แผนที่นครปฐม

  • แผนที่นครปฐม
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

นครปฐมนครปฐม ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ห่างจากกรุงเทพฯ 58 กิโลเมตร เมืองนครปฐมเดิมตั้งอยู่ริมทะเล เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยทวาราวดี เพราะเป็นราชธานีที่สำคัญมีหลักฐานเชื่อว่า พุทธศาสนาและอารยธรรมจากอินเดีย เผยแพร่เข้ามาที่นครปฐมเป็นแหล่งแรก นครปฐมจึงเป็นศูนย์กลางของความเจริญ มีชนชาติต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเกิดความแห้งแล้งขึ้นในเมืองนครปฐม เพราะกระแสน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเปลี่ยนเส้นทาง ประชาชนจึงอพยพไปตั้งหลักแหล่ง อยู่ริมน้ำและ สร้างเมืองใหม่ขึ้น ชื่อ “นครชัยศรี” หรือ “ศิริชัย” นครปฐมจึงกลายเป็นเมืองร้างมาหลายร้อยปี จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงผนวชได้เสด็จธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์เข้า ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ไม่มีที่ไหนจะเทียบเท่า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ ทรงปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ให้มีสภาพดี และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเจดีย์บูชา เพื่อให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ต่อมาถึงรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มทำทางรถไฟสายใต้ แต่ตอนนั้นเมืองนครปฐมยังเป็นป่ารกอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี มาตั้งที่บริเวณพระปฐมเจดีย์เหมือนที่เคยตั้งมาแล้วในสมัยโบราณ เมืองนครปฐมจึงตั้งอยู่ต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่ตำบลสนามจันทร์ เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐาน และโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย ให้สร้างสะพานใหญ่ข้ามคลองเจดีย์บูชาขึ้น ทรงพระราชทานนามว่า “สะพานเจริญศรัทธา” ต่อมาให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครชัยศรีเป็น “นครปฐม” แต่ชื่อมณฑลยังคงเรียกว่า “มณฑลนครชัยศรี” อยู่จนกระทั่งยุบเลิกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบันนครชัยศรีมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นอยู่กับนครปฐม


ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพฯ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดราชบุรี

การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น 7 อำเภอ ประกอบด้วย 106 ตำบล และ 930 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอกำแพงแสน อำเภอนครชัยศรี อำเภอดอนตูม อำเภอบางเลน อำเภอสามพราน อำเภอพุทธมณฑล

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-นครปฐม

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเพชรเกษม(ทางหลวงหมายเลข 4) ถึงนครปฐม หรือจะใช้เส้นทางสายใหม่ กรุงเทพฯ-พุทธมณฑล-นครชัยศรี-นครปฐม ก็ได้

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-นครปฐม ทุกวัน รถออกทุกๆ 10นาที รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ และสถานีรถไฟธนบุรีทุกวัน รายละเอียดติดต่อหน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th

  งานเทศกาลอาหารและผลไม้นครปฐม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-7 กันยายน ของทุกปี ณ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ผลไม้ที่นิยมปลูกในจังหวัดนครปฐม ได้แก่ ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม ฝรั่ง กล้วย เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ได้แก่ กุนเชียง หมูแผ่น หมูหยอง ฯลฯ ระหว่างการจัดงานมีการประกวด โต๊ะจีน และผลไม้ต่าง ๆ 
งานประเพณีนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงแรม 5 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ณ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ กลางคืนมีมหรสพ
งานประเพณีสงกรานต์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน ของทุกปี บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์มีการทำบุญสรงน้ำพระพุทธรูปพระร่วงโรจนฤทธิ์ ก่อพระเจดีย์ทราย มีมหรสพและการละเล่นพื้นเมือง
งานนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิง จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 ถึงวันแรม 4 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากหน่วยงานต่าง ๆ และเกษตรกรมีการประกวดผลไม้ และมีมหรสพในเวลากลางคืน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐานองค์พระปฐมเจดีย์ที่ใหญ่และสูงที่สุดของไทย จังหวัดนครปฐมได้ใช้พระปฐมเจดีย์เป็นตราประจำจังหวัด
พระปฐมเจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2396โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างครอบองค์เดิมที่ชำรุดหักพังลง การก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2413 มีความสูง 3 เส้น 1 คืบ 10 นิ้ว ฐานวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 17 วา 3 ศอก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงบูรณะวัดพระปฐมเจดีย์ให้สง่างามมากขึ้น และถือว่าวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6
พระร่วงโรจนฤทธิ์ ประดิษฐานในซุ้มวิหารทางทิศเหนือหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาทมาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้งปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์เต็มองค์ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ.2456 เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย เสร็จแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในซุ้มวิหารด้านเหนือตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร และที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชวังนครปฐม อยู่ทางทิศตะวันออกติดกับบริเวณพระปฐมเจดีย์ มูลเหตุที่สร้างพระราชวังนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในหนังสือเรื่องตำนานวังเก่าว่าพระราชวังนี้สร้างเนื่องในการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระมหาเจดีย์เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างแต่แรกพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศนี้ แต่ก่อนพระสถูปเจดีย์นั้นร้างกลายเป็นป่าเปลี่ยว แต่ประชาชนยังเลื่อมใส ไปบูชาพระปฐมเจดีย์มิได้ขาด จึงทรงพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ทั่วบริเวณ และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์ คลองเจดีย์บูชา ให้การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ และนครปฐมสะดวกขึ้น ถึงกระนั้นการที่ไปมาระหว่างกรุงเทพฯ กับนครปฐมในสมัยนั้น ต้องค้างคืนกลางทางหนึ่งคืนจึงถึง จำเป็นต้องสร้างที่ประทับแรมขึ้นที่พระปฐมเจดีย์ จึงโปรดฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ทำนองเดียวกับพระราชวัง ซึ่งพระมหากษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาทรงสร้างที่ริมบริเวณพระพุทธบาทและทรงพระราชทานนามว่า “พระนครปฐม”
เนินวัดพระงาม เนินนี้อยู่ที่วัดพระงาม ตำบลนครปฐม ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไปเล็กน้อย เป็นซากพระเจดีย์ที่มีขนาดสูงใหญ่วัดหนึ่งในสมัยทวาราวดีเช่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ เพราะโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในบริเวณนี้ล้วนแต่เป็นของเก่าแก่ฝีมือสมัยทวาราวดีทั้งสิ้น เช่นเดียวกันกับที่ขุดได้ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ มีพระพุทธรูปศิลาหักพัง พระเสมาธรรมจักร กวางหมอบ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระพิมพ์ดินเผา เฉพาะที่ขุดได้ในบริเวณนี้ฝีมืองามมากยากจะหาที่อื่นเทียบได้ ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายองค์ และที่แตกหักเก็บไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์เป็นอันมาก ที่เรียกว่าวัดพระงามนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า เพราะพระพุทธรูปดินเผาที่ขุดได้จากบริเวณวัดนี้งามเป็นเลิศนั่นเอง
พระราชวังสนามจันทร์ ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางทิศตะวันตก ราว 2 กิโลเมตร มีพื้นที่ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา พระราชวังแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีมูลเหตุจูงใจมาจากการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ ที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยเมืองนครปฐมเป็นอย่างยิ่ง ทรงเห็นว่าเป็นเมืองที่เหมาะสมสำหรับประทับพักผ่อนเนื่องจากมีภูมิประเทศงามร่มเย็น ดังที่ได้ทรงไว้ในลายพระหัตถ์เรื่องการแก้ไขวิหารหลวงตอนหนึ่งว่า
“ในรัชกาลที่ 5 ฉันได้ออกไปพักอยู่ที่เมืองนครปฐมบ่อย ๆ จึงได้ใฝ่ใจในองค์พระนั้นมากแต่นั้นมา”
เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และยังไม่ได้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ เวลาเสด็จนครปฐมมักจะประทับที่พลับพลาชั่วคราวในดงไผ่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากรปัจจุบัน หรือมิฉะนั้นก็จะประทับที่พระตำหนักบังกะโล ซึ่งอยู่ตรงมุมถนนขวาพระใกล้กับสถานีตำรวจ ซึ่งปัจจุบันพระตำหนักหลังนี้ได้รื้อลงหมดแล้ว พระองค์โปรดการทรงม้าพระที่นั่งสำรวจท้องที่เป็นอย่างมาก บางครั้งก็เสด็จไปที่ตำบลวัดทุ่งพระเมรุ แต่ส่วนใหญ่โปรดเสด็จไปที่บริเวณพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ของชาวบ้านปลูกพืชไร่และพืชล้มลุก เช่น กล้วย สับปะรด ไว้มากมาย สลับกับทุ่งหญ้ารกเรื้อและป่าไผ่ขึ้นเป็นดง ทรงพอพระราชหฤทัยมาก เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมจะสร้างเป็นที่ประทับถาวรในการเสด็จฯ แปรพระราชฐาน จึงรับสั่งขอซื้อจากชาวบ้านเจ้าของที่โดยใช้เงินจากพระคลังข้างที่ทั้งสิ้น
พระราชประสงค์ในการซื้อที่ดินจำนวนมากมาย เพื่อสร้างพระราชวังสนามจันทร์ครั้งนี้มิใช่จะเห็นแก่ความสุขสบายส่วนพระองค์ ในการเสด็จฯ แปรพระราชฐานเท่านั้น แต่เพราะทรงมีพระราชดำริที่ลึกซึ้ง นั่นก็คือ ทรงเห็นว่านครปฐมเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสำหรับต้านทานข้าศึกซึ่งจะยกเข้ามาทางน้ำได้อย่างดี ด้วยทรงจดจำเหตุการณ์ เมื่อ ร.ศ.112 ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาปิดปากอ่าวไทยได้ และไม่ต้องการที่จะให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพดังกล่าว จึงตั้งพระทัยที่จะสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้สำหรับเป็นเมืองหลวงที่สองเมื่อประเทศชาติประสบปัญหาวิกฤติ
พระราชวังสนามจันทร์ เริ่มสร้างในปี พ.ศ.2450 มีหลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี) ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพระยาศิลป์ประสิทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งซึ่งสร้างแล้วเสร็จ และพระราชทานนามตามประกาศลงวันที่ 27 สิงหาคม 2454 มีเพียง 2 พระที่นั่ง ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม และพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี ต่อมาจึงสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชวังแต่เก่าก่อนดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธียกพระมหาเศวตฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระแท่นรัตนสิงหาสน์ ภายในพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2466 เวลา 4 นาฬิกา 47 นาที 51 วินาที
พระราชวังสนามจันทร์ เปิดให้เข้าชมเฉพาะ วันอังคาร-พฤหัสบดี-เสาร์ เวลา 9.00-16.00 น. มีอาณาเขตกว้างขวางประกอบด้วยสนามใหญ่อยู่กลาง มีถนนโอบเป็นวงโดยรอบและมีคูน้ำล้อมอยู่ชั้นนอก ส่วนพระที่นั่งต่าง ๆ นั้นรวมกันอยู่ส่วนกลางของพระราชวังเท่าที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่
- พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์อาคารก่ออิฐถือปูน เป็นตึก 2 ชั้นแบบตะวันตก ทรงใช้เป็นที่ประทับตั้งแต่ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ห้องต่างๆ บนพระที่นั่งได้แก่ ห้องบรรทม ห้องสรง ห้องเสวย ห้องภูษา ฯลฯ และในพระที่นั่งพิมานปฐมนี้เองที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ขององค์พระปฐมเจดีย์บนแท่นไม้สักมีขนาด 2 เมตร ชื่อว่า “พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย์” ขณะนี้ทางการได้รื้อนำไปตั้งไว้หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนพระที่นั่งพิมานปฐมนั้น ในปัจจุบันใช้เป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัดนครปฐม 
- พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี เป็นตึก 2 ชั้น อยู่ด้านใต้ของพระที่นั่งพิมานปฐม ขณะนี้ใช้เป็นที่ทำการของศาลากลางจังหวัดนครปฐม
- พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นตึก 2 ชั้น สร้างงดงามมากด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทย หลังคาซ้อนเช่นยอดปราสาท มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีงดงาม มีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ครบถ้วน พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่บรรทมเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของศาลากลางจังหวัด
- พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เป็นศาลาโถงรูปทรงไทยใหญ่กว้างขวาง ยกสูงจากพื้นดินประมาณหนึ่งเมตร และมีอัฒจันทร์ลง 2 ข้าง พระที่นั่งองค์นี้อยู่ถัดจากพระที่นั่งวัชรีรมยาเชื่อมต่อกันด้วยพระทวาร แต่เดิมใช้เป็นท้องพระโรงเวลาเสด็จออกขุนนาง รวมทั้งเป็นที่ประชุมข้าราชการและเหล่าเสือป่า นอกจากนี้ยังใช้เป็นโรงละครสำหรับแสดงโขนอีกด้วย ที่มีลักษณะพิเศษก็คือ ตัวแสดงจะออกมาปรากฏภายภายนอกฉากบนเฉลียงถึง 3 ด้าน มิใช่แสดงอยู่เพียงบนเวทีโรงละครที่มีลักษณะดังกล่าวมีอีก 2 แห่ง คือ โรงละครสวนมิสกวันและที่หอประชุมโรงเรียนวชิราวุธ ปัจจุบันพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ใช้เป็นหอประชุมของจังหวัดนครปฐมหรือใช้ในพิธีต่าง ๆ ของทางราชการ
- พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตึก 2 ชั้น แบบตะวันตกฉาบสี ไข่ไก่ หลังคามุงกระเบื้องสีแดง พระตำหนักหลังนี้ใช้เป็นที่ประทับเวลาเสือป่าเข้าประจำกองหรือในกิจพิธีเกี่ยวกับเสือป่า
- พระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ทาสีแดงอยู่คนละฝั่งกับพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักทั้งสองนี้เชื่อมติดต่อถึงกันด้วยทางเดินมีลักษณะคล้ายสะพานแต่มีหลังคา มีฝา และหน้าต่างทอดยาวจากชั้นบน
- พระตำหนักทับแก้ว เป็นตึกหลังเล็กซึ่งเคยเป็นที่ประทับในฤดูหนาว ปัจจุบันได้ปรับปรุงและตกแต่งสวยงาม ใช้เป็นบ้านพักของปลัดจังหวัดนครปฐม ภายในอาคารยังมีเตาผิงสำหรับให้ความอบอุ่น และมีภาพเขียนขาวดำของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบนแผ่นหินอ่อนสีขาวที่ผนังห้อง อนึ่งที่ดินบริเวณเบื้องหลังทับแก้วประมาณ 450 ไร่ ได้กลายเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
- พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไม้สักแบบหลังคามุงจาก อยู่ตรงข้ามกับทับแก้วคนละฝั่งถนน ห่างจากพระตำหนักมารีราชรัตนบัลลังก์ไปเล็กน้อยเรือนไม้หลังนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะไทยโบราณไว้ นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับบำเพ็ญกุศล และบางครั้งก็จัดให้มีการแสดงของไทยเดิม
- เทวาลัยคเณศวร์ หรือบางทีเรียกกันว่า ศาลพระพิฆเณศวร์ สร้างขึ้นให้เป็นที่สถิตของพระคเณศวร์ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ ศาลนี้ตั้งอยู่กลางสนามใหญ่หน้าพระที่นั่งนับเป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์มีผู้ศรัทธานับถือกันมาก จนเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของพระราชวังสนามจันทร์
- อนุสาวรีย์ย่าเหล เป็นรูปหล่อด้วยโลหะขนาดเท่าตัวจริงของสุนัข ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ย่าเหลเป็นสุนัขพันธุ์ทางเกิดในเรือนจำจังหวัดนครปฐม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบเข้าเมื่อครั้งเสด็จฯ ตรวจเรือนจำ จึงนับว่าเป็นโชคของย่าเหลที่ทรงพอพระราชหฤทัย และทรงเอาย่าเหลมาเลี้ยงไว้ในราชสำนัก ย่าเหลเป็นสุนัขที่เฉลียวฉลาดและจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านจนเป็นที่โปรดปรานมาก เป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยาและถูกยิงตายในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโศกเศร้าอาลัยย่าเหลมาก โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปย่าเหลด้วยทองแดงตั้งไว้หน้าพระตำหนังชาลีมงคลอาสน์ และทรงพระราชนิพนธ์กลอนไว้อาลัยย่าเหลไว้ที่แท่นใต้รูปนั้นด้วย
นอกจากนี้แล้ว ภายในพระราชวังสนามจันทร์ยังมีบ้านพักข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในที่ตามเสด็จเสมอในครั้งก่อน บ้านพักเหล่านี้ บางหลังก็ชำรุดทรุดโทรม แต่หลายหลังยังอยู่ในสภาพดีที่เห็นได้ก็คือ บ้านพักเจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็กซึ่งครั้งนั้นเรียกว่า “ทับเจริญ” ปัจจุบันนี้ได้ใช้เป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม
พระราชวังสนามจันทร์ เป็นสถานที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดมากเป็นพิเศษ จะเห็นได้จากการที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังแห่งนี้อยู่เนือง ๆ โดยเสด็จฯ แปรพระราชฐานให้ตรงกับฤดูการซ้อมรบของพวกเสือป่า พระองค์จึงทรงถือโอกาสออกตรวจตราและบัญชาการซ้อมรบของเหล่าเสือป่าด้วยพระองค์เองเสมอ ปัจจุบันก็ยังมีอาคารซึ่งปลูกสร้างขึ้น เพื่อกิจการของเสือป่าเหลืออยู่ให้เห็นเช่นอาคารที่พักของเสือป่าม้าหลวง และเสือป่าพรานหลวงกับโรงพยาบาลเสือป่า เป็นต้น
- พระราชวังเดิม เมืองนครปฐมเคยเป็นเมืองที่มีพระมหากษัตริย์ครอบครองมาแต่โบราณกาล แต่ปราสาทราชวังในครั้งนั้นสร้างด้วยไม้ถูกทอดทิ้งให้รกร้างมาเป็นเวลานาน จึงผุพังเหลือแต่ซาก จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2454 ร่องรอยพอจะสันนิษฐานได้ คือ ตรงบ้านเนินปราสาทอันเป็นที่ตั้งพระราชวังสนามจันทร์ ปัจจุบันนี้มีเนินดินและลำคูล้อมรอบตามหนังสือเรื่องพระปฐมเจดีย์ฉบับเก่าของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่าพระที่นั่งองค์เก่ามีฐานปราสาท และท้องพระโรงมีโบสถ์พราหมณ์ สระน้ำ กำแพงชั้นในและชั้นนอกก็ยังเหลืออยู่บ้าง แต่พวกจีนที่ไปตั้งทำไร่ รื้อทำลายเสียหายไปมาก
นอกจากนี้ยังมีเนินดิน ซากโบราณเกี่ยวกับโบสถ์พราหมณ์ และลายกนกปูนปั้นเหลือเป็นพยานอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ลักษณะลวดลายและฝีมือดูจะเป็นของเก่า ของเหล่านี้ล้วนแต่ใช้ศิลาแลงเป็นแกนและพวกปูนประกอบอีกชั้นหนึ่ง
มีสระใหญ่อีกแห่งหนึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเนินดินที่กล่าวนี้เรียกว่า “สระน้ำจันทร์” กล่าวกันว่าเป็นที่ขังน้ำจืดคล้ายกันกับน้ำในทะเลชุบศร เมืองลพบุรี ปัจจุบันนี้สระน้ำตื้นเขินเสียหมดแล้ว ชื่อของสระน้ำเป็นต้นเค้าที่ทำให้เรียกชื่อตำบลว่าตำบลสระน้ำจันทร์มาแต่โบราณ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังนี้ขึ้นจึงได้ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ เรียกตามพระราชวังว่า “ตำบลสนามจันทร์” จากเรื่องราวดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า เมืองนครปฐมเดิมคงจะใหญ่โตมาก เพราะบริเวณพระราชวังอยู่ห่างจากพระเจดีย์องค์เดิม ซึ่งเป็นศูนย์กลางของตัวเมือง เกือบ 2 กิโลเมตร
วัดพระเมรุ เป็นซากวัดร้างไม่มีผู้ใดปฏิสังขรณ์ตั้งอยู่ที่สวนอนันทอุทยาน ตำบลห้วยจระเข้ ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไปทางทิศใต้ไม่ไกลนักสันนิษฐานว่า สร้างตั้งแต่สมัยทวาราวดีมีอายุเท่ากับพระปฐมเจดีย์เดิม ซึ่งไม่น้อยกว่า 1,000 ปีขึ้นไป แต่เวลานี้ไม่มีซากสิ่งอื่นหลงเหลืออยู่ คงมีแต่ซากเนินใหญ่ปรากฏอยู่เนินหนึ่ง กรมศิลปากรได้ร่วมมือกับนักโบราณคดีฝรั่งเศสทำการขุดค้น เมื่อ พ.ศ. 2481 จากรูปทรงสันนิษฐานที่ขุดพบครั้งนี้สันนิษฐานว่าเป็นพระเจดีย์องค์มหึมาก่อเป็นชั้นๆ ย่อมุมขึ้นไปสูงมากเพราะซากฐานที่หักพังเหลืออยู่ในขณะที่ทำการขุดสูงถึง 12 เมตร มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปศิลานั่งห้อยพระบาทประจำ 4 ทิศ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ 1 องค์ คือ องค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
อนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุได้นำพระบาทขนาดโตมาไว้ตรงชั้นนอกพระระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ 2 คู่ ซึ่งได้มาจากวัดพระเมรุเช่นกัน สิ่งที่พบในบริเวณวัดพระเมรุมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระกร พระเพลา พระหัตถ์ของพระพุทธรูปศิลากับเทพยักษ์ เทพสิงห์ดอกบัวตลอดจนลวดลายประดับองค์พระเจดีย์ที่หักพังลงมากมาย นำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์องค์พระปฐมเจดีย์บ้าง ไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้าง
พระประโทณเจดีย์ เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่และใหญ่โตเป็นที่สองรองจากพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ที่วัดประโทณ ริมถนนเพชรเกษม ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร ถือกันว่าเป็นที่บรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เดิมเป็นเจดีย์เก่าแก่และได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชกาลที่ 4 โบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณนี้มีหลายอย่างเช่น พระพุทธรูป ลูกประคำ พระพิมพ์ดินเผาสมัยทวาราวดี นอกจากนี้ขุดพบครุฑโลหะสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่อีกด้วย
เนินธรรมศาลา อยู่ที่วัดธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ทางด้านใต้ของถนนสายเพชรเกษม เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกับวัดพระเมรุก่อนทำการขุดค้น เนินนี้ยังมิได้ทำการขุดค้นเช่นเดียวกับเนินวัดพระงาม เพราะมีสิ่งสร้างอยู่หน้าเนิน และปัจจุบันที่ตั้งธรรมศาลา
เนินพระหรือเนินยายหอม อยู่ที่ตำบลดอนยายหอม จากจังหวัดนครปฐมไปตามถนนเพชรเกษมสู่กรุงเทพฯ ประมาณ 5 กิโลเมตร จะมีแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนเศรษฐกิจ 2 (บ้านแพ้ว-ดอนยายหอม) ประมาณ 9 กิโลเมตร จะถึงเนินพระหรือเนินยายหอม ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของถนนลึกเข้าไปประมาณ 150 เมตร กลางทุ่งนาใกล้กับถนนสายนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากเมื่อ พ.ศ.2479 พระธรรมวาทีคณาจารย์ (หลวงพ่อเงิน) เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ได้ขุดเอาอิฐที่หักพังแถวชานเนินไปสร้างพระอุโบสถ เมื่อขุดลึกลงไปเล็กน้อยก็พบศิลาเหลี่ยมเขียวสองต้น สูงประมาณ 4 เมตร มีลายจำหลักที่ปลายเสา คล้ายกับเสาประตูสัญจิเจดีย์ของพระเจ้าอโศกมหาราชกับกวางหมอบ ทำด้วยศิลา 1 ตัว พระพุทธรูปศิลาสมัยทวาราวดี 1 องค์ พระเสมาธรรมจักรทำด้วยหินแต่หักพัง เสาศิลานี้ตอนบนง่ามสำหรับวางพระเสมาธรรมจักร เป็นแบบเดียวกับที่พบในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์วัดพระงาม วัดพระประโทณ และแบบพระราชวังสนามจันทร์ เสาศิลานี้ เวลานี้อยู่ที่วัดดอนยายหอม ส่วนกวางหมอบกับพระพุทธรูปส่งไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จากโบราณวัตถุที่พบเหล่านี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเดิมบริเวณนี้เป็นวัดเก่าและตัวเนินคงจะเป็นฐานเจดีย์ขนาดสูงใหญ่อยู่ภายในบริเวณวัด ตั้งแต่สมัยทวาราวดีหรือก่อนนั้นมีอายุกว่า 1,000 ปีมาแล้ว ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกำแพงแสน

เมืองกำแพงแสน เป็นเมืองโบราณเก่าแก่อยู่ทางทิศเหนือห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร มีถนนตัดไปถึงซากกำแพงดิน คูเมืองยังอยู่ชัดเจนมีผู้ขุดพบพระพุทธรูปและสิ่งก่อสร้างหลายชิ้นเป็นแบบทวาราวดีทั้งสิ้น แต่ฝีมือไม่ประณีตเหมือนที่ขุดได้ที่เมืองนครปฐม
อำเภอบางเลน
หมู่บ้านไทยโซ่ง ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะแรด ตำบลบางปลา อยู่ห่างจากอำเภอบางเลนมาทิศใต้ ตามถนนสายบางเลน-ดอนตูม ประมาณ 9 กิโลเมตร เชื้อสายไทยโซ่ง หรือไทยทรงดำ (เนื่องจากชาวไทยโซ่งชอบใช้เครื่องแต่งกายสีดำ) หรือลายโซ่ง อพยพมาจากบ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี มีวัฒนธรรมและประเพณีของตนเอง นอกจากนั้นภายในหมู่บ้านมีหัตถกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การทอผ้า และเครื่องจักสานต่าง ๆ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสามพราน

วัดไร่ขิง ตั้งอยู่ที่อำเภอสามพรานห่างจากกรุงเทพฯ 32 กิโลเมตร มีทางเข้า 3 ทาง คือ ทางแยกหน้าสถานีตำรวจโพธิ์แก้ว ทางแยกหน้าสวนสามพราน และทางแยกพุทธมณฑลสาย 5 วัดไร่ขิง เป็นวัดราษฎร์ สร้างเมื่อ พ.ศ.2334 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) เรียกชื่อวัดตามชื่อตำบล เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูนมาประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิงด้วย ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ พุทธลักษณะเป็นสมัยเชียงแสน สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยไทยล้านนาและล้านช้างตามตำนานเล่าว่าลอยน้ำมา และอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดศาลาปูน
วัดไร่ขิงนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระราชทานนามให้ว่า วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง) แต่ชาวบ้านเรียกกันเต็ม ๆ ว่าวัดมงคลจินดารามไร่ขิง จนกระทั่งเหลือแต่ชื่อวัดไร่ขิงไปในที่สุด
วัดไร่ขิง เป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี นิยมเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงกันอยู่เสมอ ทุกวันอาทิตย์จะมีตลาดนัดอาหารและผลไม้จำหน่ายหน้าวัด และที่บริเวณริมแม่น้ำหน้าโบสถ์จะมีชาวสวนพายเรือนำผลไม้มาขาย และบริเวณริมแม่น้ำหน้าโบสถ์นี้เป็นเขตอภัยทาน ร่มรื่น มีปลาสวายตัวโตนับพันอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อขนมปังเลี้ยงปลาได้ และยังมีก๋วยเตี๋ยวเรือ (หมู) รสเลิศขายทุกวัน
นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า รวบรวมของเก่าเช่นถ้วยชาม หนังสือเก่า ซึ่งชาวบ้านนำมาถวายวัดจัดแสดงไว้
ในระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 3 ค่ำเดือน 5 ของทุกปี ทางวัดไร่ขิงจะจัดงานนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้น มีการออกร้านและมหรสพมากมาย
สวนสามพราน เป็นสถานที่พักผ่อนตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 32 กิโลเมตร อยู่ติดแม่น้ำนครชัยศรี มีเนื้อที่ 137.5 ไร่ ภายในจัดแต่งเป็นสวนดอกไม้นานาชนิด หมู่บ้านไทย และบางส่วนเป็นโรงแรม ที่พัก และสนามกอล์ฟ นอกจากนี้ยังมีการแสดงพื้นบ้านให้ชมในช่วงบ่ายเป็นประจำทุกวัน สวนสามพรานเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 8.00-18.00น. ค่าบัตรผ่านประตูผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท ค่าบัตรผ่านประตูรวมค่าเข้าชมการแสดงต่าง ๆ คนละ 220 บาท ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โทร. 295-3261-4
ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพราน ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมกิโลเมตรที่ 31 ห่างจากสวนสามพราน 1กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 62 ไร่ เป็นสวนสัตว์นานาชนิด มีการแสดงโชว์ของช้างและการจับจระเข้ เปิดให้เข้าชมเวลา 8.30-17.30 น.ค่าเข้าชมคนละ 220 บาท ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โทร. 284-1873, 294-5211, 284-0273
การแสดงจระเข้เริ่มเวลา 12.45, 14.20 น. 
(วันจันทร์-เสาร์) วันหยุดราชการเพิ่มรอบ 10.30 น.
การแสดงมายากลเริ่มเวลา 13.15, 15.30 น.(วันจันทร์-เสาร์) วันหยุดราชการเพิ่มรอบ 11.00 น.
การแสดงช้างเริ่มเวลา 13.45, 15.30 น. 
(วันจันทร์-เสาร์) วันหยุดราชการเพิ่มรอบ 11.30 น.
พุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี และตำบลบางระทึก อำเภอสามพราน มีพื้นที่ 2,500 ไร่ จากกรุงเทพฯ ไปตามถนนเพชรเกษมถึงกิโลเมตรที่ 22 เลี้ยวขวาตามถนนพุทธมณฑล สาย 4 ประมาณ 8 กิโลเมตร หรือเดินทางไปตามถนนสายปิ่นเกล้า-พุทธมณฑล ระยะทาง 19 กิโลเมตร พุทธมณฑลเป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยร่วมใจกันจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้ถึง 2,500 ปี บริเวณจุดศูนย์กลางของพุทธมณฑลเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ซึ่งเป็นพระประธานของพุทธมณฑลมีความสูง 2,500 กระเบียด (ประมาณ 13.75 เมตร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า “พระศรีศากยทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” รอบองค์พระประธานเป็นสถานที่จำลองของสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ตำบลอันเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ พระวิหารพุทธมณฑล ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช และที่พำนักสงฆ์อาคันตุกะ หอสมุด พิพิธภัณฑ์พุทธศาสนา หอกลอง และสวนพันธุ์ไม้ต่างๆ ผู้ที่จะเข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดแจ้งความจำนงได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์พุทธมณฑล พุทธมณฑล ศาลายา นครปฐม 73170
ฟาร์มกล้วยไม้เอ็มแอนด์ดับเบิ้ลยู ตั้งอยู่ถนนพุทธมณฑลสาย 5 ตำบลไร่ขิง บริษัทเอ็มแอนด์ดับเบิ้ลยูเป็นผู้ส่งออกกล้วยไม้รายใหญ่รายหนึ่งของจังหวัดนครปฐม นักท่องเที่ยวสามารถชมกระบวนการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ การบรรจุหีบห่อก่อนส่งออกยังต่างประเทศ ค่าเข้าชม 40 บาทต่อคน ติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โทร. (034) 321166, 321175
สวนศิลปะ มีเซียม ยิบอินซอย ตั้งอยู่เลขที่ 38/9 ถนนพุทธมณฑล สาย 7 ทางเข้าอยู่ตรงข้ามโรงเรียน ภปร. เข้าไปราว 1 กิโลเมตร เป็นที่รวบรวมประติมากรรมของคุณมีเซียม ยิบอินซอย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าและจัดสร้าง สวนนิทรรศการชั่วคราวในรูปของหอศิลปะ และสวนศิลปะกลางแจ้ง เพื่อให้การสนับสนุนศิลปิน ซึ่งต้องการเผยแพร่ผลงานของตนเปิดให้เข้าชมปีละครั้ง คือ วันที่ 19 สิงหาคม เท่านั้น รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อคุณเยาวดี โทร. 286-8322 หรือ (034) 213792

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนครชัยศรี

อำเภอนครชัยศรี ดินแดนแห่งสัมโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย เอกลักษณ์เหล่านี้แม้จะมีมานานแต่ก็ยังคงความเด่นอันเป็นลักษณะเฉพาะไว้ได้ที่นครชัยศรี นอกจากจะมีส้มโอและข้าวสารแล้ว ปัจจุบันยังมีไร่องุ่นและโรงงานทำเหล้าองุ่น ซึ่งยินดีเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมกิจการของโรงงานได้โดยติดต่อทางจดหมายถึงบริษัทประมวลผลจำกัด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120 หรือโทร. (034) 331787, 331954 การท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอำเภอนครชัยศรี ได้แก่ การล่องเรือเที่ยวในแม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน)
จุดแรก ที่ท่าเรือสามพราน (ปลายทางรถเมล์ บขส.กรุงเทพฯ-สามพราน) มีเรือเมล์รับส่งคนโดยสารระหว่างท่าเรือสามพรานถึงวัดนักบุญเปรโต หรือ วัดโรมัน ในวันศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ บริเวณหน้าวัดโรมันจะมีพ่อค้า แม่ค้า ชาวสวนนำของมาขายที่ตลาดนัด น่าชมมาก
จุดที่สอง จากท่าเรือหน้าอำเภอนครชัยศรี เช่น เรือไปชมฟาร์มกุ้ง สวนส้ม ได้ทุกวัน ใช้เวลาล่องเรือประมาณ 1-2 ชั่วโมง
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ตั้งอยู่เลขที่ 43/2 หมู่ 1 ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี กิโลเมตรที่ 31 ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี เป็นสถานที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส ซึ่งเป็นผลงานสร้าง-สรรค์ของกลุ่มศิลปินไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในอันที่จะส่งเสริมเผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทย ประกอบด้วยหุ่นชุดต่างๆ ได้แก่ ชุดพระอริยสงฆ์ ชุดพระบรมรูป พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี และชุดมุมหนึ่งของชีวิต เป็นต้น
เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด (จันทร์-ศุกร์ เปิดเวลา 9.00-17.30 น. ส่วนวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดเวลา 8.30-18.00 น.) ค่าเข้าชม คนไทย 50 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.(034) 332-109
อุทยานปลา ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยพลูจะมีปลามาอยู่รวมกันโดยธรรมชาติได้แก่ ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาตะเพียน ปลาหางแดง ซึ่งอยู่ในแม่นํ้าท่าจีน อุทยานปลาอยู่ห่างจากทางแยกเข้าที่ทำการอำเภอนครชัยศรีประมาณ 11 กม.




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่นครปฐม