แผนที่อุทัยธานี

  • แผนที่อุทัยธานี
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว


อุทัยธานี ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ประมาณ 6,730 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและและภูเขาสูง สภาพป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางธรรมชาติ จนทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เป็นผืนป่าที่ควรค่าแก่การดูแลรักษาและนำความภาคภูมิใจมาสู่คนไทยทุกคน

เมืองอุทัยธานีมีหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรยืนยันไว้ว่า เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 ปี มาแล้ว โดยพบหลักฐานยืนยันในหลายพื้นที่ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือหินกะเทาะจากหินกรวด ภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผา (เขาปลาร้า) เป็นต้น

ตำนานเก่าเล่าว่า ในสมัยกรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองนั้น ท้าวมหาพรหมได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า คือ อำเภอหนองฉางในปัจจุบันนี้ แล้วพาคนไทยเข้ามาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านคนมอญและคนกะเหรี่ยง จึงเรียกว่า "เมืองอู่ไทย" ตามกลุ่มหรือที่อยู่ของคนไทยซึ่งพากันตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่น มีพืชพันธุ์และอาหารอุดมสมบูรณ์กว่าแห่งอื่น ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินและเกิดกันดารน้ำ เมืองอู่ไทยจึงถูกทิ้งร้าง จนในที่สุด พะตะเบิดได้เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทย โดยขุดที่เก็บกักน้ำไว้ใกล้เมือง และพะตะเบิดได้เป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเป็นคนแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา

เมืองอู่ไทยต่อมาได้เรียกกันเป็น "เมืองอุไทย" คาดว่าเพี้ยนไปตามสำเนียงชาวพื้นเมืองเดิม ได้มีฐานะเป็นหัวเมืองด่านชั้นนอก มีพระพลสงครามเป็นนายด่านแม่กลอง และพระอินทรเดชเป็นนายด่านหนองหลวง (ปัจจุบันแม่กลองคืออำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และหนองหลวงคือตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง) คอยดูแลพม่าที่จะยกทัพมาตามเส้นทางชายแดนด่านแม่ละเมา

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2163) ได้โปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติอำนาจการใช้ตราประจำตำแหน่ง มีบัญชาการตามหัวเมืองนั้น ได้ระบุในกฎหมายเก่าลักษณะพระธรรมนูญว่า "เมืองอุไทยธานี เป็นหัวเมืองขึ้นแก่มหาดไทย"

เมืองอุไทยธานีเป็นเมืองที่อยู่บนที่ดอนและลึกเข้าไป ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่และไม่สามารถติดต่อทางเรือได้ ดังนั้นชาวเมืองจึงต้องขนข้าวบรรทุกเกวียนมาลงที่แม่น้ำ จึงทำให้พ่อค้าพากันไปตั้งยุ้งฉางรับซื้อข้าวที่ริมแม่น้ำจนเป็นหมู่บ้านใหญ่ เรียกว่าหมู่บ้าน "สะแกกรัง" เนื่องจากเป็นพื้นที่มีป่าสะแกขึ้นเต็มริมน้ำและมีต้นสะแกใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน บ้านสะแกกรัง ชาวจีนเรียกเพี้ยนเป็น "ซิเกี๋ยกั้ง" เป็นตลาดซื้อข้าวที่มีพ่อค้าคนจีนนิยมไปตั้งบ้านเรือนและยุ้งฉาง ต่อมาในระยะหลังได้มีเจ้านายและขุนนางมาตั้งบ้านเรือนอยู่ เพราะความสะดวกในการกะเกณฑ์สิ่งของส่งเมืองหลวงซึ่งเป็นจำพวกมูลค้างคาว ไม้ซุง กระวาน และช้างป่า อีกทั้งยังมีช่องทางในการค้าข้าวอีกด้วย

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) นั้น จมื่นมหาสนิท (ทองคำ) ซึ่งย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรังนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชนกูล และต่อมาได้กำเนิดบุตรชายคนโตชื่อ "ทองดี " เกิดที่สะแกกรัง สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกฯ พระนามเดิม ทองดี เดิมทรงรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเจ้าบรมโกศ) ได้ดำรงตำแหน่งพระอักษรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระเจ้าเอกทัศ) พม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เกิดการระส่ำระสายแตกสามัคคีในพระนคร จึงทรงอพยพครอบครัวไปรับราชการกับเจ้าเมืองพิษณุโลก ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ ต่อมาทรงพระประชวร สิ้นพระชนม์ในเมืองพิษณุโลก บุตรชายชื่อ "ทองด้วง" ภายหลังได้รับราชการเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และสถาปนาเป็นกษัตริย์ราชวงศ์จักรีปกครองแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่งประดิษฐาน ณ หอพระในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายบังคมในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาในฐานะสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรี พระอัฐิอีกส่วนหนึ่ง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อัญเชิญเข้าประดิษฐานในพระเจดีย์ทองในพระมณฑปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ มีประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งเครื่องทองน้อย เพื่อสักการบูชาทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนิน

พ.ศ. 2376 ข้าราชการชาวกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาอุไทยธานี เจ้าเมืองอุไทยธานีในสมัยนั้น ได้เห็นว่าบ้านสะแกกรังเป็นตลาดใหญ่ มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่กันอย่างหนาแน่น อีกทั้งเป็นสถานที่ที่ชาวอุไทยธานีติดต่อค้าขายข้าวและไม้ซุงกับพ่อค้าที่นั่นมานานแล้ว จึงคิดตั้งบ้านเรือนเพื่อค้าขาย ประจวบกับเวลานั้น เจ้าเมืองไชยนาทเป็นเพื่อนกัน จึงขอตั้งบ้านเรือนที่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เนื่องจากผู้คนมาติดต่อราชการและมาค้าขายกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากเจ้าเมืองไม่กล้าขึ้นไปเมืองอุไทยธานีเก่า อ้างว่ากลัวไข้ป่า จึงเป็นเหตุให้พากันอพยพมาอยู่กันมากขึ้น

พ.ศ. 2391 ได้มีการแบ่งเขตดินแดนเมืองอุไทยธานีและเมืองไชยนาท โดยตัดเขตบ้านสะแกกรังทางฝั่งคลองฟากใต้ ตั้งแต่ท้ายบ้านสะแกกรังไปจดเมืองอุไทยธานีเก่า โอนที่นั่นจากเมืองไชยนาทเป็นของเมืองอุไทยธานี ดังนั้นเมืองอุไทยธานี จึงตั้งอยู่ที่ปลายสุดเขตแดนเมืองมโนรมย์ ข้างใต้บ้านลงมาสักคุ้งน้ำหนึ่งก็เป็นแดนเมืองไชยนาท

พ.ศ. 2441 เมืองอุไทยธานีขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนไปขึ้นกับมณฑลอยุธยา สุดท้ายมีการประกาศเลิกมณฑลปี พ.ศ. 2476 และจัดให้จังหวัดเป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญที่สุด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

อุทัยธานีมีสถานที่น่าสนใจทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีหลายแห่งที่น่าเที่ยวชมและศึกษาหาความรู้ อีกทั้งมีสินค้าที่ระลึก เช่น หน่อไม้รวก ข้าวเกรียบปลา ผลไม้แช่อิ่ม ผ้าทอ เครื่องจักสาน ซึ่งสามารถติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝาก 
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ และอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอวัดสิงห์และอำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่ออำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โดยมี แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขตแดน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีจังหวัดอุทัยธานีแบ่งการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ คือ

อำเภอเมืองอุทัยธานี อำเภอลานสัก อำเภอหนองขาหย่าง อำเภอหนองฉาง อำเภอทัพทัน อำเภอบ้านไร่ อำเภอสว่างอารมณ์ และอำเภอห้วยคต

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอต่างๆ
 อำเภอทัพทัน 19 กิโลเมตร
อำเภอสว่างอารมย์ 33 กิโลเมตร
อำเภอหนองขาหย่าง 10 กิโลเมตร
อำเภอหนองฉาง 22 กิโลเมตร
อำเภอลานสัก 54 กิโลเมตร
อำเภอห้วยคต 45 กิโลเมตร
อำเภอบ้านไร่ 80 กิโลเมตร

ระยะทางจากตัวจังหวัดไปยังจังหวัดใกล้เคียง
 จังหวัดนครสวรรค์ 50 กิโลเมตร
จังหวัดชัยนาท 42 กิโลเมตร

 

Furthermore, visitors can see the different lifestyles of locals, such as the life of raft residents on Sakae Krang River, a waterway that aided the birth of the province and which has been a lifeline for its people since ancient times. It is also where provincial trading has flourished. Life revolving around the river eventually grew from a community into the major province that it is today.


The most striking indication of the bond between the people and the river since the old days is that in 1906, when King Rama V visited northern provinces and stayed in Sakae Krang village, the monk Phra Khru Uthai Tham Nithet (Chan) built 2 twin rafts to receive the king. This clearly showed the importance of the river and the lifestyle of the people living off it in that period.
In addition, at the end of the Buddhist Lent, Buddhists from all directions congregate in the province for a major merit-making tradition called Tak Bat Thewo at the foot of Khao Sakae Krang at Wat Sangkat Rattana Khiri. This festival has been held in Uthai Thani since ancient times.


Uthai Thani is located in the lower part of northern Thailand. Most of the province consists of forests and high mountains. It has a total area of 6,730 square kilometres. It is divided in to 8 Amphoe (districts), as follows: 

Boundary

North borders Amphoe Phayuha Khiri, Amphoe Krok Phra and Amphoe Lat Yao of Nakhon Sawan.
South borders Amphoe Wat Sing and Amphoe Han Kha of Chai Nat and Amphoe Doem Bang Nang Buat of Suphan Buri.
East borders Amphoe Phayuha Khiri of Nakhon Sawan and Amphoe Manorom of Chai Nat. The Chao Phraya River divides the provinces.
West borders Amphoe Um Phang of Tak and Amphoe Sangkhla Buri and Amphoe Si Sawat of Kanchanaburi.

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-อุทัยธานี

ทางรถยนต์
- จากถนนพหลโยธินผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาลงแพขนานยนต์ ที่อำเภอมโนรมย์ ผ่านวัดท่าซุง (วัดจันทาราม) ศาลากลางจังหวัด เข้าตลาดอุทัยธานี รวมระยะทางประมาณ 305 กิโลเมตร
- จากถนนสาย 32 ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เลี้ยวซ้ายตรงทางแยกท่าน้ำอ้อยบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206 ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตามถนนสาย 333 ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ผ่านหน้าโรงพยาบาลเลี้ยวซ้ายเข้าตลาดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ 222 กิโลเมตร
- จากถนนสาย 32 ผ่านจังหวัดอยุธยา เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานจังหวัดอ่างทอง มาตามถนนสายในผ่านจังหวัดสิงห์บุรี อำเภอสรรพยา เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอวัดสิงห์ ผ่านวัดท่าซุง ศาลากลางจังหวัด เข้าตลาดจังหวัดอุทัยธานี รวมเป็นระยะทางประมาณ 283 กิโลเมตร

ทางรถประจำทาง รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-อุทัยธานีทุกวัน จากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 ทั้งรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ ตั้งแต่เวลา 04.30-17.50 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 สถานีเดินรถ อุทัยธานี โทร. (056) 511-914, 512-859 นอกจากนี้จากจังหวัดอุทัยธานี สามารถเดินทางไปยังจังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี และนครปฐม

ทางรถไฟ ทางรถไฟ ต้องโดยสารรถไฟไปลงที่สถานีนครสวรรค์ แล้วต่อรถประจำทางมายัง อุทัยธานีอีกประมาณ 50 กิโลเมตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่หน่วยบริการเดินทาง โทร. 1690

  งานตักบาตรเทโว วัดสังกัสรัตนคีรี ถือเป็นประเพณีสำคัญในวันออกพรรษาของจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 (ตุลาคม) ของทุกปี พระสงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานี จะออกรับบิณฑบาต โดยเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรัง นำด้วยพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ลงมารับบิณฑบาตข้าวสารจากทุทธศาสนิกชนที่ลานวัด โดยสมมติมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังเป็น "สิริมหามายากูฎคาร" ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดมารดา แล้วเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ลงบันได 339 ขั้น ซึ่งถือเป็นบันไดแก้วสู่กัสนคร คือ บริเวณวัดสังกัสรัตนคีรี ในวันนั้นประชาชนจะแต่งตัวสวยงามและมาร่วมทำบุญกันอย่างพร้อมเพรียง เป็นงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด 

งานไหว้พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดสังกัสรัตนคีรี ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี โดยจะจัดขึ้นในวันขึ้น 3-8 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เป็นงานประเพณีไหว้พระคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี ซึ่งเดิมนั้นเป็นงานนมัสการปิดทองพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขาสะแกกรัง ในระยะหลังจึง จัดงานในคราวเดียวกันที่วัดนี้ในวันขึ้น 5 ค่ำ เนื่องจากเป็นวันที่พุทธศาสนิกชน ส่วนใหญ่มาไหว้ พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์และขึ้นยอดเขาเพื่อปิดทองพระพุทธบาทจำลองมากที่สุด และได้จัดให้มีการละเล่นสนุกสนานควบคู่กันไปทุกปี

านประจำปีวัดหนองขุนชาติ อำเภอหนองฉาง โดยจัดให้มีงานในวันขึ้น 12 ค่ำ - วันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ซึ่งเดิมเป็นงานนมัสการพระพุทธบาทจำลอง ต่อมาการจัดงานได้รับความนิยมมาก จึงได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี

การละเล่นพื้นเมืองที่บ้านท่าโพ อำเภอหนองขาหย่าง จัดขึ้นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ คือระหว่างวันที่ 13-14 เมษายน โดยชาวบ้านในหมู่บ้านท่าโพและหมู่บ้านพันสี จะมาร่วมกันจัดงานละเล่นพื้นเมืองขึ้นที่วัดท่าโพ โดยจะเก็บดอกไม้แห่เข้าโบสถ์แล้วร้องเพลงพิษฐานในโบสถ์ เสร็จ แล้วจะออกมาเล่นเพลงชักกะเย่อ เพลงโลม เพลงรำวงโบราณอย่างสนุกสนาน และผลัดกันเล่นมอญซ่อนผ้า เจี๊ยบๆ จ้อย ช่วงชัย เสือกินวัว และแม่ศรี ตามแต่จะแข่งขันกัน ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยที่รักษาไว้และปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน การละเล่นต่างๆ ในหมู่บ้านแห่งนี้ เคยนำออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์และแสดงในงานต่างๆ มาแล้ว ซึ่งเนื้อเพลงที่ร้องส่วนใหญ่ยังคงแบบของเดิมไว้

การละเล่นของชาวกะเหรี่ยง อำเภอบ้านไร่ ยังคงรักษาประเพณีเดิมไว้ มีเต้นรำเชอโฮเตตามจังหวะ การร้องเพลงกล่อมลูก เป็นต้น ประเพณีการแต่งงานและการหย่าร้าง การนับถือผี งานบุญเจ้าวัด และการทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น ปัจจุบันยังสามารถศึกษาได้จากหมู่บ้านกะเหรี่ยง ตำบลคอกควาย และตำบลแก่นมะกรูด

งานแห่เจ้าของชาวจีนในอุทัยธานี เป็นประเพณีของชาวจีนในอุทัยธานี ที่จะจัดพิธีแห่เจ้าพ่อและเจ้าแม่ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามศาลต่างๆ โดยกำหนดมีงานตามการครบปีของแต่ละองค์ ซึ่งบางองค์ 5 ปีแห่ครั้งหนึ่ง บางองค์ 12 ปีแห่ครั้งหนึ่ง บางองค์ 14 ปีแห่ครั้งหนึ่ง การแห่เจ้าพ่อปุงเถ่ากง เจ้าพ่อหลักเมืองอุทัยธานี จะมีขบวนสาวงามถือธงร่วมขบวนเป็นแถวยาวผ่านตลอดไปตามถนนรอบเมือง และจะมีสิงห์โตคณะต่างๆ ของชาวจีนในอุทัยธานีร่วมให้พรตามร้านค้าคนจีนในตลาด ซึ่งทุกร้านจะตั้งโต๊ะบูชาประดับด้วยงาช้างขนาดใหญ่สวยงาม ถ้าเป็นงานของเจ้าแม่ทับทิม "จุ้ยบ้วยเนี้ยว" จะมีพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงเจ้าแม่เมื่อครบ 12 ปี และเข้าทรงทำการลุยไฟด้วย

 

 วัดสังกัสรัตนคีรี เป็นวัดเก่าตั้งอยู่เชิงเขาสะแกกรัง สุดถนนท่าช้าง ในเขตเทศบาลเมือง ในวิหารของวัดประดิษฐานพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี มีประวัติว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้นำพระพุทธรูปขนาดย่อมที่ชำรุดไปไว้ตามหัวเมืองต่างๆ เมื่อ พ.ศ. 2335-2342 สำหรับเมืองอุทัยธานีได้รับ 3 องค์ โดยอัญเชิญลงแพมาขึ้นฝั่งที่ท่าพระ (ตรงข้ามศาลาประชาคมจังหวัดอุทัยธานี) แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดขวิด พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระเนื้อสำริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก สร้างในสมัยพระเจ้าลิไท ฝีมือช่างสุโขทัยยุค 2 ส่วนเศียรกับส่วนองค์พระเป็นคนละองค์ แต่ขนาดเดียวกัน เข้าใจว่าคงซ่อมเป็นองค์เดียวกันแล้วจึงนำมาไว้ที่เมืองอุทัยธานี ต่อมาเมื่อยุบวัดขวิดไปรวมกับวัดทุ่งแก้ว จึงได้ย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปยังวัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไป 1 กิโลเมตร และได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเศียร พร้อมกับถวายนามว่า "พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์" 
ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีจะมีประเพณีตักบาตรเทโว โดยพระสงฆ์ประมาณ 500 รูป จะเดินลงบันไดจากยอดเขาสะแกกรัง มารับบิณฑบาตที่ลานวัด เป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัด

เขาสะแกกรัง จากบริเวณลานวัดเชิงเขามีบันไดขึ้นไปสู่ยอดเขาสะแกกรัง หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 3220 เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณสนามกีฬาจังหวัดไปตามทางขึ้นสู่ยอดเขา บนยอดเขาสามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองอุทัยธานีได้กว้างขวาง เป็นที่ตั้งของมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งย้ายมาจากวัดจันทาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2448 ด้านหน้ามีระฆังใบใหญ่ที่พระปลัดใจและชาวอุทัยธานีร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2443 ถือกันว่าเป็นระฆังศักดิ์สิทธิ์ ใครที่ไปเที่ยวอุทัยธานีแล้วไม่ได้ขึ้นไปตีระฆังใบนี้ก็เท่ากับไม่ได้ไปเที่ยวอุทัยธานี
ใกล้กับมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก แห่งรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีพระนามเดิมว่า นายทองดี รับราชการมีตำแหน่งเป็นพระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย และต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี (พระนามเดิมว่า นายทองด้วง) ได้สถาปนาพระอัฐิพระบิดาเป็นสมเด็จพระชนกาธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2338
พระบรมรูปของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ เป็นรูปหล่อขนาดสองเท่าขององค์จริง ประทับนั่งบนแท่นพระหัตถ์ซ้ายถือดาบประจำตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีทั้งฝักวางบนพระเพลาซ้าย ส่วนพระหัตถ์ขวาทรงวางบนพระเพลาขวา ด้านขวามือมีพานวางพระมาลาเส้าสูง ไม่มียี่ก่า (ขนนก) สวมพระบาทด้วยรองเท้าแตะไม่หุ้มส้นพระบาท มีพิธีถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ในวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงที่ดอกสุพรรณิการ์ หรือฝ้ายคำ ดอกไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานีบานสะพรั่งอยู่ทั่วไปบนเขาสะแกกรัง

วัดมณีสถิตย์กปิฏฐาราม ตั้งอยู่ที่ถนนสุนทรสถิตย์อยู่หน้าสวนสุขภาพในเขตเทศบาลเมือง เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ชาวเมืองเรียกกันว่าวัดทุ่งแก้ว ในวัดนี้มีพระปรางค์ใหญ่อยู่องค์หนึ่ง ฐานกว้าง 8 เมตร สูง 16 เมตร ลักษณะเป็นปรางค์ห้ายอด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2452 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อแย้มผู้สร้างวัดนี้ บริเวณวัดมีสระน้ำก่ออิฐ เป็นสระน้ำมนต์ขนาดใหญ่ กลางสระมีแผ่นศิลาอักขระยันต์ของหลวงพ่อแย้มฝังเอาไว้ น้ำในสระแห่งนี้เคยใช้เป็นน้ำสรงพุทธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

วัดธรรมโฆษก (วัดโรงโค) เป็นวัดที่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ที่ถนนศรีอุทัย ตำบลอุทัยใหม่ เขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒนสัตยาของข้าราชการเมืองอุทัยธานี และเป็นลานประหารนักโทษ
โบสถ์ของวัดเป็นโบสถ์สมัยรัตนโกสินทร์ ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมืองดงามที่สุดในอุทัยธานี น่าจะเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลายที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นภาพพุทธประวัติบางตอน เช่น ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ปางผจญมาร ด้านข้างและด้านบนเป็นภาพเทพชุมนุมสลับกับพัดยศ ช่องว่างบานประตู เป็นภาพพระพุทธเจ้ารับคนโทน้ำและรวงผึ้งจากช้างกับลิง เป็นภาพที่เขียนในชั้นหลังคนละฝีมือกัน ด้านนอกมีลายปูนปั้นเป็นกรอบฝีมือพองาม
สำหรับวิหารสร้างยกพื้นสูงกว่าโบสถ์ ภายในมีแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 องค์ จัดเรียงอย่างมีระเบียบ บนหน้าต่างด้านนอกมีลายปูนปั้นเป็นเรื่องรามเกียรติ์ประดับเป็นกรอบ และประตูวิหารเป็นไม้จำหลักลายดอกไม้ทาสีแดงงดงามมาก โบสถ์และวิหารมีพระปรางค์และเจดีย์เรียงรายอยู่ 2-3 องค์
กำแพงรอบโบสถ์ก่อต่อกับฐานวิหารเพราะมีพื้นสูงกว่า ประตูเข้ากำแพงทำซุ้มแบบจีน และหลังโบสถ์มีซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปด้วยเช่นเดียวกับด้านหน้า มีกุฏิเล็กอยู่ติดกับกำแพงโบสถ์ ซึ่งเป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา บานประตูวัดก็เป็นศิลปะการแกะสลักของช่างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แกะเป็นลายดอกไม้ประกอบใบกระจังต่อก้านสลับดอกเรียงเป็นแถวสวยงามมาก พื้นในทาสีแดง เข้าใจว่าเดิมคงลงสีทองบนตัวลายไว้ สำหรับบานหน้าต่างก็แกะเป็นลวดลายเดียวกัน

ลำน้ำสะแกกรัง เป็นลำน้ำที่ไหลผ่านตัวจังหวัดอุทัยธานี เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี จะมีเรือนแพจอดเรียงรายอยู่ทั้งสองริมฝั่งน้ำ ฝั่งแม่น้ำทิศตะวันตกข้างบนเป็นตลาดใหญ่ มีอาคารบ้านเรือนหนาแน่น ส่วนฝั่งแม่น้ำทิศตะวันออกเป็นเกาะเทโพ ที่มีสวนผลไม้และป่าไผ่ตามธรรมชาติ เรือนแพที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำเป็นเรือนไม้สร้างคร่อมบนแพลูกบวบไม้ไผ่ ชาวเรือนแพเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมง ในช่วงเช้าหลังจากที่ได้ปลามาจะนำมาเสียบไม้เป็นแผง ผึ่งให้แห้ง ย่างรมควันทำเป็นปลาแห้ง ตามเรือนแพริมน้ำยังมีกระชังเลี้ยงปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาแรด เป็นภาพที่สามารถพบเห็นได้ตามสองฝั่งลำน้ำสะแกกรัง จึงเหมาะสำหรับนั่งเรือชมทิวทัศน์สองฝั่งได้รอบตัวเกาะ ส่วนเรือนแพที่อยู่ฝั่งทิศตะวันออกที่อยู่ตรงข้ามกับชุมชนเมือง นักท่องเที่ยวสามารถว่าจ้างเรือจากบริเวณท่าเรือตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี

วัดอุโปสถาราม เดิมชื่อวัดโบสถ์มโนรมย์ ชาวบ้านเรียกว่าวัดโบสถ์ เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมลำน้ำสะแกกรังในเขตเทศบาลเมือง จากตลาดสดเทศบาล มีสะพานข้ามแม่น้ำไปยังวัดอุโปสถาราม ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ เป็นภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เกี่ยวกับพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพานฝีมือประณีตมาก และจิตรกรรมฝาผนังในวิหาร เป็นฝีมือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทพยดาบนสวรรค์และภาพปลงสังขาร ด้านบนฝาผนังเป็นพระสงฆ์สาวกชุมนุมสลับกับพัดยศเหมือนจะไหว้พระประธานในวิหาร ฝาผนังด้านนอกหน้าวิหารมีภาพถวายพระเพลิงศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและภาพชีวิตชาวบ้านที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เข้าใจว่าเป็นฝีมือชั้นหลัง นอกจากนี้ภายใน.วัดอุโปสถาราม ยังมีสิ่งของที่น่าชมอีกมาก เช่น เสมาหินสีแดงหน้าโบสถ์ ตู้พระธรรมและตู้ใส่ของเขียนลายกนกเถาลายดอกไม้ บาตรฝาประดับมุกที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เป็นฝีมือช่างสิบหมู่ และหงส์ยอดเสา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่น่าชมหลายหลัง 

วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลน้ำซึม ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร ตามทางสาย 3265 มุ่งตรงไปทางแพข้ามฟากอำเภอมโนรมย์ ประมาณ 12 กิโลเมตร เดิมเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา มีโบสถ์ขนาดเล็ก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือพื้นบ้าน เข้าใจว่าเขียนในสมัยหลัง เป็นเรื่องพุทธประวัติบางภาพต่อเติมจนผิดส่วน มีศาลามณฑปแก้วที่สร้างขึ้นใหม่และอาคารเรียนขนาดใหญ่ รวมทั้งมีท่าเรือคอนกรีตริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาทางน้ำ วิหารมีพระปูนปั้นฝีมือพองาม มีลายไม้จำหลักขอบหน้าบันเหลืออยู่ 2-3 แห่ง สิ่งที่เป็นโบราณวัตถุของวัดคือ ธรรมมาสน์ที่หลวงพ่อใหญ่สร้าง ด้านตรงข้ามกับวัดเป็นปูชนียสถานแห่งใหม่ มีการก่อสร้างอาคารต่างๆ มากมาย ซึ่งสร้างโดยพระราชมหาวีระ ถาวาโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) พระเถระที่มีชื่อเสียงเป็นบริเวณพุทธาวาสที่น่าชมมาก พระอุโบสถใหม่สร้างสวยงามภายในประดับและตกแต่งอย่างวิจิตร บานหน้าต่างและประตูด้านในเขียนภาพเทวดาโดยจิตรกรฝีมือดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินมาตัดลูกนิมิตพระอุโบสถ บริเวณโดยรอบสร้างกำแพงแก้วและมีรูปหล่อหลวงพ่อปาน และหลวงพ่อใหญ่ขนาด 3 เท่า อยู่มุมกำแพงด้านหน้า นอกจากนี้ปูชนียสถานแห่งใหม่ยังมีบริเวณกว้างขวางมาก มีศาลาอยู่หลายหลังสำหรับใช้เป็นสถานที่ฝึกสมาธิและมีที่พักให้ด้วย

ศูนย์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ถนนศรีอุทัย (ใกล้ศาลากลางจังหวัด) ภายในจัดแสดงเป็นห้องต่าง ๆ เช่น ห้องพัฒนาอาชีพ ห้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีห้องจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ห้องแสดงเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้ายศเจ้าเมือง ห้องจำลองไม้จำหลักและบ้านไทย เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. สามารถติดต่อต่อเข้าชมเป็นหมู่คณะสอบถามรายละเอียดได้ที่ (056) 511511

พระแสงราชศัสตราวุธประจำเมืองอุทัยธานี สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพระแสงดาบที่จังหวัดอุทัยธานีได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือที่เมืองอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ. 2444 เป็นพระแสงดาบที่พระราชทานเป็นอันดับ 3 (อันดับ 1 เมืองอยุธยา อันดับ 2 เมืองชัยนาท)
พระแสงราชศัตราวุธ เป็นดาบไทยทำด้วยเหล็กอย่างดีสีขาวเป็นมัน ปลายแหลม คมด้านเดียว มีน้ำหนักเบา สันเป็นลายทอง ฝังงาในเนื้อเหล็กรูปดอกไม้ร่วง และริมสันทั้งสองข้างมีลายทองเป็นรูปก้านขด โคนตรงกลางมีจารึกนามอักษร "พระแสงสำหรับเมืองอุไทยธานี" ด้ามพระแสงทำด้วยไม้เนื้อแข็งหุ้มทองลงยา โคนเป็นลายกนกตราอ้อย ปลายด้ามเป็นรูปจุฑามณีบัวคว่ำ 3 ชั้น ประดับด้วยพลอย ต้นฝักพระแสงทำด้วยทองคำเป็นรูปรักร้อยประดับพลอย มีกาบกนกหุ้มต้นฝักทำด้วยทองคำเป็นลายก้านขด ช่อดอกแกมใบประดับพลอย ตัวฝักพระแสงทำด้วยทองคำดุน แถบฝักทั้งสองข้างมีลวดลายต่างๆ สวยงามมาก นับเป็นศิลปกรรมฝีมือเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นพระแสงดาบสำคัญประจำเมืองอุทัยธานี ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่คลังจังหวัดอุทัยธานี จะนำออกเฉพาะในงานพระราชพิธีเท่านั้น

เขื่อนวังร่มเกล้า ตั้งอยู่ที่บ้านใต้ ตำบลทุ่งใหญ่ เขตอำเภอเมือง การเดินทางใช้เส้นทางจากอำเภอทัพทันไปอำเภอโกรกพระ ตามทางหลวงหมายเลข 3005 เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรัง 1.5 กิโลเมตร ถึงเขื่อนวังร่มเกล้า เขื่อนนี้เป็นเขื่อนชลประทานขนาดเล็กกั้นแม่น้ำตากแดดหรือแม่น้ำสะแกกรังในเขตอำเภอเมืองอุทัยธานี ทัศนียภาพบริเวณอ่างเก็บน้ำหน้าเขื่อนสวยงาม
เมืองโบราณบ้านใต้ หรือบ้านได้ อยู่ตำบลทุ่งใหญ่ เลยท้ายเขื่อนวังร่มเกล้าไป 300 เมตร เป็นสถานที่พบซากโบราณสถานระฆังหิน ฐานพระพุทธรูปยืนทำด้วยศิลา กำไลหิน พระพุทธรูปสำริด สภาพเมืองยังคงมีแนวกำแพงดินเหลืออยู่บ้าง


 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหนองขาหย่าง

บึงทับแต้ จากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 3265 ประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าทางลูกรัง บริเวณสะพานคลองยางไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร หรืออาจจะเช่าเรือจากบริเวณปากคลองยางเข้าไปยังบึงเป็นระยะทาง 5-6 กิโลเมตร บึงทับแต้อยู่ตอนปลายของห้วยขวี ซึ่งมีความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร ส่วนที่เป็นบึงกว้างประมาณ 330 เมตร เป็นแหล่งที่มีปลาอาศัยอยู่ริมบึงอย่างชุกชุม ชาวบ้านได้อาศัยน้ำและจับปลาในบึงนี้ ริมบึงตรงบ้านท่าทอง พบแหล่งของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ มีเครื่องมือเหล็ก ภาชนะดินเผา ลูกปัด กำไลแก้ว เป็นต้น จัดว่าเป็นชนเผ่าที่เจริญ เพราะรู้จักใช้โลหะเป็นเครื่องประดับ นอกจากนี้ยังพบขวดเหล้าของชาวตะวันตกสมัยอยุธยาด้วย

เมืองโบราณบ้านคูเมือง อยู่ที่ตำบลดงขวาง เป็นสถานที่พบระฆังหิน เครื่องมือหิน หินบดยา ลูกปัดสี และพระพิมพ์ดินดิบ

วัดหนองพลวง ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนหนองขาหย่างวิทยาคม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2400 สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงจั่ว หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นและเครื่องถ้วยเคลือบ มีทางเข้าทางเดียว ไม่มีช่อฟ้า เสมาโดยรอบเป็นหินสลักสวยงามบนฐานรูปดอกบัว


 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหนองฉาง

เมืองอุไทยธานีเก่า อยู่ที่บ้านอุทัยธานีเก่า เป็นที่ตั้งของเมืองอุไทยธานีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังคงมีซากโบราณสถานเหลืออยู่ เช่น วัดหัวหมาก วัดยาง และวัดกุฏิ ส่วนบริเวณโดยรอบได้กลายเป็นทุ่งนาไปหมด วัดที่ยังคงสภาพอยู่จนถึงปัจจุบันนี้คือ วัดแจ้ง มีพระปรางค์ซึ่งเดิมสร้างเมื่อ พ.ศ. 2081 ต่อมาถูกพม่าทำลายยอดหัก จึงบูรณะซ่อมแซมใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2458 พร้อมกับโบสถ์เก่าซึ่งเป็นโบสถ์ขนาดเล็กประตูเดียว แบบอยุธยาตอนปลาย ลายปูนปั้นของพระปรางค์และหน้าบันโบสถ์เป็นฝีมือเดียวกัน อีกวัดหนึ่งคือ วัดหัวเมือง ยังคงมีซากโบสถ์เก่าแบบอยุธยาเหลืออยู่ และเจดีย์โบราณขนาดเล็กหน้าโบสถ์เก่า 

ถ้ำน้ำพุเขากวางทอง เป็นถ้ำที่อยู่ในเขากวางทอง ตำบลทุ่งโพ มีความสูงประมาณ 325 เมตร ห่างจากอำเภอหนองฉางประมาณ 20 กิโลเมตร อยู่ขนานกับเขาบางแกรก ที่ราบลุ่มตรงกลางเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เดิมมีสัตว์ป่ามากินน้ำ โดยเฉพาะพวกกวางมีมากเป็นพิเศษ ถ้ำน้ำพุอยู่เชิงเขาภายในถ้ำมีน้ำพุ และมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก

วัดหนองขุนชาติ เป็นวัดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ มีอุโบสถเก่าภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 เขียนเกี่ยวกับพุทธประวัติปางต่างๆ เช่น ตอนธิดาพระยามารมารำยั่วยวน ตอนเทศน์โปรดเทวดา ตอนหนีออกบรรพชา เป็นต้น ด้านบนเป็นพระสงฆ์ชุมนุมนั่งพนมมือ ที่น่าสังเกตก็คือ ภาพคนแต่งตัวสวมหมวกปีกอย่างชาวตะวันตก นอกจากอุโบสถเก่าแล้ว ยังมีมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอยู่ มีการจัดงานนมัสการพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี


 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอทัพทัน

วัดทัพทัน ตั้งอยู่บนถนนสายอุทัยธานี-ทัพทัน ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 19 กิโลเมตร ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอ 1 กิโลเมตร มีประตูโบสถ์อันงดงาม ฝีมือช่างสมัย รัตนโกสินทร์ บานหนึ่งแกะเป็นรูปคนถือธง ระบุ พ.ศ. 2466 อีกบานหนึ่งระบุว่าเป็นปีกุน มีลวดลายสวยงาม อกเลาบานประตูมีลวดลายยาวตลอด บานประตูอีกคู่หนึ่งแกะเป็นรูปเทวดาถือคันศรยืนบนพระยานาค ข้างล่างเป็นภูเขามีสัตว์ต่างๆ ส่วนด้านบนเป็นลานกนกมะลิเลื้อย ฝีมือช่างคนละคนกับรูปเสี้ยวกาง บานประตูคู่นี้ไม่แกะลวดลายที่อกเลา เข้าใจว่าเป็นช่างพื้นบ้าน

แหล่งทอผ้าพื้นเมืองบ้านโคกหม้อ ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกหม้อ การเดินทางจากอำเภอทัพทันไปยังอำเภอสว่างอารมย์ ตามเส้นทางสาย 3013 ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือไปยังบ้านโคกหม้ออีกประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านขนาเล็กของชาวไทยลาวที่อพยพมาอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการผ้าทอพื้นเมืองมานาน โดยชาวบ้านนิยมทอผ้าเมื่อหมดฤดูทำนา ลักษณะที่ทอกัน ส่วนใหญ่เป็นผ้าซิ่นตีนจก ผ้ามัดหมี่ ผ้ายกดอกลายเชิงแบบเก่า

เขาปฐวี อยู่ในตำบลตลุกดู่ เป็นเทือกเขาขนาดเล็กยาวประมาณ 720 เมตร สูง 253 เมตร มีลักษณะเป็นเทือกเขาหินที่เรียงซ้อนกันเป็นยอด ค่อนข้างสูงชัน มีถ้ำอยู่เรียงรายโดยรอบประมาณ 30 ถ้ำ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เช่น ถ้ำประทุน ถ้ำบันได ถ้ำอ่าง ถ้ำช่องลม ถ้ำพุทธประวัติ ถ้ำปลา และถ้ำค้างคาว เป็นต้น บริเวณลานกว้างหน้าเขามีร่มไม้และฝูงลิงจำนวนมาก บริเวณนี้ยังพบเครื่องมือหินและโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ด้วย
การเดินทางจากอำเภอเมืองอุทัยธานีไปตามทางหลวงหมายเลข 3013 เข้าสู่อำเภอทัพทัน จากอำเภอทัพทันมีเส้นทางไปยังเขาปฐวีอีกเป็นระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 18 กิโลเมตร

ตลาดนัดโค กระบือหนองหญ้าปล้อง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหญ้าปล้อง เดินทางจากอำเภอทัพทันไปตามถนนสายทัพทัน-โกรกพระ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบตลาดทางด้านขวามือ ซึ่งเป็นตลาดที่มีบริเวณพื้นที่ซื้อขายกว้างใหญ่ ตลาดนัดแห่งนี้จะมีเฉพาะวันพระและวันโกนเท่านั้น ในแต่ละครั้งที่มีการซื้อขายจะมีโค กระบือที่ถูกนำมาขายนับพันตัว

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสว่างอารมย์

เขากวางทองไผ่เขียว เป็นเขาสูง 372 เมตร อยู่ตำบลไผ่เขียว ห่างจากตัวอำเภอ 9 กิโลเมตร มีหน้าผาสวยงาม และถ้ำอีกหลายแห่งหินงอกหินย้อยเป็นประกายระยิบระยับสวยงาม ใกล้เขากวางทองมีเขาเล็กๆ คือ เขาลูกไก่ที่มีหินสลับซับซ้อนแปลกตา มีเขาพระอยู่ทางด้านเหนือ ซึ่งมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่

เมืองโบราณบึงคอกช้าง อยู่ที่ตำบลไผ่เขียว ใช้เส้นทางสว่างอารมย์-ลาดยาว ทางหลวงหมายเลข 3013 ก่อนสุดเขตจังหวัดอุทัยธานี มีทางลูกรังแยกซ้ายไปบึงคอกช้าง ประมาณอีก 20 กิโลเมตร ค่อนข้างห่างไกลชุมชน เป็นเมืองโบราณที่มีคูเมืองและกำแพงดินล้อมรอบ ค้นพบซากโบราณ เครื่องปั้นดินเผา หินบดยา เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดสีเหลือง นอกจากนี้ยังขุดพบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ 3 หลัก ปัจจุบันมีสภาพเป็นสวนป่าปลูกมีต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุมอยู่ทั่วไป ส่วนบริเวณคูเมืองตื้นเขิน

เขาหินเทิน อยู่ตำบลพลวงสองนาง มีลักษณะเป็นหินก้อนใหญ่ที่เทินกัน และยื่นออกมาจากพื้นเขา ก้อนหินขนาดใหญ่นี้มีสีขาวเกลี้ยงมัน ภายในเขาหินเทินยังมีถ้ำลึกอยู่ด้วย


 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอลานสัก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีอาณาเขตคลุมพื้น 6 อำเภอ 3 จังหวัด คือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละ อำเภอสังขละ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีพื้นที่ 3,609,375 ไร่ หรือ 5,775 ตารางกิโลเมตร โดยมีการรวมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเข้ามาด้วย ทำให้เป็นผืนป่าอนุรักษ์ต่อเนื่องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาพป่าคงความสมบูรณ์ ประกอบด้วย ป่าดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบสลับกับทุ่งหญ้า เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า ซึ่งบางชนิดหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ควายป่า เลียงผา เสือดาว หมาใน ไก่ป่า และยังมีแมลงพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย จึงทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ให้เป็ฯ "มรดกโลกทางธรรมชาติ" ในการประชุมคณะกรรมการมร่กโลกขององค์การยูเนสโกระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม 2534 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย นับเป็นผืนป่าที่มีคุณค่าควรแก่การช่วยกันอนุรักษ์ หวงแหนเป็นอย่างยิ่ง 
บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีสถานที่น่าสนใจ เช่น ลำห้วยขาแข้ง ซึ่งมีน้ำตลอดปี น้ำตกโจน มีความสูงประมาณ 50 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของลำห้วยทับเสลาที่ไหลผ่านช่องเขาแคบ ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการฯ ประมาณ 8 กิโลเมตร 

การเดินทางสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
การเดินทางจากอุทัยธานีสู่ป่าห้วยขาแข้งไปได้ 2 ทาง คือ
1. เข้าทางที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 90 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายอุทัยธานี-หนองฉาง-ลานสัก ทางหลวงหมายเลข 3438 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 53-54 เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตฯ ด่านตรวจเขาหินแดง ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยทับเสลา จากที่ทำการเขตฯ สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ต่อไปยังสถานีวิจัยเขานางรำ ระยะทาง 17 กิโลเมตร และหน่วยพิทักษ์ป่ากะปุกกะเปียง ระยะทาง 14 กิโลเมตร จากหน่วยพิทักษ์ป่ามีเส้นทางเดินป่าไปโป่งน้ำร้อนอีก 6 กิโลเมตร
2. เข้าทางหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได อยู่ทางทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ห่างจากตัวจังหวัดอุทัยธานีประมาณ 110 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายอุทัยธานี-หนองฉาง-บ้านไร่ ระยะทาง 80 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางลูกรังผ่านบ้านใหม่คลองอังวะอีกประมาณ 30 กิโลเมตร ถึงด่านตรวจคลองระยาง ไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี และหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได สามารถเดินป่าขึ้นล่องได้ทั้งด้านเหนือและใต้ของลำห้วยขาแข้ง

สถานที่พักแรมและการติดต่อ
การเดินทางไปศึกษาธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะต้องติดต่อขออนุญาตจากผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ หรือทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตู้ ปณ. 4 อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี 61160 เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าพักแรมและเดินป่าในเส้นทางต่างๆ จะต้องติดต่อรายละเอียดกับทางเขตฯ ล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน สถานที่พักแรมบริเวณที่ทำการเขตฯ มีบ้านพัก ขนาดพักได้ 10-30 คน จำนวน 3 หลัง และอาคารฝึกอบรมขนาดจุ 80 คน 
หมายเหตุ ปกติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุกแห่งมิได้เปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วไป ดังนั้น ผู้ที่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสผืนป่าแห่งนี้ได้ นับเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง และควรที่จะช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพดีดังเดิมไว้ตลอดไป โดยการปฏิบัติตามระเบียบและข้อแนะนำของเจ้าหน้าทุกประการ 

เขาพระยาพายเรือ อยู่ในเขตตำบลลานสัก ห่างจากตัวจังหวัด 59 กิโลเมตร ตามทางสู่อำเภอลานสักตรงหลักกิโลเมตรที่ 29-30 แยกขวาเข้าทางลูกรังเข้าไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงเชิงเขาแล้วเดินขึ้นสู่ปากถ้ำอีกประมาณ 150 เมตร เป็นเขาลูกเล็กสูง 257 เมตร เมื่อมองจากระยะไกลจะดูคล้ายเรือสำเภาลำหนึ่ง ภายในประกอบด้วยถ้ำเล็กๆ เชื่อมต่อกัน ได้แก่ ถ้ำแก้ว ถ้ำสีชมพู ถ้ำท้องพระโรง ถ้ำอ่างน้ำมนต์ และถ้ำพุทธสถาน ภายในถ้ำซับซ้อนมากจึงต้องมีป้ายบอกทางและมีไฟฟ้าเพื่อความสะดวกในการเที่ยวชมความงามของหินงอกหินย้อย ตอนบนของถ้ำสร้างพระนอนขนาดใหญ่ ส่วนทางเข้าถ้ำต่างๆ นั้นอยู่ทางด้านซ้ายมือ มีทางเข้าทางเดียว ซึ่งเป็นทางลึกถึงข้างล่าง และมีบันไดลงไปได้ถึงก้นถ้ำ

เขาผาแรด ตั้งอยู่ที่ตำบลลานสัก อยู่หลังที่ว่าการอำเภอลานสัก ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เขาผาแรดนี้อยู่ห่างจากเขาพระยาพายเรือประมาณ 8 กิโลเมตร เป็นเขาลูกเล็กๆ มีความสูงประมาณ 376 เมตร ภายในเขาลูกนี้เป็นที่ตั้งของถ้ำซึ่งมีหินงอกหินย้อย พร้อมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว และมีสำนักสงฆ์อยู่ใกล้เชิงเขา

เขื่อนทับเสลา ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลระบำ จากอำเภอลานสัก ไปตามทางหลวงหมายเลข 3438 เป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร จะถึงทางแยกซ้ายมือเข้าเขื่อนทับเสลา เป็นทางราดยางอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เขื่อนทับเสลาเป็นเขื่อนชลประทานขนาดใหญ่ กั้นลำห้วยทับเสลา ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม มีภูเขาสลับซับซ้อนเป็นฉากหลัง บริเวณตอนใต้ของเขื่อนมีสภาพเป็นป่าเต็งรังและสวนป่าปลูก

เขาปลาร้า เป็นเขาแบ่งเขตของหมู่บ้านห้วยโศก อำเภอลานสัก กับตำบลเขาบางแกรก อำเภอหนองฉาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 เมตร ไปตามทางสายหนองฉาง-ลานสัก ประมาณ 21.5 กิโลเมตร แล้วแยกไปตามทางลูกรัง ประมาณ 7.5 กิโลเมตร เป็นเขาขนาดใหญ่ มีความสูง ประมาณ 598 เมตร และชันมาก ต้องเดินเท้าและปีนเขาอีกประมาณ 2 ชั่วโมง จึงจะถึงยอดเขา ข้างบนเป็นที่ราบขนาดใหญ่ที่อุดมไปด้วยป่าไม้ เช่น ไม้มะค่า ที่หน้าผาด้านตะวันตกพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ ระดับความสูง 320 เมตร ตลอดแนวยาว 9 เมตร เป็นภาพมนุษย์มีหลายลักษณะและกลุ่มภาพสัตว์ จำนวน 40 ภาพลักษณ์ แสดงสภาพชีวิตและสังคมของคนยุคโบราณ ซึ่งเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หุบป่าตาด อยู่ตรงข้ามกับเขาปลาร้า เข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบถ้ำ และเมื่อเดินรอบถ้ำจะพบหุบเขาที่มีต้นตาดซึ่งเป็นต้นไม้ดึกดำบรรพ์ขึ้นอยู่ 

ถ้ำพนาสวรรค์ เป็นถ้ำในเทือกเขาที่บ้านห้วยโศก ตำบลป่าอ้อ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 50 กิโลเมตร โดยแยกตรงกิโลเมตรที่ 22 ของถนนสายหนองฉาง-ลานสัก เข้าหมู่บ้านบุ่งฝาง และหมู่บ้านห้วยโศก อีก 5 กิโลเมตร ภายในถ้ำแบ่งออกเป็นโถงถ้ำหลายถ้ำ มีหินงอกหินย้อยสวยงามตามธรรมชาติ และบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของวัดห้วยโศก

ป่าสักธรรมชาติ ที่ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก เป็นป่าที่มีต้นสักเหลืออยู่แห่งเดียวในขณะที่ส่วนอื่นถูกทำลาย และได้รับการปรับปรุงให้เป็นวนอุทยานสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 58 กิโลเมตร

ถ้ำเขาฆ้องชัย เป็นเทือกเขาอยู่ในตำบลลานสัก มีความสูงประมาณ 353 เมตร ทางด้านหน้าของเขาฆ้องชัยเป็นถ้ำตื้นกว้างเหมือนอุโมงค์ใหญ่ เข้าใจว่าเดิมมีมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่เพราะพบเครื่องมือหิน และเศษภาชนะดินเผา ภายในบริเวณถ้ำแห่งนี้มีฝูงค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาเย็นจะแลเห็นฝูงค้างคาวบินออกมาหากินนานนับชั่วโมง และถ้าสามารถปีนหน้าผาสูงไปได้จะพบถ้ำอยู่ทางด้านบน มีถ้ำธงชัย ถ้ำมหาสมบัติ ถ้ำเป็ด และถ้ำลม ใกล้กันเป็นที่ตั้งของเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งมีถ้ำสวยงาม บริเวณตรงกลางเป็นที่ดินในหุบเขามีเนื้อที่กว้างขวางมากซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดและโรงเรียนลานสักวิทยา 
การเดินทางถ้าเดินทางจากอำเภอหนองฉางสู่อำเภอลานสัก ถ้ำเขาฆ้องชัยนี้จะอยู่ก่อนถึงอำเภอลานสักประมาณ 5 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือแล้วเลี้ยวเข้าโรงเรียนลานสักวิทยาไปประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงบริเวณถ้ำเขาฆ้องชัย
สวนป่าห้วยระบำ เป็นของบริษัทไม้อัดไทย จำกัด มีเนื้อที่ 2,890 ไร่ อยู่ที่ป่าห้วยระบำ ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก ห่างจากตัวจังหวัด 78 กิโลเมตร สามารถเข้าไปชมแปลงป่าที่ปลูกใหม่ได้ มีเรือนพักรับรองสำหรับผู้นิยมธรรมชาติ บริเวณที่ทำการสวนป่าปลูกดอกกุหลาบและพันธุ์ไม้สวยงาม


 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอห้วยคต

น้ำตกไซเบอร์ หรือน้ำตกหินลาด เป็นน้ำตกที่อยู่ใกล้หมู่บ้านไซเบอร์ ตำบลคอกควาย อำเภอห้วยคต อยู่ห่างจากจังหวัด 86 กิโลเมตร น้ำตกนี้เกิดจากลำห้วยล่อยจ้อยที่ไหลมาจากภูเขาสูงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงทำให้เกิดน้ำตกขึ้นเป็นระยะๆ หลายชั้น น้ำตกส่วนที่อยู่ตอนบนเรียกน้ำตกล่อยจ้อย บางแห่งตกจากที่สูงปะทะกับก้อนหินใหญ่ เรียก น้ำตกหินลาด ข้างล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่รับน้ำตกที่ตกลงมาไม่ขาดสาย บางแห่งไหลซอกซอนล้นไปตามเกาะแก่งของหินลงสู่เบื้องล่าง เป็นทางยาวสูงต่ำหลายชั้น บริเวณโดยรอบเป็นป่าหวายและมีต้นไม้ร่มครึ้ม

น้ำพุร้อนบ้านสมอทอง ตั้งอยู่ที่บ้านสมอทอง ตำบลคอกควาย เป็นน้ำพุร้อนแบบธรรมชาติขนาดเล็กที่ผุดขึ้นมาผิวดินโดยไหลผ่านช่องเขาสองลูก น้ำที่ผุดขึ้นมานี้จะไหลรวมกันเป็นลำธารสายเล็กๆ ไหลลงสู่ลำธารคอกควาย น้ำพุที่ผุดนี้ ใส มีกลิ่นกำมะถันฉุน และมีความร้อนขนาดต้มไข่สุกภายใน 5 นาที โดยน้ำจะไหลลาดตามหินของภูเขาลงไปรวมกับน้ำในลำห้วยคอกควาย 
การเดินทางสามารถเดินทางจากอำเภอหนองฉางสู่อำเภอบ้านไร่ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 333 จนถึงกิโลเมตรที่ 41 จะมีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังเข้าบ้านวังบ่าง-สมอทอง ไปตามเส้นทางสายนี้ประมาณ 24 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือเป็นทางเล็กๆ ไปยังสำนักสงฆ์น้ำพุร้อนบ้านสมอทองอีกประมาณ 500 เมตร จะถึงลำธารคอกควายให้เดินข้ามไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำพุร้อนบ้านสมอทอง

น้ำตกอีซ่า ตั้งอยู่หมู่บ้านกุดจะเริก ตำบลคอกควาย น้ำตกอีซ่านี้เป็นน้ำตกธรรมชาติที่มีน้ำไหลตลอดปี ซึ่งน้ำตกอีซ่านี้เกิดขึ้นจากลำธารอีซ่า บริเวณน้ำตกมีสภาพป่าที่เป็นธรรมชาติ และบริเวณป่าใกล้ๆ น้ำตกนี้มีหมูป่าชุกชุม 
การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 333 มีเส้นทางเข้าตรงทางแยกเข้าบ้านวังบ่าง กิโลเมตรที่ 41 ของถนนสายหนองฉาง-บ้านไร่ และแยกเข้าถนนสายวังบ่าง-สมอทอง อีกประมาณ 18 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านกุดจะเริก แล้วเดินเท้าอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตกอีซ่า


 สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอบ้านไร่

เมืองโบราณการุ้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลวังหิน พบพระพุทธรูปปางเสด็จดาวดึงส์ และซากโบราณสถาน ในปัจจุบันยังคงมีกำแพงดินให้เห็นเป็นเขตแนวของเมือง สำหรับคูเมืองโดยรอบนั้นถูกขุดลอกทำลายเพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำสำหรับหมู่บ้าน การเดินทางใช้เส้นทางสายอำเภอหนองฉาง-บ้านไร่ ทางหลวงหมายเลข 333 ผ่านบ้านทุ่งนา ทางแยกเขาตะพาบจนถึงบ้านเมืองการุ้ง ก่อนถึงอำเภอบ้านไร่ประมาณ 10 กิโลเมตร เมืองโบราณการุ้งจะอยู่บริเวณทางโค้งด้านซ้ายมือหลังศาลเจ้าแม่การุ้ง

เขาถ้ำตะพาบ เป็นเขาลูกเล็กอยู่ในเขตตำบลวังหิน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 56 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 333 มีทางแยกขวาเข้าสู่ถ้ำอีก 3 กิโลเมตร ในบริเวณเดียวกันมีถ้ำอีกหลายแห่ง ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยแปลกตา ทางด้านหน้าของถ้ำได้สร้างพระพุทธรูปและจัดเป็นสังฆาวาส ส่วนถ้ำที่อยู่ด้านหลังเลี้ยวขวามือเป็นถ้ำท้องพระโรง ถ้ำแก้ว ถ้ำปราสาท และถ้ำเรือ เป็นต้น หากเลี้ยวซ้ายจะพบทางออกด้านหลังซึ่งเป็นทางไปสู่ถ้ำลึกที่มีบันไดลงไปถึงก้นถ้ำ ผนังภายในเป็นคราบหินสีและมีหินงอกหินย้อยระยิบระยับสวยงาม ตรงอุโมงค์หลังถ้ำมีหินรูปร่างคล้ายตะพาบ และเคยพบเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถ้ำทุกแห่งจะมีไฟฟ้าส่องทางเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าชม

วัดเขาวงพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ตำบลวังหิน อยู่เลยวัดถ้ำเขาตะพาบประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในหุบเขา 2 ลูก คือเขาวงและเขาพรหมจรรย์ มีถ้ำสวยงามหลายถ้ำ เช่น ถ้ำเพชร ถ้ำแก้ว ถ้ำปลา ด้านขวามือมีชะง่อนหินสูงตั้งมณฑปขนาดเล็กและไหล่เขา สร้างอุโบสถสวยงาม บนเขาเคยมีฝูงลิงและนกยูงอาศัยอยู่

เขาวง เป็นเขาขนาดใหญ่อยู่ในตำบลไร่ อยู่ห่างจากอำเภอ 12 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านสะนำ บ้านหินตุ้ม มีทางเข้าทางทิศใต้ ทางหนองใหญ่ ซึ่งขึ้นสูงชันและลาดทีละน้อย เส้นทางอ้อมโค้ง ทางเข้าทิศเหนือเป็นหน้าผาต้องไต่ไปตามซอกเขา ระยะทาง 500 เมตร บนเขามีที่ราบกว้างมีต้นไม้หลายชนิด เช่น ไม้ยาง ไม้มะค่า ไม้เสลา เป็นต้น มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่บ้าง สำหรับถ้ำมีหินงอกหินย้อยงดงามมาก บางถ้ำมีช่องเข้าถ้ำเป็นวงกลม

เขาพุหวาย เป็นเขาที่อยู่ในตำบลบ้านไร่ ห่างจากตัวจังหวัด 71 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านสะนำ บ้านหินตุ้ม และเขาวง อยู่ห่างจากหมู่บ้านหินตุ้มประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นถ้ำที่อยู่เหนือพื้นดินประมาณ 150 เมตร ภายในถ้ำมืดสนิทและมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก เช่น รูปเจดีย์ อ่างน้ำ ทางเข้าถ้ำอยู่บนไหล่เขาต้องเดินขึ้นไป บางถ้ำเป็นท้องพระโรง อากาศถ่ายเทได้สะดวก




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่อุทัยธานี