แผนที่พิษณุโลก

  • แผนที่พิษณุโลก
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

พิษณุโลก

พิษณุโลกพิษณุโลก เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานคร 368 กม. มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 10,815 ตร.กม. หรือ 6,759,909 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศทางตอนเหนือและตอนกลางเป็นเขตเทือกเขาสูงและที่ราบสูง โดยมีเขตภูเขาสูงด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ในเขตอำเภอวังทอง อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเนินมะปราง อำเภอนครไทย และอำเภอชาติตระการ พื้นที่ตอนกลางมาทางใต้เป็นที่ราบ และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแหล่งการเกษตรที่สำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก อยู่ในเขตอำเภอบางระกำ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม อำเภอเนินมะปราง และบางส่วนของอำเภอวังทอง


พิษณุโลกเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 สมัยขอมมีอำนาจปกครองแถบนี้ แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “เมืองสองแคว” เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำน่าน และแม่น้ำแควน้อย (ที่ตั้งของวัดจุฬามณีในปัจจุบัน)

ในสมัยสุโขทัย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เมืองสองแควอยู่ในอำนาจของราชวงศ์ผาเมือง จนกระทั่งในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงได้ยึดเมืองสองแคว ครั้นสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ได้เสด็จมาประทับที่เมืองสองแคว พระองค์ได้เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงนำความเจริญ เป็นอย่างยิ่ง เช่น การสร้างเหมืองฝาย สนับสนุนให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก สร้างทางคมนาคมจากเมืองพิษณุโลกไปเมืองสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา เพื่อประดิษฐานไว้ใน พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่)

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เมื่อครั้งที่เสด็จมาประทับ เมืองสองแควตั้งแต่ พ.ศ. 2006 จนสิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. 2031 เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยานานถึง 25 ปี ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ และเป็นเมืองลูกหลวง ซึ่งกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาส่งมหาอุปราช หรือพระราชโอรสมาครองเมือง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ทรงมีราชสมภพ ณ เมืองนี้ และได้ทรงครองเมืองนี้เช่นกัน

สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่าพิษณุโลกเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ควรมีผู้ที่เข้มแข็งที่มีความสามารถเป็นเจ้าเมือง จึงทรงแต่งตั้งเจ้าพระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชสำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกโดยขึ้นต่อกรุงธนบุรี เมื่อได้ทรงแต่งตั้งผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือจนครบถ้วนแล้ว จึงเสด็จกลับไปยังกรุงธนบุรี

พ.ศ. 2318 อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าผู้ชำนาญการรบ ได้วางแผนยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย ตีได้เมืองตาก เมืองสวรรคโลก บ้านกงธานี และมาพักกองทัพอยู่ที่กรุงสุโขทัย ขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์กำลังยกกองทัพขึ้นไปตีเชียงแสน เมื่อทราบข่าวข้าศึก จึงรีบยกทัพกลับมารับทัพพม่าที่เมืองพิษณุโลก ก่อนที่อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาตั้งค่ายล้อมเมืองพิษณุโลก

กองทัพพม่าพยายามเข้าตีค่ายไทยหลายครั้ง แต่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ช่วยป้องกันเมืองเป็นสามารถ ทั้งที่ทหารน้อยกว่าแต่ไม่สามารถชนะกันได้ อะแซหวุ่นกี้ถึงกับกล่าวยกย่องแม่ทัพฝ่ายไทย เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข่าวอะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพใหญ่มาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย จึงทรงยกทัพใหญ่ขึ้นไปช่วยทันที ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ทราบข่าวว่ากองทัพไทยมาตั้งค่ายเพื่อช่วยเหลือเมืองพิษณุโลก จึงแบ่งกำลังพลไปตั้งมั่นที่วัดจุฬามณีฝั่งตะวันตก อะแซหวุ่นกี้เห็นว่าถ้าชักช้าไม่ทันการณ์จึงสั่งให้ทัพพม่าที่กรุงสุโขทัยไปตีเมืองกำแพงเพชร ส่วนกองทัพเมืองกำแพงเพชรไปตีเมืองนครสวรรค์ และสั่งให้กองทัพพม่าอีกกองทัพหนึ่งยกไปตีกรุงธนบุรี การวางแผนของอะแซหวุ่นกี้เช่นนี้ เป็นการตัดกำลังฝ่ายไทยไม่ให้ช่วยเมืองพิษณุโลกและต้องการให้กองทัพไทยระส่ำระสาย

ในที่สุดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริเห็นว่า ไทยเสียเปรียบเพราะมีกำลังทหารน้อยกว่า จึงควรถอยทัพกลับไปตั้งมั่นรับทัพพม่าที่กรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรีเห็นว่าไทยขาดเสบียงอาหารและใกล้จะหมดทางสู้ จึงตัดสินใจพาไพร่พลและประชาชนชายหญิงทั้งหมด ตีหักค่ายพม่าออกจากเมืองพิษณุโลกไปทางทิศตะวันออกได้สำเร็จ พาทัพผ่าน บ้านมุง บ้านดงชมพู ข้ามเขาบรรทัด ไปตั้งรวมรี้พลอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์

พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกนานถึง 4 เดือน เมื่อเข้าเมืองได้ ก็พบแต่เมืองร้าง อะแซหวุ่นกี้จึงสั่งเผาผลาญทำลายบ้านเมืองพิษณุโลกพินาศจนหมดสิ้น คงเหลือเฉพาะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเท่านั้น

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พิษณุโลกยังคงเป็นเมืองเอกขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เรื่อยมา ครั้นถึงปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเมืองพิษณุโลกขึ้นเป็นมณฑลเรียกว่า มณฑลพิษณุโลก ต่อมาเมื่อยกเลิกการปกครองแบบมณฑลแล้ว พิษณุโลกจึงมีฐานะเป็นจังหวัดเรื่อยมาจนปัจจุบัน

พิษณุโลกมีอาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์และสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว 
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพิจิตร 
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย 
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัยและจังหวัด กำแพงเพชร

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอต่าง ๆ

อำเภอนครไทย 97 กิโลเมตร
อำเภอชาติตระการ 136 กิโลเมตร
อำเภอบางระกำ 17 กิโลเมตร
อำเภอบางกระทุ่ม 35 กิโลเมตร
อำเภอพรหมพิราม 40 กิโลเมตร
อำเภอวัดโบสถ์ 30 กิโลเมตร
อำเภอวังทอง 17 กิโลเมตร
อำเภอเนินมะปราง 75 กิโลเมตร

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงวังน้อยแล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเซีย) ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ แล้วใช้เส้นทางสาย 117 ตรงสู่พิษณุโลก รวมระยะทาง 337 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุด หรือจากสิงห์บุรี ใช้เส้นทางสายอินทร์บุรี-ตากฟ้า (ทางหลวงหมายเลข 11) จนถึงทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) ที่เขตอำเภอวังทอง เลี้ยวซ้ายไปอีก 17 กิโลเมตร เข้าสู่พิษณุโลกรวมระยะทางประมาณ 450 กิโลเมตร หากเดินทางจากจังหวัดตาก ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านสุโขทัยเข้าพิษณุโลกระยะทาง 138 กิโลเมตร และทางสายเดียวกันจากขอนแก่น 391 กิโลเมตร จากแยกเพชรบูรณ์หล่มสักมาพิษณุโลก ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร เส้นทางนี้ผ่านแหล่งท่องเที่ยวสองข้างทางหลายแห่ง

ทางรถประจำทาง

รถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด จัดบริการรถโดยสารธรรมดา และปรับอากาศทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-22.30 น. รายละเอียดติดต่อที่ โทร. 272-5228, 2725254 (ธรรมดา) โทร. 272-5299, 272-5253 (ปรับอากาศ) และที่สถานีขนส่งพิษณุโลก โทร. (055) 242-430 นอกจากนี้ยังมีรถ บขส. บริการระหว่างพิษณุโลกกับจังหวัดต่างๆ คือ อุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก (แม่สอด) พิจิตร เพชรบูรณ์ และขอนแก่น ทุกวัน บริษัททัวร์ที่บริการรถประจำทางไป-กลับ ระหว่าง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ได้แก่ พิษณุโลกยานยนต์ทัวร์ มีรถปรับอากาศบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. รายละเอียดติดต่อ โทร. 272-5304 สำนักงานพิษณุโลก (055) 258-647, 258-941 ถาวรฟาร์ม มีรถบริการตั้งแต่เวลา 11.00-17.00 น. รายละเอียดติดต่อ โทร. 272-0277 สำนักงานพิษณุโลก โทร. (055) 258-526, 241-044 วินทัวร์ มีรถออกทุกชั่วโมงตั้งแต่เวลา 09.00-22.30 น. รายละเอียดติดต่อ โทร. 272-5262 สำนักงานพิษณุโลก โทร. (055) 243-222, 258-010

ทางรถไฟ

รถไฟ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดบริการรถด่วนพิเศษ (สปรินท์เตอร์) รถเร็ว และรถธรรมดา จากกรุงเทพฯ ไปพิษณุโลกทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690 และที่สถานีรถไฟพิษณุโลก โทร. (055) 258-005

ทางเครื่องบิน

เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด มีเที่ยวบินไปจังหวัดพิษณุโลกทุกวัน ใช้เวลาเดินทาง 50 นาที ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด ถนนหลานหลวง โทร. 02-356-1111 หรือที่สำนักงานพิษณุโลก โทร. (055) 258-020, 251-671

ประเพณีการแข่งเรือยาว การแข่งเรือยาวเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก ที่ได้ยึดถือมาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งปัจจุบัน จังหวัดพิษณุโลกจะจัดงานแข่งเรือยาวประเพณีประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี หลังจากนำผ้าห่มมาห่มองค์พระพุทธชินราช ในงานนี้จะมีการประกวดขบวนเรือ การแข่งขันเรือยาวประเพณี และมีการประดับขบวนเรือต่าง ๆ สวยงามน่าชม งานนี้จัดขึ้นบริเวณแม่น้ำน่าน หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

  วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ วัดใหญ่ เป็นวัดสำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกริมถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เป็นวัดหลวงชั้นเอก “วรมหาวิหาร” ภายในวิหารของวัดเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” หรือที่ชาวเมืองพิษณุโลกเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ในสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม และพระศรีศาสดา ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารพุทธลักษณะของพระพุทธชินราชนั้นสวยงามมาก เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในโลก มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาชมและสักการบูชาพระพุทธชินราชเป็นจำนวนมาก ทุก ๆ ปี จะมีงานนมัสการพระพุทธชินราชในวันขึ้น 6 ค่ำ ถึงวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณปลายเดือนมกราคม) เรียกว่า “งานวัดใหญ่”
ทางเข้าพระวิหารด้านหน้ามีบานประตูขนาดใหญ่ประดับมุกสวยงามสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ บริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช มีพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. 1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” ด้านหลังพระอัฏฐารส เป็นพระปรางค์ประธาน สร้างแบบสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ สันนิษฐานว่าเดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกบัวตูม) ซึ่งถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังมี “พระเหลือ” ซึ่งพระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ประดิษฐานในวิหารน้อย เรียกยกว่า “วิหารพระเหลือ” 

วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุเล็กน้อย ตัวพระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ เศียรนาคที่ชายคาเป็นนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม พิจารณาดูตามชื่อแล้ว วัดราชบูรณะน่าจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง เชื่อว่าเป็นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เนื่องจากทรงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกถึง 25 ปี และทรงมีบทบาททางบำรุงพระศาสนาที่พิษณุโลกมากที่สุด

วัดนางพญา ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชบูรณะ ถัดไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยเดียวกับวัดราชบูรณะ ต่างกันที่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถมีแต่วิหาร มีการพบกรุพระเครื่อง “นางพญา” ซึ่งมีชื่อเสียงของจังหวัดพิษณุโลกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2444 และครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2497

วัดอรัญญิก ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน อยู่ห่างจากกำแพงเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร บนถนนพญาเสือ ซึ่งแยกจากถนนเอกาทศรถ เป็นวัดที่สร้างในสมัยสุโขทัย สำหรับสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี วัดนี้มีคูน้ำล้อมรอบ ตามคติสมัยสุโขทัย ถมเป็นเนินสำหรับวิหาร ด้านหลังวิหารมีเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาเป็นเจดีย์ประธาน และมีเจดีย์บริวารสี่องค์ แต่ปัจจุบันผุพังไปมาก

วัดเจดีย์ยอดทอง ตั้งอยู่บนถนนพญาเสือ เช่นเดียวกับวัดอรัญญิก ปัจจุบันเหลือเพียงเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัยเพียงองค์เดียวของจังหวัดที่สมบูรณ์ มีฐานกว้างประมาณ 9 เมตร สูง 20 เมตร

วัดวิหารทอง เป็นวัดใหญ่ ตั้งอยู่ติดกับสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน เยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเล็กน้อย ปัจจุบันเป็นวัดร้างเหลือแต่เนินฐานเจดีย์ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก และเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ประมาณ 7 ต้น เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารสซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสระเกศ

วัดจุฬามณี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปตามทางถนนบรมไตรโลกนารถ ประมาณ 5 ก.ม. วัดจุฬามณีเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัด เคยเป็นที่ตั้งของเมืองพิษณุโลกเดิม ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างพระวิหารและเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ. 2007 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน โดยมีข้าราชบริพาร ออกบวชตามเสด็จถึง 2,348 รูป
วัดนี้มีโบราณสถานสำคัญคือ มณฑปพระพุทธบาทจำลองและศิลาจารึก ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดสร้างขึ้นในแผ่นจารึกมีใจความสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2221 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ผ้าทาบรอยพระพุทธบาท สลักลงบนแผ่นหิน พระราชทานไว้เป็นที่กราบไหว้ของฝูงชน นอกจากนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่มีค่าสูงทางศิลปะ คือ ปรางค์แบบขอม ขนาดเล็ก ฐานกว้าง 11 เมตร ยาว 18 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ปั้นปูนประดับลวดลายเป็นรูปหงส์สวยงามมาก

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมข้างศาลากลางจังหวัด เดิมคือพระราชวังจันทน์ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในศาลประดิษฐานรูปหล่อของพระองค์ขณะทรงหลั่งน้ำประทักษิโณทก ประกาศอิสรภาพกรุงศรีอยุธยา กรมศิลปากรดำเนินการสร้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดศาลนี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2504 ทางจังหวัดพิษณุโลกจึงถือเอาวันที่ 25 มกราคมของทุกปี เป็นวันจัดงานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศาลนี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวพิษณุโลกเป็นอย่างมาก นักท่องเที่ยวควรแวะชมและสักการะ

พระราชวังจันทน์ พระราชวังจันทน์เป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2535 กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบแนว เขตพระราชฐานพระราชวังจันทน์ในบริเวณโรงเรียน ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของจังหวัด ในปัจจุบันทางกรมศิลปากรได้กลบหลุมขุดค้นบางส่วนเพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานไว้จนกว่าจะมีการขุดค้นอย่างจริงจังอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีโบราณสถานบางส่วนที่ยังไม่ได้กลบไว้ให้ผู้สนใจได้ชมและศึกษาต่อไป

สระสองห้อง อยู่ทางด้านตะวันตกของพระราชวังจันทน์นอกกำแพง ปัจจุบันอยู่นอกรั้วของโรงเรียนพิษณุโลก พิทยาคม เดิมชาวบ้านเรียกว่า “หนองสองห้อง” เป็นที่ประทับสำราญพระทัยของพระมหากษัตริย์ที่มาประทับ ณ พระราชวังจันทน์

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าสิบเอก ดร. ทวี-พิมพ์ บูรณเขตต์ ตั้งอยู่ตรงข้างกับโรงหล่อพระบูรณะไทย ถนนวิสุทธิกษัตริย์ อำเภอเมืองพิษณุโลก เป็นที่เก็บรวบรวมศิลปะพื้นบ้าน ตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ จนถึงชิ้นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ในครัวโบราณ และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เครื่องวิดน้ำด้วยมือ เครื่องสีข้าว เครื่องดักสัตว์ ตลอดจนเครื่องมือในการจับหนูและแมลงสาบ จ่าสิบเอก ดร. ทวี บูรณเขตต์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น “คนดีศรีพิษณุโลก” คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องให้เป็น “บุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาการช่างฝีมือ” ประจำปี 2526 และสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะ เมื่อปี พ.ศ. 2527 เนื่องจากเป็นผู้ที่มีฝีมือในทางประติมากรรม และเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้านโดยเฉพาะศิลปะของล้านนาไทยไว้มากที่สุด พิพิธภัณฑ์นี้ เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เก็บค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (055) 252-121 

กำแพงเมืองคูเมือง กำแพงเมืองพิษณุโลกแต่เดิมเป็นกำแพงดินเช่นเดียวกับกำแพงเมืองสุโขทัย คาดว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเพื่อเตรียมรับศึกพระเจ้าติโลกราชแห่งราชอาณาจักรลานนา และต่อมาในรัชการสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ได้โปรดให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า พอถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้ช่างฝรั่งเศสสร้างกำแพงใหม่โดยก่ออิฐให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้รื้อกำแพงเมืองและป้อมต่าง ๆ เสีย เพื่อไม่ให้พม่าซึ่งรุกรานไทยยึดเป็นที่มั่น ฉะนั้น ในปัจจุบันจึงเหลือเพียงกำแพงดินบางจุด ที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือบริเวณวัดโพธิญาณซึ่งอยู่ทางเหนือใกล้ ๆ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณวัดน้อย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกใกล้ทางรถไฟ และบริเวณสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก สำหรับคูเมืองที่เห็นได้ชัดคือ แนวที่ขนานกับถนนพระร่วง ทางด้านตะวันตกขนาดกว้างประมาณ 12 เมตร ซึ่งได้มีการขุดลอกเพื่อมิให้ตื้นเขินอยู่เสมอ

เรือนแพ เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพิษณุโลก บริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่านในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก มีเรือนแพตั้งเรียงรายไปตามลำน้ำจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ ชีวิตชาวแพเป็นชีวิตที่เรียบง่าย นักทัศนาจรนิยมถ่ายภาพไว้เป็น ที่ระลึกเพราะเป็นภาพที่หาดูไม่ได้ง่ายนัก

มะขามยักษ์ มีอายุประมาณ 700 ปี อยู่ที่ตำบลบ้านกอกจากตัวเมืองใช้เส้นทางไปนครสวรรค์เลี้ยวซ้าย ตรงคอสะพานข้ามแม่น้ำน่านไปประมาณ 700 เมตร อยู่ในบริเวณที่ดินของคุณยายไสว ภู่เพ็ง ตามประวัติกล่าวว่าเดิมบริเวณนี้เป็นป่าพง วันหนึ่งมีช้างเชือกหนึ่งหลุดเข้ามาอาศัยอยู่รอบ ๆ ต้นมะขาม ไม่ยอมห่าง เจ้าของต้องใช้กำลังอย่างมากจึงสามารถนำช้างกลับไปได้ ไม่นานช้างนั้นก็ตายในลักษณะยืนตาย ต่อมาบริเวณโคนต้นมะขามนั้นเกิดมีตะปุ่มตะป่ำงอกขึ้นมาจนเป็นรูปหัวช้าง พร้อมทั้งมีรากงอกเป็นรูปงวงและงาช้าง ซึ่งได้ผุกร่อนจนไม่อาจมองเห็นรูปร่างหัวช้างได้อีก อย่างไรก็ตาม ต้นมะขามนี้แผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โตให้ความร่มรื่นอย่างมาก และที่คบกิ่งด้านเหนือจะมีกล้วยไม้ติดอยู่ซึ่งจะมีดอกในเดือนหกทุกปี ฉะนั้นชาวบ้านจึงทำบุญกันในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี มีมหรสพลิเกแสดงด้วย


 สถานที่น่าสนใจ บนเส้นทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก (ทางหลวงหมายเลข 12)

  เขาสมอแครง ตั้งอยู่ที่ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 3 กิโลเมตร จากตัวเมืองพิษณุโลกไปตามถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก ประมาณ 14 กิโลเมตร เขานี้มีความสูง 200 เมตร ด้านซ้ายมือจะมองเห็นทิวเขาขนาดเล็กอยู่ริมทางบนเขามีสระน้ำ เรียกว่าสระสองพี่น้อง น้ำในสระนี้ใช้ได้ตลอดปี ด้วยเหตุนี้คนโบราณจึงได้ไปสร้างวัดไว้ถึง 7 วัด บัดนี้เป็นวัดร้างไป แล้วคงเหลือแต่ วัดพระพุทธบาทเขาสมอแครง หรือ วัดราชคีรีหิรัญยาราม ตั้งอยู่เชิงเขาด้านตะวันออก เดิมเป็นวัดร้างเพิ่งจะมีพระสงฆ์มาจำพรรษา เมื่อ พ.ศ. 2496 ในบริเวณวัดมีรอยพระพุทธบาทจำลองและบนเขาด้านตะวันตก ของวัดมีรอยพระบาทตะแคงติดกับหน้าผา ทางวัดมีงานนมัสการพระพุทธบาทในกลางเดือน 3 ของทุกปี
เมื่อประมาณต้นปี 2535 ได้มีการอัญเชิญพระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว ซึ่งแกะสลักจากหินทะเลสาบหยกขาวจากเมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นปางพิเศษที่ได้รับอนุมัติให้สร้างโดยรัฐบาลจีน โดยใช้ต้นแบบจากวัดเจ้าแม่กวนอิมพันมือเมืองหางโจว มีขนาดสูง 3 เมตร หนัก 3 ตัน พร้อมฐานบัวคว่ำ บัวหงาย ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาวที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในโลกมาประดิษฐาน ณ วัดราชคีรีหิรัญยารามนี้ ส่วนอีกวัดหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ วัดเจดีย์ยอดด้วน มีพระเจดีย์ใหญ่ตั้งอยู่ตรงยอดเขา ซึ่งเป็นบริเวณที่สูงที่สุด ยอดพระเจดีย์หัก จึงเรียกว่า วัดเจดีย์ยอดด้วน สันนิษฐานว่าสร้างราวสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) และซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ จากนั้นได้มีการบูรณะต่อมาอีกหลายครั้งในสมัยอยุธยา

สวนรุกขชาติสกุโณทยาน (น้ำตกวังนกแอ่น) ตั้งอยู่ในเขตอำเภอวังทอง ห่างจากจังหวัดประมาณ 33 กิโลเมตร ตามถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก ตรงหลักกิโลเมตรที่ 33 แล้วเลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังอีก 1 กิโลเมตร บริเวณทั่วไปร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาชนิด มีศาลาที่พัก 2 หลัง ที่สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คราวเสด็จประภาสภาคเหนือ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2501 ในบริเวณสวนรุกขชาติสกุโณทยาน เป็นที่ตั้งของน้ำตกวังนกแอ่น หรือน้ำตกสกุโณทยาน น้ำตกขนาดเล็กที่ไหลจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร ที่เกิดจากลำธารวังทอง อันมีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำเข็ก นอกจากนี้ยังมี "แก่งไทร" ซึ่งมีหินน้อยใหญ่คั่นกลางลำน้ำเป็นชั้น ๆ น่าชมมาก เป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปพักผ่อนกันมาก

น้ำตกแก่งซอง อยู่ริมถนนบริเวณกิโลเมตรที่ 45 ของถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก น้ำตกแก่งซองเป็นน้ำตกขนาดใหญ่กว่าน้ำตกสกุโณทยาน มีร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มริมน้ำตก

น้ำตกปอย อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 59-60 ของถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก เลี้ยวขวาไปตามถนนลูกรังอีก 2 กิโลเมตร อยู่บริเวณสวนป่ากระยาง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นน้ำตกที่สวยงาม สภาพโดยรอบร่มรื่นเหมาะเป็นที่พักผ่อน
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอหล่มสัก อำเภอเมือง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ 789,000 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2518 ที่ทำการอุทยานฯ อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 80 บนทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลก-หล่มสัก สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน เป็นต้นน้ำลำธารหลายสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน

สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ ได้แก่
 น้ำตกแก่งโสภา อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 71-72 ถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก มีทางราดยางเข้าไป 2 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ สภาพโดยรอบร่มรื่น บริเวณน้ำตกมีลานจอดรถ ห้องสุขา และร้านขายอาหาร
สะพานสลิง เป็นสะพานแขวนข้ามแม่น้ำเข็ก ยาวประมาณ 80 เมตร อยู่ท่ามกลางป่าเบญจพรรณที่ประกอบด้วยพรรณไม้นานาชนิด อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร
ทุ่งแสลงหลวง สภาพพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าโล่งใหญ่ (แบบสวันนา) อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 60 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร มีทางลูกรังสายที่ทำการอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง ตามเส้นทางจะผ่านป่าตอนกลางอุทยานฯ ทำให้ได้เที่ยวชมสภาพธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพรอีกด้วย
ทุ่งโนนสน เป็นทุ่งหญ้าแบบสวันนา มีเนื้อที่ 10 กว่าตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่งค้นพบใหม่ มีธรรมชาติสวยงาม เหมาะแก่การเดินป่าและตั้งค่ายพักแรม การเดินทาง จากที่ทำการอุทยานฯ ไปทางใต้ ตามทางลูกรังสายที่ทำการฯ-ทุ่งแสลงหลวงประมาณ 25 กิโลเมตร ถึงทางแยกขวามือ เป็นทางเดินเท้าประมาณ 15 กิโลเมตร
ทุ่งพญา เป็นทุ่งหญ้าแบบสวันนาเช่นเดียวกัน มีเนื้อที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร เป็นป่าสนที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งในช่วงปลายฤดูฝนถึงฤดูหนาว ทุ่งหญ้าแห่งนี้จะมีความสวยงามเหมาะแก่การนั่งรถชมวิวและตั้งค่ายพักแรม การเดินทางจากทุ่งแสลงหลวงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ อีกประมาณ 12 กิโลเมตร
ถ้ำเขาบ้านมุง อยู่ในเขตอำเภอเนินมะปราง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 81 กิโลเมตร ไปตามถนนสายพิษณุโลก-หล่มสักประมาณ 17 กิโลเมตร แล้วแยกไปตามถนนสายวังทอง-เขาทรายถึงสากเหล็ก ประมาณ 38 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายอีกประมาณ 26 กิโลเมตร จะถึงหมู่บ้านและทางเข้าวัดบ้านมุงไกลออกไปอีก 2 กิโลเมตร มีภูเขาสูงชันหลายลูก ประกอบด้วยภูเขาผาแดงสะดุดตา มีถ้ำประกอบด้วยหินงอก หินย้อย เรียกถ้ำนี้ว่า "ถ้ำดาวถ้ำเดือน" นอกจากนี้ในเขตอุทยานฯ ยังมีถ้ำที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งคือ "ถ้ำพระบ้านวังแดง" อยู่ที่ตำบลชมพู ห่างจากอำเภอเนินมะปราง 22 กิโลเมตร การเดินทางจากสากเหล็ก เลี้ยวขวาไปเขาทรายประมาณ 10 กิโลเมตร จะมีทางแยก ร.พ.ช. ไปถึงหมู่บ้านชมพู 31กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เส้นทางยังไม่สะดวกนัก สถานที่พัก อุทยานฯ ได้จัดที่พักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ติดต่อจองที่พักได้ที่ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-7223, 579-5734
ถ้ำผาท่าพล อยู่ในเขตอำเภอเนินมะปราง ห่างจากจังหวัดประมาณ 70 กิโลเมตร ไปทางเดียวกับถ้ำเขาบ้านมุง ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อย มีแสงเป็นประกายสะดุดตา และบริเวณอำเภอเนินมะปรางนี้ ยังมีถ้ำที่สวยงามอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ถ้ำเรือ ถ้ำเต่า ถ้ำนางสิบสอง ถ้ำนเรศวร ถ้ำพญาค้างคาว ถ้ำน้ำ ถ้ำม่วง เป็นต้น

 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอชาติตระการ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอชาติตระการและอำเภอนครไทย มีเนื้อที่ 339,375 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน การเดินทาง ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก 145 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก เลี้ยวซ้ายที่บ้านแยง (กิโลเมตรที่ 68) เข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2013 ไปประมาณ 29 กิโลเมตร ไปจนถึงอำเภอนครไทย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางสาย 1143 ไปทางอำเภอชาติตระการ 38 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอชาติตระการเล็กน้อย แยกขวาทางหลวงหมายเลข 1237 อีก 10 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ หากใช้รถประจำทางสายพิษณุโลก-ชาติตระการ ขึ้นที่สถานีขนส่งพิษณุโลก และต่อรถสองแถวสายชาติตระการ-บ้านนาดอน ไปยังน้ำตกชาติตระการ

 สถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานฯ ได้แก่
 น้ำตกชาติตระการ หรือน้ำตกปากรอง มีทั้งหมด 7 ชั้น หน้าผาบริเวณน้ำตก มีสีสันต่าง ๆ กัน ตามแต่หินชั้นที่เกิด ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน จะมีฝูงผึ้งมาทำรังเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้มีอุโมงค์ผาเลข มีร่องรอยศิลปะยุคแรกของมนุษย์ เป็นรอยแกะสลักบนแผ่นหินเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ลักษณะคล้ายรูปสัตว์ อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ มีบ้านพักไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว สำรองที่พักติดต่อกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 หรือที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ หมู่ 3 ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก 65170

วนอุทยานภูสอยดาว ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อปี พ.ศ. 2534 ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ประมาณ 48,962.5 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงตามแนวชายแดนไทย-ลาว บริเวณที่สูงที่สุดคือ ยอดภูสอยดาว สูงถึง 2,102 เมตร จากระดับน้ำทะเล ดังนั้นบริเวณนี้จึงถูกปกคลุมด้วยหมอกตลอดทั้งปี สภาพพื้นที่ยังมีป่าไม้สมบูรณ์ ส่วนใหญ่จะเป็นป่าเต็ง รัง ป่าสนเขา ป่าดงดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ ในส่วนหนึ่งก็เป็นป่าทุ่งหญ้าท่ามกลางป่าสนเขา ซึ่งอยู่ในระดับความสูงประมาณ 1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเล

สถานที่น่าสนใจในเขตวนอุทยานภูสอยดาว
 น้ำตกภูสอยดาว ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับที่ทำการเดิมของวนอุทยานฯ ซึ่งเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โดยอยู่ริมเส้นทางสายนาแห้ว-ห้วยมุ่น เพียง 80 เมตร น้ำตกแห่งนี้มีทั้งหมด 5 ชั้น เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวผู้ผ่านไปมาจะแวะเข้ามาชมอยู่เสมอ และเป็นเส้นทางที่ต้องเดินเท้าขึ้นไปลานป่าสน
 ลานป่าสน เป็นลานกว้างใหญ่ มีเนินสลับซับซ้อน ปกคลุมด้วยทุ่งหญ้าแบบสวันนา และมีป่าสนสามใบกระจัดกระจายทั่วไป และในบริเวณเดียวกันยังมีพันธ์ไม้ดอกหลายชนิดขึ้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะดอกหงอนนาค นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ป่าอีกมากมาย โดยมักจะขึ้นตามคาคบไม้ใหญ่ ใช้เวลาเดินเท้าจากเชิงเขาขึ้นมาประมาณ 4-5 ชั่วโมง
 น้ำตกสายทิพย์ เป็นน้ำตกที่เกิดจาก “ลำน้ำภาค” ซึ่งเป็นสายน้ำที่มีต้นกำเนิดมาจากป่าอันสมบูรณ์ของเทือกเขาภูสอยดาว น้ำตกแห่งนี้มีด้วยกัน 7 ชั้น อยู่ในหุบเขาทางด้านตะวันออกของป่าสน นอกจากนี้ตามหน้าผาและโขดหินตามลำธารจะถูกปกคลุมไปด้วยผืนมอสขนาดใหญ่
 ทุ่งดอกหงอนนาค อยู่ทางลานป่าสนด้านตะวันตก ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างไทย-ลาว เป็นบริเวณที่มีดอกหงอนนาคขึ้นอยู่หนาแน่นที่สุด
 การเดินทาง นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ควรใช้รถโดยสารสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก แล้วต่อรถโดยสารประจำทางไปอำเภอชาติตระการ จากนั้นเดินทางต่อไปยังวนอุทยานภูสอยดาว ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอไปอีกประมาณ 65 กิโลเมตร จะมีรถสองแถวประจำทางเพียงเที่ยวเดียว เวลาประมาณ 12.00 น. เท่านั้น หรือถ้าต้องการความสะดวกก็สามารถเหมารถสองแถว หรือจ้างรถกระบะของชาวบ้านแถวนั้นไปส่งได้ จากที่ทำการฯ ถึงยอดภู 6.5 กิโลเมตร ขณะนี้ทางวนอุทยานฯ ยังไม่เปิดบริการที่พัก หากสนใจจะมาท่องเที่ยวภูสอยดาว ควรติดต่อเพื่อขออนุญาตมาที่วนอุทยานภูสอยดาว ล่วงหน้า 10 วัน โดยติดต่อมาที่ วนอุทยานภูสอยดาว ตำบลห้วยมุ่น อ. น้ำปาด จ. อุตรดิตถ์ 53110 โทร. 01-964-8385, (055) 419-234-5


สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอนครไทย

  อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คืออำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ครอบคลุมพื้นที่ 191,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 เป็นเทือกเขาที่มีภูมิทัศน์สวยงาม มีป่าใหญ่ปกคลุมเขียวชอุ่มตลอดปี มีลานหินกว้างใหญ่ ซึ่งเกิดรอยแตกเป็นร่องยาวและลึกอยู่มากมาย บางตอนเป็นหน้าผาตัดชันชวนตื่นตา นอกจากนั้นดินแดนนี้ยังเคยเป็นยุทธภูมิที่สำคัญเนื่องมาจากความขัดแย้งของลัทธิและแนวความคิด ทางการเมือง นับเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจทางการท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ
 มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
แหล่งประวัติศาสตร์
คือสถานที่ต่าง ๆ ที่อดีต ผกค. เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัยประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายแห่งและได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพเดิน เช่น
 พิพิธภัณฑ์การสู้รบ (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสู้รบ มีภาพแผนภูมิข้อมูล เอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งมีนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาภูหินร่องกล้าจัดแสดง นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมจุคนได้ 80 คน ใช้ในการบรรยายสรุปหรือประชุมสัมนา และเป็นสถานที่นักท่องเที่ยวควรติดต่อขอข้อมูลก่อนเดินทางท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ
โรงเรียนการเมืองการทหาร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 6 กิโลเมตร ใช้เป็นสถานที่ให้การศึกษาตามแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ มีบ้านฝ่ายต่าง ๆ และสถานพยาบาล เรียงรายกันอยู่อย่างเป็นระเบียบ
สุสาน ทปท. เป็นที่ฝังศพของนักรบทหารปลดแอกแห่งประเทศไทยที่เสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้บริเวณลานเอนกประสงค์
กังหันน้ำ อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร
สำนักอำนาจรัฐ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ดำเนินการทางการปกครอง พิจารณาลงโทษผู้กระทำผิด มีคุก สถานที่ทอผ้าและโรงซ่อมเครื่องจักรกล
หมู่บ้านมวลชน เป็นสถานที่อยู่อาศัย มีหลายหมู่บ้าน เรียงรายอยู่ในป่าริมทางที่ตัดมาจากอำเภอหล่มสัก
โรงพยาบาล อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐประมาณ 2 กิโลเมตร ปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐถูกไฟไหม้หมดแล้ว ยังคงมีอุปกรณ์การแพทย์ตั้งแสดงไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ]

 แหล่งความงามทางธรรมชาติ
ซึ่งมีลักษณะธรณีวิทยาที่ทำให้เกิดลักษณะพิเศษที่น่าพิศวง อาทิ
 ลานหินแตก อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นลานหินซึ่งมีรอยแตกเป็นแนว เป็นร่อง ขนาดแคบบ้าง กว้างบ้าง ความลึก ไม่สามารถคะเนได้ รอบบริเวณปกคลุมด้วยมอสส์ ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ
 ลานหินปุ่ม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นหน้าผามีลักษณะเป็นหินตะปุ่มตะป่ำ คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติ บริเวณนี้เคยใช้เป็นที่พักฟื้นของคนไข้ในโรงพยาบาล
ผาชูธง อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500 เมตร เป็นหน้าผาสูงชัน สามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล เคยเป็นสถานที่ซึ่ง ผกค. จะขึ้นไปชูธงแดงเมื่อรบชนะ
 น้ำตกศรีพัชรินทร์ ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับทหารจากค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทหารหน่วยแรกที่ขึ้นมาบนภูหินร่องกล้า น้ำตกศรีพัชรินทร์มีความสูงประมาณ 20 เมตร มีลักษณะคล้ายน้ำตกเหวสุวัตที่เขาใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า บริเวณน้ำตกมีแอ่งขนาดใหญ่ที่เหมาะสำหรับเล่นน้ำ
น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร ห่างจากโรงเรียนการเมืองประมาณ 600 เมตร มีทางแยกเดินลงน้ำตกร่มเกล้าก่อน จากน้ำตกร่มเกล้าเดินลงไปประมาณ 200 เมตร จะเป็นน้ำตกภราดร ซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำตกร่มเกล้าที่เกิดจากลำธารเดียวกัน แต่มีความสูงน้อยกว่ากระแสน้ำแรงกว่า
 น้ำตกหมันแดง เป็นน้ำตกที่มีชั้นต่าง ๆ รวม 32 ชั้น มีต้นน้ำจากยอดเขาภูหมันไปตามห้วยน้ำหมัน ซึ่งมีน้ำตลอดปี การเดินทางไปน้ำตก จากที่ทำการอุทยานฯ ใช้เส้นทางสายภูหินร่องกล้า-หล่มเก่า จนถึงกิโลเมตรที่ 18 จะมีทางแยกซ้ายซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องเดินเท้าเข้าสู่น้ำตกระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ตามเส้นทางเดินเท้านักท่องเที่ยวจะผ่านสภาพธรรมชาติของป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ กล้วยไม้ป่า ตลอดจนสัตว์ป่านานาชนิด
 น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกที่มีความสูงมากแห่งหนึ่งในเขตภูหินร่องกล้า เดินทางโดยตามถนนลูกรังประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วจึงเดินเดินเท้าในป่าอีกประมาณ 300 เมตร การเดินทาง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้ามีพื้นที่อยู่ในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ดังนั้นจึงสามารถเดินทางสู่ภูหินร่องกล้าได้หลายเส้นทาง ดังนี้ 1. กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-นครไทย ระยะทาง 480 กิโลเมตร การเดินทางไปภูหินร่องกล้า จากจังหวัดพิษณุโลกใช้เส้นทางหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) เลี้ยวซ้ายที่บ้านแยง กิโลเมตรที่ 68 เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2013 ไปอีก 28 กิโลเมตร ถึงอำเภอนครไทย แล้วเลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 2331 ไปอีก 31 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า 2. กรุงเทพฯ-เพชรบูรณ์-อ.หล่มเก่า ระยะทาง 402 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางจากจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างสะดวก เช่น จากขอนแก่น เลย อุตรดิถต์ เป็นต้น
เส้นทางที่ขึ้นสู่อุทยานภูหินร่องกล้า ปัจจุบันมีเส้นทางที่สะดวก 2 เส้นทางคือ
1. บ้านหนองกระท้าว อ. นครไทย-บ้านห้วยตีนตั่ง-บ้านห้วยน้ำไช-ภูหินร่องกล้า ระยะทาง 31 กิโลเมตร เป็นทางราดยางตลอดสาย ขึ้นได้สะดวกกว่าเส้นอื่น
2. อ. หล่มสัก-อ. หล่มเก่า- บ้านวังบาน-บ้านเหมืองแบ่ง-บ้านม้งทับเบิก-ภูหินร่องกล้า ระยะทาง 60 กิโลเมตร ปัจจุบันเส้นทางสายนี้ได้ราดยางหมดแล้ว แต่ทางขึ้นไปค่อนข้างลำบากเพราะลักษณะเส้นทางค่อนข้างสูงชัน และคดเคี้ยวมาก เหมาะเป็นทางลงมากกว่า การขึ้นจากเส้นทางนี้ควรใช้รถยนต์ที่มีกำลังค่อนข้างสูง และใช้ความระมัดระวังมาก หมายเหตุ - การเดินทางขึ้นและลงภูหินร่องกล้าทั้งสองเส้นทาง ควรใช้รถยนต์ที่มีกำลังสูงตรวจเช็คสภาพ คลัตช์ และเบรก ให้อยู่ในสภาพที่ดีมาก และต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในกรณีที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเอง การขึ้นไปภูหินร่องกล้าควรเริ่มต้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยรถสายพิษณุโลก-นครไทย รถจะออกจากสถานีขนส่งพิษณุโลกทุก ๆ 1 ชั่วโมง เที่ยวแรกออกเวลา 06.00 น. และเที่ยวสุดท้ายเวลา 18.00 น. ค่าโดยสารคนละ 28 บาท ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง จากนั้นสามารถต่อขึ้นรถสองแถวเล็กสายนครไทย-ภูหินร่องกล้า ซึ่งมีบริการวันละ 6 เที่ยว ออกเวลา 08.00, 09.30, 12.00, 14.00 และ 15.30, 17.00 น. รถจะจอดอยู่บริเวณหน้าตลาดอำเภอนครไทย และเที่ยวกลับรถจะออกจากที่ทำการอุทยานฯ เวลา 07.30, 08.15, 11.00, 14.00 และ 17.00 น. ค่าโดยสารคนละ 25 บาท
บริการรถเช่าขึ้นภูหินรองกล้า นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อขอเช่ารถตู้หรือรถสองแถวเล็กขึ้นภูหินร่องกล้าได้ที่บริเวณตลาด อ. นครไทย และทางแยกบ้านหนองกระท้าว หรือที่บริษัท รังทองทัวร์ ในตัวจังหวัดพิษณุโลก โทร. (055) 259-973 และบริษัท เอเบิลทัวร์แอนด์ทราเวล โทร. (055) 242-206, 246-438 ซึ่งมีรถตู้ปรับอากาศคอยบริการนักท่องเที่ยวจาก จ. พิษณุโลก ไปยังภูหินร่องกล้าเป็นประจำอีกด้วย หมายเหตุ - เนื่องจากเส้นทางขึ้นสู่ภูหินร่องกล้ามีสภาพสูงชัน จึงไม่แนะนำให้นำรถบัสใหญ่ขึ้น ควรเปลี่ยนเป็นรถสองแถวเล็กหรือรถตู้ ที่อำเภอนครไทยหรือบ้านหนองกระท้าวจะสะดวกกว่า อุทยานฯ มีที่พักแบบเต็นท์และบ้านติดต่อสำรองที่พักได้ที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร โทร. 579-7223, 579-5734 กรณีที่นำเต็นท์มากางเอง อุทยานคิดค่าบำรุงสถานที่คนละ 10 บาท และยังมีบริการจัดแคมป์ไฟ คิดค่าบริการกองละ 100 บาท (อุทยานมีบริการไฟฟ้า ตั้งแต่เวลา 18.30-22.00 น.) จำปาขาวนครไทย จำปาขาวนครไทย จัดว่าเป็นต้นไม้ประเภทดอกใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นได้ อายุราว 700 กว่าปี เกิดมาพร้อมกับอำเภอนครไทย อยู่ในวัดกลาง ใกล้กับอำเภอนครไทย ขนาดลำต้นใหญ่ 3 เมตรเศษ สูง 9-10 เมตร




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่พิษณุโลก