การรับรู้ Perception

การรับรู้ (Perception)

การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัส โดยเริ่มตั้งแต่ การมีสิ่งเร้ามา กระทบกับอวัยวะรับสัมผัสทั้งห้า และส่งกระแสประสาท ไปยังสมอง เพื่อการแปลความ

กระบวนการของการรับรู้ (Process) เป็นกระบวนการที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเรื่องความเข้าใจ การคิด การรู้สึก (Sensing) ความจำ (Memory) การเรียนรู้ (Learning) การตัดสินใจ (Decision making)

 Sensing -----> Memory ------> Learning -------> Decision making

กระบวนการของการรับรู้ เกิดขึ้นเป็นลำดับดังนี้

สิ่งเร้าไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานการณ์ มาเร้าอินทรีย์ ทำให้เกิดการสัมผัส (Sensation) และเมื่อเกิดการสัมผัสบุคคล จะเกิดมีอาการแปล การสัมผัสและมีเจตนา (Conation) ที่จะแปลสัมผัสนั้น การแปลสัมผัส จะเกิดขึ้นในสมอง ทำให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น การที่เราได้ยินเสียงดัง ปัง ปัง ๆ สมองจะแปลเสียงดังปัง ปัง โดยเปรียบเทียบกับเสียง ที่เคยได้ยินว่าเป็น เสียงของอะไร เสียงปืน เสียงระเบิด เสียงพลุ เสียงประทัด เสียงของท่อไอเสียรถ เสียงเครื่องยนต์ระเบิด หรือเสียงอะไร ในขณะเปรียบเทียบ จิตต้องมีเจตนา ปนอยู่ ทำให้เกิดแปลความหมาย และ ต่อไปก็รู้ว่า เสียงที่ได้ยินนั่นคือ เสียงอะไร อาจเป็นเสียงปืน เพราะบุคคลจะแปลความหมายได้ ถ้าบุคคลเคย มีประสบการณ์ในเสียงปืนมาก่อน และอาจแปลได้ว่า ปืนที่ดังเป็นปืนชนิดใด ถ้าเขาเป็นตำรวจ จากตัวอย่างข้างต้นนี้ เราอาจสรุป กระบวนการรับรู้ จะเกิดได้จะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1. มีสิ่งเร้า ( Stimulus ) ที่จะทำให้เกิด การรรับรู้ เช่น สถานการณ์ เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อม รอบกาย ที่เป็น คน สัตว์ และสิ่งของ
2. ประสาทสัมผัส ( Sense Organs ) ที่ทำให้เกิดความรู้สึกสัมผัส เช่น ตาดู หูฟัง จมูกได้ กลิ่น ลิ้นรู้รส และผิวหนังรู้ร้อนหนาว
3. ประสบการณ์ หรือความรู้เดิมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเร้าที่เราสัมผัส
4. การแปลความหมายของสิ่งที่เราสัมผัส สิ่งที่เคยพบเห็นมาแล้วย่อมจะอยู่ในความทรงจำของสมอง เมื่อบุคคลได้รับสิ่งเร้า สมองก็จะทำหน้าที่ทบทวนกับความรู้ที่มีอยู่เดิมว่า สิ่งเร้านั้นคืออะไร
เมื่อมนุษย์เราถูกเร้าโดยสิ่งแวดล้อม ก็จะเกิดความรู้สึกจากการสัมผัส (Sensation) โดยอาศัยอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา ทำหน้าที่ดูคือ มองเห็น หูทำหน้าที่ฟังคือ ได้ยิน ลิ้นทำหน้าที่รู้รส จมูก ทำหน้าที่ดมคือได้กลิ่น ผิวหนังทำหน้าที่สัมผัสคือรู้สึกได้อย่างถูกต้อง กระบวนการรับรู้ ก็สมบูรณ์แต่จริงๆ แล้วยังมีการสัมผัสภายในอีก 3 อย่างด้วยที่จะช่วยให้เรารับสัมผัสสิ่งต่างๆ

ลำดับขั้นของกระบวนการรับรู้

การรับรู้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการดังนี้
ขั้นที่ 1 สิ่งเร้า( Stimulus )มากระทบอวัยวะสัมผัสของอินทรีย์
ขั้นที่ 2 กระแสประสาทสัมผัสวิ่งไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีศูนย์อยู่ที่สมองเพื่อสั่งการ ตรงนี้เกิดการรับรู้ ( Perception )
ขั้นที่ 3 สมองแปลความหมายออกมาเป็นความรู้ความเข้าใจโดยอาศัย ความรู้เดิม ประสบการณ์เดิม ความจำ เจตคติ ความต้องการ ปทัสถาน บุคลิกภาพ เชาวน์ปัญญา ทำให้เกิดการตอบสนองอย่างใดอย่างหนึ่ง การรับรู้ ( Perception )

ตัวอย่าง ขณะนอนอยู่ในห้องได้ยินเสียงร้องเรียกเหมียวๆๆรู้ว่าเป็นเสียงร้องของสัตว์ และรู้ต่อไปว่าเป็นเสียงของแมว เสียงเป็นเครื่องเร้า (Stimulus) เสียงแล่นมากระทบหูในหูมีปลายประสาท (End organ) เป็นเครื่องรับ (Receptor) เครื่องรับส่งกระแสความรู้สึก (Impulse) ไปทางประสาทสัมผัส (Sensory nerve) เข้าไปสู่สมอง สมองเกิดความตื่นตัวขึ้น (ตอนนี้เป็นสัมผัส) ครั้นแล้วสมองทำการแยกแยะว่า เสียงนั้นเป็นเสียงคนเป็นเสียงสัตว์ เป็นเสียงของแมวสาวเป็นเสียงแมวหนุ่ม ร้องทำไมเราเกิดอาการรับรู้ ตอนหลังนี้เป็น การรับรู้ เมื่อเรารู้ว่าเป็นเสียงของแมวเรียก ทำให้เราต้องการรู้ว่าแมวเป็นอะไร ร้องเรียกทำไมเราจึงลุกขึ้นไปดูแมวตาม ตำแหน่งเสียงมี่ได้ยินและขานรับ สมองก็สั่งให้กล้ามเนื้อปากทำการเปล่งเสียงขานรับ ตอนนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า ปฏิกิริยาหรือการตอบสนอง (Reaction หรือ Response) เมื่อประสาทตื่นตัวโดยเครื่องเร้า จะเกิดมีปฏิกิริยา คือ อาการตอบสนองต่อสิ่งเร้า

กลไกของการรับรู้

กลไกการรับรู้เกิดขึ้นจากทั้ง สิ่งเร้าภายนอกและภายในอินทรีย์ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม อวัยวะรับสัมผัส (Sensory organ) เป็น เครื่องรับสิ่งเร้าของมนุษย์ ส่วนที่รับความรู้สึกของอวัยวะรับสัมผัสอาจอยู่ลึกเข้าไปข้างใน มองจากภายนอกไม่เห็น อวัยวะรับสัมผัส แต่ละอย่างมีประสาทรับสัมผัส (Sensory nerve) ช่วยเชื่อมอวัยวะรับสัมผัสกับเขตแดนการรับสัมผัสต่าง ๆ ที่สมอง และส่งผ่านประสาทมอเตอร์ (Motor nerve) ไปสู่อวัยวะมอเตอร์ (Motor organ) ซึ่งประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อและต่อมต่างๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองของอวัยวะมอเตอร์ และจะออกมาในรูปใดขึ้นอยู่กับ การบังคับบัญชาของระบบประสาท ส่วนสาเหตุที่มนุษย์เราสามารถไวต่อความรู้สึกก็เพราะ เซลประสาทของประสาทรับสัมผัส แบ่งแยกแตกออกเป็นกิ่งก้านแผ่ไปติดต่อกับ อวัยวะรับสัมผัส และที่อวัยวะรับสัมผัสมีเซลรับสัมผัส ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวจึง สามารถทำให้มนุษย์รับสัมผัสได้
จิตใจติดต่อกับโลกภายนอกได้โดยการสัมผัส คนตาบอดแม้อธิบายให้ฟังว่าสีแดง สีเขียวเป็นอย่างไร เขาก็จะเข้าใจให้ถูกต้องไม่ได้เลย เพราะเรื่องสีจะต้องรู้ด้วยตา เครื่องมือสัมผัสอย่างหนึ่งก็ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง คนหูหนวกย่อมไม่รู้สึกถึงลีลาความไพเราะของเสียงเพลง ดังนั้นการสอนจึงเน้นว่า "ให้สอนโดยทางสัมผัส" การรับรู้นับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ การรับรู้ที่ถูกต้องจึงจะส่งผล ให้ได้รับ ความรู้ที่ถูกต้อง นักเรียนต้องได้การรับรู้ที่ถูกต้อง มิฉะนั้นความรู้ที่รับไปก็ผิดหมด อวัยวะสัมผัส กับการรับรู้
มนุษย์ย่อมมีพฤติกรรม สนองตอบสิ่งแวดล้อมกระบวนการของการรับรู้เป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สนองตอบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบประสาท อวัยวะสัมผัส เป็นปัจจัยสำคัญของกระบวนการรับรู้ต้องมีความสมบูรณ์จึงจะสามารถรับรู้สิ่งเร้าได้ดีเพราะอวัยวะสัมผัสรับสิ่งเร้า ที่มากระทบประสาทรับสัมผัสส่งกระแสประสาทไปยังสมองเพื่อให้สมองแปลความหมายออกมา เกิดเป็นการรับรู้ และอวัยวะสัมผัสของมนุษย์ มีขีดความสามารถจำกัด กลิ่นอ่อนเกินไป เสียงเบาเกินไป แสงน้อยเกินไปย่อมจะรับสัมผัสไม่ได้ ดังนั้นประเภท ขนาด คุณภาพของสิ่งเร้าจึงมีผลต่อการรับรู้และการตอบสนอง สิ่งเร้าบางประเภทไม่สามารถกระตุ้นอวัยวะสัมผัสของเราได้ เช่น คลื่นวิทยุ

องค์ประกอบของการรับรู้

  1. สิ่งเร้าได้แก่วัตถุ แสง เสียง กลิ่น รสต่างๆ
  2. อวัยวะรับสัมผัส ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง ถ้าไม่สมบูรณ์จะทำให้สูญเสียการรับรู้ได้
  3. ประสาทในการรับสัมผัสเป็นตัวกลางส่งกระแสประสาทจากอวัยวะรับสัมผัสไปยังสมองส่วนกลาง เพื่อการแปลความต่อไป
  4. ประสบการณ์เดิม การรู้จัก การจำได้ ทำให้การรับรู้ได้ดีขึ้น
  5. ค่านิยม ทัศนคติ
  6. ความใส่ใจ ความตั้งใจ
  7. สภาพจิตใจ อารมณ์ เช่น การคาดหวัง ความดีใจ เสียใจ
  8. ความสามารถทางสติปัญญา ทำให้รับรู้ได้เร็ว

 การจัดระบบการรับรู้

มนุษย์เมื่อพบสิ่งเร้าไม่ได้รับรู้ตามที่สิ่งเร้าปรากฏแต่จะนำมาจัดระบบตามหลักดังนี้

  1. หลักแห่งความคล้ายคลึง ( Principle of similarity) สิ่งเร้าใดที่มีความคล้ายกันจะรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
  2. หลักแห่งความใกล้ชิด (Principle of proximity ) สิ่งเร้าที่มีความใกล้กันจะรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
  3. หลักแห่งความสมบูรณ์ (Principle of closure) เป็นการรับรู้สิ่งที่ไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ขึ้น

ความคงที่ของการรับรู้ ( Perceptual constancy ) ความคงที่ในการรับรู้มี 3 ประการ ได้แก่

  1. การคงที่ของขนาด
  2. การคงที่ของรูปแบบ รูปทรง
  3. การคงที่ของสีและแสงสว่าง

การรับรู้ที่ผิดพลาด แม้ว่ามนุษย์มีอวัยวะรับสัมผัสถึง 5 ประเภทแต่มนุษย์ก็ยังรับรู้ผิดพลาดได้ เช่น ภาพลวงตา การรับฟังความบอกเล่า ทำให้เรื่องบิดเบือนไป การมีประสบการณ์และค่านิยมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการรับรู้ถ้าจะให้ถูกต้อง จะต้องรับรู้โดยผ่าน ประสาทสัมผัสหลายทาง ผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองให้มากขึ้น

ปัจจัยกำหนดการรับรู้

สิ่งเร้าอย่างเดียวกัน อาจจะทำให้คนสองคน สามารถรับรู้ต่างกันได้ เช่น คนหนึ่งมองว่าคนอเมริกันน่ารัก แต่อีกคนมองว่า เป็นคนอเมริกัน เป็นชาติที่น่ารักน้อยหน่อยก็ได้ เพราะในใจเขาอาจชอบคนอังกฤษก็ได้ เลยชอบชาวอเมริกันน้อยกว่า ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แล้วแต่การรับรู้ของแต่ละคน การที่มนุษย์สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง และจะรับรู้ได้ดีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มีอิทธิพลต่อ การรับรู้ เช่น ประสบการณ์ วัฒนธรรม การศึกษา เป็นต้น
ดังนั้นการที่บุคคล จะเลือกรับรู้สิ่งเร้าใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะใดขณะหนึ่งนั้นจึงขึ้นอยู่กับปัจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้มี 2 ประเภท คือ

อิทธิพลที่มาจากภายนอก ได้แก่ ความเข้มและขนาดของสิ่งเร้า ( Intensively and Size) การกระทำซ้ำ ๆ (Repetition) สิ่งที่ตรงกันข้าม (Contrast) การเคลื่อนไหว (Movement) และอิทธิพลที่มาจากภายใน ได้แก่ แรงจูงใจ (Motive) การคาดหวัง (Expectancy) ความสนใจ อารมณ์ ความคิดและจิตนาการ ความรู้สึกต่างๆ ที่บุคคลได้รับ เป็นต้น

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ยังแบ่งออกได้อีกเช่นแบ่งปัจจัยของการรับรู้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ประการแรกลักษณะของผู้รับรู้ กับ ประการที่สองลักษณะของสิ่งเร้า ดังจะอธิบายดังนี้คือ

ปัจจัยการรับรู้มี 2 ประเภทคือ

1. ลักษณะของผู้รับรู้

ลักษณะของผู้รับรู้ พิจารณาจากการที่บุคคลจะเลือกรับรู้สิ่งใดก่อนหรือหลัง มากหรือน้อย อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้รับรู้ด้วยเป็นสำคัญประการหนึ่ง ปัจจัยที่เกี่ยวกับผู้รับรู้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ด้าน คือ ด้านกายภาพกับด้านจิตวิทยา ดังอธิบาย

1.1 ด้านกายภาพ หมายถึง อวัยวะสัมผัส เช่น หู ตา จมูก และอวัยวะสัมผัสอื่น ๆ ปกติหรือไม่ มีความรู้สึกรับสัมผัสสมบูรณ์เพียงใด เช่น หูตึง เป็นหวัด ตาเอียง บอดสี สายตายาว สายตาสั้น ผิวหนังชา ตายด้าน ความชรา ถ้าผิดปกติหรือหย่อนสมรรถภาพ ก็ย่อมทำให้ การรับสัมผัส ผิดไป ด้อยสมรรถภาพในการรับรู้ลงไป ความสมบูรณ์ของอวัยวะรับสัมผัส จะทำให้รับรู้ได้ดี การรับรู้บางอย่าง เกิดจากอวัยวะรับสัมผัส 2 ชนิดทำงานร่วมกัน เช่น ลิ้นและจมูกช่วยกันรับรู้รส การรับรู้จะมีคุณภาพดีขึ้น ถ้าเราได้รับสัมผัสหลายทาง เช่น เห็นภาพและได้ยินเสียงในเวลาเดียวกัน ทำให้เราแปลความหมาย ของสิ่งเร้าได้ถูกต้องขึ้น
อีกประการหนึ่งต้องขึ้นกับ ขอบเขตความสามารถในการรับรู้ด้วยคือ ขอบเขตความสามารถโดยธรรมชาติในการรับรู้ของคน ซึ่งขึ้นอยู่กับ ความสามารถใน การรับสัมผัสและ ความสามารถในการแปลความหมายของสิ่งเร้า ความสามารถของอวัยวะสัมผัสมีขอบเขตจำกัด ไม่สามารถรับสัมผัสสิ่งเร้าได้ทุกชนิด แสงที่มีความเข้มน้อยเกินไป วัตถุขนาดเล็กมากเราไม่สามารถมองเห็นได้ พวกรังสี คลื่นวิทยุ ประสาทหูรับไม่ได้ เสียงที่เบาเกินไปจนไม่ทำให้ แก้วหูสั่นสะเทือนเราก็ไม่ได้ยิน นักล้วงกระเป๋า กระทำอย่างแผ่วเบามาก เราก็รับสัมผัสไม่ได้ ขนาดหรือ ความเข้มของสิ่งเร้า ที่สามารถทำให้ อวัยวะสัมผัสเกิด ความรู้สึกได้ เรียกว่า Threshold
การเปลี่ยนแปลงความเข้ม หรือขนาดของสิ่งเร้า เพื่อให้บุคคลสามารถรับรู้ได้ เรียกว่า The differential threshold ดังนั้นลักษณะของผู้รู้ด้านกายภาพ หรือสรีระวิทยาของบุคคล จะต้องสมบูรณ์การรับรู้จึงจะสามารถแปลความออกมาได้

1.2 ด้านจิตวิทยา ปัจจัยทางด้านจิตวิทยาของคนที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้นั้น มีหลายประการ เช่น ความจำ อารมณ์ ความพร้อม สติปัญญา การสังเกตพิจารณา ความสนใจ ความตั้งใจ ทักษะค่านิยม วัฒนธรรม ประสบการณ์เดิม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นผลจาก การเรียนรู้เดิม และ ประสบการณ์เดิม ทั้งสิ้น นักจิตวิทยา ถือว่า การรับรู้นั้นเป็นสิ่งที่บุคคลเลือกสรรอย่างยิ่ง (High Selective) เริ่มตั้งแต่รับสัมผัส เลือกเอาเฉพาะที่ต้องการ และแปลความ ให้เข้ากับตนเอง บุคคลจึงจะเลือกรับรู้สำหรับลักษณะของผู้รับรู้ทางด้านจิตวิทยานั้น ยังมีปัจจัยด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ อีก 14 ข้อ คือ ความรู้เดิม ความต้องการหรือความปรารถนา สภาวะของจิตหรืออารมณ์ เจตคติ อิทธิพลของสังคม ความตั้งใจ ความสนุกสนานเพลิดเพลินที่มีผลต่อการรับรู้ แรงจูงใจ คุณค่าและความสนใจที่มีผลต่อการรับรู้ ความดึงดูดในทางสังคม สติปัญญา การพิจารณาสังเกต ความพร้อมหรือการเตรียมพร้อมที่จะรับรู้ และการคาดหวัง ดังจะอธิบายเป็นข้อๆ โดยละเอียดดังนี้คือ

1.2.1 ความรู้เดิม และประสบการณ์ (Experience) ของแต่ละบุคคลจะทำให้บุคคลเข้าใจรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ หรือภาพต่างๆ แตกต่างกัน ออกไปโดยที่กระบวนการรับรู้ เมื่อบุคคลรับสัมผัสแล้ว จะแปลความหมายอาจแปลในรูปสัญลักษณ์หรือภาพต่างๆ การแปลความหมายนี้ จะต้องอาศัยความรู้เดิม และประสบการณ์เดิม ที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งที่เราจะรับรู้ ฉะนั้นถ้าหากไม่มีความรู้เดิม ไม่มีประสบการณ์เดิม ในเรื่องนั้นๆ มาแต่ก่อน ก็ย่อมจะทำให้ การรับรู้ผิดไปจากความเป็นจริง
เมื่อถามคนกลุ่มนี้ว่า เป็นภาพหญิงแก่ หรือสาว 40 % ตอบว่าเป็นหญิงชรา 60 % ว่าเป็นหญิงสาว แต่กลุ่มทดลองที่ 2 ให้ดูภาพหญิงสาวจนพอใจเสียก่อน จึงถามว่าภาพข้างบนนี้เป็นหญิงสาวหรือชรา ปรากฏว่ากลุ่มที่ 2 ทั้งหมดตอบว่าเป็นภาพของ หญิงสาว แต่กลุ่มที่ทดลองกลุ่มที่ 3 ก่อนให้ดูภาพปริศนา ได้ให้ดูภาพคนชราจนเป็นที่พอใจแล้ว เมื่อให้กลุ่มนี้ดูภาพปริศนา 95 % ของกลุ่มตอบว่ าเป็นภาพหญิงชรา นี่เป็นหลักฐานยืนยันว่าประสบการณ์เดิมมีอิทธิพลต่อการรับรู้ภาพหรือพื้น ขึ้นอยู่ที่เราเลือกมอง

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการสนทนา ที่ทำให้การรับรู้ของบุคคลต่างกัน เช่น
ผู้คุมถามนักโทษประหารว่า อาหารมื้อสุดท้ายอยากกินอะไร นักโทษตอบว่า ลิ้นจี่สดครับ ผู้คุมตอบว่าฤดูนี้ไม่มีลิ้นจี่ อีกตั้ง 8 เดือนจึงจะมี นักโทษตอบว่า "ไม่เป็นไรผมคอยได้ครับ"
ลุงแดงตาเจ็บจึงไปถามหมอว่า "หมอรู้ไหมลุงเป็นอะไร" หมอตอบว่า "ไม่ใหญ่โตอะไรหรอก ก็เป็นตาแดงธรรมดาเท่านั้นแหละ" ลุงแดงโมโหถามว่าจะเอาไง หมอตอบว่า "เดี๋ยวก็รู้"
พ่อเห็นลูกป่วยจึงอุ้มไปหาหมอ หมอตอบว่า ลูกคุณไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงอะไร "เป็นไข้จับสั่นไม่นานก็หาย" พ่อก็เลยจับลูกสั่นจนร้องจ้า หมอถามว่า "ทำอะไรนั่น" พ่อเด็กร้อง "อ้าว ! ก็หมอบอกว่าลูกผมเป็นไข้ ต้องจับสั่น ผมอยากให้ลูกผมหายเร็ว ๆ จึงรีบจับมันสั่น"

1.2.2 ความต้องการ ความปรารถนา (need) หรือแรงขับ ใครต้องการอะไรก็สนใจแต่สิ่งนั้น เช่น 2 คนไปซื้อของด้วยกัน คนที่จะซื้อหนังสือก็ดูแต่หนังสือ คนที่จะซื้อเครื่องกีฬาก็ดูแต่เครื่องกีฬา คนที่หิวก็มองแต่ร้านอาหารและต้องการรายการอาหาร คนที่ต้องการขับถ่าย ก็มองหาแต่ส้วม คนกำลังกระหายสนใจรายการเครื่องดื่ม ชูภาพให้ 3 คนดู แล้วถามทีละคนว่าเห็นอะไร ก.กำลังหิวเห็นอาหาร ข. กำลังเห็นเบียร์ เพราะกำลังอยากดื่ม ค. เห็นเด็กเพราะกำลังคิดถึงลูก

1.2.3 สภาพของจิตใจหรือภาวะของอารมณ์ คนเราขณะอารมณ์ดี มักจะไม่พิจารณารายละเอียดของสิ่งที่เร้ามากนัก มองไม่เห็น ข้อบกพร่อง มองเห็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ดีไปหมด แต่ถ้าหากอยู่ในภาวะอารมณ์ไม่ดีไม่ผ่องใส เช่น หิว กระหาย เหนื่อยล้า เครียด กังวล ทุกข์ ขุ่นมัว เจ็บป่วย กังวลหรือได้รับอิทธิพลจากสารเคมีบางชนิด เช่น กินยาระงับประสาท ยานอนหลับ ดื่มสุรา ยาเสพติด ฯลฯ มักจะมองอะไรไม่ชอบใจ ไปหมด หากว่ามีอารมณ์ เสีย มาก ๆ อาจจะไม่รับรู้อะไรเลย หรือรับรู้ผิดพลาดมาก เมื่อคนมีอารมณ์เครียดมาก กล้ามเนื้อและประสาท จะมีความต้านทาน การวนเวียนกระแสประสาทสูง ทำให้การแปลความหมายผิดพลาด เกิดการรับรู้ไม่ดี ถ้าจิตใจแจ่มใสกระชุ่มกระชวย ใจคอปลอดโปร่ง การแปลความหมายย่อมจะดีและถูกต้องขึ้น

1.2.4 เจตคติ มีผลต่อการแปลความหมายคน ที่เรามีเจตคติไม่ดียิ้ม ให้เราเราก็รู้ว่ายิ้มเยาะ ถ้าเขาหกล้มก็ว่าเซ่อ คนที่เราเคารพรัก รับประทานได้มาก ก็รับรู้ว่า เจริญอาหาร คนรับใช้กินมากกว่าตะกละ

1.2.5 อิทธิพลของสังคม (Social Factor) สภาพความเป็นอยู่ของสังคม และ ลักษณะของวัฒนธรรมปทัสถาน (Norm) เป็นกรอบ ของการอ้างอิง (Frames of Reference) จารีต ประเพณี ค่านิยม เป็นเครื่องกำหนดค่านิยม เป็นเครื่องกำหนด การรับรู้ของคน ทำให้คนแต่ละกลุ่มรับรู้สิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป เช่นเด็กชนบทรับรู้เรื่องสัตว์และการเพาะปลูกได้ดีกว่าเด็กในเมือง ซึ่งเด็กในเมือง จะรับรู้เรื่องเครื่องยนต์และไฟฟ้า ได้ดีกว่าเด็กในชนบท คนไทยเห็นชายหญิงเดินคล้องแขน เกี่ยวก้อยกันไม่น่าดู แต่ฝรั่ง หรือคนต่างชาติ การแสดงพฤติกรรม ความรักต่อหน้าสาธารธะชน เป็นเรื่องปกติและไม่สนใจว่าใครจะมอง ในเรื่องการรับรู้ อิทธิพลของสังคม อันได้แก่ สภาพความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ปทัสถาน ระเบียบประเพณี กฎหมายของแต่ละสังคมก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นบุคคลควร ทำความเข้าใจและศึกษาในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่ากรอบวัฒนธรรมของสังคม มีความแตกต่างกัน อย่างไร และเมื่อเรานำมาใช้สามารถใช้ได้ในระดับใดจึงจะเหมาะสมและดีงาม

1.2.6 ความตั้งใจ (Attention) ที่จะรับรู้ และความสนใจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรามีมากมาย ล้วนแต่มีโอกาส ก่อให้เกิดการรับรู้ ขึ้นในตัวเราได้ แต่ในขณะหนึ่ง ๆ เราไม่ได้รับรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา พร้อม ๆ กัน เราจะเลือกรับรู้ ไม่ได้รับรู้ ในทุกสิ่งที่ผ่านเข้า ทางประสาทสัมผัส บางสิ่งบางอย่างเข้าหูซ้ายไปทะลุออก หูขวาโดยไม่มีการรับรู้หรือตระหนักถึงสิ่งนั้นเลย มีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่าง ๆ มากน้อยต่างกันไม่เสมอเหมือนกัน คนที่ซื้อล๊อตเตอรี่ได้ยินประกาศว่า เลขท้าย 2 ตัวออกเลขอะไร ได้ยินเสียงเด็กขายสลากตรวจล๊อตเตอรี่ แต่เพื่อนที่คอยรถจะไปหาดใหญ่ ซึ่งยืนอยู่ ด้วยกันได้ยินเด็กกระเป๋ารถร้องถามว่า "ใหญ่มั้ยใหญ่" และก็รับรู้ว่าเข้าถามว่าจะไป หาดใหญ่ไหม และเพื่อนอีกคนที่กำลังจ้องจะซื้ออาหาร ได้ยินเสียงร้องขายว่าชัดเจนว่า "เหนียวเนื้อครับ" "เลี้ยงมั้ยเลี้ยง" "เปามั้ยเปา" "ปิ่นมั้ยปิ่น" คนที่ตั้งใจจะอ่านหนังสืออยู่แม้รอบ ๆ ตัวจะมีเสียงต่าง ๆ ก็จะไม่รับรู้ เช่น มีคนคุยใกล้ ๆ ก็ได้ยินเสียงแต่ไม่รับรู้ว่าเรื่องอะไร แม้มีเสียงเพลงจากวิทยุ เสียงเด็กเล่นอยู่ข้าง ๆ เสียงรถวิ่ง เสียงสัตว์ร้อง ก็อยู่ในลักษณะเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ถ้าเราอยากรู้เรื่องอะไรเป็นอะไรก็ต้องหยุดอ่านหนังสือแล้วตั้งใจฟัง การรับรู้สิ่งใดก็ตาม ถ้าหามีความสนใจหรือตั้งใจที่จะรับรู้ มักจะเห็นหรือได้ยินสิ่งนั้นก่อน สิ่งเร้ามีอิทธิพลต่อการรับรู้ เราจะเลือกรับรู้สิ่งใดขึ้นอยู่กับสิ่งเร้า เช่น ชั่วโมงแรกที่ครูเข้าไปสอน ครูจะเห็นนักศึกษาคนที่โกนหัว (เพราะเพิ่งลาสิกขา) นั่งอยู่โต๊ะหน้านั่งเหยียดเท้าที่สวมรองเท้าผ้าใบ มีลวดลายสีเขียวแดงก่อนสิ่งเร้าภายนอก ได้แก่ ขนาด ความเข้ม เคลื่อนไหว กระทำซ้ำ สี การตัดกัน (Contrast) และสิ่งเร้าภายใน ได้แก่ ความพร้อมความสนใจ และความต้องการของผู้ที่จะรับรู้ บุคคลย่อมจะเลือกรับรู้สิ่งเร้าเฉพาะที่ตั้งใจจะรับรู้ นักจิตวิทยาให้ หลักการว่า มนุษย์เรานั้นมีแนวโน้มที่จะเลือกรับรู้เฉพาะสิ่งที่ไม่ขัดกัน หรือไม่ทำลายสถานการณ์ สิ่งใดที่คิดวาจะ ทำลายชื่อเสียง เกียรติคุณ ก็จะไม่รับรู้สิ่งนั้น ๆ ทั้ง ๆ ที่สิ่งนั้น เข้าสู่ประสาทสัมผัสแล้วก็ตาม
ซิลลิแวน (HS Sullivan) กล่าวว่า "เราไม่ยอมรับรองสิ่งดี ๆ หลายอย่างที่เราเห็น เราได้ยิน เราคิดเราทำหรือเราพูด ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะว่า สิ่งนั้น ๆ อยู่นอกเหนือวงเขตความสามารถที่เราจะรับรู้ได้แต่เป็นเพราะเราวิเคราะห์และอนุมานแล้วเห็นว่าสิ่งนั้นๆ มันขัดแย้งกับระบบตัวตนของเรา"

1.2.7 ความสนุกสนานเพลิดเพลินมีผลต่อการรับรู้ เพราะเมื่อมีความสนุกสนาน ก็จะรู้สึกสบายใจช่วย ทำให้บุคคลเกิด การรับรู้ได้เร็ว และได้ดี เช่น การเล่นไพ่ต้องจำทั้งกติกา และชนิดของตัวไพ่มากมาย แต่คนก็จำทั้งตัวไพ่และวิธีการเล่นได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะมี ความสนุกสนานเพลิดเพลินแฝงอยู่ด้วย จึงก่อให้เกิดการรับรู้ได้ดี

1.2.8 แรงจูงใจ (Motivation) มีผลต่อการรับรู้ แรงจูงใจ กระตุ้นให้เกิด ความต้องการ (Needs) ในสิ่งใด จะทำให้บุคคลเกิด การรับรู้สิ่งนั้นเป็นอย่างดี

1.2.9 คุณค่า (Value) และความสนใจที่มีผลต่อการรับรู้ เมื่อเห็นคุณค่าก็เพิ่ม ความสนใจใส่ต่อการที่จะรับรู้ คนเราสนใจต่อสิ่งใด มักจะบังเกิดความตั้งใจทันที เช่น สนใจพระ หรือเหรียญ ใครพูดคุยหรือดูกันอยู่ที่ไหนก็ตั้งใจจะรับรู้ ผู้หญิง สนใจแหวนเพชร พบที่ไหนก็ขอดู ผู้ชายไม่ตั้งใจจะรับรู้ นอกจากคนที่กำลังจะซื้อแหวนหมั้นความสนใจ ตั้งใจ ช่วยให้การแปลความหมาย ถูกต้อง ยิ่งขึ้นสิ่งเร้าภายในแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ

  • ความสนใจชั่วขณะ (Momentary interest) ได้แก่ความสนใจที่มีอยู่ในขณะนั้น ๆ เช่น นักกีฬาที่กำลังจะถูกปล่อยตัว ย่อมสนใจฟังสัญญาณมากกว่าที่จะฟังเสียงเชียร์ นักศึกษาสนใจฟังขานชื่อมากกว่าเสียงอื่น คนกำลังตรวจล๊อตเตอรี่ สนใจฟังประกาศตัวเลขมากกว่าราคาสินค้า
  • ความสนใจที่ติดเป็นนิสัย (Habitual Interest) คือ ความสนใจเดิมที่มีติดตัวจนเป็นนิสัยมารดาได้ยินเสียงลูกร้องจะรีบตื่นทันที ทั้ง ๆ ที่มีเสียงวิทยุอยู่ใกล้ ๆ ในขณะนั้น
    บรูเนอร์และกู้ดแมน (Bruner และ Goodman) "ได้ทดลองเกี่ยวกับค่านิยมที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ โดยให้เด็กอายุ 10 ขวบ จากครอบครัวที่มีฐานะยากจน กับครอบครัวที่ร่ำรวย วาดภาพของเหรียญที่ใช้เป็นเงินตรา ให้มีขนาดใกล้เคียงของจริง ปรากฎว่าเด็กจาก ครอบครัวยากจนวาดรูปเหรียญใหญ่กว่าของจริง ยิ่งกว่าเด็กจากครอบครัวร่ำรวยมาก

1.2.10 ความดึงดูดในทางสังคม ถ้าคนส่วนใหญ่หรือกลุ่มสนใจอะไร เราจะสนใจบ้าง คนมุงดูอะไร ก็อยากดูบ้าง ทั้งบ้านชอบดู โทรทัศน์รายการใด เราก็ดูบ้าง ถ้าครูบอกว่าเรื่องนี้น่าสนใจ กำลังเป็นที่สนใจของสังคม ครูเล่าให้ฟัง นักเรียนจะเพิ่มความสนใจขึ้น การรับรู้จะดีขึ้นมาก

1.2.11 สติปัญญา คนที่เฉลียวฉลาดรับรู้ได้ดี เร็วและถูกต้องกว่าผู้มีสติปัญญาต่ำ แปลความหมายได้ดีมีเหตุผล

1.2.12 การสังเกตพิจารณา ช่วยการแปล ทำให้รับรู้แม่นยำขึ้นรู้ละเอียดลึกซึ้ง ซึ้งขึ้น เช่น ตำรวจเห็นปั๊บก็รู้ว่า ที่เดินผ่านไปนั้นเป็นคนผู้ชาย แต่สังเกตพิจารณาดูก็รู้ว่า เป็นคนเมา

1.2.13 ความพร้อมหรือการเตรียมพร้อมที่จะรับรู้ ( Pre Paratory set ) นักกีฬา ได้ยินให้ "ระวัง" ทันทีที่ได้ยินเสียงสัญญาณ เขาจะออกจาก เส้นสตาร์ททันที คนที่ยืนคอยรถเมล์ เขาพร้อมจะขึ้นรถได้ทันทีที่รถจอด คนกำลังหาของหายพบอะไรที่คล้ายกัน ก็อาจคิดไปว่า พบของที่ต้องการแล้ว คนที่กำลังคอยใครคนหนึ่ง เห็นคนอื่น ๆ เป็นคนที่เรากำลังคอยบ่อย ๆ แม่ที่ห่วงลูกได้ยินเสียงแมวคราง อยู่ที่หน้าประตูก็คิดไปว่าลูกร้อง คนที่กลัวผีมักจะเห็นอะไร ๆ เป็นผีไปหมด นุ่น 1 กก. กับเหล็ก 1 กก. ทั้ง ๆ ที่น้ำหนักเท่ากัน แต่เวลายกเราจะรู้สึกว่าเหล็กหนักกว่า เพราะเรามีการเตรียมใจไว้พร้อมแล้วว่าเหล็กเป็นของหนัก

1.2.14 การคาดหวัง ( Expectancy ) บางครั้งคนเราก็มีการคาดหวังล่วงหน้าซึ่งเป็นการทำให้คนเราเตรียมพร้อมในการรับรู้สิ่งใหม่ เช่น คนกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับตัวเลขอยู่เสมอ โดยเฉพาะจะต้องพบกับเลข 13 เสมอทำให้คนกลุ่มนี้ลากเส้นตามภาพบนหน้า เขาจะลากเป็นตัวเลข 1 กับ 3 เป็น 13 แต่ถ้าให้คนกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับตัวอักษรเป็นประจำ โดยเฉพาะอักษร B คนกลุ่มนี้จะลากเส้นตามภาพเป็น B

2. ลักษณะของสิ่งเร้า

ลักษณะของสิ่งเร้านั้นพิจารณาจาก การที่บุคคลจะเลือกรับรู้สิ่งใด ก่อนหรือหลัง มากหรือน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับว่า สิ่งเร้าดึงดูด ความสนใจ ความตั้งใจมากน้อยเพียงใด หรือไม่ ลักษณะของสิ่งเร้าที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้มีดังนี้

2.1 สิ่งเร้าภายนอกที่ดึงดูดความสนใจและความตั้งใจ ได้แก่คุณสมบัติและคุณลักษณะของสิ่งเร้าที่จะทำให้เกิดการรับรู้นั่นเอง ซึ่งถ้าสิ่งเร้ามีคุณสมบัติและลักษณะที่สนองธรรมชาติในการรับรู้ของคนเรา ก็จะทำให้มีความตั้งใจในการรับรู้ดีขึ้น

2.1.1 ขนาดความเข้มข้นหรือความหนักเบาของสิ่งเร้า ถ้าสิ่งเร้ามีความเข้มมาก ก็รับรู้ได้มาก บังเกิดการรับรู้ได้ชัดแจ้ง ความชัดเจน ของสิ่งที่มองเห็นก็ดี ความดังของเสียงก็ดี การสัมผัสทางผิวหนังอย่างหนักก็ดี กลิ่นที่ฉุนจัดก็ดี เหล่านี้เป็น ความเข้มข้น ที่ทำให้เกิด ความรู้สึกจากการสัมผัสที่จัดแจ้งทั้งสิ้น ในสิ่งเร้าชนิดเดียวกันบุคคลจะเลือก รับรู้สิ่งเร้าที่มีความเข้มข้นมากกว่า ก่อนสิ่งที่มีความเข้ม น้อยกว่า เช่น ป้ายโฆษณาสีสดใสดึงดูดความตั้งใจดีกว่าสีที่ไม่เด่น ขณะนั่งเขียนหนังสือเพลินอยู่ มีเสียงคนคุยกัน เสียงนกร้อง จิ้งจกร้อง เสียงพิมพ์ดีดและเสียงพลุดังที่สุด เราจะเลือกรับรู้เสียงพลุก่อนเสียงอื่น และถ้ามีคนมาถามว่า เราได้ยินเสียงอะไรบ้าง คำตอบแรกคือ ได้ยินเสียงพลุ ครูที่สอนเสียงดัง ๆ น่าสนใจมากกว่าครูที่สอนด้วยเสียงค่อย ๆ แผ่วเบา เพื่อเรียกร้องความสนใจ และให้รับรู้ ต้องจัดให้อยู่ในลักษณะเด่นกว่าเพื่อน แสงไฟจ้าย่อมได้รับ ความสนใจกว่าแสงไฟอ่อน ๆ ภาพที่มีแสงและเงาชัดเจน จะมองเห็นเด่นกว่า ส่วนที่ใช้แสงและเงาที่มีความเข้มน้อย

2.1.2 ความเปลี่ยนแปลงหรือความเคลื่อนไหวของสิ่งเร้า สิ่งเร้าที่มีการเปลี่ยน-แปลง จะดึงความตั้งใจได้ดีกว่าสิ่งเร้า ที่ไม่มีการ เปลี่ยนแปลง สิ่งเคลื่อนไหวดึงความตั้งใจได้ดีกว่าของที่อยู่ในลักษณะหยุดนิ่ง ภาพยนต์มีประสิทธิภาพในการทำให้คนตั้งใจดูได้ มากกว่าภาพนิ่ง แผงไฟโฆษณาที่มีไฟกระพริบ หรือเปลี่ยนที่กระพริบเหมือนวิ่งวนอยู่เสมอ ย่อมได้รับความสนใจมากกว่า ไฟดวงที่เปิด อยู่เฉย ๆ เรายืนบนตึก 10 ชั้น จะเห็นรถที่กำลังวิ่งอยู่ในถนนได้ง่ายกว่าคันที่จอดอยู่เฉย ๆ ตุ๊กตาไขลานเรียกร้องความสนใจได้ดีกว่า ตัวที่ตั้งอยู่เฉย ๆ บนโต๊ะ

2.1.3 การกระทำซ้ำ ๆ ของสิ่งเร้า สิ่งเร้าที่เกิดขึ้นซ้ำซาก เรียกร้องให้เราสนใจ ได้มาก เช่น การโฆษณาสินค้าซ้ำบ่อย ๆ จะเป็น ทางวิทยุ โทรทัศน์ก็ตามทำให้เกิดความสนใจ บีบแตรรถถี่ ๆ หลาย ๆ ครั้งทำให้คนหันมาดู กริ่งที่ประตูบ้านดังถี่ ๆ ติดกันทำให้ รีบร้อนออกไปเปิดประตูมากกว่าดังครั้งเดียว

2.1.4 ความกว้างขวางหรือขนาดของสิ่งเร้า ถ้าสิ่งเร้ามีขอบเขตจำกัดเกินไป เราก็รับสัมผัสได้ยา เราจะรับสัมผัสได้ดี ถ้าสิ่งเร้ามีขนาด หรือมีอาณาเขตกว้างขวางพอสมควร สิ่งเร้าที่มีขนาดใหญ่น่าสนใจกว่าที่มีขนาดเล็ก เช่นคนอ้วนใหญ่คนมักจะมองป้ายโฆษณา ที่มีขนาดใหญ่ย่อมดึงดูดความสนใจได้มากกว่าป้ายโฆษณาที่มีขนาดเล็ก ๆ

2.1.5 ความแปลกใหม่ สิ่งเร้าที่ไม่เป็นไปตามปกติทำให้เกิดความตั้งใจมากกว่า เช่น แกะดำในฝูงแกะสีน้ำตาล ควายเผือกในฝูง ควายสีดำ คนมี 2 ศีรษะ สินค้าที่ออกใหม่คนสนใจใคร่รู้ ฝรั่งนิโกร เดินอยู่ในกลุ่มคนไทย คนไทยเห็นแปลกจะสนใจ มองดูมากกว่า ดูคนไทย

2.1.6 ความคงทน สิ่งเร้าที่เร้าในระยะเวลาสั้นจะทำให้เรารับสัมผัสได้ยาก เราจะรับสัมผัสได้ ถ้าสิ่งเร้านั้นเร้าอยู่นานพอสมควร ตัวอย่าง เช่น การยกบัตรคำให้เด็กอ่าน ถ้ายกให้ดูแป๊บเดียวระยะเวลาสั้นเกินไป เด็กจะมองเห็นไม่ชัดเจนและมักจะเกิดการรับรู้ ที่คลาดเคลื่อน
2.1.7 ระยะทาง เป็นระยะทางพอสมควรไม่ใกล้หรือไกลเกินไป
2.1.8 ลักษณะการตัดกัน (Contrast) ของสิ่งเร้า ตามปกติภาพ (Figure) ควรให้สีเด่นขึ้นพื้น (Ground) สีจางลง สิ่งเร้าที่ตัดกัน จะดึงดูดความสนใจ ได้มากกว่าสิ่งที่คล้ายคลึงกัน การพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ใช้ตัวอักษรขนาดโตกว่าปกติ และหรือใช้สีต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจของผู้อ่าน
2.1.9 สี แต่ละสีมีประสิทธิภาพในการดึงดูสายตาได้ต่างกัน สีที่เกิดจากคลื่น ช่วงยาว เช่น สีแดง เหลือง ย่อมดึงดูดความตั้งใจได้ดีกว่า สีที่มีช่วงสั้น เช่น สีม่วง สีฟ้า

2.2 การจัดลักษณะหมวดหมู่ของวัตถุที่เป็นสิ่งเร้า

พวก Gestalt Psychologis เช่น เวอร์ธไธเมอร์ (Wertheimer) และกอฟฟ์กา (Koffka) ได้ให้ความสนใจกับ Perception อย่างมาก ได้ให้หลักเกณฑ์ในการที่คนเรามีแนวโน้มที่จะจัดภาพที่มองเห็น โดยจัดกลุ่มวัตถุเรียง ตามกฎ 4 ประการดังต่อไปนี้

2.2.1 กฎแห่งความคล้ายคลึง (the law of Similarity) ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือมีลักษณะสำคัญร่วมกัน อาจเป็นรูปร่าง หรือขนาดหรือสีเหมือนกันคนเรามักจะรับรู้รวมกันเป็นสิ่งเดียวกัน รับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน กล่าวคือจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น นักฟุตบอลที่แต่งกายเหมือนกัน ถูกจัดเป็นพวกเดียวกัน เราจะรับรู้ภาพที่แล้วนี้ในแบบเรียงเป็นแถวนอน (Rows) มากกว่าในแนวตั้ง (Columns) เราจะรับรู้ว่ารูปนี้มีอยู่ 2 พวก คือ ตัวอักษร ก และตัวเลข 1 เพราะเราพิจารณาความคล้ายคลึงเป็นหลัก

2.2.2 กฎแห่งความใกล้ชิด หรืออยู่ภายในขอบเขตที่ใกล้เคียงกัน (The law of Proximity) ว่าสิ่งที่อยู่ใกล้กันคนเรามักจะรับรู้ว่า มีความเกี่ยวข้องกันมากกว่า สิ่งที่เหมือนกัน แต่อยู่ไกลกันออกไป คนเรามีแนวโน้มที่จะรับรู้สึกที่ใกล้กันให้เป็นภาพเดียวกัน หรือเป็นหมวดหมู่เดียวกัน พวกเดียวกันเช่น เราจะรับรู้ว่า อักษรมีอยู่ 2 พวกคือ พวกแนวนอน กับพวกแนวตั้งเรามักจะจัดเส้น หรือจุดที่อยู่ใกล้กันเข้าด้วยกัน และดูจำนวนที่อยู่ ห่างไกลออกไป เป็นคนละพวก เสียงก็เช่นกัน ถ้าเราได้ยินเสียงปืนติด ๆ กัน 2-3 นัด เรามักจะเข้าใจว่า เป็นเสียงปืนกระบอกเดียวกัน หรือเป็นเสียงที่มาจากแห่งเดียวกัน
ในชีวิตจริงจึงถือเป็นธรรมดา ถ้าเราใกล้ชิดไปไหนมาไหนกับเจ้านาย หรือหญิง – ชายคนใดคนจะเข้าใจว่า สนิทชิดเชื้อและเป็นพวกเดียวกัน กฎของความใกล้ชิด

รูปที่ 5.11 แสดงเรื่องกฎแห่งความใกล้ชิด กฎแห่งความคล้ายคลึง กฎแห่งความต่อเนื่อง

2.2.3 กฎแห่งความสมบูรณ์ หรือกฎแห่งความสิ้นสุด (The law of Closure) เป็นไปตามแนวคิดของ Gestalt Psychology ที่ว่า มนุษย์เรารับรู้เป็นส่วนรวม มากกว่าที่จะรับรู้ เป็นส่วนย่อย ๆ ส่วนรวมมีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่ย่อยที่มารวมกันและการรับรู้ประเภทนี้ ต้องอาศัยประสบการณ์เดิม จิตใจของคนเราจะรู้สึกผิดปกติเมื่อมองเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขาดตกบกพร่องไปจากสิ่งที่เราคิด และความคิดของเรา ก็จะหลอกให้เรารับรู้ว่า มันเต็มสมบูรณ์โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ
Closure เป็นภาพที่ใกล้จะสมบูรณ์ขาดความสมบูรณ์ไปเพียงเล็กน้อย แต่มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะต่อเติม ส่วนที่ขาดหายไปของภาพ ให้เกิดภาพที่สมบูรณ์โดยพยายามมองให้ภาพที่ไม่สมบูรณ์ สมบูรณ์ขึ้นมาเนื่องจากการรับรู้ซึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวกับการประสานสนิท (Closure) ดังรูปภาพประกอบต่อไปนี้

กฎแห่งความสมบูรณ์
2.2.4 กฎแห่งความต่อเนื่อง (The law of Good Continuation) ถ้าไม่มีอะไรมาขัดขวางแล้ว คนเรามักจะรับรู้ในลักษณะเดียวกัน ต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าเราเห็นเส้นตรงตั้งแต่ต้น เราก็มักสรุปเอาว่า มันเป็นเส้นตรงตลอด ความต่อเนื่อง (Continuity) เกิดจากสิ่งเร้ามีทิศทางไปทางเดียวกัน เช่น เราดูไฟกระพริบตามป้ายโฆษณา

2.3 การรับรู้เกี่ยวกับระยะทางหรือความลึก (Distance of Depth perception) มนุษย์เรานอกจากจะรับรู้ภาพ 2 มิติบน แผ่นกระดาษแล้ว ยังสามารถรับรู้ภาพที่มี 3 มิติด้วย คือ สามารถรับรู้ระยะทางหรือความลึกได้จากภาพ ความสามารถนี้เกิดจาก การเรียนรู้ของมนุษย์ นักจิตวิทยาใช้วิธีการต่าง ๆ ทาง Monocular cues หลาย ๆ อย่าง เพื่อให้สามารถทราบระยะทางของสิ่งนั้น ๆ ดังแสดงในรูปที่ 5.12

ระยะทางและความลึก

รูปที่ 5.12 แสดงเรื่องระยะทางและความลึก

สิ่งที่ช่วยให้เราทราบเกี่ยวกับเรื่องความลึก ประกอบไปด้วย
2.3.1 ตำแหน่งที่เหลื่อมกัน Super position of the objects คือการที่วัตถุหนึ่งบัง (วางซ้อน) หรือทับส่วนใดส่วนหนึ่งของวัตถุอีกอันหนึ่ง เราจะรู้สึกว่าวัตถุที่ถูกทับอยู่ห่างออกไป ภาพของวัตถุแรกจะเป็นภาพที่ใกล้กว่าวัตถุหลัง
2.3.2 ภาพทิวทัศน์ที่เห็นไกล (Perpective) หมายถึงสิ่งที่อยู่ห่างออกไป เราจะรู้สึกว่าขนาดของมันค่อย ๆ เล็กลง ๆ เช่น ภาพทางรถไฟ หรือถนน ถ้าเรามองดูภาพต่าง ๆ ในพื้นที่ราบจะเห็นว่าวัตถุไกลสูงกว่าวัตถุที่อยู่ใกล้
2.3.3 แสงและเงา (Light and Shadow) แสงและเงาช่วยในการรับรู้เกี่ยวกับความลึกของภาพ ช่วยทำให้ภาพเป็นสามมิติ โดยทำให้ภาพนั้นเว้าเข้าไปหรือนูนเด่นออกมา ดูรูปที่ 5.13

แสงและเงา
รูปที่ 5.13 แสดงเรื่องแสงและเงา

2.3.4 การเคลื่อนที่ (Movement) เราสามารถใช้การเคลื่อนไหวสัมพันธ์ (Relative Motion) มาเป็นเครื่องตัดสินระยะวัตถุได้ เช่น เวลาเรานั่งรถไฟ เราจะเกิดความรู้สึกเหมือนว่าวัตถุที่อยู่ใกล้เคลื่อนที่ในทิศทางตรงกันข้ามกับตัวเรา แต่วัตถุที่อยู่ไกล ๆ รู้สึกว่าเหมือนเคลื่อนไหวตามตัวเรา ทิศทางเคลื่อนที่ของวัตถุจึงมีส่วนช่วยในการตัดสินระยะทางใกล้ไกลได้
ลอเรนซ์ (M. Lawrence) ได้พยายามค้นคว้าทดลองและสรุปว่า คนเราจะมีการรับรู้เกี่ยวกับระยะทางได้ในกรณีต่อไปนี้

ก. วางวัตถุขนาดหนึ่งไว้เป็นที่คุ้นเคยกับตาเราดีแล้ว ถ้าเราเปลี่ยนขนาดให้ใหญ่ขึ้น จะรู้สึกว่าอยู่ใกล้มากกว่าความจริง และถ้าเราเปลี่ยนวัตถุที่ขนาดเล็กกว่าวัตถุอันที่ชินตาวางไว้แทนจะรู้สึกว่าอยู่ไกลออกไป
ข. วัตถุชนิดเดียวกัน อยู่ห่างจากเราในระยะทางเท่ากัน เราจะรู้สึกว่าวัตถุใหญ่อยู่ใกล้เรามากกว่าวัตถุที่เล็ก
ค. วัตถุชนิดเดียวกัน ขนาดเท่ากัน แต่ความสว่างไม่เท่ากัน เราจะรู้สึกว่าวัตถุที่สว่าง เคลื่อนที่เข้าหาตัวเรา ส่วนวัตถุที่มืด จะเคลื่อนที่ห่างออกไป
ง. วัตถุ 2 ชิ้น มีขนาด และความสว่างไม่เท่ากันถ้าทั้งใหญ่และสว่าง จะรู้สึกว่าวัตถุนั้น เคลื่อนเข้ามาใกล้ตัวเรา มากขึ้นกว่าวัตถุนั้นมีขนาดใหญ่อย่างเดียว แต่ถ้าวัตถุนั้นใหญ่แต่สว่างน้อยเราจะรู้สึกว่าวัตถุนั้นเคลื่อนที่น้อยลงกว่าครั้งแรก

ความผิดพลาดของการรับรู้

การรับรู้ผิดพลาด เกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น เนื่องจาก

1. สภาวะบางประการของสิ่งเร้า คนปกติอาจรับรู้ผิดพลาดเพราะภาวะของสิ่งเร้าหรือเนื่องจากคุณสมบัติของสิ่งเร้า หรือส่วนประกอบที่แตกต่าง หรือความเชื่อที่บุคคล มีต่อการรับรู้

  • ภาพมายา หรือทัศนมายา หรือภาพลวงตา (illusion) คือภาพที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้การรับรู้ของเราเบี่ยงเบน หรือผิดพลาดไป จากความจริง
  • การเติมสิ่งหนึ่งสิ่งใด (Embedded ness) คือการต่อเติมสิงหนึ่งสิ่งใดลงไป ทำให้ภาพที่มองเห็นผิดไปจากความเป็นจริง
  • ขนาดสัมพันธ์ (Relative size) หรือขนาดเปรียบเทียบ (size contrasts) การตัดสินขนาดอาจผิดไปจากความเป็นจริงได้ เนื่องจากตำแหน่งเปรียบเทียบของสิ่งเร้านั้น ๆ ซึ่งแท้จริงสิ่งเร้านั้นมีขนาดเหมือนและเท่ากัน แต่ถ้าสิ่งเร้านั้นอยู่ในตำแหน่ง ที่มีสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน หรืออยู่ใกล้ไกลสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันก็จะเกิดภาพลวงตาขึ้นได้
  • การเกิดมุมหรือการตัดกันของเส้นตรง (Angle of Interesting Lines) จากการประสานกัน และการตัดกันของเส้นตรง จะทำให้เกิดภาพลวงตาขึ้นได้ ทำให้การรับรู้ผิดจากความเป็นจริงไป

2. ความเชื่อที่ผิด ๆ (Delusions)
3. ความไม่สมบูรณ์ของประสาทและอวัยวะสัมผัส ภาวะของอินทรีย์ของผู้รับรู้ผิดไป เช่น กินเหล้า กินยาบางอย่างเข้าไป จะเกิดความผิดพลาดของการรับรู้ การรับรู้เช่นนี้ เรียกว่า Hallucination ประสาทสัมผัสไม่ดี คนชราตาฝ้าฟาง คนชราตาฝ้าฟาง คนกินหมากสูบบุหรี่ แม้รสเปรี้ยวจัด เค็มจัดก็ยังรู้สึกว่ารสไม่เข้มข้น สรุปได้ว่า อายุ สารเคมี และความเหนื่อยล้า (fatigue) มีผลต่อการรับรู้ ความพิการ เช่น หูตึง ตาบอดสี มีผลให้รับรู้ ผิดพลาด
4. อุปทานของตนเอง เช่น ไปป่าล่าสัตว์เห็นคนตะคุ่ม ๆ นึกว่าเก้ง เอาปืน ยิงโป้งเข้าให้
5. การแปลสัมผัสผิด เพราะประสบการณ์น้อยมีความรู้ไม่พอ เช่น เด็กเห็นแพะบอกว่าแกะ เพราะแปลสัมผัสไม่ถูก ไม่เห็นความแตกต่าง ระหว่างแพะกับแกะ บางคนคิดว่าแมงป่องเป็นตั๊กแตนจึงจับเล่น คนนอกเมืองเห็นบุรุษไปรษณีย์ก็คิดว่าเป็นตำรวจ
6. บุคลิกภาพอุปนิสัย และเจตคติ (Attitude) คนมองโลกในแง่ดี มักเห็นส่วนดีของสิ่งเร้ามากกว่าที่จะมองเห็นส่วนเสียของมัน แต่คนที่มองโลกในแง่ร้ายมักมองไม่เห็นส่วนดี ถ้าเรามีเจตคติไม่ดีต่อหัวหน้า เขาพูดดังก็ว่าดุ ถ้าเรามีเจตคติที่ดี เราก็ว่าพูดดังฟังชัดดี
7. ความต้องการ คนที่มีความต้องการแตกต่างกัน ถ้าถูกเร้าด้วยสิ่งเร้าเดียวกันก็อาจเกิดการรับรู้ต่างกัน คนที่กำลังหิวกับ คนที่กำลังอิ่ม จะมีการรับรู้ต่อร้านอาหารต่างกัน คนที่กำลังหางานทำจะเงี่ยหูฟัง เมื่อได้ยินข่าวว่าที่ไหนรับเข้าทำงาน
8. อารมณ์ เป็นตัวแปรทำให้การรับรู้ผิดพลาดได้ ขณะอารมณ์เสียใครมาพูดจาติดต่ออะไรด้วย อาจไม่รับรู้หรือรับรู้ไปทางลบ แต่ถ้าอารมณ์ดี อะไร ๆ ก็รับรู้ไปในทางดีหม
9. ความใส่ใจ (Attention) คือ ความตั้งใจเลือกเฟ้นรับรู้เฉพาะสิ่งที่ตรงกับความต้องการหรือความสนใจของเรา ครูพละเวลาอ่าน หนังสือพิมพ์ มักเฟ้นหาข่าวเกี่ยวกับกีฬา ครูประวัติศาสตร์ชอบอ่านเหตุการณ์ปัจจุบัน นักเรียนมักจะอ่าน และจำตรงที่ครูบอกว่า จะออกสอบมากกว่าที่อื่น และจะจำได้ดีเมื่ออ่านตอนใกล้ ๆ จะสอบในกลุ่มคนมากมายเรามักจะมองหาและเห็นแต่พรรคพวก ลูกศิษย์ของเรา
10. วัฒนธรรม เป็นกรอบของการอ้างอิง (Frames of Reference) ในยุโรปกับในเมืองไทยรับรู้เรื่องการหย่าร้าง กอดจูบในที่ สาธารณะแตกต่างกัน
11. มองในแง่มุม ทิศทาง บรรยากาศต่างกันจะเห็นตรงกัน

5.2.3 การแปลความหมายและการรับรู้ (Interpretation & Perception)

เป็นกระบวนการขั้นที่สามของการรับรู้ องค์ประกอบที่มีผลต่อการแปลความหมายในการรับรู้ มีหลายอย่าง เช่น ความคาดหวัง (Expectation) แรงจูงใจ (Motivation) ประสบการณ์เก่า (Early Experience) วัฒนธรรม(Culture) เป็นต้น

ความคาดหวังความคาดหวัง

ลองดูภาพขวามือ คุณเห็นภาพเป็ดไหม ? ลองดูอีกที เห็นภาพกระต่ายไหม ?
เห็นไหมว่าถ้าคุณคาดหวังอย่างไรคุณก็จะตีความหมาย หรือรับรู้ได้ตามนั้น ดังนั้นจะเห็นว่าความคาดหวังมีอิทธิพลต่อการรับรู้

แรงจูงใจ

แรงจูงใจพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ความหิว ความกระหาย และความต้องการทางเพศ จะมีผลโดยตรงต่อการแปลความหมายสิ่งที่รับสัมผัสได้ คนที่กำลังหิวจะรับรู้กลิ่นอาหารได้ไวกว่าคนที่ไม่หิว คนที่ดูภาพยนต์สยองขวัญ หรือฟังข่าวอาชญากรรมอาจมีแรงจูงใจมักที่จะกลัวสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย การรับสัมผัส เสียง หรือภาพต่าง ๆ จะทำให้เขาแปลความหมายไปตามความกลัวนั้นได้

ประสบการณ์เก่า

การทดลองของ ลีเปอร์ (Leeper) แสดงให้เห็นชัดเจนถึงผลประสบการณ์ที่มีต่อการรับรู้ โดยทำการทดลองกับคนสองกลุ่ม ให้กลุ่มหนึ่งมีประสบการณ์โดยดูภาพ หญิงสาว แต่อีกกลุ่มหนึ่ง ให้คุ้นเคยหรือมีประสบการณ์กับภาพหญิงชราจากนั้น ให้ทั้งสองกลุ่มดูภาพที่เป็นสองนัย (Ambiguous) คือ ดูเป็นภาพหญิงสาว หรือหญิงชราก็ได้ ผลปรากฎว่า กลุ่มที่มีประสบการณ์กับ ภาพหญิงสาว ตอบว่าเห็นภาพหญิงสาวทุกคน และกลุ่มที่คุ้นเคย กับภาพหญิงชรา ตอบว่าเห็นภาพหญิงชราถึง 95 % (Crider & others 1983, p. 110)

วัฒนธรรม ( Culture )

ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา และเชื้อชาติ ที่แตกต่างกัน จัดเป็นพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรม ที่ทำให้บุคคลมีความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติในเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันไป แล้วแต่สภาพของสังคม พฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกเหมือนกัน อาจถูกแปลความหมายไป คนละด้านได้ เพราะอิทธิพลของวัฒนธรรม เช่น คนไทยที่แสดงความรักกันในที่สาธารณะมักจะถูกแปลความหมายทางด้านลบมากกว่า ในขณะที่คนในสังคมตะวันตกเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นต้น

ภาพลวงตา (Illusions)

ในบางครั้งการรับรู้ของบุคคลไม่ตรงกับความเป็นจริงตามสภาพของสิ่งเร้า ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าภาพลวงตา ซึ่งเกิดจากการที่สมองแปลความหมายผิดไป หรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง สาเหตุของการเกิดภาพลวงตามีได้หลายกรณี เช่น แสง ลักษณะของสิ่งเร้ามีการต่อเติม การเปรียบเปรียบเทียบ หรือการเกิดมุมต่าง ๆ การต่อเติมสิ่งเร้า ภาพข้างล่างนี้เป็นภาพลวงตาของ มุลเลอร์-ไลเออร์ (Muller – Lyer illusion) เราจะรับรู้ว่าเส้นที่ 1 ยาวกว่าเส้นที่ 2 ทั้งแนวตั้งและแนวนอน เพราะผลจากการต่อเติมลูกศรเข้าไป จริง ๆ แล้วเส้นตรง 2 เส้นนี้ยาวเท่ากัน

รูปที่ 5.14 แสดงเรื่องการรับรู้เรื่องภาพลวงตา

1. การเปรียบเทียบ เราจะรับรู้ว่า วงกลมที่ล้อมรอบด้วยวงกลมใหญ่มีขนาดเล็กกว่าวงกลม
ที่ล้อมรอบด้วยวงกลมเล็กด้านขวามือ เราจะรับรู้ว่าวงกลมที่ซ้อน วงเล็กข้างในด้านซ้ายมือเล็กกว่าวงกลมที่อยู่ภายในวงใหญ่ด้านขวามือ เพราะนำวงกลมที่เท่ากันสองวงไปเปรียบเทียบกับวงกลมที่มีขนาดต่างกัน จึงทำให้การรับรู้ต่างกัน ดังรูปที่ 5.15
วงกลมที่ล้อมรอบด้วยวงกลมขนาดต่างกัน

รูปที่ 5.15 แสดงเรื่องการรับรู้เรื่องวงกลมที่ล้อมรอบด้วยวงกลมขนาดต่างกัน

2. การตัดกันของเส้นและการเกิดมุมเรารับรู้ว่า เส้นตรงแต่ละเส้นไม่ขนานกัน ซึ่งเป็น การรับรู้ที่ไม่ตรงกับความจริง เพราะเส้นตรงเหล่านี้ ขนานกันทุกเส้น แต่เพราะมีเส้นตรงเล็ก ๆ มาตัดจึงทำให้เกิดมุมลู่เข้าและกางออก สมองจึงแปลความหมายผิดพลาดไป ดังรูปที่ 5.16
การตัดกันของเส้นและการเกิดมุม

รูปที่ 5.16 แสดงเรื่องการตัดกันของเส้นและการเกิดมุมเรารับรู้ว่า เส้นตรงแต่ละเส้นไม่ขนานกัน

เราจะรับรู้ว่าเส้นตรงสองเส้นตรงกลางกางออก แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองเส้นขนานกันตลอด นักศึกษาคิดว่าเส้นตั้งหรือเส้นนอนยาวกว่ากัน ? เรามักจะรับรู้ว่า เส้นตั้งยาวกว่า ความจริงแล้ว ทั้งสองเส้นมีความยาวเท่ากัน เส้นไหนระหว่าง X, Y, Z ที่ต่อเนื่องกับเส้น W ? ส่วนใหญ่จะเลือกเส้น X แต่ที่ถูกต้องคือเส้น Y ลองใช้ไม้บรรทัดวัดดูก็ได้

การรับรู้ด้วยสัมผัสพิเศษ (Extra Sensory Perception)

ปกติโดยทั่วไป มนุษย์ต้องใช้อวัยวะรับสัมผัส เช่น หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง ในการรับรู้สิ่งเร้าภายนอกแต่ในชีวิตประจำวัน บางครั้งจะมีปรากฎการณ์บางอย่างที่มนุษย์บางคนสามารถรับรู้ได้โดยไม่ต้องใช้อวัยวะรับสัมผัสปกติ นักจิตวิทยาเรียก การรับรู้ประเภทนี้ว่า การรับรู้ด้วยสัมผัสพิเศษ (Extra Sensory Perception)หรือเรียกย่อ ๆ ว่า E.S.P. ซึ่งแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

1. โทรจิต (Telepathy) เป็นความสามารถในการรับรู้ความคิดของผู้อื่น โดยไม่ต้องใช้ ประสาทสัมผัสปกติ เช่น นายดำ กับนายแดง อยู่กันคนละที่แต่นายดำสามารถรับรู้ความคิดของนายแดงได้ถูกต้อง เป็นต้น
2. ประสาททิพย์ (Clairvoyance) เป็นการรับรู้เหตุการณ์ปัจจุบันที่นอกเหนือระบบรับสัมผัสปกติ ตัวอย่าง เช่น นาย ก. สามารถรับรู้ได้ว่า นาย ข. กำลังได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากอุบัติเหตุรถชนกันที่ต่างจังหวัด
3. ลางสังหรณ์ (Precognition) เป็นการรับรู้เหตุการณ์ในอนาคต โดยไม่ต้องใช้อวัยวะ สัมผัสทั้งห้า เช่น รับรู้ได้ว่าอาทิตย์หน้าจะมีการปฏิวัติใน ต่างประเทศและปรากฏว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง ๆ

การรับรู้สัมผัสพิเศษ ไรน์ (Rhine) และทีมงานของเขาได้ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยใช้ภาพ 5 ลักษณะ คือ ภาพกากบาท ภาพดาว ภาพวงกลม ภาพเส้นโค้ง และภาพสี่เหลี่ยม
โดยใช้ลักษณะ 5 ภาพ รวมทั้งหมดเป็น 25 ภาพ เพื่อเป็นเครื่องมือในการทดสอบ E.S.P. ของบุคคลในการทดสอบ E.S.P. ประเภท Telepathy ก็ให้ผู้ถูกทดลองดูภาพทีละภาพ และตอบว่าภาพใดที่ผู้ทดลองอีกคนหนึ่งเลือกไว้ เป็นการทดสอบ การล่วงรู้ความคิด ของผู้อื่น ทั้งนี้ผู้ถูกทดลองกับผู้ทดลอง ที่เลือกภาพได้ต้องไม่เผชิญหน้ากันเด็ดขาด เพื่อกันการรับสัมผัสแบบปกติอื่น ๆ หากเป็นการทดลอง E.S.P. ประเภท Clairvoyance ผู้ทดลองคนหนึ่งจะหยิบภาพหนึ่งภาพมาคว่ำไว้บนโต๊ะ ไม่มีใครทราบว่าเป็นภาพอะไร ให้ผู้ถูกทดลองทายว่าเป็นภาพอะไร ซึ่งเป็นการทดลอง การรับรู้เหตุการณ์ใน ปัจจุบัน โดยไม่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า สำหรับการทดลองประเภท Precognition ก็จะให้ผู้ถูกทดลองเดาล่วงหน้าก่อนที่ผู้ทดลองจะหยิบภาพขึ้นมาโดยทายว่า เป็นภาพอะไร เป็นการทดลองการรับรู้เหตุการณ์ในอนาคต ในการทดลองแต่ละครั้ง ไรน์ และทีมงาน ของเขาต้องทำการทดลองหลาย ๆ ครั้ง เพื่อขจัดอิทธิพลของตัวแปรเกินต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองก็สรุปไม่ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยา จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า E.S.P. เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ เนื่องจากเป็นการรับรู้ ในลักษณะพิเศษ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ทดสอบ ให้เห็นชัดเจนได้จึงเป็น เรื่องที่จะต้องศึกษากันต่อไป เพราะในชีวิตประจำวันการดำเนินชีวิตบางอย่างก็มีปรากฎการณ์แปลก ๆ ที่เราหาคำอธิบายไม่ได้ว่าบุคคลผู้นั้นรับรู้ได้อย่างไร (Wittig, 1984, p.340)

5.2.4 การรับรู้ตนเอง (Self Concept)

การรับรู้ตนเอง หมายถึง การที่บุคคลรับรู้ว่าตนเป็นคนอย่างไร มีความสามารถด้านไหน ถนัดอะไร เป็นต้น นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม เชื่อว่า การรับรู้ตนเองพัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ และอิทธิพลของวัฒนธรรม
โรเจอร์ (Rogers) ได้อธิบายไว้ว่า ตัวตน ( Self) มี 2 ชนิด คือ ตัวคนที่เป็นจริง (Real Self) ได้แก่ตัวตนที่ปรากฎออกมาภายนอก กับ ตัวตนในอุดมคติ (Ideal Self) ซึ่งเป็นตัวตนที่บุคคลคิดว่าตนเองเป็นหรืออยากจะเป็น โรเจอร์ ย้ำว่าสัมพันธภาพที่ดีในวัยเด็ก กับครอบครัว คือได้รับความรัก ความอบอุ่น และการเอาใจใส่จากพ่อแม่ที่เพียงพอ จะทำให้บุคคลเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถรู้จักและเห็นภาพตนเองได้ตรงกับความเป็นจริง ทำให้การรับรู้ตนเองของบุคคลนั้น มีตัวตนในอุดมคติ กับตัวตนในความเป็นจริง ที่ตรงกัน ซึ่งจะไม่มีปัญหาในการปรับตัว บุคคลลักษณะนี้จะสามารถปรับตัวได้ดี มีศักยภาพภายใน ที่จะพัฒนาตนเองได้ถึง การประจักษ์ตนเอง (Self - actualization) แต่ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลใดมีสัมพันธภาพกับครอบครัวที่ไม่ดี ทำให้บุคคลเหล่านั้นมีปัญหาความคับข้องใจ หรือความวิตกกังวล ทำให้ภาพของตนในอุดมคติกับตนในความเป็นจริงอาจเป็นคนละภาพ และไม่สอดคล้องกัน อันอาจทำให้มีปัญหาในการปรับตัว แลก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางบุคลิกภาพต่าง ๆ หรือ โรคประสาท และโรคจิตได้ อย่างไรก็ตาม การรับรู้ตนเองของบุคคลจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามวุฒิภาวะ และการเรียนรู้ของบุคคลนั้นด้วย

การรับรู้บุคคล (Person Perception)

1. การรับรู้บุคคล หมายถึง การประเมินหรือตัดสินบุคคลอื่นว่าเป็นคนอย่างไร โดยทั่วไปการรับรู้บุคคลอื่นจะใช้ลักษณะ ทางกายภาพ ของบุคคลนั้น เช่น หน้าตา ผิวพรรณ รูปร่าง หรือดูบุคลิกภาพต่าง ๆ เช่น นิสัยใจคอและการพูดจา เป็นต้น เงียบขรึม ช่างคุย ใจดี ใจร้าย พูดเพราะ พูดหยาบ เป็นต้น การรับรู้บุคคลจะถูกต้องแม่นยำจำเป็นต้องพิจารณารายละเอียดอื่น ๆ ประกอบด้วย เพราะมนุษย์มีอารมณ์ มีแรงจูงใจ และทัศนคติที่แตกต่างกัน อันเป็นผลของการเรียนรู้และวัฒนธรรม ปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถทำให้การรับรู้บุคคลอื่น ผิดพลาดได้ เช่นอคติ (Prejudice)เป็นการสรุปหรือตัดสินบุคคลอื่นโดยที่มีข้อมูลสนับสนุนไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดการรับรู้บุคคลในลักษณะทางลบ การเกิดอคติอาจเกิดขึ้นเป็นการส่วนตัว เพราะมีผลกระทบกับตนเองโดยตรง หรือเกิดอคติตามสังคม เนื่องจากการยึดมั่นในบรรทัดฐาน (Norms) บางอย่าง เช่น คนไทยที่อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยจะมีอคติกับพฤติกรรมของชาวตะวันตกได้ง่ายมาก เพราะปราศจากการพิจารณาข้อมูลอย่างอื่น

2. ภาพพจน์ (Stereotype)
โดยทั่วไป บุคคลจะจัดคนที่เขารู้จักให้เป็นพวก เพื่อเข้าใจง่าย และลดความสับสนเนื่องจากบุคคลไม่สามารถรู้จักคนได้ทุกคน ภาพพจน์จึงเป็นวิธีลัดที่จะย่นย่อลักษณะต่าง ๆ หรือคุณสมบัติบางประการที่มีส่วนร่วมกันให้เป็นพวกเดียวกัน ภาพพจน์มีได้หลายอย่าง เช่น ภาพพจน์ทางด้านเชื้อชาติ ภาพพจน์ทางอาชีพ ภาพพจน์ทางเพศ ภาพพจน์ทางศาสนา ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ภาพพจน์เป็นการจัดบุคคลเข้าเป็นพวกเดียวกับพวกที่เรามีประสบการณ์มาก่อน โดยใช้ลักษณะร่วม ซึ่งอาจถูกต้องหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นการสรุปแบบเหมารวมโดยไม่ได้พิจารณาความแตกต่างของคนเหล่านั้นเลย ภาพพจน์แบ่งเป็น 2 ประการ คือ
2.1 Public Stereotype หรือ Social Stereotype เป็นการสรุปเหมารวมคนในสังคมที่มี
ลักษณะร่วมกันบางอย่างเป็นพวกเดียวกัน เช่น มีภาพพจน์ทางเชื้อชาติว่า คนไทยใจดี คนญี่ปุ่นรักชาติ เป็นต้น หรือมีภาพพจน์ทางอาชีพว่า หมอต้องเก่งและฉลาด เป็นต้น
2.2 Private Stereotype เป็นการสรุปคนแต่ละคนว่า ถ้ามีลักษณะอย่างหนึ่งแล้วน่าจะมี
ลักษณะอย่างอื่นร่วมอยู่ด้วย เป็นต้นว่า คนเปิดเผย ควรจะเป็นคนร่าเริง คุยสนุก คนเรียบร้อย ควรจะเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน และขี้อาย

3. การรับรู้บุคคลในด้านเดียว แบ่งเป็น

3.1 Halo effect เป็นการรับรู้บุคคลในด้านดีด้านเดียว เพราะเกิดความถูกใจ จึงเกิดการรับรู้ด้านอื่น ๆ ของบุคคลนั้นดีไปด้วย
3.2 Horns effect เป็นการรับรู้บุคคลในด้านไม่ดี เพราะไม่ชอบ ไม่ถูกใจ จึงมีแนวโน้มที่จะรับรู้ด้านอื่น ๆ ของบุคคลนั้นไม่ดีไปหมด
ทั้ง Halo effect และ Horns effect เกี่ยวข้องกับความประทับใจครั้งแรก โดยเฉพาะการรับรู้ครั้งแรก (Primacy effect) ก่อให้เกิดความรู้สึกทางบวก ข้อมูลที่ตามมาในช่วงหลังมีแนวโน้มจะเป็นบวกหมด แต่ถ้าการเริ่มต้นเป็นลบ บุคคลจะไม่สนใจและละเลยข้อมูลช่วงหลัง ๆ

4. การหลงเผ่าพันธุ์ (Ethnocentrism)
เป็นการยึดมั่นในชั้นชนหรือเผ่าพันธุ์ของตนว่าดีกว่าบุคคลอื่น ความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้การรับรู้บุคคลอื่นผิดพลาดได้ เพราะคนเหล่านี้ จะเกิดภาพพจน์ของกลุ่มตน (Auto stereotype) ไปในทางบวกเป็นอันมาก