แผนที่สงขลา

  • แผนที่สงขลา
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

สงขลามีเนื้อที่ประมาณ 7,393 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,620,625 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 26 ของประเทศ ลักษณะพื้นที่ทางทิศเหนือ ของจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบริมทะเล ส่วนทางทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นเขตภูเขาและที่ราบสูง โดยมีเทือกเขาสันกาลาคีรีเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้น ระหว่างสงขลาและรัฐเคดาห์ สหพันธรัฐมาเลเซียเมืองสงขลานี้

ชื่อเมืองสงขลาได้ปรากฏชื่อในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง และในเอกสารที่บันทึกโดยคนไทยอีกหลายฉบับที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเมืองสงขลาได้บันทึกประวัติของชื่อเมืองสงขลาว่า มาจากบันทึกของพ่อค้า และนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993-2093 ในนามของเมือง "ซิงกูร์" หรือ "ซิงกอรา" แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยามของนายนิโกลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลาว่า "เมืองสิงขร" โดยได้สันนิษฐานว่าคำว่าสงขลาในปัจจุบันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงหลา" หรือ "สิงขร" แปลว่าเมืองสิงห์ เนื่องมาจากการที่พ่อค้าชาวเปอร์เซียอินเดีย ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แล่นเรือผ่านมาค้าขายและแลเห็นเกาะหนู-เกาะแมว ซึ่งเมื่อมองจากทะเลเข้าหาฝั่งในระยะไกล ๆ จะเห็นปรากฏเป็นภาพคล้ายสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองสงขลาในสมัยนั้นว่า "เมืองสิงหลา" ส่วนคนไทยเรียกว่า "เมืองสทิง" เมื่อแขกมลายูเข้ามาค้าขายกับเมืองสิงหลา ก็จะออกเสียงเพี้ยนเป็น "เซ็งคอรา" เมื่อฝรั่งเข้ามาค้าขายก็เรียกตามมลายูแต่เสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ "ซิงกอรา" (Singora) จากนั้นคนไทยพื้นถิ่นเองก็ได้เรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเพี้ยนเป็นคำว่า "สงขลา" ดังปัจจุบัน

นอกเหนือจากนี้ เอกสารชิ้นนี้ยังอธิบายต่อถึงความเป็นไปได้อีกสาเหตุหนึ่งว่า คำว่าสงขลาน่าจะเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "สิงขร" ที่แปลว่าภูเขา เนื่องจากเมืองสงขลาในยุคดั้งเดิมตั้งอยู่เชิงเขา และต่อมาเจ้าเมืองคนแรกยังได้รับพระราชทานนามว่า "วิเชียรคีรี" ซึ่งสอดคล้องกับเมืองที่อยู่แถบภูเขา สอดคล้องกับสุภาวดี เชื้อพราหมณ์ ที่ได้บันทึกว่าสงขลาเพี้ยนมาจากภาษาสันสกฤตหรือภาษาบาลี เนื่องจากชาวอินเดียล่องเรืออ้อมแหลมมลายูมาสู่ฝั่งตะวันออก เมื่อมองจากทะเลเข้าสู่ฝั่งสงขลาแลเห็นภูเขาเป็นปราการธรรมชาติ จึงเรียกว่า สิงขระ หรือ สิงขร ซึ่งคำไทยสิงขร หมายถึง ภูเขา ต่อมาชาวตะวันตกจึงเรียกตาม และเพี้ยนเป็นคำว่า ซิงโกรา หรือ ซิงกอรา เช่นเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น

เหตุผลสุดท้ายที่เอกสารในเอกสารการศึกษาความเป็นไปได้ก็คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชวินิจฉัยไว้ว่า "สงขลา" เดิมชื่อสิงหนคร (สิง-หะ-นะ-คอน) แต่แขกชาวมลายูพูดเร็วและออกเสียงเพี้ยนกลายเป็น สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ สิงโครา จนมีการเรียกเป็น ซิงกอรา

ในส่วนเอกสารของชาวตะวันตกที่กล่าวถึงสงขลาในช่วงเวลาต้น ๆ ซึ่งสามารถค้นย้อนหลังไปได้ถึงสามร้อยปีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยปรากฏชื่อเมืองสงขลาในแผนที่ของประเทศสยามที่ทำโดยนายเชอวาลีเย เดอ โชมอง ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. 2228

นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 5-6 การปรากฏตัวของเมืองท่า และแหล่งโบราณคดีที่แสดงว่า มีผู้คนจากต่างแดนเข้ามาปะทะสัมพันธ์ น่าจะมีเหตุผลจาก การแสวงหาโชคลาภและโภคทรัพย์ของผู้คนทางตะวันตกดั่งเช่น กรีซ และ โรมัน จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาของการค้นพบเส้นทางการค้าทางทะเลที่เกิดขึ้นใหม่ คู่ขนานและเชื่อมโครงข่ายกับเส้นทางการค้าทางบก

ต่อมาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8 ได้เกิดอุปสรรคทางภูมิศาสตร์และความปลอดภัย ในการใช้เส้นทางบกระหว่างดินแดนทางตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะพวกโรมันและรัฐในกลุ่มเอเชียกลาง จึงหันมาใช้เส้นทางทะเลแทน เพื่อใช้ค้าขายติดต่อกับอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน โดยการเดินทางเชื่อมระหว่างสองทวีปในระยะแรก ๆ นี้ ไม่ใช่เป็นการเดินทางแบบรวดเดียวถึงกันตลอด แต่ต้องมีจุดหยุดพักเป็นระยะ ๆ โดยอาศัยเมืองท่า และสถานีพักสินค้า เพื่อถ่ายสินค้า เพิ่มเติมน้ำจืดและอาหาร รวมไปถึงการซ่อมแซมเรือจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

ทั้งนี้หากย้อนกลับมาพิจารณาจากทำเลที่ตั้งของภาคใต้ของประเทศไทย ที่เป็นคาบสมุทรตั้งอยู่ระหว่างประเทศที่เป็นอู่อารยะธรรม คือ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศแถบอาหรับเปอร์เซีย และประเทศแถบชวา-มลายู จะพบว่า ดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นดินแดนที่อยู่ในตำแหน่งเส้นทางการค้าขายทางทะเล รวมถึงเป็นดินแดนที่พ่อค้าชาวแขกมัวร์ ใช้เส้นทางนี้เดินทางค้าขายทางเรือ โดยอาศัยลมสินค้าในสมัยโบราณที่จำกัดโดยสภาพภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีการต่อเรือ รวมถึงการเดินเรือซึ่งในสมัยนั้น ต้องอาศัยทิศทางและกำลังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อเดินทางจากอินเดียไปยังจีน และอาศัยลมมรสุมจากตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินทางจากจีนไปยังอินเดีย และบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรไปถึงเส้นห้าองศาเหนือ เป็นพื้นที่อันตรายเพราะเป็นเขตจุดเริ่มต้นของลมสินค้า ลมจะสงบนิ่ง (ไร้กระแสลม เรียกว่าโดลดรัม Doldrums) เมื่อลมเบาบางจนทำให้เรือสินค้าเคลื่อนที่ไม่ได้ ที่เรียกว่า "ตกโลก" ก็เป็นการบังคับให้พ่อค้าต้องแวะตามเมืองท่าชายฝั่งภาคใต้ของไทย ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตรเพื่อจอดซ่อมแซมเรือ เติมน้ำจืดและอาหาร รวมถึงขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรกลางทางในรอบปี โดยการขนถ่าย แลกเปลี่ยนสินค้านี่เอง ทำให้เมืองท่าต่าง ๆ ในคาบสมุทรทางภาคใต้ของไทยในสมัยที่มีการเดินเรือทะเล มีความเจริญรุดหน้า จากการค้าขายเป็นอันมาก นอกจากนั้น สินค้าที่สำคัญที่ผลักดันให้ชาวตะวันตกต้องแสวงหาและเดินทางมายังเมืองท่าในคาบสมุทรมลายูคือ เครื่องเทศ เช่น ว่าน กระวาน ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย พริกไทย กานพลู อบเชย ดีปลี จันทน์เทศ ทำให้เส้นทางการเดินเรือดังกล่าว ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางเครื่องเทศ

ประวัติศาสตร์เมืองสงขลาได้เริ่มต้นอย่างแท้จริง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-24 โดยมีศูนย์กลางการปกครอง หรือ สถานที่ตั้งเมือง 3 แห่งโดยสามารถลำดับจากพัฒนาการ ได้แก่

เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง (ก่อนพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23)
เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน
เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง

สมัยเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง

เป็นยุคที่น่าจะมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 โดยพิจารณาจากเจดีย์บนยอดเขาน้อยที่กำหนดอายุได้ไม่น้อยกว่า พุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยปรากฏชื่อในเอกสารต่าง ๆ ของพ่อค้าชาวตะวันตกว่า Singora บ้าง Singor บ้าง น่าจะมีชื่อเมือง สิงขร สิงคะ แปลว่าจอม ที่สูงสุดยอดเขา และภาษาไทยว่า "สิงขร" เป็นความหมายที่สอดคล้องกับที่ตั้งเมืองสงขลา โดยช่วงเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงนี้อยู่ภายใต้การปกครองของ เจ้าเมืองและ ปฐมพลเมืองชาวมุสลิม ซึ่งได้อพยพและนำพลพรรคชาวแขกชวา หนีภัยจากโจรสลัดที่คุกคามอย่างหนัก ในแถบหมู่เกาะชวาล่องเรือมาขึ้นฝั่งบริเวณฝั่งหัวเขาแดง โดยปรากฏในเอกสารชาวต่างชาติที่มาค้าขาย เป็นต้นว่าในสำเนาจดหมายของนายแมร์ เทนเฮาท์แมน จากอยุธยา มีไปจนถึงนายเฮนดริก แจนเซน นายพานิชย์คนที่ 1 ชาวดัตช์ ที่ปัตตานีในปี พ.ศ. 2156 ออกชื่อเจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้นว่า "โมกุล" แต่ในบันทึกบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้กล่าวถึงเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2165 เรียกชื่อเจ้าเมืองว่า "ดาโต๊ะโกมอลล์" จึงพอสรุปได้ว่า ผู้สร้างเมืองฝั่งหัวเขาแดงประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นมุสลิมที่ชาวอังกฤษในสมัยอยุทธยาเรียกว่า "โมกุล" และ ชาว ดัตช์ เรียกว่า "โมกอล" โดย ดาโต๊ะโมกุล ได้ตั้งเมืองสงขลาบริเวณหัวเขาแดง เขาค่ายม่วงและ เขาน้อย ซึ่งน่าจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2153 - 2154 ซึ่งตรงกับสมัยพระเอกาทศรถ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ซึ่งเป็นเชื้อสายโดยตรงของสุรต่านสุไลมาน ได้เล่าว่า ประมาณ พ.ศ. 2145 ดาโต๊ะโมกอลซึ่งเคยปกครองเมืองสาเลย์ ที่เป็นเมืองลูก ของจาการ์ตา บนเกาะชวา (อินโดนีเซียในปัจจุบัน) ได้อพยพครอบครัว และบริวารหนีภัย การล่าเมืองขึ้น (ซึ่งใช้ปืนใหญ่จากเรือปืนยิงขึ้นฝั่งที่เรียกว่า Gunship policy) ลงเรือสำเภามาขึ้นฝั่งที่บริเวณบ้านหัวเขาแดง แขวงเมืองสงขลา เข้าใจว่าตระกูลนี้คงเคยเป็นตระกูลปกครองบ้านเมืองมาก่อน เมื่อเจอทำเลเหมาะสมหัวเขาแดง ท่านดะโต๊ะ โมกอล ก็ได้นำบริวารขึ้นบก แล้วช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมือง และ ดัดแปลงบริเวณปากทางเข้าทะเลสาบสงขลาให้เป็นท่าจอดเรือขนาดใหญ่ ที่สามารถรับเรือสำเภา หรือ เรือกำปั่นที่ประกอบธุรกิจการค้าทางทะเล แวะเข้าจอดเทียบท่าได้ จนเมืองหัวเขาแดงในสมัยนั้น กลายเป็นเมืองท่าเรือระหว่างประเทศไป กิติศัพย์นี้โด่งดังไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148 - 2153) จึงได้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งให้ดะโต๊ะ โมกอล เป็นข้าหลวงใหญ่ของพระเจ้ากรุงสยาม ประจำเมืองพัทลุงอยู่ที่หัวเขาแดง แขวงเมืองสงขลา
สุรต่านผู้ครองเมืองสงขลาได้ปกครองเมืองแบบรัฐสุรต่าน ของราชวงศ์ ออโตมาน ซึ่งการปกครองแบบนี้แพร่หลายเข้ามายังเกาะสุมาตรา เกาะชวา และรัฐสุรต่านต่าง ๆ ทางปลายแหลมมาลายู โดยสุลต่านผู้ปกครองเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงได้นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุนี่ จึงดำรงค์ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ส่วนบุตรชาย สามคนคือ มุสตาฟา ฮุสเซน และ ฮัสซัน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงทาง กองทัพเรือ ผู้บัญชาการป้อม และ ตำแหน่งการปกครองอื่น ๆ ในระบอบการปกครองแบบสุรต่าน
ปฐมการค้า กับ ฮอลันดา

ในระยะแรกของการตั้งเมืองสงขลา เจ้าเมืองได้ยอมรับในการตกเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา โดยสุรต่านผู้ครองเมือง ได้จัดส่งเครื่องราชบรรณาการซึ่งประกอบด้วยดอกไม้เงิน และ ดอกไม้ทอง แก่กรุงศรีอยุธยา โดยเจ้าเมืองสงขลาได้กำหนดทิศทางของการพัฒนาเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงเป็นลักษณะเมืองท่า ทำกิจการในแลกเปลี่ยนสินค้าในระดับนานาชาติ โดยเมืองท่านี้ได้ทำการค้าขายกับ ฮอลันดา โปรตุเกตุ อังกฤษ จีน อินเดีย และ ฝรั่งเศส ซึ่งประเทศคู่ค้าประเทศแรก ๆ ที่สามารถมีสัมพันธภาพที่ดีต่อ กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย และสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้า มายังสงขลาคือ ฮอลันดา โดยเฉพาะระหว่างปี พ.ศ. 2171 - 2201 เป็นสมัยที่ฮอลันดา มีความมั่งคั่งจาก การผูกขาดเครื่องเทศแต่เพียงผู้เดียว โดยฮอลันดาสามารถกำจัดคู่แข่งทางการค้าอื่น ๆ เช่น โปรตุเกตุ อังกฤษ และ พ่อค้ามุสลิม ให้ห่างจากเส้นทางการค้า มีผลทำให้ให้ฮอลันดามีความมั่งคั่ง และ มีอำนาจขึ้นในยุโรป และ ตะวันออกไกล ครั้นถึงปี พ.ศ. 2584 ชาวดัตช์สามารถยึดเมืองมะละกาซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่สำคัญได้จากโปรตุเกส จึงใช้มะละกาเป็นศูนย์กลางการค้าขายกับจีน และญี่ปุ่นโดยตรง โดยมีบันทึกหลาย ๆ ฉบับ ได้กล่าวถึงการค้าขายบริเวณเมืองท่าสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ดังนี้

จดหมายของนายคอร์เนลิส ฟอน นิวรุท จากห้างดัตช์ ที่กรุงศรีอยุทธยา ไปถึงหอการค้าเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลันดา เมื่อ พ.ศ. 2160 กล่าวถึงเมืองสงขลาไว้ว่า "ขณะนี้พ่อค้าสำคัญ ๆ ได้สัญญาว่าจะแวะเมืองสิงขระ (สงขลาฝั่งหัวเขาแดง) "

จดหมายของ จูร์แคง ชาวอังกฤษได้รายงานไปที่ห้างอังกฤษ บนเกาะชวาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2164 ได้กล่าวถึงการค้าขายที่เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงไว้ว่า "พวกดัชใช้เรือขนาดเล็กที่เรียกว่า แวงเกอร์ โดยมีเรือขนาดเล็กนี้มีอยู่ประมาณ 4-5 ลำ ประจำที่สิงขระ เพื่อกว้านซื้อพริกไทยจากพ่อค้าชาวพื้นเมืองที่เข้ามาขายให้"

บันทึกของ โยเกสต์ สเกาเตน ผู้จัดการห้างฮอลันดา ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง หนังสือแต่งเมื่อ พ.ศ. 2179 ดังคำแปลในประชุมพงศาวดาร ภาค 76 กล่าวว่า "พวกเราชาวฮอลันดาได้เข้ามาอยู่ในอนาจักรสยามได้ 30 ปีแล้ว และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพระมหากัตริย์ตลอดมา การค้าขายของเราถึงจะไม่ได้รับกำไรมากมายจนเกินไป แต่กระนั้นพวกเรายังได้รับไมตรีจิต มิตรภาพจากพระมหากษัตริย์ มากกว่าชนชาติยุโรปอื่นได้รับ" ซึ่งสอดคล้องกับการพบสุสานของชาวฮอลันดาอยู่ ณ บริเวณสุสานวิลันดา ในบริเวณพื้นที่เมืองเก่าสงขลาฝั่งหัวเขาแดง

เนื่องจากการที่เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงเป็นเมืองคู่ค้าที่สำคัญ กับฮอลันดา ทำให้เมืองสงขลาได้รับการคุ้มครอง และ การสนับสุนด้านต่าง ๆ จากฮอลันดาเป็นอย่างมาก จนกระทั่งทำให้เมืองสงขลา โดย สุลต่านสุไลมาน ฉวยโอกาส แข็งเมืองในช่วงกบฏกรุงศรีอยุธยาใน รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งผลจากการแข็งเมืองนี้เองทำให้ สุลต่านสุไลมานประกาศตัวเป็น พระเจ้าสงขลาที่ 1 และ ดำเนินการค้าโดยตรงกับนานาประเทศโดยเฉพาะ ประเทศฮอลันดา ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า ฮอลันดาได้ทำการค้าเพื่อเอาใจ และสัมพันธ์ด้านประโยชน์ทางการค้า ทั้งกรุงศรีอยุธยาและสงขลา ไปในคราเดียวกัน ดั่งปรากฏหลักฐานว่า พระเจ้าปราสาททอง แห่งอยุธยาได้เคย ขอให้ฮอลันดาช่วยปราบกบฏเมืองสงขลา แต่ฮอลันดากลับไม่ได้ตั้งใจช่วยอย่างจริงจังตามที่ได้แสดงเจตนาไว้ ซ้ำยังให้ความช่วยเหลือเมืองสงขลาด้วยในคราเดียวกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง กับฮอลันดา ยิ่งทวีความแน่นแฟ้นขึ้นตามลำดับ โดยไม่มีบทบาทของกรุงศรีอยุธยามาแทรกแซง จนฮอลันดาสนใจจะเปิดสถานีการค้ากับเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง

ตามบันทึกของ ซามูเอล พอทท์ส ซึ่งไปสำรวจภาวะตลาดในเอเซียเมื่อปี พ.ศ. 2221 ได้บรรยายว่าเจ้าเมืองสงขลาต้อนรับเป็นอย่างดีที่วังของเมือง แสดงความเป็นกันเอง พร้อมทั้งตั้งข้อเสนอหลายอย่างที่เป็นการจูงใจให้เข้าไปค้าขาย เช่น จะไม่เก็บอากรบ้าน จะหาบ้านและที่อยู่ให้ โดยปรากฏหลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้จากจากแผนที่ซึ่งทำโดยชาวฝรั่งเศส ได้ระบุว่า มีหมู่บ้านของชาวฮอลันดาปรากฏอยู่ในแผนที่ นอกเหนือจากการปรากฏหลักฐานของสุสานชาวดัตช์ อยู่ใก้ลที่ฝังศพ สุลต่านสุไลมานซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง โดยมีหลุมศพเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ประมาณ 22 หลุม ซึ่งชาวบ้านได้เรียกที่ฝังศพนี้ว่า "วิลันดา" ซึ่ง หนึ่งในยี่สิบสอง หลุมนี้อาจเป็นตัว ซามูเอล พอทท์ส หรือ พรรคพวกเองก็เป็นได้
ความสัมพันธ์ทางการค้ากับอังกฤษที่นำมาสู่เมืองแห่ง 20 ป้อมปืน

ความเป็นคู่แข่งทางการค้าระหว่างฮอลันดา กับ อังกฤษได้นำมาสู่การคานอำนาจของหัวเมืองต่าง ๆ ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา เช่น ขณะที่สงขลามีปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการเมืองที่ดีต่อ ฮอลันดา นั้นอังกฤษก็ได้เริ่มมุ่งความสนใจทางการค้ากับ เมืองปัตตานีที่เป็นเมืองท่าอยู่ทางตอนใต้ของสงขลา และ พยายามที่จะขยับขยายการค้ามาสู่ สงขลา ดังบันทึก ฉบับหนึ่งที่เขียนโดยพ่อค้าชาวอังกฤษ กล่าวถึงการค้าที่เมืองสิงขระว่า "จะไม่เป็นการผิดหวัง หากคิดจะสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นที่ สิงขระ (Singora) ข้าพเจ้าคิดว่าเราอาจจะใช้สิงขระ เป็นที่สำหรับตระเวณหาสินค้าจากบริเวณใกล้เคียง เพื่อจัดส่งให้แก่ห้างของเราที่กรุงสยาม โคชินไชน่า บอเนียว และญี่ปุ่นได้อย่างดี" โดยจากการค้าขายกับต่างชาตินี่เองทำให้เมืองสิงขระที่นำโดย "ดาโต๊ะโมกอล" ได้พัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการค้าขายระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความปลอดภัย และรักษาเมืองจากการปล้นสะดมจากโจรสลัดซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากในขณะนั้น การพัฒาเมืองจึงได้รวมไปถึงการสร้างป้อมปืนใหญ่บริเวณบนเขา และที่ราบในชัยภูมิต่าง ๆ ถึง 20 ป้อมปืน รวมไปถึงการสร้างประตูเมืองและคูดินรอบเมือง โดยได้รับการสนับสนุน เทคโนโลยีและอาวุธจากพ่อค้าชาวอังกฤษ แลกกับการที่อังกฤษมาตั้งห้างที่สงขลา ทั้งนี้ตรงกับหลักฐานตามที่นาย ลามาร์ ชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกแผนผังเมืองไว้เมื่อ พ.ศ. 2230 ประกอบด้วยประตูเมืองและป้อมปืน 17 ป้อม

จากการที่สงขลาแข็งเมือง ทำให้พ่อค้าชาวอังกฤษเห็นช่องทางในการลดค่าภาษีที่จะต้องส่งให้แก่กรุงศรีอยุธยา เพียงแต่ให้ของกำนัล แก่เจ้าเมือง สิงขระ เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำการค้าขายในแถบนี้ได้แล้วดังบันทึกอันหนึ่ง ซึ่งเขียนโดยพ่อค้าชาวอังกฤษว่า "การตั้งคลังสินค้าขึ้นที่นี่ยังจะช่วยให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับห้างอีกด้วย เพราะที่นี่ไม่เก็บอากรขนอนเลย เพียงแต่เสียของกำนัลให้แก่ดาโต๊ะโมกอลล์ (เจ้าเมืองสงขลา) ก็อาจนำเงินสินค้าผ่านไปได้" โดยผลจากการประกาศแข็งเมือง และ ตั้งตนเป็นพระเจ้าสงขลาที่ 1 ของสุลต่านสุไลมัน (บุตรของดาโต๊ะโมกอล) จึงเสมือนการเปิดโอกาสให้เมืองสงขลาในระยะนี้เจิญถึงจุดสูงสุด ถึงขั้นมีการผลิตเงินตราขึ้นใช้เอง โดยมี คำว่า สงขลา. เป็นภาษาไทยบนหรียญ ภาษายาวีสองคำ อ่านว่า นะครี-ซิงเกอร์ แปลว่านครสงขลา และมีภาษาจีนอีก ห้าคำ เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานในช่วงเวลาการผลิตเหรีญแต่สันนิษฐานจากภาษา แขก ที่ปรากฏบนเหรียญ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เจ้าเมืองแขกปกครองสงขลาอยู่เกือบ 40 ปี ทำให้เรา และ สามารถคาดการณ์ถึงสภาพเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของเมืองสงขลาในขณะนั้นได้

ดังนั้นหลังจากปี พ.ศ. 2185 สุลต่านสุไลมานก็ตั้งต้นเป็นเอกราช สถาปนาตนเองเป็นเจ้าเมืองเสงขลา ดำเนินการค้ากับ ฮอลันดา อังกฤษ และประเทศอื่น ๆ โดยตรงไม่ผ่านการส่งอากรสู่อยุธยาทำให้ พระเจ้าปราสาททอง กษัทติย์ ของอยุธยาในขณะนั้น ต้องส่งกองทหารมาปราบหลายครั้งตลอดรัชการของพระองค์ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากสงขลาแห่งนี้ ได้ตั้งเมืองอยู่ในชัยภูมิที่ดี และ มีการก่อสร้างกำแพงเมือง คันคู ตลอดจน ป้อมปืนใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อป้องกันเมืองทั้งทางน้ำและทางบกมากกว่า ยี่สิบป้อม (บางเล่มก็ระบุว่า 17 ป้อมผู้เขียนอยู่ระหว่างค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม) ดังหลักฐานจากข้อเขียนของ วัน วลิต (Van Vliet) ผู้แทนบริษัท Dutch East India CO, Ltd. ประจำกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยเดินทางมาเยือนเมืองสุรต่านที่หัวเขาแดง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2185 ได้เขียนรายงานไว้ว่า พระเจ้าปราสาททอง ได้เคยส่งกองเรือจากกรุงศรีอยุธยามาร่วมกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช (ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสงขลา) ทำการโจมตีเมืองสงขลาถึงสองครั้งในช่วงเวลาเพียง สองปี แต่ต้องประสพความพ่ายแพ้ไปทั้งสองครั้ง

ต่อมา เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงได้ถูกกองทัพ ทั้งทางบก และ ทางทะเล ตีแตกในปี พ.ศ. 2223 ถัดมาในรัชการ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในจดหมายเหตุของมองซิเออ เวเรต์ ชาวฝรั่งเศส ที่มาค้าขายในอยุธยา ใน พ.ศ. 2230 ว่า "พระเจ้ากรุงสยามได้ส่งกองทัพเรือซึ่งมีเรือรบมาเป็นอันมาก ให้มาตีเมืองสงขลาเป็นอย่างมาก และ ได้ใช้แผนล่อลวงผู้รักษาป้อมแห่งหนึ่งให้มีใจออกห่างจากนายตน จากนั้นทหารกรุงศรีอยุธยาจึงได้ลอบเข้าไปทางประตูดังกล่าวเปิดประตูให้ทหารเข้ามาทำลาย และ เผาเมือง โดยเพลิงได้ลุกลามจนไหม้ เมืองตลอดจนวังของเจ้าพระยาสงขลาหมดสิ้นอีกทั้ง ทหารกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพเข้าไปในเมืองทำลาย ป้อม ประตู หอรบ และบ้านเมืองจนเหลือแต่แผ่นดิน เพราะเกรงว่าจะมีคนคิดกบฏขึ้นมาอีก"

ส่วนอีกบันทึกหนึ่งได้เล่าไว้ว่า กองเรือจากกรุงศรีอยุธยาได้ร่วมกับกองทัพจากนครศรีธรรมราช ได้ยกทัพเรือมาดอบล้อมเมืองสุรต่านที่หัวเขาแดง โดยมีพระยารามเดโช เป็นแม่ทัพใหญ่ ครั้นแล้วกองทัพทั้ง สอง ฝ่ายก็ได้เริ่มทำยุธนาการกันทั้งกลางวันและกลางคืน โดยมีลูกเรือชาวดัตช์ที่มารักษาการณ์ อยู่ที่สถานีการค้าของบริษัท Dutch East India Co.Ltd. ที่หัวเขาแดง เข้าช่วยฝ่ายสุลต่านเมืองเขาแดง เข้ารบกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏที่ฝังศพของทหารอาสาชาวดัตช์ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของกุโบร์ที่ฝังศพของสุรต่านสุลัยมาน โดยในบันทึกได้บรยายรายละเอียดว่าในคืนวันหนึ่งขณะที่ปืนใหญ่จากเรือรบของนครศรีธรรมราช กำลังกระหน่ำยิงเมืองหัวเขาแดงทหารซึ่งอยู่ที่ป้อมเมืองสงขลาของสุรต่านมุสตาฟา (บุตร สุลต่านสุไลมาน) จำนวนสองคนได้ทำการทรยศจุดคบไฟโยนลงจากบนภูเขาใส่บ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ซึ่งส่วนมากจะมุงด้วยหลังคาใบจาก จึงได้เกิดไฟไหม้ขึ้น ทำให้เกิดโกลาหลอลม่านกันขึ้น จนกระทั่งกองทัพกรุงศรีอยุธยา และ เมืองนครศรีธรรมราชสามารถยกพลขึ้นบกได้หลายจุด เช้าวันรุ่งขึ้น มุสตาฟาและ ฮุสเซน และ ฮัสซัน น้องชาย เข้าพบและยอมจำนนแก่แม่ทัพใหญ่ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

ผลที่สุดจึงปรากฏว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระบรมราชโองการ ให้ยุบเลิกเมือง สุลต่าน ที่หัวเขาแดง ล้วกวาดต้อนกองกำลัง และ บริวารทั้งหมดออกจากพื้นที่ แล้วลงเรืออพยพแบ่งเป็นสองพวกคือ คนที่มีอยุหกสิบปีขึ้นไป ให้อพยพไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่หมู่บ้านสงขลา เมืองไชยา (ในพื้นที่ จ สุราษฎธานี ห่างจากสงขลา ห้าร้อยกิโลเมตรทางตอนเหนือ) ส่วนคนหนุ่มคนสาว รวมทั้งลูกเจ้าเมืองทั้ง สาม ของสุรต่านสุไลมาน ให้อพยพเข้าไปอยู่ในกรุงศรีอยุธยาหลังจากเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงถูกทำลายแล้วทางกรุงศรีอยุธยามีนโยบายจะยกเมืองสงขลาให้ฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับ ดังหลักฐานจากหนังสือสัญญาที่ฟอนคอนทำไว้ที่เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ระบุไว้ว่า "สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามยกเมืองสงขลา และ เมืองขึ้นของสงขลา พระราชทานให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส และ พระราชทานพระราชานุญาตให้พระจ้ากรุงฝรั่งเศสสร้างป้อม หรือจัดทำอะไรในเมืองสงขลาได้แล้วแต่พระทัย" แต่ข้อนี้ทางฝ่ายฝรั่งเศสได้ปฏิเศษข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเมืองสงขลาในขณะนั้นอยู่ในสภาพเสียหายอย่างหนักเพราะถูกทำลายจนหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม เมืองสงขลาฝั่งหัวขาแดงก็ยังมีการสร้างกำแพงหรือขอบเขตของเมืองด้วยไม้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก้ได้โยกย้ายไปตั้งบ้านเรือน อยู่ฝั่งแหลมสนซึ่งอยู่ทางฟากเขาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งชุมชนนี้ต่อมาได้พัฒนาเป็นเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน)
สมัยเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน

หนีความทุกข์ยากหลังสงครามเมือง : Singora สู่เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ภายหลัง เมื่อเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาทำลายจนหมดสิ้น เมื่อ พ.ศ. 2223 ประชาชนชาวสงขลาฝั่งหัวเขาแดงที่เหลืออยู่ ได้ย้ายชุมชนไปสร้างเมืองใหม่ ณ เมืองสงขลาแห่งที่สองนี้ ที่รู้จักกันในชื่อว่าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน โดยเมืองนี้เป็นเมืองที่ไม่ได้รับการวางแผนในการสร้างเมืองตั้งแต่ต้น ประกอบกับเป็นเมืองที่ถูกสร้างเนื่องจากการย้ายเมืองภายหลังจากสงคราม ดังนั้นลักษณะของเมืองจึงเป็นเมืองที่ถูกสร้างกันอย่างง่าย ๆ บนพื้นที่เชิงเขาติดทะเล ถัดจากตำแหน่งเมืองสงขลาเดิมที่ถูกทำลายลงไปอีกด้านหนึ่งของฝากเขา เนื่องจากเป็นที่ตั้งเมืองที่อยู่บนเชิงเขา ทำให้เมืองสงลาแห่งที่สองนี้ในภายหลังประสบกับปัญหาการขาดแคนน้ำจืดอุปโภค และ ปัญหาการมีพื้นที่ในทางราบไม่เพียงพอกับการขยายและเติบโตของเมือง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการย้ายเมืองในเวลาต่อมา ลักษณะการสร้างบ้านเรือนของสงขลาฝั่งแหลมสน ส่วนใหญ่บ้านเรือนจะทำด้วยวัสดุไม่ถาวร เช่น ไม้ และ ใบจาก ในลักาณะเรือนเครื่องสับ จึงทำให้หลงเหลือร่องรอย และ หลักฐานไม่มากนัก เนื่องจากประชากรในการสร้างเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญชน ประกอบกับขนาด และ อาณาเขต รวมไปถึง อำนาจการปกครองของเมืองสงขลาได้ลดฐานะเป็นแค่เมืองเล็ก ๆ ของเมืองบริวาร ของเมืองพัทลุง ดังนั้นเจ้าเมืองสงขลาคนแรกจึงถูกแต่งตั้งโดยพระยาจักรี และ พระยาพิชัยราชา เป็นเพียงแค่การคัดเลือกชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ "โยม" มาดำรงตำแหน่งเป็นพระสงขลา เจ้าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน และ ในคราวเดียวกันนั่นเอง ยังมีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ นายเหยี่ยง แซ่เฮา ชาวจีน ซึ่งอพยพ มาจาก เมือง เจียงจิ้งหู มลฑลฟูเจี้ยน ได้เสนอบัญชีทรัพย์สิน และบริวารของตน เพื่อแลกกับสัมปทานผูกขาดธุรกิจรังนกบน เกาะสี่เกาะห้า ในทะเลสาบสงขลา เจ้าพระยาทั้งสองจึงพิจารณา แต่งตั้งให้ นายเหยี่ยง แซ่เฮา เป็นหลวงอินทคีรีสมบัติ นายอาการรังนกเกาะสี่เกาะห้า

พระสงขลาได้ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน อยู่จนถึงปี พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ดำริว่า พระสงขลา (โยม) หย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติราชการ จึงให้หลวงอินทคีรีสมบัติ (เหยียง แซ่เฮา) ซึ่งเป็นนายอากรรังนก เกาะสี่เกาะห้า เลื่อนตำแหน่งเป็น หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลา คนถัดมาซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งต่อมาได้ปกครองเมืองสงขลา มาถึง 8 รุ่น ในการปกครองสงขลาในช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาของการทำหน้าที่ปกป้องอาณาเขต และ รับใช้ราชการปกครองแทน เมืองหลวง ซึ่งตรงกับกรุงรัตนโกสินทร์ ปกครองโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชการที่ 2 ปัญหาหลักของการปกครองสงขลาคือการส่งกำลังไปร่วมกำกับและควบคุมหัวเมืองแขกต่าง ๆ ให้อยู่ในความสงบ โดยมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรบหลายครั้ง ทำให้เจ้าเมืองสงขลา ในรุ่นต่าง ๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ และ ความภัคดีทางการรบ โดยในสมัยสงขลา ครั้งนี้มีเมือง แขก ปัตตานี ได้ถูกแยกออกเป็น เจ็ดหัวเมืองย่อย ได้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสงขลา ซึ่งต่อมาชื่อเมืองต่าง ๆ ได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อถนน ในครั้งตั้งเมืองใหม่ ณ ฝั่งบ่อยาง เมืองทั้งเจ็ดมีรายชื่อดังนี้ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองเมืองยะลา เมืองรามันห์ เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ และ เมืองสุดท้ายที่เข้ามาอยู่ใต้การกำกับดูแลของสงขลา ในช่วงปี พ.ศ. 2379 คือเมืองสตูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 และตรงกับ เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน เนื่องจากเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนเป็นเมืองที่ถูกสร้างอย่างง่าย ๆ เพื่อรองรับการหนีภัยในช่วงเมืองแตก ทำให้เกิดปัญหาและ ข้อขัดข้องในการพัฒนาเมืองหลายประการตามมา ส่งผลต่อการพิจารณาย้ายเมืองในเวลาต่อมาไม่นานนัก

เจ้าเมืองสายสกุล ณ สงขลาที่ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ดังนี้

ลำดับที่ 1. พระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) พ.ศ. 2318-2327
ลำดับที่ 2. เจ้าพระยาอินทคีรีศรีสมุทรสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ (บุญหุ้ย) พ.ศ. 2327-2355
ลำดับที่ 3. พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) พ.ศ. 2355-2360

สมัยเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง

สร้างเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง สู่ความรุ่งเรือง และความมั่งคั่งของเมืองท่า จนถึงเมืองท่องเที่ยว จากการขยายตัวของเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภค ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่บริเวณสงขลาฝั่งแหลมสน เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงเขา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเมืองรวมถึง อาจเป็นอุปสรรคของการขยายตัวเป็นเมืองท่าในอนาคต ซึ่งจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ น่าจะเป็นข้อได้เปรียบ แต่เนื่องจากมีพื้นที่ในแนวราบไม่เพียงพอ จึงทำให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ที่ตำบลบ่อยาง (สถานที่ปัจจุบัน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 ซึ่งเมืองใหม่ที่สร้างขึ้น ก็ยังคงรักษาความเป็นเมืองท่าไว้อย่างเดิม โดยในเบื้องต้นของการสร้างเมือง พระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) ได้เริ่มสร้างป้อม กำแพงเมืองยาว 1200 เมตร และ ประตูเมือง สิบประตู ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 หลังจากนั้นจึงได้วางหลักเมือง (ไม้ชัยพฤษ์พระราชทาน) และสมโภชน์หลักเมืองในปี พ.ศ. 2385 และเรียกบริเวณพื้นที่นี้ว่า "เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง" ก่อนที่พระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง) จะถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2408

ถัดจากนั้น พระยาคีรี ลำดับต่อมา ได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาต่อ และ ได้ดำเนินการพัฒนาสงขลาในลักษณะเมืองกันชนระหว่างเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองมุสลิมที่อยู่ทางตอนใต้ของสงขลา และ เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนิกชน โดยเมืองสงขลาได้อยู่ภายใต้การปกครองของสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งมี นายเหยียง แซ่เฮา เป็นต้นสกุล รวมเจ้าเมืองสายสกุล ณ สงขลาที่ปกครองเมืองสงขลา บ่อยาง ดังนี้

ลำดับที่ 1. พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) พ.ศ. 2360 – 2390 ผู้เริ่มสร้างเมืองสงขลา บ่อยาง
ลำดับที่ 2. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง ณ สงขลา) พ.ศ. 2390 – 2408
ลำดับที่ 3. เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) พ.ศ. 2408 – 2427
ลำดับที่ 4. พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม ณ สงขลา) พ.ศ. 2427 – 2431
ลำดับที่ 5. พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) พ.ศ. 2431 – 2439

หลังจากเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) ได้เป็นเจ้าเมืองสงขลาได้ประมาณปีเศษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จราชดำเนินมายังเมืองสงขลา และได้พระราชทานเงินบางส่วนเพื่อสร้างเจดีย์ บนยอดเขาตังกวน ระหว่างปี พ.ศ. 2437-2439 เมืองสงขลาได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยตั้งมลฑลนครศีธรรมราช ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และ หัวเมืองแขกอีก เจ็ดเมือง โดยมี พระวิจิตร (ปั้น สุขุม) ลงมาเป็นข้าหลวงพิเศษว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งอาคารที่ว่าการอยู่ที่เมืองสงขลาบ่อยาง และลดบทบาทเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคการปกครองแบบเจ้าเมืองไปด้วย ทั้งนี้เจ้าเมืองคนสุดท้ายในสายสกุล ณ สงขลา ที่ปกครองเมืองสงขลามามากกว่า แปดรุ่น ต่อมาประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนการปกครองอีกหลายครั้ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยยกเลิกระบบเดิมทั้งหมด และยกระดับสงขลา ขึ้นเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย

แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ คือ

  1. อำเภอเมืองสงขลา
  2. อำเภอสทิงพระ
  3. อำเภอจะนะ
  4. อำเภอเทพา
  5. อำเภอหาดใหญ่
  6. อำเภอระโนด
  7. อำเภอรัตภูมิ
  8. อำเภอสะเดา
  9. อำเภอสะบ้าย้อย
  10. อำเภอนาทวี
  11. อำเภอสิงหนคร
  12. อำเภอควนเนียง
  13. อำเภอบางกล่ำ
  14. อำเภอกระแสสินธุ์
  15. อำเภอนาหม่อม
  16. อำเภอคลองหอยโข่ง

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-สงขลา

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงเลียบชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก ผ่านประจวบคีรี ขันธ์-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช-สงขลา รวมระยะทาง 950 กม.

ทางรถประจำทาง

รถโดยสาร มีรถธรรมดาและปรับอากาศกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ บริการทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งสายใต้ โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490 ขนส่งสายใต้ โทร. 0 2435 1199-200 (ปรับอากาศ) และ โทร. 0 2434 5557-8 (รถธรรมดา) หรือ www.transport.co.th หรือหาดใหญ่ ติดต่อบริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 0 7423 2789, 0 7423 2404 บริษัท ปิยะทัวร์ จำกัด โทร. 0 7442 8972 บริษัท ไทยเดินรถ จำกัด โทร. 0 7442 9525

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดบริการเดินรถระหว่าง กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทุกวัน ทั้งรถด่วนและรถเร็ว สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 หรือ www.railway.co.th หรือที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ โทร. 0 7424 3705, 0 7423 8005

ทางเครื่องบิน

ทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด มีบริการเครื่องบินโดยสารระหว่าง กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัทการบินไทย โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 หรือ www.thaiairways.com หรือสำนักงานการบินไทยหาดใหญ่ โทร. 0 7424 5851-2, 0 7423 3433 และบริษัทแอร์เอเซีย จำกัด โทร. 0 2515 9999 หรือ www.airasia.com หรือสำนักงานแอร์เอเซียหาดใหญ่ โทร. 0 7425 0440

การเดินทางภายในสงขลา

ในตัวจังหวัดสงขลามีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม รถสองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย หากลงรถประจำทาง รถไฟ หรือเครื่องบิน ที่หาดใหญ่แล้ว สามารถเดินทางเข้าตัวเมืองสงขลาทางโดยรถยนต์ได้ 2 เส้นทาง คือ ถนนกาญจนวนิชและถนนลพบุรีราเมศร์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที และมีรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารรับจ้างจากในตลาดหาดใหญ่วิ่งเข้าตัวเมืองสงขลาตลอดทั้งวัน

ระยะทางจากอำเภอเมืองสงขลาไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอหาดใหญ่ 26 กม อำเภอสิงหนคร 26 กิโลเมตร อำเภอนาหม่อม 34 กิโลเมตร อำเภอสทิงพระ 36 กิโลเมตร อำเภอจะนะ 37 กิโลเมตร อำเภอคลองหอยโข่ง 43 กิโลเมตร อำเภอบางกล่ำ 46 กิโลเมตร อำเภอนาทวี 52 กิโลเมตร อำเภอรัตนภูมิ 60 กิโลเมตร อำเภอสะเดา 70 กิโลเมตร อำเภอควนเนียง 72 กิโลเมตร อำเภอระโนด 73 กิโลเมตร อำเภอเทพา 73 กิโลเมตร อำเภอกระแสสินธุ์ 74 กิโลเมตร อำเภอสะบ้าย้อย 104 กิโลเมตร

งานประเพณีสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี
งานส่งเสริมเทศกาลสินค้าและผลไม้ไทย จะจัดขึ้นประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ของทุกปี
งานประเพณีลากพระ ประมาณเดือนตุลาคม (แรม 1 ค่ำ เดือน 11)
งานประเพณีลอยกระทง ประมาณเดือนพฤศจิกายน (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)
งานประเพณีแห่พระประจำปี จะจัดขึ้นหลังวันตรุษจีน 5 วัน
งานเทศกาลโคมไฟไหว้พระจันทร์ จะจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี

 

  แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในสงขลา

  แหลมสมิหลา อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตลาดสดเทศบาลประมาณ 3 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด และทิวสนอันร่มรื่น มีร้านขายอาหารอยู่มาก การเดินทางจากหาดใหญ่ใช้รถประจำทางสายหาดใหญ่-สงขลา แต่หากอยู่ในตัวเมืองสงขลาก็มีรถสองแถวบริการจากตัวเมืองไปยังชายหาดในราคาไม่แพงนัก
แหลมสนอ่อน ติดกับแหลมสมิหลา ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือด้านทิศตะวันตกของแหลมสนอ่อน เป็นทะเลสาบสงขลา บริเวณรอบๆ แหลมสนอ่อนมีถนน สามารถชมทิวทัศน์ได้ทั้งทะเลหลวงและทะเลสาบ นอกจากนี้ยังมีสวนสนซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อนและนั่งพักรับประทานอาหาร
สวนเสรี อยู่บริเวณเขาน้อยใกล้แหลมสมิหลา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง บริเวณสวนตกแต่งด้วยไม้ดัดเป็นรูปสัตว์ต่างๆ
เขาน้อย อยู่ใกล้กับแหลมสมิหลา เป็นภูเขาเล็กๆ มีถนนราดยางขึ้นสู่ยอดเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองสงขลา
เขาตังกวน อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาน้อย มีบันไดทางขึ้นอยู่ใกล้วัดแหลมทราย (สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ฟุต) บนยอดเขามีเจดีย์และตำหนักซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อขึ้นไปบนยอดเขาตังกวนแล้ว สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทะเลสาบสงขลาได้อย่างชัดเจน
เก้าเส้ง อยู่ทางทิศใต้ของหาดสมิหลาประมาณ 3 กิโลเมตร มีถนนแยกจากถนนไทรบุรี ตรงสามแยกสำโรง (โรงพยาบาลประสาท) เป็นหาดที่สวยงามแห่งหนึ่งของสงขลา มีโขดหินระเกะระกะอยู่ริมทะเล และมีอยู่ก้อนหนึ่งตั้งเด่นอยู่เหนือโขดหิน ซึ่งชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า “หัวนายแรง” ซึ่งมีประวัติความเป็นมาว่านายแรงเป็นพ่อค้าสำเภาที่ร่ำรวยมาก เมื่อทราบข่าวว่ามีการสร้างพระธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช ก็แล่นเรือสำเภาไปเพื่อจะร่วมบุญในการสร้างด้วย แต่ปรากฎว่าเมื่อเรือมาถึงสงขลาเกิดพายุเรือแตก ได้จอดซ่อมเรือที่บริเวณหาดเก้าเส้ง จนกระทั่งทราบข่าวว่า พระธาตุเมืองนครสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายแรงมีความเสียใจเป็นอย่างมากที่ไม่มีส่วนร่วมบุญและล้มป่วยไข้ จึงขนทรัพย์สมบัติจำนวนแสนฝังไว้ที่เชิงหน้าผา และอธิษฐานให้มีเรี่ยวแรงยกก้อนหินใหญ่มาปิดไว้ ก่อนตายได้อธิษฐานว่า ผู้ที่จะมาเอาสมบัติจำนวนดังกล่าวนี้จะต้องเป็นลูกหลานของนายแรงเอง หรือเมื่อพระธาตุมีสภาพชำรุดทรุดโทรมต้องการที่จะนำเงินไปบูรณะปฏิสังขรณ์ จนปัจจุบันนี้ก็ยังมิอาจหาผู้ใดสามารถผลักหินก้อนนี้ตกหน้าผาได้
เกาะหนู-เกาะแมว เป็นเกาะใกล้ชายฝั่งขนาดเล็ก อยู่นอกแหลมสมิหลา มีหินสวยงามเหมาะสำหรับตกปลา
ทะเลสาบสงขลา ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบแห่งเดียวในประเทศไทย มีความยาวจากปากน้ำไปทางทิศเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร ส่วนกว้างไม่แน่นอน บางตอนแคบ บางตอนกว้างมาก ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 20-25 กิโลเมตร ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบน้ำจืด แต่จะกร่อยในช่วงที่ติดกับทะเล ตรงปากอ่าวในทะเลสาบมีเกาะอยู่หลายเกาะ ที่สำคัญได้แก่ เกาะใหญ่ เกาะสี่ เกาะห้า เกาะแก้ว เกาะหมาก เกาะราย และเกาะยอ นักท่องเที่ยวสามารถหาเรือท่องเที่ยวในทะเลสาบได้ บริเวณท่าเรืออยู่หลังที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข หรือบริเวณตลาดสด จะมีเรือหางยาวรับส่งตลอดวัน
เกาะยอ บนเกาะยอมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,275 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเพาะปลูกและเกษตรกรรม เกาะยอเป็นเกาะที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง จะเห็นได้จากคำขวัญที่ว่า “ผลไม้ดี สถานที่สวย รวยศิลปะ พระคุ้มครอง ต้องเกาะยอ” ผลไม้ดีของเกาะยอคือ ขนุน จำปาดะ ละมุด ทุเรียน สถานที่สวยได้แก่ การที่เกาะยอมีทิวทัศน์สวยงามตลอดทั้งเกาะ อาทิ ภาพพระอาทิตย์ตกยามเย็น บริเวณหมู่ที่ 8 บ้านท้ายเส๊าะ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามมาก และเกาะยอยังเป็นเกาะที่มีสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ สะพานติณสูลานนท์ ซึ่งมีอยู่ 2 ช่วงคือ ช่วงแรก เชื่อมเกาะยอด้านใต้กับแผ่นดินใหญ่ด้านตัวเมืองสงขลาที่บ้านน้ำกระจาย ต.พะวง ช่วงที่ 2 เชื่อมเกาะยอด้านเหนือกับแผ่นดินใหญ่ที่ กิ่ง อ.สิงหนคร อ.เมือง สงขลา ด้านเขาเขียว เกาะยออยู่ในทะเลสาบสงขลา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสงขลา ระยะห่างจากตัวเมืองสงขลาทางน้ำประมาณ 6 กม. ทางบกประมาณ 14 กม. โดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินสายถนนกาญจนวนิช (สงขลา-หาดใหญ่) จากตัวเมืองสงขลาแยกตรง กม.ที่ 10-11 แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 4146 ประมาณ 2 กม. จะถึงสะพานติณฯ ช่วงแรก และจะถึงเกาะยอ มีรถโดยสารประจำทางสายสงขลา-ระโนด วิ่งวันละ 50 เที่ยว ค่าโดยสารจากสงขลา-เกาะยอ คนละ 5 บาท
จากหาดใหญ่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 407 (หาดใหญ่-สงขลา) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4146 ก็จะถึงสะพานติณฯ เข้าสู่เกาะยอ มีรถประจำทางหาดใหญ่-นครศรีธรรมราช ผ่านเกาะยอ และมีบริการรถแท็กซี่หาดใหญ่-เกาะยอ วิ่งระหว่างเวลา 06.00-18.00 น. ค่าโดยสารคนละ 15 บาท คิวรถอยู่บริเวณวงเวียนน้ำพุ นอกจากนี้บริเวณตลาดนัดเกาะยอ มีรถโดยสารรับจ้างวิ่งรอบบริเวณเกาะ ค่าโดยสารคนละ 30-40 บาท
อุทยานนกน้ำคูขุด (เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา) ตั้งอยู่ที่บ้านคูขุด หมู่ที่ 4 ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสทิงพระเข้าไปทางแยกประมาณ 3 กม. อยู่ทิศเหนือห่างจากสงขลา 32 กม. ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ทะเลสาบสงขลา เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519 มีพื้นที่อยู่ในเขตรับผิดชอบทั้งหมด 227,916 ไร่ (365 ตารางกิโลเมตร) ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมืองสงขลา อ.รัตภูมิ อ.สทิงพระ และกิ่ง อ.กระแสสินธุ์ และพื้นที่ส่วนหนึ่งติดต่อกับ อ.ปากพะยูน จังหวัดพัทลุง
อุทยานนกน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลา มีอาหารอุดมสมบูรณ์ จากการสำรวจของกรมป่าไม้พบว่ามีนกชนิดต่างๆ กว่า 112 ชนิด ซึ่งนกเหล่านี้จะมาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน ที่บริเวณที่ทำการอุทยานมีเรือทัวร์ชมรอบๆ บริเวณอุทยานนกน้ำ ในราคาประมาณ 150 บาท ใช้เวลาเที่ยวชมนกประมาณ 1 ชั่วโมง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลานี้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกาะ คือมีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมาย และหญ้าทะเลขึ้นเขียวขจีเหมือนกับทุ่งหญ้ากลางทะเลซึ่งเป็นธรรมชาติที่มีทิวทัศน์งดงามมาก เกาะเหล่านี้บางเกาะอยู่ในพื้นที่ของ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เช่น เกาะนางคำ เกาะญวน เกาะเสือ เกาะหมาก และบางเกาะไม่มีคนอาศัยอยู่เลย แต่ทว่ามีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวกันมาก เพราะมีบรรยากาศที่ดี เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ อย่างเช่น เกาะบรรทม เกาะคำเหียง เกาะกระ และเกาะโคบ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศด้านหนึ่งติดกับทะเลสาบ อีกด้านเป็นภูเขาเล็กๆ เหมาะแก่การนั่งดูนก เพราะบริเวณนี้มีต้นราโพ และต้นจากมากจึงเป็นที่อยู่และที่วางไข่ของนกอีโก้ง นอกจากนี้ยังมีเกาะสี่ เกาะห้า ซึ่งเป็นเกาะที่มีการทำสัมปทานเก็บรังนกนางแอ่น การเดินทางจากหาดใหญ่ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 407 ไปทางสะพานติณสูลานนท์ แล้วเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4083 ซึ่งเป็นทางตัดเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกช่วงสงขลา-สทิงพระ ทางซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทะเลสาบสงขลา เป็นทางแยกเข้าไปประมาณ 3 กม. เป็นถนนราดยางอย่างดี ระยะทางจากหาดใหญ่ (ถึงหลักกิโลเมตรที่ 126) - อ.สทิงพระ ประมาณ 32 กม.
หาดสทิงพระ อยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอสทิงพระ มีถนนแยกขวาเข้าไปอีก 500 เมตร หาดสทิงพระเป็นชายหาดยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ในวันหยุดจะมีชาวบ้านละแวกนั้นไปพักผ่อน ที่ชายหาดไม่มีร้านขายอาหารและเครื่องดื่มบริการ
หาดม่วงงาม อยู่ด้านใต้หาดสทิงพระลงมา 16 กิโลเมตร และห่างจากสงขลา 20 กิโลเมตร ในเขตตำบลม่วงงาม อำเภอเมือง จากถนนสายสงขลา-สทิงพระ กิโลเมตรที่ 18 นั้น มีทางแยกสู่ชายหาด เป็นถนนดินลูกรัง 1 กิโลเมตร เป็นหาดทรายยาวเหยียด 3 กม. ลักษณะเหมือนหาดสทิงพระ เป็นที่พักผ่อนระดับท้องถิ่นเท่านั้น ที่หาดไม่มีอาหารและเครื่องดื่มบริการ
หาดทรายแก้ว อยู่ฝั่งทะเลตรงข้ามกับแหลมสนอ่อน อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไป 7 กิโลเมตร ทางสายสงขลา-สทิงพระ เป็นถนนดินลูกรัง 2 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ที่ชายหาดแก้วมีที่พักลักษณะเป็นกระท่อม (แบบคาบานา) ประมาณ 40 หลัง ชื่อ หาดแก้วรีสอร์ท เพื่อบริการนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ติดต่อจองที่พักได้ที่ (074) 331059-76
หาดสร้อยสวรรค์ เป็นสถานที่พักผ่อนริมทางที่แขวงการทางหลวง จังหวัดสงขลา จัดสร้างให้นักท่องเที่ยวแวะพักผ่อน อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 27 ช่วงอำเภอจะนะไปอำเภอเทพา ชายหาดมีความยาว 3-4 กิโลเมตร ในวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีอาหารและเครื่องดื่มบริการ

แหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถานและโบราณวัตถุ

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษามากมาย โบราณสถานที่สำคัญคือ

  ป้อมปากน้ำแหลมทราย เป็นป้อมปืนสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 พร้อมกับการสร้างเมืองใหม่ที่สงขลาในปัจจุบัน ปัจจุบันป้อมนี้อยู่ในบริเวณหลังกองบังคับการตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
พลับพลาที่ประทับเขาตังกวน อยู่บนเขาตังกวน เป็นพลับพลาที่ประทับสร้างถวาย สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา สร้างพลับพลาแห่งนี้ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
เจดีย์เขาตังกวน อยู่ถัดจากพลับพลาที่ประทับเขาตังกวนขึ้นไป มีบันไดเดินไปถึงยอดเขา ซึ่งมีเจดีย์สร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช ไม่ทราบ พ.ศ. ที่แน่นอน เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสงขลา พ.ศ. 2402 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสงขลาบูรณะปฏิสังขรณ์ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของชาวสงขลาทั่วไป
ศาลาหลักเมืองสงขลา อยู่ที่ถนนนางงาม ชาวสงขลาเรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา” ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมือง เป็นที่เคารพสักการะของชาวสงขลาทั่วไป 
วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อยู่ที่ถนนไทรบุรี เป็นวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา วัดนี้เป็นวัดโบราณประมาณ 400 ปี เดิมเรียกว่าวัดยายศรีจันทร์ เพราะกล่าวกันว่ายายศรีจันทร์ คหบดีผู้มั่งคั่งในเมืองสงขลาได้อุทิศเงินสร้างขึ้น ต่อมาประชาชนพากันเรียกว่า “วัดกลาง” ทั้งนี้เพราะมีผู้สร้างวัดอื่นขึ้นทางทิศเหนือวัดหนึ่ง (วัดเลียบ) และทิศใต้อีกวัดหนึ่ง (วัดโพธิ์) ชาวสงขลาจึงเรียนวัดยายศรีจันทร์ว่า “วัดกลาง” ต่อมาจนทุกวันนี้ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาลีว่า “วัดมัชฌิมาวาส” โดยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งเสด็จเมืองสงขลา พ.ศ. 2431 นอกจากนี้ในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ชื่อภัทรศิลป เป็นที่เก็บวัตถุโบราณต่างๆ ซึ่งรวบรวมได้จากเมืองสงขลา สทิงพระ ระโนด และอื่นๆ ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การศึกษา
เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุวัดชัยมงคล อยู่ภายในบริเวณวัดชัยมงคล หลังสถานีรถไฟสงขลา พระบรมธาตุที่บรรจุในเจดีย์นี้เป็นพระบรมธาตุที่ได้มาจากลังกา ประมาณปี พ.ศ. 2435 มีพระอาจารย์สอนบาลีในวัดชัยมงคลองค์หนึ่งนามว่า นะ อิศโร ท่านไปลังกาโดยทางเรือ ได้มีโอกาสรู้จักกับคหบดีเศรษฐีใหญ่ในลังกา ซึ่งมีพระธาตุพระทศพลอยู่มาก ท่านเศรษฐียินดีถวายให้ท่าน นะ อิศโร ได้อธิษฐานและเลือกได้พระบรมสารีริกธาตุพระพุทธองค์ ท่านเศรษฐีเสียใจมากแต่คงยินดีให้ และบอกว่าพระบรมธาตุเป็นคู่บุญบารมีท่านนะ อิศโร จึงได้นำพระบรมธาตุมาสงขลา และได้สร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมธาตุให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะจนปัจจุบัน
  พระตำหนักเขาน้อย ตั้งอยู่เชิงเขาน้อยทางทิศใต้ ถนนสะเดา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2454 เพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ายุคลฆัฆมพร (กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์) เมื่อครั้งมาดำรงตำแหน่ง สมเด็จอุปราชมณฑล ปักษ์ใต้ เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ในคราวเสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดภาคใต้ เมื่อเดือนมีนาคม 2502 ปัจจุบันใช้เป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัด
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ถนนจะนะ เดิมเป็นบ้านพักส่วนตัวของพระยาสุนทรารักษ์ (เนตร ณ สงขลา) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2421 พระวิจิตรวรศาสน์ (เจ้าพระยายมราช) ใช้เป็นจวนพักข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา และเมืองนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2437 และใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ พ.ศ. 2439 ในปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จังหวัดสงขลา เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จากบ้านเชียง และสมัยหินกลาง หินใหม่ จากกาญจนบุรี ตลอดทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยศรีวิชัย ซึ่งเป็นศิลปะโบราณวัตถุซึ่งพบที่ภาคใต้ด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่าง 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. หยุดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดราชการ
วัดเกาะถ้ำ อยู่ห่างจากสามแยกสำโรง ตามเส้นทางสายสงขลา-นาทวี ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่บนยอดเขา ประชาชนนิยมไปกราบไหว้บูชา ติดกับวัดเกาะถ้ำมีวัดแม่ชีที่เงียบสงบ สถานที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับทำสมาธิและวิปัสสนา
ที่ฝังศพสุลต่านสุไลมาน อยู่ฝั่งหัวเขาแดง นั่งรถจากหัวเขาแดงไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสงขลา-นครศรีธรรมราช ที่ฝังศพทำเป็นศาลาคร่อมไว้ มีจารึกเป็นภาษาอาหรับบอกไว้ข้างๆ ที่ฝังศพ และยังมีที่ฝังศพอีกแห่งหนึ่งอยู่ข้างๆ แต่ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าเป็นศพของใคร ชื่ออะไร สุลต่าน สุไลมาน เดิมเข้าใจว่าเป็นคนเชื้อชาติอาหรับ มีฐานะมั่นคง เคยเป็นพ่อค้าเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองสงขลา
เจดีย์พี่น้องยอดเขาแดง
-เจดีย์องค์ดำ ตั้งอยู่บนยอดเขาแดง ตำบลเขาแดง เมืองสงขลา เจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ หรือ สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์สร้างไว้เป็นที่ระลึกเมื่อครั้งปราบกบฏเมืองไทรบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2373
-เจดีย์องค์ขาว พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัด บุนนาค) สมเด็จพระยาองค์น้อย หรือสมเด็จพระยามหาพิชัยญาติ สร้างไว้เป็นที่ระลึก เมื่อครั้งปราบกบฎเมืองไทรบุรี ปัตตานี ปีนัง และมลายู เมื่อปราบกบฏได้แล้ว พระยาศรีพิพัฒน์จัดราชการเมืองสงขลาอยู่ 2 ปี และได้สร้างเจดีย์ไว้บนยอดเขากลางเมืองสงขลาอีกองค์หนึ่งคู่กัน แล้วจึงยกทัพกลับกรุงเทพฯ
วัดพะโค หรือ วัดราชประดิษฐาน ตั้งอยู่บริเวณเขาพัทธสิงค์ ในท้องที่ หมู่ที่ 6 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ วัดพะโคเป็นวัดจำพรรษาของสมเด็จพะโค หรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด อันเป็นที่เคารพนับถือของภาคใต้ทั่วไป มีประวัติความเป็นมาว่า วันหนึ่งได้มีโจรสลัดแล่นเรือเลียบมาตามฝั่ง เห็นสมเด็จพะโคเดินอยู่ มีลักษณะแปลกกว่าคนทั้งหลาย จึงใคร่จะลองดี ได้จอดเรือและจับสมเด็จพะโคไป เมื่อเรือแล่นมาได้สักครู่ก็เกิดเหตุเรือแล่นไปไม่ได้ ทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เรือต้องจอดอยู่เช่นนั้นหลายวัน จนในที่สุดน้ำจืดหมดลงโจรสลัดมีความเดือดร้อน สมเด็จพะโคสงสาร จึงได้เอาเท้าข้างซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเล เกิดเป็นประกายโชติช่วงและน้ำทะเลกลายเป็นน้ำจืด โจรสลัดเกิดความเลื่อมใสศรัทธากราบไหว้ขอขมา และนำสมเด็จพะโคขึ้นฝั่ง ตั้งแต่นั้นมาประชาชนจึงพากันไปกราบไหว้บูชากันเป็นจำนวนมาก
การเดินทางจากหาดใหญ่ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 407 ไปทางสะพานติณสูลานนท์ แล้วเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4083 ซึ่งเป็นทางเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกช่วงสงขลา-สทิงพระ หลักกิโลเมตรที่ 110 ทางซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าวัดพะโค ระยะทางจากตัวเมืองสงขลาถึงวัดพะโค ประมาณ 48 กม.
สถาบันทักษิณคดีศึกษา ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา บริเวณใกล้เชิงสะพานติณฯ ตอนเหนือ และอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 4146 มีพื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่ 1 งาน 39.9 ตารางวา พื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา และอีกส่วนหนึ่งอยู่บนยอดเขา และเมื่อขึ้นไปอยู่บนสุดของพื้นที่ จะสามารถมองเห็นทะเลสาบส่วนที่ล้อมเกาะทั้ง 3 ด้าน เป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก
สถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ และมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ไว้ เป็นที่น่าสนใจมาก เช่น ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจิตรกรรมฝาผนัง เครื่องดนตรีพื้นบ้านตลอดจนผลิตภัณฑ์งานฝีมือต่างๆ สถาบันทักษิณคดีศึกษาประกอบด้วยส่วนสำคัญ 5 ส่วนคือ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา อุทยานวัฒนธรรมศูนย์วิทยบริการด้านวัฒนธรรม งานส่งเสริมและเผยแพร่และหมู่บ้านวัฒนธรรมสาธิต สถาบันเปิดให้ผู้สนใจชมในเวลาราชการทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 5 บาท
สะพานติณสูลานนท์ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงที่เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 407 สายหาดใหญ่-สงขลา กับทางหลวง 408 สายสงขลา-ระโนด โดยสะพานแห่งนี้ เป็นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา แบ่งออกเป็นสองช่วง คือช่วงแรก เชื่อมระหว่างชายฝั่ง อ.เมือง สงขลา บริเวณบ้านน้ำกระจาย กับเกาะยอตอนใต้ ความยาวรวมเชิงสะพานทั้งสองด้าน 1,140 เมตร ช่วงที่ 2 เชื่อมระหว่างฝั่งด้านเหนือของเกาะยอกับฝั่งบ้านเขาเขียว ความยาวทั้งทั้งสิ้น 1,800 เมตร สะพานนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ 26 มีนาคม 2527 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2529 สะพานแห่งนี้ได้กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวที่จะต้องเดินทางแวะชมควบคู่ไปกับการมาท่องเที่ยวและรับประทานอาหารที่เกาะยอ

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอหาดใหญ่

คำว่าหาดใหญ่ กล่าวกันว่า มาจากชื่อหาดทรายขาวที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางริมคลองอู่ตะเภา หรืออาจจะมาจากชื่อต้นมะหาดใหญ่ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนไปเป็นหาดใหญ่
เมืองหาดใหญ่ เมืองศูนย์กลางด้านการค้าและธุรกิจของภาคใต้ ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเป็นประตูผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เนื่องจากอยู่ห่างจากด่านสะเดาเพียง 60 กิโลเมตร ปัจจัยที่ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมากก็คือ การเป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆ ธุรกิจการค้า การขนส่ง การสื่อสาร การคมนาคม การศึกษา และการท่องเที่ยว
ตัวเมืองหาดใหญ่ ตัวเมืองหาดใหญ่เป็นเมืองที่ค่อนข้างจะทันสมัย ประกอบด้วยอาคารบ้านเรือน ร้านค้าพาณิชย์ต่างๆ มากมาย ท่านอาจจะเดินชมสินค้าต่างๆ อย่างเพลิดเพลินโดยตั้งต้นจากจุดหนึ่งในย่านกลางใจเมือง เช่น ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2 หรือ 3 แล้วท่านจะพบสินค้าแปลกๆ ใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ศูนย์การค้ามีหลายแห่งคือ ศูนย์การค้าลิโด ศูนย์การค้าโอเดียน ถนนเสน่หานุสรณ์ ศูนย์การค้าหาดใหญ่พลาซ่า และตลาดซีกิมหยง ถนนเพชรเกษม ซึ่งย่านการค้าเหล่านี้อยู่ในบริเวณกลางใจเมืองที่ท่านสามารถเดินไปถึงได้อย่างสะดวก 
  วัดหาดใหญ่ใน ถนนเพชรเกษมใกล้สะพานคลองอู่ตะเภา มีพระนอนขนาดใหญ่ประดิษฐานขนาดยาว 35 เมตร สูง 15 เมตร กว้าง 10 เมตร ชื่อพระพุทธหัตถมงคล

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเทพา

  หาดสะกอม อยู่ทางใต้ของเส้นทาง สงขลา-จะนะ-เทพา ห่างจากตัวเมืองสงขลา ระยะทาง 53 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอจะนะ 15 กิโลเมตร มีถนนลูกรังเข้าถึงชายหาด ซึ่งมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร นับเป็นสถานที่เหมาะแก่การพักผ่อน แค้มปิ้ง และสามารถเช่าเรือประมงข้ามไปตกปลาที่เกาะขาม ซึ่งมีปลาชุกชุม อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร และบริเวณหาดแห่งนี้มีอาหารทะเลสดๆ ให้เลือกมากมาย อีกทั้งยังมีที่พักไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย เช่น สะกอมเบย์รีสอร์ท ลีลารีสอร์ท และสะกอมคาบานา

สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอสะบ้าย้อย

  วัดถ้ำตลอด ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำตลอด หมู่ที่ 6 ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสะบ้าย้อย ประมาณ 25 กม. ตามถนนสาย รพช. (ต.สะบ้าย้อย-ต.เขาแดง) วัดถ้ำตลอด สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย บริเวณวัดมีถ้ำสวยงามมาก เรียกกันว่า “ถ้ำตลอด” มีลักษณะคล้ายอุโมงค์ขนาดใหญ่ ผ่าผ่านทะลุออกไปอีกฟากหนึ่งของภูเขา บริเวณถ้ำมี 3 คูหา มีพระพุทธรูปเก่าแก่ สร้างด้วยไม้โบกปูนซีเมนต์ มีอายุหลายร้อยปีมาแล้วตามหลักฐานการจัดตั้งวัดแห่งนี้ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2219 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2275 เป็นที่เคารพนับถือของราษฎรโดยทั่วไป มีพระพุทธรูปปางสมาธิ ปางไสยาสน์ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ประมาณ 100 องค์ และยังมีรูปยักษ์ขนาดใหญ่ สูง 6 เมตร ยืนอยู่หน้าถ้ำ สำหรับบริเวณถ้ำมีอากาศร่มรื่นเย็นสบาย เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ
ถ้ำรูนกสัก ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสะบ้าย้อย ประมาณ 14 กม. (ตามถนนสาย รพช. ต.สะบ้าย้อย-ต.เขาแดง) ระหว่างทางจะมีป้ายด้านขวามือแสดงเส้นทางเข้าไปยังถ้ำรูนกสัก ซึ่งเป็นถ้ำที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง มีลำธารไหลผ่านกลางถ้ำ มีหินงอกหินย้อยรูปร่างลักษณะต่างๆ มากมาย เป็นถ้ำที่ทะลุกัน ยาวประมาณ 300 เมตร บางตอนของถ้ำมืดและบางตอนสว่าง การเดินทางเที่ยวถ้ำแห่งนี้ต้องปีนป่ายซอกหินลาดชันเล็กน้อย แต่ไม่เหนื่อยมากนัก เพราะการเดินทางทุกย่างก้าวผ่านธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และงดงามยิ่ง

แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่น่าสนใจนอกตัวเมือง

  สวนสาธารณะเทศบาลเมืองหาดใหญ่ ริมถนนกาญจนวนิช เส้นทางหาดใหญ่-สงขลา ห่างจากตัวเมืองหาดใหญ่ 6 กิโลเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวหาดใหญ่และบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติ บริเวณสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างงดงาม มีศาลากลางน้ำ และสวนสัตว์ มีร้านอาหาร ที่จอดรถกว้างขวางไว้คอยบริการ ประชาชนนิยมไปพักผ่อนในยามว่าง และวันสุดสัปดาห์เป็นจำนวนมาก
ศูนย์วิจัยการยาง ตั้งอยู่สามแยกคอหงษ์ เป็นศูนย์ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับพันธุ์ยางภาคใต้ มีห้องแสดงเกี่ยวกับชนิดของยาง ขั้นตอนการผลิดอุปกรณ์ในการกรีดยางและอื่นๆ ศูนย์ทำการตามเวลาราชการ เวลา 08.30-16.30 น. การเดินทางสามารถเดินทางได้โดยรถรับจ้างประจำทาง ตลาดสด-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บริเวณตลาดสดเทศบาลเมืองหาดใหญ่
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่สำคัญของภาคใต้มีคณะต่างๆ 11 คณะ แบ่งออกเป็น 2 วิทยาเขต คือ หาดใหญ่และปัตตานี การเดินทางสามารถเดินทางได้โดยรถรับจ้างประจำทาง ตลาดสด-มหาวิทยาลัยสงขลา บริเวณตลาดสดเทศบาลเมืองหาดใหญ่
สนามกอล์ฟ สนามกอล์ฟคอหงษ์ ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขนาด 9 หลุม 36 พาร์ สนามมีระยะชาย 3,433 หลา หญิง 2,674 หลา เปิดบริการทุกวันและยังเปิดบริการสำหรับบุคคลภายนอกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (074) 243605
น้ำตกโตนงาช้าง เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งในภาคใต้ อยู่ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ 26 กิโลเมตร น้ำตกโตนงาช้างมีด้วยกันทั้งหมด 7 ชั้นๆ ที่สวยงามและเรียกชื่อน้ำตกคือ ชั้นที่ 3 ซึ่งมีน้ำตกแยกออกมาในลักษณะงาช้าง “โตน” ภาษาพื้นเมืองแปลว่า น้ำตก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปเที่ยวเป็นอันมาก การเดินทางจากหาดใหญ่ไปตามถนนเพชรเกษม เส้นทางหาดใหญ่-รัตภูมิ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 15 เลี้ยวซ้ายที่ตำบลบ้านหูเร่ ไปตามถนน รพช. อีก 13 กิโลเมตร จะถึงน้ำตก อัตราค่าเช่ารถตุ๊กตุ๊กไปเที่ยวน้ำตก 2-3 ชั่วโมง คันละประมาณ 250-300 บาท นอกจากนี้ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองหาดใหญ่ยังมีรถโดยสารประจำทาง (สองแถว) วิ่งทุกวัน ค่าโดยสารคนละ 15 บาท
วนอุทยานน้ำตกบริพัตร ตั้งอยู่ในเขต อ.รัตภูมิ ห่างจาก อ.เมือง ตามทางหลวง 52 กม. หมายเลข 406 ระหว่าง กม. 35-36 แยกทางลูกรังเข้าไป 1 กม. เป็นน้ำตกที่สวยงามไม่ด้อยไปกว่าน้ำตกโตนงาช้าง มีน้ำไหลตลอดปี

กีฬาพื้นเมือง

  กีฬาชนโค เป็นการนำโคตัวผู้ 2 ตัวให้มาชนกัน นับเป็นกีฬาพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมติดต่อกันมานาน ตั้งแต่สมัยพระยาเมือง สมัยศรีวิชัย เป็นที่เชื่อกันว่าหลังการเก็บเกี่ยว แต่ละหมู่บ้านก็นำโคมาชนกันเพื่อสมานสามัคคีและเป็นงานรื่นเริง การพนันอาจเป็นสุราหรือข้าวซึ่งเพิ่งเก็บเกี่ยวได้มา ปัจจุบันแต่ละอำเภอมักจะมีสนามชนโคของตนเอง จะจัดชนโคเดือนละครั้ง ในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ กำหนดการชนโคนี้มักจะมีการตกลงกันระหว่างสนามของอำเภอต่างๆ
นกเขาชวา (นกเขาเล็ก) ที่อำเภอจะนะ อยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลาและหาดใหญ่ โดยเส้นทางหลวง 408 ประมาณ 40 กม. อ.จะนะ เป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงในการเลี้ยงนกเขา การปลูกส้มจุกหวาน และการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง การเลี้ยงนกเขาชวานั้น เป็นที่นิยมของชาวอำเภอจะนะมากพอๆกับชาวสุรินทร์เลี้ยงช้างทีเดียว แทบทุกบ้านจะมีกรงนกพร้อมคันชัก นิยมจัดประกวดนกเขาระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม นกที่ชนะการประกวดจะมีราคาแพงมาก ปกติลูกนกอายุประมาณ 1 เดือน ก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว ในปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงนกเขาชวาเพื่อจำหน่ายหลายแห่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักเลี้ยงนกเขาชวาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่สงขลา