พุทธิพิสัย Cognitive Domain
พุทธิพิสัยการเรียนรู้ทางด้านสติปัญญา
พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) หรือด้านความรู้ความคิด เป็นการกระทำ ที่เกี่ยวกับ กระบวนการทางสมอง เช่น สติปัญญา (Intellectual) การเรียนรู้ (Learning) และ การแก้ปัญหา (Problem solving) ได้แบ่งระดับพุทธิพิสัยไว้ 6 ระดับ โดยเรียงจากระดับต่ำสุด ถึง ระดับสูงสุด ดังนี้
1. ความรู้ - ความจำ (Knowledge)
1.1 ความรู้ความจำในเนื้อเรื่อง (Knowledge of specifics)
- ความรู้เกี่ยวกับศัพท์และนิยาม (Knowledge of terminology)
เกี่ยวกับความหมายของศัพท์ นิยามหรือคำจำกัดความ สัญลักษณ์ หรือภาพอักษร และ เครื่องหมายต่าง ๆ
- ความรู้เกี่ยวกับกฎและความจริง (Knowledge of specific facts)
เกี่ยวกับ สูตร กฎ ทฤษฎี หรือสมมุติฐาน ขนาด จำนวน สถานที่ เวลา คุณสมบัติ วัตถุประสงค์ สาเหตุและผลที่เกิด ประโยชน์และโทษ และสิทธิหน้าที่
1.2 ความรู้ในวิธีดำเนินการ (Knowledge of ways and means of dealing with specifics)
- ความรู้เกี่ยวกับระเบียบแบบแผน (Knowledge of conventions)
เกี่ยวกับแบบแผน ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันต่อ ๆ มาในสังคม
- ความรู้เกี่ยวกับลำดับขั้นและแนวโน้ม (Knowledge of trends and sequences)
แนวโน้มที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนั้นเสมอ ๆ และขั้นตอนของการดำเนินการในเรื่องหรือสิ่งนั้น ๆ ที่ต่อเนื่องกัน
- ความรู้เกี่ยวกับการจัดประเภท (Knowledge of classifications and categories)
เกี่ยวกับชนิด ประเภทของสิ่งของและเรื่องราวต่าง ๆ ว่าอยู่ในหมวดหมู่ประเภทใด มีสิ่งใดที่เหมือนหรือแตกต่างจากพวก โดยยึดเกณฑ์หรือวิธีการใดเป็นหลัก
- ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์ (Knowledge of criteria)
เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินหรือตรวจสอบสรรพสิ่งต่าง ๆ ว่า ดี - เลว ถูก - ผิด ควร-ไม่ควร
- ความรู้เกี่ยวกับวิธีการ (Knowledge of methodology)
วิธีการที่ใช้สำหรับการปฏิบัติงานนั้น ๆ ตามหลักวิชาการทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
1.3 ความรู้ความจำรวบยอด (Knowledge of universals and abstractions in the field)
- ความรู้เกี่ยวกับหลักวิชาและขยายหลักวิชา (Knowledge of principles and generalization)
หลักการหรือความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องนั้น ซึ่งเคยปรากฏจนสามารถนำมากล่าวสรุปรวบรวมเป็นความจริงทั่วไป
- ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีและโครงสร้าง (Knowledge of theories and structures)
เกี่ยวกับคติและหลักการ จากของหลายสิ่ง หลายเนื้อหาที่สัมพันธ์กัน เป็นพวกเดียวกัน เพื่อจะค้นหาทฤษฎี และโครงสร้างที่เป็นตัวร่วมของสิ่งเหล่านั้น
2. ความเข้าใจ (Comprehension)
- การแปลความ (Translation)
เป็นความสามารถในการแปลจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง ได้แก่ การแปลความหมายของคำและข้อความ การแปลความหมายของภาพและสัญลักษณ์ การแปลบทประพันธ์ สุภาษิตและคำพังเพย
- การตีความ (Interpretation)
เป็นการสรุปความจากสิ่งต่าง ๆ มากกว่า 1 สิ่ง แล้วนำผลมาสรุป เป็นผลลัพธ์ใหม่อีกอย่างหนึ่งที่มีลักษณะแปลกไปจากของเดิม
- การขยายความ (Extrapolation)
การขยายความเป็นการแปลความให้ไกลไปจากข้อมูลเดิม โดยมีข้อมูลหรือแนวโน้มเพียงพอ โดยการขยายความมี 4 แบบ คือ ขยายความแบบจินตนาการ แบบพยากรณ์แบบสมมุติ และแบบอนุมาน
3. การนำไปใช้ (Application)
การนำไปใช้ เป็นการนำเอาความรู้ความจำ และ ความเข้าใจในเรื่องราวใด ๆที่ตัวเองมีอยู่ ไปแก้ปัญหาที่แปลกใหม่ ปัญหาใหม่นั้น เป็นปัญหาที่ไม่สามารถนำสูตร กฎแก้ปัญหาได้โดยทันที จะต้องใช้ยุทธวิธีหลายอย่างในการแก้ปัญหานั้น
4. การวิเคราะห์ (Analysis)
- การวิเคราะห์ความสำคัญ (Analysis of element)
เป็นการค้นหาคุณลักษณะเด่นของเรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ เช่น ความเด่นของข้อความ ความสำคัญของเรื่อง ความนัยของคำพูดหรือกระทำต่าง ๆ วิเคราะห์ชนิด วิเคราะห์สิ่งสำคัญ และวิเคราะห์เลศนัย
- การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ( Analysis of relationships)
เป็นการค้นหาความเกี่ยวข้องระหว่างคุณลักษณะสำคัญใด ๆ ของเรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ อย่างสมเหตุสมผล โดยที่สิ่งทั้งสองสิ่ง
- การวิเคราะห์หลักการ (Analysis of organizational principles)
เป็นการค้นหาโครงสร้าง และ ระบบของวัตถุสิ่งของเรื่องราว และการกระทำต่าง ๆรวมกันอยู่ในสภาพนั้นได้เนื่องด้วยอะไร ยึดอะไรเป็นหลักเกณฑ์ หรือมีสิ่งใดเป็นตัวเชื่อมโยง
5. การสังเคราะห์ (Synthesis)
- การสังเคราะห์ข้อความ (Production of unique communication)
เป็นการนำเอาความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ มาผสมกัน เพื่อให้เกิดข้อความ หรือผลิตผล หรือการกระทำใหม่ ที่จะสามารถใช้สื่อสารความคิดและอารมณ์ ระหว่างบุคคลกับผู้อื่นได้ เช่น การพูดชี้แจง การแต่งคำประพันธ์ การวาดภาพ และการแสดงต่าง ๆ
- การสังเคราะห์แผนงาน (Production of plan or proposed set of operation)
เป็นการกำหนดแนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติงานไว้ล่วงหน้า เพื่อให้การดำเนินการนั้น สำเร็จลุล่วงตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เช่น ท่านจะวางแผนการทำงานอย่างไรจึงจะได้เป็น
- การสังเคราะห์ความสัมพันธ์ (Derivation of set of abstract relation)
เป็นการนำเอาความสำคัญและหลักการต่าง ๆ มาผสมให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่มีความสัมพันธ์แปลกไปจากเดิม เช่น จงอธิบายปัญหาที่แท้จริงของการคอรัปชั่นในเมืองไทย
6. การประเมินค่า (Evaluation)
- การประเมินค่าโดยอาศัยเกณฑ์ภายใน (Judgement in term of internal evidence)
เป็นการประเมินโดยใช้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เท่าที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวนั้น มาเป็นหลักในการตัดสิน เช่น จากเรื่องสามก๊ก ขงเบ้งเป็นคนอย่างไร
- การประเมินค่าโดยอาศัยเกณฑ์ภายนอก (Judgement in term of external criteria)
เป็นการตัดสินสิ่งต่าง ๆ โดยใช้เกณฑ์อื่น ๆ ที่อยู่นอกเรื่องราวนั้น แต่มีความสัมพันธ์กับเรื่องนั้นเกณฑ์ภายนอกอาจจะเป็นเกณฑ์ทางสังคม เช่น คำว่า "สองหัวดีกว่าหัวเดียว" ท่านเห็นด้วยหรือไม่