แผนที่สกลนคร

  • แผนที่สกลนคร
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

สกลนคร เป็นแหล่งธรรมะ มีปูชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง เช่น พระธาตุเชิงชุม พระธาตุดูม พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุศรีมงคล พระธาตุภูเพ็ก และมีพระเกจิอาจารย์ดังที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, พระอาจารย์วัน อุตตโม และหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น

จังหวัดสกลนครตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์บริเวณแนวทิวเขาภูพาน อำเภอวาริชภูมิ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนโบราณในพื้นที่จังหวัดสกลนครอยู่ร่วมสมัยเดียวกับอารยธรรมบ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานี จากการสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในพื้นที่แอ่งสกลนคร บริเวณลุ่มแม่น้ำสงครามครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอบ้านดุง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวาริชภูมิ อำเภอพังโคน อำเภอวานรนิวาส อำเภอพรรณานิคม และรอบ ๆ หนองหาร อำเภอเมืองสกลนคร พบแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์จำนวน 83 แห่ง ชุมชนโบราณของแอ่งสกลนครนี้มีอายุประมาณ 600 ปีก่อนพุทธกาลจนถึงพุทธศตวรรษที่ 8 (ระหว่าง 3,000-1,800 ปีมาแล้ว) จากหลักฐานการค้นพบต่าง ๆ ของที่นี่พบว่า ชุมชนโบราณในแอ่งสกลนครได้มีการรวมตัวกันเป็นสังคมขนาดใหญ่และอาจจะพัฒนาเป็นสังคมเมืองในสมัยต่อมา

สกลนครเดิมชื่อ เมืองหนองหารหลวง แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โดยขุนขอมราชบุตรเจ้าเมืองอินทปัฐนคร ซึ่งได้อพยพครอบครัวและบ่าวไพร่มาจากเมืองเขมร มาสร้างเมืองใหม่ที่ริมหนองหารหลวง บริเวณท่านางอาบ ปัจจุบันเรียกว่าท่าศาลา อำเภอโคกศรีสุพรรณ มีเจ้าปกครองเรื่อยมาจนสิ้นสมัยพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ เมื่อเกิดฝนแล้งทำให้ราษฎรอพยพไปเมืองเขมร เมืองหนองหารหลวงจึงร้างอยู่ระยะหนึ่ง ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสกลนครอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "เชียงใหม่หนองหาร" หรือเมืองสระหลวงหลังจากนั้นเมืองสกลนคร คงอยู่ใต้การปกครองกันไปมา ระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับอาณาจักรสุโขทัย และไม่ค่อยมีบทบาททางประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นนัก จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้คนกระจัดกระจายเป็นชุมชนเล็กๆทำมาหากินตามริมหนองหาร จ่ายส่วย อากรให้เจ้าแขวงประเทศราชศรีโคตรบอง เพื่อถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองให้แก่ราชธานีกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น

จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยครอบครัวมาตั้งบ้านเมืองดูแลรักษาองค์พระธาตุเชิงชุม จนมีผู้คนมากขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็น เมืองสกลทวาปี โดยแต่งตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2369 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าเมืองสกลทวาปีไม่ได้เตรียมกำลังป้องกันเมือง เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพมาตรวจราชการเห็นว่าเจ้าเมืองกรมการไม่เอาใจใส่ต่อบ้านเมือง ปล่อยให้ข้าศึก (ทัพเจ้าอนุวงศ์) ล่วงล้ำไปเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย จึงสั่งให้นำตัวพระธานีไปประหารชีวิตที่หนองทรายขาว พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนในเมืองสกลทวาปีไปอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีบ้าง เมืองประจันตคามบ้าง ให้คงเหลือรักษาองค์พระธาตุเชิงชุมแต่เพียงพวกเพี้ยศรีคอนชุม ตำบลธาตุเชิงชุม บ้านหนองเหียน บ้านจานเพ็ญ บ้านอ่อมแก้ว บ้านธาตุเจงเวง บ้านพราน บ้านนาคี บ้านวังยาง และบ้านพรรณา รวม 10 ตำบล เพื่อให้เป็นข้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุมเท่านั้น

ในสมัยต่อ ๆ มาได้มีราชวงศ์คำแห่งเมืองมหาชัยกองแก้วทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอสร้างบ้าน แปงเมืองขึ้นใหม่ที่เมืองสกลทวาปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์คำเป็นพระยาประเทศธานี (คำ) ในตำแหน่งเจ้าเมืองสกลทวาปี และทรงเปลี่ยนนามเมืองใหม่เป็น เมืองสกลนคร ตั้งแต่บัดนั้นมา จนถึง พ.ศ. 2435 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองเมืองสกลนคร จึงเปลี่ยนเป็นรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคมณฑลเทศาภิบาล โดยส่วนกลางส่งพระยาสุริยเดช (กาจ) มาเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครคนแรก


สกลนคร อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ห่างจากรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ 647 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำโขงตรงที่ตั้งจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นเส้นพรมแดนประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประมาณ 90 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 9,605.76 ตารางกิโลเมตร

สกลนครแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ ได้แก่

อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ อำเภอส่องดาว อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอวานรนิวาส อำเภออากาศอำนวย อำเภอบ้านม่วง อำเภอพังโคน อำเภอคำตากล้า อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอเต่างอย อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอโพนนาแก้ว และอำเภอภูพาน

ทิศเหนือ จดจังหวัดหนองคาย และนครพนม
ทิศใต้ จดจังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี นครพนม
ทิศตะวันออก จดจังหวัดกาฬสินธุ์ และนครพนม
ทิศตะวันตก จดจังหวัดอุดรธานี และหนองคาย

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ

- อำเภอกุดบาก 56 กิโลเมตร
- อำเภอกุสุมาลย์ 40 กิโลเมตร
- อำเภอคำตากล้า 119 กิโลเมตร
- อำเภอนิคมน้ำอูน 77 กิโลเมตร
- อำเภอบ้านม่วง 124 กิโลเมตร
- อำเภอพรรณานิคม 41 กิโลเมตร
- อำเภอพังโคน 55 กิโลเมตร
- อำเภอสว่างแดนดิน 82 กิโลเมตร
- อำเภอวาริชภูมิ 71 กิโลเมตร
- อำเภอวานรนิวาส 85 กิโลเมตร
- อำเภอโคกศรีสุพรรณ 24 กิโลเมตร
- อำเภอเต่างอย 28 กิโลเมตร
- อำเภอส่องดาว 101 กิโลเมตร
- อำเภออากาศอำนวย 82 กิโลเมตร
- อำเภอเจริญศิลป์ 112 กิโลเมตร

ระยะทางจากตัวจังหวัดไปยังจังหวัดใกล้เคียง

สกลนคร-นครพนม ระยะทาง 90 กิโลเมตร
สกลนคร-มุกดาหาร ระยะทาง 119 กิโลเมตร
สกลนคร-กาฬสินธุ์ ระยะทาง 128 กิโลเมตร
สกลนคร-อุดรธานี ระยะทาง 159 กิโลเมตร
สกลนคร-ขอนแก่น ระยะทาง 205 กิโลเมตร
สกลนคร-อุบลราชธานี ระยะทาง 286 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-สกลนคร

ทางรถยนต์ ระยะทาง 647 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง จากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 1 ถึงจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่านจังหวัดนครราชสีมา เลี้ยวแยกเข้าอำเภอบ้านไผ่ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านจังหวัดมหาสารคาม และทางหลวงหมายเลข 213 ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ข้ามเทือกเขาภูพานเข้าสู่จังหวัดสกลนคร

ทางรถประจำทาง

มีรถประจำทางธรรมดาและปรับอากาศถึงจังหวัดสกลนคร โดยออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน ราย ละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

บริการรถนำเที่ยว แกรนด์ทัวร์ โทร. 711016 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสกลนคร โทร. 712259

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ มีขบวนรถไฟหลายสาย ทั้งรถเร็ว รถด่วน และดีเซลราง จากกรุงเทพฯ ไปลงที่จังหวัดอุดรธานี แล้วนั่งรถยนต์จากจังหวัดอุดรธานีถึงจังหวัดสกลนคร ระยะทางประมาณ 159 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

ทางเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปสกลนครเป็นประจำ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-356-1111 หรือที่สำนักงานสกลนคร ถนนยุวพัฒนา โทร. (042) 712259-60 นอกจากนั้นจากจังหวัดสกลนครยังมีรถโดยสารวิ่งไปยังอำเภอต่างๆ และจังหวัดใกล้เคียงอยู่เป็นประจำ การคมนาคมในตัวเมืองจะมีรถสามล้อรับจ้าง และรถสามล้อเครื่องไว้บริการผู้มาเยือน

 งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและแข่งเรือ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี สำหรับวันขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแห่ขบวนปราสาทผึ้งที่ยิ่งใหญ่ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. ขบวนปราสาทผึ้งที่ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงามของคุ้มวัดต่างๆ จำนวนกว่า 20 คุ้ม จะเริ่มออกจากสนามมิ่งเมืองในเขตเทศบาลเมืองนครสกล แห่ไปตามถนนสุขเกษม แยกเข้าถนนเจริญเมืองเพื่อไปสู่วัดพระธาตุเชิงชุม ปราสาทผึ้งที่แต่ละขบวนนำมาจะมาตั้งไว้เป็นพุทธบูชา ณ บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุม ด้วยความศรัทธาของชาวอีสานที่เชื่อว่าในเทศกาลออกพรรษา พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อมาโปรดเวนัยสัตว์ในโลกมนุษย์ให้พ้นทุกข์ ในตอนกลางคืนของวันขึ้น 13 ค่ำ ก่อนวันทำการแห่ขบวนปราสาทผึ้ง ชาวคุ้มต่างๆ จะนำปราสาทผึ้งของตนที่ตกแต่งอย่างสวยงามประดับโคมไฟหลากสีมาตั้งประกวดแข่งขันกัน ณ สนามมิ่งเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ชมความสวยงามอย่างใกล้ชิด
  งานเที่ยวหนองหาน ชมภูพานเผ่าไทย ชิมข้าวหอมใหม่ไทสกล เป็นงานประจำปีของจังหวัดสกลนคร ที่จัดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้มีการจัดงานฉลองเมืองสกลนคร 150 ปี แล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2531 เพื่อต้องการที่จะสืบทอดศิลปวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชนต่างๆ ที่เป็นชนชาติพันธุ์ของชาวสกลนครให้คงอยู่ต่อไป โดยกำหนดจัดงานขึ้นในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคมของทุกปี มีกำหนดการจัดงานปีละ 7 วัน สถานที่จัดงานคือบริเวณศาลากลางจังหวัดสกลนคร ในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันเปิดงานจะมีการแสดงขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชนต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ไทย (ภูไท) โส้ ย้อ โย้ย กะเลิง กะตาก ลาว ญวน และจีน เป็นต้น โดยขบวนจะออกจากสนามมิ่งเมืองในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร เวลาประมาณ 14.00 น. และเคลื่อนขบวนไปตามถนนสุขเกษม มุ่งหน้าไปยังศาลากลางจังหวัดสกลนคร ซึ่งแต่ละขบวนจะไปรวมกัน ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัด นอกจากนี้ในแต่ละวันจะมีกิจกรรมประกอบงานต่างๆ อีกมากมาย เช่น การประกวดนางสาวสกลนคร การออกร้านแสดงนิทรรศการของส่วนราชการต่างๆ การประกวดศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน การจัดพาแลง การแสดงมหรสพต่างๆ การออกร้านกาชาด การจำหน่ายสินค้าราคาถูกของร้านค้าเอกชน เป็นต้น
  งานเทศกาลโส้รำลึก เป็นงานประจำปีของชาวโส้ ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอกุสุมาลย์ การแสดงโส้ทั่งบั้ง จะเริ่มในตอนสายของวันขึ้น 4 ค่ำ ตามประเพณีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่อดีต เป็นการแสดงเอาพิธีเยาคนป่วยลงสนามหรือแซงสนาม และพิธีเจี้ยศาลา รวมเข้ากันเพื่อให้เกิดรูปขบวนที่สวยงามเป็นจังหวะสอดคล้องกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่ดีดสีตีเป่าเข้ากับท่วงท่ารำของสาวโส้ ที่มาร่วมแสดงเป็นจำนวนมาก ในการแสดงพิธีดังกล่าวชาวโส้ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ จะกระทำแบบลอยๆ หรือเล่นๆ ไม่ได้ นอกจากนี้ในบริเวณงานจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านนานาชนิดให้แก่ผู้ไปเที่ยวชมในราคาถูก การคมนาคมสะดวกรถยนต์เข้าถึงบริเวณงาน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร
  งานเซิ้งผีโขน เป็นงานประเพณีของชาวบ้านไฮหย่อง ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ในงานจะมีขบวนของชาวบ้านแต่งชุดผีประเภทต่างๆ จำนวนมาก แห่ไปตามถนนในหมู่บ้านตามขบวนแห่พระเวสน์ไปยังวัดไฮหย่อง เพื่อทำบุญอุทิศกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ มีการแสดงท่ารำต่างๆ ของผีเป็นที่ครึกครื้น การคมนาคมสะดวก รถยนต์เข้าถึงบริเวณงาน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 48 กิโลเมตร

  รำมวยโบราณ เป็นการต่อสู้ของนักมวยโบราณ มีลักษณะพิเศษคือ การใช้ฝ่ามือตบหรือตีแทนการใช้หมัด แล้วถอยออกมาอย่างรวดเร็ว ไม่นิยมคลุกวงใน เมื่อถอยออกมาแล้วนักมวยจะร่ายรำไปมาเพื่อหาโอกาสและจังหวะที่จะรุกเร้าอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเผลอตัว เทคนิคในการรุกการถอย การตอบโต้ของนักมวยโบราณมีหลายแบบ และถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกหัด

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

พระธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ปลายถนนเจริญเมือง ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานรูปสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 24 เมตร สำหรับยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุเชิงชุม ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ น้ำหนักทองคำถึง 247 บาท มีซุ้มประตูปิด-เปิดทั้ง 4 ด้าน ข้างในทึบ สร้างด้วยศิลาแลง เป็นเจดีย์สร้างขึ้นสวมรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์ ซึ่งหมายถึง พระกกุสันธะ พระโกนาคม พระกัสสะปะ และพระพุทธโคดม (คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชาวพุทธศาสนิกชนเคารพสักการะบูชาอยู่ทุกวันนี้) สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ ภายในวิหารใกล้พระธาตุเชิงชุม เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อองค์แสนอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือและเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดสกลนคร ทุกวันพระในตอนค่ำ จะมีประชาชนไปบูชากราบไหว้พระธาตุและหลวงพ่อองค์แสนเป็นจำนวนมาก งานประจำปีของพระธาตุเชิงชุมจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ของทุกปี (กำหนดตามจันทรคติ)
หนองหาน เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีชื่อเสียงและกว้างใหญ่มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย อยู่ในตัวเมืองสกลนคร มีเนื้อที่ประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร เป็นที่รวมของลำห้วยต่างๆ หลายสาย และยังเป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำ ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญทั้งด้านการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชนรอบหนองหาน ระดับน้ำในหนองหานลึกประมาณ 3-8 เมตร ในบริเวณหนองหานมีเกาะต่างๆ กว่า 20 เกาะ เช่น เกาะดอนสวรรค์ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด บนเกาะมีวัดร้าง และพระพุทธรูปซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าสร้างมานานเท่าใด นอกจากนั้น ตามเกาะต่างๆ เหล่านี้จะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่มากมาย เป็นที่อยู่อาศัยของนานาชนิด บางเกาะได้สร้างศาลาพักร้อน เช่น เกาะแก้ว เกาะดอนสะคาม และเกาะดอนสะทุง ฯลฯ ในบริเวณหนองหานมีเรือยนต์ท้องแบนขนาดจุ 90 คน บริการนำเที่ยวรอบหนองหาน ซึ่งในเวลากลางวันสาหร่ายสีทองซึ่งอยู่ใต้พื้นน้ำ เมื่อแดดส่องลงในน้ำ จะเห็นสาหร่ายรูปต่างๆ สวยงามมาก ติดต่อสอบถามรายละเอียดการจองเรือได้ที่ สกลนครอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (042) 711016
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้งอยู่ติดกับหนองหานบริเวณตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ ได้รับอนุมัติให้จัดสร้างขึ้นเป็นแห่งที่ 10 ของประเทศไทย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดสวนฯ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2530 มีลักษณะเป็นสวนล้อมสระน้ำขนาดใหญ่ ชื่อสระพังทอง เป็นสระโบราณ เชื่อกันว่าสร้างมาพร้อมกับการสร้างพระธาตุเชิงชุม ภายในบริเวณสวนประกอบด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับ สวนป่า สวนน้ำ สวนหิน และสวนออกกำลังกาย ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาหาความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ได้อีกด้วย
ปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงเวง ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง เขตอำเภอเมืองสกลนคร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร ในเส้นทางสกลนคร-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 22 อยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงสี่แยก เป็นพระธาตุที่ชาวบ้านสักการะบูชามากอีกแห่งหนึ่ง ปรางค์สร้างด้วยหินทรายบนฐานศิลาแลง มีทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะฆ่าสิงห์ ในรูปแบบศิลปะเขมรแบบบาปวน ลักษณะคล้ายกับปราสาทหินของขอมที่ปรากฎหลายแห่งในภาคอีสาน ลวดลายสลักหินบนซุ้มประตูหน้าต่างยังมีลักษณะสมบูรณ์ปรากฏชัด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของผู้หญิงสร้างทั้งหมด เพื่อแข่งขันกับผู้ชายที่สร้างพระธาตุภูเพ็ก รูปแบบและศิลปะกำหนดอายุว่าราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 งานประเพณีของพระธาตุเจงเวงจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ-15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี
พระธาตุดุม เป็นพระธาตุที่สร้างด้วยศิลาแลง สมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวง ตั้งอยู่ที่ตำบลธาตุดุม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร อยู่ในท้องที่อำเภอเมืองสกลนคร มีปรางค์องค์เดียวสร้างด้วยศิลาแลง พบทับหลักภาพเทวดาทรงพาหนะเหนือหน้ากาลประกอบด้วยสัตว์ เช่น ช้าง สิงห์ และลายใบไม้ม้วน การกำหนดอายุ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลปะเขมรแบบบาปวน
พิพิธภัณฑ์อาจารย์มั่น ภูริทัตโต จากตัวเมืองออกมาตามเส้นทางที่จะผ่านศูนย์ราชการจังหวัด บนถนนสุขเกษม ทางเข้าพิพิธภัณฑ์อยู่ด้านซ้ายมือ ตรงกับกับที่ตั้งศูนย์ราชการจังหวัด เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 250 เมตร จะถึงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดป่าสุทธาวาส ตัวพิพิธภัณฑ์มีลักษณะการก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ประยุกต์ สร้างด้วยกระเบื้องดินเผา ภายในพิพิธภัณฑ์มีรูปหล่อเหมือนองค์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในท่านั่งสมาธิ องค์โตกว่าตัวจริงเล็กน้อย และมีตู้กระจกบรรจุอัฐิของท่านที่แปรสภาพเป็นแก้วผลึกใสสีขาว ยกฐานสูงพื้นปูด้วยหินอ่อน พร้อมทั้งตู้แสดงเครื่องอัฐบริขาร รวมทั้งประวัติความเป็นมาของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กำเนิดในสกุลแก่นแก้ว ที่ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 15 ปี และอุปสมบทเมื่ออายุ 22 ปี ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเป็นพระที่ยึดมั่นในปฏิมาธุดงด์กรรมฐานเป็นวัตร มีพระในสายเดียวกับท่านอีกหลายองค์ ที่ได้เข้ามาปฏิบัติและฝึกวิปัสสนากรรมฐานตามแนวของท่าน เช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อาลนาโย หลวงปู่แหวน สุจินต์โน เป็นต้น ในระยะหลังท่านเริ่มมีอาการป่วยบ่อย จึงย้ายจากการธุดงด์กรรมฐานเข้ามาจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส และมรณภาพเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อยู่กลางเทือกเขาภูพานในเขตอำเภอเมืองสกลนคร บนเส้นทางหลวงสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ (ทางหลวงหมายเลข 213) ห่างจากตัวเมืองสกลนคร 13 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปทางด้านขวามือ พระตำหนักภูพานราชนิเวศเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์ ในคราวเสด็จแปรพระราชฐานเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณสถานที่ตั้งเป็นป่าไม้ร่มรื่น มีไม้ดอกไม้ประดับตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ในระหว่างที่ไม่ได้ประทับอยู่ที่พระตำหนัก ทรงอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน โดยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการพระราชวัง พระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ 10200 และเมื่อได้รับหนังสือตอบรับแล้วจึงจะเดินทางไปชมได้
น้ำตกคำหอม และโค้งปิ้งงู อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 14 กิโลเมตร บริเวณใกล้เคียงกันจะเป็นที่ตั้งของน้ำตกต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกเหวสินธุ์ชัย น้ำตกตาดโตน อยู่ท่ามกลางป่าไม้ที่ร่มเย็นและหน้าทางเข้าบริเวณน้ำตกคำหอม บนถนนสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ เป็นช่วงที่คดเคี้ยวไปมาเหมือนกับงูที่ถูกย่างหรือปิ้ง ซึ่งมีไหล่ทางลดหลั่นเป็นชั้นๆ กินพื้นที่บริเวณกว้าง สามารถทำให้มองเห็นทิวทัศน์ตัวเมืองสกลนคร และหนองหานในระยะไกลที่สวยงาม การคมนาคมเข้าแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้สะดวกปลอดภัย สามารถเดินทางเข้าถึงตลอดทั้งปี สำหรับน้ำตกต่างๆ ในฤดูฝนจะมีน้ำมาก ส่วนในฤดูแล้งน้ำจะแห้ง
  อุทยานแห่งชาติภูพาน ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูพาน ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ติดถนนสกลนคร-กาฬสินธุ์ ทางหลวงหมายเลข 203 ห่างจากจังหวัดประมาณ 25 กิโลเมตร จะพบที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ทางด้านขวามือ มีเรือนพักรับรองแก่ผู้ไปเที่ยว 1 หลัง รับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 20 คน

จุดท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติภูพาน
 - ผานางเมิน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 700 เมตร สองข้างทางจะเป็นป่าพรวงไปตลอดถึงริมหน้าผา ซึ่งเป็นลาดหินทอดยาวหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มองเห็นธรรมชาติเบื้องล่างได้อย่างชัดเจนสวยงาม
- ลานสาวเอ้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นลานหินธรรมชาติที่สวยงาม อยู่ท่ามกลางป่าเขาและบริเวณหน้าผาสูงชัน
- น้ำตกห้วยใหญ่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 12 กิโลเมตร ลักษณะเป็นลำน้ำที่ยุบตัวลงลดหลั่นเป็นชั้น 2 ชั้น รายล้อมด้วยสภาพป่าเขาทึบที่ร่มเย็น
- ถ้ำเสรีไทย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4.5 กิโลเมตร เป็นถ้ำที่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายเสรีไทยได้ใช้เป็นที่สะสมอาวุธและเสบียง เพราะเป็นทำเลที่เหมาะสม ปกปิดด้วยป่าไม้ที่เขียวชะอุ่ม
- ยอดเขาภูเขียว และทางผีผ่าน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นลานหินระเกะระกะตามธรรมชาติ ซึ่งด้านหนึ่งจะเป็นสะพานตั้งโค้งไปสู่อีกด้านหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขัวผี” เพราะเชื่อว่าผู้ใดผ่านมาพักผ่อนบริเวณนี้แล้วจะต้องถูกผีหลอก และห่างจากผีผ่านไปไม่มากนักจะเป็นยอดภูเขียวที่มีธรรมชาติป่าไม้ขุนเขาที่สวยงาม
  น้ำตกปรีชาสุขสันต์ ตั้งอยู่ในเทือกเขาภูพาน เขตอำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 29 กิโลเมตร ลักษณะน้ำตกเป็นลานหินเขาลาด (คล้ายสไลเดอร์) เป็นช่วงยาวลดหลั่นเป็นชั้น อยู่ท่ามกลางสภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์ร่มครึ้ม สามารถลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย น้ำจะมีมากในฤดูฝน การคมนาคมสะดวก สามารถเข้าถึงตัวน้ำตกได้ตลอดปี
  ภาพรอยสลักผาสามพันปีที่ภูผายนต์ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านนาผาง ตำบลกกปลาซิว อำเภอเมืองสกลนคร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 38 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ ไปประมาณ 22 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าตามทางลูกรัง 14 กิโลเมตร และเดินเท้าขึ้นเขาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ภูผายนต์เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ ในบริเวณนั้นมีภาพแกะสลักบนหน้าผาหิน เป็นรูปภาพต่างๆ แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ที่ใช้ของแข็งขูดขีดลงบนหน้าผา เช่น ภาพสัตว์ คน ไร่นา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีธรรมชาติรอบข้างเป็นป่าเขาที่สวยงาม
  ชาวภูไท บ้านโนนหอม ตำบลโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร อยู่ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางสกลนคร-นาแก (ทางหลวงหมายเลข 223) ประมาณ 13 กิโลเมตร มีทางแยกขวาตามทางลูกรังอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ชาวภูไทที่บ้านโนนหอมนี้หลังจากอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เมื่อประมาณ 100 กว่าปีแล้ว ก็มารวมกันอยู่ที่หมู่บ้านนี้ และยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวภูไทไว้อย่างสวยงามและประทับใจ ท่านที่ต้องการจัดหมู่คณะเข้าไปชมชีวิตความเป็นอยู่ การทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย แบบพื้นบ้าน หรือต้องการให้มีการร่วมรับประทานอาหารเย็นกับชาวภูไท (พาข้าวแลง) พร้อมการบายศรีสู่ขวัญ และการแสดงฟ้อนรำอันอ่อนช้อยของชาวภูไท ในบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติของพื้นบ้านจริง ติดต่อล่วงหน้าที่ กำนันอุทัย อภิวาทนะศิริ ศูนย์สาธิตการตลาดบ้านโนนหอม เลขที่ 5 หมู่ที่ 2 ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โทร. (042) 712222 หรือจะติดต่อให้มาแสดงในโรงแรมอิมพีเรียล โทร. (042) 711119 และโรงแรมดุสิตธานี โทร. (042)711189

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอพรรณานิคม
(ทางหลวงหมายเลข 22 สกลนคร-อุดรธานี)

  พระธาตุภูเพ็ก ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม บนเส้นทางหลวงสายสกลนคร-อุดรธานี ห่างจากตัวเมืองสกลนครไปประมาณ 20 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปอีก 14 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง สามารถนำรถยนต์เข้าไปถึงเชิงพระธาตุได้ จากนั้นเดินขึ้นบันไดอีกประมาณ 491 ขั้น จะถึงองค์พระธาตุซึ่งสร้างอยู่บนยอดเขาภูเพ็ก เทือกเขาภูพาน บรรยากาศโดยรอบมีต้นไม้ปกคลุม อากาศเย็นสบาย องค์พระธาตุสร้างด้วยศิลาแลงมีฐานสี่เหลี่ยมสองชั้น ตัวปราสาทสูง 7.67 เมตร สร้างไม่แล้วเสร็จ ไม่มีหลังคาและยอดปราสาท เพียงแต่ทำขื่อตั้งไว้เท่านั้น ตามตำนานอุรังคธาตุ ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นแข่งขันกันระหว่างกลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิง เพื่อรอบรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า แต่กลุ่มผู้ชายสร้างพระธาตุภูเพ็ก ได้ยุติการสร้างเมื่อเห็นดาวเพ็กบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นกลลวงของกลุ่มผู้หญิงผู้สร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวง ปราสาทหลังนี้จึงได้ชื่อว่า ปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ตามชื่อดาว “เพ็ก” พระธาตุภูเพ็กสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เมื่อขึ้นไปถึงบริเวณพระธาตุซึ่งมีวัดพระธาตุภูเพ็ก มีพระภิกษุและสามเณรจำพรรษาอยู่ตลอดปี แม้ว่าการขึ้นไปถึงค่อนข้างยาก แต่เมื่อขึ้นไปแล้วจะหายเหนื่อยมองเห็นทัศนียภาพของขุนเขาต่างๆ บนเทือกเขาภูพานอย่างชัดเจน
  วัดถ้ำขามหรือภูขาม ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกหนึ่งในเขตของเทือกเขาภูพาน ในเขตบ้านคำข่า หรือชาวบ้านเรียกกันว่า ภูถ้ำขาม การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับการเดินทางไปพระธาตุภูเพ็ก คือ จากจังหวัดสกลนครไปประมาณ 20 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าทางลูกรังไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนที่จะตรงขึ้นไปพระธาตุภูเพ็กจะมีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร รวมระยะทางจากจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร วัดถ้ำขามนี้เดิมเป็นที่ปฏิบัติธรรมของท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร มีธรรมชาติร่มรื่น บรรยากาศเงียบสงบ และทิวทัศน์สวยงาม ปัจจุบันได้มีการสร้างตำหนักธรรมขนาดใหญ่ เป็นรูปแบบพระอุโบสถ ภายในประดับด้วยรูปพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าไปชมความงามของธรรมชาติรอบข้าง และได้กราบไหว้พระอาจารย์ฝั้นด้วย พระอาจารย์ฝั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้จนถึงประมาณ พ.ศ. 2507 ท่านอาพาธจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร
  พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร ตั้งอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณานิคม อำเภอพรรณานิคม ตามเส้นทางสกลนคร-อุดรธานี จากสกลนครถึงอำเภอพรรณานิคมประมาณ 37 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือเข้าไปตัวอำเภอพรรณานิคม วัดป่าอุดมสมพรห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กำเนิดในสกุลสุวรรณรงค์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2442 ที่ตำบลบ้านม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 19 ปี ณ วัดโพนทอง จนอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทในพุทธศาสนาฝ่ายมหานิกาย ต่อมาท่านได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นครั้งแรกที่บ้านม่วงไข่นี้ จนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส จนเมื่อ พ.ศ. 2468 ท่านได้ทำการญัคคิเป็นพระคณะธรรมยุติ ณ วัดโพธิสมภาร อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พร้อมทั้งถวายตัวเป็นลูกศิษย์ติดตามพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร มรณภาพ เมื่อวันอังคารที่ 4 มกราคม 2520 รวมอายุได้ 72 ปี ด้วยคุณความดีของท่าน ถึงแม้ท่านจะมรณภาพแล้ว สานุศิษย์ทั้งหลายผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงท่าน ที่วัดป่าอุดมพร ลักษณะตัวพิพิธภัณฑ์เป็นรูปเจดีย์ฐานกลมกลีบบัวสามชั้น ปลายยอดแหลม ตั้งอยู่บนเนินดิน ซึ่งขุดดินจากบริเวณใกล้เคียงยกสูงขึ้น บริเวณด้านหนึ่งมีสระน้ำขนาดใหญ่ และรอบๆ เจดีย์ตกแต่งเป็นสวนหย่อม มีต้นไม้ขึ้นร่มเย็น ภายในบริเวณกลางพิพิธภัณฑ์ประดิษฐานรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นเหมือนองค์จริงในท่านั่งห้อยเท้า และถือไม้เท้าไว้ในมือ ด้านหน้าพระรูปตกแต่งด้วยเครื่องบูชาและตู้กระจกบรรจุอัฐิ ด้านฝาผนังโดยรอบเป็นตู้กระจกแสดงเครื่องอัฐบริขารที่ท่านใช้เมื่อยามมีชีวิต และประวัติความเป็นมาตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอพังโคน-วาริชภูมิ
(ทางหลวงหมายเลข 22, 2093)

  วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม หรือวัดถ้ำพวง (พิพิธภัณฑ์อาจารย์วัน อุตตโม) ตั้งอยู่บนยอดเขาจุดที่สูงที่สุดในเขตอำเภอปทุมวาปี อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 105 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอส่องดาว การคมนาคมสะดวก รถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณที่ตั้ง ลักษณะพิพิธภัณฑ์เป็นรูปทรงจตุรมุข 2 ชั้น ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ชั้นล่างตกแต่งเป็นห้องแสดงภาพประวัติของพระอาจารย์ตั้งแต่เกิด และตู้กระจกแสดงอัฐบริขารของพระอาจารย์วัน ที่ท่านใช้ยามมีชีวิต ชั้นบนประดิษฐานรูปปั้นของท่าน ในท่านั่งขัดสมาธิ และเครื่องสักการะบูชาที่ตกแต่งสวยงาม ธรรมชาติรอบๆ บริเวณพิพิธภัณฑ์เป็นป่าไม้ร่มรื่น บริเวณใกล้เคียงกันเป็นถ้ำพวง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระมุจรินทร์องค์ใหญ่สูงจรดเพดานหลังคา
  ผาดงก่อ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาภูพาน เขตอำเภอส่องดาว ห่างจากตัวจังหวัด 105 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 15 กิโลเมตร แล้วต้องขึ้นเขาอีกประมาณ 5 กิโลเมตร สามารถขับรถได้ถึงยอดภูผาเหล็ก อันเป็นยอดสูงสุดของเทือกเขาภูพาน หากยืนบนภูเขาแห่งนี้จะมองเห็นภูผาหัก ภูไม้ ภูซากลาก ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานีได้อย่างชัดเจน
  ผาน้ำโจ้ก เป็นผาที่อยู่ในเทือกเขาภูพานเช่นเดียวกับผาดงก่อ เพียงลดต่ำลงมาอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นสายน้ำสูงประมาณ 50 เมตร ไหลลงสู่หาด ซึ่งต่อมาพระอาจารย์วันได้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหาด ที่บ้านภูตะคาม กิ่งอำเภอไชยวาน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ นอกจากนี้ยังมองเห็นทัศนียภาพของทิวเขาภูพาน และหมู่บ้านต่างๆ ของจังหวัดอุดรธานี
  ภาพเขียนสามพันปี เป็นภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ยุคเดียวกับภาพเขียนสีที่บ้านเชียง หรือประมาณ 3,600 ปี ปรากฏอยู่บริเวณหน้าถ้ำผักหวาน เทือกเขาภูผาเหล็ก เขตหมู่บ้านภูตะคาน ตำบลท่าศิลา อำเภอส่องดาว ภาพที่พบนั้นเป็นรูปคนและสีที่ใช้วาดเป็นสีแดง เช่นเดียวกับภาพเขียนที่ค้นพบในที่ต่างๆ การเดินทางไปชมภาพเขียนโบราณนี้ยังไม่สะดวกนัก เนื่องจากต้องเดินเท้าหรือขับรถจักรยานยนต์เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดถึง 105 กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอกุดบาก (ทางหลวงหมายเลข 213)

  เขื่อนน้ำพุง อยู่เลยพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ไปประมาณ 30 กิโลเมตร จากตัวเมืองไปตามสายถนนสกลนคร-กาฬสินธุ์ 37 กิโลเมตร จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ เขื่อนน้ำพุงเป็นเขื่อนแบบหินทิ้ง ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความยาว 1,720 เมตร สูง 40 เมตร กักเก็บน้ำได้ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 6,300 กิโลวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายให้ประชาชนในเขตจังหวัดสกลนคร และนครพนมได้ใช้อย่างทั่วถึง สิ้นค่าก่อสร้าง 120 ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทำพิธีเปิดเขื่อนน้ำพุงเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2508 ธรรมชาติรอบบริเวณเขื่อนเงียบสงบเย็นสบาย

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน (ทางหลวงหมายเลข 22)

  ปราสาทบ้านพันนา ตั้งอยู่ที่บ้านพันนา อำเภอสว่างแดนดิน อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 70 กิโลเมตร ในเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ลักษณะของปราสาทมียอดเดียวมีฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้ารองรับ สร้างด้วยศิลาแลงเหมือนปราสาทขอมทั่วไป บริเวณใกล้กับตัวปราสาทมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงเป็นชั้นๆ มีน้ำขังตลอดปี เชื่อว่าสร้างสมัยเดียวกับปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ปราสาทบางส่วนยังคงสภาพสมบูรณ์

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอกุสุมาลย์

  สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปู่มเหศักดิ์ และพิพิธภัณฑ์ไทยโส้ ตั้งอยู่บริเวณศูนย์ราชการอำเภอกุสุมาลย์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร ทางด้านขวามือ ตามเส้นทางสายสกลนคร-นครพนม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สักการะบูชาของชาวไทยโส้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สถิตย์ของเทพ ผู้ซึ่งช่วยคุ้มครองชาวไทยโส้ ในพิพิธภัณฑ์เป็นที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ของชาวไทยโส้เมื่อคราวอพยพมาจากฝั่งแม่น้ำโขง มีแผ่นป้ายเขียนข้อความภาษาของชาวไทยโส้เปรียบเทียบกับภาษาไทย ให้เห็นถึงความแตกต่างของภาษาและสำเนียงการออกเสียง

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตกิ่งอำเภอเต่างอย

  อุทยานแห่งชาติห้วยหวด เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง และสร้างเขื่อนชลประทานห้วยหวดที่อุทยานแห่งชาติห้วยหวด ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 35 กิโลเมตร สภาพป่าในเขตอุทยานฯ มีความสมบูรณ์ ทิวทัศน์สวยงามเงียบสงบ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของห้วยหวดรีสอร์ท ที่สร้างอยู่ริมอ่างเก็บน้ำห้วยหวด และบริเวณใกล้เคียงกับบ้านพัก มีน้ำตก 2 แห่งที่ตกลงมาจากหน้าผาสูง เป็นสภาพธรรมชาติที่เหมาะแก่การพักผ่อนอย่างยิ่ง นอกจากนี้บริเวณอ่างเก็บน้ำยังเป็นที่อาศัยของฝูงนกกระยาง และนกเป็ดน้ำ ซึ่งจะพบเห็นได้ในเวลาเย็น ในฤดูหนาวจะเป็นช่วงที่ดอกไม้และพันธุ์ไม้ต่างๆ โดยเฉพาะดอกดุสิตา ซึ่งเป็นดอกหญ้าเล็กๆ สีม่วง จะขึ้นเต็มทั่วทั้งบริเวณ ทางรีสอร์ทยังมีบริการเรือยนต์ท้องแบน มีขนาดบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 80 คน เพื่อนำเที่ยวชมธรรมชาติรอบๆ บริเวณอ่างเก็บน้ำ ติดต่อสอบถามได้ที่ หจก. ภูพานการท่องเที่ยว โทร. (042) 712676

สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งหัตถกรรม

  ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ กิ่งอำเภอเจริญศิลป์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 112 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 22 ถึงอำเภอสว่างแดนดิน แยกขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 2091 และแยกซ้ายเข้าเส้นทางลูกรังหมายเลข 2280 ซึ่งเป็นเส้นทางสู่กิ่งอำเภอเจริญศิลป์ การเดินทางสะดวกมาก นักท่องเที่ยวสามารถนำรถยนต์เข้าถึงบริเวณที่ตั้ง ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกุดนาขามเป็นแหล่งผลิตศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา การแกะสลักไม้และการทอผ้าที่มีชื่อแห่งหนึ่ง ฝีมือในการผลิตและออกแบบสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่นิยมใช้ของไทยๆ เสมอ ผลิตภัณฑ์จากศูนย์จะนำออกแสดงให้ชมและจำหน่ายในงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับสินค้าของที่ระลึกประจำจังหวัด รวมทั้งงานออกร้านในเทศกาลต่างๆ ในต่างจังหวัดและบางงานในกรุงเทพฯ
  ศูนย์ศิลปาชีพบ้านจาร ตั้งอยู่ที่บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 126 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-พังโคน เมื่อถึงอำเภอพังโคนแล้วแยกขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 222 ถึงบ้านคำตากล้า จากนั้นแยกซ้ายเข้าเส้นทางหมายเลข 2324 ศุนย์ฯ แห่งนี้เป็นที่ผลิตและฝึกอาชีพในด้านการทอผ้าไหมและผ้าพื้นเมืองอื่นๆ ตลอดจนการตีเหล็ก การแกะสลักไม้ ผ้าที่ทอจากศูนย์ฯ นี้มีคุณภาพดีจึงเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ทางศูนย์ฯ เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน

  บ้านปั้นหม้อ อยู่ที่บ้านเชียงเครือ อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสกลนคร-นครพนม ที่หมู่บ้านเชียงเครือนี้มีอาชีพนอกเหนือจากการทำนา คือ การปั้นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น โอ่ง หม้อ ไห กระถาง เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยา จากในบริเวณหมู่บ้านและตลอดสองข้างทางที่เดินทางสู่หมู่บ้าน
  บ้านทอผ้าบ้านวาใหญ่ ดอนแดง ในเขตอำเภออากาศอำนวย อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 75 กิโลเมตร ผ้าที่ทอนั้นมีทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้าขิด เป็นผ้าที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติที่ได้จากเปลือกไม้ และผลิตผลจากไม้ พร้อมทั้งมีฝีมือการทอที่ประณีตลวดลายสวยงาม

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่สกลนคร