แผนที่ปราจีนบุรี

  • แผนที่ปราจีนบุรี
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ปราจีนบุรี เคยเป็นดินแดงที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี และมีการพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรี ประมาณ 800 ปีก่อน ปรากฏหลักฐานเป็นซากเมืองโบราณที่เรียกว่า “เมืองศรีมโหสถ” ที่ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ และทางด้านทิศตะวันออกของเมืองศรีมโหสถ ที่บริเวณบ้านโคกขวาง อำเภอศรีมหาโพธิ์ ยังมีชุมชนโบราณมีอายุร่วมสมัยเดียวกันกับเมืองศรีมโหสถอีกด้วย บริเวณซากเมืองโบราณเหล่านี้มีซากโบราณสถานซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรม ศาสนกิจและโบราณวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องสำริด เครื่องมือ เครื่องใช้ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ในสมัยต่อมาศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายมาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงเช่นปัจจุบัน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า “เมืองปราจีน” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังเรียกว่า “เมืองปราจิณ” หรือ “มณฑลปราจิณ” จวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการปกครองแผ่นดินตามแบบต่างประเทศมณฑลปราจิณได้ถูกยุบเลิก คงมีฐานะเป็นเพียงหัวเมืองหนึ่ง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า จังหวัดปราจีนบุรี

ปราจีนเป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ระยะทาง 135 กิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบจนถึงลักษณะภูเขาสูงชัน ทางตอนเหนือมีลักษณะเป็นเนินสูงจนถึงภูเขา มีลักษณะเป็นป่าเขาติดเทือกเขาดงพญาเย็น ทางตอนใต้ และทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบมีสภาพเป็นป่าโปร่ง ทางด้านทิศตะวันตกมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำสวนผลไม้ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อของจังหวัด
ปราจีนบุรีมีสภาพอากาศที่แห้งแล้งและชุ่มชื้นสลับกันอย่างชัดเจน ลักษณะแบบฝนเมืองร้อน ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีอากาศชุ่มชื้นและฝนตกตลอดฤดู แต่ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือหรือฤดูหนาวนั้น จะมีอากาศแห้งแล้ง มีฤดูที่แตกต่างกัน 3 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส (83-88 องศาฟาเรนไฮท์) 

การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 65 ตำบล 658 หมู่บ้าน

1. อำเภอเมืองปราจีนบุรี 2. อำเภอกบินทร์บุรี 3. อำเภอนาดี 4. อำเภอบ้านสร้าง 5. อำเภอประจันตคาม 6. อำเภอศรีมหาโพธิ 7. อำเภอศรีมโหสถ

ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดนครราชสีมา 
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดฉะเชิงเทรา 
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดสระแก้ว 
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดนครนายก

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
อำเภอบ้านสร้าง 20 กิโลเมตร
อำเภอศรีมโหสถ 20 กิโลเมตร
อำเภอศรีมหาโพธิ 21 กิโลเมตร
อำเภอประจันตคาม 30 กิโลเมตร
อำเภอกบินทร์บุรี 60 กิโลเมตร
อำเภอนาดี 78 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดปราจีนบุรีไปยังจังหวัดใกล้เคียง
ปราจีนบุรี-นครนายก 29 กิโลเมตร
ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา 76 กิโลเมตร
ปราจีนบุรี-สระแก้ว 98 กิโลเมตร
ปราจีนบุรี-นครราชสีมา 194 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ปราจีนบุรี

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปปราจีนบุรีได้ 3 เส้นทาง คือ
1. จากกรุงเทพฯ แยกรังสิตตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิตผ่านอำเภอองครักษ์ นครนายก เข้าทางหลวงหมายเลข 33 แยกขวาที่สามแยกหนองชะอม ตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 132 กิโลเมตร หรือวิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 33 เลี้ยวขวาที่สี่แยกเนินหอม ระยะทาง 136 กิโลเมตร
2. จากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่หินกอง ไปตามทางหลวงหมายเลข 33 ผ่านนครนายก แยกขวาที่สามแยกหนองชะอม ตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทาง 164 กิโลเมตร
3. จากกรุงเทพฯ ตามทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านฉะเชิงเทรา พนมสารคาม เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข 319 ผ่านอำเภอศรีมโหสถ ระยะทาง 158 กิโลเมตร
ทางรถประจำทาง ทางรถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ทั้งรถโดยสารธรรมดา และปรับอากาศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490
ทางรถไฟ ทางรถไฟ มีขบวนรถไฟโดยสารกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี ออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทางสถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร. 1690

งานมาฆปูรมีศรีปราจีน จัดตรงกับวันมาฆบูชาเป็นประจำทุกปี ณ วัดสระมรกต อำเภอศรีมโหสถ ในงานมีกิจกรรมการปฏิบัติธรรม ของพระภิกษุและประชาชนทั่วไป ตลอดทั้งการนมัสการและเวียนเทียนรอบพระพุทธบาทคู่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
งานแห่บั้งไฟ จัดตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี ที่วัดมหาโพธิ์ อำเภอศรีมโหสถ มีการจุดบั้งไฟขึ้นสูง การประกวดลำเซิ้งของขบวนแห่บั้งไฟ ตลอดจนการแสดงมหรสพสมโภช
งานวันเกษตรและของดีเมืองปราจีน จัดราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี ที่บริเวณลานกว้างศาลากลางจังหวัด ในงานมีตลาดนัดผลไม้และผลิตภัณฑ์การเกษตร การประกวดพืชผักผลไม้ การแข่งขันและการสาธิตการเกษตร การแสดงนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ การประกวดขบวนแห่รถยนต์การเกษตร และมหรสพสมโภช
งานแข่งเรือยาวประเพณี จัดช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายนของทุกปี ที่แม่น้ำบางปะกง หน้าที่ว่าการอำเภอเมือง มีทั้งประเภทเรือยาวและเรือพื้นบ้าน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีขบวนเรือพาเหรดอัญเชิญถ้วยพระราชทานอันสวยงาม
งานลอยกระทง จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ที่บริเวณริมเขื่อนฝั่งหอประชุมอำเภอเมือง ในงานมีการประกวดนางนพมาศ ประกวดขบวนแห่กระทง การแสดงของนักเรียน ตลอดจนมีมหรสพต่างๆ สมโภชตลอดงาน

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานอยู่ ณ สี่แยกเนินหอม ปากทางแยกเข้าสู่ตัวเมืองปราจีนบุรีใกล้กับค่ายจักรพงษ์ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งอยู่ที่สี่แยกนี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับยืนอยู่ภายใน เหตุที่สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ได้เคยเสด็จกรีฑาทัพจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อไปปราบนักพระสัฏฐาแห่งเมืองละแวก ภายหลังจับตัวได้และได้ทำพิธีปฐมกรรม ระหว่างการเดินทางทัพได้หยุดพักที่เขตจังหวัดปราจีนบุรี ประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรีและผู้เยี่ยมเยียนนิยมมาสักการะบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล การเดินทางจากจังหวัดนครนายก ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 33 ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 158 ที่เรียกว่า สี่แยกเนินหอม
ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปราจีนบุรี อยู่ที่สี่แยกเนินหอม เส้นทางขึ้นเขาใหญ่ ห่างจากศาลสมเด็จพระนเรศวรประมาณ 3 กิโลเมตร ศูนย์นี้นอกจากจะมีผลไม้ของชาวสวนปราจีนจำหน่ายทุกฤดูกาลแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ เช่น ไม้กวาด เสื่อ เครื่องจักสาน และผลิตผลในจังหวัดจำหน่ายอีกด้วย
วัดแก้วพิจิตร เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2422 โดยเศรษฐีนีใจบุญชาวปราจีนบุรี ต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้สร้างพระอุโบสถเพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2456 จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับอาคารประสมประสานระหว่างศิลปไทย จีน ยุโรป และเขมร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระอุโบสถที่ฝาผนังด้านนอกมีภาพปูนปั้นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดบนแผ่นผ้าเกี่ยวกับเรื่องราวในพระพุทธศาสนา ด้านหน้าพระอุโบสถมีอาคารเรียนหนังสือไทยนักธรรมบาลีเป็นอาคารคอนกรีต รูปสถูปโดม ศิลปะกรีก หรือโรมันอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งเคยใช้เป็นโรงเรียนสอนหนังสือพระภิกษุ สามเณร และราษฎร ปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว และภายในวัดแก้วพิจิตรยังมีหอพระไตรปิฎกและศาลาตรีมุขที่ท่าน้ำ บรรยากาศภายในวัดร่มรื่นและเงียบสงัด
 วัดโบสถ์ อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง การเดินทางจากถนนเทศบาลดำริถึงสี่แยกถนนสุวินทวงศ์ ทางหลวงหมายเลข 319 ตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 3071 ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร วัดโบสถ์ตั้งอยู่ริมฝั่งของแม่น้ำบางปะกง ภายในวัดมีพระพุทธรูป 3 องค์ ประดิษฐานเรียงรายไปตามริมแม่น้ำ คือ พระพุทธรูปปางลีลา พระนามว่า “พระสิริมงคลนิมิต” พระพุทธรูปปางประทับนั่งท้องพระบาท พระนามว่า “พระสรรพสิทธินาวา” พระพุทธรูปปางประทับนอน พระนามว่า “พระมหาชินไสยาสน์” ภายในวัดมีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ
สวนนกวัดสันทรีย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดโบสถ์ เข้าทางเดียวกับวัดโบสถ์แต่มีทางแยกขวามือ ระยะทางจากตัวเมืองประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นที่ชุมนุมของนกนานาชนิด เช่น นกแขวก นกกาน้ำ นกกระยาง จำนวนนับหมื่นจะมาชุมนุมกันทุกปี ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนเมษายน เหมาะสำหรับนักดูนกและผู้สนใจธรรมชาติวิทยา
 ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ อยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นตึกที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2452 เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสมณฑลปราจีน มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นตึกสองชั้นแบบยุโรป สมัยเรอเนสซองส์ มีมุขด้านหน้า ตรงกลางเป็นโดม ผนังด้านนอกมีลายปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง ภายในตกแต่งแบบยุโรป กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว และมีโครงการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร์ โดยจะเป็นศูนย์การรวบรวม อนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและการแพทย์ของท้องถิ่น
ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ถนนปราจีนอนุสรณ์ ข้างหอประชุมอำเภอเมือง สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมเป็นอาคารในโรงจักรถลงทอง จัดสร้างโดยพระปรีชากลกาล (สำอาง อมาตยกุล) มีสถาปัตยกรรมผสมระหว่างศิลปกรรมไทยกับแบบตะวันตก ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กับได้ทำการบูรณะซ่อมแซม และจัดทำเป็นศูนย์วัฒนธรรม เพื่อเป็นที่รวบรวมเอกสาร วัตถุโบราณ สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรม ของชาวบ้านในท้องถิ่น นอกจากนี้ จังหวัดปราจีนบุรีร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งศูนย์ให้ข่าวสารด้านการท่องเที่ยว ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดปราจีนบุรี และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี ตั้งอยู่ด้านหลังของศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี ห่างจากศาลากลางประมาณ 200 เมตร เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2528 ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของโบราณวัตถุในเขต 7 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด และระยอง ภายในมีการจัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากเมืองโบราณสมัยทวารวดี ที่ชาวบ้านเรียกว่าเมืองศรีมโหสถ ดงศรีมหาโพธิ์ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี อาทิ พระพุทธรูป เทวรูป ทับหลัง เครื่องใช้สำริด เป็นต้น และจัดแสดงศิลปะในประเทศไทยสมัยต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบ รวมทั้งเครื่องถ้วยสังคโลกที่พบใต้ทะเลจากบริเวณเกาะคราม จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้น ยังจัดสถานที่ส่วนหนึ่งสำหรับนิทรรศการชั่วคราวในโอกาสต่างๆ ด้วย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชม คนไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท
น้ำตกเหวนรก อยู่บนเส้นทางสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีความสวยงาม ความสูง 80 เมตร หน้าผาสูงชัน น้ำไหลแรง การเดินทางจากตัวเมืองปราจีนบุรี ใช้เส้นทางสาย 3077 ไปเป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าไปตัวน้ำตก การเดินทางไปชมน้ำตกนั้นต้องเดินเท้า ทางค่อนข้างลำบาก ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร
น้ำตกห้วยเกษียร ปากทางแยกเข้าน้ำตกแห่งนี้อยู่ที่หมู่บ้านขอนขวาง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง ซึ่งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 166 หรือห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรี 15 กิโลเมตร แยกซ้ายมือเข้าสู่น้ำตกอีก 4 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกเป็นป่าเขางดงามมาก
น้ำตกเขาอีโต้ และอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านพระ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมือง จากตัวเมืองเดินทางถึงสี่แยกเนินหอมเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 33 ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 160-161 เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร น้ำตกเขาอีโต้เป็นธารน้ำไหลผ่านโขดหินน้อยใหญ่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ความสูงไม่มากนัก สภาพบริเวณโดยรอบเป็นป่าโปร่ง มีน้ำมากเฉพาะในฤดูฝน และก่อนถึงตัวน้ำตกประมาณ 400 เมตร หรือเหนือธารน้ำมีอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์หรืออ่างเขาอีโต้ จากอ่างเก็บน้ำจะมีถนนขึ้นไปจนถึงยอดเขาเพื่อชมทัศนียภาพโดยรอบ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร และช่วงกิโลเมตรที่ 6 จะมีเนินมหัศจรรย์ คือถ้าจอดรถแล้วเข้าเกียร์ว่างไว้รถจะไหลขึ้นเนินได้ซึ่งเกิดจากภาพลวงตาจากภูมิประเทศโดยรอบ
น้ำตกธารรัตนา ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม ระยะทางประมาณ 100 เมตร จากถนนสายเนินหอม-เขาใหญ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองปราจีนบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร มีสภาพเป็นแก่งน้ำไหลตามหุบเขาของเทือกเขาใหญ่มีน้ำมากในฤดูฝน
สวนพันธุ์ไผ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม จากทางหลวงหมายเลข 33 เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกเนินหอม ไปตามทางหลวงหมายเลข 3077 ซึ่งเป็นถนนไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์ไผ่นานาชนิดเพื่อการศึกษาและขยายพันธุ์ ภายในบริเวณสวนพันธุ์ไผ่มีบ้านพักรับรอง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ศาลาพักผ่อน มีทิวทัศน์ที่งดงาม สามารถมองเห็นทิวเขาใหญ่ได้อย่างชัดเจนเหมาะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจรายทางได้อย่างดี

สถานที่ท่องเที่ยว ในเขตอำเภอบ้านสร้าง

ค้างคาวแม่ไก่วัดบางกระเบา วัดบางกระเบาอยู่บนถนนสายบ้านสร้าง-บางแตน ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านสร้างประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นวัดของพระเกจิอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังคือ หลวงพ่อจาด ภายในบริเวณวัดบางกระเบา จะมีค้างคาวแม่ไก่จำนวนนับพันตัวอาศัยอยู่ตามต้นไม้

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอศรีมโหสถ

วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรี 23 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายปราจีนบุรี-พนมสารคาม ทางหลวงหมายเลข 319 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 130-131 แยกขวาเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในวัดมีต้นโพธิ์ซึ่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นต้นโพธิ์ที่นำหน่อมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย มีอายุกว่าสองพันปี ลำต้นวัดโดยรอบประมาณ 20 เมตร สูงประมาณ 30 เมตร ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรี ในวันวิสาขบูชาจะมีงานนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์
กลุ่มโบราณสถานสระมรกต ตั้งอยู่ที่วัดสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามถนนสุวินทวงศ์ ทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายอีกประมาณ 500 เมตร เป็นกลุ่มโบราณสถานทางพุทธศาสนาขนาดใหญ่ ที่สร้างซ้อนทับกันหลายสมัย เริ่มตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างศิลาแลงและอิฐ ส่วนใหญ่คงเหลือเฉพาะรากฐานอาคารเท่านั้น ระหว่างการขุดแต่งได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทคู่สลักอยู่บนศิลาแลง ที่ฝ่าพระบาทสลักรูปธรรมจักรนูนทั้งสองข้าง นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ใกล้กันมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพบพระพุทธรูปและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากภายในบ่อ นอกจากนี้ยังมีสระมรกต เป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สระบัวหล้าและอาคารศรีมโหสถ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุที่ค้นพบในบริเวณนั้น ทั้งยังมีการจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ และประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
โบราณสถานเมืองศรีมโหสถ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกวัด ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ การเดินทางจากตัวเมืองปราจีนบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข 319 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3070 อีกประมาณ 1 กิโลเมตร เมืองโบราณจะอยู่ทางด้านขวามือ เมืองศรีมโหสถเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ รูปไข่หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมถนนเนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ ลักษณะของเมืองมีคูน้ำดันดินกำแพงเมืองล้อมรอบ ภายในเมืองมีโบราณสถานเนินดิน สระน้ำบ่อน้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปกว่า 100 แห่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี หลักฐานส่วนใหญ่ที่พบมักจะเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อาทิ เทวาลัย เทวรูป ศิวลึงค์ เป็นต้น โบราณสถานที่สำคัญในเมืองศรีมโหสถประกอบด้วย กลุ่มโบราณสถานกลางเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นหมู่เทวาลัย ฐานก่อด้วยศิลาแลงด้านบนก่อด้วยอิฐ ด้านหลังมีบ่อน้ำก่อด้วยศิลาแลง โบราณวัตถุที่ขุดพบได้แก่ เทวรูปต่างๆ และเศษเครื่องปั้นดินเผา มีทั้งสมันลพบุรี สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภูเขาทอง เป็นเจดีย์รูปกลมลักษณะเหมือนโอคว่ำ สมัยทวารวดี โบราณสถานหมายเลข 25 มีลักษณะเป็นเทวาลัย รากฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 สระแก้ว เป็นสระน้ำโบราณที่ขอบสระมีภาพแกะสลักลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ จำนวนถึง 41 ภาพ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 6-11

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอศรีมหาโพธิ์

อนุสาวรีย์ลายฝีพระหัตถ์ ประดิษฐานอยู่ที่สนามโรงเรียนลายพระหัตถ์ ตำบลหนองโพรง อนุสาวรีย์ลายฝีพระหัตถ์นี้เป็นลายพระหัตถ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จประพาสปราจีนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2451 ทรงจารึกไว้บนแผ่นศิลาแลง ซึ่งเป็นซากโบราณวัตถุสมัยลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ปัจจุบันเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองปราจีนบุรี การเดินทางจากตัวเมืองปราจีนบุรี ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3069 (ปราจีนบุรี-ศรีมหาโพธิ) แล้วเลี้ยวขวาไปยังอนุสาวรีย์ลายฝีพระหัตถ์ไปทางบ้านโคกขวาง เส้นทางหลวงหมายเลข 3070 (ศรีมหาโพธิ-ศรีมโหสถ) เป็นระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร
เทวสถานพานหิน ตั้งอยู่ที่บ้านโคกขวาง ตำบลหนองโพรง เลยที่ว่าการอำเภอศรีมหาโพธิ์ไปทางบ้านโคกขวางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วแยกขวาไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นเทวาลัยก่อด้วยศิลาแลง ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 แห่งเจนละ ตรงกลางของซากเทวาลัยมีฐานของเทวรูปตะแคงอยู่ลักษณะคล้ายพาน จึงเรียกว่าพานหิน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอประจันตคาม

แก่งสลักใดและน้ำตกตะคร้อ ตั้งอยู่ที่บ้านตะคร้อเหนือ ตำบลบุฝ้าย จากตัวอำเภอประจันตคาม 13 กิโลเมตร มีลานจอดรถหน้าน้ำตกตะคร้อ จากนั้นต้องเดินเท้าเข้าไปยังตัวน้ำตกอีก 3 กิโลเมตร จึงจะถึงแก่งสลักใด สภาพเป็นแก่งน้ำไหลตามหุบเขา มีน้ำตกมากไหลเชี่ยวในฤดูฝน ผ่านแก่งหิน สองฟากมีเนินเขา เป็นป่าโปร่ง
น้ำตกธารทิพย์ เดิมชื่อน้ำตกเขาฮอม ตั้งอยู่ที่บ้านเนินหินตั้ง ตำบลหนองแก้ว ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 13 กิโลเมตร โดยเส้นทางถนนสุวรรณศร แยกที่บ้านโง้ง ไปตามถนนไปบ้านประตูลาน บ้านโคกอู่ทอง บ้านโคกเขื่อน บ้านเนินหินตั้ง สภาพน้ำตกเป็นธารน้ำไหลผ่านชั้นหินต่างระดับ มีแอ่งน้ำลึกลงเล่นน้ำได้ มีลานหินสำหรับนั่งพักผ่อน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนาดี

อุทยานแห่งชาติทับลาน ตั้งอยู่ที่ตำบลบุพราหมณ์ การเดินทางจากทางหลวงหมายเลข 33 ถึงอำเภอกบินทร์บุรีเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 304 ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่อยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรีและนครราชสีมา มีเนื้อที่ประมาณ 2,240 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,400,000 ไร่ นับเป็นป่าลานที่ขึ้นเองตามธรรมชาติแห่งสุดท้ายของประเทศไทย เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ตระกูลปาล์มที่หายาก จะออกดอกเมื่อต้นมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ช่วงฤดูออกดอกในราวเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ดอกมีสีเหลืองสดสวยงามมาก หลังออกดอกแล้วต้นลานนั้นจะตายไป นอกจากดงลานแล้ว พื้นที่อุทยานฯ ยังปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง และป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและนกชนิดต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่
 สวนพักผ่อนหย่อนใจ อยู่ติดกับที่ทำการอุทยานฯ พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ประกอบด้วยต้นลานและพันธุ์ไม้นานาชนิด สภาพร่มรื่น มีซุ้มสำหรับนั่งพักผ่อน กลางสวนมีสระน้ำขนาดใหญ่
 น้ำตกทับลาน (เหวนกกก) อยู่ห่างจากบ้านทับลานประมาณ 7 กิโลเมตร ต่อด้วยทางเดินเท้า เป็นน้ำตกที่สวยงาม มีเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น
 อ่างเก็บน้ำทับลาน อยู่ห่างจากบ้านทับลานประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่สวยงามล้อมรอบไปด้วยภูเขา อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน
 น้ำตกห้วยใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันตกของอุทยานฯ แยกจากทางหลวงหมายเลข 304 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 79 เข้าไปอีก 6 กิโลเมตร ในหน้าแล้งนำรถยนต์เข้าได้เกือบถึงตัวน้ำตก น้ำตกห้วยใหญ่เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่ง มีความสูงประมาณ 50 เมตร กว้างประมาณ 30 เมตร
อุทยานแห่งชาติทับลาน ยังไม่มีบ้านพักบริการแก่นักท่องเที่ยว ผู้สนใจจะพักแรมในอุทยานฯ สามารถกางเต้นท์พักแรมได้ โดยสอบถามรายละเอียดที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตู้ ปณ. 37 อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี หรือที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-0529, 579-4842

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกบินทร์บุรี

นกเป็ดน้ำหนองปลาแขยง อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 33 ระหว่างช่วงอำเภอประจันตคาม-กบินทร์บุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 206-207 ทางซ้ายมือจะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีนกเป็ดน้ำมาอาศัยเป็นจำนวนมากนับพันตัว




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ปราจีนบุรี