ความรักคือสารเคมี

ความรักคือสารเคมี

ความรักคืออะไร คือเครื่องมือที่ธรรมชาติฝังไว้ในสมองของสัตว์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ การเลือกคู่ ร่วมเพศ มีบุตร เลี้ยงบุตร หึงหวง ป้องกันภัยให้กัน ให้อาหาร และอะไรอีกมากมายในสังคมของสัตว์และมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจำนวนไม่น้อย ต่างพยายามค้นคว้าหาคำอธิบาย ปรากฎการณ์สามัญที่เรียกว่า "ความรัก" โดยเฉพาะความรักแบบหนุ่มสาว และผลงานคิดค้นซึ่งเป็นที่ยอมรับมากที่สุดเห็นจะเป็นของ ศาสตร์ตราจารย์เฮเลน ฟิชเชอร์ นักมนุฟษยวิทยาชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา

จากการค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง ศาสตราจารย์ฟิชเชอร์ ได้สรุปว่า ความรู้สึกที่เรียกว่า "ความรัก" แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ หลง รัก และผูกพัน แต่ก่อนที่จะทำ ความรู้จักกับ 3 ลำดับขั้นของความรัก คุณควรจะรู้จักกับสารเคมีตัวหนึ่ง ที่ดึงดูดมนุษย์ทุกผู้ทุกคนให้เข้าสู่วังวนแห่งรัก และสารเคมีที่ว่านั้นก็คือ ฟีโรโมน (pheromones)

ฟีโรโมน มีอิทธิพลต่อเราอย่างไรนั้น ลองนึกง่าย ๆ ว่าในแต่ละวันเราต้องเจอกับ ผู้คนมากมาย ทำไมเราไม่ตกหลุมรักชายหนุ่มสุดเซอร์ที่เจอเมื่อวานนี้ หรือทำไมเราถึงไม่เดินเข้าไปจีบสาวเจ้าสเน่ห์ที่สวนทางกันในลิฟท์ ฯลฯ คำตอบง่าย ๆ ก็เพราะฟีโรโมนไม่ตรงกันจึงไม่เกิดอาการปิ๊งนั่นเอง

ฟีโรโมน หรือ กลิ่นเรียกรัก เป็นกลิ่นเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เหมือนกับลายมือ แต่ฟีโรโมนเป็นกลิ่นที่ไม่มีกลิ่น คือไม่สามารถสัมผัสได้โดยการสูดดมทางจมูก ผู้ที่มีฟีโรโมนตรงกับเราเท่านั้นที่จะรับกลิ่นนี้ได้ ผ่านทางอวัยวะรับสัมผัสในสมองที่เรียกว่า Olfactory

นอกจากมนุษย์แล้วสิ่งมีชีวิตที่มีฟีโรโมน คือ สัตว์บก โดยฟีโรโมนของสัตว์เหล่านี้จะค่อย ๆ ระเหยมาจากต่อมอะโปไครน์ (apocrine gland) ที่อยู่บริเวณ รักแร้และอวัยวะเพศ ช่วงไข่ตกจะเป็นเวลาที่สัตว์เพศเมียมีปริมาณฟีโรโมนมากที่สุด หากสังเกตจะพบว่าสัตว์เหล่านี้มักไปยืนเหนือลม เพื่อล่อให้ตัวผู้ตาม กลิ่นมา จนเกิดการผสมพันธุ์ ส่วนในมนุษย์นั้น บางประเทศจะมีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ ที่ผู้หญิงไม่นิยมโกนขนรักแร้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเก็บ กลิ่นฟีโรโมนไว้นาน ๆ นั่นเอง

กลไกการเกิดความรักในร่างกายเรานั้น ไม่ได้เลิศหรูเหมือนกวีและบทกลอน แต่มันคือกลไกของธรรมชาติ โดยเปิดเป็นขั้นตอน และความรัก ถูกขับเคลื่อนโดย สารเคมีหลายชนิด ดังนี้

ช่วงหลง

ปฐมบทแห่งรักที่ถูกขับเคลื่อนโดยฮอร์โมนเพศ คือเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน โดยทั่วไปมนุษย์ทั้งเพศหญิงและเพศชายล้วนมีฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้อยู่ในร่างกาย ตามธรรมชาติ ผู้หญิงจะมีปริมาณอีสโตรเจนมากกว่าเทสโทสเตอโรน ส่วนผู้ชายจะมีปริมาณเทสโทสเตอโรนมากกว่าเอสโตรเจน เมื่อผู้หญิงได้รับความรัก ความเอาใจใส่จากผู้ชายที่เธอถูกใจ ปริมาณเอสโตรเจนในร่างกายของผู้หญิงจะค่อย ๆ ลดระดับลง เหลือเพียงเทสโทสเตอโรน ส่วนผู้ชายที่มีความสุขกับคนที่เขารัก ปริมาณเทสโทสเตอโรนจะค่อย ๆ ลดลงจนเหลือแต่เอสโตรเจน และปริมาณฮอร์โมนที่ไม่สัมพันธ์กันนี้เอง ที่ทำให้เกิดความรักขั้นแรกที่เรียกว่า "ความหลง" ความรักระดับนี้ทำให้รู้สึกใจเต้นตึกตัก มือไม้สั่น เขินอายเมื่อเจอคนรัก

ช่วงตกหลุมรัก

ช่วงนี้จะกินเวลาประมาณ 2-3 เดือน บางคนอาจสั้นเพียงไม่วันหรืออาจนานกว่านั้น เป็นช่วงที่ทำให้ชีวิตเราผิดเพี้ยนไป ไม่รับรู้ ไม่สนใจสิ่งรอบกาย ไม่กิน ไม่นอน เอาแต่นั่งฝันเพ้อ ละเมอถึงคนรัก ตดก็ว่าหอม ทำอะไรก็น่ารักไปหมด อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ถูกควบคุมโดยกลุ่มสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โมโนอะมิเนส (Monoamines) ซึ่งประกอบด้วย ฮอร์โมน 3 ตัวคือ


  • ฮอร์โมนโดพามีน (Dopamine) เป็นสารเคมีที่ช่วยให้สมองตื่นตัว เช่นเดียวกับนิโคตีนและโคเคอีน
  • ฮอร์โมนนอร์เอพิเนฟรีน (Norepinephrine) หรือรู้จักกันในนามของ อะดรีนาลิน (Adrenalin) ที่เป็นตัวการทำให้เราเหงื่อแตก และหัวใจเต้นรัว ยามตื่นเต้น มีความสุข ซาบซ่าน
  • ฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) หนึ่งในสารสำคัญที่ทำให้เราเกิดอาการ…ซึม..เศร้า..เหงา..เพราะรัก

ช่วงผูกพัน

หลังช่วงตกหลุมรัก โดยส่วนใหญ่คนที่ชินกับฮอร์โมนในช่วงนั้น จะโบกมือลากันไป เพราะเข้าใจผิดว่า คนๆนี้ไม่ใช่ เนื่องจากไม่ตื่นเต้นจิ๊ดจ๊าดซาบซ่าน เหมือนช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อะไรๆก็เริ่มปรากฏความจริง ไอ้ที่ว่าตดก็หอมก็เริ่มไม่จริง ไม่อยากคุยโทรศัพท์ไม่หลับไม่นอนยันสว่างแล้ว แต่ถ้าไม่เลิกกันไป ก็จะเข้าสู่ช่วงแห่งความผูกพัน สมองในตอนนี้จะว่าด้วยการตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่และสร้างครอบครัว ช่วงนี้จะเกิดฮอร์โมนสองตัวสำคัญคือ

  • ออกซีโทซิน (Oxytocin) จากต่อมไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่ง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับน้ำนม และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง มารดาและ ทารก โดยมีการพบว่า ออกซีโทซินจะถูกขับออกมา เมื่อชายหญิงมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ลึกซึ้ง ทฤษฏีบอกไว้ว่า ยิ่งชายหญิงมีความสัมพันธ์กัน ลึกซึ้งแค่ไหน ความผูกพันก็มีมากขึ้นเท่านั้น ฮอร์โมนตัวนี้ทำให้สัตว์เพศแม่พยายามเลี้ยงดูลูกของตนและสร้างความผูกพันระหว่างคู่รักในความอาทร ห่วงหากัน
  • ฮอร์โมน วาโซเพรสซิน (Vasopressin) ปกติมีหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย และจะถูกขับออกมาเมื่อร่างกายขาดน้ำ ความตึงเครียดสูง ความดันเลือดสูง หรือเมื่อคู่รักมีความสัมพันธ์ทางเพศ แต่มฮอร์โมนนี้มีหน้าที่อีกอย่างคือ สร้างความยึดมั่นในคู่รักของตน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง พยายามทำการศึกษาฮอร์โมนวาโซเพรสซิน ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่จับคู่อยู่กินกันแบบผัวเดียวเมียเดียวตลอดชีวิต (Monogamous) สัตว์บางชนิดในกลุ่มนี้จะตรอมใจตายตามคู่ของมันไปหากมันต้องเป็นหม้าย โดยไม่คิดจะมีใหม่ นักวิทยาศาสตร์ใช้หนูชนิดหนึ่ง ในทุ่งหญ้าแพรรี ในการทดลอง หนูชนิดนี้เป็น 1 ในกลุ่มสัตว์ Monogamous การทดลองทำโดยการให้ยาที่ลดปฏิกริยาของฮอร์โมนวาโซเพรสซินในหนูตัวผู้ ผลปรากฏว่า หนูตัวผู้ตัวนั้นเริ่มมีอาการเย็นชา ห่างเหินคู่รัก และไม่แสดงอาการหึงหวงเมื่อมีหนูหนุ่มตัวอื่นๆ เข้ามาใกล้คู่รักของตน จึงเป็นข้อสรุปได้ในเบิ้องต้นถึงหน้าที่ของฮอร์โมนวาโซเพรสซินที่มีในมนุษย์ด้วย