แผนที่เลย

  • แผนที่เลย
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

เลย เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางภาคเหนือ สถานที่ตั้งตัวเมืองอยู่ท่ามกลางภูเขาน้อยใหญ่ ดินฟ้าอากาศคล้ายกับภาคเหนือ คือมีอากาศหนาวเย็นมีหมอกปกคลุมอยู่เสมอ เป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่อากาศเคยหนาวจัดจนอุณหภูมิลดลงถึงศูนย์องศาเซลเซียส
เลยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 520 กิโลเมตร

มีหลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาว่า ก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจาก บรรพบุรุษที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้มีผู้คนอพยพจากอาณาจักรโยนกเชียงแสนที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนล้านช้าง ข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันถึงบริเวณที่ราบ พ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา ซึ่งมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย) ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย สร้างบ้านด่านซ้าย (สันนิษฐานว่าอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้ายในปัจจุบัน) ต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำไปสร้างบ้านหนองคู และได้นำนามหมู่บ้านด่านซ้าย มาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่ เป็น "เมืองด่านซ้าย" อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางในที่สุด โดยมีพ่อขุนผาเมืองอพยพผู้คนติดตามไปตั้งเมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) และตั้งเมืองด่านซ้าย เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของเมืองบางยาง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีชาวโยนกอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขต ล้านนา ต่อแดนล้านช้างอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามข้ามลำน้ำเหืองมาตั้งเมืองเซไลขึ้น (สันนิษฐานว่าอยู่ในท้องที่หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง) จากหลักฐานในสมุดข่อยที่มีการค้นพบ เมืองเซไลอยู่ด้วยความสงบร่มเย็นมาจนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตก จึงได้พาผู้คนอพยพไปตามลำแม่น้ำเซไลถึงบริเวณที่ราบระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นขนานนามว่า "บ้านแห่" (บ้านแฮ่) ส่วนลำห้วยให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน"

ในปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่า หมู่บ้านแฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นเมืองเรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า เมืองเลย ต่อมา พ.ศ. 2440 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ ร.ศ.116 แบ่งการปกครองเมืองเลยออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกุดป่อง อำเภอท่าลี่ อำเภอนากอก (ปัจจุบันอยู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) อำเภอที่ตั้งเมืองคือ อำเภอกุดป่อง ต่อมา พ.ศ. 2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น บริเวณลำน้ำเลย พ.ศ. 2449-2450 เปลี่ยนชื่อบริเวณลำน้ำเลยเป็นบริเวณลำน้ำเหือง และใน พ.ศ. 2450 ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะ "เมืองเลย" โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็น "อำเภอเมืองเลย"

ทิศเหนือ จดประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชา ชนลาว 
ทิศใต้ จดจังหวัดขอนแก่น 
ทิศตะวันออก จดจังหวัดหนองคาย และหนองบัวลำภู 
ทิศตะวันตก จดจังหวัดพิษณุโลก

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอ และกิ่งอำเภอต่าง ๆ

อำเภอวังสะพุง 23 กิโลเมตร
อำเภอนาด้วง 32 กิโลเมตร
อำเภอเชียงคาน 47 กิโลเมตร
อำเภอท่าลี่ 47 กิโลเมตร
อำเภอภูหลวง 49 กิโลเมตร
อำเภอภูเรือ 50 กิโลเมตร
อำเภอผาขาว 70 กิโลเมตร
อำเภอภูกระดึง 73 กิโลเมตร
อำเภอด่านซ้าย 82 กิโลเมตร
อำเภอปากชม 90 กิโลเมตร
อำเภอนาแห้ว 125 กิโลเมตร
อำเภอเอราวัณ 50 กิโลเมตร
อำเภอหนองหิน 45 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-เลย

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1(พหลโยธิน) ผ่านตัวเมืองสระบุรี ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข 203 ผ่านอำเภอหล่มสัก หล่มเก่า เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูเรือ ถึงตัวจังหวัดเลยใช้เวลาเดินทางประมาณ 7-8 ชั่วโมง หรือจะใช้เส้นทางจากสระบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดขอนแก่น แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ แล้วใช้เส้นทางหมายเลข 201 เข้าเขตจังหวัดเลยที่อำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง ถึงตัวจังหวัดเลยได้เช่นเดียวกัน

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-เลย ทุกวัน ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง รายละเอียดสอบถามได้ที่ สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 ส่วนรถโดยสารของเอกชนติดต่อ บริษัท แอร์เลย

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟไปจังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น ซึ่งสามารถต่อรถยนต์ไปจังหวัดเลยได้อีกต่อหนึ่ง รายละเอียดสอบถาม หน่วยบริการเดินทาง สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 233-7010, 223-7020

ทางเครื่องบิน

ทางเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด มีเที่ยวบินกรุงเทพฯ-อุดรธานี ทุกวัน วันละ 3 เที่ยว แล้วสามารถต่อรถยนต์ไปจังหวัดเลย อีกประมาณ 140 กิโลเมตร รายละเอียดสอบถาม โทร. 02-356-1111 และที่จังหวัดอุดรธานี โทร. (042) 243222, 246697

  งานดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย จัดขึ้น ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลย ช่วงเทศกาลตรุษจีน ประมาณวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ ของทุกปี วันแรกของงานจะมีขบวนแห่จากอำเภอต่างๆ ที่ประดับตกแต่งรถด้วยผลิตภัณฑ์จากฝ้าย ซึ่งรถแต่ละคันจะมีเทพีนั่งประดับมาด้วย ส่วนบริเวณจัดงานจะมีการออกร้านของหน่วยงานราชการต่าง ๆ การประกวดนางสาวไทเลยและมหรสพอื่นๆ อีกมากมาย
งานประเพณีการละเล่นผีตาโขน จัดขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย ในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี หลังจากงานนมัสการพระธาตุศรีสองรักแล้ว งานประเพณีการละเล่นผีตาโขนเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีขึ้นในอำเภอด่านซ้ายและอำเภอนาแห้วเท่านั้น โดยมีการแห่ผีตาโขนในงานบุญหลวง ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น การละเล่นผีตาโขนส่วนมากจะเล่นกันเฉพาะผู้ชาย ตั้งแต่เด็กรุ่นๆ ถึงผู้ใหญ่ โดยแบ่งการจัดงานเป็นสองวัน ในวันแรกจะมีพิธีแห่พระอุปคุตจากลำน้ำหมันมาที่วัดโพนชัย วันที่สองมีการแห่เข้าเมือง และผู้เล่นจะนำเครื่องผีตาโขนไปโยนทิ้งแม่น้ำหมัน จากนั้นเวลาค่ำจะมีการเทศก์มหาชาติถึง 13 กัณฑ์
งานแสดงไม้ดอกเมืองหนาว อำเภอภูเรือ จัดขึ้นที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอภูเรือ ในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประมาณวันที่ 31 ธันวาคม-3 มกราคม ของทุกปี ภายในงานจะจัดให้มีการออกร้านแสดงไม้เมืองหนาว การประกวดไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว งานราตรีแม่คะนิ้ง ลีลาศโต้ลมหนาว และการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรของชาวอำเภอภูเรือ

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

  ศาลเจ้าพ่อกุดป่อง ตั้งอยู่ห่างจากหอนาฬิกาประมาณ 50 เมตร อยู่ติดกับศาลหลักเมือง เป็นศาลเก่าแก่ และมีประชาชนเคารพนับถือมากแห่งหนึ่ง
สวนสาธารณะกุดป่อง ตั้งอยู่ด้านหลังศาลเจ้าพ่อกุดป่อง มีคูน้ำล้อมรอบ ภายในสวนสาธารณะตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ อย่างสวยงาม ดูร่มรื่นและเป็นระเบียบ ประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย
สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ ป่าเลิงใหญ่ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีการจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ โดยพื้นที่รอบสวนสาธารณะเป็นแม่น้ำเลย ตั้งอยู่ตรงข้ามด้านหน้าเทศบาลเมืองเลย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินผ่านสะพานแขวนเข้าไปเที่ยวชมได้อย่างสะดวกสบาย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเชียงคาน

วัดศรีคุณเมือง ตั้งอยู่ที่ซอย 7 ถนนชายโขง ทางด้านเหนือของตลาดเชียงคาน มีกำแพงแก้วล้อมรอบตัวพระอุโบสถ สร้างในแบบแปลกตา รูปร่างคล้ายโบสถ์ตามวัดภาคเหนือ ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดกชุดพระเจ้าสิบชาติ
วัดท่าแขก เป็นวัดเก่าแก่โบราณ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน 2 กิโลเมตร ก่อนถึงหมู่บ้านน้อยและแก่งคุดคู้ปัจจุบันเป็นวัดธรรมยุติ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์ สกัดจากหินแกรนิตทั้งก้อน หน้าตักกว้าง 2 ศอก เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก
 พระพุทธบาทภูควายเงิน ตั้งอยู่ที่บ้านอุมุง ตำบลบุฮม ตามเส้นทางสายเชียงคาน-ปากชม ระยะทาง 6 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านผาแบ่นมีทางแยกเข้าบ้านอุมุง 3 กิโลเมตร จะถึงทางขึ้นเขาเป็นทางลูกรังระยะทาง 1 กิโลเมตร เป็นรอยพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่บนหินลับพร้า (หินลับมีด) ประชาชนเคารพนับถือมาก จะมีงานเทศกาลประจำปีในวันเพ็ญเดือน 3 หรือเดือน 4 ของทุกปี
แก่งคุดคู้ เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร ประกอบด้วยหินก้อนใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมากจากการที่หินเหล่านี้อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน ทำให้หินเหล่านี้มีสีสันไปต่าง ๆ ตัวแก่ง กว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบ ๆ ใกล้ฝั่งไทยเท่านั้นเอง ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งชัดเจน บริเวณแก่ง มีร้านอาหารจำหน่ายมากมาย
 วัดแสนฝาง  ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด ทราบแต่ว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง วัดนี้เป็นวัดพม่า จึงมีศิลปะการก่อสร้างแบบพม่า พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 โปรดฯ ให้รื้อที่ประทับของพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 มาสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2420 ครั้นสร้างเสร็จแล้วจึงโปรดฯ ให้มีการฉลองในปี พ.ศ. 2421

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอวังสะพุง

พระพุทธบาทถ้ำผาบิ้ง ตั้งอยู่บริเวณวัดถ้ำผา บิ้ง บ้านผาบิ้ง ตำบลนาแก กรมศิลปากรจดทะเบียนเป็นโบราณ สถานแห่งแรกของจังหวัดเลยพร้อมกับพระธาตุศรีสองรัก เมื่อ พ.ศ. 2498 เมื่อนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปในถ้ำจะมองเห็น พระพุทธบาทขนาดใหญ่อยู่บนเพดานถ้ำ ลวดลายและนิ้วพระบาทไม่ปรากฏเด่นชัด ขนาดกว้าง 2 ฟุต ยาว 3 ฟุต การเดินทางใช้เส้นทางสาย 201 (อำเภอเมือง-วังสะพุง) แล้วเลี้ยวขวาตรงระหว่างกิโลเมตรที่ 323-324 เข้าไปตามทางอีก 7 กิโลเมตร จะเห็นวัดอยู่ทางขวามือ ห่างจากอำเภอวังสะพุง ประมาณ 9 กิโลเมตร
พระเจดีย์วัดป่าสัมมานุสรณ์ วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการวังสะพุงไปตามถนนราดยาง สายอำเภอวังสะพุง-อุดรธานี ถึงสี่แยกโรงเรียนบ้านวังไท แยกซ้ายไปตามถนน รพช. อีก 9 กิโลเมตร รวมระยะทางจากอำเภอถึงวัด 19 กิโลเมตร พระเจดีย์วัดป่าสัมมานุสรณ์ สร้างตามแบบของกรมศิลปากรขนาดฐานองค์พระเจดีย์กว้างยาวด้านละ 25 เมตร สูง 33 เมตร ก่อสร้างด้วยโครงเหล็ก ก่ออิฐถือปูนและเคลือบด้วยกระเบื้องอย่างดี วัดป่าสัมมานุสรณ์นี้ เป็นวัดป่าวิปัสสนากัมมัฏฐาน สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เสมาหินทรายที่บ้านปากเป่งและบ้านนาหลัก บ้านปากเป่งและบ้านนาหลัก ตำบลวังสะพุงอยู่ห่างกัน 4 กิโลเมตร โดยบ้านนาหลัก ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ และบ้านปากเป่งอยู่ทางทิศใต้ ทั้งสองแห่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มานาน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเลย ปัจจุบันคือหมู่บ้านในตัวอำเภอวังสะพุง ใบเสมาบ้านปากเป่งพบครั้งแรกเมื่อปลายปี พ.ศ. 2508 ลักษณะใบเสมามีลวดลายสลักรูปบัวบนฐาน แบบที่มีรูปพระสถูปเจดีย์ประทับอยู่ตรงกลางแผ่นเสมา โดยส่วนบนมีลักษณะรูปกรวยคล้ายกับยอดเจดีย์ที่พบในดินแดนอีสานทั่วไป ที่บ้านนาหลัก เป็นเสมาหินปักคู่สองหลัก แบบที่มีคู่สลักนูนขึ้นไปจากยอดเสมา เป็นรูปคล้าย ๆ กับสถูปเท่านั้น โดยไม่มีลวดลายใด ๆ และปี พ.ศ. 2519 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ขอนแก่นได้นำไปเก็บรักษาไว้ 1 หลัก จึงเหลือไว้ในสถานที่เดิมเพียง 1 หลักเท่านั้น กลุ่มเสมาหินที่พบในภาคอีสานแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมในภูมิภาคตั้งแต่โบราณ โบราณวัตถุที่พบในเขตนี้ทั้งของสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย เสมาหินที่พบส่วนมากเป็นศิลปะวัตถุแบบทวาราวดีและลพบุรี

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอภูหลวง

ภูหลวง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีพื้นที่รวม 530,000 ไร่ สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี
 จุดท่องเที่ยวบนภูหลวง เป็นเส้นทางเดินต่อเนื่องกัน โดยเริ่มจากโหล่นมน ซึ่งเป็นบริเวณที่พักนักท่องเที่ยวผ่านป่าดงดิบ ลำห้วยป่าสนสามใบ และดอกไม้สลับทุ่งหญ้าระยะทางประมาณ 2.3 กิโลเมตร ถึงโหล่นสาวแยงคิว จากนั้นไปเป็นเส้นทางเดินไปยังโหล่นหินแอ่วขัน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านดงดอกไม้หลายชนิด ต่อไปเป็นทางเดินสู่ลานหินโหล่นแต้ ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบกุหลาบขาวและกล้วยไม้ป่าต่าง ๆ บริเวณผาโหล่นแต้ สามารถชมวิวทิวทัศน์ของภูหอ ภูกระดึง ภูยองภู และภูขวาง นอกจากนั้น ยังมีจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผากบ ผาชมวิว โหล่นช้างผึ้ง และซุ้มงูเห่า ซึ่งแต่ละแห่งมีทางเดินต่อถึงกัน
 การเดินทางขึ้นภูหลวง ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย จัดรถนำเที่ยว จากตัวจังหวัดไปยังเชิงภูหลวงและมีเจ้าหน้าที่นำนักท่องเที่ยวขึ้นสู่ภูหลวง ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง พร้อมทั้งจัดที่พักและอาหารไว้บริการ เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยต้องติดต่อล่วงหน้า 15 วัน ได้ที่หัวหน้าส่วนอำเภอวังสะพุง สำนักงานการท่องเที่ยวภูหลวง โทร. (042) 841566 ในเวลาราชการ
 บริษัททัวร์ที่จัดขึ้นภูหลวง ได้แก่ หนุ่มสาวทัวร์ โทร. 246-5659 และรุ่งเรืองทัวร์ โทร. 280-1460-3, 280-0736-9 ช่วงที่เหมาะเดินป่า อยู่ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤษภาคม (เดือนมิถุนายน-กันยายน ภูหลวงจะปิด) หลังจากที่นักท่องเที่ยวเดินเที่ยวทั่วภูหลวงแล้วทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมอบประกาศนียบัตรให้

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอภูกระดึง

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งที่ตำบลศรีฐาน มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 217,576 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2505 บนยอดภูกระดึงเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร มีต้นสนขึ้นเป็นดง มีไม้ดอกและป่าละเมาะ ทุ่งหญ้าสลับด้วยป่าดงดิบ เรียงรายไปตามลำธาร มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนภูกระดึง
  ผานกแอ่น เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามมากแห่งหนึ่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นมีดอกกุหลาบป่าขึ้นเป็นดงใหญ่ ซึ่งบานสะพรั่งในเดือนมีนาคม-เมษายน
ผาหล่มสัก เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นหนึ่งชิดริมผาประกอบกับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกได้ชัดเจนที่สุด จึงทำให้นักท่องเที่ยว ช่างภาพนิยมไปถ่ายภาพที่ผาหล่มสักกันมาก นอกจากนี้ยังมี สระอโนดาต น้ำตกเพ็ญพบใหม่ ผาเหยียบเมฆ เป็นต้น นักท่องเที่ยวควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน จึงจะเที่ยวได้ทั่วถึง
การเดินทาง นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทางควรใช้รถประจำทางเส้นกรุงเทพฯ-เลย แล้วลงที่ผานกเค้า ซึ่งเป็นเขตต่อแดนระหว่างชุมแพ-ภูกระดึง จากที่นี่จะมีรถสองแถวไปอุทยานแห่งชาติภูกระดึง หรือหากนักท่องเที่ยวใช้รถประจำทางเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ลงที่ชุมแพ และต่อรถสายขอนแก่น-เลย ไปลงที่ตลาดอำเภอภูกระดึง ซึ่งจะมีรถสองแถวไปอุทยานฯ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถส่วนตัวจากตัวเมืองเลยใช้เส้นทางหมายเลข 201(เลย-ภูกระดึง) พอถึงกิโลเมตรที่ 276-277 ก็เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2019 อีก 8 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีด่านเก็บค่าธรรมเนียมคนละ 5 บาท และบริการลูกหาบสัมภาระ กิโลกรัมละ 8 บาท จากนั้นนักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าขึ้นสู่ภูกระดึงอีก เป็นระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร การขึ้นไปเที่ยวบนภูกระดึง ควรติดต่อที่พักล่วงหน้า โดยจองได้ที่ แผนกจองบ้านพักกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน โทร. 579-7223, 579-5734 หรือที่อุทยานฯ โทร. (042) 812534-6 ต่อ 146 อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จะปิดระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ทุกปี เพื่อปรับสภาพธรรมชาติให้ฟื้นตัวและปรับปรุงสถานที่พักสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เป็นอุทยานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 72 ตารางกิโลเมตรหรือ 45,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และเขตอำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีที่ทำการชั่วคราวตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 201 สาย เลย-ชุมแพ ประมาณกิโลเมตรที่ 264-265 ห่างจากผานกเค้าเพียงไม่กี่กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจในอุทยาน
มีถ้ำต่าง ๆ หลายแห่งเช่น ถ้ำปู่หลุบ ซึ่งอยู่ติดกับที่ทำการอุทยานฯ มีหินงอกหินย้อยสวยงาม บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีน้ำไหลรินอยู่ตลอดเวลา ถ้ำผาพวง เป็นถ้ำที่สวยงามซึ่งปากทางเข้าอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ทำการอุทยานฯ นอกจากนี้มีถ้ำลายแทงอันเป็นถ้ำที่มีภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำ และรอบชายเขตอุทยานฯ มีน้ำตกที่งดงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกตาดฮ้อง น้ำตกตาดฟ้า และ น้ำตกเขาสามยอด เป็นต้น เนื่องจากเป็นอุทยานฯ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่ การเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จึงยังลำบากทุรกันดาร ทั้งยังไม่มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจเที่ยวชมควรเตรียมพร้อมในทุกด้าน
ถ้ำมโหฬาร อยู่ที่บ้านหนองหิน ตำบลหนองหิน ตั้งอยู่ในบริเวณวัดถ้ำมโหฬาร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-ชุมแพ) พอถึงกิโลเมตรที่ 304-305 เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางราดยาง ประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอภูกระดึง 45 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีบริเวณกว้างขวาง มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยสลับซับซ้อนมากมาย
ถ้ำโพธิสัตว์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดถ้ำโพธิสัตว์ บ้านปวนพุ ตำบลปวนพุ การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับถ้ำมโหฬาร แต่อยู่เลยไปห่างจากปากทางราว 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าไปตามทางลูกรัง 600 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายอีก 1.4 กิโลเมตร ก็จะถึงถ้ำ ห่างจากอำเภอภูกระดึง 47 กิโลเมตร ถ้ำแห่งนี้มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยเรียงรายอยู่ใต้ยอดเขาทั้งหมด 15 คูหา แต่ละคูหามีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น เขาวงกต ถ้ำลับแล สวรรค์ชั้นต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหินย้อยรูปร่างสวยงามแปลกตาอีกมากมาย การเข้าชมนั้นควรติดต่อกับทางวัดก่อน เนื่องจากไม่มีไฟฟ้า และการเดินถ้ำวกวนมาก ใช้เวลาในการเดินชมอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
 น้ำตกสวนห้อม หรืออีกชื่อหนึ่ง น้ำตกสันติธารา อยู่ที่บ้านสวนห้อม การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับถ้ำโพธิสัตว์ แต่อยู่เลยไป ห่างจากอำเภอภูกระดึง 52 กิโลเมตร อยู่ทางขวามือเข้าไปอีก 500 เมตร น้ำตกสวนห้อมเป็นน้ำตกขนาดกลาง มองเห็นได้แต่ไกล ไหลตกลงมาเป็นชั้น ๆ บริเวณน้ำตกร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน
สวนหิน ตั้งอยู่ที่บ้านผางาม หมู่ 10 ตำบลปวนพุ การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับน้ำตกสวนห้อม อยู่เลยไปประมาณ 3 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอภูกระดึง 55 กิโลเมตร เป็นสวนหินครอบคลุมพื้นที่กว้างพอสมควร ประกอบด้วยภูเขาขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ กระจายอยู่ทั่วบริเวณภูเขาบางลูก สามารถเดินผ่านทะลุได้ สวนหินแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า กุ้ยหลินเมืองเลย
 น้ำตกเพียงดิน หรือน้ำตกวิสุทธารา เป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดท้ายของเส้นทางนี้ อยู่เลยสวนหินไปเพียงเล็กน้อย การเดินทางจากน้ำตกสวนห้อมเลยไปอีก 2.8 กิโลเมตร จะมีทางแยกลูกรังขวามือ และมีป้ายเขียนว่า ถนนสุทธิสุวรรณ เข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตก น้ำตกเพียงดินเป็นน้ำตกขนาดกลาง แต่มีด้วยกันหลายชั้น บางชั้นก็ต้องปีนป่าย บางชั้นก็มีน้ำใสไหลเป็นแอ่ง ลงเล่นน้ำได้ไม่อันตราย บรรยากาศโดยรอบร่มรื่น เหมาะสำหรับพักผ่อน นั่งรับประทานอาหาร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอภูเรือ

  อุทยานแห่งชาติภูเรือ เป็นภูเขาสูงใหญ่ บนยอดเขาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีต้นสนขึ้นสลับซับซ้อน มีลักษณะแปลกคือมีส่วนหนึ่งเป็นผาชะโงกยื่นออกมาเหมือนหัวเรือสำเภาใหญ่ อุทยานแห่งชาติภูเรือ ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 75,525 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2522
การเดินทาง จากตัวเมืองเลยใช้ทางหลวงหมายเลข 203 (เลย-ภูเรือ) ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาบริเวณหลักกิโลเมตร 49-50 ตรงที่ว่าการอำเภอภูเรือ เข้าไปเป็นทางราดยาง ระยะทาง 4 กิโลเมตร จากจุดนี้ขึ้นไปมีเส้นทางรถยนต์ซึ่งสามารถขึ้นได้เฉพาะรถปิคอัพหรือรถจิ๊ปที่กำลังดีเท่านั้น ระยะทางราว 5 กิโลเมตร ถึงยอดภูเรือ จากที่ทำการอุทยานฯ มีเส้นทางเดินเท้าขึ้นไปถึงยอด

จุดที่น่าสนใจบนอุทยานแห่งชาติภูเรือ
  โหล่นน้อย เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามมาก จากจุดนี้จะมองเห็นภูหลวง ภูผาสาด และทะเลภูเขา ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร
  ผาซับทองหรือผากุหลาบขาว เป็นหน้าผาสูงชัน และแหล่งน้ำซับที่มีพืชน้ำไลเคนสีเหลืองคล้ายสีทองขึ้นเต็มไปทั่ว จึงเรียกว่า ผาซับทอง นอกจากนี้ยังมีต้นกุหลาบขาวขึ้นอยู่มากมาย ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2.5 กิโลเมตร
น้ำตกห้วยไผ่ เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชัน มีความสูงประมาณ 30 เมตร น้ำจากน้ำตกแห่งนี้นำไปใช้ทำน้ำประปาในอำเภอภูเรือด้วย ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร
ยอดภูเรือ เป็นจุดที่สูงที่สุดในอุทยานฯ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,365 เมตร จากจุดนี้จะมองเห็นแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขงที่กั้นพรมแดนระหว่างไทย-ลาว นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น ถ้ำหินแตก หินค้างหม้อ หินวัวนอน หินพานขันหมาก หินพระศิวะ สวนหินเต่า ซึ่งหินเหล่านี้มีรูปร่างตามชื่อเรียก ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าน่าชมมาก ที่พักบนอุทยานฯ ติดต่อที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
น้ำตกปลาบ่า หรือน้ำตกตาดสาน อยู่ที่หมู่ 1 บ้านปลาบ่า ตำบลปลาบ่า เป็นน้ำตกที่ตกมาจากแผ่นหินขนาดใหญ่อย่างสวยงาม ลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่างเหมาะสำหรับเล่นน้ำและนั่งพักผ่อนรับประทานอาหาร บริเวณน้ำตกยังไม่มีร้านอาหาร การเดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 203 (ภูเรือ-ด่านซ้าย) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 57-58 เลี้ยวซ้ายตรงสถานีทดลองเกษตรที่สูง-ภูเรือ (บ้านกกโพธิ์) เข้าไปตามทางราดยาง 6.7 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านปลาบ่า จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงน้ำตก รวมระยะทางจากอำเภอภูเรือถึงน้ำตก 18 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวน้ำตกปลาบ่าควรใช้รถตู้หรือรถกระบะ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอด่านซ้าย

พระธาตุศรีสองรัก ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 1 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวจังหวัด 83 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 203 แล้วแยกขวาตรงกิโลเมตรที่ 66 เข้าทางหลวงหมายเลข 2013 อีก 15 กิโลเมตร จากนั้นแยกขวาเข้าเส้นทาง 2113 อีก 1 กิโลเมตร พระธาตุศรีสองรักมีรูปทรงสัณฐานคล้ายพระธาตุพนม สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2103 การสร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้นนี้เพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) องค์พระธาตุสูงประมาณ 30 เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีงานนมัสการใหญ่โตทุกปีในช่วงเดือน 6 มีประชาชนเคารพนับถือมาก นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะธิเบตด้วย น้ำตกแก่งสองคอน อยู่ที่บ้านหัวนายูง ตำบลด่านซ้าย เดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 2013 (ด่านซ้าย-นครไทย) อยู่เลยพระธาตุศรีสองรักไปราว 400 เมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปตามทางลูกรังอีก 2 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเท้าเข้าไปอีกเล็กน้อยก็จะถึงน้ำตก ลักษณะของน้ำตก เป็นธารน้ำกว้างไหลผ่านก้อนหินใหญ่น้อยมากมายลดหลั่นกันลงมาอย่างน่าชม ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่เขียวครึ้มทั่วบริเวณ เหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนาแห้ว

วัดโพธิ์ชัยนาพึง ตั้งอยู่ที่บ้านนาพึง ตำบลนาพึง มีพระพุทธรูปสำคัญศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพของชาวบ้าน คือพระเจ้าองค์แสน หรือพระพุทธรูปฝนแสนห่า ตามประวัติเล่าว่า เสด็จมาจากเมืองเชียงแสนด้วยพระองค์เอง มาประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย โดยมีฆ้องห้อยศอกมา 1 อัน และลูกแก้วเป็นทองสัมฤทธิ์มาด้วย 1 องค์ พร้อมด้วยปืน 1 กระบอก ต่อมาเจ้าเมืองเชียงของทราบข่าวจึงยกขบวนพลช้าง พลม้า เพื่อที่จะอัญเชิญไปเชียงของ แต่ไม่สามารถอัญเชิญไปได้ และเล่ากันต่อมาว่า ถ้าพระพุทธรูปองค์นี้เสด็จไปประดิษฐาน ณ ที่ใด ที่นั้นจะไม่มีการแห้งแล้ง จึงได้ชื่อว่าพระพุทธรูปฝนแสนห่า พระพุทธรูปองค์แสน เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 34 เซ็นติเมตร สูง 50 เซ็นติเมตร เนื้อองค์เป็นทองสัมฤทธิ์ พระสังฆาฏิเป็นทองนาค พอถึงฤดูตรุษสงกรานต์ ชาวบ้านจะนำพระพุทธรูปองค์แสนมาสรงน้ำและทำพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงทุกปี โบสถ์และวิหารที่วัดแห่งนี้ก่อสร้างด้วยฝีมือประณีต ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติต่าง ๆ กรมศิลปากรได้ทำการตรวจสอบแล้ว พบว่า ทั้งโบสถ์ วิหาร และพระพุทธรูปนั้นมีอายุประมาณ 400 ปี นับเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีค่ายิ่งของจังหวัดเลย นอกจากนี้ อำเภอนาแห้วมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ยังเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร และน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง
น้ำตกตาดหมี เป็นน้ำตกที่กั้นลำน้ำหู ซึ่งมีต้นกำเนิดจากภูขาด อยู่ในพื้นที่ของตำบลนาพึง การเดินทางจากอำเภอถึงบริเวณน้ำตก โดยทางสายนาแห้ว-ด่านซ้าย ถึงทางแยกบ้านเกลี้ยงเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร จากบ้านเกลี้ยงเข้าไปถึงน้ำตก เป็นทางเดินเท้าประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาที น้ำตกตาดหมีเป็นน้ำตกที่สวยงามมาก มีน้ำตลอดทั้งปี มีความสูงประมาณ 30 เมตร นอกจากนั้นยังมีลำธารน้อยใหญ่ แก่งต่าง ๆ บริเวณน้ำตกเป็นป่าทึบเนื่องจากไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า
น้ำตกธารสวรรค์ เป็นน้ำตกที่ใกล้ตัวอำเภอมากที่สุด อยู่หลังโรงเรียนนาแห้ววิทยา ซึ่งห่างจากอำเภอประมาณ 800 เมตร การเดินทางโดยรถยนต์เข้าถึงบริเวณน้ำตกได้โดยสะดวก น้ำตกแห่งนี้มีความสูงประมาณ 15 เมตร บริเวณน้ำตกมีศาลาพักร้อนสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ ตอนล่างมีก้อนหินน้อยใหญ่เรียงรายอย่างสวยงาม มีสาหร่ายและพันธุ์ไม้นานาชนิดขึ้นบริเวณริมฝั่งสองข้างทาง
น้ำตกขั้นบันได อยู่เหนือน้ำตกธารสวรรค์ประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางจากน้ำตกธารสวรรค์ไปน้ำตกขั้นบันไดโดยทางเท้าประมาณ 10 นาที แต่ละขั้นของน้ำตกประมาณ 4-7 เมตร ป่าไม้ยังคงอุดมสมบูรณ์ มีชั้นหินเรียงรายกันเป็นทอด ๆ
น้ำตกคริ้ง อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ 15 กิโลเมตร อยู่ติดกับถนนสายเหมืองแพร่-ร่มเกล้า บริเวณน้ำตกมีพืชพันธุ์นานาชนิดขึ้นริมฝั่งทำให้ดูมีความอุดมสมบูรณ์ สวยสด งดงาม มีก้อนหินเรียงกันเป็นชั้น ๆ ตอนล่างมีอ่างน้ำขนาดใหญ่ มีศาลาพักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้มาเที่ยว อยู่ในพื้นที่ของตำบลแสงภา
น้ำตกตาดเหือง (น้ำตกไทย-ลาว) อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่และสูงมาก ซึ่งเป็นสมบัติของสองประเทศ ไทย-ลาว เกิดจากลำน้ำเหือง บริเวณรอบๆ เป็นป่าทึบที่มีความอุดมสมบูรณ์ครบถ้วน การเดินทางไปเที่ยวชมโดยทางรถยนต์จากที่ว่าการอำเภอนาแห้วไปตามถนนสายนาแห้ว-ร่มเกล้า จนถึงทางแยกเข้าบ้านบ่อเหมืองน้อย ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร จากปากทางถึงบ้านบ่อเหมืองน้อยระยะทาง 10 กิโลเมตร เส้นทางตลอดสายเป็นทางราดยาง จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอท่าลี่

  พระธาตุสัจจะ ตั้งอยู่บริเวณวัดลาดปู่ บ้านท่าลี่ ตำบลท่าลี่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 201 แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2115 สายท่าลี่-อาฮี ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าลี่ประมาณ 2 กิโลเมตร องค์ประกอบของพระธาตุสัจจะ ประกอบด้วยดอกบัวบานมีกลีบ 3 ชั้น สูงประมาณ 1 เมตร ตั้งอยู่รอบองค์พระธาตุสัจจะ องค์พระธาตุสูง 33 เมตร มีสัญลักษณ์คล้ายคลึงกับพระธาตุพนม มีเศวตฉัตร 7 ชั้น ประดิษฐานไว้บนยอดสุดของพระธาตุสัจจะ




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่เลย