แนวคิดกระบวนการเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่

แนวคิดกระบวนการเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่ โดย วิศิษฐ์ วิงวัญญู

เลือกทางเลือกไหน?

องค์ประกอบหลักๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการศึกษาทางเลือก ถ้าจะเข้าไปดูการศึกษา ทางเลือกทั้งหมดของโลก และเข้าไปดูใน ทุก รายละเอียด ของความแตกต่าง เราก็จะได้ความหลากหลาย และความกว้างขวางเฉก เช่นน้ำในมหาสมุทร แต่ถ้าเราจะเข้าไปดู เพื่อ จะคิดค้นต่อ เราอาจจะไปดูที่องค์ประกอบหลักๆ ของระบบการศึกษาต่างๆ และไปถึงตัวอย่างบางตัวอย่าง ที่เป็นตัวแทน ขององค์ประกอบ หลักหนึ่งๆ ขึ้นมา เราอาจจะสามารถก่อประกอบภาพของการศึกษาทางเลือก ที่มีอยู่ในโลกได้ชัดเจนขึ้น อย่างน้อย ก็ไม่หลงเข้าไป ในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่หลากหลายนั้น

พัฒนาการของมนุษย์

ในปัจจุบันภาพของ พัฒนาการมนุษย์ ได้มีการขึ้นแผนที่ไว้ อย่างชัดเจน แม้ว่าจะยังไม่ปรากฏอยู่ในตำราเรียน เพราะตำราเรียน มักจะเดินตามหลัง พรมแดนความรู้ อยู่ประมาณ ๒๐ ถึง ๓๐ ปี แต่สำหรับ นักการศึกษา ในเรื่องของการศึกษาผู้ใฝ่รู้ เราควรสืบเสาะวิทยาการ ณ พรหมแดนความรู้โดยเฉพาะในเวลาที่ศาสตร์ทั้งหลาย กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่กระบวนทัศน์ใหม่ อย่างพร้อมเพรียงกัน ดังในยุคสมัยแห่งปัจจุบันนี้ หลังจากที่เราตื่นตัวเรื่องสมองซีกซ้ายกับสมองซีกขวากันพักใหญ่ เพราะในคนป่วย เป็นลมบ้าหมู หมอได้ผ่าตัดเอารอยเชื่อมต่อระหว่างสมองซีกซ้ายกับขวาออก และได้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ระหว่างการทำงาน ที่แตกต่างของสมองสองซีก ต่อมาก็มีคนเขียนเรื่องราวความต่างของสมองสองซีกออกมามากมาย ซึ่งก็ได้ต่อเติม องค์ความรู้ ทางการศึกษา ได้อย่างครบครันขึ้น ทำให้เห็นข้อจำกัดของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ว่าเน้นเฉพาะสมองซีกเดียว คือสมองซีกซ้ายที่ทำงาน ทางด้าน พุทธิปัญญาอันเป็นตรรกะและเหตุผล และเรื่องราวของการเรียนรู้เรื่องของภาษา

ส่วนการทำงานของสมองซีกขวา อันเป็นเรื่องราวของศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ อันไม่ติดกรอบของตรรกะ ก็ถูกนำกลับมา ให้ความสำคัญ และเห็นว่าถ้าขาดด้านความสามารถของซีกขวา เราจะได้มาซึ่งมนุษย์ไม่ครบคน แต่ก็มีข้อสังวร ของการผ่าของการแยก ว่าเราจะต้องรวมกลับมาอีกครั้งเป็นองค์รวมเสมอ เมื่อกาลผ่านไปอีก นักวิทยาศาสตร์ประสาทวิทยา ก็ได้ค้นพบว่า สมองไม่ได้ทำงาน เฉพาะ ในแต่ละพื้นที่ของสมอง แต่ในการทำงานครั้งหนึ่งๆ หลายๆ พื้นที่ของสมองจะเข้ามาทำงานพร้อมๆ กันไป ถ้าจะกล่าวในภาพ ที่ย่อยให้ง่าย ก็อาจจะกล่าวได้ว่าสมองซีกซ้ายและขวาจะทำงานร่วมกันไป ไม่ได้ทำงานแยกส่วนเด็ดขาดชัดเจน กล่าวเป็นภาษาคน ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ในจินตนาการก็มีเหตุผล ในเหตุผลก็มีจินตนาการ เป็นต้น แต่กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ก็เป็นเช่นนี้อยู่ไม่น้อย คือจะแยกออกก่อนเพื่อจะรวมเข้ามาอีก แต่ความรู้เมื่อรวมแล้วย่อมร่ำรวยกว่าเมื่อก่อนที่เราจะมาแยกออกไปนั้นอีก

ต่อมาในเรื่องราวของงานวิจัยทางสมองนี้ พอล แมคลีน ได้ค้นพบเรื่องราวของสมองสามชั้น อันมาสนับสนุนการศึกษา ที่ให้ความสำคัญ แก่ พัฒนาการมนุษย์ ได้อย่างชัดเจนยิ่ง สำนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญแก่พัฒนาการของมนุษย์ และได้มีการนำมาใช้ ในประเทศไทย อย่างเข้มแข็งแล้ว ก็มี มอนเตสซอรี่ และ วอลดอฟ มอนเตสซอรี่ จะให้ความชัดเจน กับเด็กเล็กในชั้นอนุบาล ส่วนวอลดอฟเองนอกจากความชัดเจนในระดับอนุบาลแล้ว ยังมีภาพพัฒนาการของมนุษย์ต่อยอดไปในชั้นประถมและมัธยมอีกด้วย เรื่องมาเรีย มอนเตสซอรี่ และรูดอฟ สไตเนอนี้ก็น่าสนใจ คนแรกเป็นแพทย์หญิงคนแรกของอิตาลีเธอศึกษาเด็กอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

ในสมัยนั้นซึ่งยังอยู่ในกรอบความคิดของประจักษวาท แต่สไตเนอใช้วิธีนั่งทางใน เพราะเขาเป็นพวกรหัสนัย แต่เข้าถึง องค์ความรู้ ได้โดยจิต แต่ทำไมงานทาง การศึกษา ของเขา จึงมาสอดคล้องกับ งานวิจัย เรื่อง สมองสามชั้น ของ พอล แมคลีน แม้กระทั่งต่อมาเมื่อ นักวิทยาศาสตร์ ได้ภาพชัดขึ้นของสมอง ส่วน pre-frontal lobe ส่วนนนั้น ก็ยังอยู่ใน กรอบการมองพัฒนาการมนุษย์ ของ สไตเนอ อันเป็นช่วงอายุครบบวชในพุทธศาสนา โจเซฟ ชิลตัน เพียซ ได้เขียนเรื่องนี้ไว้มาก ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือ The Biology of Transcendence (2002) และตั้งข้อสังเกตตรงนี้ไว้ว่า ที่ตั้งของ pre-frontal lobe ก็คือที่ตั้งของตาที่สามในพุทธศาสนาของธิเบตการเปิดตาที่สามนี้สำคัญมาก ตาของมนุษย์ธรรมดาจะมองสิ่งต่างๆ เป็นทวิภาวะ (duality) แต่ความเป็นจริงทางจิตวิญญาณนั้น เราจะต้องมองพ้นเรื่องทวิภาวะออกไป เช่นพ้นดีชั่ว ถูกผิด ขาวดำ หรือได้เสียเป็นต้น

สมองสามชั้น ปัญญาสามฐาน

การค้นพบ สมองสามชั้นของพอล แมคลีนนั้น อันที่จริงก็สมเหตุสมผลตามเรื่องราวของการวิวัฒนาการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ก็วิวัฒนา มาจาก สิ่งมีชีวิตที่เรียบง่ายมาสู่ความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะสมองสามชั้น ก็เป็นร่องรอยการพัฒนาการ ของมนุษย์มากจาก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตลอดจนบรรดาลิงชั้นสูงที่มาก่อนวิวัฒนาการของมนุษย์นั้นเอง แม้เมื่องานวิจัยได้แยกแยะ ความโดดเด่นของการทำงานของสมองแต่ละชั้นออกมา ก็จะเห็นความเป็นสัตว์เลื้อยคลานในสมองชั้นในสุด ความเป็นสัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนม ในสมองชั้นกลาง และความเป็นมนุษย์ในสมองชั้นนอก (neo cortex) ได้
ที่สนุกในเรื่องสมองสามชั้น ปัญญาสามฐานนี้ก็คือการมาบรรจบกันของความรู้ระหว่างงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กับการนั่งทางใน หรือการเข้าถึงความจริง ของพวกที่ศึกษาจิตโดยใช้ตัวเองเป็นตัวกลาง ดังเช่นรูดอฟ สไตเนอ ซึ่งเป็นนักการศึกษาคนสำคัญและเอ็ดกา ไซเซ ซึ่งเป็นนักนั่งทางใน รักษาผู้คนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ รวมถึงการค้นหาคนหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับคนหลังนั้นได้มีการเก็บบันทึกเรื่องราวของเขาอย่างเป็น ลายลักษณ์อักษร และงานรักษาของเขา ในหลายกรณีก็ปฏิบัติร่วมกับ โรงพยาบาลกระแสหลักนั้นเอง เขาบำบัดคนป่วยร่วมไปกับการใช้ยาและวิธีการของการแพทย์สมัยใหม่ด้วย ส่วนงานของรูดอฟ สไตเนอ จะเป็นงานทางการศึกษา ดังเขาได้แบ่งช่วงวัยทางการศึกษาของมนุษย์ออกเป็น ๓ เจ็ด หมายถึง ๗ ปีแรกเป็น willing ๗ ปีที่สองเป็น feeling และ ๗ ปีที่สามเป็น thinking ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและความเป็นมนุษย์โดยลำดับ และเวลานี้ลำดับขั้นการเจริญเติบโตของ สมองมนุษย์ก็ไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วเมื่อแรกเกิด หากยังเติบโตต่อมา และจะสมบูรณ์ที่สุดเมื่อ pre frontal lobe ที่เป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนต่อ? ของนีโอคอเทกซ์ ในอายุ ๒๑ ปี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดไว้ เป็นวัยที่อนุญาติให้อุปสมบทได้! และตำแหน่งฟรีฟรอนตัลโลบนั้นอยู่ในตำแหน่งตาที่สาม ของพุทธศาสนา แบบธิเบต ที่เชื่อว่าเป็นตาที่สามารถมองพ้นทวิภาวะออกไป ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ก็ได้ค้นพบว่า ฟรีฟรอนตัลโลบเป็นส่วนสมองที่เกี่ยวพันกับ การจัดความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์ที่สลับซับซ้อนขึ้น ตลอดจนถึงเรื่องราวการตัดสินใจที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน สุขุม ลึกซึ้ง มิใช่การตัดสินในแบบมองโลกเป็นขาวเป็นดำ
สามหน้าแห่งจิตกับไตรสิกขา

อีเลน เด โบพอต เขียน Three Faces of Mind เธอเขียนเรื่องสมองสามชั้นของพอล แมคลีนนี้เอง โดยแตกสามชั้นนี้ ออกไปเป็นสิบปัญญา โจเซฟ ชิลตัน เพียซ อัจฉริยะคนหนึ่งที่เขียนเรื่องการศึกษาจากฐานพรมแดนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ถือว่า หนังสือของเธอ เป็นหนึ่งในห้าเล่มของหนังสือที่ดีที่สุดในโลก สิ่งที่เธอทำก็คือ การโยงความเข้าใจใหม่ เรื่องสมองสามชั้น เข้ากับ ประสบการณ์การทำงานทางการศึกษาอันร่ำรวยของเธอ และปฏิวัติการมองเรื่องปัญญาที่มักจะไปเน้นเนื้อเรื่อง ไปสู่กระบวนการ และ เรื่องของพลังในที่สุด เธอเดินตามไอนสไตน์ ที่เห็นว่าพลังอาจจะเป็นปฐมฐานของโลกและของมนุษย์

ในที่นี้คงยังไม่เล่าเรื่องราวของปัญญาทั้งสิบที่เธอแจกแจงอยู่ในหนังสือของเธอ แต่จะบอกเล่าถึงภาพใหญ่ของสาม หน้าจิต หรือ สามปัญญาใหญ่โดยเทียบเคียง กับไตรสิกขา

หน้าแรกก็คือ ปัญญากาย อันเป็นส่วนที่มนุษย์มีอยู่ร่วมกับสัตว์เลื้อยคลานและอาจเทียบเคียงกับศีลสิกขาได้ สมองส่วนในสุดนี้คือ พลังชีวิต อย่างเป็นปฐมฐาน แม้ในยามสลบ ตราบใดที่ยังไม่ตายสมองส่วนนี้ยังทำงานอยู่ตลอดเวลา เทียบเคียงกับ การศึกษาของ วอลดอฟ ก็คือ will หรือ พลังแห่งเจตจำนง ความมุ่งมั่น ปรารถนา ที่ผลักดันให้กิจต่างๆ สำเร็จลุล่วง เหมือนคำว่า วิริยะทางพุทธศาสนา ที่หมายถึง ทั้งพลังงาน และ ความขยันหมั่นเพียร นอกจากนี้ อีกด้านหนึ่งของปัญญากาย เมื่อเอาเทศะหรือสถานที่เป็นตัวตั้ง ก็จะหมายถึงที่ทางที่จะโคจรไปสู่ หรือโคจรหนีห่าง ดังในพุทธศาสนา ก็มีเรื่อง อโคจรสถาน ว่าเป็นสถานที่ที่ผู้สำเหนียกใน การพัฒนาตนเอง อย่างยิ่งยวดไม่ควรจะโคจรเข้าไป
อีกด้านหนึ่งของปัญญากายนี้ก็คือ การจัดเวลาให้กับชีวิต หรือแบบแผนของการใช้เวลาในแต่ละวัน สัปดาห์ เดือน ฤดูกาลและปี ตลอดจนในแต่ละช่วงแห่งชีวิตเช่นเด็ก หนุ่มสาวหรือวัยกลางคนเป็นต้น มันเป็นขอบเขตที่มีประโยชน์เช่นเดียวกับ ชายฝั่งของแม่น้ำ ที่เป็นขอบเขตให้กับแม่น้ำ และช่วยกำกับทิศทางการไหลของแม่น้ำ แบบแผนของการใช้เวลา ก็คือขอบเขต ที่เรากำหนดให้แก่ พลังชีวิตนั้นเอง แน่นอนขอบเขตเช่นนี้เป็นได้ทั้งศักยภาพและข้อจำกัดในเวลาเดียวกันเอง
ความไม่สมดุลของชีวิต ผู้คนสมัยใหม่ก็คือ การแยกอะไรต่ออะไรเป็นเสี้ยวส่วน เรื่องปัญญาเราก็อาจจะแยกแยะเพลินไป จนเอาไปเอามาเหลืออยู่แต่การคิดใน ระนาบเดียว กับของ พุทธิปัญญา เท่านั้น ปล่อยๆ ละเลยปัญญาด้านอื่นๆ ทั้งหมด ความคิดที่ปราศจากการดูแลชีวิตที่ดี จึงสับสนและไร้พลังเป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเมื่อเราพูดถึงเทศะและกาละไปแล้ว และเห็นได้ว่าพลังของปัญญากายอยู่ที่การจัดขอบเขตให้แก่กาลเทศะ เราอาจจะ เดาต่อไปได้ว่า อีกด้านหนึ่งของปัญญากายก็คือการทำอะไรซ้ำๆ จนเป็นนิสัยหรืออีกนัยหนึ่งก็คือการสร้างสมวินัย ถ้าเรามองเห็น ปัญญากาย เราจะไม่รังเกียจการทำอะไรซ้ำๆ จนเป็นนิสัย แน่นอนนิสัยมีพลังเสมอ นิสัยของพาลชนก็พาเข้ารกเข้าพง ในขณะที่ นิสัยของบัณฑิต ย่อมนำพาชีวิตไปสู่กระบวนการเรียนรู้
เอาแค่ว่า เวลาหนึ่งเวลาใด ของวัน เราจะนั่งลงอ่านหนังสือที่มีสาระประโยชน์ เพื่อขวนขวายหาความรู้ในเรื่องที่ไม่รู้ หน้าต่างแห่งนิสัยบานนี้ เป็น ปัญญากาย ที่เปิดไว้เป็น ประตูเรียนรู้ โลกทางหนึ่ง นิสัยของพาลชนก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คำว่า พาลชน นั้นไม่จำเป็นต้องถึงกับไปตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก เพียงแต่เป็น คนที่มีขวนขวายเรียนรู้ นั่นก็คือ พาลชน แล้ว และในที่สุด ชีวิต ที่ไม่ขวนขวายเรียนรู้ ก็อาจจะจบลง ในรูปแบบของชีวิต อันธพาล ก็เป็นไปได้มาก ปัญญากาย อาจกล่าว แจกแจงได้ พิศดารพันลึกกว่านี้ ก็ย่อมทำได้ ในที่นี้ใคร่เติมอีกหนึ่งตัวอย่าง เพื่อจินตนาการแห่งการเรียนรู้ในเรื่องนี้ให้แก่ผู้สนใจใคร่รู้ เช่นคงกล่าว ได้ว่า อินทรีย์สังวร ก็เป็น ปัญญากาย อันนี้หมายถึง การมีสติกำกับ การเคลื่อนไหว ของร่างกาย จนกระทั่งเกิด ความงดงาม ขึ้นในการยืน เดิน นั่ง นอน ท่านนัท ฮัน เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของท่านเล่มใดเล่มหนึ่ง กับ วิถีของคนเอเชีย ที่จะกำกับกริยามารยาทของลูกผู้หญิง ท่านว่านั่นเป็น พื้นฐานที่ดีมาก ของ การมีสติกำกับการเคลื่อนไหวของกาย เด็กผู้ชาย ก็อาจม ีการกำกับการเคลื่อนไหวของกาย อยู่พอสมควร ดังจะเห็นว่าเด็กสมัยนี้ กระโดกกระเดกกว่า เด็กสมัยก่อนมาก แม้ว่ายังไม่รู้ จะวางมือไม้ไว้ที่ไหนแล้ว กิจใหญ่กว่า จะทำได้เช่นไร! เราจะเรียก ปัญญากาย ที่ย่นย่อมาจาก สามหน้าแห่งจิต มาพอสังเขปนี้ว่า ศีลสิกขา ได้หรือไม่ อย่างน้อย ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หรือมีศักยภาพแห่งการกำกับการใช้พลังชีวิตไปในทางเดียวกัน นั่นคือ การขวนขวายเรียนรู้ เพื่อชีวิตอันเป็นกุศล

ปัญญาอารมณ์ หน้ากลางแห่งจิต กับเรื่องราวของสมาธิ

เรื่องปัญญาของมนุษย์ ทั้ง ปัญญากาย ที่กล่าวมาแล้ว และ ปัญญาอารมณ์ ที่กำลังจะกล่าวถึง ตลอดจน ปัญญาความคิด โดยส่วนใหญ่ จะทำงานอยู่ในแบบอัตโนมัติ ด้วย ความคุ้นชินและนิสัย การทำงานแบบอัตโนมัตินี้ มีประโยชน์มหาศาล มิฉะนั้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ ก็คงจะเป็นไปอย่างยากเย็น แต่ด้วย ความเป็นอัตโนมัติ หลายสิ่งหลายอย่างเราจะสามารถทำไปโดย แทบจะไม่รู้ตัว แต่กิจต่างๆ ก็สำเร็จลงได้ เช่นการแปรงฟัน บางทีเราตื่นขึ้นมาแปรงฟันไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยบางครั้งเจ้าตัวอาจจะต้องนึกคิดว่า เราแปรงฟันหรือยัง เป็นต้น แม้แต่การเดิน เมื่อเราหัดเดินได้ตอนอยู่วัยเด็กหัดเดินนั้น เราซึ่งเป็นเด็กก็จะเอาแต่เดิน เพราะนั่น มันเป็นความสุขล้ำของเด็ก ที่จะได้พิชิตดินแดนแห่งการเรียนรู้ใหม่ๆ และตั้งแต่นั้นมา การเดินก็จะเป็นไปโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ก็คือว่าการเดินได้กลายมาเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องตื่นรู้ หากดำเนินไปได้อย่างเป็นอัตโนมัติ ตัวอย่างของการขับรถก็เช่นกัน ถ้าถึงทางแยกหนึ่งที่เราเคยเลี้ยวซ้ายอยู่เป็นประจำ พอมาถึงทางแยกนั้น ถ้าเราไม่ตื่นรู้ขึ้นมาล่ะก็ เป็นอันว่า เราจะเลี้ยวซ้าย ไปทันที อย่างเป็นอัตโนมัติ เรื่องของอารมณ์ก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องของพฤติกรรม กล่าวคือ ความเป็นไปของอารมณ์โดยส่วนใหญ่ ก็จะเป็นไป อย่างอัตโนมัตินั้นเอง เช่นความรู้สึกกับผู้คน สิ่งของ สถานการณ์ สถานที่ เราจะกลับไปในห้วงอารมณ์หนึ่งใด ที่เราเคยรู้สึก เมื่อได้ประสบพบเห็นกับผู้คน สิ่งของ สถานการณ์ หรือสถานที่นั้นเป็นครั้งแรก อันเป็นตราประทับใจเราไว้ เราก็จะตกเข้าไป ในห้วงอารมณ์นั้นอีกอย่างเป็นอัตโนมัติ ถ้าเป็นอารมณ์บวกที่มีรากฐานมาจากความรักและความไว้วางใจก็ดีไป แต่หลายๆ ครั้งเราก็ได้ภาพประทับที่เป็นอารมณ์ลบมา อันมีรากฐานมาจากความกลัวและความหวาดระแวงแคลงใจ
เมื่อบรรยายมาเช่นนี้ เราคงจะเดาได้เองถึงข้อจำกัดของการเป็นไปทั้งทางพฤติกรรมและอารมณ์อย่างเป็นอัตโนมัติ เพราะเมื่อพ้นวัย เปิดออกต่อการเรียนรู้ เราก็แทบจะปิดประตู และหน้าต่างที่จะเปิดออกสู่การเรียนรู้เสียเกือบทั้งหมด อาจจะเปิดไว้เพียงหน้าต่างเล็กๆ ในเรื่องที่อาจจะเป็นการเรียนรู้ในงาน หรือในงานอดิเรกหรือในการเล่น ที่เราชื่นชอบและรู้สึกว่าตนเองทำได้ดี แต่แล้วสิ่งที่เรา มีอยู่ทั้งหมดก็ถูกแช่แข็ง ในแบบแผนความเป็นไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ปราศจากการตื่นรู้ที่จะนำพาเราไปสู่การเรียนรู้ใหม่ ดังที่ภูมิปัญญาของคนโบราณจะพูดเอาไว้ว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ชีวิตเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วของเราจึงเป็นไม้แก่ ที่แข็งแต่ไม่แกร่ง ดัดยากและหักง่ายยิ่งขึ้นทุกที เป็นชีวิตที่เปราะบาง ไม่อาจทนทานต่อสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเลย หากเราจะมองความเปลี่ยนแปลงทุกชนิดด้วยความประหวั่นพรั่นพรึง ด้วยฐานแห่งความกลัวและความหวาดระแวง
ตอนนี้จะขอกลับมา ที่เรื่องราวของปัญญาอารมณ์ ตำแหน่งแห่งที่ของมันคือสมองส่วนกลาง เป็นวิวัฒนาการ ที่เรามีมาร่วมกับ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย ดังเราจะเห็นได้ว่า เด็กเล็กจะชอบไดโนเสาร์ เมื่อโตขึ้นมา ในวัยเดียวกับที่สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เริ่มเติบโตเต็มที่แล้วนั้น เด็กจะชอบนิทานหรือเรื่องราวที่มีบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นราชสีห์หรือหมีหรือหมาป่าก็ตาม ในมนุษย์นั้นปัญญาอารมณ์จะเป็นตัวกลางที่สำคัญ ซึ่งเชื่อมโยงอยู่ระหว่างปัญญากายกับปัญญาความคิด ดังที่สมองชั้นกลาง ก็จะเป็นตัวกลางสำคัญที่เชื่อมโยง สมองชั้นในกับสมองชั้น และสมองชั้นกลางนี้เชื่อมโยงกับสมองชั้นนอกโดยผ่านเข้ามาทางสมองซีกขวา ซึ่งจะทำงานไปทางด้านความรู้สึกและการจัดความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน ดังจะทำหน้าที่ไปทางเรื่องของการสร้างสรรค์และศิลปะ ในขณะที่สมองซีกซ้ายจะมีน้ำหนักไปทางเหตุผลและภาษา

แบบแผนของอารมณ์ แบบแผนของพลัง

คำว่า emotion นั้นมาจากคำสองคำ คือ energy + motion แปลความว่าอารมณ์ก็คือ พลังที่เคลื่อนไหว บางอารมณ์ของเราโดยเฉพาะ อารมณ์ที่เข้มข้นหน่อย ความรู้สึกวูบวาบของการเคลื่อนไหวของพลังในตัวเราจะชัดเจน แต่ในหลายอารมณ์การเคลื่อนไหวของพลัง อาจจะไม่เด่นชัดพอที่จะรับรู้ถึงแบบแผนของพลังในกายของเราได้ แต่เรารับรู้อารมณ์ของเราได้ อารมณ์จึงเป็นหน้าปัดบอกให้เรารับรู้ถึงแบบแผนของพลังในกายของเรา

การรับรู้เรื่องแบบแผนของพลังผ่านการรับรู้อารมณ์จะบอกอะไรแก่เราได้บ้าง ถ้าเราจัดประเภทของอารมณ์ อันหลากหลายมากมาย เป็นสองพวกหลัก โดยใช้มูลฐานหลักของอารมณ์เป็นตัวจัดประเภท ก็จะมีอารมณ์อยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่หนึ่งก็จะได้แก่ อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่อง "ความรักและความไว้วางใจ" กลุ่มที่สองก็จะได้แก่อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน "ความกลัวและความหวาดระแวง" บางทีเราจะเรียกอย่างย่นย่อว่าอารมณ์บวกกับอารมณ์ลบก็ได้ โดยแต่ละประเภทจะมีแบบแผนของพลังแต่ละอย่าง โดยจะมีผลกระทบ กับสุขภาวะและความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกันไปด้วย
จากอารมณ์ฐานความรัก และความไว้วางใจ แบบแผนพลังก็คือ ความมีพลัง กระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า คึกคัก แจ่มใส ตาเป็น ประกาย ร่างกายจะอยู่ในสมดุล สูญเสียพลังงานน้อยที่สุด มีการใช้พลังอย่างประหยัดแต่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ร่างกายจะมีพลัง สำรอง ที่จะซ่อมแซมสิ่งสึกหรอ และฟื้นคืนความกระชุ่มกระชวยให้แต่ตนเองได้

ในด้านการเรียนรู้ อารมณ์ฐานความรักและความไว้วางใจจะเอื้อต่อการตื่นรู้ เข้าสู่สภาวะของการมีสติและสมาธิ จึงเป็นอิสระ จาก ความเป็นไปแบบอัตโนมัติ ตื่นขึ้นมาจัดการกับเรื่องราวต่างๆ อย่างมีสติ ทั้งกับพฤติกรรม อารมณ์และความคิด เป็นเนื้อที่เปิด เป็นความเป็นไปได้ เป็น "ความว่าง" ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จึงเอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้เนื้อที่เปิดออก และทำให้ การเรียนรู้ ที่แท้จริงเป็นไปได้
ตรงกันข้าม จากอารมณ์ที่มีรากฐานมาจากความกลัวและความหวาดระแวง แบบแผนของพลังก็คือความปั่นป่วนสับสน ขัดกันเอง แย้งกันเอง และปีนเกลียวกัน จะมีการสูญเสียพลังสำรองของชีวิตไปอย่างมาก ในความขัดแย้งภายใน และการปีนเกลียวกัน ภายใน ดังกล่าว ร่างกายจะอ่อนล้าไร้พลัง ห่อเหี่ยว อึดอัด ขัดข้อง อันเป็นอาการเริ่มต้นที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนล้า ประสิทธิภาพ ในการซ่อมบำรุงต่ำ และคืนความกระชุ่มกระชวยช้าลง หรือแทบจะไม่ทำงานเอาเลย แน่นอนสภาพเช่นนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้โรคาพาธมา เยี่ยมเยือน ชีวิตย่อมดำรงอยู่อย่างปราศจากสุขภาวะ

ในด้านการเรียนรู้ ฐานอารมณ์ที่มาจากความกลัวและความหวาดระแวง ปิดเนื้อที่แห่งการเรียนรู้ลง ในความกลัวและ ความหวาดระแวง นั้น สมองสัตว์เลื้อยคลานเข้ามาเป็นนายใหญ่ ใช้ความฉลาดของสมองมนุษย์ ใช้ความร้ายกาจของสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ใน ความเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เป็นการตกลงร่องเดิมแห่งอารมณ์ลบ ที่อาจเรียกว่าเป็น "ร่องอารมณ์" จะเหลือคำอยู่เพียงสองคำคือ "หนีหรือสู้" เท่านั้น ความเป็นไปแบบอัตโนมัตินั้นรุนแรงกว่าความเป็นอัตโนมัติในยามปกติ เพราะ "ร่องอารมณ์" จะล็อค หรือ จำขังปัญญาไว้ให้อยู่เพียงเสี้ยวหนึ่งของสมองชั้นกลางและเสี้ยวหนึ่งของสมองชั้นนอกเท่านั้น เป็นการปิดการเรียนรู้อย่างมิดชิด และ รุนแรงยิ่งกว่า ความเป็นอัตโนมัติ ในยามปกติ และเมื่ออยู่ในร่องของอารมณ์เช่นนี้ ก็เหมือนกับคนขับรถที่เหยียบคันเร่งเต็มที่พร้อมๆ ไปกับการเหยียบเบรคอย่างเต็มที่ด้วย เครื่องยนต์คือร่างกายเรานั้นย่อมจะต้องสึกหรออย่างรุ่นแรง โดยการรับรู้เรื่องราวภายนอกตัว (และภายในตัว) อย่างเป็นปกติย่อมหมดสภาพไป อยู่แต่ในโลกแคบของเทปม้วนเก่า อันเป็นถ้อยคำที่เลวร้ายเปิดซ้ำไปซ้ำมา โดยไม่มีการเรียนรู้ใหม่ใดๆ เกิดขึ้นเลย

ปัญญาความคิด

สมองชั้นนอกคือสมองมนุษย์ ที่เป็นที่มาของภาษาและความคิด ที่มาของภาษานั้นเป็นเรื่องลี้ลับและต้องใช้เนื้อที่ต่างหากจากหัวข้อนี้ ในที่นี้ก็จะขอพูดเรื่องความคิดเป็นเรื่องหลัก
ในการศึกษาในระบบ เราถูกตีกรอบอยู่เฉพาะความคิดแบบพุทธิปัญญาที่ฝรั่งใช้คำว่า intellect เป็นปัญญาแบบตรรกะและคณิตศาสตร์ ใช้ได้ดีกับวิทยาศาสตร์ในกระบวนทัศน์เก่า แต่แม้กระนั้นก็มีประโยชน์มากมายในโลกทางวัตถุ แต่ในสังคมมนุษย์ อันละเอียดอ่อน ซับซ้อน เราต้องอาศัยเครื่องมือคิดที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนกว่าพุทธิปัญญา

ถ้าเราสร้างระบบคิด จากกรอบสมมติฐานชุดเดียว ก็เหมือนการขุดหาทองที่ฝังอยู่ในสวน โดยการขุดหลุมเดียว เอ็ดเวิด เดอ โบโน นำเสนอการคิดในแนวนอน เขาเสนอให้ขุดหลายหลุม หรือการหาสมมติฐานหลายๆ ประการ หากรอบหลายกรอบ ไม่ใช่ติดอยู่กับ กรอบเดียว แต่ความคิดก็เช่นเดียวกับ พฤติกรรมและอารมณ์ มักจะถูกจองจำอยู่ในความเป็นอัตโนมัติที่คุ้นชิน มักจะชอบอยู่ใน กรอบความคิด เดิมที่ตายตัว คิดตามเรื่องราวเดิมดุจดังแผ่นเสียงตกร่อง หรือม้วนเทปที่เปิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางทีเมื่อเราตกร่องนั้น พฤติกรรม อารมณ์ และความคิดก็จะร่วมมือกันกักขังตัวเองอยู่ในร่องนั้นเอง ความคิดก็ไม่สามารถแหวกกรอบ อารมณ์ก็ถูกกักขัง ดุจดังเป็นทาส พฤติกรรมก็เป็นไปอย่างอัตโนมัติโดยไม่อาจควบคุมได้ และนี่ก็คือที่มาของปัญหาและวิกฤตการณ์ทางสังคมทั้งหมด
ญาณทัศนะ เป็นความคิดด้วยแต่ก็มีที่มาแตกต่างจาก พุทธิปัญญา ตลอดจนการคิดทางแนวนอน หรือ การคิดสร้างสรรค์

ปัจเจกภาพหรือสมุหภาพ

ปัญญาชนชั้นนำ ของโลกตะวันตก เริ่มวิพากษ์ตนเอง เรื่องการให้ความสำคัญ หรือเน้นย้ำ ความเป็นปัจเจกภาพมาก ในขณะที่ให้ความสำคัญกับ สมุหภาพน้อยเกินไป อันที่จริง ภาษาทางสติปัญญา ของโลกสมัยนี้ ไม่เพียงพอที่จะอธิบายเรื่องของสมุหภาพ จึงต้องเป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเปิดเรื่องราวของ สมุหภาพ เข้ามาในเรื่องราวแห่ง ภูมิปัญญา ของมนุษย์ ในปัจจุบัน
บางทีบางคน อาจจะเข้าใจผิดไปคิดถึง เรื่องข้อโต้แย้งระหว่าง ความคิดที่ต้องการ เปลี่ยนแปลงสังคม ที่แบ่งขั้วระหว่าง การเปลี่ยนแปลงที่สำนึก ของคน หรือ จะเปลี่ยนที่ โครงสร้างทางสังคม ซึ่งในที่สุดก็อาจจะไปลงเอยที่การพิสูจน์ทางการปฏิบัติ แต่นี่ไม่ใช่ประเด็น ระหว่าง ปัจเจกภาพ กับ สมุหภาพ ที่กล่าวถึงอยู่เลย เพราะทั้งหมดของ การโต้แย้ง ยังอยู่ใน สมมติฐาน ที่มอง มนุษย์ และ สังคมมนุษย์ ด้วย ฐานของปัจเจกภาพ คือเริ่มต้นจากมนุษย์ที่เป็น ปัจเจกภาพ รวมกันขึ้นมาเป็น สังคมมนุษย์ และเมื่อ ปัจเจกบุคคล อยู่ร่วมกัน ก็เกิด โครงสร้างต่างๆ ทางสังคมขึ้น ที่เป็น ระบบทางสังคม ขึ้นมา

อนัตตา อันเป็นหนึ่งในการอธิบาย ความเป็นจริง ที่เกิดขึ้น และ เป็นไปในโลก ควบกับทุกขา และ อนิจตา รวมเป็น ไตรลักษณ์ เราจะจัดที่ทาง อนัตตา กับ การมองโลก ที่ม ีสมมติฐาน ตั้งอยู่บน ปัจเจกภาพ ได้อย่างไร การโต้แย้งหักล้างทางความคิด คงไม่ช่วง การวิวัฒน์ทางปัญญา เท่าใด ที่เราจะ เรียนรู้อะไร ได้หรือไม่ จากจุดเด่น (และอาจจะรวมถึงบทเรียนจากจุดด้วย) ของอารยธรรม สองกระแสนี้
ความเป็นตัวตน หรือความเป็นวัตถุ (objects) ไม่ได้จำกัดอยู่ เฉพาะกับ การมองย้อนดูตนเอง ของมนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึง การที่มนุษย์หันไปมอง ปรากฏการณ์ต่างๆ รอบๆ ตัวด้วย การแปรปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เป็นวัตถุ นั้นเป็นเรื่องของความจำ และ การก่อประกอบโลก ขึ้นมาได้ เพื่อที่วางท่าที และบทบาทที่เหมาะสมกับโลก ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม (ซึ่งนาบธรรมก็เป็นการแปรปรากฏการณ์ทางนามธรรมให้เป็นวัตถุด้วย)
คิดแบบง่ายๆ ก็คือเมื่อมนุษย์จะเกิดมีปัญญาเหนือสัตว์ทั้งหลายนั้น ภาษาได้โผล่ปรากฏขึ้น โผล่ปรากฏคือการก่อเกิดเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เป็นคุณภาพใหม่ของวิวัฒนาการพร้อมๆ กับภาษาคือการทำให้ปรากฏการณ์รอบๆ ตัวมีความหมายในเชิงวัตถุ (objects) ขึ้นมา และเมื่อจัดความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุเหล่านั้น โลกก็ถูกก่อประกอบขึ้นในทางวิญญาณวาท อันเป็นนิกายหนึ่งของมหายาน นั้นอาจกล่าวได้ว่า เมื่อเกิดมีวัตถุขึ้นก็มี "ตัวแทน" และ "ภาพลักษณ์" ของตัวแทนนั้นขึ้น
แต่โลกที่ก่อประกอบขึ้นทั้งหมดนั้น เป็นโลกที่ถูกปรุงแต่งขึ้น มิใช่โลกตามความเป็นจริง แม้โลกตามภววิสัย (objective world) ที่เข้าใจกันก็เป็นโลกที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาปรุงแต่งขึ้นมาตั้งแต่ที่เรามองเห็นอะไรต่ออะไรเป็นวัตถุแล้ว เมื่อเป็นต้นไม้ แม่น้ำ ภูเขาขึ้นมา ก็เป็นวัตถุขึ้นมาแล้ว เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ขึ้นมาแล้ว
นิทานเซ็นมักจะให้อะไรเราได้มากมาย เรื่องที่คล้องจองกันนี้ก็มีเรื่องเล่า กล่าวคือเมื่อจะเริ่มปฏิบัติธรรม เมื่อยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่นั้น ผู้ปฏิบัติธรรมไปหนักๆ เข้าก็จะเห็นภูเขาไม่เป็นภูเขาและแม่น้ำไม่เป็นแม่น้ำ แต่แล้วเมื่อปฏิบัติไปจนถึงอีกขั้นหนึ่ง เอ! ภูเขาก็กลับมาเป็นภูเขา และแม่น้ำก็กลับมาเป็นแม่น้ำ ก็ การรับรู้ (perception) ทางวิญญาณวาทนั้น มีสามประการคือ ตัวแทน ภาพลักษณ์และตถตา อันหลังสุดคือ ความเป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งมาก่อนการปรุงแต่งให้เป็น ตัวแทนหรือภาพลักษณ์ ขั้นที่สองของนักปฏิบัติธรรมนิกายเซน เขาได้เริ่มเห็นความเป็นเช่นนั้นเองที่ไปพ้นตัวแทนและภาพลักษณ์ และเมื่อถึงที่สุดแล้ว เขาก็ยังกลับไปใช้ตัวแทน และภาพลักษณ์อีกครั้ง แต่ด้วยคุณภาพใหม่ คือไม่ยึดติดในตัวแทนและภาพลักษณ์นั้น
ปมเรื่องของปัจเจกภาพ หรือสมุหภาพ ก็อยู่ตรงนี้เองที่ว่าจะตัดความสัมพันธ์โยงใยของสรรพสิ่ง (คำว่าสิ่งตรงนี้ก็เป็น ภาษาของโลกสมมติแล้ว) ออกเป็นห้วงๆ เพื่อก่อเกิดความรู้ความเข้าใจ และก่อเกิดโลกดังที่เราเข้าใจกันอยู่หรือไม่ ทั้งที่แต่ละก้อนแห่งความสัมพันธ์โยงใยนั้น ก็มีความสัมพันธ์โยงใยอยู่ภายใน ที่สัมพันธ์โยงใยกับภายนอกอยู่หลากหลายทิศทาง ที่จริงจะตัดออกมาเป็นก้อนแบบอื่นๆ อีกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตัดเป็นก้อน แบบที่ทำกันอยู่ และจะเห็นได้ว่าต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ธรรมเนียมการตัดเป็นก้อนๆ ก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย ซึ่งจะเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมหรือจะเป็นที่มาของการเรียนรู้ก็ได้ทั้งสองทาง
นี่เองพวกโพส์ตโมเดิน กล่าวว่าการจัดประเภท (categorization) และการนิยาม ก็เป็นการกระทำทางอำนาจ เพราะมันเป็นพื้นฐานของการก่อประกอบโลก การก่อประกอบโลกจะพลิกผันแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการตัดก้อนวัตถุด้วยนิยาม ตลอดจนการจัดประเภทด้วยการนำก้อนวัตถุไปใส่กล่องของประเภทต่างๆ ดังเช่นครั้งหนึ่งที่มีวิวาทะระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ กับ ท่านพุทธทาส เรื่อง โลกุตตรธรรม โดยหม่อมอยากจะเอาธรรมขึ้นหิ้ง หม่อมจะได้ขายเปปซี่ แต่พุทธทาสนั้นเห็นว่า โลกุตตรธรรม มันดำรงอยู่ทุกที่ทุกเวลาในชีวิตโลกๆ ของมนุษย์ ดังท่านจะพูดว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม ดังนี้เป็นต้น
แต่แล้วปัญหา ไม่ใช่อยู่ที่จะนิยาม หรือไม่นิยาม จะจัดประเภทหรือไม่จัด แต่ทำอย่างไรเมื่อแบ่งหรือจัดประเภทแล้ว เราจะไม่ยึดติด การแบ่งหรือการจัดประเภทแบบนั้นอย่างตายตัว อย่างยึดถือเอาจริงเอาจังแบบหัวชนฝา โดยเปิดทาง ให้แก่การแบ่ง และการจัดประเภท อย่างอื่นๆ ด้วย เปิดที่ว่าง ความว่างไว้ให้แก่ความเป็นไปได้ของการแบ่งและการจัดประเภททุกครั้งที่เกิดญาณทัศนะแห่งความรู้ใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ การเข้าสัมผัสกับตถตา (ความเป็นเช่นนั้นเอง) อยู่ตลอดเวลา แม้มีการแบ่งและจัดประเภทใดๆ นั้นถือว่า เป็นอุดมคติของการดำรงอยู่อย่างไม่ยึดติด ในการปรุงแต่งใดจนเกินเลย เพื่อดำรงความเป็นอิสระอยู่ได้ตลอดเวลา และพร้อม เสมอกับวิวัฒนาการในก้าวถัดไป!

สมุหภาพและจิตไร้สำนึก

ภาพที่ให้ความกระจ่างชัดที่สุดในเรื่องของจิตไร้สำนึกก็คือ ภาพของคนนั่งทางใน (ที่จริงเป็นนอนทางในจะถูกกว่า เพราะเขาจะ นอนเวลา จะติดต่อกับสัตภาวะที่สูงกว่า) ภาพที่เขาเขียนขึ้น ทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง จิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก ได้ง่ายขึ้น และการที่เขาแบ่งจิตไร้สำนึกเป็นต่ำกว่ากับสูงกว่า ก็ช่วยให้เข้าใจคำว่า intuition ของฝรั่งว่าอาจแปลเป็นคำไทย ได้สองคำคือ สัญชาติญาณสำหรับจิตไร้สำนึกที่ต่ำกว่า และญาณทัศนะสำหรับจิตไร้สำนึกที่สูงกว่า ภาพของเอ็ดการ์ เคซี (ชูมากเกอเขียนถึงเขาในแผนที่คนทุกข์ด้วย) เป็นดังนี้
Edgar Cayce's dreams

ภาพของเคซีนี้ที่จริงเป็นภาพสามมิติ ให้นึกถึงลูกทุเรียนเป็นแบบก็ได้ แต่เมื่อเขียนบนกระดาษแบบง่ายๆ ก็เขียนได้เป็นภาพสองมิติอย่างที่เห็น จากภาพเราจะเห็นว่า จิตสำนึกของมนุษย์ที่เป็นปลายแหลมหรือเป็นติ่งยื่นออกมานั้น จะแยกขาดออกจากกันสำหรับแต่ละปัจเจก แต่ลึกลงไปในจิตไร้สำนึกของมนุษย์นั้นจะเป็นอะไรที่เชื่อมถึงกันตลอดไม่แยกขาดออกจากกัน ทั้งต่ำกว่าหรือสูงกว่า เพราะฉะนั้นการจะมองเรื่องปัจเจกภาพเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่โลกตะวันตกมอง ก็อาจทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อโลกตะวันตก ให้ความสำคัญกับปัญญาเพียงเสี้ยวเดียวคือ พุทธิปัญญาหรือ intellect

ฟรอยด์พยายามปฏิวัติขัดขืน โดยกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตไร้สำนึก แต่เขาใช้คำว่าจิตใต้สำนึก ทั้งนี้เพราะเขาไปเล่นกับจิตไร้สำนึกในปริมณฑลที่ต่ำกว่า เขาจึงพบพลังทางเพศเป็นแรงขับ ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ก็ถูกเพียงบางเสี้ยวเท่านั้น ดังที่ยุงจะแตกออกมาทางจิตไร้สำนึกที่สูงกว่าและมาเล่นกับเรื่องแบบบรรพกาลหรือ archetype เป็นต้น

ทางวิญญาณวาทของมหายานก็พูดเรื่องอาลัยวิญญาณอันเป็นเวิ้งของจิตไร้สำนึกอันยิ่งใหญ่ ภายในอาลัยวิญญาณก็มีพีชหรือเชื้อต่างๆ ของจิตที่อาจบ่มเพาะให้กล้าแข็งขึ้นมาและจะมาปรากฏในมโนวิญญาณ ซึ่งก็คือจิตสำนึกในภาษาของปัจจุบันนี้เอง

รูเปิต เชลเดรก (Rupert Sheldrake) นักชีววิทยากระบวนทัศน์ใหม่ของอังกฤษได้ตั้งสมมติฐานเรื่อง morphic resonance ขอเขาไว้อย่างน่าฟัง morphic resonance นี้เขาเสนอว่าเป็นสนามความทรงจำชนิดหนึ่งที่แต่ละสายพันธุ์จะมีอยู่และใช้ร่วมกันเป็นความทรงจำร่วม ก็คลื่นวิทยุที่มองไม่เห็นยังแปลออกมาเป็นเสียงได้ ความทรงจำนี้ก็อาจมีอยู่ ดำรงอยู่ได้เช่นกัน

ในหนังสือ Marriage of Senses and Soul นั้น เคน วิลเบอ พูดถึงสามขั้นตอนของการแสวงหาความรู้นั่นคือหนึ่งตั้งสมมติฐาน สองปฏิบัติ สามกลับมาคุยกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน ประเมินสมมติฐานใหม่ ตั้งสมมติฐานใหม่ แล้วก็ทำซ้ำเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า นี่คือกระบวนการหาความรู้

เดวิด โบห์ม นักทฤษฎีฟิสิกส์โนเบลไพซ์ ให้ความสำคัญกับ dialogue ว่าเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ ในความละเอียดอ่อนของ dialogue แบบโบห์มนั้น เส้นกั้นระหว่างปัจเจกภาพและสมุหภาพเลือนลางไป เขาพูดถึงภาษาและความคิดว่ามีความเป็นสมุหภาพพอๆ กับที่เป็นปัจเจกภาพ เพราะหากไม่มีการสื่อสารสัมพันธ์ ภาษาและความคิดจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?!

แนวโน้มที่สำคัญของงานวิจัยทางสมองอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการเรียนรู้ ก็คือการก้าวพ้นกรอบจำกัดของกาลเวลาและสถานที่ของฟิสิกส์แบบนิวตัน อันเป็นฟิสิกส์แบบกลไก ไปสู่ความไม่จำกัดกับขอบเขตของที่ทาง (non-local) และเข้าสู่สถานภาพของคลื่นและข่ายใยในกรอบของควันตัมฟิสิกส์ ดังในหนังสือ The Evolution End ของโจเซฟ ชิลตัน เพียซ เขาเปรียบว่าสมองเป็นมหาสมุทรและสมองทำงานแบบ holographic นั่นคือสมองทั้งสมองทำงานร่วมกันอย่างไม่จำกัดพื้นที่ ผ่านคลื่นในรูปแบบของสนามที่โยงใยถึงกันหมด
ความรู้ต่างๆ ในมิติใหม่ของวิทยาศาสตร์นี้ ได้เปิดพรมแดนใหม่ให้ภาพจินตนาการแห่งไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนาได้บรรเจิด ทำให้เราอาจจินตนาการสภาวะแห่ง "อนัตตา" ได้อย่างกว้างไกล อันทำให้หนทางปฏิบัติและดำเนินชีวิตไปสู่ความเข้าใจใน "อนัตตา" เป็นไปได้มากขึ้น

สมุหภาพกับการก่อเกิดโลก

โลกในที่นี้หมายถึงโลกแห่งการรับรู้ อันที่จริงการวิวัฒนามาสู่ความเป็นมนุษย์นั้นเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่มนุษย์ได้พัฒนาความเป็นสัตว์สังคมขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ภาษา วัฒนธรรม ความคิดและการรับรู้โลกเป็นสมุหภาพมากกว่าปัจเจกภาพ แต่ก็ยังมีปัจเจกภาพอยู่ ความเหลื่อมล้ำของปัจเจก สร้างโอกาสแห่งการสร้างสรรค์และจินตนาการอันอาจไปพ้นกรอบของโลกที่รับรู้ร่วมกัน แต่โดยส่วนใหญ่เราจะรับรู้โลก พูด คิด ดำรงอยู่ไปตามโลกที่สังคมมนุษย์โดยรวมได้สร้างขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์ที่อยู่ในโลกเสรีนิยมที่เชื่อในความก้าวหน้าทางวัตถุ ก็จะรับรู้ว่าธรรมชาติแวดล้อมคือทรัพยากรที่จะนำมาใช้ เพื่อพัฒนาความเจริญทางวัตถุให้ยิ่งๆ ขึ้นไป พวกเขามองเห็นสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติว่าดำรงอยู่แยกขาดออกจากกันและไม่ได้สัมพันธ์โยงใยกันหรือมองไม่เห็นความสัมพันธ์โยงใยในระบบนิเวศ และแทนที่จะใช้คำว่านิเวศ พวกเขาก็มักจะใช้คำว่าสิ่งแวดล้อมมากว่าเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้พวกเขาก็เห็นพวกออกมาต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อน หรือเขื่อนที่มีอยู่แล้วจะให้เปิดเขื่อน (คือไม่ให้ใช้เขื่อนนั่นเอง) เป็นเรื่องประหลาด เป็นเรื่องของพวกบ้าบอคอแตก และเป็นเรื่องที่ชนชั้นกลางในโลกแบบเสรีนิยมจะเข้าใจไม่ได้เลย แม้จะให้ข้อมูลว่าที่สหรัฐอเมริกาเขาทุบเขื่อนทิ้งไปมากมายเพียงไร เพื่อจะปลดปล่อยอิสรภาพให้แก่สายน้ำอีกครั้ง แม้คำว่าอิสรภาพของสายน้ำก็จะไม่ปรากฏในพจนานุกรมของโลกเสรีนิยม เพราะในโลกเสรีนิยมสายน้ำเป็นสิ่งไม่มีชีวิต หากสามารถวัดเป็นลูกบาตรเมตรได้ และดูว่าจะเอาไปใช้ผลิตไฟฟ้าอย่างไร เอาไปใช้ทางเกษตรกรรมอย่างไร เอาไปป้อนเมืองเล็กเมืองใหญ่อย่างไร

ข้าพเจ้าเคยเฝ้าดูผู้คนที่คิดว่ามีอัตลักษณ์ของตัวเอง เอาเข้าจริงเราจะได้ยินเทปม้วนเดียวกันเปิดซ้ำไปซ้ำมา ดูสิ!! มนุษย์อันมีปัญญาเลิศล้ำ แต่มาจำนนอยู่ในโลกแคบๆ อย่างสมัครใจ นี่ก็คือแรงเฉื่อยของความเป็นสมุหภาพด้วย ถ้าผสานปัญญาสามฐานเข้ามา เราก็มักจะหลบเข้าไปเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ด้วยความรู้สึกสะดวกปลอดภัยในอะไรที่เคยทำกันมาอย่างเป็นประเพณีนิสัย เราไม่ค่อยอยากจะออกมาสู่โลกที่เราไม่รู้จัก โดยเฉพาะเมื่อกลัวและหวาดระแวง เราก็ยิ่งหลบเข้าไปอยู่ในโลกของสัตว์เลื้อยคลาน โดยเตรียมพร้อมที่จะสู้หรือหนี ในสภาวะนั้นสมองก็จะล็อคให้สัตว์เลื้อยคลานเป็นใหญ่ สัตว์ส่วนอื่นก็จะกลับกลายมาเป็นผู้รับใช้ ตรงนี้เองที่มนุษย์แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง แทนที่การใช้ปัญญาญาณอันอาจจะหาคำตอบที่ตอบสนองทุกฝ่าย ทุกพวก ทุกสรรพชีวิตได้

เมื่อมนุษย์ดำรงอยู่ด้วยความกระหายอำนาจและอาณาจักรเฉกเช่นสัตว์เลื้อยคลาน มนุษย์สามารถเอาสมองในระดับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและในระดับของมนุษย์มาใช้ได้อย่างชาญฉลาด ในการโฆษณาขายสินค้า แฟชั่นได้เปิดช่องทางให้ผู้คนได้แสวงหาอัตลักษณ์ แต่น่าเสียดายที่มันเป็นอัตลักษณ์ปลอมๆ ที่ไม่สามารถให้คุณค่าแท้จริงแก่ผู้ซื้อหาได้ กล่าวคือการแสวงหาอัตลักษณ์ในโลกของแฟชั่นก็คือการเป็นทาสบริโภคนิยมดีๆ นี่เอง!

สมุหภาพกับปัญญา

ขอมองธรรมชาติแห่งสมุหภาพในมนุษย์ในมุมมองที่เป็นบวกบ้าง เรามักจะคุ้นเคยกับปัญญาแบบปัจเจก ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดพลาดแต่อย่างใด แต่น้ำหนักจะอยู่ที่ไหนกันแน่ในการแสวงหาปัญญา

ถ้ากลับไปพิจารณาประสบการณ์ของตัวเราเอง และประสบการณ์ของเพื่อนมนุษย์ เราจะเห็นการเริงระบำที่กลับไปกลับมาระหว่างปัจเจกกับชุมชน โดยเฉพาะปัญญาที่จะโผล่ปรากฏในวิกฤติการณ์แต่ละช่วงของมนุษยชาติ เมื่อพระพุทธเจ้าจะละสังขารจากโลกนี้ไป ก็ได้มอบความสำคัญให้แก่คณะสงฆ์ นั่นก็คือชุมชนของผู้แสวงหาทางปัญญา กลุ่มบรูมเบอรี่ที่มีนักเขียน ศิลปิน นักคิดชั้นยอด ก็เกิดขึ้นเพราะการเกาะกลุ่มพบปะกันทุกสัปดาห์ อันเป็นเวทีการปะทะสังสรรค์ทางปัญญาจะเกิดขึ้น

เดวิด โบห์ม นักทฤษฎีฟิสิกส์ที่อาจจะเรียกว่าเป็นทายาทของไอน์สไตน์ ได้ครุ่นคิดเรื่องนี้จนตกผลึก เขาได้เห็นข้อจำกัดของนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนเขาที่ไม่พูดคุยกัน หากแบ่งเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย โบห์มเชื่อเรื่องการสนทนา ที่เขาใช้คำว่า dialogue เขาเห็นว่าการสนทนาเป็นที่มาของความรู้ ในการสนทนานั้น โบห์มให้ความสำคัญกับเรื่องของการเหลื่อมล้ำในความเข้าใจ เช่นเมื่อนายก. พูดและนายข. ฟัง นายข. จะเข้าใจนายก. อย่างไม่เที่ยงตรงนัก แล้วก็จะพูดกลับมา นายก. รู้ว่านายข. ไม่เข้าใจตนนัก แต่ความเข้าใจของนายข. ที่เหลื่อมล้ำออกไปนั้นก็น่าสนใจ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ประการที่สอง โบห์มให้ความสำคัญกับ "สมมติฐาน" ว่าการสนทนาควรช่วยเผย "สมมติฐาน" ที่ซ่อนเร้นอยู่ เพราะเรามักจะพากันเชื่อว่า ความคิดของเราเป็นสัจธรรม "ความจริงของโลกมันต้องเป็นเช่นนั้น" ในขณะที่มองความคิดของคนอื่นว่าเป็นสมมติฐาน

การมีโอกาสได้รับรู้ว่าความคิดต่างๆ ของเราล้วนมาจากสมมติฐานก็จะเป็นการให้อิสรภาพที่จะเข้าไปดูสมมติฐานอื่นๆ ทำให้สมมติฐานกลายเป็นเครื่องมือในการเข้าใจโลก รับรู้โลก มากกว่าที่เราจะเป็นทาสมันอย่างยอมจำนน

ประการที่สาม แม้ภาษาก็มีข้อจำกัดในการสื่อสาร โบห์มให้ความสำคัญการสื่อสารที่ไปพ้นภาษาด้วย โบห์มใช้คำว่า tacit อันหมายถึงบรรยากาศ ความรู้สึก อากัปกิริยา อันไม่แจ้งชัด หากเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในการสนทนา ตรงนี้เองที่ทำให้การได้นั่งลงเห็นหน้าเห็นตากันในวงสนทนาจริง จึงมีน้ำหนักกว่าการสื่อสารโดยผ่านสื่อใดๆ

มีนักวิทยาศาสตร์ศึกษาว่า ภาษาในช่วงแรกของมนุษย์ (จาก Hidden Connections ของคราปา) เป็นภาษามือ แล้วจึงจะกลายมาเป็นภาษาที่เปล่งออกมาทางปาก นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาลิงชิมแปนซีกับภาษา แต่ก่อนนักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนไปดูที่เสียงที่เปล่งออกมาของลิงชิมแปนซี ซึ่งไม่เป็นภาษา ต่อมานักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังมาจับเรื่องราวของภาษามือ ปรากฏว่าชิมแปนซีสื่อสารกันด้วยภาษามือ และในมนุษย์ส่วนสมองที่ทำงานมากกับการเคลื่อนไหวมือคือส่วนเดียวกับที่ใช้พูด สไตเนอร์รู้เรื่องนี้มาก่อนการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์มาหลายทศวรรษ โดยสไตเนอร์จะเอาการเคลื่อนไหวแขนขามาช่วยในการพูดของเด็กติดอ่าง

ส่วนเด็กเล็กที่เข้าใจภาษาได้อย่างไร? อันนี้นับเป็นความอัศจรรย์อย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ และช่วยยืนยันการสื่อสารที่มีมากกว่าภาษาพูด ที่โบห์มใช้คำว่า tacit มาพูดถึงเรื่องนี้ พื้นฐานของภาษาอาจจะมาจากความเคลื่อนไหวร่างกาย ดุจดังการเริงระบำของผึ้ง ก็เป็นการบอกกล่าวกันว่าจะไปหาน้ำหวานของดอกไม้ได้ตรงไหน มีการถ่ายภาพยนตร์ที่มีความถี่ของภาพสูงในเวลาที่คนสนทนากัน การเคลื่อนไหวร่างกายเล็กๆ ที่แทบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเกิดขึ้นทั้งกับผู้พูดและผู้ฟัง

ประการที่สี่ โบห์มกล่าวว่า ภาษาและความคิดมีความเป็นสมุหภาพมกกว่าที่เราคิดกันมาก โดยเฉพาะเรื่องภาษา (คราปาก็เล่าเรื่องชิมแปนซีไว้ว่า ลิงฝูงต่างๆ จะมีภาษาของตนเอง จะไม่ใช่เป็นภาษาร่วมกันในบรรดาลิงชิมแปนซีทั้งหมด) ภาษาไม่ใช่ตัวแทนของความจริง ในทฤษฎีซานตาอาโก มาตูรานาและเวเรลาปฏิเสธแนวคิดเรื่องตัวแทนทางภาษา ทฤษฎีนี้ปฏิเสธ objective reality ความจริงแบบภววิสัย แต่การรับรู้ทั้งหมด เป็นการรับรู้ผ่านการตีความ หนึ่งด้วยอายตนะของสายพันธ์ ดังจะเห็นได้ว่าตาของเราก็ต่างจากตาของสุนัขและตาของเหยี่ยว แล้วบรรดาสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีตาเล่า พวกมันจะรับรู้โลกอย่างไร? สองในมนุษย์นั้นมีความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังที่นักชีวฟิสิกส์ บรูซ ลิปตัน ได้มาปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขากล่าวว่า perception เป็นตัวกำหนดความเป็นไปของชีวิตและความเชื่อจะมากำหนด perception เราเชื่ออย่างไร โลกก็จะเป็นเช่นนั้น!?

ทฤษฎีซานติอาโก พูดต่อไปว่า มนุษย์ได้สร้างโลกร่วมกันขึ้นมาผ่านวิถีแห่งการรับรู้โลก ภาษาและความคิด โลกจึงเป็นเรื่องสังคมมนุษย์แต่ละสังคมร่วมกันสร้างขึ้นมา และโลกก็เป็นความจริงแบบอัตวิสัยของกลุ่มชน อาจจะมีกลุ่มชนเล็กๆ ในกลุ่มชนใหญ่ ที่มีวิถีการมองโลกที่ผิดแผกออกไปจากกระแสสังคม พวกเขาก็อาจทำได้ แต่จะต้องมีชุมชนเพื่อรองรับการก่อเกิดของโลกใบใหม่นั้นๆ ภาษา ความคิด ไม่อาจดำรงอยู่ในเฉพาะตัวปัจเจกบุคคล เพราะภาษาและความคิดจะก่อเกิดจากการสื่อสารสัมพันธ์ของกลุ่มชน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อาจเกิดจากปัจเจกบุคคลได้ แต่จะผ่านเปลี่ยนไปสู่ภาษาและความคิด ก็ต่อเมื่อมันมีการสื่อสารสัมพันธ์กันในกลุ่มชนเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การโผล่ปรากฏของความคิดใหม่ ที่มีธรรมชาติของความคิดแบบญาณทัศนะ (intuition) นั้น ที่จริงแล้วมันมีความเป็นปัจเจกภาพแค่ไหน? หรือการโผล่ปรากฏในปัจเจกบุคคล ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะกันมาในกลุ่มชน และเมื่อถึงเวลาพอเหมาะ สถานการณ์พอเหมาะ ภาษาและความคิดอันเป็นตัวแทนของนวัตกรรมใหม่ก็ผุดพรายขึ้นมา จากประสบการณ์ส่วนตัว การผุดพรายขึ้นมานั้นมักจะไม่ได้เกิดขึ้นกับคนๆ เดียวด้วย อาจจะเกิดขึ้นในหลายคนหรือบางคนพร้อมกัน แต่ความสามารถที่จะแปลความเป็นภาษาของปัจเจกบุคคลแต่ละคนก็อาจจะมีความสามารถแตกต่างกันไป

อิสระในการรับรู้โลก

ในการเริงระบำระหว่างปัจเจกภาพและสมุหภาพนั้นได้ก่อประกอบการรับรู้โลกขึ้นมา ทำให้โลกเป็นโลกอย่างที่เรารู้สึกนึกคิดกับมันได้อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในบัดนี้ และในระหว่างการเริงระบำระหว่างคู่นี้ ก็อาจจะมีความว่างและพื้นที่แห่งการมองใหม่ที่ผิดแยกแตกต่างออกไปได้ตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนแบบแผนการรับรู้ก็คือการก่อประกอบโลกใบใหม่ อันนี้เองเป็นที่มาของอิสรภาพในการรับรู้โลก

ในขณะเรากำลังจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับโลกใบหนึ่ง ที่อารยธรรมทางตะวันออกจะถือว่าเป็นโลกมายาหรือโลกสมมติที่ถูกกำหนดขึ้นด้วยภาษาคนนั้น เรามีอิสภาพของความว่างอยู่ อิสรภาพนั้นคือการรับรู้สรรพสิ่งหรือสรรพปรากฏการณ์อย่างเป็นเช่นนั้นเอง แต่เมื่อเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับโลกแล้วเราก็จะรับรู้โลกอย่างเป็นตัวแทนและภาพลักษณ์ อันเป็นโลกสมมติและโลกมายา แต่การมีอยู่ของโลกสมมติก็จำเป็นที่ทำให้โลกเป็นโลก แม้จะเป็นไปอย่างสมมติ แต่ก็มีตัวแทนและภาพลักษณ์อย่างเป็น สมุหภาพชุดหนึ่งที่ทำให้พูดภาษาคนกันรู้เรื่อง

แต่มนุษย์เป็นจำนวนมากก็ไปติดอยู่กับโลกสมมตินั้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง อย่างเป็นทาส ไม่มีอิสรภาพจากโลกสมมติก็จะเกิดความทุกข์ เพราะโลกสมมติไม่ว่าจะเป็นใบไหนก็ตามอย่างผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นเช่นนั้นเองไม่มากก็น้อย ถ้าเรามีความว่าง มีพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือโลกสมมติออกไป เราก็จะมีอิสรภาพในการรับรู้โลก

ในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลง มนุษย์แม้ในสังคมเดียวกันหนึ่งๆ ก็รับรู้โลกกันแตกต่างไปเป็นคนละใบ อยู่ในสังคมเดียว แต่อยู่ในโลกคนละโลก เช่นเวลานี้ ในสังคมกระแสหลักจะเชื่อในเทคโนโลยี เชื่อในการเจริญเติบโตของรายได้มวลรวมประชาชาติ เชื่อในบริโภคนิยม แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งเริ่มมองเห็นโลกที่แตกต่างออกไป พวกหลังนี้ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีแต่ก็เห็นว่าเราสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมได้ และเห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป้าหมายในตัวเอง และถ้าไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมและมนุษย์ก็มีความผาสุขได้ พวกหลังเห็นความสำคัญของความยั่งยืนของระบบนิเวศ จึงเห็นว่าการบริโภคแต่พอดี สำคัญกว่าการบริโภคอย่างเกินเลยและความสุขของมนุษย์ไม่ได้อยู่ในส่วนของการบริโภคที่เกินเลยออกไป หากความสัมพันธ์ในสังคมที่ดีจะนำมาซึ่งความยั่งยืนกว่า ทั้งในสังคมมนุษย์และในระบบนิเวศด้วยเป็นต้น

นี่ก็เป็นตัวอย่างโลกสองใบที่แตกต่างกัน ถ้าหากเราไม่เข้าใจในภาษาคนภาษาธรรม และไม่อาจมองเห็นว่าโลกที่เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่นั้น เป็นเพียงโลกสมมติ เราก็อาจขัดแย้งกันอย่างเอาเป็นเอาตายได้ อิสระในการรับรู้โลกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้วิวัฒนาการของมนุษย์เป็นไปได้โดยสันติ

ท่าทีในการรับรู้โลกกับแบบแผนแห่งพลัง

นอกจากโลกใบต่างๆ แล้ว ในโลกแต่ละใบแม้จะรับรู้โลกไปทางเดียวกัน ยอมรับสมมติไปในทางเดียวกัน ก็ยังมีเรื่องต่างกันในท่าทีต่อการรับรู้โลก ที่แบ่งออกเป็นหลักใหญ่ๆ ได้สองท่าที คือการรับรู้โลกด้วยความกลัวและหวาดระแวง กับรับรู้โลกด้วยความรักและไว้วางใจ
ตรงนี้เมื่อไปเชื่อมโยงกับปัญญาสามฐาน มันจะไปเกี่ยวร้อยอยู่กับปัญญาอารมณ์ (คือความชาญฉลาดที่จะจัดวางอารมณ์ความรู้สึกที่จะมีต่อโลก อันได้แก่ปรากฎการณ์และผู้คน) อารมณ์ที่แปลจาก emotion และ emotion ตัวนี้แตกศัพท์ออกได้เป็นสองคือ energy+motion ซึ่งก็ได้แก่พลังบวกความเคลื่อนไหว กล่าวอีกนัยหนึ่งอารมณ์คือพลังที่เคลื่อนไหว
เราจะพูดกันติดปากว่า "มีอารมณ์" หรือ "ไม่มีอารมณ์" ในการที่จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร มีอารมณ์ก็คือมี "พลัง" ถ้ามีอารมณ์จะทำอะไร ก็คือมี "พลัง" ที่จะกระทำการนั้นๆ
ทีนี้อารมณ์ก็มีหลายแบบเช่นโกรธ เกลียด รัก ชอบ ตื่นเต้น ตื่นตัว และอื่นๆ อีกมาก อารมณ์แต่ละแบบก็คือการเคลื่อนไหวของพลังแต่ละแบบในร่างกายของเรา รวมทั้งการติดขัดแต่ละแบบของการเคลื่อนไหวของพลังด้วย แต่เพื่อให้เห็นภาพรวมเพื่อประโยชน์ของการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และพลังในชั้นต้น เราจะแบ่งอารมณ์ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือความกลัวและความหวาดระแวงกลุ่มหนึ่ง และความรักกับความไว้วางใจอีกกลุ่มหนึ่ง หรืออาจจะพูดแทนชื่อยาวๆ ว่าเป็นอารมณ์ลบและบวก ลบคือกลัวและหวาดระแวง บวกคือรักและไว้วางใจ
แบบแผนแห่งการเคลื่อนไหวของพลังก็มีสองแบบ คือถ้ามีอารมณ์ลบแบบแผนของพลังก็จะปีนเกลียวและขัดแย้งในตัวเอง ถ้ารุนแรงมากก็จะออกอาการทางกายให้ปรากฏเช่นปวดท้อง จุดแน่นหน้าอก หรือปวดหลังปวดไหล่เป็นต้น ถ้ามีอารมณ์บวก แบบแผนพลังก็จะสมดุลกลมกลืน มีพลังที่จะทำกิจการต่างๆ แบบแผนพลังแบบนี้เป็นแบบเปิด ที่เปิดออกต่อการเรียนรู้ด้วย

บทที่ ๓ อัตโนมัติที่หลงลืมหรือปัจจุบันที่ตื่นรู้

อัตโนมัติในสมองชั้นกลางคือร่องแห่งอารมณ์
ความเป็นอัตโนมัตินั้นดำเนินไปทั้งสามระนาบแห่งชีวิต คือในระดับพฤติกรรม
อัตโนมัติ
นอกจากจะมีการดำรงสามระนาบที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน(หรือขัดแย้งปีนเกลียวกันเป็นบางครั้ง)แล้ว การดำเนินไปในชีวิตมนุษย์ยังเป็นไปในสองรูปแบบ คือตื่นรู้หรือเป็นอัตโนมัติ หรือส่วนผสมของทั้งสองในสัดส่วนต่างๆ ที่เรียกว่าครึ่งหลับครึ่งตื่น
จิตสำนึกที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความเป็นไปของมนุษย์ คล้ายกับว่าเราจะตื่นอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสมองชั้นต้นและชั้นกลาง อันได้แก่พฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึกของเรามักจะเป็นไปโดยที่เราไม่ได้รับรู้อย่างแจ่มชัดแต่อย่างใด คือมักจะเป็นไปแบบครึ่งหลับครึ่งตื่น และแม้กระทั่งกระบวนการเป็นไปในสมองชั้นนอกเอง เราก็รับรู้ได้เพียงบางเสี้ยวผ่านจิตสำนึก โดยที่ทั้งสามระดับทำงานอยู่ในปริมณฑลแห่งจิตไร้สำนึก

นอกจากนี้ ความเป็นไปทั้งหมดของทั้งสามชั้นที่ซ้อนทับกันอยู่ของมนุษย์จะเป็นไปอย่างเป็นอัตโนมัติเสียโดยส่วนใหญ่
ข้อพิสูจน์ความเป็นไปอย่างอัตโนมัติของสามชั้นแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์สังเกตได้ง่ายๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่นการขับรถ ที่ในขณะที่ขับรถนั้น เราก็อาจจะมีการสนทนากับคนในรถไปด้วยได้ และเมื่อขับรถมา ณ ทางแยกที่เราเคยเลี้ยวซ้ายกลับบ้าน แต่ร้านรวงที่เราต้องการจะไปซื้อของอยู่ขวามือ บางวันที่เราต้องการจะซื้อของ แต่แล้วเราก็หักเลี้ยวไปทางซ้ายมืออย่างเป็นอัตโนมัติ มานึกได้อีกทีก็เลี้ยวมาแล้ว ถ้ายังต้องการซื้อของอยู่ ก็ต้องหักรถกลับมาใหม่

ความเป็นอัตโนมัติอย่างนี้ ในด้านบวก มันช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น และที่จริงมันก็เป็นรูปแบบพื้นฐานของชีวิต ตั้งแต่เมื่อยังเป็นสิ่งมีชีวิตเซลเดียว คือแบบแผนชีวิตโดยส่วนใหญ่ของเซลจะเป็นไปในแบบแผนเดิมที่ซ้ำๆด้วย โดยมีกระบวนการรับรู้ - เรียนรู้ เข้ามาแทรกและปรับเปลี่ยนแบบแผนทำซ้ำเดิมไปทีละน้อย ก็แบบแผนทำซ้ำมันให้ความสมดุลย์ความสะดวกและความมั่นคงแก่ชีวิต มันจึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานอย่างหนึ่งของชีวิต

แต่จะล้างแบบแผนทำซ้ำในระดับพฤติกรรม มนุษย์จะต้องตื่นจากความเป็นอัตโนมัติ และต้องฝืนทำพฤติกรรมอย่างใหม่ซ้ำๆอยู่พักใหญ่ จึงจะสามารถปรับรูปแบบเข้าสู่แบบแผนทำซ้ำอย่างใหม่ได้ และนี่ก็คือกระบวนการเรียนรู้ในระดับพฤติกรรม มีการศึกษาวิจัยกรณีการเลิกยาและเลิกเหล้า ว่าคนที่จะติดจะต้องฝืนทำกิจกรรมที่ไม่ติด อย่างน้อยหกสัปดาห์ จึงจะสามารถหันเหออกจากพฤติกรรมเสพติดได้ แต่แม้กระนั้นก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะบริบทแวดล้อมของคนนั้นๆ ยังอาจนำเขากลับไปเสพอีกได้เสมอ

อารยธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ มนุษย์อ่อนแอในกำลังปัญญากายมาก จึงตกเป็นเหยื่อบริโภคนิยมที่ยังผ่านสื่อต่างๆ การยิงซ้ำๆเข้าไปในความครึ่งหลับครึ่งตื่นแห่งการดำรงชีวิตย่อมได้ผล คนโดยมากที่จะติดบริโภคนิยม ก็คือคนที่พร้อมจะเสพติดสิ่งใดๆ ก็ได้อยู่แล้ว เพียงแต่โยกย้ายหรือเพิ่มเติมการเสพติดจากสิ่งที่อันตรายน้อยไปสู่สิ่งที่อันตรายมาก
แต่พฤติกรรมที่ทำซ้ำ ไม่ได้นำมาใช้ในการรับรู้ - เรียนรู้หรือการปลดปล่อยไปสู่อิสรภาพเลย มนุษย์สมัยนี้จึงใช้และถูกใช้แบบแผนอย่างเป็นอัตโนมัติไปในทางเป็นทาส มากกว่าทางเป็นไท ไปในทางเสพติด มากกว่าจะไปในทางการเรียนรู้

อัตโนมัติในสมองชั้นกลางคือ ร่องแห่งอารมณ์

ความเป็นอัตโนมัตินั้นดำเนินไปทั้งสามระนาบแห่งชีวิต คือ ในระดับพฤติกรรม อารมณ์ และความคิด แต่ในอารมณ์ เมื่อดำเนินไปอย่างหลับไหลไม่ตื่นรู้ และถ้ามีประสบการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น โดยเฉพาะในวัยเยาว์ มันก็จะกลายเป็นแผ่นเสียงตกร่องทางอารมณ์ เมื่อเกิดตกร่องทางอารม์นั้นจะมีกลไกในสมองที่จะล็อคหรือจำกัดเขตการทำงานของสมอง โดยใช้เพียงบางเสี้ยวของสมอง ในอดีตมัน คือ การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดจากภัยอันตรายที่คุกคามชีวิต ในปัจจุบันมันปฏิกิริยาเกินจำเป็นที่ยังคงตกทอดมา ร่องของอารมณ์ก็ได้แก่ อารมณ์ลบทั้งหลาย เช่น โกรธ เกลียด อิจฉา ริษยา น้อยใจ หรือแม้แต่ความอึมครึมไร้พลัง ก็เป็นร่องอารมณ์ที่มนุษย์จะจมจ่อมอยู่ในมัน ร่องของอารมณ์นี้ก่อให้เกิดแบบแผนของพลังที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ในสภาวะเรื้อรังก็คือ โรคเครียดเรื้อรังอันเป็นโรคของคนสมัยใหม่ อันบั่นทอนภูมิคุ้มกัน และเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งอันหนึ่ง ที่นำไปสู่การป่วยไข้ ทางด้านการรับรู้- เรียนรู้ เนื่องจากว่ามันจำ…ให้กิจกรรมทางสมองดำเนินไปในปริมณฑลที่มีขอบเขตจำกัดมากๆ การรับรู้ - เรียนรู้โลกความเป็นจริง จึงบิดเบี้ยวอย่างที่เราเรียกว่า สัญญาวิปลาสนั่นเอง เมื่อไม่ได้รับรู้โลกตามความเป็นจริง แต่ไปรับรู้โลกอย่างที่คาดเดาเอาไว้ ก็เท่ากับเป็นการปิดโอกาสการเรียนรู้ และก็เท่ากับการปิดโอกาสของการเปลี่ยนแปลงให้เป็นอิสระ พ้นไปจากร่องของอารมณ์

ร่องความคิดกับเทปม้วนเก่า

ในกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่จัดให้กับปะชาชนในวิชาชีพต่างๆ จะมีการตั้งคำถามว่า ท่านเคยอยู่ในวงเหล้าที่คนจำนวนมากมักจะพูดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา ดุจเดียวกับการเปิดเทปม้วนเก่า ท่านรู้สึกอย่างไรกับคนเหล่านั้น คำตอบก็คือ น่าเบื่อ แล้วโดยไม่รู้ตัว โดยความเป็นอัตโนมัติที่หลับไหลของท่าน ท่านก็มักเปิดเทปม้วนเก่าของท่านอยู่เรื่อยๆ ทั้งนี้ไม่ว่า ท่านจะก้งเหล้าหรือไม่ หรือไม่ว่าท่านจะอายุมากหรือน้อย แต่ท่านก็ยังเปิดเทปม้วนเก่าเล่า? อะไรได้เกิดขึ้น
ร่องความคิดจะผูกติดอยู่กับร่องของอารมณ์นั้นเอง เป็นการเน้นย้ำให้น้ำหนักแก่ร่องอารมณ์ยิ่งขึ้น ทำให้การติดร่องของอารมณ์ลึกแน่นขึ้นอย่างยากที่จะถอดถอน ที่จริงมันก็จะผูกติดอยู่กับพฤติกรรมที่ทำซ้ำซากด้วย เช่นพอมีเรื่องขัดใจกับใคร ก็ต้องกินเหล้า หรือพอมีเรื่องกับใครก็พร่ำบ่นเหมือนหมีกินผึ้ง เป็นต้น
ร่องทั้งสาม คือ ร่องอารมณ์ ร่องความคิด และร่องพฤติกรรมจึงผูกพันเป็นสามเกลอหัวแข็งที่ดื้อรั้นและเปลี่ยนแปลงได้ยากยิ่ง ด้วยประการละฉะนี้

การตื่นรู้

การตื่นรู้นี้ เป็นวิถีที่ทรงพลัง เป็นคู่ปฏิปักษ์ที่สมน้ำสมเนื้อกับบรรดาร่องๆ ทั้งหลาย ปราชญ์ ผู้รู้ และนักปฏิบัติ ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้กันมานาน และได้ค้นพบวิธีปฏิบัติที่ได้ผลหลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด คือ แรกเข้าสู่การตื่นรู้ เมื่อได้รู้สึก สัมผัส และมีประสบการณ์ตรงต่อการตื่นรู้ เป็นครั้งแรก การเข้าสู่สัมผัสแรกนี้ จะได้รับการเกื้อหนุนให้เป็นไปได้มากที่สุด เมื่อมีครูเป็นผู้เหนี่ยวนำ หรือมิฉะนั้นก็มีสังฆะ ที่แปลว่าชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นตัวเหนี่ยวนำ
พูดเรื่องการเหนี่ยวนำ ก็อาจจะโยงกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของสถาบันฮาร์ทแมท ในหนังสือ Heartmath Solution ของพวกเขา ได้มีการศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของหัวใจ ที่มีความเข้มข้นกว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสมองถึงสี่พันเท่า และครอบคลุมรอบๆ ตัวเจ้าของสามเมตรครึ่ง สมารถเหนี่ยวนำกันและกันได้ ทั้งทางบวกและทางลบ และจึงสามารถเหนี่ยวนำเข้าสู่สัมผัสแรกแห่งการตื่นรู้ได้ด้วย

แบบฝึกหัดเพื่อให้เข้าสู่การตื่นรู้แรกนี้มาได้หลายทาง และถ้าเกิดขึ้นพร้อมๆ ไปกับการมีครู ผู้ตื่นรู้ ดำรงอยู่ร่วมด้วย ด้วยคลื่นหัวใจในรูปทรงทอรัสของท่านที่แผ่ออกมา ที่คลินิกคลายเครียดของ ดร.จอน คาบัต ซิน มหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งแมทสาซูเซต เขาปลุกการตื่นรู้แรกด้วยให้ลิ้มลองลูกองุ่นแห้งสองลูก แต่ไม่ใช่การกิน เคี้ยว กลืนลงคอ อย่างอัตโนมัติที่เรามักจะทำกัน แต่ให้ดูอย่างพินิจ ในหลายแง่มุม ให้ดอมดม และค่อยๆ ปล่อยเข้าปากอย่างมีสติ ค่อยๆ เคี้ยวช้าๆ รับรู้รสและความรู้สึกใดๆ อย่างตื่นรู้ในทุกขณะจิต

สัมผัสแรก ก็อาจจะมาจากโยคะ โยคะ ที่ไม่ใช่เพียงท่ากายบริหาร หากรับรู้ถึงความระริกไหวของการยืดออกจากภายในของท่าอาสนะ กับปราณที่ไหล่เวียนในเส้นสายแห่งพลังในกาย เพราะฉะนั้นการหาครูที่ถูกต้องจึงเป็นอะไรที่สำคัญยิ่งสำหรับครูโยคะ รำมวยจีนก็จะได้สัมผัสที่ตื่นรู้ได้ดีเช่นเดียวกัน กับครูที่เหมาะสม

นักกีฬาหลายคนที่ฝึกฝนจนได้ที่ ก็อาจจะเข้าสู่สัมผัสนี้ได้โยลำพังก็เป็นไปได้ ดังที่ข้าพเจ้าก็เคยได้สัมผัสนี้กับการว่ายน้ำยาวๆ อย่างผ่อนคลาย และเมื่อได้ประสบการณ์ตรงนี้มาแล้ว การบ่มเพาะให้มันขยายปริมณฑลครอบคลุมกาลเวลาแห่งชีวิต ในความหลากหลายต่างๆ ของกิจกรรมก็จะเป็นอะไรที่ค่อยๆ เกิดตามมา เช่นการเดินเพื่อเดิน ล้างชามเพื่อล้างชาม แม้การรับโทรศัพท์ และแม้การพูดคุยงานที่เราจะหลุดเข้าสู่ร่องของอารมณ์ได้ง่ายๆ เราก็อาจนำมาใช้เป็นแบบฝึกหัดตลอดชีวิตแห่งการตื่นรู้เสียฉิบ เราก็จะริบพื้นที่ให้เป็นมงคลแก่ชีวิตได้มากยิ่งขึ้นทุกที

แทรก….บทที่สอง สมุหภาพ

สมุหภาพ : ต่ำกว่าหรือสูงกว่า

เมื่อมองดูรูปกราฟฟิกสองมิติของเอ็ดการ์ เค ซี ที่ตัดภาพมาจากลูกทุเรียนที่เป็นสามมิตินั้น เราจะเห็นว่าส่วนจิตสำนึกเป็นเพียงเวทีให้โผล่ปรากฏของการทำงานต่างๆ ของสมองชั้นต่างๆ อย่างเป็นไปเอง นอกจากนี้ ในการทำงานอย่างเป็นไปเองนี้ ยังเชื่อมโยงและมีปฏิสัมพันธ์กับคลื่น ที่ รูเปิต เซลเครก นักชีวฟิสิกส์ขบวนทัศน์ใหม่ ตั้งสมมติฐานให้เป็น morphic resanance หรือ morphic field คือ การมีปฏิสัมพันธ์กับปัญญาโดยรวมของมนุษยชาติ แม้กับปัญญาแห่งจักรวาลนี้ที่ นพ.ประสาน ต่างใจ ใช้คำว่า "จิตจักรวาล" อีกด้วย ปัญญาของมนุษย์โดยรวมจึงเป็นสมุหภาพ หรือมีความเป็นหมู่เหล่าด้วย นอกจากจะปรากฏให้เห็นเป็นปัจเจกภาพบนเวทีแห่งจิตสำนึก

ตรงนี้ที่อยากจะพูดให้ชัดก็คือชีวิตร่วมของกลุ่มแบบต่ำกว่า ที่ปรากฏในฝูงชน(mop) และในกองทัพยามสงคราม ก็คือการร้อยเชื่อมของจิตไร้สำนึกต่ำกว่า อันนี้จะพบเห็นได้ง่าย เพราะในแผนที่คนทุกข์ อี. เอฟ. ชูมากเกอร์ ได้เขียนไว้ว่า สตภาวะที่ต่ำกว่าจะหาได้กลาดเกลื่อน แต่สภาวะปัญญาที่เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่ง แบบเหนี่ยวนำให้เกิดปัญญาและความรักนั้นจะหาดูได้ยากกว่า เพราะนั่นคือการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันของจิตไร้สำนึกที่สูงกว่า ยังการเชื่อมโยงระดับนี้ กลุ่มชนนั้นจะเชื่อมโยงถึงสภาวะธรรมอันสูงส่งด้วย หรือสำหรับศาสนาที่มีพระเจ้า นั่นก็คือการเชื่อมโยงกับพระเจ้าด้วย

ในภาวะของการตื่นรู้พร้อมกันของกลุ่มชน เราก็อาจจะได้สัมผัสกับ การตื่นรู้ของปัญญา และความรักอันเป็นสมุหภาพนี้ อันนี้กระมังที่เป็นที่มาของนักรบซัมบาลาในปรำปราคติของธิเบต อันเป็นกองทัพธรรมที่รบด้วยสันติวิธ

บทที่สี่ เสียงของตน : ประสบการณ์ตรงคือการประกาศสิทธิของพื้นที่ภายใน

เสียงของตน

ถ้าเริ่มต้นจากฟรอยด์ ในชั้นต้นมันก็คือการค้นหาอีโก(ego) ในท่ามกลางแรงขับดันพื้นฐาน(id) กับซูเปอร์อีโก ที่มีเสียงที่มีอำนาจของพ่อเป็นตัวแทน ใน Intimate Journey เจมส์ บูเยลทาล ได้คืบต่อไปอีกขั้นหนึ่ง กล่าวคือ บูเยลทาล พูดถึงเนื้อที่ภายใน …..(แทรกมณฑลแห่งพลัง หน้า 8-9)

พื้นที่ภายใน ความหมายทางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

ในกิจกรรมเรียนรู้กระบวนการ ถ้าจะได้มาซึ่งการเรียนรู้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่แท้จริง ผู้เข้าร่วมจะต้องเข้ามาครอบครองเป็นเจ้าของตัวกิจกรรมนั้นๆ ที่เกิดขึ้น ตราบใดที่ยังมีโครงสร้างทางอำนาจแฝงเร้น หรือซ่อนทับอยู่ กระบวนการเรียนรู้ก็อาจจะไม่เกิด เพราะผู้คนก็เข้าไปในกรอบเดิมของตัวแทนและภาพลักษณ์ อันเป็นโลกที่ถูกกำหนดมาให้ไว้เป็นอย่างนั้นแล้ว เป็นที่ๆ ไม่เปิดโอกาสให้สำหรับประสบการณ์ตรง และการตีความของตนเอง

การอธิบายอย่างให้เห็นเป็นภาพ ก็คือการสถาปนาชมรมคนถอดหมวกขึ้น โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ทุกคนจะต้องถอดหมวกแห่งสถานภาพทางสังคมของตนไว้ตรงประตูเข้า ทุกคนจะเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ประการที่สอง การสนทนาที่เกิดขึ้นใดๆ จะไม่มีผิดถูก ทุกถ้อยคำจะเติมเข้ามาเพิ่มพูนให้กับประสบการณ์และการเรียนรู้ของกลุ่ม ในทางปฏิบัติ

หากเราสามารถจัดกระบวนการที่ผู้เข้าร่วมไว้วางใจว่ามีการถอดหมวกจริง และคำพูดของเขาหรือเธอจะไม่ตัดสิน พวกเขาก็จะค้นพบเสียงของตน ที่สำแดงออกซึ่งเนื้อที่ภายในของตน ซึ่งเป็นการกู้คืนความเป็นประธานกลับคืนมา
โจทย์อีกประการหนึ่งที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีก็คือ ทำไม? เมื่อผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ให้พลัง ทำให้มีพลังที่จะไปสานความฝัน แต่แล้วเมื่อกลับไปไปทำงานในองค์กรเมื่อไม่ช้านาน พลังเหล่านั้นก็หุบเหี่ยวลงตามเดิม จริงอยู่ปัจจัยที่อาจทำให้พลังหุบเหี่ยวอาจจะมีมาได้หลากหลายหนทาง แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ก็คือการกลับเข้าสู่ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเดิม เสียงของเขาพื้นที่ภายในของเขา ถูกกดทับให้เลือนหายไปอีกครั้งหนึ่ง คุณลักษณะพื้นฐานชีวิตอย่างหนึ่งก็คือ การเป็นองค์กรจัดการตนเอง แต่ถ้าพื้นที่ที่เปิดออกให้เกิดการจัดการตนเองไม่มี ชีวิตก็วิปลาสนาไป เมื่อไม่มีชีวิตก็ไม่มีพลัง

การเผชิญหน้าระหว่างประสบการณ์ตรงกับตัวแทนและภาพลักษณ์

ใน Uncommon Wisdom ของคาปรา เขาพูดกับ อา ดี แลง กับการให้ความสำคัญกับประสบการณ์ตรง ในโลกที่เราให้ความสำคัญกับการรู้ภาษาและการศึกษา เราได้ให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ตำราอย่างเกินพอดี โลกแห่งประสบการณ์ตรง จึงถูกครอบคลุมด้วยหมอกหม่นของโลกแห่งความรู้ หรือแม้กระทั่งโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ความรู้จึงไม่มีความหมายหากมันกลายเป็นวัตถุที่ตายไปแล้ว มันกลายเป็นรูปทรงอันแห้งแข็งของสิ่งที่คิดว่าได้บรรจุความรู้ไว้ภายใน แต่แล้วก็เหลือแต่กรอบแข็งภายนอก โดยความรู้ที่แท้จริงได้แอบหนีไปตั้งนานแล้ว ตัวแทนและภาพลักษณ์ก็คือกรอบโครงภายนอกของความรู้เทียมๆทั้งหลาย ความรู้ที่ไม่สามารถสืบค้นกลับไปที่ต้นเค้าของประสบการณ์ตรง จึงกลายเป็นความรู้ที่ตายแล้วและจึงขาดพลังที่จะขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า และกลับเข้ามากดทับและขวางกั้นต่อการที่มนุษย์จะเข้าไปเผชิญหน้ากับตัวประสบการณ์จริงใดๆ
ตัวแทนและภาพลักษณ์ได้ก่อประกอบโลกอย่างที่รู้แล้วอันเป็นโลกแห่งความตายที่ปราศจากชีวิต เราได้ยึดกุมความตายเอาไว้ เพราะมันเป็นโลกที่เรารู้จักมักคุ้น

ในขณะที่โลกแห่งประสบการณ์เป็นโลกแห่งความไม่รู้ ดูน่ากลัวและไม่สะดวกสบาย การอยู่อย่างปราศจากชีวิตและไร้พลังดูจะทนได้มากกว่าจะต้องก้าวไปสู่โลกแห่งความไม่รู้ แม้ในโลกที่รู้จะยืนอยู่ไม่ได้มั่นคง และจะไม่มีอะไรเป็นตัวของตัวเองเลยก็ตาม

การเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดกับการเปลี่ยนแปลงการรับรู้โลก

การศึกษาผิดทางทั่วไปเกิดจากการก่อประกอบโลกใบเดิมจากพื้นฐานของการรับรู้แบบเดิม ทำไมในเมื่อมีข้อมูลข้อเท็จจริงมากมายที่ล้นเกิน บอกเราว่ากระบวนทัศน์เก่ามีปัญหาอย่างเลวร้ายที่สุดอย่างไร และมนุษย์จะไม่สามารถอยู่รอดได้ หากยังดำเนินไปในวิถีทางเช่นเดิม แต่แล้วผู้ที่อยู่ในกระบวนทัศน์เก่าก็ยังดำเนินชีวิตไปในและการงานไปเช่นเดิม โดยไม่อาจมองเห็นความหมายที่แท้จริงของข้อมูลและข้อเท็จจริงเหล่านั้นได้ การรับรู้โลกนั้นหากแปรเปลี่ยนไป โลกก็จะเปลี่ยนไป และวิถีทางการดำเนินชีวิตทั้งหมดก็จะเปลี่ยนไป ดูจากแบบฝึกหัดง่ายจากรูปนี้ เรามองเห็นอะไร?

เราอาจจะเห็นหรือรับรู้รูปภาพนี้ได้สองแบบ แบบหนึ่ง เราจะเห็นเป็นเชิงเทียน แต่อีกแบบหนึ่ง เราจะเห็นคนสองคนเผชิญหน้ากัน อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเห็นเชิงเทียน ก็ไม่เห็นคนสองคน ถ้าเห็นคนสองคนก็จะไม่เห็นเชิงเทียน เป็นไปได้หรือไม่ที่ว่า หากนักเศรษฐศาสตร์ยัง มองธรรมชาติเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจ พวกเขาก็ยังจะมองไม่เห็นระบบนิเวศ และเมื่อมองไม่เห็น ระบบนิเวศ พวกเขาก็ยังสร้างนโยบายอันมีผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อระบบนิเวศได้ตลอดเวลา เราต้องการพื้นฐาน ของการรับรู้ แบบนิเวศ เราจึงอาจสร้างโลกที่มีความสมดุลย์ทางระบบนิเวศขึ้นมาได้ คราปาจึงได้ตั้งศูนย์แห่งการส่งเสริมการรู้ภาษาในระบบนิเวศ (eco-literacy) เพื่อจะสร้างเสริมการรับรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นกับคนในโลก

ประสบการณ์ตรงเป็นรอยต่อที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงการรับรู้โลก

ถ้าเรารับรู้โลกผ่านตัวแทนและภาพลักษณ์เดิมๆ เราก็จะรับรู้โลกใบเดิม เราก็จะไม่อาจมองเห็นโลกใบใหม่ได้ การจะมองทะลุผ่านตัว และภาพลักษณ์อย่างเดิม ออกไปได้ เราจะต้องรับรู้โลก "อย่างเป็นเช่นนั้นเอง" หรือตามศัพท์บาลีที่ว่า "ตถตา" แต่สิ่งนี้จะเป็นไปได้ใน การปฏิบัติธรรม โดยการตื่นรู้กับ กาย เวทนา สภาวะจิตใจ หรือในธรรม(ความคิด) กับกายก็เช่นกับลมหายใจที่เรียกว่า อานาปานสติ เป็นต้น ตื่นขึ้นกับการรับรู้และการดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ จนกระทั่งลมหายใจกับเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่เป็นสอง คือไม่แยกเป็น ประธานกับวัตถุ แต่ประธานกับวัตถุก็คือตัวประสบการณ์ที่เป็นหนึ่งนั้น ถ้าฝึกเช่นนี้กับกิจกรรมทุกอย่างในชีวิต โอกาสที่จะรับรู้สิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างเป็นเช่นนั้นเอง ก็จะเปิดออกให้เรา

ในโลกของการปฏิบัติธรรมแบบสามัญชน ที่ไม่คุ้นกับบาลีและยังไม่อยากคุ้น การรับรู้สองแบบ ก็คือ ประสบการณ์ตรงกับความรู้ เราเรียนรู้ที่จะเชื่อและวางใจในโลกแห่งความรู้ จนกระทั่งเราไม่มีโอกาสจะตั้งคำถามกับความคับแคบของโลกแห่งความรู้ เรามักจะ ปฏิเสธ "ประสบการณ์" ของตนเองและคิดว่ามันเป็น "อัตวิสัย" ที่ไม่มีข้อยืนยันจากโลกของความรู้ แต่แล้วถ้ามนุษย์ จะวิวัฒนาต่อไป เราจะต้องเคลื่อนการรับรู้โลก และไม่อาจจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ และรอยต่อที่จะก่อให้เกิด ความแตกต่างในการรับรู้โลกได้ก็คือ "ประสบการณ์ตรง" นี้เอง

บทที่ห้า ความว่าง

"ความว่างไม่ใช่ความว่างเปล่า แต่เป็นโอกาสและความเป็นไปได้ เป็นความยืดหยุ่นที่ไม่ติดอยู่ในโลกแคบแห่งการรับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เห็นความหลากหลายแห่งความเป็นไปได้ของการรับรู้ใหม่"

อยู่กับโลกอย่างไม่ติดข้อง

ความว่าง คือ สภาวะที่มองเห็นความโปร่งพรุนในบรรดาสรรพสิ่ง เห็นความเคลื่อนไหวเลื่อนไหลภายในกรอบแคบของตัวแทนและภาพลักษณ์ เห็นโยงใยสัมพันธ์และความเป็นกระบวนการ ข้ามพ้นกรอบแคบของอัตตาของสิ่งต่างๆ ปรากฏการณ์ต่างๆ เมื่อสลายอัตตาออกไปแล้ว ก็คือการมองทะลุข้อจำกัดของมายาการ อันได้แก่การมองว่า มีโลกอยู่ภายนอกอย่างเป็นภววิสัย (objective world) โลกดำรงอยู่เพราะมีการรับรู้ การรับรู้ต้องผ่านอายตนะที่มีข้อจำกัดอันเชื่อมโยงกับวิวัฒนาการทางชีวภาพของมนุษย์ ภาษาและความคิดที่เป็นส่วนต่อแห่งศักยภาพของอายตนะ ก็คือ การอ่าน ตีความ กำหนดชื่อ จดจำ สร้างความสัมพันธ์และความหมาย อันเป็นการก่อเกิดโลก ก็มีข้อจำกัดโลกใดๆ ด้วยการรับรู้ใดๆ ล้วนมีข้อจำกัดทั้งสิ้น สัจธรรมอันตายตัว อยู่ต่างหากจาก "แก่น" ของการรับรู้ไม่มี การเห็น ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เห็นกับสิ่งที่เห็นโลกภายนอกเป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ความสัมพันธ์ผ่านอายตนะ ผ่านภาษาและการตีความ ได้ไปหยิบจับแง่มุมหนึ่งแง่มุมใดขึ้นมา แล้วก็ปรุงแต่งตีความการรับรู้มุมใดมุมหนึ่งนั้น แล้วบางทีก็ไปยึดเอาว่า โลกที่อยู่ข้างนอกนั้นน่ะ มันเป็นอย่างนี้อย่างนั้น บางทีการเดินทางก็มีโอกาสได้รับรู้ว่า เรื่องราวต่างๆ ของการมองโลก เข้าใจโลกและให้ความหมายกับโลกนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นไปอย่างที่เราเห็น เข้าใจและให้ความหมาย ชั่วขณะหนึ่งแห่งการตระหนักรู้อันนี้สำคัญมาก มันเปิดเนื้อที่ของความเป็นไปได้ คือ "ความว่าง" ขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ "การเดินทาง" จึงมีความหมายต่อชีวิตเป็นแง่มุมของการศึกษาที่แท้จริงขึ้นมาได้

บางทีตัวเราละเอียดอ่อนละมุนละไมขึ้นในการรับรู้โลกของเรา เราจะเห็นว่า แม้กลุ่มคนในสังคมและวัฒนธรรมเดียวกัน ก็อาจจะตีความแตกต่างกันในการรับรู้โลกได้ โดยชุมชนต่างๆ ที่มีความสนิทสนม มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเสมอๆ ก็สามารถก่อรูปการรับรู้โลกที่ต่างออกไปจากกลุ่มชนอื่นๆ การเปิดใจกว้าง แทนที่จะไปด่วนตีตราและสรุปความเป็นไปของผู้คน ก็ช่วยให้เกิดปัญญา ช่วยให้กรอบแห่งการรับรู้กว้างขึ้น มีเนื้อที่ที่จะอาจจะหลุดจากกรอบบ้าง ในชั่วขณะจิตที่เรียกว่า "ความว่าง" นี้
การสนทนาแบบโบห์ม ก็ออกแบบมาเพื่อการณ์นี้เช่นเดียวกัน เมื่อกลุ่มคนในจำนวนที่แน่นอน เข้าร่วมการสนทนาแต่ละครั้งอย่างมีเวลายาวนานพอ (สามชั่วโมงขึ้นไป) และมีเวลาที่แน่นอน(เดือนละครั้ง สัปดาห์ละครั้ง เป็นต้น) ที่จะกลับมาสนทนากันอีก พูดคุยกันได้ทุกเรื่องราว ไม่มีโครงสร้าง และกำกับการสนทนาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีกติการ่วมกันว่า จะไม่โต้แย้งเอาชนะ ไม่ต้องหาข้อสรุป แต่เปิดเนื้อที่ให้ทุกคน และช่วยเหลือเกื้อกูลให้แต่ละคนได้เห็น "สมมติฐาน" ที่อยู่เบื้องหลังความคิดของแต่ละคน
ก็สมมติฐานนี่แหละที่เป็นกรอบของการรับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง และวงสนทนานั้น ก็เรียนรู้ข้อจำกัดของสมมติฐานต่างๆ และเริ่มเห็นว่าสมมติฐานเป็นสมมติฐาน ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริงที่แข็งตัว ความอ่อนตัวลงของการยึดติดกับความเชื่อ โดยไปถือว่ามันเป็นสัจธรรมก็จางคลายลง ความเป็นไปได้ของการรับฟังผู้อื่น แง่มุมของสมมติฐานอื่นๆ ก็เปิดออก ก่อให้เกิดพื้นที่ว่าง หรือ "ความว่าง" อันเปิดออกเพื่อความเป็นไปได้ของการเรียนรู้ที่แท้จริง

การฟังอย่างลึกซึ้งและความว่าง

ถ้าเราได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ของสุดยอดฝีมือระดับโลก เราจะได้พบกับแบบฝึกหัดของการฝึกฝนการฟังอย่างมีคุณภาพ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง รวมทั้งการปฏิบัติธรรมของคุรุใดๆ ด้วย การฟังอย่างมีคุณภาพจะเข้ามามีบทบาทเสมอ

ครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้ามีโอกาสแปลการบรรยายของเบน เชอรี่ ที่มูลนิธิอนุบาลบ้านรัก เขาพูดถึงการฟังโดยตรง เขาบอกว่ามนุษย์จะฟังได้ดี อารมณ์ต่างๆ ที่พุ่งพล่านมาจากช่องท้องจะต้องเงียบเสียงลง เขาพูดพร้อมกับทำท่าทางที่แสดงให้เห็นว่า อารมณ์ต่างๆ มันพวยพุ่งขึ้นมาได้อย่างไร แล้วมันมาปะทะกับเสียงที่จะเข้ามาอย่างไร ต่อเมื่ออารมณ์ต่างๆ ของเราสงบลง เราจึงจะรับฟังได้ และการรับฟังก็คือการหลอมรวมเป็นหนึ่ง ก็คลื่นที่ผู้พูดส่งออกมา โดยไม่คิด เพียงความคิดเล็กๆ ก็จะลบบทบรรยายบางตอนออกไปทันที การดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะจึงมีความหมายมากกับการฟัง

สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้านำมาใช้ตลอดเวลาในกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่ม ก็คือเมื่อใดก็ตามที่เป็นโอกาสของการฟัง ก็จะฟังอย่างลึกซึ้ง คือจะปลุกความตื่นรู้ ดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ และรับฟังโดยไม่คิด ไม่ตัดสิน แต่เป็นการฟังที่รับคลื่นของการดำรงอยู่ของผู้พูดทั้งมวล อย่างไม่มีการตรวจแก้ ตัดแต่ง แน่นอนผลที่เกิดขึ้นจากการฟังเช่นนั้น ย่อมมีมากมายมหาศาลกับกลุ่มชนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน และโดยเฉพาะผู้พูด
สมดุลระหว่างการกำกับกับการเฝ้าดู

เมื่อชีวิตและโลกมีความลี้ลับแห่งความไม่รู้และความเป็นไปได้อย่างสุดคณานับ การเฝ้าดูจึงเป็นโอกาสพิเศษแห่งการค้นพบ แต่ในชีวิตเราจะคุ้นชินกับการกำกับ เรามักจะต้องการกำกับทุกเรื่องให้เป็นไปตามความต้องการของเรา

"เจตจำนงก็เป็นมายา" นี่คือคำกล่าวของท่านเชอจียมตรุงปะ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ มหาวิทยาลัยของชาวพุทธในสหรัฐอเมริกา ในเรื่องของศูนย์พลังศูนย์ ศูนย์ที่ 5 อยู่ที่กล่องเสียง อันเป็นศูนย์ของเจตจำนง และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง วัยหนึ่ง แม้เจตจำนงของเราก็ต้องยกให้กับพระเจ้า ยกให้คุณงามความดีที่สูงส่งและยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือการศิโรราบ นั่นคือการยอมแพ้ หมอบราบคาบแก้ว

ประสบการณ์ของปฏิบัติธรรมก็จะพบกับการจะต้องแสวงหาความสมดุลย์ระหว่างการกำกับกับการเฝ้าดู ลึกลงไปเรามักจะต้องการผลสำเร็จ และเราก็พยายามกำกับเพื่อให้ได้ผลสำเร็จนั้น แต่ถ้าหากไม่มีสมดุลย์ที่เหมาะสมของการเฝ้าดู การกำกับที่ใช้พลังมหาศาล ก็ไม่อาจก่อผลวิเศษอันใดได้

เวลาเล่นโยคะก็เหมือนกัน ถ้าเราเล่นโยคะโดยตั้งใจยืดเส้นสายต่างๆ บิดดัดท่าต่างๆ มันก็เป็นเพียงการออกกำลังกายจากภายนอก และผลพวงของโยคะ ก็ไม่ได้อย่างเต็มเม็ดหน่วย แต่ถ้าเราถอยออกมาเฝ้าดูสักนิด เฝ้าดูให้การยืด บิด ก่อเกิดขึ้นภายในออกมา สู่ภายนอก ตรงนั้นเอง ที่เราได้เข้าถึงความลี้ลับของโยคะ ที่กายกับจิตหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ชีวิตก็เช่นเดียวกันนั้นเอง แทนที่จะกำกับเรื่องราวต่างๆ ของชีวิตอย่างสับสนอลหม่าน เพียงถอยออกมาสักหน่อย ปล่อยให้ชีวิต ไหลเลื่อน ไปเองบ้าง ก็จะเห็นในมหัศจรรย์ของการจัดการตนเองของชีวิต ระนาบต่างๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่ ก็จะเชื่อมโยงติดต่อกันเองอย่างเป็นอิสระ (กาย อารมณ์ ความคิด) และใช้พลังงานอย่างพอเหมาะพอดีที่จะเคลื่อนคล้อยเลื่อนไหลไปได้อย่างสง่างาม

บทที่หก เผยออกและเยียวยา

จาก The Web of Life ของคราปา ชีวิตคือข่ายใยแห่งการเรียนรู้ ความเป็นข่ายใยของชีวิตก็โยงใยอยู่กับข่ายใยในระบบนิเวศ โดยมี กิจกรรมพื้นฐาน คือการเรียนรู้การเรียนรู้นั้น ถูกผนวกเข้าไปใน โครงสร้าง แบบแผนและกระบวนการในข่ายใยของชีวิต ที่เรียกว่า การจับคู่ทางโครงสร้าง ชีวิตหนึ่งๆจึงมีการบันทึกประวัติการเรียนรู้อยู่ในชีวิต การเรียนรู้ที่สั่งสม จนมีการผ่าน เปลี่ยนอย่างมี นัยสำคัญ นั้น ก็จะเป็นวิวัฒนาการดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว ชีวิตจะเรียนรู้และวิวัฒนาอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้ และวิวัฒนา เป็นธรรมชาติพื้นฐาน ของชีวิต

แต่การเรียนรู้และวิวัฒนาบางอย่างก็กลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ นั้นก็คือยุคสมัยที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ ต้องเรียนรู้ ที่จะเอาชีวิตรอดจากสัตว์ที่มีเขี้ยวเล็บ การเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้เมื่อภัยมาถึง กลไกของชีวิตและสมองได้เข้าสู่แบบแผนหนึ่ง ที่เป็นประในการต่อสู้หรือหนี กลไกนั้นได้ดึงพลังทั้งหมดให้รวมศูนย์อยู่กับการต่อสู้หรือหนี ในช่วงขณะนั้น ชีวิตหยุดเติบโต หยุดเรียนรู้ และหยุดเยียวยารักษาซ่อมแซม แต่ต่อมาเมื่อมนุษย์สามารถจัดการกับ ภัยคุกคามเช่นนั้นได้แล้ว กลไกแห่งการเตรียมพร้อม เช่นนั้น ก็ยังคงอยู่ โดยผูกโยงอยู่กับแบบแผนชีวิตแห่งความกล้าและความหวาดระแวง

แบบแผนชีวิตสองแบบ
แบบแผนชีวิตสองแบบนี้ ผูกโยงอยู่กับแบบแผนของพลังสองแบบด้วย แบบแผนของพลังแสดงออกได้ชัดแจ้งในแบบแผนของอารมณ์ คืออารมณ์ลบกับอารมณ์บวก หรือ ความกล้าและหวาดระแวงพวกหนึ่ง กับความรักและความไว้วางใจพวกหนึ่'

โดยปกติชีวิตจะทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติอย่างครึ่งหลับครึ่งตื่น และจะสร้างสมพฤติกรรม อารมณ์ ความคิดต่างๆ อย่างไม่รู้ตัว อย่างปราศจากความตื่นรู้ เราก่อประกอบโลกขึ้นมา เป็นวัฒนธรรม วิถีปฏิบัติต่างๆ และโดยไม่รู้ตัว เราก็ก่อโลกขึ้นมาจากความกลัวและความหวาดระแวงไม่น้อย สถาบันทางสังคม อันเป็นส่วนหนึ่งของการก่อประกอบโลกขึ้นมา มีความกลัวและความหวาดระแวงเป็นรากฐาน เช่น ระบบเศรษฐกิจที่คิดว่าทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด(scarcity) และกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็คือการช่วงชิง ระบบโรงเรียนที่ผลิตคนขึ้นมาเพื่อการแข่งขันเงินตราและทรัพย์สินเป็นเรื่องของสถานภาพ และกลายเป็นจุดหมายในตัวของมันเอง ผลิตผลจึงกลับกลายเป็นศัตรูกับมนุษย์ การแข่งขันทำให้มนุษย์แปลกแยกจากกันและกัน ตลอดจนแปลกแยกกับตัวเอง

ความขึ้งเครียด การดำรงอยู่ในความเครียดเรื้อรังเหล่านี้ เป็นปัจจัยอันใหญ่หลวงที่ทำให้มนุษย์ป่วยไข้ ทั้งป่วยกายและป่วยใจ แต่แล้วในปัจจุบันการแพทย์กระแสหลักก็เน้นที่การรักษาทางอาการ ด้วยยามากกว่าที่จะเข้าใจสาเหตุของโรคอันสลับซับซ้อนกว่านั้น ยาก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่แปลกแยกกับมนุษย์อีกหนึ่งอย่าง เพราะยาถูกผลักดันด้วย ความต้องการกำไรของบรรษัทยามากกว่า ความต้องการเยียวยามนุษย์และสังคมมนุษย์อย่างแท้จริง

มนุษย์ควรจะต้องกลับมาหาภารกิจอันแท้จริงของชีวิต ดังที่ท่านติช นัท ฮัน ใช้คำสองคำว่า reveal กับ heal ซึ่งแปลว่าความ เผยออกและรักษา อันเป็นกิจกรรมที่หลอมรวมการศึกษาและวิถีแห่งการดูแลสุขภาพเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

องค์ประกอบของการเยียวยาในการเผยออก

การเรียนรู้อะไรใหม่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ถ้าหากบุคคลยังติดอยู่ในร่องอารมณ์ ร่องอารมณ์ เป็นกลไกหนึ่ง การปกป้องตนเอง ของมนุษย์ ที่ตกค้างมาจาก ความจำเป็นในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ร่องอารมณ์นี้ มีร่องของ ความพฤติกรรม และร่องของ ความคิด เกี่ยวร้อยผูกพันรองรับอยู่ด้วย ทั้งสามร้องทำนองเดียวกัน และจำขังมนุษย์ไว้กับที่ และไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆได้

นี่เป็นคำตอบที่ว่า ทำไมเมื่อมีการฝึกอบรมหรือกิจกรรมการเรียนรู้หนึ่งใด ก็ได้มีการพูดคุยกันแล้ว เข้าใจกันแล้ว แต่แทนที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้คนกลับพากันปฏิบัติกันอย่างเดิม นี่แสดงว่า การเรียนรู้อย่างผิวเผินในระดับพุทธิปัญญาหรือ intellectนั้นไม่สามารถเยียวยาปมเงื่อนแห่งร่องอารมณ์ได้ และปมเงื่อนแห่งร่องอารมณ์นี้ พันธนาการมนุษย์ไว้แน่นหนากว่าที่เรานึกคิดไว้มาก

แต่ในทางกลับกันการเผยออกซึ่ง เรื่องราวของร่องอารมณ์ การทำงานของมัน และคณะทำงานของมันได้แก่ร่องพฤติกรรม และร่องความคิด ก็ทำให้ผู้คนตื่นรู้และตื่นตัวยิ่งขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับร่องอารมณ์

อีกประการหนึ่งร่องอารมณ์อาศัยหลืบมืดของอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น และกระทำการในความเป็นแบบอัตโนมัติ ความตื่นรู้ จึงเป็นคู่กรณี ที่สำคัญ การเจริญสติ อบรมสมาธิ อย่างที่จะเข้ามามีชีวิตชีวาในชีวิตประจำวัน จึงเป็นการแก้ลำร่องอารมณ์อย่างมีน้ำหนัก ในกิจกรรม การเรียนรู้ การสอดร้อยการตื่นรู้เข้ามาในทุกขณะ ในทุกๆกิจกรรมจึงนับว่ามีความหมายยิ่ง

นอกจากนี้ ก็อาจจะปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการเยียวยาได้ ด้วยการกระเทาะเทปม้วนเดิมแห่งร่องความคิดเข้าไป ด้วยการตั้งคำถาม อันเป็น ปริศนา อันไม่สามารถตอบคำถามด้วยเหตุผลจากร่องอารมณ์ของบุคคลผู้นั้น ทางพุทธศาสนานิกายเซนใช้เทคนิคนี้มาก และเรียก ปริศนาธรรม นั้นว่า "โกอาน"
"โกอาน" จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่แฝงฝังเข้าไปในเนื้อหาของเทปม้วนเก่า แทรกแซงและสร้างความงุนงงฉงนฉงาย ที่คนคิด จะตอบจะต้อง รวบรวม เอาสรรพสิ่งกำลังทั้งหมดของชีวิตเข้ามาตอบและในภาวะนั้นก็จะ "คลิก" และ "คลี่บาน" ออกมาตาม ลำดับเมื่อเนื้อเรื่อง ในเทป ถูกแปรสภาพไป ร่องอารมณ์ก็จะปลาสนาการไปด้วย เช่นนั้นเอง
"anti-dote" หรือ คู่กรณีกับ อารมณ์ที่สำคัญ อีกประการหนึ่งก็คือ เรื่องความรักและความวางใจ ที่ตรงกันข้ามกับ รากฐานของร่องอารมณ์ ที่มาจาก ความกลัวและความหวาดระแวง

ผู้เข้ากิจกรรมการเรียนรู้ครั้งหนึ่ง เล่าให้ฟังถึงความขึ้งเครียดเมื่อสามีกลับบ้านดึก"อีกแล้ว" ในชั่วขณะแห่งความทุกข์ทรมานใจ และ ความคิดย้ำไปย้ำมาว่าจะต้องเลิกกับสามีให้ได้นั้น เกิดฉุดคิดขึ้นมาได้ "แล้วลูกของของเราเล่า?" ก็เลยไป เปิดประตูห้องนอนลูก และเข้าไปกอดลูก ด้วยความรักเพียงแต่กอดลูก ร่องอารมณ์ต่างๆ ก็คลายตัวนอนหลับสบาย เจอะเจอสามี ในตอนเช้า ก็ไม่โกรธ และก็ไม่เห็น ความจำเป็นที่จะต้องไปซักฟอกอะไรเขา นี่คงไม่ใช้คำตอบ ทั้งหมด ของวิธีการเยียวยา "ร่องอารมณ์" แต่ก็เป็นเครื่องมือ หลักๆ อันทรงประสิทธิภาพยิ่ง คงจะสามารถพากกันนำไปใช้ประโยชน์ ไปมากก็น้อย

ย่างก้าวสู่ความไม่รู้

เมื่อพูดการเรียนรู้ ภาพตัวอย่างที่ดีภาพหนึ่งก็คือภาพไข่ดาว ตัวเราคือไข่แดง บรรดาสิ่งที่เราคุ้นชินคือไข่ขาว เป็นสิ่งที่มีทำซ้ำและคิดซ้ำ รู้สึกซ้ำและคิดซ้ำทั้งหลาย นอกไข่ขาวออกไปคือความคุ้นชินคือความสะดวกสบาย ก้าวออกข้างนอกอันปราศจากความคุ้นชิน ก็ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความวิตกกังวลกับความไม่รู้หลายอย่างหลายประการก็จะติดตามมา

สิ่งแรกที่เราจะเชื้อเชิญเข้ามาในการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ก็คือความกล้า ที่จะออกไปเผชิญ
กับความไม่รู้ สิ่งเดียวที่จะทำให้ความไม่รู้เป็นความรู้ ก็คือความกล้าที่จะเผชิญกับความไม่รู้ และที่มาของความกล้าหาญสูงสุดก็คือ ความรักและความวางใจ รักและความวางใจ ธรรมชาติในจักวาล หรือในพระเจ้า

เพราะการก้าวสู่ความไม่รู้นี้เอง ที่การรับรู้ของเราอาจจะปรับเปลี่ยนในจุดเล็กๆ พอที่จะให้เมล็ดพันธุ์แห่งโพธิ หรือความรู้ ได้หยั่งราก เจริญเติบโตขึ้นมา นำพาเราไปสู่โลกใบใหม่ ที่กว้างขว้างกว่า ดีงามกว่า ไว้ใจได้มากกว่า เป็นโลกที่ความทุกข์ความโศกของเราแปรเปลี่ยนไปเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้
เมื่อโลกเผยออก การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ ไปกับการเยียวยา

สิ่งที่มีชีวิต คือ ข่ายใยแห่งการเรียนรู้ ซึ่งได้บันทึกทำแผนที่ความสัมพันธ์กับจักรวาลไว้ ในโครงสร้างแบบแผนและกระบวนการ ในความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตเอง ในแต่ละวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตก็คือขยายขอบเขตของแผนที่ ทั้งแนวระนาบและแนวดิ่ง การก้าวไปสู่เรื่องราวที่เราไม่รู้ในจักรวาล จึงเป็นก้าวย่างเข้าสู่ความไม่รู้ภายในตัวตนของเราเองเช่นกัน

บทที่เจ็ด ตัวตนหรือข่ายใยในวิวัฒนาการ

ในกระบวนทัศน์เดิมทางวิทยาศาสตร์ เรามองโลกและจักรวาลเป็นนาฬิกาเรือน ประกอบด้วยชิ้นส่วนกลไกต่างๆ ที่ขับเคลื่อนมันไป เราพยายามทำความเข้าใจโลกและจักรวาลด้วยการหาชิ้นส่วนเล็กที่สุด อันเป็นอิฐพื้นฐานที่ก่อประกอบโลกและจักรวาลขึ้นมา แต่แล้วในการทดลองค้นคว้าความเป็นไปของวัตถุพื้นฐานที่เล็กที่สุดเหล่านี้ นักฟิสิกส์กลับรู้สึกฉงนฉงายกับผลการค้นคว้า เพราะความเป็นไปของสิ่งที่เล็กที่สุดนี้ไม่เป็นอย่างที่คาดเดาได้ บางที่อาจจะหามวลสารไม่พบ บางที่อาจจะหาตำแหน่งแห่งไม่พบ หรือแทนที่จะเป็นตัวตนกลับกลายเป็นโยงใยแห่งความสัมพันธ์

ความมหัศจรรย์แห่งข่ายใย

เม วัน โฮ เป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาชีวฟิสิกส์ คนหนึ่งที่อยู่ ณ พรมแดนความรู้ที่เป็นรอยต่อไปสู่กระบวนทัศน์ ผลงานของเธอสั่นไหวนักเศรษฐศาสตร์อย่าง เดวิด กอเต้น ให้สนใจสร้างแบบแผนทางเศรษฐศาสตร์อย่างใหม่ที่มาเอาชีวิตเป็นต้นแบบ กอเต้นได้เขียนเรื่องราวที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจาก เม วัน โฮ อย่างละเอียดในหนังสือของเขา (the post-corrorate World แปลไทยว่า โลกยุคหลังบรรษัท)

เม วัน โต ได้ศึกษาความเป็นผลึกของสิ่งมีชีวิต ด้วยการปรับเครื่องมือสำหรับวัดความผลึกในแช่ธาตุของธรณีวิทยา และได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตในสภาพที่อยู่นั้นเป็นผลึกเหลว เธอยังได้นำเอาความรู้เรื่องผลึกเหลวไปศึกษาเส้นทางเดินของพลังในร่างกายมนุษย์ นี่เรียกว่าเส้นเมอริเดียนโดยละเอียด พร้อมสูตรทางคณิตศาสตร์อย่างเป็นวิชาการ (ที่พูดถึงสูตรทางคณิตศาสตร์ เพราะว่าข้าพเจ้าอ่านสูตรคณิตศาสตร์เหล่านั้นไม่รู้เรื่อง หวังว่าจะมีคนอ่านรู้เรื่องและ ได้เอามาคุยกันให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้นไป)

ในมนุษย์นั้นทุกอย่างก็เป็นผลึกเหลวทั้งสิ้น แม้กระดูก เอ็น ก็ตาม นึกถึงเมื่อรำมวยจีน แล้วเขาให้ประสานกระดูก สามร้อยกว่าชิ้นให้เป็นชิ้นเดียว ให้เป็นโครงสร้างของพลังที่มีชีวิต เดี๋ยวนี้ในสหรัฐเขาให้คนแก่มารำมวยจีน เพราะว่าคนแก่จะล้มบ่อย ล้มแต่ละทีก็เสี่ยงต่อการแตกหักเสียหายของกระดูก เมื่อรำมวยจีนแล้ว สถิติการล้มก็ลดลงอย่างมาก เพราะมวยจีนทำให้แขนขาแข็งแรงมีพลัง อีกทั้งยังเพิ่มสติการตื่นรู้ในการก้าวย่าง ก็ทำให้การก้าวพลาดล้มลงเป็นไปได้ยาก ที่นับเป็นการประยุกต์วิทยาการได้อย่างเป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง

ความเป็นผลึกเหลว ก็คือการเชื่อมต่อโยงใยถึงกันไปทั้งองคาพยพของสิ่งมีชีวิต ตลอดจนเป็นระบบถ่ายเทพลังอย่างทั่วถึง โดยสูญเสียพลังไปกับแรงเสียดทานน้อยที่สุด

เม วัน โฮ บรรยายเปรียบเปรยความเป็นผลึกเหลวของเซลเพียงเซลหนึ่ง ไว้อย่างฟัง กล่าวคือ ความบรรสานสอดคล้อง ของเซลๆ หนึ่งที่มีปฏิกิริยาเคมีนับเป็นพันๆ เกิดขึ้นพร้อมกัน ที่ถักทอเป็นแบบแผนของข่ายใยอันสลับซับซ้อนนั้น เปรียบได้กับนักดนตรีสองพันคน เล่นดนตรีที่มีบรรไดเสียง 72 octaves ด้วยเครื่องดนตรีสองพันชิ้น และเล่นโดยปราศจากโน้ตเพลง คือด้นสด ต่างคนเล่น แต่แล้วผลที่ได้ คือเพลงๆ หนึ่งที่ไพเราะงดงาม

แต่แล้วความเป็นข่ายใยก็มิได้สิ้นสุดลงเพียง ภายในองค์กรชีวิต เพราะชีวิตคือระบบเปิดที่ไม่ได้เปิดโดยสิ้นเชิง หากมีผนังเซลเป็นตัวกำหนดสิ่งที่จะผ่านเข้าออก ความเป็นระบบเปิดคัดสรรของชีวิต ก็ทำให้ชีวิตสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกหลายๆทาง ไม่เพียงแต่สิ่งมีชีวิตเท่านั้นที่จะสัมพันธ์โยงใยเช่นนี้ แต่ทุกสรรพสิ่ง ที่เรารับรู้ว่าเป็น "สิ่ง" ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงใยกับภายนอกสิ่งเช่นนี้ คราปาได้เขียนรูปไว้ในหนังสือ The Web of Life สองรูปเปรียบเทียบดังนี้

รูปที่1

รูปที่2

ก็เห็นได้ว่า "สิ่ง" ต่างๆ ไม่ได้เป็นก้อนทึบภายในสิ่ง ก็ยังมีเงื่อนปมแห่งการโยงใยและสายสัมพันธ์อยู่ภายใน เราก็จะเห็นได้ว่าภายในตัวตนก็มีข่ายใยแห่งความสัมพันธ์อยู่ และไม่ได้สัมพันธ์กันเองในภายใน หากยังโยงใยสัมพันธ์กับภายนอกออกไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น สอดคล้องกับหลัก "อีทัปปจยตา" ที่ว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกันและกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ทฤษฏีระบบ

ทฤษฏีระบบเป็นความรู้และความเข้าใจที่ก่อเกิดพร้อมๆ กันในหลากหลายสาขาวิชา เป็นความพยายามที่จะไปพ้นข้อจำกัดของความคิดเชิงวัตถุที่เป็นกลไก กฏประการแรกของทฤษฎีระบบก็คือ เมื่อมีการก่อประกอบกันขึ้นเป็นองค์รวม ความเป็นองค์รวมไม่ใช่เพียงผลบวกขององค์ประกอบย่อยเท่านั้น แต่เป็นการก่อประกอบขึ้นเป็นองค์รวม ได้ก่อเกิดคุณภาพอย่างใหม่ อันเป็นคุณภาพที่โผล่ปรากฏ เช่น อะตอมของไฮโดรเยนสองตัวกับอะตอมของอ๊อกซิเจนหนึ่งตัวรวมดันได้ H2 O คือน้ำ น้ำจะมีคุณสมบัติใหม่ที่ไม่มีอยู่ในไฮโดรเยนและอ๊อกซิเจน เป็นต้น
นอกจากนี้การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งในโลกจะเป็นไปแบบระบบเล็กที่ก่อประกอบขึ้นเป็นระบบใหญ่ และระบบใหญ่นั้นก็เป็นองค์ประกอบย่อยของระบบใหญ่ขึ้นไปอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไป เราจะเริ่มจากระบบย่อยต่างๆ ภายในเซล ที่ก่อประกอบขึ้นขึ้นเป็นเซล เซลต่างๆ ก่อประกอบขึ้นเป็นเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อต่างๆ ก่อประกอบขึ้นเป็นอวัยวะ อวัยวะต่างๆ ก่อประกอบขึ้นเป็นองค์กรชีวิต องค์กรชีวิตต่างๆ ร่วมกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพก่อประกอบขึ้นเป็นระบบนิเวศ ระบบนิเวศก่อประกอบขึ้นเป็นทวีป ทวีปก่อประกอบขึ้นเป็นโลก เป็นระบบสุริยะและกาแลกซี่ และจักรวาล ตามลำดับ

ทฤษฎีระบบก็คือการเคลื่อนจากการมองสิ่งต่างๆ เป็นวัตถุ มาสู่การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ ตลอดจนคุณภาพใหม่ที่ก่อเกิดจากความพันธ์ต่างๆ คุณภาพใหม่ขององค์รวม ก็เกิดจากความสัมพันธ์โยงใยนั้นเอง แม้กระทั่งตัวองค์รวมเอง ก็ไม่ได้ดำรงอยู่ในสูญญากาศ หากยังมีสถานภาพเป็นระบบย่อยในระบบที่ใหญ่กว่าถัด นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า บริบท ในการศึกษาความเป็นจริงตามแนวคิดทฤษฎีระบบ เราจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมด้วยเสมอ เมื่อสิ่งแวดล้อมหรือบริบทแปรเปลี่ยนไป เรื่องราวก็จะแปรเปลี่ยนไปตามด้วย ในทฤษฎีระบบ ทัศนะการมองโลกแบบนิเวศจึงสำคัญ เราไม่สามารถมองหรือแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ อย่างแยกขาดจากสิ่งแวดล้อมของมันได้ เพราะมันไม่ได้ดำรงอยู่อย่างแยกขาดเป็นเอกเทศ หากสัมพันธ์โยงใยของบริบทแวดล้อมรอบตัว การมอง ความเข้าใจ และการแก้ปัญหาใดๆ จะต้องมาให้เห็นความสัมพันธ์โยงใยอย่างเป็นข่ายใยนี้ การแก้ปัญหานั้นจึงจะมีดุลยภาพและยั่งยืนได้
ในพุทธศาสนา ความคิดเรื่องการดำรงอยู่อย่างเอกเทศของสิ่งใดก็ตาม รวมทั้งตัวตนของมนุษย์เองด้วยนั้น เป็นทัศนะแห่ง"อัตตา" อันเป็นการมองโลกที่ผิดและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะสรรพสิ่งอิงอาศัยกันและกันก่อเกิดและดำรงอยู่ มิอาจจะแยกขาดออกจากกันอย่างเป็นเอกเทศได้

วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตคือประวัตศาสตร์แห่งสัมพันธภาพ

การเรียนรู้อันเกิดจากความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแม้ในมีชีวิตเซลเดียว จะมีการบันทึกการเรียนรู้นั้นๆ กลับเข้าไปในโครงสร้างโมเลกุล แบบแผนของวงจรอันสลับซับซ้อนของอนุกรมของปฏิกิริยาเคมี และตัวกระบวนการของปฏิกิริยาเคมีต่างๆ เหล่านั้น รวมความว่า เมื่อเกิดความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างมีการเรียนรู้เกิดขึ้น การเรียนรู้นั้นจะถูกบันทึกไว้ในโครงสร้าง แบบแผน และกระบวนการของชีวิต เราเรียกกระบวนการนี้ว่า "การจับคู่ทางโครงสร้าง" (structural coupling) กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งไหมว่า การวิวัฒนการของชีวิตนั้นจะบันทึกอยู่ในชีวิตที่เรียกว่าการจับคู่ทางโครงสร้าง ชีวิตก็จะเป็นสมุดบันทึกแห่งวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับสิ่งแวดล้อม

สองช่วงตอนแห่งวิวัฒนาการ

นักวิทยาศาสตร์สตรีอีกท่านหนึ่ง ที่เดวิด กอเตนให้ความสำเร็จในการเรียนรู้ศาสตร์แห่งชีวิตมาเป็นกับเศรษฐษศาสตร์ใหม่ที่เขานำเสนอเธอคือ อลิสซาเบท ซาโตรีส ผู้เขียน Earth Dance อันเป็นการให้ภาพลำดับขั้นการวิวัฒนาการทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตในโลก หนังสือเล่มนี้ควรจะได้รับการแปลมาเป็นตำราเรียนสำเด็กนักเรียนชั้นมัธยม

สังคมไทยยังขาดการศึกษาทฤษฎีหลักๆของโลกอย่างแยบคาย เรามักจะไปหยิบฉวยฉบับสังคมนิยมที่ฉาบฉวยมา และไม่ได้มาซึ่งของดีที่สุดที่ควรจะได้ ทฤษฎีของชาลส์ คาร์วินก็อยู่ในหรอบ ซาโตรีสได้ให้ภาพที่สมดุลย์ที่จะทำให้ทฤษฎีเป็นปัจจุบัน พร้อมด้วยข้อมูลหลักฐานล่าสุด ตลอดจนข้อแย้งต่างที่ประกอบด้วยวิจารณญาณแต่ข้าพเจ้า คงไม่ใช้เนื้อที่ตรงนี้กับเรื่องราวของทฤษฎีวิวัฒนาการโดยตรง แต่อาจจะพูดถึงบางส่วนตามความจำเป็นของเนื้อหา

ซาโตรีส ชี้ให้เห็นว่าในระบบนิเวศ สายพันธ์ใหม่ที่ก่อเกิด จะมีสองช่วงตอนแห่งวิวัฒนาการ ช่วงที่หนึ่ง สายพันธุ์ใหม่จะรุกรานอย่างก้าวร้าวเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ให้ได้มากสุด และเพื่อจะดำรงรอดอยู่ในโลกได้ ต่อมาเมื่อระยะเวลาผ่านไปพอสมควร ชีวิตของสายพันธุ์ก็ดำเนินเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และก็จะหาที่ทางที่จะดำรงอยู่ในระบบนิเวศไดด้อย่างกลมกลืนและอย่างสมดุลกับสายพันธุ์อื่นๆ
ในมนุษย์นอกจากเราจะมีประวัติศาสตร์แห่งการวิวัฒนาการ ของสิ่งมีชีวิตก่อนหน้าที่จะเป็นมนุษย์บันทึกอยู่

เราก็จะมีบันทึกของวิวัฒนาการของสายพันธุ์มนุษย์เองด้วย ทั้งช่วงตอนที่ก้าวร้าว และช่วงตอนที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้มีความสุขุมรอบคอบขึ้น เช่น เรายังมีสมองของสัตว์เลื้อยคลาน และสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่กับเรา สัญชาตญาณของสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ก็มีอยู่ในตัวเรา เรามีมนุษย์ก้าวร้าวอยู่ในตัวเราด้วย พร้อมๆกับมนุษย์ที่รู้จักรักและแบ่งปัน แต่ในมิติพัฒนาการของมนุษย์
มนุษย์ต้องเรียนรู้ผ่านช่วงประวัติศาสตร์วิวัฒนาการอีกครั้ง ๑-๗ เราผ่านการเป็นสัตว์เลื้อยคลานอีกครั้ง เพื่อพัฒนาพลังชีวิตและเจตจำนง ๗-๑๔ เราพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์อันเป็นภูมิปัญญาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๑๔-๒๑ เราพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่คิดเป็น และผ่านช่วงตอนแรกแห่งวิวัฒนาการที่ก้าวร้าว ยืนยันความเป็นตัวตน ไปสู่ความสุขุม พินิจพิจารณาในช่วงเติบโตเต็มที่ของวิวัฒนาการ

บางครั้งในการเลี้ยงดูที่ปราศจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนระบอบการศึกษาที่ยังมืดบอดโดยไปเน้นอัตตาตัวตนของมนุษย์ในวิวัฒนาการในช่วงต้น มนุษย์ถูกจำขังไว้ไม่ให้เติบโตเต็มที่ทางวิวัฒนาการ เรายังกล้าและหวาดระแวง เรายังก้าวร้าวและยังช่วงชิงดินแดนตลอดจนทรัพยากร ก็ไม่แปลกที่สหรัฐอเมริกาจะผลิตผู้นำที่กระหายสงคราม แต่โลกใบนี้บอบบางและอ่อนล้าเต็มทน และความอดทนที่จะผุดบังเกิดมนุษย์ในวิวัฒนาการชั้นหลัง ซึ่งเต็มไปด้วยความรักและความไว้วางใจ ออกจะเข้าใกล้จุดวิกฤติเต็มทีแล้ว แต่ตราบใดที่ยังมีการเรียนรู้และวิวัฒนาการ เราก็ยังคงมีความหวังได้เสมอมิใช่หรือ ?

บทที่แปด พิธีกรรมสู่อิสรภาพฉับพลัน

พิธีกรรมมักจะมากับความรู้สึกของความเก่าแก่และอนุรักษ์นิยม สำหรับคนที่เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ พิธีกรรมก็อาจจะเป็น เรื่องที่พอยอมรับชื่นชมกันได้บ้าง แต่ในรุ่นใหม่ที่เชื่อเรื่อง "ความแปลกใหม่" จำนวนไม่น้อยก็หันหลังให้พิธีกรรม นอกจากนี้ หลายๆ คนก็พากันปฏิเสธวัดและศาสนาในรูปแบบไปเลย เราอยากจะเห็นการกลับมา ของพิธีกรรมที่มีชีวิต ที่มีความหมาย ที่สามารถ เชื่อมร้อย เก่ากับใหม่ ทำให้ต้นไม้แห่งชีวิตมีรากอันเข้มแข็ง และทำให้อนาคตสดใสด้วย ผลิตผลด้วย พิธกรรมเช่นนั้น หน้าตาเป็น อย่างไร และเข้ามา มีบทบาทอย่างไร กับการศึกษาของมนุษย์ในยุคสมัยนี้

พิธีกรรมกับปัญญาสามฐาน

เมื่อเราพิจารณาพิธีกรรมในมิติของปัญญาสามฐาน เราจะเข้าใจได้ไม่ยากนักว่า ทำไมพิธีกรรมแบลบเก่าจึงไม่มีความหมายกับคนสมัยนี้ ประการแรก มันไม่มีความหมายที่เกี่ยวโยงกับชีวิตของพวกเขา เรื่องราวชีวิตของพวกเขากับเรื่องราวของพิธีกรรมไม่ได้ไปด้วยกัน ประการที่สอง มันไม่ได้เร้าอารมณ์ความรู้สึก หรืออีกนัยหนึ่งมันไม่ได้เร้าอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ รูปแบบทางกายจึงเป็นไปอย่างว่างเปล่า ไร้ความหมาย ไร้พลัง
แรกที่สุดต้องกลับมาพิจารณาภาษา และเรื่องราวของมันจะต้องเป็นภาษาและเรื่องราวร่วมสมัย สองต้องคลำหา คำหลัก และ เรื่องราวหลัก ที่จะ ปลุกเร้า อารมณ์ในทางกุศล หรือในทางที่จะก่อให้เกิด คุณงามความดี รูปแบบทางกายภาพ อันได้แก่สิ่งแวดล้อมและตัวกิจกรรม เมื่อเรื่องราวเป็นที่เข้าใจ พลังถูกอารมณ์ปลุกเร้า ตัวกิจกรรม ก็จะเกิดขึ้นอย่างมี จุดมุ่งหมาย และมีพลัง ที่สำคัญ ต้องให้ผู้เข้าร่วมเข้ามา เป็นเจ้าของกิจกรรมอย่างแท้จริง เมื่อนั้นพื้นที่การเรียนรู้และเยียวยาก็จะเปิดออก

พิธีกรรมกับสมุหภาวะ

พิธีกรรม เป็นจุดตัดระหว่าง ปัจเจกภาพ กับ สมุหภาพ โดยปกติชีวิต ในความเป็นไปอย่าง อัตโนมัติ ที่หลงลืม เราจะดำรงอยู่ใน ปัจเจกภาพ อย่างคับแคบ และ เห็นแก่ตัว แต่พิธีกรรมได้เผยจุดตัด หรือรอยเชื่อมต่อนั้นแก่เรา ในขณะนั้นเรารู้ว่า เราไม่ได้ ทุกข์คนเดียว ฝนไม่ได้ตกลงบนหลังคาของบ้านใดบ้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ได้ตกลงมายังหลังคาของเพื่อนบ้านของเราด้วย หลายครั้ง ความทุกข์ของเพื่อน ยังใหญ่หลวงกว่า ของเรายิ่งนัก และใน การแสวงหาทางออกจาก ความทุกข์ตลอดจน ข้อจำกัดของชีวิตร่วมกันนั้น เราค้นพบธรรมชาติใหม่ของปัญญาด้วยว่า ปัญญาก็มีความเป็นสมุหภาพพอๆ กับที่เป็นปัจเจกภาพ หลายครั้งที่เราจะพูดอะไร บางทีเพื่อนของเรา ก็พูดแทนด้วย ความคิด ที่อยู่ในใจของเรานั้นเอง สมุหภาพ นี้ไม่ได้ เชื่อมโยงเฉพาะเรา ที่อยู่ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ หากยังเชื่อมมวลมนุษยชาติในอดีต พร้อมกับภูมิปัญญาของเขา

พิธีกรรมกับการตื่นรู้

การตื่นรู้ คือ การกลับมาดำรง อยู่ปัจจุบัน อย่างตื่นรู้ ความเป็นอัตโนมัติ ในชีวิตทั้งหลาย มี การตื่นรู้ กำกับ ไม่ใช่ปล่อย ให้ไหลเลื่อนไป อย่างหลงลืม เหมือน แสงสว่าง ที่ส่องทาบเข้าไป รับรู้ความเป็นไปอย่างเป็นปัจจุบัน ในทุกขณะจิต ความตื่นรู้ ไล่ความขมุกขมัว มั่วซั่ว ออกไป ทำให้ชีวิต แจ่มกระจ่าง เผยออก ซึ่งอุปสรรค ข้อขัดข้องต่างๆ เผยออกซึ่งหนทาง และ วิถีแห่งพลัง ที่จะก้าวล่วงฟันอุปสรรค และ ข้อข้องขัดทั้งหลาย ความตื่นรู้นั้น มีพลังเหนี่ยวนำด้วย ในพิธีกรรมแห่งกลุ่มชน แสงเทียนต่อกัน จนความสว่างแห่งการตื่นรู้ ลุกโพลง ขึ้นพร้อมกัน และเหนี่ยวนำซึ่งกันและกัน ให้ความสว่างไสวยิ่ง

พิธีกรรมกับเสียงของตน

เมื่อสมุหภาพ และปัจเจกภาพ หลอม รวมเป็นหนึ่งเดียวใน การตื่นรู้ แต่ละคนจะได้รับ พลังเกื้อหนุน ให้ค้นพบเสียงของตน เสียงของตน ซึ่งปกติ จะถูกกลบด้วย เสียงของพ่อแม่ และ สังคม ครูและ โรงเรียน เราปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง และรูสึกว่า ตัวเองไม่ดีพอ ไม่ฉลาดพอ ที่จะแสดงเสียงของตัวเองออกมา บางทีชีวิตก็ผ่านไปจนแก่เฒ่า เรายังไม่รู้เลยว่า ตัวเองต้องการอะไรในชีวิต ในการที่ จะค้นพบ ศักยภาพ ของตน ที่จะ เผยออก และเยียวยานั้น เราต้องเริ่มได้ยินเสียงของตนเองก่อน เสียงของตนเอง ที่เปล่งออกมาชัด ในท่ามกลาง เสียงรบกวน ที่หนวกหู อยู่ตลอดเวลา เราจะขอเชิญ ให้เสียงเหล่านั้น หยุดลงชั่วครู่ เพื่อให้เนื้อที่ แก่เสียงของตัวเอง
ในพิธีกรรม เมื่อคนหนึ่งค้นพบเสียงของตนเอง มันจะเป็น พลังแห่งปิติ ที่จะไป เกื้อหนุนเหนี่ยงนำให้คนอื่นๆ สามารถค้นพบ เสียงแห่งตนเองด้วย และ ณ จุดนั้น มันเป็น การก้าวย่างก้าวแรก ใน การดำเนินชีวิต ใน วิถีแห่งพลัง อันมีความหมาย !

พิธีกรรมกับความว่าง

ความว่างในที่นี้ไม่ใช่ ความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไร เพราะ มันอยู่เหนือและ ยิ่งใหญ่กว่า ความมี หรือความไม่มีเสียอีก มันเหมือน ความว่างของประตู หน้าต่างที่มีประโยชน์ ลองนึกถึงภาพบ้านที่มีผนังทึบ ปราศจากประตูและหน้าต่าง มันเป็นเช่นไร ? ในพิธีกรรม แห่งการเรียนรู้นี้ เนื้อที่ของความว่างถูกเปิดขึ้นจากการตื่นรู้ ณ รอยตัดแห่งปัจเจกภาพกับสมุหภาพ ณ ที่ๆ เราค้นพบเสียงของตนเอง พร้อมๆ กันไป เนื้อที่แห่งความว่าง ก็เปิดออก ความว่างซ่อนตัวอยู่ ระหว่าง การรับรู้โลก ก่อนที่เราจะ รับรู้โลก ว่าโลกใบเดิมที่เราคุ้นเคย หากตื่นรู้สักนิด ฟังเสียงสมุหภาพแห่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราจะรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องรับรู้โลกที่เคยเป็นมา เราสามารถตื่นขึ้น เพื่อจะรับรู้โลกอย่างแตกต่างออกไป ด้วยสมมติฐานที่แตกต่างออกไปได้ ความเป็นไปได้นี้เอง คือสามารถมีทางเลือก นั่นคือ สภาวะที่ตรงข้ามกับความว่าง