แผนที่อ่างทอง

  • แผนที่อ่างทอง
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

อ่างทอง เป็นจังหวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางตอนล่าง มีเนื้อที่ 968 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีป่าไม้ และภูเขา มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านสองสาย คือ แม่น้ำน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา
อ่างทองในอดีตนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่มานานหลายร้อยปี เพราะท้องที่ของอ่างทองเป็นที่ราบลุ่มลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ป่า หรือแร่ธาตุ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้อาศัยทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค และคมนาคมตลอดมา

เมืองอ่างทอง ได้ชื่อนี้มาจากไหน มีการสันนิษฐานเป็น 3 นัย

นัยแรกเชื่อว่า คำว่า “อ่างทอง” น่าจะมาจากลักษณะทางกายภาพของพั้นที่นี้ คือเป็นที่ราบลุ่มเป็นแอ่งคล้ายอ่าง ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งนาที่ออกรวงเหลืองอร่ามเหมือนทอง จึงเป็นที่มาของชื่อจังหวัดอ่างทอง และดวงตราของจังหวัด เป็นรูปรวงข้าวสีทองอยู่ในอ่างน้ำ ซึ่งมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ

นัยที่สองเชื่อว่า อ่างทองน่าจะมาจากชื่อของหมู่บ้านเดิมที่เรียกว่า “บางคำทอง” ตามคำสันนิษฐานของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา เมื่อครั้งที่กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ใน พ.ศ. 2459 ว่า ชื่อของเมืองอ่างทองก็จะมาจากชื่อ บางคำทอง ซึ่งแต่งตั้งครั้งกรุงเก่า ว่าด้วยตามเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครสวรรค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจากกรุงเก่า “ลุถึงบางน้ำชื่อ คำทอง น้ำป่วนเป็นฟอง คว่างคว้าง” และบางกระแสก็ว่า อาจเพี้ยนมาจากชื่อของแม่น้ำลำคลองในย่านนั้น ที่เคยมีชื่อว่า “ปากน้ำประคำทอง” ซึ่งเป็นทางแยกแม่น้ำหลังศาลากลางจังหวัด และส่วนในเข้าไปเรียกว่า “แม่น้ำสายทอง” ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินใช้ไม่ได้แล้ว

นัยที่สามเชื่อว่า ชื่ออ่างทองน่าจะมาจากชื่อ บ้านอ่างทอง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์เรื่องสร้างเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า “เมืองอ่างทองดูเหมือนจะตั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร เดิมชื่อเมืองว่า วิเศษไชยชาญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ที่ลงมาจากนครสวรรค์ อยู่มาแม่น้ำน้อยตื้นเขิน ฤดูแล้งใช้เรือไม่สะดวก ย้ายเมืองออกมาตั้งริมแม่น้ำพระยาที่บ้านอ่างทองจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอ่างทอง”

ถึงแม้ว่าชื่อของจังหวัดอ่างทอง จะได้มาตามนัยใดก็ตาม ชื่ออ่างทองนี้เป็นชื่อที่เริ่มมาในสมัยกรุงธนบุรีหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ เมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในอดีต สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น อ่างทองเป็นที่รู้จักในนามของเมืองวิเศษไชยชาญ ดังนั้นการศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของเมืองอ่างทองนั้น หมายถึงการศึกษาความเป็นมาของดินแดนแถบนี้ย้อนกลับไปกว่า 1 พันปี เป็นสมัยที่ชื่อเสียงของเมืองอ่างทองยังไม่ปรากฏ แต่มีหลักฐานแน่ชัดว่า มีดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และอาจจะสรุปได้ว่าดินแดนนี้มีลักษณะเด่นชัดอย่างน้อย 2 ประการ คือ ความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทำให้มีมนุษย์ตั้งหลักฐานอยู่กันมานานนับพัน ๆ ปี และเป็นดินแดนที่มีความสำคัญในแง่การเป็นยุทธศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา

จังหวัดอ่างทองในสมัยทวารวดีได้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองแล้ว แต่เป็นเมืองไม่ใหญ่โตนัก หลักฐานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ คูเมืองที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา ซึ่งนายบาเซอลีเย นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจพบ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ปัจจุบันนี้บ้านคูเมืองอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหาไปทางทิศเหนือ 4 กิโลเมตร ในสมัยสุโขทัย ก็เข้าใจว่าผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเช่นกัน และดินแดนอ่างทองได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยด้วย โดยการสังเกตจากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในท้องถิ่นที่อ่างทองมีลักษณะเป็นแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก เป็นต้น

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาระยะต้น ๆ สันนิษฐานว่าอ่างทองคงเป็นชานเมืองของกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะยกฐานะเป็นเมืองมีชื่อว่า “แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ” เมื่อประมาณ พ.ศ. 2127 โดยในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงชื่อเมืองวิเศษไชยชาญเป็นครั้งแรกว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งยังทรงเป็นมหาอุปราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จยกกองทับไปรบกับพระยาพะสิมที่เมืองสุพรรณบุรี พระองค์ได้เสด็จโดยทางเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิตัดไม้ข่มนาม ที่ตำบลลุมพลี พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่แขวงเมืองวิเศษไชยชาญอันเป็นที่ชุมพล จึงสันนิษฐานว่า เมืองวิเศษไชยชาญได้ตั้งเมืองในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ตัวเมืองวิเศษไชยชาญสมัยนั้นตั้งอยู่ทางลำแม่น้ำน้อย ฝั่งตะวันออก หมู่บ้านตรงนั้นปัจจุบันยังเรียกว่า “บ้านจวน” แสดงว่าเป็นที่ตั้งจวนเจ้าเมืองเดิม ต่อมา สภาพพื้นที่และกระแสน้ำในแควน้ำน้อยเปลี่ยนแปลงไป การคมนาคมไปมาระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำใหญ่ (คือแม่น้ำเจ้าพระยา) เดินทางติดต่อไม่สะดวก จึงย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ที่ตำบลบ้านแห ตรงวัดไชยสงคราม (วัดกระเจา) ฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับขนานนามให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง” ส่วนเมืองวิเศษไชยชาญยังคงเป็นเมืองอยู่ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2439 จึงลดลงเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอไผ่จำศีล ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอวิเศษไชยชาญ [3],[4] และราชการก็ใช้ชื่อ อำเภอวิเศษไชยชาญ มาจนถึงอย่างน้อยวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ [5] หลังจากนั้น ก็พบว่า เมื่อ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ราชการก็ใช้ชื่อเป็น อำเภอวิเศษชัยชาญ [6] (ขณะนี้ยังค้นหาหลักฐานการเปลี่ยนชื่ออำเภอ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาไม่พบ)

กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาภูธร สมุหนายกไปเป็นแม่กองทำการเปิดทำนบกั้นน้ำที่หน้าเมืองอ่างทอง เพื่อให้น้ำไหลไปทางคลองบางแก้วแต่ไม่สำเร็จ จึงย้ายเมืองอ่างทองไปตั้งที่ปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว ท้องที่อำเภอเมืองอ่างทองฝั่งซ้ายของแม่น้ำพระยาจนถึงปัจจุบันนี้

เมืองอ่างทองมีท้องที่ต่อเนื่องกับกรุงศรีอยุธยา เสมือนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ชานเมืองหลวง จึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันหลายตอน เฉพาะที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ ราว พ.ศ. 2122 ญาณพิเชียรมาซ่อมสุมคนในตำบลยี่ล้น ขุนศรีมงคลแขวง ส่งข่าวกบฏนั้นมาถวาย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระยาจักรียกกำลังไปปราบปราม ตั้งทัพในตำบลมหาดไทย ญาณพิเชียรและพรรคพวกก็เข้าสู้รบกับพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีเสียชีวิตในการสู้รบ พวกชาวบ้านก็เข้าเป็นพวกญาณพิเชียร ญาณพิเชียรติดเอาเมืองลพบุรี ก็ยกกำลังไปปล้นเมืองลพบุรี จึงเกิดรบกับพระยาสีหราชเดโช ญาณพิเชียรถูกยิงตาย พรรคพวกกบฏก็หนีกระจัดกระจายไป กบฏญาณพิเชียรนับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่ง ที่ชาวบ้านยี่ล้นและชาวบ้านมหาดไทย แขวงเมืองวิเศษไชยชาญเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาตั้งที่บ้านสระเกศ ท้องที่ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกกองทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบทหารพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษไชยชาญ จึงได้เข้าโจมตีทหารพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงได้จัดกองทัพยกลงมา สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นตระเวนดูก่อน กองทัพระราชมนูไปปะทะกับกองทัพพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นถอยทัพกลับมา แล้วพระองค์ก็โอบล้อมรุกไล่ตีทัพพม่าแตกทั้งทัพหน้าและทัพหลวง จนถึงที่ตั้งทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ กองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกพ่ายกลับไป

พ.ศ. 2130 พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทหารไทยได้เอาปืนลงเรือสำเภาขึ้นไประดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี จนพระเจ้าหงสาวดีทนไม่ไหวต้องถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งป่าโมก สมเด็จพระนเรศวรเสด็จโดยขบวนทัพเรือตามตีกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงป่าโมก จนพม่าแตกพ่ายถอยทัพกลับไป

พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพจากรุงศรีอยุธยาไปตั้งที่ทุ่งป่าโมก แล้วยกทัพหลวงไปเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ และทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ตำบลตระพังตรุ หนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี จนมีชัยชนะยุทธหัตถีในครั้งนั้น

พ.ศ. 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไปตีกรุงอังวะ เสด็จเข้าพักพลที่ตำบลป่าโมก แล้วเสด็จไปทางชลมารค ขึ้นเหยียบชัยภูมิตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก ตัดไม้ข่มนามตามพระราชพิธีของพราหมณ์แล้วยกทัพไป แต่สวรรคตเสียที่เมืองหางหรือเมืองห้างหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถนำพระบรมศพกลับกรุงพร้อมด้วยพระเกียรติและในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) พระองค์ได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชนไปในงานฉลองพระอาราม ได้ทรงชกมวยได้ชัยชนะถึง 2 ครั้ง สถานที่เสด็จไปก็คือ บ้านพระจันตชนบท แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ เชื่อกันว่างานฉลองวัดที่เสร็จไปนั้นอาจเป็นวัดโพธิ์ถนนหรือวัดถนน ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ในตำบลตลาดกรวด (อำเภอเมืองอ่างทอง) นั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าดินแดนของอ่างทองยังคงความสำคัญต่อเมืองหลวง คือ กรุงศรีอยุธยา เมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ของสามัญชนที่เลื่องลือเข้าไปถึงพระราชวังในเมืองหลวง แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงสนพระทัยที่จะทอดพระเนตรและทรงเข้าร่วมด้วยกันอย่างสามัญ

พ.ศ. 2269 ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์ได้เสด็จไปควบคุมชลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เพราะปรากฏว่าแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดป่าโมก น้ำเซาะกัดตลิ่งจนทำให้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์อาจพังลงได้ จึงมีรับสั่งให้ทำการชลอพระพุทธไสยาสน์เข้าไปประดิษฐานห่างฝั่งออกไป 150 เมตร กินเวลาทั้งหมดกว่า 5 เดือน

เนื่องจากเมืองอ่างทองเคยเป็นยุทธภูมิระหว่างทหารไทยกับทหารพม่าหลายครั้ง จึงมีบรรพบุรุษของเมืองอ่างทองได้สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการรบกับพม่าหลายท่าน เช่น นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง ทั้งสี่ท่านเป็นชาวบ้านสีบัวทอง (ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหาในปัจจุบัน) และมีนายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล ทั้งสองท่านเป็นชาวเมืองวิเศษไชยชาญ ได้ร่วมกับชาวบ้านของเมืองวิเศษไชยชาญสู้รบกับพม่าอยู่ที่ค่ายบางระจัน ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ และสนามรบส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอแสวงหา วีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของนักรบไทยค่ายบางระจันสมัยนั้น เป็นที่ภาคภูมิใจและประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนตลอดมา ประชาชนชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอ และนายทองแก้วไว้ที่บริเวณวัดวิเศษไชยชาญ อำเภอวิเศษชัยชาญ โดยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520 ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี ชาวเมืองอ่างทองจึงได้กระทำพิธีวางมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีในวีรกรรมความกล้าหาญของท่านเป็นประจำทุกปี

อีกครั้งของวีรกรรมของนับรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ คือ ขุนรองปลัดชูกับกองอาทมาต คือเมื่อปี พ.ศ. 2302 ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ขึ้นครองราชสมบัติกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ในครั้งนั้น พระเจ้าอลองพญาครองราชสมบัติกรุงอังวะรัตนสิงห์ ปกครองพม่ารามัญทั้งปวง พระองค์ให้เกณฑ์ไพร่พล 8000 ให้มังฆ้องนรธาเป็นนายทัพยกมา ตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี พระเจ้าเอกทัศทรงเกณฑ์พล 5000 แบ่งเป็นสองทัพ โดยให้พระราชรองเมืองว่าที่ออกญายมราชคุมทัพใหญ่พล 3000 แลให้ออกญารัตนาธิเบศร์คุมทัพหนุนพล 2000 ในครั้งนั้นมีครูฝึกเพลงอาวุธอยู่ในเมืองวิเศษไชยชาญอยู่ผู้หนึ่ง ชื่อ ครูดาบชู ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้เป็นปลัดเมือง กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ชาวบ้านจึงเรียนว่าขุนรองปลัดชู นำกองอาทมาต 400 มาอาสาศึก แลได้ติดตามไปกับกองทัพออกญารัตนาธิเบศร์ เมื่อเดินทางข้ามพ้นเขาบรรทัดก็ได้ทราบว่า เมืองมะริดและตะนาวศรีเสียแก่ข้าศึกแล้ว จึงตั้งทัพรออยู่เฉย ๆ โดยทัพพระราชรองเมืองตั้งอยู่ที่แก่งตุ่มตอนปลายแม่น้ำตะนาวศรี ส่วนออกญารัตนาธิเบศร์ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกุยบุรี แต่ให้กองอาทมาตมาขัดตาทัพรอที่อ่าวหว้าขาว

จากนั้นสามวันทัพพม่าเข้าตีทัพไทยที่แก่งตุ่มแตกพ่าย และยกมาเพื่อเข้าตีทัพหนุน กองอาทมาตของขุนรองปลัดชู ได้รับคำสั่งให้ตั้งรับพม่าที่ตำบลหว้าขาวริมทะเล ครั้นพอเพลาเช้า ทัพพม่า 8000 ก็ปะทะกับกองอาทมาต 400 นาย ทัพทั้งสองปะทะกันดุเดือดจนถึงเที่ยง มิแพ้ชนะ แต่ทัพไทยพลน้อยกว่าก็เริ่มอ่อนแรง ขุนรองปลัดชูรบจนสิ้นกำลังถูกทหารพม่ารุมจับตัวไป จากนั้นพม่าให้ช้างศึกเข้าเหยียบย่ำทัพไทยล้มตายเป็นอันมาก กองอาทมาต 400 คนตายแทบจะสิ้นทั้งทัพ เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของกองอาสาวิเศษไชยชาญในครั้งนั้น จึงได้มีการสร้างวัดขึ้นเป็นที่ระลึกแก่นักรบกล้าทั้ง 400 คนโดยเรียกกันว่า "วัดสี่ร้อย"

จังหวัดอ่างทองอุดมไปด้วยงานหัตถกรรมพื้นถิ่นไม่ว่าจะเป็นงานปั้นตุ๊กตาชาววัง การทำกลอง การทำอิฐดินเผา หรือการผลิต เครื่องจักสาน ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดเพลงพื้นบ้านลิเก เป็นจังหวัดบ้านเกิดของ นายดอก นายทองแก้ว เมืองวิเศษชัยชาญ และนายแท่น นายอิน นายเมือง ชาวบ้านสีบัวทอง วีรชนคนกล้าในศึกบางระจัน และขุนรองปลัดชู ผู้นำกองอาทมาตอาสาสู้รบจนสิ้นชีพ ๔๐๐ คน ที่เมืองกุยบุรี นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยวัดวาอารามที่มีความเก่าแก่โบราณสวยงามและมีจุดเด่นที่น่าสนใจมากมายกว่า ๒๐๐ วัด อันเป็นสถานที่ที่น่าศึกษาประวัติศาสตร์และเรื่องราวความเป็นมาในอดีตของชาติไทย

จังหวัดอ่างทองแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ

อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอแสวงหา อำเภอป่าโมก อำเภอโพธิ์ทอง อำเภอไชโย และอำเภอสามโก้


จังหวัดอ่างทองมีอาณาเขตติดต่อคือ

ทิศเหนือ จดจังหวัดสิงห์บุรี
ทิศตะวันออก จดจังหวัดลพบุรีและพระนครศรีอยุธยา
ทิศตะวันตก จดจังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศใต้ จดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-อ่างทอง

การเดินทางโดยรถยนต์
- เส้นทางที่ 1 ใช้เส้นทางสายพหลโยธิน จากกรุงเทพฯ แยกเข้าเส้นทางสายเอเชีย ผ่านอำเภอบางปะอิน-บางปะหัน-อยุธยา-อ่างทอง รวมระยะทาง 105 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ใกล้ที่สุด
- เส้นทางที่ 2 ใช้เส้นทางตัดใหม่ ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า - ตลิ่งชัน เข้าเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 340 ผ่านจังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี-อยุธยา-สุพรรณบุรี-อ่างทอง รวมระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร
- เส้นทางที่ 3 ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-ปทุมธานี ผ่านปากเกร็ด เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3111 ผ่านอำเภอบางไทร-อำเภอเสนา-อยุธยา จากนั้นใช้เส้นทางหมายเลข 309 เข้าอำเภอป่าโมก-อ่างทอง รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถธรรมดาและรถปรับอากาศระหว่างกรุงเทพฯ-อ่างทอง ทุกวันวันละหลายเที่ยว โดยรถจะออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ตั้งแต่ 05.30-18.00 น. ทุก 20 นาที สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

งานเมืองอู่ข้าวอู่น้ำและงานกาชาดประจำปี เป็นงานประจำปีของชาวอ่างทองที่จัดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่างทั้งด้านการแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงนิทรรศการ การแสดงจำหน่ายและสาธิตหัตถกรรมพื้นบ้าน การออกร้าน การประกวดกุลสตรีเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ การประกวดพืชผลทางการเกษตร และการแข่งขันกีฬาชาวนา รวมทั้งมหกรรมต่างๆ มากมาย งานนี้จัดบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง 5 วัน 5 คืน

   งานประเพณีแข่งเรือยาววัดไชโย จัดการแข่งขันขึ้นบริเวณลำน้ำหน้าวัดไชโยวรวิหาร อำเภอไชโย เป็นการประชันเรือยาวที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ จัดพร้อมกับ งานนมัสการ และสมโภชสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระมหาพุทธพิมพ์ โดยจัดขึ้นราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี โดยการแข่งขันเรือจะเสร็จสิ้นใน 1 วัน

 งานประเพณีแข่งเรือยาววัดป่าโมก จัดขึ้นบริเวณวัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก ใน ช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี พร้อมกับงานนมัสการและสมโภชพระพุทธไสยาสน์และพระพุทธบาท 4 รอย

งาน “ขุนรองปลัดชู” และประเพณีลอยกระทงวัดสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ ในวันลอยกระทงของทุกปี มีการจัดงานบนถวายพลุหลวงพ่อป่าเลไลยก์ ซึ่งชาวอ่างทองนับถือว่าศักดิ์สิทธ์พร้อมไปกับงานลอยกระทง และรำลึกถึงขุนรองปลัดชู วีรชนคนบ้านสี่ร้อย

งานรำลึกวีรชนแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ

กำหนดจัดในระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ มีนาคมของทุกปี ณ บริเวณอนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว หมู่ที่ 2 ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ เพื่อรำลึกและยกย่องเชิดชูวีรกรรมของวีรชนแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ นายดอก และนายทองแก้ว และเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น

งานลอยกระทงและแข่งเรือยาวที่วิเศษชัยชาญ

จัดทุกปีในช่วงวันลอยกระทง ณ บริเวณด้านหน้าของอนุสาวรีย์ปู่ดอก ปู่ทองแก้ว และแม่น้ำน้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

 ศาลหลักเมือง อยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจตุรมุข (4 หน้า) ตัวศาลสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร ภายในศาลเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสวยงามมาก ศาลหลักเมืองจังหวัดอ่างทองเป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน (ศาลหลักเมืองแห่งแรกที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง คือ ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ) ศาลหลักเมืองอ่างทองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สวยงามสมกับเป็นหลักชัย และหลักใจของประชาชนชาวอ่างทองอย่างยิ่ง ผู้ที่มีโอกาสไปเยือนจังหวัดนี้ไม่ควรละเว้นที่จะไปเคารพสักการะศาล หลักเมืองและหาของดี เมืองอ่างทองบริเวณศาลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

วัดอ่างทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นวัดเล็กๆ 2 วัด ชื่อ วัดโพธิ์เงิน และวัดโพธิ์ทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รวมเป็นวัดเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2443 แล้วพระราชทานนามว่า “วัดอ่างทอง” วัดนี้มีพระอุโบสถที่งดงามยิ่งนัก พระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีอย่างสวยงาม และหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้สักงดงามเป็นระเบียบ ล้วนเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมตามแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
 วัดต้นสน อยู่ริมฝั่งฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่โบราณที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ เรียกว่า “สมเด็จพระศรีเมืองทอง” ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 2 ศอก 19 นิ้ว มีพุทธลักษณะที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่ง นับว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะที่ใหญ่ที่สุดองค์แรก

 วัดราชปักษี อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้าน ทิศตะวันออกไปทางทิศใต้ของอำเภอเมืองประมาณ 3-4 กิโลเมตร ตามถนนสายอ่างทอง-อยุธยา มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่เห็นได้ชัด มีพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกแต่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย สันนิษฐานว่าเป็นของเก่าสมัยอยุธยา เดิมองค์พระชำรุดทรุดโทรมอย่างหนักปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ น่าไปเที่ยวชมและนมัสการยิ่งวัดหนึ่ง

 วัดสุวรรณเสวริยาราม อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกในท้องที่ตำบลตลาดกรวด จากศาลากลางจังหวัดไปตามถนนคลองชลประทาน 3 กิโลเมตร มีพระพุทธไสยาสน์ขนาดองค์พระยาวประมาณ 10 วา ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารและโบราณวัตถุสถานต่างๆ ที่มีอายุราว 100 ปี

 บ้านทรงไทยจำลอง ส่วนประกอบบ้านทรงไทย เครื่องเรือนไม้ตาล เป็นฝีมือเชิงช่างที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ นอกจากจะมีการจัดสร้างที่สวยงามแล้ว ก็ยังคงความเป็นไทยไว้อย่างน่าสนใจ ตามเส้นทางสาย อยุธยา-ป่าโมก และตำบลโพสะ เป็นแหล่งทำส่วนประกอบของบ้านทรงไทยทุกชนิด มีการประดิษฐ์บ้านทรงไทยจำลองที่ย่อส่วนจากของจริง และยังมีสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ทำจากไม้ตาลอีกด้วย
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอป่าโมก

   วัดป่าโมกวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลป่าโมก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไป 18 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 สายอ่างทอง-อยุธยา เดิมมีวัด 2 วัด อยู่ติดกันคือ วัดตลาดกับวัดชีปะขาว เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของประเทศไทย มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร ก่ออิฐถือปูนปิดทอง องค์พระนี้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติความเป็นมาน่าอัศจรรย์เล่าขานว่า ได้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนจะยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราชได้เสด็จมาชุมนุมพล และถวายสักการะบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ ในปี พ.ศ. 2269 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระได้เสด็จมาควบคุมการชะลอองค์พระให้พ้นจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง ไปไว้ยังวิหารใหม่ที่วัดตลาดห่างจากฝั่งแม่น้ำ 168 เมตร แล้วโปรดให้รวมทั้งสองเป็นวัดเดียวกันพระราชทานนามว่าวัดป่าโมกเพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้มีมากมาย อาทิเช่น พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วิหารเขียน มณฑปพระพุทธบาท 4 รอย เป็นต้น

 วัดท่าสุทธาวาส อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออกเขตตำบลบางเสด็จ หากใช้เส้นทางสาย อยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข309) ทางเข้าวัดจะอยู่ทางซ้ายมือห่างจากตัวจังหวัดอ่างทองประมาณ 17 กิโลเมตร หรือห่างจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประมาณ 14 กิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่แต่โบราณสมัยอยุธยาตอนต้นในการศึกสงครามครั้งกรุงศรีอยุธยา บริเวณนี้จะเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงรับไว้ในพระราชอุปถัมภ์ มีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระน้ำ พระเจดีย์เพื่อแสดงพระพุทธรูปโบราณและโบราณวัตถุต่างๆ รวมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ภายในพระอุโบสถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรส่วนพระองค์และนักเขียนโครงการศิลปาชีพ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วย บริเวณวัดแห่งนี้มีความร่มรื่นด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ และทิวทัศน์สวยงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชวนให้เป็นที่น่าพักผ่อน

 วัดสระแก้ว อยู่ถัดจากวัดท่าสุทธาวาส ประมาณ 200 เมตรตามถนนเลียบคันคลองชลประทาน หากเดินทางมาจากอยุธยาตามเส้นทาง อยุธยา-อ่างทอง (ทางหลวงหมายเลข 309) ทางเข้าวัดจะอยู่ซ้ายมือห่างจากอยุธยาประมาณ 15 กิโลเมตร วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2242 เดิมชื่อวัดสระแก เป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่มีเด็กอยู่ในความดูแลมากและได้จัดตั้งคณะลิเกเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว เพื่อหารายได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กกำพร้าด้วย นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “สามัคคีสมาคาร” ซึ่งเป็นศูนย์โครงการทอผ้าตามพระราชประสงค์ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2524 อยู่ในความรับผิดชอบของ กองอุตสาหกรรมในครอบครัว กระทรวงอุตสาหกรรม ที่บ้านบางเสด็จนี้จะมีกี่ทอผ้าอยู่แทบทุกหลังคาเรือน ชาวบางเสด็จจะขยันขันแข็งมุ่งผลิตสินค้าผ้าทอต่างๆ เช่น ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน ฯลฯ ให้มีคุณภาพดี และมีความสวยงาม จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป สินค้าเหล่านี้จะรวบรวมไปจัดจำหน่ายแก่ผู้สนใจที่ศูนย์สามัคคีสมาคาร รายละเอียดติดต่อโทร. (035) 611169

ตุ๊กตาชาววังบางเสด็จ ตำบลบางเสด็จตั้งอยู่ในเส้นทางหลวงหมายเลข 309 จากอยุธยามุ่งหน้าสู่อ่างทองประมาณ 16 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่บ้านบางเสด็จ อยู่ติดกับวัดท่าสุทธาวาส ตำบลนี้เดิมชื่อตำบลบ้านวัดตาล เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยใน ปี พ.ศ. 2518 สร้างความปลื้มปิติให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อบ้านวัดตาลเป็น บ้านบางเสด็จ ภายในหมู่บ้านบางเสด็จนี้ นอกจากจะได้ชมทัศนียภาพอันร่มรื่นและสวยงาม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วยังสามารถเดินชมการปั้นตุ๊กตาในบริเวณบ้านเรือนราษฎรละแวกนั้นได้อย่างเป็นกันเอง โครงการตุ๊กตาชาววังที่บ้านบางเสด็จเป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 เพื่อให้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร มีการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ด้านหน้าวัดท่าสุทธาวาส ซึ่งจะจัดให้สมาชิกมาสาธิตการปั้นพร้อมกับจัดจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา ตุ๊กตาชาววังเป็นประดิษฐกรรมดินเหนียวที่สวยงามจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกเพศทุกวัย วัฒนธรรมประเพณีไทย เช่น การละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ ตลอดจนผลไม้ไทยหลายหลากชนิดล้วนมีความสวยงามน่ารักและเหมาะที่จะซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึกเป็นอย่างยิ่ง

 หมู่บ้านทำกลอง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแพ ตำบลเอกราช หลังตลาดป่าโมก ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางใช้ถนนสายใน ผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมกซึ่งขนานไปกับลำคลองชลประทาน ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ชาวบ้านแพเริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 โดยจะเริ่มหลังฤดูเก็บเกี่ยว วัตถุดิบที่ใช้ได้แก่ไม้ฉำฉาเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่ายกับหนังวัว นอกจากคุณภาพที่ประณีตสวยงามแล้วยังมีหลายขนาดให้เลือกอีกด้วย โดยเฉพาะกลองขนาดจิ๋วจะเป็นที่นิยมหาซื้อไว้เป็นของที่ระลึกซึ่งขายดีมาก

อิฐอ่างทอง เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนคุณภาพสูงที่ผลิตขึ้น เพื่อจัดจำหน่ายไปทั่วประเทศไทย ส่วนมากจะใช้ในการทำอิฐโชว์แนวประดับอาคาร บ้านเรือน ผู้สนใจจะติดต่อซื้อได้จากโรงอิฐโดยตรง เฉพาะที่อำเภอป่าโมกจะมีโรงอิฐมากกว่า 42 แห่ง
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอไชโย

   วัดไขโยวรวิหาร อยู่บนเส้นทางสาย อ่างทอง-สิงห์บุรี ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท เดิมเป็นวัดราษฏร์โบราณสร้างมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ มีความสำคัญขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ได้สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่เป็นปูนขาวไม่ปิดทองไว้กลางแจ้ง ณ วัดแห่งนี้ ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโย ในปี พ.ศ. 2430 แต่แรงสั่นสะเทือนระหว่างการลงรากพระวิหารทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร มีขนาดหน้าตักกว้าง 16.10 เมตร สูง 22.65 เมตร แล้วพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” มีการจัดงานฉลองนับเป็นงานใหญ่ที่สุดของจังหวัดอ่างทองในสมัยนั้น องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างามแปลกตากว่าวิหารแห่งอื่นๆ พุทธศาสนิกชนจากที่ต่างๆ มานมัสการอย่างไม่ขาดสายติดกับด้านหน้าพระวิหาร มีพระอุโบสถหันด้านหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันงดงามเช่นกัน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันวัดไชโยวรวิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่จนมีความงามอย่างสมบูรณ์ยิ่ง

 วัดสระเกศ ตั้งอยู่ที่ตำบลชัยภูมิ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทอง ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา ตำบลชัยภูมินี้เดิมชื่อ บ้านสระเกศ ขึ้นอยู่กับแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ มีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารว่าเมื่อ พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ ยกทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่บ้านสระเกศ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมา ณ วัดสระเกศ เมื่อปี พ.ศ. 2513 เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

  วัดโพธิ์หอม (วัดป่าหัวพัน) ตั้งอยู่ที่ตำบลราชสถิตย์ ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองราว 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางอ่างทอง-สิงห์บุรี แล้วมีทางแยกเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นวัดร้างสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา วัดใหม่เพิ่งจะเริ่มสร้างเมื่อ 10 ปีมานี้ สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้คือ รูปพรหมสี่หน้าปูนปั้นขุดได้ภายในวัด มีขนาดใหญ่ 2 เศียร ประดับบนพานด้านหน้าฐานพระอุโบสถเดิมลักษณะศิลปะเป็นแบบขอมซึ่งอาจใช้เป็นส่วนของยอดประตู เหมือนกับที่เคยพบว่าสร้างเป็นยอดประตูพระราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยา
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอโพธิ์ทอง

  วัดโพธิ์ทอง อยู่ที่บ้านโพธิ์ทองตำบลคำหยาดตรงข้ามทางเข้าบ้านบางเจ้าฉ่า ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางสาย อ่างทอง-โพธิ์ทองประมาณ 9 กิโลเมตร นามวัดโพธิ์ทองในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าเป็นวัดที่ กรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด) เสด็จมาผนวช วัดโพธิ์ทองแห่งนี้ รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จมาประทับร้อน เมื่อคราวเสด็จประพาส ลำน้ำน้อย ลำน้ำใหญ่ มณฑลกรุงเก่า เมื่อ พ.ศ. 2459

 พระตำหนักคำหยาด อยู่ในท้องที่ตำบลคำหยาด ถัดจากวัดโพธิ์ทอง ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2 กิโลเมตร บนถนนสายเดียวกัน ตัวอาคารตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สภาพปัจจุบันมีเพียงฝนัง 4 ด้าน แต่ยังคงเห็นเค้าความสวยงามทางด้านศิลปกรรม เช่น ลอดลายประดับซุ้มจรนำหน้าต่างในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ. 2451 ได้เสด็จมายังโบราณสถานแห่งนี้และทรงมีพระราชหัตถเลขาอรรถาธิบายไว้ว่า เดิมทีทรงมีพระราชดำริว่า ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต) ทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองแล้วสร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้นเพื่อจำพรรษา เนื่อง-จากมีชัยภูมิที่เหมาะสม ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นตัวพระตำหนักสร้างด้วยความประณีตสวยงามแล้วพระราชดำริเดิมก็เปลี่ยนไป ด้วยทรงเห็นว่าไม่น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะทรงมีความคิดใหญ่โต สร้างที่ประทับชั่วคราวหรือที่มั่นในการต่อสู้ให้ดูสวยงามเช่นนี้ ดังนั้น จึงทรงสันนิษฐานว่า พระตำหนักนี้คงจะสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัย สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เพื่อเป็นที่ประทับแรม เนื่องจากมีพระราชนิยมเสด็จประพาสเมืองแถบนี้อยู่เนืองๆ เช่นเดียวกับที่พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างที่ประทับไว้ที่บางปะอิน ขณะที่กรมขุนพรพินิตผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ได้ทรงนำข้าราชบริพารกับพระภิกษุที่จงรักภักดีต่อพระองค์ ออกจากพระนครศรีอยุธยามาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ทอง และประทับอยู่ที่พระตำหนักคำหยาดนี้เพื่อไปสมทบกับชาวบ้านบางระจัน ปัจจุบันนี้กรมศิลปากรได้บูรณะ และขึ้นทะเบียนพระตำหนักคำหยาดเป็นโบราณสถานไว้แล้ว

 วัดขุนอินทประมูล อยู่ในเขตตำบลอินทประมูล การเดินทางไปสามารถใช้เส้นทางได้ 3 สาย คือ สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง (เส้นทาง 3064) แยกขวาที่กิโลเมตร 9 เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร หรือหากมาจากจังหวัดสิงห์บุรีไปทางอำเภอไชโยประมาณกิโลเมตรที่ 8 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าถึงวัดเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร หรือจะใช้เส้นทางตัดใหม่สายอำเภอวิเศษชัยชาญ-โพธิ์ทอง (ถนนเลียบคลองชลประทาน) เมื่อถึงอำเภอโพธิ์ทองมีทางแยกเข้าวัดอีก 2 กิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดโบราณ พิจารณาจากซากอิฐแนวเขตเดิมคะเนว่าเป็นวัดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวถึง 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไปเหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนนานนับเป็นร้อยๆ ปี องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนักพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการะบูชา อาทิเช่น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จมาเมื่อ พ.ศ. 2296 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ในปี พ.ศ. 2221 และ 2451 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินต้นในปี พ.ศ.2516 และเสด็จมานมัสการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518 พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างนิยมมานมัสการเป็นเนืองนิจ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดขุนอินทประมูลยังมีโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งเหลือเพียงฐานและผนังบางส่วนและพระพุทธรูป ด้านหน้าพระนอนมีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูล ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าเป็นผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์

 วังปลาวัดข่อย อยู่บริเวณแม่น้ำน้อยหน้าวัดข่อย หมู่ที่ 1 ตำบลโพธิ์รังนก อยู่ห่างจากจังหวัดอ่างทองประมาณ 12 กิโลเมตร ตามเส้นทางจังหวัดอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ก็จะพบป้ายวังปลาวัดข่อย แล้วเลี้ยวขวาลัดเส้นทางคลองส่งน้ำชลประทานไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ปลาที่วัดข่อยนี้มีปริมาณชุกชุมมาตั้งแต่สมัยพระครูสุกิจวิชาญ (หลวงพ่อเข็ม) เป็นเจ้าอาวาสซึ่งเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2528 พระครูสรกิจจาทร เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันได้ปรับปรุงสถานที่และประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ร่วมกับสำนักงานประมงอำเภอโพธิ์ทองและเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลรักษามิให้ปลาถูกรบกวน ปัจจุบันมีปลานานาพันธุ์ เช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาเทโพ ปลาแรด ปลาบึก ฯลฯ อาศัยอยู่รวมกันไม่ต่ำกว่า 50,000 ตัว ทางวัดได้จัดจำหน่ายอาหารปลาให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับการให้อาหารปลาและจัดสวนสัตว์ขนาดเล็ก ตลอดจนร้านจำหน่ายเครื่องดื่มไว้บริการอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดข่อยมี มณฑป พระวิหาร เจดีย์ พระอุโบสถ กุฏิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญแบบทรงไทยโบราณ ซึ่งทำมาจากไม้สักเป็นเสาเหลี่ยม 8 เหลี่ยม ตะเกียงจากกรุงวอชิงตันเป็นตะเกียงโบราณนาฬิกาโบราณจากปารีส และตู้พระไตรปิฎกทำด้วยไม้สักจากประเทศจีนซึ่งมีในสมัยรัชกาลที่ 5 เรือซึ่งเป็นพาหนะที่ใช้ในการเดินทางมีแทบทุกชนิดได้แก่ เรือบด เรือแจว เรือสำปั้น และเรือประทุน เปลกล่อมลูกในสมัยโบราณ มรดกชาวนาซึ่งได้รวบรวมเครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งอุปกรณ์ในการทำนา ได้แก่ เกวียน ล้อ คันไถ อุปกรณ์เครี่องมือการจับสัตว์น้ำ ไซดักปลา และศูนย์ผลิตข้าวซ้อมมือที่ชาวบ้านทำการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้น เพื่อทำการจำหน่ายให้แก่ประชาชน

 ค้างคาวแม่ไก่วัดจันทาราม วัดจันทารามเป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่บ้านช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลโคกพุทรา ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพธิ์ทองไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 4 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางสายโพธิ์ทอง-แสวงหาประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายไปอีก 3 กิโลเมตร ในบริเวณวัดแห่งนี้มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นจึงเป็นที่อยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ค้างคาวแม่ไก่ และนกนานาชนิดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ค้างคาวแม่ไกเหล่านี้จะออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะเกาะห้อยหัวอยู่ตามกิ่งไม้เป็นสีดำพรืดมองเห็นแต่ไกลซึ่งผู้สนใจสามารถจะไปชมได้ในทุกฤดูกาล

 หมู่บ้านจักสาน งานฝีมือจักสานอันลือชื่อของอ่างทองส่วนมากจะเป็นฝีมือของชาว อำเภอโพธิ์ทองแทบทุกครัวเรือน ที่ตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มการผลิตเครื่องจักสาน เครื่องหวาย กลุ่มจักสานไม้ไผ่ เช่น กลุ่มตำบลองครักษ์ กลุ่มตำบลบางเจ้าฉ่า กลุ่มตำบลบางระกำ กลุ่มตำบลพลับ และกลุ่มตำบลอินทประมูล เป็นต้น แหล่งหัตถกรรมเครื่องจักสานสำคัญที่สมควรไปเที่ยวชม คือ ที่ “บางเจ้าฉ่า” ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 บ้านยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่าการเดินทางใช้เส้นทางสาย อ่างทอง-โพธิ์ทอง ประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงคลองชลประทานยางมณี จากนั้นเลี้ยวขวาเลียบคลองไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จึงเลี้ยวขวาไปตามทางเข้าวัดยางทอง แหล่งหัตถกรรมจะตั้งอยู่บริเวณหลังวัด ที่นี่เป็นแหล่งเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนและได้พระราชทานคำแนะนำให้ราษฎรปลูกไม้ไผ่สีสุก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำจักสานให้มีปริมาณมากขึ้น ก่อนที่จะมีปัญหาการขาดแคลน งานจักสานของบางเจ้าฉ่านี้มีความประณีตสวยงามเป็นพิเศษและสามารถพัฒนางานฝีมือตามความนิยมของตลาด จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ นอกจากบางเจ้าฉ่าแล้ว ห่างจากอำเภอโพธิ์ทองไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร ก็มีผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไม้ไผ่เช่นเดียวกัน

 ศูนย์เจียระไนพลอย อยู่ในบริเวณเดียวกับแหล่งผลิตเครื่องจักสานที่บางเจ้าฉ่า มีศูนย์รวมการเจียระไนพลอยของหมู่บ้านและมีพลอยรูปแบบต่างๆ ที่สวยงาม

 ศูนย์ผลิตเครื่องใช้ประดับมุก อยู่ที่วัดม่วงคัน ตำบลรำมะสัก มีการผลิตเครื่องใช้ประดับมุกฝีมือประณีต นอกจากนั้นมีการทำหัตถกรรมในครัวเรือนอีกหลายแห่งเช่นกัน จะมีทั้งชุดโต๊ะเครื่องแป้ง แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่ เป็นต้น
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอวิเศษชัยชาญ

   วัดเขียน เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง อยู่ที่หมู่ 8 ตำบลศาลเจ้าโรงทอง ห่างจากอำเภอเมือง 12 กิโลเมตร ภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนฝาผนังที่งดงามสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะภาพคล้ายกับภาพเขียนที่พระอุโบสถวัดเกาะและวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน

  วัดอ้อย เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองวิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ห่างจากวัดเขียนไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร พระอุโบสถมีลักษณะสวยงามคล้ายกับพระอุโบสถวัดราชบูรณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่ของวัดอ้อย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กได้เปิดบ้านรับรองให้ที่พึ่งพักพิงแก่เด็กมีปัญหา เด็กเร่ร่อนติดยา หรือประพฤติผิดกฏหมายมาก่อนชื่อว่า “บ้านเด็กใกล้วัด” เพื่อช่วยให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นได้สัมผัสธรรมชาติและมีพระสงฆ์ช่วยเหลือบำบัดทางด้านจิตใจด้วย

 วัดสี่ร้อย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลสี่ร้อย บนเส้นทางสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ หรืออ่างทอง-วิเศษชัยชาญ ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12.5 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายมือไปตามถนนคันคลองชลประทานอีก 5 กิโลเมตร วัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปปางป่าเล-ไลยก์ สูง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ เรียกนามว่า หลวงพ่อโต ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยาที่มีความงดงามมากอีกแห่งหนึ่ง

 วัดม่วง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหัวตะพานระยะทางจากจังหวัดถึงวัดม่วง ประมาณ 8 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายอ่างทอง-สุพรรณบุรี วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ มีพระอุโบสถล้อมรอบด้วยกลีบบัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในมีรูปปั้นเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศ มีแดนเทพเจ้าไทย แดนนรก แดนสวรรค์ และแดนเทพเจ้าจีน ซึ่งมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ มีรูปปั้นแสดงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามไทย-พม่า ที่เมืองวิเศษชัยชาญ และสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ของดีเมืองอ่างทองได้ด้วย

 อนุสาวรีย์นายดอกนายทองแก้ว ประดิษฐาน อยู่ที่หน้าโรงเรียนวิเศษชัยชาญ หมู่ที่ 2 ตำบลไผ่จำศีล ระหว่างกิโลเมตรที่ 26-27 ตามเส้นทางสายศรีประจันต์-วิเศษชัยชาญ เป็นอนุสรณ์สถานที่ชาววิเศษชัยชาญและชาวอ่างทองร่วมกันสร้างเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของวีรบุรุษแห่งบ้านโพธิ์ทะเล ทั้งสองท่านที่ได้สละชีวิตเป็นชาติพลีในการสู้รบกับพม่าที่ค่ายบางระจันอย่างกล้าหาญเมื่อปี พ.ศ. 2309 อนุสาวรีย์แห่งนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราช-ดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาทรงเปิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520


สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอแสวงหา

   บ้านคูเมือง อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านไผ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหา ประมาณ 4 กิโลเมตร และห่างจากค่ายบางระจัน เพียง 3 กิโลเมตรเศษ ที่บ้านคูเมืองนี้ นักโบราณคดีได้สำรวจพบซากเมืองโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนสมัยทวาราวดี มีร่องรอยเหลือเพียงคูเมืองขนาดกว้างกับเนินดิน ขุดพบเพียงเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา กระดูกสัตว์ ลูกปัดและหินบดยา

 วัดบ้านพราน ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีพราน เป็นวัดเก่าแก่สร้างในครั้งใดไม่ปรากฏแต่ได้ถูกทิ้งร้างไปจนต้นไม้ปกคลุมหนาทึบ ต่อมาพวกนายพรานได้มาตั้งหมู่บ้านขึ้นในบริเวณดังกล่าว จึงช่วยกันบูรณะขึ้นมาใหม่ มีประวัติเล่าต่อกันมาว่าพระพุทธรูปศิลาแลงในพระวิหารนั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สร้างที่เมืองสุโขทัย แล้วถอดเป็นชิ้นมาประกอบเป็นองค์ที่วัดบ้านพรานเพื่อให้เป็นพระประธานแต่ผู้สร้างวัดต้องการสร้างพระประธานขึ้นเอง จึงได้นำไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารพระพุทธรูปองค์นี้ ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อไกรทอง” เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สามารถคุ้มภัยแก่ผู้ไปสักการะบูชา

 วัดยาง อยู่ในท้องที่ตำบลห้วยไผ่ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายยังคงมีซากโบราณสถาน คือ พระอุโบสถซึ่งมีฐานโค้ง มีพระพุทธรูปศิลาทราย พระพุทธรูปปูนปั้นที่ชำรุดอยู่จำนวนหนึ่งและใบเสมาหิน ทางทิศใต้ของวัดประมาณครึ่งกิโลเมตร มีเนินดินซึ่งเคยพบพระเครื่องจำนวนมาก จากการที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านบางระจันมากนัก จึงสันนิษฐานว่า บริเวณนี้คงเป็นสถานที่ซ่อนสมบัติของมีค่าของคนไทยในสมัยนั้น

  สวนนกธรรมชาติ อยู่ในบริเวณหมู่ที่ 2 บ้านริ้วหว้า ตำบลบ้านพราน ระยะทางห่างจากจังหวัดอ่างทอง 24 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายโพธิ์ทอง-แสวงหา 18 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าที่บ้านตำบลหนองแม่ไก่ ถึงโรงเรียนหนองแม่ไก่ แล้วเดินทางไปตามถนนลูกรังอีก 6 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณวัดริ้วหว้าซึ่งมีนกท้องนาปากห่าง นกกระสา นกกาน้ำ นกกระเต็น นกอีเสือ ฯลฯ บางชนิดก็ใกล้จะสูญพันธุ์และหาชมได้ยากในท้องถิ่นอื่น
สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสามโก้

 อำเภอสามโก้ อยู่ห่างจากจังหวัดอ่างทองประมาณ 25 กิโลเมตร แม้เป็นอำเภอเล็กๆ ซึ่งเดิมเป็นตำบลหนึ่งขึ้นกับอำเภอวิเศษชัยชาญ ได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอและเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2508 ความสำคัญในประวัติศาสตร์ได้ปรากฏในพงศาวดารว่า เป็นเส้นทางที่พม่าเดินทัพจากด่านเจดีย์สามองค์ผ่านเข้ามาตั้งค่ายพักแรมก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยา และเป็นที่ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ เคยเสด็จนำทัพหลวงผ่านบ้านสามโก้แห่งนี้เพื่อทรงทำสงครามยุทธหัตถี ที่ตำบลตระพังตรุ จังหวัดสุพรรณบุรี จนทรงได้รับชัยชนะด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน สามโก้เป็นอำเภอที่น่าสนใจมากอำเภอหนึ่งในแง่ประเพณี และศิลปะพื้นบ้าน กล่าวคือ สามโก้ได้มีพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่เปลี่ยนจากพื้นที่ทำนาเป็นพื้นที่ทำการเกษตรด้านอื่น เช่น การทำนาบัว การทำสวนมะพร้าวพันธุ์ดี และการทำไร่นาสวนผสม ซึ่งเกษตรกรรู้จักพัฒนาอาชีพด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณ สามารถทำรายได้อย่างน่าพอใจ นอกจากนี้สามโก้ยังได้เป็นถิ่นแดนของเพลงพื้นเมืองที่มีพ่อเพลงและแม่เพลง ที่มีบทบาทในการฟื้นฟูการละเล่นและอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านอีกด้วย




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่อ่างทอง