การปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอก

การปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอก ได้แก่การทำให้กิริยามารยาทของบุคคลดูดีในสังคม อาจเรียกว่า การมีมารยาทในสังคม มนุษย์อยู่คนเดียว ในโลกไม่ได้ เราต้องอยู่กับคนอื่นและเมื่อต้องอยู่กับคนอื่น เราก็ต้องรู้จักมีมารยาทที่ดี ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น ในหัวข้อนี้จึงจำเป็นต้องศึกษาวิธีการ ปรับปรุงบุคลิกภาพภายนอกให้ดูดี หรือให้มีมารยาททางสังคม ที่คนทั่วไปเขาปฏิบัติ มารยาท หมายถึง กฎเกณฑ์ของพฤติกรรม หรือแบบแผนแห่งพฤติกรรม ซึ่งบุคคลพึงกระทำในสังคม พฤติกรรมที่สุภาพเรียบร้อยเรียกว่า สุภาพชน

มารยาท หมายถึง กิริยางดงามและอัธยาศัยไมตรี ที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่นดี มารยาทเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า เราเป็นคนที่ใส่ใจต่อ ความรู้สึกของผู้อื่น ให้ความรู้สึกที่ดีแก่คนอื่น เช่น การแสดงความเคารพ การให้เกียรติคนที่อาวุโสกว่า เป็นต้น การที่บุคคลมีมารยาทดี ถือเป็นก้าวแรก ที่จำเป็นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ในงานในอาชีพและการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งบุคคลจะต้องรู้จัก การแนะนำคนหลายคนให้รู้จักกันได้อย่างถูกต้องและไม่สับสน รู้จักการพูดคุยอย่างสุภาพ และรู้จักกฎระเบียบพื้นฐาน ในการอยู่ร่วมกับคนอื่น รวมถึง การสามารถแสดงอัธยาศัยที่ดีต่อผู้อื่น
การมีมารยาทที่ดีจะช่วยให้บุคคลรู้สึกมั่นใจในการพบปะผู้คนได้เกือบทุกสถานการณ์ การรู้ว่าอะไรควรและอะไรที่ไม่ควร การรู้จักวิธีการที่จะวางตัวให้เหมาะสมกับกาละโอกาส ไม่แสดงกิริยามารยาทที่ดูหมิ่นหยาบคาย ไม่ให้เกียรติผู้อื่น หรือทำร้าย ความรู้สึกของผู้อื่น แม้กฎเกณฑ์และมารยาทในสังคมปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หลักการพื้นฐานทั่วไป เรื่องมารยาทยัง คงเหมือนเดิมเช่น ความเป็นผู้มีน้ำใจดี การระลึกถึงผู้อื่น และอัธยาศัยอันดีที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย ดังนั้นจึงกล่าวสรุปได้ว่า มารยาทที่เหมาะสมในสังคม เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับบุคคลทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ผู้บริหารและผู้นำทุกระดับชั้น จนถึงคนระดับล่างๆ ก็ควรจะได้รับรู้และศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ให้ถูกต้องตามหลักสากล ซึ่งในเรื่องเทคนิคการปรับปรุงบุคลิกภาพจะได้กล่าวถึงเรื่องดังต่อไปนี้คือ

มารยาทในการแนะนำตัว การแต่งกาย มารยาทในการประทานอาหาร เรียงเป็นลำดับดังนี้

มารยาทในการแนะนำตัว

มารยาทในการแนะนำตัวนับเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะบุคคลจะต้องอยู่ในเหตุการณ์ที่จะต้องแนะนำตัวบ่อยครั้ง เช่น เมื่อเราพาเพื่อนไปร่วมงานเลี้ยง โดยมารยาทแล้วจะต้องแนะนำคนใหม่ให้รู้จักกับเพื่อนของเราด้วย ถ้าเราเป็นเจ้าภาพในงานนั้น เราจะต้องแนะนำแขกให้รู้จักซึ่งกันและกัน สำหรับงานเลี้ยงใหญ่ๆ เจ้าภาพจะแนะนำเพียงแขกกลุ่มที่อยู่ใกล้ ๆ เราเท่านั้น จากนั้นก็เป็นเรื่องของแขกผู้นั้น จะต้องหาทางแนะนำตัวเองให้รู้จักกับคนอื่น ๆ ในงานต่อไป
การแนะนำตัวเราเอง เราเพียงแต่จะพูดง่าย ๆ ว่า

"สวัสดีครับ ผมชื่อ…………." "สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อ…………."
แต่ถ้าเราบังเอิญเคยพบบุคคลนั้นมาก่อน เราอาจจะพูดต่อท้ายว่า
"เราเคยพบกันมาแล้วครับ ที่………" หรือ "ผมเป็นเพื่อนของ……….."
"เราเคยพบกันมาแล้วค่ะ ที่………" หรือ "ดิฉันเป็นเพื่อนของ……….." เป็นต้น
เมื่อเราแนะนำให้คนสองคนได้รู้จักกัน ก็เท่ากับเป็นการเสนอคนหนึ่งให้รู้จักกับอีกคนหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่งเรากำลังขออนุญาตบุคคลผู้นั้นแนะนำอีกคนหนึ่งให้รู้จักกัน เช่น
ในกรณีที่เป็นผู้ชาย "คุณภูมเรศ ผมขอแนะนำให้รู้จักกับคุณนิด…ครับ"
"คุณนิดครับ นี่คือคุณภูมเรศ…ครับ"
ในกรณีที่เป็นผู้หญิง "คุณนิดคะ ดิฉันขอแนะนำให้รู้จักกับคุณหน่อย…ค่ะ"
"คุณหน่อยคะ นี่คือคุณนิด…ค่ะ"

มารยาทในการแนะนำให้บุคคลรู้จักกันในสังคม จะต้องคำนึงสิ่งต่าง ๆ 4 ข้อดังต่อไปนี้
1. จะต้องแนะนำคนที่อ่อนวัยกว่าต่อผู้อาวุโสกว่าเสมอ
2. จะต้องแนะนำผู้ชายก่อนให้ผู้หญิงรู้จักก่อนเสมอ
3. การแนะนำผู้ที่อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าต่อผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าเสมอ
4. ในทางธุรกิจ จะต้องแนะนำพนักงานระดับต่ำกว่าต่อพนักงานระดับสูงกว่าเสมอ
ในกรณีที่เราเป็นผู้ถูกแนะนำ เราก็ควรแสดงอาการรับรู้ด้วยการกล่าวคำทักทาย เช่นใช้คำว่า
"สวัสดีครับ" และจะเป็นการช่วยให้เราจำชื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ดีขึ้น ถ้าเราจะเอ่ยชื่อของเขาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เช่น "สวัสดีครับ คุณสมชาย…ยินดีที่ได้รู้จักครับ" ในสังคมไทยเราไม่นิยมการจับมือกัน ยิ่งถ้าเป็นการแนะนำให้รู้จักกับสุภาพสตรีด้วยแล้ว ประเพณีไทย อาจจะมีการยกมือไหว้ ถ้าบุคคลมีความอาวุโสต่างกันมาก หรือผู้หญิงอาจจะเพียงแต่ยิ้มพร้อมพยักหน้าน้อยๆ พร้อมกับกล่าวคำทักทายว่า "สวัสดีค่ะ" ถ้าหากเป็นการแนะนำกับชาวต่างประเทศก็จะมีการสัมผัสมือด้วย ผู้หญิงส่วนใหญ่จะยื่นมือให้สัมผัสโดยอัตโนมัติ และฝ่ายชายก็ไม่จำเป็น ที่จะต้องรอให้ฝ่ายหญิงยื่นมือมาให้ แต่จะยื่นมือให้ก่อนและฝ่ายหญิงก็ไม่ควรลังเลที่จะสัมผัสมือกับฝ่ายชาย เพราะหากไม่ยอมสัมผัสมือ เมื่อฝ่ายหนึ่งยื่นมือมาแล้ว มารยาทตะวันตกถือว่า เป็นการเสียมารยาทอย่างยิ่ง
ในการสัมผัสมือ บุคคลไม่ควรบีบมือของอีกฝ่ายหนึ่งแรงจนเกินไปนักแต่ก็ไม่ปล่อยมือให้อ่อนปวกเปียกจนไม่มีกระดูก การสัมผัสมือไม่ควรจะเนิ่นนานเกินไปควรเขย่ามือสั้น ๆ 2 – 3 ครั้งไม่ทำแรงเกินไป และจับมือให้กระชับให้เกิดความรู้สึกที่เป็นกันเอง ก็เพียงพอแล้วข้อเสนอแนะในการสร้างความประทับใจเมื่อพบครั้งแรก

1. แต่งตัวให้เหมาะสมกับความคาดหวังของที่เราจะมาพบหรือ แต่งตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่คนอื่นคาดหวังว่า เราควรจะแต่งกายอย่างไร
2. ยิ้มกับบุคคลที่พบเห็นเสมอ การยิ้มเป็นภาษาสากล การยิ้มเป็นการทักทายกับคนที่รู้จัก
3. การพูดคุยต้องประสานสายตาของผู้ที่เราจะคุยด้วยให้ความสนใจในรายละเอียดแต่ไม่ใช่จ้องหน้าเวลาพูดต้องมองหน้าคนไม่ก้มดูพื้น หรือมองไปที่อื่นในขณะที่ท่านคุยกับคู่สนทนา อย่าจ้อง หน้าคู่สนทนามากเกินไป
4. อย่าลืมกล่าวทักทายกล่าวคำว่า "สวัสดีคะ" หรือ การจับมือซึ่งต้องจับมืออย่างเต็มใจ จริงใจ ใส่ความรู้สึกที่ดีๆขณะจับมืออย่าบีบมือแรง
5. ให้การต้อนรับอย่างจริงใจพร้อมกล่าวทักทาย "สวัสดีครับ…คุณสบายดีหรือครับ ดีใจที่ได้พบคุณมาร่วมงาน" "เชิญข้างในก่อนคะ"
6. เรียกชื่อผู้ติดต่อด้วย ให้ถูกต้องชัดเจน จะเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่นก็ได้ดูว่าสนิทระดับใด
7. อย่าพูดค่อยหรือพูดดังจนเกินไป การพูดเสียงค่อยเกินไปอาจจะตีความได้ว่าท่านไม่ค่อยมั่นใจ และไม่ต้องการสนทนาด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้าพูดเสียงดังเกินไปอาจจะดูไม่สุภาพนัก
8. ถ้าเป็นเจ้าของบ้านทำหน้าที่รับแขก อาจจะต้องหาน้ำหรือกาแฟมาให้แขกดื่มถ้าแขกของท่านต่างวัฒนธรรม ต้องแสวงหาความคาดหวังของเขาตามรูปแบบวัฒนธรรมของเขา
9. ถ้าเป็นการประชุมในที่ทำงานของท่าน ให้ท่านยืนต้อนรับที่หน้าประตูทางเข้าห้องประชุมให้ท่านยืนต้อนรับแขกและส่งแขก
10. ถ้าเป็นแขกไปเข้างานให้สังเกตวัฒนธรรมเจ้าของบ้าน สังเกตวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แสดงออกและวางตนให้เหมาะกับวัฒนธรรมนั้นๆ
11. ศึกษาประวัติบุคคล และหน่วยงานที่ท่านจะไปเข้าร่วมประชุม ศึกษานิสัยใจคอบุคคลที่เราจะไปพบ สิ่งที่เขาชอบไม่ชอบความสนใจเรื่องวัฒนธรรมองค์การควรศึกษาก่อนไปพบ
12. การรู้จักสังเกตกฎเกณฑ์พื้นฐาน ความสุภาพ และพฤติกรรมที่ถูกต้องทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาสนทนากับใครอย่าพูดตัดบท
13. การฝึกเป็นนักฟังมากกว่านักพูดแบบไร้สาระการฟังจะทำให้บุคคลฉลาดขึ้น ดูน่านับถือมากขึ้น จะได้รับความสนใจ มีเสน่ห์มากขึ้น ในทางตรงกลับกันถ้าผู้ที่เราสนทนาด้วยเป็นผู้ฟังที่ดีเราก็อยากจะพูดด้วย จงเป็นได้ทั้งผู้พูดที่ดีและผู้ฟังที่ตั้งใจจะฟัง
14. การพูดไม่ควรนำเรื่องเครียดมาพูดในงานรื่นเริง รู้จักเลือกหัวข้อที่จะพูด มีศิลปะในการพูดและพูดให้ถูกเวลา ถูกสถานที่และถูกเรื่อง การพูดคุยเพื่อการสร้างมิตรภาพต่างจากการพุดเพื่อเสนอขายสินค้า จงอย่าใช้เวลาแห่งมิตรภาพ ลงมือพูดเพื่อขายของ ถ้าทำเช่นนั้นท่านอาจจะไม่มีมิตรต่อไปหรือพอเห็นหน้าท่านเพื่อนอาจจะเปลี่ยนกลุ่มทันทีก็ได้
15. การพูดควรมีอารมณ์ขัน รู้จักแทรกข้อคิดตลก ทำให้บรรยากาศในการรู้จักกันผ่อนคลาย แต่ไม่ใช่พูดตลกแบบหยาบทะลึ่ง จนฟังแล้วไม่งามนัก เช่นตั้งคำถามว่า "คุณเคยไปนรกมั๊ย" คำถามนี้ทำให้คนฟังนิ่ง จะมาทางไหน...แน่ นรกกับสวรรค์ห่างกันไม่ถึง 10 เมตร แต่เราไปสวรรค์ยากกว่ามาก ( คนฟังชักงง ตั้งใจฟังต่อ ) นรกกับสวรรค์เขาตกลงสร้างถนนโดยแบ่งกันสร้างคนละ 5 เมตรไม่ถึงสองวันฝ่ายนรกก็สร้างเสร็จ ปรากฏว่าฝ่ายสวรรค์ยังสร้างไม่เสร็จ เดือนผ่านไป ฝ่ายนรกก็ถามว่าทำไม่สร้างถนนไม่เสร็จสักที สวรรค์บอกว่าผู้รับเหมาบนสวรรค์ไม่มี จึงสร้างถนนไม่ได้นะซิ" เป็นต้น

มารยาทในการแต่งกาย

สิ่งที่จะทำให้คนเราประทับใจครั้งแรกเมื่อพบเห็นและเกิดความรู้สึกว่า บุคคลมีบุคลิกภาพดีหรือบุคคลนั้น มีลักษณะเป็นผู้นำ หรือมีศักยภาพใน การเป็นผู้นำก็คือ เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เราสวมใส่ และวิธีที่เราเลือกเสื้อผ้าแต่งเรือนกาย ถึงแม้ว่าบางคนไม่ได้มีเครื่องแบบ เหมือนเช่นทหาร หรือข้าราชการ แต่การที่เขาแต่งกายแล้ว สามารถมองดูว่ามีบุคลิกภาพดีได้นั้น ก็มีกฎเกณฑ์บางอย่าง เช่น คนที่เป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้นำการแต่งกายของเขา ควรจะต้องเป็นแบบอนุรักษ์นิยมและเรียบร้อยลักษณะของเสื้อผ้า หรือชุดควรจะเป็น ทางการเสมอ เสื้อผ้าที่ตัดเย็บอย่างดีรับกับเรือนร่างของผู้สวมใส่ทั้งชายและหญิงจะบอกผู้คนรอบข้างว่าคนๆ นั้นเป็นคนเอาจริงเอาจัง กับการงานและมุ่งมั่นก้าวสู่ความสำเร็จ การแต่งกายให้สอดคล้องตามกฎเกณฑ์สังคม จะทำให้บุคคลเข้าสังคมได้อย่างไม่ขัดเขิน
การแต่งกายทำให้บุคลิกภาพดี การพิจารณาเลือกเสื้อผ้าที่จะใช้ให้เข้ากับรูปร่างหน้าตา สีผิว คุณภาพของการตัดเย็บ การเลือกสีเสื้อผ้าให้เข้ากับ วิธีการแต่งกายมีแนวทางในการพิจารณาดังนี้

วิธีการเลือกชุดทำงาน

นอกจากเสื้อผ้าชุดหลักดังกล่าวแล้ว ยังมีสิ่งที่ควรพิจารณาประกอบอีกเล็กน้อย เช่น เสื้อกันฝน รองเท้า ถุงน่อง เข็มขัด ผ้าพันคอ ที่ติดเสื้อ สร้อยคอ และเนคไท ดังอธิบายคือ
1. ในการเลือกเสื้อผ้าชุดไปทำงานจะต้องพิจารณาถึงสไตส์การแต่งกายหากไม่มีกฎเกณฑ์ บังคับเคร่งครัด สามารถเลือกเสื้อสูทกับ กางเกงคนละสีได้ แต่ถ้าหน่วยงานนั้นมีกฎเกณฑ์ให้ใช้สูทกับกางเกงสีเดียวกัน เสื้อตัวในใช้สีอ่อนและควรจะเป็นโทนสีเย็น
2. เสื้อเชิ้ต และเสื้อครึ่งท่อนสำหรับผู้หญิงที่เป็นชุดทำงานควรจะเป็นแบบเรียบๆ ไม่สมควร ประดับลูกไม้จนรุงรัง หรือติดระบายจนรู้สึกรุ่มร่าม ผู้หญิงควรเลือกเสื้อแขนยาวเป็นหลัก และหลีกเลี่ยงเสื้อคอคว้านลึก ผู้ชายควรจะเลือกเสื้อเชิ้ต ที่ไม่เน้นลำตัว เสื้อเชิ้ตควรเป็นเสื้อแขนยาวเสมอสิ่งที่ไม่เหมาะใช้ในที่ทำงานคือเสื้อยืดรัดรูป (สตรี) หรือสเวตเตอร์ ไม่เหมาะสมจะเป็นชุดใส่ไปทำงาน เพราะเสื้อยืดรัดรูปจะเน้นสัดส่วนเรือนกายให้เด่นชัด หากจะนำมาใช้กับชุดทำงานจะต้องมีสูทใส่ทับอีกชั้น
กางเกง ผู้หญิงไม่ควรจะสวมกางเกงไปทำงาน ( เว้นแต่กรณีอากาศหนาว หรือในบริษัท ไม่มีกฎเกณฑ์บังคับ ) คุณอาจจะรวมกางเกงไว้กับเสื้อผ้าทำงานชุดหลักก็ได้ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า การเลือกซื้อเสื้อผ้าชุดทำงานที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่จะทำสำเร็จได้โดยง่ายใน ความประณีตในการตัดเย็บ เสื้อผ้าที่มีคุณภาพนั้น จะต้องคงรูปตามเดิมอยู่ได้เป็นเวลาปลายปี จะสังเกตเห็นฝีมือและความประณีตในการเย็บเสื้อผ้าได้จากสิ่งเหล่านี้ เช่น
1. ปกและคอเสื้อ ควรจะตั้งขึ้น พับลงหรือติดแนบกับตัวเสื้อตามแบบที่ผู้ออกแบบกำหนดและเมื่อผ่านการซักรีดเพียงครั้งหรือสองครั้ง ปกและคอเสื้อไม่ควรเสียงรูปทรง ควรตรวจดูว่าของตะเข็บของปกเสื้อได้เย็บซ่อนไว้อย่างเรียบร้อย
2. แผ่นรองซับในควรจะทำด้วยวัสดุที่คงรูปร่างได้ดี เมื่อลองใช้มือขยำเสื้อดู แผ่นรองซับในที่ทำด้วยวัสดุที่ดีก็ควรจะคืนรูปได้ดังเดิมทันที
3. ซิปและรังดุม ควรตรวจดูว่าไม่มีรอยย่นตามขอบซิป ไม่จำเป็นต้องสนใจกระดุมมากนัก เพราะส่วนใหญ่เราจะดึงออกและติดเม็ดใหม่แทน แต่ที่รังดุมควรจะดูให้ดีว่าเย็บไว้เรียบร้อยดีหรือไม่ รังดุมที่เย็บไว้รุ่ยร่าย ทำให้เสื้อผ้าดูไม่มีราคา
4. สำหรับเสื้อสูท ควรตรวจดูความเรียบร้อยของซับใน และดูว่าแผ่นรองซับในตรงบริเวณรอยต่อแขนเสื้อซึ่งช่วยไม่ให้ซับในบริเวณนั้นขาดง่าย
5. กระโปรงควรจะมีซับใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระโปรงที่มีเนื้อผ้าที่อาจจะเสียรูปทรงได้ง่าย เช่น กระโปรงถัก กระโปรงที่ตัดเย็บอย่างดีควรจะมีซับในแยกต่างหากเย็บติดอยู่ด้านใน
6. ควรตรวจดูตะเข็บว่าแข็งแรงพอที่จะไม่ปริแตกง่ายเวลาสวมใส่ และตะเข็บควรจะเป็นตะเข็บคู่ เพื่อกันไม่ให้รอยเย็บหลุดลุ่ยได้ง่าย
7. ถ้าใช้ผ้าลาย ควรตรวจดูให้แน่ว่า ลายผ้าต่อกันพอดีตรงรอยตะเข็บ
8. เลือกเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าเนื้อดีที่สุดเท่าที่คุณจะมีกำลังซื้อได้ จะพูดถึงเรื่องเนื้อผ้าโดยละเอียดอีกครั้ง

การเลือกเสื้อผ้าให้รับกับเรือนร่าง

เสื้อผ้าซึ่งตัดเย็บอย่างประณีตแล้วจะไม่มีประโยชน์อันใดหากไม่รับกับเรือนร่างได้อย่างเหมาะเจาะถึงจะเลือกซื้อเสื้อผ้ายี่ห้อดีขนาดไหน แต่ถ้าหลวมหรือคับเกินไปก็จะไม่ช่วยให้ภาพพจน์เด่นขึ้น ขนาดของเสื้อผ้าของแต่ละยี่ห้อจะไม่เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่างแบบกัน ขนาดก็อาจจะต่างกันไปด้วย ฉะนั้น เมื่อจะเลือกซื้อเสื้อผ้าจะต้องลองสวมก่อนเสมอ
ในการลองเสื้อผ้า นอกจากจะดูว่าขนาดพอดีกับตัวแล้ว ก็ต้องดูว่าเสื้อผ้านั้นสวมใส่สบายหรือไม่ โดยลองนั่ง ลุก ยืน และเดินไปมา ในขณะเดียวกันก็ตรวจดูคอเสื้อ ไหล่ เอว ความยาวของเสื้อ รอยต่อแขน แขนเสื้อ และความยาวของกระโปรง หรือขากางเกง
มีข้อแนะนำบางประการในการช่วยให้เลือกเสื้อผ้าที่เข้ารูปได้ดังนี้
การเลือกเสื้อสูท และเสื้อสูทลำลอง คอเสื้อและปกเสื้อควรจะแบะแนบเรียบอยู่กับตัวเสื้อ ตอนลองเสื้อควรจะส่องดูในกระจกทั้งสามด้านและตรวจดูด้านหลังเสื้อ หากมีรอยย่นเป็นแนวอยู่ใต้ปกเสื้อแสดงว่าเสื้อหลวมเกินไป แต่ถ้าเห็นรอยตึงขวางอยู่บนแนวปีกไหล่ก็แสดงว่าเสื้อคับเกินไป ตรวจดูความกว้างของแขนเสื้อ คุณจะขยับแขนได้อย่างอิสระ โดยไม่รั้งเอาตัวเสื้อตามไปด้วย ตรวจดูที่ปลายแขนเสื้อด้วย ความยาวของแขนเสื้อสูทผู้ชายควรจะยาวพอให้เห็นปลายแขนเสื้อเชิ้ตโผล่ออกมา ¼ นิ้ว ½ นิ้ว สำหรับผู้หญิง แขนเสื้อควรจะยาวถึงข้อมือตรงบริเวณต่อกับนิ้วหัวแม่มือ
ลองติดกระดุมเสื้อดู ถ้าเห็นรอยตึงเป็นรูปกากบาทตรงบริเวณกระดุม ก็แสดงว่าเสื้อตัวนั้นคับเกินไป ตรวจดูความยาวชายเสื้อ สำหรับผู้ชายทำได้ง่าย ๆ ด้วยการยืนตัวตรง และทิ้งแขนลงมาข้างลำตัวมือกำหลวม ๆ ปลายแขนเสื้อสูทควรจะอยู่ในอุ้งมือพอดี ส่วนความยาวของเสื้อสตรีนั้นจะขึ้นกับสมัยนิยมเป็นส่วนใหญ่ แต่ควรจะดูให้เหมาะสมด้วย เพราะเสื้อสูทที่สั้นหรือยาวเกินไปจะทำให้ส่วนสัดดูผิดเพี้ยนไป
กางเกง เป้ากางเกงควรจะเรียบไม่มีรอยย่นเลย ขอบกางเกงควรฟิตกับเอวพอดี และไม่คับจนเกินไป ถ้าเอวหลวมจะทำให้ตัวกางเกงหย่อนยานโป่งพอง แต่ถ้าคับจนเกินไปจะรั้งตัวกางเกงขึ้นมาหมดทำให้สวมใส่ไม่สบายก้น และเป้ากางเกงไม่ควรจะตึงหรือหย่อนยานจนเกินไป
ควรจะลองกางเกงพร้อมกับรองเท้าที่ใส่เป็นประจำ ชายขากางเกงที่ยาวพอดีนั้นควรจะจรดรองเท้าพอดี สำหรับกางเกงของผู้หญิงนั้น การเลือกก็ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับของผู้ชาย แต่ให้จำไว้เสมอว่ากางเกงไม่เหมาะที่ผู้หญิงจะใส่ไปทำงานในเกือบจะทุกโอกาส
กระโปรง ความยาวของชายกระโปรงขึ้นลงได้ทุกปีตามสมัยนิยม แต่ถ้าจะเลือกการแต่งกายแบบอนุรักษ์นิยม ชายกระโปรงก็ควรจะยาวคลุมเข่าเล็กน้อย พอที่จะปิดเข่ามิดพอดีเวลานั่ง อย่าซื้อกระโปรงที่สั้นจนเกินไป ลองให้แน่ใจว่า ขอบกระโปรงฟิตกับเอวพอดี ขอบกระโปรงที่รัดแน่นเกินไปจะใส่ไม่สบาย และดูไม่สวย พยายามเลือกกระโปรงเผื่อตะเข็บข้างและชายกระโปรงไว้มากพอที่จะขยายไว้ภายหลัง
เสื้อเชิ้ต เมื่อติดกระดุมคอแล้วปกเสื้อควรจะกระชับ แต่พยายามอย่าเลือกคอเสื้อที่คับจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดรอยย่น ตะเข็บขอบไหล่ควรจะอยู่ตรงบริเวณหัวไหล่พอดี และวงแขนควรจะกว้างพอที่จะเคลื่อนไหวได้สะดวก อย่าให้รอบอกและเอวคับจนเกินไป แต่ก็ไม่ควรเลือกเสื้อตัวใหญ่มากตนดูโคร่ง ผู้ชายควรจะเลือกเสื้อที่ลำตัวเรียวเล็กลง นอกจากว่า จะเป็นคนที่อ้วนมาก ๆ ข้อมือควรจะฟิตพอดี

การแต่งกายให้เหมาะสมตามรูปร่างแต่ละแบบ

คนเตี้ยรูปร่างเล็ก
1. ใส่เสื้อคอวี ถ้าเตี้ยมากไม่ควรสวมสร้อยคอ
2. แบบเสื้อเรียบที่สุดโดยเฉพาะบริเวณอกอย่าเสริมไหล่เสื้อที่แขนพองที่หัวไหล่
3. เอวเรียบ ถ้าจำเป็นต้องใช้เข็มขัดให้ใช้เล้นเล็กมากๆ
4. เสื้อกระโปร่งชนิดปล่อยทิ้งแนบตัว
5. ใส่รองเท้าส้นสูงเสมอ
6. ชายกระโปร่งสั้นหน่อย
7. พยายามใช้ผ้าพื้น ถ้ามีลายหรือดอกให้ใช้ลายเล็กๆ
คนสูง
1. คอเสื้อปกสูง ปกเสื้อกว้าง
2. เน้นส่วนเอวให้เด่นด้วยสีสด หรือเข็มขัดผ้าพันเอวใหญ่
3. ใช้กระโปร่งแนบสะโพก มีเสื้อตัวยาวคลุมสโพกจะดูดี
4. ชายกระโปร่งต่ำกว่าเข่า
คนอ้วน
1. อย่าใช้ปกเสื้อสูงใช้คอแหลม
2. ใช้สีแก่หรือคล้ำ ถ้ามีลายให้ใช้ลายเล็กแคบสีเดียวกันหมด
3. อก เอว แขน เรียบไม่สะดุดตา ใช้เข็มขัดเส้นเล็กหัวเข็มขัดหุ้มผ้าสีเดียวกับเสื้อผ้าเพื่อไม่ให้สะดุดตา
4. ใช้ชุดสองท่อนเสื้อปล่อยรอบเอวกระโปรงตรงอย่าใช้เสื้อตึงแนบตัว
5. ชายกระโปร่งต่ำกว่าเข่าเสมอ
คนผอม
1. ใช้เสื้อคอสูงหรือแคบแนบคอ ถ้ามีปกใช้ปกกว้างมากๆ แขนสามส่วนดีกว่าแขนสั้น
2. อย่าใช้ชุดรัดตัว ผ้าลายขวางดีกว่าผ้าลายยาว
3. ใช้เสื้อจีบหรือพองส่วนนอก
4. บังส่วนเอวที่เล็กด้วยผ้าคาดเอวหรือเข็มขัดแถบใหญ่
5. กระโปร่งจีบพองอย่าให้สั้นมากไป
6. ใช้เครื่องประกอบการแต่งกายค่อนข้างใหญ่ เช่น กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด ต่างหู
7. ไม่จำเป็นต้องสวมรองเท้ามีส้นเสมอไป
คนรูปหน้าเล็ก
เสื้อเป็นแบบเรียบไม่มีปก ท่อนเสื้อซึ่งอยู่ใกล้กับหน้าที่สุดควรให้เรียบ ที่ว่าเรียบคือ ไม่มีปกที่ระบายจนดูตัวใหญ่ ไม่ให้มีสิ่งดึงดูดความสนใจในส่วนบน เพราะจะข่มหน้าให้ดูเล็กลงไปอีก ถ้าจะเล่นแบบควรเล่นแบบที่กระโปร่งยึดหลักว่าข้างบนเรียบแต่งด้านล่าง
คนรูปหน้าใหญ่
เช่นมีกรามใหญ่หรือกระดูกหน้าใหญ่ หน้ากับตัวเป็นส่วนที่ใกล้ชิดกันมาก ถ้าหน้าใหญ่
นอกจากจะทำผมช่วยแล้วจะใช้เสื้อช่วยโดยการแต่งตัวเสื้อให้เต็มที่ เช่น คอตั้ง คอระบายหรือมีโบว์ได้เต็มที่ บางคนคิดผิดว่า ถ้าหน้าใหญ่ใส่เสื้อแต่งมกจะทำให้ดูใหญ่เข้าไปอีกซึ่งเป็นความคิดที่ผิด
ไหลตั้ง
ใส่เสื้อแขนล้ำได้สวยมาก สังเกตว่าไหล่ใหญ่กับไหลตั้งไม่เหมือนกัน ไหล่ตั้งมักจะผอม อก
เล็ก ถ้าจะใส่เสื้อมีแขนต้องให้รอยต่อของแขนบริเวณหัวไหล่ล้ำเข้ามามากกว่าไหล่จริง หรือถ้าใส่เสื้อแบบมีแขนไม่ต่อไหลก็ให้ใช้สีเข้มและเทคนิคการตัดเข้าช่วย ใช้ผ้าหนา
ไหล่ใหญ่และอกใหญ่ ใช้สีเข้มดีที่สุด ผ้านิ่มเนื้อจอร์เจีย ชีพอง เครฟหรือผ้าป่าน การตัด
เย็บเทคนิคต่างๆ ช่วยได้มาก เช่นตะเข็บที่เรียบร้อย การวางผ้าตัดผ้า การวางลายใช้สีอ่อนสีแก่เข้ามาช่วยพรางรูปร่างได้มาก โดยยึดหลักที่ว่าส่วนที่ใหญ่ใช้สีเข้มส่วนที่เล็กใช้สีอ่อน
เอวสั้น พลางได้โดยไม่ว่าจะใส่ชุดคนละท่อนหรือติดกันก็ตามจะต้องเป็นสีเดียวกัน อย่าเล่น
สีตัดกันเป็นอันขาด สีตัดกันจะเน้นช่วงบนมาก แต่ถ้าจะใช้คนละสีก็ให้ใช้สีแนวเดียวกันโดยด้านบนสีอ่อนด้านล่างสีเข้ม ให้แนวเอวต่ำกว่าเอวจริง จะโดยการปล่อยตัวเสื้อลงมาหรือถ้าเป็นเครื่องแบบที่เอาเสื้อใส่ในกระโปรงก็ดึงเสื้อให้หย่อนลงมาหน่อย การใช้สีอ่อนเวลามองเสื้อดูกระจายออก ทำให้ดูช่วงบนใหญ่มากขึ้นกว่าที่เป้นจริงนิดหน่อย
เอวบาง หลักการตรงกันข้ามกันคือ เสื้อเข้มกระโปรงอ่อน ถ้าเป็นชุดติดกันควรมีเข็มขัดคาด หรือผ้าคาด
เอวใหญ่ ใช้สีเข้มตลอด อย่าเน้นเอวเป็นอันขาด ถ้าเอวใหญ่ไม่มากนักและตัวสูงพยายามทำ
เสื้อกระโปรงให้พองนิดหน่อยจะดูเอวเล็ก แต่ถ้าเอวใหญ่และตัวเตี้ยไม่ควรทำวิธีเดียวคือเลือกเสื้อผ้าสีเข้ม
ต้นขาใหญ่ อย่าใช้แบบที่ฟิตช่วงล่างถ้าจะใส่กางเกงให้แนบขาโดยใช้ผ้าหนาคุณภาพดี
หน่อยจะช่วยได้มาก กางเกงยีนก็ใช้ได้ดี แต่ค่อนข้างลำลองเกินไป ถ้าเวลาเดินทางควรใช้ผ้าเนื้อกามาดิน ดีที่สุดส่วนงานกลางคืนถ้าจะใช้ให้ใช้ผ้าเครฟ ทั้งกระโปรงและกางเกงควรหลวมหรือ คลือๆ ตัว อย่าให้ตึงเกินไปหรือพอดีเกินไป กรโปรงพีทน้อยๆ กระโปรงย้วยแล้วเวลาเดินพีทแยกออกโดยไม่รู้ว่าพีทแยกออก เพราะต้นขาใหญ่หรือพีทก็ไม่ควรใส่
โคนขาโก่ง ใช้กระโปรงแคบไม่ได้เลยต้องใช้ผ้าหนาและความหลวมของกระโปรง
หน้าท้องใหญ่ แก้ไขได้ยากที่สุดหลังจากพยายามลดจนเต็มที่แล้ว จะใช้เสื้อช่วยโดยตัวเสื้อหลวมที่ปล่อยลงมาให้พอดีกับหน้าท้องที่ยื่นออกมาหรือใช้เสื้อตัวปล่อยไปเลยอย่าเน้นเอว ถ้าต้องใส่เสื้อไว้ในกระโปรงกรณีที่เป็นเครื่องแบบที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใช้เสื้อตัวใหญ่หน่อยแล้วดึงมาให้เสมอหน้าท้อง ใส่กระโปรงบานทรงเอหรือกระโปรงย้วยเล็กน้อยตามความเหมาะสมแต่จะใส่กระโปรงแคบเลยจะดูไม่สวยนัก
สะโพกใหญ่ ไม่มีสิทธิ์ใช้สีอ่อนเลย ให้ใช้สีเข้มและแบบเรียบอย่ามีรอยย่น กระโปรงย้วยจีบ
รูดรอบตัวใช้ได้ ผ้านิ่มแนบไปกับสะโพก เสื้ออย่าให้เล็กมาก เพราะจะเน้นสะโพก
สะโพกยื่น ใส่เสื้อคลุมสะโพกตัวยาวไม่ได้ต้องให้พอดีกับสะโพก เสื้อตัวหลวมไม่เน้นเอว
ลักษณะที่คู่กับสะโพกยื่นคือ เอวแอ่นพยายามแก้ไขการทรงตัวที่ถูกต้องบังคับตนเองให้ได้ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าเข้ารูป

เลือกสไตล์และสีสันที่เหมาะสม


อาจจะเลือกการตัดเย็บที่ประณีต เนื้อผ้าชั้นดี และเสื้อผ้ารับกับเรือนร่างได้เหมาะเจาะ ปัญหาข้อต่อมาก็คือ เมื่อสวมเสื้อผ้าชุดนั้นแล้ว รูปโฉมที่ปรากฏจะเป็นเช่นใด หากต้องการเลือกเสื้อผ้าที่จะขับเรือนร่างและหน้าตาให้โดดเด่นชวนมอง จำเป็นต้องคำนึงถึงสัดส่วนของเรือนร่างและสีผิวด้วย ลองติดตามดูความสำคัญของเส้นและสีสันที่จะเน้นจุดเด่นของคุณให้ปรากฏชัด
เส้น เราสามารถใช้หลักการของเส้นลวงตาในการเลือกเสื้อผ้าที่จะช่วยให้ดูสูง หรือเตี้ยอวบอ้วนหรือเพรียว ตามความประสงค์ได้
เส้นในแนวดิ่งจะช่วยยืดส่วนสูงและบีบร่างให้เพรียว คนตัวเตี้ยล่ำจึงควรเลือกเนื้อผ้าที่มีเส้นในแนวดิ่ง เสื้อสูทที่มีลายทางในแนวดิ่งจึงเหมาะกับคนตัวเตี้ย
เส้นในแนวนอนจะตัดความสูงและขยายความกว้าง คนตัวผอมสูง ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีเส้นลายในแนวนอน
คอวีหรือชายเสื้อที่สอบเข้าหาเอว จะขับส่วนไหล่ให้กว้างและเน้นทรวดทรง เพราะเหตุนี้เองที่สตรีที่มีหน้าอกค่อนข้างใหญ่ จึงมักจะเลือกเสื้อคอวี เพื่อบีบส่วนเอวให้ดูคอดเล็กเรียวจะช่วยให้สมสัดส่วนไม่หนาเทอะทะไปหมด เสื้อผ้าชุดทำงานคอวีไม่ควรคว้านลึก
นอกจากลายผ้าแล้ว ควรจะให้ความสำคัญกับเส้นสายบนเสื้อผ้าควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น แผ่นรองซับในที่เสริมไหล่หนาเป็นพิเศษ จะช่วยให้ไหล่ของคุณดูกว้างขึ้น ตะเข็บแขนเสื้อในแนวทแยงจะทำให้ไหลดูแคบลง
ในการเลือกชุดทำงาน ควรเลือกเส้นลายบนเสื้อผ้าที่จะช่วยขับลักษณะเด่นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ควรจะเลือกเสื้อผ้าแบบเรียบที่สุด เพื่อให้สมกับลักษณะของมืออาชีพ
สีสัน สีสันนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดอีกอย่างที่ต้องนำมาพิจารณาเสื้อผ้าชุดทำงาน หากคุณเลือกสีสันได้อย่างชาญฉลาด สอดคล้องกัน สีสันจะขับรูปลักษณ์ของคุณให้โดดเด่นชวนมอง นั่นก็หมายความว่า สีสันของเสื้อผ้าจะช่วยเน้นสีผิว และสีผิว หากสามารถที่จะเลือกใช้สีใด ๆ ก็ได้ขอให้ระลึกเสมอว่า คุณกำลังมองหาเสื้อผ้าที่จะใช้ในโลกธุรกิจ สีที่ถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายคลาสสิคในวงการธุรกิจได้แก่ สีดำ เทา เบจ น้ำตาล น้ำเงิน และขาว ส่วนสีแดงเข้มบางกลุ่ม เช่น เบอร์กันดี และสนิมเหล็กก็ถือว่าเป็นสีคลาสสิคสำหรับสตรีนักธุรกิจ
วิธีเลือกสีสันที่เหมาะกับตัวคุณมากที่สุด คือ ยกชิ้นผ้าขึ้นมาทาบกับใบหน้า เนื้อผ้าชิ้นนั้นขับสีเส้นผมของคุณให้ดูสดใสขึ้นหรือไม่? หน้าตาสดใสขึ้น หรือถูกสีนั้นข่มให้หมอง?

เสื้อผ้าและเส้นลวงตา

สีสันมีคำศัพท์เฉพาะในการเรียน สี หมายถึงชื่อเรียก เช่น แดง เหลือง น้ำเงิน ความเข้ม หมายถึง ความจางหรือเข้ม หากคุณเติมสีขาวเข้ากับแม่สีจะได้ สีจางหรืออ่อนลง แต่เมื่อเติมสีดำเข้าไปจะได้สีเข้ม ส่วน intensity หรือ chromo หมายถึง ความสว่าง หากเป็นสีผสม ความสว่างจะลดลง สีสันอาจจะแยกเป็นสีร้อน เช่น สีเหลือง เหลืองส้ม ส้ม แดงเพลิง และแดง ส่วนสีเย็น ได้แก่ สีม่วง ม่วงคราม น้ำเงิน เขียวน้ำเงิน และเขียว
สีสันสามารถนำมาปรับใช้ร่วมกันได้ในการเลือกเสื้อผ้าชุดทำงานได้หลายทาง


1. เสื้อผ้าในกลุ่มทีเดียว โดยยืดกลุ่มสีใดสีหนึ่งเป็นหลักและมีสีจางหรือเข้มเป็นส่วนประกอบ เช่น ชุดสูทสีน้ำเงินเข้ม เชิ้ตหรือเบลาส์สีฟ้าอ่อน เนคไทหรือผ้าพันคอมีเส้นลายสีน้ำเงินระดับต่าง ๆ กัน การแต่งกายด้วยสีกลุ่มเดียวนี้ จะเน้นที่ความเข้มจาง หากใช้สีระดับเดียวกันทั้งตัวจะจืดชืดไม่ชวนมอง
2. สีตัดกัน หมายถึง สีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงสี เช่น สีน้ำเงินตรงข้ามกับสีส้ม สีตัดกันจะเพิ่มความเข้มให้ซึ่งกันและกัน ขอให้ใช้สีคลาสสิคในวงธุรกิจเป็นหลัก โดยมีสีตัดกันเป็นส่วนเน้น
3. สีใกล้เคียงกัน หมายถึง สีที่อยู่ถัดกันในวงสีการผสมสีที่ชวนมองที่สุดจะเป็นสีที่อยู่ระหว่างกลางของแม่สี เช่น สีน้ำเงินจะไปได้ดีกับสีเขียว
4. สีตัดกันสามสี หมายถึง สีสามสีที่อยู่ตรงข้ามกันในวงสี เช่น สีเหลือง แดง และน้ำเงินซึ่งเป็นแม่สี ในการแต่งกายโดยใช้สีตัดกันสามสี จะยืดสีหนึ่งเป็นหลัก และให้อีกสองสีเป็นจุดเน้น เช่น สูทเป็นสีน้ำเงินเข้ม เสื้อเชิ้ตขาว เนคไทที่มีเส้นลายสีน้ำเงิน เหลือง แดง จะไปด้วยกันได้ดีในการเลือกเสื้อผ้า ขอให้ยึดสีคลาสสิคเป็นหลัก การหาส่วนประกอบเพิ่มเติมได้ในภายหลัง เช่น เสื้อเชิ้ตหรือเทคไท จะทำได้โดยง่ายและไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ

ข้อแนะนำในการเลือกเสื้อผ้าสีคลาสสิค มีดังนี้


1. สีเข้ม ขรึม บ่งถึงพลังอำนาจและระดับชั้นมากกว่าสีอ่อน สดใส หากต้องการเสนอภาพพจน์ของผู้นำทางธุรกิจ ยึดสีเข้มเป็นหลัก
2. เลือกสีผสมแทนแม่สี แม้ว่าเครื่องแต่งกายสีสดใสฉูดฉาดจะดึงดูดสายตาได้ดีกว่าชุดสีเข้มแต่สีสดใสเหล่านั้นก็ไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นเสื้อผ้าของผู้นำ
3. เสื้อผ้าชุดทำงาน ผู้ชายควรเลือกเชิ้ตสีขาว ฟ้าอ่อน น้ำตาลอ่อน หรือลายทางสีอ่อน หากเกิดความลังเลว่าควรจะใช้สีใด ให้ยึดสีขาวไว้เป็นหลัก สีขาวเข้าได้กับทุกสี เสื้อเชิ้ตจะต้องสีอ่อนกว่าสูทถ้าเป็นหญิง เสื้อเบลาส์จะสีอ่อนหรือแก่กว่าสูทก็ได้


กฎเกณฑ์ของการใช้เส้นและสีสัน


1. สายตาจะกวาดมองตามเส้นสาย
2. สีอ่อนที่สุดในชุดเสื้อผ้าจะดึงดูดสายตาได้มากที่สุด
3. สีอ่อนจะโดดเด่นออกมา ภายนอกและขับวัตถุให้ขยายใหญ่ขึ้น ส่วนสีเข้มจะกระถดกลับเข้าข้างใน ทำให้วัตถุดูเล็กลง

อุปกรณ์ประกอบเสื้อผ้า

เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หากไม่มีเครื่องประกอบ ประดับตกแต่งเป็นขั้นสุดท้ายก่อนออกจากบ้าน เครื่องประกอบ เช่น ผ้าพันคอ จะช่วยให้ชุดทำงานของคุณโดดเด่นขึ้นมาผิดตา เกร็ดความรู้ต่อไปนี้ คงพอจะช่วยในการคัดเลือกเครื่องประกอบของเครื่องแต่งกาย
รองเท้า รองเท้าจะต้องสวมสบาย เพราะไหน ๆ คุณก็จะต้องสวมใส่ติดเท้าทั้งวัน เวลายามบ่ายเหมาะสมที่สุดในการเลือกหาซื้อรองเท้า เพราะเป็นช่วงที่เท้าบวมขยายใหญ่
รองเท้าที่จะใส่ไปทำงาน ควรมีอย่างน้อยสองคู่เพื่อใส่สับเปลี่ยนกัน จะช่วยยืดอายุรองเท้าให้ทนทาน อย่าเลือกรองเท้าล้ำยุคตามสมัยนิยม รองเท้าในโลกธุรกิจควรจะเป็นแบบเรียบ ๆ ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม รองเท้าสตรีควรเป็นแบบส้นเตี้ย
รองเท้าหนังจะทนทานและสวมสบายมากกว่าวัสดุชนิดอื่น สีของรองเท้าจะต้องรับกับสีของเครื่องแต่งกาย รองเท้าชายควรเป็นสีดำ สีน้ำตาล หรือสีหนังอ่อน ผู้หญิงสามารถเลือกสีรองเท้าได้กว้างยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำเงิน สีเบจ หรือสีน้ำตาลไหม้
รองเท้าจะต้องขัดจนเป็นเงาวับ ส้นจะต้องไม่สึกหรือเผยอ รองเท้าขมุกขมัวหรือส้นบิ่นจะแสดงถึงความไม่ใส่ใจ ในขณะที่เครื่องแต่งกายส่วนอื่นใหม่เอี่ยม
ถุงน่องถุงเท้า ถุงเท้าผู้ชายจะต้องเป็นสีเข้ม และสูงถึงกลางน่อง ถุงน่องและกางเกงถุงน่องสำหรับสตรีมีให้เลือกตั้งแต่โปร่งใสเรื่อยไปจนถึงสีทึบในชุดแต่งกายอนุรักษ์นิยมควรเลือกสีอ่อนที่เข้ากับ สีผิวเนื้อหากทางบริษัทไม่จำกัดสีของถุงน่อง ควรจะใช้สีดำ น้ำตาลเข้ม สีถ่าน หรือสีน้ำเงิน เก็บถุงน่องแฟนซีสีสันประหลาดไว้ในนอกเวลางาน
ในปัจจุบัน ราคาถุงน่องถูกลงมากแล้ว อย่าปล่อยให้มีรอยฉีกขาดหลุดลุ่ยปรากฏ ซื้อถุงน่องอีกคู่เก็บสำรองไว้ในลิ้นชักเผื่อเวลาฉุกเฉิน สตรีนักธุรกิจควรจะสวมถุงน่องตลอดทั้งปี เพราะสำนักงานส่วนใหญ่จะติดเครื่องปรับอากาศ คุณไม่จำเป็นต้องถอดถุงน่องเพื่อให้เย็นขึ้น
เข็มขัด เข็มขัดสำหรับผู้ชายควรจะทำด้วยหนัง สีของเข็มขัดจะต้องเข้ากับสีของรองเท้า ซึ่งก็หมายถึงว่าต้องกลมกลืนไปกับสีของเครื่องแต่งกาย
ผู้หญิงอาจจะถือว่าเข็มขัดเป็นเครื่องประดับตามสมัยนิยมอย่างหนึ่ง ถ้าเข็มขัดเข้ากับชุดแต่งกายเข็มขัดสตรีจะต้องทำด้วยหนังหรือเนื้อผ้าเดียวกับชุด หากคุณเป็นคนเอวสั้น ควรจะเลือกเข็มขัดหนังเส้นเล็กหรือเข็มขัดผ้าเนื้อเดียวกับชุด หากคุณเป็นคนเอวยาวก็พอจะใช้เข็มขัดเส้นโตได้ แต่อย่าปล่อยให้เข็มขัดข่มเครื่องแต่งกาย
เนคไทและผ้าพันคอ เนคไทเป็นองค์ประกอบสุดท้ายของเครื่องแต่งกายชายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ส่วนผ้าพันคอจะเพิ่มความชวนมองให้ชุดสวยของคุณผู้หญิงได้
ในชุดอนุรักษ์นิยม ควรจะเลือกเนคไทเส้นเล็ก สีเข้ม มีลวดลายเพียงเล็กน้อย ลวดลายและสีสันของเนคไทจะต้องเข้ากันกับเสื้อเชิ้ตและสูท อย่าปล่อยให้มีลวดลายสองแห่งบนเสื้อผ้า หากเสื้อเชิ้ตเป็นสีขาว สูทไม่มีลวดลาย คุณสามารถเลือกใช้เนคไทมีลายขีดขวางหรือมีลวดลายได้ หากเสื้อเชิ้ตหรือสูทมีลายทางยาว ควรเลือกใช้เนคไทสีเรียบ ไม่มีลวดลาย
กระเป๋าเอกสารและกระเป๋าถือ พอจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรแสดง "ความสำเร็จ" ให้เด่นชัดได้เท่ากับกระเป๋าเอกสารทำด้วยหนังมันขลับ กระเป๋าเอกสารหนังแสดงศักดิ์ศรีทั้ง ๆ ที่มีหน้าที่เพียงเป็นที่เก็บเอกสารกระเป๋าเอกสารมีหลายลักษณะ ตั้งทรงเหลี่ยม มีหูหิ้วเรื่อยไปจนถึงกระเป๋าหนีบมีฝาปิด หรือมีซิปรูดปิด
สตรีอาจจะเก็บกระเป๋าเล็ก ๆ ไว้ในกระเป๋าเอกสาร เพื่อหลีกเลี่ยงการถือกระเป๋าอีกใบ หากต้องการลงทุนซื้อกระเป๋าถือสักใบ ขอให้เลือกกระเป๋าหนังที่มีคุณภาพดีสักใบ อาจจะเป็นสีดำ สีแดงเข็ม น้ำตาลแก่ หรือสีหนังธรรมชาติ สีของกระเป๋าถืออาจจะเลือกให้เข้ากับสีรองเท้า แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในทุกกรณี
อัญมณี อัญมณีเป็นเครื่องตกแต่งที่จะช่วยแต้มสีสันแพรวพรายให้เครื่องแต่งกาย แต่กฎพื้นฐานสำหรับบุรุษ คือ ใช้อัญมณีให้น้อยที่สุด เช่น นาฬิกา กระดุมข้อมือ แหวนแต่งงาน นาฬิกานักธุรกิจมืออาชีพจะเป็นเรือนบาง สีเงินหรือทอง เรียบ ๆ ใช้สายหนังหรือสายโลหะ กระดุมข้อมือควรจะเรียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สตรีสามารถเลือกอัญมณีประดับเครื่องแต่งกายได้มากกว่า แต่กฎพื้นฐานก็ยังนำมาปรับใช้ด้วย วัตถุประสงค์ของการประดับอัญมณีคือ เน้นจุดเด่นให้เครื่องแต่งกาย มิใช่ข่มเครื่องแต่งกายต่างหูไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินเหรียญบาท นาฬิกาควรเป็นแบบคลาสสิค ไม่ควรสวมแหวนเต็มครบทุกนิ้ว เพียงหนึ่งหรือสองวงก็เพียงพอแล้ว คุณอาจต้องการสวมสายสร้อยหรือเข็มกลัดเพื่อเน้นเครื่องแต่งกาย แต่ก็ขอให้ยืดแบบคลาสสิค ซึ่งหมายถึงทอง เงินหรือไข่มุก สร้อยข้อมือตุ้งติ้งหรือกำไลข้อมือเต็มแขนไม่เหมาะสำหรับสตรีนักธุรกิจ เก็บเครื่องประดับนานาชนิดไว้สำหรับการชุมนุมสังสรรค์นอกเวลางาน

ข้อแนะนำในการแต่งกายของท่าน

  1. แต่งตัวให้สมกับบทบาทในตำแหน่งสายงาน แต่งตัวเพื่องานที่ทำ
  2. อย่าแต่งตัวให้ทันสมัยเกินไป ซื้อเครื่องแต่งกายวันนี้ เพื่อแนวโน้มแฟชั่นในอนาคต
  3. เลือกเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดี จะใช้ได้ร่วมสมัย เลือกอัญมณีและเครื่องแต่งตัวที่ไม่ล้าสมัย
  4. ส่องกระจกดูภาพลักษณ์ของตนเอง ทำอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง เริ่มงาน ตอนกลางวันและก่อนเลิกงาน
  5. การเลือกสี เสื้อผ้า กางเกง รองเท้าต้องเข้ากันได้ ขอคำแนะนำจากช่างตัดเสื้อผ้ามืออาชีพ
  6. ดูผู้อื่นเขาแต่งตัว
  7. ซักเสื้อผ้าให้สะอาด ขัดรองเท้าให้เป็นเงา เป็นเรื่องที่น่าประหลาดที่คนส่วนมากตัดสินผู้อื่นด้วยรูปแบบการแต่งกาย และการขัดรองเท้าเป็นเงา
  8. ซื้อหนังสือแนะนำการแต่งกาย และแฟชั่นมาดูบ้าง เช่น Successful style ของ Dorix Poosen หรือ Professional Development
  9. รักษาอนามัยส่วนตัว ท่านต้องสะอาดทั้งตัว ดูสะอาดตา กลิ่นสะอาด เรียกว่าสวยทั้งตัว
  10. สนใจ คำวิจารณ์ในเรื่องการแต่งกายของเรา ดูวัตถุประสงค์การให้ข้อมูลย้อนกลับจากเพื่อนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้
  11. ถ้านายหรือลูกค้านั่งรถของเรา ต้องแน่ใจว่ารถต้องสะอาด

 

มารยาทในการรับประทานอาหาร

การจัดงานเลี้ยง และการได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสต่าง ๆ นั้น เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ที่จะเป็นผู้นำในอนาคต เพราะในการติดต่อธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ผู้บริหารหรือผู้นำของธุรกิจนั้น ๆ จะต้องได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส งานเลี้ยงรับรองแสดงความยินดี งานเลี้ยงรับรองทูตานุทูต งานเลี้ยงรับรองเนื่องในโอกาสวันสำคัญของประเทศ ฯลฯ เป็นต้น ปัญหาที่พบในงานจัดเลี้ยงที่สำคัญเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นจากผู้ที่ไม่เคยเข้าสู่งานสังคม เช่น การใช้ภาชนะบนโต๊ะอาหารไม่เป็น การสั่งเครื่องดื่มไม่ถูกกับกาลเทศะ การนั่งประจำโต๊ะไม่ถูกต้องตามที่เจ้าภาพได้จัดไว้ให้ ดังนั้น ผู้นำจึงควรจะมีความรอบรู้เกี่ยวกับการจัดเลี้ยง (ในฐานะที่เราเป็นเจ้าภาพ) และมารยาทที่ดีในโอกาสที่ได้รับเชิญไปร่วมรับประทานอาหารเนื่องในโอกาสต่าง ๆ
การจัดงานเลี้ยง การจัดงานเลี้ยงเป็นการบริการอาหารและเครื่องดื่มรูปแบบหนึ่งที่จัดขึ้นตามภัตตาคาร หรือห้องอาหารภายในโรงแรมที่จัดให้บริการแก่ลูกค้าโดยเฉพาะ งานเลี้ยงอาจเป็นงานสังคมต่าง ๆ เช่น งานฉลองแต่งงาน งานปาร์ตี้ภายหลังการประชุมใหญ่ งานเลี้ยงวันเกิด ฉลองกิจการครบรอบปี งานเลี้ยงเนื่องในงานประชุมสัมมนา ประชาสัมพันธ์ เช่น งานแสดงสินค้าชนิดใหม่ เป็นต้น

ประเภทของการจัดเลี้ยง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. การจัดเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ต์ (Buffet)
มักใช้ในงานเลี้ยงต่าง ๆ เช่น งานสังสรรค์ งานมงคลสมรส หรืองานอื่น ๆ โดยจะจัดอาหารประเภทต่าง ๆ ตั้งไว้บนโต๊ะ แยกออกเป็นประเภท ๆ เช่น ข้าว ข้าวผัด แกงเผ็ด ผัดผัก ซุป อาหารประเภทยำ น้ำพริก ผัก ของหวาน ผลไม้ แล้วตกแต่งบนโต๊ะอย่างสวยงาม เพื่อให้แขกผู้รับเชิญได้ตักด้วยตัวเองได้โดยสะดวก อาจมีพ่อครัวประจำที่โต๊ะสำหรับตักอาหาร ตักอาหารเสิ์รฟบางชนิด หรือปรุงอาหารร้อน ๆ เป็นการแสดงให้แขกเห็นเพื่อโชว์ฝีมือในการปรุงอาหาร การเสิร์ฟอาหารบุฟเฟ่ต์ทางโรงแรมผู้จัด จะจัดให้มีพนักงาน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกทำหน้าที่ช่วยเหลือแขกเกี่ยวกับอาหาร จัดเพิ่มเติมอาหาร ดูแลอำนวยความสะดวกให้แขกที่โต๊ะ ส่วนอีกพวกหนึ่งคอยดูแลบริการเรื่องเครื่องดื่ม การไปงานเลี้ยงประเภทนี้ แขกผู้รับเชิญจะเป็นผู้บริหารด้วยตนเองในการตักอาหารที่ชอบ ดังนั้น ในบางครั้งเจ้าภาพจะประสบปัญหาเรื่องอาหารไม่พอกับผู้รับเชิญ หรือผู้รับเชิญที่มาช้า อาจจะไม่ได้รับประทานอาหารที่จัดไว้ให้ก็ได้ ผู้ที่ไปร่วมงานเลี้ยงรับรองประเภทนี้ จะต้องพึงระมัดระวังในกิริยามารยาท ดังต่อไปนี้
1.1 ควรรักษาเวลาให้ตรงกับเวลาที่นัดหมาย (ไม่ควรไปช้ากว่ากำหนดการเกิน 20 นาที) เพราะจะทำให้แขกคนอื่นต้องรอเรา
1.2 โรงแรมผู้จัดเลี้ยง จะเตรียมจานอาหารไว้ให้แขกตัวเองตามชอบ ดังนั้นไม่ควรตักอาหารมากเกินไปจนรับประทานไม่หมด หากเราตักอาหารน้อยไปไม่พอรับประทานก็ใช้จานใบเดิมไปตักอาหารเพิ่มได้อีก
1.3 เมื่อเจ้าภาพผู้จัดเลี้ยง กล่าวเชิญแขกผู้มีเกียรติร่วมรับประทานอาหาร จะต้องให้เกียรติแก่สุภาพสตรีเป็นผู้เริ่มรายการไปตักอาหารที่ได้เตรียมไว้ก่อนเป็นอันดับแรก
1.4 การตักอาหารให้ใช้จานที่จัดไว้ให้เพียงใบเดียว ตักอาหารหลายอย่างที่เตรียมไว้ให้โดยกะประมาณพอที่เราจะรับประทานเพียงคนเดียว (ยกเว้น ซุป แกงจืด หรืออาหารประเภทยำ ที่จะมีถ้วยซุปจัดเตรียมไว้ให้ต่างหาก) การตักอาหารโดยใช้จาน 1 ใบต่ออาหาร 1 อย่าง เพื่อการตัดเผื่อเพื่อนร่วมโต๊ะเดียวกันเป็นการผิดมารยาทอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะโรงแรมหรือภัตตาคารผู้จัดอาหารไว้บริการ จะคิดค่าบริการจากจำนวนจากที่หยิบไปใช้
1.5 อย่าตักอาหารสำหรับตัวเองมากเกินไปจนรับประทานไม่หมด เพราะจะต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ และแขกรับเชิญคนต่อ ๆ ไปจะมีอาหารไม่พอรับประทาน
1.6 ไม่ควรตักของหวาน หรือผลไม้ มาสำรองไว้ที่โต๊ะในขณะที่ผู้รับเชิญคนอื่นๆ ยังรอตักอาหารรับประทาน โดยมารยาทที่ดีแล้ว เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย จึงจะไปตักของหวานและผลไม้ แล้วต่อจากนั้นจะบริการตามด้วยน้ำชาหรือกาแฟ

2. การจัดเลี้ยงแบบค็อกเทล ( Cocktail )

เป็นงานเลี้ยงที่มีแต่เครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ ทั้งที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ พร้อมกับแกล้มเหล้า หรือของว่างประกอบบ้าง ผู้ที่ได้รับเชิญไปร่วมงาน จะไม่มีการจัดโต๊ะ เก้าอี้ไว้ให้นั่งประจำ (จะมีเพียงเก้าอี้จำนวนเล็กน้อยสำหรับผู้สูงอายุที่ยืนนาน ๆ ไม่ได้) วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้รับเชิญได้มีโอกาสสังสรรค์กัน พบปะพูดคุยกันในด้านธุรกิจ โดยมีวิธีการจัดดังนี้

1. จัดเตรียมบาร์พร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เหล้า เบียร์ชนิดต่าง ๆ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ สำหรับผสมให้แขก
2. เตรียมเครื่องแก้ว ถาดเสิร์ฟ และอุปกรณ์การเสิร์ฟ
3. จัดเตรียมโต๊ะสำหรับกับแกล้ม (Snack) ทั้งร้อนและเย็นสำหรับกับแกล้มชนิดร้อนควรมีหม้ออุ่น (Shating dish) เพื่ออุ่นอาหาร อาหารชนิดเย็น (Cocktail appetile) หรือ Snack ซึ่งทำจากขนมปังหั่นเป็นรูปต่าง ๆ แต่งด้วยอาหารชนิดต่าง ๆ อาจให้มีคนเดินเสิร์ฟให้แขกหรือจัดวางไว้บนโต๊ะ
4. เครื่องดื่มใช้เสิร์ฟมีหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มผสม หรือน้ำอัดลม น้ำผลไม้ นิยมจัดใส่ถาดรวมกันไปหลายชนิด เพื่อให้แขกเลือกได้ตามชอบใจหรือแขกอาจเดินมาหยิบที่บาร์ก็ได้
5. การตกแต่งห้องควรให้สวยงาม มีดอกไม้ประดับตามโต๊ะและมุมห้อง เพราะงานประเภทนี้ไม่มีโต๊ะให้นั่งรับประทานอาหาร แขกจะยืนดื่มและรับประทานกับแกล้มคุยกันรอบ ๆ ห้อง

3. การจัดงานเลี้ยง ( Lunch & Dinner )

การจัดเลี้ยงอาหารกลางวันหรืออาหารค่ำ อาหารจะเสิร์ฟเป็นชุด โดยมีพนักงานบริการให้บริการอย่างเป็นทางการมากกว่า การจัดเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ต์ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมและให้บริการดังต่อไปนี้
1. เตรียมโต๊ะอาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารให้ครบชุดตามรายการอาหารที่ตกลงกันไว้ มีผ้าเช็ดมือ จาน แก้ว ควรเป็นชุดที่เข้ากันสวยงาม
2. โต๊ะเตรียมการเสิร์ฟ ซึ่งอาจจัดนอกห้องรับประทานอาหาร ควรเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น จานกาแฟ ถ้วย จานของหวาน ซ้อน-ส้อม ซอสต่าง ๆ ที่เขี่ยบุหรี่ ถาดเสิร์ฟที่จะต้องใช้ เรียกว่า "Service Table"
3. ของใช้ที่จำเป็นบนโต๊ะอาหาร จะต้องวางเกลือ พริกไทย ที่เขี่ยบุหรี่ และรายการอาหารชุด (Menu)
4. หากมีไวน์เสิร์ฟระหว่างอาหาร ควรแช่ให้เย็นไว้ล่วงหน้า

มารยาทบนโต๊ะอาหาร

การไม่รู้จักมารยาทบนโต๊ะอาหาร จะเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางความก้าวหน้าในอาชีพการงานของผู้นำเป็นอย่างมาก เพราะผู้บริหารระดับผู้นำส่วนใหญ่จะต้องมีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมรับประทานอาหารกับเพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ การรับประทานอาหารไทยหรืออาหารจีนจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีอุปกรณ์เครื่องใช้ในการรับประทานอาหารอยู่เพียงไม่กี่ชิ้น เช่น ช้อน-ส้อม ตะเกียบ ช้อนกระเบื้องที่ใช้เป็นช้อนกลาง ฯลฯ เท่านั้น แต่ถ้าหากได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน หรืออาหารค่ำ ตามสไตล์ของชาวตะวันตก และมีผู้ร่วมโต๊ะเป็นแขกผู้มีเกียรติขาวต่างประเทศจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้มารยาทที่จำเป็นบนโต๊ะอาหาร การรู้จักใช้อุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ บนโต๊ะอาหาร เช่น รู้จักใช้ช้อน-ส้อม มีด-หั่นเนื้อ หั่นปลา ทาเนย การรู้จักใช้แก้วน้ำ-แก้วไวน์ แก้ววิสกี้ เป็นต้น

 

กฏพื้นฐาน 3 ข้อ ในการรับประทานอาหาร คือ
1. เรียบร้อย
2. ไร้เสียง
3. ไม่เกะกะกีดขวางผู้อื่น
แต่ในความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่มีนิสัยการรับประทานอาหารไม่ใคร่จะเรียบร้อย โดยไม่รู้ตัวใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร ไม่ถูกกาละเทศะ เช่น ใช้มีดป้อนเนื้อย่างเข้าปากแทนที่จะใช้ส้อม หยิบแก้วน้ำดื่มด้วยมือซ้าย (ทำให้ผู้อยู่ใกล้เคียงไม่มีแก้วน้ำดื่ม) หยิบช้อนผิด เอาช้อน สำหรับรับประทานของหวานมารับประทานซุป นำช้อนสำหรับทานซุปไปรับประทานไอศครีม เป็นต้น ทำให้เกิดการขบขัน และบั่นทอนเสน่ห์ให้ลดน้อยลงอย่างไม่น่าเชื่อ

 

อุปกรณ์ที่จัดไว้บนโต๊ะอาหาร ประกอบด้วย

1. เครื่องกระเบื้อง (Chinaware) เป็นภาชนะสำหรับเสิร์ฟอาหารจำพวกจาน ถ้วย ซึ่งทำจากกระเบื้องเคลือบ มีหลายขนาด และมีชื่อเรียกตามอาหารที่ใส่ดังนี้
จาน - จานใหญ่ จานเนื้อ (joint plate)
- จานปลา (fish plate)
- จานขนมปัง (side plate)
- จานหวาน (sweet plate)
- จานสลัด (salad plate)
ถ้วย - ถ้วยซุป (soup bowl)
- ถ้วยกาแฟและจานรอง (coffee cup and saucer)
- ถ้วยชาและจานรอง (Tea cup and saucer)

2. เครื่องเงิน (Silverware) เป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้ในการบริการที่ทำด้วยเงิน เหล็กปลอดสนิม หรือโลหะอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมีด ส้อม ช้อน ที่คีบประเภทต่าง ๆ
มีด - มีดใหญ่/มีดเนื้อ (table/dinner knife)
- มีดปลา (fish knife)
- มีดของหวาน (dessert knife)
- มีดปาดเนย (butter knife)
- มีดแล่หั่นเนื้อ (carving knife)
- มีตัดเค้ก (cake knife)
ส้อม - ส้อมใหญ่/ส้อมเนื้อ (table/joint fork)
- ส้อมปลา (fish fork)
- ส้อมหวาน (dessert fork)
- ส้อมเค้ก (cake fork)
- ส้อมเสิร์ฟ (serving fork)
- ส้อมช่วยแล่เนื้อ (carving fork)
- ส้อมจิ้มหอยทาก (snail/escargot fork)
- ส้อมหอยนางรม (oyster fork)
ช้อน - ช้อนคาว (table spoon)
- ช้อนซุป (soup spoon)
- ช้อนของหวาน (dessert spoon)
- ช้อนชา/กาแฟ (tea/coffee spoon)
- ช้อนตักซอส (sauce spoon)
- ช้อนเสิร์ฟ (serving spoon)
ที่คีบ - ที่คีบน้ำแข็ง (ice tong)
- ที่คีบน้ำตาลก้อน (sugar tong)
- ที่จับหอยทาก (snail tong)

3. เครื่องแก้ว (Glassware) ได้แก่ แก้วที่ใช้ในการเสิร์ฟเครื่องดื่มซึ่งมีรูปทรงหลายแบบ และใช้สำหรับเสิร์ฟเครื่องดื่มแต่ละชนิดโดยเฉพาะ รูปทรงของแก้วที่นิยมใช้ในห้องการมี 4 แบบ คือ
1. แก้วทรงกระบอก (Tumbler) เป็นแก้วที่มีรูปทรงต่าง ๆ อาจเว้าหรือโค้งก็ได้ ได้แก่ แก้วที่มีชื่อเฉพาะดังนี้ Short glass,Old fashioned glass,Hightall glass,Collins glass,Cooler
2. แก้วก้าน(Stem glass) เป็นแก้วที่มีก้านค่อนข้างสูง ชูตัวแก้วให้สง่า สวยงาม นิยมใช้เสิร์ฟเครื่องดื่มประเภทไวน์ และค็อกเทลบางชนิด ตัวอย่างแก้วก้าน ได้แก่ Cocktail glass,Sour glass, Margarita glass ,Champagne saucer
3. แก้วที่มีฐานรองรับ (Footed glass) เป็นแก้วที่มีตัวแก้วตั้งอยู่บนก้านสั้น ๆ และมีฐาน
รองรับ มีหลายชนิด เช่น Rocks glass ,Beer glass,Bndy snifter
4. แก้วที่มีหูจับ (Mug) เป็นแก้วที่มีลักษณะหนา หนัก และมีหูสำหรับจับโดยไม่ให้สัมผัส
ตัวแก้ว นิยมใช้เสิร์ฟเบียร์สดหรือเบียร์ขวด

การใช้เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร

เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร จะจัดไว้ให้เหมาะสมกับประเภทอาหารที่จะเสิร์ฟให้แก่แขกตามรายการอาหาร (Menu) ที่ตั้งไว้บนโต๊ะ โดยทั่วไปแล้ว เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจะจัดวางไว้ตามลำดับก่อนหลังของการใช้ เมื่อแขกผู้รับเชิญเข้านั่งประจำที่เรียบร้อยสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะต้องทำคือ
1) ให้นำผ้าปูกันเปื้อน (Napkin) วางปูไว้บนตัก
2) แก้วน้ำ แก้วไวน์ หรือแก้วเครื่องดื่มต่าง ๆ วางอยู่ด้านขวามือ
3) ส้อมที่อยู่ด้านนอกสุดของจานจัดไว้เพื่ออาหารจานแรก และอันที่อยู่ใกล้จานที่สุดสำหรับอาหารจานสุดท้าย
4) ช้อน-ส้อม สำหรับของหวาน - ผลไม้จะวางอยู่เหนือจากในแนวขวาง

การถือมีดและส้อม ควรจะจับบริเวณปลายด้าม อย่าจับให้นิ้วอยู่ชิดกับบริเวณปลายส้อมหรือใกล้ใบมีด การถือส้อมนั้นอาจจะทำได้ 2 ลักษณะ คนยุโรปรับประทานอาหารด้วยมือซ้าย และคว่ำปลายส้อมลง ส่วนคนอเมริกันนั้น หลังจากตัดอาหารออกชิ้นหนึ่งก็จะสลับส้อม มาที่มือขวาและหงายปลายส้อมขึ้น เพื่อตักอาหารรับประทาน ทั้ง 2 วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่ถ้าเลือกใช้วิธีแบบอเมริกันแล้ว อย่าลืมวางมีดลงบนจานหลังจากตัดชิ้นเนื้อแต่ละครั้ง ถ้าถนัดมือซ้ายก็ทำตามวิธีที่กล่าวมาเพียงแต่กลับซ้ายเป็นขวาเท่านั้นเอง
ในการพักมีดหรือส้อมทุกครั้ง จะต้องวางมีดหรือส้อมลงบนจานในด้านที่จัดวางไว้แต่แรก นั่นคือ ส้อมอยู่ด้านซ้าย และมีดอยู่ด้านขวา โดยให้ด้ามจับพักอยู่บนขอบจาน แต่อย่าให้ยื่นออกมามาก จำไว้ให้ดีว่าช้อนและส้อมของคุณจะต้องอยู่บนจาน…อย่าวางไว้บนโต๊ะอาหาร
อย่าทิ้งช้อนกาแฟไว้ในถ้วยกาแฟเป็นอันขาด หลังจากคนกาแฟค่อย ๆ ไร้สุ่มเสียงแล้ว ยกช้อนออกมาวางไว้บนจานรองถ้วยกาแฟขวาเสมอ
ในการรับประทานซุปด้วยช้อน ให้ตักออกจากตัว เพื่อกันไม่ให้น้ำซุปกระเด็นใสเนคไทหรือเสื้อและเพื่อกันไม่ให้น้ำซุปหกเรี่ยราด หรือเกิดเสียงดังเวลาซดน้ำซุปจากช้อน ควรจะตักน้ำซุปไม่ให้ปริ่มขอบช้อนและไม่ควรดูดช้อนทั้งอันเข้าไปในปากทั้งหมด ในการขอดน้ำซุปจากก้นถ้วย ให้เอียงถ้วยซุปออกจากตัวอย่างเอียงเข้าหาตัว บางครั้งซุปจะถูกเสิร์ฟในถ้วยหู หลังจากใช้ช้อนตักรับประทานหนึ่งหรือสองช้อน ยกถ้วยซุปขึ้นดื่มได้เลย
การรับประทานอาหารบางอย่าง ด้วยมือ อาหารบางอย่างอาจจะใช้มีดและส้อมลำบาก ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำบางประการในการใช้มือรับประทานอาหารบางอย่าง แต่เมื่อถึงเวลาจริง ๆ แล้ว จำเป็นต้องใช้สามัญสำนึกเข้าช่วยตัดสินใจเอาเอง


หน่อไม้ฝรั่งหรือแอสปารากัส รับประทานโดยใช้มือหยิบใช้ช้อนกับส้อมก็ได้ ถ้าราดซอสมาค่อนข้างมาก ใช้มีดและส้อมดูจะเหมาะกว่า
เบคอน ปกติแล้วควรรับประทานด้วยส้อม แต่ถ้าทอดจนกรอบมาก ๆ ซึ่งจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ถ้าใช้ส้อมจิ้มก็ให้ใช้มือหยิบได้
ขนมปัง ควรใช้มือบิขนมปังเป็นชิ้นขนาดพอดีคำก่อนเสมอ เวลาป้ายเนยบนขนมปังให้ป้ายที่จานใส่เนย และควรป้ายทีละชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น อย่าป้ายทีเดียวทั้งแผ่น ถ้าเนยเสิร์ฟมาในจานรวม ให้ใช้มือตัดเนยแบ่งเนยมาไว้ในจานเนยของคุณเอง หรือบนจานอาหารถ้าไม่มีจานเนยจัดไว้ให้
ไก่ ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอด ไก่อบ ไก่ย่าง หรือบาร์บีคิว รับประทานด้วยมือเฉพาะงานเลี้ยงสังสรรค์แบบเป็นกันเองเท่านั้น ในโต๊ะอาหารเป็นทางการ การรับประทานไก่ ไก่งวง หรือสัตว์ปีกอื่นๆ ให้รับประทานด้วยมีดและส้อมเท่านั้น
ข้าวโพดทั้งฝัก ให้รับประทานด้วยมือ คุณอาจจะหักฝักข้าวโพดออกเป็นสองท่อนก่อน หรือรับประทานทั้งฝักเลยก็ได้ บางแห่งอาจจะมีไม้เสียบมาให้อยู่แล้วเพื่อให้จับได้สะดวกขึ้น ควรจะทาเนยและโรยเกลือลงทีละแถวสองแถว อย่าทาเนยทั้งฝักในคราวเดียว
มันฝรั่งทอด (เฟรนช์ฟราย) ถ้าเสิร์ฟมากับแฮมเบอร์เกอร์ ฮอทดอก หรือแซนด์วิช ให้ใช้มือหยิบรับประทาน แต่นอกจากนั้นแล้วให้ใช้มีดและส้อม
ผลไม้ ใช้มือหรือมีดและส้อมก็ได้ แล้วแต่ชนิดของผลไม้และโอกาส การรับประทานแอปเปิลและแพร์ ปกติให้ใช้มีดตัดผลออกเป็นสี่ส่วนก่อน หลังจากนั้นรับประทานแต่ละส่วนโดยจะใช้มือหยิบหรือใช้ส้อมและมีดปอกผลไม้ก็ได้
แตง เช่น แคนตาลูป หรือแตงฮันนี่ดิว อาจรับประทานโดยใช้ช้อนหรือมีดกับส้อมก็ได้ แตงโมอาจจะใช้มือรับประทานก็ได้ บางตำราแนะนำว่าควรจะใช้มีดและส้อม การรับประทานควรจะกินทั้งเนื้อและเมล็ดเข้าไปพร้อมกันและคายเมล็ดออกบนฝ่ามือก่อนที่จะทิ้งลงบนจาน ส่วนอีกตำราแย้งว่า ควรจะใช้ส้อมเขี่ยเมล็ดออกก่อนที่จะใช้มีดตัดเป็นคำ ๆ เข้าปาก
กุ้งก้ามกราม อาจจะใช้มือหรือมีดกับส้อมรับประทานก็ได้ ขั้นแรกให้ใช้มือหักก้ามออกก่อน หงายตัวและเปลือกขึ้น แคะเนื้อออกด้วยส้อมกุ้ง (ถ้ามี) ถ้าเนื้อกุ้งใหญ่เกินไปก็ใช้มีดตัดให้เป็นชิ้นเล็กก่อนที่จะจิ้มน้ำซอส
กุ้งเล็ก ถ้าเสิร์ฟเป็นอาหารจานแรก เช่น กุ้งค็อกเทล ตามปกติจะเสิร์ฟพร้อมกับส้อมค็อกเทล ถ้าตัวกุ้งขนาดใหญ่เกินคำ ให้ใช้ปลายส้อมค่อยๆ ตัดออกเป็นชิ้นขนาดเล็กลง
สปาเกตตี ให้ใช้ปลายส้อมพันเส้นสปาเกตตีเป็นขด ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ช้อนช่วย แต่คุณอาจจะใช้ส่วนโค้งของขอบจานช่วยไม่ให้เส้นไหลลื่นออกจากปลายส้อม อย่าให้ปากดูดเส้นเข้าปาก
แซนด์วิช ปกติเราจะรับประทานแซนด์วิชด้วยมือ มีข้อยกเว้นอย่างเดียวเท่านั้น คือ แซนด์วิชหน้าเดียวที่ราดด้วยน้ำเกรวี่

สรุปข้อควรจำเกี่ยวกับมารยาทบนโต๊ะอาหาร

1. ผ้าเช็ดปากให้วางบนตักเท่านั้น อย่าเอาชายเข้าไปในขอบเสื้อหรือประโปรงหรือเหน็บไว้ใต้คาง ทันทีที่นั่งลงเรียบร้อยแล้วให้วางผ้าเช็ดปากลงบนตัก และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ให้วางผ้าเช็ดปากลงบนด้านซ้ายของจาน โดยไม่ต้องพับผ้า
2. ใช้เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารตามลำดับที่จัดวางบนโต๊ะ เริ่มจากชิ้นที่อยู่นอกสุด ไล่เข้ามาด้านในใช้มือซ้ายจับส้อมและมือขวาจับมีดและช้อน ถ้ามีจานเนย จะวางขวางอยู่บนจานเนย จานเนยและจานสลัดจะอยู่ด้านซ้ายเสมอ
3. เมื่อมีการพักระหว่างการรับประทานอาหาร วางเครื่องใช้บนจาน อย่าวางด้านจับอยู่บนโต๊ะและปลายอยู่บนจาน
4. อย่าใช้นิ้วหรือมีดดันอาหารเข้ากับส้อม
5. ตักอาหารขึ้นใส่ปาก อย่าก้มหัวลงไปหาจาน พยายามนั่งให้หลังตรง ศีรษะตั้งตรงแม้ในขณะรับประทาน
6. อย่าอ้าปากเคี้ยวอาหาร หรือพูดในขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก
7. อย่าเท้าศอกบนโต๊ะอาหาร วางมือซ้าย (หรือมือขวา ถ้าถนัดซ้าย) ไว้บนตักในระหว่างการรับประทานอาหาร ควรจะหนีบข้อศอกทั้งสองข้างให้ชิดลำตัวเสมอ
8. รอให้อาหารเย็นลง อย่าใช้วิธีเป่าด้วยปากเป็นอันขาด เป็นมารยาทที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง 9. ให้วางช้อนส้อมที่ใช้แล้วบนจานหรือจานรองเท่านั้น อย่าวางไว้บนโต๊ะ และอย่าพยายามทำความสะอาดจานหรือช้อนส้อม ในภัตตาคารคุณสามารถขอช้อนหรือส้อมอันใหม่ได้ตลอดเวลา
10. การรับประทานน้ำซุป ถ้าเสิร์ฟมาในถ้วยหู ไม่ว่าหนึ่งข้างหรือสองข้าง ให้ดื่มจากถ้วยได้อาจจะจิบน้ำซุปหรือกาแฟจากช้อนก่อน แต่หลังจากนั้นให้ดื่มจากถ้วย ถ้าเป็นซุปที่ใส่ผักหรือเส้นมาด้วยให้ใช้ช้อนช่วยตักได้ เมื่อไม่ใช้แล้วให้ยกช้อนออกจากถ้วยและวางไว้บนจานรองถ้วยเสมอ
11. เมื่อรับประทานเสร็จแล้วให้วางมีดและส้อมบนจานในลักษณะที่จะไม่เลื่อนหลุดออกจากจานเมื่อเก็บจาน ส้อมควรจะวางไว้ด้านซ้ายของมีดและด้ายคมของมีดควรจะหันเข้าด้านในเสมอ อาจจะรวบมีดและส้อมวางไว้ตามแนวของตรงกลางจานหรือวางค่อนไปทางขวาก็ได้
12. ถ้าอาหารมีน้ำซอสหรือน้ำเกรวี่ ให้ราดลงบนอาหารได้เลย แต่ถ้าเป็นเยลลี่หรือเครื่องเคียงอย่างอื่น ให้ตักวางใช้ป้ายเนยทีละชิ้นหรือทีละคำ
13. ถ้าไม่มีพนักงานเสิร์ฟอาหาร การส่งผ่านอาหาร ให้ส่งผ่านทางขวามือไปรอบโต๊ะ
14. ขนมปังแผ่น ขนมปังก้อน และมัฟฟิน ก่อนรับประทานให้บิออกเป็นสองชิ้นหรือเล็กกว่านั้นเวลารับประทานใช้ป้ายเนยทีละชิ้นหรือทีละคำ
15. อย่าถ่มอะไรออกจากปาก แม้จะเป็นกระดูกที่เคี้ยวไม่ได้ ให้ใช้ลิ้นของคุณดุนออกมาที่ส้อมช้อนแล้วค่อนทิ้งลงบนจาน ถ้าคุณรับประทานผลไม้เช่น มะละกอ แตงโมง ให้ใช้นิ้วหยิบเม็ดและวางไว้บนจานได้
16. ไม่ว่ากรณีใด ๆ ห้ามทำความสะอาดฟันบนโต๊ะอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไม้จิ้มฟันหรือนิ้วถ้าจำเป็นให้ขอตัวไปห้องน้ำ เพื่อจัดการกับเศษอาหาร
17. ถ้ามีน้ำล้างมือใส่ถ้วยมาให้ ให้จุ่มปลายนิ้วลงไปในน้ำ เสร็จแล้วจึงเช็ดมือกับขอบผ้าเช็ดปาก มือและผ้าเช็ดปากต้องอยู่ต่ำกว่าของโต๊ะ
18. เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ อย่าเลื่อนจานออกจากตัว และอย่าเลื่อนเก้าอี้ออกจากโต๊ะ
มารยาทในที่ทำงาน พฤติกรรมประจำวันที่บุคคลแสดงออกในที่ทำงานจะเป็นเครื่องบ่งชี้ทักษะในการเข้าสมาคม ข้อแนะนำต่อไปนี้พอจะใช้เป็นแนวทางได้ดังนี้
1. อย่านำปัญหาส่วนตัวมาเล่าให้ที่ทำงานไม่มีใครอยากรับฟัง การโอดคราญความทุกข์ยาก ส่วนตัวจะทำให้เสียภาพพจน์ของมืออาชีพ
2. ควรแนะนำญาติและเพื่อนฝูงไม่ให้แวะมาเยี่ยมเยียนที่ทำงาน เพราะที่ทำงานเป็นสถานประกอบกิจการงาน หรือธุรกิจ มิได้จัดไว้เป็นสถานที่ชุมนุมทางสังคม
3. ท่าทางที่ดูงาม ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะท่ายืน นั่ง หรือเดินหลังตรง อย่ายกเท้าพาดโต๊ะ นอกจากจะเสียภาพพจน์ของคนทำงานยังแสดงให้เห็นว่า ไม่สนใจรักษาทรัพย์สินของหน่วยงานและไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน
4. อย่าเคี้ยวหมากฝรั่งในเวลางาน การเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นภาพที่ทำความรำคาญให้แก่ผู้อื่น ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่งในการประชุม ในวงสังคมธุรกิจไม่ยอมรับการเคี้ยวหมากฝรั่ง
5. การสูบบุหรี่ ขึ้นกับนโยบายของบริษัท แม้บางบริษัทจะอนุญาตให้พนักงานสูบบุหรี่ในเขตบริษัทได้ แต่เพื่อนร่วมงานที่ไม่สูบบุหรี่จะรำคาญมาก ในบางแห่งมีการจัดที่ทำงานของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่แยกจากกัน อย่าถือวิสาสะจุดบุหรี่สูบ เว้นแต่จะมีที่เขี่ยบุหรี่จัดวางไว้แล้ว หากคุณไปที่ทำงานของผู้อื่น ขออนุญาตก่อนจุดบุหรี่
ในสถานที่ทำงาน บุคลิกภาพของคนทำงานจะปรากฏต่อตาของทุกคนที่ได้พบเห็น มารยาทงามจะเป็นปัจจัยที่จะหนุนให้บุคคลก้าวหน้า และรุดหน้าขึ้นไปยังตำแหน่งที่คุณตั้งเป้าหมายเอาไว้

สมบัติของผู้ดี
ผู้ดีย่อมรักษาความเรียบร้อย
กายจริยาคือ
1. ย่อมไม่ใช้กริยาอันข้ามกายบุคคลอื่น
2. ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง
3. ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานะเพื่อน
4. ย่อมไม่เสียดสีกระทบกระทั่งกายบุคคล
5. ย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนคนหรือสิ่งของแตกเสีย
6. ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่นด้วยกริยาอันเสือกใสผลักโยน
7. ย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่นเมื่อเขาคุยอยู่เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป
8. ย่อมไม่เอ็ดอึงเมื่อเวลาผู้อื่นทำกิจ
9. ย่อมไม่อื้ออึงในเวลาประชุมสดับตรับฟัง
10. ย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตังหรือพูดจาอึกทึกในบ้านแขก
วจีจริยาคือ
1. ย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด
2. ย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน
3. ย่อมไม่ใช้เสียงตวาดหรือพูดจา กระโชก กระชาก
4. ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน
5. ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย
มโนจริยาคือ
1. ย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งยโส
2. ย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกริยา