ทฤษฎีของเรื่องตลก Theory of Comedy
คำว่า humour หรือ humor มาจากภาษาลาตินคำว่า Liquid หรือคำว่า fluid (ซึ่งแปลว่าของเหลว ของไหล), ตามทฤษฎีปรัชญาตะวันตกเชื่อว่า มีของเหลวอยู่สี่ชนิดที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายคนเรานั้น และได้รับการคิดว่า ของเหลวเหล่านี้ ได้มีส่วนในการกำหนดอารมณ์ความรู้สึกและลักษณะท่าทีของคนเรา.
ในทฤษฎีทางปรัชญาโบราณ ซึ่งแพร่หลายมาจนกระทั่งช่วงยุคกลางของยุโรป, เชื่อว่า อารมณ์ของมนุษย์ ที่สำคัญสี่ประการนั้น อันได้แก่ อารมณ์ดีหรือขบขันมาจากเลือดแดง ความเฉื่อยชา และ อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย มาจากน้ำเหลือง และความรู้สึกหดหู่มาจากเลือดดำ การผสมกันปรวนแปรของอารมณ์ หรือ ของเหลวเหล่านี้ จะมีส่วนกำหนดคนขึ้นมาให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน และยังมีส่วนใน การกำหนดคุณลักษณะต่างๆ ของบุคคล หรืออารมณ์ความรู้สึก คุณภาพด้านร่างกายและจิตใจ และความโน้มเอียงต่างๆของคนเรา
คนเรานั้น ในเชิงความคิด ได้รับการเชื่อว่ามีส่วนผสมเกี่ยวกับของเหลวสี่อย่างนี้ และของเหลวใดก็ตามที่มาครอบงำของเหลวชนิดอื่นๆ จะมีส่วนในการทำให้คนเรา เป็นคนที่มีอารมณ์และบุคลิกผิดแผกแตกต่างกันไป เช่น เป็นคนร่าเริง หรือตามที่ฝรั่งเรียกว่า sanguine (ซึ่งมาจากภาษาลาติคำว่า sanguis แปลว่า”เลือด”นั่นเอง), หรือเป็นคนที่เฉื่อยชา, อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย, หรือเป็นคนที่อารมณ์หดหู่ เป็นประจำ. คุณลักษณะพวกนี้ได้มีส่วนกำหนดบุคลิกภาพของแต่ละคน
คนซึ่งมีบุคลิกแต่ละอย่างนั้น ยังมีลักษณะที่เด่นของตนเองเป็นแบบฉบับบางอย่าง เช่น คนที่ฉุนเฉียวง่าย(choleric man) จะเป็นคนที่ขี้มักโกรธ หรืออารมณ์บูดอยู่บ่อยๆ ใบหน้าจะออกเหลือง, รูปร่างผอม, ผมดก, มีความภาคภูมิใจในตนเอง, มีความทะเยอทะยาน, มีจิตใจผูกพยาบาทและต้องการแก้แค้น, แต่เป็นคนที่หลักแหลม.
เรื่องที่ควรจะเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในที่นี้ก็คือ เรื่องของ”ความขบขัน” ในราวคริสตศตวรรษที่ 16 ถือว่าเป็น เครื่องหมายแห่งภาวะที่ขาด ดุลยภาพทางจิตใจ, มีอารมณ์ที่ปราศ จากเหตุผล ทำอะไรตามอำเภอใจ และเป็นพวกที่ไม่มีความแน่นอน หรือเป็นคนโง่และเลวทราม. หากใครก็ตามที่ยังมีความเชื่อว่า ความตลกขบขันหรือความสนุกสนาน เป็นเรื่องของความไร้สาระ เหลวไหล ไม่น่าเชื่อถือ บางทีเราอาจจะยังคงเป็นคนหลงยุคในคริสตศตวรรษที่ 16 อยู่ก็ได้
ทฤษฎีของเรื่องตลก (Theory of Comedy)
Dr. Richard F. Taflinger กล่าวว่า “เรื่องตลกคือสิ่งที่ทำให้เราหัวเราะออกมาได้”. ฟังดูไม่เห็นว่าจะลึกซึ้งอะไรเลย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาซึ่งน่าสนใจกว่าก็คือ เขาได้ทำการศึกษาถึงพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องตลกที่ทำให้คนเราหัวเราะออกมา และได้สรุปออกมาเป็นข้อๆเรียกว่า แก่นแท้ 6 ประการ สำหรับการทำให้บางสิ่งเป็นเรื่องที่ขบขัน คือ
- มันจะต้องเป็นสิ่งที่เรียกร้องการใช้ความคิดสติปัญญามากกว่า การใช้อารมณ์ความรู้สึก
- มันจะต้องเป็นเรื่อง กลไกปฏิกริยาอัตโนมัติ
- มันต้องเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด โดยที่สามารถที่จะเตือนเรา ให้ระลึกถึงเกี่ยวกับ ความเป็นมนุษย์ได้
- มันจะต้องเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ที่ยอมรับกันชุดหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านมีความคุ้นเคย, ไม่ว่าจะโดยผ่าน ชีวิตประจำวัน หรือการตระเตรียมขึ้นมาโดยของนักเขียนในเนื้อหาที่แสดง ออกมาก็ได้ และ บรรทัดฐาน เหล่านั้น ได้ถูกฝ่าฝืน
- มันจะต้องเป็นสถานการณ์และองค์ประกอบต่างๆ (ท่าทีของพฤติกรรม และคำพูด) ที่ไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือไม่สัมพันธ์กันกับบริบทนั้นๆ
- มันจะต้องถูกรับรู้โดยผู้สังเกตุการณ์ในฐานะที่ไม่เป็นภัยอันตรายใดๆหรือสร้างความเจ็บปวดต่อผู้มีส่วนร่วม.
เมื่อบรรทัดฐานเหล่านี้ถูกค้นพบ, ผู้คนจะหัวเราะออกมา. ถ้าเผื่อว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดหายไป ความพยายามอันนั้น ต่อเรื่องความขบขันก็จะหายไปด้วย
เมื่อลงรายละเอียดกันดูในแต่ละข้อ, Richard F. Taflinger ให้คำอธิบายว่าอย่างไรบ้าง
ข้อแรก เรื่องการเรียกร้องให้ใช้ความคิดสติปัญญามากกว่าอารมณ์ อันนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อเป็น เรื่องของความขบขัน ที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย อย่างเช่นเรื่องของ ชาวโปลิช ชาวไอริช หรือคนขาว, พวกชาวเกย์ และองค์กรหรือ สมาคมต่างๆ เช่น สมาคมสตรี เป็นต้น ฯลฯ)
ต่อชนกลุ่มต่างๆเหล่านี้ ที่ถูกทำให้เป็นเรื่องตลกขบขันเกี่ยวกับความเสียๆหายๆของพวกเขา ซึ่งที่จริงแล้ว ชนกลุ่มต่างๆที่ต้องประสบกับเรื่องเหล่านี้โดยตรงจะไม่รู้สึกสนุกสนานไปด้วย ทั้งนี้เพราะพวกเขาอาจถูกดูถูก อาจถูกสบประมาท และถูกกระทำอย่างไม่สุภาพ.
โดยธรรมชาติแล้ว ผู้คนทั้งหลานยจะขานรับต่อการดูถูกเหยียดหยาม และความไม่สุภาพในลักษณะที่เป็นอัตวิสัย หรือเป็นส่วนตัวเอามากๆ, เช่นด้วยการก้าวร้าว หรือด้วยความโกรธแค้น, ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก. ส่วนผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นคนที่ไม่ได้ถูกสบประมาท หรือผู้ที่บังเอิญไปได้ยิน คนพวกนี้จะขานรับต่อ เรื่องดังกล่าวในลักษณะที่เป็นวัตถุวิสัยมากกว่า และจะมีมุมมองทางด้านสติปัญญา เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ และสามารถโต้ตอบกับมันได้หากว่าเขาต้องเผชิญหน้ากับมัน.