การเรียนรู้กับบุคลิกภาพ

การเรียนรู้พฤติกรรมกับการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ

1 ทัศนะต่าง ๆ ที่มีต่อ พฤติกรรมมนุษย์

  • กลุ่มที่ 1 มีความเชื่อว่า พฤติกรรมมนุษย์นั้นเกิดมาจากปัจจัยภายในตัวของมนุษย์เอง คือ จิตใจ (mind) เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม
  • กลุ่มที่ 2 มีความเชื่อว่า มนุษย์เกิดมาแล้วถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อม และมีความเชื่อว่า ประสบการณ์ของมนุษย์ จะมีบทบาทสำคัญ ที่ทำให้คนเรา เกิดการเรียนรู้ที่จะกระทำพฤติกรรมเมื่อเกิดมานั้นมนุษย์ มนุษย์มิได้มีความรู้ติดตัวมา แต่อย่างใด ล้วนจะต้อง เรียนรู้ภายหลังจาก เกิดมาแล้วทั้งสิ้น และจะจดจำประสบการณ์นั้นเอาไว้เป็นแนวทางสำหรับ การแสดงพฤติกรรมในอนาคตต่อไป
  • กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่มีความเชื่อโดยประสมประสานระหว่างกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 คือให้ความสำคัญแก่ ลักษณะภายในตัวมนุษย์ และ สิ่งแวดล้อม ว่าเป็น ตัวก่อให้เกิดพฤติกรรม แนวความคิดนี้ นับเป็นแนวความคิด ที่ได้รับความสนใจ และมีการนิยมที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของ การเกิดพฤติกรรมของมนุษย์ ในปัจจุบันนี้

2 การเรียนรู้พฤติกรรม

การเรียนรู้พฤติกรรมเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการจะแก้ใขหรือสร้างพฤติกรรมของบุคคลอื่นหรือของตนเอง ซึ่งในการแก้ไขหรือสร้างพฤติกรรม ควรจะได้รู้และเข้าใจวิธีการที่คนเราเรียนรู้ว่า มีกี่ประเภท เพื่อว่าตนเองจะได้นำมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ของตัวเอง
ในการเรียนรู้พฤติกรรมนั้น มนุษย์เราเรียนรู้แตกต่างกันแต่ทุกคนล้วนแล้วแต่เคยเรียนรู้ด้วยวิธีการ 3 อย่างดังต่อไปนี้

1. การเรียนรู้แบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์
2. การเรียนรู้จากผลกรรม
3. การเรียนรู้จากตัวอย่างหรือตัวแบบ

ทฤษฎีการเรียนรู้พฤติกรรมนิยม

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบเงื่อนไข (Conditioning Theories) นักจิตวิทยาที่ยึดถือทางพฤติกรรมนิยม แบ่งพฤติกรรมของมนุษย์ออกเป็น 2 ประเภท คือ
(1) พฤติกรรมเรสปอนเด้นท์ (Respondent Behavior) หมายถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยสิ่งเร้า เมื่อมีสิ่งเร้าพฤติกรรมตอบสนอง ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งสามารถจะสังเกตได้
(2) พฤติกรรมโอเปอแรนท์ (Operant Behavior) เป็นพฤติกรรมที่บุคคลหรือสัตว์แสดงพฤติกรรมตอบสนองออกมา (Emitted) โดยปราศจากสิ่งเร้าที่แน่นอน และพฤติกรรมนี้มีผลต่อสิ่งแวดล้อม

ทฤษฎีที่อธิบาย กระบวนการเรียนรู้ประเภทแรกหรือ Respondent Behavior เรียกว่าทฤษฎีการเรียนรู้ระบบการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (Classical Conditioning Theory) ส่วนทฤษฎีการเรียนรู้ที่ใช้อธิบาย Operant Behavior เรียกว่า Operant Conditioning Theory

พื้นฐานความคิด (Assumption) ของทฤษฎีพฤติกรรมนิยม คือ
1. พฤติกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นโดยการเรียนรู้และสามารถจะสังเกตได้
2. พฤติกรรมแต่ละชนิดเป็นผลรวมของการเรียนที่เป็นอิสระหลายอย่าง
3. แรงเสริม (Reinforcement) ช่วยทำให้พฤติกรรมเกิดขึ้นได้

การเรียนรู้พฤติกรรมโดยการวางเงื่อนไขสิ่งเร้า

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก(Classical Conditioning Theory)
พาฟลอฟ (Pavlov, 1849-1936) พาฟลอฟได้พบหลักการเรียนรู้ที่เรียกว่า Classical Conditioning ซึ่งอาจจะอธิบายโดยย่อ ได้ดังต่อไปนี้ พาฟลอฟได้ทำการ ทดลองโดยสั่นกระดิ่งก่อน ที่จะเอาอาหาร (ผงเนื้อ) ให้แก่สุนัข เวลาระหว่าง การสั่นกระดิ่ง และให้ผงเนื้อแก่สุนัข จะต้องเป็นเวลาที่กระชั้นชิดมาก ประมาณ .25 ถึง .50 วินาที ทำซ้ำควบคู่กันหลายครั้ง และในที่สุดหยุด ให้อาหารเพียงแต่สั่นกระดิ่ง ก็ปรากฏว่า สุนัขก็ยังคงมีน้ำลายไหลได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า พฤติกรรมของสุนัข ถูกวางเงื่อนไข หรือที่เรียกว่า สุนัขเกิดการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก

สรุปแล้ว การตอบสนองเพื่อวางเงื่อนไข (Conditioned Response หรือ CR) เป็นผลจากการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก การวางเงื่อนไขเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าที่ต้องวางเงื่อนไข (Conditioned Stimulus หรือ CS) กับการสนองตอบ ที่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยการนำ CS ควบคู่กับสิ่งเร้าที่ไม่ต้องวางเงื่อนไข (Unconditioned Stimulus หรือ UCS) ซ้ำ ๆ กัน หลักสำคัญ ก็คือจะต้องให้ UCS หลัง CS อย่างกระชั้นชิดคือเพียงเสี้ยววินาที (.25 - .50 วินาที) และจะต้องทำซ้ำ ๆ กัน สรุปแล้ว ความต่อเนื่องใกล้ชิด (Contiguity) และความถี่ (Frequency) ของสิ่งเร้า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อ การเรียนรู้แบบ การวางเงื่อนไข แบบคลาสสิก การทดลองของ พาฟลอฟเกี่ยวกับ การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก เป็นการทดลอง ทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียด พาฟลอฟให้รายละเอียดเกี่ยวกับ การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกหลายอย่าง จนได้หลักการเกี่ยวกับ การเรียนรู้หลายประการ เป็นหลักการที่นักจิตวิทยา ยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้