ภาวะผู้นำ Leadership

การศึกษาภาวะผู้นำอย่างมีระบบได้ดำเนินการต่อเนื่องมาร่วมร้อยปี เกิดมุมมองและความเชื่อต่าง ๆ ที่พัฒนามาเป็นทฤษฎีภาวะผู้นำ จำนวนมากมาย ในที่นี้จะแบ่งเป็นกลุ่มทฤษฎีและยกมาเป็นตัวอย่างเพียงบางทฤษฎี เริ่มด้วยทฤษฎีคุณลักษณะของผู้นำ กลุ่มทฤษฎีเชิงพฤติกรรม ตัวอย่างบางทฤษฎีเชิงสถานการณ์ ทฤษฎีผู้นำเชิงวีรบุรุษ หรือภาวะผู้นำใหม่โดยเสน่หาบางทฤษฎี และประเด็นที่เป็นแนวโน้ม ที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำในอนาคต

ความหมายของภาวะผู้นำ

มีคำสำคัญอยู่ 2 คำที่จำเป็นต้องเข้าใจในเริ่มแรก ก็คือคำว่า "leadership" ซึ่งมักเรียกว่า "ภาวะผู้นำ" หรือ "การเป็นผู้นำ" กับอีกคำหนึ่งคือ "Management" ซึ่งเรียกว่า "การบริหาร" หรือ "การบริหารจัดการ" ทั้งสองคำ มีความหมายแตกต่างกัน โดยมีนักวิชาการคนสำคัญให้ทัศนะไว้ ดังนี้

คอตเตอร์ (Kotter, 1999) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวไว้ว่า การบริหารจัดการ (Management) หมายถึง ความสามารถ ในการเผชิญ กับสถานการณ์ที่สลับซับซ้อนได้ การบริหาร จัดการที่ดีทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยในแง่ มีแผนงานที่เป็น ทางการ มีโครงสร้างขององค์การ ที่แน่นอนชัดเจน และมีการกำกับดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผน ส่วนภาวะผู้นำหมายถึง ความสามารถในการเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงได้ โดยมีผู้นำเป็นผู้สร้างวิสัยทัศน์ให้เป็น ตัวกำกับ ทิศทาง ขององค์การในอนาคต จากนั้นจึงจัดวางคนพร้อมทั้งสื่อความหมายให้เข้าใจ วิสัยทัศน์และ สร้างแรงดลใจแก่คนเหล่านั้น ให้สามารถเอาชนะอุปสรรคเพื่อไปสู่วิสัยทัศน์ดังกล่าว

เฮาส์ (House, 1996) แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มีความเห็นคล้องจองกับทัศนะดังกล่าว โดยเห็นว่า ผู้บริหาร (Manager) คือ ผู้ใช้อำนาจทางการ (Authority) ซึ่งมากับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งเพื่อให้สมาชิกขององค์การยอมปฏิบัติตาม การบริหารจัดการจึง ประกอบด้วย การนำวิสัยทัศน์และ กลยุทธ์ของผู้นำลงสู่การปฏิบัติ การประสานงานและการจัดคนทำงานในองค์การ ตลอดจน การแก้ปัญหาประจำวัน ที่เกิดจากการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ให้นิยามความหมายของภาวะผู้นำจำนวนมากมายหลายร้อย นิยามแต่นิยามที่เลือกใช้ในบทนี้ ได้ให้ความหมาย ของ ภาวะผู้นำว่า เป็นความสามารถในการมีอิทธิพลต่อกลุ่ม เพื่อให้ดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้เแหล่งที่มาของ การมีอิทธิพล อาจเป็นอย่างทางการ เช่น ได้กำหนดชัดเจนมากับตำแหน่งทางบริหารขององค์การนั้นว่ามีอำนาจอะไรบ้างเพียงไร ดังนั้นการได้รับบทบาทการเป็นผู้นำในตำแหน่งบริหาร ก็ทำให้บุคคลนั้น ได้รับอำนาจและเกิดอิทธิพลต่อผู้อื่นตามมา อย่างไร ก็ตามความเป็นจริงพบว่า ไม่ใช่ผู้นำทุกคนที่สามารถเป็นผู้บริหาร (Not all leaders are managers) และเช่นเดียวกัน ก็ไม่ใช่ผู้บริหารทุกคน ที่สามารถเป็นผู้นำ (Not all managers are leaders) ด้วยเหตุนี้เพียง แค่องค์การได้มอบหมาย อำนาจหน้าที่ให้แก่ ผู้บริหารนั้น ยังไม่มีหลักประกันอย่างเพียงพอว่าผู้นั้นจะสามารถในการนำได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้อาจ มีอิทธิพล จากปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่มีผลกระทบมากกว่าอิทธิพลที่กำหนดตามโครงสร้างองค์การก็ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้ว่า ผู้นำสามารถเกิดขึ้น จากกลุ่มคนให้การยอมรับนับถือได้เช่นเดียวกับที่มาจาก การแต่งตั้งอย่างทางการ ในองค์การที่ดีจำเป็นต้อง มีทั้ง ภาวะผู้นำและการบริหารจัดการ ที่เข้มแข็งจึงจะทำให้เกิด ประสิทธิผลได้สูงสุด โดยเฉพาะภายใต้ ภาวะของโลก ที่มีพลวัตสูง ย่อมต้องการได้ผู้นำที่กล้าท้าทายต่อการดำรงสถานภาพเดิม มีความสามารถใน การสร้างวิสัยทัศน์ และสามารถในการดลใจสมาชิก ทั้งองค์การให้มุ่งต่อความสำเร็จตามวิสัยทัศน์นั้น แต่เราก็ยังต้องมีการบริหาร ที่สามารถกำหนดรายละเอียดของแผนงาน สามารถออกแบบโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพขององค์การ รวมทั้งติดตามตรวจสอบดูแล การปฏิบัติงานประจำวันอีกด้วย

ทฤษฏีภาวะผู้นำ

ทฤษฏีภาวะผู้นำ ที่สำคัญ มี 3 ทฤษฏี คือ

1.) ทฤษฎีคุณลักษณะผู้นำหรือทฤษฎีอุปนิสัย (Trait Theory)

หลัก บุคคลเป็นผู้นำเพราะ มีบุคลิกลักษณะ ความสามารถที่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำ (รูปร่างหน้าตา สติปัญญา วิสัยทัศน์มีความสามารถเหนือคนอื่น ความประพฤติดี มนุษยสัมพันธ์ที่ดี )

โดยคุณลักษณะที่เด่นชัด คือ

  • มีความรู้ความสามารถในการงาน
  • เข้าร่วมกิจกรรมด้วยใจรัก
  • ได้รับการยอมรับจากสมาชิก สมาชิกเต็มใจทำงานร่วม

2. ทฤษฎี สถานการณ์ (Situation Theory)

หลักการ ผู้นำเกิดจากสถานการณ์บางอย่างผลักดันให้บุคคลต้องแสดงบทบาทผู้นำ หรือต้องพัฒนาลักษณะผู้นำขึ้นมา (ฮิตเลอร์ มุสโสลินี หรือ เหมาเจ๋อตุง) ทฤษฏีนี้ยอมรับความสัมพันธ์ของผู้นำและกลุ่ม ผู้นำต้องครองใจปวงชนผู้แวดล้อม

3. ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ (Interaction Theory)

หลักการ ความเป็นผู้นำเกิดจากปฏิสัมพันธ์ ความเป็นผู้นำ+สถานการณ์

(วิเคราะห์จากคุณสมบัติผู้นำ และ สถานการณ์ ) เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ความเป็นผู้นำก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผู้นำจึงมีได้หลายคน ผลัดเปลี่ยนกันไป

ทฤษฎีอื่นๆ ในเรื่อง ภาวะผู้นำ โดย Terry สรุป ไว้ 4 ทฤษฎี คือ

1. ทฤษฎีสนับสนุน (supporting Theory) เป็นทฤษฎีการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยผู้นำเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงาน มีโอกาสร่วมวางแผนและตัดสินใจในพันธกิจขององค์การ (ผู้นำต้องยอมรับในความรู้ความสามารถของผู้ร่วมงาน )

2. ทฤษฎีทางสังคมวิทยา (Sociological Theory) มีความเชื่อว่าผู้นำต้องแสดงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ร่วมงานโดยมุ่งจัดหา วัสดุ อุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

3. ทฤษฎีทางจิตวิทยา (Psychological Theory) มีความเชื่อว่าผู้นำต้องพัฒนาระบบสร้างแรงจูงใจ มีจิตวิทยาสูง ใช้เทคนิคกระตุ้นให้บุคคลปฏิบัติงานด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อองค์การ

4. ทฤษฎียึดถืออำนาจ (Autocratic Theory) มีความเชื่อในการใช้อำนาจ ของตนเองในการบริหาร สั่งการ บีบบังคับให้ปฏิบัติงาน โดยไม่ต้องการเหตุผลในการอธิบายความ

รูปแบบและประเภทของผู้นำ

รูปแบบ ของผู้นำ มี 2 รูปแบบ คือ

  • ผู้นำที่เน้นงานเป็นศูนย์กลาง (Tasked –Related Function)
  • ผู้นำเน้นความสัมพันธ์กลุ่มเป็นศูนย์กลาง(Group-maintenance)

Likert ได้ศึกษารูปแบบผู้นำในมหามิชิแกน พบว่า การบริหารแบ่งผู้นำเป็น 4 แบบ

  1. ผู้บริหารมุ่งใช้อำนาจ(Exploitative authority)
  2. ผู้บริหารใช้อำนาจอย่างเมตตา
  3. ผู้บริหารแบบการปรึกษาหารือ
  4. ผู้บริหารเน้นความร่วมมือกับทุกฝ่าย

ประเภทของผู้นำ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

  1. ผู้นำแบบอัตตาธิปไตย (Autocratic Leader) ลักษณะเผด็จการชอบสั่งการใช้อำนาจกดขี่ / ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง /การบังคับบัญชาสั่งการจากข้างบนลงล่าง/ผู้ช่วย คือผู้ใต้บังคับบัญชา
  2. ผู้นำแบบเสรี(Laissez-faire leader) ไม่ยึดกฏเกณฑ์ตายตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามผู้ร่วมงานเสนอ /ปล่อยผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ไปเรื่อยๆ /ไม่มีความคิดสร้างสรรค์งานใหม่ / ไม่มีการประเมินผลงาน
  3. ผู้นำแบบประชาธิปไตย(Democratic leader) ยึดถือความคิดกลุ่มเหนือความคิดตนเอง /แบ่งงาน/มอบหมายงานเป็นระบบ/ให้คำแนะนำในการงาน/สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ร่วมงาน โดยใช้กฎเกณฑ์สร้างสรรค์งาน

กล่าวโดยสรุป สภาพปัจจุบัน ผู้นำ มี 4 แบบ คือ

  1. ผู้นำแบบเสรีนิยม (Laissez-faire leader) ผู้นำจะปล่อยให้ผู้ร่วมงานตัดสินใจดำเนินการได้เอง ไม่ต้องรอการตัดสินใจจากผู้บังคับบัญชา
  2. ผู้นำแบบเกื้อกูล หรือ แบบใช้พระคุณ(Charismatic Leadership) มีพฤติกรรมอ่อนโยน เห็นใจผู้ใต้บังคับบัญชา ใช้หลักธรรม หลักมนุษยสัมพันธ์
  3. ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leader) เชื่อมั่นตนเอง ชอบสั่งการ ตัดสินใจตามอารมณ์ ผูกขาดการตัดสินใจที่ตัวคนเดียว
  4. ผู้นำแบบประชาธิปไตย (Democratic leader) ถือเอาความคิดของกลุ่มเป็นหลัก ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ปัจจุบันถือว่าเป็นแบบผู้นำที่ดีที่สุด

ผู้นำ มีในองค์การ (บุคลิกลักษณะ +อุปนิสัย+ภาวะผู้นำ)

ผู้บริหาร เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงาน องค์การ

ผู้นำ/ผู้บริหารที่ดี ต้องฝึกพฤติกรรมแห่งการเป็นผู้นำ 10 ประการ ดังนี้

  1. นักวางแผน (Planning)
  2. นักจัดระเบียบ (Organizing)
  3. นักประสานงาน( Coordinating)
  4. นักสื่อสาร (Communicating)
  5. นักมอบหมายงาน(Delegating)
  6. นักตัดสินใจ(Decision-Making)
  7. นักมนุษยสัมพันธ์ (Human Relation)
  8. นักฝึกอบรม(Training)
  9. นักจัดกระบวนการกลุ่ม
  10. นักประเมินผลงาน

ปัจจัยในการสร้างความเป็นผู้นำ ขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัยหลัก คือ

  1. ภูมิหลังและประสบการณ์ (Background and Experience) พื้นฐานครอบครัวและมวลประสบการณ์เดิมที่ผ่านมาในช่วงชีวิต
  2. สติปัญญาและคุณภาพสมอง (Intellectual and mental quality) มีทักษะทางภาษา การติดต่อสื่อสาร / ความสามารถด้านการมีเหตุผล /ความจำ/ความรอบรู้
  3. คุณลักษณะทางร่างกาย (Physical attributes) ผู้นำที่ร่างกายแข็งแรง จะมีจิตใจที่ดี
  4. บุคลิกภาพและความสนใจ( Personality and Interests) ความสนใจ กระตือรือร้นและความเต็มใจในการปฏิบัติงาน
  5. ความเชื่อมั่นในตัวเอง(Self-Confidence) ผู้นำต้องสร้างความเชื่อมั่น/มั่นใจในตัว

คุณสมบัติของผู้นำ

ผู้นำ ผู้บริหารที่ดี ต้องมี คุณลักษณะพื้นฐาน 10 ประการ คือ

  1. สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีไหวพริบดี
  2. มีความสามารถในการวิเคราะห์
  3. วิเคราะห์เหตุการณ์ ตัดสินใจดี
  4. มีความคิดริเริ่ม และเป็นผู้รอบรู้
  5. เป็นที่พึ่งแก่เพื่อนร่วมงาน และเชื่อถือไว้วางใจได้
  6. ตัดสินใจแน่นอน ไม่รวนเร
  7. รู้จักปรับตัว ละเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
  8. จิตใจมั่นคง ไม่เอาแต่อารมณ์ของตนเป็นใหญ่
  9. มีคุณลักษณะและความประพฤติส่วนตัวที่ดี
  10. มีคุณลักษณะของผู้นำ

เทคนิคการสร้างเสริมความเป็นผู้นำที่ ฝึกฝนได้ มี 8 ประการ คือ

  1. สำรวจตัวเอง พิจารณาข้อบกพร่อง เปรียบเทียบคุณลักษณะผู้นำที่ดี
  2. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านบริหาร และ จิตวิทยาสังคม
  3. ฝึกอบรมในสถาบันปรับปรุงบุคลิกภาพ
  4. พัฒนาการสนทนาโต้ตอบ ฝึกการเป็นนักฟัง /นักพูด(ถ่ายทอด)ที่ดี
  5. ปรับปรังบุคลิกภาพ ภายในและภายนอก ของตนเอง
  6. ทบทวนท่าที ที่ปฏิบัติต่อผู้อื่นให้สุภาพนุ่มนวล เป็นปกตินิสัย
  7. ฝึกฝน สังเกตการณ์ กล้าตัดสินใจ
  8. ฝึกฝนตนเองให้เป็นคนมีเหตุผล ในการทำงาน มีความสุขุมรอบคอบ

กล่าวโดยสรุป คุณลักษณะผู้นำที่ทำให้การบริหารงานประสบความสำเร็จ คือ

  1. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ สุขุมเยือกเย็น
  2. มีวิสัยทัศน์ กว้างไกล
  3. .สามารถบริหารความขัดแย้งได้ดี
  4. กล้าตัดสินใจ รวดเร็ว ถูกต้อง
  5. ติดต่อสื่อสารได้ดี
  6. รอบรู้ในงานที่รับผิดชอบ
  7. มีความขยันขันแข็ง มานะ อดทน
  8. เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์
  9. สามารถทำงานเป็นทีมได้ดี
  10. วินิจฉัยปัญหา คาดการณ์เหตุการณ์ได้ดี
  11. มีมนุษยสัมพันธ์ ทักษะทางสังคม
  12. .ทำงานในสภาวะกดดัน ตึงเครียดไดดี
  13. มีทัศนคติที่ดีต่อองค์การ
  14. วางแผนและประสานแผนได้ดี
  15. มีสัมพันธภาพที่ดีกับองค์กรอื่น
  16. รู้จักใช้ข้อมูล สารสนเทศให้เกิดประโยชน์

มนุษยสัมพันธ์กับความเป็นผู้นำ บุคคลในองค์กรมี 3 บทบาท คือ

1. มนุษยสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา

  • กำหนดนโยบาย เป้าหมายองค์กรให้ชัดเจน ชี้แจงผู้ใต้บังคับบัญชา
  • กำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง
  • สั่งการให้มีความชัดเจน ไม่กำกวม
  • มีความซื่อสัตย์ต่อคำสั่งที่สั่งออกไป ไม่กลับคำ ซัดทอดความผิดให้ลูกน้อง
  • สอนงาน หรือ อธิบายงาน ให้ชัดเจน
  • ติดต่อสื่อสารได้ชัดเจน และทั่วถึงกับลูกน้อง
  • มีความยืดหยุ่นในการทำงานในเรื่องกฎเกณฑ์ ระเบียบ ตามสมควรแก่เหตุ
  • ใช้วินัยควบคุมให้เสมอภาค ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง

2. มนุษยสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา

  • ตั้งใจทำงาน รับฟังคำชี้แจงของหัวหน้าด้วยความตั้งใจ
  • ไม่นินทาผู้บังคับบัญชา (ลูกน้องไม่จงรักภักดี+ไม่เคารพนับถือ)
  • มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนางาน โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
  • หลีกเลี่ยงการประจบสอพลอ
  • สนับสนุนกิจการของผู้บังคับบัญชา เรียนนิสัยของผู้บังคับบัญชา
  • ไม่ควรคล้อยตามผู้บังคับบัญชาทุกเรื่องโดยไม่มีเหตุผล
  • ปกป้องไม่ให้ผู้บังคับบัญชาเสียหน้า หรืออับอาย 8.ไม่ก่อศัตรูกับเพื่อนร่วมงาน
  • ไม่บ่นถึงความยากลำบากของการงานที่ได้รับมอบหมาย
  • มีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์และจริงใจต่อผู้บังคับบัญชา

3. มนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

  • จริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน
  • ให้ความช่วยเหลือเพื่อนในการงาน
  • รับผิดชอบร่วมกัน ไม่ซัดทอดความผิดให้เพื่อน
  • ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน
  • ให้ความสนใจเพื่อนอย่างจริงใจ
  • ยอมรับความเป็นตัวตนของเพื่อน
  • เข้าใจความต้องการ และความรู้สึกของเพื่อน
  • เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย
  • สนใจในสิ่งที่เพื่อนพูด พูดในสิ่งที่เพื่อนสนใจ
  • ยิ้มและมีอารมณ์ขันตามควร
  • มีมารยาทที่ดี ต่อเพื่อนๆ
  • ให้ความรัก ความเคารพความคิดเพื่อน
  • มีคุณธรรมในการติดต่อเพื่อนๆ (เมตตา กรุณา เห็นใจ ให้ความช่วยเหลือ)
  • .มีความซื่อสัตย์ต่อเพื่อน