แผนที่ชัยภูมิ

  • แผนที่ชัยภูมิ
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ชัยภูมิ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศใหม่จัดเมืองต่าง ๆ เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยรวมเอา 5 เมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครราชสีมาในอดีต ได้แก่ เมืองชัยภูมิ เมืองสี่มุม (จัตุรัส) เมืองภูเขียว (ผักปัง) เมืองเกษตรสมบูรณ์ (บ้านยาง) และเมืองบำเหน็จณรงค์ (บ้านชวน) โดยเลือกเอาเมืองชัยภูมิ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสองเมืองใหญ่คือเมืองสี่มุม (จัตุรัส) และเมืองภูเขียว (ผักปัง) ยกฐานะเป็นศูนย์กลางของจังหวัด และเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองชัยภูมิ ยุบเมืองทั้ง 4 เป็นอำเภอ ได้แก่ อำเภอจัตุรัส อำเภอภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอบำเหน็จณรงค์ ต่อมาได้มีการยุบอำเภอบำเหน็จณรงค์ให้อยู่ในการปกครองของอำเภอจัตุรัส และยุบอำเภอเกษตรสมบูรณ์ให้อยู่ในการปกครองของอำเภอภูเขียว เนื่องจากอำเภอทั้ง 2 นั้นอยู่ไม่ไกลกัน จังหวัดชัยภูมิจึงเหลืออยู่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอจัตุรัส และอำเภอภูเขียว ที่เป็น 3 เมืองเสาหลัก ร่วมก่อตั้งจังหวัดชัยภูมิขึ้นมา และเจริญมาตามลำดับ ปัจจุบันจังหวัดชัยภูมิแบ่งการปกครองทั้งหมด 16 อำเภอ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับ 7 ของประเทศ โดยมีเนื้อที่ประมาณ 12,778.3 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่นับตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม กระทั่งสมัยที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรล้านช้าง

สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองชัยภูมิปรากฏในทำเนียบแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า เป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครราชสีมา แต่ต่อมาผู้คนได้อพยพออกไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่อื่น และเมื่อปี พ.ศ. 2360 "นายแล" ข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ได้อพยพครอบครัวและบริวารเดินทางข้ามลำน้ำโขง มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น (หนองอีจาน) ซึ่งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2362 เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวส่งไปบรรณาการเจ้าอนุวงศ์จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น "ขุนภักดีชุมพล" ในปี พ.ศ. 2365 นายแลได้ย้ายชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวงซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอด (เขตอำเภอเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมขึ้นต่อเจ้าอนุวงศ์อีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวงขึ้นเป็น เมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น "พระยาภักดีชุมพล" เจ้าเมืองคนแรก

ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ได้ก่อการกบฏ ยกทัพเข้ามาหมายจะตีกรุงเทพมหานคร โดยหลอกหัวเมืองต่าง ๆ ที่เดินทัพมาว่าจะมาช่วยกรุงเทพมหานครรบกับอังกฤษ จนกระทั่งเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้เมื่อปี พ.ศ. 2369 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นต่อมาเมื่อความแตก เจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวเมืองนครราชสีมาเพื่อนำไปยังเมืองเวียงจันทน์

เมื่อไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์ หญิงชายชาวเมืองที่ถูกจับโดยการนำของคุณหญิงโม ภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้ พระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิ พร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์จนแตกพ่ายไป ฝ่ายกองทัพลาวส่วนหนึ่งล่าถอยจากเมืองนครราชสีมาเข้ายึดเมืองชัยภูมิไว้และเกลี้ยกล่อมให้พระยาภักดีชุมพลเข้าร่วมเป็นกบฏด้วย แต่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอม เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นจึงจับตัวพระยาภักดีชุมพลมาประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า ซึ่งต่อมาชาวชัยภูมิได้ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านมีความซื่อสัตย์และเสียสละต่อแผ่นดิน จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น ณ บริเวณนั้น ปัจจุบันทางราชการได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยชื่อว่า "ศาลาพระยาภักดีชุมพล (แล)" มีรูปหล่อของท่านอยู่ภายใน เป็นที่เคารพกราบไหว้และถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัด ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิประมาณ 3 กิโลเมตร

ในปัจจุบัน ชัยภูมิเป็นจังหวัดที่น่าท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ผลิตภัณฑ์พื้นเมือง ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชัยภูมิคือ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย มัดหมี่ หมอนขิต ผ้าขิต และสินค้าเมือง ที่ทำจากผ้าทอมือ เป็นต้น

ชัยภูมิอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 342 กิโลเมตร

อาณาเขต

ทิศเหนือ จดจังหวัด เพชรบูรณ์ และจังหวัดขอนแก่น  
ทิศใต้ จดจังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันออก จดจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา  
ทิศตะวันตก จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดลพบุรี

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ

  1. อำเภอบ้านเขว้า 13 กิโลเมตร
  2. อำเภอหนองบัวระเหว 33 กิโลเมตร
  3. อำเภอดอนสวรรค์ 38 กิโลเมตร
  4. อำเภอจัตุรัส 39 กิโลเมตร
  5. อำเภอแก้งคร้อ 45 กิโลเมตร
  6. อำเภอหนองบัวแดง 53 กิโลเมตร
  7. อำเภอบำเหน็จณรงค์ 58 กิโลเมตร
  8. อำเภอภูเขียว 77 กิโลเมตร
  9. อำเภอบ้านแท่น 81 กิโลเมตร
  10. อำเภอภักดีชุมพล 85 กิโลเมตร
  11. อำเภอเกษตรสมบูรณ์ 90 กิโลเมตร
  12. อำเภอเทพสถิต 105 กิโลเมตร
  13. อำเภอคอนสาร 125 กิโลเมตร
  14. อำเภอเนินสง่า 30 กิโลเมตร
  15. อำเภอซับใหญ่

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ชัยภูมิ

รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านรังสิตวังน้อย จนถึงสามแยกจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอด่านขุนทด เข้าสู่ จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 342 กิโลเมตร จากจังหวัดนครราชสีมา เดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ-ขอนแก่น) ผ่านตำบลจอหอ เลี้ยวซ้าย ไปตามทางหลวงหมายเลข 205 ผ่านอำเภอโนนไทย ตรงไปจนถึง สี่แยก ตำบลหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 201 เข้าสู่ จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทาง 119 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

รถโดยสาร บริษัทขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถ กรุงเทพฯ-ชัยภูมิ ทุกวัน ติดต่อ ขอรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

ทางรถไฟ

รถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีรถด่วน รถเร็ว กรุงเทพฯ-หนองคาย บริการทุกวันโดยลงที่สถานีบัวใหญ่ จากนั้นสามารถ ต่อรถโดยสารประจำทาง ที่สถานีเดินรถ ไปอีก 51 กิโลเมตร รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ แผนกบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีบริการเที่ยวบินไปจังหวัดชัยภูมิ หากประสงค์จะเดินทางไปโดยเครื่องบินจะต้องลงที่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นสามารถ ต่อรถโดยสารจากจังหวัดขอนแก่นย้อนกลับเข้าชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือจะลงที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วต่อรถโดยสารเข้าจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 119 กิโลเมตร รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-356-1111

ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิ ประมาณร้อยละ 95 เป็นคนท้องถิ่นเดิม มีวัฒนธรรมประเพณีซึ่ง มีลักษณะผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมของท้องถิ่นกับหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา ประกอบกับ ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ของจังหวัด มีลักษณะเด่นชัดที่เน้นและ เชิดชูวีรกรรม ความซื่อสัตย์ กตัญญู ของเจ้าพ่อพระยาแล ทำให้มีงานประจำ และงานประเพณี ซึ่งแสดง ถึงวัฒนธรรมของจังหวัดดังต่อไปนี้
งานประจำปี ฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพระยาแล จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าพ่อ พระยาแลผู้สร้างเมืองชัยภูมิคนแรก จัดระหว่างวันที่ 12-20 มกราคมของทุกปี ที่บริเวณสนาม หน้าศาลากลางจังหวั ดและสี่แยก อนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล ในการจัดงานนี้ ประกอบด้วย พิธีบวงสรวง ดวงวิญญาณ ของเจ้าพ่อพระยาแล ขบวนแห่สักการะอนุสาวรีย์เจ้าพ่อ ขบวนถวายช้างแด่เจ้าพ่อ และขบวนแห่ ของอำเภอต่างๆ รวมทั้งการออกร้าน จัดนิทรรศการของหน่วยราชการและเอกชน การประกวด ผลิตผล ทางการเกษตร
งานประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อพระยาแล ที่บริเวณศาลหนองปลาเฒ่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 พฤษภาคม ของทุกปี ชาวบ้านจะไปเคารพสักการะดวงวิญญาณของเจ้าพ่อ และรำถวายเจ้าพ่อ ที่ศาล หลังเก่ากันเป็นจำนวนมาก
ประเพณีรำผีฟ้า เป็นการรำบวงสรวงเป็นกลุ่มๆ ที่ภูพระ ซึ่งมีพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูป แกะสลัก ในหินทราย สูงประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก การรำบวงสรวงนี้จะมีขึ้นในระหว่างวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 5 คือเดือนเมษายน และในวันเข้าพรรษา ออกพรรษา ซึ่งจะมีประชาชนไปทำบุญกันมาก
งานแห่เทียนเข้าพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (ประมาณเดือนกรกฎาคม) เป็นงาน ที่เทศบาล เมืองชัยภูมิจัดขึ้นทุกปี มีการประกวดเทียนพรรษาที่ประดิษฐ์อย่างสวยงาม เป็นงาน ที่มีประชาชน ให้ความสนใจไม่แพ้งานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ ยังมีงานประเพณีอื่นๆ ที่จัดเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับจังหัดในภาคอีสาน เช่น งานบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหก ประมาณเดือนพฤษภาคม งานบุญข้าวจี่ เป็นการฉลองเมื่อเสร็จสิ้นการทำนา ประมาณ เดือนกุมภาพันธ์ งานบุญพระเวช หรืองานบุญเดือนสี่ ประมาณเดือนมีนาคม มีการเทศน์มหาชาติ

 

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ประดิษฐานอยู่ตรงวงเวียนศูนย์ราชการ ปากทาง เข้าสู่ตัวเมืองชัยภูมิ อนุสาวรีย์แห่งนี้ ชาวจังหวัดชัยภูมิได้ร่วมใจกันสร้างขึ้น เพื่อเป็นการระลึก ถึงพระยาภักดีชุมพล ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ ซึ่งชาวชัยภูมิทั้งหลายเรียกท่านว่า “เจ้าพระยาแล”
ศาลเจ้าพ่อพระยาแล ตั้งอยู่ริมหนองปลาเฒ่า ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ ประมาณ 3 กิโลเมตร แยกเข้าไปจากถนนใหญ่สายชัยภูมิ-บ้านเขว้า (ทางหลวงหมายเลข 225) เลี้ยวขวาเข้าสู่ริมหนองปลาเฒ่า ที่ริมน้ำแห่งนี้มีต้นมะขามใหญ่ วึ่งกล่าวกันว่า เจ้าพระยาแลถูกทหารเวียงจันทน์ฆ่าที่นี่เมื่อปี พ.ศ. 2369 มีศาลสร้างด้วยไม้ตั้งอยู่ใต้ต้นมะขาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ชาวจังหวัดชัยภูมิ ได้พร้อมใจกัน สร้างศาลพระยาภักดีชุมพล ขึ้นประดิษฐานรูปหล่อของท่านไว้ภายใน เพื่อเป็นที่เคารพสักการะ ของชาวเมืองชัยภูมิ ทุกปีจะมีงานสักการะเจ้าพ่อพระยาแล ตั้งแต่วันพุธแรกของเดือน 6 มีกำหนด 7 วัน 7 คืน
อุทยานแห่งชาติตาดโตน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเทือกเขาภูแลนคา มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 134,737.50 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2523 เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกผาเอียง น้ำตกตาดกลาง และน้ำตกตาดโตน ผู้ประสงค์จะเข้าพักในบริเวณอุทยานฯ สามารถ ติดต่อสอบถาม รายละเอียด และจองบ้านพักล่วงหน้าได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 5795734 การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 2051 จากตัวเมืองถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ถนนราดยางตลอดสาย
น้ำตกตาดโตน เป็นน้ำตกที่มีลานหินกว้างลดหลั่นเป็นชั้นๆ สวยงามมาก ในฤดูน้ำหลาก ประมาณเดือนเมษายน-กันยายน จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนและเที่ยวเป็นจำนวนมาก
ศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ด้วง) ตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตกตาดโตน เป็นที่นับถือบูชา ของชาวชัยภูมิ และจังหวัดใกล้เคียง เดิมเจ้าพ่อตาดโตนเป็นคนเชื้อสายเขมรอพยพเข้าเมืองไทย ในเวลาใกล้เคียงกับ พ่อพระยาแล (พระยาภักดีชุมพล) ในช่วงที่ท่านอยู่เมืองไทย ท่านบำเพ็ญตน เป็นชีปะขาว ยึดมั่นใน สมถะกรรมฐาน ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และช่วยรักษาคนไข้ เป็นที่นับถือเลื่อมใสของราษฎรมาก เมื่อท่านถึงแก่กรรมจึงสร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพสักการะของลูกหลานและประชาชนโดยทั่วไป โดยได้สร้างศาลไว้หลายแห่ง เช่น ศาลเจ้าพ่ออาจารย์ด้วง หรือศาลปู่ด้วงที่ช่องสามหมอ ศาลปู่ด้วง ที่วัดพระพุทธชัยภูมิพิทักษ์ และศาลเจ้าพ่อตาดโตน (ด้วง) ที่บริเวณน้ำตกตาดโตน และปัจจุบัน มีประเพณีรำผีฟ้า ผีทรงบวงสรวงเจ้าพ่อเป็นประจำทุกวันพุธ และมีการบวงสรวงใหญ่ปีละ 4 ครั้ง
ปรางค์กู่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร คือ จากจังหวัดชัยภูมิมาตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยก เลี้ยวขวา เข้าปรางค์กู่ เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร
ปรางค์กู่เป็นปราสาทอีกแห่งหนึ่ง ที่มีแผนผัง และลักษณะเช่นเดียว กับปราสาท ที่ได้พบหลักฐาน ว่าเป็นอโรคยาศาล ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 นั่นคือ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ วิหาร หรือบรรณาลัย ด้านหน้า 1 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพง ซึ่งมีโคปะรุ เฉพาะด้านหน้าทั้งหมด ก่อด้วยศิลาแลง ยกเว้น กรอบประตูหน้าต่าง ทับหลัง เสาประดับ เป็นหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก นอกกำแพง ตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ 1 สระ ยังคงสภาพสมบูรณ์ดีมาก โดยเฉพาะ ปรางค์ประธาน ซึ่งมีผัง เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้า มีประตูเข้าออก ทำเป็นมุข ยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก เหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังติดอยู่ จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล ซึ่งจับท่อน พวงมาลัย ไว้ด้วยมือ ทั้งสองข้าง ด้านข้างทางซ้ายและขวาจำหลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร กับรูปนางปรัชญาปารมิตา ด้านหน้ายังมีทับหลังเช่นกัน สันนิษฐานว่าสลักเป็นภาพเดียวกัน แต่ปัจจุบันลบเลือนมาก ที่ช่องประตูหลอก ด้านทิศเหนือยังมีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี ขนาดสูง 1.75 เมตร หน้าตักกว้าง 75 เมตร ประดิษฐานอยู่ 1 องค์ ซึ่งเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น นอกจากนี้ ยังพบทับหลัง และองค์ประกอบ สถาปัตยกรรมอื่นๆ เช่น เสาประดับประตู
ภูแฝด เป็นเนินเขาเตี้ยๆ มีรอยพระพุทธบาทในก้อนหินคล้ายๆ พระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ในท้องที่ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง หางจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 18 กิโลเมตร (เส้นทางเดียวกับภูพระ) แยกขวาเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร มีต้นไทร สนฉัตร ต้นจำปา และพันธุ์ไม้ นานาชนิด ทางเข้าวัดทั้งสองข้างมีต้นไม้ร่มรื่นยิ่งนัก หากจะชม รอยพระพุทธบาท สามารถขอกุญแจ จากแม่ชีที่วัดได้
ภูพระ ตั้งอยู่ที่บ้านนาไกเซา ตำบลนาเสียว การเดินทางจากตัวเมืองชัยภูมิ มาตามทางหลวง หมายเลข 201 (ชัยภูมิ-ภูเขียว) ประมาณ 13 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามทางสายนาเสียว-ห้วยชัน เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงแยกซ้ายเข้าวัดศิลาอาสน์ (ภูพระ) อีกประมาณ 1 กิโลเมตร รถยนต์แล่นได้ตลอด ถึงลาดเขาเป็นทางลูกรังอัดแน่น
ภูพระ เป็นภูเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่ง ที่ผนังของลาดเขาจำหลักเป็นภาพพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคือที่มา ของชื่อเขาภูพระ ด้านซ้ายจำหลักเป็นพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่งประทับนั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตัดกว้าง 5 ฟุต สูง 7 ฟุต พระหัตถ์ขวาวางอยู่ที่พระเพลา พระหัตถ์ซ้ายพาดอยู่ที่พระชงฆ์ (พระหัตถ์ อยู่ในท่า ตรงข้ามกับ ปางมารวิชัย) เรียกกันว่า พระเจ้าตื้อ ถัดมาด้านซ้ายมือมีลักษณะเป็นเสาหิน รอบเสา จำหลักเป็น พระพุทธรูปอีก 7 องค์ ประทับนั่งเรียงแถวขนาดใหญ่เล็กลดหลั่นกัน ปางสมาธิ 5 องค์ ปางเดียวกับ พระเจ้าตื้อ 2 องค์ ล้วนขัดสมาธิเพชร นอกจากนี้ ระหว่างกลาง ที่ผนัง ยังมีพระพุทธรูป สลักลักษณะเดียวกัน อีก 1 องค์ ขนาดเล็กสูงประมาณ 7 นิ้ว พระพุทธรูปเหล่านี้ มีพระพุทธลักษณะ เป็นแบบพระพุทธรูปอู่ทอง มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 ร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น ทุกๆ ปี มีงานนมัสการ พระพุทธรูปที่ภูพระ ในกลางเดือน 5 เริ่มต้นวันขึ้น 14 ค่ำ รวม 3 วัน ทุกปี
ใบเสมาบ้านกุดโง้ง ตำบลกุดต้ม การเดินทางจากจังหวัดชัยภูมิตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงบ้านกุดตุ้ม เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางสายกุดตุ้ม-บุ้งคล้า เข้าไปตามทาง จนถึงหมู่บ้านกุดโง้ง และต่อไปถึงวัดกุดโง้ง
วัดกุดโง้ง เป็นสถานที่รวบรวมใบเสมาที่พบในบริเวณรอบๆ หมู่บ้าน โดยนำมา เก็บรักษาไว้ ในอาคารไม้ที่ปลูกสร้างทางด้านซ้ายของโรงเรียนบ้านกุดโง้ง ใบเสมาทั้งหมดทำด้วยหินทราย มีลักษณะ เป็นแผ่น ขนาดค่อนข้างใหญ่ ปลายมนแหลม ด้านหน้าจำหลักลายและบางแผ่นมีจารึกอยู่ที่ด้านหลังด้วย เฉพาะที่สลักลวดลายเก็บรักษาไว้ในอาคาร ชนิดแผ่นเรียบและรูปสถูปปักไว้ที่พื้นด้านนอก ลวดลาย ที่ปรากฎ บนใบเสมามักเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาเล่าเรื่องชาดกตอนต่างๆ เช่น พรหมนารอทชาดก หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้า ประทับนั่ง บนบัลลังก์ ใต้ต้นโพธิ์ หรือรูปสถูปซึ่งมักปักดินอยู่นอกอาคารเห็นเพียงยอดสถูป ส่วนองค์ระฆัง รูปหม้อน้ำ คงจะฝัง อยู่ใต้ดิน นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน นอกจากนี้ ระหว่างทางเข้าหมู่บ้าน ซ้ายขวาของถนน ยังมีเสมาหินทรายขนาดต่างๆ กันปักอยู่เป็นระยะ
น้ำตกผาเอียง อยู่ในท้องที่อำเภอเมือง ห่างจาก ศาลากลางจังหวัด ไปทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 32 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีลักษณะเป็นหน้าผาเอียงตัดลำห้วย และทำให้น้ำตกเอียงเข้าทางผาด้านใดด้านหนึ่ง เป็นน้ำตกที่อยู่ด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติตาดโตน ที่ลำห้วยชีลอง บริเวณรอบน้ำตกนี้ เป็นป่าดงดิบแล้ง ค่อนข้างหนาทึบ และยังมีไม้ขนาดใหญ่อยู่มาก ทำให้บรรยากาศร่มรื่น เหมาะสำหรับ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างยิ่ง
น้ำตกตาดฟ้า ตาดฟ้าหรือถ้ำเตี้ย เป็นถ้ำเล็กๆ อยู่เชิงเขาภูอีเฒ่า และมีน้ำตก เป็นลานหิน ลาดชัน กว้างประมาณ 15-20 เมตร ยาวโดยตลอด 80-90 เมตร ลาดชันประมาณ 30 องศา มีน้ำไหล ตลอดปี มีแอ่งน้ำ ให้อาบหรือเล่นได้ อยู่ในท้องที่ตำบลนาเสียว อำเภอเมือง ห่างจากจังหวัดไปทางทิศเหนือ ประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 201
สระหงษ์ อยู่ในบริเวณวัดเขาสระหงษ์ เป็นสระโบราณอยู่กลางเนินเขาเตี้ยๆ กว้างประมาณ 5 วา ห่างจากสระนี้ประมาณ 3 เมตร มีหินก้อนหนึ่งลักษณะคล้ายรูปหงษ์ ซึ่งเป็นเองโดยธรรมชาติ อยู่ในท้องที่ ตำบลตาเสียว อำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2051 ทางด้านซ้ายมือ (ทางแยกเข้าอ่างเก็บน้ำช่อระกา)

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านเขว้า (ทางหลวงหมายเลข 225)

  บ้านเขว้า เป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหม และผ้าฝ้ายที่มีคุณภาพดี ลวดลายสวยงาม แห่งหนึ่ง ในภาคอีสาน โดยเฉพาะ ผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ในหมู่ ผู้ที่นิยม ใช้ผ้าพื้นเมือง ของไทย อำเภอบ้านเขว้าอยู่ห่างจากอำเภอเมืองชัยภูมิประมาณ 13 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 225 นอกจากนั้นบริเวณหนองใหญ่ในอำเภอบ้านเขว้ายังเป็นที่อยู่ของนกเป็ดน้ำ ซึ่งอพยพ ย้ายที่อยู่อาศัย วางไข่ ในประมาณเดือนตุลาคม-มกราคม อีกด้วย
กู่แดง ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดแร้ง การเดินทางจากตัวจังหวัดชัยภูมิ มาตามทางหลวงหมายเลข 225 ผ่านอำเภอบ้านเขว้าจนถึงบ้านหลุมโพธิ์ประมาณ 30 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปบ้านกุดยางประมาณ 8 กิโลเมตร กู่แดงตั้งอยู่ภายในวัดกุดยาง (กู่แดง) กู่แดง เป็นโบราณสถานแบบขอมอีกแห่งหนึ่ง เป็นอาคารหลังเดียว ปัจจุบันคงเหลือเพียงฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ก่อสูงด้วยศิลาแลง มีร่องรอย บันไดทางขึ้น ทั้ง 4 ด้าน ตัวอาคารผนังก่ออิฐแต่หักพังหมด คงเหลือเสากรอบประตูทั้ง 4 ด้าน และยังพบ ทับหลัง ซึ่งตกอยู่ที่พื้นด้านทิศตะวันออก สลักเป็นภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้าง ส่วนทางด้านเหนือ ถูกดัดแปลงไปบ้าง โดยทางวัดได้สร้างพระพุทธรูปประทับนั่ง พร้อมบันได ทางขึ้นครอบอาคารเดิม โบราณสถานแห่งนี้ประมาณอายุจากลวดลายทับหลังราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะเขมรแบบบาปวน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอภูเขียว (ทางหลวงหมายเลข 201)

  ศูนย์รวมไม้ดัดบ้านแข้ อยู่บนทางหลวงหมายเลข 201 จากตัวเมือง ชัยภูมิ ก่อนถึง อำเภอภูเขียว ประมาณ 1 กิโลเมตร สองข้างทางจะเป็นแหล่งจำหน่ายไม้ดัด ซึ่งเป็นไม้ประดับ ที่สวยงามมาก เป็นอาชีพของชาวบ้านแคร่โดยเฉพาะ โดยนำไม้ประเภทข่อย มะสัง ตะโก จากในป่าลึกๆ นำมาดัดให้เป็นรูปทรงที่สวยงาม และจำหน่าย ในราคา ที่ย่อมเยาว์ แก่นักเดินทาง ที่ผ่านไปมา เพื่อนำมาประดับบ้าน
พระธาตุหนองสามหมื่น หรือ พระธาตุบ้านแก้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านแก้ง การเดินทาง จากจังหวัดชัยภูมิ ตามทางหลวง หมายเลข 201 ประมาณ 5 กิโลเมตร ถึงสี่แยก เลี้ยวซ้าย เข้าทางหลวง หมายเลข 201 สู่อำเภอภูเขียว เลยไปจนถึง บ้านหนองสองห้อง ระยะทาง ประมาณ 75 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย เข้าทางหลวง หมายเลข 2055 ประมาณ 9 กิโลเมตร ถึงบ้านแก้ง เลี้ยวซ้าย เข้าวัดบ้านแก้ง อีกประมาณ 5 กิโลเมตร องค์พระธาตุ ตั้งอยู่ภายในวัด พระธาตุสามหมื่น เรียกชื่อ ตามหนองน้ำ สามหมื่น ซึ่งตั้งห่างออกไป ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของจังหวัด เป็นพระธาตุ ที่มีลักษณะสวยงาม และสมบูรณ์ที่สุด องค์หนึ่ง ไม่ปรากฏหลักฐาน ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากลักษณะ ทางด้านสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ที่ผสมผสานกัน ระหว่างล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา สันนิษฐานว่า สร้างขึ้น ราวพุทธศตวรรษ ที่ 21-22 ในสมัย พระไชยเชษฐาธิราช แห่งราชอาณาจักรลาว พระธาตุสามหมื่น มีลักษณะ เป็นเจดีย์ ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานเขียง รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณ 32.70 เมตร สูงถึงยอด ประมาณ 45.30 เมตร มีบันไดทางขึ้น ทั้งสี่ด้าน เหนือฐานเขียง เป็นฐานบัวคว่ำ บัวหงาย รองรับองค์พระธาตุ ซึ่งมีซุ้ม ทั้งสี่ทิศ ประดิษฐาน พระพุทธรูป ปางรำพึง และปางลีลา ภายในองค์พระธาตุ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า รูปแบบดังกล่าว อาจเปรียบเทียบ ได้กับพระธาตุอื่นๆ ทั้งในนครเวียงจันทน์ และในเขตไทย เช่น พระธาตุวัดเทพพล เมืองเวียงคุก จังหวัดหนองคาย พระธาตุศรีเมือง นครเวียงจันทน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ บริเวณที่ตั้ง พระธาตุสามหมื่น แต่เดิม ก็เคยเป็น เมืองโบราณ สมัยทวารวดี ที่มีขนาดใหญ่ เมืองหนึ่ง อายุราว พุทธศตวรรษ ที่ 12-16 ด้วยปรากฏ ร่องรอย ของคูน้ำคันดิน และโคกเนิน โบราณสถาน หลายแห่ง โบราณวัตถุสำคัญ ที่พบทั้งใน และนอกเขตคูเมือง หลายชิ้น ได้นำมา เก็บรักษาไว้ที่วัด เช่น กลุ่มใบเสมาหินทราย บางแผ่น ก็มีจารึก อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุราว พุทธศตวรรษ ที่ 12-14 และมีแผ่นหนึ่ง นำไปตั้ง เป็นหลักเมือง ประจำอำเภอภูเขียวด้วย นอกจากนี้ ยังมีประติมากรรม รูปเคารพอีก 2 ชิ้น สภาพชำรุด ชิ้นหนึ่ง คล้ายเศียรพระพุทธรูป นาคปรก ในศิลปะขอม แบบบายน อายุราว พุทธศตวรรษ ที่ 18 พระธาตุสามหมื่น และบริเวณโดยรอบแห่งนี้ จึงนับว่า มีความสำคัญ และน่าสนใจมาก แห่งหนึ่ง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเทพสถิต (ทางหลวงหมายเลข 201, 205)

ป่าหินงาม เป็นป่าที่มีหินก้อนใหญ่ๆ รูปร่างแปลกๆ กระจายอยู่ เต็มไปหมด เป็นบริเวณกว่า 200 ไร่ มีต้นไม้เล็กใหญ่ และกล้วยไม้ต่างๆ ขึ้นเต็มบริเวณ หินบางกลุ่ม มีรูปร่าง เหมือนตาปู บางกลุ่ม มีรูปร่างเหมือน หัวพญานาค และบางกลุ่ม เหมือนปราสาทโบราณ ในฤดูฝน ระหว่างเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน มีดอกไม้ป่า ชื่อดอกกระเจียว มีสีชมพูอมม่วง ขึ้นอยู่เต็ม บริเวณนั้น ลักษณะดอกกระเจียว คล้ายๆ ดอกข่า สวยงามมาก ส่วนหน้าหนาว ประมาณเดือนธันวาคม - มกราคม มีดอกกล้วยไม้ สีเหลือง ขึ้นตามซอกหิน และมีดอกไม้ป่า หลายชนิด อยู่ในบริเวณนั้น การเดินทาง จากตัวเมือง ชัยภูมิ ไปตามเส้นทาง สายชัยภูมิ - บ้านหนองบัวโคก (ทางหลวงหมายเลข 201) แล้วเลี้ยวขวา ที่ทางแยก บ้านหนองบัวโคก เข้าเส้นทาง สายหนองบัวโคก - ชัยบาดาล (ทางหลวงหมายเลข 205) ถึงอำเภอเทพสถิต ระยะทาง ประมาณ 112 กิโลเมตร เลี้ยวขวา เข้าป่าหินงาม อีก 29 กิโลเมตร
น้ำตกเทพพนม เป็นน้ำตกขนาดกลาง อยู่ในบริเวณป่าทึบ อากาศร่มเย็นสบาย น้ำจะมาก ระหว่างเดือน พฤษภาคม - เดือนตุลาคม ลักษณะของน้ำตก จะมีรูปร่างแปลกๆ มีหลายมุมต่างๆ กัน น้ำตกเทพพนม อยู่ห่างจาก อำเภอเทพสถิต ประมาณ 48 กิโลเมตร
น้ำตกเทพประทาน เป็นน้ำตกขนาดกลาง ลักษณะค่อนข้างแบน มีหินขนาดใหญ่ เป็นลานกว้าง ลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้นเตี้ยๆ และมีตอนที่สูงชันอยู่แห่งหนึ่ง มีน้ำมาก ระหว่างเดือน พฤษภาคม-เดือนตุลาคม อยู่ห่างจากอำเภอเทพสถิตประมาณ 34 กิโลเมตร
อุทยานแห่งชาติไทรทอง มีเนื้อที่ 199,375 ไร่หรือ 319 ตารางกิโลเมตร อยู่ในท้องที่ 4 อำเภอ คือ อ.หนองบัวระเหว อ.เทพสถิต อ.ภักดีชุมพล อ.หนองบัวแดง เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ของลำห้วย โปร่งขุนเพชร ลำห้วยเชียงทา ลำห้วยแข้ ลำห้วยยา ลำน้ำเจา ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี นับเป็น แหล่งท่องเที่ยว ทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สวยงาม ภายในอุทยานฯ มีสถานที่ น่าสนใจ คือ จุดชมวิว บนเทือกเขาพังเหย สูงจากระดับน้ำทะเล 1,008 เมตร เป็นหน้าผาสูงชันระยะทางยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีลานหิน ทุ่งดอกกระเจียวหลากสีให้ชมปีละครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน- สิงหาคม สามารถใช้ จักรยานภูเขา หรือตั้งแคมป์พักแรมบนทุ่งหญ้าได

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอคอนสาร (ทางหลวงหมายเลข 201 และ 12)

  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อยู่บนเส้นทางที่จะเข้าเขื่อนจุฬาภรณ์ ระหว่างกิโลเมตรที่ 24-25 ทางด้านซ้ายมือ พื้นที่ครอบคลุมเขตป่าเขาของอำเภอคอนสาร เกษตรสมบูรณ์ และหนองบัวแดง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ เป็นศูนย์ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า การเพาะเลี้ยง และการขยายพันธุ์ สัตว์ป่า ประเภทสัตว์ปีก และสัตว์กีบ เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง เก้ง กวาง กระจง เป็นต้น โดยจัดที่อยู่ให้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด และทำทางเดิน ให้ผู้ที่สนใจ และรักธรรมชาติ ได้เข้าไปศึกษา ชีวิตสัตว์เหล่านั้น ด้วยการเข้าชม ถ้าเป็นคณะใหญ่ๆ ต้องขออนุญาต จากหัวหน้าเขต ที่หน้า ประตูทางเข้าก่อน เพราะในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องการความเงียบ จึงเหมาะสำหรับ ผู้ที่สนใจ ศึกษาเรื่อง ชีวิตสัตว์เท่านั้น
ทุ่งกระมัง เป็นที่ราบกว้างใหญ่ซึ่งประกอบด้วยทุ่งหญ้า ซึ่งเรียกว่า “หญ้าสะบัด” กว้างขวาง เขียวขจี ล้อมรอบด้วยภูเขาในเนื้อที่กว่า 1 ล้านไร่ อยู่ในเขตอำเภอคอนสาร ภูเขียว และเกษตรสมบูรณ์ เป็นโครงการในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าและนำสัตว์ป่าคืนถิ่น เพราะในบริเวณนั้น มีสัตว์ประเภท เก้ง กวาง กระจง และนกต่างๆ ชุกชุม ได้มีการ นำเอาดินโป่ง ใส่ไว้เป็นจุดๆ ใกล้อ่างเก็บน้ำเพื่อให้สัตว์มากินดินโป่งนั้น สำหรับทุ่งหญ้า เขียวขจีนั้น ก็เป็นอาหาร ของเก้ง และกวาง ในฤดูร้อน บางครั้งมีไฟป่าพัดมาทำให้ต้นหญ้าถูกไฟป่าไหม้หมด แต่เมื่อถึงเวลา ฝนตกลงมา ต้นหญ้า ก็จะแตกต้นอ่อนขึ้นมาเขียวอีกครั้งเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ต่อไป บนยอดเนิน เหนือบริเวณ ทุ่งกะมัง มีพระตำหนักที่ประทับอยู่เหนืออ่างน้ำ การเดินทาง ไปทุ่งกะมัง ใช้เส้นทางเดียวกับ เส้นทาง ที่จะไป เขื่อนจุฬาภรณ์ ก่อนถึงอำเภอคอนสารประมาณ 50 เมตร มีทางราดยาง แยกซ้าย เข้าไปอีก ประมาณ 70 กิโลเมตร ในฤดูฝนการเดินทางโดยทั่วไปไม่สะดวก ถ้าจะเข้าไปชม ควรใช้รถ ที่มีกำลังสูง เช่น โฟรวิล ไดร์ฟ (Four Wheels Drive)
เขื่อนจุฬาภรณ์ (เขื่อนน้ำพรม) ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร ปิดกั้น ลำน้ำพรม บนเทือกเขาขุนพาย ซึ่งเรียกบริเวณนั้นว่าภูหยวก ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนกลางเป็นดินเหนียว ตัวสันเขื่อนยาว 700 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร เป็นลักษณะ เขื่อนเอนกประสงค์ ใช้ประโยชน์ ในการผลิต พลังงานไฟฟ้า พลังน้ำเฉลี่ยปีละ 140 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสามารถ ตอบสนอง ความต้องการ ของประชาชน ในภาคอีสานได้อย่างเพียงพอ นอกจากนั้น ยังช่วย ในด้านเกษตรกรรม และในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดอีกด้วย
บริเวณเขื่อนมีทิวทัศน์ที่งดงามมาก อากาศเย็นสบายตลอดปี จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ แห่งหนึ่ง ของจังหวัดชัยภูมิ ภายในบริเวณเขื่อนมีบ้านพักไว้รับรองนักท่องเที่ยว เรือสำหรับ ให้ล่องชม อ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นเรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีจุดชมวิวทิวทัศน์เหนือเขื่อน และศูนย์ทดลอง พืชเมืองหนาว ซึ่งประกอบด้วยไม้ดอก ไม้ผล ที่หาชมได้ยาก ในภาคอีสาน ไว้ต้อนรับ นักท่องเที่ยว ที่สนใจเข้าชมอีกด้วย
รายละเอียดบ้านพักรับรอง สามารถรับรองแขกได้ประมาณ 98 คน ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว บ้านแถว ซึ่งราคาค่าที่พักต่อคนมีตั้งแต่คนละ 150-1,000 บาท และบ้านเดี่ยวเปิดพักได้ 12 คน มี 2 หลังๆ ละ 2,000 บาทต่อคืน ผู้สนใจ สามารถจองที่พัก อาหาร การบรรยายสรุป และฉายสไลด์ พร้อมทั้งจองเรือ เพื่อชม บริเวณอ่างเก็บน้ำ ได้ที่ ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บางกรวย จังหวัดนนทบุรี โทร. 424-4794, 436-3179 การเดินทางไปเขื่อนจุฬาภรณ์ จากอำเภอเมืองชัยภูมิ ใช้เส้นทางสายชัยภูมิ-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 201) ถึงทางแยกหนองสองห้อง เลี้ยวซ้าย ไปตามทางหลวง หมายเลข 2055 รวมระยะทางจากตัวเมืองชัยภูมิประมาณ 120 กิโลเมตร
น้ำผุดนาเลา เป็นลักษณะ ที่น้ำจากใต้ดิน ผุดขึ้นมา แล้วไหลเป็นลำธาร ไปหล่อเลี้ยง พื้นที่เพาะปลูกต่างๆ น้ำใสไหลตลอดทั้งปี บริเวณที่น้ำผุดขึ้นมาเป็นแอ่งเล็กบ้างใหญ่บ้าง สวยงามแปลกตา น้ำผุดนาเลาอยู่หลังโรงเรียนคอนสารวิทยา ห่างจากสี่แยกป้อมตำรวจไปทางอำเภอหล่มสักประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนลูกรังอีก 500 เมตร เลี้ยวซ้ายอีกครั้งหนึ่งไปอีกประมาณ 100 เมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำผุด มีต้นไม้ใหญ่ๆ และศาลาเก่าๆ สำหรับนั่งพักผ่อน
น้ำผุดทับลาว อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านผาเบียด ห่างจาก สี่แยกป้อมตำรวจ ประมาณ 11 กิโลเมตร โดยไปตามถนนที่จะไปสู่เขื่อนจุฬาภรณ์ประมาณ 8 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวา ไปตามถนนลูกรังอีกประมาณ 3 กิโลเมตร
น้ำผุดนาวงเดือน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านนาวงเดือน ห่างจาก สี่แยกป้อมตำรวจ ไปตามถนนที่ไปเขื่อนจุฬาภรณ์ แล้วแยกขวามือเข้าบ้านนาวงเดือนประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นน้ำผุด ขนาดใหญ่ 
น้ำผุดหินลาดวนารมย์ หรือน้ำผุดหินลาด อยู่ที่บ้านน้ำพุหินลาด ตำบลทุ่งพระ ห่างจาก ที่ว่าการอำเภอ ไปทางทิศเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร มีธรรมชาติร่มรื่นเย็นสบาย

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอภักดีชุมพล

ถ้ำแก้ว อยู่ห่างจากถ้ำพระประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นถ้ำขนาดใหญ่ อยู่บนเทือกเขาวัวแดง อีกด้านหนึ่งมีหินงอกหินย้อยเป็นแก้ว แวววาวสวยงามมาก
ถ้ำประทุน เป็นถ้ำขนาดกลาง อยู่บนยอดเขาวัวแดง เคยเป็นที่พักทัพของแม่ทัพสมัยโบราณ เคยมีแร่ทองคำและมีบ่อร่อนแร ่ปรากฏ อยู่ทั่วไปบริเวณหน้าถ้ำ
ถ้ำวัวแดง เป็นถ้ำใหญ่ที่สวยงามน่าเที่ยวของจังหวัด ตั้งอยู่ในตำบลนางแดด อำเภอหนองบัวแดง ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 60 กิโลเมตร การเดินทางไปถ้ำวัวแดงยังไม่สะดวก ต้องเดินป่าฝ่าดง แต่ได้เที่ยวป่าอย่างสนุก ในบริเวณถ้ำวัวแดงมีถ้ำใหญ่น้อยหลายแห่ง เช่น ถ้ำยายชี ถ้ำบ่อทอง เป็นต้น
ถ้ำพระ เป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่บนเทือกเขาวัวแดง มีหลายซอกหลายมุมน่าสนใจ มีศาลา สร้างไว้ในถ้ำ เคยมีพระธุดงค์อาศัยอยู่และมรณภาพไปแล้ว ปัจจุบันมีหลวงพ่อองค์หนึ่งจำพรรษาอยู่ อยู่ในตำบลแหลมทอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอภักดีชุมพลประมาณ 20 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอคอนสวรรค์

  บึงแวง เป็นบึงขนาดกลาง เนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ รูปร่างค่อนข้างกลม มีถนนวงแหวน สามารถขับรถ ได้รอบบึง ในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน จะมีนกเป็ดน้ำ อพยพจากที่อื่น มาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 40,000 ตัว ยามเย็น เวลาโพล้เพล้ นกเป็ดน้ำ จะโผบินขึ้นเป็นฝูงๆ เต็มท้องฟ้า ตัดกับแสงอาทิตย์อัสดงสวยงามมาก อยู่หน้าที่ว่าการอำเภอคอนสวรรค์ ห่างจากจังหวัด ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 38 กิโลเมตร
พระพุทธรูปใหญ่สมัยทวารวดี อยู่ที่วัดคอนสวรรค์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอคอนสวรรค์ ไปทางทิศตะวันออก 5 กิโลเมตร (ทางแยกสถานีส่งน้ำบ้านหนองป่าบึก) เป็นถนน รพช. เป็นพระพุทธรูป หินทรายแกะสลัก องค์ใหญ่ รูปทรงสวยงาม สร้างในสมัยทวารวดี ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” นอกจากพระพุทธรูปแล้ว ยังมีใบเสมาหินทราย ที่มีการแกะสลักและไม่แกะสลักอีกหลายชิ้น
ไร่นลินทวัส อยู่กิโลเมตรที่ 28 ถนนชัยภูมิ-ภูเขียว (ทางหลวงหมายเลข 201) เป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจ มีอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการ มีไม้ประดับนานาชนิด นอกจากนั้นยังมีกิ่งพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น ขนุน มะม่วง ไม้ประดับไว้จำหน่ายอีกด้วย และที่น่าสนใจคือ มีเกวียนจากภาคต่างๆ ของไทย สะสมไว้มากมาย ซึ่งหาชมได้ยาก เกวียนบางกลุ่มมีอายุนับร้อยปี อีกทั้งยังมีการแกะสลักอย่างงดงามยิ่ง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหนองบัว

  ผาเกิ้ง เป็นภูเขาที่หินใหญ่ยื่นออกมาข้างทาง ทิวทัศน์สวยงามมาก เป็นสถานที่ชมวิวจุดหนึ่ง ของจังหวัดชัยภูมิ บนภูเขานี้ มีพระพุทธรูปชัยภูมิพิทักษ์ขนาดใหญ่องค์ยืนสูง 14 ฟุต ประดิษฐาน อยู่ในเขต อำเภอหนองบัวแดง เป็นส่วนหนึ่งของภูแลนคาที่มีบริเวณกว้างพอสมควร ผาเกิ้ง อยู่ในบริเวณ วัดชัยภูมิพิทักษ์ (ผาเกิ้ง) อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 2159 (ชัยภูมิ-หนองบัวแดง) ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ชัยภูมิ