แผนที่นนทบุรี

  • แผนที่นนทบุรี
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

นนทบุรี ตั้งอยู่ในภาคกลางเป็นจังหวัดหนึ่งใน 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร และปทุมธานี มีเนื้อที่ประมาณ 622.303 ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและแบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็น 2 ส่วน ขนาดของจังหวัดเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัด ในภาคกลางแล้ว มีขนาดเกือบจะเล็กที่สุดยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา
ทิศใต้ ติดกับกรุงเทพมหานคร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เขตดุสิต เขตบางเขน ไปจนถึงจังหวัดปทุมธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม

การแบ่งเขตการปกครอง 6 อำเภอ 52 ตำบล 433 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองนนทบุรี
อำเภอบางกรวย
อำเภอบางใหญ่
อำเภอบางบัวทอง
อำเภอไทรน้อย
อำเภอปากเกร็ด

สภาพทั่วไปของจังหวัดนนทบุรีเป็นที่ราบลุ่มมีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนหนาแน่นตามริมแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่อดีต เช่น บ้านวัดชลอ บ้านวัดเขมา บ้านบางม่วง บ้านตลาดขวัญ บ้านบางขนุน เป็นต้น
สมัยอยุธยา

หลักฐานการตั้งถิ่นฐานที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนนทบุรีปรากฏที่วัดปรางค์หลวง[4] ตั้งอยู่ในตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ เป็นวัดที่มีพระปรางค์ลักษณะย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักแก่ชุมชนชาวเมืองอู่ทองที่อพยพหนีโรคระบาดมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ก่อนจะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ชุมชนแห่งนี้ได้ขยายตัวและกระจัดกระจายออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ในบริเวณนี้ โดยมีชุมชนสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ บ้านตลาดขวัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ท้องที่จังหวัดนนทบุรีทั้งหมดในสมัยนี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา จากเหนือวัดชลอไปทะลุใกล้วัดมูลเหล็ก (ปัจจุบันคือวัดสุวรรณคีรี เขตบางกอกน้อย) เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดในการเดินทางและเพื่อเพิ่มปริมาณแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรในพื้นที่

ในปีเดียวกันนั้น พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ผลจากสงครามทำให้สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง เมื่อพม่ายกทัพกลับไป และกรุงศรีอยุธยาได้จัดการพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงปรับปรุงกิจการทหารให้มั่นคงกว่าเดิม พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีกหลายเมือง รวมทั้งให้ยกฐานะหมู่บ้านตลาดขวัญขึ้นเป็น เมืองนนทบุรี ในปี พ.ศ. 2092 เนื่องจากมีราษฎรจำนวนมากหนีภัยสงครามครั้งนั้นไปอยู่ตามป่าเขาและไม่ยอมกลับพระนคร หากตั้งเมืองใหม่ขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อการเกณฑ์ไพร่พลเมื่อเกิดสงคราม นอกจากนี้ยังสามารถเป็นเมืองท่าและเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยาได้อีกด้วย ที่ตั้งของเมืองนนทบุรีในครั้งแรกนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีวัดหัวเมืองเป็นเขตเหนือ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) และมีวัดท้ายเมืองเป็นเขตใต้[9]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2179 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดตัดส่วนโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้วัดท้ายเมืองไปทะลุออกหน้าวัดเขมา[8] (เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาไหลวกเข้าไปทางบางกรวยและบางใหญ่) ซึ่งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินไหลเข้าคลองที่ขุดใหม่ กลายเป็นแนวแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่าในปัจจุบัน ส่วนแม่น้ำเดิมก็ตื้นเขินลงเป็นคลองอ้อม คลองบางกอกน้อย และคลองบางกรวยตามที่ปรากฏในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชดำริว่า แนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่สั้นลงจะทำให้ข้าศึกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้ง่ายขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรีจากบ้านตลาดขวัญไปตั้งบริเวณปากคลองอ้อม บ้านบางศรีเมือง[8] (ที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณนี้จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) และให้สร้างกำแพงเมืองรวมทั้งป้อมปราการขึ้น 2 ป้อม คือ "ป้อมแก้ว" ตั้งอยู่ที่บ้านตลาดแก้ว (สันนิษฐานว่าอยู่ที่วัดปากน้ำในปัจจุบัน) และ "ป้อมทับทิม" ตั้งอยู่บริเวณวัดเฉลิมพระเกียรติในปัจจุบัน[10] (ปัจจุบันกำแพงและป้อมถูกรื้อไปหมดแล้ว) ในช่วงนี้สภาพเศรษฐกิจของเมืองนนทบุรีมีความมั่นคงมาก ทั้งการค้าขายและการทำสวนผลไม้

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2264 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดเกร็ดขึ้นตัดความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลวกอ้อมไปทางบางบัวทอง ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางการไหล ชายฝั่งทั้งสองข้างของคลองลัดเกร็ดถูกกัดเซาะให้ห่างออกจากกันมากขึ้น พื้นที่ตรงกลางที่มีน้ำล้อมรอบจึงกลายเป็นเกาะ เรียกว่า "เกาะเกร็ด"

ปี พ.ศ. 2307 ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเล็กน้อย พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า โปรดเกล้าฯ ให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพเข้าตีเข้ากรุงศรีอยุธยาจากทางทิศใต้ ตีหัวเมืองรายทางเรื่อยมาจนถึงเมืองธนบุรีและเมืองนนทบุรี ก็เข้ายึดเมืองทั้งสองได้เช่นกัน พม่าแบ่งกำลังบางส่วนขึ้นมาตั้งค่ายอยู่บริเวณวัดเขมา ขณะนั้นมีเรือกำปั่นอังกฤษซึ่งมาค้าขายอยู่ที่เมืองธนบุรีได้อาสาช่วยรบโดยยิงปืนเข้าใส่ค่ายพม่าในเวลากลางคืน แต่ในที่สุดก็สู้กองทัพพม่าไม่ได้ จึงล่องเรือหนีไป

จากนั้นกองทัพพม่าจึงบุกขึ้นไปทางทิศเหนือ เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2309 และเข้ายึดได้ในปี พ.ศ. 2310 ตลอดการสู้รบได้ส่งผลให้บ้านเมือง วัดวาอารามต่าง ๆ ถูกทำลายและทิ้งร้าง ชาวเมืองนนทบุรีต้องอพยพจากถิ่นที่อยู่เดิม ข้ามแม่น้ำไปหลบซ่อนในสวนบางกรวยและบางใหญ่เพื่อหนีภัยสงคราม
สมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อบ้านเมืองได้รับการฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงค่อย ๆ ย้ายกลับสู่ถิ่นฐานเดิม พร้อมทั้งมีผู้คนจากถิ่นอื่นเข้ามาในพื้นที่ด้วย ได้แก่ ชาวมอญที่อพยพเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานที่ปากเกร็ด และอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองนนทบุรี เมืองปทุมธานี และเมืองนครเขื่อนขันธ์ นอกจากนี้ยังมีชาวไทยมุสลิมเมืองปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และชาวไทยมุสลิมเมืองไทรบุรีที่เข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ชาวไทยมุสลิมเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าอิฐ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปากเกร็ด) และบ้านบางบัวทอง

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสร้อยชื่อเมืองจากเดิมคือ เมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร เป็น เมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน และต่อมาเปลี่ยนเป็น เมืองนนทบุรีศรีเกษตราราม ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ เมืองนนทบุรีมีฐานะเป็นหัวเมืองชายทะเล สังกัดกรมท่า

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ เป็นการปกครองส่วนภูมิภาค เมืองนนทบุรี จึงจัดอยู่ในมณฑลกรุงเทพ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอตลาดขวัญ อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง และอำเภอปากเกร็ด ส่วนศาลากลางเมืองนนทบุรีนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากปากคลองอ้อม บ้านบางศรีเมือง มาตั้งอยู่ที่ปากคลองบางซื่อใกล้วัดท้ายเมือง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็น "จังหวัด" เมืองนนทบุรีจึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น จังหวัดนนทบุรี

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-นนทบุรี

ทางรถยนต์ มีถนนสำคัญ 11 สาย คือ
- ถนนพิบูลสงครามระหว่างเชิงสะพานพระรามหก - สี่แยกโรงภาพยนตร์ศรีพรสวรรค์
- ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ระหว่างศาลากลางจังหวัด - สี่แยกโรงภาพยนตร์ศรีพรสวรรค์
- ถนนติวานนท์ ระหว่างสามแยกวัดลานนาบุญ - ท่าน้ำปทุมธานี
- ถนนงามวงศ์วาน ระหว่างสี่แยกแคลาย - สี่แยกเกษตร
- ถนนนนทบุรี 1 ระหว่างศาลากลาง - ถนนติวานนท์
- ถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างสี่แยกปากเกร็ด - สี่แยกหลักสี่
- ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ระหว่างพระรามหก - อำเภอไทรน้อย
- ถนนบางบัวทอง-ตลิ่งชันระหว่างแยกบางบัวทอง - ตลิ่งชัน
- ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรีระหว่างแยกบางบัวทอง- สุพรรณบุรี
- ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ระหว่างสามแยกเตาปูน - สามแยกวัดลานนาบุญ
- ถนนรัตนาธิเบศร์ ระหว่างสี่แยกแคลาย - ถนนบางบัว ทอง - ตลิ่งชัน

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสารประจำทาง มีรถปรับอากาศและธรรมดา

- รถปรับอากาศ (ขส.มก.) ปอ.5 (ปากเกร็ด-วงเวียนใหญ่)ปอ.6(ปากเกร็ด-พระประแดง) ปอ.9 (นนทบุรี-หมู่บ้านเศรษฐกิจ) ปอ.126 (นนทบุรี-สำโรง)
- รถธรรมดา ขส.มก. สาย 69 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-สนามบินน้ำ) สาย 104 (อนุสาวรีย์ ชัยสมรภูมิ-ปากเกร็ด) สาย 24 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ประชานิเวศน์ 3) สาย 63 (อนุสาวรีย์ชัยสมร- ภูมิ-นนทบุรี) สาย 66(สายใต้ใหม่-ประชานิเวศน์) สาย 30(สายใต้ใหม่-นนทบุรี) สาย 70(สนาม-หลวง-ประชานิเวศน์ 3) สาย 203 (สนามหลวง-นนทบุรี) สาย 33 (สนามหลวง-ปทุมธานี) สาย 64 (สนามหลวง-ถนนสามเสน-นนทบุรี) สาย 90 (ย่านสินค้าพหลโยธิน-ท่าน้ำบางพูน) สาย 134 (ย่านสินค้าพหลโยธิน-อำเภอบางบัวทอง) สาย 114 (แยกลำลูกกา-นนทบุรี) สาย 117 (ห้วยขวาง -วัดเขมา) สาย 127 (เชิงสะพานกรุงธน-อำเภอบางบัวทอง) สาย 128 (เชิงสะพานกรุงธน-อำเภอบางใหญ่) สาย 32(วัดโพธิ์-ปากเกร็ด) สาย 5(ท่าน้ำบางโพ-ปากเกร็ด) สาย 52(สถานีรถไฟบางซื่อ -ปากเกร็ด) สาย 65 (ท่าเตียน-วัดปากน้ำ) สาย 97 (โรงพยาบาลสงฆ์-นนทบุรี)

ทางน้ำ

มีเรือด่วนเจ้าพระยาบริการระหว่างเส้นทางจากท่าน้ำวัดราชสิงขร เขตยานนาวาถึงท่าน้ำวัดเตย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ทุกวัน ระหว่างเวลา 6.00-18.00 น. เรือออกทุก ๆ 20 นาที ค่าโดยสารระหว่าง 4 บาท ถึง 16 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง ใช้เวลานั่งเรือประมาณ 45 นาที ค่าโดยสาร 7 บาท สอบถามการใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาได้ที่บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาจำกัด โทร. 0-2253-0023 , 0-2225-3002-3

  งานสงกรานต์ของชาวมอญ อำเภอปากเกร็ด ที่เกาะเกร็ด จัดหลังจากวันที่ 13 เมษายน ไป 1 สัปดาห์ มีขบวนแห่และการละเล่นต่าง ๆ แบบมอญ
งานเทศกาลผลไม้และของดีเมืองนนท์ กำหนดจัดงานช่วงกลางเดือนเมษายน - ต้นมิถุนายนของทุกปี ที่บริเวณริมเขื่อนหน้าศาลากลางเก่า อำเภอเมือง มีการจำหน่ายผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับของนนทบุรี เช่น ทุเรียน มังคุด กระท้อน มะไฟ มะม่วง ฯลฯ
ประเพณีการทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานแล้วในอำเภอบางกรวย โดยจัดขึ้นตามลำน้ำในคลองบางกอกน้อย ซึ่งได้จัดขึ้นหลายวัดด้วยกันคือ วัดไทยเจริญ วัดบางไกรนอก วัดอุทยาน และวัดบางไกรใน ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 ประจำทุกปี
ประเพณีรำมอญ เป็นนาฎศิลป์ที่เก่าแก่อย่างหนึ่งของมอญ และยังคงเหลืออยู่สืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ลูกหลานมอญรุ่นหลัง ๆ นี้ยังคงได้รับการถ่ายทอดศิลปะนี้ไว้ด้วยดีตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปากเกร็ด พระประแดง และที่ปทุมธานี ยังมีผู้ที่รำมอญได้จำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งวงปี่พาทย์มอญที่บรรเลงประกอบการรำก็ยังคงมีอยู่หลายวงเช่นกัน

สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

พิพิธภัณฑ์มนุษยชาติวิทยา เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติแห่งแรกของไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2504 มีลักษณะเป็นตึก 2 ชั้น กว้าง 15 เมตร ยาว 31 เมตร ตั้งอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ภายในตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น โดยชั้นบนจัดเป็นที่แสดงปูชนียวัตถุ อาทิ พระพุทธรูปในสมัยต่าง ๆ และเครื่องลายครามเก่าแก่มากมาย ส่วนชั้นล่างเป็นสถานที่จัดแสดงความเป็นมาเกี่ยวกับโลกชีวิตพืช และสัตว์ มนุษย์ ศิลปะ และเครื่องอุปโภคจากอดีตถึงปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถเข้าชมได้ในวันอังคาร-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. (ปิดในวันอาทิตย์-วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ไม่เสียค่าเข้าชม
วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลสวนใหญ่ ห่างจากตัวเมืองมาทางด้านใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ด้านหน้าของวัดติดริมฝั่งแม่น้ำ ส่วนด้านหลังติดต่อกับถนนพิบูลสงคราม พื้นที่ทั้งวัด มีประมาณ 26 ไร่เศษ เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหารเป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่า สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น ปรากฏว่าเคยเป็นวัดหลวงมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดบัญชีกฐินหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ ถึงสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุริเยน ทรามาตย์ พระบรมราชินี ทรงขอมาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทรงปฏิสังขรณ์ใหม่เรียกว่าวัดเขมา ยังไม่มีสร้อยต่อท้าย ต่อมา สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม และพระราชทานสร้อยนามต่อท้ายว่า “วัดเขมาภิรตาราม” ภายในวัดมีพระมหาเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังของโบสถ์ สูง 30 เมตร ภายในบรรจุพระบรม-สารีริกธาตุ พระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อเก่าแก่ ศิลปสมัยอยุธยาอัญเชิญมาจากพระราชวังจันทร์เกษม ภายในวัดมีพระตำหนักแดงและพระที่นั่งมณเฑียรตั้งอยู่ด้วย
 วัดสังฆทาน สันนิษฐานว่าเดิมชื่อวัดศาริโข สร้างขึ้นในราวสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงและที่อื่น ๆ ยังคงมาเคารพสักการะบูชาองค์หลวงพ่อโตมิได้เสื่อมคลาย เพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ด้วยเหตุที่เป็นวัดร้างไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ชาวบ้านจึงต้องนิมนต์พระจากละแวกใกล้เคียงมาเพื่อถวายสังฆทานจนถูกเรียกขานกันติดปากว่า “วัดสังฆทาน” ซึ่งมีลักษณะแบบสำนักป่ามีธรรมชาติรอบข้างร่มรื่นเหมาะแก่ผู้ประสงค์จะเจริญภาวนาที่มีเวลาจำกัด ทางวัดได้จัดโครงการ “อบรมธรรมปฏิบัติ” ขึ้นเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่วัดสังฆทาน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร.424-6157, 433-0839
การเดินทาง สามารถไปวัดสังฆทานได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ดังนี้คือ
 ทางน้ำ โดยเช่าเรือจากท่าน้ำนนท์ข้ามฟากไปท่าน้ำบางศรีเมือง (เรือจะวิ่งตลอดทั้งวัน) ค่าโดยสาร คนละ 1 บาท แล้วนั่งรถสองแถวเข้าไปยังวัดสังฆทาน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที (รถสองแถวจะวิ่งบริการตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น.)
 ทางบก วิ่งไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามสะพานพระนั่งเกล้าแล้วตรงไปเลี้ยวแยกซ้ายมือจะมีป้ายบอกทางเข้าวัดสังฆทานประมาณ 12 กิโลเมตร
วัดโชติการาม ตั้งอยู่ที่ตำบลบางไผ่ เดิมชื่อวัดสามจีน สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2350 สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนี้คือ พระอุโบสถ ฐานอ่อนโค้งทรงสำเภา ด้านหน้ามีภาไล ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลวดลายปูนปั้นประดับเครื่องถ้วยลายครามและเบญจรงค์ มีวิหารเป็นอาคารทรงโรงขนาด 3 ห้อง ฝาผนังทั้ง 4 ด้าน มีจิตรกรรมตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ลายหน้าบัน ประตูเป็นไม้จำหลักรูปเสี้ยวกางสวยงาม มาก ภาพหลังบานประตูเป็นภาพเขียนสีรูปแจกันดอกไม้บนพื้นแดง เพดานเป็นลายดอกไม้ แทรกภาพสัตว์ปีก การเดินทางไปวัดโชติการาม ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปวัดสังฆทาน โดยมีป้ายชี้บอกตลอดทาง
วัดปราสาท ตั้งอยู่ริมถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลบางกร่าง เป็นวัดที่มีลายสลักหน้า-บันและซุ้มประตูพระอุโบสถศิลปอยุธยา ฝีมือการก่อสร้างประณีตบรรจง ภายในโบสถ์มีพระประธาน และพระสาวกอายุตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นถึงตอนปลาย และมีธรรมมาสน์ที่สวยงามมากหลังหนึ่ง ซึ่งมีอายุพร้อมกับโบสถ์ตั้งอยู่บนศาลาการเปรียญ นอกจากนั้นยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยมีฝีมือของสกุลช่างชั้นสูงนนทบุรี ซึ่งนับว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดในขณะนี้ของจังหวัด วัดปราสาทถือว่าเป็นวัดหนึ่งที่ดำเนินการอนุรักษ์โบสถ์ และศิลปกรรมได้อย่างถูกวิธี จึงทำให้เป็นแหล่งวิทยาการที่น่าสนใจยิ่งของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าทราย ริมถนนสายสนามบินน้ำ-นนทบุรี สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2300 โดยชาวมอญในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นผู้สร้าง ภายในวัดมีอาคารเสนา- สนะต่าง ๆ พระอุโบสถสวยงาม สร้างเมื่อ พ.ศ.2520 ลักษณะทรงไทยใต้ถุนสูง 2 ชั้น มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์หลังคาลด 3 ชั้น หน้าบัน ซุ้มประตู หน้าต่างปิดทองปิดกระจก ฝาผนังภายในอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติและทศชาติ สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปยืน 2 องค์ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัด ยังมีพระเจดีย์รามัญ เรียกว่า “พระมุเตา” สร้างโดยพระสงฆ์จากเมืองมอญ เมื่อ พ.ศ.2460 สันนิษฐานว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปากเกร็ด

วัดตำหนักใต้ ตั้งอยู่บนถนนสนามบินน้ำ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าทราย เป็นวัดเก่าแก่สมัยโบราณ จากประวัติกล่าวไว้ว่า ก่อนที่จะสร้างวัดในพื้นที่นี้เคยสร้างเป็นพลับพลาที่ประทับชั่วคราวของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และจากหลักฐานที่ยังคงเหลืออยู่สันนิษฐานว่าวิหารและหอระฆังสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2367 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ฝาผนังภายในมีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ตามบานประตูและหน้าต่างลงรักปิดทองเขียนด้วยลายไทยอย่างงดงาม นอกจากนั้นยังมีพระประธานปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยและพระพุทธรูปต่างๆ ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถวิหารศาลาการเปรียญและกุฏิสงฆ์
สวนทิพย์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ลักษณะเป็นสวนพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ในวรรณคดี มีศาลาทรงไทยสำหรับนั่งพักผ่อน ภายในบริเวณสวนและริมท่าน้ำบรรยากาศร่มรื่นสวยงามแบบไทยๆ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออกที่ตำบลบางพูด ถนนสุขาประชาสรรค์ 2 (ถนนวัดกู้) อำเภอปากเกร็ด สวนทิพย์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 20 บาท และมีภัตตาคารอาหารไทยบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ยกเว้นวันจันทร์ กรณีใช้บริการอาหารเป็นหมู่คณะสามารถจัด การแสดงรำไทยให้ชมได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สวนทิพย์ 17/9 ถนนสุขาประชาสรรค์ 2 ตำบล บางพูด อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี โทร. 583-7853, 583-7699, 583-7409 โทรสาร 583-7008 การเดินทางไปสวนทิพย์สามารถเดินทางได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ดังนี้
 ทางน้ำ โดยเช่าเรือจากท่าน้ำปากเกร็ดใช้เวลานั่งเรือประมาณ 10 นาที ค่าเช่าเรือประมาณ 30-50 บาท แล้วแต่ขนาดของเรือ
 ทางบก จากท่าน้ำปากเกร็ดเลี้ยวซ้ายเข้าซอยวัดกู้ อยู่เลยวัดบางพูดนอกไปเล็กน้อย
วัดกู้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางพูด ห่างจากอำเภอปากเกร็ดไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ได้ประสบอุบัติเหตุเรือล่มสิ้นพระชนม์ วัดนี้สร้างในสมัยพระยาเจ่งอพยพครอบครัวมอญเข้ามาในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นวัดที่สร้างด้วยศิลปะแบบมอญ มีพระตำหนักสร้างเป็นอนุสรณ์สถานที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์เพราะเรือล่ม แล้วอัญเชิญพระ-ศพมาไว้ที่วัดนี้ชั่วคราว มีพระพุทธไสยาสน์ที่เป็นพระนอนขนาดใหญ่ ความยาว 21 วา 2 ศอก มีศาลพระนางเรือล่ม (พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์) ซึ่งจำลองแบบจากศาลาจตุรมุขของพระราชวังบางปะอิน มีพระบรมรูปเท่าพระองค์จริงประทับยืน นอกจากนั้นยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบมอญ เป็นภาพเขียนสีน้ำมันอยู่ด้านในของพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งเขียนเคียงคู่กับพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และที่ด้านหลังของพระนอนองค์ใหญ่นี้ เป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ที่อับปาง ซึ่งชาวบ้านได้กู้เรือมาเก็บไว้ที่วัดกู้แห่งนี้ การเดินทางไปวัดกู้สามารถเดินทางไปได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ดังนี้
ทางบก จากท่าน้ำอำเภอปากเกร็ดเลี้ยวซ้ายซอยวัดกู้มาตามถนนสุขาประชาสรรค์ ผ่านวัดบางพูดนอก สวนทิพย์ ห้องอาหารศรีไทยเดิม รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จะเห็นวัดกู้อยู่ด้านซ้ายมือ
ทางน้ำ เช่าเรือจากท่าน้ำอำเภอปากเกร็ดแล่นมาทางเหนือใช้เวลาประมาณ 10 นาที จะ เห็นท่าน้ำวัดกู้อยู่ทางขวามือ ค่าเช่าเรือประมาณ 50 บาท
สวนตาลน้อยเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตกตรงข้ามกับวัดกู้ มีพันธุ์ไม้นานาชนิดปลูกไว้อย่างมีระเบียบสวยงามสถานที่เงียบสงบเหมาะสำหรับการพักผ่อน เปิดบริการทุกวัน ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สวนตาลน้อย โทร.583-9278 -9 การเดินทางไปสวนตาลน้อย โดยเช่าเรือจากท่าน้ำปากเกร็ดใช้เวลานั่งเรือประมาณ 20 นาที ค่าเช่าเรือประมาณ 50-80 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ
วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางตลาด ริมถนนสายนนทบุรี-ห้าแยกปากเกร็ด เป็นวัดใหม่ที่มีศิลปะการสร้างอย่างงดงาม ภายในวัดมีความกว้างขวางร่มรื่น ภายใต้หมู่ไม้นานาพันธุ์ที่ปลูกไว้ทั่วบริเวณ จึงเป็นสถานเผยแพร่และเหมาะแก่การศึกษาพระธรรมอย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังมีลานไผ่เอนกประสงค์ ซึ่งชาวพุทธโดยทั่วไปจะมารวมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อประกอบ พิธีกรรมทางศาสนา และฟังธรรมจากพระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทภิกขุ) เจ้าอาวาส ในทุกวันอาทิตย์และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เป็นสวนสาธารณะที่มีบึงน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณหนองปรือ ตำบลบ้านใหม่ รายรอบด้วยหมู่แมกไม้ที่ร่มรื่นและเงียบสงบ มีสวนหย่อม นาฬิกาแดด น้ำพุ กลางน้ำเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีเนื้อที่ประมาณ 102 ไร่ อยู่ในความดูแลของสุขาภิบาล อำเภอปากเกร็ด เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม การเดินทางไปสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์จากท่าน้ำปากเกร็ด โดยใช้เส้นทางถนนติวานนท์แล้วเลี้ยวขวาตรงสี่แยกบ้านกอนเติงเข้ามาประมาณ 2 กิโลเมตร
เกาะเกร็ด เป็นเกาะขนาดใหญ่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนที่เจริญมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา วัดต่างๆ ที่สร้างขึ้นบนเกาะเป็นโบราณสถานที่สวยงาม สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายทั้งสิ้น มีฐานะเป็นตำบลแบ่งเขตการปกครองเป็นหมู่บ้านรวมทั้งสิ้น 7 หมู่บ้าน เกาะเกร็ดเกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดลำน้ำเจ้าพระยาตรงส่วนที่เป็นแหลมยื่นไปตามความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2265 เรียกคลองนี้ว่า “คลองลัดเกร็ดน้อย” ต่อมา กระแสน้ำได้เปลี่ยนทิศทาง ทำให้คลองขยายกว้างขึ้นเพราะถูกความแรงของกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง จึงกลายเป็นแม่น้ำและเกาะเกร็ดมีสภาพเป็นเกาะเช่นปัจจุบัน
วัดปรมัยยิกาวาส ตั้งอยู่ตำบลเกาะเกร็ด เยื้องท่าเรือสุขาภิบาลปากเกร็ดไปทางใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร และอยู่ตรงข้ามกับท่าเรือวัดสนามเหนือเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร สร้างแบบรามัญ เดิมวัดนี้เป็นวัดเก่าชื่อวัดปากอ่าว ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัดและโปรดให้สร้างพระเจดีย์รามัญ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระราชทานนามวัดปรมัยยิกาวาส เนื่องจากศิลปะการสร้างมีลักษณะแบบมอญ พระเจดีย์ทุกองค์สร้างแบบมอญ และพระพุทธรูปพระประธานในโบสถ์สลักด้วยหินอ่อนแบบมอญด้วย จึงเรียกกันว่า “วัดมอญ” ภายในวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง และบานประตูหน้าต่างโบสถ์ประดับลายปูนปั้นสวยงาม
วัดเสาธงทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกร็ด เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ วัดสวนหมาก ศิลปะสมัยอยุธยาที่มีเจดีย์ย่อมุมสิบสองขนาดใหญ่อยู่หลังโบสถ์ เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในเขตอำเภอปากเกร็ด ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีเจดีย์องค์เล็กเป็นเจดีย์บริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมอีกองค์หนึ่งมีรูปแปลกมีฐานเหลี่ยม องค์ระฆังทำเป็นทรงกลมสูง ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมาก เป็นลายทองเขียนลายกรวยเชิงอย่างงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัย ปูนปั้น ขนาดใหญ่องค์หนึ่งในจังหวัดนนทบุรี คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพ๊ยะอาล๊าต”
วัดฉิมพลี ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกร็ด มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมาก และยังมีสภาพสมบูรณ์แบบเดิมเป็นส่วนใหญ่ หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูยอดมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงให้เห็นความงามอยู่ ฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา
วัดไผ่ล้อม เป็นวัดที่สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกร็ด มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน หน้าโบสถ์มีเจดีย์ ขนาดย่อมสององค์ รูปทรงแปลก ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง แต่องค์ระฆังทำเป็นรูปบาตรคว่ำ มียอดทรงกลม ประดับลายปูนปั้นอย่างสวยงามมาก คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพ๊ยะโต้” 
 ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านชาวมอญ ตั้งอยู่ที่ด้านซ้ายของวัดปรมัยยิกาวาส ห่างจากวัดประมาณ 100 เมตร เป็นสถานที่แสดงภาชนะเครื่องปั้นดินเผาแบบรามัญรูปทรงต่าง ๆ ฝีมือประณีตสวยงามเช่น หม้อน้ำ นอกจากนี้ยังมีการแสดงวิธีการปั้นและจำหน่ายสินค้าเครื่องปั้นดินเผาด้วย เปิดให้ชมทุกวัน
หมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา ตั้งอยู่บริเวณสองข้างทางเดินรอบเกาะเกร็ดทั้งด้านซ้าย และด้านขวาของวัดปรมัยยิกาวาส เป็นหมู่บ้านที่ทำเครื่องปั้นดินเผาภาชนะของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระถาง ครก โอ่งน้ำ ฯลฯ แหล่งใหญ่และเก่าแก่ของจังหวัดนนทบุรี สามารถจะชมขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่การเตรียมดินจนถึงวิธีการนำเข้าเตาเผา

สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบางกรวย

วัดโพธิ์บางโอ ตั้งอยู่ตำบลวัดชะลอ เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยรัชกาล ที่ 3 โดยกรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นสกุล เสนีวงศ์) พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง บนฝาผนังซึ่งอยู่ระหว่างหน้าต่าง 10 หน้าต่าง มีภาพเขียนสีที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นภาพเขียนเกี่ยวกับปริศนาธรรมฝีมืองานจิตรกรรมของสกุลช่างชั้นสูงนนทบุรี นอกจากนี้ที่หน้าบันพระอุโบสถยังทำเป็นเครื่องไม้จำหลักลวดลายงดงาม และที่ประตูด้านนอกมีตุ๊กตาหินพวกเซียนและตัวละครตั้งอยู่จำนวนหนึ่ง
 ตลาดน้ำบางคูเวียง ตั้งอยู่ปากคลองบางคูเวียง ตำบลบางคูเวียง ตลาดเริ่มตั้งแต่ 06.00 -08.00 น. ชาวบ้านจะนำผลไม้ตามฤดูกาลบรรทุกเรือมาค้าขายกันที่นี่ นอกจากนี้ยังมีอาหารและสินค้าอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และทุกเช้าพระภิกษุจากวัดบริเวณใกล้เคียงจะออกบิณฑบาตโดยใช้เรือลำเล็ก ๆ เป็นพาหนะ นับเป็นภาพชีวิตแบบไทยที่นับวันจะหาดูได้ยาก การเดินทางไปยังตลาดน้ำบางคูเวียงสามารถเดินทางไปได้หลายทาง ดังนี้
1. โดยเรือโดยสารจากท่าน้ำวัดชะลอ อำเภอบางกรวย ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ค่าโดยสารคนละ 5 บาท เรือจะออกทุก ๆ 15 นาที ระหว่างเวลา 05.00-20.00 น.
2. โดยเรือโดยสารจากท่าน้ำนนทบุรี (ท่าพิบูลสงคราม 2) ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ค่าโดยสารคนละ 5 บาท กรณีเช่าเรือเหมาลำใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ค่าเช่าประมาณ 300 บาท
3. โดยเช่าเรือจากท่าช้าง กรุงเทพฯ ใช้เส้นทางคลองบางกอกน้อย-คลองอ้อมตลาดน้ำ บางคูเวียง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่าเช่าเรือประมาณ 300 บาท

สถานที่ที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบางใหญ่

วัดอัมพวัน เดิมชื่อ วัดบางม่วง เป็นวัดสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายประมาณรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ตั้งอยู่ริมคลองแม่น้ำอ้อม ตำบลบางม่วง สิ่งที่น่าสนใจของวัดนี้คือ หอไตรกลาง-น้ำ เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สมบูรณ์ที่สุด เป็นเรือนไม้ตั้งอยู่ในสระน้ำขนาดเล็ก ตัวหอเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างโล่งไม่มีพื้นและฝา ชั้นบนเป็นตัวหอขนาด 2 ห้อง ช่วงล่างเป็นลูกฟักกระดานดุน ตอนบนเป็นซี่ลูกกรงไม้กลึงเสากรอบประตูเป็นเสาหัวเม็ด ประตูหูข้าง เครื่องลำยองเป็นไม้จำหลัก หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีปีกนก 1 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาใต้เชิงชาย และหน้าบันประดับไม้สลักลายรดน้ำ ฝาผนังด้านนอกทาสีลูกฟักด้วยสีแดง ขอบขาว ตัวไม้เครื่องบันอื่นๆ ทาสีขาว ตัดเหลี่ยมสีแดง เสาลงพื้นสีขาวเขียนลายแดง หน้าบานประตูเข้าในหอไตรเป็นบานไม้ลงรักปิดทองลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และประจำยามก้านแย่ง อกเลาเป็นไม้จำหลักลายดอกพุดตานลูกฟัก เหนือประตูเป็นภาพนกข้างละตัว เหนือขึ้นไปเป็นภาพพระอาทิตย์ พระจันทร์ ในห้องสะกัดท้ายหอไตรเป็นที่เก็บพาน ตะลุ่ม และ ฐานพระพุทธรูปไม้จำหลักเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีมณฑปพระพุทธบาท ภายในมีพระพุทธบาทจำลองทำด้วยโลหะประดิษฐานอยู่บนฐานปูน และศาลาท่าน้ำที่งดงามมาก การเดินทางเข้าถึงวัดอัมพวันสามารถเดินทางได้ทั้งทางน้ำและทางบก ดังนี้
 ทางน้ำ โดยนั่งเรือโดยสารเป็นเรือหางยาว จากท่าเรือบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบางใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ค่าโดยสาร คนละ 5 บาท
 ทางรถ โดยใช้เส้นทางถนนวงแหวนรอบนอกบางบัวทอง-ตลิ่งชัน แยกซ้ายมือที่ตำบลบางม่วง

ตัวอย่างแนะนำรายการท่องเที่ยว รายการที่ 1

06.00 น. - ออกเดินทางจากท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี (ท่าน้ำพิบูลสงคราม) ชมทิวทัศน์ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าอำเภอเมือง เลี้ยวขวาเข้าคลองบางกรวย ชมทิวทัศน์ 2 ฝั่งคลองบางกรวยและคลองบางกอกน้อย สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนริมคลอง ซึ่งเป็นคลองที่สะอาดน้ำเปี่ยมฝั่ง และภาพพระภิกษุพายเรือ ออกบิณฑบาตตามบ้านต่าง ๆ ตลอดแนว 2 ฝั่งคลอง
06.45 น. - ถึงตลาดน้ำบางคูเวียง ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย แวะชมการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งชาวบ้านจะนำผลไม้ตามฤดูกาลอาหารแห้งและสินค้าอื่นๆ บรรทุกเรือมาขายกันที่นี่ รับประทานอาหารเช้าที่ตลาดน้ำแห่งนี้ แล้วเดินทางต่อไปยังวัดอัมพวัน ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ เพื่อชมศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ก่ออิฐสอดินยอด 7 ชั้น ประดับลายปูนปั้น ย่อมุมไม้ 20 แล้วเดินทางต่อ
08.00 น. - ถึงสวนทุเรียนของนางไสว ทัศนียเวศน์ เลขที่ 55/2 หมู่ 6 ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมือง ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดขวัญเมืองชมสวนทุเรียนพันธุ์ ก้านยาว หมอนทอง กบ และรวง รวมทั้งมังคุด มะไฟ และซื้อกลับบ้าน
09.15 น. - กลับถึงท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี
หมายเหตุ… ค่าเช่าเรือหางขาวขนาดจุ 10 คน ประมาณ 500 บาท

ตัวอย่างแนะนำรายการท่องเที่ยว รายการที่ 2

08.00 น. - ออกเดินทางจากท่าเรือวัดสนามเหนือ นั่งเรือข้ามฟากไปเกาะเกร็ดขึ้นเรือที่ท่าวัดปรมัยยิกาวาส ชมวัดปรมัยยิกาวาสซึ่งเป็นวัดมอญ ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม เจดีย์ทรงรามัญ พิพิธภัณฑ์เก็บของใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5
09.00 น. - เดินทางด้วยเท้าไปตามทางเท้ารอบเกาะ โดยหันหน้าไปทางหน้าวัดเพื่อเลี้ยวซ้ายประมาณ 100 เมตร แวะชมศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี (ศูนย์เครื่องปั้นดินเผาพื้นบ้าน)
09.30 น. - เดินทางต่อไปยังหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา กระถาง ครก ฯลฯ ชมขั้นตอนวิธีการปั้นตั้งแต่การเตรียมดิน ปั้น และนำเข้าเตาเผา และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กลับบ้าน
10.00 น. - เดินต่อไปวัดไผ่ล้อมซึ่งเป็นวัดมอญสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลายหน้าบันจำหลักไม้ เป็นลายดอกไม้สวยงาม และเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
หมายเหตุ… มีที่จอดรถที่วัดสนามเหนือซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับวัดปรมัยยิกาวาส โดยเลี้ยวซ้ายเข้าซอยข้างห้างเจซี

ตัวอย่างแนะนำรายการท่องเที่ยว รายการที่ 3

08.00 น. - ออกเดินทางจากสะพานพระราม 6 ไปวัดเขมาภิรตาราม ซึ่งเป็นวัดที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชมพระประธาน โบสถ์ศิลปสมัยอยุธยา พระมหาเจดีย์ซึ่งบรรจุพระธาตุแท้ พระตำหนักแดงสร้างด้วยไม้ สถาปัตยกรรมไทยสวยงาม
09.00 น. - ถึงวัดโชติการามซึ่งเป็นวัดในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ชมพระอุโบสถฐานอ่อนโค้งทรงสำเภา ลายหน้าบันจำหลักไม้รูปเสี้ยวกาง
09.30 น. - ถึงวัดปราสาทซึ่งสร้างในสมัยอยุธยา ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติ ฝีมือสกุลช่างชั้นสูงของนนทบุรี และโบสถ์ทรงหลังคาอ่อนโค้งแบบเรือสำเภา
10.30 น. - ถึงแหล่งเพาะพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับพุทธรักษา กล้วยบัวปักษาสวรรค์ ชมและเลือกซื้อพันธุ์ไม้ที่สวนพุทธสุทธิพันธ์ เลขที่ 102/5 หมู่ 7 ตำบลมหาสวัสดิ์
11.00 น. - เดินทางต่อไปยังถนนสายดอกไม้ (ถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี) แหล่งเพาะและจำหน่ายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับแหล่งใหญ่ของนนทบุรี ชมและเลือกซื้อพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับกลับบ้าน

ตัวอย่างแนะนำรายการท่องเที่ยว รายการที่ 4

08.00 น. - ออกเดินทางจากอำเภอปากเกร็ดไปวัดตำหนักใต้ อำเภอท่าทราย ถนนสนามบินเป็นวัดเก่าแก่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ พระประธานปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย
08.30 น. - ถึงวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ชมบริเวณวัดอันเงียบสงบร่มรื่นไปด้วยหมู่แมกไม้และสนทนาธรรมกับพระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทภิกขุ) เฉพาะวันอาทิตย์และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
10.00 น. - ถึงสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่มีบึงน้ำขนาดใหญ่บริเวณร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่สวนหย่อม น้ำพุกลางน้ำ และนาฬิกาแดดอันสวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ โดยสามารถนำอาหารไปรับประทานแบบปิคนิคได้





แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่นนทบุรี