลมีเนื้อที่ประมาณ 2,479 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน จึงมีหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่าร้อยเกาะอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัด ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเนินสูง มีที่ราบ ป่าเขา และลำธารทางด้านตะวันออก ตอนกลางใกล้ทะเลเป็นพื้นที่ราบลุ่มสลับกับภูเขา ส่วนชายฝั่งทะเลเป็นที่ราบและป่าชายเลนชื่อ “สตูล” เพี้ยนมาจากภาษามลายู คือสโตย ซึ่งแปลว่ากระท้อน ที่ขึ้นดกดื่นอยู่ในพื้นที่นี้ โดยก่อนที่จะผนวกรวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย สตูลเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลไทรบุรี มีชื่อเป็นภาษามลายูว่านครสโตยมำบังสการา ซึ่งไทยเรียกว่าสตูล แปลว่าเมืองแห่งพระสมุทรเทวา

ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สตูลเป็นเพียงตำบลหนึ่งในเขตเมืองไทรบุรี ประวัติความเป็นมาของเมืองสตูลจึงเกี่ยวข้องกับไทรบุรี ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า "ตามเนื้อความที่ปรากฏดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เห็นว่าในเวลานั้น พวกเมืองไทรเห็นจะแยกกันเป็นสองพวกคือ พวกเจ้าพระยาไทรปะแงรันพวกหนึ่ง และพระยาอภัยนุราชคงจะนบน้อมฝากตัวกับเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเมื่อพระยาอภัยนุราชได้มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูล ซึ่งเขตแดนติดต่อกับนครศรีธรรมราชมากกว่าเมืองไทร แต่พระยาอภัยนุราชว่าราชการเมืองสตูลได้สองปีก็ถึงแก่อนิจกรรม ผู้ใดจะได้ว่าราชการเมืองสตูลต่อมาในชั้นนั้นหาพบจดหมายเหตุไม่ แต่พิเคราะห์ความตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เข้าใจว่าเชื้อพระวงศ์ของพระอภัยนุราช (ปัศนู) คงจะได้ว่าราชการเมืองสตูล และฟังบังคับบัญชาสนิทสนมกับเมืองนครศรีธรรมราชอย่างครั้งพระยาอภัยนุราชหรือยิ่งกว่านั้น"

เรื่องเกี่ยวกับเมืองสตูลนั้นยังปรากฏในหนังสือพงศาวดารเมืองสงขลา แต่ข้อความที่ปรากฏบางตอนเกี่ยวกับชื่อผู้ว่าราชการเมืองสตูล ไม่ตรงกับในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประวัติเกี่ยวกับเมืองสตูลในการจัดรูปแบบการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาลกล่าวไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไทรบุรีรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิต) เป็นข้าราชการเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี โดยเมืองสตูลได้แยกออกจากไทรบุรีอย่างเด็ดขาดตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษ เรื่องการปักปันดินแดนนะหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2452) จากหนังสือสัญญานี้ยังส่งผลให้เมืองไทรบุรีและเมืองปะลิสตกเป็นของอังกฤษ ส่วนเมืองสตูลยังคงเป็นของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อปักปันดินแดนเสร็จแล้ว ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เมืองสตูลเป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2453)

ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมืองสตูลก็มีฐานะยกเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

จังหวัดสตูลแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ ได้แก่

อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอท่าแพ อำเภอควนกาหลง อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า และอำเภอมะนัง

ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดตรังและสงขลา
ทิศใต้ ติดกับรัฐเปอร์ลิสของประเทศ มาเลเซีย และจังหวัดสงขลา
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดสงขลาและรัฐเปอร์ลิสของ ประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรอินเดีย

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-สตูล

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านเข้าเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง จากพัทลุงไปอำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 แล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 406 ถึงจังหวัดสตูลระยะทาง 973 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศและรถธรรมดา ระหว่างกรุงเทพฯ-สตูล ทุกวัน มีรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 ชม. ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-422-4444 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ การเดินทางโดยรถไฟ สามารถเดินทางไปกับขบวนรถกรุงเทพฯ-ยะลา หรือ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ได้ โดยลงที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จากนั้นนั่งรถแท็กซี่ หรือรถประจำทางเข้าจังหวัดสตูล ระยะทางประมาณ 97 กิโลเมตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดกำหนดการเดินรถไฟได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

ทางเครื่องบิน โดยบริษัท การบินไทย จำกัด คล้ายกับการเดินทางรถไฟ คือ ต้องไปลงที่สนามบินหาดใหญ่ แล้วต่อรถแท็กซี่เข้าจังหวัดสตูลอีกประมาณ 97 กิโลเมตร ติดต่อรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด ถนนหลานหลวง โทร. 02-356-1111

การเดินทางภายในสตูล

ในตัวเมืองสตูลมีรถโดยสารประจำทางไปยังอำเภอต่างๆ ได้อย่างสะดวก นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะได้หลายรูปแบบตามอัธยาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งสตูล โทร. 0 7471 1446

รถสองแถวและรถรับจ้างจอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง และสถานีรถไฟ ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองสตูลไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอควนโดน 21 กิโลเมตร

อำเภอท่าแพ 28 กิโลเมตร

อำเภอควนกาหลง 32 กิโลเมตร

อำเภอละงู 50 กิโลเมตร

กิ่งอำเภอมะนัง 50 กิโลเมตร

อำเภอทุ่งหว้า 76 กิโลเมตร

งานประเพณีแข่งว่าวนานาชาติ จัดขึ้นทุกปีประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนมีนาคม ระยะเวลา 3 วัน บริเวณสนามบินสตูล ก่อนถึงเมืองสตูลประมาณ 4 กิโลเมตร งานเทศกาลท่องเที่ยวตะรุเตา จัดขึ้นทุกปีช่วงเปิดฤดูท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน (ปลอดจากมรสุมแล้ว) ประเพณีลอยเรือ จัดขึ้นในหมู่ของชาวเลที่เกาะหลีเป๊ะในจังหวัดสตูล ในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ทุกปี เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลและเสี่ยงทายอนาคตของการประกอบอาชีพ

 

  สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมืองสตูล

  มัสยิดกลางจังหวัดสตูล (มัสยิดมำบัง) ตั้งอยู่บริเวณถนนบุรีวานิช และสตูลธานี ซึ่งอยู่กลางใจเมืองสตูล มีลักษณะเด่นสวยงาม รูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหินอ่อนและกระจกใส ตัวอาคารแบ่งเป็นสองตอน คือ ด้านนอกเป็นระเบียงมีบันไดขึ้นหอคอย ลักษณะเป็นยอดโดม สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองสตูลได้ ด้านในเป็นห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่ละหมาด ชั้นล่างมีห้องใต้ดินใช้เป็นห้องสมุด
คฤหาสน์กูเด็น ตั้งอยู่ถนนสตูลธานี ตรงข้ามกับสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกคฤหาสน์หลังนี้ว่า “ศาลากลางเก่า” รูปทรงเป็นอาคารตึกสองชั้นลักษณะการก่อสร้างเป็นศิลปะ ที่ผสมผสานกันอย่างสวยงาม คือ อาคารตัวตึกเป็นแบบตะวันตก ประตูหน้าต่างรูปโค้งสถาปัตยกรรมโรมัน หลังคาแบบไทย บานหน้าต่างเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็กๆ เป็นเกล็ดแนวนอน หลังคาใช้กระเบื้องดินเผารูปกาบกล้วย ช่องลมหน้าบนตกแต่งรูปดาวสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม ปัจจุบันคฤหาสน์กูเด็นอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร เป็นโบราณสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา
สวนสาธารณะเขาพญาวัง กลางเมืองสตูลด้านปลายถนนคูหาประเวศน์ริมคลองมำบัง มีเขาหินปูนขนาดเล็กสูงประมาณ 30 เมตร ซึ่งเทศบาลเมืองสตูลได้จัดทำเป็นสวนสาธารณะ “โต๊ะพญาวัง หรือ เขาพญาวัง” เป็นที่พักผ่อนและท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในเมือง จากปากทางเข้าไปประมาณ 700 เมตร
 เขาโต๊ะยะกง ตั้งอยู่ใกล้ศาลากลางจังหวัด เป็นภูเขาขนาดเล็ก มีหน้าผา ถ้ำและศาลเจ้าแขก มีคนไปกราบไหว้กันมาก เนื่องจากเป็นศาลเจ้าแขกจึงมีข้อห้ามนำหมูไปเซ่นไหว้
น้ำตกปาหนัน อยู่เขตตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอเมือง น้ำตกแห่งนี้มีทั้งหมด 10 ชั้น รอบบริเวณเป็นป่าไม้ร่มรื่น
แหลมตันหยงโปและหาดทรายยาว อยู่ทางปากอ่าวสตูล บริเวณแหลมตันหยงโปและหาดทรายยาวนี้ มีลักษณะเป็นแหลมที่ยื่นล้ำไปในทะเลอันดามัน มีหาดทรายยาวสวยงาม ทั่วบริเวณเต็มไปด้วยมะพร้าวนับพันต้น และหมู่บ้านชาวประมงที่อาศัยอยู่ การเดินทางสามารถเดินทางจากตัวเมืองสตูลไปยังท่าเรือเจ๊ะบิลัง เป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร และจะมีทางแยกซ้ายไปยังบ้านตันหยงโปอีกประมาณ 15 กิโลเมตร
หมู่เกาะสาหร่าย อยู่ห่างจากท่าเรือเจ๊ะบิลัง อ.เมือง ประมาณ 12 กิโลเมตร นั่งเรือประมาณ 2 ช.ม. หมู่เกาะสาหร่ายนี้มี 2 เกาะใกล้ๆ กัน ชาวเมืองเรียกเกาะยะระโตด และยะระโตดนุ้ย มีชายหาดอยู่โดยรอบเกาะ บนเกาะมีหมู่บ้านชาวประมง สวนมะพร้าวและสวนยางพารา ใกล้เกาะระยะโตดมีเกาะหาดหอยงาม เป็นที่ซึ่งคลื่นซัดเปลือกหอยไปกองไว้เป็นเกาะ คล้ายสุสานหอย

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์ และความสวยงาม ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันบริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล อุทยานแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองสตูลไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบาราประมาณ 22 กิโลเมตร แนวเขตด้านใต้ของอุทยานฯ ติดกับเส้นเขตแดนในทะเล ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวนถึง 51 เกาะ มีเนื้อที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ทางทะเล 1,260 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เกาะ 230 ตารางกิโลเมตร จัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะสำคัญขนาดใหญ่มี 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหล็ก เกาะกลาง เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ เกาะตะรุเตา ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 อัตราค่าธรรมเนียมในการเข้าชมอุทยานฯ ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท เด็ก 25 บาท

 สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
 เกาะตะรุเตา นับเป็นเกาะใหญ่ที่สุด คำว่า “ตะรุเตา” นี้ เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายูแปลว่า มีอ่าวมาก เช่น อ่าวตะโละดาบ อ่าวตะโละอุดัง อ่าวหินงาม ฯลฯ ชื่อเหล่านี้มักจะตั้งตามสภาพที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่ เช่น อ่าวหินงาม มีชายหินที่มีความสวยงามตลอดแนว อ่าวตะโละอุดังมีกุ้งทะเลมาก เป็นต้น

บริเวณเกาะตะรุเตามีสถานที่น่าสนใจ ดังนี้
 -หาดทราย เกาะตะรุเตามีชายหาดที่สวยงาม เล่นน้ำได้หลายหาด เช่น หาดทราย อ่าวพันเตมะละกา หน้าที่ทำการอุทยานฯ หาดทรายอ่าวเมาะและหาดทรายอ่าวสน ที่เป็นบริเวณให้นักท่องเที่ยวไปตั้งเต็นท์พักแรม และดำน้ำดูปะการังได้
-น้ำตก น้ำตกที่ค้นพบแล้วมีอยู่หลายแห่ง เช่น น้ำตกที่เกิดจากลำคลองลูลู มี 2 แห่ง น้ำตกที่เกิดจากคลองตะโละโป๊ะ มี 1 แห่ง ทั้ง 3 แห่งนี้อยู่ในบริเวณอ่าวสน นอกจากนี้ก็มีน้ำตกธารนักโทษที่อ่าวตะโละวาว
-ถ้ำ ถ้ำที่น่าสนใจมีอยู่หลายแห่ง เช่น ถ้ำดงอยู่ที่อ่าวฤาษี ถ้ำจระเข้ซึ่งเป็นถ้ำที่มีชื่อเสียงมาก ต้องนั่งเรือไปตามลำคลองมะละกาที่อ่าวพันเต ทางอุทยานฯ จัดเรือไว้บริการพาชมถ้ำต่างๆ
-จุดชมวิว ด้านหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีทางเดินป่าขึ้นหน้าผาโต๊ะบูที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 370 เมตร เพื่อชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาดและท้องทะเลอ่าวพันเตมะละกา ใช้เวลาเดินทางขึ้นหน้าผาประมาณ 20 นาที จุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการไปตามทางลูกรังเลียบชายฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร จุดชมวิวจุดนี้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอ่าวพันเตมะละกากับอ่าวจาก มีหน้าผายื่นออกไปในทะเล หินบริเวณนี้เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างสวยงาม
-คลองมะละกา อยู่ที่อ่าวพันเตมะละกา เป็นคลองที่มีขนาดใหญ่และมีความยาวมากที่สุด สามารถแล่นเรือเข้าไปเที่ยวชมได้เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร สภาพสองข้างทางเป็นป่าโกงกางสลับกับโขดหินผา น้ำในลำคลองเป็นน้ำกร่อย ในอดีตคลองมะละกาได้ชื่อว่ามีจระเข้ที่ดุร้ายอาศัยอยู่ชุกชุมมาก สิ่งที่น่าสนใจบริเวณคลองมะละกา นอกจากสภาพภูมิประเทศที่สวยงามแล้ว บริเวณต้นน้ำมีถ้ำน้ำดั้นถึง 3 แห่ง เป็นถ้ำที่มีน้ำไหลลอดออกมาจากภายในถ้ำลงสู่ลำคลอง ถ้ำที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ ถ้ำจระเข้ ซึ่งเป็นถ้ำที่ลึกลับวิจิตรสวยงามของหินงอกหินย้อยรูปร่างแปลกตา อันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินภายในถ้ำและยังมีผู้นำทางทำให้เกิดความสะดวกสบาย การเดินทางสามารถเดินทางไปโดยติดต่อเรือหางยาวบริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ หรือนั่งเรือไปตามลำคลองมะละกาที่อ่าวพันเต ซึ่งทางอุทยานฯ ได้จัดเรือไว้บริการพาชมถ้ำต่างๆ
-สถานที่ดำน้ำดูปะการัง สถานที่ดำน้ำในบริเวณเกาะตะรุเตามีหลายแห่ง เช่นที่บริเวณผาปาปิญอง (อุทยานแห่งชาติตั้งชื่อให้ตามชื่อภาพยนตร์เรื่องปาปิญอง ที่มาใช้สถานที่บริเวณนี้ถ่ายทำ) เป็นแหล่งดำน้ำระดับ 15 ฟุต นอกจากนี้ก็มีที่อ่าวสนและเกาะตะเกียง เกาะตะรุเตายังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีก เช่น “ศูนย์นิทรรศการ” ซึ่งจัดแสดงรายละเอียดของสิ่งต่างๆ เช่น ซากสัตว์โบราณที่กลายเป็นหิน มีอายุอยู่ในสมัย 400-500 ล้านปีมาแล้ว รวมทั้งปะการังและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ
-บ่ออนุบาลเต่าทะเล เป็นบ่อที่เพาะเลี้ยงลูกเต่าทะเลที่เจ้าหน้าที่อุทยานเก็บรวบรวมมาจากชายหาดของเกาะต่างๆ เต่าที่พบในบริเวณอุทยานมี 3 ชนิดคือ เต่าตะนุ เต่ากระ และเต่าหญ้าตาแดง
-สถานที่ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการราชทัณฑ์บนเกาะตะรุเตา มี 3 แห่ง คือ บริเวณเรือนจำอ่าวตะโละอุดัง ซึ่งเป็นอ่าวใต้สุดของเกาะตะรุเตา และที่เรือนจำอ่าวตะโละวาว ซึ่งเป็นค่ายกักกันนักโทษการเมืองและนักโทษสามัญ ตั้งอยู่ทางทิศใต้และทางฝั่งตะวันออกของเกาะ นอกจากนี้ยังมีทางรถยนต์ประวัติศาสตร์ ขนาด 6 เมตร ที่นักโทษถางไว้เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอ่าวตะโละวาวและอ่าวตะโละอุดัง ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร

หมู่เกาะอาดัง-ราวี อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กม. ห่างจากตัวเมืองประมาณ 80 กิโลเมตร เป็นเกาะที่เป็นสวนแห่งปะการังใต้ท้องทะเล บางบริเวณอยู่ในน้ำตื้นสามารถมองเห็นได้จากผิวน้ำ หมู่เกาะอาดัง-ราวีแห่งนี้ มีเนื้อที่เกาะประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูง มีป่าปกคลุมแลดูเขียวครึ้ม ทางด้านหลังมีน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำตลอดปี คำว่า “อาดัง” มาจากคำเดิมในภาษามลายูว่า “อุดัง” มีความหมายว่า “กุ้ง” เพราะบริเวณนี้เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งทะเล นอกจากนี้ก็มีเกาะเล็ก เกาะน้อยอื่นๆ อีก เช่น เกาะดง มีเนื้อที่ 8 ตารางกิโลเมตร เกาะหลีเป๊ะมีเนื้อที่ 4 ตารางกิโลเมตร มักเรียกชื่อรวมของเกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะ ว่า “หมู่เกาะอาดัง-ราวี”

สถานที่น่าสนใจ ดังนี้

หาดทราย ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี มีหาดทรายที่สวยงามเล่นน้ำได้หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาดทรายบนเกาะไข่ เกาะไข่อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตกใช้เวลาเดินทางจากเกาะตะรุเตาประมาณ 40 นาที สิ่งที่สำคัญบนเกาะไข่ ได้แก่ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทะเลรอบๆ เกาะไข่มีแนวปะการังอยู่โดยทั่วไป ที่เกาะไข่นี้เป็นเกาะที่เต่าทะเลชอบมาวางไข่ไว้เสมอ และนอกจากนี้ยังเป็นจุดที่มีปลาชุกมากแห่งหนึ่งด้วย ทางอุทยานไม่อนุญาตให้เข้าพัก หาดทรายแหลมสน หาดทรายอ่าวโละ หาดทรายอ่าวตะโละรีปา บนเกาะอาดัง หาดทรายขาวบนเกาะราวี ก็สามารถเล่นน้ำได้< -น้ำตก ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ที่สำคัญมีดังนี้คือ น้ำตกรัตนา ท่าอ่าวตะโละอาเอียง น้ำตกดาเระ และน้ำตกทะเลมอญ บนเกาะอาดัง น้ำตกโจนลงเลที่เกาะราวี เกาะหินงาม อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอาดัง เกาะนี้เป็นเกาะขนาดเล็ก หินที่พบบนชายหาดมีความกลมเกลี้ยงเป็นมัน มีลวดลายสวยงามมาก เกาะสิเป๊ะหรือเกาะหลีเป๊ะ เกาะนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะอาดัง มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง ในเดือน 6 และเดือน 12 ขึ้น 13-15 ค่ำ ตลอด 3 วัน 3 คืน ชาวบ้านที่มีเชื้อสายชาวเลจะมารวมกันที่เกาะหลีเป๊ะเพื่อจะจัดงานรื่นเริงร่วมกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านจะช่วยกันต่อเรือด้วยไม้ระกำ และประกอบพิธีลอยเรือ ด้วยเป็นความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายโชคชะตาในการประกอบอาชีพประมง จุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ คือ ธรรมชาติของป่าปะการังรอบเกาะ เวิ้งอ่าวสวยงาม หาดทรายขาวละเอียด และอ่าวที่สวยงามคือ อ่าวพัทยา บนเกาะมีที่พักคอยบริการนักท่องเที่ยวทั้งบริเวณหน้าเกาะและด้านหลังเกาะ อัตราค่าที่พักประมาณ 200-300 บาท -สถานที่ดำน้ำดูปะการัง แหล่งดำน้ำในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ที่น่าชมได้แก่ บริเวณเกาะจาบัง อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะหินงาม บริเวณอ่าวตะโละรีปา ด้านใต้ของเกาอาดัง บริเวณชายฝั่งด้านทิศใต้ของเกาะราวี แหล่งดำน้ำแหล่งนี้มีทัศนียภาพใต้น้ำสวยงามมาก

การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
 - สตูล-ท่าเรือปากบารา จาก จ.สตูล สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบาราได้ดังนี้
ทางรถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 406 ถึงบ้านฉลุง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 416 (สตูล-ละงู) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4052 ซึ่งแยกจาก อ.ละงู ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา
รถโดยสาร มีรถแท็กซี่โดยสารสายสตูล-ปากบารา ออกจากตัวเมืองสตูล บริเวณข้างธนาคารกรุงเทพ สาขาสตูล วิ่งบริการวันละหลายเที่ยว นอกจากนี้ยังมีรถสองแถวและรถตู้ วิ่งบริการจากบริเวณตัวเมืองด้วย
 - อ.หาดใหญ่-ท่าเรือปากบารา จากอ.หาดใหญ่ สามารถเดินทางไปยังท่าเรือปากบาราได้ดังนี้ทางรถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 406 ถึงบ้านฉลุง จ.สตูล แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 416 (สตูล-ละงู) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4052 ซึ่งแยกจาก อ.ละงู ตรงไปสู่ท่าเรือปากบารา
รถแท็กซี่โดยสาร สายหาดใหญ่-ละงู รถจอดหน้าที่ทำการไปรษณีย์ ถนนรักการ และบริเวณหน้าโรงแรมเพรสซิเดนท์ จากนั้นต่อรถสองแถวสายละงู-ปากบารา อัตราค่าโดยสาร 50 บาท
รถตู้ สายหาดใหญ่-ปากบารา รถจอดข้างธนาคารกรุงไทย ถนนนิพัทธ์อุทิศ อัตราค่าโดยสาร 50 บาท
รถโดยสารประจำทาง รถออกจากบริษัทขนส่ง ถนนกาญจนวาณิชย์ ไปยังท่าเรือปากบาราทุกวัน อัตราค่าโดยสาร 34 บาท

ท่าเรือปากบารา-อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
 ท่าเรือปากบาราเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ สาขาปากบารา ตั้งอยู่ที่ปากคลองละงู ต.ปากน้ำ อ.ละงู เป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้อุทยานฯ มากที่สุด (ประมาณ 22 กิโลเมตร) บริการเรือโดยสารสู่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาทุกวัน มีกำหนดเวลาดังนี้
- ท่าเรือปากบารา-ตะรุเตา เที่ยวไป 07.30 และ 12.00 น. เที่ยวกลับ 09.00 และ 12.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ค่าโดยสารคนละ 200 บาท
- ท่าเรือปากบารา-ตะรุเตา-อาดัง เที่ยวไป ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 10.00 น. เที่ยวกลับ ทุกวันพุธ และวันอาทิตย์ เวลา 09.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง อัตราค่าโดยสาร 360 บาท (เรือโดยสารจะแวะให้นักท่องเที่ยวชมเกาะไข่และเกาะหินงามด้วย)

ระยะทางจากท่าเรือ-เกาะต่างๆ
 ท่าเรือปากบารา - อ่าวพันเตมะละกา 22 กิโลเมตร - เกาะอาดัง 80 กิโลเมตร - เกาะหลีเป๊ะ 82 กิโลเมตร
เกาะตะรุเตา - หมู่เกาะอาดัง-ราวี 40 กิโลเมตร - เกาะหลีเป๊ะ 40 กิโลเมตร - เกาะไข่ 14.5 กิโลเมตร
เกาะอาดัง - เกาะหลีเป๊ะ 1.5 กิโลเมตร - เกาะหินงาม 2.5 กิโลเมตร - หมู่เกาะอาดัง 11.2 กิโลเมตร - เกาะไข่ 17 กิโลเมตร

ที่พักอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
 ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยวบนเกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง ติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักได้ที่ ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 5797223, 579-5734 หรือที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล 91110 โทร. (074) 781285 นอกจากนี้ บนเกาะหลีเป๊ะ ยังมีที่พักของเอกชนไว้บริการด้วย

บริษัทนำเที่ยวที่จัดไปเกาะตะรุเตา
 1. ชมรมเรือทัวร์ปากบารา ท่าเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู สตูล โทร. (074) 781532, 711982, (01) 957-3908
2. สยามครุยส์ (เรืออันดามันปริ๊นเซส) 33/10-11 ชัยยศอาเขต สุขุมวิท ซอย 11 กรุงเทพฯ 10110 โทร. 255-4563, 255-8950-7
3. ซีทรานทราเวล (เรือออกจากภูเก็ต) 599/1 ถนนริมทางรถไฟสายช่องนนทรี คลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทร. 240-2572-82
4. สวนสีคราม จำกัด 1442 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ มักกะสัน พญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร. 255-1835, 255-2190 โทรสาร 255-1835 ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวตะรุเตา ราวเดือนพฤศจิกายน-เมษายน

นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเหมาเรือได้ที่ท่าเรือดังต่อไปนี้
 - ท่าเรือเจ๊ะปิลัง อยู่ห่างจากตัวเมืองสตูล 13 กิโลเมตร มีถนนราดยางถึงท่าเรือร่องน้ำลึก และเรือเข้าออกได้ตลอดเวลา ท่าเรืออยู่ห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 30 กิโลเมตร
- ท่าเรือตำมะลัง เป็นท่าเรือน้ำลึกห่างจากตัวเมืองสตูล 9 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 35 กิโลเมตร นอกจากนี้ที่ท่าเรือตำมะลัง ยังมีบริการเรือโดยสารไปยังเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย รายละเอียดติดต่อบริษัทไทย-ลังกาวี เฟอร์รี่ไลน์ โทร. 711787, 722143, 730050-1 หรือบริษัท สตูลทราเวลแอนด์เฟอร์รี่ โทร. 711453, 721960 ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวตะรุเตา ราวๆ เดือนพฤศจิกายน-เมษายน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอละงู

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เกาะเภตรามีลักษณะคล้ายเรือสำเภา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ บริเวณช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามัน ในคาบมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และตำบลสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่สำคัญคือ เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันสูง มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและชายหาด มีพื้นที่ทั้งบนบกและทะเล ประมาณ 494.38 ตารางกิโลเมตร หรือ 308,987 ไร่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2526 และได้ประกาศในพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2527 อุทยานฯ แห่งนี้เป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มา มีป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า และปะการังหลากสีสวยงาม สถานที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ เป็นเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่เรียกว่า “อ่าวนุ่น”

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
 เกาะลิดี อยู่ห่างจากที่ทำการฯ (อ่าวนุ่น) ประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 7 กิโลเมตร มีหน้าผาและถ้ำเป็นที่อาศัยของนกนางแอ่นเป็นจำนวนมาก เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร มีหาดทรายขาวบริสุทธิ์ และมีเวิ้งอ่าวยื่นเข้าไปในตัวเกาะเป็นสระน้ำใสสะอาด เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเล่นน้ำทะเล ปัจจุบันเกาะลิดีมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีบ้านพัก และบริเวณที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อเรือประมงได้จากที่ทำการอุทยานฯ
เกาะเขาใหญ่ อยู่ห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 3 กิโลเมตร บนเกาะมีอ่าวชื่อนะปุลา จุดเด่นของเกาะเขาใหญ่ คือ ปฏิมากรรมธรรมชาติที่คล้ายกับปราสาทหิน มีสะพานธรรมชาติยื่นโค้งไปในทะเล ยามน้ำลดสามารถพายเรือลอดได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาของประมงจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ใกล้เกาะเขาใหญ่ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมแวะไปชมมากเช่นกัน
อ่าวก้ามปู อยู่ระหว่างเกาะเขาใหญ่ และเกาะลิดี มีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า กว้างประมาณ 700 เมตร ภายในอ่าวมีน้ำตกไหลมาเป็นลำธารเล็กๆ เป็นอ่าวที่สงบ ปราศจากคลื่นลมตลอดทั้งปี ขณะน้ำลดจะมองเห็นปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลตลอดแนวชายฝั่ง มีทิวทัศน์หน้า อ่าวงดงาม และจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ทุกปี
หาดกาสิงห์ อยู่ที่หมู่บ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เป็นหาดที่มีความลาดชันน้อย จึงเหมาะสำหรับการวางไข่ของเต่าทะเล โดยเฉพาะเต่ามะเฟือง ซึ่งคาดว่าเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดสตูล นับเป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากอีกประการหนึ่ง
เกาะบุโหลน อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือปากบาราประมาณ 22 กม. เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวสะอาด น้ำใสเหมาะแก่การดูปะการัง เป็นเกาะที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในขณะนี้ เนื่องจากเป็นเกาะที่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้สะดวก เกาะบุโหลนได้ชื่อว่าเป็นมุกใหม่แห่งอันดามัน ใต้ท้องทะเลอุดมไปด้วยปะการังหลากสี หมู่ปลานานาพันธุ์ เหมาะสำหรับนักประดาน้ำที่ชื่นชอบความงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเล ประกอบกับหาด หาดขาวสะอาด ทิวสนหนาแน่น ธรรมชาติเงียบสงบ

การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
 ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ก่อนถึงท่าเรือปากบาราประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 416 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 6-7 ให้แยกซ้ายเข้าไปอีก 1.4 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอละงู 7 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัด 56 กิโลเมตร สำหรับการเดินทางไปยังเกาะต่างๆ ในเขตอุทยานฯ นั้น สามารถติดต่อเช่าเรือได้ที่ท่าเรือปากบารา นอกจากนี้ยังมีเรือโดยสารเส้นทางปากบารา-เกาะบุโหลน ทุกวัน เที่ยวไปออกจากปากบารา 14.00 น. เที่ยวกลับออกจากเกาะบุโหลน เวลา 09.00 น. ติดต่อสอบถามรายละเอียดเวลาเรือและที่พักบนเกาะได้ที่สมาคมเรือนำเที่ยว ท่าเรือปากบารา โทร. (074) 781532 ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพัก และสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 579-5734 หรือที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา (อ่าวนุ่น) 298 หมู่ 5 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล 91110 (ผู้ที่จองจะต้องมาติดต่อที่อุทยานฯ ด้วยตนเอง หรือมีหนังสือแจ้งล่วงหน้า)
น้ำตกวังสายทอง อยู่ริมถนน ร.พ.ช. สายทุ่งนางแก้ว-วังสายทอง สามารถเดินไปได้ 2 ทาง คือ ทางอำเภอละงู ตรงทางแยกจากถนนสายสตูล-ละงู ที่สามแยกบ้านโกตา ตำบลกำแพง จากจุดนี้ถึงน้ำตก ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร อีกทางหนึ่งคือทางอำเภอทุ่งหว้า ตรงสามแยกสะพานวา ตำบลป่าแก่บ่อหิน ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ความงามของน้ำตกแห่งนี้อยู่ที่แอ่งน้ำแต่ละชั้นของหินปูน สายน้ำไหลลงมาตามชั้นของน้ำตกซึ่งลักษณะคล้ายดอกบัวบานลดหลั่นกันลงมาในแอ่งที่สวยงาม บริเวณน้ำตกมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อน
เกาะบ่อเจ็ดลูก ตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือปากบารา ประมาณ 7 กิโลเมตร บนเกาะมีชายหาดขาวสลับกับโขดหินรูปร่างแปลกตา บรรยากาศเงียบสงบ อีกทั้งบนเกาะยังมีชุมชนชาวเกาะส่วนใหญ่เป็นครอบครัวชาวประมง มีความเป็นอยู่เรียบง่ายและมีไมตรี การเดินทางลงเรือที่ท่าเรือปากบารา เป็นเรือหางยาว ค่าโดยสารคนละประมาณ 20 บาท ไปได้ตลอดปี

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอทุ่งหว้า

  หาดราไว ตั้งอยู่ที่บ้านราไวใต้ และบ้านราไวเหนือ ตำบลขอนคลาน ห่างจากที่ทำการทุ่งหว้าประมาณ 26 กิโลเมตร ไปตามถนนสายละงู-ทุ่งหว้า ให้แยกที่บ้านวังตง ต.นาทอน โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 416
ถ้ำเขาทะนาน ลักษณะถ้ำเป็นถ้ำเขาหินปูน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม มีทางเดินเข้าถ้ำได้สะดวก และเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ด้วย การเดินทางใช้เส้นทางสายสตูล-ละงู-ทุ่งหว้า จากตัวเมืองสตูลไปสามแยกบ้านฉลุง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 406 เป็นระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร จากนั้นให้ใช้เส้นทาง 416 ละงู-ทุ่งหว้า ประมาณกิโลเมตรที่ 10 ก็จะถึงถ้ำเขาทะนาน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอควนโดน

  ฝายชลประทานดุสน ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านดุสน ตำบลควนโดน ฝายดุสนเป็นสถานที่เก็บกักน้ำ อยู่ระหว่างหุบเขาและเหนืออ่างขึ้นไปมีถ้ำสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบปีนป่ายขึ้นไปเพื่อชมความงามของทัศนียภาพบนภูเขา ร่มรื่นไปด้วยเงาไม้อุดมไปด้วยไม้นานาพันธุ์ การเดินทางไปฝายชลประทานดุสน ใช้เส้นทางสายสตูล-หาดใหญ่ บนทางหลวงหมายเลข 406 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 22 กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 บ้านวังประจัน ตำบลควนสตอ อุทยานฯ มีเนื้อที่ทั้งหมด 196 ตารางกิโลเมตร หรือ 122,000 ไร่ โดยรวมเอาเนื้อที่ของป่าสงวนแห่งชาติกุปังปุโล๊ต และหัวกะหมิงเข้าด้วยกัน และยังผนวกพื้นที่ป่าควนบ่อน้ำปูยู ในท้องที่ตำบลบ้านควน ตำบลปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล อุทยานฯ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร คำว่า “ทะเลบัน” มาจากคำว่า “เลิด เรอบัน” เป็นภาษามลายูแปลว่า ทะเลยุบหรือทะเลอันเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน อุทยานแห่งชาติทะเลบันเกิดจากการยุบตัวของพื้นดิน ระหว่างเขาจีนและเขามดแดง เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 63,350 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง จึงอุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น และรอบๆ บึงจะมีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งชื่อต้น “บากง” ขึ้นอยู่หนาแน่นแลดูสวยงาม นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่นๆ อีก เช่น นกน้ำชนิดต่างๆ สมเสร็จที่มักลงมากินน้ำตามริมบึงเสมอๆ ที่อุทยานแห่งชาติทะเลบันยังมีสัตว์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “หมาน้ำ” เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำรูปร่างคล้ายกบและคางคก แต่มีหาง ส่งเสียงร้องคล้ายลูกสุนัข จะมีชุกชุมตามริมบึง โดยเฉพาะในฤดูฝน สัตว์ชนิดนี้จะมีอยู่เฉพาะที่ทะเลบันเท่านั้น อุทยานแห่งชาติทะเลบัน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน
 ทะเลบัน เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่กลางหุบเขา ขนาบด้วยเทือกเขาจีนและเขาวังประ มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ มีปลาน้ำจืดและหอยชุกชุม น้ำใสสะอาดจนสามารถมองเห็นสาหร่ายและฝูงปลาว่ายไปมา บางครั้งจะมีสมเสร็จลงมากินน้ำเป็นภาพที่น่าประทับใจ รอบบึงมีพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นบากง” ทางอุทยานฯ ได้สร้างศาลาท่าน้ำไว้ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักผ่อนด้วย
น้ำตกยาโรย เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีต้นน้ำมาจากลำธารในป่าหัวกระหมิง มีความสวยงามเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของอุทยานฯ น้ำตกนี้มีทั้งหมด 9 ชั้น ไหลลดหลั่นลงมาตามภูเขา แต่ละชั้นเป็นแอ่งสามารถเล่นน้ำได้ การเดินทางไปชมน้ำตกยาโรย จากที่ทำการฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4184 (สายควนสตอ-วังประจัน) ประมาณ 7 กิโลเมตร จะมีทางลูกรังแยกขวามือเข้าไปอีก 700 เมตร
น้ำตกโตนปลิว เป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในอุทยานฯ และในจังหวัดสตูล น้ำตกแห่งนี้มีน้ำมากไหลตลอดทั้งปี มีต้นน้ำมาจากภูเขาจีน การเดินทางไปชมน้ำตกโตนปลิว ใช้เส้นทางหมายเลข 4184 (สายควนสตอ-วังประจัน) ซึ่งน้ำตกโตนปลิวอยู่ห่างจากน้ำตกยาโรยประมาณ 6 กิโลเมตร หรือห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปประมาณ 12 กิโลเมตร จะมีทางลูกรังแยกไปอีก 3 กิโลเมตร
น้ำตกรานี เป็นน้ำตกขนาดเล็ก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ เพียง 200 เมตร จะมีทางเดินเท้าแยกจากทางไปบ้านพักริมบึงซึ่งเป็นบ้านพักของอุทยานฯ จนถึงตัวน้ำตก น้ำตกแห่งนี้มีน้ำน้อยแต่จะไหลอยู่ตลอดปี
ทุ่งหญ้าวังประ เป็นทุ่งหญ้าในที่ราบอันกว้างใหญ่ระหว่างภูเขาทางทิศตะวันตกของอุทยานฯ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก เช่น สมเสร็จ กระจง เม่น ไก่ป่า เป็นต้น การเดินทางไปทุ่งหญ้าวังประ จากที่ทำการอุทยานฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4184 (สายควนสตอ-เขตแดน) กลับออกมาทางปากทางราว 8 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบอกทางเข้าทุ่งหญ้าวังประ ทางซ้ายมือเป็นทางลูกรัง ระยะทางประมาณ 10.5 กิโลเมตร การเดินทางในฤดูร้อนจะสะดวกกว่า
ถ้ำลอดปูยู (ปูยู แปลว่า ปลาหมอ) เป็นถ้ำลอดที่มีลักษณะคล้ายกับถ้ำลอดที่อ่าวพังงา แต่มีขนาดเล็กกว่าอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานฯ ถ้ำลอดปูยูตั้งอยู่ที่เขากาหยัง (กาหยัง แปลว่าหลังคาเรือเอี้ยมจุ๊น) ต.ปูยู ห่างจากตัวจังหวัด 15 กิโลเมตร บนเพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อยบ้าง มีคลองท่าจีนไหลผ่านถ้ำ และสองฝั่งของคลองเป็นป่าโกงกางตลอดแนว จากถ้ำประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงถ้ำกาหยังซึ่งเป็นถ้ำที่มีค้างคาวอาศัยอยู่มาก การเดินทางไปชมถ้ำลอดปูยูจากตัวเมืองสตูลไปลงเรือที่ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งห่างจากตัวเมือง 9 กิโลเมตร จากท่าเรือตำมะลังเช่าเรือหางยาวไปถ้ำลอดที่คลองท่าจีน ค่าโดยสารประมาณ 400-500 บาท (ขึ้นกับขนาดของเรือและจำนวนนักท่องเที่ยว)
เขตแดนไทย-มาเลเซีย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ เพียง 2 กิโลเมตร บริเวณเขตแดนมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ตั้งอยู่ มีที่นั่งพักผ่อนใกล้เชิงเขา ธรรมชาติร่มรื่น หากเดินทางต่อไปอีกประมาณ 23 กิโลเมตร ก็จะถึงปาดังเบซาร์ แหล่งชุมนุมสินค้าต่างประเทศราคาถูก หรือหากต้องการไปยังเมืองกางะซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐเปอร์ลิส ก็สามารถไปได้เพียงเดินทางไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตรเท่านั้น ด่านนี้เปิดตั้งแต่ 06.00-19.00 น. และจะมีตลาดนัดทุกวันอาทิตย์ในช่วงเช้า ส่วนมากจะเป็นสิ่งของอุปโภคบริโภคทั่วไป

การเดินทางจากจังหวัดสตูลไปอุทยานแห่งชาติทะเลบัน
 จากตัวเมืองสตูลใช้ทางหลวงหมายเลข 406 ระยะทาง 19 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือสู่ทางหลวงหมายเลข 4184 ก.ม. ที่ 61 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นทางราดยางถึงที่ทำการอุทยานฯ มีบริการรถสองแถวจากตลาดเทศบาลวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารภายในตัวเมือง และจากปากทางเข้าไปจนถึงอุทยานฯ (จากที่ทำการอุทยานฯ ห่างจากด่านวังประจันซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างไทย-มาเลเซีย ประมาณ 1 กิโลเมตร และจากด่านถึงปาดังเบซาร์ 25 กิโลเมตร) ในเขตอุทยานฯ มีบ้านพัก และสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ หรือที่ส่วนอุทยานสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 579-5734 และที่ทำการอุทยานแห่งชาติทะเลบัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล 91160 โทร. (074) 797073

ฤดูท่องเที่ยวจังหวัดสตูล

 เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสตูล เป็นเกาะในช่องแคบมะละกา ช่วงที่มีลมพัดแรงจึง ไม่สะดวกต่อการเดินทาง และเสี่ยงอันตราย ช่วงที่เหมาะสมที่สุดต่อการเดินทางอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำและมีฝนน้อย ช่วงที่เหมาะสมรองลงมา คือ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน เป็นฤดูแล้ง แต่อุณหภูมิค่อนข้างสูง สำหรับเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม มีฝนตกชุก การเดินทางไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่สตูล