มนุษยสัมพันธ์ Human Relations
บุคคลทุกคนมักต้องมีกลุ่มมีพวก ตัวอย่างกลุ่ม หรือพวกของกลุ่มบุคคล เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง ทีมงาน สมาคม ชมรม ผู้ทำงานใน หน่วยงาน เดียวกัน หรือแม้กระทั่ง การทำงานในองค์การธุรกิจก็จัดว่า เป็นกลุ่ม หรือพวกประเภทหนึ่ง ประกอบด้วย คนจำนวนมาก มาอยู่ร่วมกัน และทำงานร่วมกันในบทบาทหน้าที่ต่างๆ กันไป ซึ่งแต่ละคน มักมีเพื่อนฝูงร่วมงาน ทั้งที่อยู่ใน ระดับที่เหนือกว่า เท่ากัน และเพื่อนร่วมงานที่ต่ำกว่า ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด บุคคลเหล่านี้ต้องทำงานเกี่ยวข้อง และติดต่อสัมพันธ์กัน
ถ้าหากบรรยากาศ ของความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดี มักส่งผลให้บุคคลนั้นเป็นสุข เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความสุขส่วนใหญ่ ของชีวิตจึงมักขึ้นอยู่กับ มนุษยสัมพันธ์ ทั้งในแง่การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นเพื่อให้มีความสุข ในการอยู่ร่วมกับ บุคคลอื่น และทำงานร่วมกับผู้อื่น
ความหมายของมนุษยสัมพันธ์
มนุษยสัมพันธ์จัดเป็นทั้งศาสตร์ (Science) และศิลป์ (Art) เนื่องจากมีหลักการ และทฤษฎีที่เป็นข้อความรู้ และการนำหลักการ หรือทฤษฎีไปปฏิบัติให้ประสบ ความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยเทคนิควิธีการซึ่งถือเป็น ศิลปะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล จะสังเกตเห็นได้อย่างหนึ่งว่า คนแต่ละคน มีความสามารถในการติดต่อกับผู้ อื่นไม่เท่ากัน บางคนเป็นที่พอใจของคนหมู่มาก มีเพื่อนมากหน้าหลายตา และมีคนที่อยากพูดคุยติดต่อ หรือทำงานร่วมกับเขามากมาย ในขณะที่บางคนไม่ค่อยมีใครอยาก จะเข้าใกล้ หรือทำงานร่วมด้วย นั่นเป็นเพราะเขาขาดศิลปะในการติดต่อกับบุคคลอื่น ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่รู้หลักการว่าควรทำอย่างไร หรือเป็นเพราะนำหลักการไปใช้ไม่ ถูกวิธี ดังนั้น การที่คนเราจะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี และหมั่นฝึกฝนเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ จนสามารถนำหลักการที่เป็นข้อ ความรู้ทางทฤษฎีไปใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ความหมายของมนุษยสัมพันธ์ มีนักจิตวิทยาให้ความหมายไว้หลายท่านพอสรุปได้ดังนี้
อริสโตเติล ( Aristotle ) นักปราชญ์ชาวกรีก อธิบายว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เป็นหมู่เป็นเหล่ามนุษย์ อยู่ร่วมกัน เป็นกลุ่มเป็นพวก มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน การที่มนุษย์อยู่ร่วมกัน ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย ซึ่งเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า การที่ มนุษย์มีสัมพันธ์กัน มนุษย์จึงเป็นสัตว์สังคม ดังที่นักปราชญ์ได้กล่าวไว้
มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง ความสัมพันธ์ในทางสังคม ระหว่างมนุษย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ( 2525 : 402 )
ในปี พ.ศ. 2538 ราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายเพิ่มเติมว่า มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง ความสัมพันธ์ในทางสังคมระหว่างมนุษย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน
มนุษยสัมพันธ์ ( Human Relationships ) เป็นการอยู่ร่วมกันของมนุษย์เป็นหมู่เป็นคณะ หรือกลุ่มโดยมีการติดต่อสื่อสารกัน ระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม เพื่อให้ทราบความต้องการของแต่ละบุคคล หรือกลุ่มรวมไปถึง วิธีการจูงใจ และประสานความต้องการ ของบุคคล และกลุ่มให้ผสมผสานกลมกลืนกันตามระบบที่สังคมต้องการ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ( 2538 : 628 )
มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง การแสวงหา เพื่อทำความเข้าใจ โดยการใช้ลักษณะรูปแบบการ ติดต่อสัมพันธ์กัน ระหว่างบุคคลเป็นผล ก่อให้เกิดความเชื่อมโยง เพื่อให้ได้ผลสำเร็จ ตามเป้าหมายขององค์การ ของแต่ละบุคคล ที่ได้กำหนดไว้ อำนวย แสงสว่าง ( 2544: 99)
มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง กระบวนการจูงใจของบุคคลอย่างมีประสิทธิผล และมีประสิทธิภาพ โดยมีความพอใจ ในทางเศรษฐกิจ และสังคม มนุษย์สัมพันธ์ จึงเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ เพื่อใช้ใน การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี กับบุคคล การยอมรับนับถือ การให้ความร่วมมือ และการให้ความจงรักภักดี ในการติดต่อสัมพันธ์กัน ระหว่างบุคคล ต่อบุคคล ตลอดจนองค์กรต่อองค์กร David, Keith.1977
มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง ศาสตร์ และศิลป์ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างบุคคล เพื่อต้องการให้ได้มาซึ่ง ความร่วมมือ ช่วยเหลือกัน ความรักใคร่นับถือ และความจงรักภักดี
มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง การรู้จักใช้วิธีการที่จะครองใจคนโดยมีความประสงค์ให้บุคคลเหล่านั้นนับถือ จงรักภักดี และให้ความ ร่วมมือร่วมใจ ทำงานด้วยความเต็มใจ
มนุษยสัมพันธ์ เป็นเทคนิคการกระตุ้นให้คน และกลุ่มคน มาเกี่ยวข้องกันทั้งในเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวจน สามารถ ทำกิจกรรมใดๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายโดยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ เพื่อที่จะทำกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล โดยการทำงาน เพื่อส่วนรวมนี้จะเป็น กระบวนการกลุ่มที่ทำงานร่วมกันด้วย ความเต็มใจ เต็มความสามารถ
มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง กระบวนการจูงใจ ให้ผู้ปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ ที่เป็นอยู่ให้เกิดความพึงพอใจในงาน และความสามารถ ทำงาน ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรได้
มนุษยสัมพันธ์ หมายถึง กระบวนการของศาสตร์ที่ใช้ศิลปะสร้างความพอใจ รักใคร่ ศรัทธา เคารพนับถือ โดยแสดงพฤติกรรม ให้เหมาะสมทั้งทางกาย วาจา และใจ เพื่อโน้มนำให้มีความรู้สึกใกล้ชิดเป็นกันเอง จูงใจให้ร่วมมือร่วมใจ ในอันที่จะบรรลุสิ่งซึ่ง พึงประสงค์อย่างราบรื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข
ความสำคัญของมนุษยสัมพันธ์
มนุษยสัมพันธ์ ช่วยทำให้มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ไม่ว่าสังคมขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ แต่ละคนที่มาอยู่ร่วมกันนั้น ต่างก็มี ความแตกต่างกัน ( Individual ) ความแตกต่างกันในเรื่อง ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เจตคติ รสนิยม ความคิดเห็น เชาวน์ปัญญา เป็นต้น แต่ถ้าทุกคนสามารถร่วมใจกัน ระดมความแตกต่างเหล่านี้ แล้วนำมาสร้างสรรค์ ให้เกิดสิ่งที่ดีใหม่ ๆ ขึ้นในสังคม ก็จะก่อให้เกิดเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะการคิดของคนหลายคน ย่อมจะรอบคอบกว่า และมีโอกาสผิดพลาดมีน้อยกว่าการคิดคนเดียว ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไร บุคคลหลาย ๆ คนจึงจะสามารถ ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วย ความเต็มใจ ช่วยกันคิดช่วยกัน ทำอย่างเต็มความรู้ ความสามารถของตนเอง และจะต้องก่อให้เกิดความเข้าใจ อันดีต่อกัน มีความรักใคร่ สมัครสมานสามัคคีต่อกัน มีความเคารพ ยอมรับนับถือ ซึ่งกัน และกัน จริงใจต่อกัน มีเจตคติที่ดีต่อกัน มีเป้าหมายร่วมกัน ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ การสร้างมนุษยสัมพันธ์ ให้เกิดขึ้นใน กลุ่มคนนั้นนั่นเอง มนุษยสัมพันธ์จึงสำคัญมาก ตั้งแต่ หน่วยสังคมตั้งแต่เล็กที่สุดคือ ครอบครัวไปจนถึง หน่วยสังคม ที่ใหญ่ที่สุด คือ สมาคมโลก ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ ลงมาจนเป็นประเทศ ถ้าหากสามารถทำให้คนที่มาอยู่รวมกันนั้น มีความเข้าใจ ซึ่งกัน และกันมีความไว้วางใจกัน มีความปรารถนาจะร่วมมือร่วมใจกัน แบ่งหน้าที่กันทำ กำหนดบทบาท หน้าที่ และ ปฏิบัติหน้าที่ของตน ได้อย่างสมบูรณ์ หน่วยงาน หรือสังคมนั้นก็จะเป็นระเบียบ มีความสุข ความเจริญก้าวหน้า พัฒนาไปสู่ความเป็นสากลได้ ฉะนั้น ผู้นำของกลุ่มต้องมีบทบาทอย่างมาก ในการที่จะทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ โดยอาศัยความรู้ทางมนุษยสัมพันธ์ นำมาสร้างขวัญ กำลังใจ ให้กับผู้ร่วมงาน ให้โอกาสผู้ร่วมงานร่วมแสดงความคิดเห็น และรับฟังเหตุผลซึ่งกัน และกัน ร่วมทำกิจกรรม ให้เกียรติกัน มีความยุติธรรม ให้ความสำคัญแก่ผู้ร่วมงานอย่างจริงใจ มีสวัสดิการดี จะเป็นผลให้เกิดความศรัทธา และความพึงพอใจเกิดขึ้น และในที่สุด คนทำงาน ทุกคน ก็จะทุ่มเทกำลัง และพลังกาย พลังความคิด ร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่ และผู้นำที่สามารถปฏิบัติตน จนก่อให้ เกิดพฤติกรรม ดังกล่าวได้ก็จะได้ชื่อว่า เป็นบุคคลที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี
มนุษย์ทุกคนสามารถฝึกการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีได้ ถ้ามีความปรารถนา มีความตั้งใจจริง พร้อมที่จะฝึกฝน ศึกษาหาความรู้ ประสบการณ์ และนำไปปฏิบัติจริง ๆ เพื่อให้เกิดทักษะในการสร้างความสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ "มนุษยสัมพันธ์" เป็นสิ่งที่เกิดจาก การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มนุษยสัมพันธ์จึงเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ในการเข้ากับคน การเอาชนะใจคน และการครองใจคนทุกระดับ เช่น ผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานกับเพื่อนร่วมงาน และ รวมทั้งคนในครอบครัวด้วย การพูดจาดี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเป็นมิตรกับทุกคนเป็นหลักการแรกที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ในขั้นต่อไป และจำไว้เสมอว่า เราเป็นมนุษย์ต้องปฏิบัติกับคนอื่น เช่นเดียวกับตัวเรา และเราอาจสรุปได้ว่า มนุษยสัมพันธ์มีความสำคัญ ดังนี้คือ
- มนุษยสัมพันธ์ทำให้เกิดสร้างความสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นในกลุ่มสังคม ในหมู่คณะ
- มนุษยสัมพันธ์ทำให้การบริหารงานต่างๆ สามารถก่อให้เกิดการรวมพลัง เพื่อก่อให้เกิด
ความร่วมแรงร่วมใจ เกิดความรักใคร่ สมัครสมานสามัคคีในการปฏิบัติงาน
- มนุษยสัมพันธ์ทำให้สังคมปกติสุข คนในสังคมนั้นๆ อยู่ดีมีสุข
- มนุษยสัมพันธ์ทำให้สร้างความเข้าใจอันดีซึ่งกัน และกัน เป็นการสร้างสรรค์สังคม
- มนุษยสัมพันธ์ทำให้งานต่างๆ ประสบความสำเร็จเพราะเราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราทำงาน
หลายอย่าง คนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกัน และกัน งานจึงจะประสบความสำเร็จ
- มนุษยสัมพันธ์ทำให้คนแตกต่างจากสัตว์อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านจิตใจดังนั้นใน
การอยู่ร่วมกันจึง ทำให้มนุษย์รู้ถึง ความรักใคร่ และไมตรีที่มีให้กัน รวมถึงความต้องการ ที่จะบรรลุจุดหมายด้วยความภูมิใจ
- มนุษยสัมพันธ์ทำให้บุคคลยอมรับนับถือกัน ตระหนักในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
"ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์" (Human dignity) ต้องทำให้คนที่ทำงานร่วมกันรู้ และเข้าใจ ถึงการให้เกียรติกัน เสมอมนุษย์เฉกเช่นเดียวกันคือ การยอมรับคุณค่า ความเป็นมนุษย์นั่นเอง
- มนุษยสัมพันธ์ทำให้งานทุกอย่างบรรลุเป้าหมายตามที่องค์กรต้องการ เพราะทุกคน เคารพในการแสดงความคิดเห็น และ พฤติกรรมการแสดงออกของแต่ละบุคคล อันจะนำไปสู่ความร่วมมือ และ การประสานงานที่ดีนั่นเอง
- มนุษยสัมพันธ์ทำให้คนคล้อยตามได้ หากทำให้จิตใจเขาคล้อยตามได้บุคคลจะเกิดความ ชื่นชอบ และจะพัฒนา ความชื่นชอบ จนเกิด ความศรัทธา และเมื่อบุคคล เกิดความศรัทธาบุคคล ก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามซึ่งการทำให้คนอื่น คล้อยตามต้องอยู่บน เงื่อนไขของความชอบธรรม ก็จะสามารถสร้างมนุษยสัมพันธ์ถาวรได้แต่หากบุคคลกระทำทุกอย่างเพียง เพื่อประโยชน์แห่งตน มนุษยสัมพันธ์นั้นๆ ก็เป็นแค่ชั่วคราว เมื่อความจริงกระจ่างอาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้น ในกรณีเรื่อง การสร้าง มนุษยสัมพันธ์ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ทุกคนมีไมตรีต่อกันทุกคน จึงควรคิด และกระทำในสิ่งดีดี ให้แก่กันเราก็จะได้สิ่งดีๆ ตอบ
สำหรับ เมย์ สมิธ (Dr.May Smith) อธิบายว่า มนุษยสัมพันธ์ มีความสำคัญคือ เพื่อให้การคบหาสมาคมเป็นไปด้วยความราบรื่น เพื่อให้เกิดความพึงพอใจยินดีให้ความร่วมมือในการทำงาน เพื่อให้เกิดความสำเร็จในกิจการที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เพื่อให้มีความเข้าใจอันดีต่อมนุษย์ด้วยกัน และเพื่อให้เกิดความเชื่อถือรักใคร่ซึ่งกัน และกัน
ความสำคัญของมนุษยสัมพันธ์ ในเหตุผลอื่นๆ อาจสรุปได้ดังนี้ คือ
1. ความปลอดภัย มนุษย์ต้องการความปลอดภัย จึงต้องรวมกลุ่มกันสร้างสัมพันธภาพ เช่น บุคคลพยายามรู้จักกับเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ผู้มีอำนาจ หรือมีอิทธิพลต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง
2. เศรษฐกิจ มนุษยสัมพันธ์เพิ่มผลผลิตได้ เพราะมนุษย์มีจิตใจปกติ และเป็นสุข ย่อมสร้างงานอย่างมีประสิทธิผล นั่นคือการมีมนุษยสัมพันธ์จะช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจได้
3. ความว้าเหว่ เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม จะอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ จะรู้สึกเหงา จึงต้องสร้าง และใช้มนุษยสัมพันธ์โดยการคบเพื่อน เพื่อให้คลายเหงา
4. สังคม มนุษยสัมพันธ์ช่วยให้มนุษย์รักกัน ชอบกัน ยอมรับ และคบหาสมาคมกันอันจะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคม
5. การปฏิบัติงาน มนุษย์ไม่อาจปฏิบัติงานโดยลำพังได้ ต้องอาศัย หรือเกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับผู้อื่นเสมอ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องมีเพื่อนร่วมงาน
6. การเมือง มนุษยสัมพันธ์ช่วยประสาน หรือแก้ปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองได้ในลักษณะที่เรียกว่า "กาวใจ"
7. ความสำเร็จ มนุษย์ทั้งหลายต่างก็หวังจะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารองค์การจะต้องคำนึงถึงมากกว่าใคร ๆ โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้สมาชิกในองค์การรู้จักกัน และสามารถประสานงานให้สำเร็จลุล่วงลงได้ด้วยดี
8. ความรัก มนุษย์ต้องการแสดงออกซึ่งความรัก คือ รักบุคคลที่เกี่ยวข้อง และต้องการให้เขารักตอบด้วย จะแสดงออกในรูปของการรักเพื่อนเพศเดียวกัน และต่างเพศ ทั้งความรักอันบริสุทธิ์ และความรักด้วยเพศสัมพันธ์
องค์ประกอบของ มนุษยสัมพันธ์
การสร้าง มนุษยสัมพันธ์ ให้เกิดขึ้น ในกลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด จะต้องคำนึงถึง องค์ประกอบของ มนุษยสัมพันธ์ ซึ่งเป็น ปัจจัยสนับสนุน หรือ เป็นอุปสรรค ของ ความสัมพันธ์ของกลุ่มแล้ว ดำเนิน การสร้างเสริมพัฒนา และปรับปรุงปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นให้เป็น ปัจจัยที่เอื้อต่อ มนุษยสัมพันธ์ ที่ดีให้ได้ สำหรับองค์ประกอบของมนุษย์สัมพันธ์นี้
พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ มีความเห็นว่ามี 3 ประการด้วยกัน ได้แก่ การรู้จักตน การเข้าใจผู้อื่น และการมีสภาพแวดล้อมที่ดี โดยได้เสนอ เป็นแผนภูมิแสดงองค์ประกอบ ของ มนุษยสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ใชัเพื่อ สร้างความสัมพันธ์ ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ในองค์การ อาจกล่าวได้ว่า องค์ประกอบข อง มนุษยสัมพันธ์ ในองค์การประกอบ ด้วยการรู้จักตน การเข้าใจเพื่อนร่วมงาน และการสร้างสภาพแวดล้อม ในที่ทำงานให้ดี ซึ่งอาจจะเขียนเป็นแผนภูมิแสดง องค์ประกอบของ มนุษยสัมพันธ์ ในหน่วยงานได้ ดังนี้
มนุษยสัมพันธ์ | ||
รู้จักตน | เข้าใจผู้อื่น | สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี |
วิเคราะห์ตน | วิเคราะห์ความแตกต่างของผู้อื่น | วิเคราะห์สิ่งแวดล้อม |
ปรับปรุงตน | ยอมรับความแตกต่าง | ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม |
พัฒนาคนให้เข้ากับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม | ||
มนุษยสัมพันธ์ | ||
ตนสุข | ผู้อื่นสุข | สิ่งแวดล้อมดี |
แผนภูมิแสดงองค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์
จากแผนภูมิซึ่งแสดงความสัมพันธ์ในหน่วยงาน จะเห็นได้ว่า มนุษยสัมพันธ์ ใน หน่วยงานมีองค์ประกอบเป็น 3 ประการ คือ การรู้จักตน การเข้าใจเพื่อนร่วมงาน และสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี ในเรื่องของการรู้จักตนนั้น บุคคลควรต้องวิเคราะห์ตน เพื่อให้รู้จักตัวเอง อย่างแท้จริงทั้งลักษณะที่ดี และไม่ดี แล้วปรับปรุงตน ในส่วนที่ เป็นลักษณะที่ไม่ดีซึ่งอาจสร้างปัญหา และ อุปสรรคในการทำงาน และการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น นอกจากจะเป็นแนวทาง ให้วิเคราะห์เพื่อนร่วมงาน และ เข้าใจ เพื่อนร่วมงาน ให้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยยอมรับความแตกต่าง ระหว่างบุคคล และพัฒนาตนให้เข้ากับ เพื่อนร่วมงานได้ดี ส่วนความเข้าใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในที่ทำงานดี จะเป็นตัว กระตุ้นให้บุคคลวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม ในที่ทำงานแล้ว ปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นแนวทางพัฒนาตน ให้เข้ากับที่ทำงานให้ได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดดังกล่าวนั้น จะส่งผลต่อ มนุษยสัมพันธ์ ในองค์การ เมื่อ มนุษยสัมพันธ์ ในองค์การดี ก็จะทำให้บุคคลเป็นสุข เพื่อนร่วมงานสุข และสิ่งแวดล้อม ในที่ทำงานดี ซึ่งหมายถึง ประสิทธิภาพที่ดีของ องค์การ จึงเห็นได้ว่า การศึกษาในเรื่อง องค์ประกอบ ของ มนุษยสัมพันธ์ ดังกล่าว จะข่วยให้ บุคคลเกิดความเข้าใจ และเกิดแรงกระตุ้น ในการประพฤติปฏิบัติให้เกิด องค์ประกอบ ดังกล่าว อันนำมาซึ่ง ความสัมพันธ์อันดีในองค์การ
มนุษยสัมพันธ์เกิดได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1. ต้องมีความเข้าใจตนเอง
2. ต้องมีความเข้าใจบุคคลอื่น
3. ต้องยอมรับความแตกต่างของบุคคลอื่น
ความเข้าใจตนเอง หมายถึง ความเข้าใจในความต้องการของตนเอง การรู้จุดเด่นจุดด้อย
ของตนการรู้ถึง จุดที่จะต้องปรับปรุงพัฒนาคน
ความเข้าใจบุคคลอื่น หมายถึง การที่เรารู้ถึงความต้องการ หรือปัญหาของบุคคลอื่น บุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลนั้น ๆ และธรรมชาติของคน
ความแตกต่างของบุคคล หมายถึง ลักษณะที่ทำให้คนแต่ละคนไม่เหมือนกันซึ่งแต่ละคนย่อมมีความคิด จิตใจ สติปัญญา ความสามารถ เจตคติ ประสบการณ์ต่าง ๆ กัน สิ่งที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างกันไม่เหมือนกันนั้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกันอาจประมวลได้ดังนี้คือ รูปร่างหน้าตา ( appearance) อารมณ์ ( emotion )นิสัย ( habit ) เจตคติ ( attitude ) พฤติกรรม ( behavior ) ความถนัด ( aptitude ) ความสามารถ ( ability ) สุขภาพ ( health )รสนิยม ( taste ) และสังคม ( social ) ความแตกต่างจาก สาเหตุดังกล่าวเป็น สาเหตุให้มนุษย์ขัดแย้งกันไม่สามารถเข้ากัน หรือสัมพันธ์กันได้หาก ขาดความรู้ความเข้าใจ เกิดการดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่เคารพสิทธิ ไม่ให้เกียรติเคารพนับถือในความแตกต่างกัน ถือว่าเป็นสิ่งธรรมดาสามัญทั่วไป ถ้าเราได้เข้าใจในเรื่องเหล่านี้แล้ว ความขัดแย้งก็จะลดน้อยลง หรือสามารถขจัดออกไปได้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็จะดีขึ้น วิจิตร อาวะกุล. (2542:34)
องค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์แบ่งเป็น 3 ประการคือ
1. การเข้าใจตนเอง เป็นลักษณะการรู้จักตนเองอย่างแท้จริงว่าตนเองเป็นใคร มีความรู้ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์แค่ไหนระดับใด มีจุดแข็งคือความเก่ง และจุดอ่อนคือความไม่เก่งในด้านใดบ้างเรื่องใดบ้าง การเข้าใจตนเอง ทำให้บุคคลเกิดการรู้สึกยอมรับในคุณค่าแห่งตน นับถือตนเอง และรู้จักเข้าใจสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ ความรับผิดชอบของตนเอง สิ่งที่สำคัญในการเข้าใจตนเองจะช่วยให้เรารู้จักปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นได้ดีมาก
2. การเข้าใจบุคคลอื่น เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของคน ความแตกต่างระหว่างบุคคลความต้องการของบุคคล แรงจูงใจของบุคคล สภาพสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดประโยชน์ ในการนำไปใช้ติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้นานัปการ เมื่อเราต้องการ ไปติดต่อสัมพันธ์กับ บุคคลใด เราต้องทราบก่อนว่าบุคคลนั้นชื่อใดเป็นใคร มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ทางด้านใด อยู่ในระดับใดชอบสิ่งใด ไม่ชอบสิ่งใด โปรดปรานในสิ่งใดเป็นพิเศษ มีคุณลักษณะที่เด่นทางด้านใดบ้าง เมื่อเรานำเอาบุคคลอื่น ที่เราต้องการติดต่อ สัมพันธ์ มาพิจารณาดูว่า เรามีความเข้าใจในตัวเขาอย่างไร เรายอมรับในตัวเขาได้แค่ไหน เพื่อจัดระดับคุณค่า และความสำคัญของบุคคลที่เราจะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์รวมทั้งการที่เรารู้จักปรับตัว ให้เข้ากับบุคคลอื่น ได้ในการติดต่อสัมพันธ์กัน
3. การเข้าใจสิ่งแวดล้อม เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา และบุคคลอื่นซึ่งมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และมีส่วนสัมพันธ์กับมนุษยสัมพันธ์ได้แก่ สภาพการณ์เหตุการณ์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และในอนาคต ล้วนแต่มีอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้นได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันที่เป็นองค์การ สถาบันการศึกษา หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน โรงงาน รัฐบาล ศาสนา องค์การระหว่างประเทศ ความรู้จากการเข้าใจสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาปรับใช้กับตัวเรา ในการเสริมสร้าง มนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ดีมากขึ้น อำนวย แสงสว่าง ( 2544:101)
นอกจากนี้แล้วองค์ประกอบของมนุษยสัมพันธ์ มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง พฤติกรรม การจูงใจ ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม เจตคติ นิสัย ระบบสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยผสมผสานกันอย่างเหมาะสม เกิดเป็นพฤติกรรมที่น่าพึงพอใจแก่บุคคลอื่น ๆ ที่เรียกว่า "มนุษยสัมพันธ์"
องค์ประกอบที่จะช่วยส่งเสริมให้เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
การที่จะเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั้น จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงองค์ประกอบที่จะ ช่วยส่งเสริมให้เป็น ผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ดังต่อไปนี้
1. พฤติกรรมของคน (Human Behavior) ในการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อความสุขในการดำเนินชีวิต หรือเพื่อการปฏิบัติงาน ให้ดีขึ้นในหน่วยงาน เราทุกคนต้องเข้าใจพฤติกรรมของคน
2. การจูงใจ (Motivation) เป็นแรงกระตุ้น เป็นพลังให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่ออำนวยประโยชน์ และสร้างความพึงพอใจ ในการปฏิบัติงาน
3. กลุ่มพวกในการปฏิบัติงาน (Team work) ตามรูปแบบของปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมนุษย์ ที่ดำรงตนด้วย การเคารพนับถือ ซึ่งกัน และกัน หรือเคารพนับถือในความแตกต่างระหว่างบุคคล
4. การมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างบุคคลต่อบุคคล บุคคลต่อหน่วยงาน หรือองค์การ มนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ แบ่งแยกกลุ่มไปตามลักษณะของ ความต้องการ มีการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์ซึ่งกัน และกัน
ประโยชน์ของมนุษยสัมพันธ์
"มนุษยสัมพันธ์" เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงาน และการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เพราะช่วยให้มนุษย์เรียนรู้ ที่จะยอมรับ ความคิดเห็นของผู้อื่น และปรับตัวปรับใจ ให้ร่วมสังคม และร่วมกิจกรรมกันอย่างสันติสุข มนุษยสัมพันธ์เป็นเสมือน มนต์ขลัง ช่วยลดความเกลียดชัง แม้ศัตรูผู้มีผลประโยชน์ขัดกับเรา ก็จะกลับกลายไปในรูป เห็นอกเห็นใจ เป็นมิตรภาพ เรื่องร้ายกลายเป็นดีได้ ไม่ว่าจะติดต่อสัมพันธ์กัน ในทางการงาน หรือส่วนตัว ก็จะเกิดผลดีมีประโยชน์ต่องานอาชีพ และการดำเนินชีวิต อุปสรรค ความยุ่งยาก จะเรียบร้อยราบรื่น
การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั้น จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และส่วนรวมในแง่ประโยชน์ต่อตนเอง บุคคลที่มี มนุษยสัมพันธ์ที่ดี กับเพื่อน จะก่อให้เกิดความเข้าใจ และความเห็นใจซึ่งกัน และกัน ช่วยเหลือกันสามารถสมาคมกับบุคคลในระดับต่าง ๆ ได้ดี ประสบความสำเร็จใน การศึกษา และการประกอบกิจกรรม หรือการอาชีพ ในแง่ส่วนรวม การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จะช่วยสร้าง ความสามัคคี กลมเกลียวขึ้นในหมู่คณะร่วมใจกันทำงาน ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยปราศจากข้อขัดแย้ง สามารถอาศัย
อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และในที่สุดจะช่วยพัฒนาให้สังคม และประเทศชาติเจริญก้าวหน้า
ทางสังคม จะทำให้คนงานมีกำลังใจทำงาน มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับองค์การที่ตนทำงานอยู่ การมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ความเป็นกันเอง การทำงานด้วย ความสมัครใจก็จะเกิดขึ้น ทำให้เกิดความสามัคคีเป็นปึกแผ่นขึ้นในองค์การ และมุ่งทำงานโดยมี จุดประสงค์ หรือความมุ่งหมายเดียวกัน อย่างเหนียวแน่น สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ผู้บริหารกับผู้ใช้แรงงาน
ถ้าจะเน้นถึง ประโยชน์ในแง่ของ การบริหารงาน มนุษยสัมพันธ์เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้หัวหน้างานประสบความสำเร็จ และเจริญก้าวหน้า หัวหน้างานควรจะต้องใส่ใจกับศิลปะของการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในหน่วยงาน ทำความเข้าใจกับธรรมชาติของคน โดยเฉพาะในเรื่อง ความต้องการของมนุษย์ และการจูงใจ ซึ่งปัจจุบันก็มีแนวคิดใหม่ ๆ ที่ท้าทายให้ผู้บริหาร ได้นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงาน หัวใจของมนุษยสัมพันธ์ในการบริหารงานด้วย ในการสร้างมนุษยสัมพันธ์หัวหน้างาน จะต้องใช้วิธีการหลายวิธี เพราะผู้ร่วมงานมีความแตกต่างกันมาก การประยุกต์หลักการ และวิธีการต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง จะช่วยหัวหน้างานสามารถหาทางเลือก ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้มากขึ้น นอกจากนี้แล้วมนุษยสัมพันธ์ยังสามารถให้ประโยชน์ดังนี้คือ ทำให้เกิดความรู้จักคุ้นเคย ยอมรับนับถือกันในหมู่สมาชิก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพลังกลุ่ม และช่วยให้การคบหาสมาคม เป็นไปโดยราบรื่น ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสามัคคี ทำให้บรรยากาศในการทำงานราบรื่น สามารถร่วมงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การติดต่อสื่อสารถึงกันง่าย และเป็นผลดี ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน และให้ความร่วมมือในการทำงาน และทำให้ปัญหาความขัดแย้งลดน้อยลง บริหารงานได้ง่ายขึ้น
ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่มีต่อกัน ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในสังคม มนุษยสัมพันธ์ใน ส่วนที่มนุษย์ จะอยู่ร่วมกันในสังคมมีดังนี้ คือ การมีความสัมพันธ์กันโดยการรวมกลุ่มในการผลิต และการอำนวยบริการเป็น การรวมพลังของกลุ่มบุคคล เพื่อให้ชีวิต ความเป็นอยู่ ของมนุษย์ดีขึ้น ซึ่งบุคคลคนเดียวทำได้ยาก ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจ ของบุคคลหลายคน จึงจะกระทำได้ ความสัมพันธ์ ที่กระทำ ต่อเนื่องกันมาจนเป็นที่ยอมรับ จะกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเกิดความรู้สึกที่เรียกว่า มีมนุษยสัมพันธ์ การทำให้เกิด ความสำเร็จ มนุษยสัมพันธ์ เป็นส่วนสำคัญที่ให้มนุษย์อยู่ร่วมกันช่วยกันประกอบกิจการงาน นำเอาความ สามารถของแต่ละบุคคล ในกลุ่มมาใช้ในการดำเนินการร่วมกันเพื่อความสำเร็จของงาน โดยอาศัยมนุษยสัมพันธ์ เป็นเครื่องยึดโยงให้มนุษย์มีความเข้าใจ และร่วมมือกันทำงาน อันเป็นผลทำให้มีความสำเร็จของงานเกิดขึ้น การทำให้มีความมั่นคง ความสำคัญของมนุษยสัมพันธ์ คือ การสร้างให้มีความมั่นคงในครอบครัว ในสังคม และในประเทศชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มสังคมขนาดใหญ่ขึ้น ๆ ตามลำดับ จนถึงสังคมโลก ความรู้จักอภัย และชนะใจผู้อื่น สร้างความแช่มชื่นในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับผลตอบแทน ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ และจิตใจคนในสังคม เป็นการสร้างความมั่งคั่ง และมั่นคงให้แก่สังคม และการทำให้มีความสามัคคี ความสัมพันธ์ อันดีใน กลุ่มของบุคคล ก่อให้เกิดสามัคคีธรรม และความร่วมมือร่วมใจในการทำงานของหมู่คณะ ปัจจัยสำคัญ ที่ก่อให้เกิด ความสามัคคี คือ ความเข้าใจ ระหว่างกัน และกันของบุคคลในกลุ่ม อันได้แก่ มนุษยสัมพันธ์นั่นเอง ดังนั้น มนุษยสัมพันธ์ จึงมีความ สามัคคี ในการสร้างให้มี ความสามัคคีในหมู่คณะ ในที่นี้อาจสรุปผลดีในการมีมนุษยสัมพันธ์ และผลเสียใน การไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ได้ดังนี้คือ
ผลดีของมนุษยสัมพันธ์ พอสรุปได้ดังนี้
1. เป็นประโยชน์ในการสื่อความคิดติดต่อ การประชาสัมพันธ์กับประชาชน เพื่อเรียกร้อง
ความเห็นชอบ กับชี้แจง ให้รู้ถึงบริการต่าง ๆ ของหน่วยงานในองค์การ
2. ทำให้มีความพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้น การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิด และวัตถุ
สิ่งของซึ่งกัน และกัน จะนำไปสู่ความพอใจในชีวิต รู้สึกว่าชีวิตไม่แห้งแล้ง
3. ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันในการประกอบธุรกิจต่าง ๆ มนุษยสัมพันธ์ช่วยส่งเสริม
ความเข้าใจในระหว่าง สมาชิกของ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ การงาน ความเข้าใจอันดีมีผล ทำให้การประกอบธุรกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิกมีส่วนร่วม ในการแสดง ความคิดเห็น ทำให้เกิดความรู้สึก เป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ช่วยลดอุบัติเหตุในการทำงานได้ มนุษยสัมพันธ์จึงมีผลช่วยให้เกิด การร่วมแรงร่วมใจในการประกอบธุรกิจการงาน
4. ทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้น การมีมนุษยสัมพันธ์ และมิตรภาพที่ดีจะทำให้เกิดความสดชื่น
และส่งผลมายังครอบครัว คือ จะไม่มี อารมณ์ เครียด มาระบายความหงุดหงิดกับครอบครัว ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความสุข มีความพอใจที่ได้มีกิจกรรม และปฏิบัติงานร่วมด้วย
5. ทำให้เกิดการแบ่งหน้าที่ รู้จักบทบาท และภารกิจในการประกอบการผลิต การจำหน่าย
การกระจายบริหารงาน ออกไปโดยทั่วถึงกัน มนุษยสัมพันธ์มีส่วนสำคัญในการแบ่งเบาภาระหน้าที่รับผิดชอบบนพื้นฐานของความเข้าใจ และไว้วางใจซึ่งกัน และกัน เป็นการแบ่งงานกันทำตามวิธีการ บริหารงานแผนใหม่ อันเป็นผลช่วย ทำให้การประกอบธุรกิจ การงานร่วมกัน สำเร็จลุล่วงตามที่กำหนดไว้อย่างได้ผล และมีความสมานฉันท์กันในหมู่คณะ
6. ทำให้เข้าใจถึงธรรมชาติความต้องการ ความแตกต่าง ตลอดจนลักษณะของคน รู้วิธีที่
จะเอาชนะในคน ให้เข้ามาร่วมงานด้วย ความรักความพอใจ
7. สร้างทักษะให้ผู้บริหารช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา และติดต่อกับ
กลุ่มชนประสานงาน หน่วยอื่น ๆ ได้ดี ทำให้การบริหารงานของผู้บริหารง่ายขึ้น เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารในการใช้มนุษยสัมพันธ์เพื่อความสำเร็จของงาน
8. ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีค่า จากการมีความสัมพันธ์ และได้รับการยอมรับจากผู้อื่น
เป็นต้นว่า ความคิดเห็นของเราได้รับ การยอมรับจากผู้อื่น เราสามารถจะช่วยเหลือผู้อื่นได้ จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกว่าตนมีค่า
9. ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี ในด้านการผลิต การจำหน่าย การบริการ
10. ทำให้นักบริหารสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกชั้น
11. ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงานงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ การมีมนุษยสัมพันธ์
ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้องจะสามารถทำงานร่วมกันได้ดี จะประสบความสำเร็จก้าวหน้าในการทำงาน และสามารถปฏิบัติภารกิจในหน้าที่ของตนได้อย่างมีความสุข
12. ทำให้เกิดความราบรื่นในการคบหาสมาคม สามารถทำงานร่วมกับบุคคลทุกคนได้อย่างดีทำให้ทุกคน มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน พร้อมจะร่วมมือกันทำงาน และอยู่ร่วมกันด้วยความสุข
13. ทำให้เกิดการเผยแพร่ และการถ่ายทอดความคิดเห็น ในด้านการศึกษา ทฤษฎี การทดลอง การปฏิบัติ แนวความคิดโดยเสรี
14. ทำให้เกิดความรักใคร่ ศรัทธา เชื่อถือซึ่งกัน และกัน อันจะนำมาซึ่งความสามัคคี
15. ทำให้เกิดความต้องการที่จะได้ผู้ร่วมงาน ในอันที่จะทำให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ สำเร็จ
ลุล่วงไปด้วยดี
16. เป็นสื่อในการติดต่อประชาสัมพันธ์ให้บุคคลอื่นยอมรับ เข้าใจในการปฏิบัติงานของเรา
ตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็น จากบุคคลที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำขึ้นนั้นสำเร็จได้ด้วยดี
17. ทำให้เกิดความพอใจ ยินดี และความร่วมมือในการงาน
18. ทำให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน ทำให้เกิดพลังร่วมมากขึ้น และลดความขัดแย้งในกลุ่ม
19. เป็นปัจจัยสำคัญในการประสานประโยชน์เพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาต่างๆ ทางสังคม
เศรษฐกิจ การปกครอง และการเมือง ทำให้การติดต่อสื่อสารต่างๆถึงกันง่าย และมีผลดี
20. ช่วยให้เกิดการเผยแพร่ถ่ายทอดแนวความคิดปรัชญา สิ่งประดิษฐ์ ผลิตผล และบริการ
มนุษยสัมพันธ์ช่วยให้สมาชิกของกลุ่ม และสังคมมีความเข้าใจดีระหว่างกัน เกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน มีความประสงค์ดีต่อกัน สามารถแนะ และถ่ายทอดประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจการงานแก่กันได้ ซึ่งเป็นการกระจายวัฒนธรรม จากกลุ่มหนึ่งไปยัง อีกกลุ่มหนึ่ง การเผยแพร่นี้อาจเกิดขึ้นในสังคมเดียวกัน หรือระหว่างสังคมก็ได้ ถ้ามีความสัมพันธ์ต่อกัน การเผยแพร่นี้ เป็นการถ่ายทอดแนวความคิด เจตคติ ปรัชญา สิ่งประดิษฐ์ อุดมการณ์ ผลิตผล และบริการ เป็นต้น และยังช่วยสร้างความรู้สึกให้ใกล้ชิด มนุษยสัมพันธ์เป็นรากฐานที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจ และยึดโยงบุคคล ในหมู่คณะให้มี ความจงรักภักดี มีความใกล้ชิดคุ้นเคย และเป็นกันเอง สมดังพุทธภาษิตที่ว่า "วิสสาสปรมา ญาติ" หมายความว่า "ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง" และความคุ้นเคยนี้เอง ได้ช่วยสร้างให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน ในรูปของ การช่วยเหลือซึ่งกัน และกันรวมทั้งสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น น่าปฏิบัติ น่าให้ความร่วมมือ ทำให้บรรยากาศในการทำงานดี มีความราบรื่น
ผลเสียของการขาดมนุษยสัมพันธ์
บุคคลที่รวมกันอยู่ในสังคมมีหลายประเภทมีความแตกต่างกัน และแตกต่างกันในความต้องการทางด้านจิตใจอารมณ์ ด้านสติปัญญา เพราะฉะนั้นหากสมาชิกของสังคมขาดมนุษยสัมพันธ์ คือ ไม่พยายามเข้าใจซึ่งกัน และกัน ไม่คิดถึงจิตใจของจิตใจเรา และมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ สังคมนั้นก็จะไม่มีความเจริญก้าวหน้า และไม่มีความมั่นคง เพราะสมาชิกแต่ละคน ของสังคมจะไม่ร่วมมือกันต่างฝ่ายต่างก็จะเอาชนะ และชิงดีชิงเด่นกัน และกันอันจะนำมาซึ่งการแตกแยก ความสามัคคีใน หมู่คณะสังคมใด ขาดมนุษยสัมพันธ์ผู้คนจะเครียดหงุดหงิด สุขภาพจิตเสื่อม มีผลกระทบถึงสังคมมาก ฉะนั้นทุกคนควรจะ สร้างมนุษยสัมพันธ์ให้บังเกิดขึ้นในหน่วยสังคมทุกหน่วยที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ เพราะเป็นวิธีการหนึ่งใน การเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สังคมโดยส่วนรวม
อิทธิพลของมนุษยสัมพันธ์ต่อบุคคล
อิทธิพลของมนุษยสัมพันธ์ต่อบุคคลในนั้น ในการอธิบายเรื่องนี้ผู้เขียนจะขอใช้แนวคิดเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพได้ว่า ในเรื่องมนุษยสัมพันธ์มีความสำคัญ และความจำเป็นอย่างยิ่งในการพบปะผู้คนในระดับต่างๆ และเมื่อเรารับรู้เช่นนี้แล้วว่า มนุษยสัมพันธ์มีอิทธิพลต่อมนุษย์มาก บุคคลจึงมีความจำเป็นในการเรียนรู้เรื่อง มนุษย์สัมพันธ์ ตลอดจน การวางตนอย่างเหมาะสม ในเข้าสังคม การอยู่กับผู้อื่น และปฏิบัติตนให้ดูดีในสายตาของผู้อื่นเสมอ มีความเป็นตัวของตัวเอง ให้โดยระลึกเสมอว่า ใจคนอื่นกับใจเรา ก็ใจเหมือนกัน มีมิตรภาพ และ ความจริงใจให้ผู้อื่น พยายามเข้าใจผู้อื่น เคารพศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด เมื่อเราอยู่ได้ สังคมอยู่ได้ ชาติก็เจริญรุ่งเรือง สังคมโลกก็ปกติสุข การจะปฏิบัติตนเป็นผู้มีไมตรีจิตไมตรีกายอาจเรียกสั้นๆ ได้ว่า การมีมนุษย์สัมพันธ์ นั่นเอง และเมื่อเราทุกคน ยอมรับว่า อิทธิพลของมนุษยสัมพันธ์มีต่อบุคคล ดังที่กล่าวแล้ว บุคคลจึงควรจะ ปฏิบัติตน เพื่อให้อยู่กับคนในสังคม อย่างมีความสุข แนวทางที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น อย่างมีความสุข เราควรจะมีลักษณะบุคลิกภาพดังนี้
- จงพยายามเป็นคนที่ง่ายๆ ไม่เรื่องมาก ไม่มีมาดมากจนทำให้คนอื่นรู้สึกเบื่อ รำคาญ และมาอยากเข้าใกล้ เพราะเข้าใกล้ทีไร รู้สึกร้อนทุกครั้ง
- จงพยายามเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริงสดชื่น ใครเห็นใครรัก ยิ้ม
ง่าย การยิ้มของมนุษย์ใช้กล้ามเนื้อ 14 มัดแต่ถ้าเราทำหน้างอ ปั้นหน้าให้กล้ามเนื้อตั้ง 72 มัด ใครไม่ชอบยิ้มแก่เร็วกว่าอายุจริง และการยิ้มก็ไม่ต้องลงทุน เช้าขึ้นมาก็มีรอยยิ้มให้กัน
- จงเป็นคนเปิดเผย ไม่มีหน้ากากหลายชั้น จริงใจ ไม่เสแสร้ง การที่เราเปิดตน ยอม
ให้คนอื่นรู้จักตัวเราจะเป็นสิ่งที่คนอื่นชื่นชมเรา การเปิดตัวเป็นการแสดงออกของความจริงใจ คบกันอย่างจริงใจไม่มีประโยชน์อื่นใดแอบแฝง สัมพันธภาพของคนดีถ้ารู้จักเปิดเผยตน
- ระมัดระวังในการสื่อสาร ในการต้องสัมพันธ์กับคนอื่นการสื่อสาร สำคัญมาก ไม่ใช้
คำสั่ง ข้อร้อง ขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือดีกว่าการออกคำสั่ง หรือการพูดแบบเผชิญหน้าดีกว่าการพูดลับหลัง ในเรื่องคำพูด ต้องพูดแบบเปิดเผย พูดจริงใจ และพูดแบบตรงไปตรงมา
- การรู้จักให้กำลังใจคนอื่น เพื่อให้คนอื่นรู้สึกว่าเราสนใจเขา เห็นใจ การกระตุ้นให้
บุคคลมีกำลังใจ จะทำให้คนอื่นมองเรา เป็นเพื่อน ในความจริงคนที่เราช่วยให้กำลังใจ เขาสามารถทำ กิจกรรมนั้นๆ ได้ด้วยตัวเขาเพียงแต่ ยังกล้าๆ กลัวๆ ถ้าเราให้กำลังใจบุคคล อาจจะทำในสิ่งที่เขาต้องการ จะทำได้ตามเป้าหมาย ผลพลอยได้ เราก็จะเป็นที่ชื่นชมของเพื่อน
- จงเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ให้เกียรติบุคคล ให้การยอมรับนับถือ
สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ความรู้สึกของเพื่อนเราดี เราควรเข้าใจเรื่อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และปฏิบัติกับคนอื่นโดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันหมด ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ทำงานในตำแหน่งไหน เขาเป็นคนเช่นเดียวกับเรา จงปฏิบัติต่อคนอื่นเช่นเดียวกับที่ เราปฏิบัติกับตัวเอง
- จงเป็นผู้มีน้ำใจ น้ำคำที่ดี รู้จักช่วยเหลือคนอื่น พูดจากับคนอื่นให้ฟังแล้วรื่นหู
หวานแบบมีความจริงใจกำกับ เราก็จะได้รับ ความจริงใจตอบ
- เป็นคนที่รู้จักฟังคนอื่น การฟังคนมากๆ เรียกว่าพหุสูตร มนุษย์เราธรรมชาติให้หู
มาสองอัน หน้าที่ของหูคือฟังมาก ฟังแบบตั้งใจ ฟังแบบสนใจในคำพูด ไม่ใช่ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง จ้องจะพูดแทรก หรือไม่สนใจที่ผู้พูดพูดถ้าเราไม่รู้จักฟังเราจะไม่รู้อะไรเลย
- ตรงต่อเวลา รับผิดชอบในงานที่ทำ มีวินัยในตนเองสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องให้ใครชี้นำแต่
เราทำจนเป็นนิสัย มันก็จะเป็น เสน่ห์ที่เกิดกับตัวเรา
- รู้จักให้อภัย ให้เวลา ให้โอกาสผู้อื่น ไม่ยึดติด ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้จนขาดความยืดหยุ่น ต้องการให้คนอื่นรักเรา ต้องรักคนอื่นก่อน
- จงหลีกเลี่ยงการแข่งขัน การเอาชนะการชิงดีชิงเด่น ซึ่งจะนำมาซึ่ง การประจบสอพอ
การแตกแยก การแบ่งกลุ่มการเล่นเกม ถ้าเล่นเกมหลายๆ คนก็หวังชนะ แต่ไม่ว่าแพ้ หรือชนะแล้วได้อะไร ท่านมีความสุข หรือถ้าเห็นความล้มเหลวของผู้อื่น ถ้าท่านสุข ต้องพิจารณาแล้วว่า ใจของท่านปกติอยู่ หรือเปล่า
- จงหลีกเลี่ยงการทำตนเหนือกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นฐานะ ตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ สร้างสรรค์ ให้เกิดมนุษย์สัมพันธ์เลย ถ้าท่านอยู่ในตำแหน่งที่สูง ท่านพูดไม่รับผิดชอบคำพูด วางตนขามขู่คนอื่น พูดให้คนอื่นเสีย วางอำนาจ วันหนึ่งไม่มีใคร ทำงานกับท่าน แน่นอน ด่าลูกน้องลับหลัง ถามข้อมูลของคนอื่นกับคนใกล้เคียง ฟังความข้างเดียว หูทำด้วยสำลี ปากทาด้วย ตำแยเป็นประจำ คนประเภทนี้ไม่สร้างมนุษย์สัมพันธ์ในงานเลย แต่กลับสร้างความแตกแยกในสังคมอีก ฉะนั้น จงหลีกเลี่ยง พฤติกรรมที่อยู่เหนือคนอื่นเราก็จะเป็นที่รักใคร่ของใครๆ
สรุปวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น จะช่วยให้บุคคลสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น ได้อย่างมีความสุข ทั้งความสุขที่เกิดขึ้น ภายในครอบครัว ความสุขที่เกิดจาก การได้สัมพันธ์กับคนอื่น กลุ่มเพื่อน กลุ่มอาชีพ การที่บุคคล ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นนี้เอง จะทำให้บุคคล มีกัลยาณมิตร หรือมีเพื่อนนั้นเอง และเพื่อน ที่เรารู้จักอาจมีอายุที่ต่างกัน เพศต่างกัน ระดับการศึกษาต่างกัน ซึ่งเราควรจะต้องเข้ากับเขา ให้ได้ทั้งเพื่อนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกับเรา เพื่อนมนุษย์ ที่อยู่ในโลกใบเดียวกับเรา สังคมก็จะสะอาด เกิดสันติในโลก ทุกวันนี้มีการทะเลาะกันตั้งแต่จุดเล็กๆ ไปจนถึงกระบวนการก่อความไม่สงบให้กับหลายประเทศ นั่นเป็นเพราะ มนุษย์ขาดการสัมพันธ์ที่ดี ขาดมิตรจิตมิตรใจขาดความรู้สึกของความเป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ตั้งแต่สังคมระดับย่อย และระดับใหญ่จึงวุ่นวาย ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นให้สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข และสร้างสังคมสะอาด และสังคมสันติสุขขึ้นมา
วิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์
หลักในการสร้างมนุษยสัมพันธ์นั้น เราควรคำนึงถึงหลักต่อไปนี้
1. การสำรวจตนเอง ในการสมาคมกับบุคคลอื่นในชีวิตประจำวันนั้น เราควรสำรวจตนเองว่าเรามีสิ่งใดบกพร่องมากไป หรือไม่ หากมีควรหาทางแก้ไขปรับปรุงตนเอง การชมตนเองมากเกินไปนั้นมีผลเสียมาก เช่น ทำให้บางคนลืมตัวคิดว่าตนเองดีแล้ว ไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข เป็นต้น แต่บางครั้งคำชมก็จำเป็นเหมือนกัน ถ้าคำชมนั้นเป็นคำชมที่จริงใจจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม เราควรรู้จักประมาณตน มองตนเองโดยไม่ลำเอียง หรือเชื่อคำชมของผู้อื่นง่ายเกินไป
การสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้น เราควรมีความจริงใจต่อเขา เนื่องจาก ความจริงใจต่อกันโดยไม่หวังผลประโยชน์แอบแฝงนั้น จะก่อให้เจตคิตที่ดีซึ่งกัน และกัน มีความไว้วางใจกัน อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี และแนบแน่นระหว่างเรากับบุคคลที่สมาคมด้วย
นอกจากนี้ เราควรสำรวจตนเองว่า เรามักติเตียนปมด้อยของผู้อื่น หรือไม่ และมีมารยาทในสังคม หรือไม่ เช่น การใช้กิริยา และวาจาที่สุภาพ การปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และค่านิยมของสังคม เป็นต้น หากเราปรารถนาจะสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นให้มั่นคง เราควรมองปมด้อยของผู้อื่นเป็นเรื่องธรรมดา และถ้าสามารถช่วยเหลือเขาได้ควรช่วยเหลือเขาตามสมควร เช่น เพื่อนติดสุราจนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ก็หาทางตักเตือน และแนะนำด้วยความหวังดี ให้กำลังใจแก่เขาให้กลับมทำงาน หรือศึกษาต่อตามปกติ เป็นต้น การมีมารยาทในสังคม นับว่าจำเป็นในการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเช่นกัน เพราะช่วยให้คนเราปฏิบัติตนต่อกันได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องตามกาละเทศะ และก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในสังคม
2. การศึกษาสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับบุคคล บุคคลโดยทั่วไปมักมีลักษณะที่คล้ายๆกันอยู่หลายประการ หากเราได้ตระหนักถึงลักษณะเหล่านี้ ก๋จะช่วยเสริมการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ง่ายขึ้น และดำรงความสัมพันธ์อันดีให้มั่นคงได้ ลักษณะต่างๆเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว มีดังนี้
2.1 ไม่ชอบให้ใครตำหนิ แม้ว่าความคิด หรือการกระทำนั้นจะผิดก็ตาม เนื่องจากเรามักเข้าใจว่าสิ่งที่เราคิด หรือกระทำลงไปนั้นถูกต้องแล้ว คนเราจะกระทำสิ่งใดย่อมีเหตุผลของตนเองเสมอ แต่เป็นเหตุผลในแง่ความนึกคิดของแต่ละคน ฉะนั้น ความคิดของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันได้ ด้วยเหตุนี้การตำหนิผู้อื่นเมื่อคิดว่าเขากระทำผิดนั้น นับว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากความคิดเห็นของแต่ละบุคคลต่างกัน อาจทำให้ผู้ถูกตำหนิไม่พอใจ และรู้สึกว่าเป็นการทำลายเกียรติของตน ฉะนั้น เมื่อธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบให้ใครมาตำหนิตนเช่นนี้ เราควรงดการตำหนิผู้อื่น ควรรู้จักนำใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักให้อภัยซึ่งกัน และกัน
2.2 อยากมีชื่อเสียงเด่น คนเรามักชอบให้ผู้อื่นยกย่องสรรเสริญตนว่า เป็นคนเก่ง หรือมีเกียรติ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนเราเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ที่อำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษย์ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตน อย่างไรก็ตาม เราควรรู้จักประมาณตน และมีความมานะพยายามในทางที่ถูก ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นด้วย
2.3 ชอบคนที่อารมณ์ดีมากกว่าอารมณ์เสีย คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส หรือมีนิสัยร่าเริงอยู่เสมอนั้น เป็นบุคคลที่น่าคบหาสมาคมมากกว่าคนที่มีแต่ความทุกข์ อารมณ์ไม่มั่นคง หงุดหงิด และโกรธง่าย
การยิ้มของคนเรานั้น นับว่าสำคัญมาก ดังสุภาษิตของจีนกล่าวไว้ว่า "คนที่ยิ้มไม่เป็นจะค้าขายขาดทุน" เพราะการยิ้มแสดงถึงการมีความสุข การต้อนรับ การมีน้ำใจโอบอ้อมอารี ทำมห้ผู้ที่พบเห็นอยากสมาคมด้วย ดังนั้น เราควรยิ้มแย้มแจ่มใสกับบุคคลที่เราสมาคมด้วยเสมอ เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลนั้น
2.4 ไม่ชอบให้ใครโต้เถียง โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น ไม่ชอบให้ใครมาพูดขัดแย้ง หรือโต้เถียงตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อหน้าที่ประชุม หรือในกลุ่มคน และหากผู้โต้เถียงเป็นบุคคลที่มีฐานะต่ำกว่าด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความไม่พอใจมากยิ่งขึ้น
ผู้สูงอายุซึ่งเป็นบุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตใจ มักยึดมั่นในความคิดดั้งเดิมของตน ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมเดิม อาจต่อต้านการเปลี่ยนแปลงแนวทางชีวิตใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ที่ขัดแย้งกับความคิดเดิมของตน ดังนั้น จึงมักมีปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้สูงอายุกับผู้เยาว์อยู่เสมอ เราจึงควรเข้าใจถึงสภาพทางธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ เพื่อให้เราสามารถปฏิบัติตนในการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆได้
2.5 อยากให้บุคคลอื่นเคารพนับถือ และยกย่องตน คนเราส่วนใหญ่ปรารถนาให้ผู้อื่นเคารพนับถือ และยกย่องว่าตนเป็นคนดี มีน้ำใจโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุมักปรารถนาให้บุตรหลาน และบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวเคารพยกย่องนับถือตน และคิดว่าตนยังมีประโยชน์ต่อครอบครัว ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นผู้เยาว์ควรให้ความเคารพนับถือ และยกย่องท่าน รับฟังความคิดเห็นของท่าน และขอคำปรึกษาในเรื่องที่เหมาะสมตามสมควร ก็จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเรากับผู้สูงอายุ และช่วยป้องกันปัญหาขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัวได้
2.6 ชอบเห็นการรับผิดเมื่อกระทำผิด ผู้ที่กระทำผิดแล้วยอมรับผิดนั้น เป็นบุคคลที่ควรให้อภัย น่าสรรเสริญ เพราะการยอมรับผิดนั้น มิได้ทำให้ตนต้องเสียเกียรติ หรือแสดงถึงความบกพร่อง และความอับอาย แต่เป็นการแสดงถึงความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา เป็นบุคคลที่น่าเคารพนับถือของคนทั่วไป
2.7 ต้องการให้เป็นกันเองกับทุกคน การปฏิบัติตนเป็นกันเองกับผู้อื่น ไม่วางตัวข่มเหงผู้อื่น จะช่วยสร้างมนุษยสัมพันธฺกับผู้อื่นได้ง่าย กล่าวคือ บุคคลที่วางตัวได้เหมาะสมกับฐานะของตนโดยไม่ถือตัว ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก หรือฐานะทางเศรษฐกิจ จะสามารถเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ปเนที่รักใคร่ของคนทั่วไป และสร้างความประทับใจให้ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตนเป็นกันเองกับผู้อื่นนั้น ควรเหมาะสมกับระดับของบุคคล และกาลเทศะ เช่น การปฏิบัติตนเป็นกันเองกับเพื่อนๆ ครู ผู้สูงอายุ เป็นต้น
2.8 ชอบให้ผู้อื่นพูดในเรื่องที่ตนสนใจ คนเรามีความแตกต่างกันในด้านความคิด การศึกษา การอบรม ฐานะ และความเป็นอยู่ จึงทำให้ความพอใจ และความสนใจของคนเราแตกต่างกัน ดังนั้น เรื่องที่เราจะสนทนากับบุคคลต่างๆนั้น ควรสอดคล้องกับความพอใจ และความสนใจของเขาให้มากที่สุด จึงจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกัน และกัน
2.9 ชอบให้ผู้อื่นฟังเมื่อตนพูด การพูดคุย หรือการแสดงความคิดเห็นร่วมกันนั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูด หรือแสดงความคิดเห็นบ้าง โดยตนเป็นผู้สนใจฟัง ควรตั้งคำถามในเรื่องที่เขากำลังพูดจะช่วยส่งเสริมให้ผู้พูดเกิดความพอใจ เพราะมีผู้อื่นสนใจฟังขณะที่ตนพูด
ลักษณะต่างๆของคนเราโดยทั่วไป ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงในการวสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือการคบมิตร นอกจากนี้ การนำหลักมนุษยสัมพันธ์ของแอนดรู คาร์เนกี้ ที่ว่า "ให้สิ่งที่เขาต้องการแล้วท่านจะได้สิ่งที่ท่านต้องการ" มาใช้ในการสร้างมนุษยสัมพันธ์นั้น เราควรรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตจริงจะช่วยสร้างมนุษย์สัมพันธ์ กับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
3. การผูกมิตร หลักเบื้องต้นในการผูกมิตร เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันให้ยั่งยืน มีดังนี้
3.1 ความจริงใจต่อกัน นับเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกในการผูกมิตร เนื่องจากความจริงใจต่อกันช่วยสร้างความไว้วางใจซึ่งกัน และกัน ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติตนอย่างเป็นกันเอง เปิดเผย และไม่ระแวงกัน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็สามารถปรึกษากันได้ ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
3.2 การช่วยเหลือกัน คนเราเมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน และกัน บางครั้งเคนเราไม่สามารถทำงานบางอย่างให้สำเร็จลุล่วงได้โดยลำพัง ดังนั้น เราจึงควรช่วยเหลือกัน การช่วยเหลือกันช่วยทำให้คนเราได้มีโอกาสใหล้ชิดสนิทสนมกัน และสร้างความ สัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการผูกมิตรกับผู้อื่น
3.3 ความมีน้ำใจต่อกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีจิตเมตตากรุณาไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น และการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อน นับเป็นการแสดงความมีน้ำใจที่ดีต่อเพื่อน ซึ่งเราควรปฏิบัติเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันสืบไป
3.4 การให้เกียรติซึ่งกัน และกัน ในการผูกมิตรเราควรให้เกียรติแก่เพื่อนตามสมควร ไม่ควรลบหลู่ดูถูกกัน ไม่ควรเปิดเผยความลับของเพื่อนให้ผู้อื่นทราบ ไม่ควรล้อเลียนให้เพื่อนอับอาย หรือแสดงความเป็นกันเองมากเกินไปจนขาดความ เกรงใจ ซึ่งทำให้เพื่อนเบื่อหน่าย ดังนั้น การให้เกียรติซึ่งกัน และกันช่วยให้เรารู้จักปฏิบัติตนตามฐานะเพื่อนได้ อย่างเหมาะสม