แผนที่ปัตตานี

  • แผนที่ปัตตานี
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ปัตตานี เป็นหนึ่งในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้สุดติดกับทะเลจีนใต้ หรืออ่าวไทย มีพื้นที่ประมาณ 2,052.356 ตารางกิโลเมตร และเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ รองลงมาจากจังหวัดภูเก็ต พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก ภูเขาที่สำคัญได้แก่ ภูเขาทรายขาว ซึ่งอยู่ในเทือกเขาสันกะลาคีรี มีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำตานี และแม่น้ำสายบุรี ภูมิอากาศอบอุ่นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย 27.5 อาศาฯ ฝนตกชุกในระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม ฝนตกเฉลี่ย 1,750.9 มิลลิเมตร/ปี (เฉลี่ยในรอบ 30 ปี) ฤดูกาลมี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน (เดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม) ฤดูฝน (ธันวาคม-มกราคม) ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพหลักคือการทำนา นอกจากนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด เช่น อำเภอเมือง อำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรี ยังประกอบอาชีพประมง ซึ่งส่งผลให้เกิดผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมากมาย ในอดีตจังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เป็นเมืองเก่าแก่ที่ยิ่งใหญ่ เคยมีฐานะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งเป็นรัฐอิสระของชาวไทยพุทธในพุทธศตวรรษที่ 7 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กลันตัน และตรังกานูในมาเลเซียปัจจุบัน ยังมีซากเมืองเก่าของปัตตานีในยุคนั้นปรากฏให้เห็นที่อำเภอยะรังในปัจจุบัน และจากการที่มีพื้นที่เป็นป่าเขา และมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเป็นระยะทางยาวประมาณ 176 กิโลเมตร จึงเป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางการปกครอง การค้า และวัฒนธรรม มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวหลายด้าน ทั้งด้านธรรมชาติ โบราณสถานทางประวัติศาสตร์และด้านประเพณีวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้านซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

การปกครองแบ่งออกเป็น 12 อำเภอ 115 ตำบล 642 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอหนองจิก อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น อำเภอยะหริ่ง อำเภอยะรัง อำเภอแม่ลาน อำเภอกะพ้อ

ทิศเหนือ จดกับจังหวัดสงขลา
ทิศใต้ จดกับจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา
ทิศตะวันตก จดจังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา
ทิศตะวันออก จดกับอ่าวไทย

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ปัตตานี

ทางรถยนต์ ปัตตานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ประมาณ 1,055 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถส่วนตัว สามารถใช้เส้นทางหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ระยะทาง 90 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 จนถึงจังหวัดชุมพร รวมระยะทางประมาณ 460 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 41, 42, 43 ผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ผ่านปากน้ำเทพา เข้าสู่จังหวัดปัตตานี รวมระยะทางอีก 505 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถธรรมดา และปรับอากาศ ออกจากสถานีขนสงสายใต้ ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ จากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีขบวนรถด่วนและรถเร็วบริการถึงสถานีโคกโพธิ์ทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้จากหน่วยบริการเดินทาง ภายในบริเวณสถานีกรุงเทพฯ โทร. 1690 จากสถานีโคกโพธิ์ จะมีรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่บริการระหว่างอำเภอโคกโพธิ์-อำเภอเมือง ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร

ทางเครื่องบิน

ทางอากาศ มีเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด บริการระหว่างกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ทุกวัน และต่อเครื่องจากหาดใหญ่ไปปัตตานี (สนามบินบ่อทอง) สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด โทร. 02-356-1111 นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสามารถต่อรถโดยสารประจำทางหรือรถแท็กซี่ จากหาดใหญ่ไปปัตตานีได้ทุกวัน ระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณชั่วโมงเศษ

ปัตตานีเป็นจังหวัดเก่าแก่ ที่มีวัฒนธรรมประเพณีสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โดยได้รับอิทธิพลจากลัทธิศาสนาต่างๆ เช่น ฮินดู พุทธ อิสลาม และวัฒนธรรมจากจีน เป็นต้น ประเพณีที่ขึ้นชื่อของชาวปัตตานี ได้แก่
ประเพณีชักพระ เป็นพิธีรำลึกถึงวันรับเสด็จองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับจากจำพรรษา และแสดงพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา ณ ดาวดึงส์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ครั้งพุทธกาล ต่อมาจึงได้กลายเป็นประเพณีกระทำกันทุกปี โดยพุทธศาสนิกชนในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์และใกล้เคียงจะชักลากเรือพระ ที่ตกแต่งอย่างสวยงามจากวัดต่างๆ ผู้ร่วมขบวนจะแต่งกาย อย่างงดงาม มีการฟ้อนรำหน้าเรือพระ มีการนมัสการเรือพระพร้อมกับถวายภัตตาหารพระภิกษุสามเณร ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอ และมีงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา 5 วัน 5 คืน
ประเพณีแห่นก จัดขึ้นเป็นเกียรติในงานเทศกาลงานเฉลิมฉลอง หรืองานมงคลทั่วไป เช่น พิธีสุหนัดในศาสนาอิสลาม หรือใช้เป็นขบวนแห่ต้อนรับอาคันตุกะผู้เป็นแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ นอกจากนี้ยังมีประเพณีงานสารทเดือน 10 ระหว่างวันแรม 14-15 ค่ำ มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว กลางคืนมีมหรสพของปักษ์ใต้ฉลอง เช่น ลิเกฮูลู ซึ่งคล้ายกับลำตัดหรือเพลงฉ่อยของภาคกลาง โนรา หนังตะลุง รองเง็ง (คล้ายรำวง นิยมเล่นกันในราชสำนักชวามาก่อน จึงแพร่หลายเข้ามาทางปักษ์ใต้) มะโย่ง (ละครไทยมุสลิมภาคใต้) ซีละ (กีฬาอย่างหนึ่งของชาวมลายู ซึ่งแสดงถึงศิลปะการต่อสู้ที่สง่างามและกล้าหาญ)
งานฮารีรายอ หรืองานฉลองการเลิกถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม (ในช่วงเดือน 9 ถึงวันที่ 1 เดือน 10 เป็นเวลา 30 วัน) หลังจากการเลิกถือศีลอดแล้ว ชาวไทยมุสลิมในปัตตานีจะไปชุมนุมกันที่มัสยิดกลาง เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามโดยพร้อมเพรียงกัน หลังจากนั้นจึงมีงานมหรสพฉลองเป็นที่ครื้นเครง
งานฉลองเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นงานประเพณีที่ทำกันทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ตามจันทรคติของจีน คือหลังวันตรุษจีน 15 วันของทุกปี (หรือตรงกับวันเพ็ญ เดือน 3 ตามจันทรคติของไทย) มีการสมโภชแห่แหนรูปสลักไม้มะม่วงหิมพานต์ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและรูปพระอื่นๆ โดยอัญเชิญออกจากศาลมาประทับบนเกี้ยว ตามด้วยขบวนแห่ต่างๆ มีการลุยไฟและแสดงอภินิหารต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่ โดยผู้ร่วมพิธีจะต้องถือศีลกินเจอย่างน้อย 7 วันก่อนทำพิธี ในงานนี้จะมีชาวปัตตานีและชาวจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก มีการเซ่นไหว้และเฉลิมฉลองกันเป็นที่สนุกสนาน 
งานแห่พระอีก๋ง หรือแห่เจ้าพ่อเล่าเอี่ยกง เป็นงานประเพณีของอำเภอสายบุรี ซึ่งจัดในวันแรม 2 ค่ำ และ 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ณ บริเวณศาลเจ้าบางตะโละ ซึ่งตรงข้ามตำบลตะลุบัน หรือบริเวณศาลเจ้าแห่งใหม่ ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน โดยผลัดกันจัดงานสมโภชในแต่ละแห่งปีเว้นปี จุดสำคัญของงานคือการจัด ขบวนแห่รูปแกะสลักไม้เป็นรูปพระเจดีย์เจ้าพ่อเล่าเอี่ยกงและบริวาร งานดังกล่าวนี้เป็นที่น่าสนใจของ ชาวไทยพุทธในอำเภอสายบุรีและใกล้เคียง ซึ่งได้ยินได้ฟังเรื่องราวความเป็นมาตลอด จนศรัทธาในอิทธิปาฏิหารย์ของเจ้าพ่อ
ประเพณีลาชัง ประเพณีนี้ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเรียกว่า “ปูยอบือแน” เป็นพิธีฉลองนาข้าว หรือซังข้าว ซึ่งทำกันทุกหมู่บ้าน ทั้งไทยพุทธและไทยอิสลาม ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่แต่ที่ตำบลควน อำเภอปะนาเระเท่านั้น ประเพณีนี้จะจัดให้มีขึ้นภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวราวเดือน 5 หรือเดือน 6 จะมีการทำหุ่นฟางรูปชาย-หญิงจับคู่กัน แล้วจัดขบวนแห่ไปวางไว้บนศาลเพียงตา พร้อมทั้งเครื่องสังเวย เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวเหนียวห่อต้ม ไข่ต้ม เป็นต้น หลังจากนั้นผู้อาวุโสในหมู่บ้านท่านหนึ่งจะกล่าวคำ บวงสรวงแต่งงานให้แก่หุ่นซังข้าว แล้วนำหุ่นดังกล่าวไปเก็บไว้ในนาใกล้ๆ ศาลเพียงตา จุดประสงค์ของการทำพิธี นี้ก็เพื่อขอบคุณเจ้าแม่โพสพ หรือพระเจ้าที่บันดาลให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ และเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงหลังการเก็บเกี่ยว
งานแข่งขันกีฬาตกปลาสายบุรี จะจัดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่บริเวณชายหาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี กีฬาตกปลาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และจากสภาพภูมิศาสตร์ของหาด ที่มีชายฝั่งทะเลยาวเหยียด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลานานาชนิด จึงทำให้กีฬาตกปลานี้เป็นกีฬาที่น่าตื่นเต้น ท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง

 

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอเมือง

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ที่จัดสร้างขึ้นบริเวณริมทะเลสาบแม่น้ำปัตตานีฝั่งซ้าย ไปจนจดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 155 ไร่ เป็นสวนป่าชายเลนที่ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับ มีทิวทัศน์สวยงามร่มรื่น จึงมีผู้นิยมไปพักผ่อนหย่อนใจกันมาก
หมู่บ้านรูสะมิแล รูสะมิแลเป็นภาษายาวี แปลว่า สนเก้าต้น เป็นท้องที่ของตำบลที่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็น ชายทะเลด้านทิศเหนือของอำเภออาณาเขตของบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่นักศึกษาและที่ชาวบ้านเรียกในพระปรมาภิไธยย่อของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชว่า “ม.อ.” ตามตำนานกล่าวว่า สนเก้าต้นนี้เป็นเรือสำเภาที่ลิ้มกอเหนี่ยวนำมา 9 ลำ เพื่อตามพี่ชายกลับเมืองจีน เมื่อขาดการดูแลเรือได้จมลง เหลือแต่เสากระโดง ซึ่งทำด้วยต้นสนเก้าต้น
พิพิธภัณฑ์ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในภาคใต้ เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 และเริ่มเปิดคณะศึกษาศาสตร์เป็นคณะแรกในปี พ.ศ. 2511 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อปี พ.ศ. 2526 ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นที่รวมเอกสาร โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พระพุทธรูป พระพิมพ์ หัตถกรรมพื้นบ้านของภาคใต้ เงินตรา สมุดข่อย พระคัมภีร์อัลกุรอ่านฉบับที่เขียนด้วยลายมือ ปืนใหญ่หล่อด้วยทองเหลือง เครื่องถ้วยชาม ตลอดจนหินจารึกหน้าหลุมศพเป็นภาษาจีนเกี่ยวกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และลิ้มโต๊ะเคี่ยม โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชนชาติต่างๆ ที่เดินทางมาติดต่อค้าขายในอดีต เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจวัฒนธรรมและประเพณี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดทำการในเวลาราชการ
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เป็นมัสยิดที่สวยที่สุดของไทย สร้างในปี พ.ศ. 2497 และทำพิธีเปิดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2506 เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก หลังคาทรงสี่เหลี่ยมชั้นเดียว มีโดมใหญ่ 2 โดม รายรอบด้วยโดมเล็กๆ อีกหลายโดม ดูสวยงามสง่าและสงบ มัสยิดกลางแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตัวเมืองปัตตานี ริมถนนสายปัตตานี-ยะลา (ทางหลวงหมายเลข 410) หรือจากถนนพิพิธแล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนไปจังหวัดยะลา ระยะทางประมาณ 500 เมตร จะเห็นมัสยิดกลางตั้งตระหง่านอยู่ริมถนนอย่างสง่างาม เปิดให้เข้าชมภายในทุกวัน เวลา 09.00-15.30 น. แต่ไม่ควรที่จะไปในวันศุกร์ ระหว่างเวลา 12.00-14.00 น. ซึ่งเป็นวันละหมาดประจำสัปดาห์
ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่บริเวณสนามศักดิ์เสนีย์ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี ตำบลสะบารัง อำเภอเมือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2494 สมัยพระยารัตนภักดีเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองปัตตานีและนักท่องเที่ยวที่แวะไปเที่ยว มักจะพากันไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
มัสยิดกรือเซะและสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง ตามทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นมัสยิดเก่าแก่ อายุกว่า 200 ปี สันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยอยุธยา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2478 ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบเสากลมรูปลักษณะแบบเสาโกธิกของยุโรป ช่องประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลมและโค้งมน ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ หลังคาโดมซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ บริเวณด้านหน้าของมัสยิดมีฮวงซุ้ย หรือสุสานที่ฝังศพของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ได้รับการตกแต่งพูนดินใหม่ปรากฏอยู่ มีผู้คนไปกราบไหว้กันมาก พร้อมด้วยสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น เก๋งจีน โอ่งน้ำสีแดง (ซึ่งจุน้ำได้ถึง 120,000 ลิตร)
มัสยิดกรือเซะนี้สร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งเป็นชาวจีนได้มาแต่งงานกับธิดาพระยาตานี และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาน้องสาวของลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อลิ้มกอเหนี่ยว ได้ลงเรือสำเภามาตามให้พี่ชายกลับเมืองจีน แต่ไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้สร้างมัสยิดกรือเซะขึ้น ลิ้มกอเหนี่ยวจึงได้สาปแช่งขออย่าให้สร้างมัสยิดสำเร็จ และตัวเองได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้จัดการฝังศพน้องสาวไว้ที่หน้ามัสยิดนี้ ชาวปัตตานีนำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้า ต่อมาได้มีการอัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนอาเนาะรูในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เรียกว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง (ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) เป็นที่นับถือของชาวปัตตานีและชาวจังหวัดใกล้เคียง ในเดือน 3 ของทุกปี (กุมภาพันธ์-มีนาคม) จะมีพิธีเซ่นไหว้และแห่เจ้าแม่ นับว่าเป็นพิธีที่สนุกสนานมาก ส่วนมัสยิดกรือเซะก็เป็นไปตามคำสาป เพราะไม่สามารถสร้างเสร็จได้ เมื่อจะสร้างต่อก็ให้มีอาเพศฟ้าผ่าทุกครั้งไป จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีใครกล้าสร้างมัสยิดกรือเซะต่อ คงเหลือซากทิ้งไว้ตราบเท่าทุกวันนี้
สถานที่หล่อปืนใหญ่ อยู่เลยมัสยิดกรือเซะไปประมาณ 1 กิโลเมตร ในเขตตำบลตันหยงลุโละ ริมทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) รวมระยะทางห่างจากตัวเมือง 8 กิโลเมตร เชื่อกันว่าเป็นสถานที่หล่อปืนใหญ่พญาตานีด้วยเช่นกันซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ปัจจุบันนำมาไว้ที่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ บริเวณสถานที่หล่อปืนใหญ่นี้ เป็นบริเวณที่มีดินสีดำ แตกต่างจากบริเวณอื่น หญ้ายังแห้งตายไม่ยอมขึ้น แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 200 ปีแล้วก็ตาม

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอยะหริ่ง

วังเก่ายะหริ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลยามู ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 13 กิโลเมตร เป็นถนนราดยางตลอดสาย วังเก่ายะหริ่งได้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2438 ปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ผู้สร้างคือ พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดี ศรีสุรสงคราม วังเก่ายะหริ่งเป็นอาคารสองชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ มีบันไดโค้งทอดขึ้นไปสู่ระเบียงทั้งสองด้าน จากระเบียงมีประตูเปิดเข้าสู่ห้องโถงใหญ่ ลักษณะคล้ายกับท้องพระโรง เจ้าของวังยินดีให้ชมบริเวณรอบวังได้โดยรอบ
หาดตะโละกาโปร์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีตามทางหลวงหมายเลข 42 (ปัตตานี-นราธิวาส) เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอยะหริ่ง ข้ามคลองยามูตามสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ ผ่านพื้นที่สวนป่าชายเลนและหมู่บ้านไปจนถึงทางแยกเข้าสู่หาด รวมระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร หาดตะโละกาโปร์เป็นหาดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปัตตานี เคยประกวดแหล่งท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ที่ 2 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ประจำปี 2529 ลักษณะของหาดตะโละกาโปร์เป็นหาดทรายขาวสะอาดขนานกับชายฝั่งทะเล มีพื้นที่กว้างประมาณ 40 เมตร มีเรือกอและของชาวประมงจอดอยู่เป็นจำนวนมาก หาดทรายแห่งนี้งอกยาวขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเกิดจากกระแสน้ำพัดเอาตะกอนทรายมาทับถมพอกพูน เหมาะแก่การไปนั่งพักผ่อนชมความสวยงาม มีทิวสนและต้นมะพร้าวให้ความร่มรื่นสวยงาม
 มัสยิดบ้านดาโต๊ะ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านดาโต๊ะ ตำบลแหลมโพธิ์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 19 กิโลเมตร บนเส้นทางเดียวกับทางไปหาดตะโละกาโปร์ เป็นทางราดยางประมาณ 16 กิโลเมตร และทางลูกรังอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในประวัติศาสตร์ด้านศาสนา ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้ว
แหลมตาชี หรือแหลมโพธิ์ เป็นหาดทรายขาวยื่นต่อจากหาดตะโละกาโปร์ไปในทะเลอ่าวไทยทางทิศเหนือยาว 11 กิโลเมตร เป็นป่าสนทะเล หาดทรายขาวสะอาด เหมาะสำหรับตากอากาศและเล่นน้ำทะเล อยู่ในเขตตำบลตะโละกาโปร์ การเดินทางไปแหลมตาชีไปได้ 2 ทาง คือ
 ทางน้ำ นั่งเรือจากปากแม่น้ำปัตตานีตรงไปยังแหลมตาชีเลย ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ นั่งเรือจากท่าด่านอำเภอยะหริ่ง ออกมาตามคลองยามู ทะลุทะเลในไปจนถึงแหลมตาชี
ทางบก จากอำเภอยะหริ่ง ข้ามคลองยามูมาตามสะพานไม้ มีถนนตัดเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร จนถึงหมู่บ้านที่ 2 ตำบลตะโละกาโปร์ และนั่งเรือหางยาวต่อไปจนถึงปลายแหลม

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอปะนาเระ

  หาดชลาลัย ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร ไปตามถนนราดยางสายปัตตานี-นราธิวาส เลี้ยวซ้ายเข้าสู่อำเภอปะนาเระและแยกเข้าสู่ชายหาด จุดเด่นของหาดแห่งนี้อยู่ที่บึงน้ำขนาดใหญ่ใกล้บริเวณทิวสน ซึ่งให้บรรยากาศที่สงบร่มรื่นเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
หาดมะรวด อยู่ถัดจากหาดชลาลัยไปประมาณ 2 กิโลเมตร การเดินทางเช่นเดียวกับทางไปหาดชลาลัย แต่ไปต่อจนถึงทางแยกจากถนนปะนาเระ-สายบุรี และเลี้ยวซ้ายไปสู่หาด ลักษณะเด่นของหาดมะรวดได้แก่ ภูเขาหินที่มีขนาดเล็กที่ตั้งซ้อนทับกันอยู่ดูแปลกตา และบนภูเขาก็ยังมีต้นมะพร้าวขึ้นสวยงามเด่นชัดท่ามกลางหาดทรายขาวสะอาด และมีทางเดินทอดยาวให้ขึ้นไปเดินเล่นบนยอดเขาได้อีกด้วย
หาดราชรักษ์ เป็นหาดทรายต่อเนื่องกับหาดชลาลัย หาดมะรวดและหาดแฆแฆ โดยอยู่ถัดจากหาดมะรวดไปเพียง 1 กิโลเมตร และอยู่ก่อนถึงหาดแฆแฆประมาณ 2 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางเดียวกับที่ไปหาดชลาลัย และหาดมะรวด โดยแยกไปตามทางแยกเข้าสู่หาดราชรักษ์ ลักษณะเด่นของหาดราชรักษ์คือเป็นหาดทรายกว้างล้อมรอบด้วยโขดหิน และหุบเขาเตี้ยๆ บนเนินเขา จัดเป็นสถานที่ชมทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
หาดแฆแฆ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 43 กิโลเมตร แฆแฆ เป็นภาษามลายูท้องถิ่น (ภาษายาวี) มีความหมายว่า อึกทึกครึกโครม อยู่ในท้องที่ตำบลบ้านน้ำบ่อ ตั้งอยู่ห่างจากหาดราชรักษ์ประมาณ 2 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงสายปัตตานี-นราธิวาส เลี้ยวซ้าย เข้าสู่อำเภอปะนาเระไปจนถึงทางแยกขวามือไปสู่อำเภอสายบุรี จึงเดินทางต่อไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4157 (ปะนาเระ-สายบุรี) หาดแฆแฆอยู่ในเขตหุบเขาเตี้ย ล้อมรอบด้วยโขดหิน ลักษณะแปลกตาสวยงาม บนเนินเขามีศาลาพักผ่อนและเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง กล่าวกันว่าหาดแฆแฆนี้เป็นหาดทราบที่สงบ และสวยงามของจังหวัดปัตตานี
หาดปะนาเระ อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงหลายร้อยหลังคาเรือน บนหาดทรายอันยาวเหยียด มีเรือกอและ และเรือประมงนานาชนิดจอดเรียงรายอยู่ทั่วทั้งหาด หาดทรายไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เพราะเป็นหมู่บ้านชาวประมงและที่จอดเรือ
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เขาบ่อชัย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลคอกกระบือ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 44 กิโลเมตร เป็นถนนดินลูกรังประมาณ 8 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของตำบลคอกกระบือ มีภูเขาลูกหนึ่งเรียกกันว่า เขาบ่อไพร บนยอดเขามีบ่อน้ำที่เชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบันขึ้นครองราชย์ ก็ได้นำน้ำจากบ่อแห่งนี้ไปใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกด้วย ซึ่งต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น บ่อชัย
ตลาดนัดปาลัส อยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 30 กิโลเมตร บนทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ประมาณ ก.ม. ที่ 42-43 เข้าสู่อำเภอปะนาเระ ในช่วงเวลาเช้า-สาย จะมีตลาดนัดริมทาง ชาวไทยมุสลิมแบบเครื่องแต่งกายพื้นเมืองโพกศีรษะด้วยผ้าบาติกสีฉูดฉาดเดินไปมาหาซื้อของในตลาดแห่งนั้น เป็นภาพซึ่งน่าชม ชีวิตชนบทของชาวไทยมุสลิมที่มีบรรยากาศเมืองใต้อย่างแท้จริง

 สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอสายบุรี

  ภูเขาสะลินดงบายู ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 50 กิโลเมตร อยู่ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน เป็นถนนราดยางตลอดสาย ภูเขานี้มี “ถ้ำปิด” ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่ที่เชิงเขาด้านหลังสำนักงานเทศบาลตำบลตะลุบัน เป็นปากถ้ำขนาดไม่ใหญ่นักแต่มีหินปิดสนิทอยู่ ส่วนทางด้านหลังเขามีโพนงปรากฏอยู่ และที่ศาลาเชิงเขา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายแดง ศิลปะร่วมสมัยอยุธยาปางมารวิชัย 2 องค์ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแล้ว นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่ง
 หาดวาสุกรี (ชายหาดบ้านปาตาตีมอ) อยู่ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อยู่ห่างจากตัวเมือง 52 กิโลเมตร ในเขตอำเภอสายบุรี และอยู่ห่างจากตัวอำเภอสายบุรีเพียง 2 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองปัตตานี ใช้เส้นทางหลวงสายปัตตานี-นราธิวาส แล้วอาจเลือกเดินทางผ่านหาดแฆแฆไปจนถึงอำเภอสายบุรี หรือไปเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าสู่อำเภอสายบุรีโดยตรงก็ได้ สภาพถนนเป็นทางราดยางตลอดจนถึงสะพานข้ามแม่น้ำ จากนั้นเป็นถนนลูกรังบดอัดแน่นผ่านหมู่บ้านชาวประมง และป้อมยามตำรวจอีกประมาณ 150 เมตร จึงถึงบริเวณชายหาด ลักษณะของหาดทรายเป็นแนวยาวขนานไปกับทิวสน ทำให้หาดวาสุกรีเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและการพักผ่อน ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายที่อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างพร้อมทั้งร้านอาหารและที่พัก
บ้านปะเสยะวอ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปะเสยะวอ เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการต่อเรือกอและ ซึ่งเป็นเรือประมงของชาวปัตตานีและนราธิวาส มีลักษณะเป็นเรือหัวแหลมท้ายแหลม ระบายสีสันงดงาม การเดินทางจากถนนสายใหม่ที่ตัดจากอำเภอปะนาเระไปยังอำเภอสายบุรี ผ่านกลางบ้านปะเสยะวอ ทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสแวะชมฝีมือการต่อเรือกอและของชาวปะเสยะวอได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้นนักท่องเที่ยวอาจใช้เส้นทางเดียวกับทางที่ไปหาดแฆแฆ แล้วเดินทางต่อไปตามถนนซึ่งตัดเลียบชายทะเลไปจนถึงบ้านปะเสยะวอ เรือกอและของชาวบ้านปะเสยะวอมีทั้งขนาดใหญ่ที่เป็นเรือประมงจริงๆ และขนาดเล็กที่จำลองขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึก ฝีมือการต่อเรือกอและที่นี่ได้รับการยอมรับว่าประณีตและงดงามไปด้วยการสอดประสานศิลปะไทยและมุสลิมอย่างกลมกลืน นอกจากนี้บ้านปะเสยะวอยังมีชื่อเสียงในด้านการสานเสื่อกระจูดด้วยฝีมือระดับศิลปาชีพ และการทำน้ำบูดูรสดีอีกด้วย
ศาลเจ้าพ่อเล่าเอี่ยกง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลปะเสยะวอ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 52 กิโลเมตร สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว เนื่องจากมีชาวประมงลากเรือติดเอาท่อนไม้ที่มีรอยแกะสลักเป็นรูปพระจีนขึ้นมาด้วย กล่าวว่าได้แสดงปาฏิหารย์และมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของประชาชนมาก จึงสร้างศาลเจ้าขึ้นเป็นที่สักการะ ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าการเดินทางไปสักการะมีความลำบาก จึงได้แกะรูปพระขึ้นใหม่โดยจำลองจากองค์จริงและทำพิธีอัญเชิญวิญญาณเจ้าพ่อเล่าเอี่ยกงมาสิงสถิต และสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ขึ้นที่ฝั่งตำบลตะลุบันเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว และในราววันแรม 2 ค่ำ และ 3 ค่ำ เดือน 3 จะมีงานประเพณีแห่เจ้าพ่อเล่าเอี่ยกงและบริวารขึ้นที่ศาลเจ้าทั้งสองแห่ง โดยจะจัดงานสมโภชในแต่ละแห่ง ปีเว้นปี
พระพุทธรูปวัดสุทธิกาวาส (วัดสักขี) ตั้งอยู่ในเขตตำบลละหาร ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร วัดนี้เป็นวัดโบราณเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างมาประมาณเกือบ 200 ปีมาแล้ว ในวัดมีเนินเขาเตี้ยๆ มีบันไดอิฐขึ้นไปถึงวิหารเล็กๆ บนยอดเขาในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 3 องค์ ก่อด้วยปูนแบบโบราณ วัดนี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยพุทธในละแวกนั้น ซึ่งพากันมาทำบุญในวันสำคัญทางศาสนาอย่างเนืองแน่น

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอมายอ

  เขาฤาษี ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลมายอ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 31 กิโลเมตร เป็นถนนราดยาง 30 กิโลเมตร และทางลูกรังอีกประมาณ 1 กิโลเมตร เขาฤาษีเป็นภูเขาโขดหินธรรมชาติ มีบ่อน้ำก่อด้วยอิฐกว้าง 2 ศอก ลึกประมาณ 5 ศอก ถือว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทางราชการเคยนำไปใช้ในพิธีราชาภิเษกหลายรัชกาล บนเขาฤาษีนี้ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเขาฤาษีแปลงสาสน์ มีการสร้างโบสถ์ครอบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ปัจจุบันยังเป็นที่เคารพบูชาของชาวปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งขึ้นไปเที่ยวชมอยู่เสมอ

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอยะรัง

  ซากเมืองเก่า เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ มีซากโบราณสถานอยู่ราว 30 แห่ง ในบริเวณพื้นที่กว้าง 10 ตารางกิโลเมตร ที่ตำบลยะรัง ตำบลปิตูมุดี และตำบลวัด มีอายุประมาณ 1,400 ปีมาแล้ว โบราณสถานแห่งนี้สภาพทั่วไปมีความซับซ้อนของ อาคารปราสาทคูคลองที่ใช้ป้องกันข้าศึก และบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของชนชาติไทยในศตวรรษที่ 12-14

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอหนองจิก

  วัดมุจลินทวาปีวิหาร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 7 กิโลเมตร ริมเส้นทางหลวงสายปัตตานี-โคกโพธิ์ ในเขตสุขาภิบาลอำเภอหนองจิก เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจิกจากที่เก่า มาอยู่ที่ตำบลตุยง เมื่อ พ.ศ. 2388 มีชื่อว่า วัดตุยง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองหนองจิก และมีพระราชศรัทธาบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างพระอุโบสถ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมุจลินทวาปีวิหาร” ปัจจุบันเป็นอารามหลวงและมีการบูรณะพระอุโบสถอยู่ในสภาพที่มั่นคงสวยงาม สถานที่สำคัญที่สุดของวัดคือวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของอดีตเจ้าอาวาส 3 องค์ โดยเฉพาะพระราชพุทธรังษีหรือหลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 ซึ่งประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เคยได้ยินกิตติศัพท์คุณความดีของหลวงพ่อ ต่างเลื่อมใสศรัทธาเดินทางมานมัสการสักการะบูชาอยู่เสมอ
หาดรัชดาภิเษก หรือหาดสายหมอ ตั้งอยู่ที่บ้านสายหมอ ตำบลบางเขา ห่างจากตัวจังหวัดปัตตานีประมาณ 15 กิโลเมตร เดินทางจากจังหวัดตามเส้นทางสายปัตตานี-โคกโพธิ์ ถึงบ้านคลองขุด ห่างจากที่ว่าการอำเภอหนองจิกประมาณ 2 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าถนนดินลูกรังระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ชายหาดร่มรื่นด้วยทิวสนสำหรับนั่งพักผ่อน แต่ไม่เหมาะสำหรับการเล่นน้ำทะเล เพราะชายหาดเป็นลักษณะดินปนทราย และน้ำทะเลไม่ใส

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอโคกโพธิ์

   พลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่ 7 ตั้งอยู่ในบริเวณที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 26 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 42 เป็นศาลาทรงไทยที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อ พ.ศ. 2472 ปัจจุบันพลับพลาที่ประทับได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมไว้ นับเป็นสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่สวยงามมาก
วัดช้างให้ หรือวัดราษบูรณาราม ตั้งอยู่ที่บ้านป่าไร่ ตำบลทุ่งพลา ริมทางรถไฟสายหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระหว่างสถานีนาประดู่กับสถานีป่าไร่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 31 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงสายปัตตานี-โคกโพธิ์ ผ่านสามแยกนาเกตุ ตรงไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 409 (ปัตตานี-ยะลา) ผ่านชุมชนสุขาภิบาลนาประดู่และสวนยางไปจนถึงซุ้มที่ประตูวัดทางซ้ายมือ เพื่อแยกเข้าสู่วัดช้างให้อีกประมาณ 700 เมตร สภาพถนนราดยางตลอดสาย วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมากว่า 300 ปีมาแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง ภายในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมของสถูป เจดีย์ มณฑป อุโบสถ และหอระฆัง ล้วนงดงามน่าชื่นชมทั้งสิ้น
หลวงปู่ทวดวัดช้างให้ เป็นผู้มีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและด้านเวทมนตร์คาถาต่างๆ บางครั้งท่านได้แสดงอิทธิปาฏิหารย์เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้คน เช่นครั้ง ที่ท่านเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาด้วยเรือสำเภา ระหว่างทางเกิดพายุ จนกระทั่งข้าวปลาและอาหารตลอดจนน้ำดื่มตกลงทะเลไป ลูกเรือรู้สึกกระหายน้ำมาก หลวงปู่ทวดจึงได้แสดงอภินิหารหย่อนเท้าลงไปในทะเล ปรากฏว่าน้ำในบริเวณนั้นได้กลายเป็นน้ำจืด และดื่มกินได้ ตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงของท่านก็ขจรขจายไปทั่ว และต่อมาหลวงปู่ทวดได้เสด็จมรณภาพที่ประเทศมาเลเซีย แล้วได้นำพระศพกลับมาที่วัดช้างให้ ที่พักพระศพของหลวงปู่ทวดได้กลายมาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านสักการะมาจนทุกวันนี้ พระเครื่องสมเด็จหลวงปู่ทวดมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เชื่อถือของนักเล่นพระมาก งานประจำปีในการสรงน้ำอัฐิหลวงปู่ทวดวัดช้างให้คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 วัดช้างให้เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ตั้งอยู่ที่ตำบลทรายขาว ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 38 กิโลเมตร หือห่างจากที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ประมาณ 6 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 42 เลี้ยวเข้าบ้านนาเกตุ เข้าทางหลวงหมายเลข 409 (โคกโพธิ์-นาประดู่) จะเห็นป้าย “น้ำตกทรายขาว” เลี้ยวเข้าไปตามเส้นทาง 4072 ถึงวัดทรายขาว จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางราดยางอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยาน อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวประกอบด้วยจุดเด่นตามธรรมชาติ น้ำตกที่สวยงาม และสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ควรค่าแก่การศึกษา ลักษณะภูมิประเทศทั้งหมดจะอยู่ในบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ยาวสลับซับซ้อนติดต่อกัน และมียอดเขาบางจันทร์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ส่วนใหญ่พื้นที่จะลดลงไปทางทิศตะวันตก เป็นที่เนินเขาและที่ราบ ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย ส่วนมากหินเป็นหินปูนและหินแกรนิต สภาพภูมิอากาศไม่ร้อนจัดนัก
 -น้ำตกทรายขาว อยู่ในเขตตำบลทรายขาว เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงประมาณ 30 เมตร แล้วไหลลงไปตามลำธารซึ่งบางตอนเป็นแอ่งสวยงามมาก มีความยาวประมาณ 700 เมตร สองข้างลำธารมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมตลอด ให้ความร่มรื่น และสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
 -น้ำตกโผงโผง ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 เขตตำบลปากล่อ เดินทางจากจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 409 ถึงบ้านปากล่อ เลี้ยวขวาไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็ถึงตัวน้ำตก รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร น้ำตกโผงโผงเป็นน้ำตกที่ไหลลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได จำนวน 7 ชั้น จากที่ราบชั้นล่างสุดมีแอ่งน้ำตกขนาดใหญ่มองขึ้นไปยังผาน้ำตกชั้นบน จะมองเห็นน้ำตกไหลลงมาเป็นสายน้ำคดเคี้ยวตามหน้าผาและโขดหิน ความสูงของตัวน้ำตกจากยอดเขาสู่แอ่งประมาณ 40 เมตร พื้นที่บริเวณสองข้างลำธารและบริเวณที่ใกล้น้ำตกมีความร่มรื่นถูกปกคลุมด้วยกิ่งใบของพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ขึ้นอยู่หนาแน่น
 -น้ำตกอรัญวาริน ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งพลา การเดินทางจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 409 ถึงบ้านห้วยเงาะ ตำบลทุ่งพลา เลี้ยวขวาไปตามทางลูกรัง อีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็ถึงตัวน้ำตก รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 37 กิโลเมตร น้ำตกอรัญวารินเป็นน้ำตกในเทือกเขาสันกาลาคีรี ลักษณะน้ำตกแบ่งออกเป็นชั้นๆ รวม 7 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 300-500 เมตร ซึ่งในแต่ละชั้นมีลักษณะความสวยงามแตกต่างกันออกไป

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตกิ่งอำเภอไม้แก่น

  หาดทราย-ชายบึงบ้านละเวง เดินทางจากตัวเมืองไปตามเส้นทางสายปัตตานี-นราธิวาส เป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ทางแยกเข้ากิ่งอำเภอไม้แก่นอยู่ทางซ้ายมือ เมื่อข้ามสะพานกอตอไปและอีกเพียง 8 กิโลเมตร ก็จะถึงชายบึงและหาดทรายบ้านละเวง มีสภาพแวดล้อมและธรรมชาติงดงามแปลกตาแก่ผู้ที่พบเห็น ลักษณะของหาดทรายแห่งนี้ คือ มีบึงขนาดใหญ่เคียงข้างหาดทรายขาวสะอาด ให้บรรยากาศแตกต่างจากหาดทรายอื่น
หาดบางสาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลไทรทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 74 กิโลเมตร เป็นถนนราดยางตลอดสาย ลักษณะเป็นหาดทรายชายทะเลยาวประมาณ 5 กิโลเมตร
หาดป่าไหม้ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลไทรทอง เป็นหาดทรายต่อจากหาดบางสาย นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตกิ่งอำเภอทุ่งยางแดง

   วนอุทยานปราสาทนางผมหอม อยู่ในเขตตำบลพิเทน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 52 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 410 (ปัตตานี-ยะลา) ถึงหลัก ก.ม. ที่ 15 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4061 ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงอำเภอมายอ แล้วใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4092 ถึงหลัก ก.ม. ที่ 12 แยกเข้าเส้นทางสายมายอ-โต๊ะชูด เป็นทางลูกรังระยะทางอีกประมาณ 11 กิโลเมตร ก็ถึงวนอุทยานปราสาทนางผมหอม ในวนอุทยานมีน้ำตกลักษณะไม่สูงนัก มีลำธารยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีน้ำมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตกิ่งอำเภอกะพ้อ

  น้ำตกห้วยบือแนบูดี อยู่ในบริเวณเทือกเขาน้ำค้าง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางสายปัตตานี-สายบุรี-รือเสาะ เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 11 จึงแยกเข้าสู่น้ำตกด้วยถนนดินลูกรังประมาณ 2 กิโลเมตร ลักษณะของน้ำตกแยกเป็น 2 สาย แล้วไหลมารวมกันก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสายบุรี จุดเด่นของน้ำตกแห่งนี้ได้แก่ ความสวยงามบริเวณลำธารที่ยาวประมาณ 1,200 เมตร

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ปัตตานี