แผนที่ปทุมธานี

  • แผนที่ปทุมธานี
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

จังหวัดปทุมธานีเดิมชื่อ "เมืองสามโคก" มีความเป็นถิ่นฐานบ้านเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 300 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เมื่อ พ.ศ. 2202 มังนันทมิตรได้กวาดต้อนครอบครัวมอญ เมืองเมาะตะมะ อพยพหนีภัยจากศึกพม่า เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระนายรายณ์มหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้นไปตั้งบ้านเรือน อยู่ที่บ้านสามโคก ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ชาวมอญได้อพยพหนีพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกเป็นครั้งที่ 2 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านสามโคกอีก และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ได้มีการอพยพชาวมอญครั้งใหญ่จากเมืองเมาะตะมะเข้าสู่ประเทศไทยเรียกว่า "มอญใหญ่" พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญบางส่วนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคกอีกเช่นเดียวกัน จากชุมชนขนาดเล็ก บ้านสามโคกจึงกลายเป็น เมืองสามโคก ในเวลาต่อมา ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองสามโคก เป็น เมืองประทุมธานี และเมื่อ พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า "จังหวัด" แทน "เมือง" และให้เปลี่ยนการสะกดชื่อใหม่จาก "ประทุมธานี" เป็น "ปทุมธานี" กลายเป็น จังหวัดปทุมธานี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2475 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบจังหวัดธัญบุรีมาขึ้นกับจังหวัดปทุมธานี จังหวัดปทุมธานีจึงได้แบ่งการปกครองเป็น 7 อำเภอดังเช่นปัจจุบัน

การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ, 60 ตำบล, และ 529 หมู่บ้าน อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอคลองหลวง อำเภอธัญบุรี อำเภอหนองเสือ อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอลำลูกกา อำเภอสามโคก

ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี 
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร 
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดนครนายก และฉะเชิงเทรา 
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดนนทบุรี

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางจังหวัดในเขตอำเภอเมืองและอำเภอสามโคก มีลำคลองธรรมชาติและ คลองชลประทานหลายสาย เช่น คลองควาย คลองเชียงรากน้อย คลองบางเตย คลองบางโพธิ์ คลองแม่น้ำอ้อม คลองบางหลวง คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองระพีพัฒน์ คลองหกวา ฯลฯ

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ปทุมธานี

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพมหานครสามารถเดินทางไปจังหวัดปทุมธานีได้ 3 เส้นทาง ดังนี้
กรุงเทพฯ-บางเขน-รังสิต-ปทุมธานี
กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปากเกร็ด-ปทุมธานี
กรุงเทพฯ-บางใหญ่-บางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว-ปทุมธานี

ทางรถประจำทาง

ทางรถประจำทาง มีรถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ มาจังหวัดปทุมธานี ดังนี้ สาย 33 สนามหลวง-ปทุมธานี สาย 90 สวนจตุจักร-หัวถนน-ติวานนท์ (ต่อเรือข้ามฝั่ง หรือต่อรถสายรังสิต-ปทุมธานี) สาย 29, 34, 39, 59, 95, ปอ.3, ปอ.10, ปอ.13, ปอ.29 และ ปอ.39 จอดรถที่รังสิต (แล้วต่อรถสายรังสิต-ปทุมธานี)สาย 104 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ปากเกร็ด แล้วต่อรถสาย 33 และ 90 ไปจังหวัดปทุมธานี

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ มีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน โดยไปลงได้ที่สถานีรถไฟตลาดรังสิตแล้วต่อรถยนต์โดยสารมายังจังหวัดได้ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th

เปิดสงกรานต์ เป็นประเพณีสงกรานต์ ข้าวแช่ของชาวไทยรามัญ (มอญ) มีการนำข้าวสุกแช่ลงในน้ำเย็นลอยดอกมะลิ พร้อมกับจัดอาหารคาว หวาน จัดเป็นสำรับแล้วนำออกขบวนแห่ไปถวายพระและญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในวันสงกรานต์ พอตอนบ่ายก็จะมีการก่อพระทรายและร่วมปล่อยนกปล่อยปลา นำน้ำหอมไปสรงน้ำพระ ขอพรจากพระและยกขบวนไปรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้ยึดถือกระทำกันมา
การเล่นสะบ้า ในโอกาสวันสงกรานต์ตอนบ่ายๆ จะมีหนุ่มสาวพบปะสมาคมกันอย่างใกล้ชิด พวกผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะเปิดโอกาสให้ลูกหลานของตนแต่งกายให้สวยงามเป็นพิเศษ มาชุมนุมเล่นทอยลูกสะบ้ากัน สำหรับลูกสะบ้านั้นทำจากแก่นไม้ประดู่หรือไม้มะค่า มีลักษณะรูปทรงกลม เป็นรูปจานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 นิ้ว การทอยลูกสะบ้า ผู้เล่นจะทอยไปยังหลักซึ่งอยู่ห่างจากที่ทอยประมาณ 13 วา ให้ล้มลง
 มอญรำ เป็นประเพณีของชาวรามัญโบราณตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการใช้ปี่พาทย์มอญเล่นประกอบการรำและการร้อง ใช้หญิงสาวจำนวน 8-12 คนขึ้นไปรำในงานพิธีมงคล จะแต่งกายชุดสดสวยของชาวมอญห่มสไบเฉียงเสื้อแขนยาวทรงกระบอกคอกลม เกล้าผมมวยรัดด้วยดอกมะลิสด ทัดดอกไม้สดข้างหูและสวมกำไลที่ข้อเท้า เว้นแต่พิธีมงคลศพจึงจะแต่งชุดซิ่นสีดำเชิงห่มสไบสีขาว ปัจจุบันการแสดงมอญรำยังนิยมใช้แสดงในงานต้อนรับแขกและงานศพของผู้มีเกียรติ
ทะแยมอญ เป็นการละเล่นพื้นเมืองของหนุ่มสาวชาวมอญ มีลักษณะคล้ายหมอรำของภาคอีสาน หรือลำตัดของคนไทยภาคกลาง มีการร้องเพลงเกี้ยวพาราสีต่อปากต่อคำกัน เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการเล่นก็มีไวโอลินและซอ ทะแยมมอญใช้เล่นได้ทั่วไป ในทุกโอกาสที่ต้องการความสนุกสนานครึกครื้น ไม่จำเป็นต้องเป็นงานพิธี เช่น มอญรำ
การรำพาข้าวสาร เป็นประเพณีของชาวมอญ นิยมทำกันหลังจากการออกพรรษา เป็นช่วงการทอดกฐินและทอดผ้าป่า โดยคณะผู้รำพาข้าวสารจะพายเรือไปขอรับบริจาคข้าวสาร เงินทองและสิ่งของแล้วนำไปร่วมในการทอดกฐิน
การตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีของชาวมอญที่ทำในเทศกาลออกพรรษา ด้วยการนำอาหารคาวหวาน ลงเรือมาจอดเรียงรายริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรอตักบาตร
การจุดลูกหนู เป็นประเพณีเผาศพพระภิกษุ-สามเณร ใช้ดอกไม้เพลิงเป็นชนวน ลำตัวเจาะร้อยเชือกชนวน เมื่อจุดฉนวนไฟจะวิ่งตามฉนวนไปยังดอกไม้เพลิง ดอกไม้เพลิงจะวิ่งไปจุดไฟที่เมรุ

 

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอเมือง

   ศาลหลักเมือง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดปทุมธานี เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี ศาลหลักเมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลากลางจังหวัด สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520 เป็นศาลาแบบจตุรมุขยอดกลาง มีลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวง เหนือขึ้นไปเป็นฐานกลีบบัวรองรับมณฑป ภายในมณฑปประดิษฐานหลักเมือง และมีรูปหล่อพระนารายณ์สี่กรทรงเหนือหลังนกฮูกและพระวิษณุหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ด้านหลังของมณฑปบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายประกอบด้วยเครื่องรางของขลังที่รวบรวมมาจากวัดต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี
วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2164 โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี และเอาชื่อหมู่บ้านที่ตนอพยพมาอาศัยอยู่ ตั้งเป็นชื่อวัด และได้สร้างเสาหงส์ขึ้นไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองหงสาวดี สิ่งสำคัญในวัดโบสถ์คือ พระแสงอาญาสิทธิ์ ของเก่าแก่จากรามัญ ช้างสี่เศียรใช้ติดตั้งประดับหัวเสา อายุเก่าแก่ถึง 150 ปี สร้างด้วยทองคำสัมฤทธิ์ พระทรงเครื่องอยู่ในโบสถ์เก่าของวัด และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 6
 วัดชินวราราม เป็นวัดเก่าแก่และเป็นพระอารามหลวงชั้น โทชั้นวรวิหาร เดิมชื่อ "วัดมะขามใต้" บริเวณรอบพระอารามกว้างขวาง ในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม พร้อมคำบรรยายเป็นโคลงสี่สุภาพเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าสิบชาติ นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น พระวิหาร มณฑป หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ และตำหนักชินวรสิริวัฒน์ ฯลฯ วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้าอดีตเจ้าอาวาสราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดชินวรารามตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ไปทางเหนือเล็กน้อย ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานี จากทางแยกถนนสายกรุงเทพฯ-ปทุมธานี ก่อนถึงสะพานนนทบุรีประมาณ 500 เมตร ทางฝั่งซ้ายจะมีทางแยกเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางสะดวกทั้งทางรถยนต์ และทางเรือ

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอสามโคก

  วัดสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอสามโคก สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อครั้งที่ชาวมอญอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนี้ ในบริเวณวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ควรค่าแก่การศึกษาในด้านประวัติศาสตร์และศิลปะ มีหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทองปางสะดุ้งมารสมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อเพชร) โกศบรรจุอัฐิหลวงพ่อพญากราย ซึ่งเป็นพระมอญธุดงค์มาจำพรรษาที่วัดสิงห์นี้ บนกุฏิจัดเป็นพิพิธภัณฑ์มีโบราณวัตถุที่เป็นศิลปะมอญ เช่น หม้อข้าวแช่ มีรอยพระพุทธบาทจำลองทำด้วยไม้สัก พร้อมทั้งแท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสามโคกและมีอิฐมอญแบบเก่าที่มี 4, 6, 8 รู ในแถบวัดนี้ยังมีการทำอิฐมอญซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้าน การเดินทางไปได้ทั้งทางเรือ และทางรถยนต์ โดยถนนสายปทุมธานี-สามโคก เพียง 3 กิโลเมตร และมีทางแยกซ้ายเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร
วัดไผ่ล้อม เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอสามโคก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณวัดนั้นเป็นที่อาศัยของ "นกปากห่าง" จำนวนมาก "นกปากห่าง" เป็นนกที่อยู่ในตระกูลนกกระสา มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ลังกา อัสสัม พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม "นกปากห่าง" เป็นนกประจำถิ่นแต่มีบางพวกที่อพยพเปลี่ยนที่หากินไปตามฤดูกาล จะเริ่มอพยพมาอาศัยอยู่ที่วัดไผ่ล้อมในระหว่าง เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยจะเริ่มจับคู่ทำรังและผสมพันธุ์จนกระทั่งวางไข่ และเลี้ยงลูกอ่อน เมื่อลูกนกโตขึ้นจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว พอเข้าฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม นกส่วนมากจะอพยพ จากวัดไผ่ล้อมทยอยบินขึ้นไปทางเหนือยังประเทศอินเดีย หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน นกก็จะเริ่มบินกลับมาทำรังที่วัดไผ่ล้อมอีก อาหารที่นกปากห่างชอบคือหอยโข่ง นอกจากนี้ยังมีกุ้งและปลา ปัจจุบัน "นกปากห่าง" เป็นสัตว์ป่าสงวนในความดูแลของกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้
การเดินทางไปชมนกปากห่างนั้น ไปได้ทางเรือโดยใช้เส้นทางถนนสายปทุมธานี-สามโคก เลยที่ว่าการอำเภอสามโคกถึงวัดสามัคคิยาราม แล้วลงเรือข้ามฟากไปวัดไผ่ล้อม หรือจะนั่งรถสองแถวสายไปวัดไผ่ล้อม จากหัวถนนติวานนท์ (ทางหลวงหมายเลข 306) ถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนหมายเลข 346 ประมาณ 1 กิโลเมตร ทางซ้ายมือมีทางราดยางเข้าสู่วัดเสด็จ (ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร) และวัดไผ่ล้อมระยะทาง 15 กิโลเมตร ไปลงที่หน้าวัดไผ่ล้อม หรือโดยรถประจำทาง ขสมก. สาย 32 และ ปอ.6 จากสนามหลวง หรือสาย 104 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปท่าเรือเทศบาลเมืองปทุมธานีแล้วข้ามเรือในราคา 5 บาท ไปยังวัดไผ่ล้อมอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ บริษัทสุภัทรา ยังมีบริการเรือนำเที่ยว กรุงเทพฯ-วัดไผ่ล้อม-ศูนย์ศิลปาชีพ ไป-กับ ทุกวันอาทิตย์ อัตราค่าโดยสาร 280 บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ท่ามหาราช โทร. 0-2253-0023 , 225-3002-3 ในบริเวณวัดไผ่ล้อมมีร้านจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มและของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวในวันเสาร์และอาทิตย์
วัดเจดีย์ทอง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก ในวัดนี้มีเจดีย์ทรงรามัญ สร้างมาประมาณ 160 ปี เป็นสถาปัตยกรรมมอญที่เลียนแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองของพม่า และยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นด้วยหยกขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยรามัญ การเดินทางนั้นใช้เส้นทางสายปทุมธานี-สามโคก วัดเจดีย์ทองอยู่ห่างจากจังหวัดไป 8 กิโลเมตร แยกขวาเข้าวัดอีกประมาณ 500 เมตร

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอลำลูกกา

วัดพืชอุดม ตั้งอยู่ที่ตำบลลำไทร ในบริเวณวัดมีศาลารูปปั้นต่างๆ แสดงถึงนรกภูมิและสวรรค์ภูมิชั้นต่างๆ มีหลวงพ่อโสธรจำลองประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ การเดินทางไปมาสะดวกทั้งทางรถยนต์และทางเรือ ทางรถยนต์มีรถสองแถวรับจ้างวิ่งเข้าออกทั้งวัน โดยเส้นทางสายกรุงเทพฯ-มีนบุรี-หนองจอก-วัดพืชอุดม หรือจากตัวจังหวัดปทุมธานี-อำเภอลำลูกกา-ถนนสายฉะเชิงเทรา-อำเภอหนองจอก-วัดพืชอุดม ระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร และทางเรือโดยลงเรือที่สะพานใหม่ดอนเมือง ใช้เวลาประมาณ 45 นาที

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว

  วัดบัวขวัญ เป็นวัดที่อยู่ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว ในบริเวณวัดมีพระพุทธรูปปางพระผอม เป็นพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับพระพุทธรูปตามระเบียงวัดเบญจมบพิตร นอกจากนี้ยังมีพลับพลาที่ประทับแรกนาขวัญ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เรียกว่า "ศาลาแดง" เดิมตั้งอยู่ที่วังพญาไท ในกรุงเทพฯ สร้างเป็นพลับพลาไม้สักทั้งหลังแม้แต่หลังคา นับเป็นพลับ พลาที่สวยงามและทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง
วัดเจดีย์หอย ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว ใช้ทางหลวงหมายเลข 346 (ปทุมธานี-บางเลน) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 21-22 แล้วแยกเข้าวัดไปอีก 10 กิโลเมตร วัดนี้เป็นแหล่งเก่าแก่ของหอยนางรมยักษ์ มีอายุกว่า 1,000 ปี มีเจดีย์ที่ก่อสร้างขึ้นจากการนำเอาหอยนางรมมาสร้างเป็นรูปเจดีย์ จึงเรียกว่า "เจดีย์หอย"
วัดลำมหาเมฆ ตั้งอยู่ที่ บ้านลำมหาเมฆ หมู่ที่ 5 ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว ห่างจากจังหวัดตามเส้นทางถนนปทุมธานี-บางเลน ประมาณ 14 กิโลเมตร สิ่งที่น่าสนใจคือ บริเวณบึงน้ำไหลของวัดมีนกหลากหลายชนิดอาศัยสร้างรัง ฟักไข่ตามธรรมชาติจำนวนมาก ได้แก่ นกกระยางขาว นกกระสา นกกาน้ำ และนกชนิดอื่นๆ

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอธัญบุรี

   วัดมูลจินดาราม ตั้งอยู่ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณคลองห้า อำเภอธัญบุรี ห่างจากถนนพหลโยธิน ไปตามเส้นทางถนนปทุมธานี-นครนายก ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร มีสิ่งที่น่าสนใจคือ ปลาสวายอาศัยอยู่ในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณหน้าวัดซึ่งได้เลี้ยงไว้ มีขนาดใหญ่ตัวละ 3-5 กิโลกรัม จำนวนมาก แต่ละวันมีผู้ไปเที่ยวชมและให้อาหารปลาอยู่เสมอ




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ปทุมธานี