มหัศจรรย์สมอง

มหัศจรรย์สมอง 2 ซีก

วิทยาศาสตร์พยายามที่จะไขปริศนาของสมองมานานหลายทศวรรษ นักเคมีและนักชีววิทยาต่างทุ่มเทความพยายามในการศึกษาการทำงานของสมอง แม้แต่นักคณิตศาสตร์ก็ยังพยายามใช้ความรู้ทางด้านตรรกของตัวเลข จำลองการทำงานของสมองที่สลับซับซ้อนออกมาเป็นแบบจำลอง โดยหวังว่าจะสามารถทำความเข้าใจความมหัศจรรย์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายนี้ได้ “ใกล้หมอ” พาคุณไปท่องอาณาจักรของสมอง ทางแห่งหุบเขาวงกตที่ซับซ้อนเกินกว่าความสามารถของตัวมันเองจะเข้าใจได้

จากความทุ่มเทที่ให้ไป ทำให้เราทราบว่าสมองของมนุษย์แยกออกเป็น 2 ส่วน ทำหน้าที่ต่างกัน และมีศักยภาพสูงมากกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้ ผู้ที่ไขปริศนานี้ คือนักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล โรเจอร์ สเปอร์รีย์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย และโรเบิร์ต ออร์นสไตน์ ไขปริศนาการทำงานของสมองได้เป็นผลสำเร็จ พวกเขาค้นพบว่าสมองทำงานผ่านคลื่นสมองและสมองทั้งสองซีกทำงานประสานกัน อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยเครือข่ายที่สลับซับซ้อนที่เรียกว่า คอร์ปัส คอลโลซัม

สมองซีกซ้ายควบคุมความเป็นเหตุเป็นผล การเรียนรู้ด้านภาษา ตัวเลข วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การคิด การวิเคราะห์ ฯลฯ ซึ่งอาจจะรวมได้ว่าเป็นเรื่องของวิชาการ ในขณะที่สมองซีกขวาเป็นศิลปินจินตนาการ ฝันกลางวัน มองภาพตามมิติต่างๆ ฯลฯ
แต่สมองทั้งสองซีกก็ทำงานสัมพันธ์กันอย่างยอดเยี่ยมคนที่มีแต่วิชาการ แต่ไม่มีจินตนาการ การทำความเข้าใจวิชาการต่างๆ นั้นย่อมไม่สามารถทำได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับคนที่มีแต่จินตนาการ แต่ไม่มีหลักตรรกะจินตนาการนั้นย่อมฟุ้งเฟ้อจนจับต้องไม่ได้

เมื่อเราเริ่มทำความเข้าใจกับสมองของเรามากขึ้น ทำให้เราทราบว่าแม้ว่าเราใส่โปรแกรมการพัฒนาสมองด้านใดด้านหนึ่งลงไป สิ่งที่เกิดขึ้น คือการพัฒนาของสมองอีกด้านตามไปด้วย ศาสตราจารย์ซาอีเดล ผู้ค้นพบความมหัศจรรย์ ให้ความเห็นว่าสมองทั้งสองซีกมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก และดูเหมือนว่าสมองแต่ละซีกจะมีความสามารถของสมองอีกซีกหนึ่งอยู่มากกว่าที่เคยคาดหมายกันไว้ และประสิทธิภาพของสมองก็อาจกว้างไกลกว่าที่ใครๆ จะคาดคิด

หากลองย้อนกลับไปยังกลุ่มคนอัจฉริยะ ผู้มีความสามารถโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อสันนิษฐานที่ดูเหมือน มีความขัดแย้งกันเองอยู่มากนี้ อาจทำให้เราเข้าใจมากขึ้น

บุคคลผู้หนึ่งซึ่งโดดเด่นในฐานะอัจฉริยะผู้มีมันสมองเป็นเลิศ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้ที่เป็นนักคิดและนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งดูเหมือนว่าความเป็นอัจฉริยะของเขา จะมาจากสมองซีกซ้าย เพราะเป็นซีกแห่งวิชาการ ในขณะที่ พลาโบ ปิกาสโซ่ ศิลปินชาวสเปนผู้ยิ่งใหญ่ ก็ควรที่จะใช้ความสามารถจากสมองซีกขวา

แต่เมื่อมองย้อนกลับไปถึงอดีตที่หล่อหลอมความเป็นเลิศของไอน์สไตน์ เราพบว่าประวัติการเรียนของเขาแย่มากในวิชาภาษาฝรั่งเศสแต่เขากลับชอบไวโอลิน ศิลปะ การแล่นเรือและการเล่นเกมที่ต้องใช้จินตนาการสูง สิ่งเหล่านี้อาจเกี่ยวเนื่องกับความเป็นอัจฉริยะของเขา หรือเกมจินตนาการนั่นเองที่เป็นที่มาของความรู้ความความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง หรือศิลปะนั้นเองที่ทำให้ไอน์สไตน์เข้าใจหลักตรรกะแห่งเคมี และฟิสิกส์ หรือความฝันเฟื่องในวันแดดจัดกลางฤดูร้อนว่าเขาสามารถเหาะเหินเดินอากาศ ขี่แสงอาทิตย์ไปไกลจนถึงสุดขอบจักรวาลและเมื่อพบว่าตัวเองกลับตกลงมาสู่พื้นผิวของดวงอาทิตย์ เป็นความไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง นั่นเองที่ทำให้เขาเข้าใจได้ว่า จักรวาลจะต้องมีรูปทรงโค้ง และอาจเป็นสาเหตุให้เขาฝึกฝนหลักตรรกศาสตร์ เพื่อหาคำตอบของคำถามมากมายในหัว ตามธรรมชาติของคนช่างจินตนาการ เขาค้นพบความมหัศจรรย์ของตัวเลขและสมการต่างๆ ที่ซ่อนเอาความลี้ลับน่าค้นหา และเขาอาจตื่นเต้นดีใจเหมือนเด็กๆ ทุกครั้งที่เขาถอดสมการที่ยากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายเขาได้ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพอันโด่งดัง นั่นย่อมเป็นผลของการทำงานที่ผสานกันอย่างดีระหว่างสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา ความเป็นอัจฉริยะนั้น อาจไม่ได้อยู่ที่การทำงานของสมองซีกใดซีกหนึ่งโดดเด่น หากแต่เป็นการผสมผสานความเป็นเลิศของสมองทั้งสองเข้าด้วยกันจนสามารถเสริมส่งกันได้อย่างดีเยี่ยม

ในทางกลับกันศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันยอดเยี่ยมจนกลายเป็นสมบัติของโลก กลับเป็นผู้เคร่งครัดต่อทฤษฎีการผสมผสานของสีต่างๆ ศิลปินอย่าง ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ กลับมีความสามารถโดดเด่นทั้งในเรื่องของศิลปะ กลศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ ฟิสิกส์ การประดิษฐ์ อุตินิยมวิทยา ธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์และวิชาการเงินเขาประสานความสามารถหลากหลายที่อยู่ในตัวเขาเข้าด้วยกัน แทนที่จะแยกออกเป็นส่วน นั่นทำให้เราเห็นว่าหากสามารถประสานการทำงานของสมองสองส่วนเข้าด้วยกัน ย่อมสามารถสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ ได้อย่างแน่นอน

สมองของอัจฉริยะ

คุณเคยสงสัยไหมว่าในสมองของไอน์สไตน์ มีอะไรแตกต่างจากสมองของคุณ

เป็นคำถามที่หลายคนต้องการค้นคว้าหาคำตอบ สมองของอัจฉริยะมีอะไรแปลกแตกต่างกับสมองของบุคคลทั่วไป และนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยรั้งรอที่จะหาคำตอบ แม้แต่ตัวไอน์สไตน์เอง วิญญาณแห่งวิทยาศาสตร์ในร่างกายของเขายังทำให้เขาเขียนบันทึกไว้ว่า เขาหวังว่าจะมีใครบางคนนำสมองของเขาไปศึกษาหลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว ปริศนาสมองของไอน์สไตน์อาจไขคำตอบของความอัจฉริยะได้ และเราอาจสามารถสร้างอัจฉริยะเช่นเขาได้หากได้คำตอบนั้นมา

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแม็กมาสเตอร์ เมืองออนตาริโอ ประเทศแคนาดา เป็นกลุ่มคนผู้โชคดี ได้เห็นสมองอัจฉริยะของไอน์สไตน์ด้วยตัวเอง และพวกเขาได้รายงานผลการค้นพบที่น่า ตื่นเต้นไว้ในวารสารทางการแพทย์ชื่อ เดอะแลนเซ็ท โดยเป็นการศึกษาเปรียบเทียบสมอง ของคนฉลาด ตามปกติทั่วไป จำนวน 91 ราย ในจำนวน นี้เป็นชาย 35 ราย หญิง 56 ราย นำมาเปรียบเทียบกับสมองของไอน์ไสตน์ พบว่า บริเวณส่วนล่างของสมองด้านข้างที่เรียกว่า อินเฟอร์ริเออร์ พาเรียลทอล รีเจียน ของไอน์สไตน์มีขนาดใหญ่กว่าของคนปกติถึงร้อยละ 15 สมองบริเวณดังกล่าวอยู่ระดับเดียวกับหูและสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ในการหาเหตุหาผล ทางคณิตศาสตร์นั่นอาจเป็นการไขปริศนาสมองของไอน์สไตน์...แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

สิ่งผิดปกติอีกสิ่งหนึ่งที่พบในสมองของไอน์สไตน์คือ ร่องสมองของไอน์สไตน์หายไปบางส่วน ร่องสมองที่ต่อจากส่วนหลังไปยังส่วนหลัง ของของไอน์สไตน์ไม่มี ซึ่งในสมองของคนปกติจะมีร่องสมองที่ต่อโยงเชื่อมจากส่วนหน้าไปส่วนหลัง และนี่เองอาจเป็นกุญแจสำคัญแท้จริง ที่ทำให้เขาเป็น อัจฉริยะ เพราะเส้นประสาทของไอน์สไตน์สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ง่ายกว่าคนธรรมดาโดยไม่ต้องผ่านร่องสมองนี้ ทำให้การทำงานประสานกันของสมองสองส่วนเป็นไปได้ดีมากยิ่งขึ้น

นั่นหมายความว่า พื้นฐานความฉลาดนั้นมาจากสมอง ที่กำเนิดติดตัวมาโดยธรรมชาติ แต่ก็แน่นอนว่าการศึกษาและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัย ที่ทำให้สมองได้พัฒนา และเป็นโอกาสให้สมองได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างแท้จริง

แม้ว่าปริศนาสมองของไอน์สไตน์จะถูกค้นพบหลังจากเขาเสียชีวิตไปนานหลายปี แต่ก็สามารถไขความลับบางอย่างของการทำงานของสมอง อัจฉริยะท่านนี้จึงไม่เพียงทำคุณูปการให้กับมวลหมู่มนุษย์ขณะที่ยังมีชีวิตเท่านั้น แม้ตายแล้วสมองของเขาก็ยังเป็นสมบัติอันมีค่าและสร้างปัญญาความรู้ได้อีก

สมองกับความจำ

หน้าที่สำคัญอันหนึ่งของสมองคือความทรงจำ ความทรงจำทำให้เราเป็นปัจเจกบุคคล และทำให้เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้น พวกสัตว์โคลนนิ่ง ที่หลายนั้น อาจมีหน้าตาเนื้อตัวเหมือนเราทุกกระเบียดนิ้ว แต่สิ่งหนึ่งที่สัตว์โคลนนิ่งไม่มีคือความทรงจำ

การทำงานของสมองนั้นสลับซับซ้อนมากที่สุด แม้แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ศักยภาพสูงสุดที่มนุษย์ประดิษฐ์ได้ยังไม่เท่าเทียมการทำงานของสมอง หรือบางทีหากคิดกลับไปว่า “สมอง” นั่นเองคือ คอมพิวเตอร์อัจฉริยะที่ซับซ้อนที่สุดในเวลานี้ เราพยายามทำความเข้าใจสมองมากขึ้น แต่ก็ทำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะนี้มีความพยายามศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างชีววิทยากับศาสตร์อื่นไม่ว่าจะเป็นชีวนาโนเทคโนโลยี ชีวกลศาสตร์ที่พยายามใช้ความเข้าใจในศาสตร์ 2 ประการ ทำความเข้าใจการทำงานของสมอง อย่างไรก็ตามคาดหมายว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งทศวรรษจึงจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น

มนุษย์เข้าใจเรื่องการบันทึกภาพลงบนแผ่นฟิล์ม หรือบันทึกเสียงลงบนแถบแม่เหล็กมานานแล้ว แต่การบันทึกความจำของสมองเป็นไปด้วยกลวิธีเช่นไร ยังไม่มีใครสามารถไขปริศนานี้ได้ เราทราบเพียงว่าประสาทรับรู้ต่างๆ เป็นผู้นำสัญญาณจากประสาทสัมผัสไปสู่สมองกระบวนการดังกล่าวเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ สมองมีความสามารถในการเข้ารหัส ความทรงจำต่างๆ โดยการสร้างทางเชื่อมระหว่างเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์เข้าด้วยกัน เมื่อได้ระบบการเชื่อมต่อของความทรงจำ แต่ละความทรงจำแล้ว จะเก็บไว้เป็น หมวดหมู่เรียกว่า เอ็นแกรม เอ็นแกรมนี้จะถูกนำไปเก็บไว้ตามกลีบสมอง เมื่อมีการกระตุ้นที่เหมาะสมก็เหมือนกับการไขรหัสเข้าสู่ความทรงจำนั้นๆ คนๆ นั้นก็จะระลึกได้ว่าเคยผ่านประสบการณ์เช่นนั้นมา

กระบวนการจำนั้นเรียกได้ว่ามีความซับซ้อนแล้ว แต่กระบวนการระลึก หรือการนำเอ็นแกรมกลับมายิ่งมีความซับซ้อนมากกว่า เราไม่สามารถรู้ได้ว่า การกระตุ้นที่เหมาะสมนั้นคืออะไร และสมองทำอย่างไรเพื่อนำความทรงจำจำนวนมากมากลับคืนมา และทำไมบางครั้งสมองก็ไม่สามารถหาเอ็นแกรมนั้นเจอ นั้นทำให้คนบางคนลืมความทรงจำบางช่วงของชีวิตไปได้เลยทีเดียว แต่บางครั้งการกระตุ้นด้วยการสะกดจิต กลับพาเขาเข้าไปยังสถานที่อันลึกลับ ในบางส่วนของสมองที่ตามปกติแล้วเขาไม่สามารถหาทางต่อเชื่อมนั้นเจอ

พัฒนาการของสมอง

คุณทราบหรือไม่ว่าสมองมีการพัฒนาการอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่เราอยู่ในท้องแม่ โดยทุก ๆ นาที ที่เราอยู่ในครรภ์มารดาจะมีการ เพิ่มขึ้น ของเซลล์ระบบประสาทสมองถึง 200,000-300,000 เซลล์ จนเมื่อเราคลอดออกมา จะมีเซลล์สมองแทบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับในวัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดีสมองยังคงมีการเติบโตได้อีกมากในช่วงแรกของชีวิต ประมาณกันว่าเมื่อเราอายุได้ 2-3 ขวบ สมองของเราจะมีขนาดประมาณ 80% ของผู้ใหญ่ แต่ในช่วงหลังจากนี้แม้ว่าสมองอาจจะมีการเติบโตได้อีก แต่ส่วนของสมองที่โตขึ้นนั้นหาใช่เซลล์ประสาทเป็นส่วนใหญ่ไม่ แต่กลับเป็น เนื้อเยื้อเกี่ยวพันที่เราเรียกกันว่า Glial cells ที่จะทำหน้าที่คล้ายๆ กับโครงข่ายของเซลล์สมอง ซึ่งจะมีการแบ่งตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราโตเต็มวัย (ประมาณกันว่าถึงอายุ 3 ขวบ)

สมองจะมีการเพิ่มจำนวนของเซลล์สมองเก็บเต็มที่ประมาณ “หนึ่งร้อยพันล้านเซลล์” โดยสมองจะมีน้ำหนักประมาณ 1 กก. (ในขณะที่เมื่อเราโตเต็มวัยสมองจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเพียงประมาณ 500 กรัม)

จะเห็นได้ว่าเมื่อเราอายุได้เพียง 3 ขวบ เซลล์สมองก็มีการแบ่งตัวเพิ่มจนเกือบเต็มที่แล้ว หลังจากนี้จะมีเซลล์สมองเกิดขึ้นมา เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่ แสดงว่าหลังจากเริ่มเข้าโรงเรียน สมองของเราก็เริ่มเข้าสู่ช่วงถดถอยอย่างช้าๆ และเริ่มเสื่อมเร็วขึ้นเมื่อเราพ้นวัยหนุ่มสาวไปแล้ว โดยหลังจากผ่านช่วงนี้ไปแล้วจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองขึ้นมาทดแทนใหม่อีก ดังนั้นหากมีการตายของเซลล์สมองไปมากเท่าไร (เช่น อุบัติเหตุที่ทำให้สมองกระทบกระเทือนรุนแรง) สมองของเราก็จะสูญเสียความสามารถในการทำงานไปมากเท่านั้น แม้ว่าร่างกายอาจมีการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้ แต่เซลล์สมองจริงๆ กลับไม่สามารถทดแทนได้

เติมพลังสมองด้วยสารอาหาร

สารอาหารที่ครบถ้วนทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ มีส่วนบำรุงสมองทั้งสิ้น จึงไม่ควรขาดสารอาหารใดเลย โดยเฉพาะช่วงที่มีการสร้างเซลล์สมองขณะทารกอยู่ในครรภ์และการสร้างเครือข่ายสายใยสมองเมื่อทารกอยู่นอกครรภ์นมแม่ให้สารอาหารเหล่านี้ครบถ้วนโดยที่แม่ต้องกินอาหารครบทุกหมู่เช่นกัน แต่มีสารอาหารบางอย่างที่ขาดไม่เพียงพอ เมื่อลูกตัวโตขึ้น และลูกเริ่มกินอาหารเสริมโดยที่น้ำนมแม่เริ่มมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก

  1. พลังงานจากอาหารที่เพียงพอ พลังงานจากอาหารส่วนใหญ่จะได้มาจากอาหารจำพวกแป้งและไขมัน เมื่อจำนวนพลังงานที่ได้จากอาหารไม่เพียงพอ การสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ จะเป็นไปได้ช้า เซลล์สมองก็เช่นกันก็จะถูกกระทบ จะทำให้จำนวนเซลล์สมองน้อยลง และสายในประสาทมีการสร้างที่ไม่ต่อเนื่อง
  2. ธาตุเหล็ก ในน้ำนมแม่มีจำนวนธาตุเหล็กพอดี แต่ไม่มากพอจะให้สะสม เมื่อลูกโตขึ้นราวอายุ 6-8 เดือน จำนวนธาตุเหล็กในนมจะไม่เพียงพอ อาหารที่เริ่มให้ลูกมาตั้งแต่อายุ 4 เดือน จึงควรเติมอาหารที่มีเหล็กมาก เช่น ตับหรือไข่ การขาดธาตุเหล็กจะพบมากในเด็กก่อนวัยเรียน และช่วงวัยเรียนมีการศึกษามากมายพบว่า การขาดเหล็กทำให้ความจำและสมาธิของเด็กด้อยลง
  3. DHA จากปลาช่วยบำรุงสมอง ความสัมพันธ์ระหว่างปลากับสมองได้ถูกนำไปศึกษากันมากโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้มีงานวิจัยซึ่งแสดงผลอย่างชัดเจนว่า สาร DHA หรือกรด decosapentaenoicacid ในน้ำมันปลามีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมอง โดยเฉพาะด้านความจำ และการเรียนรู้
    ทั้งนี้เชื่อว่าสาร DHA ผ่านเข้าไปในสมองและเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่า เดนไดรต์ ซึ่งจะทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณ และผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ทำให้เกิดความจำและการเรียนรู้
    สาร DHA มีมากในปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาโอลาย ปลาทู ฯลฯ การบริโภคปลาทะเลประมาณ 30 กรัม ต่อวันและ2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะสามารถเพิ่มกรดไขมันจำเป็นโอเมก้า 3 ในอาหารได้สูงถึง 0.2-5.0 กรัมต่อวัน ซึ่งหมายถึงได้รับสาร DHA สูงขึ้นด้วย เนื่องจากมีมากในกรดไขมันดังกล่าวสำหรับในประเทศไทย ปลาทะเลที่พบว่ามีกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 ปริมาณสูงได้แก่ ปลาทู ปลาอีกา ปลากะพง ปลาตาเดียว จึงควรเติมเนื้อปลาทะเลในอาหารเสริมในบางมื้อของลูก เมื่ออายุได้ 6 เดือน
  4. วิตามินเอ วิตามินนี้ช่วยสร้างเซลล์เยื่อบุต่างๆ ทั่วทั้งร่างกายรวมทั้งช่วยทำให้เซลล์ประสาทตาทำงานได้เต็มที่ การขาดวิตามินนี้จะมีผล ทำให้ติดเชื้อโรคทางระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารได้ง่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลทางตรงหรือทางอ้อมต่อการพัฒนาของสมองได้ วิตามินนี้สามารถสร้างจากสารคาร์โรทีน ซึ่งจะพบมากในผักที่มีสีเหลือหรือสีแดง เช่น ฟักทอง แครอท เป็นต้น การทานแคโรทีนมากก็ไม่มีผลข้างเคียงเพียงแต่จะทำให้ผิวหนังโดยทั่วไปจะเป็นสีเหลืองเมื่อพบอาการเช่นนี้ ก็ควรทานให้ห่างขึ้น เนื่องจากฟักทองเป็นอาหารไทย ที่หาง่ายราคาถูกและมีรสหวานในตัว จึงนำมาผสมข้าวเป็นส่วนอาหารเสริมของลูกได้ดีตั้งแต่อายุ 4-5 เดือน
  5. เกลือแร่และวิตามินอื่น กลุ่มวิตามินบี ได้แก่ วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, ไนอะซีน ไพริดอกซีนและ บี 12 มีส่วนช่วยในการทำงานของเซลล์ ในการเปลี่ยน น้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน การขาดวิตามินกลุ่มนี้จึงมีผลให้เซลล์ทั่วร่างกายและเซลล์สมองมีการทำงานลดลง เชื่องชา จะกระทบต่อการเรียนรู้ แร่ธาตุอื่น เช่น เหล็ก ทองแดง แมกซีเนียม ฟอสฟอรัส ไอโอดีน และอื่นๆ มีผลต่อการทำงานของเซลล์สมองเช่นกัน ซึ่งวิตามินและเกลือแร่เหล่านี้ พบมากในกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์ จึงควรหมั่นเติมเนื้อสัตว์ เช่น ปลา ไก่ หมู หรืออาหารทะเลในอาหารเสริมของลูกเมื่ออายุ 5 เดือน
  6. โคลีน เป็นสารที่พบมากในนมแม่ ผักตระกูลกะหล่ำ ข้าวสาลี เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสติปัญญาของทารก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งถึง 5 ขวบ ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ DHA แต่ทว่ามากกว่า โดยที่สามารถไปยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่อาจจะทำลายเซลล์สมองได้อีกด้วย ดังนั้นทารกควรกินนมแม่ หรือได้รับการเสริมโคลีนจากแหล่งอื่นๆ เพื่อจะได้มีสติปัญญาที่ดี

สมองกับกิจกรรมในแต่ละช่วงเวลา

พวกทำงานเช้า
  • 05.30 น. ตื่นนอน หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมงแรกคุณจะไม่ค่อยมีสมาธิต่อสิ่งต่างๆ ที่จะต้องทำนัก
  • 6.00 น. หลังจากตื่นนอนสักหนึ่งชั่วโมงจะเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับ
  • 8.00 น. สมองตื่นตัวเต็มที่ พร้อมสำหรับการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพถือเป็นช่วงที่ต้องใช้ความสามารถของสมองในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาต่างๆ อย่างสูงสุด เริ่มตั้งแต่ 8.00 น. ไปจนถึง 12.30 น. เมื่อเลยช่วงนี้ไป คุณเองคงจะรู้สึกอ่อนล้า เครียด และไม่มีสมาธิในการทำงานหรือในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ได้ เรียกว่าเป็นช่วงเวลาแย่ๆ ใน 1 วัน ของคุณทีเดียว
  • 14.30 น. หลังจากผ่านช่วงแย่ๆ ของวันไปได้ คุณก็จะสามารถดึงความสามารถของสมองของคุณในการแก้ปัญหาได้อย่างดีอีกครั้งเช่นเดียวกับตอน 8.00 น. และหลังจากภาระในการแก้ปัญหาการทำงานของคุณผ่านไป
  • 16.30 น. คุณจะกลับมาสดชื่นและแจ่มใสขึ้นอีกครั้งเมื่อได้ผ่อนคลายจากความเครียด และการทำงาน เป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนสมองจะทำงานในเชิงศิลปะ การอ่าน ได้เป็นอย่างดี และเมื่อถึงช่วงเวลา
  • 20.00 น. หากคุณยังไม่เข้านอนในเวลานี้จะเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คุณจะอ่อนล้า และเหนื่อยอ่อน อีกครั้งเพราะร่างกายของคุณเรียกร้องการพักผ่อนนั่นเอง และคุณจะเหนื่อยอ่อนไปจนกระทั่งคุณเข้านอนพักผ่อนเพื่อตื่นขึ้นมาเริ่มต้นกับกิจวัตรประจำวันของคุณอีกครั้งหนึ่ง
พวกชอบตื่นสาย

คราวนี้ลองมาดูคนที่ตื่นสายขึ้นอีกนิดบ้าง คุณจะมีช่วงเวลาแย่ๆ หลังตื่นนอน หากคุณตื่นนอนประมาณแปดโมงเช้าสมองของคุณทำงานเช่นนี้

  • 8.00 น. ตื่นนอนตอนแปดโมง เพื่อที่จะพบว่าช่วง 2 ชั่วโมงแรกของการตื่นนอน จะเป็นช่วงที่คุณไม่อยากทำอะไร หงุดหงิด และไม่มีสมาธิ จนกว่าจะผ่านช่วงนี้ไปจนกระทั่งสมองของคุณเริ่มต้นทำงานในช่วงเวลาหลังสิบโมงเช้า
  • 10.00 น. สมองเริ่มจะตื่นตัว เริ่มทำงานได้อย่างเต็มที่ และทำงานได้อย่างเต็มที่ไปจนกระทั่วถึง 13.00 น.
  • 13.00 น. ช่วงเวลาแห่งความอ่อนล้าของทั้งคุณและสมองของคุณจนการแก้ปัญหาหรือสมาธิต่างๆ ลดลง ซึ่งช่วงนี้จะอยู่กับคุณไปราวๆ 2 ชั่วโมง
  • 15.00 น. ที่นี้คุณจะรู้สึกตื่นตัวขึ้นสมองจะสามารถใช้ความสามารถในทางด้านศิลปะ การอ่าน ดนตรี ไปจนกระทั่งถึงเย็น
  • 18.00 น. หลังจากช่วงเวลานี้ไปแล้วจะเป็นช่วงเวลาของสมองซีกขวา ที่จะสามารถใช้แก้ปัญหาต่างๆ ได้ และช่วงเวลานี้จะยาวนานไปจนกระทั่งดึก
  • 23.00 น. จะเป็นช่วงที่ร่างกายเรียกร้องการพักผ่อนอีกครั้ง เพื่อให้สมองได้พักผ่อนหลังจากใช้งานอย่างหนักมาทั้งวันด้วย

หากเราสังเกตจะพบว่าสมองของเราจะทำงานได้ดีเป็นช่วงๆ เวลา และมีช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไปตามเวลา และความเคยชินของแต่ละบุคคลซึ่งสมอง ไม่ว่าจะเป็นซีกซ้ายหรือขวา ต่างก็มีช่วงเวลาที่จะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุดต่างกัน

สมองของเรานอกจากจะมีการพัฒนาจากอาหารการกินพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ แล้วอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการได้มีโอกาสใช้อยู่เสมอ เพราะการใช้สมองในการคิดสิ่งต่างๆ ที่สร้างสรรค์อยู่เสมอจะส่งผลให้สมองมีการพัฒนาได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะเรามีการฝึกฝน และสมองเกิดการเรียนรู้และจดจำเก็บไว้เป็นประสบการณ์ในการแก้ปัญหาในครั้งต่อๆไป เมื่อรู้จักกับสมองของคุณดีขึ้นแล้ว ลองหาทางนำเอาศักยภาพสูงสุดของสมองมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ให้เหมาะสมกับแต่ละคนกันดีกว่า บางทีสมองของคุณอาจมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่อย่างที่สมองของคุณนึกไม่ถึง


ที่มาของข้อมูล: นิตยสารใกล้หมอ ปีที่ 30 ฉบับที่ 4 เมษายน 2549 หน้า 26-32