แผนที่บุรีรัมย์

  • แผนทบุรีรัมย์
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

บุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรืออีสานตอนล่าง มีเนื้อที่ประมาณ 10,321.885 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ทางรถยนต์ประมาณ 410 กิโลเมตร และทางรถไฟประมาณ 376 กิโลเมตร
บุรีรัมย์เป็นเมืองแห่งความรื่นรมย์ตามความหมายของชื่อเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนในท้องถิ่นและเป็นเมืองที่น่ามาเยือน สำหรับคนต่างถิ่น เมืองปราสาทหินในเขตจังหวัดบุรีรัมย์มากมีไปด้วย ปราสาทหินใหญ่น้อย อันหมายถึงความรุ่งเรืองมาแต่อดีต จากการศึกษาของนักโบราณคดีพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทราวดีและที่สำคัญที่สุดพบกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดบุรีรัมย์มากคือ หลักฐานทางวัฒนธรรมของเขมรโบราณ ซึ่งมีทั้งปราสาทอิฐ และปราสาทหินเป็นจำนวนมากกว่า 60 แห่ง รวมทั้งได้พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญคือเตาเผา ภาชนะดินเผา และภาชนะดินเผาแบบที่เรียกว่าเครื่องถ้วยเขมร ซึ่งกำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 อยู่ทั่วไปหลังจากสมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณ แล้วหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มมีขึ้นอีกครั้งตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยปรากฏชื่อว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมาและปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่า บุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมือง ๆ หนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ จึงได้ชื่อเป็นจังหวัดบุรีรัมย์มาจนถึงปัจจุบันนี้ชื่อเมืองบุรีรัมย์ ไม่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาและธนบุรีเฉพาะชื่อเมืองอื่น ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ เมืองนางรอง เมืองพุทไธสง และเมืองประโคนชัย พ.ศ. 2319

รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี กรมการเมืองนครราชสีมา มีใบยอกเข้ามาว่า พระยานางรองคบคิดเป็น กบฏร่วมกับเจ้าโอ เจ้าอิน และอุปฮาดเมืองจำปาศักดิ์ จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อยังดำรงคำแหน่ง เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพไปปราบจับตัวพระยานางรองประหารชีวิตและสมทบเจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) คุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือยกไปตีเมือง จำปาศักดิ์ เมืองโขง และเมืองอัตปือ ได้ทั้ง 3 เมือง ประหารชีวิต เจ้าโอ เจ้าอิน อุปฮาด เมืองจำปาศักดิ์ แล้วเกลี้ยกล่อมเมืองต่าง ๆใกล้เคียงให้สวามิภักดิ์ ได้แก่ เขมรป่าดง ตะลุบ สุรินทร์ สังขะ และเมืองขุขันธ์ รวบรวมผู้คนตั้งเมืองขึ้นในเขตขอมร้า เรียกว่า เมืองแปะ แต่งตั้งบุรีรัมย์บุตรเจ้าเมืองผไทสมัน (พุทไธสง) ให้เป็นเจ้าเมือง ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยานครภักดี ประมาณปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือต้นราชการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนชื่อเมืองแปะเป็นบุรีรัมย์ด้วยปรากฏว่า ได้มีการแต่งตั้งพระสำแดงฤทธิรงค์เป็นพระนครภักดีศรีนครา ผู้สำเร็จราชการเมืองบุรีรัมย์ ขึ้นเมืองนครราชสีมาใน พ.ศ. 2411 เมืองบุรีรัมย์และเมืองนางรองผลัดกันมีความสำคัญเรื่อยมา พ.ศ. 2433 เมืองบุรีรัมย์โอนขึ้นไปขึ้นกับหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีหนองคายเป็นศูนย์กลาง และเมืองบุรีรัมย์มีเมืองในสังกัด 1 แห่ง คือเมืองนางรอง

ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดขอนแก่น และมหาสารคาม
ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดปราจีนบุรีและเทือกเขาพนม มาลัย ซึ่งกั้นเขตแดน ระหว่างไทยกับกัมพูชาประชาธิปไตย
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดนครราชสีมา
การปกครองแบ่งออกเป็น 23 อำเภอ 189 ตำบล 2212 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอคูเมือง อำเภอกระสัง อำเภอนางรอง อำเภอหนองกี่ อำเภอละหานทราย อำเภอประโคนชัย อำเภอบ้านกรวด อำเภอพุทไธสง อำเภอลำปลายมาศ อำเภอสตึก อำเภอปะคำ อำเภอนาโพธิ์ อำเภอหนองหงส์ อำเภอพลับพลาชัย อำเภอห้วยราช อำเภอโนนสุวรรณ อำเภอชำนิ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอโนนดินแดง อำเภอบ้านด่าน อำเภอแคนดง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

ระยะทางจากอำเภอเมือง ไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ ของจังหวัดบุรีรัมย์

อำเภอเมือง-อำเภอห้วยราช 15 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอกระสัง 31 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอลำปลายมาศ 32 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอคูเมือง 33 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอสตึก 40 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอพลับพลาชัย 40 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอนางรอง 54 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอหนองหงส์ 54 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอประโคนชัย 64 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอพุทไธสง 64 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอโนนสุวรรณ 65 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอบ้านกรวด 66 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเฉลิมพระเกียรติจังหวัดบุรีรัมย์ 70 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอนาโพธิ์ 76 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอปะคำ 78 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอหนองกี่ 83 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอละหานทราย 99 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอบ้านด่าน 14 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอชำนิ 70 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์85 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอโนนดินแดง 92 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-บุรีรัมย์

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงหมายเลข 218 รวมระยะทาง 410 กิโลเมตร หรือจากนครราชสีมา ตามทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านอำเภอจักราช-ห้วยแกลง-ลำปลายมาศ รวมระยะทาง 384 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

รถประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด เดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ ทุกวัน มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รายละเอียดติดต่อได้ที่ สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

รถไฟ มีรถไฟสายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี กรุงเทพฯ-สุรินทร์ และนครราชสีมา-อุบลราชธานี ทั้งที่เป็นขบวนรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และรถดีเซลราง ผ่านสถานีบุรีรัมย์ทุกขบวน โดยเฉพาะรถดีเซลรางปรับอากาศจะใช้เวลาน้อยกว่ารถยนต์มาก รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ 1690

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด ไม่มีเที่ยวบินไปจังหวัดบุรีรัมย์โดยตรง แต่มีเที่ยวบินไปลงที่จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดบุรีรัมย์ได้ ระยะทางจากนครราชสีมาถึงบุรีรัมย์ ประมาณ 151 กิโลเมตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-356-1111 นอกจากนั้น ยังมีรถโดยสารจากตัวเมืองบุรีรัมย์ไปยังจังหวัดใกล้เคียง และไปอำเภอต่างๆ ทุกอำเภอ สำหรับการเดินทางภายในตัวเมืองนั้น มีรถสามล้อรับจ้างอยู่ทั่วไป

 นอกจากวันสำคัญทางศาสนา วันสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ ชาวบุรีรัมย์ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่าง เช่น เทศกาลเดือน 5 มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำให้ผู้สูงอายุ มีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น สะบ้า ชักเย่อ ฯลฯ บางท้องถิ่น เช่น อำเภอพุทไธสงจะมีการเซิ้งบั้งไฟ เทศกาลเข้าพรรษามีการประกวดเทียนเข้าพรรษา เทศกาลเดือน 12 มีประเพณีลอยกระทง แล้วยังมีงานประเพณีของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่สืบต่อกันมาอีกหลายงาน เช่น
งานนมัสการพระเจ้าใหญ่ที่วัดหงษ์ บ้านศีรษะแรด ตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง จัดงานในวันเพ็ญเดือน 3 เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะพระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบุรีรัมย์และชาวอีสานทั่วไปเลื่อมใสศรัทธามาก
งานนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่เขากระโดง อำเภอเมือง จัดงานในวันเพ็ญเดือน 3 เช่นกัน ประชาชนจะไปนมัสการรอบพระพุทธบาทจำลองและพระสุภัทรบพิตร ตลอดจนเที่ยวงานกันอย่างคับคั่ง
งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง เป็นงานประจำปีของประชาชนในเขตอำเภอนางรองและอำเภอประโคนชัย จัดขึ้นในเทศกาลสงกรานต์ กำหนดเป็นวันขึ้นเขาพนมรุ้ง จัดในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
งานแข่งเรือ เป็นงานประเพณีของชาวอำเภอสตึก จัดแข่งในแม่น้ำมูล มีเรือจากอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดสุรินทร์มาร่วมแข่งขัน จัดขึ้นวันเสาร์ อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน
งานมหกรรมว่าวอีสาน และงานขึ้นปล่อยภูเขาไฟกระโดง หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวประมาณช่วงต้นเดือนธันวาคม ประมาณวันที่ 1-2 ธันวาคมของทุกปี จะมีการจัดงานมหกรรมว่าวอีสาน ในงานจะมีการประกวดขบวนแห่ 12 นักษัตร และการประกวดธิดาฟ้าอีสานจากสาวงามทั่วภาคอีสาน
งานเครื่องเคลือบพันปี จัดขึ้นที่อำเภอบ้านกรวด ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ ในอำเภอบ้านกรวด

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

วนอุทยานเขากระโดง เขากระโดงเป็นภูเขาไฟเก่าแก่ที่มองเห็นลักษณะปากปล่องได้ชัดเจน อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 6 กิโลเมตร บนทางสาย บุรีรัมย์-ประโคนชัย (ทางหลวงหมายเลข 219) วนอุทยานเหล่านี้มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด สามารถขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทางรถยนต์ ซึ่งตลอดเส้นทางจะพบพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงรายอยู่เป็นระยะ ส่วนทางขึ้นอีกทางหนึ่งเป็นบันได มีความสูงประมาณ 265 เมตร ก่อนถึงยอดเขา จะเห็นสระน้ำมณีวรรณ อยู่ทางด้านขวามือ สระน้ำนี้เชื่อว่าเดิมเป็นปากปล่องภูเขาไฟ บนยอดเขาเป็นลานกว้าง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่ ชื่อว่า “พระสุภัทรบพิตร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองบุรีรัมย์ และมีปรางค์กู่โบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอยู่ด้วย
อ่างเก็บน้ำกระโดง อยู่ด้านหน้าของภูเขาไฟกระโดง มีทางแยกซ้ายมือก่อนจะถึงเขากระโดง เพื่อเข้าไปยังค่ายลูกเสือ “บุญญานุศาสตร์” และสวนสัตว์ บริเวณอ่างเก็บน้ำเป็นสถานที่พักผ่อนที่ดีมากอีกแห่งหนึ่ง และจากจุดนี้สามารถมองเห็นองค์พระสุภัทรบพิตรบนยอดเขากระโดงได้ เป็นภาพที่สวยงามยิ่งนัก
อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ราชการของโครงการชลประทานและที่ทำการประปา อยู่ในท้องที่ตำบลเสม็ด บนเส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10-13 กิโลเมตร ลักษณะเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ และร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นทั่วทั้งบริเวณ จึงเป็นสถานที่พักผ่อนที่นิยมมากอีกแห่งหนึ่งของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง
วัดกลางบุรีรัมย์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์มาแต่โบราณ มีประวัติเล่าว่าสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนำทัพไปปราบเจ้าเมืองนางรอง ซึ่งเป็นกบฏ และได้หยุดพักทัพที่บริเวณนี้ ซึ่งมีสระน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ในวัดกลางบุรีรัมย์ และทางราชการได้มีประกาศยกวัดกลางบุรีรัมย์เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของบุรีรัมย์เมื่อปี พ.ศ. 2533
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ในบริเวณสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งที่จะค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น จังหวัดบุรีรัมย์ได้ทำพิธีเปิดศูนย์แห่งนี้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2536 และเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวันในเวลาราชการ 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติจังหวัดบุรีรัมย์

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ 1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 208) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวขวาผ่านบ้านตาเป็กไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร 2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 23 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย)
ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีอายุการก่อสร้าง และใช้เป็นเทวสถานต่อเนื่องกันมา หลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 17 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมหันมานับถือศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงคงจะได้รับการดัดแปลงเป็นพุทธศาสนาลัทธิมหายานในช่วงนั้น
 - ตัวโบราณสถาน ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร จากพื้นราบ คำว่า “พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ภูเขาใหญ่” ปราสาทพนมรุ้งหันไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอดอันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพังสามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อ ระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนิมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน
 - ปรางค์ประธานหรือส่วนที่สำคัญที่สุด ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่างๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวะนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่นๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17 ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 นอกจากนี้ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกันกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า “โรงช้างเผือก” กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปีพุทธศักราชที่ 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และปลายปีเดียวกัน ก็ได้รับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีความงดงามและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีงานนมัสการรอยพระพุทธบาทพนมรุ้ง จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 5 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท
การเดินทางไปชมปราสาทหินพนมรุ้งในกรณีที่ท่านมิได้นำรถยนต์ไปเอง ต้องใช้บริการของบริษัทขนส่ง จำกัด แล้วลงที่อำเภอนางรอง จะมีรถสองแถวรับจ้างเหมาขึ้นปราสาทพนมรุ้ง คันละประมาณ 200-300 บาท หรือติดต่อโดยตรงที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. (044) 631746
วัดเขาอังคาร เขาอังคารเป็นภูเขาไฟดับสนิทแล้ว ห่างจากพนมรุ้ง 20 กิโลเมตร โดยลงมาจากพนมรุ้งถุงบ้านตาเป็กแล้วเลี้ยวซ้ายมาตามทาง ที่จะไปละหานทราย ประมาณ 13 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางลูกรังอีกประมาณ 7 กิโลเมตร พบใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีหลายชิ้น ปัจจุบันมีวัดเขาอังคารอยู่บนยอดเขา เป็นวัดสวยงามสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบ และภายในโบสถ์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธชาดกเป็นภาษาอังกฤษด้วย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนางรอง

อ่างเก็บน้ำทุ่งแหลม ริมทางหลวงหมายเลข 24 ทางด้านซ้ายมือระหว่างทางจากอำเภอนางรองไปปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่พักริมทาง มีศาลาริมน้ำรับลมเย็นสบาย และในบริเวณนี้มีฝูงนกเป็ดน้ำจำนวนมากมายอาศัยอยู่ในฤดูแล้ง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอประโคนชัย

ปราสาทหินเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลจระเข้มาก ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้ง 8 กิโลเมตร เส้นทางราดยางตลอด การเดินทางสามารถใช้ได้ 2 เส้นทาง คือ
 1. เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง-พนมรุ้ง เมื่อถึงปราสาทหินพนมรุ้ง 8 กิโลเมตร จะพบทางแยกขวาเข้าปราสาทเมืองต่ำ เป็นระยะทางอีก 5 กิโลเมตร
 2. เส้นทางบุรีรัมย์-ประโคนชัย จากตัวอำเภอประโคนชัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 2221 เป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร แยกซ้ายไปปราสาทเมืองต่ำอีก 5 กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของปราสาทหินเมืองต่ำยังไม่ทราบชัดเพราะไม่พบหลักฐานที่แน่นอนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด หรือใครเป็นผู้สร้าง มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ. 1550-1625 โดยลักษณะของศิลปะขอมแบบคลังซึ่งมีอายุราว พ.ศ. 1508-1555 ปะปนอยู่ด้วย ภาพสลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู
 - ตัวปราสาท ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลัก คือ ปรางค์อิฐ 5 องค์ สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยศิลาแลง องค์ปรางค์ทั้ง 5 ตั้งเรียงกันเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ปรางค์ประธานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลางแถวหน้า ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน ส่วนองค์อื่นๆ ที่เหลืออยู่ก็มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ปรางค์ทุกองค์มีประตูสู่ภายในปรางค์ได้ด้านเดียว คือ ด้านทิศตะวันออก ด้านอื่นทำเป็นประตูหลอกต่างกัน แต่ปรางค์ประธานมีมุขหน้าอีกชั้นหนึ่ง การขุดแต่งบริเวณปรางค์ประธานได้พบทับหลังประตูมุขปรางค์ สลักเป็นภาพเทพถือดอกบัวขาบประทับนั่งเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยสตรีเป็นบริวาร หน้าบันสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนทับหลังประตูปรางค์สลักเป็นเทพนั่งชันเข่าเหนือหน้ากาล และยังได้พบชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นประดับฐานอีกด้วย แสดงว่าปรางค์เหล่านี้ได้เคยมีปูนฉาบและปั้นปูนเป็นลวดลายประดับตกแต่งอย่างงดงาม สำหรับปรางค์บริวารอีก 4 องค์นั้นยังคงมีทับหลังติดอยู่เหนือประตูทางเข้า 2 องค์ คือ องค์ที่อยู่ทางทิศเหนือของแถวหน้า และองค์ทิศใต้ของแถวหลัง สลักภาพพระศิวะอุ้มนางอุมาบนพระเพลา ประทับนั่งอยู่บนหลังโคนนทิ และภาพพระวรุณทรงหงส์ ตามลำดับ จากการขุดแต่งได้พบยอดปรางค์ทำด้วยหินทรายสลักเป็นรูปดอกบัว ตกอยู่ในบริเวณฐานปรางค์ หน้ากลุ่มปรางค์ยังมีวิหารเป็นอาคารก่ออิฐ 2 หลัง ตั้งหันหน้าตรงกับปรางค์ที่อยู่ด้านข้างทั้งสององค์ สิ่งก่อสร้างดังกล่าว ล้อมรอบด้วยกำแพงสองชั้น กำแพงชั้นในก่อด้วยหินทรายเป็นห้องแคบๆ ยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่เรียกว่า ระเบียบคด กำแพงชั้นนอกเป็นกำแพงศิลาแลง กำแพงทั้งสองชั้นมีซุ้มประตูอยู่ในแนวตั้งตรงกันทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูทั้งหมดยกเว้นซุ้มประตูของประตูชั้นในด้านทิศตะวันตกก่อด้วยหินทราย สลักลวดลายในส่วนต่างๆ อย่างงดงาม ตั้งแต่หน้าบัน ทับหลัง เสาติดผนัง ฯลฯ เป็นภาพเล่าเรื่องในศาสนาฮินดูและลวดลายที่ผูกขึ้นจากใบไม้ ดอกไม้ที่มักเรียกรวมๆ ว่า ลายพันธุ์พฤกษา ระหว่างกำแพงชั้นในและกำแพงชั้นนอก เป็นลานกว้างปูด้วยศิลาแลง มีสระน้ำขุดเป็นรูปหักมุมตามแนวกำแพงอยู่ทั้ง 4 มุม กรุขอบสระด้วยแท่งหินแลงก่อเรียงเป็นขั้นบันไดลงไปยังก้นสระ ขอบบนสุดทำด้วยหินทรายเป็นลำตัวนาคซึ่งชูคอแผ่พังพานอยู่ที่มุมสระ เป็นนาค 5 เศียรเกลี้ยงๆ ไม่มีเครื่องประดับศีรษะ ราคาค่าเข้าชมปราสาทเมืองต่ำ คนไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 20 บาท
ปราสาทบ้านบุ หรือธรรมศาลา หรือบ้านมีไฟ ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านบุวิทยาสรรค์ ตำบลจระเข้มาก การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับทางไปปราสาทเมืองต่ำ โดยปราสาทบ้านบุจะอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 2221 ห่างจากทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำไปทางประโคนชัย 1.5 กิโลเมตร
- ลักษณะของตัวปราสาท มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างที่เชื่อกันว่าเป็นที่พักสำหรับคนเดินทาง (นักแสวงบุญ) ตามที่กล่าวถึงในจารึกประวัติศาสตร์พระขรรค์ ประเทศกัมพูชา ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 5.10 เมตร ยาว 11.50 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง กรอบประตูหน้าต่างทำด้วยศิลาทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูเข้า-ออกเชื่อมติดกับองค์ปรางค์ทางด้านหน้า ภายในมีแท่นวางรูปเคารพอยู่ 1 แท่น พบชิ้นส่วนทับหลัง สลักภาพพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว 2 ชั้น ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันอายุการสร้างและลัทธิทางศาสนาในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ห่างจากอาคารประมาณ 4 เมตร มีร่องรอยกำแพงก่อด้วยแลงเหลือเป็นแนวเสมอพื้นดินพอให้รู้ขอบเขต
กุฏิฤาษีหนองบัวราย หรือ ปราสาทหนองกง (ใกล้เชิงเขาพนมรุ้ง) อยู่ห่างจากเชิงเขาพนมรุ้งไปทางทิศใต้ประมาณ 2.8 กิโลเมตร ตามเส้นทางพนมรุ้ง-ประโคนชัย มีสิ่งสำคัญคือ
 - ปรางค์ สร้างด้วยศิลาแลง เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมกว้าง 5 เมตร มีประตูด้านหน้าอยู่ทางตะวันออก ส่วนทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ทำเป็นประตูหลอก ศิลาทับหลังประตูมุขจำหลักเป็นพระพุทธรูปปางสมาธินั่งอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มือทั้งสองของเกียรติมุขจับพวงมาลัย ยอดปรางค์ทำย่อเป็นบัวเชิงบาตร 4 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบขนุนศิลาจำหลักลายและรูปภาพตั้งประดับ
 - กำแพง ก่อด้วยแลง ประตูกำแพงทำอย่างประตูซุ้มอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนริมทางข้างซ้ายมีเนินดินสูงประมาณ 2 เมตร กว้างประมาณ 3-4 เมตร เป็นคันยาวเหยียดไปไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร บนสันเนินมีรากฐานสิ่งก่อสร้างขนาดย่อมๆ อยู่ 2-3 ตอน ห่างจากสันเนินออกไปเล็กน้อยมีหนองน้ำกว้างใหญ่ เรียกว่า หนองบัวราย (บำราย) หรือสระเพลง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านกรวด

แหล่งหินตัด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด บริเวณเขากลอยและเขากระเจียว การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 ต่อด้วยทางสายประโคนชัย-บ้านกรวด ทางหลวงหมายเลข 2075 เดินทางตั้งอยู่ในเขตอำเภอบ้านกรวด บริเวณเขากลอยและเขากระเจียว การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 ต่อด้วยทางสายประโคนชัย-บ้านกรวด ทางหลวงหมายเลข 2075 เดินทางเลยบ้านกรวดไปทางละหานทราย 6 กิโลเมตร มีแยกซ้ายเข้าแหล่งหินตัดอีก 2 กิโลเมตร ทางราดยางตลอดสาย แหล่งหินตัดนี้ เป็นแหล่งหินทรายที่คนสมัยขอม ตัดเอาไปสร้างปราสาทต่างๆ ในเขตอีสานใต้ ทั่วบริเวณมีหินทรายก้อนใหญ่น้อยเรียงรายอยู่ทั่วไป บางก้อนยังมีร่องรอยสกัดหินปรากฏอยู่ นอกจากนั้น บริเวณนี้ยังเป็นสถานปฏิบัติธรรมของวัดสวนธรรมศิลา ได้รับการดูแลและปรับปรุงสถานที่ให้สะอาดสวยงาม และมีทางเดินจากแหล่งหินตัดไปยังจุดชมวิวบนยอดเขา
แหล่งเต่าโบราณ ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านกรวดวิทยาคาร ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 21-22 ทางหลวงหมายเลข 2075 ห่างจากตัวเมือง 66 กิโลเมตร นักโบราณคดีได้สำรวจพบเตาเผา และเครื่องปั้นดินเผาโบราณจำนวนมาก พบว่ามีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-19 โดยเตาเผาเหล่านี้ ได้ผลิตเครื่องถ้วยเขมร เพื่อเป็นสินค้าป้อนให้กับเมืองต่างๆ ในกัมพูชา และในภูมิภาคต่างๆ โดยมีการทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โต และขยายขอบเขตการผลิตไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งเตาโบราณ 2 แห่งคือ เตาสวายและเตานายเจียน ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอบ้านกรวดเป็นระยะทาง 5 และ 10 กิโลเมตร ตามลำดับ ส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบสามารถชมได้ที่หอศิลปกรรมบ้านกรวด ในบริเวณที่ว่าการอำเภอบ้านกรวด

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปะคำ

วัดโพธิ์ย้อย ตั้งอยู่ที่บ้านปะคำ หมู่ที่ 1 ตำบลปะคำ จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ใช้เส้นทางหลวงสาย 208 (บุรีรัมย์-นางรอง) ถึงอำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงสาย 2118 (นางรอง-ปะคำ) จนถึงทางแยกอำเภอปะคำจากนั้นจึงเลี้ยวซ้าย จะพบวัดโพธิ์ย้อยซึ่งตั้งอยู่ใกล้สี่แยกทางด้านขวามือ - วัดโพธิ์ย้อย เป็นวัดที่ไม่เก่าแก่นัก จึงไม่ได้ถูกมองและศึกษาในรูปแบบของศิลปะการก่อสร้าง หากแต่มีความสำคัญด้วยมีโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบในบริเวณใกล้เคียงเก็บรักษาไว้ ได้แก่ ทับหลัง 5 ชิ้น ใบเสมา 3 แผ่น เสาศิลา 5 หลัก ชิ้นส่วนเสากรอบประตูและฐานศิวลึงค์อย่างละชิ้น สำหรับทับหลังซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหน้าพระประธาน ด้านขวาสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประทับในซุ้มเรือนแก้ว แวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา กล่าวกันว่าเป็นทับหลังที่เคลื่อนย้ายมาจากประสาทหินบ้านโคกปราสาท หรือที่เรียกว่า ปราสาทบ้านโคกงิ้ว ซึ่งตั้งห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร ทางทิศเหนือ ทับหลังด้านซ้ายสลักเป็นภาพเล่าเรื่องการถวายสตรีให้กับบุคคลผู้มีอำนาจ อาจเป็นกษัตริย์หรือเทพ ภาพบุคคลนั่งเรียงกันภายในซุ้ม มีลายพันธุ์พฤกษาล้อมรอบ และมีปลายทับหลัง 2 ข้าง เป็นภาพมังกรหันหน้าออกคายลายก้านต่อดอก ส่วนทับหลังด้านหลังพระประธาน ด้านขวาสลักเป็นภาพพระอิศวรทรงโคในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล ซึ่งใช้มือทั้งสองยึดจับที่ท่อนพวงมาลัย 2 ข้าง มีลายมาแบ่งที่เสี้ยวเป็นรูปบุคคลนั่งในซุ้มเหนือดอกบัวมีก้านประกอบและทับหลังบนกุฏิอีก 1 ชิ้น สลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเหนือหน้ากาล ซึ่งใช้มือยึดท่อนพวงมาลัย ด้านข้างพระอินทร์เป็นภาพสิงห์ยืน จากลักษณะทางด้านศิลปกรรมของทับหลังเหล่านี้ สามารถกำหนดอายุโดยประมาณได้ว่าอยู่ในราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับศิลปะขอมแบบเกลี้ยงและ บาปวน นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น เสาศิลาสลักเป็นรูปโยคีภายในซุ้มและใบเสมา ปักกระจายอยู่รอบอุโบสถ เสมาที่สลักเป็นรูปธรรมจักรอย่างสวยงาม และยังมีชิ้นส่วนของฐานศิวลึงค์ด้วย บริเวณที่ตั้งวัดโพธิ์ย้อยสันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นอาคารที่เรียกกันว่า อโรคยศาล ด้วยฐานอุโบสถไม้ตั้งอยู่บนฐานโบราณสถานเก่าก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งอาจจะเป็นฐานปรางค์ ทางด้านหลังอุโบสถมีร่องรอยของสระน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมและศิลาจารึกที่เรียกว่า จารึกด่านปะคำ ซึ่งเป็นจารึกประจำอโรคยศาล ก็มีการกล่าวถึงในเอกสารของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสว่าได้ไปจากวัดนี้ แต่เรียกชื่อว่าวัดปะคำ วัดโพธิ์ย้อยจึงนับเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพุทไธสง

พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ พระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางสมาธิขนาดหน้าตัก 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีลักษณะของศิลปะพื้นเมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ หรือวัดศีรษะแรด เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์รูปใบขนุน “รวมปาง” สำริด และพระพุทธรูปแกะสลักจากนอแรดที่ใต้ฐาน พระเจ้าใหญ่ด้วย ในวันขึ้น 14 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะจัดงานเฉลิมฉลองขึ้น โดยมีชาวอำเภอพุทไธสง และจังหลัดต่างๆ ไปนมัสการกราบไหว้เป็นจำนวนมาก การเดินทางไปวัด จากตลาดพุทไธสง ถึงทางแยกเลี้ยวขวา ใช้เส้นทางที่จะไปพยัคภูมิพิสัย ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอห้วยราช

สวนนก ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ตำบลห้วยราช การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 ประมาณ 15 กิโลเมตร มีทางลูกรังแยกซ้ายไปประมาณ 2 กิโลเมตร เขตสวนนกนี้ ได้ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำห้วยตลาดเป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด ซึ่งมีทั้งนกท้องถิ่นและนกที่อพยพมาจากประเทศแถบหนาว บริเวณสวนนกมีต้นไม้ ร่มรื่น และมีศาลาริมอ่างเก็บน้ำสำหรับพักผ่อนและชมชีวิตความเป็นอยู่ของนกในบริเวณนี้

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนาโพธิ์

ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านนาโพธิ์ ตั้งอยู่ในเขตตัวอำเภอนาโพธิ์ การเดินทางใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-พุทไธสง ทางหลวงหมายเลข 2074 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 202 บริเวณกิโลเมตรที่ 21 มีทางแยกเข้าตัวอำเภอนาโพธิ์ เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร ในบริเวณศูนย์หัตถกรรมแห่งนี้ มีโรงทอผ้าไหม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในด้านการพัฒนาฝีมือให้ได้มาตรฐานทั้งรูปแบบ วิธีผลิต และลวดลาย รวมทั้งการให้สี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สีจากธรรมชาติ นอกจากนี้ ด้านหน้าศูนย์ยังมีร้านจำหน่ายผ้าไหม ผ้ามัดหมี่คุณภาพดีอีกด้วย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอโนนดินแดง

อนุสาวรีย์เราสู้ อยู่ที่ตำบลโนนดินแดง ริมทางหลวงสายละหานทราย-ตาพระยา ทางหลวงหมายเลข 3068 ทางด้านซ้ายมือสร้างขึ้นเมื่อปี 2522 เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชน ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ผู้ก่อการร้าย และได้รับพระราชทานนาม “เราสู้” เป็นชื่อของอนุสาวรีย์แห่งนี้
เขื่อนลำนางรอง อยู่ในเขตบ้านโนนดินแดง ห่างจากอนุสาวรีย์เราสู้ประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนถึงอนุสาวรีย์จะพบทางแยกเข้าไปทางซ้าย เป็นลักษณะเขื่อนดินฐานคอนกรีต มีถนนราดยางบนสันเขื่อนเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้านตัวอย่างหมู่บ้านพัฒนาหนองตาเยาว์และหนองหว้า ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดน ประมาณ 20 กิโลเมตรเท่านั้น ที่สันเขื่อนมีหินลอย (หินภูเขาไฟอีกชนิดหนึ่ง) เป็นก้อนและแผ่น สีสันแบ่งกันเป็นชั้นๆ สวยงาม ซึ่งได้นำออกไปกองไว้กันน้ำเซาะสันเขื่อน และใกล้กับเขื่อนลำนางรองนี้มีเขื่อนคลองมะนาวซึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็สวยงามสงบเงียบ ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนของชาวบุรีรัมย์อีกแห่งหนึ่ง
ปราสาทหนองหงส์ ตั้งอยู่ที่บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง การเดินทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงสาย 219 ถึงอำเภอประโคนชัย จากสี่แยกตรงไปตามทางหลวงสาย 2075 จนถึงนิคมบ้านกรวด เลี้ยวขวาเข้าทางสาย 2121 จนถึงอำเภอละหานทรายเลี้ยวซ้ายเข้าทางสาย 3068 ผ่านสี่แยกปะคำ ตรงต่อไปถึงบ้านโนนดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้าเขื่อนลำนางรอง ตัวปราสาทอยู่ทางด้านซ้ายของแนวสันเขื่อน และห่างจากเขื่อนประมาณ 300 เมตร ตัวปราสาทเป็นปรางค์ 3 องค์ ก่อด้วยอิฐ ตั้งบนฐานก่อด้วยศิลาแลงต่อเนื่องเป็นฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีประตูเข้า-ออกทางด้านหน้าอีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอก ปรางค์ทั้งสามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง องค์กลางขนาดใหญ่กว่าสององค์ที่ขนาบข้าง แต่เดิมเคยมีทับหลังประดับจำหลักลายอย่างสวยงาม คือ องค์ทิศเหนือสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหนือหน้ากาล ซึ่งมือยึดท่อนพวงมาลัยแวดล้อมด้วยลายพันธุ์พฤกษา อีก 2 องค์ที่เหลือ คือ องคืกลางและองค์ด้านทิศใต้ก็มีลักษณะคล้ายกันตางกันที่ภาพตรงกลาง คือ ทับหลังปรางค์องค์กลางสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ องค์ทิศใต้เป็นรูปพระอิศวรทรงโค ด้านหน้าของปรางค์องค์กลาง มีทางเดินยื่นยาวออกไป มีบันไดทางด้านหน้าและด้านข้างทั้งสอง นอกจากนี้ยังมีวิหารหรือบรรณาลัยอีก 1 หลัง ก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าเข้าหาปรางค์องค์ทิศใต้ อาคารทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง มีซุ้มประตูด้านหน้าและด้านหลัง มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบอีกทีหนึ่ง การกำหนดอายุสมัยของปราสาทนั้น จากลักษณะการก่อสร้างและศิลปกรรมที่พบซึ่งตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16

สถานที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์

กู่สวนแตง ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนกู่สวนแตงวิทยาคม บ้านดอนหวาย ตำบลดอนหวาย การเดินทางจะใช้เส้นทางบุรีรัมย์-พยัคภูมิพิสัย ทางหลวงหมายเลข 219 ระยะทาง 70 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ทางไปอำเภอประทายอีกประมาณ 40 กิโลเมตร จะพบทางแยกเข้าสู่กู่สวนแตงด้านซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร หรือจากบุรีรัมย์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2074 ผ่านอำเภอคูเมือง ไปอำเภอพุทไธสง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ไปอีก 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้ากู่สวนแตงอีก 1.5 กิโลเมตร ลักษณะของกู่สวนแตง สามารถบอกได้ว่าเป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งเรียงในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว อีก 3 ด้านสลักเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่และมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าที่มุขยื่นออกมาเล็กน้อย ตรงหน้าบันเหนือประตูหลอกทั้ง 3 ด้าน มีลักษณะยื่นออกมาและมีแผ่นศิลาทรายรองรับ ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ มีขนาดเล็กกว่า ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเดียวทางด้านหน้าเช่นกัน ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ก่อเรียบทึบสำหรับบนพื้นหน้าปรางค์มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายอื่นๆ ตกหล่นอยู่ เช่น ฐานบัวยอดปรางค์ กลีบขนุนรูปนาค 6 เศียร อายุของกู่สวนแตงสามารถกำหนดได้จากทับหลังของปรางค์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร อยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากภาพสลักบนทับหลังทั้งหมดมีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบนครวัด ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ตรีวิกรม (ตอนหนึ่งในวามนาวตาร แสดงภาพพระนารายณ์ย่างพระบาท 3 ก้าว เหยียบโลกบาดาล โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์) ทับหลังภาพศิวนาฏราช ทับหลังภาพการกวนเกษียรสมุทร ทับหลังภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ฯลฯ แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่สวยงามน่าสนใจยิ่ง

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่บุรีรัมย์