แผนที่ระนอง

  • แผนที่ระนอง
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ระนองเป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันตกในเขตภาคใต้ตอนบน มีทรัพยากรทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะทรัพยากรแร่ดีบุกและป่าไม้ ปัจจุบันระนองเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมายและสวยงามไม่แพ้จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ของภูมิภาค ทั้งชายหาดสวยงามและสงบเงียบ ท้องทะเลสวยใสที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรใต้น้ำ เกาะขนาดเล็กใหญ่จำนวนมาก แหล่งน้ำแร่ธรรมชาติ ป่าไม้เขียวขจีบริสุทธิ์ น้ำตกสวยและที่โดดเด่นคือวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวระนอง

จังหวัดระนองมีเนื้อที่ประมาณ 3,298 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,141,250 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 59 ของประเทศ มีรูปร่างเรียวยาวและแคบ โดยมีส่วนที่ยาวที่สุดวัดในแนวเหนือ-ใต้ประมาณ 169 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดวัดในแนวตะวันออก-ตะวันตก 44 กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุดของจังหวัดในท้องที่อำเภอกระบุรี มีความกว้างเพียง 9 กิโลเมตรระนองเป็นจังหวัดแรกของภาคใต้ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน ที่ประมาณกิโลเมตรที่ 545 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ในเขตบ้านทับหลี ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี เป็นที่ตั้งของคอคอดกระ หรือกิ่วกระ ซึ่งเป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู มีระยะทางจากฝั่งทะเลตะวันตกจดฝั่งตะวันออกกว้างเพียง 50 กิโลเมตรสภาพภูมิประเทศของจังหวัดระนองส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้สลับซับซ้อนในด้านตะวันออก มีภูเขาสูงที่สุดคือภูเขาพ่อตาโชงโดง และแผ่นดินลาดลงสู่ทะเลอันดามันทางทิศตะวันตก มีแม่น้ำและคลองหลายสาย แต่มีที่ราบสำหรับทำการเกษตรค่อนข้างน้อย และด้วยสภาพภูมิประเทศที่ยากลำบากต่อการพัฒนาด้านการคมนาคมนี้เอง จึงทำให้พื้นที่แถบนี้มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยมาตั้งแต่อดีต และเพิ่งจะพัฒนามาเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้เองแต่เดิมเมืองระนอง หรือเมืองแร่นอง เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ทางตอนใต้ของภูมิภาค มีสภาพเป็นป่าทึบ ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองระนองก็ยังคงเป็นเพียงหัวเมืองขนาดเล็กที่ขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร ซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นตรี มีอาณาเขตครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกจดฝั่งตะวันตก จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าฯ ยกฐานะเมืองระนองให้เป็นหัวเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระนองมีฐานะเป็นหัวเมืองอิสระ และต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัด และได้มีการยุบ “เมืองตระ” ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองชุมพรมาพร้อมๆ กับระนอง แล้วเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอ เรียกว่าอำเภอกระบุรี ขึ้นกับจังหวัดระนองตั้งแต่นั้นมาระนองในอดีตนั้นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองดีบุก เมืองชายแดน เมืองคอคอดกระ และเมืองเสด็จประทับแรม และต่อมาเมื่อมีการตัดถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านมายังจังหวัดระนอง เมืองระนองจึงได้พัฒนาจนมีความสำคัญในฐานะเมืองท่องเที่ยวมากขึ้นนับแต่นั้นมาปัจจุบันจังหวัดระนองแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระนอง อำเภอละอุ่น อำเภอกะเปอร์ อำเภอกระบุรี และอำเภอสุขสำราญ

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และ ประเทศสหภาพพม่า
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุ ราษฎร์ธานี และอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมือง อำเภอสวี และ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเกาะสอง เขตทวาย ประเทศสหภาพพม่าและมหาสมุทรอินเดีย

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอต่างๆ

อำเภอเมือง-อำเภอกระบุรี 57 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอละอุ่น 43 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอกะเปอร์ 52 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอสุขสำราญ 85 กิโลเมตร

การคมนาคมภายในจังหวัด
(เวลาเดินรถ 06.00-18.00 น.)
รถสองแถว วิ่งบริการภายในเขตเทศบาลเมือง มี 3 สายคือ สายที่ 1 วิ่งระหว่างตลาดท่าเมือง-ตลาดสด-สภอ.เมืองระนองและธนาคารกรุงไทย สายที่ 2 วิ่งรอบเมือง-บ่อน้ำร้อน-โรงแรมจันทร์สมธารา-ถนนเรืองราษฎร์ สายที่ 3 วิ่งระหว่างโรงกลวง-ตลาดพม่า-ตลาดสด-ตลาดแขก-ถนนรัตนโกสินทร์ และสะพานปลา (ท่าเทียบเรือไปวิกตอเรียพอยท์)
รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง วิ่งบริการภายในเขตเทศบาลเมือง ค่าโดยสารตั้งแต่ 5-10 บาท การคมนาคมจากจังหวัดระนองไปยังจังหวัดใกล้เคียง
รถประจำทาง สถานีจอดรถ หน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขระนอง ถนนเรืองราษฎร์ ระนอง-ชุมพร 122 กิโลเมตร ระนอง-ตะกั่วป่า 174 กิโลเมตร ระนอง-หลังสวน-สุราษฎร์ธานี 223 กิโลเมตร ระนอง-ภูเก็ต ระยะทาง 300 กิโลเมตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเวลาและค่าโดยสารได้ที่ บ.ข.ส. จังหวัดระนอง ถนนเพชรเกษม โทร. (077) 811548
รถแท็กซี่ สถานที่จอดรถอยู่ใกล้ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขจังหวัดระนอง ถนนเรืองราษฎร์ ระนอง-สุราษฎร์ธานี 223 กิโลเมตร ระนอง-ชุมพร 122 กิโลเมตร ระนอง-นครศรีธรรมราช 356 กิโลเมตร ระนอง-ตรัง 455 กิโลเมตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ คิวรถแท็กซี่ จังหวัดระนอง โทร. (077) 811219

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ระนอง

รถยนต์ส่วนบุคคล จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ ระยะทาง 90 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ถึงสี่แยกปฐมพร (ชุมพร) เลี้ยวขวาไปจนถึงจังหวัดระนอง รวมระยะทาง 568 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

รถโดยสารประจำทาง - รถโดยสารธรรมดา บริษัท ขนส่ง จำกัด ถนนบรมราชชนนี มีรถธรรมดาและปรับอากาศออกจากสถานีทุกวันๆ ละ 7 เที่ยว ตั้งแต่เวลา 08.40-21.45 น. รายละเอียดติดต่อ โทร. 434-5557-8 สถานีขนส่งจังหวัดระนอง โทร. (077) 811548 บริษัท โชคอนันต์ทัวร์ (โทร. 435-7429, 435-5027-9 สำนักงานระนอง โทร. 077-811337) และบริษัท มิตรทัวร์ (โทร. 281-6939, 281-6949 สำนักงานระนอง โทร. 077-811150)

ทางรถไฟ

รถไฟ จากกรุงเทพฯ ไม่มีรถไฟไประนองโดยตรง นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเดินทางโดยรถไฟ สามารถลงรถไฟที่สถานีที่ใกล้ที่สุดคือ สถานีรถไฟชุมพร แล้วต่อรถโดยสารหรือแท็กซี่จากชุมพรไประนอง ระยะทาง 117 กิโลเมตร รายละเอียดติดต่อ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน จากท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ไปลงที่สุราษฎร์ธานี แล้วต่อรถโดยสารหรือแท็กซี่จากสุราษฎร์ธานีไประนอง ระยะทาง 219 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ บริษัท การบินไทย ถนนหลานหลวง โทร. 02-356-1111 หรือ การบินไทย สุราษฎร์ธานี โทร. (077) 272610, 273710, 273355 หรือบริษัทตัวแทนที่ระนอง โทร. (077) 811511 บริษัท บางกอกแอร์เวยส์ บริการเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ-ระนอง สัปดาห์ละ 5 วัน ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที และมีเที่ยวบินระนอง-ภูเก็ต บริการทุกวันจันทร์ ศุกร์และอาทิตย์ สำรองที่นั่งและสอบถามรายละเอียดที่ โทร. 229-3456-63 สำนักงานระนอง โทร. (077) 835096-7

การเดินทางภายในระนอง

ในตัวจังหวัดระนองมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถสองแถวมีวิ่งบริการทั่วไปในเขตเทศบาลเมือง และจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง โดยรถจะจอดอยู่หน้าตลาดสดเทศบาล นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง ระยะเวลา และการต่อรอง

รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทาง และแบบเหมาจ่าย

มีเรือของบังกะโลและรีสอร์ตต่างๆ ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร ระหว่างชายฝั่งกับเกาะพยามและเกาะช้างอยู่ที่ท่าเทียบเรือชาวเกาะ นักท่องเที่ยวสามารถเหมาเรือท่องเที่ยวเกาะต่างๆ ได้ ค่าโดยสารเรือยนต์เหมาไป-กลับ เกาะช้างประมาณ 1,500-2,000 บาท/ลำ เกาะพยามประมาณ 2,000-3,000 บาท/ลำ (เรือโดยสารได้ 20-25 คน)

ระยะทางจากอำเภอเมืองระนองไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอละอุ่น 43 กิโลเมตร

อำเภอกะเปอร์ 52 กิโลเมตร

อำเภอกระบุรี 57 กิโลเมตร

อำเภอสุขสำราญ 85 กิโลเมตร

งานปิดทองพระถ้ำพระขยางค์ จัดขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์) ของทุกปี ประมาณ 3-7 วัน โดยใช้บริเวณถ้ำพระขยางค์เป็นสถานที่จัดงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเข้าชมความสวยงามของถ้ำ ตลอดจนพันธุ์ไม้และว่านต่างๆ ที่หายาก ซึ่งเชื่อกันว่ามีผู้นำมาปลูกไว้บนเขาโดยช่วงกลางคืนจะมีมหรสพต่างๆ
งานกาหยู กำหนดจัดประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีกาหยู หรือมะม่วงหิมพานต์กำลังสุกเต็มต้น และเป็นฤดูที่ชาวบ้านกำลังเก็บเมล็ดกาหยู ในภาคราชการจัดให้มีการออกร้านจัดนิทรรศการ เพื่อประกวดพืชผล ทางการเกษตร เช่น ประกวดเมล็ดกาหยู กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็บมือนาง และการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร ตลอดจนจัดประกวดผลผลิตทางการเกษตร และอาหารทะเลแห้ง เช่น กะปิ ปลาเค็ม ฯลฯ รวมทั้งมีงานมหรสพ และการแสดงต่างๆ
งานเสด็จพระแข่งเรือ (อำเภอกระบุรี) เริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 แต่ได้หยุดจัดเป็นการชั่วคราวในช่วงปี พ.ศ. 2501-2522 และเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2523 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ระยะเวลาการจัดงาน 3 วัน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 3 ค่ำ เดือน 11 กิจกรรมในงานที่สำคัญ คือ การแข่งขันเรือพระน้ำ โดยจะมีการนำเรือมาตกแต่งให้สวยงาม และอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในเรือ แล้วแห่ไปตามลำน้ำกระบุรี โดยผ่านบริเวณย่านชุมชน มีการประกวดร้องเพลงเรือ การแข่งเรือ ซึ่งจะเป็นการจัดร่วมระหว่างชาวไทย และชาวพม่า (ทั้งหมดจัดบริเวณแม่น้ำกระบุรี ช่วงคอคอดกระ) และบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอกระบุรีก็จะจัดให้มีงานมหรสพ ตลอดจนการแสดงต่างๆ ด้วย
งานดอกบัวตองริมทะเลอันดามัน งานนี้จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม ท่านจะได้สัมผัสกับ ทุ่งบัวตองของภาคใต้ที่จังหวัดระนอง ในบริเวณจันทร์สมธารารีสอร์ท หาดชาญดำริ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมือง 9 กิโลเมตร ภายในงานจะมีการแข่งขันเรือพายระหว่างไทย-พม่า และการแสดงต่างๆ มากมาย

 

  สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

สุสานเจ้าเมืองระนอง ตั้งอยู่ด้านขวามือของทางหลวงหมายเลข 4004 ริมถนนเรืองราษฎร์ตัดกับถนนราษฎรพาณิชย์ และถนนกิจผดุง (ระนอง-ปากน้ำ) ห่างจากเขตเทศบาลเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร สุสานเจ้าเมืองระนองเป็นที่ฝังศพของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก บริเวณสุสานซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่เชิงเนินเขาขนาดเล็ก หันหน้าไปทางทิศใต้ บริเวณลานกว้างหน้าสุสานปูศิลาขึ้นไปจนถึงสุสาน ด้านข้างทั้งสองเป็นที่ตั้งตุ๊กตาหินโบราณซึ่งนำมาจาก ประเทศจีนในสมัยที่เจ้าเมืองระนองยังมีชีวิตอยู่ ถัดมาเป็นเสาหินแกรนิต 2 เสา ด้านหน้าสุสานบริเวณ ริมถนนมีป้ายหินแกรนิตจารึกประวัติความเป็นมาและคำสรรเสริญเกียรติคุณของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง)
บ่อน้ำร้อน-สวนรุกขชาติรักษะวาริน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดระนอง อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 2 กิโลเมตร บ่อน้ำร้อนหรือพุน้ำร้อนอยู่คู่วัฒนธรรมการท่องเที่ยวของเมืองระนองมานับร้อยปี ใน พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสเมืองระนอง ได้พระราชทานชื่อถนนที่จะไปยังบ่อน้ำร้อนว่า “ถนนชลระอุ” บ่อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินี้มีอยู่ 3 บ่อคือ บ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูก ทั้ง 3 บ่อ มีอุณหภูมิสูงประมาณ 65 องศาเซลเซียส สามารถใช้ดื่มและอาบได้ มีประโยชน์ต่อร่างกายในแง่การบำบัดรักษาสุขภาพ นอกจากนี้ยังถือเป็นน้ำบริสุทธิ์ จึงเป็นแหล่งหนึ่งที่นำไปผ่านพิธีพุทธาภิเษก ทำน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ในคราวพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในบริเวณรอบๆ บ่อน้ำร้อนได้จัดเป็นสวนสาธารณะ “รักษะวาริน” มีศาลาที่พักและห้องอาบน้ำร้อนไว้บริการด้วย วัดตโปทารามที่อยู่ใกล้เคียงก็มีห้องอาบน้ำเช่นเดียวกัน
วัดหาดส้มแป้น ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลหาดส้มแป้น ห่างจากเขตเทศบาลเมืองระนองไปตามทางหลวงหมายเลข 4005 (ถนนชลระอุ) เป็นระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร มีหาดทรายริมคลองเกิดจากการทำเหมืองแร่ แล้วปล่อยทรายและหินบนภูเขาลงมาตามลำธาร สิ่งที่น่าสนใจในบริเวณวัดคือ “ปลาพลวง” ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากปลาพลวงนี้เป็นปลาที่รับประทานแล้วเมา จึงไม่มีผู้ใดจับปลาชนิดนี้ ทำให้สามารถขยายพันธุ์เป็นจำนวนมากนับเป็นพันๆ ตัว และในบริเวณวัดจะมีศาลาริมน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะให้อาหารปลาเหล่านี้ และวัดหาดส้มแป้นยังเป็นที่ตั้งของศาลาที่ประดิษฐานรูปเหมือน หลวงพ่อคล้าย ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ประชาชนในภาคใต้ให้ความเคารพนับถือมาก ท่านได้มรณะภาพที่วัดหาดส้มแป้นนี้ จากวัดหาดส้มแป้นมีถนนลูกรัง เลี้ยวซ้ายไปยังขุมเหมืองเก่า ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแอ่งน้ำสีเขียว ชาวบ้านเรียกว่า สระมรกต จากสระมรกตหากแล่นรถตรงไปเรื่อยๆ จะเห็นเหมืองดินขาวเรียงรายอยู่เป็นระยะ
 วัดสุวรรณคีรี (วัดหน้าเมือง) อยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนอง ไปตามถนนหมายเลข 4004 (สายระนอง-ปากน้ำ) เป็นวัดเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี ในวัดมีเจดีย์ศิลปะพม่าสูง 10 เมตร มีอายุกว่า 70 ปี สร้างโดยชาวพม่าในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องลวดลายงดงามมาก และมีหอระฆังลายแมว
น้ำตกปุญญบาล เดิมชื่อน้ำตกเส็ดตะกวด ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบางนอน ริมทางหลวงหมายเลข 4 (ระนอง-กระบุรี) ห่างจากเมืองระนองประมาณ 15 กิโลเมตร บริเวณ กม.ที่ 588-589 น้ำตกปุญญบาลเป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีหลายชั้น ชั้นที่มองเห็นจากริมถนนเป็นชั้นสุดท้าย มีความสูงประมาณ 15 เมตร บริเวณใกล้น้ำตกมีศาลาที่พัก ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และร้านจำหน่ายของที่ระลึก
น้ำตกโตนเพชร ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลราชกรูด ห่างจากเขตเทศบาลเมืองระนองประมาณ 29 กิโลเมตร (ระนอง-พังงา) ตรง กม.ที่ 641 เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลูกรังที่มีป้ายบอกทางเข้าค่ายลูกเสือระนองอีกราว 2 กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าขึ้นเขาสูงชันอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตกโตนเพชร ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีทั้งหมด 11 ชั้น แต่ละชั้นสายน้ำมีลักษณะลดหลั่นลงมาผ่านแนวชะง่อนหิน มีรูปทรงที่สวยงามมาก น้ำไหลตลอดทั้งปี โดยต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพ่อตาโชงโดง ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดระนอง ส่วนสภาพป่าข้างเคียงเป็นป่าดิบชื้น อนึ่งเพื่อความสะดวกสำหรับการเข้าชมน้ำตกโตนเพชร ควรติดต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านห้วยน้ำใส ตำบลราชกรูด ให้เป็นผู้นำทางสู่น้ำตก
น้ำตกหงาว ตั้งอยู่ที่ตำบลหงาว ห่างจากภูเขาหญ้าราว 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร แต่เดิมบริเวณน้ำตกหงาวเป็นเขตวนอุทยาน ปัจจุบันจัดรวมอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติคลองเพรา ซึ่งที่ทำการอุทยานฯ ก็ตั้งอยู่ที่บริเวณน้ำตกหงาวนี้เอง น้ำตกหงาวเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลลงมาจากสันเขาที่สูงชัน จึงสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล สัตว์ที่น่าสนใจที่พบได้ในบริเวณน้ำตกหงาวได้แก่ ปูเจ้าฟ้า ซึ่งเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก โดยศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก พบว่าปูชนิดนี้ไม่เคยปรากฏในอนุกรมวิธานของสัตว์จำพวก กั้ง กุ้ง และปู มาก่อน ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงขอพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีมาเป็นส่วนหนึ่งในชื่อวิทยาศาสตร์ของปูที่พบใหม่ว่าปูเจ้าฟ้า (Phricotelphusa Sirindhorn Naiyanetr) ลักษณะเด่นของปูเจ้าฟ้า คือ ลำตัวและก้ามเป็นสีขาว ขาเดินทั้งสี่คู่ เบ้าตาทั้ง 2 ข้าง และบริเวณปากเป็นสีม่วงดำ อาศัยอยู่ตามใต้ซอกหินหรือใต้ใบไม้บริเวณ 2 ข้างทางลำธารเล็กๆ ที่ไหลจากน้ำตก โดยเฉพาะในฤดูฝน
ศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาว อยู่ห่างจากตัวเมืองระนองประมาณ 15 กม. ป่าชายเลนหงาวเป็นแหล่งเกิดและเติบโตของสัตว์ทะเลนานาชนิด ก่อนที่จะแข็งแรงและอาศัยหากินในทะเล ที่ศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาวได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้นำชมธรรมชาติ ทั้งพรรณไม้ป่าและสัตว์ป่า การทัศนศึกษาในเขตป่าชายเลนนี้ จะต้องจดหมายถึงหัวหน้าศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาว หมู่ที่ 4 บ้านล่าง ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง 85000 โดยจดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 3 อาทิตย์ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เตรียมนำทางและบรรยายให้ความรู้
ภูเขาหญ้าหรือเขาหัวล้าน หรือเขาผี อยู่ในเขต ต.หงาว จากเขตเทศบาลเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ระนอง-พังงา) ประมาณ 11-12 กิโลเมตร เขาหัวล้านหรือเขาผีนี้ เป็นภูเขาที่ไม่มีไม้ใหญ่ขึ้น พืชพรรณที่ปรากฏส่วนใหญ่ในฤดูฝนคือ หญ้าสีเขียวซึ่งขึ้นปกคลุมแนวเขาที่ทอดตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ บางครั้งจึงเรียกกันว่า ภูเขาหญ้า ในช่วงฤดูร้อนหญ้าจะตาย ภูเขาจึงแลดูเป็นสีน้ำตาล ที่ราบเชิงเขามีทางเดินเท้าสำหรับนักท่องเที่ยวขึ้นสู่บนสันเขาเพื่อชมทิวทัศน์โดยรอบ
หาดชาญดำริ อยู่ห่างจากเขตเทศบาลเมืองระนองไปตามทางหลวงหมายเลข 4004 (ระนอง-ปากน้ำ) เป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร หรือห่างจากสุสานเจ้าเมืองระนอง 8 กิโลเมตร ก่อนถึงหาดชาญดำริราว 200 เมตร จะเป็นเนินเขาสูง สามารถชมทิวทัศน์ของชุมชนปากน้ำ ระนอง และเกาะสองหรือวิคตอเรียพอยท์ของฝั่งพม่า ตลอดจนเกาะแก่งอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำกระบุรีและยังเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างดี ปัจจุบันหาดชาญดำริเป็นที่ตั้งของ จันทร์สมธารารีสอร์ท โดยมีท่าเทียบเรือสำหรับเรือท่องเที่ยวซึ่งบริการนำเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่างๆ ของระนองในทะเลอันดามันด้วย
วิคตอเรียพอยท์ หรือเกาะสอง เป็นดินแดนในฝั่งสหภาพพม่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับประเทศไทย โดยมีแม่น้ำกระบุรีกั้นขวางตรงตัวจังหวัดระนองพอดี นักท่องเที่ยวที่ต้องการไปชมหรือซื้อสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก เช่น พลอย เครื่องหวาย เครื่องเขินพม่า เครื่องประดับทำจากเปลือกหอยและงาช้าง ฯลฯ สามารถเช่าเรือหางยาวจากท่าสะพานปลาในอัตราลำละ 200-300 บาท ใช้เวลาข้ามฟากประมาณ 15 นาที อนุญาตให้ข้ามไปเที่ยวได้เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ต้องทำบัตรผ่านแดนก่อน โดยติดต่อด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ถนนสะพานปลา โทร. (077) 821216 หรือจะเดินทางไปกับทัวร์ของโรงแรมจันทร์สมธาราก็ได้
เกาะพยาม ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง ห่างจากปากน้ำระนองประมาณ 33 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือ 1-2 ชั่วโมง เกาะพยามเป็นแหล่งปลูกมะม่วงหิมพานต์ หรือกาหยู ที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัด มีชายหาดขาวสะอาดทอดตัวเป็นแนวยาวไปตามตัวเกาะหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านชาวเลตั้งอยู่หลายสิบหลังคาเรือน การเดินทางจากปากน้ำระนอง ท่าเรือสะพานปลา สามารถเช่าเหมาเรือในอัตราประมาณ 1,000 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง หรือติดต่อเหมาเรือเร็วของเกาะพยามรีสอร์ท อัตราค่าเช่าเรือ (ไป-กลับ) ลำเล็ก 2,000 บาท ลำใหญ่ 4,000 บาท ติดต่อล่วงหน้าได้ที่ โทร. (077) 812297, (01) 323-0436 หรือติดต่อบริการนำเที่ยวเป็นหมู่คณะของโรงแรมจันทร์สมธารา สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 448-6096 ระนอง โทร. (077) 821511 นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียงกับเกาะพยามยังมีเกาะอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นแหล่งตกปลา เช่น เกาะสินไห เกาะช้าง ฯลฯ นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อเช่าเหมาเรือจากปากน้ำระนอง ท่าเรือสะพานปลาได้เช่นเดียวกัน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกระบุรี

  ศิลาสลักพระปรมาภิไธย เป็นสถานที่สำคัญด่านแรกของจังหวัดระนอง ตามเส้นทางจากกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในเขตตำบลปากจั่น (ตรงข้ามโรงเรียนบ้าน จปร.) ประมาณกิโลเมตรที่ 525 ซึ่งเป็นเขตแดนระหว่างจังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร ห่างจากตัวเมืองระนอง 86 กิโลเมตร อนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “หินสลักพระปรมาภิไธย จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้ทรงจารึกไว้ ครั้งที่พระองค์ทรงเสด็จประพาส โดยขบวนช้างและม้าจากจังหวัดชุมพร มาประทับแรมคืนที่พลับพลาดอนวังทู้หมู่ที่ 1 ตำบลปากจั่น เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2433 และหินสลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ สก. ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ รวมทั้งพระนามาภิไธยย่อ สธ. ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ทรงจารึกไว้ครั้งที่เสด็จประพาสจากชุมพรโดยรถยนต์มาทรงเยี่ยมประชาชน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2502
คอคอดกระ หรือ กิ่วกระ อยู่ในเขตบ้านทับหลี ตำบลละมุ ประมาณกิโลเมตรที่ 545 ของทางหลวงหมายเลข 4 ห่างจากเขตเทศบาลเมือง 66 กิโลเมตร บริเวณนี้เป็นส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู โดยมีระยะจากฝั่งทะเลทางตะวันตกจรดตะวันออก กว้างเพียง 44 กิโลเมตร มีแผ่นป้ายคอนกรีตขนาดใหญ่จำลองแผนที่แสดงจุดที่ตั้งของคอคอดกระ ซึ่งเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกมากแห่งหนึ่งของจังหวัดระนอง และใกล้ๆ แผ่นป้ายคอนกรีตดังกล่าว ยังสามารถชมทิวทัศน์ของแม่น้ำกระบุรี ซึ่งแบ่งพรมแดนไทย-พม่า ได้อย่างชัดเจน
ถ้ำพระขยางค์ เดิมชื่อถ้ำขาหยั่ง อยู่ในเทือกเขาเขตตำบลลำเลียง ห่างจากที่ว่าการอำเภอกระบุรีไปทางใต้ 18 กิโลเมตร โดยมีทางแยกซ้ายจากถนนเพชรเกษม (ระนอง-ชุมพร) ที่ กม. 563-564 เข้าไป 1 กิโลเมตร ถ้ำพระขยางค์เป็นถ้ำขนาดเล็ก ซึ่งมีตำนานเก่าแก่ที่เกี่ยวกับการสร้างเมืองกระบุรี จากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 40 เมตร มีบันไดขึ้นสู่ด้านบน สามารถทะลุออกภายนอกซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อกันว่า มีการนำเอาสมุนไพรที่หายากมาปลูกไว้ การเที่ยวชมควรเตรียมเทียนไข หรือไฟฉายพกติดตัวไปด้วย บรรยากาศภายในถ้ำค่อนข้างอับชื้น ส่วนหนึ่งอาจมีผลมาจากมูลของค้างคาว ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก อนึ่ง ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปีจะมีการจัดเทศกาลงานปิดทองพระบริเวณถ้ำพระขยางค์ เป็นเวลา 3-7 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเข้าชมความสวยงามของถ้ำตลอดจนสมุนไพรต่างๆ ที่อยู่บนเขา
น้ำตกชุมแสง หรือน้ำตกสายรุ้ง อยู่ที่บ้านปากจั่น ตำบลปากจั่น ห่างจากเขตเทศบาลเมืองระนองและตัวอำเภอกระบุรีไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ทางไปจังหวัดชุมพร) เป็นระยะทาง 80 และ 16 กิโลเมตร ตามลำดับ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 529-530 (ด้านตรงข้ามกับทางเข้าสู่นิคมสร้างตนเองบ้านปากจั่น) จะมีทางแยกซ้ายมือเป็นถนนลูกรังเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตกชุมแสง ซึ่งมีน้ำไหลเฉพาะในฤดูฝน น้ำจะไหลกระแทกกับโขดหินแล้วกระจายออกเป็นสายดูคล้ายสายรุ้ง จึงทำให้ชาวบ้านมักจะเรียกน้ำตกแห่งนี้ว่า “น้ำตกสายรุ้ง”
น้ำตกบกกราย ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลน้ำจืด ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ระนอง-ชุมพร) ประมาณ 54 กิโลเมตร ที่หลักกิโลเมตรที่ 556-557 จะมีป้ายชี้ทางไปน้ำตกบกกราย ตามถนนลูกรังปนหินคลุกด้านซ้ายมืออีกราว 13 กิโลเมตร สภาพถนนไม่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน รถที่ใช้ควรมีสภาพดี และจากบริเวณสุดทางของถนนต้องเดินเท้าต่อ ผ่านพื้นที่ทำไร่และป่าชื้นอีกเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตก น้ำตกบกกรายเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดปี
น้ำตกสุวรรณศิริ อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางตอนใต้ประมาณ 24 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าทางด้านซ้ายประมาณ 3 กิโลเมตร และต้องเดินเท้าอีกประมาณ 6 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกะเปอร์

  น้ำตกเขาพระนารายณ์ ตั้งอยู่เขตตำบลกะเปอร์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอกะเปอร์ประมาณ 3 กิโลเมตร มีทางแยกผ่านป่ากะเปอร์เข้าไปอีก 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยงาม บริเวณโดยรอบเป็นป่าไม้บรรยากาศร่มรื่น
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จากอำเภอกะเปอร์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ทางไปพังงา) ประมาณ 25 กิโลเมตร ถึงหลักกิโลเมตรที่ 685-686 เลี้ยวซ้ายตามป้ายอีก 200 เมตร ถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์และมีน้ำตกสวยงามคือ น้ำตกพันเมตร เนื่องจากมิได้เปิดให้ท่องเที่ยวอิสระเหมือนอุทยานแห่งชาติ การทัศนศึกษาจะต้องทำจดหมายขออนุญาตเข้าพักแรมในพื้นที่ ถึงผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ 10900 และได้รับจดหมายตอบอนุมัติ จากนั้นนำจดหมายแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประจำที่ป่าคลองนาคา ใช้เวลาเตรียมการอย่างน้อย 1 เดือน
อุทยานแห่งชาติแหลมสน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2526 มีเนื้อที่ทั้งหมด 315 ตารางกิโลเมตร หรือ 196,875 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ริมทะเลตั้งแต่ ต.ราชกรูด อ.เมือง ลงไปทางใต้ ผ่าน ต.ม่วงกลาง ต.กะเปอร์ ต.บางหัน ต. นาคา อ.กะเปอร์ จังหวัดระนอง เลยไปถึง ต.คุระ อ.คุระบุรี จังหวัดพังงา และครอบคลุมถึงเกาะต่างๆ ในทะเลอันดามันคือ เกาะค้างคาว หมู่เกาะกำ สำหรับที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ที่หาดบางเบน หมู่ที่ 4 ต.ม่วงกลาง ห่างจากจังหวัดระนองไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ระนอง-พังงา) เป็นระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร (หรือห่างจาก อ.กะเปอร์ เพียง 6 กิโลเมตรเท่านั้น) บริเวณกิโลเมตรที่ 657 จะมีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังอีกยาว 10 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติแหลมสนมีสภาพภูมิอากาศแบ่งเป็นสองฤดูกาลคือ ฤดูฝนซึ่งมีฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน และฤดูร้อนระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ ได้แก่
 หาดบางเบน เป็นหาดทรายยาวและกว้างใหญ่ มีทรายละเอียด ร่มรื่นด้วยป่าสนธรรมชาติ บริเวณชายหาดจะมองเห็นเกาะแก่งในทะเลได้อย่างสวยงามชายหาดบางเบนนี้เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ
หาดแหลมสน
อยู่ถัดจากหาดบางเบนประมาณ 4 กิโลเมตร มีหาดทรายขาวสะอาด และเป็นที่อยู่ของนกนานาชนิด เหมาะสำหรับไปตั้งแค้มป์ดูนก
 หาดประพาส หรือหาดหินทุ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลกำพวน จากเขตเทศบาลเมืองระนองไปตามทางหลวงหมายเลข 4 (ระนอง-พังงา) ประมาณ 90 กิโลเมตร หรือจากอำเภอกะเปอร์ราว 30 กิโลเมตร ถึงหลักกิโลเมตรที่ 702 แล้วแยกขวาไปตามถนนลูกรังอีกราว 3 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานริมหาดประพาส หาดประพาสเป็นชายหาดใหญ่ มีทิวสนร่มรื่นเช่นเดียวกับหาดบางเบน
 เกาะค้างคาว เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวละเอียด ด้านเหนือของเกาะเป็นหาดหินงาม มีหินทรงกลมมนเรียงรายอยู่เต็มหาดไปหมด จากหาดบางเบนนั่งเรือไปเกาะค้างคาวใช้เวลาประมาณ 40 นาที
 เกาะกำตก หรือเกาะอ่าวเขาควาย มีอ่าวที่โค้งเกือบเป็นรูปกลม เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่ดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว จากเกาะค้างคาวนั่งเรือไปเกาะกำตกใช้เวลาประมาณ 20 นาที
 เกาะกำใหญ่ เป็นเกาะที่สวยงาม มีหาดทรายขาวบริสุทธิ์อยู่เกือบรอบเกาะ อยู่ห่างจากหาดบางเบน โดยนั่งเรือออกไปประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
 เกาะกำนุ้ย อยู่ใกล้กับเกาะกำใหญ่ มีหาดทรายเพียงด้านเดียว ประกอบด้วยเกาะบริวารอีกหลายเกาะ อุทยานแห่งชาติแหลมสน มีบ้านพักและร้านอาหารบริการสำหรับนักท่องเที่ยว รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 หรือที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสน หาดบางเบน ตำบลม่วงกลาง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง 851290

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอละอุ่น

   เขาฝาชี ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางแก้ว บนทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณกิโลเมตรที่ 580 มีทางแยกขวามือ เป็นทางราดยางเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร มีป้ายปากทางเขียนว่า “ศูนย์โทรคมนาคมเขาฝาชี” เป็นภูเขาที่มีลักษณะคล้ายกับฝาชี สูงจากระดับน้ำทะเล 259 เมตร บนยอดเขาเป็นสถานที่ชมทิวทัศน์สวยงาม พระอาทิตย์อัสดง สามารถมองเห็นแม่น้ำกระบุรีไหลบรรจบกับแม่น้ำละอุ่น เกาะแก่งต่างๆ เป็นภาพที่สวยงามสดใสมีชีวิตชีวา ในบริเวณใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งฐานทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีหลักฐานสำคัญคือ ซากเรือรบ อุโมงค์ใต้ดิน แนวทางรถไฟ
ซากเรือรบญี่ปุ่น เลยทางเข้าเขาฝาชีมาอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำ ละอุ่นในยามน้ำลดจะเห็นซากเรือรบเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นได้ใช้พื้นที่ในตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี เป็นท่าเรือเพื่อส่งกำลังบำรุงไปยังประเทศพม่าในระหว่างสงคราม
เกาะนพเกตุ อยู่ห่างจากฝั่งปากคลองละอุ่น โดยนั่งเรือประมาณ 20 นาที เป็นแหล่งหอยนางรมและหอย แมลงภู่ยักษ์ ขนาด 6-8 นิ้ว ปัจจุบันเป็นเกาะสัมปทาน ถ้าต้องการเข้าชมต้องติดต่อกับคุณยงยุทธ นพเกตุ (077) 821560
ถ้ำหนัดได หรือถ้ำค้างคาว ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เขาหนัดได หมู่ที่ 5 บ้านปากแพรก ตำบลละอุ่นเหนือ อยู่ริมถนนสายปากแพรก-ในวง ประมาณกิโลเมตรที่ 20 ระยะทางจากตัวอำเภอ 20 กิโลเมตร สถานที่ตั้งของถ้ำอยู่ห่างจากถนนดังกล่าว 100 เมตร สภาพภายในถ้ำมีความสวยงามและสลับซับซ้อนแบ่งได้เป็น 2 ชั้น ชั้นบนเป็นถ้ำหินย้อย และสามารถเดินชมภายในถ้ำไปสู่อีกด้านหนึ่งของถ้ำได้ ชั้นล่างเป็นถ้ำน้ำลอด ซึ่งสามารถเดินชมภายในถ้ำได้




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ระนอง