การจำและการลืม

การจำและการลืมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของ มนุษย์อย่างมาก เพราะช่วยในพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ด้วย ลองคิดดูว่า ถ้าเราจำอะไรที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราไม่ได้เลย เราจะมีสภาพเป็นอย่างไร คงพูดไม่ได้ ไปไหนก็ไม่ได้ หรือไปแล้วกหาทางกลับบ้าน ไม่ถูก นอกจากนั้น ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักคิดแก้ไขปัญหา ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ สังคมมนุษย์คงมีมีเครื่องจักร ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีรถยนต์ หรือ เครื่องทุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น ชีวิตคงไม่ต่างจากมนุษย์สมัยหินสักเท่าใด ด้วยการสามารถในการจำและการคิดนี่เอง ที่ทำให้สังคม มนุษย์ เป็น อยู่ดังเช่นปัจจุบันนี้ เราจะได้ศึกษาถึงลักษณะการจำ การลืม และการคิดของบุคคล เพื่อจะได้เป็นแนวทางการพัฒนาการจำ และการคิดของเรา ให้ดีขึ้น

การจำและการลืม

1.1 ระบบของการจำ
ความจำเป็นระบบการทำงานที่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา (active system) ในการที่จำรับ (receives) เก็บ (stores) จัดการ (organizes) เปลี่ยนแปลง (alters) และนำข้อมูลออกมา (recovers) การทำงานของการจำคล้าย ๆ กับเครื่องคอมพิวเตอร์ คือเริ่มจากการใส่รหัส ข้อมูลเข้าไป จากนั้นจะเก็บข้อมูลไว้ในระบบ (ซึ่งการจำของมนุษย์จะมีระบบการเก็บข้อมูล 3 ระบบ) เมื่อต้องการข้อมูลใดก็เรียก ออกมาได้ เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ เราสามารถเก็บข้อมูลที่ต้องการจำได้มากมาย และสามารถนำข้อมูล ที่ต้องากรออกมาได้ ทั้งนี้เพราะข้อมูลถูกจัดไว้ อย่างเป็น ระบบและเป็นลำดับ เสมือนเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่
นักจิตวิทยาได้แบ่งความจำ เป็น 3 ระบบ การจัดเก็บข้อมูลใด ๆ ต้องผ่านขั้นตอนทั้ง 3 นี้ ดังแผ่นภาพต่อไปนี้

 

  1. ความจำจากการรับสัมผัส (sensory memory) ถ้าคุณไปตลาด และเพื่อนฝากซื้อของ โดยการอ่านรายการของให้ฟังดัง ๆ คุณจะจำได้อย่างไร ข้อมูลที่ต้องการจำจะเข้าสู่ระบบความจำจากการรับสัมผัส การจำแบบนี้ลักษณะเหมือนสิ่งที่ได้เห็นได้ยินทุกอย่าง ถ้าได้เห็น ข้อมูล ภาพติดตา (icon) หรือจินตภาพ จะคงอยู่ได้ครึ่งวินาที ตัวอย่างของภาพติดตา เช่น ถ้าคุณหลับตาสักครู่ ยกมือมาไว้ ตรงหน้าคุณ กะพริบตาอย่างรวดเร็วด้วย การลืมตาและหลับตา ลงอีกครั้ง คุณจะยังคงเห็นจินตภาพของมือคุณ ประมาณครึ่งวินาที ที่หลับตาลง ในการได้ยิน ก็เช่นเดียวกัน เสียงก้องของสิ่งที่ได้ยินจะคงอยู่ประมาณ 2 วินาที เช่น เมื่อเพื่อนอ่านรายการสิ่งของ ให้คุณฟัง คุณจะเก็บข้อมูลของแต่ละรายการ ในรูปของเสียงในหู (echo) โดยสรุปความจำจากการรับสัมผัส เป็นระบบการจำ ขั้นแรกที่จะเก็บข้อมูลไว้ในช่วงสั้น ๆ เพียงเพื่อถ่ายข้อมูลต่อไป ยังการจำระบบที่สอง
  2. ความจำระยะสั้น (shot-term memory - STM) สิ่งที่เราเห็นหรือได้ยินทุกอย่างไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบการจำ เช่น ถ้าอ่านรายการซื้อของให้ฟัง สิ่งที่สนใจเฉพาะอย่างจะเคลื่อนจากความจำจากการรับสัมผัส สู่ความจำระยะสั้น (STM) ซึ่งจะอยู่ใน ช่วงสั้น ๆ พอกับระยะแรกความจำระยะสั้นเก็บข้อมูลในลักษณะจิตภาพ แต่บ่อยครั้งที่จะเก็บข้อมูล ในลักษณะของเสียง โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ถ้าเป็นคำพูด เช่นถ้าได้รับการแนะนำให้รู้จักคนชื่อ แอ๊ด แต่เราจำไม่ได้อาจเรียกเขาว่า แจ๊ดก็ได้ เพราะเสียงคล้าย ๆ กัน
    ความจำระยะสั้นทำหน้าที่ คล้ายคลัง ข้อมูลชั่วคราว ที่เก็บข้อมูลได้ในจำกัดไม่ว่าข้อมูลนั้นจะสำคัญเพียงใดก็ตาม ข้อมูลจะเคลื่อน ออกจาก STM แล้วหายไป ความจำระยะสั้นช่วยป้องกันไม่ให้เราสับสนเกี่ยวกับชื่อ วันที่ หมายเลขโทรศัพท์ และเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น ๆ นอกจากนั้น ยังเป็นความจำในส่วนที่ปฏิบัติงานเรียกว่า Working memory ซึ่งช่วยในการคิดของเรามาก การหมุนโทรศัพท์ การคิดเลขในใจ การจำรายการสั่งของที่จะซื้อล้วน แต่อาศัยการจำระยะสั้นทั้งสิ้น (Atkinson และShriffrin,1971) ความจำระยะสั้นถูก รบกวน หรือถูกแทรกได้ง่าย เช่น เมื่อจำหมายเลขโทรศัพท์แล้ว เดินไปโทรศัพท์ แต่สายไม่ว่าง พอจะโทรเราอาจลืมหมายเลขไปแล้ว ต้องกลับไป ทวนอีกครั้ง พอหมุนโทรศัพท์ใหม่มีเพื่อนมาถามอะไรบางอย่าง อาจทำให้ลืมหมายเลขที่ต้องการหมุนไปได้ เพราะความจำระยะสั้น ถูกรบกวน ถ้าต้องการจำได้นาน ๆ ก็ต้องใช้ความจำระบบที่สาม
  3. ความจำระยะยาว (long-term memory - LTM) ข้อมูลที่สำคัญและมีความหมายจะโยกย้ายไปสู่ระบบความจำที่สาม ซึ่งเรียกว่า ความจำระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบ กับ STM ความจำระยะยาว (LTM) ทำหน้าที่เสมือนคลังข้อมูลถาวร LTM บรรจุทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับ โลกเอาไว้ โดยความสามารถไม่จำกัดในการเก็บข้อมูล จึงไม่มีข้อมูลหายไปจาก LTM ข้อมูลใน LTM ไม่ได้เก็บในลักษณะของเสียงเหมือน STM แต่เก็บข้อมูลไว้บนพื้นฐานของความหมายและความสำคัญของข้อมูล เช่น ถ้าเราระลึกข้อมูลจาก LTM ผิด ก็จะผิดที่ความหมาย ไม่ใช่เสียงที่พ้องกันอย่างใน STM ถ้าเราพยายามระลึกคำว่า ยุ้งข้าว แต่จำไม่ได้อาจคิดว่าเป็นทุ่งนาหรือโรงใส่ข้าวแต่จะไม่คิดว่าเป็น ยุ้งข้าว
    เมื่อมีข้อมูลใหม่เข้าไปใน STM จะมีการเปรียบเทียบกับความรู้ที่เก็บสะสมไว้ใน LTM ทำให้ข้อมูลใหม่นี้มีความหมาย และเก็บไว้ใน LTM ได้ง่ายขึ้น
    ความจำคู่ (Dual Memory) ความจำที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นการทงานควบคู่กันของ STM และ LTM อาจเปรียบได้ว่า ความจำระยะสั้น เสมือนโต๊ะตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ข้างหน้าคลังสินค้าขนาดมหึมาซึ่งเต็มไปด้วยตู้ใส่แฟ้ม ( เปรียบได้กับความจำระยะยาว) ก่อนที่ข้อมูลจะเข้าสู่ คลังสินค้าต้องวางไว้โต๊ะที่อยู่ข้างหน้าก่อน แต่เนื่องจากโต๊ะตัวเล็กจึงต้องรีบยกของออกเพื่อให้ข้อมูลใหม่เข้ามา บากข้อมูลที่ไม่สำคัญ จึงถูกโยนทิ้งไป ข้อมูลที่มีความหมายหรือสำคัญก็จะได้รับการบรรจุไว้ในแฟ้มที่ถาวร (LTM ) เมื่อต้องการความรู้จาก LTM เพื่อตอบ คำถามข้อมูลจะกลับมาสู่ STM หรืออาจเปรียบได้ว่าจะมีการถ่ายเอกสารจากแฟ้ม (LTM) และนำออกมาวางไว้บนโต๊ะ(STM) เพื่อจะนำไปใช้ต่อไป ถ้าความจำระยะสั้นกำลังใช้คิดแก้ปัญหาในใจบางอย่างอยู่แล้ว มีข้อมูลใหม่เข้ามา ก็จะมีการแย่งที่กันใน ความจำระยะสั้น เพราะมีที่จำกัด เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น จำได้กล่าวถึง ความจำระยะสั้นและระยะยาวในรายละเอียดต่อไป

1.2 ความจำระยะสั้น

ถ้าต้องการทราบว่า ความจำระยะสั้นมีความสามารถในการจำเพียงใด ให้ลองอ่านตัวเลขต่อไปนี้เพียงครั้งเดียง และปิดหนังสือลง ให้บอกสิ่งที่จำได้
8 5 1 7 4 9 3
ถ้าจำไหมดทั้ง 7 ตัว ก็เรียกว่ามีความจำระยะสั้นในระดับเฉลี่ย การทดสอบนี้เรียกว่า แบบทดสอบช่วงการจำตัวเลข (Digit-Span Test) ลองอ่านตัวเลขต่อนี้ใหม่ให้อ่านเพียงครั้งเดียว
7 1 8 3 5 4 2 9 1 6 3
เราอาจจำได้ไม่หมด เพราะเกินความสามารถของความจำระยะสั้นไปแล้ว นักวิจิตวิทยาขื่อ จอร์น มิลเลอร์ (George Miller,1956) ได้แสดงให้เห็นว่า ความจำระยะสั้นสามารถจำข้อมูลได้7?2 หน่วยถ้ามีข้อมูลที่ต้องจำมากกว่า 7 ตัวความผิดพลาดจะเกิดขึ้น ถ้ามีข้อมูลไม่มาเพิ่มนอกเหนือจาก 7 ตัวเดิม จะทำให้ข้อมูลใหม่และเก่าบางข้อมูลหายไปได้ เช่น ถ้าเราไปงานเลี้ยง และเจ้าของงานแนะนำให้รูจักเพื่อนใหม่ คือ สุขุม ลัดดา ปราโมทย์ ชูจิต ลำดวน พินิจ สายสมรเราเริ่มรู้สึกพอแล้วจำได้เพียงเท่านี้ แต่เจ้าของงานยังแนะนำต่อ "ฐาปกรณ์ วิจิตร นภาศรี รุ้งทอง และศิริพรรณ"และจากไปด้วยความรู้สึกดีใจว่าได้แนะนำให้เรารู้จักเพื่อนใหม่แล้ว เราจะพบว่าเราอาจจะคุยกับคนเพียง 3 คนเท่านั้น คือ สุขุม ลัดดา และศิริพรรณ ที่เราจำชื่อได้ นอกนั้นเรารู้สึกสับสนจำไม่ได้

การบันทึก(Recording)

ในการบันทึกข้อมูลเข้าสู่ความจำระยะสั้นนั้นทำได้หลายวิธี เช่น ถ้าให้อ่านตัวอักษรต่อไปนั้นเป็นเวลา 30 วินาทีแล้ว ให้ปิดหนังสือ บอกสิ่งที่ได้อ่านไปทั้งหมด 25 ตัว
น บ ส ย ส
พ ร ม ก อ
ป ร ค พ บ
ฎ จ ว ว ต
ล ง ร ก ก
จะสังเกตได้ว่าอักษรทั้ง 25 ตัวนี้ อาจแบ่งได้เป็นข้อมูล 5 ชุด โดยแบ่งเป็นคำที่มีมีความหมาย 5 คำ คือ นบสยส พรมกอ ปรคพบ ฎจววต และ ลงรกก ถ้าพิจาณาให้ดี อาจพบว่า สมารถอ่านอักษรทั้ง 25 ตัวให้เป็นคำเพียง 1 ชุด โดยอ่านแต่ละแถวจากบนลงล่าง จะได้ข้อความว่า นพปฎล บรรจง สมควร ยกพวก สอบตก ความจำระยะสั้นนั้นสามารถจำได้ ประมาณ 7 หน่วย แต่ละหน่วยอาจจะเป็นตัวเลข อักษร คำ วลี หรือประโยค ก็ได้ ถ้าจัดข้อมูลเป็นชุด ๆ ก็จะทำให้จำข้อมูลได้มากขึ้น เช่น ทำให้เป็นคำ หรือประโยค ปละง่ายแก่การใส่ไว้ในความจำระยะยาว เพราะมีความหมายด้วย

การทบทวน(Rehearsal)

ปกติสิ่งที่อยู่ในความจำระยะสั้นจะหายไปได้เร็ว ถ้าต้องการให้คงอยู่นานทำได้โดยการอ่าน ซ้ำ ๆ การอ่านซ้ำแต่ละครั้งเท่ากับ การนำข้อมูลใส่ลง ในความจำระยะสั้นใหม่ การอ่านซ้ำๆ เรียกว่า การทบทวน ข้อมูลที่ทบทวนใน STM บ่อยเพียงใด ก็มีโอกาสที่จะบรรจุไว้ใน LTM มากเพียงนั้น ถ้าไม่มีโอกาสทบทวน ข้อมูลใน STM จะหายไปภายในเวลา 18 วินาที

 

1.3 ความจำระยะยาว

สิ่งที่อยู่ในความจำระยะยาวนั้น จะค่อนข้างถาวร แม้จะไม่อยู่ตลอดชีวิตก็ตามความจำระยะยาวมี 2 ประเภท คือ การจำความหมาย (Semantic Memory) กับการจำเหตุการณ์ (Episodic Memory)

การจำความหมายและการจำเหตุการณ์

ความรู้พื้นฐานที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโลก เป็นสิ่งที่เกือบจะไม่มีการลืมเลย เช่น ชื่อของสิ่งต่าง ๆ ชื่อของวันในสัปดาห์ ชื่อเดือนต่าง ๆ ทักษะการคำนวณง่าย ๆ ชื่อฤดู คำ และภาษารวมทั้งข้อเท็จจริงอื่น ๆ ข้อเท็จจริงเหล้านี้เป็นส่วนหนึ่งของความจำระยะยาวที่เรียกว่า การจำความหมาย ซึ่งเปรียบเสมือนพจนานุกรมทางจิต หรือสารานุกรมเกี่ยวกับความรู้พื้นฐาน
การจำความหมาย จะไม่เกี่ยวข้องกับเวลาและสถานที่ เช่น เราไม่ค่อยจดจำว่าเรียนรู้ชื่อของฤดูต่าง ๆ ครั้งแรกเมื่อไหร่ และที่ไหน ตรงข้ามกับการจำเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการจำเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง จะเป็นการบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตวันต่อวันปีต่อปีเราจำเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้เพียงใด
- งานฉลองวันเกิดเมื่ออายุ 10 ขวบ
- อุบัติเหตุที่ประสบเมื่อปีที่แล้ว
- วันแรกที่เข้ามาในมหาวิทยาลัย
- วนแรกที่พบแฟนคนปัจจุบัน
- อาหารเช้าเมื่อสามวันที่แล้ว
เหตุการณ์เหล่านี้อยู่ในหารจำเหตุการณ์ ซึ่งลืมได้ง่ายกว่าการจำความหมาย เพราะมีเหตุการณ์ใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตเราอยู่ตลอดเวลา

การสร้างความจำ (Consting Memories)

เมื่อเหตุการณ์ใหม่ ๆ เข้าไปในความจำระยะยาว การจำเหตุการณ์เก่า ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลง สูญหาย หรือรับปรุงใหม่ขึ้นอยู่กับ ข้อมูลใหม่ ที่ได้รับ การนำข้อมูลใหม่นี้มาเปลี่ยนข้อมูลเดิมเป็นการสร้างความจำขึ้นมา เช่นให้คนกลุ่มหนึ่งดูภาพรถชนกัน หลังจากนั้นถามว่า "ขณะที่ ชนกันนั้นคิดว่า วิ่งเร็วเท่าใด"โดยใช้คำต่าง ๆ กันแทนคำว่าชน ได้แก่คำว่า
-ประสานงา
-กระแทก
-ปะทะกัน
หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ ถามคนกลุ่มนี้อีกครั้งว่าอุบัติเหตุที่เห็นจากภาพนั้นเห็นกระจกแตก หรือไม่พบว่าผู้ที่ถูกถามด้วยคำว่า "ประสานงา"จะตอบว่าเห็นทั้งที่จริง ๆ แล้วในภาพจะไม่มีกระจกแตกทั้งนี้เป็นเพราะคนกลุ่มนี้ได้
นำข้อมูลใหม่(ประสานงา) เข้าไปเปลี่ยนข้อมูลเดิม จึงเห็นได้ว่าการจำของเราไม่ได้บันทึกแบบภาพยนตร์หรือวิดิทัศน์ซึ่งจะเหมือนเดิมทุกอย่าง หากแต่ความจำของเราเปลี่ยนแปลงได้ถ้าข้อมูลใหม่มาสอดแทรกทำให้เกิดความจำผิด ๆ (pseudo memory)
ขึ้นและเรามักจะเชื่อว่าเราได้ถูกต้องแล้ว ตัวอย่างที่เห็นชัดในชีวิตประจำวัน คือ การชี้ตัวผู้ต้องหา พยานอาจจำผิด เพราะนำข้อมูลใหม่ไปผสมกับข้อมูลเก่า ทำให้ตัวผู้บริสุทธิ์เป็นผู้กระทำผิดได้ แต่พยานยืนยันว่าตนจำได้อย่างแม่นยำ

การจัดการ(Organizztion)

ความจำระยะยาวมีการจัดการข้อมูลในระดับสูง เช่น ให้บอกชื่อญาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราจะไม่บอกชื่อสะเปะสะปะไปเรื่อย ๆ หากมักจะเริ่มบอกชื่อญาติที่ใกล้ชิดที่สุดแล้วจึงค่อย ๆ ขยายออกไปคือเริ่มจาก พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลูกพี่ลูกน้อง ฯลฯ การจัดการข้อมูลในความจำระยะยาวไม่จัดเรียงตามตัวอักษร แต่มักจัดตามกฎเกณฑ์จินตภาพ ประเภท สัญลักษณ์ ความคล้าย หรือความหมาย(Atkinson และ shiffrin, 1971)เช่น ถ้าถาม 2 คำถามนี้ แล้วดูว่าคนจะตอบคำถามใดเร็วกว่ากัน
- คีรีบูนเป็นสัตว์ใช่ไหม
- คีรีบูนเป็นนกใช่ไหม
พบว่าคนจะตอบว่า "ใช่" ในประโยคหลังเร็วกว่าประโยคแรก เพราะนักจิตวิทยาเชื่อว่าการจัดการข้อมูลในความจำของเราอยู่ในแบบเครือข่าย (network model) ของความคิด สิ่งที่เชื่อมโยงกันในเครือข่ายที่ใกล้กว่าจะทำให้สรุปคำตอบได้เร็วกว่า ดังนี้

สัตว์ -------->>กินได้-->> เคลื่อนไหวได้---->> หายใจได้

นก -------->> มีปีก ------->> บินได้ ------>> มีขน

คีรีบูน------>> สีเหลือง ------>> ร้องเพลงได้

จะเห็นได้ว่า คำว่า คีรีบูนอยู่ใกล้กับนกมากกว่าใกล้กับสัตว์ เราจึงเชื่อมโยงคำว่านกได้เร็วกว่าคำว่า สัตว์

การจำความหมาย มักมีการจัดการในระดับสูง การจัดการนี้เกี่ยวกับความสามารถในการจำ คนที่มีการจัดการข้อมูลดี และทำให้ข้อมูลมีความหมาย มักจะเป็นคนที่มีความจำดี
นอกจากนั้น ความจำของเรายังจัดการข้อมูลให้อยู่ในลักษณะสคริปต์(Script)ซึ่งคล้ายๆ กับการสรุปแบบร่าง หรือโครงร่างของเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน(Schank และ Abelson, 1977 ) เช่น สคริปต์เกี่ยวกับร้านอาหาร ประกอบด้วย
- บุคคล ได้แก่ ลูกค้า บริกร แม่ครัว แคชเชียร์
- สื่อประกอบ ได้แก่ โต๊ะ รายการอาหาร ใบเสร็จ เงิน
- เหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิด ได้แก่ การเข้าร้าน การนั่งโต๊ะ การให้รายการอาหาร การสั่งอาหาร ฯลฯ
สคริปต์ช่วยให้เราเข้าใจและจำเหตุการณ์ได้ง่ายขึ้น

1.4 การวัดความจำ

การจำของเราไม่ได้อยู่ในลักษณะจำได้ทั้งหมด หรือไม่ก็จำไม่ได้เลย (all- or - none) เราอาจจำได้บางส่วน เช่น จำคำที่ต้องการไม่ได้ แต่จำอักษรตัวต้นและตัวท้ายได้หรืออาจจำความหมายได้หากนึกคำไม่ออกเพราะติดอยู่ริมฝีปาก ดังนั้นเราจึงมีวิธีวัดความจำ 4 แบบ คือ การระลึกได้(Recall) การจำได้ (Recognition) การเรียกซ้ำ (Relearning) และการบูรณาการใหม่(Reintegraion)

 

  • การระลึกได้(Recall) หมายถึง การถอดแบบข้อมูลหรือข้อเท็จจริง โดยวิธีที่ใช้ทดสอบการ ระลึกได้นี้ คือ การให้จําทุกตัวอักษร (คําต่อคํา)
    เช่น ท่องอาขยานได้ทุกตัวอักษร โดยไม่มีสิ่งช่วยกระตุ้นความจำ ในการระลึกได้มักพบว่าจำคำต้นๆ และคำท้ายๆ ได้ดีกว่าคำในช่วงกลาง ซึ่งเรียกผลของลำดับที่แสดงเป็นกราฟได้ดังนี้

    คำสุดท้ายมักจะจำได้ดีที่สุดเพราะยังอยู่ในความจำระยะสั้น คำต้นๆ ก็ยังจำได้อยู่เพราะอยู่ในความจำระยะสั้นที่สามารถทบทวนได้ ส่วนคำในช่วงกลางนั้นไม่อยู่ทั้งในความจำระยะสั้นและความจำระยะยาวจึงมักเลือนหายไป
  • การจำได้ (Recognition) เป็นการวัดความจำโดยมีสื่อกระตุ้น หรือชี้แนะให้จำได้ เช่น ข้อสอบแบบเลือกตอบ หรือการที่นึกชื่อเพื่อนสมัย ป. 6 ไม่ออก เมื่อนำรูปมาดูก็อาจนึกออก การจำได้นี้จะมีผลดีถ้ามีรูปถ่าย หรือการได้เห็นสิ่งอื่นๆ มาช่วย ดังคำพูดที่มักกล่าวว่า "จำชื่อไม่ได้แต่จำหน้าได้" การจำได้นี้วัดความจำได้ดีกว่าการระลึกได้ ตำรวจจึงนิยมให้พยานชี้ตัวผู้ต้องสงสัยจากภาพภ่าย หรือสเก็ตภาพให้พยานดู แต่การจำได้จะถูกต้องมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่นำมาให้เลือกด้วย ถ้าสิ่งที่นำมาให้เลือกคล้ายกับสิ่งที่ถูกต้องมากเพียงใด การจำได้ก็มีข้อผิดพลาดมากเพียงนั้น เช่น ข้อสอบแบบเลือกตอบ ถ้าข้อคำถามที่นำมาล่อคล้ายกับข้อที่ถูกต้องมากการจำพลาดก็มีมาก
  • การเรียนซ้ำ (Relearning) การเรียนซ้ำเป็นการวัดความจำประเภทหนึ่ง บางครั้งสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มา เราไม่อาจระลึกหรือจำได้ แต่เมื่อให้เรียนซ้ำอีกปรากฏว่าเราเรียนได้เร็วขึ้น ใช้เวลาเรียนน้อยกว่าเดิม เพราะได้เคยมีคะแนนสะสม (Saving Score) ไว้แล้ว เคยใช้เวลาเรียน 1 ชั่วโมง และระลึกได้อย่างถูกต้อง หลังจากนั้น 2 ปี ไม่อาจระลึกสิ่งที่เคยเรียนได้เลย เมื่อให้เรียนซ้ำ ใช้เวลาเพียง 45 นาที ก็ระลึกได้หมด นั่นคือสามารถประหยัดเวลาเรียนได้ 15 นาที หรือมีคะแนนสะสมอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ (15 นาที เท่ากับ 25 % ของชั่วโมง)
  • การบูรณาการใหม่ (Reintegration) การบูรณาการใหม่ หมายถึง การที่ความจำหนึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความจำอื่นๆ ตามมา เรียกได้ว่าประสบการณ์ในอดีตทั้งหมดถูกสร้างขึ้นใหม่จากสิ่งที่สะสมไว้แม้เพียงสิ่งเดียว เช่น ไปพบภาพเมื่อครั้งไปเที่ยวเชียงใหม่เข้าก็กระตุ้นให้นึกถึงภาพการเดินทางด้วยรถไฟในครั้งนั้น นึกถึงความสนุกสนานที่เกิดขึ้นบนรถไฟ นึกถึงความเหนื่อยล้าเมื่อเดินขึ้นดอยสุเทพยังได้กลิ่นกุหลาบที่ภูพิงค์ราชนิเวศน์อยู่เลย และอื่นๆ ต่อไป .......การจำประเภทนี้มักเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคลมากกว่าการเรียนรู้อื่นๆ

1.5 การลืม (Forgetting)

อาจกล่าวได้ว่า การลืมส่วนใหญ่เกิดขึ้นทันทีภายหลังการจำ เฮอร์แมน เอบบิงเฮาส์ (Herman Ebbinghaus, 1885 ) ทำการทดสอบ ความจำ หลังการเรียนรู้คำที่ไม่มีความหมายในช่วงเวลาที่ต่างๆ กัน และได้สร้างโค้งการลืมออกมา ดังรูป จะเห็นได้ว่า การลืมจะมีมากในช่วงแรก และน้อยลงในช่วงหลังๆ ถ้าต้องการให้จำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดี จึงควรอ่านหนังสือวันละเล็กละน้อย ทุกวันและทบทวนอีกครั้งก่อนสอบ

สาเหตุของการลืม

การลืมมีสาเหตุหลายประการ คือ

  1. การไม่ได้ลงรหัส (Encoding Failure)
    การลืมอาจเกิดขึ้นเพราะไม่ได้มีการจำตั้งแต่แรก เช่น ถ้าถามว่าด้านหลังธนบัตรในละ 20 เป็นรูปอะไร มีลักษณะอย่างไร คงมีหลายคน ที่ตอบไม่ได้ เพราะในการเรียนรู้ความแตกต่างของธนบัตรในละ 10, 20, 50 และ 100 บาทนั้น เรามักจะสังเกตที่สี, ขนาด และตัวเลขที่ระบุไว้ มักจะไม่ได้สังเกต และลงรหัสบันทึกรูปที่อยู่ด้านหลังธนบัตรจึงจำไม่ได้
  2. เสื่อมสลาย (Decay)
    การลืมเกิดจากการเสื่อมสลายของรอยความจำตามกาลเวลา การเสื่อมสลายนี้เป็นการลืมที่เกิดขึ้นในความจำจาก การรับสัมผัส และความจำระยะสั้น คือข้อมูลเก่าจะเลือนหายไป และถูกแทนที่โดยข้อมูลที่ใหม่กว่า
    ข้อมูลในความจำระยะยาว อาจเสื่อมสลายได้เพราะ การไม่ได้ใช้ (Disuse) ทำให้รอยความจำอ่อนลงและไม่อาจดึงข้อมูลออกมาได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่อาจหาข้อพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัด เพราะเราไม่ได้ลืมข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ทุกข้อมูล
  3. การลืมเพราะขึ้นอยู่กับสิ่งชี้แนะ (Cue-Dependent Forgetting)
    บ่อยครั้งที่เราจำได้ แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ ที่เรามักจะพูดกันว่า "ติดอยู่ที่ริมฝีปาก" แสดงว่าเราคำตอบ แต่ดึงออกมาไม่ได้ การลืมเช่นนี้น่าจะเกิดเพราะสิ่งชี้แนะที่เกิดในเวลาเรียนรู้ ไม่ได้เกิดในเวลาที่ต้องการดึงความจำออกมา เช่น ถ้าถามว่าคุณทำอะไรในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 คุณอาจจะคิดไม่ออก แต่ถ้ามีการเตือนความจำว่าในวันนั้นมีการปฏิวัติเกิดขึ้น คุณอาจจะคิดออกทันที เช่นเดียวกับ การที่นักศึกษา บางคนเลือกที่จะสอบห้องเดียวกับที่เรียน (ถ้าเลือกได้ ) เพราะรู้สึกว่าทำให้จำสิ่งที่เรียนได้มากขึ้น
  4. การรบกวน (Interfere)
    การเรียนรู้ใหม่สามารถรบกวนการเรียนรู้เก่า ทำให้เกิดการลืมได้ เกิดขึ้นทั้งในความจำระยะสั้น และระยะยาว การรบกวนมักเป็นสาเหตุสำคัญของการลืม การรบกวนมี 2 ประเภท คือ
    Retroactive Inhibition เป็นการที่เรียนรู้ใหม่รบกวนการเรียนรู้เดิม ถ้าไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ Retroactive Inhibition ก็จะไม่เกิดส่วน
    Proactive Inhibition เกิดเมื่อสิ่งที่เรียนรู้เดิมรบกวนสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ เช่น อ่านหนังสือเตรียมสอบวิชาจิตวิทยาเสร็จแล้วก็อ่านเพื่อเตรียมสอบวิชาสังคมวิทยาต่อ พบว่าจะจำวิชาสังคมวิทยาไม่ได้ดี แต่ถ้าจำวิชาจิตวิทยาไม่ได้ ก็เพราะเกิด Retroactive Inhibition ขึ้น ดังนั้น ในการเตรียมตัวสอบจึงควรเตรียมตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่มาอ่านทุกวิชาในเดียวกัน
  5. การเก็บกด (Repression)
    นักจิตวิทยาพบว่าคนเรามักจะจดจำเหตุการณ์ที่มีความสุขหรือสิ่งดี ๆ ในชีวิตได้มากกว่าเหตุการณ์ที่ผิดหวังหรือไม่น่ารื่นรมย์ ลักษณะเช่นนี้ เรียกว่า การเก็บกด หรือการจูงใจเพื่อลืมความจำที่เจ็บปวดหรือความละอายจะถูกเก็บกดให้อยู่ในจิตใต้สำนึก ตัวอย่างของการเก็บกดเช่น การลืมความล้มเหลวในอดีต ลืมชื่อบุคคลที่ไม่ชอบ ลืมการนัดหมายที่ไม่ต้องการไป ฯลฯ การเก็บกดนี้จะต่างจากการระงับ (Suppression) ซึ่งเป็นความพยายามหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่คิดถึงบางสิ่งบางอย่าง เช่นหลีกเลี่ยงที่จะไม่คิดถึงการสอบในอาทิตย์หน้า การระงับเป็นการกระทำในระดับจิตสำนึก ส่วนการเก็บกดอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก

2. การคิด (Thinking)

การคิดหรือการรู้การเข้าใจ หมายถึง การจัดแจงทางจิต และการรวมกันของ จินตภาพ (images) มโนทัศน์ (concepts) คำพูด (words) กฎ (rules) สัญลักษณ์ (symbols) และคำสอน (precepts) หรืออาจเรียกได้ว่า การคิดเป็นการแสดงปัญหาหรือสถานการณ์ขึ้นภายในจิต (internal representation) เช่น นักเล่นหมากรุกจะเดินหมากแต่ละตัวต้องคิดก่อน โดยมีภาพการเดินหมากแต่ละตัวขึ้นในสมอง การคิดนี้ มีทั้งมนุษย์และสัตว์ วูฟแกง โคเลอร์ (Wolfgang Kohler, 1925) แสดงให้เห็นว่า ซิมแปนซีชื่อสุลต่านสามารถแก้ปัญหา หยิบกล้วยมากินได้ เมื่อให้ไม้ที่มีความยาวหลายขนาด อยู่ใกล้ตัวโดยมีกล้วยอยู่ห่างออกไป สุลต่านได้ใช้ไม้ยาวเขี่ยไม้ยาวมา และใช้ไม้ยาว เขี่ยกล้วยมากิน การแก้ปัญหาเช่นนี้เรียกว่า การหยั่งเห็นคำตอบทันที (insight) ซึ่งเป็นการจัดการกับส่วนประกอบของปัญหาใหม่ เพื่อให้ได้คำตอบ สุลต่านอาจจะคิดลองผิดลองถูกขึ้นมาภายในใจก่อนลงมือทำ

2.1 หน่วยพื้นฐานของความคิด (Basic Units of Thought)

หน่วยพื้นฐานของการคิดประกอบด้วย จินตภาพ (images) การตอบสนองทางกล้ามเนื้อ (muscular response) มโนทัศน์ (concepts) และภาษา หรือสัญลักษณ์ (language or symbols) หน่วยพื้นฐานทั้ง 4 นี้ จะใช้ร่วมกัน ในสถานการณ์ที่ต้องใช้ความคิดที่ยุ่งยาก ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดของแต่ละหน่วยต่อไป

จินตภาพ (Image)
เมื่อพูดถึงจินตภาพ เรานึกถึงภาพ "ภาพ" ในใจ แต่เราพบว่าจินตภาพรวมถึงการรู้สึกสัมผัสอื่นๆ ด้วย เช่น จินตภาพของขนมปัง หมายรวมถึง รูปร่างและ กลิ่นหอมของขนม คนแต่ละอาชีพใช้จินตภาพต่างกัน เช่น จิตรกรมักมีจินตภาพที่เป็นการเห็น นักดนตรี มีจินตภาพเป็นเสียง เป็นต้น จะอย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่า คนส่วนมาใช้จินตภาพในการคิดและแก้ปัญหา จินตภาพสามารถสะสมไว้และนำมาใช้เมื่อต้องการได้ เช่น ถ้าถามว่ายางรถยนต์เก่าๆ ใช้ทำอะไรได้บ้าง พบว่าในการตอบปัญหานี้ จะมีภาพการใช้ยางรถยนต์ทำประโยชน์ต่างๆ ที่เราเคยเห็นเกิดขึ้นในใจ ก่อนที่จะให้คำตอบว่าใช้ทำชิงช้า กระถางต้นไม้ ฯลฯ นอกจากนั้นยังสามารถสร้างจินตภาพขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ เช่น ไอสไตน์เคยบอกว่าการคิดของเขานั้นเหมือนการเล่นในใจด้วยจินตภาพทางการเห็น และการเคลื่อนไหว จากนั้นกระบวนการคิดขั้นสุดท้ายของเขาจะแปลเป็นภาษาหรือสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์
การตอบสนองทางกล้ามเนื้อ หรือจินตภาพทางกล้าเนื้อเป็นการน่าประหลาดใจว่าเราคิดด้วยร่างกายพอๆ กับคิดด้วยสมอง บรูเนอร์ (Bruner, 1966) เชื่อว่า เราใช้จินตภาพทางกล้ามเนื้อแทนสิ่งของด้วยการกระทำภายใน (implicit actions) ขึ้น เช่น ถ้าให้เพื่อที่ไปดูการแข่งขันกีฬามาเล่าเรื่องการแข่งขันให้ฟัง พบว่าเพื่อนจะแสดงท่าทางประกอบให้ดูด้วย ขณะที่นั่งคิดเฉยๆ ก็ยังมีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ แม้จะเพียงเล็กน้อยที่เรียกว่าการเคลื่อนไหวจุลภาค (micro movement) แต่ก็ยังสามารถวัดได้

มโนทัศน์ (Concept )
มโนทัศน์เป็นความคิดหรือคำพูดที่ใช้แทนประเภทของสิ่งของหรือเหตุการณ์ มโนทัศน์เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการคิด เพราะช่วยทำหน้าที่ ในระดับนามธรรม การสร้างมโนทัศน์เป็น กระบวนการแบ่งข้อมูลเป็นประเภทๆ ที่มีความหมาย ในวัยเด็กการสร้างมโนทัศน์ต้องอาศัย ตัวอย่างประสบการณ์ทั้งทางบวกและทางลบของมโนทัศน์นั้นๆ เช่น ในการจะเรียนรู้มโนทัศน์ "สุนัข" เด็กจะต้องเห็นตัวอย่างทั้งที่เป็นสุนัข และไม่ใช่สุนัข เพื่อจะจำได้ว่าอะไรคือ สุนัข ในวัยผู้ใหญ่ เรามักเรียนรู้มโนทัศน์จากการเรียนรู้หรือการสร้างกฎ เช่น สามเหลี่ยมเป็นรูปที่มีด้าน 3 ด้าน เป็นเส้นตรง ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามโนทัศน์ช่วยให้เรานึกภาพสิ่งเร้าได้ถูกต้อง แน่นอนขึ้น เป็นแนวทางให้คิดถึงสิ่งที่สลับซับซ้อน และช่วยจำแนกสิ่งต่างๆ เป็นพวกหรือประเภทได้ ทั้งยังช่วยให้เข้าใจความหมายตามคำจำกัดความของสิ่งนั้น มโนทัศน์มี 3 ประเภทคือ มโนทัศน์ร่วมกัน (conjunctive concept) หมายถึงประเภทของสิ่งของที่มีลักษณะร่วมกันมากกว่า 1 อย่าง บางทีเรียกว่า มโนทัศน์ "และ" เช่น จักรยายยนต์มี 2 ล้อ และเครื่องยนต์ และที่นั่ง
มโนทัศน์สัมพันธ์ (Relational concepts) เป็นการจำแนกสิ่งของตามความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ เช่น ใหญ่ บน เหนือ ซ้าย ฯ
มโนทัศน์มีความหมายตรงข้าม (Disjunctive concepts) หมายถึง สิ่งของที่มีคุณสมบัติอย่างน้อยอย่างหนึ่ง จากหลายๆ อย่าง หรือเรียกว่ามโนทัศน์ "อย่างหนึ่งอย่างใด" เช่น จีบ หมายถึงชื่อขนมชนิดหนึ่ง หรือการทำให้ย่นเป็นรอยจีบ (จีบผ้า) มโนทัศน์นี้ยากแก่การเรียนรู้ เพราะมีความหมายมากกว่า 1 อย่าง
กล่าวโดยทั่วไปมโนทัศน์มีความหมาย 2 อย่าง คือ denotative meaning หมายถึงความหมายตามคำจำกัดความ และ connotative meaning เป็นความหมายตามความรู้สึกหรือบุคลิกภาพ เช่น คำว่าตำรวจ หมายถึง ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ตามคำจำกัดความ ส่วนความหมายของคำว่า ตำรวจตามความรู้สึกนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามความรู้สึกของตาละคน

ภาษา (Language)
การคิดเกือบทั้งหมดต้องอาศัยภาษาแม้จะมีการคิดบางอย่างที่ไม่ต้องอาศัยภาษาก็ตาม ภาษาเป็นการทำในสิ่งต่างๆ ในโลกให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ซึ่งง่ายแก่การจัดกระทำนอกจากนั้นภาษายังเป็นแหล่งประสบการณ์ ความคิด เพื่อใช้ในปัจจุบันหรือเพื่อชนรุ่นหลังได้ด้วย
การศึกษาความหมายของคำและภาษา เรียกว่า ซีแมนติกส์ (Semantics) ซีแมนติกส์ จึงเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาษากับความคิด เช่น ถ้าให้วงคำต่อไปนี้ที่ไม่เหมือนคำอื่นๆ
ตึกระฟ้า โบสถ์ วัด คนสวดมนต์ คุณอาจจะวงคำว่า คนสวดมนต์ เช่นเดียวกับที่คนส่วนใหญ่ทำ แต่ถ้าคำเรียงลำดับตามนี้
โบสถ์ คนสวดมนต์ วัด ตึกระฟ้า
คุณคงจะวงคำว่าตึกระฟ้า ในฐานที่ไม่เป็นพวกกับคำอื่นๆ จะเห็นได้ว่าการเรียงลำดับคำต่างกันเท่านั้น ก็อาจทำให้ความหมายของคำต่างกันไปได้ เพราะทำให้คนคิดต่างกันนี่เอง ปัญหาของ ซีแมนติกส์ยังอาจเกิดได้จากการที่คำคำหนึ่งมีหลายความหมาย หรือมีความหมายที่ไม่ชัดเจน
ภาษาของแต่ละชาติมีผลต่อระบบการคิดของคนในชาติที่เป็นเจ้าของภาษานั้นๆ ด้วย เช่น ประเทศในอาหรับมีคำกว่า 6,000 คำ ที่หมายถึง อูฐ และชาวเอสกิโมมีคำเกือบ 30 คำ ที่แปลว่าหิมะและน้ำแข็ง ขณะที่ชาวโฮปิ มีคำเพียงคำเดียวเพื่อหมายถึงแมลง เครื่องบิน และนักบิน ความแตกต่างนี้เอง ทำให้นักภาษาศาสตร์ชื่อวูลฟ์ (Whorf) ได้สร้างทฤษฎีการตัดสินทางภาษาศาสตร์ขึ้นเพราะวูลฟ์รู้สึกว่า ภาษาไม่เป็นเพียงแต่เครื่องมือในการจำลองความคิดเท่านั้น แต่ยังได้สร้างความคิดด้วย แต่ละวัฒนธรรม ได้เตรียมสมาชิกของตนให้คิดในหัวข้อเฉพาะเรื่องโดยสร้างคำขึ้นเพื่อจัดประสบการณ์ออกเป็นประเภท ๆ ซึ่งคำหรือภาษาเหล่านี้จะช่วยในด้านการคิดของคนดังนั้นความคิดจึงผูกติดกับภาษาและได้รับอิทธิพลจากภาษา

 

โครงสร้างของภาษา

ภาษามีโครงสร้างที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้


(1) เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนสิ่งของหรือความคิด สัญลักษณ์ที่เป็นคำทางภาษาประกอบด้วย โฟนีม (Phonemes) ซึ่งเป็นเรื่องของคำ และมอร์ฟีน (morphemes) ซึ่งเป็นการรวมเสียงของคำเข้าเป็นหน่วยที่มีความหมาย
(2) มีไวยกรณ์ ซึ่งเป็นกฎที่รวมเสียงเข้าเป็นคำ และรวมคำเข้าเป็นประโยคไวยากรณ์ประเภทหนึ่งเรียกว่าซินแทกซ์ (syntax) เป็นกฎเกี่ยวกับการเรียงคำในประโยคซินแทกซ์เป็นสิ่งสำคัญมากในการสื่อสารด้วยภาษา เพราะถ้าเรียงคำใหม่ ภาษาในประโยคก็จะเปลี่ยนไปด้วย เช่น หมากัดคน ถ้าเรียงคำใหม่จะเป็นคนกัดหมา ดังนั้นจึงต้องเรียงลำดับคำให้ถูกต้อง นอกจากนั้นประโยคที่เป็นภาษาพูดมักจะสั้นเกิน 3 วินาที ทั้งนี้เพราะความจำกัดของความจำระยะสั้นในการพูดนั้น ผู้พูดต้องจำได้ว่าพูดอะไรไปแล้วและยังต้องพูดอะไรอีก ผู้ฟังก็เช่นกันต้องจำคำแรกของประโยคได้ เพื่อจะได้เข้าใจความหมายของทั้งประโยค ถ้าแต่ละประโยคในภาษาพูดยาวไป ย่อมมีปัญหาในการคิดและการสื่อสารได้
(3) เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นที่สุดของภาษา คือ มีผลิตผล (productive) ภาษาสามารถก่อ หรือกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ได้มากมาย นอกจากนั้นเรายังสามารถใช้ภาษาถ่ายทอดความคิดทกอย่างของเราออกมาได้

 

2.2 การแก้ปัญหา (Problem Solving)

เรามีการแก้ปัญหาทุกวัน ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น ทำอย่างไรจึงจะไปให้ทันเวลานัดหมายได้ จนกระทั่งเรื่องสำคัญๆ เช่น ทำอย่างไรจึงจะรักษาเอดส์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาใดก็ตาม จะเริ่มจากการที่เราตระหนักว่าอาจมีคำตอบอยู่ ถ้าเราหาวิธีคิดได้อย่างเหมาะสมแล้ว ย่อมได้คำตอบ
วิธีคิดและหาเหตุผลในการแก้ปัญหา มีดังนี้

(1) การแก้ปัญหา โดยใช้เครื่องจักร (Mechanical Solution) อาจทำโดยการลองผิดลองถูก หรือท่องจำ ในยุคที่นิยมใช้คอมพิวเตอร์อย่างกว้างขวางนี้ ไ
ด้มีนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการแก้ปัญหาแบบลองผิดลองถูกด้วย โดยป้อนคำตอบที่อาจเป็นไปได้ลงในเครื่องและให้ผลสรุปออกมา พบว่าการแก้ปัญหาวิธีนี้จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ถ้ามีคำตอบที่อาจเป็นไปได้หลายๆ คำตอบ
การแก้ปัญหาโดยการท่อง หมายถึงการแก้ปัญหาได้เนื่องจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้และท่องจำไว้แล้ว เช่น เราสามารถแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ เพราะเราจำกฎการการคำนวณคณิตศาสตร์ได้มาก เป็นต้น
(2) การแก้ปัญหา โดยทำความเข้าใจ (Solution by understanding) ปัญหาหลายอย่างไม่สามารถแก้ได้ด้วยเครื่องจักร หรือนิสัยการคิดแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ดังนั้นความเข้าใจซึ่งเป็นการคิดในระดับสูงจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหา ตัวอย่างของการคิดประเภทนี้ คือ ปัญหาที่ดังเคอร์ (Duncker, 1945) ให้นักศึกษาแก้ดังนี้
จะฉายแสงที่มีความเข้มสูงเพื่อทำลายเนื้องอกในกระเพาะอาหารซึ่งไม่สามารถผ่าตัดได้อย่างไร จึงจะสามารถทำลายเนื้องอกได้โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อดีที่อยู่รอบๆ ได้
ดังเคอร์ให้นักศึกษาคิดดังๆ เพื่อเขาจะได้คิดตามกระบวนการคิดได้เขาพบว่าการคิดแก้ปัญหาที่ประสบผลนั้นมี 2 ขั้นคือ
- ขั้นคิดคุณสมบัติทั่วไปของคำตอบที่ถูก (General Properties) นักศึกษาจะค่อยๆ คิดหาวิธีต่างๆ เช่น เคลื่อนเนื้องอกให้มาอยู่ริมๆ และอื่นๆ เป็นต้น
- ขั้นคิดคำตอบที่เป็นไปได้หลายๆ คำตอบ (Functional (workable) solutions) จากนั้นก็จะเลือกคำตอบให้เหลือเพียงคำตอบเดียว คือฉายแสงที่มีความเข้มน้อยจากหลายๆ จุด หรือหมุนร่างของคนคนนั้น ไปเรื่อยๆ ขณะฉายแสงเพื่อไม่ให้แสงไปทำลายเนื้อเยื่อรอบๆ เนื้องอก
(3) การแก้ปัญหาโดยการหยั่งเห็นคำตอบในทันที จากการทดลองของโคเลอร์ (Kohler) ได้แสดงให้เห็นการแก้ปัญหาแบบปรากฏการณ์มองเห็นคำตอบโดยฉับพลันของลิงซิมแปนซี ในคน
ปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นหลังจากคิดแก้ปัญหาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ การหยั่งเห็นคำตอบในทันทีมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและผู้คิดของลิงซิมแปนซี ในคนปรากฏการณ์นี้มักเกิดขึ้นหลังจากคิดแก้ปัญหาแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ การหยั่งเห็นคำตอบในทันทีมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและผู้คิดมักสงสัยว่าทำไมความคิดเช่นนี้จึงไม่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
ปัจจัยที่มีผลต่อการแก้ปัญหา
สิ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาง่ายหรือยากนั้นมีหลายประการ เช่น
- ความยากของปัญหา
- ความใหม่ของคำตอบ
- แรงจูงใจของผู้คิด
- ประสบการณ์เดิมที่เคยแก้ปัญหาคล้ายๆ กันนี้มาก่อน และ
- การยึดติด (Fixation) คือ แนวโน้มที่จะเกาะยึดคำตอบที่ผิด ตัวอย่างที่สำคัญของการยึดติดคือ การยึดติดหน้าที่ (Functional fixedness) หมายถึง การที่ไม่สามารถมองเห็นประโยชน์หรือหน้าที่ใหม่ๆ ของสิ่งที่คุ้นเคยได้
ตัวอย่างของการยึดติดหน้าที่ เห็นได้จากการทดลองของดังเคอร์ซึ่งให้นักศึกษาติดเทียนไว้บนกล่องกระดาษในแนวตั้ง (ดังรูป 7.5 C) โดยมีอุปกรณ์ให้ดังนี้


- เทียน 3 เล่ม ไม้ขีดไฟ กล่องกระดาษแข็ง เป๊กติดกระดาษ และอื่นๆ โดยให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้อุปกรณ์เหล่านี้ในกล่องกระดาษ (ดังรูป 7.5 a) อีกกลุ่มหนึ่งได้อุปกรณ์เหล่านี้ โดยนำออกมาวางไว้บนโต๊ะ (ดังรูป 7.5 b) ดังคอร์พบว่า กลุ่มที่ได้อุปกรณ์ในกล่องจะแก้ปัญหาได้ยากมากเพราะกล่องถูกมองว่าเป็นสิ่งสำหรับบรรจุของมากกว่าที่จะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ

 

2.3 ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การแก้ปัญหาอาจเป็นผลจากการคิดเชิงกลไก การมองเห็นคำตอบทันที หรือขึ้นอยู่กับความเข้าใจ นอกจากนั้นการคิดยังอาจอยู่ในรูปการอุปนัย (Inductive การสรุปกฎเกณฑ์จากข้อมูลย่อย) หรือการนิรนัย (Deductive การคิดจากกฎทั่วไปสู่เหตุการณ์เฉพาะ) การคิดยังอาจเป็นเชิงตรรกะ (Logical) คือการคิดจากข้อมูลทั่วไปสู่ข้อสรุปใหม่อย่างมีหลัก หรืออาจจะปราศจากเหตุ (IIlogical)
ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวข้องกับวิธีการคิดทั้งหมดข้างต้นรวมทั้งความคล่อง ความยืดหยุ่น และความคิดริเริ่ม เช่นดูว่า มีความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากยางรถเก่าๆ หรือไม่ก็ดูจาก

- ความคล่อง ดูได้จากจำนวนข้อเสนอแนะที่คิดขึ้นได้
- ความยืดหยุ่น ดูได้จากจำนวนครั้งที่เปลี่ยนจากประโยชน์ใช้สอยหนึ่งไปสู่โยชน์ด้านอื่นๆ
- ความคิดริเริ่ม ดูว่าข้อเสนอแนะนั้นใหม่ และไม่ธรรมดาเพียงใด

กล่าวโดยสรุป คือ เราดูความคิดสร้างสรรค์จากความสามารถในการคิดหลากหลาย divergent thinking (ความคิดแบบอเนกนัย) ตรงข้ามกับแก้ปัญหา หรือการคิดตามธรรมดาซึ่งจะเป็นการคิดเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว เรียกว่า convergent thinking (ความคิดแบบเอกนัย)
การที่สามารถคิดอะไรได้มากๆ ใหม่ๆ ไม่ธรรมดา คิดได้หลากหลาย ใหม่ๆ ไม่ธรรมดา เป็นความคิดสร้างสรรค์ใช่ไหม ? ความคิดสร้างสรรค์นอกจากจะคิดได้หลากหลาย ใหม่ๆ แปลก ๆ แล้วยังต้องเป็นความคิดที่มีความหมายหรือมีประโยชน์ และสามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้ด้วย

อุปสรรคของความคิดสร้างสรรค์ มีดังนี้
1. อุปสรรคทางอารมณ์ (Emotional barriers) ได้แก่ การกลัวขายหน้า กลัวที่จะทำผิด กลัวแสดงความโง่ออกไป กลัวที่จะถูกวิจารณ์ ฯลฯ
2. อุปสรรคทางวัฒนธรรม (Cultural barriers) ได้แก่ค่านิยมที่ว่าการเพ้อฝันทำให้เสียเวลา การเล่นเป็นเรื่องของเด็กเท่านั้น เหตุผลและตรรกะเป็นสิ่งดีหรือความรู้สึกพอใจและอารมณ์ขัน ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา
3. อุปสรรคทางการเรียนรู้ (Learned barriers) ได้แก่นิสัยต่างๆ ในการรับรู้ที่นำไปสู่ความล้มเหลวในการมององค์ประกอบของปัญหา
ขั้นตอนของความคิดสร้างสรรค์ความคิดสร้างสรรค์มี 5 ขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นนำ (Orientation) มีการนิยามปัญหา และชี้บ่งมิติที่สำคัญ
2. ขั้นเตรียม (Preparation) เป็นขั้นศึกษาลักษณะของปัญหาและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาให้มากที่สุด
3. ขั้นพัก (Incubation) เป็นขั้นที่ดูเหมือนพักความคิดเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหาไว้ชั่วคราวเพราะคำตอบต่างๆ ที่พยายามคิดไว้นั้นดูเหมือนจะไร้ประโยชน์ ผู้คิดจะเลิกคิดเกี่ยวกับปัญหาในระดับจิตสำนึก แต่แท้ที่จริงแล้วยังคงคิดแก้ปัญหาในระดับจิตกึ่งสำนึก (Subconscious level)
4. ขั้นพบ (Illumination) ขั้นพัก มักจบลงด้วยการมองเห็นคำตอบโดยฉับพลัน ทำให้เกิดประสบการณ์ "อะฮ้า" ขึ้น ตัวอย่างที่รู้จักกันแพร่หลายคือ อาคีมิดิส ที่ค้นพบวิธีตรวจสอบอัตราส่วนของทองและเงินในมงกุฎของพระราชาขณะกำลังจะอาบน้ำ และอุทานออกมาว่า "ยูเรก้า ยูเรก้า"
5. ขั้นทดสอบ (Verification) เป็นขั้นที่ทดสอบและประเมินคำตอบที่พบในขั้นที่ 4 ถ้าพบว่าคำตอบไม่ถูกต้อง ก็จะกลับไปอยู่ในขั้นพักอีกครั้ง

บุคลิกภาพของผู้มีความคิดสร้างสรรค์

หลายคนคงอยากรู้ว่าผู้มีความคิดสร้างสรรค์นั้น จะเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ประหลาดๆ และค่อนข้างประสาทจริงตามที่ตนคิดหรือไม่ จากการศึกษาของนักจิตวิทยาชื่อโดนัลด์ แมคคินนอน (Donald Mackinnon, 1968) โดยสัมภาษณ์และทดสอบผู้มีความคิดสร้างสรรค์มีบุคลิกภาพดังนี้
1. แม้ว่าผู้มีความคิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่จะมีสติปัญญาระดับที่เหนือกว่าระดับเฉลี่ย แต่ไม่มีความแตกต่างระหว่าง สติปัญญาของ ผู้มีความคิดสร้างสรรค์สูงกับสร้างสรรค์ต่ำ
2. ผู้มีความคิดสร้างสรรค์จะมีความรู้และความสนใจเรื่องต่างๆ ในระดับสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย และมีความคล่องในการรวบรวมความคิด จากหลายๆ แหล่งมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย กล่าวคือ เมื่อเผชิญปัญหา เขาจะอยู่ในขั้นเตรียม (รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา) อย่างสมบูรณ์แบบทีเดียว
3. ผู้มีความคิดสร้างสรรค์จะเปิดกว้างสำหรับประสบการณ์เสมอ ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นชาย จะแสดงออกถึงบุคลิกภาพส่วนที่เป็นหญิงของเขาได้มากกว่าชาย ที่มีความคิดสร้างสรรค์ต่ำ เช่นเดียวกันกับผู้มีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นหญิง จะแสดงออกถึงบุคลิกภาพที่เป็นชายพอๆ กับที่เป็นหญิงของตน เขาเหล่านี้จะยอมรับความคิดที่ไม่มีเหตุผล หรืออาจกระตุ้นให้มีมากขึ้นเพราะทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ และความคิดริเริ่มที่ไม่เหมือนใคร เขาจะไม่ค่อยหักห้ามความคิด ความรู้สึก และความเพ้อฝันของเขา
4. กลุ่มตัวอย่างของแมคคินนอนจะสนุกกับความคิดเชิงสัญลักษณ์ ความคิดเห็นมโนทัศน์ต่างๆ และความเป็นไปได้ทั้งหมด เวลาทำงาน เขาจะผสมผสานการทำงานเข้ากับการเล่น เขาจะสนใจความเป็นจริง รูปแบบและความสวยงาม มากกว่าการได้รับการยอมรับหรือความสำเร็จ
5. คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงๆ จะมีค่านิยมในเรื่องความเป็นอิสระสูง เขาชอบที่จะถูกท้าทายด้วยปัญหาที่แก้ไม่ตก จะเป็นผู้ที่ไม่ผูกติดกับระเบียบ ไม่คล้อยตามและไม่มีบุคลิกภาพผิดปกติ แต่อย่างใด เขามักจะมีลักษณะดังนี้ด้วย
- ตระหนักถึงบุคคล เหตุการณ์ต่างๆ และปัญหาทั้งหลาย
- มีความคล่องในการใช้ภาษาในระดับสูง
- ยืดหยุ่น
- มีความคิดและการแสดงออกริเริ่ม และมีอารมณ์ขัน
- มีพลังสูง และกระตือรือร้น
- อยู่กับงานที่สนใจได้นานๆ
- ไม่อดทนต่องานซ้ำซาก หรืองานที่เป็นประจำวัน
- ยินดีที่จะเสี่ยง
- มีจินตนาการโชติช่วง
- มีความสามารถด้านนามธรรม การจัดการ และการสังเคราะห์
แม้ว่าบุคลิกภาพของผู้มีความคิดสร้างสรรค์จะเป็นสิ่งที่มีมาในแต่ละคน แต่พบว่าทักษะในการคิดเพื่อสร้างสรรค์นั้นสามารถเรียนรู้ได้

3. แนวทางการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

3.1 การปรับปรุงความจำ

ไม่ว่าเราจะมีพื้นความจำเดิมดีหรือไม่เพียงใด เราสามารถจะปรับปรุงความสามารถในการจำให้ดีได้ โดยทั่วไปเราอาจจำทุกอย่าง ไม่ได้ดี แต่มักจำสิ่งที่เราสนใจ หรือพยามจะจำได้ดี ดังนั้นเราอาจปรับปรุงความสามารถในการจำเพื่อให้การเรียนดีขึ้นได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
(1) รู้คำตอบ การเรียนจะดีถ้าเรารู้ผลย้อนกลับ (Feedback) หรือรู้คำตอบว่าเราเรียนรู้ได้ดีเพียงใด ผลย้อนกลับยังช่วยให้ทราบด้วยว่าเราควรฝึกฝนเรื่องใดเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็เป็นแรงเสริมให้ด้วยเมื่อพบว่าทำได้ถูกต้อง วิธีการสำคัญในการให้ผลย้อนกลับแก่ตนเองก็คือ การท่องจำ
(2) การท่องจำ (Recitation) หมายถึง การพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้วซ้ำๆ กับตนเอง การท่องเป็นการฝึกฝนให้เราสามารถนำข้อมูลที่เรียนรู้ออกมาได้ง่าย ในการทดลองพบว่า ถ้าให้ท่องนักศึกษาจะได้คะแนนการสอบความจำถึง 80 % ขณะที่จะได้เพียง 20 % จากการอ่าน
(3) เรียนซ้ำ ๆ (Overleaning) การศึกษาบ่อยๆ ครั้งทำให้ความจำดีขึ้นหลังจากเรียนรู้จนไม่มีข้อผิดพลาดแล้ว ควรจะยังเรียนต่อไปอีกเพื่อให้สิ่งที่จำนั้นยังอยู่
(4) การเลือก (Selection) มีผู้รู้กล่าว ความจำที่ควรเหมือนตาข่ายจับปลาคือปลาตัวปลาตัวใหญ่ๆ ไว้และปล่อยตัวเล็กๆ ไป ในการเรียนจึงควรย่อใจความสำคัญของสิ่งที่เรียนรู้ให้เหลือแต่ที่สำคัญจริงๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถจดคำบรรยายไว้ เพื่อจะใช้ในการสรุปความสำคัญสั้นๆ ช่วยการจำ
(5) เว้นช่วงการฝึกฝน (Spaced practice) ไม่ควรใช้เวลาอ่านหนังสือติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ถ้าแบ่งเป็นช่วงสั้นๆ (ประมาณ 20 นาที) แล้วพักสักครู่ จะช่วยให้มีความสนใจและความจำมากขึ้น นักศึกษาควรทำตารางเวลาดูหนังสือและปฏิบัติตามตารางที่จัดไว้เสมือนกับว่าเป็นชั่วโมงเรียนที่ต้องเข้าเรียน
(6) จัดระเบียบ (Organize) ถ้าจัดระเบียบสิ่งที่เรียนได้ เช่น ทำเป็นโครงร่างของเนื้อหาทั้งหมด จะช่วยทำให้เรียนง่ายขึ้นและจำได้ดีขึ้น
(7) การเรียนทั้งหมดหรือเป็นส่วนๆ ดีกว่ากัน (whole versus Part Learning) ถ้าต้องจำข้อความที่ไม่ยาวนัก และมีการจัดระเบียบเป็นอย่างดี ควรเรียนที่เดียวทั้งหมด แต่ถ้าเป็นข้อความที่ยาวมาก และยากมาก ควรแบ่งข้อความเป็นส่วนๆ และจำให้ได้ทีละส่วน เช่น แบ่งเป็นส่วนที่ 1, 2 และ 3 พอจำส่วนที่ 1 ได้ ก็จำส่วนที่ 1 และ 2 จากนั้นก็เป็นส่วนที่ 1, 2 และ 3
(8) ลำดับตำแหน่ง (Serial position) จากการเรียนโค้งการจำ จะเห็นได้ว่าลำดับตำแหน่งของคำหรือข้อความที่อยู่ในช่วงกลางๆ มักจะถูกลืม ดังนั้นจึงควรให้ความสนใจ และฝึกฝนคำหรือข้อความในลำดับตำแหน่งกลาง ให้มากขึ้น
(9) การนอน (Sleep) การนอนหลังการเรียนรู้จะทำให้ความจำถูกรบกวนน้อยที่สุด แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถนอนหลังจากที่เรียนได้ทุกครั้ง จึงอาจใช้การหยุดพักแทน
(10) การทบทวน (Review) หลังจากเว้นช่วงการการฝึกฝนและเรียนซ้ำแล้ว ควรมีการทบทวนก่อนสอบอีกอย่างหนึ่ง เพื่อทำให้ความจำดีขึ้น

3.2 อุปสรรคในการคิดและแก้ปัญหา
การคิดและแก้ปัญหาอาจมีอุปสรรคที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนี้
1. การจำกัดรูปแบบการคิด (Regid Mental Set) อย่าจำกัดความคิดอยู่แต่วิธีแก้ปัญหาแบบเก่าๆ เพราะจะเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา
(2) ปัญหาเกี่ยวกับตรรกวิทยา อุปสรรคในการคิดและแก้ปัญหาอย่างหนึ่งคือเหตุผลในเชิงตรรกะวิทยา ตรรกบท (Syllogism) ประกอบด้วยข้ออ้าง (premises) และข้อสรุป (conclusion) ตรรกบทประเมินได้จากเหตุผลที่เที่ยงตรงและข้อสรุปที่เป็นจริง ปัญหาเชิงตรรกสามารถสรุปได้แม้จะมีเหตุผลที่ผิดก็ยอม เช่น
มนุษย์ทุกคนต้องตาย
ผู้หญิงทุกคนเป็นมนุษย์
เพราะฉะนั้นผู้หญิงทุกคนต้องตาย
เหตุผลในตรรกบทนี้เที่ยงตรง เพราะข้ออ้างถูกต้อง และข้อสรุปเป็นจริง ส่วนตัวอย่างข้างล่างนี้
เป็ดทุกตัวมีปีก
นกทุกตัวมีปีก
เพราะฉะนั้น เป็ดทุกตัวเป็นนก
จะเห็นได้ว่าข้อสรุปไม่เป็นจริง สอดคล้องกับการให้เหตุผลของคนบางคน ที่มักอ้างเหตุและสรุปผลตามความนึกคิดของตน และต่างก็คิดว่าการอ้างเหตุผลของตนนั้นถูกต้อง ทั้งที่ความจริงแล้วขัดกับหลักตรรกะ

3.3 การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นทั้งพรสวรรค์และพรแสวง ซึ่งเราสามารถจะส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้ดังนี้
(1) นิยามปัญหาให้กว้าง: การนิยามปัญหาให้กว้างๆ จะทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นเช่นในการคิดเครื่องเปิดกระป๋องแบบใหม่นั้น แทนที่ผู้ประดิษฐ์จะคิดถึงที่ "เปิดกระป๋อง" กลับ คิดถึง "การเปิด" ในลักษณะทั่วๆ ไป วิธีการนี้เองทำให้มีนักคิดผู้หนึ่งแนะนำในธรรมชาติก็มี "การเปิด" อยู่ เช่น การเปิดของฝักถั่วจึงทำให้เรามีกระป๋องซึ่งมีที่เปิดตัวเองดังเช่นปัจจุบัน
(2) สร้างบรรยากาศที่ถูกต้อง จากผลการทดลองพบว่าการตอบสนองที่แปลกใหม่หรือมีจินตนาการนั้น มักเกิดจากการได้อยู่กับตัวแบบที่กำลังทำสิ่งเดียวกัน ดังนั้นถ้าต้องการมี ความคิดสร้างสรรค์ ควรใช้เวลาอยู่กับผู้มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ
(3) ให้เวลาสำหรับขั้นพัก การบังคับตนเองให้คิดหาคำตอบให้ได้นั้นไม่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่ม ควรมีการหัดทำกิจกรรมอื่นๆ คั่นระหว่างการคิดด้วย เพราะจะส่งเสริมให้สร้างสรรค์ได้มากขึ้น
(4) หาข้อมูลจากที่ต่างๆ ความคิดสร้างสรรค์ต้องการการคิดหลากหลาย ดังนั้นจึงควรหาข้อมูลให้ได้มากๆ จากที่ต่างๆ กัน เช่นถ้าคิดปัญหาไม่ออก อาจเปิดพจนานุกรม หาคำที่เกี่ยวข้องกับปัญหาไปเรื่อยๆ อาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้ได้คำตอบก็ได้
(5) การหาอุปมา (Analogy) บ่อยครั้งที่ปัญหาใหม่คือปัญหาเก่าในรูปแบบใหม่เท่านั้นเองเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ ดังนั้นจึงควรมองปัญหาในหลายรูป เช่นการอุปมาโดยตรงการอุปมาคิดฝัน ฯ การอุปมานี้ คือการนำเอาความคิดซึ่งเดิมคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกันมาเชื่อมโยงกันทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน เช่นเครื่อง (เหมือนนก) การรับสารของจอเรดาร์ (เหมือนตาของกบ) เป็นต้น
(6) การระดมสมอง แม้การระดมสมองจะเป็นวิธีการที่ใช้กับกลุ่ม แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการคิดของคนๆ เดียวได้ โดยใช้กฎของการระดมสมองในการคิดสร้างสรรค์ คือ
6.1 ในช่วงต้นของการระดมสมอง จะไม่มีการวิจารณ์ความคิดใดๆ ทั้งสิ้น
6.2 ส่งเสริมให้มีการขาย ต่อเติม หรือผสมผสาน ความคิดทั้งหลายที่มีขึ้น
6.3 ขั้นต้นๆ ของการระดมสมองนั้น ปริมาณของความคิดสำคัญกว่าคุณภาพ ฉะนั้นพยายามคิดให้มากๆ
6.4 ใช้จินตนาการให้เต็มที่ การระดมสมองต้องการความคิดที่แปลกไม่ธรรมดา หรือประหลาดๆ เมื่อได้ครบทั้ง 4 ข้อแล้ว จึงค่อยนำความคิด ทั้งหลายที่ได้มาพิจารณา วิจารณ์ ปรับปรุง สับเปลี่ยน คิดในมุมกลับ และผสมผสานความคิดทั้งหลาย ก็จะได้ความคิดที่สร้างสรรค์

 

สรุป

  1. การจำเป็นระบบ Active มีลักษณะคล้ายคอมพิวเตอร์ คือ รับ เก็บและนำข้อมูลออกมา
  2. รูปแบบของความจำมี 3 อย่างแยกออกจากกัน แต่ยังเกี่ยวข้องกันอยู่ คือ ความจำจากการรับสัมผัส ความจำระยะสั้น และความจำระยะยาว
  3. ความจำจากการรับสัมผัสกินเวลาสั้นมาก และตรงตามที่รับสัมผัสทุกอย่าง เช่น ภาพติดตากินเวลาน้อยกว่าครึ่งวินาที เสียงก้องหู ใช้เวลาน้อยกว่า 2 วินาที จากนั้นข้อมูลบางอย่างที่สนใจจะถูกส่งไปยังความจำระยะสั้น
  4. ความจำระยะสั้นมีความสามารถในการเก็บข้อมูลประมาณ 7ตัว แต่สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่านี้โดยการย่อคำลง ความจำระยะสั้นมักเก็บข้อมูล ในลักษณะของเสียง และไวต่อการถูกรบกวนมาก ความจำระยะสั้นอยู่เพียง 18 วินาที ถ้าไม่มีการทบทวน โดยข้อมูลใหม่จะเข้าแทนที่ข้อมูลเก่า ซึ่งจะหายไปเลย
  5. ความจำระยะยาว ทำหน้าที่เป็นคลังข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความหมาย ความจำระยะค่อนข้างถาวร หรืออาจคงอยู่ตลอดไป และมีความสามารถในการจำไม่จำกัด
  6. ความจำระยะยาวแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ การจำแนกความหมายและข้อเท็จจริง (Semantic memory) และการจำเหตุการณ์ซึ่งเป็นการเรียนรู้ส่วนบุคคลและประสบการณ์ (episodic memory)
  7. "การติดอยู่ที่ริมฝีปาก" แสดงให้เห็นว่าความจำของเราไม่ได้อยู่ในลักษณะจำได้ทั้งหมดหรือจำไม่ได้เลย (all or nothing event) การจำวัดได้โดยการระลึกได้ การจำได้ การเรียนซ้ำและการบูรณาการใหม่
  8. การระลึกได้คือ การที่แสดงสิ่งที่จำเป็นออกมาโดยไม่มีสิ่งชี้แนะหรือสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้น เช่น ข้อสอบอัตนัย ส่วนข้อสอบให้เลือกตอบจากตัวเลือกหลายๆ ตัวนั้น เป็นการวัดการจำได้ เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว การเรียนซ้ำหมายถึง การเรียนสิ่งที่ลืมไปแล้วอีกครั้งซึ่งจะวัดความจำในวิธีนี้ได้จากเวลาและความพยายามที่ใช้ในการเรียนของเก่า ส่วนการบูรณาการใหม่นั้น เป็นการสร้างความจำใหม่จากการกระตุ้นของความจำหนึ่งไปสู่ความจำอื่นๆ
  9. เฮอร์แมน เฮบบิงเฮาส์ เป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาการลืมและการจำ โค้งการลืมของเขาแสดงให้เห็นว่าความจำจะหายไปอย่างรวดเร็วทันทีหลังการเรียน ดังนั้นการทบทวนเป็นครั้งคราวจึงจำเป็นในการเรียน
  10. การไม่ได้ใส่ข้อมูลเป็นสาเหตุทั่วไปของการลืม การลืมในความจำจากการรับสัมผัส และความจำระยะสั้น เป็นการเสื่อมสลายของร่องความจำ ในระบบประสาท การเสื่อมสลายและการไม่ได้ใช้ความจำ อาจทำให้เกิดการลืมในความจำระยะยาวได้แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสาเหตุอื่น
  11. บ่อยครั้งที่การลืมขึ้นอยู่กับสิ่งชี้แนะ นั่นคือ ข้อมูลยังคงอยู่และพร้อมที่จะให้เรียกออกมาแต่ไม่สามารถวัดความจำได้เพราะไม่มีสิ่งชี้แนะปรากฏอยู่
  12. การลืมส่วนใหญ่ทั้งในความจำระยะสั้น และความจำระยะยาวมักจะเกิดจากการรบกันของความจำ retroactive inhibition เป็นการที่เรียนรู้ใหม่รบกวนความจำสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้ว ถ้าการเรียนรู้เดิมรบกวนเรียนรู้ใหม่เรียกว่า proactive inhibition การรบกวนจะน้อยลงถ้ามีการนอนหลับหลังการเรียนรู้ แต่จะไม่ลดลงถ้ามีการเรียนสิ่งใหม่ๆ หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นต่อจากการเรียนรู้นั้น
  13. การเก็บกดคือการลืมความจำที่เจ็บปวดหรือน่าอาย การเก็บกดจะยู่ในระดับจิตใต้สำนึกตรงกันข้ามกับการระงับ ซึ่งเป็นการที่คนเรามีจิตสำนึกในการหลีกเลี่ยงที่จะคิดถึงบางสิ่งบางอย่าง
  14. การคิด คือการจัดกระทำและผสมผสานของตัวแทนของสิ่งเร้าและเหตุการณ์ภายนอกขึ้นภายในจิต
  15. สัตว์อาจแก้ปัญหาโดยการมองหยั่งเห็นคำตอบทันที หรือการลองผิดลองถูกภายในจิต
  16. หน่วยพื้นฐานของการคิดมี 4 อย่าง คือ จินตภาพมโนทัศน์ การตอบสนองทางกล้ามเนื้อและภาษา
  17. คนส่วนมากจะมีจินตภาพภายในไม่อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ จินตภาพนั้นสามารถเก็บรักษาและสร้างขึ้นมาได้
  18. มโนทัศน์ เป็นการกล่าวถึงความคิดเกี่ยวกับประเภทของสิ่งหรือเหตุการณ์ การสร้างมโนทัศน์ขึ้นอยู่กับตัวอย่างทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งกฎการเรียนรู้ มโนทัศน์แบ่งได้เป็น conjunctive (มโนทัศน์ "และ") disjunctive (มโนทัศน์อย่างหนึ่งอย่างใด) และ relational (มโนทัศน์สัมพันธ์)
  19. denotative meaning ของคำหรือมโนทัศน์ คือความหมายตามพจนานุกรม connotative meaning เป็นความหมายส่วนบุคลหรือความหมายตามอารมณ์ของคน
  20. ภาษาเป็นสิ่งที่ช่วยเก็บข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆ ในรูปของสัญลักษณ์ ซึ่งง่ายแก่การจัดกระทำทางจิต การคิดออกมาในรูปของภาษานั้นได้รับอิทธิพลจากความหมาย ซึ่งการศึกษาความหมายของภาษานี้เรียกว่าซีเมนติกส์ การที่ภาษาสามารถปรับความคิดได้นี้เรียกว่าการตัดสินทางภาษาศาสตร์
  21. ภาษาจะมีความหมายได้ด้วยการรวมกลุ่มของสัญลักษณ์ ตามกฎที่เรียกว่าไวยากรณ์และกฎการเรียงลำดับคำที่เรียกว่า ซินแทกซ์ ภาษาที่แท้จริงต้องมีผลผลิต และสามารถกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ ได้
  22. การแก้ปัญหาสามารถทำได้โดยใช้เครื่องจักรกล คือการลองผิดลองถูกหรือประยุกต์กฎต่างๆ ที่ท่องจำได้ ซึ่งมักไม่ค่อยได้ผล จะได้ผลต่อเมื่อใช้คอมพิวเตอร์ช่วย
  23. การหาคำตอบโดยความเข้าใจเริ่มจากการค้นหาคุณสมบัติทั่วไปของคำตอบ จากนั้นก็มาสู่ขั้นคิดคำตอบที่เป็นไปได้หลายๆ คำตอบ
  24. เมื่อความเข้าใจนำไปสู่การจัดการปัญหาใหม่อย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นคำตอบรวดเร็วขึ้น เรียกว่า การหยั่งคำตอบในทันทีทันใด การแก้ปัญหาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีการยึดติดโดยเฉพาะการยึดติดหน้าที่ และอาจไม่ประสบความสำเร็จได้เนื่องจากอุปสรรคทางอารมณ์ ค่านิยมทางวัฒนธรรม อุปสรรคทางการเรียนรู้ และนิสัยในการรับรู้
  25. ความคิดสร้างสรรค์ ต้องมีความคิดหลากหลายที่มีทั้งความคล่อง ความยืดหยุ่น และความริเริ่ม จะเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้ต้องเป็น ความคิดที่มีประโยชน์ มีความหมายพอๆ กับมีความแปลกใหม่
  26. การแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ มักมี 5 ขั้นตอน คือ ขั้นนำ ขั้นเตรียม ขั้นพัก ขั้นพบ และขั้นทดสอบ
  27. ผู้มีความคิดสร้างสรรค์มีบุคลิกภาพหลายอย่าง ซึ่งมักไม่สอดคล้องกับที่คนส่วนใหญ่คิด ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีความสัมพันธ์ กับระดับสติปัญญามากนัก


อ้างอิง ชัยพร วิชาวุธ.ความจำมนุษย์.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,2520 เดโช สวนานนท์.จิตวิทยาทั่วไป.พระนคร:โรงพิมพ์ทำปกเจริญผล,2519 รศ.อุบลรัตน์ เพ็งสถิต.ความจำมนุษย์.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.2535