แผนที่ตาก

  • แผนที่ตาก
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ตากตาก เมืองตากในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอยู่มาก่อน ดังมี หลักฐานศิลปมอญ ปรากฏอยู่ที่ อำเภอบ้านตาก มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ และเป็นหนึ่งในหัวเมืองที่มีอายุขัยเกินกว่า สองพันปีขึ้นไป เมื่อมีการอพยพของชนชาติไทยจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงตอนใต้ ลงมาตามแนวลำน้ำดง (ลำน้ำสาละวิน) มีพวกหนึ่งได้ข้ามลำน้ำสาละวิน ผ่านลุ่มน้ำเมย หรือแม่น้ำต่องยินเข้ามาทางช่องเขาด้านอำเภอแม่สอดและมาถึง บริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “เมืองตาก”

ผู้นำกลุ่มคนไทยที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองตากในยุคนั้น ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี พ.ศ. 560 รัชสมัยพระเจ้าสักดำ ซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองตากที่ยิ่งใหญ่มาก มีอาณาเขตที่อยู่ในอำนาจแผ่ไปจนจรดทะเลอันดามัน ดังมีบันทึกในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า ในรัชสมัยพระเจ้าสักดำนั้น เมืองตากมีการค้าขายกับ เมืองอินเดียด้วย

เมืองตากคงจะเสื่อมลงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 พระยากาฬวรรณดิส ผู้เป็นกษัตริย์เมืองตากที่อพยพมาจาก ตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ได้โยกย้ายไป สร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่เมืองละโว้ทางตอนใต้ของเมืองตากลงไปอีก

มีบางยุคเมืองตากถูกทอดทิ้ง กลายเป็นเมืองร้างดังในพงศาวดารเหนือได้ กล่าวถึงการเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวี พระราชธิดากษัตริย์ละโว้ (ระยากาฬวรรณดิส) เพื่อไปปกครองแคว้นหริภุญไชย (ลำพูน) ในราว พ.ศ. 1176 โดยทาง ลำน้ำปิง พระนางจามเทวีขึ้นไปสำรวจบนฝั่งแม่น้ำพบร่องรอยกำแพงเมืองเก่าๆ ถูกทิ้งร้าง จึงโปรดให้สร้างเป็นบ้านเมืองใหม่ชื่อว่า “เมืองตาก”

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1805 ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพ มาประชิดเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงจัดกองทัพออกไปรบ โดยมีพระราชโอรสองค์เล็กซึ่งมีพระชนมายุได้ 19 พรรษา ติดตามไปด้วย กองทัพ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่บริเวณเชิงดอย นอกเมืองตากประมาณกิโลเมตรเศษ ราชโอรสองค์เล็กได้ทรงชนช้าง กับขุนสามชนกระทำยุทธหัตถีกัน ขุนสามชนสู้ไม่ได้แตกพ่ายไป ต่อมาภายหลัง ทรงพระนามว่า “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” และได้โปรดสร้างเจดีย์ขึ้นเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะ ในการทำยุทธหัตถีครั้งนั้น องค์หนึ่งเป็นศิลปแบบสุโขทัย ซึ่งเจดีย์ยุทธหัตถีนี้อยู่ที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตาก ห่างจากตัวเมืองไปทางฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำปิงราว 31 กิโลเมตร

ต่อมาในแผ่นดินมหาธรรมราชา ได้ย้ายเมืองตากลงมาทางตอนใต้ตามลำน้ำปิง ไปตั้งอยู่ที่ป่ามะม่วง ฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ในเขตตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตากในปัจจุบั

น เมืองตากที่ย้ายมาตั้งใหม่นี้มิใช่เมืองหน้าด่าน สำหรับป้องกันกองทัพพม่า ที่จะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่กองทัพไทย ใช้เป็นที่ชุมนุมพลในเวลา ที่จะยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากนี้ทุกพระองค์

โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชสมบัตินั้น พระองค์ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราราชสีห์ ไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ และต่อมาได้รับการแต่งตั้ง เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ปลัดเมืองตาก พระยาวชิรปราการแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยลำดับ

จังหวัดตากตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าไม้และภูเขา มีเนื้อที่ประมาณ 16,406.650 ตารางกิโลเมตร 

ทิศเหนือ จดจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และ ลำปาง 
ทิศตะวันออก จดจังหวัดสุโขทัย 
ทิศตะวันตก จดประเทศสหภาพพม่า โดยมีแม่น้ำเมยและทิวเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นพรมแดน 
ทิศใต้ จดจังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี นครสวรรค์ และกำแพงเพชร

การปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 63 ตำบล 493 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองตาก อำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา อำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง อำเภอวังเจ้า
ระยะห่างระหว่างจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียง

ตาก-สุโขทัย 79 กิโลเมตร
ตาก-กำแพงเพชร 68 กิโลเมตร
ตาก-นครสวรรค์ 185 กิโลเมตร
ตาก-พิจิตร 157 กิโลเมตร

ระยะทางจากตัวจังหวัดไปยังจังหวัดใกล้เคียง

จังหวัดสุราษฎร์ธานี 356 กิโลเมตร
จังหวัดตรัง 131 กิโลเมตร
จังหวัดพัทลุง 193 กิโลเมตร
จังหวัดสงขลา 313 กิโลเมตร
จังหวัดกระบี่ 336 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ตาก

ทางรถยนต์ จังหวัดตากอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 426 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 แยกซ้ายที่วังน้อย เข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านสิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1 อีกครั้ง ผ่านเข้าจังหวัดกำแพงเพชร ตรงเข้าจังหวัดตาก รวมระยะทาง 426 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-ตาก และกรุงเทพฯ-แม่สอด ทุกวัน รายละเอียดติดต่อสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 หรือที่บริษัท ถาวรฟาร์ม จ. ตาก โทร. (055) 511054 และบริษัท ทันจิตต์ จ. ตาก โทร. (055) 511307

สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งหมอชิตใหม่ โทร. 0 1936 1851-66 www.transport.co.th และมีบริษัทเดินรถเอกชน ได้แก่ บริษัท ทันจิตต์ ทัวร์ วิ่งระหว่าง กรุงเทพฯ-ตาก ตั้งแต่เวลา 09.30-11.00 น., กรุงเทพฯ-แม่สอด เวลา 11.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 5551 1307 กรุงเทพฯ โทร. 0 1936 3110-13 และบริษัท เชิดชัย ทัวร์ วิ่งระหว่าง กรุงเทพฯ-ตาก ตั้งแต่เวลา 11.30-11.00 น. กรุงเทพฯ-แม่สอด มีรถออกเที่ยวเดียวคือ เวลา 11.15 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 5551 1054, 0 5551 1057 กรุงเทพฯ โทร. 0 1936 0199

ทางเครื่องบิน

ทางอากาศ สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ-แม่สอด โดยเครื่องบินโดยสารของการบินไทย กรุงเทพฯ-พิษณุโลก แล้วเปลี่ยนเที่ยวบินที่พิษณุโลก มีบริการเฉพาะวันอังคาร พฤหัสบดี เสาร์และอาทิตย์ สอบถามเที่ยวบินได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 1566, 0 1180 0060 และ 0 1618 1000 www.thaiairways.com หรือภูเก็ตแอร์ บินเส้นทาง กรุงเทพฯ – แม่สอด

ประเพณีลอยกระทงสาย

วันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี ลำน้ำปิงจะเปี่ยมสองฝั่ง ลอยกระทงสวย เป็นปะเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นรูปแบบเฉพาะของชาวตาก ปัจจุบันจะใช้กะลามะพร้าวและมีไส้กระทงเป็นมะพร้าวแห้งชุบน้ำมัน แล้วนำไปลอยจะมีความงดงามแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

งานตากสินมหาราชานุสรณ์และงานกาชาด

จัดในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม ถึง วันที่ 3 มกราคมของทุกปี ภายในงานจะมีการแสดงแสงสีเสียงเทิดพระเกียรติ การบวงสรวงดวงวิญญาณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การแสดงนิทรรศการ และการแสดงมหรสพต่างๆ

ประเพณีปีใหม่ม้ง เป็นงานรื่นเริงของชาวเขาเผ่าม้งโดยมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี หลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า- ผีป่า – ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันอย่างพร้อมเพรียงกัน หรือตามวัน และเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งโดยมากจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ประเพณีปีใหม่ม้งนี้ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ในวันดังกล่าวหัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การโยนลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง การเต้นรำต่าง ๆ

แหล่ส่างลอง ประกอบพิธีที่วัด แม่ซอดน่าด่าน อำเภอแม่ระมาด กลางเดือนมีนาคม – ต้นเดือนเมษายน วัตถุประสงค์ 1. เป็นการอนุรักษ์ประเพณีที่มีมา แต่เดิม 2. ให้เด็กนักเรียนได้ใช้เวลาระหว่างปิดภาคเรียนได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่ง สอนทางพระพุทธศาสนา 3. พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าบวช ถือ เป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ พิธีกรรม “แหล่” เป็นคำภาษาไทยใหญ่ แปลว่า แห่ “ส่างลอง” หมายถึง ลูกแก้ว ชาวไทยใหญ่ และชาวไทยใหญ่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาในเขตอำเภอแม่สอด มักจะทำการบวชเณร ซึ่งเป็นลูกแก้ว หรือหลาน ของตนเองในช่วงปิดภาคเรียน ระหว่างเดือนมีนาคม - เดือนเมษายน ของทุก ๆ ปี เนื่องจากว่างจากการทำงาน และลูกหลานไม่ได้ไปโรงเรียน ทั้งต้องการให้ลูกหลาน ได้มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าใน ช่วงปิดเทอมนี้ด้วย การจัดงานบวชลูกแก้ว (แหล่ส่างลอง) นั้น ถือว่า ผู้ที่บวชเณรลูกชายตนเองจะได้บุญหรืออานิสงส์มากถึง 7 กัลป์ ถ้าบวชเณรลูกชายคนอื่นจะได้บุญ 4 กัลป์ และถ้าบวชลูกชายตนเองเป็นพระภิกษุ จะได้บุญถึง 16 กัลป์ ถ้าบวชลูกชายคนอื่นเป็นพระภิกษุจะได้บุญถึง 8 กัลป์ จึงมักจะมีผู้ที่มีฐานะดีหลายคน จะนิยมหาเด็กผู้ชายมาบวช โดยจะไปทาบทามจากผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน และถือเป็นการสร้างบุญกุศลร่วมกันด้วย ลักษณะในการบวชเณรของชาวแม่สอดจะมี แบบข่านหลิบ(บวชเรียบง่าย) คือ ผู้ที่ตกลงใจบวช พ่อ แม่ ผู้อุปถัมภ์ก็จะนำผู้ที่บวชไปโกนหัว นุ่งผ้าขาว พร้อมด้วยการนำสำรับกับข้าว แบบข้าวหม้อแกงหม้อ ไปวัดให้พระภิกษุสงฆ์ทำพิธีบวชเณรให้ก็เป็นอันเสร็จ ซึ่งมีความสะดวกหลายประการ ทั้งยังเป็นการประหยัดทรัพย์

 

 

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

ศาลหลักเมืองสี่มหาราช ตั้งอยู่ที่บ้านปากร้อง หมู่ที่ 6 ต. ป่ามะม่วง อยู่เชิงสะพานกิตติขจร ก่อนเข้าตัวเมืองตาก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองตากเป็นเมืองเก่าก่อนสมัยกรุงสุโขทัย เป็นเมืองที่มีพระมหาราชเจ้าในอดีตได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากถึง 4 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแกรง แล้วยกทัพกลับราชอาณาจักรไทย โดยเสด็จผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้สร้างวัดพระนารายณ์ ที่เชิงสะพานกิตติขจรปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของอดีตมหาราชทั้งสี่พระองค์ และเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดตาก จึงได้จัดสร้างศาลาหลักเมืองสี่มหาราชขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2535
หนองน้ำมณีบรรพต อยู่ริมถนนพหลโยธิน ทางซ้ายมือก่อนเข้าตัวเมืองเล็กน้อย หนองน้ำแห่งนี้เป็นบึงขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว่า 60 ไร่ ภายในบริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ มีศาลาพักผ่อน
วัดมณีบรรพตวรวิหาร เป็นวัดหลวงประจำจังหวัด อยู่บนทางหลวงหมายเลข 1 ใกล้โรงพยาบาลตาก ก่อนเข้าตัวเมืองเล็กน้อย วัดมณีบรรพตตั้งอยู่บนเนินเขาลูกย่อมๆ ด้านหลังเป็นเจดีย์ทรงมอญย่อเหลี่ยมไม้ 16 ภายในอุโบสถมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่วัดนี้ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแสนทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว ชาวบ้านอัญเชิญมาจากวัดร้างแห่งหนึ่งในเขตตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด เมื่อปี พ.ศ. 2473 นับถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองตาก
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ที่สี่แยกถนนจรดวิถีถ่อง ตัดกับถนนมหาดไทยบำรุง ใกล้ศาลากลางจังหวัด ศาลนี้แต่เดิมอยู่บนดอยวัดเขาแก้วฝั่งตรงข้ามกับตัวเมือง ต่อมาในปี 2490 ชาวเมืองเห็นว่า ศาลนั้นไม่สมพระเกียรติ จึงช่วยกันสร้างศาลขึ้นใหม่ พร้อมกับให้กรมศิลปากรหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อยในพระราชอิริยาบถที่กำลังประทับอยู่บนราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกว่า พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อ 2277 สวรรคต 2325 “รวม 48 พรรษา” ศาลนี้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป และทุกปีในระหว่างวันสิ้นปี และวันปีใหม่จะมีงานฉลองเป็นประเพณี
วัดสีตลาราม (วัดน้ำหัก) เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดตาก ตั้งอยู่ที่บ้านจีน ตำบลระแหง วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านชุมชน มีถนนรอบวัด ด้านหน้าติดกับถนนตากสิน เหตุที่ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่าวัดน้ำหัก เพราะในสมัยก่อนบริเวณด้านตะวันตกของวัดเป็นแม่น้ำปิง กระแสน้ำไหลหักวน เนื่องจากเมื่อถึงหน้าน้ำหลาก น้ำจากห้วยแม่ท้อซึ่งไหลแรงมากได้ไหลตัดกระแสน้ำของแม่น้ำปิงให้เบนหักมายังท่าน้ำหน้าวัดนี้ ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า “วัดน้ำหัก” ต่อมาได้มีการถมดินสองฝั่งแม่น้ำ ร่องน้ำเปลี่ยนไป จึงไม่มีคุ้งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลวนให้เห็นอีก วัดสีตลารามเป็นวัดเก่า มีบรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่มากมาย เป็นวัดที่มีกุฏิพระ และโบสถ์สร้างตามศิลปะยุโรป แม้แต่อาคารเรือนไม้เก่าแก่ในวัดก็เช่นกัน ต่อมาพระอุโบสถถูกไฟไหม้จึงสร้างขึ้นใหม่ หน้าอุโบสถมีวิหารคต สร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา
ตรอกบ้านจีน อยู่ใกล้วัดสีตลาราม เป็นย่านค้าขายของเก่าเมืองตาก สมัยที่ลำน้ำแม่ปิงยังไม่ถูกถมเพื่อขยายฝั่ง และยังเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องอุปโภค บริโภค ที่ส่งมาจากปากน้ำโพขึ้นที่บ้านท่าจีน ย่านนี้จึงคับคั่งด้วยผู้คนที่มาซื้อขายขนถ่ายสินค้า เช่นสำเพ็งในกรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันเงียบเหงา ไม่ใช่ย่านการค้าเหมือนแต่ก่อน เป็นเพียงหมู่บ้านที่มีเรือนไทยโบราณสร้างด้วยไม้สักทรงไทย ซึ่งหาดูได้ยากในสมัยปัจจุบัน
วัดเขาถ้ำ ตำบลไม้งาม แยกขวาจากทางหลวงหมายเลข 1 ตรงกิโลเมตรที่ 423 เข้าทางลูกรังประมาณ 700 เมตร ทางเข้าถ้ำเป็นเขาสูงประมาณ 70 เมตร มีก้อนหินใหญ่ๆ สลับซับซ้อนกันน่าชม เมื่อขึ้นไปถึงยอด จะแลเห็นทิวทัศน์เมืองตากสวยงามมาก

สถานที่น่าสนใจ ตามเส้นทางตาก-แม่สอด (ทางหลวงหมายเลข 105)

พิพิธภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ตั้งอยู่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก ตามทางหลวงหมายเลข 105 ตาก-แม่สอด ห่างจากศาลากลางจังหวัดตาก 12 กิโลเมตร เป็นสถานที่รวบรวมศิลปวัฒนธรรมของภาคต่างๆ และชาวเขา 6 เผ่า ได้แก่ แม้ว ลีซอ มูเซอ เย้า กะเหรี่ยง และอีก้อ จัดเป็นนิทรรศการแสดงเอกลักษณ์ของแต่ละเผ่า สถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งได้แก่ สวนผีเสื้อ จัดทำเป็นกรงขนาดใหญ่มีผีเสื้อพันธุ์ต่างๆ มากมาย
อุทยานแห่งชาติลานสาง ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านลานสาง ตำบลแม่ท้อ มีอาณาเขตทิศเหนือจดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 ทิศใต้จดอำเภอแม่สอด ตามแนวสันปันน้ำ เทือกเขาถนนธงชัย และคลองห้วยทราย ทิศตะวันออกจดทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1108 และทิศตะวันตกจดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 และเขตอำเภอแม่สอด ตามแนวสันปันน้ำ เทือกเขาถนนธงชัย มีพื้นที่ประมาณ 104 ตารางกิโลเมตร หรือ 65,000 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2522 สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นภูเขาสลับซับซ้อนติดต่อกันเกือบตลอดพื้นที่ ส่วนที่สูงที่สุดของอุทยานฯ อยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ และลาดต่ำลงมาทางด้านทิศตะวันออก มีลำธารไหลผ่านหลายสาย เช่น ลำห้วยลานสาง ห้วยท่าเล่ย์ คลองห้วยทราย ห้วยอุมยอม ป่าในเขตอุทยานมีทั้งป่าดงดิบ ป่าสนเขา ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ สลับกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ ตามตำนานโบราณเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกทัพไปตีเมืองเชเยงใหม่ครั้งที่ 2 ได้ทรงหยุดพักพลที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก มีชาวมอญเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยเป็นจำนวนมาก ทหารพม่าจึงติดตามเข้ามา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จยกทัพไปขับไล่ และพลัดหลงกับกองทัพประจวบกับเป็นเวลากลางคืน และสภาพพื้นที่เป็นป่าเขารกทึบ ยากแก่การติดตาม กองทัพไทยจึงหยุดพัก ขณะที่พักกันอยู่นั้นได้เกิดมีแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าและได้ยินเสียงม้าศึกร้อง จึงรีบพากันไปยังจุดนั้น ก็พบสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้าอยู่กลางลานหิน มีแสงสว่างออกมาจากพระวรกาย มีทหารพม่าคุกเข่าหมอบอยู่โดยรอบ และขณะนั้นเป็นเวลาฟ้าสางพอดี จึงเรียกบริเวณนั้นว่า "ลานสาง" และสถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับม้าก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน บริเวณชั้นน้ำตกที่ 2 บริเวณลานหินจะมีรอยเกือกม้าของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ด้วย

สถานที่น่าสนใจในอุทยาน

ผาลาด อยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 เข้ามาตามถนนราดยางที่แยกไปที่ทำการประมาณ 1 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นแผ่นหิน มีความลาดชันเล็กน้อย ขนาดกว้างประมาณ 25 เมตร ยาวประมาณ 40 เมตร เป็นท้องน้ำของกระแสน้ำของลำห้วยลานสางที่ไหลบ่าไปตามแผ่นหินแล้วรวมตัวไหลลงแอ่งเล็กๆ
น้ำตกลานเลี้ยงม้า (น้ำตกชั้นที่ 1) อยู่ตอนต้นของลำห้วยลานสางถัดขึ้นไปจากผาลาดประมาณ 200 เมตร มีลักษณะเป็นเนินหินเตี้ยๆ ตรงกลางเว้าเป็นช่องว่างกว้างประมาณ 6 เมตร กระแสน้ำที่ไหลมาตามลำห้วยลานสาง เมื่อไหลมาถึงเนินหินเตี้ยๆ น้ำจะไหลเข้ามาตามช่องหิน น้ำจะถูกบีบจนมีระดับสูงขึ้นพุ่งผ่านยอดน้ำตกด้วยกำลังแรง และไหลผ่านลงสู่พื้นน้ำเบื้องล่าง น้ำตกชั้นนี้มีความสูงประมาณ 10 เมตร
น้ำตกลานสาง (น้ำตกชั้นที่ 2) อยู่ตอนต้นของห้วยลานสาง ถัดขึ้นไปจากน้ำตกลานเลี้ยงม้าประมาณ 2 กิโลเมตร ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตามทางเดินระยะทาง 100 เมตร เป็นน้ำตกชั้นที่มีผู้นิยมไปท่องเที่ยวมากที่สุด มีความสูงประมาณ 40 เมตร น้ำตกจะไหลพุ่งออกมาจากซอกเขา แล้วไหลลดหลั่นลงมา 3 ชั้น รวมตัวลงสู่แอ่งน้ำ และไหลลงสู่น้ำตกลานเลี้ยงม้า
น้ำตกผาเงิน เป็นน้ำตกที่เกิดจากห้วยผาเงิน น้ำจากห้วยผาเงินจะไหลลงสู่ห้วยลานตรงบริเวณใกล้ๆ กับน้ำตกลานสาง น้ำตกผาเงินมีความสูงประมาณ 19 เมตร น้ำตกแห่งนี้จะมีน้ำไหลเฉพาะฤดูฝนและฤดูหนาว ความงามของน้ำตกแห่งนี้อยู่ที่ผาเงิน ซึ่งมีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันเป็น บางตอนก็มีหินงอกและหินย้อยที่มีความสวยงามมาก
น้ำตกผาผึ้ง (น้ำตกชั้นที่ 3) อยู่ตอนต้นของห้วยลานสาง สูงขึ้นไปตามซอกเขา ห่างจากน้ำตกลานสางตามทางเดินประมาณ 600 เมตร มีลักษณะเป็นหน้าผาเรียบๆ ลาดชันประมาณ 70 องศา สูงประมาณ 30 เมตร น้ำห้วยลานสางเมื่อไหลมาถึงยอดน้ำตกจะไหลบ่าแผ่กระจายไปตามหน้าผาเป็นบริเวณกว้างลงสู่แอ่งน้ำตก
น้ำตกผาน้ำย้อย อยู่สูงขึ้นไปตามลำห้วยลานสาง ห่างจากน้ำตกผาผึ้งประมาณ 100 เมตร มีลักษณะเป็นซอกผาแคบๆ จึงบีบลำห้วยลานสางให้เล็กลง ทำให้กระแสน้ำไหลผ่านด้วยความเร็วพุ่งลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง น้ำตกนี้มีความสูงประมาณ 8 เมตร
น้ำตกผาเท (น้ำตกชั้นที่ 4) อยู่สูงขึ้นไปตามลำห้วยห่างจากน้ำตกผาผึ้งตามทางเดินประมาณ 1.4 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นหน้าผาชันดิ่ง สูงประมาณ 25 เมตร เมื่อน้ำห้วยลานสางที่ไหลมาตามซอกเขาความเร็วมาถึงยอดหน้าผา ซึ้งเป็นท้องน้ำตกที่มีการลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว น้ำจะพุ่งพ้นยอดผาเป็นสายลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ด้วยความแรงจนน้ำกระจาย เป็นฝอย ทำให้เกิดเสียงดังครืนๆ ได้ยินแต่ไกล
การเดินทาง จากจังหวัดตากใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 105 (ตาก-แม่สอด) จนถึงหลักกิโลเมตรที่ 12-13 จะมีทางราดแยกซ้ายมือเข้าไปสู่เขตอุทยานฯ อีก 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
สถานที่พัก บังกะโล 4 หลัง อัตราค่าที่พัก 150-600 บาท/คืน/หลัง และเต็นท์ขนาด 4 ที่นอน ราคา 40 บาท/คืน นักท่องเที่ยวเตรียมเต็นท์และอุปกรณ์ของเต็นท์ไปเอง ทางอุทยานฯ จะจัดหาบริเวณที่กางเต็นท์ให้ คิดค่าบริการคนละ 5 บาท/คืน ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่แผนกจองบ้านพัก กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก (ดอยมูเซอ) ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด อยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ การเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 105 ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 25-26 จะมีทางลูกรังแยกซ้ายเลียบไปตามไหล่เขาอีก 3 กิโลเมตร เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่างๆ ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 800 ฟุต อาณาบริเวณของดอยมูเซอ เริ่มตั้งแต่กิโลเมตรที่ 25-26 มีเนื้อที่ทั้งหมด 26,500 ไร่ ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในบริเวณดอยมูเซอได้แก่ เผ่ามูเซอดำ แม้ว และลีซอ ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ล้วนแต่อพยพมาจากมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีน และเมืองปันในเขตรัฐฉานของพม่า รวมทั้งเขตเชียงตุงด้วย ภาษาที่พูดจึงมีทั้งภาษาจีน-ธิเบต-พม่า ผสมกัน ไม่มีภาษาเขียน โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ชายมักจะพูดได้หลายภาษากว่าผู้หญิง อาชีพของชาวเขาเหล่านี้ได้แก่ การเพาะปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ข้าว ฝิ่น มีการเลี้ยงสัตว์บ้าง เช่น หมู ไก่ ทุกปีชาวเขาแต่ละเผ่าจะจัดงานรับวันปีใหม่ขึ้น โดยมีหมอผีประจำหมู่บ้านเป็นผู้กำหนดวัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ชาวเขาแต่ละเผ่าอาจจะจัดงานนี้ไม่พร้อมกันก็ได้ แต่ช่วงที่มักจะจัดงานนี้ได้แก่ ช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนระยะเวลาของการจัดงานขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตที่ได้ในปีที่แล้วว่าดีหรือไม่ ถ้าผลผลิตดีก็อาจจัดงานได้หลายวัน แต่ถ้าผลผลิตไม่ดีก็จะจัดเพียงสามวันเท่านั้น ชาวเขาเผ่าที่น่าสนใจ ได้แก่ มูเซอดำ ชาวเขาเผ่านี้นับถือผีกันมาก เช่น ผีบรรพบุรุษ ผีเหย้าผีเรือน ผีประจำหมู่บ้าน ทั้งหญิงทั้งชายต่างมีอิสระในการเลือกคู่ครอง ไม่มีการบังคับ แต่สำหรับคนที่แต่งงานแล้วจะทำตามอย่างหนุ่มสาวไม่ได้ มิฉะนั้นทั้งคู่จะต้องเสียค่าปรับให้แก่หมอผี ในงาน “กินวอ” หรืองานวันขึ้นปีใหม่นี้ มูเซอดำทุกคนจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ มีการจุดประทัด ยิงปืน (แก๊ป) เป่าแคน ดีดซึงในวงเต้นรำ และเป็นการต้อนรับคนต่างถิ่น และชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เข้าไปดูงาน “กินวอ” ด้วย การเต้ารำของเผ่ามูเซอเรียกว่า “จะคึ” จะเต้นกันตลอดทั้งวันทั้งคืน ผลัดเปลี่ยนกันเต้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เสียงกระทืบเท้าขาดหายไปจนกว่างานจะเลิก ในช่วงที่มีงานนี้ทุกคนจะหยุดทำงาน ถ้าใครทำจะถูกปรับ ยกเว้นงานกรีดยางฝิ่นเท่านั้น และสิ่งที่ทุกคนต้องทำคือการออกเดินทางไปเยี่ยมญาติที่หมู่บ้านอื่น แม้ว่าจะไกลหรือใกล้ก็ตาม งาน “กินวอ” นี้ จะมีการเลี้ยงผีและฆ่าหมูเลี้ยงผีกันทุกวัน จนกว่างานจะเลิก สิ่งที่ห้ามอีกอย่างหนึ่งคือ การดื่มสุราในระหว่างที่มีงาน ยกเว้นคนต่างถิ่น แต่ไม่ห้ามดื่มเหล้าข้าวโพด อีกเผ่าหนึ่งที่น่าสนใจได้แก่ เผ่าลีซอ บ้านของชาวเขาเผ่าลีซอจะปลูกติดดิน ในบ้านจะแบ่งเป็นห้องๆ ผิดกับบ้านของชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่โล่งๆ ไม่กั้นห้องไว้เป็นสัดส่วน ชาวเขาเผ่านี้นับถือผีเช่นเดียวกับเผ่าอื่นๆ ต้องให้หัวหน้าครอบครัวบูชาผีทุกวัน ผีหลวงเป็นผีที่ชาวลีซอกลัวที่สุด จะปลูกศาลปักธงหางว่าวมีรั้วรอบขอบชิดไว้บูชาบนยอดดอยสูง เชื่อกันว่า ผีหลวงเป็นผีที่ดุร้าย ถ้าทำให้โกรธจะบันดาลให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือไม่ก็ผลักก้อนหินใส่หมู่บ้าน ส่วนผีอีกอย่างหนึ่งคือ ผีเมือง เชื่อว่าไม่ดุร้าย คอยปกป้องกันภัยให้ ดังนั้น ในงานวันขึ้นปีใหม่วันแรกของชาวเขาเผ่าลีซอ จะเซ่นไหว้ผีหลวง ผีเมือง ผีบรรพบุรุษ ตอนบ่ายมีพิธีเต้นรำคล้ายๆ กับการเต้น “จะคึ” ของเผ่ามูเซอดำ แต่นุ่มนวลกว่า ในงานวันขึ้นปีใหม่มักจะเป็นงานที่หนุ่มสาวมีโอกาสได้เลือกคู่กันไปโดยปริยาย แต่ถ้าปีใดเกิดสุริยคราสแล้วถือว่าเป็นนิมิตร้าย งานแต่งงานที่จะจัดขึ้นจะต้องยกเลิกทั้งหมด ท่านที่ประสงค์จะเดินทางไปชมชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขาในศูนย์พัฒนาฯ นี้ ถ้าต้องการพักแรมรวมทั้งชมการแสดงของชาวเขาแล้ว ควรติดต่อไปที่หัวหน้าศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ตู้ ปณ. 2 อำเภอเมือง จังหวัดตาก 63000
สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เป็นสถานที่ทดลองวิจัยเมล็ดพันธุ์กาแฟ ชา ผลไม้ ไม้ ผักต่างๆ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม นักท่องเที่ยวจะได้ชมดอกบัวตองบนเทือกเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีทดลองพืชสวน ซึ่งจะบานสะพรั่งเต็มที่
อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแม่ท้อ ตำบลพะวอ เขตอำเภอแม่สอด และอำเภอเมือง จังหวัดตาก มีเนื้อที่ 149 ตารางกิโลเมตร หรือ 93,125 ไร่ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชัน มีภูเขาสลับซับซ้อน ทิวทัศน์สวยงาม จุดเด่นที่สำคัญก็คือ ต้นกระบากใหญ่ซึ่งจัดว่าเป็นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ค้นพบคือ นายสวาม ณ น่าน ช่างระดับ 2 สถานีโทรคมนาคม จังหวัดตาก พื้นที่ป่าแห่งนี้ในอดีตเคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพของไทยและพม่า เช่นในปี พ.ศ. 2305 พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างยกทัพกลับ ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ในป่านี้ ก่อนที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ พื้นที่แห่งนี้อยู่ในเขตของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ท้อ ป่าห้วยตาก ฝั่งขวาและป่าละเมาะ สภาพป่าสมบูรณ์ อากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส มีธรรมชาติงดงาม กรมป่าไม้ได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2524 ป่าในเขตอุทยานนี้มีหลายชนิด เช่น ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าดงดิบ ป่าเต็งรัง และป่าไม้เบญจพรรณ

สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ

 ต้นกระบากใหญ่ มีขนาดโตวัดโดยรอบได้ 16.10 เมตร หรือราว 14 คนโอบ สูงประมาณ 50 เมตร เป็นต้นกระบากที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นทางรถยนต์ 3 กิโลเมตร และเป็นทางเดินเท้าลงเขาสูงชันอีกประมาณ 1 กิโลเมตร
สะพานหินธรรมชาติ มีลักษณะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่เชื่อมหน้าผาสองแห่งเข้าด้วยกัน มีความกว้างและความสูงประมาณ 25 เมตร เบื้องล่างมีลำธารไหลผ่าน ถัดออกไปประมาณ 7 X 50 เมตร จะมีถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงาม การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 105 ถึงกม. ที่ 35 แยกเข้าศูนย์เพาะชำกล้าไม้ตาก ไปตามทางลูกรัง ระยะทาง 6 กิโลเมตร แล้วเดินเท้าอีก 2 กิโลเมตร
น้ำตกแม่ย่าป้า เป็นน้ำตกขนาดกลางที่เกิดจากลำห้วยแม่ย่าป้า อยู่ในป่าทึบ มีน้ำไหลลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นตามร่องห้วย แล้วไหลลงสู่ลำห้วยแม่ท้อ การเดินทางยังไม่สะดวกนัก นักท่องเที่ยวประสงค์จะเดินป่าควรติดต่อขอคนนำทางกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ก่อน
สถานที่พักแรมในอุทยานฯ ทางอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 4 หลัง ราคาหลังละ 500 บาท มี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ (พักได้ 6 คน) บ้าน อโนทัย มี 4 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ราคา 1,000 บาท พักได้ 12 คน หากต้องการให้ทางอุทยานฯ บริการเกี่ยวกับอาหารต้องติดต่อก่อนล่วงหน้า นอกจากนี้ยังมีค่ายพักแรมที่เล่นแคมป์ไฟ นักท่องเที่ยวที่นำเต็นท์ไปเอง ทางอุทยานฯ ได้จัดสถานที่ตั้งเต็นท์ไว้ให้ ติดต่อจองที่พักล่วงหน้าได้ที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ตู้ ปณ. 10 อ. เมือง จังหวัดตาก 63000 หรือติดต่อที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
ร้านขายผลิตผลของชาวไทยภูเขา ตั้งอยู่ริมเส้นทางตาก-แม่สอด (ทางหลวงหมายเลข 105) บริเวณกิโลเมตรที่ 29 ผลิตผลที่ชาวไทยภูเขานำมาขายได้แก่พืชผลต่างๆ ที่เพาะปลูกได้จะเริ่มขายตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย
ศาลเจ้าพ่อพะวอ ตั้งอยู่บนเนินดินเชิงเขาพะวอ บนถนนสายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ 62-63 ศาลนี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองตากและแม่สอดมาก เล่ากันว่าท่านเป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง สมเด็จพระนเรศวรทรงแต่งตั้งให้เป็นนายด่านอยู่ที่ด่านแม่ละเมา เพื่อคอยป้องกันข้าศึกมิให้ข้ามเขามาได้ เดิมทีศาลเจ้าพ่อพะวออยู่อีกด้านหนึ่งของเขา แต่เมื่อตัดถนนไปทางใหม่จึงได้มาสร้างศาลขึ้นใหม่ มีผู้เล่าว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ถ้าใครไปล่าสัตว์ในบริเวณเขาพะวอแล้วมักจะเกิดเหตุต่างๆ เช่น รถเสีย เจ็บป่วย หรือหลงทาง และเพราะเหตุที่เจ้าพ่อพะวอเป็นนักรบ จึงชอบเสียงปืน ผู้ที่เดินทางผ่านนิยมยิงปืนถวายท่านเป็นการแสดงความเคารพ หรือมิฉะนั้นก็จะจุดประทัด หรือบีบแตรถวาย

เนินพิศวง มีลักษณะเป็นทางขึ้นเนิน อยู่บนถนนสายตาก-แม่สอด ตรงหลักกิโลเมตรที่ 68 เป็นเรื่องแปลกคือเมื่อนำรถไปจอดไว้ตรงทางขึ้นเนินโดยไม่ได้ติดเครื่อง รถจะไหลขึ้นเนินไปเอง มีนักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ถึงสาเหตุนี้พบว่า เกิดจากเป็นภาพลวงตา เนื่องจากได้มีการวัดระดับความสูงของเนินลูกนี้แล้วปรากฏว่า ช่วงที่มองเห็นเป็นที่สูงนั้น มีระดับความสูงต่ำกว่าช่วงที่เห็นเป็นทางขึ้นเนิน ดังนั้นรถที่เรามองเห็นไหลขึ้นนั้นที่จริงไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถบอกได้ว่าเหตุใดจึงมองเห็นเป็นภาพลวงตาเช่นนั้นได้
ศาลเจ้าพ่อขุนสามชน อยู่ทางขวามือริมเส้นทางสายตาก-แม่สอด ตรงกิโลเมตรที่ 71-72 เป็นศาลเจ้าริมทางลักษณะเดียวกับศาลเจ้าพ่อพะวอ ศาลนี้เพิ่งสร้างเสร็จ และทำพิธีเปิดเมื่อปลายปี 2523 เหตุที่สร้างศาลนี้เล่ากันว่ามีคหบดีผู้หนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคอัมพาตมาช้านานแล้ว ได้ฝันว่ามีผู้มาบอกให้สร้างศาลเจ้าพ่อขุนสามชนขึ้นตรงบริเวณที่เป็นศาลปัจจุบัน คหบดีผู้นั้นจึงสร้างศาลขึ้นถวายเรียกว่าศาลเจ้าพ่อขุนสามชน นับแต่นั้นมาอาการของคหบดีผู้นั้นก็เป็นปกติ ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือศาลนี้มาก
ทวีชัยแลนด์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแบบธรรมชาติ อยู่ริมถนนสายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ 78 ภายในเป็นสวนไม้ดอกไม้ผลที่ร่มรื่น มีกรงเลี้ยงสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะที่จะเป็นสถานที่พักผ่อนปิกนิก ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 15 บาท เด็ก 10 บาท ติดต่อจองที่พักได้โดยตรงที่ บริษัท ทวีชัยแลนด์ โทร. (055) 531287, 531569
ไร่สรการฤทธิรณ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแบบธรรมชาติ ทางเข้าอยู่ใกล้กับทวีชัยแลนด์ บริเวณที่ตั้งของไร่อยู่ด้านหลังของทวีชัยแลนด์ ทิวทัศน์โดยรอบ ประกอบด้วยภูเขาลูกเล็กใหญ่สลับกันไปสวยงาม ภายในมีสวนดอกไม้ มีบ้านพักหลายหลังไว้บริการนักท่องเที่ยว รายละเอียดติดต่อ โทร. (055) 531596
อำเภอแม่สอด อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 86 กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอมาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เดิมชื่อพระหน่อเก่ ตัวอำเภออยู่ในที่ราบระหว่างภูเขา ส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาในฝั่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาฝั่งประเทศพม่า อำเภอแม่สอดมีพื้นที่ประมาณ 1,986 ตารางกิโลเมตร ประชากรมีทั้งชาวเขาและคนที่อพยพจากอำเภอเมืองเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ รวมทั้งชาวพม่าที่มีบุตรภรรยาเป็นคนไทยด้วย ประวัติความเป็นมาของอำเภอแม่สอดนั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัด จะเป็นเมืองฉอดของขุนสามชนที่เคยยกทัพไปตีกรุงสุโขทัยหรือไม่ ยังไม่มีผู้ใดพิสูจน์ เมื่อดูตามสภาพบ้านเมืองของอำเภอแม่สอดนั้น ไม่พบว่ามีสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่มีอายุอยู่ในยุคของสุโขทัยได้เลย ฉะนั้นจึงน่าเชื่อได้ว่าไม่ใช่เมืองเดียวกัน ขณะนี้ได้มีนักโบราณคดีพบซากเมืองโบราณอยู่ในป่าทึบ ท้องที่อำเภอแม่ระมาด อาจจะเป็นเมืองฉอดตามศิลาจารึกกรุงสุโขทัยก็ได้
วัดมณีไพรสณฑ์ อยู่ในตลาดแม่สอด วัดนี้มีเจดีย์วิหารสัมพุทเธ ซึ่งมีลักษณะแปลกคือ บนองค์เจดีย์มีเจดีย์เล็กๆ ล้อมรอบถึง 233 องค์ และมีพระพุทธรูปบรรจุอยู่ถึง 512,028 องค์ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่บริเวณหน้าบันและหลังคามีลายไม้ฉลุสวยงาม และบริเวณโดยรอบวัดมีซุ้มและศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น หลวงพ่อสังกัจจาย พระพุทธรูปปูนปั้นปางพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
วัดชุมพลคีรี ตั้งอยู่ในตัวอำเภอแม่สอด เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ภายในประดิษฐานเจดีย์สร้างใหม่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ส่วนในวิหารเป็นที่เก็บกลองโบราณอายุกว่า 200 ปี
แม่น้ำเมย (พม่าเรียกแม่น้ำต่องยิน) จากตัวอำเภอแม่สอดไปทางตะวันตกตามทางหลวงหมายเลข 105 ประมาณ 6 กิโลเมตร สุดเขตแดนไทยจะถึงแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนไทยกับพม่า แม่น้ำสายนี้ไหลขึ้นมิได้ไหลล่องเช่นแม่น้ำโดยทั่วไป แม่น้ำเมยมีต้นน้ำอยู่ที่ตำบลพบพระ อำเภอแม่สอด แล้วไหลผ่านอำเภอแม่ระมาด ท่าสองยาง ตลอดถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอนบรรจบกับแม่น้ำสาละวินแล้วไหลเข้าในเขตพม่าลงอ่าวมะตะบัน น้ำในลำแม่น้ำเมยจะมีน้อยมากในฤดูร้อน
ตลาดริมเมย เป็นชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมย ตรงข้ามกับอำเภอเมียวดีของสหภาพพม่า เป็นตลาดค้าขายสินค้าพื้นเมืองมากมายทั้งของไทยและพม่า เช่น หน่อไม้แห้ง ปลาแห้ง ปลาหัวยุ่ง เห็ดหอม ถั่ว เครื่องหนัง ผ้าซาติน ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดการค้าอัญมณี เช่น หยก ทับทิม และพลอยสีจากพม่า นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ประสงค์จะข้ามไปยังประเทศพม่าจะต้องแลกเงินจ๊าดตรงด่านตรวจ เพื่อเป็นค่าผ่านแดน และค่าเรือทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ทั้งนี้คนรับแลกเงินจะจัดเงินไว้เป็นชุดๆ เพื่อความสะดวก เวลาที่เปิดให้ข้ามไปยังประเทศพม่า เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
วัดไทยวัฒนาราม อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่สอดประมาณ 3-4 กิโลเมตร ตามทางไปตลาดริมเมย วัดนี้แต่เดิมเรียกว่า วัดแม่ตาวเงี้ยว หรือวัดไทยใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.ท่าสายลวด อ. แม่สอด จ. ตาก เป็นวัดในพระพุทธศาสนานิการมหายานของชาวไทยใหญ่ ประเพณีศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศพม่า วัดนี้เริ่มก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2410 โดย นายมุ้ง (เป็นชาวพม่ารัฐฉาน ที่อพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่ อ. แม่สอด) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านแม่ตาว ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “หมื่นอาจคำหาญ” และพวก เป็นผู้ริเริ่มในการก่อสร้าง ใช้ชื่อว่า วัดแม่ตาวเงี้ยว หรือวัดไทยใหญ่ จนถึง พ.ศ. 2500 ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้วัดแม่ตาวเงี้ยว เป็นวัดพระพุทธศาสนาในสังกัดกรมศาสนา และได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดไทยวัฒนาราม ในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมาจากพระพุทธมหามุนีอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองมัณฑเลย์ ประเทศพม่า นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาว จ. ตาก ศรัทธาเลื่อมใสกันมาก นอกจากนี้มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ พระพุทธรูปหินอ่อน วิหารเจดีย์สีชมพู และศาลาการเปรียญลายไม้ฉลุรูปแบบพม่า
คอกช้างเผือก ตั้งอยู่เขตบ้านท่าอาจ ต. ท่าสายลวด อ. แม่สอด การเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 105 ก่อนถึงตลาดริมเมย ประมาณ 1 กม. เลี้ยวขวาผ่านหน้าวัดไทยวัฒนารามตามทางราดยางประมาณ 2 กม. จะพบทางแยกซ้ายมือประมาณ 100 เมตร จะพบโบราณสถานคอกช้างเผือก หรือเพนียดช้าง ทำเป็นกำแพงก่อด้วยอิฐมอญ มีความสูงประมาณ 1 เมตรเศษ กว้างประมาณ 25 เมตร ยาวประมาณ 80 เมตร ปากทางเข้าของเพนียดอยู่ติดเชิงเขาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กำแพงเพนียดที่ปิดกั้นคล้ายรูปขวดหมึก หันหลังให้กับแม่น้ำเมย ด้านตะวันตก ประวัติตามตำนานเล่าว่าเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พงศาวดารกล่าวว่า มะกะโท (คนเลี้ยงช้าง) เป็นชาวมอญ ได้เข้ารับราชการเป็นขุนวัง ได้ลักพาตัวพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงหนีไปอยู่กรุงหงสาวดี ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว เมืองตากเป็นชานเมืองของกรุงสุโขทัย ได้มีช้างเผือกอาละวาด พ่อขุนรามคำแหงทรงทราบ พระองค์ทรงประกอบพิธีเสี่ยงทายและทรงเสี่ยงสัตย์อธิษฐานว่า หากช้างเผือกเชือกนี้เป็นช้างคู่บุญบารมีกษัตริย์นครใด ก็ขอให้บ่ายหน้าไปทางทิศนั้น สิ้นคำอธิษฐาน ช้างเผือกเปล่งเสียงร้องกึกก้องพร้อมบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตก พ่อขุนรามคำแหงทราบทันทีว่าเป็นช้างเผือกคู่บุญบารมีของพระเจ้าฟ้ารั่ว จึงให้ทหารนำสาสน์ไปแจ้งว่าจะนำช้างมามอบให้ ทหารที่ติดตามช้างเผือกมาจนถึงบริเวณเชิงเขาจึงนำเพนียดล้อมเอาไว้ และได้ทำพิธีมอบช้างให้กับพระเจ้าฟ้ารั่ว ณ ที่แห่งนี้
พระธาตุหินกิ่วที่ดอยดินจี่ ตั้งอยู่เขตบ้านวังตะเคียน การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับคอกช้างเผือก ผ่านหมู่บ้านท่าอาจ และหมู่บ้านวังตะเคียนไปก็จะพบทางแยกขวามือที่ศาลาพักร้อน มีป้ายบอก พระธาตุหินกิ่ว 3 กม. พระธาตุหรือเจดีย์หินกิ่วเป็นความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ คือก้อนหินมหึมาที่มีความสวยน่าทึ่งตั้งอยู่บนชะง่อนผา เป็นหินที่กิ่วคอดเหมือนจะขาดออกจากกันบนหินนั้น มีเจดีย์ทรงมอญสร้างไว้มีขนาดพอดีกับหิน นับเป็นสิ่งที่ปรากฏการณ์จากธรรมชาติและศักดิ์สิทธิ์ ชาวจังหวัดตากและใกล้เคียงหลั่งไหลมากราบไหว้เสมอ เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกๆ ปี จะมีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุหินกิ่ว ชาวบ้านจะเรียกหินมหัศจรรย์นี้ว่า เจดีย์หินพระอินทร์แขวน

สถานที่น่าสนใจ ตามเส้นทางสายแม่สอด-พบพระ-อุ้งผาง (ทางหลวงหมายเลข 1090)

 นักท่องเที่ยวที่ขับรถไปตามเส้นทางสายแม่สอด-พบพระ-อุ้มผาง จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ สภาพรถควรเป็นรถที่เครื่องยนต์และระบบเบรคดีมาก เพราะเส้นทางนี้เป็นทางขึ้นเขาตลอด มีระยะทางรวม 164 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
น้ำตกธารารักษ์ (น้ำตกเจดีย์โคะ หรือน้ำตกผาชัน) อยู่ในเขตบ้านเจดีย์โคะ จากอำเภอแม่สอดใช้ทางหลวงหมายเลข 1090 ถึงกิโลเมตรที่ 26 จะมองเห็นป้ายชื่อน้ำตกธารารักษ์อยู่ปากทางเข้า ถนนเข้าสู่น้ำตกเป็นทางลูกรังระยะทาง 700 เมตร ใช้ได้กันทุกฤดู บริเวณต้นน้ำตกมีลานจอดรถกว้างขวาง
น้ำตกนางครวญ เดินทางไปตามทางหลวงสาย 1090 ถึงกิโลเมตรที่ 26 มีทางแยกขวามือเข้าอำเภอพบพระตามทางหลวงหมายเลข 1206 น้ำตกนางครวญอยู่ริมสะพานคอนกรีตด้านขวามือ บริเวณกิโลเมตรที่ 12 ก่อนถึงอำเภอพบพระเล็กน้อย เดิมชื่อน้ำตกเพอะพะ ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นน้ำตกพบพระ และเปลี่ยนเป็นชื่อน้ำตกนางครวญ เป็นน้ำตกขนาดกลางลดหลั่นลงไปเป็นชั้นเล็กๆ ท่ามกลางป่าเบื้องล่างกระแสน้ำไหลแรง มีต้นน้ำมาจากลำคลองเล็กๆ ริมท้องนาข้างทาง ทางการได้ตัดถนนผ่านตัวน้ำตก จึงแลดูเป็นน้ำตกเล็กๆ ริมถนน แต่ก็เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวควรแวะพักก่อนเดินทางเข้าไปชมชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในเขตอำเภอพบพระ
อำเภอพบพระ เป็นอำเภอที่มีชายแดนติดกับประเทศพม่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดตาก การเดินทางไปอำเภอพบพระให้ใช้เส้นทางสายตาก-แม่สอด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 ตรงกิโลเมตรที่ 75 เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1090 ถึงกิโลเมตรที่ 26 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1206 อีก 13 กิโลเมตร ถึงอำเภอพบพระ รวมระยะทางจากตัวจังหวัด 135 กิโลเมตร ก่อนที่กรมทางหลวงจะตัดถนนราดยางสายแม่สอด-พบพระ (ทางหลวงหมายเลข 1206) นั้น การคมนาคมระหว่างสองอำเภอนี้ลำบากมาก เพราะพื้นที่ของอำเภอพบพระเป็นพื้นที่ราบสูงระหว่างภูเขา รับลมมรสุมจากอ่างเมาะตะมะ ดังนั้น พื้นที่นี้จึงมีฝนตกชุกที่สุดในเขตภาคเหนือ ราว 2,300-3,000 มิลลิเมตร เส้นทางการคมนาคมจึงมีแต่โคลนตม ต้องเดินลุยโคลนกัน ชาวบ้านจึงเรียกว่าขี้เปรอะเพอะพะ แปลว่าขี้โคลนเปรอะเลอะเทอะ หมายความว่า ถ้าใครผ่านไปแถบนี้ขาแข้งจะมีแต่ขี้เปอะเพอะพะ จึงเรียกเขตนี้ว่าบ้านเพอะพะ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นพบพระ
น้ำตกพาเจริญ อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1090 บริเวณกิโลเมตรที่ 36-37 มีทางลูกรังแยกซ้ายมือเข้าไปอีก 700 เมตร จะถึงตัวน้ำตกซึ่งอยู่ในเขตของหมู่บ้านพาเจริญ น้ำตกนี้จึงได้ชื่อว่า น้ำตกพาเจริญ ไหลลดหลั่นเป็นชั้นๆ นับรวมได้ถึง 97 ชั้น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในละแวกนั้น บริเวณน้ำตกมีลานจอดรถกว้างขวาง
น้ำตกป่าหวาย ไปตามทางหลวงหมายเลข 1090 (แม่สอด-อุ้งผาง) ประมาณกิโลเมตรที่ 43 แยกซ้ายไปตามถนนลูกรังประมาณ 16 กิโลเมตร ทางคดเคี้ยว บริเวณธารน้ำตกเต็มไปด้วยป่าหวาย จึงได้ชื่อว่าน้ำตกป่าหวาย การชมน้ำตกต้องเดินจากบริเวณล่างสุดฝ่ากระแสน้ำขึ้นไปชมน้ำตกชั้นบนเป็นขั้นๆ บริเวณชั้นบนสุดของน้ำตก เดินต่อไปอีกประมาณ 30 เมตร จะพบปล่องภูเขาอันใหญ่โตซึ่งมีน้ำไหลลงสู่ปล่องดังกล่าวแล้วหายไปในบริเวณใต้ภูเขา รถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณล่างสุดของตัวน้ำตกได้ แต่ควรใช้รถยนต์สภาพดี เพราะสภาพถนนขรุขระมาก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภออุ้มผาง

อำเภออุ้มผาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 249 กิโลเมตร มีชายแดนติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า อำเภออุ้มผางมีพื้นที่กว้างใหญ่และเคยเป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงมาก่อน ต่อมาจึงมีคนไทยภาคเหนืออพยพเข้ามามากขึ้น เดิมอุ้มผางเป็นเมืองหน้าด่านขึ้นกับจังหวัดอุทัยธานี เป็นจุดตรวจชาวพม่า ซึ่งเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ได้รับการประกาศเป็นอำเภออุ้มผาง ขึ้นกับจังหวัดตาก ในปี พ.ศ. 2502 คำว่า “อุ้มผาง” เพี้ยนมาจากคำภาษากะเหรี่ยงว่า “อุ้มผะ” แปลว่า การแสดงหนังสือเดินทางของผู้เข้าออกไทย-พม่า การเดินทางไปอำเภออุ้มผางใช้เส้นทางตาก-แม่สอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105) และเส้นทางแม่สอด-อุ้มผาง (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1090) ทางราดยางตลอดสาย เส้นทางช่องแม่สอด-อุ้มผาง นักเดินทางควรขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ และรถที่ใช้ควรมีสภาพดี เพราะเป็นเส้นทางตัดผ่านเทือกเขา ถนนมีความคดโค้งมาก มีจุดแวะพักที่บริเวณ กม. 84 มีร้ายขายอาหารและเครื่องดื่ม ผู้เมารถควรรับประทานยาแก้เมารถไว้ล่วงหน้า
ดอยหัวหมด อยู่ในเขตบ้านอุ้มผาง เป็นภูเขาที่เป็นแนวยาวหลายลูกติดต่อกัน บนภูเขานี้จะไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น แต่จะมีต้นหญ้าเตี้ยๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป รวมทั้งโขดหินเป็นระยะ มองจากด้านล่างขึ้นไปจะเห็นเหมือนพรมสีเขียวแซมด้วยโขดหินและต้นไม้และดอกไม้เป็นแห่งๆ หากขึ้นไปบนยอดเขาจะมองเห็นบ้านอุ้มผางและทิวเขาสลับซับซ้อนกันโดยรอบ ทิวทัศน์สวยงามมาก เหมาะที่จะดูพระอาทิตย์ขึ้น และทะเลหมอกในยามเช้า และดูพระอาทิตย์ตกในยามเย็น การเดินทางไปดอยหัวหมดให้ใช้เส้นทางอุ้มผาง-บ้านปะละทะ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ดังกล่าวได้สวยงาม 2 จุด คือ 1. บริเวณ กม. ที่ 9 โดยต้องเดินขึ้นภูเขาอีกประมาณ 20 นาที 2. บริเวณ กม.ที่ 10 มีทางแยกซ้ายไปลานจอดรถและเดินเท้าอีก 5 นาที ควรไปถึงดอยหัวหมดก่อนพระอาทิตย์ขึ้นราว 05.00-06.00 น. อากาศบนดอยค่อนข้างเย็น มีลมพัดอยู่ตลอดเวลา
ถ้ำตะโค๊ะบิ อยู่ในเขตบ้านแม่กลองใหม่ ออกจากอุ้มผางใช้เส้นทางสายอุ้มผาง-แม่กลองใหม่ พอถึง กม. 7 มีทางเล็กๆ เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1 กม. ถึงบริเวณหน้าถ้ำ ลักษณะถ้ำมีทางเดินลงไปเป็นชั้นๆ ข้างในจะมีทางแยกหลายทางเป็นถ้ำขนาดใหญ่ เพดานถ้ำสูง ทางเดินกว้างขวางไม่มีกลิ่นอับ อากาศโปร่ง มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ความลึกของถ้ำประมาณ 3 กิโลเมตร
หมู่บ้านกะเหรี่ยง ปะละทะ จากอุ้มผางเดินทางไปทางทิศใต้ตามเส้นทางอุ้มผาง-ปะละทะ ประมาณ 27 กม. (เส้นทางเดียวกับไปดอยหัวหมด) จะถึงหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนา มีไฟฟ้าใช้ มีสถานีอนามัยและโรงเรียน ชาวกะเหรี่ยงที่นี่ยังนิยมการแต่งกายแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง มีการจัดชุมชนเป็นระเบียบ แต่ละบ้านจะมีหูกทอผ้า และเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู และไก่ สำหรับใช้เป็นอาหาร
น้ำตกทีลอซู เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันมาก น้ำไหลแรงตลอดปี อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ห่างจากที่ทำการเขตประมาณ 3 กิโลเมตร เนื่องจากการเดินทางไปชมน้ำตกแต่ละชั้นบางครั้งจะต้องเดินผ่านสายน้ำตก จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ การเดินทางไปน้ำตกทีลอซู สามารถทำได้ทั้งทางรถยนต์และโดยการล่องแพ เส้นทางรถยนต์นั้นให้ใช้เส้นทาง อุ้มผาง-แม่กลองใหม่-แม่จัน ถึงกิโลเมตรที่ 20 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางอีกประมาณ 26 กิโลเมตร ทางช่วงนี้เป็นทางลำลอง จะต้องใช้รถกระบะ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อ เท่านั้น และในฤดูฝนรถอาจเข้าไม่ได้ หรืออาจติดต่อบริษัททัวร์ที่จัดล่องแพใน อ. อุ้มผาง ซึ่งมักจะรวมโปรแกรมเที่ยวน้ำตกทีลอซูอยู่ด้วย

การล่องแพในอำเภออุ้มผาง
 การล่องแพในอำเภออุ้มผางกำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เนื่องจากเส้นทางล่องแพนี้ ผ่านเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางที่ยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์มาก ผ่านธรรมชาติที่สวยงามแปลกตาไม่ซ้ำกันไปตลอดระยะทาง 20 กิโลเมตร เช่น ถ้ำผาโหว่ น้ำตกทีลอจ่อ ธารน้ำร้อน แก่งตะโคะบิ๊ ผาผึ้ง ถ้ำค้างคาว วังน้ำวน น้ำตกมู่ทลู่ เป็นต้น การล่องแพจะเริ่มจากอำเภออุ้มผางไปตามลำห้วยแม่กลองจนถึงท่าทราย หยุดพักแรม 1 คืน วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางจากท่าทราย โดยรถกระบะอีก 30 นาที ไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง แล้วเดินต่อไปยังน้ำตกทีลอซูอีก 3 กิโลเมตร ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการล่องแพ ช่วงฤดูการที่เหมาะสมในการล่องแพคือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนพฤษภาคมของทุกปี การล่องแพช่วงฤดูฝนจะมีอันตรายมาก เนื่องจากมีกระแสน้ำเชี่ยวและระดับน้ำลึก ทำให้การบังคับแพลำบาก จึงไม่ควรล่องแพหน้าฝนอย่างเด็ดขาด การเตรียมตัวสำหรับการล่องแพ แม้ว่าการล่องแพตามฤดูกาลที่แนะนำจะไม่มีอันตรายจากธรรมชาติ เนื่องจากกระแสน้ำไม่เชี่ยวและระดับน้ำไม่ลึก อีกทั้งลำห้วยแม่กลองไม่กว้างมาก ฝั่งทั้งสองอยู่ห่างจากแพข้างละ 8-10 เมตรเท่านั้น นักท่องเที่ยวก็ควรจะให้ความระมัดระวังในขณะล่องแพ และเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการล่องแพที่สนุกสนานและปลอดภัย ดังนี้ - สวมเสื้อผ้า และรองเท้าแบบสบายๆ ไม่ควรหนา และรัดจน เกินไป - สวมหมวกกันแดด - ควรมีเสื้อชูชีพโดยเฉพาะคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น - เตรียมเชือกมนิลายาวประมาณ 30-50 เมตร เพื่อใช้ใน กรณีฉุกเฉิน - กระเป๋ากันน้ำหรือถุงพลาสติกสำหรับใส่กล้องถ่ายรูป - ถุงสำหรับใส่เศษขยะเพื่อนำมาทิ้งบนบก การติดต่อล่องแพสามารถติดต่อได้กับสถานที่พักใน อ. อุ้มผาง หรืออาจติดต่อผ่านบริษัทนำเที่ยวต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการล่องแพ จะเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนคนและระยะเวลาการล่องแพ

สถานที่น่าสนใจ เส้นทางแม่สอด-แม่ระมาด-ท่าสองยาง (ทางหลวงหมายเลข 105)

น้ำตกแม่ภาษา อยู่ที่ตำบลแม่ภาษา แยกขวาจากเส้นทางสายแม่สอด-แม่ระมาด (ทางหลวงหมายเลข 105) ตรงกิโลเมตรที่ 13-14 มีป้ายทางเข้าเขียนว่า บ้านแม่กื๊ดสามท่า จากปากทางเข้าทางลูกรังประมาณ 4 กิโลเมตร จะมีทางแยกเข้าถนนดินอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นทางแคบ ขรุขระสองข้างทางเป็นไม้ล้มลุกขึ้นสูง น้ำตกแม่ภาษาเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่ทางเดินขึ้นไปบนเขาสูง มีถ้ำและธารน้ำกว้างประมาณ 2 เมตร เป็นทางจากปากถ้ำถึงน้ำตก ในฤดูฝนมีน้ำมาก แต่ในฤดูแล้งไม่มีน้ำเลย ทางเข้าน้ำตกนี้ยังไม่ดี และในบริเวณน้ำตกยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
บ่อน้ำร้อนแม่ภาษา อยู่ที่ตำบลแม่ภาษาเช่นกัน แยกขวาจากเส้นทางสายแม่สอด-แม่ระมาด ตรงกิโลเมตรที่ 13-14 เข้าทางลูกรัง 8 กิโลเมตร ผ่านเข้าไปในหมู่บ้าน บ่อน้ำร้อนนี้อยู่ในตัวหมู่บ้าน มีบ่อน้ำร้อนอยู่ 2 บ่อ บ่อหนึ่งมีความกว้างประมาณ 2 เมตร อีกบ่อหนึ่งกว้างประมาณ 1 เมตร นอกจากนี้ยังมีธารน้ำร้อนเป็นสายมาพบกับธารน้ำเย็น เมื่อผ่านเข้าไปในบริเวณหมู่บ้านจะได้กลิ่นกำมะถันกรุ่นอยู่ทั่วไปและมีไอน้ำจางๆ ลอยขึ้นเหนือพื้นดินเล็กน้อย เมื่อเข้าไปดูที่ปากบ่อจะเห็นฟองและการเดือดของน้ำได้ชัดเจน อุณหภูมิของน้ำสูงพอสมควร บริเวณหมู่บ้านมีธรรมชาติที่สวยงามล้อมรอบด้วยภูเขาสูงและไร่นาของชาวบ้านแถบนั้นเขียวชอุ่มไปทั่ว
บ้านไม้สัก ตั้งอยู่บริเวณ กม. ที่ 28-29 ริมถนนด้านขวามือเป็นบ้าน 2 ชั้น ที่สร้างด้วยไม้สักขนาดใหญ่ทั้งหลัง เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและพักค้างคืนได้
อำเภอแม่ระมาด เป็นอำเภอชายแดนที่ติดต่อกับประเทศพม่าอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดตาก อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 120 กิโลเมตร การเดินทางไปอำเภอแม่ระมาด ใช้เส้นทาง ตาก-แม่สอด-แม่ระมาด หรือเส้นทางตาก-บ้านแม่ตาก-แม่ระมาด ก็ได้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา สันนิษฐานว่าเดิมอำเภอแม่ระมาดเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยง แต่ต่อมามีชาวไทยล้านนาอพยพไปอยู่เป็นจำนวนมากจนยกฐานะเป็นอำเภอแม่ระมาด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2494
วัดดอนแก้ว ตั้งอยู่หลังที่ว่าการอำเภอแม่ระมาด มีพระพุทธรูปแกะสลักหินอ่อน เป็นปฏิมากรรมของพม่า ได้แกะสลักขึ้นพร้อมกัน 3 องค์ องค์ที่ 1 ประดิษฐานที่ประเทศปากีสถาน องค์ที่ 2 ประดิษฐานที่ประเทศอินเดีย และองค์ที่ 3 ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง ประดิษฐานในวิหารของวัดดอนแก้ว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สวยสดงดงามหาดูได้ยาก มีขนาดหน้าตักกว้าง 50 นิ้ว สูง 63 นิ้ว

ล่องแพแม่ตื่น
 ลำน้ำแม่ตื่น เป็นลำน้ำสาขาที่มีขนาดใหญ่ของลำน้ำแม่ปิง ซึ่งไหลลงบรรจบกับลำน้ำปิงบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล การล่องแพจะเริ่มต้นที่ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ในเขตอำเภอแม่ระมาด ซึ่งอยู่แยกจากทางสายแม่ระมาด-บ้านตาก ประมาณ กม. ที่ 30 ระยะทางประมาณ 12 กม. ล่องไปตามลำน้ำแม่ตื่น ผ่านกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ซึ่งนอกจากจะได้ชมความงามตามธรรมชาติของป่าไม้ และนกนานาพันธุ์แล้ว ยังจะได้ผจญภัยกับการล่องแพผ่านเกาะแก่งตามลำน้ำแม่ตื่น อีกทั้งการพักผ่อนและสัมผัสชีวิตของชาวแพเหนือทะเลสาบแม่ปิง
อำเภอท่าสองยาง เป็นอำเภอชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า มีรูปร่างเรียวยาวทอดตามลำน้ำเมย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงตามแนวเทือกเขาถนนธงชัย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพื้นราบ ประกอบอาชีพทำไร่ ระยะทางจากแม่สอด-ท่าสองยาง ราว 84 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมืองตากถึง อ.ท่าสองยาง ราว 170 กิโลเมตร สภาพเส้นทางเป็นทางราดยาง
ถ้ำแม่อุสุ อยู่ในเขตวนอุทยานถ้ำแม่อุสุ หมู่ 4 บ้านมิโนะโคะ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าสองยางไปทางเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร บนเส้นทางสายแม่สอด-แม่สะเรียง (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 105) เลยกิโลเมตรที่ 94 เล็กน้อย จะมีทางแยกซ้ายมือ เข้าถนนลูกรังอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ถ้ำแม่อุสุเป็นถ้ำที่กว้างใหญ่ มีเพดานถ้ำสูง อากาศโปร่งและไม่มืดนัก มีลำห้วยแม่อุสุไหลผ่าน เมื่อจะเข้าถ้ำนี้จะต้องเดินลุยน้ำห้วยแม่อุสุเข้าไป น้ำใสเย็นสูงเสมอเข่าและไหลแรง ถ้าในฤดูฝนระดับน้ำจะสูงมาก ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก ทางด้านตะวันตกมีโพรงหินขนาดใหญ่ ในตอนบ่ายจะมีแสงแดดส่องเข้ามาเป็นลำทำให้ถ้ำดูสวยงามยิ่งขึ้น ทางเดินในถ้ำไม่ลำบากนัก แม้ว่าจะต้องปีนขึ้นไปบนโขดหินก้อนใหญ่ๆ บ้างก็ตาม ทางไม่ลื่นและยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไรก็ยิ่งสวยงามมากขึ้น หากมีเวลาจะปีนทะลุโพรงหินนั้นขึ้นไปอีกก็ยังได้ เมื่อเดินเข้าไปในถ้ำสักระยะหนึ่ง แล้วหันกลับมาดูทางเข้า จะเห็นภาพลำห้วยที่ไหลคดเคี้ยวออกจากถ้ำที่มืด ไปสู่ปากถ้ำที่สว่างและมีแนวหลังเป็นทุ่งหญ้าสีเขียวสวยงามมาก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านตาก

อำเภอบ้านตาก เป็นเมืองตากเก่า มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านตะวันตกของสุโขทัย จนในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาได้โปรดให้ย้ายเมืองตากลงมาตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ตรงข้ามกับตัวเมืองในปัจจุบัน สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอบ้านตากส่วนใหญ่จึงเป็นโบราณสถานอำเภอบ้านตาก อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือราว 22 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1 และถ้าเดินทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1107 เลียบริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันตกถึงอำเภอบ้านตาก ระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร
วัดพระบรมธาตุ อยู่ที่ตำบลเกาะตะเภา อยู่ห่างจากตัวเมืองตากประมาณ 36 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1107 ประมาณ 35 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1175 อีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะแลเห็นวัดพระบรมธาตุอยู่ทางซ้ายมือ หรือถ้าใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ตรงกิโลเมตรที่ 442 เข้าอำเภอบ้านตากประมาณ 300 เมตร เลี้ยวขวาเข้าตลาดบ้านตากไปจนสุดถนนแล้วเลี้ยวซ้ายผ่านสะพานข้ามแม่ปิง แล้วเลี้ยวขวาผ่านวัดท่านา เลี้ยวซ้ายผ่านวัดทุ่งยั้งไปจนสุดถนน เลี้ยวขวาไปสุดทางราดยางเข้าถนนลูกรังจนถึงสามแยก แล้วแยกซ้ายอีก 200 เมตร ถึงวัดพระบรมธาตุ ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดเก่าแก่ ได้รับการปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งแล้ว ตัวอุโบสถมีประตูเป็นไม้แกะสลักสวยงาม หน้าบันและจั่วเป็นไม้ หน้าต่างแกะเป็นพุทธประวัติปิดทอง หัวบันไดเป็นนาค วิหารของวัดซึ่งเป็นวิหารเก่ามีเพดานสูง 2 ชั้น มีช่องลมอยู่โดยรอบ ทำให้อากาศภายในเย็น วิหารนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีวิหารไม้เก่าแก่ที่มีลายแกะสลักไว้ให้ชม นับเป็นวัดที่มีคุณค่าในทางโบราณคดีมาก
เจดีย์ยุทธหัตถี หรือเจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าเจดีย์ชนช้าง ตั้งอยู่บนดอยช้าง ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก ดอยช้างเป็นเนินดินเล็กๆ อยู่ทางเหนือของดอยพระธาตุไปเล็กน้อย เจดีย์นี้เป็นโบราณสถาน มีอายุอยู่ในสมัยกรุงสุโขทัยรวม 700 ปีเศษ องค์เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่เยื้องกับวัดพระบรมธาตุประมาณ 200 เมตร ลักษณะของเจดีย์ยุทธหัตถี เป็นศิลปะแบบสุโขทัยคล้ายกับองค์อื่นๆ ทั่วไปในเมืองสุโขทัย ก่ออิฐถือปูนฐานกว้าง 12 เมตร เป็นเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมขึ้นไปสูง 16 เมตร เหนือเรือนธาตุทำเป็นลำสี่เหลี่ยมย่อมุมตลอดถึงยอดที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ยอดสุดมีฉัตร มีร่องรอยการซ่อมแซมตลอดมา แต่ไม่เสียทรงเดิม ฐานพุ่มมีลายปั้นเป็นรูปหน้าสิงห์สวยงาม หน้าสิงห์ด้านทิศเหนือยังสมบูรณ์ ด้านอื่นๆ ชำรุดและมีรอยซ่อม องค์เจดีย์ส่วนใหญ่มีคราบตะไคร่น้ำจับอยู่ทั่วไป จะมีการขุดแต่งหรือสถานที่ก็ต่อเมื่อใกล้วันจะมีงานเทศกาล ซึ่งเป็นงานเดียวกับงานไหว้พระธาตุบ้านตาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีในหนังสืออธิบายระยะทางล่องลำน้ำปิงว่า “... มีพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งบนดอยช้าง เหนือดอยพระธาตุเรียกว่าพระปรางค์ แต่ที่จริงเป็นพระเจดีย์แบบสุโขทัยเหมือนพระเจดีย์องค์กลางที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวเมืองศรีสัชนาลัย และพระเจดีย์ที่วัดกระพังเงินในเมืองสุโขทัย พระเจดีย์รูปนี้ที่วัดพระธาตุเมืองกำแพงเพชรก็มีอีกองค์หนึ่ง เข้าใจว่าเป็นฝีมือช่างครั้งกรุงสุโขทัยสร้างไว้ขนาดสูงตลอดยอดประมาณ 20 วา มีผู้ซ่อมแต่ซ่อมดีไม่แก้รูปเดิม ลายหน้าราหูยังปรากฏอยู่ พระเจดีย์องค์นี้สร้างบนยอดดอยที่ต่ำกว่าดอยที่สร้างพระธาตุ ควรเข้าใจว่าสร้างทีหลังพระธาตุในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีเรื่องปรากฏว่า เมื่อครั้งพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อันเป็นวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัยนั้น ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด เข้ามาตีเมืองพ่อขุนศรีอินทราทิตย์แตกทัพ พ่อขุนรามคำแหงผู้ราชบุตรเข้าชนช้างกับขุนสามชนจนมีชัยชนะ ข้าศึกแตกพ่ายไป น่าสันนิษฐานว่าพระเจดีย์องค์นี้จะสร้างเป็นของเฉลิมพระเกียรติเรื่องชนช้างคราวนั้น แต่พระเจ้ารามคำแหงจะสร้างเองหรือจะสร้างในรัชกาลหลังมา ไม่มีเค้าเงื่อนจะรู้ได้แน่ ...”

สถานที่น่าสนใน ในเขตอำเภอสามเงา

ผาสามเงา อยู่ในตำบลย่านรี จากตัวจังหวัดใช้เส้นทางหมายเลข 1107 ผ่านทางแยกไปเจดีย์ยุทธหัตถีไปประมาณ 25 กิโลเมตร หรือถ้าใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 463 จะมีทางแยกซ้ายเข้าเขื่อนภูมิพลไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงอำเภอสามเงา จะมองเห็นขุนเขาใหญ่ลูกหนึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ผาสามเงา” เพราะที่เชิงเขาริมหน้าผานั้น เจาะเป็นช่องลึกเข้าไปในเนื้อภูเขาเรียงกัน 3 ช่อง ประดิษฐานพระพุทธรูปปิดทองช่องละองค์ มีบันไดไม้ต่อให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปได้ ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระนางจามเทวีราชธิดาแห่งกรุงละโว้เป็นผู้สร้างเมื่อครั้งเดินทางตามลำน้ำแม่ปิงเพื่อขึ้นไปครองเมืองหรืภุญไชยหรือลำพูน
เขื่อนภูมิพล (เขื่อนยันฮี) แยกซ้ายจากทางหลวงหมายเลข 1 ตรงกิโลเมตรที่ 463-464 ประมาณ 17 กิโลเมตร เป็นทางราดยางเปิดให้ชมเขื่อนเวลา 07.00-17.00 น. เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนเอนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย สร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งขนาดใหญ่ และสูงที่สุดในประเทศไทยและเอเซียอาคเนย์ และเป็นอันดับ 8 ของโลก มีความสูงจากฐานถึงสันเขื่อน 154 เมตร กั้นแม่น้ำปิงที่เขาแก้ว อำเภอสามเงา สามารถอำนวยประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าถึง 560,000 กิโลวัตต์ และให้ผลประโยชน์ในด้านชลประทานแก่พื้นที่ถึง 1,500,000 ไร่ อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจุน้ำได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร นอกจากประโยชน์ทางด้านพลังงานไฟฟ้าและชลประทานแล้ว เขื่อนภูมิพลยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดด้วย มีสถานที่น่าสนใจอื่นๆ อีกคือ
พระพุทธบาทดอยเขาหนาม เป็นเกาะกลางน้ำ มีวัดพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนยอดดอย ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาทและศาลาประดิษฐานองค์พระประธาน ทิวทัศน์โดยรอบงดงาม
เกาะวาเลนไทน์ เป็นเกาะเล็กๆ มีหาดทราย สามารถเล่นน้ำได้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวเกาะทั้งสองได้โดยเช่าเรือจาก เขื่อนภูมิพลล่องไปตามลำน้ำประมาณ 15-30 นาที การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจัดบริการบ้านพักและเกมกีฬาบางประเภท เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว อาทิเช่น สนามกอล์ฟ สนามเทนนิส เรือเช่า รายละเอียดดังกล่าวติดต่อได้ที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โทร. 436-3272 (จันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.) หรือที่เขื่อนภูมิพล โทร. (055) 599093-7 ต่อ 3234 (จันทร์-เสาร์ เวลา 08.30-16.30 น.)




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ตาก