แผนที่ขอนแก่น

  • แผนที่ขอนแก่น
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ขอนแก่น

ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตรงกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ขอนแก่นจะเป็นบ้านเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อราวสองร้อยกว่าปีมานี้ก็ตาม แต่ในอดีตกาลยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณเขตจังหวัดขอนแก่นเคยมีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ได้เข้ามาอาศัยก่อนแล้ว เช่น การค้นพบแหล่งโบราณคดีที่บ้านโนนนกทา อำเภอภูเวียง พบว่ามีเครี่องปั้นดินเผาที่มีอายุใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง คือมีอายุราว 5,500 ปีมาแล้ว ต่อมาชุมชนเหล่านี้ก็ได้วิวัฒนาการมาสู่ชุมชนแห่งรัฐ และกลายเป็นบ้านเมืองขึ้นในสมัยทวารวดี ก่อนที่ขอมจะมามีอำนาจในดินแดนส่วนนี้ เช่น พบแหล่งโบราณคดีที่วัดศรีเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง ซึ่งปรากฏจารึกศรีเมืองแอมที่ขอมได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนส่วนนี้หรือที่ปรากฏเป็นปรางค์กู่ต่าง ๆ ในเขตจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

ประวัติศาสตร์การสร้างเมืองขอนแก่นได้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2322 ขณะนั้นเมืองเวียงจันทน์ได้เกิดเหตุพิพาทกับกลุ่มของเจ้าพระวอจนถึงกับยกทัพไปตีค่ายของเจ้าพระวอแตกที่บ้านดอนมดแดง (อุบลราชธานีปัจจุบัน) และจับเจ้าพระวอประหารชีวิต สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงถือว่าฝ่ายเจ้าพระวอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพขึ้นไปตีเวียงจันทน์ จากนั้นจึงได้ยกทัพกลับมายังกรุงเทพมหานคร พร้อมกับได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระพุทธปฏิมากร และพระบางกลับมาถวายแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย

เจ้าแก้วบุฮม (แก้วบรม) กับพระยาเมืองแพน (หรือเพี้ยเมืองแพน) สองพี่น้อง ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าแสนปัจจุทุม (ท้าวแสนแก้วบุฮม) ได้ยกกองทัพจากบ้านเพี้ยปู่ เขตแขวงเมืองทุละคม (ธุระคม) ซึ่งขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ในทุกวันนี้ ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานที่อยู่บ้านโพธิ์ตาก (บ้านโพธิ์ตาก ตำบลบ้านกง อำเภอเมืองขอนแก่น) และบ้านยางเดี่ยว บ้านโพธิ์ศรี (บ้านโพธิ์ศรี ตำบลบ้านโนน อำเภอกระนวน) บ้านโพธิ์ชัย (บ้านโพธิ์ชัย อำเภอมัญจาคีรี) เมืองมัญจาคีรีหรืออำเภอมัญจาคีรี ปรากฏอยู่ในทำเนียบมณฑลอุดร กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นชื่อเมืองมัญจาคีรี โดยมีจางวางเอกพระยาพฤติคุณธนเขม (สน สนธิสัมพันธ์) เป็นเจ้าเมืองคนแรกเมื่อ พ.ศ. 2433-2439 เจ้าเมืองคนที่ 2 คือ พระเกษตรวัฒนา (โส สนธิสัมพันธ์) เมื่อ พ.ศ. 2439-2443 และมีปรากฏประวัติเมืองมัญจาคีรีในหนังสือประวัติจังหวัดในประเทศไทย ในห้องสมุดของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บ้านสร้าง บ้านชีโหล่น (อยู่ในเขตเมืองสุวรรณภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดปัจจุบัน)

ในปัจจุบัน บางบ้านก็อยู่ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น บางบ้านก็อยู่ในเขตอำเภอน้ำพอง บางบ้านก็อยู่ในเขตอำเภออาจสามารถ (จังหวัดร้อยเอ็ด) บางบ้านก็อยู่ในเขตจังหวัดยโสธร บางบ้านก็อยู่ที่อำเภอมัญจาคีรี และบางบ้านก็อยู่ที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว (จังหวัดยโสธร) เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตเมืองในสมัยหลัง ๆ ต่อมานั่นเอง

เจ้าแก้วบุฮมได้อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโพธิ์ชัย พระยาเมืองแพนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบ้านชีโหล่น คุมไพร่พลคนละ 500 คน ขึ้นกับเมืองท่งหรือเมืองสุวรรณภูมิ ครั้นต่อมาอีกราว 9 ปี ในปี พ.ศ. 2331 เพี้ยเมืองแพนก็ได้พาราษฎรและไพร่พลประมาณ 330 คน ขอแยกตัวออกจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฝั่งบึงบอน ยกขึ้นเป็นเมืองที่บ้านดอนพยอมเมืองเพี้ย (ปัจจุบันคือ บ้านเมืองเพี้ย ตำบลเมืองเพี้ย อำเภอบ้านไผ่)

บึงบอนหรือดอนพยอมในปัจจุบันได้ตื้นเขินเป็นที่นาไปหมดแล้ว แต่ก็ยังปรากฏเป็นรูปของบึงซึ่งมีต้นบอนขึ้นอยู่มากมาย ต่อมาก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่น ดังปรากฏข้อความในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของหม่อมอมรวงศ์วิจิตรว่า

เอกสารพงศาวดารอีสานฉบับพระยาขัติยวงศา (เหลา ณ ร้อยเอ็ด) ได้กล่าวถึงการตั้งเมืองขอนแก่นว่า

“...ได้ทราบข่าวว่าเมืองแพน บ้านชีโล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ พาราษฎร ไพร่พลประมาณ 330 คน แยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งฝั่งบึงบอนเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น...” ขอนแก่นจึงได้ที่มาว่าเป็นเมืองคู่กับมหาสารคามนั้นเอง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2339 ได้มีการย้ายเมืองขอนแก่นไปตั้งอยู่ที่บ้านหนองเหล็ก (ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน) โดยได้ขอขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร คือจะขอส่งส่วยต่อกรุงเทพมหานครโดยตรง ไม่ผ่านเมืองสุวรรณภูมิ เพราะให้เหตุผลว่า บ้านดอนพยอมเมืองเพี้ยอยู่ใกล้กับแขวงเมืองนครราชสีมา ซึ่งก็เป็นจริง เพราะอยู่ใกล้กับเมืองชนบทอันเป็นแขวงเมืองนครราชสีมาอยู่ขณะนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เข้าใจว่าเจ้าเมืองในขณะนั้นอยากจะแยกตัวออกเป็นอิสระ คืออยากจะแยกออกมาเป็นเมืองใหญ่อีกต่างหาก การย้ายเมืองครั้งนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวคำบัง (บุตรเจ้าแก้วบุฮม) เป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นต่อมา

ในปี พ.ศ. 2352 ได้ย้ายเมืองจากบ้านหนองเหล็กไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านดอนพันชาด (เขตตำบลบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) พระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง) ได้ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าราชบุตร (ท้าวคำยวง) น้องชายของพระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง) ซึ่งมีความดีความชอบจากการไปราชการสงคราม ขับไล่กองทัพพม่าออกไปจากเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น เป็นที่ “พระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดี ศรีศุภสุนทร” เจ้าเมืองขอนแก่น

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2381 เมืองขอนแก่นก็ได้ย้ายจากบ้านดอนพันชาดไปตั้งอยู่ที่ริมฝั่งบึงพระลับโนนทอง คือบ้านเมืองเก่า ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนเรียกว่า "บ้านโนนทอง" ต่อมาเมื่อย้ายเมืองไปอยู่ที่นั่น จึงเรียกว่าบ้านเมืองเก่า สาเหตุที่ย้ายเมืองนั้นเล่ากันว่า เกิดการแย่งราษฎรไพร่พลขึ้น และเกิดแผ่นดินแยกที่ถนนกลางเมือง มีโรคภัยไข้เจ็บผู้คนล้มป่วยกันมาก จึงถือว่าที่ตรงนั้นไม่เป็นมงคลต่อการอยู่อาศัย จึงย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่ง จากบึงพระลับโนนทองไปตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกที่บ้านโนนทัน (อยู่ในตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่นปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 2398 พอดีพระนครศรีบริรักษ์ (คำยวง) ได้ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอินธิวงษ์ บุตรคนเล็กของพระยานครศรีบริรักษ์ เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น เพราะมีวิชาความรู้ดีกว่าพี่ชายคนอื่น ๆ โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาในราชทินนามเดิมของบิดาสืบมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2407 ท้าวอินธิวงษ์เจ้าเมืองขอนแก่นได้ถึงแก่อนิจกรรมลงอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวคำบุ่ง (พี่ชายท้าวอินธิวงษ์) ผู้เป็นอุปฮาดแต่เดิมให้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นสืบแทนน้องชายต่อมาอีก 3 ปี เพราะชราภาพมากแล้ว

ในปี พ.ศ. 2410 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอุ (ราชบุตร) ซึ่งเป็นหลานท้าวอินธิวงษ์ (พระยานครศรีบริรักษ์) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น และได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านโนนทันกลับไปตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่าอีก (บ้านโนนทองเดิม) พอถึงปี พ.ศ. 2413 ก็ได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านเมืองเก่าไปตั้งอยู่ที่บ้านดอนบม (บ้านดอนบม ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองขอนแก่น) แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานบรรดาศักดิ์ท้าวอุ (ราชบุตร) เจ้าเมืองขอนแก่นในขณะนั้น เป็นพระนครศรีบริรักษ์ และให้ท้าวหนูหล้า บุตรคนเล็กของท้าวอินธิวงษ์ เป็นปลัดเมืองขอนแก่น (หรืออุปฮาด)

ในปี พ.ศ. 2439 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนการปกครองหัวเมืองไกลใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ให้เป็นหัวเมืองไกลใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นบริเวณหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือให้เป็นหัวเมืองลาวพวน ดังนั้น เมืองขอนแก่นจึงอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองอุดรธานี หรือมณฑลอุดรธานี โดยมีกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็นผู้ปกครองมณฑล ในสมัยนั้นได้มีสายโทรเลข ที่เดินจากเมืองนครราชสีมา ผ่านเมืองชนบท เข้าเขตเมืองขอนแก่นข้ามลำน้ำชีที่ท่าหมากทัน ตรงไปท่าพระ บ้านทุ่ม โดยไม่เข้าเมืองขอนแก่น และตรงไปข้ามลำน้ำพองไปบ้านหมากแข้งเมืองอุดรธานี ศูนย์กลางมณฑลอุดร กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (ผู้ปกครองมณฑลอุดรธานีในขณะนั้น) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลอุดรธานีทรงดำริว่า ที่ว่าการเมืองขอนแก่นที่ตั้งอยู่ที่บ้านดอนบม ไม่สะดวกแก่ราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ย้ายเมืองขอนแก่นไปตั้งอยู่ที่บ้านทุ่ม (อำเภอเมืองขอนแก่นในปัจจุบัน) ในปลาย พ.ศ. 2439 และเปลี่ยนนามตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง และตั้งชื่อเมืองว่า "ขอนแก่น" จนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานบรรดาศักดิ์ท้าวหนูหล้าปลัดเมืองขอนแก่นเป็นพระพิทักษ์สารนิคม และในปี พ.ศ. 2441 ก็ได้ย้ายเมืองขอนแก่นจากบ้านทุ่มกลับไปตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่าตามเดิม โดยตั้งศาลากลางขึ้นที่ริมบึงเมืองเก่าทางด้านเหนือ (หน้าสถานีโทรทัศน์ในปัจจุบัน) ด้วยเหตุผลที่ว่า บ้านทุ่มนั้นกันดารน้ำในฤดูแล้ง

ในปี พ.ศ. 2444 ทางราชการได้เกณฑ์แรงงานของราษฎรที่เคยหลงผิดไปเชื่อผีบุญ-ผีบาป ที่เขตแขวงเมืองอุบลราชธานีในตอนนั้น โดยให้พากันมาช่วยสร้างทำนบกั้นน้ำขึ้นเป็นถนนรอบบึงเมืองเก่า เพื่อกักน้ำไว้ใช้สอยในฤดูแล้ง เพราะบึงนี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวเมืองขอนแก่น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2447 พระนครบริรักษ์ (อุ นครศรี) เจ้าเมืองขอนแก่น ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ เหตุเพราะชราภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งพระพิทักษ์สารนิคม (หนูหล้า สุนทรพิทักษ์) ปลัดเมืองขอนแก่นขึ้นเป็นผเจ้าเมืองขอนแก่น และในปีนั้นเอง ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองขอนแก่นเป็นข้าหลวงประจำบริเวณพาชี ส่วนเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อนั้น ก็ให้เปลี่ยนเป็นอำเภอ และผู้เป็นเจ้าเมืองนั้น ๆ ก็ให้เปลี่ยนเป็นนายอำเภอ ตำแหน่งอุปฮาดก็เป็นปลัดอำเภอไป แต่ขึ้นตรงต่อเมืองอุดรธานี มณฑลอุดรธานีในขณะนั้น

ต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกเลิกระบบมณฑลในประเทศ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัดแทน ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจึงกลายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และศาลาว่าการเมืองก็เปลี่ยนมาเป็นศาลากลางจังหวัด นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาขอนแก่นจึงได้กำเนิดเป็น "จังหวัดขอนแก่น"

ที่มาของชื่อขอนแก่น

เหตุที่เมืองนี้มีนามว่า เมืองขอนแก่นนั้นได้มีตำนานแต่โบราณเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ก่อนที่เพี้ยเมืองแพนจะอพยพไพร่พลมาตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นนั้น ปรากฏว่าบ้านขาม หรือตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพองปัจจุบัน ซึ่งเป็นเขตแขวงร่วมการปกครองกับบ้านชีโล้น มีตอมะขามขนาดใหญ่ที่ตายไปหลายปีแล้ว กลับมีใบงอกงามเกิดขึ้นใหม่อีก และหากผู้ใดไปกระทำมิดีมิร้ายหรือดูถูกดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพยำเกรง ก็จะมีอันเป็นไปในทันทีทันใด เป็นที่น่าประหลาดและมหัศจรรย์ยิ่งนัก

ดังนั้น บรรดาชาวบ้านชาวเมืองในแถบถิ่นนั้นจึงได้พร้อมใจกันก่อเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นเอาไว้เสีย เพื่อให้เป็นที่สักการะของคนทั่วไป พร้อมกับได้บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 บทเข้าไว้ในเจดีย์ครอบตอมะขามนั้นด้วย ซึ่งเรียกว่า พระเจ้า 9 พระองค์ แต่เจดีย์ที่สร้างในครั้งแรกเป็นรูปปรางค์ หลังจากได้ทำการบูรณะใหม่เมื่อราว 50 ปีที่ผ่านมานี้ จึงได้เปลี่ยนเป็นรูปทรงเจดีย์ และมีนามว่า พระธาตุขามแก่น ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตวัดเจติยภูมิ บ้านขาม ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พระเจดีย์ขามแก่นถือว่าเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีงานพิธีบวงสรวง เคารพสักการะกันในวันเพ็ญเดือน 6 ทุกปี

ส่วนทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์พระธาตุขามแก่นนั้น มีซากโบราณที่ปรักหักพังปรากฏอยู่ โดยอยู่ห่างจากเจดีย์ราว 15 เส้น หรืออยู่คนละฟากทุ่งของบ้านขาม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณแถบนี้น่าจะเป็นที่ตั้งของเมืองมาก่อน แต่ได้ร้างไปนาน ดังนั้น จึงได้ถือเอานิมิตนี้มาตั้งนามเมืองว่าขามแก่น แต่ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็นเมืองขอนแก่น จนกระทั่งทุกวันนี้

จังหวัดขอนแก่นมีสภาพพื้นที่ลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกและทิศ ใต้ บริเวณที่สูงทางด้านตะวันตกมีสภาพพื้นที่เป็นเขาหินปูนตะปุ่มตะป่ำสลับกับ พื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีระดับความสูงประมาณ 200-250 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีภูเขารูปแอ่งหรือภูเวียงวางตัวอยู่ติดอำเภอภูเวียง บริเวณที่สูงตอนกลางและด้านเหนือมีสภาพพื้นที่เป็นเทือกเขา ได้แก่ ภูเก้า ภูเม็ง ภูพานคำ เป็นแนวขวางมาจากด้านเหนือ แล้ววกลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ ไหล่เขาด้านนอกมีความสูงและลาดชันมาก สูงประมาณ 300-660 เมตร ไหล่เขาด้านในมีความลาดชันน้อย มีระดับความสูงประมาณ 220-250 เมตร

บริเวณแอ่งโคราช ครอบคลุมพื้นที่ทางด้านใต้จังหวัด สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความสูงประมาณ 150-200 เมตร มีบางส่วนเป็นเนิน สูงประมาณ 170-250 เมตร และลาดต่ำไปทางราบลุ่มที่ขนานกับลำน้ำชี มีความสูงประมาณ 130-150 เมตร จากนั้น พื้นที่จะลาดชันไปทางตะวันออก มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดมีความสูงประมาณ 200-250 เมตร และค่อนข้างราบ มีความสูงประมาณ 170 -180 เมตร

 

การปกครอง

ขอนแก่น แบ่งการปกครองออกเป็น 26 อำเภอ

  • อำเภอเมืองขอนแก่น
  • อำเภอบ้านฝาง
  • อำเภอพระยืน
  • อำเภอหนองเรือ
  • อำเภอชุมแพ
  • อำเภอสีชมพู
  • อำเภอน้ำพอง
  • อำเภออุบลรัตน์
  • อำเภอกระนวน
  • อำเภอบ้านไผ่
  • อำเภอเปือยน้อย
  • อำเภอพล
  • อำเภอแวงใหญ่
  • อำเภอแวงน้อย
  • อำเภอหนองสองห้อง
  • อำเภอภูเวียง
  • อำเภอมัญจาคีรี
  • อำเภอชนบท
  • อำเภอเขาสวนกวาง
  • อำเภอภูผาม่าน
  • อำเภอซำสูง
  • อำเภอโคกโพธิ์ไชย
  • อำเภอหนองนาคำ
  • อำเภอบ้านแฮด
  • อำเภอโนนศิลา
  • อำเภอเวียงเก่า

 

รวมพื้นที่ประมาณ 10,855,991 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต

ทิศเหนือ จดจังหวัดอุดร หนองบัวลำภู และเลย
ทิศใต้ จดจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์
ทิศตะวันออก จดจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม
ทิศตะวันตกจดจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดชัยภูมิ

 

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ขอนแก่น

รถยนต์ ขอนแก่นอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางรถยนต์ 445 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี ตรงหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมาถึงจังหวัดขอนแก่น

อีกเส้นทางหนึ่ง ใช้เส้นทางจากกรุงเทพฯ ถึงสระบุรีแล้วตรงไปตามถนนสระบุรี-ลำนารายณ์ แยกขวาเข้าเส้นทางม่วงค่อม-ด่านขุนทด-ชัยภูมิ-ขอนแก่น หรือสระบุรี-ลำนารายณ์-อำเภอเทพสถิตย์-ชัยภูมิ-อำเภอมัญจาคีรี-อำเภอพระยืน-ขอนแก่น

ทางรถประจำทาง

รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 มีรถโดยสารธรรมดา รถปรับอากาศ และรถนอนพิเศษชนิด 24 ที่นั่ง วิ่งบริการทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

รถไฟ มีขบวนรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ผ่านจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวัดอุดรธานี และหนองคายทุกวัน ทั้งรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนดีเซลรางปรับอากาศ

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 1690 สถานีรถไฟขอนแก่น โทร. (043) 221112

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดบริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ทุกวันๆละ 3 เที่ยว ใช้เวลาเดินทาง 50 นาที ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-356-1111 และที่ขอนแก่น โทร. (043) 236523, 239011, 238835

 

เทศกาลและงานประเพณี

เทศกาลดอกคูณเสียงแคน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี บริเวณบึงแก่นนคร ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและชุมนุมสังสรรค์ของชาวขอนแก่น กิจกรรมเริ่มด้วยการทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระ ภายในงานมีการจัดแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้าน ขบวนเกวียนบุปผชาติ การประกวดอาหารอีสาน การแข่งเรือในบึงแก่นนคร การประกวดกลองยาว การแสดงบนเวทีและการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เป็นต้น

งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยว จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด

งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยวนี้ สืบเนื่องมาจากประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาชีพรองที่ขึ้นหน้าขึ้นตา ได้แก่ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าต่างๆ ซึ่งทางราชการได้ให้ความสนับสนุน จนจังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียงประกอบกับมีประเพณีการผูกเสี่ยว ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของภาคอีสาน ที่มุ่งให้คนรุ่นเดียวกันรักใคร่เป็นพี่เป็นน้องช่วยเหลือกัน เรียกว่า “คู่เสี่ยว” ขึ้นโดยมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ ในงานจะมีขบวนแห่คู่เสี่ยวและพานบายศรีของอำเภอต่างๆ มีพิธีผูกเสี่ยว การประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน งานพาข้าวแลง (การรับประทานอาหารค่ำแบบพื้นเมืองอีสาน) การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต่างๆ

เทศกาลไหว้พระธาตุขามแก่น จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันเพ็ญเดือนหก (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) ณ วัดเจติยภูมิ เป็นงานเฉลิมฉลองพระธาตุเพื่อให้ประชาชน ได้สักการะพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง ในงานมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์หลักเมือง ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจ ถนนเทพารักษ์หน้าเทศบาลขอนแก่น ท่านเจ้าคุณปู่พระราชสารธรรมมุนีและหลวงธุรนัยพินิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้ริเริ่มสร้างโดยนำหลักศิลาจารึกมาจากโบราณสถานในท้องที่อำเภอชุมแพ มาประกอบพิธีตามแนวทางพระพุทธศาสนา ทำเป็นหลักเมือง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2499 ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวขอนแก่น ทุกวันจะมีประชาชนมาไหว้บูชากันตลอดเวลา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติส่วนภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่ถนนหลังศูนย์ราชการ โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่ได้มาจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีภายในเขตศิลปากรที่ 7 อีกส่วนหนึ่ง เป็นศิลปวัตถุสมัยต่างๆ ที่แบ่งมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
พิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ระดับชั้น ชั้นล่างด้านหนึ่งเน้นเรื่องราวของอู่อารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ที่บ้านเชียง โครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะดินเผา อีกด้านหนึ่งจัดแสดงใบเสมาหินจำหลักเรื่องพุทธประวัติและภาพปูนปั้นศิลปทวาราวดี จากเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนชั้นที่สองอาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นส่วนของศิลปวัตถุสมัยขอมหรือลพบุรีที่ได้ในภาคอีสาน เช่น พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผาและศิลปวัตถุอื่นรวมทั้งทับหลัง หินทรายจากปราสาทหินในภาคอีสาน และอีกด้านหนึ่งของชั้นบนเป็นศิลปวัตถุยุคสมัยต่างๆ ของภาคกลาง เช่น อยุธยา สุโขทัย เป็นต้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. อัตราค่าเข้าชมชาวไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ โทร. (043) 246170
บึงแก่นนคร มีลักษณะเป็นบึงขนาดใหญ่ ในเนื้อที่ 603 ไร่ ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีถนนเลียบริมน้ำโดยรอบ ได้มีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณรอบบึงให้เป็นสวนสุขภาพ ภายในสวนบริเวณรอบๆ มีภาพประติมากรรมรูปต่างๆ ทางเทศบาลได้ทำการปลูกต้นคูนและไม้ดัดไว้อีกมากมาย ทำให้ดูร่มรื่นสวยงาม นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่นและร้านอาหารบริการผู้มาพักผ่อน ทางทิศเหนือ ของบึงแก่นนครเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ “เจ้าเพียเมืองแพน” ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่น
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่เนินสูงที่มีชื่อว่า “มอดินแดง” ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง มีพื้นที่ประมาณกว่า 5,000 ไร่ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จทรงกระทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2510 มหาวิทยาลัยอยู่ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร มีทางเข้าสองทางคือ ด้านถนนมิตรภาพ (สายขอนแก่น-อุดรธานี) และด้านถนนประชาสโมสร (สายขอนแก่น-เลย) เป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทของภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีบึงสีฐานเป็นแหล่งพักผ่อนและเป็นที่อยู่อาศัยของนกเป็ดน้ำในช่วงฤดูหนาว

พระธาตุขามแก่น ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง การเดินทางใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 209 (ขอนแก่น-กาฬสินธุ์) ประมาณกิโลเมตรที่ 12-13 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร รวมระยะทางจากตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 30 เมตร ตามประวัติโดยย่อกล่าวว่าโมริยกษัตริย์ เจ้าเมืองโมรีย์ซึ่งเป็นเมืองอยู่ใน อาณาเขตของประเทศกัมพูชา มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ มาบรรจุพระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์และพระเถระเจ้าคณะรวม 9 องค์ นำขบวนอัญเชิญพระอังคารมาในครั้งนี้ เมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่ง ซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้วและบริเวณนี้ภูมิประเทศราบเรียบดีจึงหยุดคณะพักชั่วคราว รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อ ไปถึงภูกำพร้าปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่าจะนำพระอังคารธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ที่บ้านเมืองของตน แต่เมื่อเดินทางผ่าน ดอนมะขามอีกครั้งปรากฏว่า แก่นมะขามที่ตายแล้วนั้น กลับยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่าอัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้ พร้อมกับนำพระอังคารธาตุและ พระพุทธรูปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ และให้นามว่าพระธาตุขามแก่นมาจนทุกวันนี้ พระธาตุขามแก่นถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมีงานฉลองและนมัสการพระธาตุเป็นประจำ

กู่ประภาชัย หรือ กู่บ้านนาคำน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อยู่บนเส้นทางเดียวกับพระธาตุขามแก่น ตรงต่อไปก่อนถึง สะพานข้ามคลองส่งน้ำจากลำน้ำพอง เลี้ยวซ้ายตามถนนลูกรัง แล้วเลี้ยวขวาข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านนาคำน้อยอีก 500 เมตร ถึงวัดกู่ประภาชัย
กู่ประภาชัย หรือกู่บ้านนาคำน้อย คือกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะแผนผังเป็นอโรคยาศาล สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมร ราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1720-1780) ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นทางด้านหน้า ด้านขวามือเยื้องไปข้างหน้าเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า บรรณาลัย อาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วโดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าออกด้านหน้าหรือทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงที่มุมซ้ายมีสระน้ำ ทั้งหมดสร้างด้วย ศิลาแลง โดยมีเสาประดับประตู ทับหลังเป็นหินทราย กู่ประภาชัย หรือกู่บ้านนาคำน้อย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตาม ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภออุบลรัตน์

เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน การเดินทางไปชมเขื่อนไปได้ตามทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-อุดรธานี) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 470-471 ซึ่งห่างจากขอนแก่น 26 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์อีก 24 กิโลเมตร รวมระยะทาง ห่างจากตัวเมือง 50 กิโลเมตร เขื่อนแห่งนี้สร้างข้ามแม่น้ำพอง จึงเรียกเขื่อนพองหนีบ โดยปิดกั้นลำแม่น้ำพองตรงบริเวณช่องเขาที่เป็นแนวต่อเทือกเขาสองเทือกเขา คือ ภูเก้าและภูพานคำ
เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนแบบหินทิ้งอเนกประสงค์ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทาน การประมง การป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในฤดูฝน การคมนาคม ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี พ.ศ. 2506 แล้วเสร็จปลายปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2509 นอกจากนั้นที่เขื่อนฯ ยังมีบ้านพักไว้บริการ และมีเรือให้เช่าชมทิวทัศน์โดยคิดค่าบริการลำละ 600 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ทำการเขื่อนอุบลรัตน์ โทร. (043) 446149
อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528 ครอบคลุมพื้นที่ 201,250 ไร่ โดยมีที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ เชิงเขาภูพานคำ เขตอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ 2 แห่ง คือ ภูเก้า และภูพานคำ
- ภูเก้า ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภูเพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มีความสลับซับซ้อน มาก มีป่าไม้และสัตว์ป่านานาชนิด มีถ้ำ น้ำตก ลานหินลาดมากมาย มีหินลักษณะแปลกๆ คล้ายปราสาท ถ้ำพลาไฮมีภาพเขียนรูปฝ่ามือและภาพแกะสลักของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีศาลาบนยอดหินที่เรียกว่า หอสวรรค์ ไว้ชมวิว นอกนี้ยังมีวัดพระพุทธบาทภูเก้าซึ่งมีรอยเท้าคนและสุนัขขนาดใหญ่สลักบนหินอันเกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระสุพรหมวิโมขา กับหมาเก้าหาง” ภายในวัดพระพุทธบาทภูเก้ายังมีถ้ำมึ้ม และถ้ำอาจารย์สิม ซึ่งภายในถ้ำมีภาพเขียนสีและภาพสลักตามผนังถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์
- ภูพานคำ เป็นเทือกเขาทอดยาวจากเหนือสู่ใต้ จากอำเภอเมืองหนองบัวลำภู จนถึงเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตจังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดขอนแก่น ภูพานคำเป็นทิวเขาด้านตะวันออกของลุ่มน้ำพอง และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ตอนบนมีทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะพักแรมที่บริเวณทะเลสาบท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ภูพานคำนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และเป็นแหล่งตกปลาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดด้วย
หลังจากนั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี วัดนี้ได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีคหบดีชาวพม่าคนหนึ่งได้มาเห็นเข้า เกิดความเลื่อมใส ได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยให้ช่างชาวพม่าเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีศิลปะแบบพม่าเข้ามาแทนที่ศิลปะแบบขอม ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม คงมีแต่โครงสร้างที่ยังเป็นรูปเดิมอยู่เท่านั้น

การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

สามารถเดินทางไปได้ 2 ทาง คือ
 เส้นทางที่ 1 ตามเส้นทางสายขอนแก่น-เขื่อนอุบลรัตน์ จากตัวเมืองขอนแก่นถึงตลาดอำเภออุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ต่อด้วยรถยนต์โดยสารประจำทางสายเขื่อนอุบลรัตน์-โนนสัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ
 เส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข 2146 สายหนองบัวลำภู-โนนสัง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านโสกจาน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสายบ้านโสกจาน-เขื่อนอุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ติดต่อขออนุญาตพักแรมได้ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอชุมแพ

เมืองโบราณสมัยทวาราวดีที่อำเภอชุมแพ เป็นการพบร่องรอยทางโบราณคดี ยุคสมัยศิลปะทวาราวดี ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น เมืองโบราณสมัยทวาราวดีแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า โนนเมือง เขตบ้านนาโพธิ์ อำเภอชุมแพ ห่างจากจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 80 กิโลเมตร เดิมทีชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่าบริเวณเนินดินกว้างที่เรียกว่าโนนเมืองนั้น เป็นเมืองเก่าเมืองโบราณ ลักษณะของเนินเป็นเนินดินรูปไข่ พื้นที่ประมาณ 170 ไร่ มีคูเมือง 2 ชั้น ระยะห่างกันประมาณ 200 เมตร จากการสำรวจของหน่วยศิลปากรที่ 7 พบใบเสมาหินทรายศิลปะทวาราวดี 3 ชิ้น ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน และพบเศษภาชนะดินเผาชิ้นไม่ใหญ่นักกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนเนินดิน เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดง ชนิดลายขูดขีดและลายเชือกทาบ นอกจากนี้ยังค้นพบ โครงกระดูกมนุษย์ที่มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ มีธรรมเนียมการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมศพด้วย เช่น หม้อและภาชนะดินเผาเขียนสีและลายขูดขีด ลายเชือกทาบ กำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์ เปลือกหอย ลูกปัดหินสี ฯลฯ การเดินทาง ใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) ผ่านตัวอำเภอชุมแพ ถึงที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 5 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอภูเวียง

อุทยานแห่งชาติภูเวียง ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอภูเวียง อำเภอสีชมพู และอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ 203,125 ไร่ หรือ 325 ตารางกิโลเมตร ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2534 มีลักษณะภูมิประเทศเป็นรูปร่างคล้ายปล่องภูเขาไฟ โดยพื้นที่ตอนกลางเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยพื้นที่ดอนลาดและภูเขา บริเวณที่ราบเป็นป่าเต็งรัง และบริเวณที่สูงจากระดับน้ำทะเล 250 เมตร เป็นป่าดิบแล้ง ลักษณะภูมิอากาศฤดูฝนเริ่มเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และฤดูแล้งเริ่มเดือนพฤศจิกายน-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 26 องศาเซลเซียส การเดินทาง จากตัวเมืองขอนแก่นใช้เส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) เป็นระยะทาง 48 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2038 เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ถึงอำเภอภูเวียง แล้วใช้เส้นทางภูเวียง-บ้านเมืองใหม่ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 23 จะเป็นบริเวณที่เรียกว่า “ปากช่องภูเวียง” มีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูเวียงตั้งอยู่เพื่อให้บริการสอบถามข้อมูลการเที่ยวชม เดินทางต่อไปจนถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าอ่างเก็บน้ำบ้านโพธิ์ เป็นระยะทาง 7.7 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียง ที่ภูประตูตีหมา ภายในอาคารมีการจัดแสดงซากกระดูกส่วนต่างๆ ของไดโนเสาร์ที่ขุดพบบริเวณภูเวียง โดยมีคำอธิบายการลักษณะและการเกิดซากต่างๆ เหล่านี้
สิ่งที่น่าสนใจในอุทยาน  - พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่บนยอดภูเวียง มีภาพสลักบนหินธรรมชาติ เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ศิลปะทวาราวดีที่งดงาม ความยาวจากพระเศียรจรดปลายพระบาทประมาณ 3 เมตร หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก นอนตะแคงพระเศียรหนุนแนบกับลำแขนขวา แขนซ้ายทอดไปตามลำพระองค์เป็นท่านอนแบบเก่าที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย นับเป็นพระพุทธรูปที่มีความเก่าแก่งดงามมาก และจัดเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญที่สุดของจังหวัดขอนแก่น มีงานนมัสการในวันตรุษสงกรานต์ทุกปี การเดินทางสามารถเดินทางไปโดยทางรถยนต์ จากขอนแก่นไปตามทางหลวงหมายเลข 12 ขอนแก่น-ชุมแพ ถึงกิโลเมตรที่ 75 ถึงบ้านไชยสอ เลี้ยวขวาไปตามทางเกวียนถึงเชิงเขาประมาณ 2.5 กิโลเมตร แล้วเดินต่อไปตามภูเขาสูงชันอีกประมาณ 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ถึงพระพุทธไสยาสน์
 - ถ้ำฝ่ามือแดง อยู่บนภูเวียงใกล้เขตบ้านหินล่อง ตำบลเมืองเก่า อำเภอภูเวียง บริเวณถ้ำลึกประมาณ 7 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร ฝาผนังถ้ำมีภาพลายมือหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีมือ 9 มือ ขนาดใหญ่ 7 มือ ขนาดเล็ก 2 มือ โดยเอามือนาบกับผนังหินแล้วพ่นสีแดงเรื่อๆ ลงไป ซึ่งสำรวจพบเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2507
 -น้ำตกตาดฟ้า น้ำตกตาดฟ้าอยู่บนเขาภูเวียง ตำบลภูเวียง อำเภอภูเวียง เป็นน้ำตกสูงประมาณ 15 เมตร เป็นน้ำตกธรรมชาติที่สวยงาม สามารถเข้าถึงได้โดยทางรถยนต์ห่างจากอำเภอภูเวียง 18 กิโลเมตร และต่อขึ้นเขาไปอีก 6 กิโลเมตร
 - สุสานหอย 175 ล้านปี เป็นฟอสซิลของหอยน้ำจืดที่อัดตัวกันเป็นก้อนหินขนาดใหญ่หลายก้อนอยู่บนยอดเขาบริเวณภูประตูตีหมา
 - ซากกระดูกไดโนเสาร์ สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2519 นักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ได้พบกระดูกใหญ่ชิ้นหนึ่งระหว่างการสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งแร่ยูเรเนียม ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณี และผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส ได้ตรวจวิจัยตัวอย่างกระดูกชิ้นนั้น สรุปว่าเป็นกระดูกหัวเข่าข้างซ้ายของไดโนเสาร์ หลังจากนั้นได้มีการดำเนินการขุดค้นสำรวจพบซากไดโนเสาร์อีกหลายครั้ง นอกจากกระดูกที่จัดแสดงในอาคารที่ทำการฯ แล้ว ยังมีการขุดแต่งหลุมที่ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ที่บริเวณภูประตูตีหมา เป็นไดโนเสาร์กินพืชในสกุลคามาราซอรัส มีลำตัวใหญ่มาก เดินด้วยเท้าสี่เท้าที่แข็งแรง มีหางยาวคอยาว แต่หัวเล็ก มีความยาวประมาณ 15 เมตร ซากเหล่านี้พบในหินหมวดเสาขรัว มีอายุ 150 ล้านปี นักท่องเที่ยวสามารถขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานนำทางไปชมได้
- รอยเท้าไดโนเสาร์ พบบริเวณหินลาดป่าชาด บนเทือกเขาภูเวียง ตำบลในเมือง อำเภอภูเวียง เป็นรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็ก เดินด้วย 2 เท้า มีจำนวน 68 รอย และมีอยู่ 1 รอยมีขนาดใหญ่ คาดว่าเป็นรอยไดโนเสาร์คารโนซอรัส เช่นเดียวกับรอยที่ค้นพบที่ภูหลวง การเข้าชมอุทยานฯ และที่พัก ติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ บริเวณภูประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ทุกวัน และหากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ขอเจ้าหน้าที่นำชม สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. (043) 291393

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอภูผาม่าน

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน มีเนื้อที่ประมาณ 218,750 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และเขตอำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2534 สภาพทั่วไปยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าดงดิบ และป่าไม้เบญจพรรณ สภาพอากาศเหมือนที่ภูกระดึงของจังหวัดเลย คือ จะมีอากาศเย็นและชื้นเกือบตลอดปี มีพันธุ์ไม้มีค่าหลายชนิดอยู่หนาแน่น พันธุ์ไม้พิเศษคือ ไม้ลาน กรมป่าไม้ได้จัดตั้งโครงการพัฒนาป่าดงลานในรูปหมู่บ้านป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงลาน ณ ที่ตั้งที่ทำการโครงการพัฒนาป่าดงลาน 4 ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอภูผาม่านประมาณ 15 กิโลเมตร สามารถค้างแรมได้ นอกจากนี้บริเวณที่ทำการโครงการมีแปลงเกษตร ทดลองปลูกพืช เมืองหนาว หลายแปลง ภูมิประเทศรอบโครงการงดงามสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน โดยเฉพาะผู้ที่ชอบการท่องเที่ยวประเภทป่าเขาลำเนาไพร

สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ
 มีถ้ำต่างๆ หลายแห่ง เช่น ถ้ำปู่หลุบ ซึ่งอยู่ติดกับที่ทำการอุทยานฯ มีหินงอกหินย้อยสวยงาม บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีน้ำไหลรินตลอดเวลา ถ้ำผาพวงเป็นถ้ำที่สวยงาม ซึ่งปากทางเข้าอยู่ฝั่งตรงข้ามที่ทำการอุทยานฯ นอกจากนี้มีถ้ำลายแทง อันเป็นถ้ำที่มีภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำ และรอบชายเขตอุทยานฯ มีน้ำตกที่งดงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกตาดฮ้อง น้ำตกตาดฟ้า และน้ำตกเขาสามยอด เป็นต้น เนื่องจากเป็นอุทยานฯ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่ การเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จึงยังลำบากและทุรกันดาร ทั้งยังไม่มีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้สนใจเที่ยวชมควรเตรียมพร้อมในทุกด้าน รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734
 ผานกเค้า เป็นภูเขาสูงตั้งตระหง่านอยู่ริมลำน้ำพอง ในเขตท้องที่อำเภอภูผาม่านหันหน้าชนกับภูกระดึง จังหวัดเลย ผานกเค้าอยู่ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 125 กิโลเมตร ตามทางหลวงสายขอนแก่น-วังสะพุง (หมายเลข 2 และ 201) ผานกเค้าอยู่ทางด้านซ้ายมือของบ้านดงลาน ลักษณะของผานกเค้าเป็นภูเขาหินสีดำ บางส่วนกระเทาะออกเห็นเนื้อหินสีส้ม มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ประปราย บริเวณที่จะมองเห็นเค้าโครงของนกเค้าได้ชัดเจนควรเดินเข้าไปในศูนย์เพาะชำกล้วยไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้ ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากถนน จะเห็นว่าลักษณะผาเหนือจงอยปากขึ้นไปมีลักษณะเป็นหงอน ถัดลงมาเป็นหินกลมโค้งต่ำจากส่วนหงอนลงมาเป็นส่วนหัว ตรงกลางหัวมีรอยหินกระเทาะเป็นสีส้มอยู่ในตำแหน่งดวงตา ต่ำลงมาจากส่วนหัวจะถึงแนวปีกทั้งสองข้างที่กางออก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอมัญจาคีรี

วัดอุดมคงคาคีรีเขต ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโคก อำเภอมัญจาคีรีเป็นวัดป่าของหลวงปู่ผาง ซึ่งเคยเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว แต่มีอนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิของหลวงปู่ผางอยู่ในบริเวณวัด นอกจากนั้นที่วัดยังมีเจดีย์และพระอุโบสถที่สวยงามและบริเวณรอบๆ ที่ตั้งของวัดซึ่งตั้งอยู่เชิงเขา มีต้นไม้ป่าขึ้นอยู่ร่มรื่น เป็นสถานที่ที่เน้นการปฏิบัติวิปัสสนา การเดินทางนั้นจากขอนแก่นไปตามเส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) ประมาณ 14 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าเส้นทางสายบ้านทุ่ม-มัญจาคีรี (ทางหลวงหมายเลข 2062) อีกประมาณ 44 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าเส้นทางสายมัญจาคีรี-ชัยภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 229) ประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าวัดอีก 12 กิโลเมตร
หมู่บ้านเต่า จากขอนแก่นไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2062 (ขอนแก่น-มัญจาคีรี) ประมาณ 54 กิโลเมตร (ก่อนถึงอำเภอมัญจาคีรี 2 กิโลเมตร) ถึงบริเวณบ้านกอก ปากทางเข้าหมู่บ้านเต่าด้านซ้ายจะสังเกตเห็นเป็นรูปเต่าจำลอง 2 ตัว วางอยู่บนแท่นหินสูงจากพื้นดินประมาณ 1.5-2 เมตร ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดศรีสุมัง จากนั้น เลี้ยวซ้ายใช้เส้นทางลูกรังข้างวัดเข้าสู่เขตหมู่บ้านกอก ประมาณ 100 เมตร ก็จะถึงหมู่บ้านเต่า ซึ่งจะมีเต่าบกชนิดหนึ่ง (ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า เต่าเพ็ก) ลักษณะกระดองจะมีสีเหลืองแก่ปนน้ำตาลเดินอยู่เป็นจำนวนมาก บ้างก็จะอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านเพื่อรออาหารจากชาวบ้าน บ้างก็เดินอยู่ตามถนนภายในหมู่บ้าน ซึ่งจะหาดูได้ไม่ยากเมื่อเดินทางไปถึง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอชนบท

ผ้าไหมมัดหมี่ที่ชนบท ผ้าไหมมัดหมี่เป็นเอกลักษณ์อย่างงหนึ่งของอีสานที่มีวิธีการสร้างลายผ้าไหมด้วยวิธีโบราณสืบต่อกันมานาน โดยนำเส้นไหมมามัดแล้วย้อมสีต่าางๆ ตามที่กำหนด และเมื่อนำเส้นไหมที่ย้อมสีแล้วไปทอก็จะได้ผ้าไหมที่มีลวดลายสีสันสวยงาม กรรมวิธีมัดและย้อมเส้นไหมนี้ชาวอีสานเรียกว่า “มัดหมี่” อำเภอชนบทเป็นอำเภอที่ทอผ้าไหมมัดหมี่เป็นอุตสาหกรรมหลัก เป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวจะผ่านไปเสียมิไได้ มักจะแวะชมกรรมวิธีการผลิต ตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจนถึงนำรังไหมมาต้มเพื่อสาวเส้นไหมเล็กๆ สีทองออกมา มัดหมี่ย้อมลวดลายจนกระทั่งทอเป็นผืนผ้าสำเร็จ อำเภอชนบทห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 54 กิโลเมตร ไปตามถนนมิตรภาพขอนแก่น-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2) ย้อนจากขอนแก่นลงทิศใต้ถึงอำเภอบ้านไผ่แล้วแยกขวาไปตามถนนสายบ้านไผ่-ชนบท อีกประมาณ 10 กิโลเมตร
ศาลาไทย ตั้งอยู่ ณ บริเวณวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (12 สิงหาคม 2535) เพื่อเป็นศูนย์สืบสานพระราชปณิธานงานศิลปาชีพด้านผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมของภาคอีสาน รวมทั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน โดยทรงพระราชทานนามอาคารพิพิธภัณฑ์ศาลาไทยว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา มหาราชินี” ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าไหมมัดหมี่ของโครงการและลายผ้าไหมมัดหมี่ พร้อมผ้าไหมมัดหมี่ที่ชนะการประกวดต่างๆ อีกทั้งนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าไหมมัดหมี่โบราณ อุปกรณ์ เครื่องใช้เกี่ยวกับไหมและของเก่าแก่ควรอนุรักษ์ การเดินทางจากขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-โคราช) 44 กิโลเมตร เลี้ยวขวาที่สี่แยกบ้านไผ่ไปอีก 11 กิโลเมตร ศาลาไหมไทยอยู่ทางซ้ายมือ (ตรงข้ามกับหนองกองแก้ว หนองน้ำงดงามของอำเภอชนบท) ศาลาไหมไทย เปิดให้นักท่องเที่ยวชมทุกวัน ในเวลาราชการและการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อโดยตรงที่วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น 40180 โทร. (043) 286160, 286218 โทรสาร (043) 286031

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเปือยน้อย

กู่เปือยน้อยหรือพระธาตุกู่ทอง เป็นปราสาทหินศิลปะขอมหรือลพบุรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง ในแถบภาคอีสานตอนบน ตั้งอยู่ที่อำเภอเปือยน้อย ระยะทาง 79 กิโลเมตร จากจังหวัดขอนแก่น ชาวบ้านเรียกว่า “ธาตุกู่ทอง” องค์ปรางค์ปราสาท หันหน้าสู่ทิศตะวันออก สร้างด้วยหินทรายจำหลักลวดลายสวยงาม กำแพงขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบเป็นเขตปราสาทสร้างด้วยศิลาแลง ส่วนหนึ่งขององค์ปรางค์ ทลายลงมาบ้างและอยู่ระหว่างการบูรณะ การเดินทางจากขอนแก่นจะใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 ขอนแก่น-บ้านไผ่ ระยะทาง 44 กิโลเมตร เข้าเส้นทางสายบ้านไผ่-บรบือ (ทางหลวงหมายเลข 23) ไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าสู่อำเภอเปือยน้อยอีก 24 กิโลเมตร




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ขอนแก่น