ธรรมชาติของความจำ

ความหมายของความจำ

ความหมายของความจำ ความจำเป็นที่ที่บุคคลใช้เก็บรักษาข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เขาได้รับจากการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก (Flavell, Miller, & Miller,2001) ซึ่งส่งผลให้บุคคลสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต เข้าใจสิ่งต่างๆ ในปัจจุบัน และคาดการณ์ไปยังอนาคตได้ (Baddeley, 1999; Galotti, 2008)

กระบวนการจำของมนุษย์ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

1. กระบวนการใส่รหัสข้อมูล (Encoding) เป็นกระบวนการประมวล และให้ความหมายกับสิ่งที่รับรู้ เพื่อที่จะสร้างตัวแทนของสิ่งนั้น ขึ้นมาเก็บไว้ใน ระบบความจำ

2. กระบวนการเก็บจำ (Storage) เป็นกระบวนการเก็บรักษาตัวแทนของ ข้อมูลที่ได้รับมาให้อยู่ในหน่วยความจำ

3. กระบวนการนำข้อมูลออกมาจากระบบการจำ (Retrieval) เป็นการดึงข้อมูล ที่ถูกใส่รหัสและเก็บอยู่ในหน่วยความจำออกมาใช้

ธรรมชาติของความจำมนุษย์ หากได้ลองอ่านหนังสือ หรือบทความรวมถึง งานวิจัยที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความจำของมนุษย์แล้ว จะเห็นว่า ธรรมชาติของความจำมนุษย์ที่พบได้ทั่วไป มักครอบคลุมรายละเอียดดังต่อไปนี้

ความจำของมนุษย์มีการทำงานตลอดเวลา โดยปกติแล้ว ในการรับรู้และเข้าใจสิ่งเร้า ที่ผ่านระบบรับสัมผัส เข้ามานั้น บุคคลจะตีความสิ่งเร้าและสร้างตัวแทน ของสิ่งเร้าขึ้นมาในสมอง โดยอาศัยข้อมูลที่เก็บไว้ในความจำ อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะให้บุคคลทำการดึงข้อมูลต่างๆ ที่เก็บบันทึกไว้ขึ้นมา รวมกับข้อมูลจากการรับสัมผัส และประมวลข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกันเพื่อจะรับรู้สิ่งเร้านั้นๆ เมื่อระบบรับสัมผัสของเราทำงานตลอด ความจำของมนุษย์จึงทำงาน ตลอดเวลา และมีการปรับข้อมูลในหน่วยความจำอยู่เสมอตามข้อมูลที่ได้รับรู้ (Baddeley, 1999) โดยPiaget (as cited in Flavell et al., 2001)ได้กล่าวถึงการปรับทางปัญญา (Adaptation) ให้เข้ากันกับสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนมนุษย์ ไว้ว่า มนุษย์มีการจัดการกับข้อมูลผ่าน กระบวนการ 2 กระบวนการ ได้แก่ การดูดซึมเข้าสู่โครงสร้างทางปัญญา (Assimilation) และ การปรับโครงสร้างทางปัญญา (Accommodation)

ความจำของมนุษย์มีขีดจำกัด

ความจำของมนุษย์มีขีดจำกัด คนเราไม่สามารถเก็บจำทุกอย่างที่รับรู้เข้ามาได้ และมีหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของความจำมนุษย์ งานวิจัยคลาสสิกงานหนื่ง คือการศึกษาของ George Miller (1956) ที่ได้เขียนบทความทางวิชาการเรื่อง The Magical number seven, plus or minus two: Some limits on our capacity for processing information และเสนอว่า มนุษย์เราสามารถเก็บจำข้อมูลในความจำระยะสั้นได้เพียง 5 – 9 Chunk เท่านั้น โดย Chunk ในที่นี้คือ หน่วยพื้นฐานของความจำระยะสั้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มของข้อมูลก็ได้ ซึ่งหากจัดให้ Chunk เป็นกลุ่มของข้อมูล บุคคลก็มีแนวโน้มจดจำข้อมูลได้มากขึ้น แต่บุคคลก็ยังไม่สามารถให้จดจำสิ่งเร้าที่ผ่านเข้าสู่ระบบรับสัมผัสทั้งหมดได้ (Matlin, 2009)

ความจำของมนุษย์ในบางครั้ง ก็ไม่คงทนถาวร การจะรู้ว่ามนุษย์เราสามารถจำอะไรได้บ้างนั้น ดูได้จากข้อมูล หรือตัวแทนที่บุคคลนำกลับขึ้นมาจาก ระบบการจำ แม้ว่าจะเป็นสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หากมีข้อมูลใดที่บุคคลไม่สามารถนำกลับมาได้ บุคคลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึง การลืม (forgetting) และการลืมนี้เอง คือสิ่งที่บ่งบอกว่า ความจำของมนุษย์จึงไม่คงทนถาวร (Matlin, 2009) Baddeley (1999) กล่าวว่า บุคคลแรกที่ทำ การศึกษาเรื่อง การลืมอย่างเป็นระบบ คือ Hermann Ebbinghaus ในช่วงทศวรรษที่ 1880 Ebbinghaus เห็นว่ามี ทฤษฎีเกี่ยวกับความจำเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่แน่ใจว่าทฤษฎีใดสามารถอธิบายความจำได้ดีที่สุดจึงได้ทำการทดสอบการจำของตนเองโดยสร้างเครื่องมือซึ่งมีลักษณะเป็นพยางค์ที่ไร้ความหมาย (nonsense syllables) ให้เขาทำการเรียนรู้และจดบันทึกอย่างระมัดมะวังเขาพบว่า หากเขามีจำนวนครั้งของการทบทวน รายการของพยางค์ที่ไร้ความหมาย ในวันแรกของการเรียนรู้มากขึ้น เวลาที่เขาทำการเรียนรู้ซ้ำในวันที่สองจะลดลง และเขายังพบอีกว่า ในการเรียนรู้รายการพยางค์ที่ไร้ความหมายของเขา จะมีการลืมเกิดขึ้น โดยข้อมูลจะหายไปจากระบบความจำอย่างรวดเร็ว ในช่วงต้นของระยะเวลาการเก็บจำ แต่การหายไปของข้อมูลจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาการเก็บจำที่เพิ่มขึ้น จนถึงระดับหนึ่ง และจะค่อนข้างคงที่ หลังจากการศึกษาของ Ebbinghaus ไปอีกหลายสิบปี ก็มีงานวิจัยคลาสสิก ที่สนับสนุนผลการศึกษาของเขา ในช่วงปี 1958 – 1959 การศึกษาของ Brownนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ และ Peterson & Peterson นักจิตวิทยา ชาวอเมริกา แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่อยู่ในระบบความจำน้อยกว่า 1 นาที โดยไม่ได้รับการทบทวนนั้น มักจะถูกลืม โดยความจำจะหายไปประมาณ 50 เปอร์เซนต์ภายในระยะเวลาเพียง 5 วินาทีเท่านั้น การศึกษาโดยใช้เทคนิคของ Brown/Peterson and Peterson ชี้ให้เห็นถึง ความไม่คงทนของความจำ สำหรับข้อมูลที่เข้ามาเพียงไม่กี่วินาที แต่ก็ยังมีการรบกวนการจำในรูปแบบอื่น ที่แสดงให้เห็นว่าความจำของมนุษย์ไม่คงทนเช่นกัน (Matlin, 2009)

ความจำของมนุษย์โดยส่วนใหญ่มักจะถูกต้อง แต่ไม่เสมอไป โดยส่วนใหญ่แล้ว ความจำของมนุษย์มักจะเก็บจำข้อมูลที่ถูกต้อง แต่บางครั้งเราก็ได้แสดง ความจำที่ผิดพลาดออกมาบ้าง ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลที่อยู่ในรอยความจำของมนุษย์นั้น แตกต่างไปจากข้อมูลของสิ่งเร้า ที่เกิดขึ้นจริง เช่นในการศึกษาคลาสสิกของ Bartlett (1932) ที่ให้ผู้รับการทดลองชาวอังกฤษ อ่านตำนานพื้นบ้าน ของชาวอินเดียแดงเรื่อง the war of the ghost เขาพบว่า ผู้รับการทดลองมีการละเลยรายละเอียด บางอย่าง หรือเปลี่ยนคุณลักษณะ ของสิ่งของบางอย่าง ให้กลายเป็นสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคย มากขึ้น นอกจากนี้ เขายังพบว่าผู้รับการทดลองมีการบิดเบือน รายละเอียดของตำนานให้เข้ากับ ความรู้หรือภูมิหลังของตนมากขึ้น และสิ่งที่บิดเบือนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในการระลึกครั้งต่อๆ ไป ซึ่ง Bartlett (1932) ได้อธิบายผลการทดลองของเขาว่า ผู้รับการทดลองได้ใช้สกีมมาของตน ในการสร้างความจำขึ้นมา ซึ่งสกีมมาของแต่ละบุคคลจะได้รับผ่านประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ถูกจัดเก็บไว้ ดังนั้น หากเรื่องราวที่เขาได้อ่าน ไปตรงกับ สกีมมาใดที่เขามีอยู่ เขาก็จะคาดคะเนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปตามสกีมมานั้น ทำให้เกิดการบิดเบือนเนื้อหาไปตามสกีมมานั้นๆ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีก มากมายที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ใช้ประสบการณ์ ความรู้ต่างๆ ที่เก็บไว้ในความทรงจำในการตีความและเก็บจำข้อมูล (เช่นการศึกษาของ ณัฏฐารีย์ ศิริวิวัฒน์ (2553), Dewherst, Holmes, &Swannell (2008), Erskine, Markham, & Howie (2002)เป็นต้น) ทำให้มนุษย์ไม่ได้บันทึกข้อมูลทุกอย่าง ตามข้อมูล ที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นการบันทึกข้อมูลที่ได้สร้างขึ้น ผ่านกระบวนการสร้างข้อมูลขึ้นในความจำ (constructive process) และบุคคลก็ไม่ได้นำข้อมูลออกมาจาก รอยความจำเสมือนการจำลองประสบการณ์นั้นขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการนำข้อมูลที่เรียกขึ้นมาจาก รอยความจำได้มาสร้างข้อมูลขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้กลางเป็นข้อมูล ที่สมบูรณ์และเข้าใจได้ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปหรือเมื่อมีการรับข้อมูลมาใหม่ ข้อมูลในรอยความจำอาจแตกต่างไปจากเดิมมากขึ้น ผ่านกระบวนการสร้าง ข้อมูลขึ้นมาอีกครั้ง (reconstructive process) (Alba & Hasher, 1993; Bartlett, 1932; Flavell, et. al., 2001; Lieberman, 2004; Schacter, 1999)ดังนั้นข้อมูลที่มีอยู่ในความจำของมนุษย์นั้น จึงอาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องตามเหตุการณ์จริง โดยที่บุคคลนั้นไม่รู้ตัวว่าตนเองได้บันทึกข้อมูลที่ผิดพลาดไว้ และแสดงความจำที่ผิดพลาดออกมา

กล่าวโดยสรุป ธรรมชาติความจำของมนุษย์จะกล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า ความจำของมนุษย์จะมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน เพื่อทำความเข้าใจข้อมูล หรือการปรับโครงสร้างของความรู้ที่มีอยู่ในความจำตามรายละเอียดของข้อมูลที่ได้รับรู้ นอกจากนี้ งานวิจัยมักจะแสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการจำของมนุษย์มีขีดจำกัด มากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันไป และบางครั้ง มนุษย์ก็มีการลืม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความจำของมนุษย์ ไม่ได้คงทนถาวรเสียทุกครั้งไป อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่แล้วความจำของมนุษย์มักจะถูกต้อง หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ผิดพลาดอย่างเป็นระบบ จนบางครั้งบุคคลดังกล่าวยังไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่า ตัวเองได้จำพลาดไป


รายการอ้างอิง ณัฏฐารีย์ ศิริวิวัฒน์ (2553).ผลของการกระทำที่สอดคล้อง ไม่สอดคล้อง และไม่เกี่ยวข้องกับบท และ ระยะเวลาในการเก็บจำ ต่อความจำเหตุการณ์ที่มีบทเป็นพื้นฐานของเด็กอายุ 6–8 ปี. วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย. Alba, J. W., & Hasher, L. (1983). Is memory schematic?.Psychological Bulletin, 93, 203–231. doi: 10.1037/0033-2909.93.2.203. Baddaley, A. D. (1999). Essentials of human memory.Hove: Psychology Press. Bartlett, F. C. (1932). Remembering: A study in experimental and social psychology. Cambridge: Cambridge University Press. Dewhurst, S. A., Holmes, S. J., &Swannell, E. R. (2008). Beyond the text: Illusion of recollection caused by script-based inferences. European Journal of Cognitive Psychology, 20(2), 367–386.doi:10.1080/09541440701482551. Erskine, A., Markham, R., and Howie, P. (2002). Children’s script-based inferences: Implications for eyewitness testimony. Cognitive Development, 16, 871–887.doi10.1016/S0885- 2014(01)00068-5 Flavell, H. A., Miller, P. H., & Miller, S. A. (2001) Cognitive development (4thed.). Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall. Galotti, K. M. (2008). Cognitive psychology: In and out of the laboratory (4th ed.). Belmont, CA: Wadsworth/Thomson. Lieberman, D. A. (2004). Learning and memory: An integrative approach. Belment, CA: Wadsworth. Matlin, M. W. (2009).Cognitive psychology (7th ed.). Hoboken, NJ: Wiley & Sons. Miller, G. A. (1956). The magical number seven, plus or minus two: Some limits on our capacity for processing information. Psychological Review, 63, 81 – 97.doi:10.1037/h0043158 Schacter, D.L. (1999). The seven sins of memory: Insights from psychology and cognitive neuroscience. American Psychologist, 54(3), 182–203.doi 10.1037//0003-066X.54.3.182.