สุขภาวะทางปัญญา

สุขภาวะทางปัญญา โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2551

สุขภาพคือสุขภาวะที่สมบูรณ์ ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา สุขภาวะทั้ง ๔ ด้าน เชื่อมโยงกันเป็นบูรณาการ เชื่อมโยงถึงกัน และอยู่ในกันและกัน แต่ละด้านมีองค์ประกอบ ๔ รวมกันเป็นสุขภาวะ ๔ x ๔ = ๑๖

การที่ว่ามีองค์ประกอบด้านละ ๔ ไม่ได้แสดงว่ามีเท่านั้น แต่เป็นการพอประมาณและเพื่อให้จำได้ง่าย

ทางกาย ๔ อย่างเป็นไฉน ทางกาย ๔ อย่าง ประกอบด้วยร่างกายแข็งแรง ความปลอดสารพิษ มีความปลอดภัย ความมีปัจจัย ๔ ซึ่งมาจากการมีสัมมาชีพ

ทางจิต ๔ อย่างเป็นไฉน ทางจิต ๔ อย่างประกอบด้วย ความดี ความงาม หรือ สุนทรียะ ความสงบ ความมีสติ

ทางสังคม ๔ อย่างเป็นไฉน ทางสังคม ๔ อย่างประกอบด้วย สังคมสุขสัมพันธ์หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีในทุกระดับ สังคมเข้มแข็ง สังคมยุติธรรม สังคมสันติ

ทางปัญญา ๔ อย่างเป็นไฉน ทางปัญญา ๔ อย่างประกอบด้วย ปัญญารู้รอบรู้เท่าทัน ปัญญาทำเป็น ปัญญาอยู่ร่วมกันเป็น ปัญญาบรรลุอิสรภาพ

ปัญญาเป็นศูนย์กลาง ถ้าปราศจากปัญญา สุขภาวะทางกาย ทางจิต และทางสังคมก็เป็นไปไม่ได้ การพัฒนาปัญญาต้องนำไปสู่การพัฒนากาย จิต และสังคม การพัฒนากาย จิต และสังคม ต้องนำไปสู่การพัฒนาปัญญาทั้ง ๔ ร่วมกัน จึงเกิดสุขภาวะที่สมบูรณ์ ในที่นี้จะขยายความเฉพาะเรื่องปัญญา ๔ ประการ คือ

(๑) ปัญญารู้รอบรู้เท่าทัน การรู้อะไรแจ่มแจ้งแทงทะลุทำให้เกิดความสุข ความมืด ความไม่รู้อะไร ความไม่แจ่มแจ้ง ทำให้เกิดความบีบคั้น เสมือนคนที่อยู่ในเหวทั้งมืดทั้งไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จะมีความทุกข์ความบีบคั้นอย่างยิ่ง ต่อเมื่อขึ้นมาจากปากเหว มองเห็นได้ทั่วไป เกิดความสุขจากการหลุดพ้นความบีบคั้นของความไม่รู้ การมีปัญญาเห็นโดยรอบ รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ทำให้มีความสุข คนที่รู้รอบที่เรียกว่าเป็นพหูสูต จึงมีความสงบและมีความสุขอยู่ในตัว รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตรงข้ามกับคนที่ไม่รู้ รู้น้อย รู้เป็นส่วนๆ ไม่รู้เชื่อมโยงย่อมอยู่ในความบีบคั้น เหะหะ โวยวาย แก้ปัญหาไม่ตก หลุดไปเป็นพาลได้ง่าย การรู้เท่าทันปัญหาแม้ยังไม่ได้แก้ปัญหา ก็ทำให้ความเป็นปัญหาหมดไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ป้าคนหนึ่งมีความทุกข์มาก เพราะแกพูดอะไรลูกสาวก็ไม่เชื่อแก เมื่อได้รับคำบอกเล่าว่าแบบนี้เป็นกันทุกบ้าน แกอุทานว่า "หรือ ฉันนึกว่าเป็นแต่ฉันคนเดียว ถ้ามันเป็นกันทุกบ้าน ฉันก็ค่อยยังชั่ว" ที่หายทุกข์ก็เพราะมีปัญญารู้เท่าทันว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง หรือ "ธรรมดาเนาะ" เรื่องการมีปัญญารอบรู้ รู้เท่าทัน รวมไปถึงโลกทัศน์และวิธีคิด ถ้ามีโลกทัศน์และวิธีคิดที่ถูกต้องก็ทำให้มีความสุข

การมีปัญญาเข้าใจธรรมชาติตามที่เป็นจริง เห็นความเป็นกระแสของเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) ของสรรพสิ่ง ทำให้ไม่ถูกบีบคั้นจากความเห็นผิด ว่าสิ่งต่างๆ ดำรงอยู่อย่างแยกส่วนตายตัว เมื่อเป็นอิสระจากความบีบคั้นก็ไม่ทุกข์ เมื่อเห็นอะไรเป็นกระแสของอิทัปปัจจยตา ก็จะอยู่ในกระแสแห่งปัญญา มีสุขภาวะเพราะปัญญา

(๒) ปัญญาทำเป็น หมายถึงปัญญาที่เกิดจากการลงมือทำและทำเป็น ในการพัฒนากาย ๔ ประการ และทางจิต ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น การเรียนรู้จากการทำ และเกิดปัญญาที่ทำให้ทำได้ดี ทั้งเรื่องทำให้ร่างกายแข็งแรง ปลอดสารพิษ มีความปลอดภัย สร้างสัมมาชีพ มีปัจจัย ๔ มีจิตใจที่มีความดี ความงาม ความสงบ และความมีสติ ปัญญาในการทำเป็นนี้ย่อมก่อให้เกิดความสุขอย่างยิ่ง

(๓) ปัญญาอยู่ร่วมกันเป็น ได้แก่ปัญญาที่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน (Living together) ไม่ใช่ตัวใครตัวมันเป็นเอกเทศ สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทุกระดับ รวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นชุมชนเข้มแข็ง และประชาสังคม มีการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) การที่มีความเสมอภาคและภราดรภาพจนสามารถรวมตัวร่วมคิดร่วมทำได้ จะทำให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพานและทำให้ทำอะไรๆ สำเร็จได้ง่าย ตรงนี้เป็นอปริหานิยธรรมหรือธรรมะเพื่อความเจริญถ่ายเดียว การอยู่ร่วมกันเป็นต้องสามารถสร้างสังคมยุติธรรม ความยุติธรรมในสังคมเป็นบ่อเกิดของความสุขอย่างยิ่ง การอยู่ร่วมกันเป็นต้องสามารถสร้างสังคมสันติ สามารถแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ขจัดความรุนแรงประเภทต่างๆ มีสันติภาพ สังคมสันติเป็นสุขภาวะทางสังคมอย่างยิ่ง บุคคลควรเรียนรู้ให้เกิดปัญญาอยู่ร่วมกันเป็น

(๔) ปัญญาบรรลุอิสรภาพ ความไม่รู้หรืออวิชชาเป็นเครื่องก่อทุกข์ วิชชา หรือ ปัญญาเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เพราะความไม่รู้มนุษย์ยึดถือตัวตน ของตนเอง เป็นศูนย์กลาง จึงขัดแย้งกับความจริง ความขัดแย้งคือ ทุกขตาหรือความทุกข์ อาการของการเอาตัวเองเป็นใหญ่ประกอบด้วย

ตัณหา อันได้แก่ ความอยากเอาอยากเป็น มานะ อันได้แก่การใช้อำนาจเหนือคนอื่น ทิฏฐิ การเอาความเห็นของงานเป็นใหญ่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ การเอาความเห็นของงานเป็นใหญ่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ บีบคั้นตนเอง และบีบคั้นผู้อื่น ยิ่งมีมากยิ่งก่อทุกข์มาก ถึงอาจก่อให้เกิดจลาจลและสงครามได้ ไม่เป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะอวิชชาจึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ หรือความเห็นแก่ตัว หากลดความเห็นแก่ตัวลงได้มากเท่าไร เรียกว่ามีปัญญาเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น มีอิสรภาพจากความบีบคั้นมากขึ้น ปัญญาและอิสรภาพจึงซ้อนทับอยู่ที่เดียวกัน ผู้ที่หมดความเห็นแก่ตัวโดยสิ้นเชิง ก็มีอิสรภาพหลุดพ้นจากความบีบคั้นโดยสิ้นเชิง มีความสุขอย่างยิ่ง เป็นวิมุติสุข

มนุษย์ควรเรียนรู้เพื่อลดความเห็นแก่ตัวหรือเพื่อบรรลุอิสรภาพ ในทางพุทธได้แก่ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นมรรควิถีที่พิสูจน์มาแล้วว่ามนุษย์จำนวนมากที่ศึกษาบนเส้นทางนี้แล้วบรรลุอิสรภาพได้จริง ตามปรกติมนุษย์ไม่สามารถสัมผัสความจริงได้เพราะติดอยู่ในความคิด การมีสติรู้กายรู้ใจ ทำให้จิตสงบจากความคิด สัมผัสความจริง และถอดถอนจากความยึดมั่นในตัวตนได้ การเจริญสติจึงเป็นเครื่องมือพัฒนาจิตและปัญญาอย่างยิ่งยวด การเจริญสติทำให้เกิดสุขภาวะอันล้ำลึกอย่างไม่เคยเจอมาก่อน ขณะนี้มีผู้ฝึกเจริญสติกันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะพบว่าทำให้ทุกอย่างดีขึ้นหมด เช่น สุขภาพดี สมองดี ความสัมพันธ์ดีขึ้น และเกิดสุขภาวะอันล้นเหลือ เป็นความสุขที่ราคาถูก (Happiness at low cost) เป็นความสุขที่ไม่ต้องการบริโภคมากขึ้น เป็นเครื่องลดบริโภคนิยมอย่างชะงัด ฉะนั้นถ้ามนุษย์เจริญสติกันมากๆ แล้ว นอกจากจะลดความร้อนอกร้อนใจแล้ว จะช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้ดีที่สุด

ขณะนี้มีการเรียนรู้ที่เรียกว่า จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ด้วยวิธีการต่างๆ อันไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา แต่ก็รวมอยู่ที่การเรียนรู้ที่รู้จิตของตัวเอง จิตตปัญญาศึกษาทุกประเภทเป็นไปเพื่อบรรลุอิสรภาพ

โดยสรุปสุขภาวะทางปัญญาเกิดจากการเรียนรู้ที่ทำให้รู้รอบ รู้เท่าทันสรรพสิ่ง เรียนรู้ให้ทำเป็น เรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน และการเรียนรู้เพื่อบรรลุอิสรภาพ การเรียนรู้ดังกล่าวทำให้เกิดสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางปัญญา รวมกันเป็นสุขภาวะที่สมบูรณ์ สุขภาวะที่สมบูรณ์เกิดจากการเรียนรู้ที่ดี การเรียนรู้ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะแสวงหาและช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้พบการเรียนรู้ที่ดี