วาจาสุภาษิต

วาจาสุภาษิตคืออะไร ?
วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่น กรองไว้ดีแล้ว มิใช่สักแต่พูด อวัยวะในร่าง กายคนเรานี้ก็แปลก
ตา มีหน้าที่ดูอย่างเดียว ธรรมชาติให้ มา 2 ตา
หู มีหน้าที่ฟังอย่างเดียว ธรรมชาติให้ มา 2 หู
จมูก มีหน้าที่ดมกลิ่นอย่างเดียว ธรรม ชาติให้มา 2 รู
แต่ปาก มีหน้าที่ถึง 2 อย่างคือ ทั้งกินและ พูด ธรรมชาติกลับให้มาเพียงปากเดียว แสดงว่า ธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้ มาก แต่ให้พูดน้อย ๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปาก จะ กินก็กินให้พอเหมาะ จะพูดก็พูดให้พอ ดี ลักษณะคำพูดที่พอเหมาะพอดี เป็นคุณทั้ง แก่ตัวผู้พูดและผู้ฟัง เรียกว่า วาจาสุภาษิต

องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต

1. ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความเป็นจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง จริง จริง
2. ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคนหยาบ คำด่า คำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้น ฟังก็ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ
3. พูดแล้วก่อนให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทังแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด
4. พูดไปด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธ มีความริษยาก็ยังไม่สมควรพูด
5. พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพเป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานกันหรือจับผิดไป
* พูดถูกเวลา (กาล) คือ รู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหน ยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผล ที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย
* พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือ รู้ว่าในสถานที่เช่น ไร เหตุการณ์แวดล้อมเช่นไร จึงสมควรที่จะพูด หาก พูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสีย อย่างไร เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ อย่างนี้ นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บ ตัวได้
"คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย"
"คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด"

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการพูด

ลักษณะของทูตที่ดี (ทูตสันติ)

1. ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ด่วนปฏิเสธ
2. เมื่อถึงคราวพูด ก็สามารถทำให้ผู้อื่นฟัง
3. รู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้กระทัดรัด
4. ทรงจำเนื้อความทั้งหมดที่จะพูดได้
5. เข้าใจเนื้อความทั้งหมดโดยละเอียดตามความเป็นจริง
6. ทำให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้
7. ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
8. ไม่ก่อการทะเลาะวิวาท

"ผู้ใด เข้าไปสู่บริษัทที่พูดคำหยาบคาย ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ยังคำพูดให้เสีย ไม่ปก ปิดข่าวสาร พูดจนหมดความสงสัย และเมื่อถูกถามก็ ไม่โกรธ ผู้นั้นย่อมควรทำหน้าที่ทูต"

โทษของการด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์

1. ผู้ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ คือ พระสงฆ์ และผู้ปฏิบัติธรรม ติเตียนพระอริยเจ้า จะประสบความฉิบหาย 11 ประการต่อไปนี้ ไม่บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ
2. เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว
3. สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมผ่องแผ้ว
4. เป็นผู้หลงเข้าใจว่าได้บรรลุสัทธรรม
5. เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
6. ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง
7. บอกลาสิกขา คือ สึกไปเป็นฆราวาส
8. เป็นโรคอย่างหนัก
9. ย่อมถึงความเป็นบ้า คือความฟุ้งซ่านแห่งจิต
10. เป็นผู้หลงใหลทำกาละ คือฆ่าตัวตาย
11. เมื่อตายย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติวินิบาต

ถ้อยคำที่ไม่ควรเชื่อถือ

1. คำกล่าวพรรณาคุณ ศรัทธา ของบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
2. คำกล่าวพรรณาคุณ ศีล ของบุคคลผู้ทุศีล
3. คำกล่าวพรรณาคุณ พาหุสัจจะ ของบุคคลผู้ไม่สดับ
4. คำกล่าวพรรณาคุณ จาคะ ของบุคคลผู้ตระหนี่
5. คำกล่าวพรรณาคุณ ปัญญา ของบุคคลผู้โง่
ทั้ง 5 ประการจัดเป็นคำซึ่งไม่ควรฟัง ไม่ควรเชื่อ

ลักษณะเสียงที่สมบูรณ์ของมหาบุรุษ

1. แจ่มใส ไม่แหบเครือ
2. ชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ ไม่ติดขัด
3. ไพเราะ อ่อนหวาน
4. เสนาะโสต
5. กลมกล่อม หยดย้อย
6. ไม่แตก ไม่พร่า
7. ซึ้ง
8. มีกังวาน

อานิสงส์การมวาจาสุภาษิต

1. เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของชนทุกชั้น
2. มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม
3. มีวาจาสิทธิ์ ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา
4. ย่อมได้ยินได้ฟังแต่สิ่งที่ดีงาม
5. ไม่ตกในอบายภูมิ

"วาจาสุภาษิต ไม่ว่าจะพูดด้วยสำเนียงภาษาอย่าง ไรก็ตาม วาจานั้นย่อมเป็นวาจาชั้นสูง ควรแก่ การสรรเสริญของบัณฑิต ตรงกันข้ามวาจาทุภาษิต แม้จะ พูดด้วยภาษาใดสำเนียงดีแค่ไหน บัณฑิตก็ไม่ สรรเสริญ"

การพูดเชิญชวน

การพูดเชิญชวนจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้พูดจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางในการพูด ดังนี้

๑. ผู้พูดควรตระหนักถึงหลักการพูดเชิญชวน เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสนใจ มีความต้องการที่จะฟังเรื่องราวต่อไปจนเกิดความพึงพอใจเห็นจริงตามที่พูด ทั้งนี้เพราะผู้พูดได้นำเสนอเรื่องราวอย่างมีเหตุผล มีการสร้างมดนภาพให้แก่ผู้ฟังด้วยการยกตัวอย่างหรือใช้สื่อประกอบการพูดจนผู้ฟังเห็นจริง

๒. ผู้พูดที่ดีต้องเตรียมความพร้อมที่จะพูดโดยศึกษาเรื่องราวอย่างละเอียด แสดงเรื่องราวที่พูด ความหมายของสารที่ต้องการจะสื่อให้ผู้ฟังเข้าใจอย่างกระจ่างชัด แสดงเหตุผลในการเชิญชวนได้อย่างถูกต้องน่าฟังและมีน้ำหนัก เพื่อให้ผู้ฟังตระหนักถึงความจริงและความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามคำเชิญชวนนั้น

๓. ผู้พูดต้องใช้น้ำเสียงและแสดงความรู้สึกที่แท้จริง มีความกระตืรือร้นที่จะพูดพร้อมทั้งใช้ท่าทางและสายตาประกอบอย่างเหมาะสม

๔. การพูดเชิญชวนที่ดีต้องคำนึงถึงความถูกต้อง เป็นการเชิญชวนให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมิใช่เป็นการเชิญชวนในสิ่งที่ผิด ในขณะเดียวกันผู้พูดต้องให้เกียรติผู้ฟัง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้เลือกตัดสินใจเชื่อและคล้อยตาม มิใช่เป็นการบังคับผู้ฟัง

๕. ผู้พูดต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับผู้ฟัง ได้แก่ อายุ เพศ ฐานะ ทางเศรษฐกิจ การศึกษา การนับถือศาสนา และความสนใจเป็นต้น การทำความเข้าใจผู้ฟังย่อมมีผลดีต่อการนำเสนอความคิดเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ และคล้อยตามประเด็นที่เชิญชวนโดยคำนึงถึงหลักสำคัญว่า บุคคลทั่วไปย่อมพึงพอใจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพต่างๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อตนเองและต้องการได้รับการยกย่องจากสังคม

๖. ผู้พูดที่ดีต้องแสดงความคิดอย่างมีเหตุผล มีความรู้กว้างขวาง นำกลวิธีการพูดลักษณะต่างๆให้ผู้ฟังสนใจ เช่น นำเรื่องที่ทำให้ผู้ฟังอยากรู้อยากเห็น นำเรื่องแปลกหรือใช้การวิพากษ์วิจารณ์มาประกอบ เป็นต้น

๗. พูดตามลำดับขั้นตอน โดยพิจารณาหัวข้อที่จะใช้พูดเชิญชวน กำหนดวัตถุประสงค์การพูด ค้นคว้าความรู้ประกอบ เลือกวิธีการพูด เลือกเหตุการณ์ประกอบการพูดให้เหมาะสม

๘. ผู้พูดที่ดีต้องเตรียมพร้อมเสมอว่า ผู้ฟังจะมีความเห็นด้วยกับผู้พูดหรือมีความเห็นเป็นกลาง ไม่แน่ใจ หรือมีความเห็นไม้เห็นด้วย เพื่อที่จะศึกษาถึงสาเหตุและนำมาเป็นแนวทางในการพูดต่อไป

๙. การพูดจูงใจสามารถพูดได้ในประเด็นต่างๆ เช่น พูดเกี่ยวกับสุขภาพ สวัสดิภาพในสังคม เสรีภาพ ขนบธรรมเนียมประเพณี และเกี่ยวกับเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น

การพูดในโอกาสต่างๆ

๑.การพูดแนะนำตนเอง

การพูดแนะนำตนเป็นการพูดที่แทรกอยู่กับการพูดลักษณะต่าง ๆ เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้ฟังมีความรู้เกี่ยวกับผู้พูด การแนะนำตนจะให้รายละเอียดแตกต่างกันไปตามลักษณะการพูดแต่ละประเภทซึ่งสามารถสรุป ได้ดังนี้

๑.๑ การพูดแนะนำตนในกลุ่มของนักเรียน เป็นการพูดที่มีจุดประสงค์เพื่อทำความรู้จักกันในหมู่เพื่อน หรือแนะนำตัวในขณะทำกิจกรรม ควรระบุรายละเอียดสำคัญ คือ

๑. ชื่อและนามสกุล
๒. รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษา
๓. ที่อยู่ปัจจุบัน และภูมิลำเนาเดิม
๔. ความสามารถพิเศษ
๕. กิจกรรมที่สนใจ และต้องการมีส่วนร่วมปฏิบัติกิจกรรม

๑.๒ การพูดแนะนำตนเพื่อเข้าปฏิบัติงาน หรือรายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชา ควรระบุถึงประเด็นสำคัญ คือ

๑. ชื่อและนามสกุล
๒. รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษา
๓. ตำแหน่งหน้าที่ที่จะเข้ามาปฏิบัติ
๔. ระยะทางที่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่

๑.๓ การแนะนำบุคคลอื่นในงานสังคมหรือในที่ประชุม โดยให้รายละเอียด ดังนี้

๑. ชื่อและนามสกุลของผู้ที่เราแนะนำ
๒. ความสามารถของผู้ที่เราแนะนำ
๓. ไม่ควรแนะนำอย่างยืดยาว และไม่นำเรื่องส่วนตัวที่จะทำให้ผู้อื่นอับอาย หรือตะขิดตะขวงใจมาพูด
๔.การแนะนำบุคคลให้ผู้อื่นรู้จักต้องใช้คำพูดเพื่อสร้างไมตรีที่ดีระหว่างบุคคลทั้งสองฝ่าย

๒.การพูดสนทนาทางโทรศัพท์

การพูดโทรศัพท์เป็นความนิยมอย่างยิ่งในการสื่อสารเพื่อสื่อสารเรื่องส่วนตัวหรือหน้าที่การงาน เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว และตรงจุดประสงค์ การสื่อสารที่ดีมีหลักสำคัญ ดังนี้

๑. กรณีที่เป็นโทรศัพท์ติดต่อไป ควรตรวจสอบหมายเลขให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงระบุชื่อบุคคลที่ต้องการพูดด้วยให้ชัดเจน หากต้องขอให้ผู้รับสารไปตามผู้ที่เราต้องการพูดด้วยนั้นต้องขอบคุณผู้รับสารทันที ในกรณีที่ต้องการฝากที่อยู่ให้ผู้ที่ไม่อยู้ทราบให้บอกข้อความที่ชัดเจนและสั้นที่สุด
๒. กรณีที่เป็นผู้รับโทรศัพท์ ควรกล่าวรับด้วยคำว่า สวัสดี แล้วแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ให้ทราบ พร้อมทั้งถามว่าต้องการติดต่อกับใคร ถ้าผู้ติดต่อมาต้องการพูดกับผู้อื่น ควรรีบติดต่อให้ทันที
หากผู้ที่ต้องการจะพูดด้วยไม่อยู่ และผู้ติดต่อมาต้องการฝากข้อความไว้ควรจดบันทึกไว้ให้ชัดเจน สอบถามชื่อของผู้ติดต่อพร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้สามารถติดต่อกลับไปได้ภายหลัง
๓. การพูดโทรศัพท์ควรใช้เวลาจำกัด พูดคุยเฉพาะเรื่องที่จำเป็น และควรใช้น้ำเสียงปกติ ชัดเจน แสดงความสุภาพ และมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
๔. ใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม เลือกคำพูดที่จำเป็นมาใช้ เช่น ขออภัย ขอโทษ ขอบคุณและสวัสดี แทน ฮัลโหล เป็นต้น

๕. สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในการพูดโทรศัพท์ ได้แก่

๑. ไม่วางหูโทรศัพท์ก่อนจบการพูดและไม่ควรปล่อยให้ผู้โทรศัพท์มาต้องคอยนาน
๒. ไม่อมหรือขบเคี้ยวสิ่งใดขณะโทรศัพท์ และไม่ควรพูดจาล้อเลียน เยาะเย้ยผู้ที่ติดต่อมา รวมทั้งไม่พูดจาหยาบคาย หรือใช้คำกระด้าง
๓. ไม่ปล่อยให้โทรศัพท์ส่งสัญญาณเรียกนานเกินไป ควรรีบรับโทรศัพท์ทันที

๓. การพูดเล่าเรื่องหรือเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ

การเล่าเรื่องหรือเล่าเหตุการณ์ เป็นศิลปะการพูดประเภทหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ฟังมีความรู้ความเข้าใจถึงเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งเกิดความเพลิดเพลินในการฟัง การเล่าเรื่องอาจเป็นการเล่านิทาน นิยาย หรือเล่าประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งการเล่าเหตุการณ์ที่ผู้เล่าได้ประสบมา เป็นต้น การเล่าเรื่องหรือการเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ มีแนวทางการเล่าเรื่อง ดังนี้

๓.๑ การเล่านิทาน
ควรเล่าเรื่องตามลำดับตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องเพื่อมิให้ผู้ฟังสับสน ใช้ถ้อยคำง่ายเพื่อสื่อสารความคิดได้อย่างชัดเจน รวมทั้งใช้น้ำเสียง สีหน้า และท่าทางอย่างเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับเรื่อง นอกจากนี้ยังควรสรุปเรื่องแสดงข้อคิดสติเตือนใจ

๓.๒ การเล่าชีวประวัติของบุคคล
ควรเล่าถึงประเด็นที่น่ายกย่องและเป็นแบบอย่างของบุคคล เพื่อให้ผู้ฟังได้ข้อคิดนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนได้ ผู้เล่าต้องเลือกเหตุการณ์บางตอนในชีวิตของบุคคลมาเล่าเป็นตัวอย่าง เพ่อเป็นการเสนอรายละเอียดที่มีคุณประโยชน์และยกย่องบุคคลที่เล่าถึงพร้อมทั้งสรุปข้อคิดและแนวทางที่ควรปฏิบัติตาม

๓.๓ การเล่าประวัติสถานที่สำคัญ
ควรเล่าเรื่องเฉพาะเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสถานที่นั้น รวมทั้งกล่าวถึงภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม รวมทั้งจุดเด่นของสถานที่ดังกล่าว

๓.๔ เล่าเหตุการณ์

การเล่าเหตุการณ์ควรเลือกเล่าเหตุการณ์สำคัญที่ผู้เล่าประทับใจ อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง สังคม หรือประวัติศาสตร์ ผู้เล่าต้องศึกษาเร่องราวอย่างละเอียดเล่าเรื่องอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวถึงสาเหตุที่นำเหตุการณ์นั้นมาเล่า บอกถึงสถานที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การเล่าควรใช้น้ำเสียงที่ชวนฟังพร้อมทั้งใช้ท่าทางประกอบให้เหมาะสม

๔. การใช้ภาษาตามหลักการพูด โดยใช้พูดอย่างถูกต้องชัดเจนและน่าฟัง

การพูดให้สัมฤทธิผลนั้น ผู้พูดควรคำนึงถึงการใช้ภาษาในการพูดให้เหมาะสมกับระดับภาษา เหมาะสมกับโอกาสและกาลเทศะ เพื่อให้สามารถส่งสารและรับสารได้ตรงตามความมุ่งหมาย การใช้ภาษาให้เกิดผลดีมีแนวทางสำคัญที่เป็นหลักปฏิบัติ ดังนี้

๔.๑ การใช้ภาษาในการแนะนำตน

การกล่าวแนะนำตนต่อบุคคลทั้งที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ผู้แนะนำตนควรกล่าวคำทักทายตามธรรมเนียมนิยม เช่น สวัสดีครับ สวัสดีค่ะ เป็นต้น รวมทั้งไม่ทักทายล่วงล้ำเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น ผู้พูดต้องรู้จักใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ชัดเจน สุภาพ และเหมาะสม เพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ นามสกุล สถานศึกษาหรือสถาบันที่สังกัด ความถนัด ความสนใจ งานอดิเรก หรืองานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ

๔.๒ การใช้ภาษาในการสนทนาทางโทรศัพท์

ผู้สนทนาต้องรู้จักใช้ภาษาให้เหมาะสม สุภาพ มีคำขานรับตามสมควร เมื่อจบการสนทนาก็กล่าวคำอำลากันอย่างเหมาะสม นอกจากนั้นควรเลือกใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายได้ชัดเจน กะทัดรัด เพื่อประหยัดเวลาการพูด รู้จักสำรวมถ้อยคำโดยเลือกประเด็นที่กล่าวเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีหลีกเลื่ยงการกล่าวโต้แย้งกัน ในขณะเดียวกันหากเป็นการสนทนาที่ไม่เป็นทางการผู้สนทนาอาจใช้ถ้อยคำแสดงอารมณ์ขันบ้าง เพื่อทำให้บรรยากาศการสนทนาแจ่มใสเพื่อดำเนินการสนทนาไปได้ด้วยดี

๔.๓ การใช้ภาษาในการเล่าเรื่องและเล่าเหตุการณ์

ผู้เล่าเรื่องควรใช้ภาษาง่าย ๆ กะทัดรัด แต่ความหมายชัดเจน โดยเล่าเรื่องตามลำดับไม่สับสน รวมทั้งใช้น้ำเสียงให้ชัดเจน ปรับเปลี่ยนระดับเสียงสูงต่ำอย่างเหมาะสมกับเรื่องที่เล่าทั้งที่เป็นเรื่องในแนวบันเทิงคดีและสารคดี สำหรับการเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็มีลักษณะของการใช้ภาษาในแนวทางเดียวกัน คือ ใช้ถ้อยคำสำนวนง่าย ๆ ผู้ฟังจะได้เข้าใจเรื่องราวได้ทันที รวมทั้งใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เล่าเพื่อช่วยให้ผู้ฟังสนใจฟังมากยิ่งขึ้น การจบการเล่าเรื่องหรือเล่าเหตุการณ์จ่าง ๆ ผู้เล่าเรื่องอาจสรุปข้อคิดเห็นโดนนำสุภาษิตสำนวน หรือยกคำประพันธ์มาประกอบให้น่าฟังยิ่งขึ้น

๕. มารยาทในการพูด

การพูดที่ดีไม่ว่าจะเป็นการพูดในโอกาสใด หรือประเภทใด ผู้พูดต้องคำนึงถึงมารยาทในการพูด ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมให้ผู้พูดได้รับการชื่นชมจามผู้ฟัง ซึ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการพูด มารยาทที่สำคัญของการพูดสรุป ได้ดังนี้

๑. พูดด้วยวาจาสุภาพ แสดงหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
๒. ไม่พูดอวดตนข่มผู้อื่น และยอมรับฟังความคิดของผู้อื่นเป็นสำคัญ
๓. ไม่กล่าววาจาเสียดแทง ก้าวร้าวหรือพูดขัดคอบุคคลอื่น ควรใช้วิธีที่สุภาพเมื่อต้องการแสดงความคิดเห็น
๔.รักษาอารมณ์ในขณะพูดให้เป็นปกติ
๕. ไม่นำเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นมาพูด
๖. หากนำคำกล่าวของบุคคลอื่นมากล่าว ต้องระบุนามหรือแหล่งที่มาเป็นการให้เกียรติบุคคลที่กล่าวถึง
๗. หากพูดในขณะที่ผู้อื่นยังพูดไม่จบ ควรกล่าวคำขอโทษ
๘. ไม่พูดคุยกันข้ามศีรษะผู้อื่น

ตัวอย่างการพูดเชิญชวน
ความเหงาของแม่

ทุกคนเกิดมาคงเคยผ่านความเหงากันมาแล้ว ว่ามีพิษสงอย่างไร ท่านทราบหรือเปล่าว่าใครเป็นบุคคลที่มีความเหงามากที่สุด

ท่านไม่ต้องคิดให้ไกลเกินไป ลองคิดถึงบุคคลที่ท่านใกล้ชิดซึ่งเรามักจะมองข้ามไป ท่านเป็นผู้มีพระคุณสูงสุดในชีวิตของเรานั่นเอง คนนั้นคือ พ่อ แม่ บังเกิดเกล้าของเราเอง ท่านคิดไหมว่า ขณะที่เรากำลังนั่งอยู่ที่นี่ แม่อาจจะคิดถึงเรา แล้วเราล่ะ ได้ปฏิบัติตนให้สมกับที่พ่อ แม่รัก ห่วงใยและคิดถึงเราอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า ดิฉันทราบว่าเราทุกคนต่างมีภาระหน้าที่ และบางท่านอาจประสบกับปัญหาชีวิตมากมาย แต่ไม่ว่าเราจะมีภาระหนักมากเพียงใด เรายังไม่ลืมกินข้าว เพราะเราหิว และเรายังต้องหาเวลาสนองตอบความหิวของร่างกายเราด้วยอาหาร แต่เวลาสำหรับระลึกถึงแม่และปฏิบัตอตนตามหน้าที่ลูกที่ดีให้แก่ท่านเหมือนร่างกายหิวอาหารหรือไม่

ขอให้พวกเราสละเวลาสักนิดเพื่อคิดถึงพ่อ แม่ ถ้าท่านไม่ได้อยู่กับแม่โปรดหาเวลาไปเยี่ยมแม่บ้าง แม่จะได้ไม่รู้สึกเหงาและว้าเหว่อีกต่อไป

การพูดต่อหน้าประชุมชน

การพูด เป็นสื่อความหมายเดิมที่มนุษย์ใช้ติดต่อกันเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง ด้วยการใช้เสียงที่มีสื่อความหมาย ซึ่งเราเรียกว่า "คำพูด" รวมทั้งอากัปกิริยาท่าทางและน้ำเสียงเป็นสื่อ

มารยาทในการพูด

1. ในการพูดต้องรู้กาลเทศะว่า เมื่อใดควรพูด เมื่อใดไม่ควรพูด เช่น ขณะรับประทานอาหาร ไม่ควรพูดเรื่องน่าเกลียด น่ากลัว สยดสยอง งานมงคลไม่ควรพูดเรื่องโศกเศร้า
2. พูดด้วยกิริยาที่อ่อนน้อมถ่อมตัว
3. ไม่พูดสอดแทรกหรือขัดจังหวะผู้อื่น ต้องรอให้ผู้อื่นพูดจบข้อความเสียก่อนแล้วจึงพูดต่อ
4. เรื่องที่พูดนั้นควรเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ พอใจร่วมกัน เช่น ข่าวเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจ
5. พูดตรงประเด็นอาจจะออกนอกเรื่องได้บ้างเล็กน้อย เพื่อผ่อนคลายอารมณ์
6. เคารพในสิทธิและความคิดเห็นผู้อื่นตามสมควร ไม่พยายามข่มให้ผู้อื่นเชื่อถือหรือคิดเหมือนตนหรือแสดงว่าตนรู้ดีกว่าผู้พูดอื่น ๆ
7. ไม่กล่าวร้ายหรือนินทาผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้คำที่แสดงการดูหมิ่นผู้ที่เราพูดด้วย ในขณะที่พูดควรวางตัวให้สุภาพเรียบร้อย ไม่แสดงว่าตนรู้ยกตนข่มท่าน
8. ต้องควบคุมอารมณ์ในขณะสนทนา หลีกเลี่ยงการใช้คำโต้แย้งรุนแรง
9. พูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงไมตรีจิตต่อกัน และแสดงความสนใจในเรื่องที่พูดด้วยท่าทางมีชีวิตชีวา
10. ใช้ภาษาสุภาพ ถ้าใช้คำคะนองบ้างก็ให้พอเหมาะแก่กาลเทศะและผู้ฟัง
11. ใช้เสียดังพอควร ไม่ตะโกน ไม่ใช้เสียงกระด้างหรือเสียงเบาเกินไป
12. ขณะที่พูดควรมองหน้าสบตาผู้พูดอีกฝ่ายหนึ่ง และต้องตั้งใจฟังคำพูดของผู้พูดอื่น ๆ และไม่กระซิบกระซาบกับคนนั่งข้างเคียง

คุณสมบัติของนักพูดที่ดี

นักพูดที่ดีจะต้องมีความสามารถหลายอย่างประกอบกันดังนี้

1. มีบุคลิกภาพน่าเชื่อถือ เช่น แต่งกายเหมาะสมกับโอกาส หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง หรือบางครั้งอาจจะจริงจังบ้าง ตามควรแก่กรณี ใช้ท่าทีและท่าทางดีมีสง่าใช้อากัปกิริยาประกอบคำพูดเหมาะสม

2. มีความรู้ในเรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดีเพื่อช่วยให้คำพูดมีความหนักแน่น มีน้ำหนัก มีความมั่นใจและสามารถแสดงหลักฐานอ้างอิงได้ถูกต้อง

3. มีวัตถุประสงค์แน่ชัด เช่น พูดเพื่อสนทนากันตามปกติเพื่อสังสรรค์ เพื่อความบันเทิง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อปรึกษาหารือเพื่อธุระ เพื่อแก้ปัญหา เมื่อมีวัตถุประสงค์ในการพูดแน่ชัดแล้ว ก็จะเกิดการสื่อสารที่ดีขึ้นได้ตามควรแก่โอกาส

หลักการของการพูด

มีผู้ให้หลักเกณฑ์ไว้หลายแบบด้วยกัน แต่ก็มีแนวคล้าย ๆ กันแต่จะขอยกแนวทางอย่างย่อ ๆ มาให้พิจารณาเป็นหลักยึด ดังต่อไปนี้

หลักสิบประการของสมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย

1. จงเตรียมพร้อม
2. จงเชื่อมั่นในตัวเอง
3. จงปรากฏตัวอย่างสง่าผ่าเผย
4. จงพูดโดยใช้เสียงอันเป็นธรรมชาติ
5. จงใช้ท่าทางประกอบการพูดให้พอเหมาะ
6. จงใช้สายตาให้เป็นผลดีต่อการพูด
7. จงใช้ภาษาที่ง่ายและสุภาพ
8. จงใช้อารมณ์ขัน
9. จงจริงใจ
10. จงหมั่นฝึกหัด

การปฏิบัติตนขณะพูด

เมื่อผู้พูดเตรียมตัวมาดีแล้ว ถึงเวลาที่จะพูดควรปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

1. ตรงต่อเวลา ต้องไปถึงที่ที่จะพูดก่อนเวลาเล็กน้อย เพื่อเตรียมตนเองให้มีความมั่นใจ ไม่ตื่นเวที

2. การเดินสู่ที่พูด ต้องเดินอย่างองอาจ แสดงความมั่นใจในตัวเอง

3. การแต่งกาย สุภาพ เรียบร้อย ไม่ควรสวยหรือเด่นเกินไป เพราะผู้ฟังจะหันมาสนใจการแต่งกายของผู้พูดมากกว่าเรื่องที่พูด

4. ให้เกียรติผู้ฟัง

5. การใช้สายตา ไม่ควรมองต่ำหรือมองไปข้าง ๆ หรือมองชั้นบน ควรกวาดสาตามองให้ทั่ว

6. ภาษาพูด ใช้ภาษาสุภาพ ควรมีอารมณ์ขันแทรกบ้าง หน้าตายิ้มแย้มแต่ไม่สนุกจนลืมเนื้อหา

7. อุปกรณ์ประกอบการพูด จะช่วยให้เรื่องน่าสนใจมากขึ้น ควรเตรียมการใช้ให้พร้อม

8. เอกสาร หรือบันทึกย่อเพื่อเตือนความทรงจำขณะพูด

9. ต้องมีไหวพริบ

10. ไม่พูดแข่งเสียงปรบมือหรือเสียงหัวเราะ

11. รักษาเวลา

12. การจบ ควรจบแบบทิ้งท้ายให้คิด ไม่ควรจบห้วน ๆ จบด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงที่ประทับใจ

การเตรียมการพูดต่อหน้าชุมชน

การพูดกับกลุ่มผู้ฟังที่มีจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวให้ดี เพื่อให้การพูดในครั้งนั้นสัมฤทธิ์ผล มีขอบข่ายการเตรียมดังนี้

1. การวิเคราะห์ผู้ฟัง คือผู้พูดต้องทราบข้อมูลเกี่ยวกับเพศ วัย พื้นฐานการศึกษา ความสนใจ อาชีพ ทัศนคติ และสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ฟังเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการเตรียมตัวพูดให้เหมาะสมกับผู้ฟังส่วนใหญ่

2. การตั้งจุดประสงค์ การพูดแต่ละครั้งต้องตั้งจุดประสงค์ว่าจะพูดเพื่ออะไรจึงจะได้เตรียมเนื้อหาได้ตรงจุดหมาย

3. การเลือกเรื่อง ถือว่าเป็นหัวใจของการเริ่มต้น ควรเลือกเรื่องให้สอดคล้องกับผู้ฟัง โอกาส กาลเทศะ และจุดมุ่งหมายในการพูด

4. การรวบรวมเนื้อหา เป็นการนำข้อมูล จากการศึกษาค้นคว้ามาจัดลำดับหมวดหมู่ให้เหมาะสมก่อนนำไปพูด

5. การวางโครงเรื่อง เป็นการนำข้อมูลมาจัดระเบียบและเรียบเรียงเนื้อเรื่องที่จะพูดโดยจัดเนื้อหาสาระสำคัญออก 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และบทสรุป

6. การขยายความ คือการใช้ข้อความที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ภาษิต คำคม มาช่วยให้ทำให้โครงเรื่องละเอียด พิสดาร ชัดเจน และมีความต่อเนื่องกัน

7. การใช้ถ้อยคำ คือการที่ผู้พูดรู้จักเลือกใช้ถ้อยคำ ภาษา สำนวน โวหาร ได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน และเหมาะกับกาลเทศะและบุคคล

8. การฝึกพูด คือการทดลองหรือฝึกซ้อมก่อนการพูดจริงเพื่อให้เกิดความพร้อม และมีความเชื่อมั่นในตนเองยิ่งขึ้น