แผนที่เพชรบุรี

  • แผนที่เพชรบุรี
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

เพชรบุรีเป็นเมืองที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณและเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของไทยในกลุ่มหัวเมืองฝ่ายตะวันตก มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ มีหลักฐานชื่อเรียกปรากฏในหนังสือชาวต่างประเทศ เช่น ชาวฮอลันดาเรียกว่า “พิพรีย์” ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า “พิพพีล์” และ “ฟิฟรี” จึงสันนิษฐานกันว่าชื่อ “เมืองพริบพรี” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองเพชรบุรี ซึ่งสอดคล้องกับชื่อวัดพริบพลี ที่เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัด และที่วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ตั้งเสาชิงช้าอีกด้วย

เพชรบุรี (ศรีชัยวัชรบุรี) เป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ เคยเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ อาณาจักรหนึ่ง บางสมัยมีเจ้าผู้ครองนครหรือกษัตริย์ปกครองเป็นอิสระ บางสมัยอาจจะตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรที่เข้มแข็งกว่า เจ้าผู้ครองนครได้ส่งเครื่องบรรณาการไปยังเมืองจีนเป็นประจำ เพชรบุรีมีปรากฏเป็นหลักฐานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่น พระปรางค์ 5 ยอด ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร และปราสาทหินศิลาแลง ณ วัดกำแพงแลงเป็นต้น โดยที่มาของชื่อเมืองนั้นอาจเรียกตามตำนานที่เล่าสืบกันมาว่าในสมัยโบราณเคยมีแสงระยิบระยับในเวลาค่ำคืนที่เขาแด่น ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่ามีเพชรพลอยบนเขานั้นจึงพากันไปค้นหาแต่ก็ไม่พบ จึงได้ออกค้นหาในเวลากลางคืนแล้วใช้ปูนที่ใช้สำหรับกินหมากป้ายเป็นตำหนิไว้เพื่อมาค้นหาในเวลากลางวัน แต่ก็ไม่พบ บ้างก็ว่าเรียกตามชื่อของแม่น้ำเพชรบุรี เมืองเพชรบุรีมีศิลปวัตถุมากมาย เป็นหลักฐานที่แสดงว่าเพชรบุรีเคยเป็นบ้านเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นชุมชนถาวรมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เช่น ศิลปะปูนปั้น

เมื่อถึงยุคของอาณาจักรสุโขทัย แม้อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงแม้จะมีอำนาจครอบคลุมเพชรบุรี แต่เพชรบุรีก็ยังมีอิสระอยู่มาก สามารถส่งทูตไปจีนได้ ต้นวงศ์ของกษัตริย์เพชรบุรีในช่วงสมัยสุโขทัยคือ พระพนมทะเลศิริ ผู้เป็นเชื้อสายของพระเจ้าพรหมแห่งเวียงไชยปราการ ราชวงศ์นี้ได้ครองเมืองเพชรบุรีมาจนถึงสมัยพระเจ้าอู่ทองจึงได้เสด็จไปสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ในสมัยอยุธยาตอนต้น เพชรบุรีขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาในแบบศักดินาสวามิภักดิ์มีขุนนางควบคุมเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ อำนาจในส่วนกลางมีมากขึ้น เพชรบุรียังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นอำนาจจากส่วนกลางจึงมามีส่วนในการปกครองเพชรบุรีมากกว่าเดิม

ในสมัยพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2113 พระยาละแวก เจ้าเมืองเขมร ยกกองทัพมาที่อยุธยา มาสู้กับกองทัพอยุธยา สู้ไม่ได้ แพ้ หนีไป อีก 5 ปีต่อมา พ.ศ. 2118พระยาละแวกยกทัพเรือมาที่อยุธยาอีก สู้อยุธยาไม่ได้อีก ยกกองทัพกลับไป พ.ศ. 2121 ทางเขมรได้ให้พระยาจีนจันตุยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรี แต่ชาวเพชรบุรีป้องกันเมืองไว้ได้ พ.ศ. 2124 อยุธยาติดพันรบกับกบฏ พระยาละแวกก็เลยชิงยกกองทัพเรือมาเองมีกำลังประมาณ 7,000 คน เมืองเพชรบุรีจึงตกเป็นของเขมร จนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตีเขมรชนะ เพชรบุรีจึงเป็นอิสระ โดยพ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวรฯ พิจารณานิสัย สันดานของเขมรแล้ว เจ็บช้ำพระทัย จึงยกกองทัพไปตีเขมร จับครอบครัวเอาไว้แล้วมาไว้ที่อยุธยา ตัดคอล้างพระบาท เพราะชอบฉกฉวยโอกาสขณะที่อยุธยาตีติดทัพที่อื่น แต่พระองค์ท่านยังมีพระเมตตา ให้โอกาสลูกชายคนโตของพระยาละแวก กลับไปปกครองเขมรต่อ แล้วให้ระบุว่า จะต้องไม่เป็นกบฏต่ออยุธยา และต้องเป็นเมืองขึ้นของสยามต่อไป [5] และเนื่องจากทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีเป็นพิเศษ จึงได้เสด็จมาประทับที่เมืองเพชรบุรีเป็นเวลาถึง 5 ปี ก่อนจะทรงยกทัพใหญ่ไปปราบพม่า และสวรรคตที่เมืองหาง

เจ้าเมืองเพชรบุรีและชาวเมืองเพชรบุรีได้ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับข้าศึกหลายครั้ง นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเชษฐาธิราชและสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โดยเฉพาะในสมัยพระเทพราชานั้น การปราบปรามเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่ง แข็งเมือง พระยาเพชรบุรีได้เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสบียงให้แก่กองทัพฝ่ายราชสำนักอยุธยา อย่างไรก็ดีเมืองเพชรบุรีถูกตีแตกอีกครั้ง เมื่อพม่าโดยมังมหานรธราได้ยกมาตีไทย จนไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 นั่นเอง

เพชรบุรีในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์

ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยยังคงทำสงครามกับพม่ามาโดยตลอดซึ่ง เจ้าเมืองและชาวเมืองเพชรบุรีก็ยังคงมีส่วนในการทำสงครามดังกล่าว จนเมื่อพม่าตกเป็นของอังกฤษ บทบาทของเมืองเพชรบุรีที่มีต่อเมืองหลวงและราชสำนักจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งยังผนวชอยู่เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้สร้างพระราชวัง วัด และพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นบนเขาเตี้ย ๆ ใกล้กับตัวเมืองและพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเพชรบุรี คือ “พระรามราชนิเวศน์” หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “วังบ้านปืน” และด้วยความเชื่อที่ว่าอากาศชายทะเลและน้ำทะเลอาจบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวัง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ขึ้นที่ชายหาดชะอำเพื่อใช้เป็นที่ประทับรักษาพระองค์

เพชรบุรีมีพื้นที่ 6,255.138 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศทางด้านทิศตะวันตกเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นอาณาเขต ระหว่างไทยกับสหภาพพม่า เฉพาะในเขตจังหวัดเพชรบุรีมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบไปจนจด ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีความยาวจากเหนือจดใต้ ประมาณ 80 กิโลเมตร พื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี มีความยาวตลอดสาย 227 กิโลเมตร แม่น้ำบางกลอย มีความยาว 44 กิโลเมตร และแม่น้ำบางตะบูน มีความยาว 18 กิโลเมตร

ประชากรจังหวัดเพชรบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำนา สวนผลไม้ ทำน้ำตาลโตนด เลี้ยงสัตว์ และทำการประมง

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดกับอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ
ทิศตะวันออก ติดต่อชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสหภาพพม่า

การปกครอง

จังหวัดเพชรบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ

อำเภอเมือง อำเภอเขาย้อย อำเภอ หนองหญ้าปล้อง อำเภอบ้านแหลม อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอแก่งกระจาน และอำเภอชะอำ

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-เพชรบุรี

ทางรถยนต์ ทางที่สะดวกและใกล้ที่สุดคือ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (สายธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจังหวัดเพชรบุรี รวมระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร หรือจากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านนครปฐม ราชบุรี ไปยังเพฃรบุรี เป็นระยะทาง 166 กิโลเมตร

หากเดินทางโดยรถประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้ กรุงเทพฯ ไปเพชรบุรี ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง รถโดยสารธรรมดาออกทุก 25 นาที ติดต่อบริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490 รถปรับอากาศ ออกทุก 45 นาที ติดต่อเพชรบุรีทัวร์ โทร. 435-7408 นอกจากนี้ยังสามารถโดยสารรถประจำทางสายใต้หลายสายที่วิ่งผ่านเพชรบุรี เช่น สายกรุงเทพฯ-ชุมพร สายกรุง-เทพฯ-หัวหิน เป็นต้น

ทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ มีรถไฟไปเพชรบุรีและชะอำทุกวัน รถไฟออกจากสถานีกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง) รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690 และออกจากสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) ทุกวัน รายละเอียดติดต่อ โทร. 02-411-3102

 

สินค้า/อาหารพื้นเมือง

เพชรบุรี ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีขนมอร่อยมากมายหลายชนิด ได้แก่ ขนมหม้อแกง ข้าว-เกรียบ กล้วยอบน้ำผึ้ง ผลไม้กวน กะละแม ฯลฯ มีจำหน่ายทั้งในบริเวณตัวเมืองและที่บริเวณเขาวัง ริมถนนสายเพชรเกษม นอกจากนี้ยังมีผลไม้ที่มีชื่อเสียงหลายชนิดเช่น ชมพู่เพชร (มีมากในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม) สับปะรด กระท้อน และแคนตาลูบ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากต้นตาล ได้แก่ ลูกตาล และจาวตาล นำมาทำเป็นอาหาร ขนมหวาน น้ำตาลสด และน้ำตาลปึก และยังมีผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ที่นำมาทำเป็นกระเป๋าและเครื่องใช้สวยงาม

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเขาย้อย

ถ้ำเขาย้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาย้อยหลังสถานีรถไฟ เขาย้อยเป็นภูเขาโดดเด่นริมทางหลวงหมายเลข 4 อยู่ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 22 กิโลเมตร ในถ้ำนี้มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยหลายปางประดิษฐานอยู่ คล้ายกับถ้ำเขาหลวง หรือถ้ำเขาบันไดอิฐ ตามประวัติเล่าว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มีมานานแล้ว และต่อมาพระครูอ่อนวัดท้ายตลาดมาบูรณะใหม่ และมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่ากันว่าสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่นั้น พระองค์ได้เสด็จธุดงค์วัตรมาปักกลดวิปัสสนาที่หน้าเขาย้อย แล้วทรงย้ายขึ้นมาประทับนั่งกรรมฐานอยู่ในถ้ำเขาย้อยหลายคืน
เขาอีโก้ อยู่ตำบลห้วยโรง ทางตอนเหนือของอำเภอเขาย้อย บนยอดเขาอีโก้ มีพระเจดีย์สำคัญองค์หนึ่งซึ่งเจ้าอธิการแก้ว วัดพวงมาลัย เมืองแม่กลองมาสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 2455 ในเทศกาลสงกรานต์ ชาวเขาย้อยนิยมเดินขึ้นมาไหว้พระบนยอดเขานี้เป็นประเพณีสืบมา
 วัดกุฏิ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเค็ม เป็นวัดโบราณ พระอุโบสถสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง รอบพระอุโบสถด้านนอกสลักเป็นเรื่องทศชาติ มหาชาติ และไซอิ๋ว หน้าบันสร้างเป็นมุขประเจิด ลายหน้าบันเป็นลายไม้แกะสลัก ทางด้านข้างมีตับ หลังคาปีกนกลาดลง 2 ชั้น เครื่องลำยองเป็นไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกมีลวดลายแกะสลักงดงาม บานประตูเป็นลายเถาทะลุโปร่ง แกะสลักลายลึก ฝีมือประณีตด้วยช่างชั้นครู
หมู่บ้านไทยดำหรือไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง พบได้ทั่วไปในเขตอำเภอเขาย้อย โดยเฉพาะ ที่บ้านหนองปรงและบ้านทับคาง ชาวไทยดำเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากประเทศลาว และยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ชาวไทยดำจะจัดงานสังสรรค์ มีการแต่งกายแบบพื้นเมือง และการละเล่นต่าง ๆ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง

น้ำพุร้อน อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรีประมาณ 50 กิโลเมตร สามารถนำรถเข้าถึงบริเวณน้ำพุร้อนได้ หรือจากอำเภอหนองหญ้าปล้องเข้าไปประมาณ 16 กิโลเมตร มีน้ำพุ 3 แอ่ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร ความร้อนของน้ำสามารถต้มไข่ให้สุกได้

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 92 เมตร เดิมเรียกว่า เขาสมนหรือเขาคีรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเพชรนิสัยศรีสวัสดิ์ ปลัดเมืองเพชรบุรีเป็นนายงานก่อสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่าพระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่าง ๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิค ผสมสถาปัตยกรรมจีน ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ ๆ 3 ยอดด้วยกัน ดังนี้
 ยอดเขาด้านทิศตะวันออก บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของวัดมหาสมณาราม ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนฝีมือขรัวอินโข่งบนผนังทั้งสี่ด้าน เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนบนยอดเขาเป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว เป็นวัดประจำพระราชวังพระนครคีรี เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ ภายในวัดพระแก้วประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดเล็ก ประดับด้วยหินอ่อน ด้านหลังเป็นพระพุทธเสลเจดีย์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นหอระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก
 เขายอดกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร มีความสูง 40 เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน จากจุดนี้สามารถมองเห็นพระที่นั่งต่าง ๆ บนยอดเขาอีก 2 ยอด รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อีกด้วย
 ยอดเขาด้านทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่ประทับอันได้แก่ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา หอชัชชวาลเวียงชัย หอพิมานเพชรมเหศวร ตำหนักสันถาคารสถาน หอจตุเวทปริตพจน์ ศาลาทัศนา-นักขัตฤกษ์ นอกจากนี้แล้วยังมีโรงรถ โรงม้า ศาลามหาดเล็ก ศาลาลูกขุน ศาลาต่าน ศาลาเย็นใจ ทิมดาบ โรงครัว ตามแบบพระราชวังทั่วไป รอบพระราชวังมีป้อมล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศคือ ป้อมทศรถป้องปากทางทิศตะวันออก ป้อมวรุฬหกบริรักษ์ทางทิศใต้ ป้อมวิรุฬปักษ์ป้องกันทางทิศตะวันตก และป้อมเวสสุวรรณรักษาทางทิศเหนือ กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวังบนยอดเขาด้านทิศตะวันตกนี้จัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริดและทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่าง ๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวันเว้นวันจันทร์ และวันอังคาร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่ 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชม (รวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี) ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 20 บาท นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมเขาวังได้โดยการเดินขึ้น หรือโดยสารรถรางไฟฟ้า (ตั๋วไป-กลับ รวมค่าเข้าชมทั้งหมด) เสียค่าบริการ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท
วัดพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่เชิงเขาวังด้านทิศใต้ เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ มีลักษณะงดงามและมีขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในสี่ของประเทศ
เขาบันไดอิฐ เป็นเขาขนาดย่อมมียอดสูง 121 เมตร อยู่ห่างจากเขาวังประมาณ 2 กิโลเมตร บนยอดเขามีวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ชื่อวัดเขาบันไดอิฐ อันเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมาแต่เดิม ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยานั้น เจ้าอธิการแสงแห่งวัดเขาบันไดอิฐ มีชื่อเสียงในด้านกรรมฐานมาก สมเด็จพระเจ้าเสือเคยทรงฝากตัวเป็นศิษย์ นอกจากวัดเขาบันไดอิฐ ถ้ำแรก คือ “ถ้ำประทุน” มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำทั้งสองด้าน ลึกเข้าไปจะเป็นถ้ำ “พระเจ้าเสือ” ที่ชื่อเช่นนี้เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่า พระเจ้าเสือได้เสด็จมาหาอาจารย์แสง และได้ถวายพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรสูงประมาณ 2 เมตร และได้ประดิษฐานไว้ที่ถ้ำนี้ ถ้าหากเดินต่อลึกเข้าไปทางด้านใต้จะมีบันไดลงสู่ถ้ำอีกคูหาหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ ด้วยมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ มีพุทธลักษณะที่งดงามและตรงซอกผนังถ้ำมีประทุนเรือทำด้วยไม้เก่าแก่มาก เป็นประทุนเรือที่พระเจ้าเสือถวายอาจารย์แสง นอกจากถ้ำที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เขาบันไดอิฐยังมีถ้ำอีกมากมาย เช่น ถ้ำพระอาทิตย์ พระจันทร์ ถ้ำสว่างอารมณ์ ถ้ำช้างเผือก และถ้ำดุ๊ค ซึ่งมีชื่อตามดุ๊คโยฮันฮัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองปอร์นสวิค ผู้เคยมาเยือนเพชรบุรีและมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้
 ถ้ำเขาหลวง อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมียอดสูงสุดเพียง 92 เมตร มีหินงอกหินย้อยสีสันสวยงาม ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์สามารถส่องเข้ามา ภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น สำหรับถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่และสำคัญที่สุดของจังหวัด ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้ำแห่งนี้เคยเป็น ที่เสด็จประพาสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดถ้ำเขาหลวงมาก ได้ทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ ภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วยกัน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ ตรงทางเข้าเชิงเขาหลวงด้านขวามือมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า “วัดถ้ำแกลบ” ปัจจุบันชื่อ “วัดบุญทวี” ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ ทางเข้าสู่เมือลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชรนับร้อยปีมาแล้ว
วัดมหาธาตุวรวิหาร อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 500 เมตร เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีฝั่งตะวันตก ภายในวัดแบ่งเขตพุทธวาสออกจากเขตสังฆาวาส สิ่งที่น่าสนใจในวัด ได้แก่ ปรางค์ห้ายอด เป็นปรางค์ก่ออิฐฉาบปูน สร้างตามคติมหายานถวายพระธยานิพุทธทั้งห้า ซึ่งทำรูปจำลองประดิษฐานอยู่บนยอดปรางค์แต่ละองค์ สันนิษฐานว่าเดิมปรางค์ห้ายอดนี้ คงจะเป็นพระเจดีย์ห้ายอดเช่นเดียวกับที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วมาแก้ไขเป็นปรางค์ในสมัยหลัง ภายในปรางค์ใหญ่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ภาพปูนปั้นต่าง ๆ ในวิหารหลวงและพระอุโบสถ ฝีมือช่างเมืองเพชร ซึ่งหาดูได้ยาก นอกจากนั้นในวิหารยังบรรจุพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเพชรบุรีนับถือมาก คือ รูปหลวงพ่อวัดมหาธาตุ รูปหลวงพ่อบ้านแหลม และรูปหลวงพ่อวัดเขาตะเครา
 วัดใหญ่สุวรรณาราม อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้ปฏิสังขรณ์ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ หรือพระศรีสรรเพชรที่ 8 โดยสมเด็จพระสังฆราชแตงโม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิสังขรณ์ และสร้างพระระเบียงคดรอบพระอุโบสถที่ไม่มีหน้าต่าง ภายในมีภาพเขียนเทพชุมนุมที่แปลกกว่าที่อื่น ภาพเขียนนี้มีอายุกว่า 300 ปีมาแล้ว ศาลาการเปรียญ เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง เดิมเป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชวังที่อยุธยา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าเสือได้ทรงถวายแก่สมเด็จพระสังฆราช ศาลาการเปรียญวัดนี้มีความสวยงามมาก ฝีมือการแกะสลักไม้อ่อนช้อยงดงาม โดยเฉพาะที่บานประตู ภายในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์เทศน์ ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทองรูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุด
 วัดกำแพงแลง อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณนั้น จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานตามลำดับ เทวสถานที่สร้างขึ้นเดิมมีปรางค์ 5 หลัง ทำด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัง สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เพราะเมื่อ พ.ศ. 2499 มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง วัดนี้เมื่อดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้น โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบ ๆ วัด ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่
 หาดเจ้าสำราญ อยู่ห่างจาก ตลาดเมืองเพชรบุรี ประมาณ 15 กิโลเมตร ตามทางหลวง หมายเลข 3177 เป็นชายหาด ที่เคยเป็น สถานที่ท่องเที่ยว สำคัญมาก ตั้งแต่สมัยโบราณ ตามประวัติ เล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาที่นี่ พร้อมด้วย สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัย ในความงาม ของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรม อยู่หลายวัน จนกระทั่งชาวบ้าน เรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน หาดเจ้าสำราญ เจริญถึงขีดสุด ในสมัยรัชกาลที่ 6 หาดเจ้าสำราญ มีชื่อเสียงกว่า ชายทะเลแห่งใดๆ ในเมืองไทยสมัยนั้น พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระตำหนัก ที่ประทับขึ้น ณ ริมหาดแห่งนี้ เรียกว่า พระตำหนัก หาดเจ้าสำราญ สำเร็จในปี พ.ศ. 2461 ต่อมา รื้อไปสร้างใหม่ ที่มฤคทายวัน

พระรามราชนิเวศน์ หรือ “พระราชวังบ้านปืน” ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านหม้อ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ ให้สร้างด้วย พระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์ สำหรับประทับแรม ในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ จากราษฎร และให้จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนคร สวรรค์วรพินิต กับสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นแม่กอง จัดการก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดย มิสเตอร์คาลเดอริง ชาวเยอรมัน เริ่มก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จ พระมงกฎเกล้า เจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่ง ศรเพ็ชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็น พระรามราชนิเวศน์ ในปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่ รับรองแขกเมือง ในสมัย พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้ง ของโรงเรียน ผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครู เกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาล ประจำตำบล ฯลฯ การเข้าชม ต้องทำหนังสือล่วงหน้า ถึงผู้บังคับการจังหวัด ทหารบก กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 หรืออาจติดต่อที่ ป้อมยามแลกบัตร เพื่อขอเข้าชม อย่างไม่เป็นทางการ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านแหลม

แหลมหลวง อยู่ในตำบลแหลมผักเบี้ย ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 15 กิโลเมตร ตามเส้นทาง เดียวกับทาง ไปหาดเจ้าสำราญ โดยแยกซ้าย ก่อนถึงหาดเจ้าสำราญเล็กน้อย ลักษณะเป็นปลายแหลม ของหาดทราย ยื่นยาวออกไป ในทะเลถึง 2 กิโลเมตร เป็นชายทะเล ที่สามารถ ชมได้ทั้งพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก
วัดเขาตะเครา ตั้งอยู่ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม สามารถไปได้สองทาง ทางแรกก่อนจะเข้าตัวเมืองเล็กน้อย มีถนนแยกซ้ายมือเข้าสู่วัดเขาตะเครา ระยะทาง 15 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ เดินทางจากเมืองเพชรไปบ้านแหลม แล้วขับรถต่อไปอีก 6 กิโลเมตร ก็ถึงวัดเขาตะเครา ที่วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว เรียกกันว่า หลวงพ่อเขาตะเครา มีชาวเมืองและนักท่องเที่ยวไปกราบไหว้ปิดทองเป็นอันมาก จนกระทั่งบัดนี้แลไม่เห็นพุทธลักษณะเดิม มีประวัติเล่าถึงหลวงพ่อองค์นี้ว่าเป็นพระพี่พระน้อง 3 องค์กับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม บางตำราว่าเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์คือ หลวงพ่อบางพลีใหญ่ และหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่นครปฐมด้วย ที่มาของพระพุทธรูปนี้เมื่อปลายสมัยอยุธยา ตอนที่ชาวบ้านแหลมเมืองเพชรหนีพม่า ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง จนกระทั่งกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้นั้น วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าว ได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลมเดี๋ยวนี้ คือ วัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
หมู่บ้านบางขุนไทร ตั้งอยู่ตำบลบางขุนไทร จากตัวเมืองไปทางบ้านแหลม ระยะทาง 12 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อไปบางขุนไทรเป็นระยะทางอีก 7 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ติดริมทะเล ชาวบ้านมีอาชีพเก็บหอยเสียบ โดยใช้กระดานเลื่อนไปบนผิวเลน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอท่ายาง

หาดปึกเตียน อยู่ในท้องที่ตำบลปึกเตียน ห่างจากหาดเจ้าสำราญไปทางใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร หรือสามารถเดินทางไปทางถนนเพชรเกษมถึงอำเภอท่ายางแล้วเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกคลองชลประทานสาย 2 ไปตามถนนนี้ประมาณ 15 กิโลเมตร บริเวณหาดปึกเตียนเป็นหาดทรายขาว สะอาด เหนือหาดมีลำคลองปึกเตียนไหลผ่าน

สถานที่น่าสนใจ ในอำเภอแก่งกระจาน

เขื่อนแก่งกระจาน อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชร 53 กิโลเมตร สามารถไปได้ 2 ทาง คือ ไปทางอำเภอท่ายางขับรถต่อไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงเขื่อนหรือไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 186-187 จะมีทางแขกขวามือเข้าไปตามทางอีกประมาณ 30 กิโลเมตร เขื่อนแก่งกระจาน สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2509 สูง 58 เมตร เป็นเขื่อนดินกั้นแม่น้ำเพชรบุรี สันเขื่อนยาว 760 เมตร กว้าง 8 เมตร ฐานตอนที่กว้างที่สุด 250 เมตร เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่และเป็นสถานที่เหมาะสำหรับพักผ่อนที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มากที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ถึง 2,915 ตารางกิโลเมตร หรือ 1.8 ล้านไร่ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524 โดยกำหนดพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขตอุทยานฯ สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสายที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ริมทะเลสาบตอนใต้ จากสันเขื่อนแก่งกระจาน มีถนนเลียบออกมาทางซ้ายมือเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ

ทะเลสาบ มีเนื้อที่ประมาณ 45 ตารางกิโลเมตร เรียกว่าอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน
เขาสน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 6 กิโลเมตร เป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ริมทะเลสาบ มีป่าสนสองใบและสนสามใบ สลับกับป่าเต็งรัง
เขาพะเนินทุ่ง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 50 กิโลเมตร เป็นภูเขาสูงประกอบด้วยทุ่งหญ้ากว้าง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,207 เมตร บริเวณโดยรอบเป็นป่าดงดิบมีสัตว์ป่านานาชนิดมากมาย สภาพภูมิประเทศสมบูรณ์ มีทิวทัศน์งดงามมองจากยอดเขาสามารถเห็นทะเลหมอกในช่วงฤดูฝนต่อฤดูหนาว บริเวณเชิงเขาพะเนินทุ่ง กิโลเมตรที่ 36 เป็นจุดชมวิว การเดินทางต้องใช้พาหนะที่มีกำลังสูง หรือสามารถเหมารถปิกอัพได้จากบริเวณที่ทำการอุทยานฯ เนื่องจากสภาพถนนค่อนข้างแคบ ในการขึ้นไปยังจุดชมวิวด้านบนนี้ ทางอุทยานฯ จะมีตารางกำหนดเวลาในการใช้เส้นทางสายนี้ คือ จะเปิดให้รถขึ้นเขาขาไปช่วงเวลา 08.00-11.00 น. และกลับมาช่วง 13.00-16.00 น. เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
 น้ำตกทอทิพย์ อยู่ห่างจากเขาพะเนินทุ่ง 15 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถยนต์และเดินทางเท้าเข้าถึงตัวน้ำตกประมาณ 4 กิโลเมตร มีความสูง 9 ชั้น แต่ละชั้นสวยงามแปลกตา สภาพโดยรอบเป็นป่าไม้ร่มรื่น ทั้งนี้การเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนป่า ควรขอคำแนะนำและคนนำทางจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก่อน นอกจากนี้ รถยนต์ที่ใช้ต้องมีกำลังเครื่องดีเพราะเส้นทางผ่านหุบเขาลาดชัน สถานที่พักอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว และมีสถานที่กางเต็นท์บริเวณอ่างเก็บน้ำ บริเวณเขาพะเนินทุ่งและบริเวณโดยรอบ สามารถติดต่อจองที่พักได้ที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223 579-5734 หรือติดต่อโดยตรงไปยังอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ล่วงหน้า 5 วัน 

 ถ้ำเขาเตาหม้อ เป็นถ้ำที่มีเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โตมาก ลักษณะภายในถ้ำคล้ายท้องพระ-โรง มีหินงอกหินย้อยสวยงาม การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถึงทางแยกไปเขื่อนแก่งกระจานบริเวณกิโลเมตรที่ 186-187 มีทางแยกขวามือเข้าไป 6 กิโลเมตร ถึงหน่วยงานโครงการสร้างส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานซีเมนต์ จากสะพานนี้จะมีป้ายบอกทางไปวัดพระพุทธบาทเขาลูกช้าง ระยะทาง 15 กิโลเมตร จากวัดพระพุทธบาทเขาลูกช้างไปเข้าเตาหม้ออีก 9 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอชะอำ

  หุบกระพง อยู่ก่อนถึงชะอำประมาณ 4 กิโลเมตร ตามเส้นทาง 3203 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 201-202 จะมีทางแยกขวามือเป็นทางลาดยาง เข้าไปอีก 8 กิโลเมตร ก็จะถึง สหกรณ์หุบกระพง ซึ่งอยู่ในตำบลเขาใหญ่ เขตอำเภอชะอำ แต่เดิมมีสภาพแห้งแล้ง จนในปี พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในนิคมเขื่อนเพชร โครงการพัฒนาชนบท “หุบกระพง” ตามพระราชประสงค์จึงได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2507 โดยมีประเทศอิสราเอลให้ความช่วยเหลือ โครงการนี้ชื่อว่า “โครงการไทย-อิสราเอล” ได้มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืฃผลต่าง ๆ ตามความต้องการของตลาด มีการแนะนำให้เกษตรกรรู้จักการปลูกพืชตามหลักวิชาการ และมีการจัดตั้ง สหกรณ์การเกษตรหุบกระพง นักท่องเที่ยวสามารถซื้อผลิตผลทางการเกษตรได้ที่ ตลาดหน้าศูนย์สาธิต รวมทั้งสามารถซื้อสินค้าในโครงการศิลปาชีพ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากป่านศรนารายณ์
หาดชะอำ อยู่ห่างจากตัวเมือง 41 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าชายหาด ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงามและมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด พวกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้นจึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ โดยการนำของสมเด็จกรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และได้พบว่าหาดชะอำเป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน ชะอำจึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา ชะอำได้รับการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น และยกฐานะเป็นอำเภอจนปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดขบวนการรถไฟพิเศษนำเที่ยวกรุงเทพฯ-ชะอำ ทุกวันหยุด รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690
วนอุทยานชะอำ อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษมเลยสี่แยกอำเภอชะอำไปทางใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 400 กว่าไร่ ภายในวนอุทยานฯ มีสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มีไม้ดอกไม้ประดับสวยงามมากมาย มีต้นไม้ใหญ่น้อย ร่มรื่น อากาศเย็นสบาย นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับด้วย ผู้สนใจนำไปตกแต่งประดับสถานที่ต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ที่วนอุทยานฯ
ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทราย ตั้งอยู่บริเวณเขาเตาปูน ตำบลสาม-พระยา จากอำเภอชะอำไปทางใต้ประมาณ 14 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือไปวิทยาลัยเกษตรกรรมเพชรบุรี จากทางแยกเข้าประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ไม่เสียค่าเข้าชม
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ที่ตำบลห้วยเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216 เลยหาดชะอำมาเล็กน้อย เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2466 ได้รับขนานนามว่า “พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง” ลักษณะเป็นพระตำหนักไม้สองชั้น หันหน้าออกสู่ทะเล พระตำหนักฝ่ายในอยู่ปีกขวา ทางปีกซ้ายเป็นส่วนของฝ่ายหน้า ประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด พระที่นั่งสุนทรพิมาน เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายา พระที่นั่งพิศาลสาครเป็นที่ประทับของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหมู่พระที่นั่งตรงกลางประกอบด้วยห้องต่าง ๆ สำหรับสำราญพระอิริยาบถ ห้องพักข้าราชบริพารที่คอยรับใช้ใกล้ชิด ห้องทรงพระอักษร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารโถงสองชั้นเปิดโล่งใช้เป็นที่ประชุมในโอกาสต่าง ๆ และเป็นโรงละครซึ่งเคยจัดแสดงละครครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ เรื่องพระร่วง และวิวาห์พระสมุทร
ในปี พ.ศ.2484 เจ้าพระยารามราฆพ ได้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชานุสรณ์ประดิษฐานไว้ ณ ท้องพระโรงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และได้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเป็นพระราชสักการะ เนื่องในวันที่ระลึกคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นประจำทุกปี พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. สำหรับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ ต้องทำหนังสือถึงผู้กำกับการกองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โทร. (032) 47138




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่เพชรบุรี