แผนที่ร้อยเอ็ด

  • แผนที่ร้อยเอ็ด
  • ข้อมูลทั่วไป
  • การเดินทาง
  • งานประเพณี
  • สถานที่ท่องเที่ยว

ร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสานมานานกว่า 200 ปี สมัยก่อนประวัติศาสตร์

มีการพบหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์กระจายอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ขุดพบแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัวซึ่งสันนิษฐานว่า ชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบมีอายุประมาณ 1,800-2,500 ปีมาแล้ว และมักมีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำกับใกล้แหล่งเกลือสินเธาว์ อิทธิพลของพุทธศาสนาภายใต้วัฒนธรรมทวารวดีได้เข้ามาเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 12-15 มีหลักฐานสมัยทวารวดีที่สำคัญ เช่น คูเมืองร้อยเอ็ด เจดีย์เมืองหงส์ในเขตอำเภอจตุรพักตรพิมาน กลุ่มใบเสมาบริเวณหนองศิลาเลขในเขตอำเภอพนมไพร และพระพิมพ์ดินเผาปางนาคปรกที่เมืองไพรในเขตอำเภอเสลภูมิ

วัฒนธรรมจากอาณาจักรขอมได้แพร่เข้ามาในพุทธศตวรรษที่ 16 ปรากฏหลักฐานอยู่มาก เช่น สถาปัตยกรรมในรูปแบบของปราสาทหิน เช่น กู่กาสิงห์ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย ปรางค์กู่ในเขตอำเภอธวัชบุรี กู่พระโกนาในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ และประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพทางศาสนาที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ทำจากหินทรายและโลหะเป็นจำนวนมาก
สมัยทวารวดี

การตั้งถิ่นฐานของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ได้ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดีซึ่งเป็นวัฒนธรรมในพระพุทธศาสนา เมืองที่สร้างขึ้นมีรูปร่างและที่ตั้งไม่แน่นอน แต่มีลักษณะที่สำคัญคือ มีคูน้ำและคันดิน ล้อมรอบชุมชน ร่องรอยที่ยังเห็นอยู่ของคูเมืองและคันดินได้แก่บริเวณด้านตะวันออกของวัดบูรพาภิราม ด้านใต้ของเมืองบริเวณโรงเรียนสตรีศึกษา นอกจากนี้ยังพบอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ของร้อยเอ็ด ได้แก่ บ้านเมืองไพร (เขตอำเภอเสลภูมิ) บ้านเมืองหงส์ (เขตอำเภอจตุรพักตรพิมาน) บ้านสีแก้ว (เขตอำเภอเมืองร้อยเอ็ด) หนองศิลาเลข บ้านชะโด (เขตอำเภอพนมไพร) และบ้านดงสิงห์ (เขตอำเภอจังหาร)
สมัยลพบุรี

ได้พบโบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยลพบุรีหรือละโว้ที่เป็นที่รู้จักดี ได้แก่ ปราสาทหินกู่กาสิงห์ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย กู่พระโกนาในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ ปรางค์กู่ในเขตอำเภอธวัชบุรี กู่โพนระฆัง กู่โพนวิท กู่บ้านเมืองบัวในเขตอำเภอเกษตรวิสัย กู่คันทนามในเขตอำเภอโพนทราย สำหรับโบราณวัตถุ ได้แก่ รูปเคารพและเครื่องมือเครื่องใช้ในศาสนา เช่นพระพุทธรูป เทวรูป ศิวลึงค์ ภาชนะดินเผา คันฉ่องสำริด กำไลสำริด เป็นต้น
สมัยอาณาจักรล้านช้าง

ได้ปรากฏชื่อเมืองร้อยเอ็ดในเอกสารของลาวว่า พระเจ้าฟ้างุ้มเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นบุตรเขยเมืองขอม ได้นำไพร่พลมารวมกำลังกันอยู่ที่เมืองร้อยเอ็ด ก่อนยกกำลังไปยึดเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) ได้สำเร็จแล้วจึงได้สถาปนาอาณาจักรล้านช้าง

หลักฐานเกี่ยวกับเมืองร้อยเอ็ดขาดหายไปประมาณ 400 ปี จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2231 เมืองเวียงจันทน์เกิดความไม่สงบ พระครูโพนสะเม็ดพร้อมผู้คนประมาณ 3,000 คนได้เชิญเจ้าหน่อกษัตริย์อพยพลงมาตามแม่น้ำโขง แล้วมาตั้งมั่นอยู่ที่บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ ผู้ปกครองเมืองจำปาศักดิ์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระครูโพนสะเม็ด จึงได้นิมนต์ให้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและปกครองเมืองจำปาศักดิ์ ต่อมาเจ้าหน่อกษัตริย์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ได้ขยายอิทธิพลไปในดินแดนต่าง ๆ เหนือสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นหลายแห่งและส่งบริวารไปปกครอง เช่น เมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร เมืองรัตนบุรี เมืองคำทอง เมืองสาละวัน และเมืองอัตตะปือ เป็นต้น

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2256 เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้มอบหมายให้อาจารย์แก้วควบคุมไพร่พลประมาณ 3,000 คน มาสร้างเมืองขึ้นใหม่ในดินแดนอีสานตอนล่าง เรียกว่า เมืองท่ง ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ มีเจ้าเมืองต่อมาคือ ท้าวมืด ท้าวทน ท้าวเชียง และท้าวสูน
สมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
พระยาขัติยะวงษา (ทน)

ปี พ.ศ. 2316 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยากรมท่าและพระยาพรหมเดินทางมาดูแลหัวเมืองในภาคอีสาน ท้าวทนจึงได้เข้ามาขออ่อนน้อม พระยาทั้งสองจึงมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรีขอตั้งท้าวทนเป็นเจ้าเมือง โดยยกบ้านกุ่มฮ้างขึ้นเป็น เมืองร้อยเอ็ด ตามนามเดิม ท้าวทนได้รับแต่งตั้งเป็นพระขัติยะวงษา นับว่าเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก ส่วนเมืองท่งนั้นบรรดากรมการเมืองเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายไปตั้งบริเวณดงท้าวสาร และให้ชื่อว่า เมืองสุวรรณภูมิ นับแต่นั้นมาทั้งเมืองร้อยเอ็ดและเมืองสุวรรณภูมิต่างมีฐานะขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรีเช่นเดียวกัน

พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ ทำให้เมืองร้อยเอ็ดและบรรดาหัวเมืองอีสานล้วนต้องขึ้นตรงต่อกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนเมืองร้อยเอ็ดก็ได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนมีฐานะทางการเมืองและความสำคัญเหนือเมืองสุวรรณภูมิในเวลาต่อมา

พ.ศ. 2326 พระขัติยะวงษา (ทน) ถึงแก่กรรม ท้าวสีลังบุตรคนโตได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระขัติยะวงษา เจ้าเมืองร้อยเอ็ดสืบแทน ต่อมาในปี พ.ศ. 2369 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อกองทัพกบฏถูกตีแตกถอยร่นกลับมา กำลังทหารจากเมืองร้อยเอ็ดได้เข้าโจมตีซ้ำเติมจนพวกกบฏแตกพ่าย พระขัติยะวงษา (สีลัง) มีความดีความชอบได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาขัติยะวงษา

ในปี พ.ศ. 2418 เกิดสงครามปราบฮ่อที่เวียงจันทน์และหนองคาย เจ้าเมืองอุบลได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้ายกกำลังไปปราบ โดยเกณฑ์กำลังพลจากหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือไปช่วยปราบกบฏ เมื่อกองทัพยกมาถึงเมืองร้อยเอ็ด พระขัติยะวงษา (สาร) และราชวงศ์ (เสือ) ได้สมทบกำลังไปปราบฮ่อด้วย เมื่อเสร็จศึก ราชวงศ์ (เสือ) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระขัติยะวงษา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองในระบบมณฑลเทศาภิบาล จึงให้รวมหัวเมืองอีสานเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งออกเป็น 4 กองใหญ่ แต่ละกองมีข้าหลวงกำกับการปกครองกองละ 1 คน และมีข้าหลวงใหญ่กำกับราชการอีกชั้นหนึ่งอยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ กองใหญ่ทั้ง 4 กอง ได้แก่ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ และหัวเมืองลาวฝ่ายกลาง เมืองร้อยเอ็ดเป็นหัวเมืองเอกในจำนวน 12 เมืองของหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีศูนย์การบริหารหัวเมืองอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราระบบการปกครองเทศาภิบาลขึ้นใช้ปกครองส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ หัวเมืองลาวกาวจึงเปลี่ยนฐานะเป็นมณฑลลาวกาว ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และมณฑลอีสานตามลำดับ

ในปี พ.ศ. 2450 เมืองร้อยเอ็ดได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นบริเวณร้อยเอ็ด โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 เมือง คือเมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองมหาสารคาม เมืองกมลาไสย และเมืองกาฬสินธุ์

ในปี พ.ศ. 2453 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอของเทศาภิบาลข้าหลวงมณฑลอีสานว่า ควรแยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานีและมณฑลร้อยเอ็ด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นไปตามที่เสนอ มณฑลร้อยเอ็ดจึงมีเขตปกครอง 3 จังหวัดคือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์

พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล และมณฑลอุดร เป็นภาคเรียกว่า ภาคอีสาน มีอุปราชประจำภาคอยู่ที่เมืองอุดรธานี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2468 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกภาคอีสาน แล้วปรับเปลี่ยนเป็นการปกครองระบบมณฑลตามเดิม ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2469 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบมณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล และมณฑลอุดร แล้วให้เปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัด ขึ้นต่อมณฑลนครราชสีมา

ระหว่างปี พ.ศ. 2445-2455 ได้เกิดกบฏผีบุญขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ดอันมีสาเหตุมาจากการยกเลิกการปกครองแบบดั้งเดิม โดยยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง แล้วแต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปปกครอง ทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มเจ้าเมืองเดิมและทายาท กบฏผีบุญเกิดขึ้นจากการมีผู้อ้างตัวเป็นผู้วิเศษตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาคอีสาน ในที่สุดก็ถูกทางราชการปราบได้ราบคาบ

ในปี พ.ศ. 2469 อำมาตย์เอกพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ข้าหลวงจังหวัดร้อยเอ็ดเห็นว่า บึงพลาญชัย (เดิมใช้ว่าบึงพระลานชัย) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ดตื้นเขิน ถ้าปล่อยทิ้งไว้บึงก็จะหมดสภาพไป จึงได้ชักชวนชาวบ้านจากทุกอำเภอมาขุดลอกบึงเพื่อให้มีน้ำขังอยู่ได้ตลอดปี ได้ดำเนินการขุดลอกบึงทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ 2 ปี มีชาวบ้านมาร่วมขุดลอกบึงถึง 40,000 คน นับว่าเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของไทยที่ควรจารึกไว้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลานไทยต่อไปชั่วกาลนาน ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนเป็นมรดกที่สำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ดมาตราบเท่าทุกวันนี้

แบ่งออกเป็น 20 อำเภอ 193 ตำบล 2412 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน อำเภอธวัชบุรี อำเภอพนมไพร อำเภอโพนทอง อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอหนองพอก อำเภอเสลภูมิ อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอเมืองสรวง อำเภอโพนทราย อำเภออาจสามารถ อำเภอเมยวดี อำเภอศรีสมเด็จ อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอหนองฮี อำเภอทุ่งเขาหลวง

ทิศเหนือ จดอำเภอกมลาไสย อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
ทิศใต้ จดอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันออก จดอำเภอเมือง อำเภอเลิงนกทา อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร
ทิศตะวันตก จดอำเภอเมือง อำเภอวาปีปทุม และอำเภอพยัคฆภูมิ จังหวัดมหาสารคาม

ระยะทางจากอำเภอเมืองร้อยเอ็ดไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ ในเขตจังหวัด

อำเภอเมือง-อำเภอจังหาร 10 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอธวัชบุรี 12 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอศรีสมเด็จ 25 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอจตุรพักตร์พิมาน 26 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเมืองสรวง 26 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเสลภูมิ 34 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภออาจสามารถ 34 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอโพนทอง 47 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเกษตรวิสัย 47 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอสุวรรณภูมิ 52 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอโพธิ์ชัย 58 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอพนมไพร 64 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอหนองพอก 73 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอเมยวดี 73 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอโพนทราย 79 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-อำเภอปทุมรัตน์ 85 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอเชียงขวัญ 18 กิโลเมตร
อำเภอเมือง-กิ่งอำเภอหนองฮี 76 กิโลเมตร

 

การเดินทาง

ทางรถยนต์

แผนที่เส้นทางกรุงเทพ-ร้อยเอ็ด

ทางรถยนต์ ตัวเมืองร้อยเอ็ดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางรถยนต์ 512 กิโลเมตร ทางที่สะดวกและสั้นที่สุด คือใช้เส้นทางกรุงเทพฯ ผ่านสระบุรี-นครราชสีมา-บ้านไผ่-มหาสารคาม ถึงจังหวัดร้อยเอ็ดใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง

ทางรถประจำทาง

ทางรถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร มีรถโดยสารทั้งธรรมดาและปรับอากาศไปจังหวัดร้อยเอ็ดวันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-936-2852-66 หรือ Call Center 1490 จากจังหวัดร้อยเอ็ดมากรุงเทพฯ รถออกจากสถานีขนส่งร้อยเอ็ด ถนนเทวาภิบาล โทร. (034) 511939, 512546 รถธรรมดา เริ่มเวลา 05.00-21.10 น. ออกทุกๆ 1 ชั่วโมง ทุกวัน รถปรับอากาศ เริ่มเวลา 08.00-21.30 น. ออกทุกๆ 1 ชั่วโมง ทุกวัน

ทางรถไฟ

ทางรถไฟ ต้องไปลงที่จังหวัดขอนแก่น แล้วต่อรถยนต์โดยสารเข้าจังหวัดร้อยเอ็ด รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690
ทางเครื่องบิน ทางเครื่องบิน ต้องไปลงที่จังหวัดขอนแก่นแล้วต่อรถยนต์โดยสารเข้าจังหวัดร้อยเอ็ด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-356-1111

   ประเพณีกินข้าวปุ้นบุญผะเหวด เริ่มจัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 และจะจัดเป็นประจำทุกปี ในวันที่ 1-2 มีนาคมของทุกปี ณ บริเวณสวนสมเด็จฯ และบึงพลาญชัย บุญผะเหวด หรือทางภาคกลางเรียกว่าบุญมหาชาติ นิยมจัดในช่วงเดือนสี่ เป็นงานบุญที่พระเทศน์มหาเวสสันดรชาดก เรียกการเทศน์นี้ว่า เทศก์มหาชาติ มีการแห่ขบวนผะเหวด 13 ขบวน ตามกัณฑ์เทศน์มหาชาติ จากอำเภอและหน่วยงานต่างๆ บริเวณรอบบึงพลาญชัยด้านในก็จัดเป็นร้านข้าวปุ้น (ขนมจีน) ไว้คอยบริการฟรีสำหรับผุ้มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการประกวดศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน เช่น พานบายศรีสู่ขวัญ เป็นต้น
ประเพณีการแข่งเรือ เป็นงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ด โดยจัดให้มีขึ้นทุกปี ที่บึงพลาญชัย ในราวปลายเดือนธันวาคม
 ประเพณีแห่เทียนพรรษา จัดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาของทุกปี ณ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ โดยขบวนแห่ต้นเทียนแต่ละวัดซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้สีสวยสด และสาวงามจะเคลื่อนขบวนจากคุ้มต่างๆ ผ่านตลาดไปยังบริเวณหน้าศาลาจตุรมุข ในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เพื่อร่วมประกวดต้นเทียนและขบวนแห่ต้นเทียน ซึ่งมีการรำเซิ้งแบบอีสานประกอบด้วย
 ประเพณีบุญบั้งไฟ จัดตามอำเภอต่างๆ ภายในจังหวัด ช่วงเดือนหกถึงเดือนเจ็ด มีขบวนแห่บั้งไฟซึ่งจัดอย่างสวยงาม แสดงถึงประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะที่อำเภอพนมไพร และอำเภอสุวรรณภูมิ มีขบวนแห่ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้ระดับจังหวัด ประชาชนภายในจังหวัดและจังหวัดข้างเคียงได้เดินทางมาชมเป็นจำนวนมาก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง

 สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด เป็นสวนสาธารณะกลางเมือง อยู่หน้าศาลากลางจังหวัด เปิดเมื่อปี พ.ศ. 2529 มีเนื้อที่ประมาณ 225 ไร่ ตกแต่งบริเวณด้วยไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ และต้นไม้น้อยใหญ่เพื่อให้ความร่มรื่น จุดเด่นของสวนแห่งนี้อยู่ที่น้ำพุบริเวณใจกลางสวนที่พุ่งฉีดในระดับสูง หอนาฬิกากลางเมืองสวยเด่นเป็นสง่าแก่เมืองร้อยเอ็ด มีอาคารอ่านหนังสือไว้สำหรับบริการประชาชน สถานที่แห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลและพิธีการต่างๆ ของจังหวัด เช่น งานปีใหม่
บึงพลาญชัย ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองร้อยเอ็ด ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด มีลักษณะเป็นเกาะอยู่กลางบึงน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตกแต่งเป็นสวนไม้ดอกขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไม้ต่างๆ ร่มรื่น และในบึงน้ำมีปลาชนิดต่างๆ หลายพันธุ์มากมาย มีเรือสำหรับให้ประชาชนได้พายเล่นในบึง นอกจากนั้นยังใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลของจังหวัด รวมทั้งจัดมหรสพต่างๆ ภายในบึงพลาญชัยมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ- ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นที่เคารพบูชาของชาวร้อยเอ็ด
- พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ กลางสวนดอกไม้
- พานรัฐธรรมนูญ และนาฬิกาดอกไม้
- ภูพลาญชัย มีลักษณะเป็นสวนสัตว์และน้ำตกจำลอง
- สนามเด็กเล่น
- นกชนิดต่างๆ
- สวนสุขภาพ
เป็นสวนออกกำลังกาย เพื่อให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย อันเป็นการเสริมสร้างพลานามัยแก่ชาวร้อยเอ็ด
วัดกลางมิ่งเมือง ตั้งอยู่บนเนินในเมือง เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งเมืองร้อยเอ็ด ส่วนอุโบสถสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ปัจจุบันเป็นสถานที่ศึกษาปริยัติธรรม และสถานที่สอบธรรมสถาน ชื่อโรงเรียนสุนทรธรรมปริยัติ บริเวณผนังรอบอุโบสถมีลวดลายภาพวาด แสดงถึงพุทธประวัติ สวยงามและมีค่าทางศิลปะ
 วัดสระทอง หรือวัดบึงพลาญชัย ตั้งอยู่ในตัวเมือง เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระสังกัจจายน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวร้อยเอ็ดเคารพสักการะสร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ เมื่อปี พ.ศ. 2325 พระยาขัตติยะวงษา (ท้าวธน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก ได้พบพระองค์นี้เห็นว่ามีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก จึงได้นำมาประดิษฐานที่วัดสระทองและยกให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ในอดีตข้าราชการทุกคนต้องมาสาบานตนต่อหน้าหลวงพ่อว่าจะซื่อสัตย์ต่อบ้านเมืองเป็นประจำทุกปี
 วัดบูรพาภิราม อยู่ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเดิมชื่อ วัดหัวรอ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดบูรพาภิราม มีพระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในโลกคือ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นห้องพิพิธภัณฑ์จำนวนหลายห้อง ความสูงขององค์พระวัดจากพระบาทถึงยอดเกศสูงถึง 59 เมตร 20 เซนติเมตร และมีความสูงทั้งหมด 67 เมตร 85 เซนติเมตร นอกจากนี้หลวงพ่อใหญ่ยังเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และปรากฏอยู่ในคำขวัญของเมืองร้อยเอ็ดด้วย ด้านทิศตะวันออกของบริเวณวัดอยู่ติดกับคูรอบเมืองสมัยเก่า ซึ่งเป็นที่สร้างศาลาศาลเจ้าพ่อมเหศักดานุภาพ ซึ่งชาวเมืองร้อยเอ็ดเคารพนับถือมาก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอธวัชบุรี (ทางหลวงหมายเลข 23)

   ปรางค์กู่หรือปราสาทหนองกู่ ตั้งอยู่ที่บ้านยางกู่ ตำบลมะอี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด การเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ด ตามทางหลวงสาย 23 หรือสายร้อยเอ็ด-ยโสธร ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงที่ว่าการอำเภอธวัชบุรี ฝั่งตรงข้ามมีทางลูกรังแยกซ้ายไปปรางค์กู่ ระยะทาง 6 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-โพนทอง ทางหลวงสาย 2044 ไปประมาณ 8 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปปรางค์กู่อีก 1 กิโลเมตร (เส้นทางนี้สะดวกกว่าเส้นทางแรก) ปรางค์กู่ คือ กลุ่มอาคารที่มีลักษณะแบบเดียวกันกับอาคารที่เชื่อกันว่า คืออโรคยาศาลตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหมอันประกอบด้วย ปรางค์ประธาน บรรณาลัย กำแพงพร้อมซุ้มประตูและสระน้ำนอกกำแพง โดยทั่วไปนับว่าคงสภาพเดิมพอควร โดยเฉพาะปรางค์ประธานชั้นหลังคาคงเหลือ 3 ชั้น และมีฐานบัวยอดปรางค์อยู่ตอนบน อาคารอื่นๆ แม้หักพังแต่ทางวัดก็ได้จัดบริเวณให้ดูร่มรื่นสะอาดตา นอกจากนี้ภายในกำแพงด้านหน้าที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังพบโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นวางเก็บรักษาไว้ใต้อาคารไม้ ได้แก่ทับหลังหินทราย สลักเป็นภาพบุคคลนั่งบนหลังช้างหรือวัว ภายในซุ้มเรือนแก้วหน้ากาล จากการสอบถามเจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม กล่าวว่าเป็นทับหลังหน้าประตูมุขของปรางค์ประธาน เสากรอบประตู 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งมีภาพสลักรูปฤาษีที่โคนเสาศิวลึงค์ขนาดใหญ่พร้อมฐานที่ได้จากทุ่งนาด้านนอกออกไป และชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นฐานของพระสังกัจจายน์ปูนปั้น กำหนดอายุว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18
บ้านหวายหลึม ตั้งอยู่ที่ตำบลมะบ้า อำเภอธวัชบุรี บนเส้นทางสายร้อยเอ็ด-ยโสธร ตรงหลักกิโลเมตรที่ 145-146 ห่างจากตัวเมืองร้อยเอ็ด 25 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านทอผ้าไหม มีการจัดตั้ง "กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต" เป็นศูนย์รวมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ตั้งอยู่ที่บ้านคุณอำพร ทองธิสาร 84 หมู่ 6 ซอย 1 บ้านหวายหลึม ตำบลมะบ้า อำเภอธวัชบุรี

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย (ทางหลวงหมายเลข 215, 214)

   กู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย สามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ ใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-เกษตรวิสัย ทางหลวงหมายเลข 214 ระยะทาง 47 กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามทางหลวงสายเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางแยกขวากู่กาสิงห์เป็นระยะทางอีก 10 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางสายร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ-สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 215 ต่อด้วย 214) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงวัดกู่พระโกนา ด้านตรงข้ามวัดมีทางแยกไปกู่กาสิงห์ ระยะทางอีก 18 กิโลเมตร กู่กาสิงห์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรอีกแห่งหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังอยู่ในสภาพดีพอควร ขณะนี้หน่วยศิลปากรที่ 6 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะให้เห็นสภาพชัดเจนสวยงามยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีวิหารหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ถัดออกไปเป็นคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ปรางค์ประธานหรืออาคารหลักที่มี 3 องค์นั้น ตั้งเรียงอยู่บนฐานเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 องค์ที่ขนาบข้าง และมีมุขยื่นทางด้านหน้าเป็นห้องยาว มีประตูทางเข้า 3 ทาง คือด้านหน้าและด้านข้างของห้องยาวทั้งสอง ส่วนฐานขององค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาทรายยังคงปรากฏลวดลายสลักเป็นชั้นเป็นแนว เช่น ลายกลีบบัวและลายกนก ผนังก่ออิฐ ที่ห้องในสุดหรือส่วนครรภคฤหะได้ค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพสูงสุด (พรอิศวร) และความอุดมสมบูรณ์ตามลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย นอกจากนี้ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว โดยยืนอยู่เหนือหน้ากาลซึ่งมีมือยึดจับท่อนพวงมาลัยอีกทีหนึ่ง และยังได้พบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขดอีกด้วย ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบนั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาทราย ผนังก่ออิฐมีประตูเพียงด้านหน้า ภายในมีแท่นรูปเคารพวางอยู่ จากลวดลายของศิลปกรรม แบบแผนผังและโบราณวัตถุที่พบแสดงให้ทราบว่า กู่กาสิงห์สร้างขึ้นในแบบศิลปะเขมรที่เรียกว่า "แบบบาปวน" อายุราว พ.ศ. 1560-1630 เพื่อเป็นเทวสถานอุทิศถวายแด่พระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 215, 202, 214)

   กู่พระโกนา ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ วัดกู่พระโกนา หมู่ 2 ตำบลสระคู การเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางตามทางหลวงสาย 215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าสาย 214 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงกู่พระโกนา ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรจากจังหวัด ปัจจุบันมีวัดสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีถนนเป็นทางแยกเข้าไปทางด้านซ้ายมือ ด้านหน้าเป็นสวนยาง กู่พระโกนา ประกอบด้วย ปรางค์อิฐ 3 องค์ บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน ปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง 4 ทิศ หน้าปรางค์องค์กลางชั้นล่าง สร้างเป็นวิหารพระพุทธบาท ประดับเศียรนาค 6 เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ ก็ได้รับการบูรณะจากทางวัดเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง ปรางค์องค์ทิศเหนือทางวัดสร้างศาลาครอบ ภายในมีหน้าบันสลักเรื่องรามายณะ และทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอยู่ที่เดิม คือเหนือประตูทางด้านหน้า ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้นเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือเป็นภาพเทวดานั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นอยู่ที่พื้น เป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโค และมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย สันนิษฐานว่า กู่พระโกนาเดิมจะมีสะพานนาคและทางเดิประดับเสานางเรียงทอดต่อไปจากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำ หรือบารายซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร จากรูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมทั้งหมดของภาพสลัก และเสากรอบประตู ซึ่งเป็นศิลปะขอมที่มีอายุในราว พ.ศ. 1560-1630 (แบบบาปวน) สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเสลภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 23)

  บึงเกลือ (บุ่งเกลือ) อยู่ในเขตตำบลเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ ห่างจากตัวอำเภอเสลภูมิไปทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 7,500 ไร่ ในบึงน้ำแห่งนี้มีน้ำขังตลอดปี ริมบึงมีหาดทรายขาวสะอาด กว้างขวาง ในวันหยุดจะมีนักท่องเที่ยวเข้าท่องเที่ยวพักผ่อนกันมากมาย ซึ่งจะมีอาหารชนิดปิ้ง ทอดไว้บริการ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอโพนทอง (ทางหลวงหมายเลข 2044, 2136)

   แหลมพยอม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่บริเวณทิศตะวันออกของบึงโพนทอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพนทองไปทางทิศตะวันออก (ถนนสายอำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก) ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอหนองพอก (ทางหลวงหมายเลข 2044, 2136)

   วนอุทยานผาน้ำย้อย (พุทธอุทยานอีสาน) ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอ เดินทางโดยรถยนต์สายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 62 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ 2136 ซึ่งมีสถานที่น่าสนใจได้แก่
 ผาน้ำย้อย เป็นผาหินขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำไหลตกและซึมตลอดปีอยู่บนภูเขาเขียว บ้านโคกกลาง ตำบลโคกสว่าง มีเนื้อที่ป่ารอบๆ บริเวณหน้าผาพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นป่าไม้เนื้อแข็งนานาชนิด นับเป็นป่าที่มีค่าและหายากยิ่ง มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ไก่ป่า ฯลฯ ผาน้ำย้อยอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 200 เมตร และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 380-500 เมตร เป็นภูเขาแบ่งพรมแดนระหว่างอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ บนเขาลูกนี้มีวัดอยู่วัดหนึ่งสร้างในพื้นที่ 2,500 ไร่ ตามไหล่เขามีศาลาการเปรียญที่ใหญ่โตมาก มีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร วัดนี้มีชื่อว่า "วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม" โดยมีพระอาจารย์ศรีมหาวิโร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัต เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
 พระมหาเจดีย์ชัยบาดาล เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งตัวองค์พระธาตุได้แบ่งเป็น 5 ชั้น และได้ตกแต่งลวดลายงามวิจิตรของศิลปะยุคใหม่และยุคเก่าผสมเป็นศิลปะร่วมสมัยที่หาดูได้ยาก พระมหาเจดีย์ชัยบาดาลนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม
 สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดี เป็นโครงการสวนพฤกษศาสตร์ในวรรณคดีประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดงมะอี่ ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 85 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ เป็นเนื้อที่สำหรับปลูกต้นไม้แบ่งตามวรรณคดี เช่น เรื่องพระเวสสัดร ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเบงพ่าย ลานพุทธประวัติ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรแยกตามสรรพคุณ บริเวณสวนมีสภาพภูมิประเทศสวยงาม
 ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งกว้างใหญ่ของภาคอีสาน มีอาณาเขตครอบคลุมถึง 5 จังหวัด คือ ในแนวทิศเหนือนั้นครอบคลุมอำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอสุวรรณภูมิ ของจังหววัดร้อยเอ็ด ในแนวทิศใต้มีลำน้ำมูลทอดยาวตลอดพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ในแนวทิศตะวันตกผ่านอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ประมาณ 3 ใน 5 นั้นอยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ทุ่งกุลาร้องไห้มีเนื้อที่กว้าง 2,107,681 ไร่ สาเหตุที่ทุ่งกว้างแห่งนี้ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้นั้น ก็ด้วยมีเรื่องเล่ากันว่า พวกกุลาซึ่งเป็นพวกที่เดินทางค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ ในสมัยโบราณได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้ คือ มีความเข้มแข็งอดทนเป็นเยี่ยม แต่เมื่อพวกกุลาเดินทางมาถึงทุ่งนี้ ได้รับความทุกข์ยากเป็นอันมากถึงกับร้องไห้ เพราะตลอดทุ่งนี้ไม่มีน้ำหรือต้นไม้ใหญ่เลย ฤดูแล้งแผ่นดินก็แห้งแตกระแหง ปัจจุบันท้องทุ่งอันกว้างใหญ่นี้ได้รับการพัฒนาจากส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ บางแห่งก็ทำการเกษตรกรรม บางแห่งก็ใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนับแต่จะมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ห่างจากที่ว่าการอำเภอสุวรรณภูมิ 6 กิโลเมตร เลยกู่พระโกนาไปเล็กน้อย




แผนที่ท่องเที่ยว
แผนที่ร้อยเอ็ด