แผนที่สุพรรณบุรี

  • แผนที่สุพรรณบุรี
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

สุพรรณบุรี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ มีพื้นที่ราบลุ่มตามแนวลำน้ำท่าจีน ส่วนใหญ่เป็นนาไร่และป่า ประชากรประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปทางทิศเหนือเป็นที่ราบ มีภูเขาบ้างเป็นบางตอนในท้องที่เดิมบางนางบวช และอู่ทองแต่เป็นภูเขาเล็กๆ ส่วนตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มโดยตลอด ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือ มีป่าและภูเขามากในเขตอำเภอด่านช้าง
สุพรรณบุรีเป็นเมืองโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดีมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสำริด ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี และศรีวิชัย สุพรรณบุรีเดิมมีชื่อว่า ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ หรือ พันธุมบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน แถบ บริเวณตำบลรั้วใหญ่ไปจดตำบลพิหารแดง ต่อมาพระเจ้ากาแตได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำ แล้วโปรดให้มอญน้อยไปสร้างวัดสนามชัย และบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ชักชวนให้ข้าราชการจำนวน 2,000 คนบวช จึงขนานนามเมืองใหม่ว่า สองพันบุรี ครั้งถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างเมืองมาทางฝั่งใต้หรือทางตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ชื่อเมืองเรียกว่า อู่ทอง จวบจนสมัยขุนหลวงพะงั่ว เมืองนี้จึงเรียกว่าชื่อว่า สุพรรณบุรี นับแต่นั้นมา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ต้องผ่านศึกสงครามหลายต่อหลายครั้ง สภาพเมืองตลอดจนโบราณสถานถูกทำลายเหลือเพียงซากปรักหักพัง จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองสุพรรณบุรีได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ และตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน (ลำน้ำสุพรรณ) มาจนตราบทุกวันนี้

ความสำคัญของสุพรรณบุรีในด้านประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ ชัยชนะแห่งสงครามยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา ณ สมรภูมิดอนเจดีย์ เป็นมหาวีรกรรมคชยุทธอันยิ่งใหญ่ที่ได้ถูกจารึกไว้ และมีการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ ในด้านวรรณคดี เป็นเมืองต้นกำเนิดแห่งตำนาน "ขุนช้างขุนแผน" วรรณคดีไทยเรื่องราวและสถานที่ที่ปรากฏตามท้องเรื่องยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน อาทิ บ้านรั้วใหญ่ วัดเขาใหญ่ ท่าสิบเบี้ย ไร่ฝ้าย วัดป่าเลไลยก์ วัดแค อำเภออู่ทอง และอำเภอศรีประจันต์

สุพรรณบุรี ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่ราบภาคกลางสืบสานความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตเมื่อ พ.ศ. 1420 จากนามเดิมเมืองพันธุมบุรีในยุคทวารวดีตามหลักฐานทางโบราณคดีได้จารึกชื่อไว้ในพงศาวดารเหนือ และนาม "สุพรรณภูมิ" ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชระบุว่าเป็นนครรัฐที่มีความสำคัญมาก่อนกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมืองสุพรรณบุรีจึงจัดอยู่ในฐานะเมืองลูกหลวงซึ่งเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญอีกด้วย


ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดชัยนาท และจังหวัดอุทัยธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสิงห์บุรี
ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดนครปฐม
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี

การปกครองแบ่งออกเป็น 10 อำเภอ 110 ตำบล 977 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอด่านช้าง อำเภอบางปลาม้า อำเภอศรีประจันต์ อำเภอดอนเจดีย์ อำเภอสองพี่น้อง อำเภอสามชุก อำเภออู่ทอง อำเภอหนองหญ้าไซ

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-สุพรรณบุรี

ทางรถยนต์ ปัจจุบันการเดินทางติดต่อระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรี กับ กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงสะดวกสบายมาก โดยทางรถยนต์ ดังนี้
- กรุงเทพฯ-บางบัวทอง-สุพรรณบุรี หรือ กรุงเทพฯ- นนทบุรี-บางบัวทอง-สุพรรณบุรี ระยะทาง 107 กิโลเมตร
- กรุงเทพฯ-ปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สุพรรณบุรี ระยะทาง 115 กิโลเมตร
- กรุงเทพฯ-อยุธยา-สุพรรณบุรี ระยะทาง 132 กิโลเมตร
- กรุงเทพฯ-สิงห์บุรี-เดิมบางนางบวช-สุพรรณบุรี ระยะ ทาง 228 กิโลเมตร
- กรุงเทพฯ-อ่างทอง-สุพรรณบุรี ระยะทาง 150 กิโลเมตร
- กรุงเทพฯ-นครปฐม-กำแพงแสน-สุพรรณบุรี ระยะทาง 164 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง

รถประจำทาง มีรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปสุพรรณบุรีหลายเส้นทางด้วยกัน รถที่ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 มีทั้งรถธรรมดาและปรับอากาศ รายละเอียดติดต่อ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 ส่วนรถที่ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ มีรถธรรมดาและรถปรับอากาศชั้น 2 รายละเอียดติดต่อโทร. 02-422-4444 หรือ Call Center 1490
ทางรถไฟ ทางรถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟบางกอกน้อย (ธนบุรี) วันละ 1 เที่ยว รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข โทร. 411-3102

  งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ ณ บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ มีการแสดงยุทธหัตถีชนช้างเทิดพระเกียรติ การออกร้านของอำเภอและหน่วยราชการต่างๆ รวมทั้งการแสดงมหรสพ งานนี้จะจัดในช่วงปลายเดือนมกราคม ระยะเวลาประมาณ 9 วัน โดยจะกำหนดให้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี
งานเทศกาลทิ้งกระจาด กำหนดจัดงานหลังสารทจีนไป 3 วัน เริ่มวันที่ 18 เดือน 7 ของจีน ตรงกับเดือน 9 ของไทย ราวเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี สถานที่จัดงานอยู่ในเขตเทศบาล ตั้งแต่สมาคมตงฮั้วฮ่วยก้วง จนถึงด้านหลังเทศบาลเมืองฯ
ประเพณีตักบาตรเทโว จัดในเดือนตุลาคม หลังจากออกพรรษาแล้วในเดือนตุลาคม จะมีการนำอาหาร ขนมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขนมต้มลูกโยนใส่บาตรให้กับพระสงฆ์
ประเพณีกำฟ้า เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของไทยพวน แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ วันขึ้น 3 และ 7 ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ วันกำฟ้าจะหยุดทำงานและเตรียมอาหาร ขนมหวาน คือ ข้าวหลาม นำไปถวายพระ เมื่อถึงกลางคืนจะมีงานเลี้ยงฉลอง ประเพณีนี้ยังคงมีอยู่ในหมู่บ้านไทยพวน
ประเพณีบุญบั้งไฟ จัดขึ้นในหมู่ไทยพวน ไทยเวียง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการบูชาเทวดาให้ฝนตกตามฤดูกาล มีการจัดเตรียมบั้งไปแห่แหนไปวัดและยิงบั้งไฟที่วัด ปัจจุบันยังคงหาดูได้ในตำบลต่างๆ ในอำเภออู่ทอง และอำเภอบางปลาม้า

 

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

หอคอยบรรหาร-แจ่มใส และ สวนเฉลิมภัทรราชินี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสุพรรณบุรี บนถนนนางพิม ตำบลท่าพี่เลี้ยง เป็นหอคอยแห่งแรกและสูงที่สุดในประเทศไทย มีความสูงถึง 123 เมตร มีชั้นสำหรับชมวิวในระดับสูงสุด 78.75 เมตร และระดับต่ำลงมาคือ 72.75, 66.75 และ 33.75 เมตร ตามลำดับ บนหอคอยได้มีการติดตั้งกล้องส่องทางไกลไว้รอบด้าน มีร้านขายของที่ระลึกและอาหารว่าง มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองสุพรรณบุรี ทั้งด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและเรื่องราวน่ารู้ของจังหวัดสุพรรณบุรีไว้ทั้งหมด ส่วนภายใน สวนเฉลิมภัทรราชินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่สมบูรณ์แบบ ในเนื้อที่ 15 ไร่ นอกจากจะเป็นที่ตั้งของหอคอยบรรหาร-แจ่มใส แล้ว ยังมีสวนน้ำพร้อมสไลเดอร์ สวนลายไทย สวนนกพิราบ สวนดอกไม้ สนามเด็กเล่น บ่อน้ำพุ สนามออกกำลังกาย ฯลฯ

 สวนเฉลิมภัทรราชินี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ตามเวลา ดังนี้
วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 10.00-19.00 น.
วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-20.30 น.
ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 15 บาท - หอคอยบรรหาร-แจ่มใส เก็บค่าเข้าชมดังนี้ เวลา 10.00-18.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท หลังเวลา 18.00 น. ผู้ใหญ่ 40 บาท
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ โทร. (035) 522721 และ524063-4

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชาวนาไทย ตั้งอยู่ที่ถนนพระพันวษาในบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารคอนกรีต สร้างแบบเรือนไทยประยุกต์ 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของการทำนา เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนา ส่วนชั้นบนแสดงให้เห็นถึงพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูชาวนาไทยและทรงพัฒนาการทำนาและการเกษตรของชาติ รวมถึงจัดแสดงภาพจำลองเหตุการณ์พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงทำปุ๋ยหมัก หว่านและเก็บเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง ณ แปลงนาสาธิต บึงไผ่แขก ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2529 และเก็บรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่พระองค์ทรงใช้ นอกจากนี้ยังมีห้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราว และวัตถุที่จัดแสดงโดยเปิดให้เข้าชมทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
บ้านยะมะรัชโช ตั้งอยู่เลขที่ 109 ก. ถนนหมื่นหาญ ตำบลท่าพี่เลี้ยง ตรงข้ามเทศบาลเมืองฯ ซึ่งเป็นบ้านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อดีตเสนาบดีสามแผ่นดิน และอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ลักษณะเป็นเรือนหมู่ สภาพปัจจุบันเหลือตัวเรือนเดิม เรือนนอน 2 หลัง หอกลาง 1 หลัง หอนั่งสร้างใหม่แทนของเดิม 1 หลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จบ้านนี้ 2 ครั้ง และได้พระราชทานชื่อบ้านหลังนี้ ต่อมาจังหวัดฯ ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์บ้านยะมะรัชโช โดยส่งเข้าประกวดโครงการดีเด่น ในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมือง และได้รับรางวัลพร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณ ปัจจุบันนี้บ้าน ยะมะรัชโชเป็นของกองทุนมูลนิธิพระยาสุนทรสงคราม (ปุย สุวรรณศร)
  วัดสุวรรณภูมิ (วัดกลางหรือวัดใหม่) เป็นวัดสมัยอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ที่ถนนพระพันวษา ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี มีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ เช่น ถ้วยชาม แจกัน พระพุทธรูป นาฬิกา อาวุธต่างๆ น่าชมมาก โดยเฉพาะบาตรสังคโลก ซึ่งมีชิ้นเดียวในประเทศไทย
วัดประตูสาร อยู่ที่ถนนขุนช้าง ตำบลรั้วใหญ่ ภายในเขตเทศบาลเมืองฯ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง และสถาปนาขึ้นเป็นวัด ไม่มีหลักฐานเก่าระบุไว้แต่คงจะสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2379 ซึ่งเป็นปีที่สุนทรภู่มาสุพรรณบุรี ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างหลวง เชื่อกันว่า เป็นคนเดียวกับที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดหน่อพุทธางกูร เขียนราว พ.ศ. 2391 นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมที่เขียนบนพื้นไม้เป็นแผ่นๆ เรื่องราวพุทธประวัติและมหาชาติ ลักษณะของภาพเหมือนจะลอกแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ เก็บรักษาอยู่ในวิหาร
วัดพระรูป ตั้งอยู่ที่ถนนขุนช้าง ริมฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ตรงข้ามตลาดสุพรรณบุรี วัดนี้เป็นวัดที่เก่าแก่มีอายุอยู่ในสมัยอู่ทองตอนปลาย ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ชาวบ้านเรียกว่า เณรแก้ว ก่ออิฐถือปูน ยาว 13 เมตร สูง 3 เมตร พระพักตร์กลมยาวคล้ายผลมะตูม ผินพระพักตร์ส่ทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าสร้างในราว พ.ศ. 1800 -1893 และถือว่าเป็นพระนอนที่มีพระพักตร์งามมากที่สุดในประเทศไทย อีกสิ่งหนึ่งที่น่าชม ได้แก่ พระพุทธบาทไม้ เป็นโบราณวัตถุที่หาค่าไม่ได้ ศิลปการแกะสลักงดงามมาก มีขนาดยาว 221.5 เซนติเมตร กว้าง 74 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร ทำจากไม้ประดู่แกะสลักทั้ง 2 ด้าน มีเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย เดิมพระพุทธบาทไม้อยู่ที่วัดเขาดิน เมื่อตอนเกิดศึกไทย-พม่า พระภิกษุรูปหนึ่งเกรงจะถูกทำลาย จึงนำล่องลงมาทางน้ำแล้วเอาขึ้นที่วัดพระรูป นอกจากนี้ยังมี เจดีย์อู่ทองและซากเจดีย์สมัยทวารวดี ระฆังสัมฤทธิ์และธรรมาสน์สังเค็ต ฝีมือช่างอยุธยาตอนปลายและยังเป็นกรุ “ พระขุนแผน ” อันมีชื่อเสียงอีกด้วย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ถนนสมภารคง แยกจากถนนมาลัยแมนไปประมาณ 300 เมตร ในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง มีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ปรางค์องค์ประธานเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ แต่ได้ถูกชาวบ้านลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก พระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน “เบญจภาคี” ก็ได้ไปจากกรุในองค์พระปรางค์นี้ นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้างในสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะหลักฐานการก่อสร้างเป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา
วัดแค เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” อยู่ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ไปทางเหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดนี้มีต้นมะขามใหญ่วัดโคนต้นโดยรอบได้ประมาณ 10 เมตร เชื่อกันว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามจากต้นมะขามต้นนี้ให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากท่านอาจารย์คงไว้โจมตีข้าศึก นอกจากนี้ทางจังหวัดได้สร้างเรือนไทยทรงโบราณเรียกว่า “คุ้มขุนแผน” ไว้ใกล้กับต้นมะขามยักษ์นี้อีกด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จประพาสวัดแคเมื่อ พ.ศ. 2447 วัดนี้มีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ ได้แก่ พระพุทธบาทสี่รอย ทำด้วยทองเหลืองกว้าง 1.40 เมตร ยาว 2.80 เมตร สร้างซ้อนกันไว้ในรอยใหญ่ นอกจากนี้ก็มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบศิลปะรัตนโกสินทร์ จีวรและอังสะเป็นดอกพิกุลงดงามมาก ประดิษฐานอยู่ในวิหารหน้าพระประธาน สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ก็มีเช่น ระฆังทองเหลือง หม้อต้ม กรักทองเหลือง ตู้ใส่หนังสือที่พระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายเมื่อปี 2412
วัดหน่อพุทธางกูร เดิมชื่อ วัดมะขามหน่อ ตำบลพิหารแดง อยู่เลยวัดแคไปทางเหนืออีก 2 กิโลเมตร อยู่ฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ สร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงาม เขียนราว พ.ศ. 2391 สมัยรัชกาลที่ 3
อุทยานมัจฉา วัดพระนอน ตำบลพิหารแดง อยู่เลยวัดหน่อพุทธางกูรไปเล็กน้อย วัดพระนอนนี้อยู่ติดกับแม่น้ำท่าจีน บริเวณริมน้ำหน้าวัดมีปลานานาชนิด และชุกชุม มีทั้งปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด ปลาตะโกก จำนวนนับแสนตัว แรกทีเดียวพระภิกษุสามเณรในวัดนำเศษอาหารมาโปรยให้เป็นทาน และทางวัดประกาศเป็นเขตอภัยทาน ต่อมาทางวัดได้จัดอาหารปลาจำหน่าย ปลูกไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ บริเวณจึงร่มรื่นสวยงาม และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจที่ขึ้นหน้าขึ้นตาแห่งหนึ่งของจังหวัด นอกจากนี้ ในวัดยังมี พระนอน เป็นพระพุทธรูป ในลักษณะนอนหงายสร้างเท่าคนโบราณ มีลักษณะเหมือนกับพระนอนที่เมืองกุสินารา สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ในประเทศอินเดีย
อุทยานมัจฉา วัดพระลอย อยู่ที่ริมแม่น้ำท่าจีน ในตำบลรั้วใหญ่ ห่างจากจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดมีอุโบสถจตุรมุขใหญ่ สูงเด่น สง่างาม มี พระพุทธนวราชมงคล สวยงามมาก และมีพระพุทธรูปเนื้อหินทรายปางต่างๆ เก่าแก่มาก บริเวณหน้าวัดเป็นที่สงวนพันธุ์สัตว์น้ำ มีฝูงปลาหลายชนิดเป็นจำนวนมาก อาศัยความร่มเย็นของวัดพระลอย ซึ่งทางวัดได้จัดอาหารจำหน่ายนำรายได้เข้าวัดอีกด้วย ถือเป็นอุทยานมัจฉาอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี
วัดสนามไชย ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลสนามชัย ห่างจากจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีฝั่งตะวันออก วัดสนามไชยเป็นวัดร้าง เหลือเพียงแต่ซากเจดีย์ด้านเหนือซีกเดียว ภายในเจดีย์กลวงไม่ปรากฏว่าพบสิ่งใดที่เป็นหลักฐานระบุว่าสร้างในสมัยใด แต่จากพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแต ทรงให้มอญน้อยสร้างวัดสนามไชยขึ้นพร้อมๆ กับบูรณะวัดป่าเลไลยก์ก่อน พ.ศ. 1746 นักโบราณคดีได้ให้ข้อสันนิษฐานและคำอธิบายว่า เจดีย์วัดสนามไชย เป็นเจดีย์ทรง 16 เหลี่ยม กว้างด้านละ 48 เมตร ยาวด้านละ 62 เมตร สันนิษฐานจากศิลปะการก่อสร้างว่ามีการสร้างและปฏิสังขรณ์ถึง 3 ครั้ง คือ ในสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ สมัยอโยธยา และสมัยอยุธยา นอกจากนี้ จากการสำรวจของกรมศิลปากรที่ขุดค้นซากเจดีย์ซีกตะวันออกพบอัฐิ และเถ้าถ่านเป็นจำนวนมาก และยังไม่อาจลงความเห็นได้ว่าเป็นอัฐิธาตุของใคร นักโบราณคดีได้สรุปผลไว้ 3 ประการ คือ 1.เป็นอัฐิธาตุของประชาชนที่เป็นโรคห่าตายพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมากในสมัย อู่ทองสุพรรณภูมิ 2. เป็นอัฐิธาตุของเชื้อพระวงศ์ที่นำมาบรรจุรวมกันไว้ 3. เป็นอัฐิธาตุของทหารที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับขอมหรือพม่า
วัดพระอินทร์และแหล่งขุดพบภาชนะดินเผา วัดพระอินทร์เป็นวัดเก่าแก่อยู่ในตัวเมือง ภายในวัดมีซากเจดีย์ปรักหักพัง ปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการดูแล ลักษณะเจดีย์เป็นฐานแปดเหลี่ยม มีซุ้มไว้พระพุทธรูปประกอบด้วย ภายปูนปั้น และภาพนูนต่ำ ที่ขอบซุ้มมีลายใบไม้ม้วนเรียงกันไปทางทิศเหนือเป็นแนวเดียวกัน ซุ้มด้านตะวันตกมีพระพุทธรูปยืนปางปฐมเทศนา ที่ปลายของซุ้มทั้งสองข้างทำลวดลายเป็นรูปพญานาคชูคอขึ้น ที่หัวมีรัศมีแผ่คล้ายพัดใกล้ฐานพระเจดีย์มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีลักษณะครึ่งองค์ตั้งอยู่บนพื้นดิน นอกจากนี้รอบๆ องค์เจดีย์ยังมีเศษภาชนะดินเผาและชิ้นส่วนของเครื่องสังคโลกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ปลายปี พ.ศ. 2528 ได้ค้นพบแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชามบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำสุพรรณบุรี บริเวณบ้านค่ายเก่ากับโพธิ์พระยาในเขตตำบลพิหารแดง สนามชัย และรั้วใหญ่ ได้พบเศษภาชนะต่างๆ เช่นเครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยจีน ภาชนะดินเผาเนื้อดินและเนื้อหิน จำนวนหมื่นๆ ชิ้น ต้นปี พ.ศ. 2529 ได้ขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเตาบ้านสุมน แหล่งเตาบ้านปูน ตำบลพิหารแดง พบเตาเผาถึง 10 เตา มีความยาว 5 เมตร กว้าง 2 เมตร ซึ่งใช้ผลิตภาชนะเนื้อหิน เช่น ชาม จาน อ่าง แจกัน หม้อ ซึ่งมีลวดลายแปลกแตกต่างกันเช่น ลายเทวดา ลายเทพพนม รูปทรงเรขาคณิต ลายดอกไม้ ฯลฯ
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ห่างจากฝั่งแม่น้ำไปตามถนนมาลัยแมน เดิมศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นศาลไม้ทรงไทยมีเทวรูปพระอิศวร และพระนารายณ์ สลักด้วยหินสีเขียว 2 องค์ สวมหมวกเติ๊ก (หมวกทรงกระบอก) ปัจจุบันได้สร้างศาลเป็นรูปวิหารและเก๋งจีน ก่อปูนติดกับองค์พระอิศวร และพระนารายณ์ไว้ทั้งสองด้าน ที่ศาลแห่งนี้ทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 จีนของทุกปี จะมีประเพณี “ทิ้งกระจาด” (หรือพิธีทิ้งทาน) ซึ่งเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ถือเป็นการจำเริญเมตตาแก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเอาสิ่งของต่างๆ ที่ผู้ตายใช้สอยและของที่จำเป็นอื่นๆ แจกแก่ผู้ยากจน
กำแพงเมืองเก่าและประตูเมือง เมืองสุพรรณบุรีเก่าตั้งอยู่ในตำบลรั้วใหญ่ (บ้านขุน-ช้าง) ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ขณะนี้ยังเหลือแนวกำแพงดินและคูเมืองให้เห็นชัดระหว่างทางไปวัดป่าเลไลยก์กับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองนี้ กำแพงทำแข็งแรงเป็นพิเศษสองชั้น มีคูน้ำกั้นอยู่ชั้นนอก มีเนินดินและกำแพงอยู่ชั้นในยาวถึง 3,500 เมตร ส่วนด้านกว้างกำแพงยาว 1,000 เมตร จดแม่น้ำ แต่ไม่พบตัวกำแพงด้านตะวันออก เพราะถูกรื้อเสียในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ในพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าว่า “เมืองสุพรรณบุรีมีกำแพงเป็นสองฟากเหมือนเมืองพิษณุโลกยื่นขึ้นไปจากฝั่งแม่น้ำราว 25 เส้น ดูกว้างประมาณ 6 วา นอกเชิงเทิน” ส่วนประตูเมืองตั้งอยู่ที่ถนนมาลัยแมน บนแนวกำแพงเมืองเก่า ประตูเมืองที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ตามแบบของกรมศิลปากร ตรงสถานที่ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของประตูเมืองเดิม
วัดป่าเลไลยก์ ตั้งอยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร หน้าบันของพระวิหารวัดป่าเลไลยก์มีเครื่องหมายพระหมามกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่ บอกให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เคยเสด็จธุดงค์มาพบสมัยยังทรงผนวชอยู่ เมื่อได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วได้ทรงมาปฏิสังขรณ์ วัดป่าเลไลยก์อยู่ริมถนนมาลัยแมนสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยที่เมืองสุพรรณบุรีรุ่งเรืองในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้ากาแต ทรงให้มอญน้อยมาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ภายหลัง พ.ศ. 1724 เล็กน้อย ที่วัดป่าเลไลยก์มี “หลวงพ่อโต” ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารที่สูงเด่นเห็นได้แต่ไกล เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ (คือประทับนั่งห้อยพระบาท) พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุอีกข้างหนึ่งในท่าทรงรับของถวาย องค์พระ สูง 23.48 เมตร มีนักปราชญ์หลายท่านว่า เดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้งอย่างพระพนัญเชิงในสมัยแรกและมักจะพบว่าพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างในสมัยก่อนอยุธยาและอยุธยาตอนต้น ส่วนมากชอบสร้างไว้กลางแจ้งเพราะสามารถมองเห็นได้แต่ไกล ภายในองค์พระพุทธรูปนี้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 36 องค์ ที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียงมาก มีงานเทศกาลประจำปีสมโภชและนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ ปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น 5-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12 นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัด ยังมี “คุ้มขุนช้าง” ซึ่งเป็นเรือนไทยหลังใหญ่ สร้างตามบทพรรณนาเรือนของขุนช้างในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน
สระศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในเขตตำบลสระแก้ว ริมถนนสายดอนเจดีย์-สุพรรณบุรี ห่างจากตัวเมือง 13 กิโลเมตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาทอดพระเนตร สระศักดิ์สิทธิ์ที่ตำบลนี้ จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านท่าเสด็จ สระศักดิ์สิทธิ์เดิมพบเพียง 4 สระ คือ สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ (ต่อมาพบอีก 2 สระ คือ สระอมฤต 1 สระอมฤต 2) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “…แต่เหตุไฉนที่สระนี้ขลังนักไม่ปรากฏ คงจะมีตัวครูบาที่สำคัญเป็นอันมาก น้ำในสระก็ไม่ใช้ ปลาในสระก็ไม่กิน สระมีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด มีจระเข้อาศัยอยู่ทั้งสี่สระ…น้ำสระคา สระยมนา ไม่สู้สะอาด มีสีแดง แต่น้ำสระเกษ สระแก้วใสสะอาด…” น้ำในสระทั้งหมดนี้ใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และพระราชพิธีสระน้ำมูรธาภิเษกตามลัทธิพราหมณ์ ปัจจุบันนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนจัดตั้งสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นโบราณสถานไว้เรียบร้อยแล้ว
สวนนกท่าเสด็จ (หน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ) ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเสด็จ ตำบลสระแก้ว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร ตามทางสายสุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์ (ทางหลวงหมาย-เลข 322) จากตัวเมืองเดินทางไปยังสี่แยกแขวงการทาง แล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานสูงไปจนถึงสามแยก ตรงไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปอีก 2 กิโลเมตร สวนนกแห่งนี้ ตั้งอยู่ในที่ดินของนางสาวนก พันธุ์เผือก และนายจอม-นางถนอม มาลัย ซึ่งมีนกอาศัยทำรังอยู่เป็นจำนวนนับหมื่นตัว เช่น นกปางห่าง นกยาง นกกาน้ำ นกกาบบัว นกกระสา นกแขวก และนกช้อนหอย เป็นต้น ในเวลากลางวันจะมีนกให้ชมอยู่บ้าง ส่วนในตอนเย็นจะมีนกบินกลับรังจนดูมืดฟ้ามัวดิน นกเหล่านี้ได้มาอาศัยอยู่ในสวนนี้นับ 10 ปีแล้ว ขณะนี้กรมป่าไม้ได้จัดเจ้าหน้าที่มาประจำสวนนกแห่งนี้ และจัดตั้งเป็นหน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ ช่วงที่มีนกมาก คือ ในช่วงเดือนตุลาคม

ศูนย์ฝึกอบรมช่างสิบหมู่ สุพรรณบุรี ดำเนินงานโดยกรมศิลปากร ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดสุพรรณบุรี ติดกับสนามกีฬาจังหวัด ถนนมาลัยแมน มีนโยบายในการฝึกอบรมงานช่างสิบหมู่ ในสาขาวิชาดังนี้ หมู่ช่างเขียน หมู่ช่างรัก หมู่ช่างแกะ หมู่ช่างสลัก หมู่ช่างปั้น หมู่ช่างหล่อ หมู่ช่างหุ่น หมู่ช่างบุ หมู่ช่างปูน และหมู่ช่างกลึง
ศูนย์หัตถกรรมภาคตะวันตก ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนกำยาน ริมถนนมาลัยแมน ห่างจากตัวเมืองไปทางอำเภออู่ทอง ประมาณ 8 กิโลเมตร ศูนย์นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมในครอบครัว และหัตถกรรมในเขตพื้นที่ 14 จังหวัดภาคตะวันตก มีอาคารแสดงนิทรรศการผลงานผลิตภัณฑ์หัตถกรรมดีเด่น สวยงามประเภทต่าง ๆ รวมทั้งจัดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปในราคาย่อมเยา
วัดมหาธาตุ หรือวัดพระธาตุศาลาขาว อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามถนนมาลัยแมน (ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ) ไป 15 กิโลเมตร วัดมหาธาตุตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดสวนแตง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดพระธาตุนอก เพราะลักษณะพระปรางค์คล้ายกับพระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุแต่ขนาดย่อมกว่า มีความสูงประมาณ 20-25 เมตร เป็นพระปรางค์เดี่ยว ไม่มีพระปรางค์องค์เล็กคู่เดียวประกอบ ทั้งด้านหน้าด้านหลัง มีบันไดและซุ้มประตู ยอดพระปรางค์มนกว่ายอดพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งมียอดแหลม แผ่นอิฐมีขนาดเล็ก และสอด้วยปูนหวาน เนื้อหยาบ จากหลักฐาน พ.ศ. 1967-2031 (ในรัชสมัยพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) หรือพระบรมไตรโลก นาถ)
วัดพร้าว อยู่ที่ตำบลโพธิ์พระยา ติดกับประตูน้ำโพธิ์พระยา ห่างจากจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ภายในวัดมีวิหารเลียนแบบสถาปัตยกรรมพม่า เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง นอกจากนั้น ยังมีหอไตรกลางน้ำ ตู้พระธรรม ในวัดยังมีดงยางเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวแม่ไก่ จำนวนนับพันตัว

สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอบางปลาม้า

อุทยานมัจฉา วัดป่าพฤกษ์ อยู่ที่ ตำบลบ้านแหลม ห่างจากจังหวัดประมาณ 17 กิโลเมตร บริเวณหน้าวัดมีฝูงปลาโดยเฉพาะปลายสวาย ปลานิล เป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถยืนชมและให้อาหารปลาได้อย่างใกล้ชิด บริเวณริมแม่น้ำซึ่งทางวัดก่อสร้างเป็นเขื่อนทางเท้าริมน้ำ ยาวประมาณ 100 เมตร เป็นอุทยานมัจฉาอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด
วัดบางเลน อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 24 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดมีค้างคาวแม่ไก่อยู่เป็นจำนวนมาก อาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้

สถานที่ท่องเที่ยว อำเภออู่ทอง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง อยู่ถนนมาลัยแมน ติดกับที่ว่าการอำเภอ เป็นสถานที่รวบรวมศิลปะวัตถุในสมัยต่างๆ ที่ขุดค้นพบแสดงถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคสมัยต่างๆ ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบสุพรรณบุรี เครื่องมือเครื่องใช้สมัยหินใหม่ถึงสมัยสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมวัฒนธรรมลาวโซ่งซึ่งเดิมเป็นชนกลุ่มน้อย ปัจจุบันได้ผสมกลมกลืนไปกับชาวพื้นเมืองแล้ว แต่ก็ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง ลักษณะที่สำคัญได้แก่ ประเพณี ความเชื่อ การทำมาหากิน การแต่งกาย โดยภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ได้จัดสร้างบ้านลาวโซ่งขึ้น ภายในบ้านมีเครื่องมือ เครื่องใช้ประจำวันอยู่ครบควัน พิพิธภัณฑ์เปิดบริการให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าฃมชาวไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 10 บาท
วันเขาพระศรีสรรเพชญารามเดิมชื่อ วัดเขาพระ ตั้งอยู่ที่ตำบลอู่ทองบนถนนมาลัยแมนในเขตตัวอำเภออู่ทอง อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยทวารวดี เพราะมีโบราณวัตถุหลายอย่าง เช่น พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางต่างๆ ซึ่งสลักด้วยเนื้อหินมีเทวรูปจักรนารายณ์เนื้อหิน เจดีย์ สมัยอยุธยาบนยอดเขา 1 องค์ และยังมีรอยพระบาทจำลองแกะสลักด้วยหินเขียวธรรมชาติ ประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขาอีกด้วย มีงานประจำปีนมัสการพระพุทธไสยาสน์ ปีละ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 12 กับวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 5
วนอุทยานพุม่วง อยู่ที่หมู่ 5 ตำบลจระเข้สามพัน ห่างจากจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร ทางเข้าห่างจากทางแยกอู่ทอง-บ่อพลอย 2 กิโลเมตร เป็นบริเวณป่าสงวนของกรมป่าไม้ ตรงที่ราบเชิงเขามีคอกช้างสมัยทวารวดี จำนวน 3 คอก เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ถัดไปเป็นเขาถ้ำเสือ มีกรุพระเครื่องถ้ำเสืออันลือชื่อ มีน้ำตกพุม่วงที่กล่าวอ้างอิงถึงในสภาขุนช้างขุนแผน มีถนนเลียบไหล่เขาขึ้นไปวัดถ้ำเสือด้านหนึ่ง และขึ้นไปยังที่ทำการวนอุทยานอีกด้านหนึ่งเส้นทางนี้ต่อไปยังเขาตะโกปิดทองและเขาเพชรน้อย ซึ่งต่อกันเป็นเทือกไปถึงเขาพระ ธรรมชาติบนเขาเทือกนี้ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด อาทิ จันทน์กะพ้อ ปรงเผือก นอกจากนั้น ยังมีสวนหินที่สวยงามอีกด้วย วนอุทยานแห่งนี้ มีเนื้อที่ 1,725 ไร่ เป็นป่าใกล้เมืองที่หาได้ยากแห่งหนึ่ง
รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลดอนคา เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินสีเขียว มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบตามที่อื่นๆ คือเป็นรอยพระพุทธบาทนูน ขนาดกว้างประมาณ 65.5 เซนติเมตร ยาว 141.5 เซนติเมตร นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าเป็นศิลปะสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 นอกจากนี้ยังพบโพรงหินภายในมีพระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่างๆ อีกหลายชนิด

สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอสองพี่น้อง

วัดไผ่โรงวัว ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางตาเถร ห่างจากตัวจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณ 43 กิโลเมตร หรือจากกรุงเทพฯ ประมาณ 70 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี มีทางแยกซ้ายก่อนถึงสามแยกลาดบัวหลวงเข้าสู่วัดไผ่โรงวัว วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 เป็นวัดที่มีพุทธ-ศาสนิกชนและบุคคลทั่วไปนิยมไปเที่ยวชมกันมากเพราะท่านพระครูอุทัยภาคาะร (หลวงพ่อขอม) ได้ดำเนินการก่อสร้าง “พระพุทธโคดม” เป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับพุทธศาสนา ได้แก่ “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” คือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน กับงานประติมากรรมหรือภาพปั้นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัตินรกภูมิ รวมทั้งวรรณคดีและประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี “พระธรรมจักร” หล่อด้วยทองสำริดใหญ่ที่สุดในโลก “พระกะกุสันโธ” พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก “ฆ้องและบาตร” ใหญ่ที่สุดในโลก “พระวิหารร้อยยอด” รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ อีกมากมาย
หนองอ้อนกกะโท อยู่ที่ตำบลศรีสำราญ ห่างจากจังหวัดประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ในที่ดินสาธารณะ มีเนื้อที่ 200 ไร่ มีเกาะเป็นรูปแผนที่ประเทศไทยกลางหนองน้ำ บริเวณบนเกาะมีศาลาเอนกประสงค์ใช้เป็นสถานที่ประชุม และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในวันหยุดและตอนเย็นของทุกวัน

สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอศรีประจันต์

อุทยานมัจฉา วัดบ้านกร่าง อยู่บนฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรีคนละฟากกับที่ว่าการอำเภอ ห่างจากจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร มีพระเครื่องเก่าสร้างไว้แต่โบราณ คือ พระขุนแผนบ้านกร่าง ด้านใต้ของวัดมีเจดีย์องค์หนึ่งอายุประมาณ 100 ปี บริเวณหน้าวัดมีปลาจำนวนมากและทางวัดได้จัดอาหารจำหน่ายนำรายได้เพื่อไปเลี้ยงปลาดังกล่าวด้วย ถือเป็นอุทยานมัจฉาแห่งหนึ่งของจังหวัด
บึงหนองจอก อยู่ที่ตำบลวังหว้า ห่างจากจังหวัดประมาณ 27 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 78 ไร่ นอกจากเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาด้วย

สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอดอนเจดีย์

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 31 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 322 ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก และ องค์เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่า เมื่อ ปี พ.ศ. 2134 และในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิม พระ-บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จทรงประกอบพิธีบวงสรวง และเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2502 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ และถือเป็นวันกองทัพไทยด้วย พร้อมกันนั้นทางจังหวัดได้จัดให้มีงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์เฉลิมฉลองด้วย
หนองสาหร่าย อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นหนองน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สงครามยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่า สมเด็จพระนเรศวรทรงเลือกบริเวณหนองสาหร่ายเป็นที่ตั้งทัพ เพื่ออาศัยเป็นแหล่งน้ำประกอบกับเป็นชัยภูมิที่ตั้งสูงห่างข้าศึก ปัจจุบันสภาพหนองได้ตื้นเขิน และมีเนื้อที่เหลือที่เป็นหนองน้ำ 25 ไร่ มีศาลากลางหนองน้ำ บริเวณโดยรอบมีต้นไม้ร่มรื่น และมีรั้วล้อมรอบตลอด เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอสามชุก

บึงระหาร อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 38 กิโลเมตร เป็นบึงขนาดใหญ่มีเนื้อที่ 252 ไร่ มีถนนวนรอบบึง มีร้านอาหารและศาลาสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเดิมบางนางบวช

วัดเขาขึ้น หรือวัดเขานางบวช (วัดพระอาจารย์ธรรมโชติ) ห่างจากจังหวัดประมาณ 51 กิโลเมตร บริเวณวัดตั้งอยู่บนเขานางบวช มีทางราดยางขึ้นไปจนถึงยอดเขา หรือจะเดินขึ้นบันได 249 ชั้น จนถึงยอดเขาก็ได้ เป็นวัดของพระอาจารย์ธรรมโชติ ผู้ทรงคุณวุฒิเครื่องรางของขลังสมัยศึกบางระจัน ชาวบ้านบางระจันนิมนต์ไปเป็นกำลังใจในการสู้รบกับพม่า มีรอยพระพุทธบาทอยู่ในวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ มีเจดีย์หินแผ่น รูปปั้นอาจารย์ธรรมโชติ เมื่อยืนอยู่บนเขาสามารถชมทิวทัศน์อันสวยงามของอำเภอเดิมบางนางบวชได้อย่างทั่วถึง
วัดหัวเขา อยู่ห่างจากจังหวัด 60 กิโลเมตร วัดนี้มีประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นพิธีทำบุญของชาวไทยในเทศกาลออกพรรษา เริ่มงานหลังจากวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 2 ค่ำ เดือน 11 เนื่องจากมีสถานที่อำนวยและสวยงามมาก มีบันไดขึ้นลงเขาทำด้วยคอนกรีต จำนวนรวม 212 ขั้น ทุกๆ ปีมี คนมาร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก
วัดเดิมบาง ห่างจากจังหวัดประมาณ 55 กิโลเมตร ภายในวัดมีมณฑป ศาลา หอระฆัง ที่ก่อสร้างได้วิจิตร ประณีตมาก และธรรมาสน์ที่สร้างโดยช่างชาวจีน และเป็นศิลปะไทยปนจีน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 แล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2466 นอกจากนั้น ยังมีหอสวดมนต์ที่เก็บของมีค่าของวัด 3 ชิ้น ได้แก่ ฝากบาตรมุก ตาลบัตร ปิ่นโต ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานแก่วัด ทางวัดได้เก็บรวบรวมไว้และยังอยู่ในสภาพดี
บึงฉวาก (บึงบัวแดง) อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 64 กิโลเมตร เขตติดต่อกับ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เป็นบึงขนาดใหญ่มาก มีเนื้อที่ประมาณ 2,700 กว่าไร่ อยู่ในเขต อำเภอเดิมบางนางบวช 1,700 ไร่ ในบริเวณบึงเต็มไปด้วยบัวแดง ช่วงตอนเช้าจะบานสวยงาม และมีนกเป็ดน้ำอาศัยอยู่จำนวนมาก มีศาลาสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอด่านช้าง

เขื่อนกระเสียว อยู่ที่ตำบลด่านช้าง เป็นเขื่อนกักเก็บน้ำสร้างกั้นลำห้วยกระเสียว เป็นเขื่อนดินขาว 4,250 เมตร สูง 32.5 เมตร พื้นที่กักเก็บน้ำที่ระดับน้ำสูงสุด 28,750 ไร่ ปริมาณน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 240 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเขื่อนดินที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศ ไทย และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงาม
ถ้ำเวฬุวัน ตั้งอยู่ในบริเวณวัดวังคัน ห่างจากอำเภอประมาณ 14 กิโลเมตร มีบันไดคอนกรีตขึ้นถึงบริเวณปากถ้ำ จำนวน 61 ขั้น สภาพภายในถ้ำมีไฟนีออนสว่างพอให้นักท่องเที่ยวเห็นสภาพภายในถ้ำ ซึ่งมีหินงอกและหินย้อยสวยงาม และมีพระพุทธรูปจำลองปางป่าเลไลยก์ให้นัก-ท่องเที่ยวได้สักการะบูชา นอกจากนั้นในบริเวณวัดซึ่งมีพื้นที่ 30 ไร่ ทางอำเภอได้จัดทำเป็นสวนไผ่เทิดพระเกียรติ มีพันธุ์ไผ่ต่างๆ ปลูกไว้ประมาณ 10 ชนิด




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่สุพรรณบุรี