แผนที่นครราชสีมา

  • แผนที่นครราชสีมา
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

นครราชสีมา หรือที่เรียกว่า “โคราช” เปรียบเสมือนเป็นเมืองหน้าด่านสู่ภาคอีสาน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 259 กิโลเมตร เป็นเมืองแห่งวีรกรรม อันกล้าหาญ ของวีรสตรีไทย คือ คุณหญิงโม หรือท้าวสุรนารี และยังเป็นเมืองใหญ่ ที่สำคัญยิ่ง ในสมัยโบราณ โดยมีฐานะเป็นเมือง “เจ้าพระยามหานคร” เช่นเดียวกับ เมืองนครศรีธรรมราช ทางใต้ มีอำนาจปกครอง หัวเมืองน้อยใหญ่ ในอีสานหลายแห่ง เคยเป็นที่ตั้ง ของชุมชนโบราณหลายแห่ง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ที่มีการเผยแพร่ ของวัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมแบบขอม เข้ามาในดินแดนแถบนี้

จังหวัดนครราชสีมามีเนื้อที่ประมาณ 20,494 ตารางกิโลเมตร หรือ 12,808,728 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย สภาพพื้นที่มีทั้งบริเวณที่สูงทางตอนกลาง พื้นที่ลูกคลื่นและที่ราบลุ่มทางตอนเหนือ และบริเวณเทือกเขาและที่สูงทางตอนใต้ของจังหวัด อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสายที่ไหลไปทางตะวันออกของภูมิภาค มีแม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำลำเชียงไกร ลำแซะ ลำพระเพลิง ลำตะคอง และลำปลายมาศจาก หลักฐานทางโบราณคดี ที่พบอยู่ทั่วไป ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ทำให้เชื่อได้ว่าบริเวณนี้ เคยมีชุมชนโบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ก็ยังคงความเจริญรุ่งเรืองมาตลอดตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยมีศูนย์กลาง ความเจริญอยู่ที่เมืองเสมา เป็นเมืองใหญ่อยู่ในบริเวณที่เป็น อำเภอสูงเนิน ในปัจจุบันต่อมา ในสมัยขอมเรืองอำนาจ มีการสร้างเมืองโคราฆะปุระ หรือเมืองโคราช ขึ้นในบริเวณใกล้เคียง และมีเมืองพิมายเป็นเมืองใต้ปกครองที่สำคัญ จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ โดยเอาชื่อเมืองเสมากับเมืองโคราฆะปุระมาผูกกันเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่า “เมืองนครราชสีมา” แต่คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า “เมืองโคราช” โคราชมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ จนมีฐานะเป็นเมืองเจ้าพระยามหานคร และเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ได้ก่อการกบฏ ยกกองทัพมาตีเมืองนครราชสีมา และกวาดต้อนพลเมืองกลับไปเป็นเชลย คุณหญิงโม ภริยาปลัดเมืองนครราชสีมาในขณะนั้น ได้คิดอุบายแสร้งทำกลัวและประจบเอาใจทหารลาว จนกระทั่งเมื่อขบวนเชลยถูกกวาดต้อนมาหยุดพักที่ทุ่งสัมฤทธิ์ในเขตอำเภอพิมาย เมื่อสบโอกาส คุณหญิงโมก็นำทัพชาวเมืองโจมตีกองทหารเวียงจันทน์จนแตกพ่ายไป วีรกรรมอันหาญกล้าของคุณหญิงโมในครั้งนี้เป็นที่เลื่องลือและสรรเสริญไปทั่ว ต่อมารัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาฐานันดรศักดิ์ให้คุณหญิงโมเป็น “ท้าวสุรนารี” โคราชมีความเจริญรุ่งเรืองต่อมาจนกลายเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลาง จนในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งมณฑลนครราชสีมาขึ้นเป็นมณฑลแรกของประเทศ เพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองในบริเวณใกล้เคียง ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาเป็น เมืองศูนย์ราชการที่สำคัญ รองจากกรุงเทพมหานคร และเป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆ ของภูมิภาค รวมทั้งเป็นที่ตั้งของกองกำลังรบหลัก ของกองทัพบกและกองทัพอากาศด้วย

จังหวัดนครราชสีมาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 32 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง อำเภอคง อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอจักราช อำเภอโชคชัย อำเภอด่านขุนทด อำเภอโนนไทย อำเภอโนนสูง อำเภอขามสะแกแสง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอประทาย อำเภอปักธงชัย อำเภอพิมาย อำเภอห้วยแถลง อำเภอชุมพวง อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอสีคิ้ว อำเภอปากช่อง อำเภอหนองบุญมาก อำเภอแก้งสนามนาง อำเภอโนนแดง อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองยาง อำเภอบัวลาย อำเภอสีดา อำเภอเทพารักษ์ อำเภอพระทองคำ และอำเภอลำทะเมนชัย

ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดชัยภูมิ และขอนแก่น
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดชัยภูมิ และสระบุรี

การเดินทาง

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา

ทางรถยนต์

ทางรถยนต์ สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง

1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จนถึงจังหวัดสระบุรี บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา เป็นเส้นทางที่นิยมที่สุด

2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านเขตมีนบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม กบินทร์บุรี วังน้ำเขียว ปักธงชัย ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 273 กิโลเมตร

3. ใช้ทางหลวงหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก) จนถึงจังหวัดนครนายก แยกใช้ทางหลวงหมายเลข 33 ไปจนถึงอำเภอกบินทร์บุรี แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านวังน้ำเขียว ปักธงชัย ไปจนถึงจังหวัดนครราชสีมา

ทางรถประจำทาง

รถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ไปนครราช สีมา ทุกวัน รายละเอียดสอบถาม โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมาทุกวัน รายละเอียดสอบถามที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

ทางเครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเที่ยวบินไปจังหวัดนครราชสีมาทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ โทร. 02-356-1111 มีสายการบินขนาดเล็ก 32 ที่นั่ง Happy Air ยินตรงจากนครราชสีมา - เชียงใหม่ , นครราชสีมา - กรุงเทพฯ และ นครราชสีมา - ภูเก็ต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.happyair.co.th โทร. 0 7632 7777 - 8 , 08 -6470 -5064

การเดินทางภายในนครราชสีมา

ในตัวจังหวัดนครราชสีมามีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถแท็กซี่มิเตอร์ มีจุดจอดอยู่ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 และศูนย์การค้าเดอะมอลล์นครราชสีมา

รถสองแถว มีวิ่งบริการภายในเขตเทศบาลและบริเวณใกล้เคียง รวมถึงไปยังอำเภอต่างๆ หลายสาย นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

ระยะทางจากอำเภอเมืองนครราชสีมาไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอเฉลิมพระเกียรติ 18 กิโลเมตร

อำเภอขามทะเลสอ 22 กิโลเมตร

อำเภอโนนไทย 29 กิโลเมตร

อำเภอโนนแดง 30 กิโลเมตร

อำเภอโชคชัย 31 กิโลเมตร

อำเภอปักธงชัย 34 กิโลเมตร

อำเภอสูงเนิน 36 กิโลเมตร

อำเภอโนนสูง 37 กิโลเมตร

อำเภอพระทองคำ 37 กิโลเมตร

อำเภอจักราช 40 กิโลเมตร

อำเภอสีคิ้ว 45 กิโลเมตร

อำเภอขามสะแกแสง 50 กิโลเมตร

อำเภอหนองบุนนาก 52 กิโลเมตร

อำเภอครบุรี 58 กิโลเมตร

อำเภอพิมาย 60 กิโลเมตร

อำเภอห้วยแถลง 65 กิโลเมตร

อำเภอวังน้ำเขียว 70 กิโลเมตร

อำเภอคง 79 กิโลเมตร

อำเภอด่านขุนทด 84 กิโลเมตร

อำเภอบ้านเหลื่อม 85 กิโลเมตร

อำเภอปากช่อง 85 กิโลเมตร

อำเภอสีดา 85 กิโลเมตร

อำเภอเสิงสาง 88 กิโลเมตร

อำเภอเทพารักษ์ 90 กิโลเมตร

อำเภอประทาย 97 กิโลเมตร

อำเภอชุมพวง 98 กิโลเมตร

อำเภอบัวใหญ่ 101 กิโลเมตร

อำเภอบัวลาย 106 กิโลเมตร

อำเภอเมืองยาง 110 กิโลเมตร

อำเภอแก้งสนามนาง 130 กิโลเมตร

อำเภอลำทะเมนชัย 130 กิโลเมตร

งานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี เป็นงานประจำปีของจังหวัด กำหนดจัดระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 3 เมษายน ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันที่คุณหญิงโมได้รับชัยชนะจากข้าศึก ในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมการออกร้านจัดนิทรรศการต่างๆ ของหน่วยราชการและภาคเอกชน
 งานประเพณีแข่งเรือพิมาย เป็นงานประเพณีที่ชาวอำเภอพิมายร่วมกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมากว่าร้อยปีแล้ว โดยจะจัดช่วงใกล้เทศกาลออกพรรษา ในปัจจุบันถือเอาวันเสาร์และวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันจัดงานทุกปี งานนี้นอกจากจะมีการแข่งเรือของชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอพิมายและอำเภอใกล้เคียงแล้ว ยังมีการตกแต่งเรือตามแบบเรือพระราชพิธี พร้อมประกวดการแห่เรือด้วย ซึ่งนับว่าเป็นงานที่น่าชมมาก
งานเทศกาลเที่ยวพิมาย จจัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดนครราชสีมา คือ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดียวกับงานประเพณีแข่งเรือพิมาย ภายในงานมีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การแข่งเรือยาวประเพณี การแสดงทางวัฒนธรรม ขบวนแห่พุทธราชาและพุทธประวัติ ขบวนแห่พุทธประทีปและการแสดงประกอบแสงเสียง

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

  อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 ตั้งอยู่หน้าประตูชุมพล ซึ่งเป็นประตูเมืองเก่าทางด้านทิศตะวันตก อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง สูง 2.5 เมตร แต่งการด้วยเครื่องยศพระราชทาน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ ฐานอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง
ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า คุณหญิงโม เป็นภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา ท่านให้สร้างวีรกรรมไว้ให้แก่ประเทศชาติเมื่อ ปี พ.ศ. 2369 โดยสามารถรวบรวมชาวบ้านเข้าสู้รบและต่อต้านกองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ไม่ให้มาตีกรุงเทพฯ เป็นผลสำเร็จ พระบาmสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี และเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของท่าน ชาวเมืองนครราชสีมาได้พร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารีขึ้น ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน ของทุกปี
ประตูชุมพล เป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันตกของเมืองนครราชสีมา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองนครราชสีมาในสมัยนั้นมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบด้วยคูน้ำและกำแพง มีประตูเมืองสี่ประตู ปัจจุบันคงเหลือเพียงประตูชุมพลทางด้านทิศตะวันตกที่เป็นประตูเดิม ส่วนอีกสามประตูอันได้แก่ ประตูพลแสนด้านทิศเหนือ ประตูพลล้านด้านทิศตะวันออก และประตูชัยณรงค์ด้านทิศใต้ ได้สร้างขึ้นใหม่แทนของเดิม
ศาลเจ้าหลักเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนจอมพล มุมวัดพระนารายณ์มหาราช เป็นที่ประดิษฐานหลักเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ชาวเมืองทั้งชาวไทยและชาวจีนเคารพนับถือและไปสักการะบูชาเป็นประจำ
ศาลเจ้าหลักช้างเผือก ตั่งอยู่ริมคูเมืองด้านทิศเหนือ ตรงมุมถนนมนัสตัดกับถนนพลแสนในอำเภอเมือง เป็นศาลเจ้าสร้างครอบหลักตะเคียนหินซึ่งเดิมเป็นหลักที่ชาวเมืองภูเขียวนำช้างเผือกมาผูกไว้ เพื่อให้พนักงานกรมคชบาลตรวจดูลักษณะช้าง ก่อนกราบทูลถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อทรงรับไว้เป็นพระราชพาหนะ
ศูนย์วัฒนธรรมสถาบันราชภัฏนครราชสีมา ตั้งอยู่ในบริเวณสถาบันราชภัฏนครราชสีมา ถนนสุรนารายณ์ เป็นสถานที่รวบรวมภาพและประวัติโบราณสถาน ประวัติศาสตร์ รูปภาพศิลปะ ของใช้สมัยโบราณและเงินตราต่างๆเปิดให้ชมในวันและเวลาราชการ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสุทธิจินดาตรงข้ามศาลากลางจังหวัด มีศิลปวัตถุทั้งที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธิจินดารวบรวมไว้ โบราณวัตถุที่กรมศิลปากรได้สำรวจขุดพบในเขตจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง และที่มีผู้บริจาค เช่น พระพุทธรูปศิลาสมัยขอม สมัยอยุธยา เครื่องเคลือบดินเผาขนาดต่างๆ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ เครื่องใช้สมัยโบราณ ภาพไม้แกะสลักซึ่งนำมาจากวัดโบราณ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์, วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนไทย คนละ 5 บาท ชาวต่างประเทศ คนละ 20 บาท
 วัดเก่าแก่ของเมืองโคราช ได้แก่ วัดบูรพ์ วัดอีสาน วัดพายัพ ตั้งอยู่ในตัวเมืองเก่า ณ ทิศตามชื่อวัด วัดกลางอยู่กลางเมือง ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชื่อ วัดพระนารายณ์มหาราช นอกจากนี้ยังมีวัดสระแก้ว วัดบึงอยู่ริมบึงใหญ่ วัดแจ้ง วัดสมอราย และวัดสามัคคี วัดทั้งหมดนี้เป็นวัดโบราณคู่บ้านคู่เมืองสมัยเริ่มสร้างเมืองโคราช ทุกวัดอยู่ในเขตอำเภอเมือง เป็นที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยมชมของโบราณ
วัดศาลาลอย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง ทางเข้าแยกจากถนนรอบเมืองเข้าไปประมาณ 500 เมตร อยู่ติดกับลำตะคอง ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำมูล มีพระอุโบสถเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี และพระอุโบสถหลังใหม่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นลักษณะศิลปะไทยประยุกต์ โดยสร้างเป็นรูปสำเภาโต้คลื่น ใช้วัสดุพื้นเมือง คือใช้กระเบื้องดินเผาด่านเกวียน วัดนี้ได้รับรางวัลดีเด่นแนวบุกเบิกอาคารทางศาสนา จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป ในปี พ.ศ. 2516
 วัดศาลาทอง ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวทะเล ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 1 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุอยู่ในพระเจดีย์องค์เล็ก ปัจจุบันได้ก่อพระเจดีย์ใหญ่ครอบองค์เดิมไว้
วัดป่าสาละวัน อยู่หลังสถานีรถไฟนครราชสีมา เป็นวัดที่เก็บพระอัฐิธาตุของอาจารย์เสา อาจารย์มั่น และอาจารย์ทิม
อนุสาวรีย์สถานนางสาวบุญเหลือ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมือง 12.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายนครราชสีมา-ชัยภูมิ ชาวนครราชสีมาได้ร่วมสร้างขึ้น และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2529 เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือและเหล่าบรรพบุรุษของชาวนครราชสีมา ที่ได้พลีชีพเพื่อปกป้องชาติเมื่อครั้งวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ในปี พ.ศ. 2369 นับเป็นอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่งที่ชาวนครราชสีมาให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างสูง
ปราสาทหินพนมวัน ตั้งอยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลโพธิ์ เดินทางไปตามถนนสายโคราช-ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาไปตามทางราดยางอีก 5 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานสมัยขอม สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อเป็นเทวสถาน ต่อมาภายหลังดัดแปลงเป็นพุทธสถานตัวปราสาทหินพนมวัน สร้างเป็นปรางค์มีฉนวน (ทางเดิน) ติดต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาว 25.50 เมตร กว้าง 10.20 เมตร พระปรางค์มีประตูซุ้ม 3 ด้าน ซุ้มประตูด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประธานอภัย 1 องค์ ลักษณะศิลปะแบบอยุธยา รอบปราสาทเป็นลานกว้างมีระเบียงคดก่อด้วยหินกว้าง 54 เมตร ยาว 63.30 เมตร ประกอบด้วยประตูทางเข้า 4 ทิศ ปราสาทแห่งนี้เป็นโบราณสถานที่น่าชม น่าศึกษาแห่งหนึ่ง
วัดปรางค์ ตั้งอยู่ที่บ้านพุดชา ห่างจากตัวเมือง 25 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (โคราช-ขอนแก่น) ถึงสี่แยกจอหอเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 205 เป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2189 อีก 10 กิโลเมตร ภายในวัดมีปรางค์สมัยขอม รูปสี่เหลี่ยม จัตุรัสก่อด้วยอิฐ ส่วนยอดได้รับการดัดแปลงในสมัยหลังเป็นรูปกรวยสี่เหลี่ยมแบบเจดีย์ล้านช้าง องค์ปรางค์มีประตูเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีทับหลังหินทรายสลักลวดลายเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอยู่เหนือประตู เป็นศิลปะเขมรแบบบันทายศรี อายุราวต้นศตวรรษที่ 16 ภายในเรือนธาตุมีจิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันลบเลือนเกือบหมดแล้ว
สวนแก้ว อยู่ริมถนนสายโคราช-ปักธงชัย ห่างจากตัวจังหวัดไปประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดนครราชสีมา อัตราค่าเข้าชมสวนแก้ว เด็ก 5 บาท ผู้ใหญ่ 10 บาท
สวนสัตว์นครราชสีมา อยู่ห่างจากตัวเมือง 13 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 โคราช-ปักธงชัย ระยะทาง 12 กิโลเมตรเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2310 ไปอีก 1 กิโลเมตร เป็นสวนสัตว์แบบกึ่งเปิดและปิด พื้นที่กว่า 500 ไร่ สัตว์ป่าที่น่าสนใจ ได้แก่ กระทิง เนื้อทราย ละอง ละมั่ง ค่าง งู แมวป่า นก กระเรียน นกยูงไทย และนกยูงอินเดีย เป็นต้น เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00-16.30 น.

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปากช่อง

 วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ตั้งอยู่บริเวณเขาสีเสียดอ้า ตำบลกลางดง ทางฝั่งขวาของทางหลวงหมายเลข 2 บนถนนมิตรภาพ หลักกิโลเมตรที่ 150 มีทางแยกเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร เป็นถนนราดยาง ที่วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปปางสมาธิสีขาวองค์ใหญ่ ชื่อว่า พระพุทธสกลสีมามงคล สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก โดดเด่นอยู่บนยอดเขาแลเห็นได้แต่ไกล
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา นครนายก สระบุรี และปราจีนรี เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 206 กิโลเมตร หรืออยุ๋ห่างจากนครราชสีมา 115 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ถึงหลักกิโลเมตรที่ 165 แยกเข้าถนนธนรัชต์ไปที่ทำการอุทยานฯ เป็นระยะทางอีก 40 กิโลเมตร หากเดินทางมาทางด้านนครนายกหรือปราจีนบุรีมีทางแยกจากทางหลวงหมายเลข 33 บริเวณสี่แยกเนินหอมไปยังที่ทำการอุทยานฯ เป็นระยะทางอีก 40 กิโลเมตร สำหรับนักท่องเที่ยวที่โดยสารรถประจำทางจากกรุงเทพฯ ให้ลงที่อำเภอปากช่องแล้วต่อรถสองแถวซึ่งวิ่งบริการตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. ระหว่างปากช่องและด่านตรวจเขาใหญ่หรือจะเช่าเหมาสองแถวจากปากช่องขึ้นเขาใหญ่ก็ได้
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเนื้อที่ 2,168 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นน้ำสสายสำคัญ คือ ลำตะคอง และแม่น้ำนครนายก อากาศจัดอยู่ในประเภทเย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส สภาพป่าและพืชพันธุ์แบ่งเป็น 5 ลักษณะ คือ ป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้าและป่าละเมาะ สัตว์ป่าที่พบคือ ช้างป่า กระทิง เก้ง เสือ หมีควาย และหมาป่า เป็นต้น นกมีอยู่หลายชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกย้ายถิ่น โดยเฉพาะนกเงือกที่เป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดในอุทยานนี้ พบมากในเดือนสิงหาคมและกันยายน นอกจากนี้มีสัตว์จำพวกแมลง เช่น ผีเสื้อชนิดต่างๆ ทางอุทยานได้สร้างหอดูสัตว์ไว้ที่หนองผักชี หนองขิง และมอสิงโต รวมทั้งจัดกิจกรรมส่องสัตว์ในเวลากลางคืน นอกจากนี้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวยังมีการจัดนิทรรศการสัตว์ป่า มีสัตว์สต๊าฟชนิดต่างๆ ที่พบในบริเวณเขาใหญ่จัดแสดงให้ชม อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีน้ำตกกว่า 20 แห่ง น้ำตกที่สามารถเดินทางเข้าถึงได้ง่าย ได้แก่ น้ำตกเหวสุวัต น้ำตกเหวไทร น้ำตกเหวประทุน น้ำตกกองแก้ว และน้ำตกเหวนรก ส่วนน้ำตกอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกผากล้วยไม้ น้ำตกผาตะแบก น้ำตกวังเหว น้ำตกเหวอีอ่ำ ฯลฯ ต้องเดินเท้าเป็นระยะทางไกล อุทยานฯ มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ ส่วนอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 นอกจากนี้ยังมีเต็นท์ให้เช่า ร้านอาหารและบริการเช่าไปสถานที่ต่างๆ ในอุทยานฯ อีกด้วย

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสีคิ้ว

เขื่อนลำตะคอง อยู่ที่ตำบลลาดบัวขาว ห่างจากตัวจังหวัด 62 กิโลเมตร มีทางแยกจากทางหลวงหมายเลข 2 บริเวณกิโลเมตร ที่ 193-194 ไปประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2507 สร้างกั้นลำตะคองที่ช่องเขาเขื่อนลั่นและช่องเขาถ่านเสียด พื้นที่เหนือเขื่อนเป็นอ่างเก็บน้ำมีธรรมชาติสวยงาม
วัดเขาจันทร์งาม ตั้งอยู่ที่บ้านเลิศสวัสดิ์ เดินทางจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2 ประมาณ 58 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายที่กิโลเมตรที่ 198 ไปอีก 3 กิโลเมตร มีภาพเขียนสีโบราณบนเพิงผาหินด้านหลังวัด มีทั้งภาพลงสีแบบเงาทึบและภาพร่างเป็นรูปคนและสัตว์ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ราว 3,000-4,000 ปีมาแล้ว
แหล่งหินตัด ตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) บริเวณกิโลเมตรที่ 207 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 50 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือบริเวณแหล่งหินตัดเป็นเนินเขาที่มีหินทรายสีขาวอยู่ทั่วบริเวณ ปรากฏร่องรอยการสกัดหินเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ และยังทิ้งร่องรอยของคมสิ่วที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสกัด สันนิษฐานว่าเดิมคงจะนำหินทรายบริเวณนี้ไปสร้างปราสาทหินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น ปราสาทเมืองแขก ปราสาทโนนกู่ ปราสาทหินเมืองเก่า ในอำเภอสูงเนิน ซึ่งห่างออกไป 20 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสูงเนิน

   เมืองโบราณที่ตำบลโคราช หรือเมืองโคราชเก่า มีโบราณสถานเหลืออยู่ให้เห็น 3 แห่งด้วยกัน คือ ปราสาทโนนกู่ ปราสาทเมืองแขก และปราสาทเมืองเก่า การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ไปจนถึงกิโลเมตร ที่ 221-222 เลี้ยวขวาไปตามทางเข้าสู่อำเภอสูงเนิน 2.7 กิโลเมตร จะพบทางแยกขวามือตรงมุมวัดญาณโศภิตวนาราม (วัดป่าสูงเนิน) ซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่เมืองโบราณโคราช รวมระยะทางห่างจากตัวเมืองประมาณ 32 กิโลเมตร เมืองโบราณที่ตำบลโคราช ประกอบด้วย
-ปราสาทโนนกู่ ตั้งอยู่ที่บ้านกกกอก หมู่ที่ 7 ตำบลโคราช ห่างจากแยกวัดญาณโศภิตวนาราม 3 กิโลเมตร เป็นศาสนสถานแบบศิลปะเขมร ก่อด้วยอิฐปนหินทราย ประกอบด้วยปรางค์หลังเดี่ยวบนฐานสูง ด้านหน้ามีวิหารหันเข้าหาปรางค์ประธานอยู่ 2 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นทางเข้า-ออก และที่ลานระหว่างวิหารทั้งสองนั้นพบโคนนทิหมอบในอาการเคารพปราสาทประธาน อันเป็นที่สถิตของพระศิวะมหาเทพ ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู ในราวพุทธศตวรรษที่ 16
- ปราสาทเมืองแขก ตั้งอยู่ที่บ้านกกกอก หมู่ที่ 7 ตำบลโคราช อยู่เลยปราสาทโนนกู่ไปประมาณ 600 เมตร ปราสาทเมืองแขกเป็นศาสนสถานแบบศิลปะเขมร ก่อด้วยอิฐปนหินทราย ประกอบด้วยปรางค์ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ปัจจุบันเหลือเพียงมณฑปด้านหน้าล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและคูน้ำคั่นดินอีกชั้นหนึ่ง มีซุ้มประตูทิศเหนือเป็นทางเข้า-ออก นอกประตูซุ้มบนคันดินชั้นนอกสุด มีซากปราสาทขนาดย่อมอีกสองหลัง หน่วยศิลปากรได้ทำการขุดแต่งปราสาทเมืองแขกซึ่งได้พบทับหลังสลักลายตามแบบศิลปะเขมรสมัยเกาะแกร์แปรรูป รวมทั้งศิลาจารึกที่ถูกนำมาก่อเป็นฐานประตูซุ้มชั้นนอกสุด
- ปราสาทเมืองเก่า ตั้งอยู่ในวัดปราสาทเมืองเก่า ตำบลโคราช อยู่เลยปราสาทเมืองแขกไปอีกประมาณ 3.3 กิโลเมตร เป็นอโรคยาศาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเขมร ทรงสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1724-1763 อโรคยาศาลมีแผนผังประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีบรรณาลัยอยู่ทางมุมขวาด้านหน้า ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วซึ่งมีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ด้านหน้า นอกกำแพงมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมกรุด้วยศิลาแลง
เมืองเสมา เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ที่ตำบลเสมา ห่างจากนครราชสีมาประมาณ 37 กิโลเมตร จากตลาดอำเภอสูงเนิน เดินทางข้ามลำตะคองและผ่านบ้านหินตั้งไปจนถึงเมืองเสมาเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร แผนผังเมืองเป็นรูปไข่กว้าง 1,400 เมตร ยาว 2,000 เมตร มีการค้นพบโบราณวัตถุในบริเวณนี้มากมาย ปัจจุบันเหลือให้เห็นเพียงเนินดินเป็นแนวยาวคล้ายกำแพง และพระนอนสมัยทวารวดีที่วัดธรรมจักรเสมาราม เมืองโบราณตำบลเสมา ประกอบด้วย
 - วัดธรรมจักรเสมาราม ตั้งอยู่ที่บ้านคลองขวาง ตำบลเสมา แต่เดิมบริเวณนี้เป็นศาสนสถานในสมัยทวารวดี มีโบราณวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ก่อสร้างด้วยหินทรายแดงที่มีความเก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 13.30 เมตร สูง 2.80 เมตร อายุราว พ.ศ. 1200 และธรรมจักรเก่าแก่ ลักษณะเหมือนเสมาธรรมจักรที่ขุดพบที่จังหวัดนครปฐม หลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ที่ค้นพบบริเวณพระนอนและภายในเมืองเสมา ได้แก่ พระพุทธรูปสำริด ประพิมพ์ดินเผา ลูกปัดแก้ว แวดินเผาที่ใช้ปั่นฝ้าย และจารึกที่บ่ออีกา ซึ่งเป็นศาสนสถานพราหมณ์แบบศิลปะขอม ได้กล่าวถึงอาณาจักรจานาศะ หรือเมืองเสมา ว่ามีการนับถือพุทธศาสนามาแต่เดิม ต่อมาภายหลังได้รับวัฒนธรรมแบบขอมที่บูชาพระศิวะเข้ามาพร้อมกันด้วย
 วัดบ้านไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลกุดพิมาน จากตัวเมืองเดินทางไตามถนนมิตรภาพ ถึงกิโลเมตรที่ 237 แยกขวาผ่านขามทะเลสอและหนองสรวงไปจนถึงอำเภอด่านขุนทด ระยะทาง 60 กิโลเมตร จากด่านขุนทดใช้ทางหลวงหมายเลข 2217 เป็นระยะทางอีก 10 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเป็นสถานที่จำพรรษาของหลวงพ่อคูณ ปริสทฺโธ เกจิอาจารย์ชื่อดัง ในแต่ละวันมีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางมานมัสการหลวงพ่อคูณกันเป็นจำนวนมาก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปักธงชัย

  ปักธงชัย เป็นอำเภอแห่งการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียง อยู่ห่างจากนครราชสีมา 32 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (โคราช-ปักธงชัย-กบินทร์บุรี) มีโรงงานทอผ้าไหมจำนวนมากที่ผลิตผ้าไหมส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
 ศูนย์วัฒนธรรมผ้าไหมปักธงชัย อยู่ในเขตเทศบาลเมืองปักธงชัยบนเส้นทางหลวงหมายเลข 304 กิโลเมตรที่ 107-108 มีการจัดแสดงนิทรรศการกระบวนการเลี้ยงไหมและผลิตผ้าไหมแบบครบวงจร บริเวณด้านหน้าศูนย์มีร้านขายผ้าไหมและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ตัดเย็บจากผ้าไหมจำนวนหลายร้าน
วัดหน้าพระธาตุ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลตะคุ จากทางหลวงหมายเลข 304 บริเวณอำเภอปักธงชัย มีทางแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2236 ไปบ้านตะคุ ระยะทาง 4 กิโลเมตร ประกอบด้วยโบสถ์เก่าแก่ ภายในโบสถ์มีภาพเขียนฝาผนังสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีเจดีย์ศิลปะแบบลาว ซึ่งสร้างโดยชุมชนอพยพจากนครเวียงจันทน์และหอไตรกลางน้ำ ซึ่งมีภาพลายรดน้ำที่บานประตู เป็นลวดลายวิจิตรสวยงามมาก กรมศิลปากรเคยนำไปแสดงที่กรุงเทพฯ
 เขื่อนลำพระเพลิง อยู่ในเขตอำเภอปักธงชัย โดยเดินทางไปตามทางสาย 304 ผ่านทางเข้าอำเภอปักธงชัยไป 4 กิโลเมตร จะพบสี่แยกเลี้ยวขวามือเข้าไปเป็นระยะทาง 28 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวเขื่อน ซึ่งเป็นสถานที่เหมาะสำหรับพักผ่อนและเช่าเรือชมอ่างเก็บน้ำ
น้ำตกปักธงชัย หรือน้ำตก 79 เดินทางจากอำเภอปักธงชัย ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 เป็นระยะทาง 41 กิโลเมตร ถึงหลักกิโลเมตรที่ 64 มีทางลูกรังแยกซ้ายไปอีก 12 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกเป็นโขดหินสลับซับซ้อน น้ำตกลงมาจากผาหลายชั้น หน้าผาที่ใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 50 เมตร มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน
กู่เกษม หรือปราสาทบึงคำ ตั้งอยู่ที่บ้านคลองเตย หมู่ 5 ตำบลสะแกราช จากตัวเมืองเดินทางไปตามทางหลวง 304 ผ่านอำเภอปักธงชัย ตรงไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร ถึงกิโลเมตรที่ 92 มีทางแยกซ้ายไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงบ้านคลองเตย แยกซ้ายอีก 1 กิโลเมตร กู่เกษมเป็นปรางค์หินทรายทั้งองค์ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นด้านหน้า มีประตูเดียว ผนังสองข้างมุขทำเป็นช่องหน้าต่างข้างละ 2 ช่อง ประดับลูกมะหวด ส่วนหลังคาได้หักพังลง ไม่พบร่องรอยการแกะสลักลวดลายตามที่ต่างๆ สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้เป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอโชคชัย

ด่านเกวียน อยู่ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร ตามทางหลวงสาย 224 (โคราช-โชคชัย) ในสมัยโบราณตำบลนี้เป็นที่พักกองเกวียนที่ค้าขายระหว่างโคราช-เขมร มีแม่น้ำมูลไหลผ่าน ชาวบ้านใช้ดินริมฝั่งแม่น้ำมาปั้นภาชนะใช้สอย และได้ทำสืบต่อมาจนปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันด่านเกวียนมีชื่อเสียงมากในฐานะที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้สวยงาม มีรูปแบบที่แปลกและหลากหลาย แต่ยังคงลักษณะดั้งเดิมของกรรมวิธีในการปั้นและใช้ดินดำสัมฤทธิ์ที่มีเอกลักษณ์ของสีเป็นเครื่องปั้นแบบด่านเกวียนโดยเฉพาะไว้ นักท่องเที่ยวนิยมไปชมวิธีการผลิตและซื้อหาเครื่องปั้นดินเผาขนาดต่างๆ อยู่เสมอ
ปราสาทพะโค ตั้งอยู่ที่ตำบลกระโทก จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 224 ประมาณ 29 กิโลเมตร ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2071 อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ปรางค์พะโคเป็นศาสนสถานสมัยขอมก่อสร้างด้วยหินทรายสีขาว ประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถาน 2 หลัง มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปเกือกม้า ทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ได้พบชิ้นส่วนหน้าบัน ประตูหลอกที่แสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรแบบปาปวนในราวพุทธสตวรรษที่ 16 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอครบุรี

  ปรางค์ครบรี ตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านครบุรีนครธรรมโฆสิตวิทยาคาร จากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 244 ผ่านอำเภอโชคชัยตรงข้ามถนนสาย 2071 ถึงกิโลเมตรที่ 20 มีทางแยกขวาไปอีก 5 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมือง 55 กิโลเมตร ปรางค์ครบุรีเป็นโบราณสถานสมัยขอมที่ใช้เป็น อโรคยาศาล ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นด้านหน้า ด้านหน้าเยื้องไปทางขวามือมีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่า บรรณาลัย มีกำแพงแก้วล้อมรอบโดยมีซุ้มประตูอยู่ตรงทางเข้าด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงที่มุมซ้ายด้านหน้ามีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 1 สระ สิ่งก่อสร้างทั้งหมดเป็นศิลาแลง ยกเว้นเสาประดับประตูทับหลังเป็นหินทราย ชิ้นส่วนเหล่านี้ยังคงเหลือเฉพาะส่วนที่ไม่มีลวดลาย ส่วนที่แกะสลักลวดลายไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอโนนสูง

   แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตั้งอยู่หมูที่ 7 บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท ห่างจากตัวเมือง 45 กิโลเมตร การเดินทางสามารถใช้เส้นทางสายมิตรภาพ จากจังหวัดนครราชสีมาขึ้นเหนือไปจังหวัดขอนแก่น ถึงหลักกิโลเมตรที่ 44 จะมีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำเป็นลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จากการขุดแต่งหลุมทำให้พบโครงกระดูกมนุษย์ที่มีสภาพสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ หันศีรษะไปทางทิศต่างๆ มีการฝังภาชนะดินเผาแบบเคลือบโคลนสีแดง แบบลายเชือกทาบ เครื่องประดับต่างๆ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริด จากหลักฐานที่ได้ค้นพบสันนิษฐานว่า บริเวณบ้านปราสาทมีชุมชนอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ ที่มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ระยะเวลาอยู่ในช่วงระหว่าง 2,500-3,000 ปีมาแล้ว

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอพิมาย

  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา 60 กิโลเมตร ในตัวอำเภอพิมาย เชิงสะพานท่าสงกรานต์ ก่อนถึงปราสาทหินพิมาย 300 เมตร เป็นสถานที่เก็บรวบรวมหลักฐาน และจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองของวัฒนธรรมอีสานในอดีต โดยเฉพาะโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ค้นพบในเขตอีสานตอนล่าง โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่นำมาจัดแสดงได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาโบราณ โครงกระดูก เครื่องมือ เครื่องประดับที่ทำจากสำริดและหิน ส่วนโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ได้แก่ ใบเสมาแบบศิลปทวารวดี ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมแบบเขมร เช่น ทับหลัง หน้าบัน เสาประดับกรอบประตู ทวารบาล และประติมากรรมรูปเคารพ อาทิ พระพุทธรูป เทวรูป รูปพระโพธิสัตว์ และรูปสลักศิลาพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งพบที่ปราสาทหินพิมาย นับเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมของพิพิธภัณฑ์นี้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 20 บาท
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโคราช เป็นระยะทาง 60 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายมิตรภาพ (โคราช-ขอนแก่น) อุทยานประวัติศาสตร์พิมายครอบคลุมพื้นที่เมืองโบราณอันเป็นที่ตั้งของศาสนสถานที่ใหญ่โตและงดงามแห่งหนึ่ง คือ “ปราสาทหินพิมาย” เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์สร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 และมาต่อเติมอีกครั้งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งครั้งนั้นเมืองพิมายเป็นเมืองใหญ่ของขอมบนแผ่นดินที่ราบสูง
ปราสาทหินพิมาย หันหน้าไปทางทิศใต้ อันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งอาณาจักรขอม แผนผังของปราสาทแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ลานชั้นใน ซึ่งล้อมรอบด้วยระเบียงคดหรือกำแพงชั้นใน มีทางเดินกว้าง 2.35 เมตร เดินทะลุกันได้ตลอดทั้งสี่ด้าน หลังคามุงด้วยแผ่นหิน มีปรางค์ประธานสร้างด้วยหินทรายสีขาวตั้งอยู่กลางลาน ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง กว้าง 18 เมตร ความยาวรวมทั้งมุขหน้า 32.50 เมตร หน้าบันและทับหลังส่วนใหญ่สลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามายณะ (รามาวตาร) และกฤษณาวตาร หน้าบันด้านหน้าสลลักเป็นภาพศิวนาฏราช ส่วนทับหลังของประตูห้องชั้นในขององค์ปรางค์สลลักเป็นภาพทางคติพุทธศาสนานิกายมหายาน ด้านหน้าปรางค์ประธานเยื้องไปทางซ้ายและขวามีปรางค์องค์เล็กอีกสองหลัง องค์ทางซ้ายสร้างด้วยศิลาแลง เรียกว่า ปรางค์พรหมทัต มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้าง 14.50 เมตร สูง 11.40 เมตร ปรางค์ทางด้านขวาสร้างด้วยหินทรายสีแดง เรียกว่า ปรางค์หินแดง กว้าง 11.40 เมตร สูง 15 เมตร ถัดจากระเบียงคดออกมาเป็นลานชั้นนอก ล้อมรอบด้วยกำแพงอีกชั้นหนึ่ง ประกอบด้วยอาคารที่เรียกว่า บรรณาลัยสองหลัง ตั้งคู่กันอยู่ทางด้านทิศตะวันตก มีสระน้ำอยู่ทั้งสี่มุม ทางเข้าด้านหน้ากำแพงชั้นนอกมีสะพานนาคราชและประติมากรรมรูปสิงห์ ถัดจากกำแพงชั้นนอกออกไปยังมีกำแพงเมืองล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันมีให้เห็นชัดเจนทางด้านทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเขตกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้ ได้แก่ ท่านางสระผม กุฏิฤาษี และอโรคยาศาล
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาาย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทยคนละ 5 บาท ชาวต่างประเทศคนละ 20 บาท
ไทรงาม ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำมูล บริเวณเขื่อนพิมายก่อนข้ามสะพานท่าสงกรานต์เข้าตัวอำเภอพิมาย จะมีทางแยกไปเขื่อนพิมาย อีก 2 กิโลเมตร ไทรงามแห่งนี้มีอายุประมาณ 350 ปี มีกิ่งก้านสาขามากมาย ให้ความร่มรื่นสวยงาม มีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณประมาณ 15,000 ตารางฟุต เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถเสด็จประพาสเมืองพิมาย เมื่อ พ.ศ. 2454 ไทรงามแห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยว มีร้านอาหารและเครื่องดื่มจำหน่าย โดยเฉพาะผัดหมี่พิมายที่มีรสชาติอร่อยไม่แพ้ก๋วยเตี๋ยวจันทบุรี

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอจักราช

ไทรงาม ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัวรี ตำบลท่าช้าง มีขนาดย่อมกว่าไทรงามที่พิมาย และยังไม่ได้รับการพพัฒนา อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 20 กิโลเมตร ก่อนถึงตัวอำเภอจักราช ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 226 หลักกิโลเมตรที่ 17-18 มีทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าไป 2 กิโลเมตร เส้นทางลูกรังสภาพไม่ดีนัก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบัวใหญ่

 ปรางค์กู่ ตั้งอยู่ในโรงเรียนวัดบ้านกู่ ตำบลดอนตะหนิน จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (สายโคราช-ขอนแก่น) ระยะทาง 67 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตรงตู้ยามตำรวจทางหลวงบ้านโนนตาเถรอีก 7 กิโลเมตร ลักษณะเป็นปรางค์กู่ฐานสี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงวางซ้อนกันจากฐานถึงยอด ภายในบรรจุพระพุทธรูปดินเผา
 ปรางค์สีดา ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์สีดา ตำบลสีดา จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ถึงสี่แยกสีดาเลี้ยวขวาเป็นระยะทาง 1.5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก 1.5 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมืองนครราชสีมา 90 กิโลเมตร มีลักษณะคล้ายปรางค์กู่ที่ตำบลดอนตะหนิน แต่ปรางค์สีดาปิดทึบทั้งสี่ด้าน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอประทาย

  ปราสาทนางรำ ตั้งอยู่ที่บ้านนางรำ ตำบลนางรำ ห่างจากตัวเมือง 79 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหมายเลข 2 ผ่านทางเข้าอำเภอพิมายไปจนถึงแยกบ้านวัด ระยะทาง 62 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าทางหลวง 207 ไปประมาณ 22 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปปราสาทนางรำอีก 4 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมือง 88 กิโลเมตร เป็นอโรคยาศาลที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ประกอบด้วย ปราสาทองค์กลาง มีมุขยื่นออกไปข้างหน้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทมีวิหารก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลง ถัดจากปราสาทนางรำไปทางทิศใต้ 80 เมตร มีปราสาทอีก 3 หลังเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ มีกำแพงศิลาแลงและคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบ

 




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่นครราชสีมา