แผนที่สมุทรสงคราม

  • แผนที่สมุทรสงคราม
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม
สมุทรสงคราม เป็นเมืองเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อใด เดิมเข้าใจว่าเป็นแขวงหนึ่งของจังหวัดราชบุรี เรียกจังหวัดสมุทรสงครามว่า “สวนนอก” ครั้นต่อมาในราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อกับสมัยกรุงธนบุรี จึงแยกออกจากจังหวัดราชบุรี เรียกว่า “เมืองแม่กลอง” จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ 416 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที ทิศเหนือ จดจังหวัดราชบุรี ทิศใต้ จดจังหวัดเพชรบุรีและอ่าวไทย ทิศตะวันตก จดจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี ทิศตะวันออก จดจังหวัดสมุทรสาคร

อาณาเขต

ทิศเหนือ จรดจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสาคร
ทิศตะวันออก จรด อ่าวไทยชั้นใน (พื้นที่เขตจังหวัดสมุทรสงครามทางทะเลติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดเพชรบุรี
ทิศใต้ จรดจังหวัดเพชรบุรี (อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม)
ทิศตะวันตก จรดจังหวัดราชบุรี

การปกครองแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ 36 ตำบล 284 หมู่บ้าน 1 เทศบาลเมือง 6 เทศบาลตำบล 28 องค์การบริหารส่วนตำบล
อำเภอเมืองสมุทรสงคราม อำเภอบางคนที อำเภออัมพวา

จังหวัดสมุทรสงครามหรือเมืองแม่กลอง ในอดีตคือแขวงบางช้างของเมืองราชบุรี แขวงบางช้างมีศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม (ตามการแบ่งเขตการปกครองในปัจจุบัน (พ.ศ. 2554)) แขวงบางช้างมีอีกชื่อว่าสวนนอก ต่อมาปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกับสมัยกรุงธนบุรีแขวงบางช้างแยกออกจากจังหวัดราชบุรีเรียกว่า "เมืองแม่กลอง" สมุทรสงครามมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พม่าส่งกองทัพผ่านเข้ามาถึงบริเวณตำบลบางกุ้ง พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมผู้คนสร้างค่ายป้องกันทัพพม่าจนข้าศึกพ่ายแพ้ไป ณ บริเวณค่ายบางกุ้ง นับเป็นการป้องกันการรุกรานของพม่าเข้ามายังไทยครั้งสำคัญในช่วงเวลานั้น ชื่อเมืองแม่กลองเปลี่ยนเป็นสมุทรสงครามในปีใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัดแต่สันนิษฐานไว้ว่าเปลี่ยนราวปี พ.ศ.2295 ถึงปี พ.ศ. 2299 เพราะจากหลักฐานในหนังสือกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยพระราชกำหนดเรื่องการเรียกสินไหมพินัยความได้ปรากฏชื่อเมืองแม่กลอง เมืองสาครบุรี และเมืองสมุทรปราการอยู่ และต่อมาพบข้อความในพระราชกำหนดซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2299 ความระบุว่าโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัตนาธิเบศท์ สมุหมณเฑียรบาล เอาตัวขุนวิเศษวานิช (จีนอะปั่นเต็ก) ขุนทิพ และหมื่นรุกอักษร ที่บังอาจกราบบังคมทูลขอตั้งบ่อนเบี้ยในแขวงเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม เมืองราชบุรี และเมืองสมุทรปราการทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายสั่งห้ามไว้ก่อนแล้ว มาลงโทษ (ปุถุชน บุดดาหวัง, 2543, หน้า 9)

จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแผ่นดินที่เกิดขึ้นใหม่จากการทับถมของโคลนตะกอนบริเวณปากแม่น้ำ เกิดเป็นที่ดอนจนกลายมาเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ ปรากฏชื่อครั้งแรกในนาม “แม่กลอง” นอกจากนั้นตามประวัติของราชินิกุลบางช้าง (ดูเพิ่มเติม ณ บางช้าง) สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีซึ่ง ทรงเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุุฬาโลกมหาราช และพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระญาติวงศ์ ทรงมีพระนิเวศน์สถานดั้งเดิมอยู่ที่แขวงบางช้าง สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสืบเชื้อสายจาก กษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยแห่ง อาณาจักรอยุธยา และราชวงศ์พระร่วง (ราชวงศ์สุโขทัย) แห่งอาณาจักรสุโขทัย โดยพระราชโอรสสองพระองค์แห่งราชวงศ์สุโขทัยแห่งอาณาจักรอยุธยา ทรงหนีราชภัยมาตั้งถิ่นฐานที่แขวงบางช้าง จังหวัดสมุทรสงครามจึงเป็นเมืองราชินิกุลบางช้างและราชสกุลแห่งราชวงศ์สุโขทัย มีการสืบทอดนาฏศิลป์ วรรณศิลป์ และการทำอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารชาววัง) ของสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีซึ่งเคยประทับกับ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีที่แขวงบางช้าง ทรงรับถ่ายถอดการทำอาหารจากที่นี่และทรงเป็นผู้ำทำอาหารใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน และว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์

สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง

หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดบ้านแหลม[4] ในสมัยโบราณมีชื่อเรียกว่า วัดศรีจำปา ตั้งอยู่ในตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเหตุที่ว่าชื่อวัดเป็นชื่อสถานที่ในพื้นที่แห่งหนึ่งในเมืองใกล้เคียงนั้น ก็เพราะว่าในสมัย พ.ศ. 2307 พม่าได้มารุกรานประเทศไทย เข้าตีเมืองตะนาวศรี เมืองทวาย เมืองมะริด เมืองเพชรบุรี โดยเข้ามาทางด่านสิงขร ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระยาพิพัฒน์โกสากับพระยาตากสิน เข้ามาตั้งรับข้าศึก ที่เมืองเพชรบุรี การสู้รบครั้งนั้นชาวบ้านแหลมในเมืองเพชรบุรี ต้องประสบชะตากรรมสงคราม อพยพไปอยู่ในลุ่มแม่น้ำแม่กลองบริเวณเหนือวัดจำปา ซึ่งไม่ไกลจากทะเล อันเป็นพื้นที่สามารถประกอบอาชีพ (ประมง) จึงได้ตั้งรกรากกันในบริเวณนี้ แล้วไปมาหาสู่กันระหว่างแม่กลองกับอำเภอบ้านแหลม

มาวันหนึ่งขณะออกเรือหาปลา ชาวประมงบ้านแหลม ได้พระพุทธรูป 2 องค์ ขณะกำลังจะกลับฝั่ง ปรากฏว่ามีพายุลมแรง ชาวประมงจึงตัดสินใจนำเรือ เข้าฝั่งมาทางแม่กลอง แล้วเข้ามาในแม่น้ำแม่กลองเพื่อหลบพายุ แต่เรือก็ยังโคลงเคลงอยู่จนกระทั่งมาถึงวัดศรีจำปา พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรได้ตกลงน้ำ ทำให้ชาวประมงบ้านแหลมกลุ่มนั้นต้องลงไปในแม่น้ำงมหา แต่ก็ไม่พบ จนชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากที่แม่กลองได้งมหาเจอ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ที่วัดศรีจำปา ความทราบถึงพี่น้องชาวบ้านแหลมที่อยู่ที่เพชรบุรีเข้า ก็ยกขบวนมาทวงพระคืน พี่น้องบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากที่แม่กลอง ขอพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา โดยยินยอมที่จำเปลี่ยนชื่อวัดจากชื่อวัดศรีจำปาเป็น วัดบ้านแหลม เพื่อเป็นเกียรติไว้แก่ชาวบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีที่เป็นผู้ได้พระพุทธรูปองค์นี้ ชาวบ้านแหลมเพชรบุรีจึงได้กลับไป พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรขนาดเท่าคนจริง สูงประมาณ 167 เซนติเมตร ส่วนอีกองค์ (หลวงพ่อทอง) ได้ไปประดิษฐาน ณ วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-สมุทรสงคราม

มีทางหลวงแผ่นดินทั้งหมด 2 สาย ประกอบด้วย

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 เป็นเส้นทางรถยนต์ สายธนบุรี - ปากท่อ ระยะทางจากกรุงเทพฯ - สมุทรสงคราม ประมาณ 65 กม.
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 325 เป็นทางหลวงแผ่นดิน สายสมุทรสงคราม - ดำเนินสะดวก-บางแพ เริ่มจาก กม.ที่ 28 ของถนนเพชรเกษตรผ่าน อ.บางแพ และ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ไปยัง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 42 กม.

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-สมุทรสงคราม ทุกวัน จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 435-5031 (รถปรับอากาศ) และโทร. 434-5558 (รถธรรมดา)

ทางรถไฟ

ปัจจุบันเป็นสายแม่กลอง - วงเวียนใหญ่ ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการสัญจร และขนส่งเสบียงอาหารของประชาชน การคมนาคมทางรถไฟ แบ่งเป็น 2 ตอน จากสถานีรถไฟแม่กลอง อ.เมือง - สถานีรถไฟบ้านแหลม อ.เมือง ระยะทาง 33.10 กม. แล้วลงเรือข้ามแม่น้ำท่าจีนไปขึ้นรถไฟตอนที่ 2 ที่สถานีรถไฟมหาชัย จ.สมุทรสาคร
จากสถานีรถไฟมหาชัย อ.เมือง - สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ระยะทาง 33.80 กม.

งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 2

งานวันลิ้นจี่ จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน ที่อำเภออัมพวา (จัดเป็นบางปี ขึ้นอยู่กับผลผลิตของลิ้นจี่)
งานนมัสการและสรงน้ำหลวงพ่อบ้านแหลม จัดขึ้นในวันที่ 13-19 เมษายน ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
งานตะวันรอนที่ดอนหอยหลอด จัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ที่หมู่บ้านฉู่ฉี่ หมู่ที่ 4 ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม

ผลิตผลพื้นเมืองจังหวัดสมุทสงคราม

 ลิ้นจี่ ส้มแก้ว องุ่น และส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ มีผลไม้หลายชนิด บริเวณที่ปลูกกันมากได้แก่ เขตอำเภอบางคนที มีสวนลิ้นจี่ ส้มแก้ว ส้มโอ และองุ่นอยู่มาก นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ทั่วไป หรือหากจะต้องการชมสวนก็ควรเดินทางโดยเรือหางเข้าไปชมตามสวนต่างๆ ได้ ติดต่อเรือที่ท่าเรือหน้าเมืองฯ

กะปิคลองโคน เป็นกะปิที่ขึ้นชื่อที่สุดของจังหวัดสมุทรสงคราม สามารถหาซื้อได้ทั่วไป นอกจากนั้นยังมีสินค้าประเภทอาหารทะเลแห้งจำหน่ายอีกมากมาย
น้ำตาลมะพร้าว บริเวณสองข้างทางสายสมุทรสงคราม-บางคนที มีการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพสำคัญอย่างหนึ่ง ปัจจุบันมีเตาเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว 5 แห่ง คือ 1. เตาหวาน 2. เตาตาลดี 3. เตาทวี 4. เตากาหลง 5. เตาไทยเดิม ช่วงเวลาที่มีการเคี่ยวน้ำตาล ประมาณ 08.30-12.00 น. ตอนเช้าชาวบ้านจะออกไปเก็บน้ำตาลจากต้นมะพร้าวที่ทำภาชนะรองรับไว้แล้วนำมาเคี่ยวในกระทะใบใหญ่จนแห้ง นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมวิธีการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวแล้ว ยังสามารถชมสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้ด้วย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

ดอนหอยหลอด เป็นสันดอนปากน้ำแม่กลอง ที่เกิดจากการตกตะกอนของดินปนทราย (ชาวบ้านเรียกทรายขี้เป็ด) มีอาณาบริเวณกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร มี 2 แห่งง คือ ดอนนอก อยู่บริเวณปากอ่าวแม่กลอง เดินทางไปได้โดยทางงเรือ ส่วนดอนในอยู่ที่ชายหาดหมู่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็งและที่ชายหาดหมู่บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว สามารถเดินทางไปได้โดยทางรถยนต์ บริเวณสันดอนนี้มีหอยอาศัยอยู่หลายชนิด ไก้แก่ หอยลาย หอยปุก หอยปากเป็ด หอยแครง และโดยเฉพาะหอยหลอดมีมากที่สุด หอยหลอดเป็นหอยชนิด 2 ฝา ตัวสีขาวขุ่น มีเปลือกคล้ายหลอดกาแฟ ฝังตัวอยู่ในทราย การจับหอยหลอดจะใช้ไม้เล็กๆ ขนาดก้านธูป จุ่มปูนขาว แล้วแทงลงไปในรูหอยหลอด หอยจะเมาปูนแล้วโผล่ขึ้นมาให้จับ ดอนหอยหลอดนี้ ในเวลาน้ำมากจะถูกน้ำท่วม และในช่วงเวลาน้ำน้อย ขณะน้ำลงจะสามารถไปเที่ยวชม ทัศนียภาพได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเที่ยวชมดอนหอยหลอดคือ ระยะเวลาเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี ที่บริเวณใกล้เคียงดอนหอยหลอดหมู่บ้านฉู่ฉี่นี้เป็นที่ตั้งศาลกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ และมีร้านอาหาร ร้านขายสินค้าพื้นเมือง เช่น หอยหลอดแห้ง อาหารทะเลสด น้ำปลา กะปิคลองโคน น้ำตาลปึก น้ำตาลสด ฯลฯ มีจำหน่ายอยู่หลายร้าน สถานที่จอดรถสะดวก
การเดินทางไปดอนหอยหลอด
 1. ไปยังหาดหมู่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็ง เลยทางแยกเข้าจังหวัดสมุทรสงคราม ไปประมาณ 3 กิโลเมตร ก่อนที่จะข้ามสะพานพุทธเลิศหล้านภาลัย ทางซ้ายมือตรงเชิงสะพานมีถนนเล็กๆ เข้าวัดศรัทธาธรรม-คลังน้ำมันเชลล์ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วเดินลงชายหาดจนถึงดอนหอยหลอด
2. ไปยังหาดหมู่บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว เริ่มต้นตรงข้ามด่านชั่งน้ำหนักทางหลวง ริมถนนธนบุรี-ปากท่อ ก่อนถึงทางแยกเข้าจังหวัดสมุทรสงคราม ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกทางเข้า เป็นถนนลูกรังระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร รถใหญ่ไม่สะดวกที่จะนำเข้าไป
 3. ทางเรือ ไปยังดอนนอก มีเรือขนาดต่างๆ ไว้บริการที่ท่าริมน้ำแม่กลอง ถ้าเป็นคณะใหญ่กรุณาติดต่อสอบถามไปที่ โรงเลื่อยจักรซุ่นฮวดเฮง โทร. 711466 (ต้องจองล่วงหน้า) หรือติดต่อที่ห้องขายตั๋วเรือข้ามฟากริมแม่น้ำแม่กลอง
หมายเหตุ นักท่องเที่ยวที่ลองจับหอยหลอดแล้วมีปูนขาวเหลือ อย่าสาดปูนขาวทิ้งบนสันดอน เพราะจะทำให้หอยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตายหมด
วัดบ้านแหลม หรือ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่กลอง เป็นวัดที่สำคัญที่สุดในจังหวัด ตั้งอยู่ในตัวเมือง เป็นที่รู้จักทั่วไป เพราะเป็นวัดที่มีพระพุทธรูปสำคัญคือ “หลวงพ่อบ้านแหลม” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีผู้เดินทางมานมัสการกันเป็นประจำ สำหรับความเป็นมาของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้น เป็นพระพุทธรูปซึ่งสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏ ตามพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาว่า เมื่อ พ.ศ. 2307 พม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองเพชรบุรี แต่กองทัพของกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพมาช่วยรักษาเมืองไว้ได้ ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรีได้อพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในตำบลแม่กลองเหนือวัดศรีจำปาขึ้นไป และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านแหลม” ตามชื่อบ้านเดิมของตนในเมืองเพชร ได้ช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปา แล้วเรียกวัดศรีจำปาว่า “วัดบ้านแหลม” ชาวบ้านแหลมพวกนี้เป็นชาวประมง มีอาชีพจับปลาในทะเล คราวหนึ่งได้ออกไปลากอวนในอ่าวแม่กลองได้พระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน สำหรับพระพุทธรูปนั่งได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี เรียกว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” สำหรับพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร สูงประมาณ 167 เซนติเมตร แต่บาตรนั้นสูญหายไปในทะเล ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม เรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” มีความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านทั่วไป วัดบ้านแหลมซึ่งแต่เดิมเป็นวัดเล็กๆ ที่ทรุดโทรมก็กลับเจริญขึ้นเป็นวัดใหญ่ เพราะมีผู้คนมาทำบุญและนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมกันอยู่เรื่อยๆ ต่อมาวัดนี้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร” สำหรับบาตรของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ได้ถวายบาตรไว้ให้บาตรหนึ่ง เป็นบาตรแก้วสีน้ำเงิน ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ภายในบริเวณวัดเพชรสมุทรยังมีพิพิธภัณฑ์สงฆ์ ซึ่งภายในมีพระพุทธรูปบูชาและพระเครื่องในสมัยต่างๆ โบราณวัตถุเครื่องลายครามและธรรมมาศน์บุษบกสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ให้ชมด้วย

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภออัมพวา

ด้วยเหตุที่อำเภออัมพวาเป็นสถานที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อยู่มาก จึงขอนำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องมาสรุปไว้โดยย่อ ดังนี้ สมุทรสงครามอำเภออัมพวา สมัยก่อนเรียกกันว่า “แขวงบางช้าง” เป็นชุมชนเล็กๆ มีความเจริญทั้งในด้านการเกษตร และการพาณิชย์ มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น แขวงบางช้างมีตลาดค้าขายเรียกว่า “ตลาดบางช้าง” นายตลาดเป็นหญิงชื่อน้อย มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก นายตลาดผู้นี้อยู่ในตระกูลเศรษฐีบางช้าง ซึ่งต่อมาเป็นราชินิกุล “ณ บางช้าง” เมื่อ พ.ศ. 2303 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โปรดเกล้าฯ ให้นายทองด้วย (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ต่อมาหลวงยกกระบัตรได้แต่งงานกับคุณนาค บุตรีเศรษฐีบางช้าง และได้ย้ายบ้านไปอยู่หลังวัดจุฬามณี ต่อมาเมื่อไฟไหม้บ้านจึงได้ย้ายไปอยู่ที่หลังวัดอัมพวันเจติยาราม อีก 3 ปี พ.ศ. 2310 พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงยกกระบัตรจึงตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก ในระหว่างนี้ ท่านแก้ว (สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์) พี่สาวของหลวงยกกระบัตร ได้คลอดบุตรหญิงคนหนึ่งตั้งชื่อว่า “บุญรอด” (ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2) ครั้งเมื่อพระยาวชิรปราการได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปหมดแล้ว ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าตากสิน หลวงยกกระบัตรจึงได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิมในช่วงนี้เอง คุณนาคก็ได้คลอดบุตรคนที่ 4 เป็นชาย ชื่อฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หลังจากนั้นหลวงยกกระบัตรก็ได้กลับเข้ารับราชการอยู่กับพระเจ้าตากสิน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา จนกระทั่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้นราชวงศ์จักรี คุณนาค ภรรยาก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ คุณสั้น มารดาคุณนาค ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระรูปศิริโสภาค มหานาคนารี แต่เนื่องจากสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ทรงเป็นคนพื้นบ้านบางช้างมาก่อน จึงมีพระประยูรญาติที่สนิท ประกอบอาชีพทำสวนต่างๆ อยู่ที่บางช้างนี้มาก เมื่อได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์จึงนับเป็นราชินีกูลบางช้าง พระประยูรญาติจึงเกี่ยวดองเป็นวงศ์บางช้างด้วย และสมเด็จพระอมรินทร์ฯ มักทรงเสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติเสมอ จึงมีคำเรียกว่า “สวนนอก” คือ สวนบ้านนอก ที่เป็นของวงศ์ราชินีกูลบางช้าง ส่วนบางกอก ซึ่งเป็นส่วนของเจ้านายในราชวงศ์ก็เรียกว่า “สวนใน” หรือมีคำกล่าวว่า “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน” จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จึงยกเลิกไป
วัดจุฬามณี เป็นวัดโบราณริมฝั่งคลองอัมพวา ต่อเนื่องกับคลองผีหลอก สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่า ท้าวแก้วผลึก (น้อย) นายตลาดบางช้าง ต้นวงศ์ราชินีกูลบางช้าง เป็นผู้สร้างขึ้นบริเวณหลังวัด เดิมเป็นนิวาสสถานของคุณนาค และบุญรอด (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2)
วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นวัดของตระกูลราชินีกูลบางช้าง สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระรูปศิริโสภาค มหานาคนารี พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ หลังวัดนี้ก็เคยเป็นนิวาสสถานเก่าของหลวงยกกระบัตร และคุณนาค เชื่อกันว่าบริเวณพระปรางค์ของวัดอัมพวันฯ เดิมเป็นเรือนที่คุณนาคใช้เป็นที่คลอดฉิมบุตรชาย ซึ่งต่อมาได้เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมา วัดอัมพวันฯ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันวัดอัมพวันเจติยารามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท พระอุโบสถ ตลอดจนถาวรวัตถุในวัดอัมพวันฯ นี้ ส่วนใหญ่เป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนับเป็นพระอุโบสถที่มีความงดงามอยู่มาก วัดอัมพวันฯ ตั้งอยู่ติดกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย การเดินทางจากจังหวัดสมุทรสงครามตามทางหลวงหมายเลข 325 ระยะทาง 6 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร มีรถโดยสารประจำทางวิ่งผ่านตลอดเวลา
วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตรงปากคลองประชาชื่นฝั่งตะวันตก สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ กุฎีทอง มีประวัติเล่าว่า เศรษฐีบิดาของคุณนาค ให้สมภารวัดบางลี่ตรวจดูดวงชะตาคุณนาค ได้รับคำทำนายว่าจะได้เป็นพระราชินี เศรษฐีบิดาคุณนาคจึงให้คำมั่นว่า ถ้าเป็นจริงจะสร้างกุฎีทองถวายให้วัดบางลี่ จึงได้ชื่อว่าวัดบางลี่กุฎีทอง ต่อมาวัดบางลี่ถูกน้ำเซาะที่ดินพังลงน้ำหมด จึงรื้อกุฎีทองมาสร้างไว้ที่วัดภุมรินทร์ วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดภุมรินทร์กุฎีทอง ปัจจุบันไม่สามารถเดินทางเข้าถึงโดยรถยนต์ได้ ต้องข้ามเรือบริเวณวัดอัมพวันฯ หรือท่าเทียบเรือบริเวณอุทยาน ร.2
อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปวัฒนธรรมอันงดงามไว้เป็นมรดกแก่ชาติ บริเวณที่ก่อสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์นี้ พระราชสมุทรเมธี เจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามเป็นผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย มีทั้งหมด 11 ไร่ ซึ่งที่บริเวณนี้มีความสำคัญเพราะเป็นที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 ภายในอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นอาคารทรงไทย 4 หลัง จัดแสดงศิลปวัตถุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ความเป็นอยู่ของชาวไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 มีสิ่งที่น่าสนใจดังนี้ หอกลาง ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 2 และโบราณวัตถุ หอนอนชาย แสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชายไทย หอนอนหญิง แสดงให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ ชานเรือน จัดแสดงตามแบบบ้านไทยโบราณ ห้องครัวและห้องน้ำ แสดงลักษณะครัวไทยและห้องน้ำของชนชั้นกลาง นอกจากนี้ยังมีโรงละครกลางแจ้ง สวนพฤกษชาติ เป็นสวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิด และร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและผลไม้ ตั้งอยู่บริเวณลานจอดรถและบริเวณแม่น้ำท้ายอุทยานฯ การเดินทางไปอุทยานฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถึงกิโลเมตรที่ 63 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 325 เข้าจังหวัดสมุทรสงคราม 6 กิโลเมตร ถึงบริเวณอุทยานฯ (มีป้ายบอกตลอดทาง) จากตัวเมืองมีรถประจำทางสายบางมูลนากผ่าน ขึ้นได้ที่ตลาดเทศบาลเมืองอุทยานฯ เปิดให้ชมทุกวันเวลา 09.00-18.00 น. พิพิธภัณฑ์เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชมเด็ก 5 บาท ผู้ใหญ่ 10 บาท
วัดบางกะพ้อม ตั้งอยู่ที่อำเภออัมพวา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ในบริเวณวัดมีสิ่งที่ควรชม คือ วิหารเก่า ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังนูน เป็นภาพเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ เป็นของเก่าแก่ที่สวยงามหาดูได้ยากมาก เรียงรายอยู่รอบผนังวิหารทั้ง 4 ด้าน และยังมีช่องเจาะเป็นซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอย ซึ่งสร้างในสมัยกรุงธนบุรี เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางวิหารเดิมมีแผ่นเงินหุ้ม แต่ถูกขโมยไปเมื่อครั้งสงคราม ถึงกระนั้นที่รอยพระพุทธบาทรอยลึกที่สุดนั้นเป็นไม้ประดับมุก มีความงดงามมาก
วัดเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย กรมศิลปากรได้จดทะเบียนขึ้นเป็นโบราณสถาน สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พระวิหารบนยอดเขามีลักษณะเป็นรูปเรือ ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย พระมณฑปและบานประตูไม้นับเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง นอกจากนี้ยังมีศาลประดิษฐานหลวงพ่อปู่ศรีราชา ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั่วไป จะมีงานนมัสการหลวงพ่อปู่อยู่ทุกวันกลางเดือนอ้ายของทุกปี
ตลาดน้ำท่าคา ตำบลท่าคา อำเภออัมพวา (มีในวันขึ้นหรือแรม 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ ช่วงเวลา 07.00-12.00 น.)
ตลาดน้ำอัมพวา หรือตลาดน้ำบางจากหน้าวัดบางจากเทศบาล ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา (มีนัดทุกวันช่วงเวลา 06.00-11.00 น.)

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอบางคนที

ตลาดน้ำบางน้อย สุขาภิบาลกระดังงา อำเภอบางคนที (มีในวันขึ้นหรือแรม 3 ค่ำ 8 ค่ำ และ 13 ค่ำ ช่วงเวลา 06.00-11.00 น.)
วัดเจริญสุขารามวรวิหาร มีองค์พระประธานอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งประดิษฐานอยู่
ในพระอุโบสถประชาชนถวายนามว่า “หลวงพ่อโต” เป็นพุทธปฏิมากรศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย ทางกรมศิลปากรได้พิจารณารับเข้าไว้เป็นปูชนียวัตถุโบราณขนาดหน้าพระเพลากว้าง 1.79 เมตร ส่วนสูงจากพื้นรองรับประทับนั่งถึงยอดพระจุฬามณี 2.09 เมตร ตามประวัติพระพุทธรูปองค์นี้ได้อัญเชิญมาจากวัดร้างแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังใหม่ นับเป็นพระพุทธรูปที่คนไทยและคนจีนนับถือกันมากที่สุดองค์หนึ่ง
เที่ยวชมทางน้ำ จากตัวเมืองสมุทรสงคราม สามารถที่จะนั่งเรือชมริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองไปเรื่อยๆ สองฝั่งแม่น้ำจะเป็นสวนมะพร้าวและยังมีบ้านแบบโบราณ ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบันนี้ นอกจากสวนมะพร้าว ยังมีสวนลิ้นจี่ซึ่งปลูกกันมากในบริเวณ ตำบลแควอ้อม และตำบลเมืองใหม่ เขตติดต่อระหว่างอำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที ในทุกๆ ปีประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะมีการประกวดลิ้นจี่เป็นประจำ จากอำเภออัมพวาผ่านไปถึงอำเภอบางคนที สิ้นสุดที่ปากคลองบางนกแขวก ทางขวามือมีโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมองเห็นแต่ไกล สามารถที่จะแวะชมได้




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่สมุทรสงคราม