แผนที่แม่ฮ่องสอน

  • ข้อมูลแม่ฮ่องสอน
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอนแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดชายแดนจังหวัดหนึ่ง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับสหภาพพม่า ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของภาคเหนือ โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ 942 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 12,681 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอคือ

  • อำเภอเมือง
  • อำเภอแม่สะเรียง
  • อำเภอขุนยวม
  • อำเภอปาย
  • อำเภอแม่ลาน้อย
  • อำเภอสบเมย
  • อำเภอปางมะผ้า

แม่ฮ่องสอนได้ชื่อว่า “เมืองสามหมอก” เนื่องจากเป็นเมืองในหุบเขา ล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนทอดขนานไป กับทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาแดนลาว ดังนั้น จึงถูกปกคลุมด้วยหมอกตลอดทั้งปี มีทิวทัศน์อันสวยงาม ตามธรรมชาติของเทือกเขา สลับซับซ้อน และป่าไม้นานาพันธุ์ จนนักท่องเที่ยวเล่าขานกันอยู่เสมอว่า เปรียบเสมือนกับเป็น สวิตเซอร์แลนด์ของเมืองไทย

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับรัฐฉาน แห่งสหภาพพม่า
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดเชียงใหม่
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสหภาพพม่า

แม่ฮ่องสอนสันนิษฐานว่า เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่มีคนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่เจ้าแก้วเมืองมาจะเข้ามาตั้งบ้านเรือนขึ้นมาใหม่ แต่ไม่มีหลักฐานว่าเข้ามาอยู่เมื่อใดสมัยใด และอพยพไปอยู่ที่ไหน ผู้คนที่อยู่อาศัยก่อนนั้นมีหลักฐาน และเชื่อกันว่าเป็น ชนเผ่าลั๊วะ หรือละว้า หลักฐานที่ปรากฏอยู่คือหลุมฝังศพ ซากบ้านร้างซึ่งพบกันแถวบริเวณที่เป็น หอประชุมเทศบาล เมืองแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันคือตลาดโต้รุ่ง และที่โรงเรียนปริยัติธรรม ข้างวัดจองกลางและวัดจองคำ กลุ่มคนที่อยู่อาศัยก่อนนั้นน่าจะถูกไข้ป่าหรือเกิดการรบกัน มีการตายและพวกที่เหลืออพยพไปอยู่ที่ปลอดภัยกว่า
สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองแม่ฮ่องสอนเดิมเป็น ชุมชนบ้านป่า ไม่มีผู้ใดปกครอง มีชาวไทยใหญ่บางส่วน จากชายแดนประเทศ สหภาพพม่า ที่อพยพเข้ามาทำมาหากิน ทำไร่ทำสวนเป็นบางฤดูกาล ความสำคัญสมัยนั้น เป็นเพียงทางผ่านของ กองทัพพม่า ที่เดินทัพไปยังกรุงศรีอยุธยาหรือหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย
ตำนานเมืองแม่ฮ่องสอนกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2374 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางแคว้นล้านนาไทย เมืองพิงค์นคร หรือเมืองเชียงใหม่ มีพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ซึ่งต่อมาได้รับ พระมหากรุณาโปรดเกล้าเป็น พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี ได้ทราบว่า ทางตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือดินแดนที่เป็น หัวเมืองแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะช้างป่าที่ชุกชุมมาก จึงมีบัญชาให้เจ้าแก้วเมืองมา ผู้เป็นญาติเป็นแม่กองนำไพร่พล นำช้างต่อหมอควาญ ออกไปสำรวจความเป็นไป ของเหตุการณ์ชายแดน ด้านตะวันตก พร้อมให้จับช้างป่านำมาฝึกสอนใช้งานต่อไป
เจ้าแก้วเมืองมา ก็ได้รวบรวมไพร่พลช้างต่อและหมอควาญช้าง ออกเดินทางจากเมืองเชียงใหม่ มุ่งสู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือลัดเลาะตามลำห้วย มุ่งสู่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน ใช้เวลาเดินทางไม่นานนักก็เข้าสู่หมู่บ้านเวียงปายหรืออำเภอปายในปัจจุบัน ที่นี่เจ้าแก้วเมืองมาและคณะพักอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก็เดินทางต่อ คราวนี้มุ่งสู่ทิศใต้ลัดเลาะ ตามลำน้ำปาย ขึ้นสู่ภูเขาสูงอีกครั้งหนึ่ง
การเดินทางช่วงนี้ใช้เวลามากกว่าเดิมก็ลงสู่แม่น้ำปายอีกครั้ง เมื่อถึงแม่น้ำปายก็พบมีชุมชนเล็ก ๆ มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก เป็นคนไตหรือไทยใหญ่ บริเวณหมู่บ้านติดแม่น้ำปาย มีป่าที่ราบว่างเปล่ามากมาย เห็นว่าทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านนี้ดีมาก สามารถขยายให้เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่โตได้ในภายหน้าและที่อยู่ใกล้บ้านยังมีดินโป่งเป็นแห่ง ๆ มีหมูป่าลงมากินดินโป่งชุกชุมมาก เหมาะสำหรับตั้งเป็นหมู่บ้านเป็นอย่างดี
แม่ฮ่องสอนเจ้าแก้วเมืองมาจึงได้รวบรวมผู้คนที่อยู่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน ให้มีการคัดเลือกนายบ้านเรียกว่า "เหง" ก็ได้ "นายพะก่าหม่อง" คนไทยใหญ่เป็นเหง (กำนันปกครองหมู่บ้านและให้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านโป่งหมู" ) ต่อมากลายเป็นบ้านปางหมู ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าแก้วเมืองมาพร้อมกับพะก่าหม่องได้เดินทางต่อขึ้นไปทางทิศใต้ นำช้างที่คล้องไปจำนวนหนึ่ง เดินทางมาถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอนปัจจุบัน เป็นที่เหมาะสมดี ลำน้ำไหลผ่านจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำปาย และยังมีลำธารไหลขนานทางทิศเหนืออีก เห็นว่าเป็นทำเลดีเหมาะที่จะตั้งเป็นที่ฝึกสอนช้างและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน จึงได้ตั้งคอกฝึกสอนช้างริมลำน้ำนั้น และกลายเป็นหมู่บ้านไทยใหญ่อีกแห่งหนึ่ง แต่มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยกว่าบ้านโป่งหมู หลังจากที่เจ้าแก้วเมืองมาคล้องช้างได้มากพอควร ฝึกสอนอยู่จนเห็นว่าควรเดินทางกลับได้ จึงได้ตั้งให้ "แสนโกม" บุตรเขยของพะก่าหม่อง เป็น "ก้าง" (ผู้ใหญ่บ้าน) ปกครองดูแลและตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแม่ร่องสอน" ต่อมาคำว่า "แม่ร่องสอน" ได้เพี้ยนมาเป็น "แม่ฮ่องสอน" ส่วนลำธารอีกแห่งหนึ่งทางทิศเหนือเรียกว่า "ลำน้ำปุ๊" เนื่องจากพบว่ามีน้ำผุดขึ้นมาจากดิน
บ้านแม่ร่องสอนเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา มีชนชาวไทยใหญ่อพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น เนื่องจากระยะนั้นประมาณปี พ.ศ. 2399 ได้เกิดจลาจลทางหัวเมืองไตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทำให้ชาวไทยใหญ่ที่รักสงบอพยพมากขึ้น ถึงปี พ.ศ. 2409 เกิดการรบกันในหัวเมืองไทยใหญ่ ระหว่าง เจ้าฟ้าเมืองนาย กับเจ้าฟ้าโกหล่านแห่งเมืองหมอกใหม่ เจ้าฟ้าโกหล่านสู้ไม่ได้ จึงได้อพยพครอบครัวมาอยู่กับแสนโกมที่บ้านแม่ร่องสอน พร้อมกับภรรยาชื่อ "นางเขียว" บุตรชื่อ "ขุนโหลง" หลานชื่อ "ขุนแอ" และหลานสาว "เจ้านางนุ" และเจ้านางเมี๊ยะ" มาอยู่ด้วย
ถึงปี พ.ศ. 2417 บ้านแม่ร่องสอนกลายเป็นชุมชนใหญ่ มีผู้คนเข้ามาอาศัยจนเห็นว่าจะจัดตั้งเป็นเมืองขึ้นได้แล้ว "เจ้าอินทวิชายานนท์" เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้ตั้งให้ "ชานกะเล" ชาวไทยใหญ่เป็นเจ้าเมืองคนแรกมีบรรดาศักดิ์เป็น "พญาสิงหนาทราชา" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนใน พ.ศ. 2417 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5
แม่ฮ่องสอนต่อมาปี พ.ศ. 2427 หลังจากทำนุบำรุงบ้านเมืองมาได้ 10 ปี พญาสิงหนาทก็ถึงแก่กรรม ผู้ที่ครองเมืองแม่ฮ่องสอนต่อมาคือ "เจ้านางเมี๊ยะ" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนอยู่ 7 ปี ได้นำความเจริญมาสู่เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นอันมาก และถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2434
เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนต่อมาคือ "ปู่ขุนโท้ะ" ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พญาพิทักษ์สยามเขต" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนระหว่างปี พ.ศ. 2434-2448 ก็ถึงแก่กรรม
เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนต่อมาคือ "ขุนหลู่" บุตรของปู่ขุนโท้ะ ได้ปกครองแทนและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนระหว่างปี พ.ศ. 2448-2484 ต่อมาเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จึงไม่ได้มีการแต่งตั้งอีก
ใน พ.ศ. 2433 สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาศรีสหเทพปลัดทูลฉลอง กระทรวงมหาดไทยขึ้นมาตรวจราชการ ในหัวเมืองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ได้ปรึกษากับพระยาริศราชกิจ ข้าหลวงใหญ่เจ้าผู้ครองนครเมืองใน มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ จัดระเบียบการปกครองใหม่ คือรวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองยวม (แม่สะเรียง) และเมืองปาย เข้าเป็นหน่วยปกครองเดียวกันเรียกว่า "บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก" ตั้งที่ว่าการแขวง (เทียบเท่าเมือง) ที่เมืองขุนยวม โดยตั้งให้นายโหมดเป็นนายแขวง (แจ้งความเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ร.ศ. 119)
ใน พ.ศ. 2446 ย้ายที่ว่าการจากเมืองขุนยวมไปตั้งที่เมืองยวม (แม่สะเรียง) และเปลี่ยนชื่อจากบริเวณเชียงใหม่ตะวันตกเป็นบริเวณพายัพเหนือ ในปี พ.ศ. 2453 โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองยวม และเมืองปาย ตั้งเป็นเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลพายัพ และย้ายที่ว่าการเมืองมาตั้งที่เมืองแม่ฮ่องสอนพร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรสุรราช (เปลื้อง) เป็นเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน) เป็นคนแรก พ.ศ. 2476 เลิกการปกครองที่เป็นมณฑลและตั้งเป็น "จังหวัดแม่ฮ่องสอน" บริหารราชการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แม่ฮ่องสอนในอดีตเคยเป็นเมืองที่เร้นลับและแสนทุรกันดารในสายตาของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป เนื่องจากเดิมนั้นการเดินทางเข้าสู่จังหวัด แม่ฮ่องสอน มีถนนเพียง สายเดียว คือ ทางหลวงหมายเลข 108 ซึ่งตัดจากจังหวัดเชียงใหม่ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอแม่สะเรียง อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอขุนยวม มาถึงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน รวมระยะทางประมาณ 349 กิโลเมตร เส้นทางสายนี้เป็นทางตัดขึ้นเขาสูง มีความสวยงามและมีความคดโค้งนับได้มากถึง 1,864 โค้ง ในปัจจุบันมีถนนจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงแม่ฮ่องสอนเพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่ง คือทางหลวงหมายเลข 1095 หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่าเส้นทางสายแม่มาลัย-ปาย ตัดจากอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ถึงอำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้กว่าร้อยกิโลเมตร เหลือระยะทางเพียง 245 กิโลเมตร นอกจากนี้ เส้นทางนี้ยังเป็นเส้นทางผ่านไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย อาทิ ห้วยน้ำดัง และถ้ำต่างๆ ปัจจุบันเป็นถนนราดยางอย่างดีตลอดสาย และหากนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางจากจังหวัดตากไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยไม่แวะเข้าจังหวัดเชียงใหม่ก็สามารถเดินทางได้ตามทางหลวงหมายเลข 105 ผ่านอำเภอแม่สอด-แม่ระมาด-ท่าสองยาง ถึงอำเภอแม่สะเรียง มีระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร เป็นทางราดยาง

ทางรถประจำทาง

จากกรุงเทพฯ มีบริการรถโดยสารไปแม่อ่องสอนดังนี้

- รถโดยสารธรรมดา บริษัท ถาวรฟาร์ม มีรถบริการทุกวัน โดยจะออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 วันละ 1 เที่ยว คือ 19.00 น. อัตราค่าโดยสาร 245 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490

- รถปรับอากาศ มีรถเอกชนวิ่งบริการ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 17 ชั่วโมง มีรถออกจากสถานีขนส่งสายเหนือทุกวัน เวลา 18.00 น. อัตราค่าโดยสาร 442 บาท รถวี.ไอ.พี. 502 บาท รายละเอียดติดต่อ บริษัท เมืองเหนือยานยนต์ทัวร์ โทร. 01-441-6871 หรือสำนักงาน
แม่ฮ่องสอน โทร. (053) 611514

จากเชียงใหม่

- มีรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศ วิ่งบริการ 2 เส้นทางคือสายเชียงใหม่-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน (ทางหลวงหมายเลข 108) มีบริการวันละหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา 06.30-21.00 น. ใช้เวลาเดินทางถึงอำเภอแม่สะเรียง 4 ชั่วโมง ถึงแม่ฮ่องสอน 8 ชั่วโมงสายเชียงใหม่-ปาย-แม่ฮ่องสอน(ทางหลวงหมายเลข 107 และ 1095) มีบริการวันละหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา 07.00-12.30 น.ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงรายละเอียดติดต่อ บริษัทเปรมประชาขนส่ง จำกัด โทร. (053) 244737, 242767

ทางเครื่องบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด มีบริการเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ - เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ทุกวัน รายละเอียดติดต่อ โทร. 280-0070-90,628-2000

สำนักงานเชียงใหม่ โทร. (053) 210043-5, 211044-7

สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. (053) 611297, 611194

 งานเทศกาลดอกบัวตอง จะจัดขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี “ดอกบัวตอง” เป็นดอกไม้ป่าสีเหลืองคล้าย ดอกทานตะวัน แต่ขนาดเล็กกว่า มักขึ้นอยู่ตามป่าเขาสูงทางตอนเหนือของประเทศไทย ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมีมากที่บริเวณบ้านแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง และดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม เมื่อถึงระยะที่ดอกบัวตองบานตามริมเส้นทาง ตลอดจนภูเขาที่สลับซับซ้อนกันอยู่นั้น จะเป็นสีเหลืองสว่างไสวไปด้วย สีของดอกบัวตองดูงดงามมาก ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้จัดงานเทศกาลบัวตองบานขึ้น เพื่อเป็นการชม ความงามของธรรมชาติ และชมวัฒนธรรมประเพณีของชาวไต และชาวไทยภูเขา โดยจะจัดที่บริเวณอำเภอขุนยวม ในงานมีการละเล่น และมหรสพทั้งของพื้นเมือง และร่วมสมัย มีการประกวดธิดาบัวตอง การแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวไทยภูเขา การแสดงสินค้าพื้นเมือง การแข่งขันกีฬาชาวดอย ฯลฯ ตลอดจนนิทรรศการต่างๆ และการนำเที่ยวชมดอกบัวตองบนดอยแม่อูคอ
 

แม่ฮ่องสอนงานประเพณีจองพารา คือประเพณีส่วนหนึ่งในงานเทศกาลออกพรรษา (งานปอยเหลินสิบเอ็ด) คำว่า “จองพารา” เป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่า “ปราสาทพระ” การบูชาจองพารา คือการสร้างปราสาทเพื่อคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศกาลนี้จัดขึ้นระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 โดยก่อนถึงวันงานจะมีการจัดงานตลาดนัดออกพรรษามีการนำสินค้าต่างๆ ที่จะใช้ในการทำบุญ เช่น อาหาร ขนม ดอกไม้ เครื่องไทยทานมาวางขาย เพื่อให้ชาวบ้านได้หาซื้อข้าวของเครื่องใช้ในการเตรียมงาน และมีการจัดเตรียมสร้าง “จองพารา” ซึ่งเป็นปราสาทจำลอง ทำด้วยโครงไม้ไผ่ ประดับลวดลายด้วยกระดาษสา กระดาษสีต่างๆ หน่อกล้วย อ้อยและโคมไฟ ตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อใช้สมมติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธองค์จากสวรรค์ จากนั้นก็จะยก “จองพารา” ขึ้นไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลานทั้งที่บ้านและที่วัด

ในวันขึ้น 15 ค่ำ อันเป็นวันออกพรรษานั้น ตั้งแต่เช้าตรู่ประชาชนพร้อมใจกันไปทำบุญตามวัด บางวัดจัดให้มีการตักบาตรเทโว ส่วนในตอนเย็นจะนำดอกไม้ธูปเทียน และขนมข้าวต้มไปขอขมาบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่

ก่อนย่ำรุ่งของวันแรม 1 ค่ำ จะมีพิธี “ซอมต่อ” คือการอุทิศเครื่องเซ่นแก่สิ่งที่ชาวไตถือว่ามีบุญคุณในการดำเนินชีวิต โดยนำกระทงอาหารเล็กๆ ที่จุดเทียนติดไว้ด้วย ไปตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ แสงประทีปนับร้อยนับพันดวงตามวัด สถูป และบ้านเรือนในตอนใกล้รุ่งเป็นภาพที่งดงามน่าประทับใจมาก

ตลอดระยะเวลาของการจัดงานตั้งแต่แรม 1 ค่ำไปจนถึงแรม 8 ค่ำ จะมีการถวายข้าวที่จองพาราวันละครั้งและจุดเทียน หรือประทีปโคมไฟไว้ตลอดในช่วงเวลา ตลอดเทศกาล จะมีการละเล่นเฉลิมฉลองหลายชนิด เช่น ฟ้อนโต ฟ้อนรูปสัตว์ต่างๆ ฟ้อนก้าแลว (ฟ้อนดาบ)เฮ็ดกวาม ฯลฯ ตามถนนหนทางและบ้านเรือนต่างๆ เป็นการละเล่นที่สืบเนื่องมาจาก ความเชื่อว่าสัตว์โลกและสัตว์หิมพานต์พากันรื่นเริงยินดีออกมาร่ายรำเป็นพุทธรูปรับเสด็จ

ก่อนจะถึงวันแรม 8 ค่ำ จะมีพิธี “หลู่เตนเหง” คือ การถวายเทียนพันเล่ม โดยแห่ต้นเทียนไปถวายที่วัด และใน “วันกอยจ้อด” คือวันแรม 8 ค่ำ อันเป็นวันสุดท้ายของ เทศกาลออกพรรษา จะมีพิธี “ถวายไม้เกี๊ยะ” โดยนำฟืนจากไม้เกี๊ยะ (สนภูเขา) มามัดรวมกันเป็นต้นสูงประมาณไม่ต่ำกว่า 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณไม่ต่ำกว่า 30 เซ็นติเมตร แล้วนำเข้าขบวนแห่ประกอบด้วยฟ้อนรูปสัตว์ต่างๆ และเครื่องประโคมไปทำพิธีจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานวัด เป็นอันสิ้นสุดเทศกาลออกพรรษาของชาวไต

ประเพณีลอยกระทงประเพณีลอยกระทง หรืองานเหลินสิบสอง จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสอง โดยชาวบ้านจะจัดทำกระทงเล็กๆ ไปลอยตามแม่น้ำ มีการประกวด กระทงใหญ่ที่หนองจองคำ ซึ่งเป็นหนองน้ำสาธารณะกลางเมือง มีการแสดงมหรสพรื่นเริง ตามบ้านเรือน จะมีการจุดประทีปโคมไฟสว่างไสว นอกจากนี้ยังมีการลอยกระทงสวรรค์ โดยนำกระทงที่จุดประทีปโคมไฟแล้วผูกติดกับ ลูกโป่งลอยขึ้นไป ในอากาศ พิธีนี้จัดขึ้นที่วัดพระธาตุดอยกองมู

นอกจากนี้ ยังมีศิลปะที่น่าสนใจของชาวไตคือศิลปะการแสดงและดนตรีซึ่งแตกต่างจากของล้านนา และมักจะนำเข้ามาร่วมใน งานบุญงานแห่ต่างๆ อยู่เสมอ อาทิ “ฟ้อนกิงกะหล่า” หรือฟ้อนกินรี ซึ่งได้รับความนิยมที่สุด ผู้แสดงจะใส่ปีกใส่หางบินร่ายรำ นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนตัวสัตว์ต่างๆ ที่มีความเชื่อว่าอาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ เช่น ฟ้อนนก ฟ้อนผีเสื้อ ฟ้อนม้า เป็นต้น

“ฟ้อนโต” เป็นการแสดงที่นิยมกันอีกชุดหนึ่ง ตัวโตนั้นเชื่อกันว่าเป็นสัตว์ป่าในหิมพานต์ชนิดหนึ่ง มีเขาคล้ายกวางและมีขนยาวคล้ายจามรี มีลักษณะร่ายรำคล้าย การเชิดสิงโตของจีน

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงอื่นๆ อีกหลายชุด ได้แก่ “ฟ้อนดาบ” หรือที่เรียกว่า ฟ้อนก้าแลว “ฟ้อนไต” เป็นการฟ้อนต้อนรับผู้มาเยือน รำหม่อง “ส่วยยี” เป็นการรำออกท่าทาง คล้ายพม่า และ “มองเซิง” เป็นการรำประกอบเสียงกลองมองเซิง


แม่ฮ่องสอน ประเพณีปอยส่างลอง

งานประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้ว เป็นประเพณีบวชเณรตามธรรมเนียมของชาวไทยใหญ่ เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษา พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและมีความเชื่อว่าจะได้รับบุญกุศลจากการบวชสามเณร งานนี้จัดให้มีขึ้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน โดยชาวบ้านจะตกลงกันกำหนดวันนัดหมายให้ลูกหลานได้บวชเรียนพร้อมๆ กัน มีการประดับประดา ผู้ที่จะบวชด้วยเครื่องประดับ มีค่าอย่างสวยงาม และประกอบพิธีบวชตามวัดที่เจ้าภาพศรัทธา

แต่เดิมปอยส่างลองเป็นประเพณีที่จัดเฉพาะในหมู่ญาติมิตรของเจ้าภาพ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2525 ได้เกิดมีแนวความคิดใหม่โดยจัดเป็น บรรพชาหมู่ร่วมกันมากถึง 200 รูป เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ทำให้ในเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน นิยมจัดบรรพชาหมู่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน ปอยส่างลองจึงได้กลายเป็นประเพณีที่จูงใจให้มีผู้สนใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน


งานเทศกาลชิมชาบ้านไท จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บริเวรหมู่บ้านรักไท หมู่ 6 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง หมู่บ้านรักไทเป้น หมู่บ้านชายแดน อยู่ในความควบคุมของกองทัพภาคที่ 3 ราษฏรมีอาชีพปลูกชาเป็นหลักมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เดินทางขึ้นไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก การจัดงานเทศกาลชิมชานี้ เพื่อเป็นกาลสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกชา และส่งเสริมการท่องเที่ยว ของหมู่บ้าน ภายในงานมีการขี่ม้ารอบหมู่บ้าน เที่ยวชมธรรมชาติ ชิมชาชั้นดี ชมการแสดงจากชาวจีนยูนาน และการละเล่นพื้นบ้าน

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอแม่สะเรียง

วัดกิตติวงศ์ ตั้งอยู่ในเขตสุขาภิบาลแม่สะเรียง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระครูกิตตินำมาจากวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ และยังมีพระคัมภีร์โบราณค้นพบ ในถ้ำผาแดง ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน เมื่อ พ.ศ. 2511 จารึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของล้านนากับพม่า

วัดจองสูง หรือวัดอุทยารมณ์ ตั้งอยู่ในตัวอำเภอแม่สะเรียง เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2381 เดิมเป็นสำนักสงฆ์มีเจ้าอาวาสเป็นไทยใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2431 ถูกไฟไหม้ และได้บูรณะขึ้นใหม่เป็นวัดจองสูงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 ภายในวัดมีเจดีย์ทรงมอญเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี อยู่ 3 องค์ เจดีย์องค์ด้านตะวันตกสร้างเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 เจดีย์องค์กลางสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏ เชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุ ส่วนเจดีย์องค์ด้านตะวันออกเป็นเจดีย์ 7 ยอด

วัดศรีบุญเรือง ตั้งอยู่ใกล้กับวัดจองสูงเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีสิ่งน่าสนใจได้แก่โบสถ์รูปทรงพม่าซึ่งฉลุลวดลายงดงาม

วัดแสนทอง ตั้งอยู่ในตัวอำเภอแม่สะเรียง มีสิ่งที่สำคัญคือพระแสนทองพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธ์ อันเป็นศิลปะสมัยเชียงแสนที่เก่าแก่และงดงามมากองค์หนึ่ง และที่วัดแสนทองนี้ยังประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ชาวบ้านเรียกว่า “พระเพชร” หรือ “พระสิงห์หนึ่ง” อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองแต่อดีต ผู้สนใจสามารถติดต่อกับพระภิกษุภายในวัดเพื่อขอชมได้

วัดจอมทอง ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอแม่สะเรียง 1 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายแม่สะเรียง-สบเมย แยกทางซ้ายมือบริเวณสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นทางลูกรังขึ้นภูเขา วัดนี้มีจุดเด่นที่พระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาและบนลานพระพุทธรูปนี้ สามารถชมทิวทัศน์อันสวยงาม ของอำเภอแม่สะเรียงได้ โดยเฉพาะบรรยากาศยามพระอาทิตย์ตกในช่วงเย็น

บ้านกะเหรี่ยงพะมะลอ เป็นบ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง อยู่ในเขตตำบลบ้านกาด ห่างจากตลาดแม่สะเรียงประมาณ 3 กิโลเมตร ชาวบ้านมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ มีการทอผ้าและทำสิ่งประดิษฐ์ของเผ่าไว้จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวด้วย

พระธาตุจอมมอญ อยู่ที่หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านกาด เป็นปูชนียสถานที่มีลักษณะเป็นเจดีย์เก่าแก่ ถือกันว่าเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ และมีงานฉลองในเดือนกรกฎาคมของทุกปี

ถ้ำเง้า อยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านกาด ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ ระยะทางห่างจากอำเภอประมาณ 4 กิโลเมตร

ทุ่งบัวตอง ดอยแม่เหาะ ห่างจากอำเภอแม่สะเรียงประมาณ 16 กิโลเมตร อยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 84 เขตตำบลแม่เหาะ เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ริมทางในช่วงนี้มีภูมิประเทศที่งดงามของภูเขา และทุ่งดอกบัวตองที่ตระการตา และเบ่งบานสะพรั่งในเดือนตุลาคม-ธันวาคม

อุทยานแห่งชาติสาละวิน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่บริเวณที่ดินป่าแม่ยวมฝั่งขวาและป่าสาละวิน ในท้องที่ตำบลเสาหิน ตำบลบ้านกาด ตำบลแม่คง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง และตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย มีพื้นที่ประมาณ 721.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 450,950 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537

การเดินทาง มีรถโดยสารสายอำเภอแม่สะเรียง-บ้านแม่สามแลบ บริการหรือสามารถเช่ารถจากอำเภอแม่สะเรียงไปยังแม่สามแลบ ระยะทางประมาณ 46 กิโลเมตร จากนั้นจะต้องล่องเรือจากบ้านแม่สามแลบไปตามแม่น้ำสาละวิน ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง โดยจะมีเรือของชาวบ้านมาบริการ คิดในราคาเหมาลำ จากที่ทำการอุทยานฯ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของลำน้ำสาละวินและฝั่งพม่าได้กว้างไกล และในบริเวณด้านหน้าของที่ทำการอุทยานฯ ยังมีหาดทรายสีขาวละเอียดเหมาะแก่การตั้งเต็นท์พักแรม ถัดไปทางด้านทิศเหนือจะเป็นบ้านท่าตาฝั่ง ซึ่งมีหาดทรายสวยอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า “หาดแท่นแก้ว” นอกเหนือจากทัศนียภาพที่งดงามของริมฝั่งน้ำแล้ว ยังมีทรัพยากรที่สำคัญและมีค่า อันได้แก่ พันธุ์ไม้ป่า เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็ง ซึ่งมีอยู่มากมายในบริเวณนี้ และสัตว์ป่านานาชนิด เป็นต้น

ขณะนี้ทางอุทยานฯ ยังไม่มีบริการบ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ทั้งสิ้น หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะตั้งเต็นท์พักแรม สามารถติดต่อได้ที่อุทยานฯ โดยตรง หรือติดต่อล่วงหน้าไปที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน ตู้ ปณ. 6 ปท.แม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58110

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสบเมย

แม่สามแลบ แม่สามแลบเป็นชื่อของหมู่บ้าน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าแม่น้ำคง อยู่ในเขตตำบลสบเมย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 62 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 1194 เป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปล่องเรือตามลำน้ำสาละวิน ซึ่งมีลักษณะเป็นหุบเขาสูงชัน ฝั่งตรงกันข้ามเป็นเขตสหภาพพม่า บางช่วงมีหาดทรายขาวสะอาด ช่วงที่นิยมล่องคือช่วงแม่สามแลบถึงสบเมย ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำเมยไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน และช่วงแม่สามแลบถึงอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

หมู่บ้านสวยงามบ้านแม่ลามาหลวง อยู่เขตตำบลสบเมย เป็นหมู่บ้านชาวเขาที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาซึ่งราษฎรอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ระยะทางจากที่ตั้งอำเภอสบเมยถึงหมู่บ้านประมาณ 32 กิโลเมตร เป็นทางรถยนต์ 27 กิโลเมตร และเดินเท้าประมาณ 5 กิโลเมตร

ล่องแก่งแม่เงา บ้านแม่เงา ตำบลแม่สวด เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่เหมาะสำหรับการล่องแพเพื่อผจญภัยอย่างแท้จริง สภาพสองฝั่งยังคงเป็นธรรมชาติที่คงสภาพดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังเหมาะแก่นักท่องเที่ยวที่ชอบกีฬาตกปลาด้วย ระยะทางจากตัวอำเภอทั้งทางรถยนต์รวมกับทางน้ำถึงบ้านสบเมย-อุมโล๊ะ ประมาณ 35 กิโลเมตร

น้ำตกแม่ริด อยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ตำบลกองก๋อย เป็นน้ำตกขนาดกลางที่ยังคงสภาพธรรมชาติไว้ครบถ้วน มีความสวยงามพอสมควร และมีน้ำไหลตลอดปี ระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร โดยทางรถยนต์ และเดินเท้าประมาณ 3 กิโลเมตร

ล่องแพแม่น้ำปายการล่องแพแม่น้ำปาย

แม่น้ำปาย เป็นแม่น้ำที่ใหญ่และยาวที่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจากทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาแดนลาว ในเขตอำเภอปาย แล้วไหลลงมาทางทิศใต้ผ่านอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำคง) ในเขตรัฐคะยา สหภาพพม่า มีความยาวประมาณ 180 กิโลเมตร กว้างประมาณ 30 เมตร และลึกประมาณ 7 เมตร ท้องน้ำมีลักษณะเป็นกรวดทราย และในฤดูแล้งน้ำลึกประมาณ 1 เมตร ตลอดลำน้ำปายนี้มีช่วงที่สามารถล่องแพได้ 3 ช่วงด้วยกัน คือ

1. ช่วงต้นลำน้ำปายถึงอำเภอปาย เริ่มต้นที่ห้วยช้างเฒ่า หรือห้วยช้างแก้ว ห่างจากอำเภอปาย ตามระยะทางรถยนต์ประมาณ 16 กิโลเมตร ตามทางลำลองที่มุ่งสู่บ้านเวียงเหนือ และบ้านศาลาเมืองน้อย แล้วเริ่มล่องลำน้ำปายใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ถึงสะพานเวียงเหนือหรือบ้านจอมพลใกล้ตัวอำเภอปาย

การล่องแพสายนี้ควรใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 1 วันเต็ม โดยต้องพักแรกในคืน ก่อนการเดินทางและหลังจากการล่องแพแล้วอีก 1 คืน

2. ช่วงจากอำเภอปายถึงอำเภอเมือง เริ่มต้นที่บ้านหมอแปง ห่างจากอำเภอปายโดยทางรถยนต์ประมาณ 30 กิโลเมตร ระยะทางการล่องแพทั้งหมดประมาณ 70 กิโลเมตร และต้องใช้เวลาประมาณ 2 วัน กว่าจะล่องถึงบ้านปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และต้องใช้แพถึง 2 ชุด เนื่องจากช่วงกลางของแม่น้ำปายมีจุดหนึ่งที่เป็นโตรกธารระดับน้ำต่างกัน คล้ายกับเป็นน้ำตกซึ่งไม่สามารถล่องแพผ่านได้ ต้องขึ้นฝั่งข้ามเขาไปขึ้นแพชุดใหม่และล่องต่อ รายละเอียดการล่องแพช่วงนี้ควรติดต่อขอทราบจากนายอำเภอปาย ที่ว่าการอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

3. ช่วงอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนถึงเขตชายแดนไทย-พม่า เริ่มต้นจากบ้านห้วยเดื่อ ตำบลผาบ่อง ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร และล่องถึงบ้านน้ำเพียงดิน ซึ่งเป็นเขตต่อแดนระหว่างไทยกับพม่า ปกติแล้วในช่วงนี้นิยมนั่งเรือหางยาวมากกว่าจะล่องแพ และจากจุดนี้ผู้ที่นิยมล่องไพรด้วย การนั่งบนหลังช้าง ก็สามารถทำได้เช่นกัน การล่องเรือในช่วงนี้เป็นที่นิยมกันมาก ในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากทิวทัศน์ของฝั่งแม่น้ำมีความสวยงาม และระดับน้ำก็ลดหลั่นกันตลอดทาง โดยใช้เวลาในการไปและกลับเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ ในกรณีที่ต้องการพักแรมด้วยการกางเต็นท์ก็อาจทำได้โดยขออนุญาตจากหัวหน้าด่านตำรวจที่น้ำเพียงดินเสียก่อนช่วงที่เหมาะสมที่สุดใ นการล่องแพแม่น้ำปายได้แก่ ช่วงเดือนตุลาคม- มีนาคม

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

อนุสาวรีย์พระยาสิงหนาทราชา ตั้งอยู่ต้นถนนขุนลุมประพาส ประวัติของพระยาสิงหนาทราชา เดิมชื่อ ชานกะเล เป็นชาวไทยใหญ่ ได้รวบรวมผู้คนตั้งหมู่บ้านขึ้นชื่อว่า “บ้านขุนยวม” ต่อมาได้ยกขึ้นเป็นเมือง จวบจนปี พ.ศ. 2417 จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองแม่ฮ่องสอน และพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าครองนครเชียงใหม่ ได้ยกบรรดาศักดิ์ชานกะเล เป็นพระยาสิงหนาทราชา และแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน คนแรกจากบริเวณอนุสาวรีย์พระยาสิงหนาทราชานี้ เมื่อมองตรงขึ้นไป จะเห็นองค์พระธาตุดอยกองมูอยู่บนยอดเขา

วัดพระธาตุดอยกองมู ตั้งอยู่บนดอยกองมูทางทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน เดินทางโดยแยกจากทางหลวงสาย 108 ตรงบริเวณ อนุสาวรีย์พระยาสิงหนาทราชา ขึ้นไปทางซ้ายมือ เป็นทางราดยางขึ้นภูเขาไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณวัด

วัดนี้เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดปลายดอย เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญที่สุด ประกอบด้วยพระธาตุเจดีย์ที่สวยงาม 2 องค์ พระเจดีย์องค์ใหญ่สร้างโดย “จองต่องสู่” เมื่อ พ.ศ. 2403 เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระ ซึ่งนำมาจากประเทศพม่า ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็กสร้างเมื่อ พ.ศ. 2417 โดย “พระยาสิงหนาทราชา” เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก จากวัดพระธาตุดอยกองมูนี้สามารถมองเห็นภูมิประเทศและสภาพตัวเมืองแม่ฮ่องสอนได้อย่างชัดเจนและสวยงามมาก วัดนี้มีงานเทศกาลประจำปีหลายงาน เช่น ในวันปีใหม่ วันสงกรานต์ โดยเฉพาะในวันออกพรรษาจะมีการตักบาตรดาวดึงส์ หรือตักบาตรเทโวด้วย

วัดพระนอน ตั้งอยู่เชิงดอยกองมู เป็นที่ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ สร้างด้วยศิลปะไทยใหญ่ พ.ศ. 2418 และเป็นพระนอนองค์ขนาดยาว 12 เมตร ซึ่งมีพุทธลักษณะ งดงามมาก ตามประวัติเล่าว่าพระนางเมียะ ภริยาของพระยาสิงหนาทราชาเป็นผู้สร้างขึ้น ภายในบริเวณมีรูปปั้นสิงโตขนาดใหญ่ 2 ตัว สร้างโดยพระยาสิงหนาทราชา และพระนางเมียะ อยู่เคียงข้างระหว่างทางที่จะขึ้นไปนมัสการพระธาตุกองมู เป็นสิงโตที่มีลักษณะงดงามและสมบูรณ์มาก นอกจากนี้ภายในวัดยังมีการสอนวิปัสนาอีกด้วย

วัดก้ำก่อ (ภาษาไตแปลว่า ดอกบุนนาค) ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระนอน เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2433 มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่งดงามไม่แพ้วัดอื่น โดยเฉพาะลักษณะพิเศษที่มีหลังคาคลุมทางเดิน ตั้งแต่ซุ้มทางเข้าไปสู่ศาลา นอกจากนี้ยังมีตำราภาษาไทยใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยใหญ่กับเจ้าอโนรธามังช่อ ปัจจุบันได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยพระมหาบุญรักษ์ สุปัญโญ ท่านเจ้าอาวาสวัดนี้

วัดหัวเวียงหรือวัดกลางเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสีหนาทบำรุง ตำบลจองคำ (อยู่ติดกับตลาดเช้าบริเวณสี่แยกไฟแดง) เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2406 เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าพาราละแข่ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประจำเมืองที่งดงามมาก มีประวัติว่าหล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” ซึ่งเป็นเจ้าพาราละแข่งองค์จริง ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า โดยลุงจองโพหย่า เดินทางไปนิมนต์มา พระเจ้าพาราละแข่งองค์นี้สร้างเป็นท่อนๆ ทั้งหมด 9 ท่อน ล่องมาตามแม่น้ำปาย แล้วนำมาประกอบที่วัดพระนอนและนำมาประดิษฐานที่วัดหัวเวียง หรือวัดกลางเมือง ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

ปัจจุบัน วิหารที่ประดิษฐานพระเจ้าพาราละแข่ง สร้างใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคงโครงสร้างของวิหารตามรูปแบบเดิมไว้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

หนองจองคำ เป็นสวนสาธารณะตั้งอยู่ใจกลางเมือง เป็นหนองน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีน้ำตลอดปี เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองและนักท่องเที่ยว และใช้เป็นสถานที่จัดงานประเพณีที่สำคัญๆ ของจังหวัดด้วย

วัดจองคำ อยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองจองคำ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 โดยช่างฝีมือชาวไทยใหญ่ มีศิลปะแบบต่างๆ ซึ่งเป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ ที่แปลกและงดงามมาก หลังคาวัดเป็นรูปปราสาท เพราะมีคติว่าปราสาทเป็นของสูง ผู้ที่ประทับอยู่ในปราสาท ควรจะเป็นพระมหากษัตริย์หรือตัวแทนพระศาสนา จึงเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต มีขนาดหน้าตักกว้าง 4.85 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 โดยช่างฝีมือชาวพม่า และมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่ง จำลองมาจาก พระศรีศากยมุนีที่วิหารวัดสุทัศน์ ประดิษฐานไว้เป็นพระประธานของวัด เหตุที่เรียกชื่อวัดจองคำ เนื่องจากเสาวัดประดับด้วยทองคำเปลว

วัดจองกลาง ตั้งอยู่เคียงข้างกับวัดจองคำ ภายในวิหารมีแท่นบูชาตั้งพระพุทธสิหิงค์จำลอง ปิดทองเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ มีสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เช่น ตุ๊กตาแกะสลักด้วยไม้เป็นรูปคนและสัตว์เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดก ฝีมือแกะสลักของช่างชาวพม่า ซึ่งนำมาจากพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2400 นอกจากนี้ทางด้านจิตรกรรมยังมีภาพวาดบนแผ่นกระจกเรื่องพระเวสสันดรชาดกและภาพประวัติเจ้าชายสิทธัตถะ ตลอดจนภาพแสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้นหลายภาพ มีคำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาพม่าและมีบันทึกบอกไว้ว่าเป็นฝีมือของช่างไทยใหญ่จากมัณฑะเลย์

เรือนประทับแรมโป่งแดง อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ตั้งอยู่ภายในศูนย์โครงการพัฒนาตามพระราชดำริท่าโป่งแดง ซึ่งทำการทดลอง เพาะปลูกพืชผลไม้ต่างๆ และเลี้ยงหม่อนไหม แยกไปทางซ้ายมือประมาณ 2 กิโลเมตร มีเรือนประทับแรมสำหรับเสด็จประทับและพักผ่อนพระอิริยาบถ ตัวเรือนประทับแรม ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ด้านหน้ามีแม่น้ำปายไหลผ่านรอบๆ เรือนประทับมีไม้ดอกไม้ประดับปลูกไว้อย่างสวยงาม บรรยากาศเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ

บ่อน้ำร้อนผาบ่อง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลผาบ่อง (เส้นทางหลวงหมายเลข 108 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 256) อยู่ห่างจากตัวเมือง 11 กิโลเมตร มีบริเวณพื้นที่ 8 ไร่ ได้จัดสถานที่ไว้อย่างสวยงาม และมีห้องอาบน้ำไว้บริการ และในบริเวณใกล้เคียงกันมีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย

เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำผาบ่อง อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนไปทางทิศใต้ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นเขื่อนกั้นลำน้ำแม่ละมาด และผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในตัวเมือง แม่ฮ่องสอน บริเวณตัวเขื่อนมีศาลาพักร้อนเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจและอากาศสบายมีลมพัดตลอดเวลา

บ้านน้ำเพียงดิน อยู่ในเขตตำบลผาบ่อง เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมล่องเรือตามลำน้ำปาย ผ่านบ้านห้วยเดื่อไปจนถึงบ้านน้ำเพียงดินโดยเรือหางยาว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางที่ล่องเรือไปตามลำน้ำจะผ่านระลอกน้ำที่ลดระดับลดหลั่นกันไปคล้ายธารน้ำตก นับเป็นทัศนียภาพที่งดงามแปลกตา จากบ้านน้ำเพียงดินนี้ใช้เวลาล่องเรือไม่นานก็เข้าเขตสหภาพพม่าและถึงบริเวณที่เรียกกันว่า “ผาห่มน้ำ” ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปกันเสมอ

บ้านยอดดอย ( หมู่บ้านแม้วไมโครเวฟ ) เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง ที่อาศัยอยู่บนดอยสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย และการรักษา ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัดของพวกเขา เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางไปสัมผัส โดยเดินทางจากแม่ฮ่องสอนไปหมู่บ้านป่าลาน 32 กม. ( เส้นทางแม่ฮ่องสอน - ขุนยวม ) และเลี้ยวซ้ายขึ้นหมู่บ้าน ซึ่งเป็นทางสูงชันอีกราว 8 กม.

น้ำตกซู่ซ่า อยู่ในเขตบ้านแม่สุยะ ตำบลห้วยผา เป็นน้ำตกที่ทะลุจากซอกเขาเป็นทางยาวประมาณ 100 เมตร ขนานไปกับลำน้ำ

วนอุทยานถ้ำปลา ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยผา ตำบลห้วยผา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 17 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1095 (แม่ฮ่องสอน-ปาย) เส้นทางราดยาง เรียบร้อย สามารถเดินทางไปชมได้ทุกฤดูกาล บริเวณโดยรอบเป็นลำธารและป่าเขา ถ้ำปลาตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามีลักษณะเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 2 เมตร ลึก 1.50 เมตร ภายในแอ่งน้ำมีน้ำไหลออกจากถ้ำใต้ภูเขาอยู่ตลอดเวลา และมีปลาตัวโตๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกชื่อว่าปลามุงหรือปลาคัง หรือปลาพลวง เป็นปลามีเกล็ดขนาดใหญ่ในวงศ์เดียวกับปลาคาร์ฟ และถึงแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีใครกล้าทำอันตราย เนื่องจากมีความเชื่อว่าเป็นปลาเจ้า หากใครนำไป รับประทานแล้วจะต้องมีอันเป็นไป ปัจจุบันบริเวณอุทยานถ้ำปลาได้รับการปรับปรุง เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวเมือง และนักท่องเที่ยว ที่มาเยี่ยมชม

วนอุทยานน้ำตกผาเสื่อ ตั้งอยู่ในเขตตำบลหมอกจำแป่ ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ตามเส้นทางสู่อำเภอปาย (เส้นทาง 1095) เป็นระยะทาง 17 กิโลเมตร แยกซ้ายบริเวณบ้านรักไทยเป็นทางราดยางเข้าไปอีก 12 กิโลเมตร และเข้าทางลูกรังไปอีก 8 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีอีกเส้นทางหนึ่ง เป็นเส้นทางเข้าหมู่บ้านหมอกจำแป่ซึ่งเป็นเส้นทางเก่า ทางเข้ายังไม่สะดวก เป็นถนนลูกรังตลอดทั้งเส้นทาง เส้นทางนี้แยกมาจาก ทางหลวงหมายเลข 1095 แต่จะถึงก่อนเส้นทางแรกโดยห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเพียง 14 กิโลเมตร

น้ำตกแห่งนี้ไหลลงมาจากน้ำตกแม่สะงาในพม่า มี 6 ชั้น ชั้นบนสุดอยู่ในป่าลึกเข้าไป ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง คือน้ำตกแม่สะงากลาง ถัดออกมาเป็นชั้นผายาว ผาลาด ผาเสื่อ ผาตั้ง และผาอ้อม ชั้นที่คนนิยมเที่ยวมากที่สุดคือผาเสื่อ ซึ่งมีน้ำตกลงมากระทบแผ่นหินกระเด็นเป็นฝอย และสองข้างน้ำตกมีแผ่นหินลักษณะคล้าย เสื่อปูลาดอยู่จำนวนมาก น้ำตกมีขนาดใหญ่ และน้ำมากตลอดปี น้ำมากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

พระตำหนักปางตอง อยู่ในเขตตำบลหมอกจำแป่ สามารถเดินทางไปโดยใช้เส้นทางเดียวกับทางเข้าวนอุทยานผาเสื่อ แต่ต้องเดินทางต่อไปอีก 5 กิโลเมตร ตัวเรือนประทับแรมตั้งอยู่บนยอดเขาสูงที่บ้านปางตอง ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงปางตอง มีทิวทัศน์บริเวณสองข้างทางที่สวยงาม ทางรถยนต์เข้าถึงและสามารถเดินทาง ไปสู่หมู่บ้านแม้วนาป่าแปก ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าแม้วที่สุขสงบและน่ารักมากเลย ต่อจากหมู่บ้านแม้วนี้ก็จะสามารถไปถึงหมู่บ้านแม่ออ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชายแดนไทย-พม่า และมีกองกำลังกองพล 93 ตั้งอยู่เป็นบริเวณที่สูง อากาศเย็น และมีทิวทัศน์ที่น่าชมยิ่ง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตกิ่งอำเภอปางมะผ้า

สถานศึกษาธรรมชาติ และสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด ตั้งอยู่ที่ตำบลถ้ำลอด ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเป็นระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงสาย 1095 (ปางมะผ้า-ปาย) ประมาณหลักกิโลเมตร 138-139 มีทางแยกซ้ายจากกิ่งอำเภอปางมะผ้าเข้าไปตามทางบ้านถ้ำลอดอีก 9 กิโลเมตร เป็นทางลูกรังผ่านป่า ทางบางช่วงชำรุดและรถใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำปาย มีสถานที่น่าสนใจ คือ “ถ้ำลอด” ซึ่งมีลำห้วยชื่อ น้ำลาง ไหลลอดภูเขาไปทะลุออกอีกด้านหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยสวยงาม เป็นถ้ำเก่าแก่ จากการพบเครื่องมือเครื่องใช้โบราณ ในถ้ำ สันนิษฐานได้ว่ามีอายุประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว ภายในถ้ำความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ประกอบด้วยห้องโถงใหญ่อีก 3 ห้อง เรียกชื่อต่างๆ กันคือ “ถ้ำเสาหินหลวง” เป็นถ้ำกว้างใหญ่ มีหินงอกหินย้อยสวยงามมากมาย “ถ้ำตุ๊กตา” มีหินงอกเป็นปุ่มปมเล็กๆ คล้ายตุ๊กตาเรียงรายอยู่มากมาย และด้านหนึ่งของผนังถ้ำ ยังปรากฏภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่กว้างและยาวที่สุดในถ้ำลอด ถ้ำสุดท้ายอยู่ด้านทางออกคือ “ถ้ำผีแมน” นอกจากมีหินงอกหินย้อยสวยงามแล้ว ยังเป็นที่พบเศษภาชนะดินเผา มีซีกฟัน และกระดูกของมนุษย์ เมล็ดพืช เครื่องมือหิน รวมทั้ง “โลงผีแมน” อีกด้วย โลงผีแมนนี้มีลักษณะเป็นท่อนไม้ที่ถูกขุด ตรงส่วนกลางออก เป็นร่องคล้ายเรือ หรือรางไม้ใส่อาหารให้สัตว์เลี้ยง มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ โดยโลงขนาดใหญ่จะถูกวาง อยู่บนคานโดยใช้เสา 4-6 ต้น ตั้งกับพื้นถ้ำ และเสาแต่ละคู่จะถูกเจาะเป็นช่องเพื่อสอดใส่คานไว้วางพาดโลงผีแมน

สำหรับการเข้าชมถ้ำนั้น จะเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. แต่นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าชมเองได้ เนื่องจากภายในถ้ำมืดมาก จึงต้องใช้บริการผู้นำทาง พร้อมตะเกียงเจ้าพายุ โดยจะเสียค่าบริการ 100 บาท ต่อผู้นำทาง 1 คน การเดินชมถ้ำจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นการชม 2 ถ้ำใหญ่ คือ ถ้ำเสาหินหลวง และถ้ำตุ๊กตา

หากนักท่องเที่ยวต้องการจะเข้าชมถ้ำผีแมน จะต้องล่องแพผ่านธารน้ำที่ลอดภายในถ้ำโดยจะมีแพของชาวบ้านรอให้บริการอยู่ในบริเวณสถานศึกษาธรรมชาติ และสัตว์ป่า ถ้ำน้ำลอดนี้ ยังเป็นแหล่งดูนก ซึ่งทางหน่วยบริการได้จัดทำป้ายบอกจุดดูนกไว้เป็นระยะๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมเองได้บริเวณ ที่ทำการยังมีบ้านพัก ไว้บริการ และอนุญาตให้ตั้งเต็นท์พักแรมได้ โดยติดต่อโดยตรง ณ หน่วยบริการภายในสถานศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด

นอกจากนี้ ในเขตกิ่งอำเภอปางมะผ้า ยังมีผู้สำรวจพบถ้ำต่างๆ อีกหลายถ้ำ เช่น ถ้ำผาเผือก ถ้ำผาแดง ถ้ำปางคำ ถ้ำน้ำตก ถ้ำซู่ซ่า ถ้ำผามอญ ถ้ำแม่ละนา ฯลฯ

เนื่องจากถ้ำเหล่านี้ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งการเดินทางที่ยากลำบาก เพราะถ้ำบางแห่งมีระยะทางลึกมาก (โดยเฉพาะถ้ำแม่ละนา ที่นักสำรวจถ้ำ คาดว่าลึกประมาณ 13 กิโลเมตร) และมีลำธาร บางช่วงอาจต้องว่ายน้ำไป จึงเหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักการผจญภัยและเสาะแสวงหาธรรมชาติอย่างแท้จริง

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอปาย

วัดกลาง อยู่ในตำบลเวียงใต้ ภายในวัดมีพระเจดีย์องค์ใหญ่ ศิลปะไทยใหญ่แท้ ประดิษฐานอยู่กลางลานวัด มีเจดีย์ทรงมอญรายล้อมโดยรอบ ใต้เจดีย์ทำเป็นซุ้ม ประดิษฐาน พระพุทธรูปประจำวัน เหนือฐานเจดีย์องค์ใหญ่ทำเป็นมณฑปยอดมงกุฎ

วัดน้ำฮู อยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลเวียงใต้ ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าพ่ออุ่นเมือง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ทำด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 28 นิ้ว สูง 30 นิ้ว พระพุทธรูปองค์นี้พระเศียรกลวง ส่วนบนเปิดปิดได้และมีน้ำขังอยู่ เป็นพระพุทธรูปสิงห์สาม อายุประมาณ 500 ปี เมื่อ พ.ศ. 2515 มีพระธุดงค์จากอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มานมัสการและสงสัยว่าข้างในพระจะมีน้ำ จึงเปิดดูพบว่ามีน้ำจริงๆ ข่าวนี้แพร่ออกไปก็มีผู้คนหลังไหลมา ขอน้ำไปสักการะ พอน้ำในพระเศียรหมดก็จะมีไหลออกมาอีกในลักษณะซึมออกมาตลอดเวลา

น้ำตกหมอแปง อยู่หมู่ที่ 4 บ้านหมอแปง ตำบลแม่นาเติง เดินทางโดยรถยนต์ได้สะดวก และมีชาวเขาเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง บริเวณรอบน้ำตก มีป่ายางร่มรื่น อยู่ห่างจากตัวอำเภอปาย ประมาณ 8-9 กิโลเมตร (สายปาย-แม่ฮ่องสอน) ใกล้กับน้ำตกหมอแปง เป็นน้ำตกม่วงสร้อย แต่ทางเข้ายังไม่สะดวก

กองแลน อยู่ในเขตบ้านร้องแหย่ง ห่างจากอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้โดยทางหลวงสาย 1095 (ปาย-แม่มาลัย) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 88 อยู่ทางด้านขวามือ และต้องเดินเข้าไปอีกประมาณ 200 เมตร ลักษณะเป็นผืนดินที่ถูกกัดเซาะเป็นร่องลึกคล้ายหน้าผาติดต่อกันเป็นบริเวณกว้างประมาณ 5 ไร่เศษ (คล้ายกับแพะเมืองผีของจังหวัดแพร่) สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล

โป่งน้ำร้อนเมืองแปง อยู่ในเขตบ้านเมืองแปง ตำบลเมืองแปง เป็นบ่อน้ำพุร้อนขนาดใหญ่ ห่างจากอำเภอปายประมาณ 28 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1095 (ปาย-แม่มาลัย) และแยกเข้าสาย 1265 ด้านขวามือตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 85-86 ใกล้กับหน่วยพิทักษ์และรักษาป่าแม่ปิง เป็นทางลูกรัง อุณหภูมิของน้ำร้อนสูงถึง 95 องศาเซลเซียส และพลุ่งขึ้นเป็นระยะๆ

หมู่บ้านกะเหรี่ยงแม่ปิง อยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลแม่ฮี้ ชาวบ้านเผ่านี้มีภาษาเขียนของตนเองและมีความเจริญด้านอารยธรรมสูง การคมนาคมสามารถเดินทางได้โดยรถยนต์

เจดีย์พระธาตุแม่เย็น อยู่ที่บ้านแม่เย็น ตำบลแม่ฮี้ ตามเส้นทางสายแม่ฮ่องสอน-ปาย เป็นเจดีย์ที่สร้างสมัยใดไม่ปรากฏ ตั้งอยู่บนเนินสูงและเมื่อขึ้นไปนมัสการ องค์พระธาตุแม่เย็น จะมองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอปายโดยทั่วถึง เป็นจุดสังเกตของผู้โดยสารเครื่องบินว่าเข้าเขตอำเภอปายแล้ว

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 179.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 112,187.5 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อนมีภูเขาที่สูงที่สุดคือดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย มีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ

  • จุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดัง (ดอยกิ่วลม) ตั้งอยู่ที่ตำบลกึ้ดช้าง อำเภอแม่แตง เป็นที่ตั้งของหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) เป็นจุดชมวิวที่สวยงามและมีชื่อเสียงมาก นักท่องเที่ยวจะได้ชมทะเลหมอกในช่วงเช้าตรู่และคอยชมพระอาทิตย์ขึ้นงดงามมาก
  • จุดชมวิวดอยช้าง อยู่ทางเหนือของห้วยน้ำดัง เป็นจุดที่สามารถมองเห็นสภาพธรรมชาติของทิวเขาอันสลับซับซ้อน และทะเลหมอกในยามเช้าตรู่
  • น้ำตกห้วยน้ำดัง เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยน้ำดัง มีโขดหินมากมาย มีความสูงประมาณ 50 เมตร กว้าง 10 เมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก มี 3-4 ชั้น

การเดินทางจากแม่ฮ่องสอน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1095 ผ่านอำเภอปาย ถึงหลักกิโลเมตรที่ 65-66 มีทางลูกรังแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงบริเวณห้วยน้ำดัง และเดินทางต่อไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงจุดชมวิวดอยช้าง

ทางอุทยานฯ มีบริการบ้านพักแก่นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะพักค้างแรม รายละเอียดติดต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734

โป่งน้ำร้อนท่าปาย อยู่ในป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนบนท้องที่ตำบลแม่ฮี้ โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1095 (ปาย-แม่มาลัย) ข้ามสะพานแม่น้ำปาย ถึงบริเวณหลัก กิโลเมตร ที่ 87-88 แยกซ้ายเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ตามทางเข้าบ้านท่าปาย เป็นทางราดยางตลอดทั้งสาย สภาพของโป่งน้ำร้อนเป็นบ่อน้ำร้อน น้ำกำลังเดือดเป็นฟองๆ และมีหมอกควันปกคลุมพื้นที่ พร้อมทั้งมีน้ำร้อนไหลเรื่อยๆ ทั่วบริเวณกว้าง มีบ่อใหญ่สองบ่อ นอกนั้นมีลักษณะเป็นน้ำผุดบางจุด ความร้อนประมาณ 80 องศาเซลเซียส และรอบๆ โป่งร้อนเป็นไม้สักที่สมบูรณ์มาก ภายในบริเวณอนุญาตให้ตั้งเต็นท์พักแรมได้ แต่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ทั้งสิ้น

น้ำตกแม่เย็น อยู่ที่บ้านแม่เย็น ตำบลแม่ฮี้ ห่างจากอำเภอปายประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดสูง 3 ชั้น และสวยงามที่สุดของอำเภอ การคมนาคมโดยการเดินเท้าใช้เวลา 3-5 ชั่วโมง

น้ำพุร้อนเมืองแปง อยู่บริเวณบ้านแมืองแปง ตำบลเมืองแปง เป็นบ่อน้ำพุร้อนขนาดใหญ่ ห่างจากอำเภอปายประมาณ 29 กิโลเมตร อุณหภูมิร้อนประมาณ 95 องศาเซลเซียส และเดือดพลุ่งขึ้นเป็นระยะๆ

ห้วยจอกหลวง เป็นแหล่งอนุรักษ์ต้นน้ำห้วยจอกหลวงอยู่บริเวณป่าแม่ยะ ตำบลแม่ฮี้ มีการปลูกไม้ดอกไม้หนาวหลายชนิด และออกดอกในฤดูหนาวตั้งอยู่บนภูเขา และมีทิวทัศน์สวยงามมาก อยู่ห่างจากอำเภอปายประมาณ 43 กิโลเมตร ฤดูที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยวคือ ฤดูหนาว

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอขุนยวม

วัดต่อแพ ตั้งอยู่ที่บ้านต่อแพ ตำบลแม่เงา ห่างจากตลาดขุนยวมประมาณ 7 กิโลเมตร โดยก่อนที่จะถึงตลาดมีทางแยกจากทางสาย 108 ไปประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง เป็นวัดเก่าแก่อยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำยวม มีวิหารขนาดใหญ่แบบพม่า สร้างอย่างวิจิตรสวยงามมาก นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ทรงมอญอีกด้วย ตามประวัติเล่าว่าบริเวณนี้แต่เดิมเคยเป็นที่พัก และรวมไม้ซุง นักต่อแพเหล่านี้ได้พร้อมใจกันสร้างวัดขึ้นมาแล้วให้ชื่อว่า “วัดต่อแพ”

อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตอำเภอขุนยวม และอำเภอเมือง มีเนื้อที่ 247,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2524 มีจุดเด่นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง โดยเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 1095 (แม่ฮ่องสอน-ปาย) ไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงตำบลปางหมู แล้วแยกขวาเข้าไปอีก 2.5 กิโลเมตร
  • โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่า-รักษาพันธุ์ไม้ อยู่ติดกับที่ทำการอุทยานฯ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประกอบด้วย กรงเพาะเลี้ยง และอนุบาลสัตว์ป่า การรวบรวมพันธุ์ไม้ประจำถิ่นเพื่อการศึกษา และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
  • น้ำตกแม่สุรินทร์ อยู่ในเขตบ้านแม่สุรินทร์ ตำบลแม่ยวมน้อย อำเภอขุนยวม การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ถึงอำเภอขุนยวม และจากขุนยวมเข้าไป น้ำตกแม่สุรินทร์ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร เป็นทางลูกรัง น้ำตกแม่สุรินทร์เป็นน้ำตกสวยงามมาก เป็นน้ำตกชั้นเดียว ไหลจากหน้าผาสู่หุบเขาด้านล่าง สูงประมาณ 100 เมตร
  • ยอดดอยปุย อยู่ในเขตบ้านห้วยฮี้ ตำบลห้วยปูลิง เป็นยอดเขาที่สูงมากถึง 1,752 เมตร มีลักษณะเป็นลานกว้างลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ
  • หนองเขียว มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบบนสันเขาและมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ มีหญ้าขึ้นปกคลุมเต็มพื้นที่ การเดินทางใช้เส้นทางจาก น้ำตกแม่สุรินทร์ไป หนองเขียว ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังลำลองใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น

อุทยานฯ มีบริการบ้านพักและอนุญาตให้นำเต็นท์ไปตั้งค่ายพักแรมได้ โดยมีบ้านพักบริการในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ อำเภอเมือง รายละเอียดติดต่อ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ โทร. 579-7223, 579-5734 หรือที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ตู้ ปณ. 18 อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000

ทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม ตามเส้นทางหมายเลข 108 (แม่ฮ่องสอน-ขุนยวม) ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้าย ตามทางหลวงสาย 1263 เข้าสู่ทุ่งบัวตองอีก 26 กิโลเมตร เป็นถนนราดยางมีพื้นที่ครอบคลุมเป็นเขากว้างประมาณ 1 พันไร่ อยู่ในความรับผิดชอบ ของโครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูง หน่วยที่ 5 กองอนุรักษ์ต้นน้ำ ดอกบัวตองที่นี่เมื่อบานพร้อมๆ กันในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะเหลืองอร่ามปกคลุมทั่วทั้งภูเขา มีความสวยงามมาก

นอกจากนี้ ยังมีบริการให้เช่าเต็นท์ค้างแรมบนดอย ซึ่งจะมีสถานที่สำหรับตั้งเต็นท์ได้ประมาณ 100 หลัง ผู้สนใจสามารถติดต่อได้โดยตรงในวันที่ต้องการพัก บริเวณหน่วย ทำการบนทุ่งบัวตอง หรือหากต้องการจองล่วงหน้าให้ติดต่อกับทางอำเภอขุนยวมโดยตรง และบริเวณด้านหลังจุดชมวิว ยังมีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย

น้ำตกแม่อูคอ ตั้งอยู่บริเวณดอยแม่อูคอ ก่อนถึงทุ่งบัวตองเล็กน้อยมีทางแยกเข้าสู่น้ำตกประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นน้ำตกชั้นเดียว สูงประมาณ 30 เมตร ตกจากร่องหินขนาดใหญ่ ตอนกลางของสายน้ำมีร่องหินกว้าง สามารถเดินเข้าไปชมม่านน้ำตกได้ เพิ่งค้นพบเมื่อปี 2530

บ่อน้ำร้อนหนองแห้ง อยู่เขตบ้านหนองแห้ง ตำบลเมืองปอน ห่างจากอำเภอประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 108 (ขุนยวม-แม่ลาน้อย) แยกซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 174 ข้างโรงเรียนบ้านหนองแห้ง ตรงเข้าไป 1 กิโลเมตร (เป็นทางลูกรัง)

ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นอำเภอขุนยวม ตั้งอยู่ที่บริเวณตรงข้ามวัดม่วยตามทางหลวงหมายเลข 108 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 200 เป็นศูนย์รวมศิลปหัตถกรรมของชาวไทยใหญ่และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ของทหารญี่ปุ่นที่เดินทัพเข้ามาในพื้นที่อำเภอขุนยวมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้มีการจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอแม่ลาน้อย

น้ำตกดาวดึงส์ อยู่เขตบ้านทุ่งรวงทอง ตำบลแม่ลาน้อย ห่างจากอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่ง

หมู่บ้านละว้า (ลัวะ) แม่ละอูบ ตำบลห้วยห้อม เป็นหมู่บ้านเขตติดต่อระหว่างอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่ลาน้อย และอำเภอแม่สะเรียง มีลักษณะวัฒนธรรม การสร้างที่อยู่อาศัย การแต่งกายและอุปนิสัยแตกต่างไปจากชาวไทยภูเขาเผ่าอื่นๆ และโดยที่ตั้งอยู่บนยอดดอยสูง ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงาม การคมนาคมห่างจากอำเภอ 32 กิโลเมตร และสะดวก จึงเป็นที่แปลกตาแปลกใจแก่นักท่องเที่ยวมาก

บ้านกะเหรี่ยงห้วยห้อม ห่างจากบ้านละอูบ ประมาณ 4 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางสาย 1266 ราษฎรเคร่งศาสนาและสุภาพอ่อนโยน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งศูนย์พัฒนาชาวเขา ราษฎรจึงได้รับการพัฒนาให้สามารถทำผ้าจากขนแกะ การปลูกไม้ผลเมืองหนาวอื่นๆ จึงเป็นหมู่บ้านตัวอย่างของชาวเขาทั่วไปได้เป็นอย่างดี

บ้านกะเหรี่ยงแม่สะกั๊วะ อยู่ในเขตตำบลท่าผาปุ้ม ห่างจากอำเภอประมาณ 13 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสาย 1266 เป็นทางขึ้นเขา บ้านเรือนแถบเชิงเขาดูแปลกตา ในฤดูแล้งจะมองเห็นภาพดอกไม้ป่า ใบไม้เป็นสีส้มสวยงามมาก มีแหล่งน้ำตกใกล้หมู่บ้าน ใช้เป็นที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี ราษฎรหมู่บ้านนี้ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

ถ้ำแม่ฮุ อยู่เขตบ้านป่าหมาก ตำบลแม่ลาน้อย ห่างจากอำเภอไปทางทิศตะวันออกประมาณ 7 กิโลเมตร โดยมีทางแยกจากทางหลวงหมายเลข 108 ไปตามทางเข้า เหมืองขุดแร่ ถ้ำนี้ลึกประมาณ 15 เมตร ภายในประกอบด้วยหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ผู้ที่จะเข้าชมถ้ำต้องนำไฟฉายไปเอง




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่แม่ฮ่องสอน