คิดให้เหมือนดาวินชี หลักในการคิด 7 ประการ

ปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นว่า ความฉลาดของคนเรานั้นมีหลายด้าน ไม่ใช่เรื่องของไอคิวเพียงอย่างเดียว นักจิตวิทยาชื่อดังอย่าง Howard Gardner (เพิ่งมาเมืองไทยไม่กี่เดือนที่ผ่านมา) ได้เสนอแนวคิดเรื่องของ Multiple Intelligences หรือ ความฉลาดในหลายมิติขึ้นมา โดยแยกความฉลาดของคนเรา ออกเป็นเจ็ดด้าน ได้แก่

  1. Logical - Mathematical
  2. Verbal - Linguistic
  3. Spatial - Mechanical
  4. Musical
  5. Bodily - Kinesthetic
  6. Interpersonal - Social
  7. Intrapersonal (Self-Knowledge)

หลักในการคิด 7 ประการของดาวินชี ที่ Michael Gelb ได้รวบรวมข้อมูลจากบันทึกของดาวินชีและจากแหล่งต่างๆ โดย เขาได้ตั้งชื่อแนวทางต่างๆ เป็นภาษาอิตาเลียน เพื่อเป็นเกียรติแก่ดาวินชี และเรียกแนวทางทั้งเจ็ดว่า Seven Da Vincian Principles

หลักข้อแรกคือ Curiosita หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Curious หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ความอยากรู้ อยากเห็น ตามแนวทาง ของดาวินชีเป็นสิ่งที่ดี และเป็นธรรมชาติที่อยู่คู่มนุษย์ ไม่อย่างงั้นผู้อ่านคงไม่ทนอ่านบทความผมถึงจุดนี้ ถ้าท่านไม่มีความอยากรู้อยากเห็น อาจจะบอกได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็น อยู่กับตัวทุกคน เพียงแต่เราจะนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าใช้ในทาง ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ก็จะเป็นกึ่งๆ การ "สอดรู้สอดเห็น" แต่ถ้าใช้ในทางที่ดีก็จะเป็นความอยากจะแสวงหา และพัฒนาความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเวลา ดาวินชีเองเป็นผู้ที่มีความสนใจ ใคร่อยากจะรู้ในสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวตลอดเวลา ดาวินชีเองจะคอยถามคำถามต่างๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาถนัดหรือแม้กระทั่งสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ความอยากรู้อยากเห็น อยากจะทำความเข้าใจ ต่อสิ่งต่างๆ ทำให้ดาวินชีไม่หยุดที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ใส่ตัวตลอดเวลา ดาวินชีเองจะคอยตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่า การตั้งคำถามที่ดี จะช่วยพัฒนากระบวนการในการคิด ซึ่งถ้าเรานำหลักประการนี้ของ ดาวินชีมาใช้ใน การบริหารจัดการ แล้ว เราก็จะพบว่า นวัตกรรม และสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่จะมีจุดเริ่มต้นมาจาก คำถามที่ผู้บริหาร อยากจะรู้ โดยเฉพาะคำถาม ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า 'What if.?' ซึ่งคำถามนี้เองได้ช่วยกระตุ้นให้เกิด นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่มากมาย ผู้อ่านลองใช้คำถามดังกล่าว มาตั้งในการทำงานของท่านดูซิครับ จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นกระบวนการในการคิด และทำให้ท่านได้มอง สิ่งรอบตัวในมุมมองใหม่ครับ

หลักข้อที่สองคือ Dimostrazione หรือการนำความรู้ที่มีอยู่ไปลองใช้จริง เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ และความผิดพลาด ที่เกิดขึ้น เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่า ประสบการณ์เป็นบ่อเกิดที่สำคัญต่อปัญญา และความฉลาดของคน ดาวินชีเองเป็นผู้ที่ให้ความ สำคัญกับ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เป็นอย่างมาก เขาเองจะเป็นเหมือนพวกหัวแข็งในสมัยนั้น ที่ไม่ค่อยจะยอมรับต่อ หลักการหรือ ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เขาไม่ได้มีโอกาสประสบด้วยตนเอง ดาวินชียอมรับว่า การที่จะเรียนรู้จาก ประสบการณ์นั้น มักจะหนีไม่พ้นการเรียนรู้จากความผิดพลาด ดาวินชีเองก็ผิดพลาดในหลายๆ ครั้ง หลายๆ โอกาส แต่เขาเองก็ไม่เคย หยุดที่จะเรียนรู้ เสาะแสวงหาสิ่งใหม่ และทดลองในสิ่งต่างๆ

หลักข้อที่สามคือ Sensazione หรือการปรับปรุงและพัฒนาประสาทสัมผัสทั้งห้าอย่างต่อเนื่อง

ดาวินชีเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสทั้งห้า (การมองเห็น ได้ยิน สัมผัส รสชาติ และกลิ่น) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมองเห็น (ผ่านทางการวาดภาพ) ตามมาด้วยการได้ยิน (ดนตรี) นอกจากนี้ดาวินชี ก็ยังให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการสวมเสื้อผ้า ที่มีเนื้อผ้า ที่ดีที่สุด ในห้องทำงานของดาวินชีจะอบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้ และน้ำหอมตลอดเวลา ส่วนในด้านอาหารนั้น ดาวินชีเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญ ต่อการออกแบบ และรสชาติของอาหาร เราอาจจะไม่ทราบว่า ดาวินชีเป็นคนแรกๆ ที่สร้างสรรค์แนวคิดของการนำเสนออาหาร ที่คำไม่ใหญ่ แต่อุดมด้วยสุขภาพสำหรับ งานเลี้ยงต่างๆ (ผู้อ่านนึกถึงพวกอาหารจิ้มๆ หรือ เวลาไปงานเลี้ยงแต่งงานดูก็ได้) Leonardo da Vinci, "Irrigation systems" of the female body: respiratory, vascular and urino-genital ดาวินชีระบุไว้เลยครับว่า คนเราส่วนใหญ่แล้ว มองโดยไม่เห็น ฟังโดยไม่ได้ยิน สัมผัสโดยไม่รู้สึก กินโดยไม่รู้รสชาติ หายใจเข้าโดยไม่ตระหนักถึง กลิ่นหอม และที่สำคัญที่สุดครับ คือ พูดโดยไม่คิด (ขอนำมาภาษาอังกฤษมาลงนะครับ ผมว่ากินใจดี - looks without seeing, listens without hearing, touches without feeling, eats without tasting, inhales without awareness of odour or fragrance and talks without thinking)

ดาวินชีให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมต่อประสาทสัมผัสของเรา และดาวินชีเองก็ยอมรับว่า สิ่งที่ประสาทสัมผัสเรา ได้รับรู้นั้นเปรียบเสมือนกับเป็น อาหารให้กับสมองด้วย หลักการข้อนี้ของดาวินชีสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารได้เช่นกัน ปัจจุบันเราเรียกร้องให้ พนักงาน มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น พัฒนานวัตกรรมมากขึ้น รวมทั้งการบอกให้พนักงานต้องช่วยกันคิดนอกกรอบ แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ได้สร้าง สภาพแวดล้อม ในการทำงานให้เหมาะสมต่อความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ ในอดีตเป็นที่ยอมรับว่า ในตอนที่เราเป็นเด็กนั้น ถ้าเราได้รับ การกระตุ้นที่เหมาะสมจากสภาวะแวดล้อม ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง แต่ในปัจจุบันมีการค้นพบอีกแล้วครับว่า การกระตุ้นจากสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ก็มีผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการของสมองผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน ผู้อ่านลองมองไปที่พวกอโรมา (การบำบัดด้วยกลิ่น) ที่เป็นที่นิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างใกล้ตัวก็ได้นะครับ Leonardo da Vinci, Studies of light, the human eye and a hammering man

หลักการประการที่สี่เรียกว่า Sfumato หรือความพร้อมที่จะยอมรับต่อความคลุมเครือ (Ambiguity) ความขัดแย้ง (Paradox) และความไม่แน่นอน (Uncertainty)

คงต้องมองย้อนกลับไปที่หลักการทั้ง 3 ประการแรกของดาวินชี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การสืบเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ การพร้อมที่จะเรียนรู้จาก ประสบการณ์ และจากประสาทสัมผัส ทำให้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดาวินชีจะต้องเผชิญกับความคลุมเครือ ความไม่แน่นอน รวมถึงความขัดแย้งใน แนวคิดต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้ดาวินชีเองจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างมากมายในการยอมรับ และเผชิญต่อ ความไม่แน่นอนดังกล่าว และถ้ามองย้อนมาที่ปัจจุบันเราก็คงยอมรับว่าความไม่แน่นอน คลุมเครือ ความขัดแย้งต่างๆ เป็นสิ่งที่เราจะต้องเผชิญมากขึ้น ดาวินชีเองมีความสามารถ ที่จะคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในสิ่งใหม่ ภายใต้ความไม่แน่นอน ได้จากการไม่หมกมุ่น อยู่กับงานมากเกินไป ดาวินชีเคยพูดไว้ว่า "อัจฉริยะที่แท้จริงนั้นในบางครั้งสามารถทำงานให้สำเร็จได้มากขึ้น โดยการทำงานที่น้อยลง" ดาวินชีจะมีการสลับระหว่าง การทำงานและการพักผ่อน อยู่ตลอดเวลา ในหลายๆ ครั้งความคิดชั้นเยี่ยมจะออกมาจาก สมองของดาวินชีในช่วงที่เขาพักผ่อนจากงาน ผู้อ่านลองสังเกตดู จะพบว่าในหลายๆ สถานการณ์เรา จะคิดสิ่งที่ดีๆ หรือสร้างสรรค์ออกมาได้ในช่วงที่เราผ่อนคลายหรือพักผ่อน ตัวผมเองนั้นสังเกตมาหลายครั้งแล้วว่าจะคิดอะไรออกในช่วงอาบน้ำ (ฝักบัวนะครับ) ผู้อ่านต้องลองสังเกตตัวเองว่าช่วงเวลาไหนที่ความคิดของท่านแล่นหรือบรรเจิดที่สุด อาจจะเป็นช่วงที่นอนเล่นอยู่บนเตียง ขับรถฟังเพลง อาบน้ำ แล้วลองดูว่าผู้อ่านเคยได้ความคิดที่ดีๆ ในช่วงเวลาทำงานหรือไม่? คงจะพบสรุปได้ว่าคนเราส่วนใหญ่จะคิดสิ่งดีๆ ออกมาได้ในช่วงที่เราพักผ่อน และอยู่กับตัวเอง เราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานใหม่ คนทำงานจำนวนหนึ่งมักจะใช้เวลาตลอดวันนั่งทำงานอย่างเคร่งเครียด และหมกมุ่น จนเกินพอดี เราสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน และความสนุกในการทำงานได้ด้วยการทำงานติดต่อกันประมาณชั่วโมงหนึ่ง จากนั้นจะต้องพักผ่อน สักระยะ งานวิจัยทางด้านจิตวิทยาระบุว่า เมื่อเราทำงานประมาณชั่วโมงหนึ่งและหลังจากนั้นให้พักผ่อนอย่างจริงจังประมาณสิบนาที เราจะสามารถจดจำงาน หรือสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าทำงานติดต่อกันไปเรื่อยๆ นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเป็น Reminiscence Effect Imagen de Archivo ดาวินชีเองระบุไว้ว่า "จะเป็นการดีถ้าเราหยุดพักจากการทำงานเป็นระยะๆ เนื่องจากเมื่อกลับมาแล้วจะทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น" ดังนั้นผู้อ่านคงจะต้องหาโอกาสและเวลาพักจากการทำงานบ้าง ผมขอนำหลักประการที่หกขึ้นมาก่อนประการที่ห้า เนื่องจากเหตุผลในความสมดุลของเนื้อหาและพื้นที่ของบทความ

หลักประการที่หกของดาวินชีเรียกว่า Corporalita หรือเรื่องของความสมบูรณ์ของร่างกายเราในเชิงกายภาพ

ในหลักประการที่หกนี้ถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ ผู้อ่านลองสำรวจตัวเองดูนะครับ แล้วจะพบว่า เรามักจะไม่ค่อย เชื่อมโยง ระหว่างบุคคลที่ฉลาด กับบุคคลที่มีร่างกายที่สมบูรณ์ (สมบูรณ์ในที่นี้ไม่ใช่อ้วนนะครับ แต่เป็นร่างกายที่ perfect) เรามักจะคิดตลอดครับว่า พวกที่มีรูปร่าง ร่างกายที่เป็นนักกีฬามักจะมีโอกาสยากที่จะเป็นอัจฉริยะ และในทางกลับกัน ผู้ที่มีสมองที่เป็นเลิศ ก็มักจะไม่ใช่ผู้ที่มีร่างกายของนักกีฬา แต่เรื่องนี้ดาวินชีคงจะไม่เห็นด้วยครับ เนื่องจากดาวินชีเอง ถึงแม้จะเป็นอัจฉริยะ แต่ก็ไม่ใช่อัจฉริยะ ที่มีลักษณะตัวเล็ก หัวโต ใส่แว่นหนาเตอะ แต่ดาวินชีเองถือว่า เป็นผู้ที่มีร่างกายที่สมบูรณ์ผู้หนึ่ง คนในยุคเขาเรียก ดาวินชีว่า เป็นผู้ที่มีร่างกายที่สวยงาม (Great physical beauty) ในยุคนั้นดาวินชีมีชื่อมากในเรื่องของความสมบูรณ์ แข็งแรงของร่างกาย มีพยานรู้เห็นที่ระบุว่า ดาวินชีเคยหยุดม้าที่วิ่งอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้มือดึง บังเหียนไว้ (ดาวินชีคงจะยืนอยู่ที่พื้นครับ) หรือแม้กระทั่งนักวิชาการจำนวนมากก็ระบุว่า การที่ดาวินชีให้ความสนใจอย่างมากต่อร่างกายของมนุษย์นั้น ก็เนื่องมาจาก ความสมบูรณ์ในร่างกายของเขาเอง ดาวินชีจะบอกไว้เสมอครับให้รักษาสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี เนื่องจาก ความพร้อมของร่างกาย จะส่งผลกระทบต่อความพร้อมของสมองเรา ถ้าร่างกายเราอ่อนแอหรือเจ็บป่วย ก็ย่อมส่งผลต่อจิตใจและความคิดของเราด้วย คิดว่าผู้อ่านก็คงจะเป็นนะครับ นั่งประชุมอยู่ในท่าเดิมๆ เป็นชั่วโมงๆ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นนอกจาก ร่างกายที่เหนื่อยล้าแล้ว ก็จะหนีไม่พ้นสมองที่เริ่มตัน คิดอะไรไม่ค่อยออก

แนวคิดประการที่หก เรียกว่า Arte/Secienza (เป็นภาษาอิตาเลียน) หมายความว่า การสร้างความสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์ ศิลปะ เหตุผล และ จินตนาการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือการคิดโดยใช้สมองทั้งหมด พวกเราคงทราบอยู่แล้วว่าสมองเรามี 2 ด้าน พวกที่ชอบใช้สมองด้านขวา มักจะเป็นพวกที่ออก แนวศิลป์ เน้นสัญชาตญาณในการตัดสินใจ ส่วนพวกที่ใช้สมองด้านซ้าย จะเป็นพวกที่ชอบหลักการ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการตัดสินใจ ที่เป็นเหตุเป็นผล คนเราส่วนใหญ่มักจะใช้สมองเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ในการคิดตัดสินใจ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นสมองด้านซ้าย (พวกชอบใช้เหตุผล) จะเรียนหนังสือดี มีหลักการ แต่ขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะพวกที่ใช้สมองข้างขวา ก็มักจะรู้สึกว่าตนเองชอบคิดเพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน ขาดหลักเหตุผล ดาวินชีเองถือเป็นอัจฉริยะ ที่ใช้สมองทั้งซีกซ้ายและขวาในการคิด สังเกตได้ว่า ดาวินชีเป็นทั้งนักคิด นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก และในขณะเดียวกัน ก็เป็นศิลปินเอกของโลก (หาได้ไม่กี่คนที่จะใช้สมองทั้งสองข้างได้เก่งเท่าดาวินชี) ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือดาวินชีไม่ได้แยกวิทยาศาสตร์และศิลปะ ออกจากกันชัดเจน ดาวินชีเองยอมรับในหลายโอกาสว่า ในการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้น เขาได้นำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมผสาน ทำให้ดาวินชีเป็นคนที่สามารถมองเห็นทั้งภาพรวม (ใช้สมองข้างขวาเป็นหลัก) และรายละเอียดของสิ่งต่างๆ (ใช้สมองข้างซ้ายเป็นหลัก) ได้พร้อมกัน ปัญหาที่มักจะพบเจอในที่ทำงานก็คือ เรา มักจะยึดติดกับสิ่งที่เราเป็นและมี พวกที่ชอบใช้สมองฝั่งซ้ายก็มักจะคิดตลอดว่า ตนเองขาดความคิดสร้างสรรค์ ส่วนพวกที่ใช้สมองฝั่งขวาก็มักจะคิดว่าตนเองขาดวินัยและคิดเชิงเหตุผลไม่เป็น ในความเป็นจริงแล้วเราต้องรู้จักที่จะพัฒนาการใช้งานสมองทั้งสองด้านไปพร้อมกัน นั่นคือให้เกิดความสมดุลระหว่าง ศิลป์และวิทยาศาสตร์ ระหว่างสัญชาตญาณ และเหตุผล ระหว่างการเล่นและการเอาจริงเอาจัง และระหว่าง การวางแผนกับการทำตามใจตนเอง Tony Buzan antwortet auf eine Frage von Dr. Edward de Bono's Bruder มรดกในการคิดของดาวินชีได้ถูกพัฒนาขึ้นมา เป็นแนวคิดที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ในเรื่องของ Mindmapping (ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Tony Buzan) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสมุดบันทึกต่างๆ ของดาวินชี กล่าวกันว่า การใช้ Mindmapping อย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการฝึกหัดให้ใช้สมองทั้งสมองคิด และทำให้เป็นนักคิดอย่างสมดุล เฉกเช่นเดียวกับดาวินชี ทั้งนี้ เนื่องจากวิธีการคิดแบบเดิมของเราที่คิดเป็นข้อๆ จะทำให้กระบวนการในการคิดขาดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้น ก็รู้สึกเหมือนกับมีสิ่งปิดกั้นหรือขวางความคิดของเราอยู่ ทำให้เปรียบเหมือนเรา ใช้ประโยชน์จากเพียง แค่ครึ่งหนึ่งของสมองเรา ในการคิด แต่การใช้ Mindmap ผสมผสานด้วยศิลปะและรูปภาพใน Mindmap จะเป็นการฝึกหัดให้เราใช้ทั้ง สมองข้างซ้ายและข้างขวา ไปพร้อมๆ กัน

หลักการประการสุดท้าย ของดาวินชี คือเรื่องของ Connessione หรือ การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การคิดเชิงระบบ หรือคิดเชิงองค์รวม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ Syetems Thinking

ดาวินชีเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามแนวคิดนี้มาตลอด งานหลายๆ ชิ้นของดาวินชีแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเขาในการคิดเชิงองค์กรรวม หรือความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยต่างๆ รูปภาพหลายรูปของดาวินชีก็เป็นผลจากความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปของสัตว์ในเทพนิยาย) แนวคิดในประเด็นสุดท้ายของดาวินชีนี้สอดคล้องกับหนึ่งในแนวคิด ในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน

กลไกสมองของ Leonardo Da Vinci

Leonardo Da Vinci โดยได้เสนอหลัก 7 ประการในการนำไปสู่ความเป็นปราชญ์ ดังนี้

1) มีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และไขว่คว้าหาความรู้อย่างไม่หยุดหย่อน จนเข้าใจในสิ่ง ๆ นั้นอย่างถ่องแท้ เห็นได้ชัดจากการที่ Leonardo Da Vinci ทุ่มเทพลังชีวิตทั้งหมดให้กับการแสวงหาความจริงและความงาม โดยท่านเป็นคนช่างสังเกต และชอบตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา เช่น ท่านมักจะถามว่าในหนึ่งชีวิตของคนเรานั้นจะทำสิ่งใดได้บ้างก่อนจากโลกนี้ไป และในการสังเกตทุก ๆ ครั้ง จะต้องมีการจดบันทึกไว้เสมอ

ประโยชน์ของการจดบันทึก

  • เก็บข้อมูลต่าง ๆ จากการสังเกต และแนวคิดใหม่ ๆ ที่ได้รับ
  • ทำให้แนวคิดใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมาในสมองไม่สูญเปล่า
  • เมื่อเกิดปัญหา ให้เขียนปัญหาลงในสมุดบันทึก หาเหตุผล ปัจจัยต่าง ๆ ข้อแก้ไข ซึ่งจะทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน สามารถมองเห็นปัญหา และหนทางแก้ไขได้ในทุกแง่ทุกมุม
  • ทำให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น
  • ทำให้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง

นอกเหนือไปกว่านั้น Leonardo da Vinci ยังเชื่อว่า เหล็กจะขึ้นสนิม หากไม่ถูกใช้ น้ำจะเน่าเสีย เมื่อไม่มีการหมุนเวียน ความเย็นที่ไม่เคลื่อนตัว จะกลายเป็นน้ำแข็ง เปรียบได้กับสมองของมนุษย์ หากไม่ถูกใช้ ไม่รู้จักขบคิด จะทำให้สมองทื่อ และหมดประโยชน์ไปในที่สุด การฝึกใช้สมองนั้นเริ่มได้จากการสังเกตบุคคล และสิ่งรอบข้าง อย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น อากัปกิริยา การพูดการจา อารมณ์ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูล นอกจากการสังเกตแล้ว การเป็นผู้ฟังที่ดียังเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้เป็นอย่างดี

2) ทดสอบและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับเข้ามาว่าเป็นจริง และน่าเชื่อถือหรือไม่ Leonardo da Vinci เป็นผู้ที่มีโลกทัศน์กว้าง และเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และไม่เคยเชื่อสิ่งใด ๆ ที่ผ่านเข้ามาโดยที่เขาไม่ได้ประสบเอง เพราะเขาเชื่อว่า ศัตรูที่แท้จริงของมนุษย์ คือ การเชื่อในสิ่งต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ดังนั้น เมื่อได้รับข้อมูลใด ๆ ก็ตามให้เก็บข้อมูลไว้อย่าง เป็นกลางก่อน ไม่ควรด่วนตัดสินใจว่าผิดหรือถูก ให้รู้จักเมตตาต่อผู้อื่น แล้วจึงค่อยนำข้อมูลมาทบทวนพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ให้ได้ข้อเท็จจริง แต่ที่สำคัญข้อเท็จจริงที่ได้ในครั้งนี้เป็นเพียง เสี้ยวหนึ่งของความเป็นจริงในปัจจุบันเท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง ที่ได้นี้อาจจะไม่ใช่อีกต่อไป การเปิดใจกว้างเช่นนี้จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และสามารถ รับเอาความรู้ ประสบการณ์ และทักษะต่าง ๆ จากผู้อื่น มาเป็นข้อมูลประกอบในการดำรงชีวิตของเราได้อีกด้วย

 โดยปกติธรรมดาของมนุษย์ มักนำแต่สิ่งที่ดี ๆ ของผู้อื่นมาปฏิบัติตาม แต่ Leonardo da Vinci กลับไม่คิดเช่นนั้น Leonardo da Vinci กล่าวว่าเราควรศึกษาข้อบกพร่อง และความผิดพลาดด้วย เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่นำสิ่งนั้นมาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต

3) ฝึกขัดเกลาประสาทสัมผัส ทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้มีความฉับไว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสาทสัมผัสทางตา ควรให้ความสำคัญก่อนเพราะเชื่อว่า ตาเป็นส่วนที่เปิดรับข้อมูลต่าง ๆ ได้มากที่สุดเป็นอันดับแรก การฝึกประสาทสัมผัสทั้ง 5 หมายความว่า เวลามองสิ่งใดให้ตั้งใจมอง เวลาได้ยินสิ่งใดต้องตั้งใจฟัง เวลาได้รับกลิ่นใดต้องสนใจและรับรู้ได้ เวลาลิ้มรสสิ่งใดต้องแยกแยะได้ และเมื่อสัมผัสสิ่งใด หรือเคลื่อนไหวต้องมีความระมัดระวัง และมีสติอยู่ตลอดเวลา สุดท้าย เมื่อพูดสิ่งใด ต้องคิดตามอยู่เสมอ มนุษย์ส่วนใหญ่มักจะ

  • มองแต่ไม่เห็น ( Look without seeing )
  • ฟังแต่ไม่ได้ยิน ( Listen without hearing )
  • สัมผัสแต่ไม่รู้สึก ( Touch without feeling )
  • ทานแต่ไม่รู้รส ( Eat without tasting )
  • เคลื่อนไหวโดยไม่มีสัมปชัญญะ ( Move without physical awareness )
  • สูดหายใจแต่ไม่รับรู้กลิ่น ( Inhale without awareness of odor of fragrance )
  • พูดโดยไม่คิด ( Talk without thinking )

4) คนที่จะฉลาดได้ ต้องมีแนวคิดดังต่อไปนี้

 1. ยอมรับในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่จีรังยั่งยืนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ เพราะปกติแล้วมนุษย์มักปริวิตก และตื่นตระหนกมากจนเกินไป กับสิ่งที่แปรเปลี่ยนโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการสติแตก ทำให้มองสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังประสบอยู่นั้นไม่ตรงตามความเป็นจริง คือคิดฟุ้งซ่าน ดังนั้น จึงไม่ควรยึดในสิ่งที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันว่า มันจะยั่งยืน ให้คิดเสียว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ให้ทำใจเตรียมพร้อมรับอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ประมาท

 2. ให้มองจุดเปลี่ยนของอารมณ์ จากอารมณ์ปกติ เป็นอารมณ์อื่น ๆ เช่น อารมณ์โกรธ ให้มองว่า มีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้อารมณ์เปลี่ยน และให้พิจารณาแก้ไขตรงสาเหตุนั้น ๆ แต่หากเป็นอารมณ์ดีใจ ให้พิจารณาว่า เป็นเพียงอารมณ์หนึ่งที่ผ่านเข้ามา ไม่มีสิ่งใดยั่งยืน โดยปกติคนเรามักจะรับรู้ไม่ทัน กับจุดที่มีการเปลี่ยนอารมณ์ ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิต จึงเจ็บปวดและรับไม่ได้ และโทษว่าผู้อื่น เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม

ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีเพียง 3 ประการหลัก ๆ คือ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน บุคคลที่เปลี่ยน หรือใจเราเองที่เปลี่ยน ซึ่งเราต้องมองให้ออก และเห็นจุดเปลี่ยนให้ได้ จึงจะไม่มีคำว่า ทำใจไม่ได้ในชีวิต

 3. เมื่อเกิดปัญหา ให้แก้ไขทีละเปราะ และต้องกล้ามองไปถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในปัญหานี้ แล้วลองมองย้อนขึ้นมา เพื่อหาทางแก้ไข หากถึงทางตันแก้ไขไม่ได้ จิตจะรับรู้เอง และถ้าเหตุการณ์นั้นต้องเกิดขึ้นจริง ๆ จิตจะไม่กระเพื่อมและยอมรับได้ นอกจากนี้ การคิดในลักษณะเช่นนี้จะทำให้จิตใจเข้มแข็ง และทำให้เกิดปัญญาเห็นหนทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย

 4. เมื่อเกิดปัญหา ห้ามกลบเกลื่อน และหนีปัญหาโดยเด็ดขาด ต้องกล้าน้อมรับ ค่อย ๆ คิดหาทางแก้ มองปัญหาให้ชัด ๆ ไม่ควรหันไปพึ่งสุรา ยาเสพติด เพื่อให้ลืมปัญหา หาที่สงบ ๆ ทบทวนและพิจารณา หากเกินกำลังให้เข้าหาผู้รู้เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป การฝึกแก้ปัญหาในแต่ละครั้งจะทำให้เราเกิดทักษะ และสามารถเพิ่มขอบเขตความรู้ของตนเองให้มากขึ้นได้อีกด้วย

 และที่สำคัญที่สุดของประเด็นนี้ คือต้องรู้จักเลือกกรณีว่า สิ่งใดเป็นปัญหาจริง ๆ อย่าคิดฟุ้งซ่าน สิ่งใดที่ไม่เป็นปัญหาก็ไม่ต้อง ทำให้มันเป็นปัญหา ต้องพิจารณาให้ถูกต้อง

5) สร้างสมดุลในการมองโลกทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์ นอกจากเราจะศึกษาหาความรู้ทางด้านวิชาการต่าง ๆ ซึ่งถูกควบคุมโดยสมองด้านซ้ายแล้วนั้น ควรให้ความสนใจทางด้านสุนทรียศาสตร์ด้วย เช่น ทางดนตรีและศิลปะ เพราะเป็นการพัฒนาสมองข้างขวา นอกจากนี้ เราควรหัดสร้างมโนภาพกับปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ และลองใส่วิธีแก้โดยนึกเป็นภาพลงไปในนั้นว่าเป็นอย่างไร จะเป็นการหัดมองปัญหานอกกรอบ ซึ่งอาจทำให้ค้นพบความคิดใหม่ ๆ ได้

6) ดูแลร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอในสรีระร่างกายของมนุษย์ สามารถส่งเสริมความฉลาดได้ ดังนี้

 - ความสามารถที่จะใช้ได้ทั้งมือขวาและมือซ้าย เพราะ จะทำให้สมองเจริญเติบโตได้ทั้งสองข้าง ซึ่งจะส่งเสริมความสามารถของเรา ทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์

 - อากัปกิริยาทั้งหลายต้องสมบูรณ์และสง่างาม อธิบายได้โดยทฤษฎีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต คือหากจิตใจเรา กำลังห่อเหี่ยว แล้วเรายังทำร่างกายให้ห่อเหี่ยวตาม จะยิ่งทำให้จิตหดหู่มากขึ้น ไม่เกิดปัญญาในการแก้ไข ดังนั้น ต้องทำร่างกายให้สดชื่น ทั้งการยืน เดิน นั่ง การแสดงอารมณ์ทางสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ต้องประคับประคองจิต ให้ผ่องใสอยู่ตลอดเวลา

7) ต้องหัดสังเกตสหสัมพันธ์ต่างๆของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเราและกับชีวิตของเรา ต้องสังเกตให้เห็นถึงสิ่งที่เชื่อมระหว่าง เหตุการณ์เหล่านั้นให้ได้ เช่น ที่เราต้องมาทำงาน ณ ที่นี้ เพราะเหตุใด เราเป็นผู้เลือกเองหรือไม่ มองให้เห็นถึงปัจจัยต่าง ๆ ให้ชัดเจน เมื่อเกิดปัญหา จะไม่มีการปริวิตก และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น เมื่อมองเห็นความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จะทำให้เรารู้จักการวางตัว และระมัดระวังกิริยาอาการของตนเองได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้เราอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ผู้เขียน : ศ. ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์



Resource : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ กรุงเทพธุรกิจ